เกิดมาทั้งทีต้องมีรสชาติ
Group Blog
 
All Blogs
 
สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี


สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี หรือ สมเด็จพระนางเรือล่ม (10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2403 - 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2423 ) มีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์” ทรงเป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชสมภพแต่สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2403 เป็นพระเจ้าลูกเธอชั้นเล็ก ลำดับที่ 50 ในจำนวนทั้งหมด 82 พระองค์ โดยรับราชการสนองพระเดชพระคุณเป็นพระภรรยาเจ้าในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยพระขนิษฐาอีก 2 พระองค์ ได้แก่ พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา (สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) และ พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี (สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พระพันปีหลวง)

พระนางเธอ พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์เสด็จทิวงคตด้วยอุบัติเหตุเรือพระประเทียบล่ม ที่ตำบลบางพูด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงกรรณาภรณ์เพชรรัตน์ พระราชธิดา และเจ้าฟ้าในพระครรภ์ ระหว่างการตามเสด็จฯ แปรพระราชฐานไปพระราชวังบางปะอิน ภายหลัง ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี พระอัครมเหสีพระองค์แรกในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ข้อมูล

วันประสูติ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2403
วันสวรรคต 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2423
พระราชบิดา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระมารดา สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา
พระราชสวามี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบุตร สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงกรรณาภรณ์เพชรรัตน์
ราชวงศ์ ราชวงศ์จักรี



พระราชประวัติ


สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี เป็นพระเจ้าลูกเธอพระองค์ที่ 50 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และลำดับที่ 3 ซึ่งประสูติแต่สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา ทรงพระราชสมภพในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันเสาร์ เดือน12 แรม 12 ค่ำ ปีวอก เวลา 5 โมงเช้า 40 นาที ซึ่งตรงกับวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2403 โดยได้รับพระราชทานพระนามจากสมเด็จพระราชบิดาว่า พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ซึ่งคำว่า “สุนันทา” นั้น เป็นนามของพระมเหสี 1 ใน 4 พระองค์ของพระอินทร์ นอกจากนี้ ยังได้รับพระราชทานพรเป็นภาษามคธ ซึ่งสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้ทรงพระนิพนธ์แปลเป็นภาษาไทยไว้ว่า

“พระองค์เจ้าองค์นี้ ทรงนามว่า “สุนันทากุมารีรัตน์” อย่างนี้ดังนี้ จงอย่ามีโรค จงมีความสุข ปราศจากความทุกข์และความวุ่นวายเถิด พระองค์เจ้าหญิงนั้นจงมั่งคั่งด้วยทรัพย์มาก มีโภคมาก มียศและบริวารไม่แปรผัน ขอพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ กับทั้งอารักขเทวดา จงช่วยอภิบาลรักษา พระองค์เจ้าหญิงสุนันทากุมารีรัตน์นั้นให้พ้นภัยจากอันตรายเป็นนิตย์ ขอความสัมฤทธิ์จงมีแก่พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์เทอญ”

พระองค์ทรงมีพระเชษฐาและพระขนิษฐาร่วมพระมารดาทั้งสิ้น 6 พระองค์ ได้แก่ พระองค์เจ้าอุณากรรณอนันตนรไชย พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี และ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ

ภายหลังการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ซึ่งขณะนั้นมีพระชันษาเพียง 8 ปี จึงเปลี่ยนพระฐานันดรศักดิ์จาก “พระเจ้าลูกเธอ” เป็น พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ และเมื่อพระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ได้ถวายตัวรับราชการเป็นภรรยาเจ้าเมื่อพระชนมายุประมาณ 15 – 16 พรรษา จึงดำรงพระอิสริยยศเป็น พระนางเธอ พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์

พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ทรงเป็นคนแข็ง แกร่งกล้า เด็ดขาดในบางเรื่อง แต่ด้วยพระสิริโฉม รวมทั้งพระอัธยาศัยที่สุภาพ เรียบร้อย และสงบเสงี่ยม ทำให้พระองค์เป็นที่นับถือในพระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชบริพาร และทรงเป็นที่สนิทเสน่หาในพระราชสวามียิ่งนัก

ในวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2421 พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ประสูติพระราชธิดาพระองค์แรกของพระองค์ โดยเป็นพระราชธิดาพระองค์ที่ 21 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์นี้มีพระตำหนิเด่นชัด คือ มีติ่งที่พระกรรณข้างขวามาแต่กำเนิด จึงพระราชทานพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงกรรณาภรณ์เพชรรัตน์ โสภางคทัศนียลักษณ์ อัครวรราชกุมารีรัตน์

สวรรคต

เมื่อวันจันทร์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2423 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการให้แต่งเรือพระที่นั่งเพื่อเสด็จประพาสพระราชวังบางปะอินพร้อมพระมเหสีทุกพระองค์ เจ้าจอมมารดา เจ้าจอม และข้าราชบริพาร โดยก่อนวันตามเสด็จพระราชดำเนินนั้น พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ทรงพระสุบิน(ฝัน)ว่า พระองค์พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงกรรณาภรณ์เพชรรัตน์ พระราชดำเนินข้ามสะพานแห่งหนึ่ง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงกรรณาภรณ์เพชรรัตน์พลัดตกน้ำลงไป พระองค์สามารถคว้าพระหัตถ์เอาไว้ได้ แต่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงกรรณาภรณ์เพชรรัตน์ก็ลื่นหลุดพระหัตถ์ไป พระองค์ทรงคว้าพระหัตถ์พระเจ้าลูกเธอจนตกน้ำลงไปด้วย ถึงแม้ว่าพระองค์จะหวั่นพระทัย แต่ก็มิได้ทรงกราบบังคมทูลให้พระราชสวามีทรงทราบ และได้ตามเสด็จฯ ประพาสพระราชวังบางปะอินตามพระราชประสงค์

ในวันเสด็จฯ นั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้เคลื่อนขบวนเรือต่าง ๆ ออกไปก่อนในเวลาประมาณ 2 โมงเช้า โดยพระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงกรรณาภรณ์เพชรรัตน์ประทับบนเรือเก๋งกุดันโดยมีเรือปานมารุตซึ่งเป็นเรือกลไฟจูงเรือพระประเทียบ หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสร็จพระราชกิจแล้วจึงได้เสด็จพระราชดำเนินด้วยเรือพระที่นั่งโสภาณภควดีตามไป เมื่อขบวนเรือพระที่นั่งไปถึงบางตลาดนั้น จมื่นทิพเสนากับปลัดวังซ้ายลงมากราบทูลว่า “เรือพระที่นั่งพระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ซึ่งเรือปานมารุตจูงไปนั้นล่มที่บางพูด สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงกรรณาภรณ์เพชรรัตน์สิ้นพระชนม์”

หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าจึงได้ทรงไล่เลียงกรมหมื่นอดิศรอุดมเดช พระยามหามนตรี และผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ โดยพระยามหามนตรีทูลว่า “เรือราชสีห์ซึ่งจูงเรือพระองค์เจ้าสุขุมาลมารศรีนั้นนำหน้าไปทางฝั่งตะวันออก โดยมีเรือโสรวารซึ่งพระยามหามนตรีไปจูงเรือพระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรีตามไปเป็นที่สองในแนวเดียวกัน ส่วนเรือยอร์ชสมเด็จกรมหลวงวรศักดาซึ่งจูงเรือกรมสมเด็จพระสุดารัตนราชประยูรไปทางฝั่งตะวันตกแล่นตรงกันกับเรือราชสีห์ หลังจากนั้น เรือปานมารุตแล่นสวนขึ้นมาช่องกลางห่างเรือโสรวารประมาณ 10 ศอก พอเรือปานมารุตแล่นขึ้นไปใกล้ เรือราชสีห์ก็เบนหัวออก เรือพระประเทียบเสียท้ายปัดไปทางตะวันออก ศีรษะเรือไปโดนข้างเรือโสรวารน้ำเป็นละลอกปะทะกัน กดศีรษะเรือพระประเทียบจมคว่ำลง”

งานออกพระเมรุพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์อย่างไรก็ตาม กรมหมื่นอดิศรกล่าวว่า “เป็นเพราะเรือโสรวารหนีตื้นออกมา จึงเป็นเหตุให้เรือปานมารุตแล่นห่างกว่า 10 ศอก” ซึ่งกรมหมื่นอดิศรและพระยามหามนตรีต่างซัดทอดกันไปมา โดยในขณะที่เรือล่มนั้นพระยามหามนตรีก็ได้ออกคำสั่งห้ามผู้ใดลงไปช่วยเหลือด้วยเป็นการขัดต่อกฎมณเฑียรบาลที่ห้ามให้ผู้ใดแตะต้องพระวรกายของพระมเหสี มิฉะนั้นจะถูกประหารทั้งตระกูล หลังจากนั้น จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้านายขึ้นไปไล่เลียงคนอื่น ๆ ดู แล้วจึงได้ความว่า พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ก็สวรรคตพร้อมด้วยพระราชบุตรในพระครรภ์พระชนม์ 5 เดือนเต็ม ทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าทรงเสียพระทัยยิ่งนัก และเนื่องจากเหตุการณ์นี้ทำให้มหาชนถวายพระนามพระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ว่า “สมเด็จพระนางเรือล่ม”

พระศพของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงกรรณาภรณ์เพชรรัตน์ ตั้งบำเพ็ญพระราชกุศลที่หอธรรมสังเวช ภายในพระบรมมหาราชวัง ตั้งแต่วันที่สวรรคต โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานโกษฐ์ทองใหญ่ ซึ่งเป็นพระโกษฐ์สำหรับทรงพระบรมศพของพระมหากษัตริย์ให้ทรงพระศพของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ซึ่งถือเป็นการให้พระเกียรติแก่สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์อย่างยิ่ง หลังจากนั้น ได้มีการจัดการพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพทั้ง 2 พระองค์ขึ้น ณ กลางทุ่งพระเมรุ เมื่อวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2424 และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินขึ้นพระราชทานเพลิงพระศพ ในวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2424

ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์ให้จัดพิมพ์หนังสือสวดมนต์รวมพระสูตร และพระปริตต่าง ๆ สำหรับพระราชทานแด่อารามต่าง ๆ เพื่อเป็นพระราชกุศลในวันถวายพระเพลิงพระศพ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีการจัดพิมพ์หนังสือแจกในงานศพ และยังคงเป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติสืบเนื่องกันมาจนถึงปัจจุบัน


การออกพระนาม

การทิวงคตของพระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์นั้นทำให้เกิดปัญหาในการออกพระนามในประกาศทางราชการ เนื่องจากยังไม่มีการสถาปนาฐานันดรศักดิ์แห่งพระมเหสีแต่ประการใด ดังนั้น จึงมีการออกพระนามเป็นลำดับ ดังนี้

เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2423 นั้น กรมหมื่นนเรศรเข้าไปเฝ้ากราบบังคมทูลด้วยพระนามพระองค์เจ้าสุนันทา ว่า สมเด็จกรมพระจะทรงออกตราเกณฑ์ไม้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ “สมเด็จพระนางเจ้า อย่างสมเด็จพระนางโสมนัส” ดังนั้น จึงออกพระนามว่า สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์

หลังจากนั้น เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2423 มีรับสั่งให้กรมหมื่นนเรศรไปทูลสมเด็จกรมพระว่า พระนามนั้นให้ใช้แต่ “สมเด็จพระนางเธอ” เนื่องจากสมเด็จพระนางเจ้านั้นไว้ใช้สำหรับการแปลเป็นคำอังกฤษว่า ควีน ดังนั้น จึงออกพระนามว่า สมเด็จพระนางเธอสุนันทากุมารีรัตน์ และใช้ภาษาอังกฤษว่า Princess ส่วนสมเด็จพระนางเจ้านั้นให้ใช้กับคำว่า Queen ในภาษาอังกฤษ โดยให้ใช้เป็นสมเด็จพระนางเจ้าตามด้วยชื่อ และต่อท้ายด้วยพระราชเทวี

ต่อมาในวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2423 ให้เปลี่ยนพระนามเป็นจาก “สมเด็จพระนางเธอ” เป็น สมเด็จพระนางเจ้า สุนันทากุมารีรัตน์ หลังจากนั้น พระองค์ได้รับการเฉลิมพระนามาภิไธยเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี พร้อมกับสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี

พระราชมรดก


หลังจากสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวีสวรรคตลง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงแบ่งพระราชทรัพย์ของพระนางให้แก่พระญาติของพระนาง โดยพระองค์พระราชทานเครื่องยศสำหรับผู้หญิงให้แก่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพาหุรัดมณีมัย พระราชธิดาในพระองค์และพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระราชเทวี (พระยศขณะนั้น) ซึ่งเป็นหลานอันสนิทของพระนางเจ้าที่ได้เลี้ยงดูกันมา ซึ่งมีรายการดังต่อไปนี้

  • เครื่องยศพานหมากทองคำลงยาราชาวดี

  • ผอบทองคำลงยาราชาวดีปริกประดับเพชร

  • จอกหมากทองคำลงยาราชาวดี

  • ซองพลูทองคำลงยาราชาวดี

  • ตลับขี้ผึ้งรูปผลลิ้นจี่ประดับทับทิมมีสายสร้อยห้อยแขวน-ไม้ควักหูจิ้มฟันประดับเพชรบ้างเล็กน้อย

  • หีบหมากทองคำลงยาราชาวดี หลังเป็นลายสระบัว มีมงกุฎกษัตรียประดับเพชรพลอยบ้าง

  • ตลับเครื่องในทองคำลงยาราชาวดี หลังประดับมรกต เพชรสามใบเถา

  • พานทองคำลงยาราชาวดี สำหรับรองหีบหมาก

  • ขันครอบทองคำลงยาราชาวดี จอกลอย และพานรอง

  • ขันล้างหน้าทองคำลงยาราชาวดีพานรอง

  • กาน้ำร้อยหูหิ้วมีถาดรองทองคำลงยาราชาวดี

  • กระโถนเล็กทองคำลงยาราชาวดี

  • โต๊ะเงินสำหรับเครื่องคาวและหวาน


แต่หีบหลังประดับเพชรมีตลับสามใบเถานั้น ทรงมอบให้แก่พระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระราชเทวี ซึ่งเป็นพระขนิษฐาของพระนางเจ้า ส่วนสิ่งของอื่น ๆ นั้น พระองค์ทรงแบ่งออกพระราชทานให้แก่พระเชษฐา พระขนิษฐา และพระนัดดาของพระนาง ได้แก่ สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี, พระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระราชเทวี, สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ, สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพาหุรัดมณีมัย, สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ, พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ และพระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ ส่วนของที่พระองค์ทรงให้คืนพระคลัง ได้แก่ กล่องจุลจอมเกล้า 1 ใบ และหีบกะไหล่โปร่ง 1 ใบ

อนุสรณ์สถาน


พระราชานุสาวรีย์

อนุสาวรีย์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ณ พระราชวังบางปะอินหลังจากที่สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวีเสด็จทิวงคตแล้วนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้สร้างอนุสรณ์สถานขึ้นหลายแห่งเพื่อระลึกถึงสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ โดยแต่ละแห่งนั้น เป็นสถานที่ที่สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์เคยตามเสด็จฯ และทรงโปรดปรานเป็นพิเศษ ได้แก่

1.พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ณ น้ำตกพริ้ว จังหวัดจันทบุรี ภายในบรรจุพระสรีรางคาร (เถ้ากระดูก) ของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ไว้ด้วย มีลักษณะเป็นรูปทรงพีระมิดพร้อมคำจารึก โดยเหตุที่สร้างสถูปเป็นรูปทรงนี้ก็มาจากพระราชดำริของรัชกาลที่ 5 ที่ว่า "ทำเป็นรูปอื่นอาจไม่คงทนถาวร เพราะตั้งอยู่กลางป่าเขาลำเนาไพร อันไม่มีผู้ดูแล ฉะนั้น เมื่อปิรามิดของอียิปต์ยืนยงคงทนอยู่ได้ฉันใด ปิรามิดน้อยนี้ก็จะยืนยงคงทนอยู่เช่นกัน ณ ท่ามกลางป่าเขาและเสียงไหลรินของธารพลิ้ว "
2.พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ณ สวนสราญรมย์ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2426 ตัวอนุสาวรีย์ทำด้วยหินอ่อนสีขาวมียอดเป็นปรางค์ภายในบรรจุพระสรีรางคารของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ไว้ด้วย และมีคำจารึกแสดงความทุกข์โทมนัสของรัชกาลที่ 5 บนแผ่นหินอ่อน
3.พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ณ พระราชวังบางปะอิน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างอนุสรณ์แห่งความรักแห่งนี้ขึ้น มีลักษณะเป็นฐานรูปทรงสี่เหลี่ยมและยอดหกเหลี่ยมทรงสูง สร้างด้วยหินอ่อนจากประเทศอิตาลี พร้อมทั้งได้เสด็จพระราชดำเนินเปิดอนุสาวรีย์เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2426 ซึ่งตรงกับวันที่สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์เสด็จทิวงคตครบรอบ 3 ปี



โรงเรียนสุนันทาลัย
นอกจากพระราชานุสาวรีย์ที่สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงพระนางแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างตึกใหญ่ 2 ตึกบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตำบลปากคลองตลาด ตามแบบสถาปัตยกรรมตะวันตก ได้แก่ "ROYAL SEMINARY" สุนันทาลัยที่แม่น้ำ และสุนันทาลัยฝั่งใต้ (ปัจจุบัน ถูกรื้อถอนเพื่อสร้างเป็นห้องประชุมอาคารสว่างวัฒนา) เพื่อใช้เป็นสถานศึกษาสำหรับสตรีและเป็นการอุทิศพระราชกุศลพระราชทานแด่สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี ซึ่งพระนางสนพระทัยในด้านการศึกษาเป็นพิเศษ โดยโปรดเกล้าฯ ให้ใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์อันเป็นพระมรดกของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ในการก่อสร้าง ในปี พ.ศ. 2423 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินวางศิลาก่อฤกษ์อาคารพร้อมทั้งพระราชทานนามโรงเรียนแห่งนี้ว่า "โรงเรียนสุนันทาลัย" และเปิดการเรียนการสอนเมื่อปี พ.ศ. 2435 ปัจจุบัน บริเวณโรงเรียนสุนันทาลัยเป็นที่ตั้งของโรงเรียนราชินี

นอกจากนี้ ยังมีการนำพระนามของพระองค์ไปตั้งเป็นชื่อสถานที่ต่าง ๆ เพื่อเป็นการระลึกถึงพระองค์ด้วย เช่น สวนสุนันทา ณ พระราชวังดุสิต ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

ราชตระกูล

พระราชตระกูลในสามรุ่นของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี




Create Date : 03 เมษายน 2551
Last Update : 3 เมษายน 2551 17:19:17 น. 1 comments
Counter : 1947 Pageviews.

 
ขอบคุณครับ สำหรับข้อมูลดีดี คราวหน้า ขอ พระราชประวัติ ของสมเด็จพระพันวัสสา มั้งนะครับ


โดย: sai_dil69 วันที่: 3 เมษายน 2551 เวลา:17:13:25 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

LowLow
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




Friends' blogs
[Add LowLow's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.