โลกนี้มีเรื่องราวดีๆ ไว้ให้แบ่งปันกันมากมาย

การฟื้นฟูสุขภาพด้วยมหัศจรรย์น้ำอุ่น

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 24 พฤศจิกายน 2548 10:04 น.

คงต้องยอมรับว่า “น้ำ” นั้นเป็นธรรมชาติที่สุดแสนมหัศจรรย์ น้ำเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของร่างกายมนุษย์ และถูกใช้ในกิจการต่างๆ อีกจิปาถะมากมายหลายเรื่อง

แต่หลายคนคงไม่รู้ว่า น้ำยังสามารถช่วยฟื้นฟูสุขภาพได้อีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “น้ำอุ่น”

บัญชา เขมธร คือหนึ่งที่ในผู้ที่เคยป่วย มีร่างกายอ่อนแอ แต่เมื่อหันกลับมาใช้น้ำอุ่นในการบำบัดรักษาก็สามารถฟื้นฟูสุขภาพให้กลับคืนมาได้ กระทั่งตัดสินใจเขียนหนังสือชื่อ “มหัศจรรย์น้ำอุ่น” เพื่อเผยแพร่ความรู้เป็นวิทยาทานให้กับคนอื่นๆ ด้วย

อาจารย์บัญชาเล่าให้ฟังว่า ร่างกายมีปัญหาจากโรคภูมิแพ้เป็นอย่างมาก ยิ่งตอนที่ทำงานเป็นนักวิทยาศาสตร์อยู่ในห้องแล็บด้วยแล้ว อาการยิ่งหนัก เวลานอนจะทรมานมาก จนบางครั้งต้องเปลี่ยนไปนั่งแทน ถ้าอากาศเปลี่ยนเมื่อไหร่เป็นต้องกำเริบ

อย่างไรก็ตาม กระทั่งได้มาใกล้ชิดกับอาจารย์ประกายเพชร ทองพิทักษ์ ซึ่งเป็นพี่สะใภ้ก็เลยได้ความรู้และให้คำแนะนำว่า โรคนี้รักษาไม่ยาก ขอแค่เพียงดื่มน้ำอุ่นเข้าไปมากๆ เท่านั้น

“การดื่มน้ำอุ่นเป็นเรื่องที่หลายคนรู้สึกไม่รื่นรมย์ที่จะดื่ม เพราะรู้สึกโหวงๆ เหมือนไม่ได้น้ำ คนเราเวลาเหนื่อยๆ ทำงานหนักๆ มาพอได้น้ำเย็นแล้วจะรู้สึกสดชื่นมากกว่า คนก็เลยไม่อยากที่จะดื่ม”

อาจารย์บัญชาแนะนำเพิ่มเติมว่า การดื่มน้ำอุ่นที่ถูกต้องจะต้องดื่มตามสูตร คือ ตี 5 ตื่นมา ดื่มน้ำอุ่นประมาณ ลิตรครึ่งประมาณนั้น คนร่างเล็กหน่อยอาจจะลิตรหนึ่ง 200 ซีซี หรือจะดื่มมากกว่านั้นก็ได้ขอให้เป็นรวดเดียวหมดภายใน 2-3 อึดใจ โดยไม่ต้องชักปากออกจากกระบอกน้ำเลย

อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่มีปัญหา ไม่สามารถดื่มตามสูตรได้ ในระยะเริ่มแรกก็จะต้องใช้ความพยายามสักหน่อย เริ่มต้นจากทีละนิดก่อน เช่น ดื่มน้ำอุ่น 1 ลิตรครึ่งภายใน 1 ชั่วโมง

ทั้งนี้ น้ำอุ่นมันเป็นน้ำที่ไม่ให้โทษแก่ร่างกาย จะดื่มเท่าไหร่ก็ได้ไม่มีปัญหา เพราะต้องไม่ลืมว่าอุณหภูมิของร่างกายเรานั้นอยู่ที่ประมาณ 37 องศาเซลเซียสโดยประมาณ เมื่อเราดื่มน้ำอุ่นเข้าไปความร้อนของร่างกายก็จะไม่กระทบกระเทือน ร่างกายไม่ต้องผลิตความร้อนขึ้นมาเพื่อให้กับน้ำที่เราดื่มเข้าไป แต่ถ้าเป็นน้ำเย็นดื่มเข้าไปมากเท่าไหร่ ร่างกายจะต้องใช้ความร้อนมากขึ้นตามจำนวนน้ำเย็นที่เราดื่มเข้าไปเพื่อปรับอุณหภูมิน้ำนั้นให้เข้ากับร่างกายถึงจะนำน้ำนั้นไปใช้ได้

“น้ำที่เราดื่มเข้าไปตอนเช้าตามสูตรจะมีผลต่อระบบทางเดินอาหารโดยตรง โดยจะเข้าไปชำระล้างสิ่งสกปรกต่างๆ ที่มีอยู่ในร่างกายออกมา แต่ที่ต้องไม่ลืมก็คือ การรับประทานอาหารเช้า เพราะว่าเราเพิ่งล้างทางเดินอาหารอยู่หยกๆ กำลังใหม่ๆ เมื่อเรากินอาหารเข้าไปน้ำย่อยบริบูรณ์ ทางเดินสะอาด การดูดซึมก็ง่ายขึ้น ซึ่งการย่อยที่ดีขึ้นนัน้ ทำให้เราได้รับประโยชน์จากการรับประทานอาหารที่กินเข้าไปอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย อาหารกลางวันรองลงมา ส่วนอาหารเย็นอาจจะไม่จำเป็น

“การที่เราดื่มน้ำตามสูตร จะทำให้เราเป็นผู้มีน้ำเต็ม ร่างกายจะมีความเอิบอิ่ม ไม่ขี้โมโหง่าย ราศีเปล่งออกมาอย่างเต็มที่ การเคลื่อนไหวจะไม่มีการติดขัด เส้นเอ็น เนื้อหนังมังสายืดหยุ่นได้ตามสภาพ พร้อมใช้งานได้ทุกชนิด และต้องบอกว่า การดื่มน้ำอุ่นที่จริงแล้วคือการล้างพิษนั่นเอง โรคเกาท์เอย ความดันสูงเอย คอเลสเตอรอลสูงเอย เหล่านี้เป็นผลมาจากการขาดน้ำทั้งนั้น”

นอกจากนั้น อาจารย์บัญชายังให้คำแนะนำว่า น้ำเป็นสิ่งสำคัญ เพราะฉะนั้นเราต้องไม่ทำให้น้ำเป็นโทษต่อร่างกาย เช่น ต้องไม่นั่งเฉยๆ เพราะจะทำให้น้ำท่วมไตได้ หรือ อย่ากลั้นอุจจาระ ปัสสาวะ เพราะจะเป็นการขัดขวางกระบวนการทำงานของร่างกาย ซึ่งจะทำให้เกิดผลข้างเคียงตามมาได้

...และที่อยากฝากทิ้งเอาไว้ก็คือ คนที่อยากอายุยืนยาว ต้องเริ่มต้นด้วยน้ำ จากนั้นปรับธาตุอาหารให้ดี ฝึกจิตใจให้ดี เพียงแค่นี้ชีวิตก็จะอยู่ได้นานโดยที่ไม่ต้องสิ้นเปลืองเงินทองไปสรรหายาต่างๆ มารับประทานแต่อย่างใด




 

Create Date : 24 พฤศจิกายน 2548   
Last Update : 24 พฤศจิกายน 2548 10:59:59 น.   
Counter : 1012 Pageviews.  

โรคเบาหวานกับหัวใจ

เมื่อเอ่ยถึงโรคหัวใจขาดเลือดแล้ว หลายๆ ท่านคงคิดถึงแต่ไขมันคลอเรสเตอรอล แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไขมันยังร้ายน้อยกว่า โรคเบาหวาน ผู้ป่วยไขมันในเลือดสูงไม่จำเป็นต้องเป็นโรคหัวใจขาดเลือดทุกราย แต่หากเป็นเบาหวานแล้ว รับรองได้ว่าหากไม่ดูแลให้ดีหรือแม้แต่ดูแลอย่างดีแล้ว ก็ยังมีโอกาสเกิดโรคหัวใจขาดเลือดในอัตราที่สูงมาก เบาหวานเป็นปัจจัยเสี่ยงที่น่ากลัวอย่างหนึ่งสำหรับโรคหัวใจขาดเลือด

โรคเบาหวานเป็นความผิดปกติเนื่องจากร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลในร่างกายไปใช้ได้อย่างเต็มที่ สาเหตุเนื่องจากขาดฮอร์โมนอินซูลิน หรือไม่ขาดฮอร์โมน แต่ร่างกายไม่ตอบสนองต่อฮอร์โมนตัวนี้ ผลที่ตามมาคือระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ ปัจจุบันหากระดับน้ำตาลในเลือดที่เจาะหลังงดอาหาร 6 ชั่วโมงแล้วยังสูงกว่า 126 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร เราก็เรียกได้ว่าเป็น "โรคเบาหวาน" ได้แล้ว ระดับน้ำตาลที่สูงนี้เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา ที่สำคัญคือเป็นตัวการเร่งให้เกิดการเสื่อม ของหลอดเลือดแดงทั่วร่างกาย ทั้งหลอดเลือดแดงที่เลี้ยงสมอง หัวใจ ตา ไต แขน-ขา รวมทั้ง หลอดเลือดแดงเล็กๆ ที่เลี้ยงปลายประสาทอีกด้วย ทำให้เกิดการตีบตันของหลอดเลือดแดงเหล่านี้ ดังนั้นจะเห็นว่า "โรคเบาหวาน" เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อ โรคทางสมอง อัมพาต โรคระบบประสาท โรคหัวใจ โรคไต โรคตา แม้กระทั่งโรคเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ หรือ ED ด้วย

ผู้ป่วยเบาหวานอาจเป็นโรคหัวใจได้ใน 2 ลักษณะ คือ เมื่อหลอดเลือดแดงที่เลี้ยงหัวใจเสื่อมจากเบาหวาน ร่วมกับการที่มีไขมันในเลือดสูง ก็จะทำให้เกิดการตีบของหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ ทำให้เกิดโรคหัวใจขาดเลือดและหากอุดตันก็จะเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายตามมา นอกจากนั้นแล้ว พบว่าในผู้ป่วยเบาหวานบางราย กล้ามเนื้อหัวใจทำงานน้อยกว่าปกติ บีบตัวน้อยกว่าปกติมาก แต่หลอดเลือดเลี้ยงหัวใจไม่ได้ตีบตัน กลุ่มนี้เชื่อว่าเกิดจากหลอดเลือดฝอยเล็กๆ ที่เลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติจากเบาหวาน เราเรียกกลุ่มนี้ว่า diabetic cardiomyopathy ซึ่งยากต่อการรักษา การรักษาที่ดีที่สุดของกลุ่มหลังนี้คือการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ
ปัญหาที่สำคัญอีกประการหนึ่งในผู้ป่วยเบาหวาน คือ ผู้ป่วยเบาหวานที่มีโรคหัวใจขาดเลือดหลายรายไม่แสดงอาการผิดปกติทางหัวใจนำมาก่อน เช่น เจ็บหน้าอกเหมือนผู้ป่วยโรคหัวใจทั่วๆไป บ่อยครั้งที่ผู้ป่วยเหล่านี้แสดงอาการของโรคหัวใจครั้งแรกด้วยกล้ามเนื้อหัวใจตาย หรือหัวใจล้มเหลวโดยไม่เคยมีอาการเจ็บหน้าอกมาก่อนเลย ทำให้แพทย์ให้การวินิจฉัยโรคช้ากว่าปกติ ซึ่งแน่นอนว่าการวินิจฉัยล่าช้าย่อมมีผลเสียต่อการพยากรณ์โรคในระยะยาวด้วย

คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน
1. จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดีมากตลอดเวลา เพื่อหวังว่าจะช่วยชะลอการเสื่อมของ หลอดเลือดแดงทั่วร่างกาย

2. การดูระดับน้ำตาล ไม่ได้อาศัยเพียงการเจาะเลือดก่อนอาหารเช้าเท่านั้น ควรจะต้องดูละเอียดไปจนถึงระดับน้ำตาลหลังอาหารและค่าน้ำตาลเฉลี่ยในรอบ 3 เดือน โดยดูจากน้ำตาลที่เกาะบนเม็ดเลือดแดงด้วย (Hemoglobin A1C)

3. หากมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ สำหรับโรคหัวใจก็ต้องควบคุมเป็นอย่างดีด้วย เช่น งดบุหรี่ ควบคุมความดันโลหิตให้ปกติ (น้อยกว่า 130/80 มม.ปรอท) ควบคุมไขมันคลอเรสเตอรอลให้น้อยกว่า 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร หรือแอล-ดี-แอล คลอเรสเตอรอล ให้น้อยกว่า 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร เป็นต้น ซึ่งหมายความว่าจำเป็นต้องใช้ยาลดไขมันในเลือดร่วมด้วย

4. ลดน้ำหนักและออกกำลังกายแบบแอโรบิคอย่างสม่ำเสมอ การลดน้ำหนักจะช่วยให้ร่างกายไวต่อฮอร์โมนอินซูลิน

5. จำเป็นต้องตรวจปัสสาวะดูการทำงานของไต ตรวจตาโดยจักษุแพทย์ ตรวจอัลตราซาวน์ดูนิ่วในถุงน้ำดีด้วย เพราะสิ่งเหล่านี้จะ เป็นปัญหาในอนาคต

6. เมื่ออายุมากขึ้น ควรตรวจสมรรถภาพหัวใจโดยละเอียด คือ อัลตราซาวน์หัวใจและการเดินสายพาน เนื่องจากบ่อยครั้งที่ผู้ป่วยไม่แสดงอาการจนเป็นมากแล้ว

7. อย่าลังเลหากแพทย์แนะนำให้ท่านรักษาด้วยการฉีดยา (ฮอร์โมนอินซูลิน) หรือรับประทานยาลดความดันโลหิต ยาลดไขมันในเลือด เพราะ จะเป็นผลดีต่อท่านในระยะยาว ในอีก 5-10 ปีข้างหน้า

หากท่านเกิดปัญหาแทรกซ้อนต่างๆ จากเบาหวานขึ้นแล้ว เช่น ไตวาย หัวใจขาดเลือด อัมพาต ตามองไม่เห็น สิ่งเหล่านี้ หากเกิดขึ้นแล้วก็ไม่สามารถแก้ไขให้กลับมาดีเหมือนเดิมได้ ดังนั้นการป้องกันจึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุด แม้ว่าเรายังไม่สามารถ ป้องกันโรคแทรกจากเบาหวานได้ 100 % แต่เราก็อาจชะลอ หรือลดความรุนแรงของโรคแทรกเหล่านี้ลงได้ แม้เป็นเบาหวาน ท่านก็อาจมีชีวิตปกติสุขได้
เรียบเรียงโดย นพ.ระพีพล กุญชร ณ อยุธยา อายุรแพทย์โรคหัวใจ //www.thaiheartweb.com




 

Create Date : 28 กันยายน 2548   
Last Update : 28 กันยายน 2548 11:50:37 น.   
Counter : 837 Pageviews.  

อาหารกับสุขภาพตับ

ตับเป็นอวัยวะที่ใหญ่ที่สุดในร่างกาย เปรียบเสมือนโรงงานผลิตพลังเคมีในร่างกาย ควบคุมระบบการเผาผลาญสารอาหารและขจัดของเสียออกจากร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นอาหาร อากาศที่หายใจหรือดูดซึมผ่านเข้าทางผิวหนัง จะต้องผ่านกระบวนการกรองพิษโดยการทำงานของตับ
อาหารมีความสัมพันธ์กับการทำงานของตับ โดยที่ตับจะช่วยเปลี่ยนอาหารที่รับประทานเป็นพลังงาน และเก็บสะสมสารอาหารที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตและการเจริญเติบโต ช่วยผลิตน้ำดีซึ่งจำเป็นต่อการย่อยอาหารประเภทไขมัน นอกจากนี้ตับยังช่วยผลิตสารที่ช่วยในการแข็งตัวของเลือด ผลิตสารโปรตีนในเลือดและเอ็นไซม์ต่างๆ มากกว่าพันชนิด ผลิตและควบคุมการทำงานของคอเลสเตอรอล ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ปกติ ควบคุมการทำงานของฮอร์โมน

85-90% ของเลือดที่ออกจากกระเพาะและลำไส้จะนำสารอาหารสำคัญไปสู่ตับ เพื่อเปลี่ยนเป็นสารที่ร่างกายต้องนำไปใช้ ตับจึงเป็นอวัยวะที่สำคัญในการสร้างสารอาหารประเภทโปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต และวิตามินที่ร่างกายจะต้องใช้ในการทำงาน
คาร์โบไฮเดรต จะถูกเปลี่ยนเป็นน้ำตาลเพื่อนำไปใช้เป็นพลังงาน ตับจึงทำหน้าที่ในการควบคุมระดับน้ำตาล และป้องกันอาการน้ำตาลต่ำ หากขาดกระบวนการเหล่านี้ คนเราจะต้องกินทั้งวันไม่หยุด เพื่อรักษาระดับพลังงานในร่างกาย
โปรตีน เมื่อย่อยแล้วจะอยู่ในรูปกรดอะมิโน ซึ่งจะถูกส่งเข้าสู่ตับเพื่อสร้างเป็นโปรตีนชนิดใหม่ที่ร่างกายจะนำไปใช้ประโยชน์ได้ ตับยังมีความสามารถพิเศษในการเปลี่ยนกรดอะมิโนบางชนิดเป็นน้ำตาล และเป็นพลังงานในยามฉุกเฉินหรือในยามที่ร่างกายต้องการพลังงานเร่งด่วน
โปรตีนบางชนิดจะถูกแบคทีเรียในลำไล้เล็กเปลี่ยนเป็น แอมโมเนีย ซึ่งเป็นสารที่มีพิษ หรือของเสียที่เกิดจากการสลายโปรตีนจะอยู่ในรูปของแอมโมเนีย ตับจะสลายแอมโมเนียเป็นสารยูเรียและขจัดออกทางไต ฉนั้นร่างกายจะขจัดพิษได้ดีนอกจากตับต้องแข็งแรงแล้วไตยังต้องดีด้วย
ไขมัน อาหารไขมันจะต้องถูกย่อยด้วยน้ำดีซึ่งตับเป็นตัวสร้างและเก็บไว้ในถุงน้ำดี จะถูกนำมาใช้ยามเมื่อมีอาหารไขมันในลำไส้เล็ก น้ำดียังจำเป็นต่อการดูดซึมวิตามิน เอ ดี และ เค ซึ่งเป็นวิตามินที่ละลายในไขมัน หลังจากที่ไขมันถูกย่อยแล้ว กรดน้ำดีจะถูกลำไส้เล็กดูดซึม และส่งกลับไปที่ตับเพื่อรีไซเคิลเป็นน้ำดีอีกครั้ง

โภชนบำบัดในโรคตับแข็ง
โรคตับแข็งอาจเกิดจากสาเหตุหลายประการ ได้แก่ การดื่มสุรามากเป็นสาเหตุที่พบบ่อย โรคตับอักเสบเรื้อรังจากเชื้อไวรัส โรคทางเดินน้ำดีอุดตัน ระบบภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง ยาและสารพิษบางชนิด และความผิดปกติทางพันธุกรรม ในที่นี้จะพูดถึงเฉพาะโรคตับแข็งเท่านั้น
ผู้ที่มีโรคตับควรอยู่ในการดูแลรักษาของแพทย์ ขณะเดียวกันการดูแลด้านโภชนาการมีความสำคัญ ต่อการรักษา เพื่อให้ร่างกายได้รับพลังงาน โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน และวิตามินแร่ธาตุอย่างเหมาะสม จะช่วยให้ฟื้นฟูสภาพตับได้ดีขึ้น โภชนบำบัดเน้นอาหารที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของตับดังนี้
อาหารพลังงานสูง ผู้ป่วยโรคตับมีความต้องการพลังงานสูงโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีปัญหาขาดสารอาหารร่วมด้วย อาหารที่มีพลังงานสูงถึงวันละ 2000-3000 กิโลแคลอรี จะช่วยในการเสริมสร้างเนื้อเยื่อตับ ช่วยเสริมสร้างพละกำลังและทำให้ฟื้นตัวเร็วขึ้น
การแบ่งอาหารเป็นมื้อเล็กๆหลายๆมื้อ เช่นวันละ 4-6 มื้อ นอกจากจะช่วยให้ร่างกายได้รับพลังงานเพียงพอแล้วยังช่วยลดการเผาผลาญไขมันและโปรตีนอีกทั้งยังป้องกันไม่ให้ไกลโคเจนที่ร่างกายสะสมไว้ถูกใช้หมดไป

โปรตีน ผู้ป่วยที่มีโรคตับแข็งต้องการอาหารโปรตีนสูงถึงวันละ 100-150 กรัม เพื่อใช้ในการสร้างเซลล์ใหม่ และป้องกันภาวะขาดโปรตีน แต่ถ้าโปรตีนสูงมากเกินไป ก็จะทำให้แอมโมเนียในเลือดสูง ในกรณีนี้แพทย์จำเป็นต้องให้ยาแลคทูโลส ( Lactulose) หรือ นีโอไมซิน (Neomycin) เพื่อควบคุมระดับแอมโมเนียในเลือด ร่วมกับการจำกัดปริมาณโปรตีนในระดับต่ำๆ วันละ 10-40 กรัมขึ้นกับสภาวะโรคของผู้ป่วย
อาหารโปรตีนสำหรับผู้ป่วยควรเป็นโปรตีนที่มีคุณภาพสูง เช่นนม ไข่ เนื้อสัตว์ชนิดต่างๆ

คาร์โบไฮเดรต อาหารจะต้องมีโบไฮเดรตสูง เพื่อให้ร่างกายได้รับกลูโคสเพียงพอในการนำไปเป็นพลังงาน และสะสมในรูปไกลโคเจน เพื่อเป็นพลังงานสำรอง การได้รับกลูโคสเพียงพอจะช่วยให้ร่างกายนำโปรตีนไปใช้ในการเสริมสร้างเนื้อเยื่อได้ดีขึ้น ควรเน้นคาร์โบไฮเดรตที่ไม่ผ่านการขัดสี ได้แก่ ข้าวซ้อมมือ ขนมปังโฮลวีท เส้นต่างๆ เผือก มัน ฟักทอง ผลไม้ เป็นต้น

ไขมัน อาหารควรมีไขมันพอสมควรแต่ไม่มากไป ในกรณีที่ผู้ป่วยมีปัญหาในการย่อยและดูดซึมไขมัน แพทย์จะให้ไขมันชนิดพิเศษที่ย่อยได้โดยไม่ต้องใช้น้ำดีและดูดซึมง่าย ในการแปลงอาหารไขมันองค์กรโรคตับในสหรัฐอเมริกาแนะว่า อาจใช้น้ำมัน ดอกคำฝอยปรุงอาหารแทนน้ำมันอื่นๆ

วิตามินและเกลือแร่ ร่างกายมีความต้องการวิตามินและเกลือแร่มากขึ้น แต่ผู้ป่วยไม่ควรหาซื้อมารับประทานเองโดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์ เพราะวิตามินบางชนิดหากได้รับมากเกินจะเป็นพิษต่อตับได้ เช่น วิตามินเอ
อาหารที่เป็นแหล่งของวิตามินเกลือแร่ในธรรมชาติคือผัก และผลไม้ ควรเลือกอาหารผักและผลไม้อย่างหลากหลายซึ่งจะให้สารแอนติออกซิแดนท์เช่นเบตาแคโรทีนและวิตามินซีสูง

อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง
• จำกัดอาหารทะเลประเภทที่มีเปลือกแข็ง เช่นหอยนางรมดิบ อาหารเหล่านี้ถ้ารับประทานต้องปรุงให้สุก มิฉะนั้นจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิด
• ผู้ป่วยโรคตับจะต้องจำกัดโซเดียม ซึ่งเป็นองค์ประกอบของเกลือ เพื่อป้องกันหรือลดอาการบวม การจำกัดโซเดียมทำได้โดยงดของหมักดอง ปรุงอาหารโดยไม่เติมซอสและเครื่องปรุงซึ่งมีรสเค็ม รวมทั้งผงชูรส งดอาหารกระป๋อง งดมายองเนสและซอสมะเขือเทศ ปรุงอาหารจากอาหารสด จะช่วยลดปริมาณโซเดียมได้มาก
* งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยเด็ดขาด

ในกรณีผู้ป่วยมีอาการบวมของเส้นเลือดดำขอดในหลอดอาหาร อาหารที่ควรรับประทานควรเป็นอาหารอ่อน เพื่อป้องกันการฉีกขาดของเนื้อเยื่อบริเวณนั้น และควรงดอาหารทอดทุกชนิด

ข้อแนะนำ
ผู้ที่เป็นโรคตับควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ ผู้ที่ไม่มีโรคตับ หรือหายจากโรคตับ ก็ควรจะดูแลสุขภาพของตับได้ดังนี้
• งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือถ้าดื่ม ดื่มในปริมาณเล็กน้อย คนที่มีสุขภาพดีหากดื่มสุรามากก็อาจจะทำให้เป็นโรคตับแข็งได้ง่ายขึ้น
• รับประทานอาหารไขมันต่ำ กากใยอาหารสูงๆ โดยเลือกอาหารที่ผ่านกระบวนการผลิตขัดสีที่น้อยที่สุด รับประทานเนื้อล้วน ลดอาหารทอด อาหารมัน การมีโภชนาการดีจึงเท่ากับการดูแลสุขภาพตับไปในตัว และป้องกันการเกิดโรคหลายๆชนิดของตับ
• ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

//www.healthandcuisine.com




 

Create Date : 26 กันยายน 2548   
Last Update : 26 กันยายน 2548 14:22:49 น.   
Counter : 1161 Pageviews.  

กินต้านปวดประจำเดือน

สาเหตุอย่างหนึ่งที่ทำให้ผู้หญิงเราปวดท้องเวลามีเมนส์ก็เนื่องมาจากสารพรอสตาแกลนดินส์ (ชนิด PG2) ซึ่งสร้างจากไขมันที่สะสมในเซลล์ผนังมดลูก สารพรอสตาแกลนดินส์เกี่ยวข้องกับการอักเสบหดตัวของกล้ามเนื้อและของหลอดเลือด การแข็งตัวของเลือดและอาการเจ็บปวด

ก่อนที่ประจำเดือนจะมา เซลล์เยื่อบุผนังมดลูกจะสร้างสารพรอสตาแกลนดินส์เป็นปริมาณมาก และระหว่างที่มีประจำเดือน เซลล์เหล่านั้นจะฉีกขาดและปลดปล่อยสารพรอสตาแกลนดินส์ออกมา ทำให้เกิดการหดตัวของหลอดเลือดในมดลูกและทำให้กล้ามเนื้อในมดลูกเกิดการบีบตัว จึงทำให้เกิดอาการปวด สารพรอสตาแกลนดินส์บางส่วนจะเข้าไปในกระแสเลือด ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน และท้องเดินได้

นักวิจัยพบว่า หญิงที่มีอาการปวดประจำเดือนจะมีระดับสารพรอสตาแกลนดินส์ที่ผลิตจากเซลล์เยื่อบุมดลูกและในเลือดสูงกว่าหญิงที่ไม่ปวดประจำเดือน ผู้หญิงที่ทนต่อการปวดเมนส์ไม่ไหวก็อาจจะต้องพึ่งยาแก้ปวด หรือหยุดงานนอนพักอยู่กับบ้านโดยมีกระเป๋าน้ำร้อนบรรเทาอาการปวด ยาแก้ปวดเป็นยาประเภทต้านการอักเสบที่ไม่มีสเตียรอยด์ (nonsteroidal-inflammatory drugs) ช่วยลดระดับสารพรอสตาแกลนดินส์ จึงใช้แก้ปวดประจำเดือนได้ ส่วนผู้หญิงที่ใช้ยาคุมกำเนิดอาจจะมีปัญหาปวดเมนส์น้อย เพราะยาคุมกำเนิดจะลดการเจริญของเซลล์ผนังมดลูก ทำให้ผลิตสารพรอสตาแกลนดินส์ลดลง อาการปวดก็จะลดลงตาม

อาหารมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมน
อาหารที่เรากินจะมีผลต่อการปรับสมดุล อาหารบางชนิดมีผลทำให้ระดับฮอร์โมนสูงขึ้น บางชนิดมีผลให้ลดลง อาหารไขมันทำให้ระดับเอสโตรเจนสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นไขมันชนิดใดก็ตาม ถ้าเราลดปริมาณไขมันในอาหาร ระดับเอสโตรเจนจะลดลงอย่างชัดเจนภายในเดือนแรก นักวิจัยโรคมะเร็งจึงให้ความสนใจอย่างมากกับปรากฏการณ์นี้ เพราะเอสโตรเจนเป็นตัวที่กระตุ้นการเจริญของเซลล์มะเร็ง การลดระดับเอสโตรเจนในเลือดจะช่วยลดความเสี่ยงมะเร็งเต้านมไปด้วย

นักวิจัยพบว่า อาหารมังสวิรัติไขมันต่ำไม่เพียงแต่จะช่วยลดอาการและความรุนแรงของอาการปวดเมนส์จาก 3.9 วันเหลือ 2.9 วัน ยังลดอาการก่อนมีประจำเดือนอื่นๆ เช่น ปวดหัว ปวดหลัง บวม หงุดหงุด ได้อย่างชัดเจน

วิธีการปรับเปลี่ยนอาหารต้านการปวดเมนส์
เริ่มลงมือปฏิบัติการ 14 วันก่อนวันครบรอบเดือนโดยปรับการบริโภคอาหารดังนี้
1. ลดไขมัน ลดเนื้อสัตว์ เลี่ยงไขมันทุกชนิด รวมทั้งเนื้อสัตว์บก น้ำ สลัดชนิดครีม อาหารทอดทุกชนิด
2. สำหรับผู้ที่ไม่อยากงดเนื้อสัตว์ เลือกปลาและไข่แทน มีรายงานการวิจัยว่า กรดโอเมก้า 3หรือน้ำมันปลาช่วยลดอาการปวดเมนส์ได้ และการเสริมน้ำมันปลาช่วยลดปริมาณเมนส์ในสาวๆที่เวลาเมนส์มาเหมือนท่อน้ำแตก
3. เพิ่มอาหารที่มีกากใยจากผัก ผลไม้ และเมล็ดธัญพืชไม่ขัดสี ใยอาหารจะช่วยร่างกายลดเอสโตรเจนส่วนเกิน ตับจะดึงเอสโตรเจนจากกระแสเลือด ผ่านท่อน้ำดีเข้าไปในลำไส้เล็ก ซึ่งจะมีใยอาหารทำหน้าที่เหมือนฟองน้ำคอยดูดซับและนำไปขจัดออกพร้อมของเสีย ยิ่งกินใยอาหารมากเท่าไร ก็ยิ่งทำให้เอสโตรเจนถูกขจัดออกจากระบบมากขึ้น
4. ลดเค็ม กินอาหารรสจัด โดยเฉพาะรสเค็มให้น้อยลง อาจช่วยลดอาการอืด บวมฉุน้ำในผู้หญิงบางคนได้
5. ลดกาเฟอีน น้ำตาล และแอลกอฮอล์
6. กินอาหารแคลเชียมสูง โดยบริโภคแคลเซียมวันละ 1,200 มิลลิกรัมช่วยลดปัญหาการปวดเมนส์ ส่วนอาหารแคลเซียมสูงได้แก่ ผลิตภัณฑ์นมพร่องมันเนยหรือขาดไขมัน โยเกิร์ต เนยแข็ง ผักใบเขียวจัด เต้าหู้ เป็นต้น

สมุนไพรและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบางชนิด แม้จะไม่มีข้อมูลการวิจัยที่ชัดเจน แต่ก็มีการใช้มานานในด้านแผนโบราณในการลดอาการปวดเมนส์ สมุนไพรบางชนิดมีคุณสมบัติคล้ายฮอร์โมน ช่วยปรับสมดุลของฮอร์โมนในร่างกาย
1. อีพีโอหรือกรดแกมมาลิโนเลนิก เป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่ง ทำหน้าที่ยับยั้งการหลั่งไซโตไคน์ (cytokines) และพรอสตาแกลนดินส์ ซึ่งผลิตจากผนังมดลูกมีผลต่อการบีบตัวของกล้ามเนื้อมดลูก และการปวดเมนส์
2. น้ำสมุนไพรบางชนิด ปลอดภัยที่จะดื่มและช่วยให้รู้สึกสบายขึ้น น้ำขิงช่วยลดอาการคลื่นไส้ น้ำราสป์เบอร์รี่ และสมุนไพรคาโมมายล์ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย
3. ตังกุยสมุนไพรจีน มีสารที่ช่วยการขยายหลอดเลือดป้องกันการบีบเกร็งของหลอดเลือด แต่มีข้อเตือนว่า ไม่ควรกินในปริมาณมากเกินไป เพราะจะทำให้ผิวหนังมีความไวต่อแสงแดดได้

นอกจากการปรับเรื่องอาหารการกินเพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารอย่างสมดุลแล้ว การออกกำลังกายสม่ำเสมอ การฝึกโยคะ และการฝึกสมาธิ จะทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนเอนดอร์ฟิน ช่วยให้ร่างกายผ่อนคลายลดอาการปวดเมนส์ได้
//www.healthandcuisine.com/




 

Create Date : 26 กันยายน 2548   
Last Update : 26 กันยายน 2548 14:14:45 น.   
Counter : 2094 Pageviews.  

การดูแลผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง (2)

การป้องกันและชะลอการเสื่อมหน้าที่ของไต

1.การควบคุมอาหาร การควบคุมปริมาณโปรตีน ช่วยชะลอการเสื่อมของไต ซึ่งในความเป็นจริงอาจทำได้ยากเพราะผู้ป่วยมักมีอาการเบื่ออาหารจากภาวะของเสียในเลือดคั่งอยู่เดิม ซึ่งเป็นการควบคุมปริมาณพลังงานไปด้วยในตัว

2.การควบคุมความดันโลหิตการควบคุมความดันโลหิตมีความสำคัญอย่างมากโดยทั่วไปผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังใช้เกณฑ์ 130/80 mmHg แนะนำการใช้ยากลุ่ม ACE inhibitors เพื่อลดความดันโลหิตและเป็นยาที่ป้องกันการเสื่อมของไต

3.การใช้ยาลดไขมัน จากหลักฐานปัจจุบันสนับสนุนว่า การใช้ยาลดระดับไขมันจะช่วยชะลอความเสื่อมของภาวะไตวายเรื้อรัง เพราะว่าปัญหาโรคหลอดเลือดและหัวใจในผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่เพิ่มขึ้นมักเป็นในผู้ป่วยที่มีปัญหาไขมัน จึงแนะนำการใช้ยาลดไขมันทุกรายที่มีปัญหาโรคหัวใจและหลอดเลือด, เบาหวาน และปริมาณคอเลสเตอรอลสูงกว่า 5 mmol/L

4.การติดตามการรักษา การติดตามการรักษาและการให้ความรู้ เช่น หลีกเลี่ยงการใช้ยาแก้ปวดชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ หรือ tetracycline และยาอื่นที่อาจมีผลต่อไต

เมื่อไหร่ควรจะส่งตัวมาพบแพทย์โรคไต
แนะนำว่าควรส่งผู้ป่วยมาพบแพทย์เฉพาะทางโรคไตเมื่อ plasma creatinine >150 umol/L ในผู้ชายและ 130 umol/L ในผู้หญิง ภาวะไตเสื่อมที่ไม่ทราบสาเหตุ ปัสสาวะเป็นเลือด ภาวะมีไข่ขาวในปัสสาวะ
การตัดชิ้นเนื้อไตแนะนำให้ทำในผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูง มีภาวะไข่ขาวในปัสสาวะ และมีภาวะการทำงานของไตแย่ลง โดยการตัดชิ้นเนื้อไตมักไม่ได้ทำเป็นประจำในผู้ป่วยเบาหวาน อย่างไรก็ตาม อาจพิจารณาทำถ้าแพทย์โรคไตเห็นว่ามีการลดลงของหน้าที่ไตไม่สัมพันธ์กับการมีไข่ขาวในปัสสาวะ

การแก้ไขภาวะติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ การควบคุมความดันโลหิต และการแก้ไขเรื่องการแข็งตัวของเลือดมีความจำเป็นต้องทำก่อนการตัดชิ้นเนื้อ และควรทำในสถานที่ที่พร้อมทั้งอุปกรณ์ พยาธิแพทย์

สาเหตุสำคัญของการส่งตัวผู้ป่วยมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญคือ
1.ลดหรือชะลออัตราการเสื่อมหน้าที่ของไต
2.การป้องกันหรือแก้ไขภาวะแทรกซ้อนของไต
3.ประเมินการบำบัดด้วยการล้างไต
4.การให้ความรู้ ความเข้าใจและการรักษาแก่ผู้ป่วย

การล้างไตด้วยเครื่องไตเทียม
การล้างไตด้วยเครื่องไตเทียม หรือการฟอกเลือดเป็นวิธีบำบัดทดแทนไตที่มีประสิทธิภาพสูงเมื่อเปรียบเทียบกับการล้างไตทางหน้าท้อง แต่สามารถทดแทนหน้าที่ไตได้เพียงบางส่วน ส่วนการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากภาวะของเสียในเลือดคั่งเช่นระบบหัวใจและหลอดเลือดนั้นไม่สามารถแก้ไขด้วยการฟอกเลือดได้ นอกจากนี้สิ่งที่ต้องคำนึงในสถานการณ์ปัจจุบันคือค่าใช้จ่ายที่สูง

หลักการในการล้างไตด้วยเครื่องไตเทียม
การเคลื่อนผ่านโดยการแพร่กระจาย: อาศัยลักษณะประจุและน้ำหนักโมเลกุล, ความแตกต่างของความเข้มข้นระหว่างเนื้อเยื่อ, อัตราการไหลของเลือด รวมถึงลักษณะเนื้อเยื่อ โดยที่สารที่มีโมเลกุลเล็ก เช่น urea จะเคลื่อนผ่านโดยวิธีนี้
การพา (Convection) เป็นวิธีการเคลื่อนของสาร ผ่านเยื่อกั้น ซึ่งสารที่เคลื่อนที่โดยวิธีนี้คือสารที่มีโมเลกุลขนาดกลาง

ภาวะแทรกซ้อนฉับพลัน
1.อาการเสียสมดุล มีการเปลี่ยนแปลงความเป็นกรดในน้ำไขสันหลัง ทำให้เกิดภาวะสมองบวม โดยผู้ป่วยจะมีอาการปวดศีรษะ สับสนวุ่นวาย และบางครั้งอาจชัก หรือหมดสติ (coma) โดยมักพบในผู้ป่วยที่มีภาวะของเสียในเลือดคั่งที่รุนแรงและได้รับการล้างไตในระยะเริ่มต้นมากเกินไป
2.ความดันต่ำ เป็นผลจากการรับการล้างไตมากเกินไป โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีปัญหาในระบบหัวใจและหลอดเลือดอยู่เดิม หรือผู้ป่วยที่รับประทานยาลดความดันโลหิตสูง โดยจะมีอาการคลื่นไส้อาเจียน เวียนศีรษะ และเป็นลม ดังนั้นการควบคุมเกลือโซเดียม การระมัดระวังการใช้ยาลดความดันโลหิต และการเพิ่มเวลาในการล้างไต จะช่วยลดการเกิดได้
3.อาการแพ้จากการล้างไต เกิดขึ้นภายใน 20 นาทีหลังเริ่มการล้างไต
4.อาการไข้ เกิดจาก การติดเชื้อ ซึ่งควรรักษาโดยการให้ยาปฏิชีวนะ

ภาวะแทรกซ้อนระยะยาว
1.โลหิตจาง ส่วนใหญ่เกิดจากภาวะขาดฮอร์โมน erythropoietin นอกจากนี้อาจเกิดจากการเสียเลือด การขาดบี 12 และโฟเลท การขาดธาตุเหล็ก การเกิดมะเร็ง
2.การมีฟอสเฟตคั่ง มักเกิดจากระยะเวลาการล้างไตสั้นเกินไป
ผลการรักษา
ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่ออัตราการรอดชีวิตคือ อายุ, โรคร่วมที่ไม่ใช่โรคไตและในรายที่ไม่สามารถเปลี่ยนไตได้ การรักษาจะมุ่งลดภาวะแทรกซ้อนในระยะยาวเป็นสำคัญ

การล้างไตทางหน้าท้อง
เริ่มมีการใช้ครั้งแรกเมื่อปี 1923 แม้ว่าจะไม่มีการศึกษาเปรียบเทียบ แต่พบว่าอัตรการเสียชีวิตในผู้ป่วยในกลุ่มล้างไตทางหน้าท้องไม่แตกต่างจากล้างไตทางเลือด
ข้อดีของการล้างไตทางหน้าท้อง
1.ทำได้ง่าย สามารถทำที่บ้านได้ ไม่ได้ต้องการอุปกรณ์พิเศษมากนัก
2.การล้างไตอย่างต่อเนื่องและทำให้การเปลี่ยนแปลงของเกลือแร่และสารเคมีน้อย ข้อเสียของการล้างไตทางหน้าท้อง
1.ประสิทธิภาพด้อยกว่าการฟอกไตและการขับของเสียที่เพียงพอยังต้องอาศัยหน้าที่ของไตที่เหลือร่วมด้วย
2.การมีสายค้างที่หน้าท้องอาจมีผลต่อสภาพจิตใจของผู้ป่วย
3.ความสำเร็จของการล้างไตขึ้นอยู่กับการทำหน้าที่ของเยื่อบุผนังหน้าท้อง ซึ่งการทำหน้าที่จะลดลงเมื่อเกิดการอักเสบ

ภาวะแทรกซ้อนของการล้างไตทางหน้าท้อง
1.การติดเชื้อ
2.ภาวะแทรกซ้อนที่ไม่ใช่การติดเชื้อ
2.1 การสูญเสียสารโมเลกุลเล็ก ๆ แม้ว่าจะใช้น้ำยาที่มีความเข้มข้นสูง
2.2 ปัญหาการไหลของน้ำยา ซึ่งสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดคือการเคลื่อนของสาย catheter
2.3 การไหลของน้ำไปยังส่วนต่าง ๆ เช่น อวัยวะเพศ, ช่องเยื่อหุ้มปอด
2.4 อาการปวดท้องและหลังและที่เกิดจากไส้เลื่อน




 

Create Date : 26 กันยายน 2548   
Last Update : 26 กันยายน 2548 14:10:30 น.   
Counter : 5746 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  

sriphat
Location :
ภูเก็ต Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 17 คน [?]




โลกนี้มีเรื่องราวดีๆ ไว้ให้แบ่งปันกันมากมาย
New Comments
[Add sriphat's blog to your web]