Group Blog
 
All Blogs
 
การสอบเข้า ป.โท + การเรียนประวัติศาสตร์จีนโบราณ

การสอบเข้า ป.โท + การเรียนประวัติศาสตร์จีนโบราณ



วันก่อนคุยกับน้องที่สนิทคนหนึ่งถึงเรื่องสมัยเรียนที่ปักกิ่ง แล้วทำให้เกิดนึกอยากจะเขียนกระทู้นี้ขึ้นมา...

ที่ปักกิ่งนี้ เวลาในแต่ละเทอมของเขาจะต่างกับของไทย นั่นคือ กลางเดือนกันยายน - กลางเดือนมกราคม คือเทอมที่ ๑ จากนั้นช่วงตรุษจีน คือเดือนกุมภาพันธ์ จะเป็น ปิดเทอมเล็ก หรือ “ปิดเทอมฤดูหนาว” (หนาวยะเยือกจริงๆ -14 องศา)

เทอม ๒ คือกลางเดือนกุมภาพันธ์ - กลางเดือนมิถุนายน จากนั้นคือ ปิดเทอมใหญ่ หรือ “ปิดเทอมฤดูร้อน” (ร้อนตับแลบจริงๆ 41 - 43 องศา แถมอย่าคาดหวังฝนจากปักกิ่ง เมืองที่อยู่ใกล้ทะเลทราย)

หลังจากจบการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ข้าพเจ้าก็รอจนถึงเดือนกันยายน ถึงค่อยไปปักกิ่ง หลังจากเข้าเรียนเรียบร้อยแล้ว ในเดือนพฤศจิกายนก็มีการสมัครสอบเข้าเรียนในระดับปริญญาโท แน่นอน ข้าพเจ้าไปสมัครเพื่อ “ลองแนวข้อสอบ” เพราะไม่โง่ขนาดคาดหวังว่าตัวเองจะสอบติดตั้งแต่ในครั้งแรกอยู่แล้ว

การสอบจะมีขึ้นในช่วงปลายเดือนมกราคม ดังนั้นจึงพูดได้ว่า มีเวลาอ่านหนังสือเตรียมสอบครั้งแรกทั้งสิ้น ๓ เดือน โดยในระหว่างนี้ ข้าพเจ้าก็ได้ขอให้รุ่นพี่ชาวไทยที่จบจากมหาวิทยาลัยเดียวกันที่เวลานั้นเรียนปี ๓ คณะประวัติศาสตร์ช่วยพาไปซื้อหนังสือสำหรับอ่านสอบ

พอเห็นหนังสือ ลองนำมาพลิกอ่านดู ก็อึ้ง...มันมีด้วยกันทั้งหมด ๖ เล่ม ได้แก่

๑. ประวัติศาสตร์จีนโบราณ เล่ม ๑

๒. ประวัติศาสตร์จีนโบราณ เล่ม ๒

๓. สังเขปประวัติศาสตร์จีนโบราณ เล่ม ๑

๔. สังเขปประวัติศาสตร์จีนโบราณ เล่ม ๒

๕. ประวัติศาสตร์จีนร่วมสมัย เล่ม ๑

๖. ประวัติศาสตร์จีนร่วมสมัย เล่ม ๒

แต่ละเล่มหนาประมาณ ๑ นิ้ว แต่ขนาดค่อนข้างเล็ก คือเท่ากับศึกจอมขมังเวทน่ะแหละ

ข้าพเจ้าไม่ทราบเช่นกันว่า ๓ เดือนสำหรับคนอื่นนั้นเป็นอย่างไร แต่เมื่อได้ลองพลิกอ่านหนังสือเล่มที่พี่เขาช่วยเลือกให้อ่านสอบดู ข้าพเจ้าก็ตระหนักว่า เวลา ๓ เดือน ฉันไม่มีทางที่จะอ่านมันจบได้อย่างแน่นอน อย่าว่าแต่ยังต้อง “จำ” มันเลย

ด้วยความที่รู้แน่ว่ายังไงก็อ่านไม่จบ เลยอยากลองหาวิธีที่มันง่ายกว่าอ่านเจ้า ๖ เล่มนี้ ข้าพเจ้าจึงไปถามเพื่อนข้างห้องซึ่งเป็นชาวฮ่องกง และเป็นนักศึกษาปริญญาโทปี ๑ สาขาโบราณคดี ซึ่งใช้ข้อสอบชุดเดียวกับพวกสอบโทประวัติศาสตร์ดู เขาก็แนะนำให้อย่างมีน้ำใจ โดยแนะให้ข้าพเจ้าไปซื้อหนังสือ “สารานุกรมจีนมาตรฐาน ฉบับประวัติศาสตร์จีน ฉบับย่อ” มา จากนั้นบอกว่า

“ถ้าเป็นไปได้ ก็ให้อ่านทั้งเล่มนี้นะ”

อนึ่งคำว่า “ฉบับย่อ” นี้ ไม่ใช่ว่าเขาย่อเนื้อหาในเล่มแต่ประการใด มันคือการพิมพ์ตัวอักษรด้วยขนาดย่อส่วนให้เล็กลง เพื่อที่ “สารานุกรมจีนมาตรฐาน ฉบับประวัติศาสตร์จีน” ซึ่งความจริงแล้วมี ๓ เล่มนั้น จะได้สามารถยัดลงในเล่มเดียวได้ และเจ้าเล่มเดียวนี้ ก็มีขนาดเล่มใหญ่เกือบๆ กระดาษ A4 และหนาประมาณ 2 นิ้วนิดๆ

ไม่ว่าทางไหน ก็ไม่มีทางอ่านจบได้ภายใน ๓ เดือนเห็นๆ แค่หาคำศัพท์ให้อ่านเนื้อหาทุกหน้าได้เข้าใจ เวลา ๓ เดือน หาได้หมด ๑ เล่มใน ๖ เล่มได้ ก็เต็มกลืนแล้ว เพราะประวัติศาสตร์จีนเต็มไปด้วยคำศัพท์เฉพาะ

ทีนี้ขอกล่าวถึงเนื้อหาในหนังสือประวัติศาสตร์จีนทั้ง ๒ เล่ม ซึ่งเป็นเล่มหลักที่พวกเราเด็กเอกประวัติศาสตร์จีนต้องใช้ประกอบการเรียน เนื้อหามันก็...ร่ายยาวมาตั้งแต่มนุษย์ยุคหิน มาถึงยุคตำนาน จนเริ่มราชวงศ์ โดยจะมีรายละเอียดดังนี้

๑. การเกิด การเจริญรุ่งเรือง และการล่มสลายของแต่ละราชวงศ์ โดยร่ายมาตั้งแต่ประวัติของปฐมฮ่องเต้แต่ละราชวงศ์ จนตั้งราชวงศ์ได้ เรียงลำดับไปถึงว่าฮ่องเต้องค์ต่อไปคือใคร

๒. เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญมาก ไม่ว่าจะการขัดแย้งภายใน การแย่งบัลลังก์ หรือการทำสงคราม

๓. พระราชกรณียกิจที่เด่นๆ ของฮ่องเต้ในแต่ละราชวงศ์ เช่น การปฏิรูประบบการปกครอง การปฏิรูประบบภาษี การเปลี่ยนแปลงระบบความเชื่อ การปฏิรูประบบทหาร ฯลฯ

๔. ระบบเงินตรา ลักษณะรูปร่างของเงิน ค่าของเงิน

๕. ความเจริญทางวัฒนธรรมและการศึกษา เช่นในยุคไหนมีปราชญ์คนไหนเด่นๆ มีนักวิชาการคนไหนเขียนหนังสือดังๆ ชุดไหน เนื้อหาเกี่ยวกับอะไร มีกี่บท แยกย่อยเป็นหมวดใหญ่ๆ อะไรบ้าง

สรุปก็คือ จนใกล้วันสอบ ก็ยังอ่านไม่จบ...ซึ่งมันก็แน่อยู่แล้ว ช่วงนั้นเรียกได้ว่าเครียดมาก เพราะถึงแม้จะเตรียมใจไว้แล้วว่าไม่มีทางสอบผ่าน แต่รสชาติของการที่ต้องสอบตก อย่างไรก็ไม่ใช่สิ่งที่ชวนลิ้มลอง แล้วก็สอบตกจริงตามคาด...

ในการสอบนั้นจะมีด้วยกันทั้งสิ้น ๔ วิชา ได้แก่

๑. วิชาประวัติศาสตร์จีนโบราณ

๒. วิชาประวัติศาสตร์จีน

๓. วิชาภาษาจีนโบราณ

๔. วิชาภาษาจีน

๒ วิชาแรก ข้อสอบจะเป็นอัตนัยล้วน และแบ่งเป็น ๒ ส่วน คือส่วนที่ได้ข้อละ ๕ คะแนน ๘ ข้อ กับส่วนที่ได้ข้อละ ๓๐ คะแนน ๒ ข้อ ขณะที่วิชาที่ ๓ นั้น ข้อสอบแบ่งเป็น ๒ ส่วน ส่วนละ ๕๐ คะแนน โดยส่วนแรก ให้ใส่เครื่องหมายวรรคตอน และส่วนที่ ๒ ให้ถอดความเป็นภาษาจีนปัจจุบัน

ใน ๔ วิชานี้ วิชาที่ง่ายที่สุดคือ วิชาภาษาจีน เพราะไม่ต้องเตรียมตัวไปสอบเลย...เนื่องจากเขาต้องการเพียงวัดระดับภาษาจีนของเราเท่านั้น ได้ยินว่าถ้าสอบได้เกิน ๗๐ คะแนน ก็คือผ่าน ซึ่งแม้จะเพิ่งไปเรียนที่ปักกิ่งเทอมเดียว ข้าพเจ้าก็ทำได้ ๗๖ คะแนน ผ่านสบายๆ

ส่วนอีกวิชาที่เหลือ นอกจากวิชาประวัติศาสตร์จีนโบราณที่บังเอิญทำข้อสอบได้เพราะในข้อสอบส่วนที่สองนั้นเพิ่งจะเรียนมาและสอบผ่านไปหยกๆ ยังจำได้ดี ๑๐๐% ทำให้วิชานั้นผ่านแบบสบายๆ ขณะที่อีก ๒ วิชา คะแนนเรี่ยติดดิน

สิ่งที่จำได้ในการสอบครั้งแรกคือ มีข้อหนึ่งที่คะแนนสูงถึง ๓๐ คะแนน หัวข้อคือ

จงอธิบายความแตกต่างของเหตุการณ์ขันทึกุมอำนาจในยุคราชวงศ์ถังและราชวงศ์ชิง

และในปีต่อมา ข้าพเจ้าก็สอบผ่านไปจนได้ด้วยคะแนนที่ผ่านพอดีเป๊ะๆ แบบเส้นยาแดงผ่าแปด

สิ่งที่จำได้ในการสอบครั้งที่ ๒ เป็นข้อที่คะแนนสูงถึง ๓๐ คะแนนเช่นกัน หัวข้อคือ

จงบอกวิวัฒนาการของการเก็บภาษีจากระบบอิงที่นาไปสู่ระบบสองรายการ

อนึ่ง ระบบเก็บภาษีแบบอิงที่นา นี้ เริ่มต้นในราชวงศ์สุย และดำเนินต่อมาในยุคราชวงศ์ถัง และเปลี่ยนเป็นระบบเก็บภาษีแบบสองรายการในราชวงศ์ถังเช่นกัน

หลังจากสอบโทได้แล้ว การเรียนในระดับปริญญาโทก็เริ่มต้น ทำให้ข้าพเจ้าได้ตระหนักในเวลาอันรวดเร็วว่า ไอ้ข้อสอบเข้าที่ตัวเราคิดว่า “มหาโหด” เทียบไม่ได้เลยกับระดับความ “โหด” ของเนื้อหาวิชาที่ต้องเรียน...

ในเทอมแรกนั้น อาจารย์ที่ปรึกษา (อ.จาง) ให้ข้าพเจ้าลงเรียน ๕ วิชา

ความจริง ตอนเรียนในระดับมหาวิทยาลัย ข้าพเจ้าได้ชื่อว่าเป็นมนุษย์อึดที่ลงเรียนเทอมละถึง ๑๐ วิชา บางเทอมลงเรียนมากถึง ๑๒ วิชา

แต่แค่เวลา ๑ ปีแรกที่มาเรียนใน ม.ปักกิ่ง ในชั้นเรียนสอบปรับพื้นฐานภาษาจีน ที่พวกเราจะเรียนกันแค่เทอมละ ๔ วิชานั้น ข้าพเจ้าก็ซึ้งแล้วว่า ๔ วิชานั้น ทำให้ข้าพเจ้าเรียกหนักเทียบเท่ากับตอนที่เรียนในไทย ๑๐ วิชาเลยทีเดียว

อีทีนี้ ในระดับปริญญาโทที่เรียนยากยิ่งกว่าการเรียนปรับพื้นฐานภาษาจีนหลายเท่า ท่านอาจารย์กลับให้ข้าพเจ้าลงเรียนไป ๕ วิชา

เวลานั้นข้าพเจ้ามองเห็นนรกมาเยือนอยู่ตรงหน้ารำไรในทันที...

๕ วิชาที่ข้าพเจ้าลงในเทอมแรกคือ

- วิชาประวัติศาสตร์จีนโบราณ ๑

- วิชาประวัติศาสตร์ราชวงศ์หยวน (มองโกล)

- วิชาประวัติเศรษฐศาสตร์จีน

- วิชาเอกสารจีนโบราณศึกษา

- วิชาประวัติสตรีสมัยราชวงศ์ถังและราชวงศ์ซ่ง

เวลาที่ใช้ในการเข้าฟังการบรรยายน่ะ ไม่มากหรอก แค่วิชาละ ๒ - ๓ ชั่วโมงเท่านั้น แต่ที่สาหัสคือการเตรียมอ่านหนังสือก่อนไปเรียน และการทบทวนเนื้อหาหลังเรียน รวมถึงการไปหาอ่านหนังสือที่อาจารย์ผู้สอนระบุชื่อมา

ทุกวิชาที่เรียน บางวิชาอาจารย์ก็แจกชี้ท บางวิชาก็ไม่แจก และชี้ทที่แจกนั้นก็ไม่ใช่ชี้ทที่แจกให้เอาไปอ่านสอบแต่อย่างใด มันเป็นแค่ชี้ทประกอบการบรรยายของเทอมนั้น (รายงานส่งท้ายเทอมที่อาจารย์สั่งให้ทำจะไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาในชี้ทแต่อย่างใด) และชี้ทร่ายรายการหนังสือ + บทความที่คุณควรจะไปหาอ่านเพิ่มเติมนอกเวลาเรียน ซึ่งรายการของมันก็ยาวประมาณ ๑ หน้า A4 เป็นอย่างน้อยน่ะแหละ ส่วน ๑ หน้า A4 ที่ว่าจะบรรจุได้กี่สิบบรรทัด ก็อย่าไปจินตนาการให้ขนหัวลุกเลย ที่แน่ๆ อาจารย์ไม่นิยมพิมพ์ด้วยตัวอักษรขนาดใหญ่เกินไปซึ่งจะทำให้เปลืองเนื้อที่หน้ากระดาษ

วิชาประวัติศาสตร์จีนโบราณ ๑ นั้น ในการบรรยาย จะมีการเชิญศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละช่วงราชวงศ์ผลัดกันมาบรรยายคนละ ๒ - ๓ สัปดาห์ เนื้อหาที่ออกสอบก็ออกสิ่งที่อาจารย์ท่านบรรยายน่ะแหละ ซึ่งมันก็คงไม่มีปัญหาหรอก หากว่าอาจารย์ที่มาบรรยายหลายคน พูดภาษาจีนสำเนียงอื่น ที่ไม่ใช่สำเนียงจีนกลาง...เรียกว่าไปนั่งฟัง ๓ ชม. นี้ ฟังไม่รู้เรื่องเลย...ว่าอาจารย์ท่านพูดอะไรไปบ้าง

พอหมดคาบ เพื่อนคนจีนก็มาถามข้าพเจ้าและเพื่อนชาวเกาหลี นศ.ต่างชาติเพียง ๒ คนของเอกว่า “ฟังรู้เรื่องไหม ?”

พอพวกเราส่ายหน้า เพื่อนคนจีนก็บอก “ไม่น่าแปลกใจ ขนาดพวกเราเองยังฟังออกแค่ ๕๐%”

วิชาประวัติศาสตร์ราชวงศ์หยวน (มองโกล) อาจารย์พูดเร็ว แต่ก็พอฟังรู้เรื่อง ที่สำคัญมีหนังสือให้อ่าน (แม้ว่าหนังสือมันจะหนา ๑ นิ้วครึ่งก็ตามที) เรียกว่ายังพอเรียนเข้าใจ ความรู้ด้านประวัติศาสตร์มองโกลจำนวนมากของข้าพเจ้า ได้มาจากอาจารย์ท่านนี้เอง

วิชาประวัติเศรษฐศาสตร์จีน นรกมากสำหรับคนไม่มีพื้นฐานด้านเศรษฐศาสตร์เช่นข้าพเจ้า กระทั่งหนังสือที่อาจารย์ให้ไปอ่านเพื่อเขียนสรุปเป็นรายงานส่งตอนท้ายเทอม (และสอบไฟนอลต่างหาก) ยังต้องใช้เวลาถึง ๑ อาทิตย์กว่าจะอ่านจบแบบมึนงง รู้สึกว่ามันจะเป็นหนังสือ “สรุประบบเศรษฐกิจขั้นพื้นฐานของชาวบ้านในเขตภาคเหนือ (ของจีน)” เจอแต่เรื่องการปลูกพืชเศรษฐกิจพื้นฐานเช่น เกาเหลียง ข้าว มัน ลักษณะดินและพื้นที่ที่มันชอบ สถิติการปลูกและเก็บเกี่ยว วิธีการปลูกของชาวนาในแต่ละพื้นที่ อ่านแล้วอย่างตาลายมาก ขนาดภาษาไทย ฉันยังไม่เคยแตะตำราพวกนี้เล้ย ! อย่าว่าแต่มาอ่านภาษาจีน @_@

วิชาเอกสารจีนโบราณศึกษา ก็ตามชื่อวิชา นั่นคือบอกให้เราได้รู้ว่า เอกสารจีนโบราณที่สำคัญๆ นั้นมีอะไรบ้าง มีรูปแบบการจดบันทึกอย่างไรบ้าง มีเนื้อหาลักษณะไหนบ้าง และมีวิวัฒนาการในการจัดแบ่งหมวดหมู่อย่างไรบ้าง ทั้งนี้ เนื้อหาวิชาจำกัดเฉพาะ "เอกสารจีนโบราณที่เป็นที่รู้จักกันทั่วไปในบรรดาผู้ศึกษาประวัติศาสตร์จีนโบราณแบบไม่ได้เจาะลึก" เท่านั้น เพราะพวกที่แยกเป็นเอกราชวงศ์ต่างๆ อย่างพวกเรา จัดเป็นพวกเรียนแบบเจาะลึก จะได้พบกับเอกสารโบราณที่ไม่มีชื่ออยู่ในเนื้อหาของวิชานี้ในปริมาณกองสูงทับเราตายเพิ่มมาอีก

กระนั้นวิชานี้ก็ทำให้ข้าพเจ้าได้รู้ปริมาณของ “เอกสารจีนโบราณที่ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์จีนโบราณทั่วไปรู้จัก” ว่ามีปริมาณมหาศาลขนาดไหน...

วิชานี้ อาจารย์จะเน้นเขียนข้อความบนกระดาน (ซึ่งพวกเราก็จดยิกๆ แต่ตอนสอบไม่ได้อ่านหรอก เพราะมันไม่ออกสอบ) ข้าพเจ้ามีปัญหากว่าเพื่อน เพราะอาจารย์เขียนค่อนข้างหวัด สำหรับเด็กจีน มันก็อ่านได้สบายอยู่หรอก แต่ฉันไม่ใช่คนจีนที่เกิดและโตในจีนนี่ แล้วลายมือหวัดของจีนมันเล่นย่อซะ ๒๐ ขีดเหลือลากยาวๆ ๒ - ๓ ขีดงี้ ใครจะไปดูออกฟระ -"- ก็อาศัยถามเพื่อนคนจีนที่นั่งข้างๆ เอา

วิชาประวัติสตรีสมัยราชวงศ์ถังและราชวงศ์ซ่ง วิชานี้ที่เลือกเรียนเพราะชอบอาจารย์ผู้สอนเป็นการส่วนตัว (อ.เติ้ง - ผู้หญิง) เป็นอาจารย์สอนเอกราชวงศ์ซ่งที่ต่อมาข้าพเจ้าเปลี่ยนมาเลือกท่านเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาแทน ตอนท่านสอนนี่จะชอบมาก ท่านสอนเข้าใจง่าย และพูดจาชัดเจน ไม่เร็วเกินไป นศ.ชอบท่านกับทั้งนั้น และลงเรียนวิชานี้ รวมถึงมานั่ง sit in วิชาของท่านกันจนห้องเกือบเต็มเป็นประจำ (แต่หนังสือที่ท่านเขียนอ่านเข้าใจยากโคตรๆ เป็นหนังสืออธิบายเกี่ยวกับระบบขุนนาง เล่มบางแค่ไม่ถึง ๑๐๐ หน้า แต่อ่านมา ๑๐ กว่ารอบแล้วก็ยังไม่รู้เรื่อง...)

กระนั้น...นรกของจริงหาใช่ ๕ วิชานี้ไม่ มันคือวิชานอกตาราง ซึ่งต้องเรียนกับอาจารย์ที่ปรึกษา ที่เขาเรียกกันว่า “วิชาอ่านหนังสือ” (ตู๋ซูเค่อ)

นั่นคือ ในบรรดาหน่วยกิตที่เราต้องเก็บนั้น จะมีหน่วยกิตที่ต้องได้จากอาจารย์ที่ปรึกษาปีละ ๓ หน่วยกิต ซึ่งเจ้าปีละ ๓ หน่วยกิตนี้ จะได้มาจากงานที่อาจารย์ที่ปรึกษาสั่งให้เราไปทำ อาจจะให้เราทำรายงาน หรืออะไรก็ตาม ซึ่งสำหรับอาจารย์ท่านนี้ มันคือ “วิชาอ่านหนังสือ” นั่นเอง

วิชาอ่านหนังสือจะแตกต่างกันไปตามแต่ละอาจารย์ แต่มักเป็นสมชื่อ คือในวิชานี้ อาจารย์จะกำหนดหนังสือเล่มหนึ่งหรือชุดหนึ่ง ให้พวกเราร่วมกันอ่านและวิเคราะห์ โดยเวลาในการเรียนนั้นจะมีการปรึกษากันในหมู่ศิษย์ร่วมอาจารย์ทุกชั้นปี ว่าว่างตรงกันเวลาไหน เป็นวิชาที่เรียนร่วมกันของศิษย์อาจารย์ที่ปรึกษาเดียวกัน อาจารย์ใครอาจารย์มัน

แต่ของข้าพเจ้า พวกเราเรียนร่วมกับศิษย์ของอาจารย์เติ้ง เพราะท่านเป็นศิษย์ร่วมอาจารย์ของ อ.จาง

หนังสือที่พวกเราต้องอ่าน คือ “แก้ไขและเพิ่มเติมบันทึกบท ระบบคัดเลือกขุนนาง ในบันทึกประวัติศาสตร์ราชวงศ์ซ่ง” (ซ่ง สื่อ เคอ จวี่ จื้อ ปู่ เจิ้ง เรียกย่อๆ ว่า "ปู่เจิ้ง" ) เป็นหนังสือเล่มค่อนข้างบาง หาซื้อไม่ได้แล้ว ข้าพเจ้าอาศัยถ่ายเอกสารทั้งเล่มเอา

เนื้อหาในหนังสือ ก็ตามชื่อ คือเป็นหนังสือให้วิจัย “บท ระบบสอบคัดเลือกขุนนาง” ที่บันทึกอยู่ใน “บันทึกประวัติศาสตร์ราชวงศ์ซ่ง”

อนึ่ง “บันทึกประวัติศาสตร์ราชวงศ์ซ่ง” นี้ เป็น ๑ ใน ๒๔ บันทึกประวัติศาสตร์มาตรฐาน ประกอบด้วย

1. สื่อจี้ - ประวัติศาสตร์สมัยแรกเริ่ม - ยุคพระเจ้าฮั่นอู่ตี้แห่งราชวงศ์ฮั่น

2. ฮั่นซู - ประวัติศาสตร์ราชวงศ์ฮั่นตะวันตก - ราชวงศ์ฮั่นตะวันออกช่วงต้น

3. โฮ่วฮั่นซู - ประวัติศาสตร์ราชวงศ์ฮั่นสมบูรณ์

4. ซานกว๋อจื้อ - ประวัติศาสตร์สามก๊ก

5. จิ้นซู - บันทึกราชวงศ์จิ้น

6. ซ่งซู - บันทึกราชวงศ์ซ่ง (ย่อย)

7. หนานฉีซู - บันทึกราชวงศ์ฉีใต้

8. เหลียงซู - บันทึกราชวงศ์เหลียง

9. เฉินซู - บันทึกราชวงศ์เฉิน

10. เว่ยซู - บันทึกราชวงศ์เว่ย

11. เป่ยฉีซู - บันทึกราชวงศ์ฉีเหนือ

12. โจวซู - บันทึกราชวงศ์โจว

13. สุยซู - บันทึกราชวงศ์สุย

14. หนานสื่อ - บันทึกราชวงศ์ใต้

15. เป๋ยสื่อ - บันทึกราชวงศ์เหนือ

16. จิ้วถังซู - บันทึกราชวงศ์ถังเก่า

17. ซินถังซู - บันทึกราชวงศ์ถังใหม่

18. จิ้วอู่ไต้สื่อ - บันทึกห้าราชวงศ์ถังเก่า

19. ซินอู่ไต้สื่อ - บันทึกห้าราชวงศ์ถังใหม่

20. ซ่งสื่อ - ประวัติศาสตร์ราชวงศ์ซ่ง

21. เหลียวสื่อ - ประวัติศาสตร์ราชวงศ์เหลียว

22. จินสื่อ - ประวัติศาสตร์ราชวงศ์จิน

23. หยวนสื่อ - ประวัติศาสตร์ราชวงศ์หยวน

24. หมิงสื่อ - ประวัติศาสตร์ราชวงศ์ชิง

ของราชวงศ์ซ่งอยู่ลำดับที่ 20

ในตอนสอบเข้าโท หนังสือชุดที่พวกเราต้องจำให้แม่นที่สุด คือ ๒๔ บันทึกประวัติศาสตร์มาตรฐาน นี่แหละ ต้องจำว่ามีชุดไหนบ้าง แต่ละชุดใครเรียบเรียง รูปแบบการบันทึกเป็นรูปแบบไหน แต่ละชุดบันทึกประวัติศาสตร์ช่วงไหนถึงช่วงไหน และประวัติผู้เรียบเรียงแต่ละคนว่าเป็นคนยุคไหนบ้าง

เวลาเขาถามหัวข้อนี้ มันจะอยู่ในข้อ “๕ คะแนน” เท่านั้น นั่นคือ เขียนกันมือหงิก แต่ได้ ๕ คะแนน กระนั้นมันก็เป็น ๕ คะแนนที่พวกเราจะได้แน่ๆ (หากท่องรายชื่อพวกนั้นมาจนแม่นยำ)

เฉพาะประวัติศาสตร์ราชวงศ์ซ่งเองนี้ เมื่อแยกเป็นเล่มขนาดหนังสือปกอ่อนปกติแล้ว จะได้ ๔๐ เล่ม (ฉบับไม่ย่อขนาดตัวหนังสือ) ซึ่งบทว่าด้วยระบบสอบคัดเลือกขุนนางนี้อยู่ในเล่มที่ ๑๑ ในการอ่าน เราต้องอ่านจากเนื้อหาในประวัติศาสตร์ราชวงศ์ซ่่งเล่ม ๑๑ ก่อน และเมื่อถึงจุดที่ในหนังสือ “แก้ไขและเพิ่มเติมบันทึกบท ระบบคัดเลือกขุนนาง ในบันทึกประวัติศาสตร์ราชวงศ์ซ่ง” เขียนว่าควรแก้ไขหรือเพิ่มเติม ก็มาสุมหัวรวมกันดูว่าที่เขาเขียนมานั้นถูกต้องเหมาะสมแล้วหรือยัง

แน่นอน...ข้าพเจ้ามีหน้าที่ฟังสถานเดียว แค่ตามให้ทันก็หมดปัญญาแล้ว อย่าว่าแต่จะเสนอความเห็น

ในระหว่างนี้ เพื่อนข้าพเจ้าที่เป็นคนเกาหลีบอกข้าพเจ้าว่า ข้อสอบเข้า ป.โท ของพวกเราเป็นละชุดกับพวกคนจีน และข้อสอบของคนจีนยากกว่าของพวกเรามาก ดังนั้นในวันหนึ่งที่เราสองคนไปเที่ยวที่ห้องของเพื่อนคนจีนในเอกเดียวกัน เราจึงได้ถามพวกเธอว่า ข้อสอบเข้า ป.โท ของพวกเธอมีอะไรบ้าง

สิ่งที่เธอบอก ทำเอาพวกเราอึ้ง บอกได้เพียงว่า หากเราเจอข้อสอบเข้าแบบที่พวกเธอเจอ คะแนนสอบเข้าของพวกเราต้องเป็น ๐ อย่างไม่ต้องสงสัย

ข้อสอบข้อหนึ่งในวิชา ภาษาจีนโบราณ ที่เธอบอกมา และข้าพเจ้าจำได้ คือ

จงบอกประโยคแรกในหนังสือ "จั่วจ้วน" มา

จั่วจ้วน คืออะไรกันหรือ ?

ทุกท่านคงรู้จัก ลัทธิขงจื้อ ดีว่าโด่งดังมากในจีนมาแต่โบราณ ซึ่งคัมภีร์สำคัญของลัทธิขงจื้อ ประกอบด้วย


สี่ตำราห้าคัมภีร์ (ซื่อซูอู่จิง)

สี่ตำรา (ซื่อซู) คือ

คัมภีร์หลุนอวี่ (Lunyu)

คัมภีร์ต้าเสว๋ (Daxue)

คัมภีร์จงยง (Zhong yong)

คัมภีร์เมิ่งจื่อ หรือ เม่งจื้อ (Meng zi)



ห้าคัมภีร์ (อู่จิง) คือ

คัมภีร์บทกลอน (ซือจิง : Shi jing)

คัมภีร์พิธีการในราชสำนัก (ซูจิง หรือ ซ่างซู : Shang shu)

คัมภีร์โหรา (อี้จิง : Yi jing)

คัมภีร์มรรยาท (หลี่อี๋ : Li yi)

คัมภีร์ประวัติศาสตร์ (ชุนชิว : Chun qiu)

(ความจริงยังมี "คัมภีร์ดนตรี" อีกหนึ่ง แต่สูญหายไปนานแล้ว จึงถูกตัดออก)


และใน ห้าคัมภีร์ นี้ คัมภีร์ประวัติศาสตร์ (ชุนชิว) มีผู้ให้คำอรรถาธิบายไว้ทั้งสิ้น ๓ ฉบับดังนี้

- ชุนชิวจั่วซื่อจ้วน (เรียกย่อว่า จั่วจ้วน ได้รับความนิยมและเชื่อถือสูงสุด)

- ชุนชิวกู่หยางจ้วน

- ชุนชิวกงเหลียงจ้วน

ข้อสอบที่บอกว่า จงบอกประโยคแรกในหนังสือ "จั่วจ้วน" มา ก็คือประโยคแรกในหนังสือ "จั่วจ้วน" เล่มนี้เอง

หนังสือ จั่วจ้วน นี้ ผู้เขียนและเรียบเรียงคือ จั่วชิวหมิง แปลว่า ชายตาบอดแซ่จั่ว เป็นคนในยุคเลียดก๊ก ซึ่งก็คือประมาณ 2,500 ปีก่อน ดังนั้นภาษาที่เขาเขียน ก็คือภาษาในยุคของเขานั่นแหละ....

และจนบัดนี้ ข้าพเจ้าก็ยังไม่รู้เลยว่าประโยคแรกของตำราจั่วจ้วน เขาเขียนว่าอะไร...

ในการเรียนวิชาอ่านหนังสือนี้ ข้าพเจ้าต้องเตรียมบทเรียนก่อนที่จะไปเรียน เพราะในชั้นเรียนมี นศ.ทั้งสิ้น ๗ คน อาจารย์ ๒ ท่าน (อ.เติ้งและ อ.จาง ต่างก็เป็นศาสตราจารย์ด้วยกันทั้งคู่) นั่งล้อมวงกันรอบโต๊ะขนาดกลาง ดังนั้น หากไม่เตรียมไปน่ะเรอะ เหอๆๆ...อย่าหวังเลยว่าจะรอดสายตาอาจารย์ไปได้ ก็เล่นนั่งจ้องตาอยู่ในระยะเผาขนแบบนั้น

สถานที่เรียนของเราคือ ใน "ศูนย์วิจัยประวัติศาสตร์จีนโบราณ" ซึ่งหัวหน้าศูนย์วิจัย คืออ.จาง และผู้ก่อตั้งศูนย์วิจัยนี้ ก็คือ ศ. เติ้งก่วงหมิง อาจารย์ปู่ของข้าพเจ้า หรือก็คืออาจารย์ที่ปรึกษาของ อ.จาง และ อ.เติ้ง นั่นเอง ทั้งยังเป็นคุณพ่อของ อ.เติ้งเสี่ยวหนาน อีกด้วย

ศูนย์วิจัยที่ว่านี้ สภาพมันก็คือห้องสมุดขนาดเล็กดีๆ นี่เอง แต่หนังสือที่มีอยู่ในห้องนี้น่าสะพรึงมาก มีกระทั่ง "ซื่อคู่เฉวียนซู" ซึ่งเป็นชุดตำราชุดใหญ่ที่สุดของจีน สั่งเรียบเรียงโดยเฉียนหลงฮ่องเต้ เมื่อพิมพ์ออกมาเป็นเล่มแบบปัจจุบัน ซึ่งเป็นปกแข็ง เล่มขนาดเกือบเท่ากระดาษ A4 หนา 2 นิ้ว ได้ทั้งสิ้น 1,500 เล่ม

ข้าพเจ้าในตอนที่อยู่ปี ๑ จะหวาดกลัวหนังสือชุด ซื่อคู่เฉวียนซู มาก แต่พออยู่ปี ๓ มันกลายหนังสือชุดแรกที่ข้าพเจ้าจะพุ่งไปหาเวลาจะค้นข้อมูล เพราะสะดวกที่สุด -_-' (ขากลับไทยเนี่ย ข้าพเจ้าเหน็บ vcd ของซื่อคู่เฉวียนซูลับมาด้วยล่ะ หุหุหุ แต่ป่านนี้คงเสียไปหมดแล้ว ไว้มีโอกาสไปอีกรอบค่อยไปซื้อมาใหม่ คิดว่าจำนวนแผ่นคงน้อยลงเยอะด้วยเทคโนโลยีด้านคอมพิวเตอร์สมัยนี้)

ความสาหัสของวิชาอ่านหนังสืออยู่ที่ เจ้า "ระบบสอบคัดเลือกขุนนาง" มันช่างอ่านยากสุดยอด ในการอ่านวันแรก ข้าพเจ้าใช้เวลา 4 ชั่วโมงในการพยายามอ่าน 2 ย่อหน้า โดยในการอ่านนั้น หนังสือจำเป็นทั้งดิกและหนังสืออ้างอิงจะวางอยู่รอบตัว ตั้งแต่

- พจนานุกรมจีนมาตรฐาน

- พจนานุกรมภาษาจีนโบราณขนาดพกพา

- พจนานุกรมภาษาจีนโบราณขนาดใหญ่

- พจนานุกรมรากศัพท์ (เล่มยักษ์)

- พจนานุกรมประวัติศาสตร์จีน (เล่มยักษ์พิเศษ 2 เล่ม แต่ละเล่มหนัก 5 กิโล)

- ซ่งฮุ่ยเย่าจี๋ก่าว (เล่มใหญ่พิเศษ 8 เล่ม)

ไล่เปิดหาไปเรื่อยทีละเล่ม บางที กว่าจะเข้าใจศัพท์สักคำ ไล่เปิดหาวางเทียบพร้อมกันหลายเล่ม และทำความเข้าใจอยู่ถึง ๓ ชม.ก็มี

และแน่นอนว่าของพวกนี้มันจิ๊บจ๊อยมากซะจนต่อให้ไปถามอาจารย์ อาจารย์ก็จะไม่บอกหรอก ให้เราลองพยายามดูเอาเอง เพราะคนอื่นเขาพยายามหนักกว่าเรากันทั้งนั้น เขายังไม่บ่นกัน

ดังนั้น...เวลาส่วนใหญ่จึงถูกทุ่มไปกับวิชาอ่านหนังสือนี้แหละ เพราะวิชาอื่นเรียนกันเยอะ อาจารย์ก็แค่บรรยาย ไม่มีการถามเรา มีแต่เปิดโอกาสให้เราถามอาจารย์ มีแต่วิชานี้ที่ทั้งต้องตอบและถาม ข้าพเจ้าได้รู้จักเอกสารจีนเพิ่มมากมายก็จากวิชาอ่านหนังสือนี้แหละ เพราะแทบทุกข้อความในหนังสือปู่เจิ้ง จะมีเชิงอรรถท้ายหน้า ที่เราต้องย้อนทวนไปดูในเอกสารต้นฉบับว่า ที่เขายกมามันถูกต้องทุกตัวอักษรหรือเปล่า

เพราะหนังสือ ปู่เจิ้ง นี้ ทำให้ข้าพเจ้าได้รู้จักและไปซื้อ ซ่งฮุ่ยเย่า (8 เล่มใหญ่) และ เหวินเซี่ยนทงเข่า (2 เล่มใหญ่) มาเพิ่ม (อาจจะมีเล่มอื่นอีก แต่ลืมแล้ว)

ทีนี้ แค่เตรียมบทเรียนยังไม่สาหัสพอค่ะ อาจารย์ยังมีไอเดียอันบรรเจิด ด้วยการจัดคิวให้พวกเราเป็นผู้ไปเตรียมบทเรียนอาทิตย์ละคน (วิชานี้เรียนแค่อาทิตย์ละครั้งเดียว) โดยคนที่ต้องเตรียม ก็ต้องไปอ่านและตรวจสอบข้อมูลในปู่เจิ้ง เทียบกับใน ซ่งสื่อ จากนั้นเตรียมเอกสารบอกสิ่งที่ตัวเองคิด ว่าตรงไหนถูกต้อง ตรงไหนน่าสงสัย ตรงไหนควรเพิ่ม ตรงไหนไม่ต้องมีก็ได้ มาให้ศิษย์พี่ศิษย์น้องร่วมเอกได้รับรู้

อ้อ ลืมบอกไปว่า เอกย่อยของข้าพเจ้าชื่อว่า "เอกย่อยราชวงศ์ซ่ง เหลียว จิน" รุ่นข้าพเจ้ามีด้วยกัน ๔ คน โดย ๓ คนเรียกเอกย่อยราชวงศ์ซ่ง และ ๑ คนเรียนเอกย่อยราชวงศ์เหลียว นอกจากข้าพเจ้าแล้ว ทุกคนเป็นผู้ชาย...และเจ้าเพื่อนร่วมอาจารย์ก็เคยพูดว่า

"เอกซ่งคนเลือกมีแต่ผู้ชาย เธอนึกยังไงถึงมาเลือกเอกนี้น่ะ ?"

(เรื่องของฉันโว้ย)

นอกจากพวกเราเด็กปี ๑ ทั้ง ๔ คน แล้ว ปี ๒ เอกซ่ง มี ๑ คน เป็นผู้ชาย ปี ๓ ก็ ๑ คน ผู้ชายเช่นกัน และปริญญาเอกปี ๑ ก็ ๑ คน ผู้ชายอีกแหละ....เซ็ง -__-"

การจัดคิวของอาจารย์ ทำเอาอาทิตย์ที่ถึงคิวข้าพเจ้า ข้าพเจ้าแทบตาย...เตรียมบทเรียน + ทำเอกสารแทบไม่ได้หลับได้นอนทั้งอาทิตย์

แค่นี้ยังไม่พอ...อาจารย์ผู้วาดหวังจะให้พวกเราได้มีประสบการณ์เยอะๆ ได้นำงานที่มีผู้จ้างวานให้ท่านทำ อันได้แก่ ตรวจทานความถูกต้องของ "สารานุกรมผู้สอบได้จอหงวน" ในส่วนของราชวงศ์ซ่ง มาให้พวกเราได้ลองทำฝึกฝีมือกัน ด้วยการแบ่งๆ กันไปตรวจสอบ และเขียนแก้ไขเสียใหม่ให้ถูกต้องกรณีเจอที่ผิด และหากเจอที่ใช้ภาษาเป็นทางการน้อยเกินไป ก็ให้แก้ไขให้เป็นภาษาทางการมากพอด้วย โดยกำหนดว่า ใครรับช่วงเวลาของฮ่องเต้คนไหนไปบ้าง

ในหนังสือเล่มดังกล่าวจะบอกถึงผู้ที่สอบได้จอหงวน ตั้งแต่คนแรกจนถึงคนสุดท้าย บอกปีเกิด - ปีที่เสียชีวิต และบอกประวัติโดยสังเขป

ด้วยความใจดีของพี่น้องร่วมเอก ข้าพเจ้าได้รับแบ่งงานมาน้อยที่สุด คือแค่ ๔ องค์ จากนั้นพวกเขาก็สอนให้ข้าพเจ้าได้รู้ว่า วิธีการเช็คข้อมูลว่ามีความถูกต้องแค่ไหนนั้น คือนำไปเปรียบเทียบกับแหล่งข้อมูลที่เก่าแก่ที่สุด แล้วพาเดินไปหยิบหนังสือเล่มหนึ่งมาให้ดู เป็นหนังสือที่บันทึกถึงบรรดาผู้ที่สอบได้จอหงวนในราชวงศ์ซ่งเหนือทั้งหมด

และในหนังสือเล่มนั้น...นอกจากจะเขียนเป็นภาษาจีนโบราณแล้ว...มันยัง "โบราณ" ของแท้ คือ ไม่มีเครื่องหมายวรรคตอนใดๆ ทั้งสิ้น แถมลักษณะการพิมพ์ยังเป็นการพิมพ์แบบเก่าของเมื่อ ๑,๐๐๐ ปีก่อน

พูดง่ายๆ ก็คือ เจ้าหนังสือเล่มนี้พิมพ์ขึ้นโดยถ่ายเอกสารภาพถ่ายของเอกสารประวัติศาสตร์เล่มที่ว่านั่นมาเย็บเป็นเล่มนั่นเอง -_-'

นอกจากเอกสารเล่มนี้แล้ว ก็ยังมีเอกสารอ้างอิงอีก 2-3 แหล่งที่ศิษย์พี่ทั้งหลายแนะนำให้ไปหามาเทียบประกอบการพิจารณา เท่านี้ก็พอแล้วล่ะ

ข้าพเจ้าก็จัดการซีร็อกประวัติบรรดาจอหงวนในความรับผิดชอบของข้าพเจ้าทั้งหมดนั้นมา แล้วกลับไปนั่งเปรียบเทียบ

แต่ประทานโทษ เจ้าเอกสารที่เชื่อถือได้มากที่สุดนั้นก็อ่านยากแสนยาก คำที่ใช้ก็ชวนมึนงงอยู่แล้ว นี่ยังดันไม่มีเครื่องหมายวรรคตอน ข้าพเจ้าเลยใช้วิธีลักไก่เล็กน้อย เอาไปให้เพื่อนเมทชาวมาเก๊าที่เรียนคณะวรรคณดีช่วยใส่เครื่องหมายวรรคตอนให้ จากนั้นค่อยเอากลับไปพยายามตีความและเปรียบเทียบเอาเอง

และจากงานครั้งนี้ ทำให้ข้าพเจ้าได้พบว่า สารานุกรมพวกนี้ ความผิดพลาดมันมีมากจนน่าขนลุก แค่จอหงวนไม่กี่คนในความรับผิดชอบของข้าพเจ้า ก็เจออยู่คนหนึ่งที่เขียนตัวเลขปีเกิด กลายเป็นว่าสอบจอหงวนได้ตอน ๙ ขวบ...บังเอิญว่าในเอกสารดังเดิมบอกปีเกิดไว้ซึ่งไม่ตรงก็ในสารานุกรม ทำให้สามารถแก้ไขให้ถูกต้องได้ (แต่ข้าพเจ้าก็ไปหาซื้อสารานุกรมเล่มนี้ไว้เล่มหนึ่งแหละ เพราะมันสะดวกดี แหะๆ )

และจากงานครั้งนี้ (เช่นกัน) ที่ทำให้ข้าพเจ้าแทบรากเลือดกว่าจะทำมันเสร็จ เพราะมันมีกำหนดเวลา แถมมันมาอยู่ในเทอม ๑ ที่ต้องเตรียมข้อมูลวิชาอ่านหนังสือ แถมยังมีเรียน ๕ วิชา แล้วใน ๕ วิชานี้ มี ๔ วิชาที่ต้องสอบ ที่แค่ส่งรายงานมีวิชาเดียว และใน ๔ วิชา มีอยู่ ๑ วิชาที่ต้องทั้งส่งรายงานและสอบ

ใน ๔ วิชาที่ต้องสอบนี้ วิชาเอกสารจีนโบราณศึกษา โอเคที่สุด เพราะสอบแบบ "ปิดหนังสือ" ก็คือให้ท่องไปสอบ แล้วเนื้อหาที่ต้องท่อง ซึ่งก็คือเนื้อหาที่เรียนนั้นเอง ซึ่งพวกเพื่อนๆ ชาวจีนช่างเก่งกาจมาก พวกเขาไปเสาะหาจนเจอนิตยสารที่อาจารย์เอาเนื้อหาข้างในมาสอนแบบเป๊ะๆ (ก็อาจารย์แหละเขียนบทความพวกนั้น) แล้วเอกสารนั้นก็ถูกพวกเราร็อกซ์กันทั่วไปในชั้นเรียน เพื่อเอาไปอ่านมาทำข้อสอบ

แต่ประทานโทษ...มันสบายที่มีเอกสารแบบเป๊ะๆ ให้อ่านก็จริง แต่จำนวนหน้าของเอกสารนั่นน่ะ 70 กว่าหน้า A4 ค่ะ แปลว่าเราต้องท่องไอ้ 70 กว่าหน้า A4 นี้แหละไปสอบในวิชานี้...นอกเหนือจากงานของวิชาอื่นที่กองสูงท่วมศีรษะ

ถ้าท่องไม่ได้ ก็เป็นอันรู้กันว่าจงสอบตกไปซะ แล้วไปลงเรียนวิชานี้ใหม่ในเทอมอื่น

ส่วนอีก ๓ วิชา สอบแบบ "เปิดหนังสือได้" ฟังเหมือนสบายนะ แต่...หนังสืออ่านประกอบน่ะ ไม่ใช่แค่เล่ม ๒ เล่ม แล้วถ้าคุณไม่ได้อ่านหนังสือเล่มนั้นจนปรุมาก่อน คุณจะรู้ได้ยังไงว่าคำตอบที่คุณต้องการน่ะมันซุกอยู่หน้าไหนของหนังสือ แถมการสอบแบบเปิดหนังสือได้นี้ อาจารย์จะเอาอะไรมาออกก็ได้ เลยไม่มีการบอกแนวข้อสอบล่วงหน้า เหอๆๆ หรือถึงบอกก็แค่

"ก็ออกที่สอนมาน่ะแหละ"

ใช่ค่ะ ออกที่สอนมา และที่อาจารย์สอนมาน่ะ อาจารย์แนะหนังสือให้ไปอ่านรวมแล้วกี่เล่มกันล่ะ -_-'

ดังนั้น เป็นไปตามคาด...ก็อ่านมันไม่ทันสักวิชาแหละ ตอนสอบก็ได้แต่เหน็บหนังสือกับชี้ทที่อาจารย์ออกไปให้อุ่นใจเท่านั้น

แต่เทอมแรกก็ผ่านมาได้แบบใจเต้นตุ้มๆ ต่อมๆ

(ความจริงข้าพเจ้ามาทราบทีหลังว่า ขอแค่ นศ.เข้าเรียนทุกครั้งและแสดงให้เห็นว่าตั้งใจเรียน สั่งงานก็ส่ง ยังไงก็ไม่ตกหรอก แต่คะแนนจะฉิวเฉียดหน่อย ถึงงั้นจะส่งกระดาษเปล่าก็ไม่ได้ใช่ไหมล่ะ -_-' )



เทอมแรกผ่านไป เทอมสองที่โหดกว่าก็มาเยือน...

เทอมสอง ข้าพเจ้าลงเรียนแค่ ๓ วิชา หัวเด็ดตีนขาดก็ยืนกรานไม่ยอมลงมากกว่านั้น อาจารย์ที่ปรึกษาก็ไม่ว่าอะไร (โชคดีอย่างแรงที่เทอมสองลงวิชาเรียนแค่นั้น ถ้าลงมากกว่านั้น คงไม่มีชีวิตรอดเทอมนั้นแหงๆ เพราะอาจต้องทิ้งไปหนึ่งวิชาโดยไม่เอาหน่วยกิต - -" )

วิชาที่เรียนในเทอมที่ ๒ ทั้ง ๓ วิชาคือ

- วิชาประวัติศาสตร์จีนโบราณ ๒

- วิชาประวัติศาสตร์ราชวงศ์เว่ย จิ้น และราชวงศ์เหนือใต้ (ก็คือหลังยุคสามก๊กนั่นแหละ : อ.ผู้สอนคืออาจารย์อัจฉริยะอันดับ ๑ ของคณะ)

- วิชาประวัติศาสตร์ราชวงศ์หมิง (อ.ผู้สอนคือคณบดี)

ทั้ง ๓ วิชานี้ วิชามหาวิบากวิชาแรก คือวิชาประวัติศาสตร์จีนโบราณ ๒ เพราะเทอมแรก สอบแบบเปิดหนังสือได้ ส่วนเทอมที่ ๒ ส่งรายงาน และรายงานที่ส่งนั้น...อภิมหาโหดมาก มันคือ "พิ้นฐานของหัวข้อวิทยานิพนธ์ที่พวกเธอจะทำ" มันคือ "จงซู่"

จงซู่ (zong shu) คืออะไรกันหรือ ?

มันก็คือ "สรุปรวมบทความ วิทยานิพนธ์ และหนังสือทุกเล่มที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับหัวข้อวิทยานิพนธ์ที่คุณจะทำ" คำสั่งที่อาจารย์สั่งมาคือ

๑. จงตั้งหัวข้อวิทยานิพนธ์ที่คุณต้องการทำแบบกว้างๆ

๒. จงไปหาหนังสือ วิทยานิพนธ์ และบทความ ที่เกี่ยวกับหัวข้อกว้างๆ นั้นในรอบ ๑๐๐ ปีที่ผ่านมาทั้งหมด อ่านให้หมด แล้วสรุปลงในรายงาน

หัวข้อกว้างๆ ของข้าพเจ้าคือ "สรุปรวมเหตุการขัดแย้งทางการเมืองระหว่างกลุ่มของราชวงศ์ซ่งเหนือ" วิธีการหาบทความของเราคือ ไปที่ "ศูนย์วิจัย" ของเอกเรา (เอกประวัติศาสตร์จีนโบราณ ก็ที่ที่ข้าพเจ้าไปเรียนวิชาอ่านหนังสือน่ะแหละ) มันจะมีหนังสือรวมบทความที่เขียนถึงหัวข้อสำคัญๆ อยู่ ซึ่งหัวข้อที่ข้าพเจ้าเลือกก็มีอยู่ในนั้นด้วย เราก็ไปถ่ายเอกสารหน้าที่มีรายชื่อบทความเหล่านั้นมา แล้วเริ่มต้นไปหา

แหล่งที่หามี ๓ แหล่ง คือ

๑. ศูนย์วิจัยฯ นั่นแหละ

๒. หอสมุดของมหาวิทยาลัย

๓. หอสมุดแห่งชาติจีน (นั่งรถเมล์ไป อยู่ในปักกิ่งนี่แหละ)

ซึ่งนอกจากรายชื่อบทความและหนังสือที่ได้จากหนังสือรวมบทความแล้ว พวกเรายังไปไล่เปิดหาหน้าสารบัญของนิตยสารที่ลงบทความเกี่ยวกับการศึกษาวิจัยประวัติศาสตร์ทุกเล่มที่หอสมุดมีเป็นร้อยเล่ม เผื่อจะเจอบทความที่เราต้องการเพิ่มเติมนอกเหนือจากที่มีในหนังสือรวมบทความ

เรียกว่าช่วงนั้น ข้าพเจ้ากอดคอกับเพื่อนชาวเกาหลีสองคน ว่างเมื่อไหร่ก็ไปหอสมุด ไม่ก็ศูนย์วิจัย พอเสาร์-อาทิตย์ ก็นัดกันนั่งรถไปหอสมุดแห่งชาติ ทำอย่างนี้อยู่เกือบเดือน ก็ได้บทความที่หามามากพอ โดยของข้าพเจ้าหาได้ ๓๐ กว่าบทความ และหนังสืออีก ๔ เล่ม ส่วนของเพื่อนชาวเกาหลีหาได้ ๔๐ กว่าบทความ แต่ไม่มีหนังสือ

ส่วนนักศึกษาจีนนั้นหรือ แต่ละคนได้บทความกันอย่างน้อย ๕๐ บทความ และหนังสือคนละอย่างน้อย ๑๐ เล่ม บางคนได้บทความถึง ๒๐๐ กว่าบทความก็ยังมี...(ขึ้นอยู่กับหัวข้อของแต่ละคนว่ากว้างแค่ไหน ยิ่งกว้าง บทความและหนังสือที่ต้องอ่านก็ยิ่งเยอะ)

จากนั้นความหฤโหดก็เริ่มต้น เมื่อเราต้องอ่านบทความพวกนี้...

หนังสือน่ะ เล่มที่หนาที่สุด ข้าพเจ้าอ่านแค่รอบเดียว เพราะใช้เวลาอ่านถึง ๑๐ วัน เลยจนปัญญาจะอ่านมากรอบกว่านั้น เพราะว่า...บทความทั้ง ๓๐ กว่าบทความนั้น ข้าพเจ้าต้องอ่านซ้ำ ๓ รอบ ถึงจะพอประทับอยู่ในศีรษะ และเริ่มต้นเขียนรายงานได้

แน่นอนว่า สิ่งที่ไม่เข้าใจเวลาอ่านนั้น อย่าคาดหวังว่าจะสามารถไปถามอาจารย์ที่ปรึกษาได้ เพราะท่านไม่ว่างนักหรอก ท่านเองก็มีงานยุ่ง กว่าจะนัดพบได้แต่ละครั้งก็เป็นอาทิตย์ ดังนั้นสิ่งที่จะถาม นอกจากคำถามจำพวก "จะสามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากหนังสือ / บทความใด" แล้ว สิ่งที่จะนำไปถาม ต้องเป็นสิ่งที่เราอ่านและกลั่นกรองแล้ว ไม่เข้าใจจริงๆ ถึงจะไปถามได้ ไม่อย่างนั้น หากคำถามออกในลักษณะ "ยังไม่ได้อ่าน ยังไม่ผ่านการขบคิดวิเคราะห์ด้วยตัวเองอย่างถึงที่สุด แล้วยังไม่เข้าใจ" จะโดนบอกให้ไปถามพวกศิษย์พี่ร่วมสำนักแทน และหากย้ายไปถามพวกศิษย์พี่ที่ว่า เขาก็จะบอกแค่คร่าวๆ ว่าคำตอบอยู่บริเวณไหน ไม่บอกหรอกไอ้คำตอบเป๊ะๆ น่ะ

สรุปคือจะแค่แนะนำจุดเด่นๆ ให้เรากลับไปอ่านใหม่เอาเอง

และนี่ก็คือวิธีการสอนในแบบของพวกเขา...สอนให้ผู้เรียนรู้จักที่จะคิดและวิเคราะห์หาคำตอบด้วยตัวเอง

ปลายเทอมพวกเราต้องออกไปพรีเซนส์รายงานที่ทำนี้ โดยจะมีอาจารย์ที่ปรึกษามานั่งฟังด้วย ดังนั้นมันคือรายงานที่ต้องทำให้เสร็จก่อนจะถึงคิวเราพรีเซนส์นั่นเอง

ส่วนอีก ๒ วิชา ก็ให้ส่งรายงานเช่นกัน เพียงแต่...นรกขุมที่ ๒ ของเทอม ๒ คือ วิชาประวัติศาสตร์ราชวงศ์เว่ย จิ้น และราชวงศ์เหนือใต้...

วิชานี้ตอนเรียนสบายมากกกกกกกก เนื่องจากอาจารย์ผู้สอนท่านเก่งมาก เรื่องที่ท่านกำลังค้นคว้าเพื่อเขียนบทความอยู่ในตอนนั้น จึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับระบบขุนนางทั้งฝ่ายบุ๋นและฝ่ายบู๊ของยุคสามก๊กไปจนถึงยุคหลังยุคสามก๊ก ที่มันจะมั่วมากยากแก่การค้นคว้าวิจัย ชาวบ้านชาวช่องเขาจึงไม่กล้าจับต้องมาค้นคว้ากัน

ดังนั้น เวลาที่อาจารย์ท่านบรรยาย พวกเราเลยสบาย เพราะฟังไม่รู้เรื่องเลย - -" แถมโทนเสียงของท่านอาจารย์ช่างน่ามหัศจรรย์มาก มันราบเรียบเสมอกันไร้ความสูงต่ำ เป็นประหนึ่งเพลงกล่อมเด็กชั้นดี แถมวิชาเรียนดันมาอยู่วิชาแรกของช่วงบ่ายเสียด้วย ในห้องที่อากาศค่อนข้างร้อนอบอ้าว (แต่มีแอร์ ซึ่งก็ไม่ค่อยเย็น)

ดังนั้นปรากฏการณ์ที่จะได้เห็นเป็นประจำคือ...หลังจากเริ่มสอนไปได้ราวๆ 30 นาที ทั้งห้องจะเหลือคนที่กระด้างกระเดื่อง ไม่ยอมก้มศรีษะให้อาจารย์ด้วยความนับถือแบบถาวรอยู่แค่ไม่ถึง 1/3

แต่...ตอนเรียนสบายจริง มันมาตายตอนทำรายงาน เมื่ออาจารย์แสนใจดีบอกว่า

"เทอมนี้ไม่ต้องสอบนะ ทำรายงานมาส่ง ให้พวกเธอไปทำรายงานเรื่องแบบที่ครูสอนนี่แหละ แต่เธอจะเลือกทำของราชวงศ์ไหนก็ได้มาส่งตามถนัด ส่งก่อนเปิดเทอมนะ"

นี่คือใจดีแล้วจริงๆ นะ เพราะถ้าท่านให้พวกเราทำรายงานสรุปสิ่งที่ท่านสอน บอกตามตรงว่าข้าพเจ้าคงต้องทิ้ง ๓ หน่วยกิตของวิชานี้ไปเลย เพราะไร้ซึ่งความสามารถจะตามให้ทันและเข้าใจในสิ่งที่ท่านสอนได้ แต่ก็พอจะจับความได้ว่าท่านสอนอะไรบ้าง เพราะอย่างน้อยก็จดไว้ (แม้จะไม่ครบ)

ด้วยคำสั่งนี้ นรกจึงมาเยือนในช่วงเวลาปิดเทอมนั้น ทันทีที่พรีเซ้นรายงาน จงซู่ ผ่านพ้น พวกเราก็หัวฟูกับการทำรายงานวิชานี้เป็นลำดับถัดไป

ใครที่คิดว่าการศึกษาระบบขุนนางมันง่าย ขอให้ไปคิดเสียใหม่ เพราะกว่าข้าพเจ้าจะอ่านเรื่องระบบขุนนางในราชวงศ์ซ่งเข้าใจ แค่ขุนนางบุ๋นเท่านั้นนะ ขุนนางบู๊ไม่เกี่ยว ก็ต้องอ่านทวนชนิดจำไม่ได้แล้วว่ากี่รอบ จำได้แค่ว่า ทั้งที่เนื้อหาที่ต้องอ่านเพื่อทำรายงานทั้งหมดนั้น รวมแล้วก็แค่ไม่เกินหนังสือ ๑ เล่ม แต่เวลาที่ใช้ในการอ่าน + เขียนรายงานวิชานี้ ใช้เวลาทั้งสิ้น ๒ เดือนกว่า

และไม่ใช่ข้าพเจ้าเพียงคนเดียว...เพื่อนร่วมคณะคนอื่นๆ ก็โดนเหมือนกันหมด นั่นคือเทอมนั้น ปิดเทอมฤดูร้อนที่เป็นปิดเทอมใหญ่อันยาวนานกว่าสองเดือน พวกเราส่วนใหญ่ไม่ได้กลับบ้านกันเลย เพราะรายงานวิชานี้ยังทำไม่เสร็จ

ส่วนข้าพเจ้า ได้กลับบ้านรวมเวลาทั้งสิ้น ๗ วันนับรวมวันเดินทาง จากเวลาปิดเทอม ๒ เดือนกว่า...

ที่สำคัญ...อย่าหวังว่าจะไปลอกใครได้ เพราะทุกคนทำในหัวข้อที่ไม่เหมือนกันเลย และอย่าหวังจะไปถามจากอาจารย์หรือรุ่นพี่เช่นกัน เพราะตอนนั้นมันปิดเทอมแล้ว ดังนั้นทุกสิ่งที่อ่าน ต้องทำความเข้าใจด้วยตัวเองทั้งหมด อ่านไม่รู้เรื่องก็ต้องอ่านซ้ำมันอยู่นั้นจนกว่าจะรู้เรื่อง หากสุดท้ายแล้วยังไม่สามารถอ่านให้รู้เรื่องได้ ก็มีเพียงคำตอบเดียว...

ทิ้งวิชานี้ไปเลย รายงานไม่ต้องส่ง และ ๓ หน่วยกิตของวิชานี้ คุณก็จะไม่ได้รับ ไปลงวิชาอื่นชดเชยเอาในเทอมอื่น

และเพราะรายงานวิชานี้ ทำให้เวลาสำหรับอ่าน + ทำรายงานวิชาประวัติศาสตร์ราชวงศ์หมิงหดสั้นเหลือแค่ 2-3 วัน แต่วิชานี้เทียบกับวิชาประวัติศาสตร์ราชวงศ์เว่ย จิ้น และราชวงศ์เหนือใต้ แล้ว ง่ายกว่ากันมาก เนื้อหาที่ต้องอ่านก็เข้าใจง่ายกว่ากันชนิดเทียบไม่ติด ดังนั้นก็เลยสามารถปั่นมันออกมาส่งได้ในเวลาแค่ 2-3 วันนั่นแหละ (รู้สึกผิดต่ออาจารย์มาก แต่ทำไงได้ หนูต้องกลับบ้านไปเอาตังนี่คะอาจารย์ Y_Y )

สรุปว่าเทอมสองก็ผ่านไปอย่างกระหืดกระหอบเช่นเคย...



ขึ้นปี ๒ เทอมหนึ่ง เปลี่ยน อ.ที่ปรึกษาไปสังกัด อ.เติ้ง เลยเกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านวิชาตู๋ซูเค่ออย่างมาก จากเดิมที่เน้นอ่านบทระบบสอบจอหงวน เปลี่ยนมาเป็นรูปแบบหลากหลายตามแต่อาจารย์จะสรรหามาฝึกพวกเรา ซึ่งแต่ละแบบก็กระอักเลือดกันไปคนละแบบ โดยหลักๆ จะมีดังนี้

- ประชุมย่อย ก็คือตู๋เค่อรายสัปดาห์ อาจารย์จะแจกงานที่ต้องการให้พวกเราฝึก ให้เราไปหาข้อมูล และนำมาดูกันในอาทิตย์หน้า และมีแบบฝึกหัดเล็กน้อยๆ (แต่ยากแสนยากมหาศาล) ให้ทำ แบบไม่เอาคะแนนทุกอาทิตย์

- ประชุมใหญ่ เดือนละครั้ง อาจารย์จะสอบถามถึงความก้าวหน้าในการอ่านหนังสือเตรียมการเขียนหัวข้อวิทยานิพนธ์ของแต่ละคน รวมถึงหนังสือที่อาจารย์กำหนดให้พวกเราไปอ่านและทำรายงานส่ง

สำหรับในประชุมย่อย สิ่งที่จำได้ว่าอาจารย์ให้ทำ ก็มี

๑. เทคนิคในการหาข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง โดยท่านกำหนดชื่อบุคคลหนึ่งมาให้ แล้วให้พวกเราไปหาข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลนั้นมาให้ได้มากที่สุด ซึ่งบุคคลที่อาจารย์กำหนดชื่อมาให้นี่ เป็นเสนาบดีคนหนึ่งในสมัยราชวงศ์ซ่งเหนือ

วิธีการหาข้อมูลของท่าน แรกสุดเลย พวกเราก็ต้องไปเปิดสารบัญของ “ซ่งสื่อ” ดูที่หมวด “ชีวประวัติ” หาชื่อคนนี้ แล้วไปเปิดดูตามที่หน้าสารบัญระบุ ก็จะเจอประวัติของท่านนี้ที่เป็นข้อมูลพื้นฐานที่สุด และแน่นอน เป็นภาษาจีนโบราณ

สำหรับข้าพเจ้าที่ยังไม่ค่อยเก่งในเรื่องการตีความภาษาจีนโบราณ ก็สามารถจะไปเปิดค้นประวัติของท่านผู้นี้ได้จาก

- พจนานุกรมประวัติศาสตร์จีน (๑ ชุดมี ๒ เล่ม เล่มละ ๕ กิโลกรัม)

- พจนานุกรมรายชื่อบุคคลในประวัติศาสตร์จีน

ก็จะได้ประวัติที่เป็นภาษาจีนปัจจุบัน อ่านง่ายหน่อย มาดูประกอบกับประวัติที่หาได้ในซ่งสื่อ

ถัดมา ไปเปิดดูชีวประวัติของบุคคลทุกคนที่ปรากฏชื่อเกี่ยวข้องกับบุคคลท่านนี้ในชีวประวัติของท่าน

จากนั้น จากข้อมูลที่มีใน “ซ่งสื่อ” มักจะบอกว่าบุคคลท่านนี้ได้ประพันธ์งานเขียนใดไว้บ้าง ก็จดรายชื่องานเขียนเหล่านั้นออกมา แล้วไปเปิดหนังสือชุด “ประมวลหัวข้อซื่อคู่เฉวียนซู” (๒ เล่ม) หางานประพันธ์เหล่านั้น อ่านรายละเอียดโดยสังเขปว่า งานประพันธ์เหล่านั้นเกี่ยวข้องกับอะไร มีเนื้อหาหลักว่าอย่างไร ซึ่งงานประพันธ์เหล่านี้มักสามารถบอกอะไรๆ ได้หลายอย่าง เช่น ประสบการชีวิต ระดับความรู้และความสามารถ แนวความคิดทางการเมือง

ตามด้วย เปิด “ซื่อคู่เฉวียนซู” หาหน้าที่บันทึกถึงงานเขียนดังกล่าว แล้วซีร็อกซ์ออกมา

ต่อไป เปิดดูสารบัญของ “รวมงานร้อยแก้วในราชวงศ์ซ่ง” (เฉวียนซ่งเหวิน ประมาณ 70 เล่ม) ก็คือไล่เปิดดูสารบัญไปทีละเล่ม หาร้อยแก้วทุกอย่างที่มีชื่อของบุคคลนี้อยู่ จะได้พบกับงานเขียนร้อยแก้ว และ “มู่จื้อหมิง” ซึ่งเป็นข้อความที่คัดลอกมาจากแผ่นป้ายจารึกเรื่องราวโดยสังเขปของบุคคลนั้น เช่น ลูกใคร หลานใคร ภรรยากี่คน ใครบ้าง มีลูกชายลูกสาวกี่คน ใครบ้าง รับราชการเป็นขุนนางตำแหน่งไหน และสุดท้าย ใครเป็นผู้จารึกป้ายนี้ โดยป้ายนี้มักจะทำขึ้นในระหว่างที่บุคคลนั้นๆ ยังมีชีวิตอยู่ (ดังนั้นจะไม่มีการจารึกเรื่องแย่ๆ หรอก) และนำไปฝังเอาไว้ด้านบนของโลงศพในยามที่บุคคลนั้นเสียชีวิตไปแล้ว

ถัดไป เปิดหางานเขียนของท่านผู้นี้ใน “หนังสือชุดรวมบทกลอนกึ่งร้อยแก้วของบุคคลในราชวงศ์ซ่ง” (กี่เล่มปกแข็งแล้วก็ไม่รู้) และ “หนังสือชุดรวมบทร้อยกรองของบุคคลในราชวงศ์ซ่ง” (72 เล่มปกแข็ง) เพื่อจะหาต้นฉบับของงานประพันธ์ ซึ่งในหนังสือสองชุดนี้เขาไม่ได้คัดลอกมาจากซื่อคู่เฉวียนซู

หลังจากนั้นก็ถ่ายเอกสารสิ่งที่หาเจอเหล่านี้ทั้งหมด อ่านให้พอเข้าใจ แล้วนำไปเข้าเรียนใน ตู๋ซูเค่อ จากนั้นอาจารย์จะสอนให้รู้จักเปรียบเทียบข้อมูลชั้นปฐมภูมิกับชั้นทุติยภูมิ โดย ข้อมูลที่หาได้จาก “รวมงานร้อยแก้วในราชวงศ์ซ่ง” เป็นข้อมูลที่เก่าแก่กว่าในซื่อคู่เฉวียนซู สังเกตได้จากกลอนที่ได้จากในซื่อคู่เฉวียนซู มีตัวอักษรที่ต่างออกไปอยู่ 2-3 ตัว แสดงว่าตอนที่เขาลอกจากต้นฉบับ คำพวกนั้นได้ขาดหายไป ผู้ทำหน้าที่ลอก (ตามคำสั่งของเฉียนหลง) เลย “แต่งใส่เข้าไปเอง”

และอาจารย์วิจารณ์ว่า “แต่งได้ห่วยกว่าของเดิมตั้งเยอะ” (เหอๆๆ)

จากประโยคนี้ของอาจารย์ ทำให้ข้าพเจ้าตระหนักว่า เวลาจะอ้างอิงข้อมูลจากเอกสารโบราณ ห้ามอ้างอิงจากซื่อคู่เฉวียนซูเด็ดขาด -_-"

๒. สอนวิธีการอ่านมู่จื้อหมิง โดยอาจารย์จะถ่ายเอกสารมู่จื้อหมิงหลายๆ แผ่นจากต้นฉบับมาให้ ซึ่งต้นฉบับนี้ได้จากการนำกระดาษบางๆ ไปแปะบนป้ายจารึก แล้วเอาที่ลบกระดานแบบฟองน้ำจุ่มหมึกดำหมาดๆ ไปตบๆ จะได้ตัวหนังสือในจารึกเป็นตัวสีขาวบนพื้นดำ แล้วถ่ายรูปมา พิมพ์ลงกระดาษ รวมรวมพิมพ์เป็นเล่ม

อาจารย์จะสอนให้รู้จักสังเกตพวกคำและรูปแบบประโยคที่เขามักจะใช้ และพวกตัวอักษรหน้าตาแปลกๆ ที่มีวิธีการเขียนแบบลวดลายเสียจนดูไม่ออกว่ามันเป็นตัวอะไร (กันวะ)

๓. นำบทความใหม่ๆ ที่น่าสนใจมาแจกให้ไปอ่าน และนำมาถกกัน ซึ่งบทความเหล่านี้ อาจารย์ไม่เคยให้ทีละน้อยกว่า ๓ บทความ และบทความแต่ละบท ก็ไม่เคยสั้นกว่า ๑๕ หน้า A4

๔. แบบฝึกหัดเล็กๆ น้อยๆ ที่อาจารย์นำมาให้ทำทุกอาทิตย์ ที่ของศิษย์แต่ละคนก็จะได้ไม่เหมือนกันเลย และตอนทำนี่สามารถถามกันได้ ถึงอย่างนั้นก็ไม่เคยมีใครได้เต็มเลยสักหน...(ข้าพเจ้าได้ ๐ คือตอบไม่ได้สักข้อก็มีบ่อย) เพราะสิ่งที่อาจารย์นำมาถามมีสารพัดมาก ตั้งแต่ ชื่อคน ชื่อหนังสือ ชื่อตำแหน่งขุนนาง ฯลฯ ซึ่งทุกชื่อ ต้องไปเปิดพจนานุกรมประวัติศาสตร์จีน หรือพจนานุกรมของราชวงศ์ซ่งโดยเฉพาะ ถึงจะหาพบ พจนานุกรมอื่น อย่าได้หวัง

นอกจากให้อธิบายคำพวกนี้แล้ว ก็ยังมีให้ใส่เครื่องหมายวรรคตอนในข้อความภาษาจีนโบราณ นี่ก็ยากพอกัน -_-' (อาจจะง่ายหน่อยมั้งสำหรับเด็กจีน)

และแน่นอนว่า ในระหว่างที่เตรียมวิชาของตู๋ซูเค่อรายสัปดาห์เหล่านี้ เราก็ต้องไม่ละเลยในการคร่ำเคร่งอ่านงานของตู๋ซูเค่อรายเดือน



ขี้เกียจเขียนแล้ว ขอจบแค่นี้แล้วกันค่ะ





โดย :: Peking Man

อ่านแล้วคิดถึงความหลัง ตอนที่บังอาจไปร่วมวิชา ป. โท วิชาหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของ เต้าเต๋อจิง และ อี้จิง ที่สอนโดยคณะปรัชญา วันแรกของคอร์ส หนังสือที่เรียนเป็นปึ๊งหนังสือที่เป็นการคัดลอกมาจากไม้ติ้วที่เจอในหลุมศพสมัยฮั่น ไปวันแรกยังสนุก กับเพื่อนสิงค์โปร์ซีร็อกเอกสารประกอบการเรียนไปคนละชุด ลองกลับไปอ่าน แค่พยายามเข้าใจและแยกแยะตัวอักษรก็ยากแล้วครับ (เล่นเป็นตัวเขียนสมัยฮั่น พร้อมทั้งเต็มไปด้วยการย่อแบบไม่มีระเบียบ) พยายามว่ามาจากไหน หมายความว่าอย่างไร ก็จะตายแล้วครับ อาทิตย์ต่อมาไปกับเพื่อน คนหายไปกว่าครึ่ง เวลาเรียนเราไปเรียนในห้องอ่านหนังสือที่ใช้วางหนังสือชุดใหญ่ ซื่อคู่ฉวนซู ต้าจ้างจิง เต้าจ้าง ถูซูจี๋เฉิง นั่งรอบโต๊ะประชุมใหญ่ เปิดมาหน้าแรก อาจารย์อธิบายและถกกับเด็ก ป.เอก กันเกือบ ชั่วโมง เลิกวันนั้นแล้ว อาจารย์บอกว่า คนที่จะเรียนวิชานี้จะต้องนำการอ่านหลักฐานกันคนละหน้า ฟังแค่นี้กระอักเลือดครับ กับเพื่อนมองหน้ากันก็รู้แล้วครับว่า เลิกเรียน

อีกครั้งก็กับเพื่อนคนเดียวกันนี่แหละ ไปเลือกคอร์ส อ่านหนังสือ ของคณะปรัชญาอีก เอกสารหนึ่งหน้าใช้เวลาอ่านและทำความเข้าใจ เกือบอาทิตย์ วิชานี้ทนเรียนจนจบเทอมแต่ไม่ได้สอบ (เพราะรู้ตัวว่าตกแน่)

ตอนทำวิทยานิพนธ์ ป.ตรี ผมเอาบางส่วนไปให้อาจารย์ตรวจอย่างคร่าว ๆ ท่านสะดุดอยู่จุดหนึ่ง แล้วก็บอกว่า เสี่ยวเจิ้ง ไปตรวจดูนะรู้สึกว่าที่อ้างมาจะผิดไปตัวหนึ่ง ไปตรวจดูก็เป็นเช่นนั้นจริง ๆ

หฤโหด แต่ก็สนุกดีการเรียนที่เมืองจีน



Create Date : 15 พฤษภาคม 2554
Last Update : 16 พฤษภาคม 2554 6:44:56 น. 5 comments
Counter : 3661 Pageviews.

 
ได้ความรู้ดีมากๆเลยค่ะ ตอนนี้ก็ทำงานอยู่เมืองจีน แม้จะพูดจีนไม่ได้เลย แต่ก็คิดจะต่อโทอยู่ที่นี่เหมือนกัน พอมาอ่านตรงนี้แล้ว...

อย่าเรียนมันเลยดีกว่า 5555 กลับไปเรียนโบราณคดีที่ศิลปากรดีแล้ว ยากสุดๆ


โดย: ลักขณา IP: 218.79.112.30 วันที่: 29 พฤษภาคม 2554 เวลา:15:15:01 น.  

 
ระบบการเรียนที่จีนเข้มข้นมากทีเดียวค่ะ แต่จากที่คุณหลินโหม่วบรรยายมาจนเห็นภาพนั้น พบว่าเป็นระบบที่ทำให้คนรู้จักคิดซึ่งผู้เรียนนั่นแหละได้ประโยชน์เต็มๆ แต่กว่าจะจบคงเหนื่อยสุดแสนเชียว


โดย: เพราะนิยายคือศิลปะแห่งตัวอักษร IP: 223.205.225.153 วันที่: 1 มิถุนายน 2554 เวลา:0:03:06 น.  

 
หฤโหดได้ใจเลยค่ะ อ่านแล้วไม่ต้องสงสัยเลยว่าทำไมเพื่อนคนจีนตอนเรียน (ยังดีที่เป็นสายวิทย์) ถึงได้อึดถึกขนาดนั้น

อยากรู้ว่าสามารถให้นักเรียนไทยทำจงซู่ ปริทัศน์วรรณกรรม (literature survey) ที่ไปนั่งไล่เอกสารขนาดนี้ได้ไหมนี่ (ร้องไห้ด้วยความอิจฉา)

เหมือนคุ้นๆ เคยอ่านว่าเรื่องการเรียนวิชาอ่านหนังสือมีที่พวกออกฟอร์ดเคมบริดจ์ด้วยค่ะ (อ่านเจอในพวกอัตชีวประวัติ) แต่ไม่ยืนยันเพราะไม่เคยเรียนเอง


โดย: jackfruit_k วันที่: 19 กรกฎาคม 2554 เวลา:23:49:46 น.  

 
สวัสดีค่ะพี่หลินโหม่ว แวะไปเยี่ยมที่เด็กดีก็หลายครา เสริชในกูเกิลก็แล้ว หลังจากเว็บเดิมล่มไป ก็ไม่ได้ทราบข่าวคราวของพี่เลย

แต่วันนี้หาเจอสักที

ชอบผลงานแปลของพี่มาก...มีอยู่หลายเรื่อง(แต่ยังไม่ครบ) ตอนนี้กำลังเล็งม่านม่าน แต่อยากได้แบบจ่ายแล้วได้เลย(เพราะอยากอ่าน แหะๆ)

ตอนนี้มาเรียนที่เสิ่นหยาง เพิ่งมาได้ครึ่งเดือน กำลังเรียนภาษาจีน ปีหน้าเรียนปริญญาโท สาขาบริหาร คงได้เห็นนรกเหมือนกับพี่
เพราะตอนนี้เพื่อนที่มาเรียนก่อน เขาเริ่มเรียนก็บอกว่ายากกกกกก


โดย: องุ่น IP: 175.168.92.60 วันที่: 10 กันยายน 2554 เวลา:23:25:32 น.  

 
สวัสดีค่ะ ตอนนี้หนูเรียนอยู่ที่อูฮั่น ได้อ่านบทความพี่แล้วรู้สึกต้องเตรียมตัวอีกหลายสิบเท่า จริงๆแล้วสนใจประวัติศาสตร์จีนมาก อยากรู้เกร็ดรายละเอียดลึกๆ หนู้ตั้งใจจะสอบขอทุนเรียนต่อสาขาประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมจีน แต่เนื่องด้วยพื้นที่สมองอันน้อยนิด คงต้องใช้เวลามากกว่าชาวบ้านในการจดจำรายละเอียดมากมากมายขนาดนี้ หนูขอรบกวนพี่ส่งรายชื่อวิชาที่พี่เรียนทุกรายวิชาเข้าเมลล์หนูได้มั๊ยคะyuimullik_a@hotmail.com อยากจะเตรียมตัวให้ดีกว่านี้แต่ไม่รู้จะเริ่มจากตรงไหนก่อนดี พอมีแนวแล้วหนูจะเริ่มอ่านเป็นช่วงๆไปคงจะดีขึ้น รบกวนด้วยนะคะ ขอบคุณค่ะ 林香蕊


โดย: ยุ้ย IP: 220.249.101.66 วันที่: 21 มีนาคม 2555 เวลา:16:12:37 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ซีเรีย
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




Friends' blogs
[Add ซีเรีย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.