รำไทย : นาฏศิลป์ไทย ใช่จะไร้ในคุณค่า โดย ธรรมจักร พรหมพ้วย
Group Blog
 
All Blogs
 

แนวทางการศึกษา "สื่อ" วัฒนธรรม


ในชีวิตประจำวันของเรา ทุกวันนี้ท่วมท้นไปด้วย สื่อรูปแบบต่าง ๆ เนื่องมาจาการเปลี่ยนแปลง วัฒนธรรมและเทคโนโลยี นำไปสู่ความยุ่งยากในการทำ ความเข้าใจต่อปรากฎการณ์ทางวัฒนธรรม แนวคิดทฤษฎีจึงเสมือนเป็นเครื่องมือ ในการ ทำความเข้าใจต่อปรากฎการณ์เหล่านี้ มุ่งไปสู่ประเด็นเฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่ง อธิบายและ ตีความต่อ ปฏิบัติการทาง สังคมวัฒนธรรมและโครงสร้าง โดยเชื่อมต่อกับสังคมในวงกว้าง สถาบันสังคมต่าง ๆ เสริมมิติมุมมอง ของเรา ต่อ สภาพ แวดล้อมทางวัฒนธรรม และเข้าใจต่อชีวิตทางวัฒนธรรมสังคมที่ สลับซับซ้อนยิ่งขึ้น ในที่นี้จึงเป็นเหมือน บทเกริ่นนำ แนวทฤษฎีต่าง ๆอันเป็นเบื้องต้น ในการปูพื้นความเข้าใจต่อแนวทฤษฎีสื่อและวัฒนธรรม
วัฒนธรรม อุดมการณ์ และการครอบงำ (Culture, ideology and Hegemony)
แนวความคิดนี้เป็นการวิพากษ์ถึง "สื่อ" ทำให้เราเห็นว่า สื่อในฐานะ "ตัวบท" (text) ไม่ได้เป็นสื่อบริสุทธิ์ไร้เดียงสา ตัวบทต่างสร้างบนความหมาย คุณค่า อคติ และสารบางอย่างที่แฝงอยู่ อันเป็นอคติที่เกี่ยวกับชนชั้น ความเป็นเพศ เชื้อชาติ ความสัมพันธ์ระหว่างเพศ และการจัดแบ่งกลุ่มทางสังคม ตัวบทจึงต่างดำรงอยู่ท่ามกลาง ความหมายทางสังคม ผลกระทบทางการเมือง การผลิตซ้ำ ควาสัมพันธ์ระหว่างผู้ครอบงำ และผู้อยู่ใต้อำนาจ วัฒนธรรมจึงก่อตัวตน บนวาทกรรม และตำแหน่ง แห่งที่ทางการเมืองเฉพาะ เช่น ครอบครัวและความสัมพันธ์ทางเพศ ความเป็นผู้ชายหรือความเป็นผู้หญิง หรือความรุนแรงและสงคราม ภาพแสดงทางวัฒนธรรมเหล่านี้ ส่งผ่านวาทกรรมทางการเมืองหลัก เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างเพศ รัฐ และศาสนา เป็นต้น มาด้วย
วัฒนธรรมจึงก่อขึ้นบนชุดของวาทกรรม ภาพลักษณ์ การแสดง รูปแบบและการปฏิบัติทางวัฒนธรรมต่าง ๆ ที่ก่อ เดิกความหาย อัตลักษณ์ และผลกระทบจากความสัมพันธ์เชิงอำนาจ วัฒนธรรมในที่นี้จึงถึงสื่อต่าง ๆ ทั้ง หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ ภาพยนตร์ และดนตรี การปฏิบัติต่าง ๆ เช่น การช็อปปิ้ง, การร่วมชมกีฬา การไปคลับ หรือการนั่ง ในร้านน้ำชากาแฟ วัฒนธรรมจึงเป็นสิ่งปกติทั่วไปในชีวิตประจำวัน แต่ตัวสื่อหรือสิ่งประดิษฐ์ทางวัฒนธรรม กลับเป็น สิ่งพิเศษแตกต่างออกไป ทำให้ผู้คนเห็นและเข้าใจสิ่งต่าง ๆ แตกต่างกันออกไป เช่น นวนิยาย หรือ ภาพยนตร์ เป็นต้น
แนวคิดเรื่องอุดมการณ์ (ideology) จึงทำให้ผู้อ่านตระหนักรู้ถึงอคติ คุณค่า และค่านิยม อันเกิดจาก การผลิตซ้ำจากมุมมองของผู้ผลิตสื่อ และมักเป็นค่านิยมจากกลุ่มที่ครอบงำทางสังคม คาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx) และเฟรดริช เฮงเกล(Friedrich Engels) ใช้คำว่า" "อุดมการณ์" ในช่วงประมาณ ค.ศ. 1840 เพื่ออธิบายความคิด เรื่องการครอบงำ และกาจัดระเบียบทางสังคม เช่น ในยุค ฟิวดัล (feudal period) ความคิดของชนชั้นขุนนางปกครองที่ครอบงำ ได้แก่ ความคิดเกี่ยวกับความเคร่งครัดในทางศาสนา เกียรติยศชื่อเสียง ความกล้าหาญเสียสละของทหาร แต่ในยุคทุนนิยม ค่านิยมเกี่ยวกับปัจเจกนิยม กำไร การแข่งขัน และตลาด กลายเป็นสิ่งที่ครอบงำ เป็นอุดมการณ์ของชนชั้นกลางใหม ่ที่กลายเป็นชนชั้นที่ทรงอำนาจ ยิ่งในทุกวันี้ เทคโนโลยีสมัยใหม่ และทุนนิยมระดับโลก ยิ่งสนับสนุนความคิดของ กลุ่มชนชั้นนำใหม่ ในยุคเศรษฐกิจโลกาวิวัฒน์
อุดมการณ์จึงปรากฏขึ้นเสมือนเป็นสิ่งธรรมชาติ เป็นความคิดสามัญทั่วไป และมักไม่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ มาร์กซ์ และเฮงเกล ได้วิพากษ์วิจารณ์อุดมการณ์เพื่อ แสดงให้เห็นถึงความคิดของ ชนชั้นปกครองที่ผลิตซ้ำค่านิยม ที่ครอบงำสังคม ทำให้กลายเป็นเรื่องธรรมชาติ ทั้ง ๆ ในความเป็นจริง การดำรงอยู่ของมนุษย์ และสังคมเป็นสิ่งที่ซับซ้อนและขัดแย้งกัน แต่อุดมการณ์ทำให้ความขัดแย้ง และลักษณะด้านลบของการครอบงำหายไป
แนวคิดเรื่องอุดมการณ์ทำให้ เราตั้งคำถามถึงความเป็น ธรรมชาติของตัวบทวัฒนธรรม และพิจารณาความคิดที่ก่อตัวขึ้น อคติ และโต้แย้งกับแนวคิดเหล่านั้น ด้วยแนวคิดนี้ทำให้เราสงสัย และวิพากษ์วิจารณ์ ตั้งคำถามต่อ ผลประโยชน์ของ กลุ่มชนชั้นปกครองต่าง ๆ ยิ่งไกว่านั้น การศึกษารูปแบบทางวัฒนธรรม แสดงให้เห็นถึงการดำรงอยู่ ของอุดมการณ์ที่สนับสนุน ผลประโยชน์ของผู้มีอำนาจ ทั้งในทางเศรษฐกิจ ความเป็นเพศ เชื้อชาติ ที่ได้รับการยอมรับ ในทางบวก ขณะที่ กลุ่มที่อยู่ใต้อำนาจกลับถูกแสดงออกในด้านลบด้วยอคติ
นักคิดมาร์กซิสชาวอิตาเลียน อันโตนิโอ กรัมซี ( Antonio Gramsci) พัฒนาแนวคิดต่อไปถึงการบรรลุ "ความเป็นใหญ่" (hegemony) หรือการครอบงำของกลุ่มต่าง ๆ เขามองว่ากลุ่ม ที่มีอำนาจมากกว่าสร้างประโยชน์ให้กับตัวเองผ่านรัฐ ผ่านสถาบันต่าง ๆ ของ "ประชาสังคมฎ (civil society)เพื่อสร้างความเป็นใหญ่ ประชาสังคมจึงเป็นสถาบันต่าง ๆ ทางศาสนา โรงเรียน สื่อ และรูปแบบทางวัมนธรรมต่าง ๆ เป็นการสื่อสารระหว่าง พื้นที่ที่เป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจส่วนบุคคล กับสิทธิอำนาจต่อสาธารณะ (สิ่งที่ Habermas อธิบายในฐานะ "พื้นที่สาธารณะ") ความมั่นคงของสังคมดำเนินผ่า "การครอบงำ" และ ความเป็นใหญ่" เช่น ระเบียบทางสังคมถูกผลิตซ้ำ โดยสถาบันและกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ ทางอำนาจควบคุมจัดการเขตแดน และกฎเกณฑ์ทางสังคม (เช่น ทหาร ตำรวจ) ขณะที่สถาบันอื่น ๆ (เช่น ศาสนา โรงเรียน สื่อ) ก็ครอบงำอุดมการณ์ต่างๆ ของระเบียบทางสังคม (เช่น ทุนนิยมตลาด ฟาสซิส์ เป็นต้น) รวมทั้งตอกย้ำ ความเป็นใหญ่ของผู้ชายและเชื้อชาติหนึ่งเหนืออีกเชื้อชาติหนึ่ง
ทฤษฎีความเป็นใหญ่ (hegemony) ทางวัฒนธรรม จึงแสดงให้เห็นถึงว่า สื่อ เทคโนโลยี หรือสถาบันต่าง ๆ มีส่วนร่วมต่อการครอบงำทาง การเมืองสังคมในวงกว้างอย่างไร ภายใต้บริบททางสังคมวัฒนธรรมและ พลังอำนาจเฉพาะอย่าง รวมไปถึงช่วงเวลาหนึ่งทางประวัติศาสตร์ การวิเคราะห์ในแนวนี้จึงเน้นย้ำถึงสถาบันต่าง ๆ ทางวัฒนธรรมที่กว้างขึ้นในการผลิตซ้ำทางสังคม ทั้งสถาบันทางศาสนา โรงเรียน ประเพณี วัฒนธรรมชนชั้นสูง กีฬาและสื่อ โดยเรียกร้องให้ทำความเข้าใจ ต่อบริบทต่าง ๆ ทางสังคมของแนวคิด ภาพแสดง และรูปแบบทางวัมนธรรม ที่มองสังคม ในฐานะ การปะทะโต้แย้งทางสังคมระหว่าง กลุ่มต่าง ๆ เพื่อตอบสนองผลประโยชน์ ของแต่ละกลุ่ม

ต่อมาทฤษฎีความเป็นใหญ่และอุดมการณ์ถูกพัฒนาขึ้นไปอีก โดย the Frankfurt school ที่ตั้งขึ้นในช่วงประมาณทศวรรษที่ 1930 โดยนักคิดสำคัญ ๆ ได้แก่ Max Horkheimer, Theodor W. Adorno, Herbert marcuse and walter Benjamin พวกเขา ตั้งคำถามต่อความสำคัญของ "อุตสาหกรรมวัฒนธรรม" ในสังคมร่วมสมัย ที่ผลิตซ้ำสิ่งที่เรียกว่า วัฒนธรรมมวลชน คำว่า "อุตสาหกรรมวัฒนธรรม" มีความหมายถึง กระบวนการทำใมห้เป็นอุตสาหกรรมของการผลิตวัฒนธรรมมวลชน และระบบค้าขาย โดยนักทฤษฎีเชิงวิพากษ์ (the critical theorists) วิเคราะห์สิ่งประดิษฐ์ทางวัฒนธรรม ในบริบทของการผลิตอุตสาหกรรม ในลักษณะเดียวกันกับการผลิตสินค้าอื่น ๆ ทั้งกระบวนการทำให้เป็นสินค้า (commodification) กระบวนการทำให้เป็นมาตราฐาน (standaraization) และการทำให้เป็นของมวลชน (massification) อุตสาหกรรมวัฒนธรรม มีหน้าที่สำคัญประการหนึ่ง ที่จะทำให้เกิดความชอบธรรมในเชิงอุดมการณ์ ของการดำรงอยู่ ของสังคมทุนนิยม และการดำรงอยู่ของปัจเจกชนในระบบทุนนิยม ยิ่งไปกว่านั้น ในบริบททางการเมืองของ อุตสาหกรรมวัฒนธรรม ยังเป็นการรวมชนชั้นแรงงานเข้าสู่สังคมทุนนิยม

สำหรับแฟรงเฟริต์สคูลเป็นสำนักแรก ที่วิเคราะห์และวิพากษ์วัฒนธรรมสื่อมวลชน อย่างเป็นระบบด้วยทฤษฎีวิพากษ์ทางสังคม โดยกล่าวว่า เพื่อเข้าใจรูปแบบต่าง ๆ ของสื่อหรือวัฒนธรรม เราต้องเข้าใจถึง การผลิตและการกระจายของสื่อในสังคม ว่าสื่อนั้นสัมพันธ์กับโครงสร้างทางสังคมที่ครอบงำอยู่อย่างไร วัฒนธรรมสื่อผลิตซ้ำ การดำรงอยู่ของสังคม และทำให้มวลชนผู้รับสารเป็นผู้เชื่อฟังได้อย่างไร
แต่ก็มีสมาชิกคนหนึ่งในกลุ่มนี้ วอลเตอร์ เบนจามิน (Walter Benjamin) กลับมองถึงสื่อในอีกแง่หนึ่ง ในบทความเรื่อง "the Work of Art in the Age of Mechanical Reproduction" กล่าวว่า ภาพยนตร์ กีฬา และรูปแบบอื่น ๆ ของสิ่งบันเทิงมวลชนได้ สร้างผู้ดุผู้ชมแบบใหม่ขึ้นที่สามารถวิพากษ์วิจารณ์ รูปแบบวัฒนธรรมต่าง ๆ และมีการประเมินอย่างเป็นเหตุ เป็นผลต่อสิ่งเหล่านั้น สำหรับเบนจามิน การพังทลายของรัศมีของงานศิลปะ (the aura of work of art) ที่เป็นสิ่งแสดงถึงความเป็นต้นแบบ ความเป็นหนึ่งเดียว และความเป็นของแท้ดั้งเดิม เป็นผลมาจากแรงกดดัน บีบคั้นการผลิตซ้ำของเครื่องจักร ที่ผลิตสินค้าวัฒนธรรมให้สาธารณชน สามารถเข้ามามีส่วนร่วมกับ ปรากฎการณ์วัฒนธรรมต่าง ๆ มากขึ้น โดยเขามองว่า ผู้ชมภาพยนต์สามารถกลาย เป็นผู้เชี่ยวชาญในการวิพากษ์วิจารณ์ และสามารถศึกษาถึงการสร้าง ความหมาย และอุดมการณ์ในภาพยนตร์
ต่อมา สำนักแฟร์ตเฟริสต์สคูลรุ่นที่สอง Jurgen Habermas เติบโตขึ้นภายใต้ยุคสมัยของลัทธิฟาสซิสเยอรมัน งานในช่วงแรกของเขาศึกษาถึงพื้นที่สาธารณะ (public sphere) ที่เกิดขึ้นในช่วงยุค Enlightenment และการปฏิวัติของฝรั่งเศสและอมเริกา โดยศึกษาว่าพื้นที่สาธารณะก่อให้เกิดการถกเถียงและโต้แย้งทางการเมืองอย่างไร แนวคิดพื้นที่สาธารณะของเขา เป็นการอธิบายถึงพื้นที่ของสถาบันต่าง ๆ และการปฏิบัติระหว่าง ผลประโยชน์ส่วนตัวกับสาธารณะ พื้นที่สาธารณะจึงสื่อสารระหว่าง อาณาบริเวณในครอบครัวและสถานที่ทำงาน ที่ซึ่งเป็นเรื่องส่วนตัว กับรัฐที่มักใช้อำนาจการครอบงำในรูปแบบต่าง ๆ บริเวณที่สาธารณะ เช่น ผับ ร้านกาแฟ และหอประชุมที่ซึ่งประชาชนมารวมตัวกัน ถกเถียงกิจการสาธารณะร่วมกันและจัดตั้งกลุ่มที่ทางสังคม และมีสิทธิอำนาจในสาธารณะ Habermas เรียกว่า "พื้นที่สาธารณะของชนชั้นกระกุฎพี" (bourgeois publicsphere) พื้นที่สาธารณะจึงถูกเสริมด้วยสื่อต่าง ๆ ทั้งหนังสือพิมพ์ นิตยสาร และหนังสือที่อ่านและถกเถียงกันในสถานที่ต่าง ๆ ในสังคม เช่น ผับ หรือร้านกาแฟ Habermas กล่าวว่า หนังสือพิมพ์เริ่มแรกนั้น เป็นแผ่นกระดาษสำหรับขายเพื่อเผยแพร่ "ข่าว" แต่นั้นในขณะเดียวกัน ก็เป็นการส่งผ่านเครื่องมือทางการเมือง เช่น ก่อให้เกิดการถกเถียง เกี่ยวกับสภาวะบีบคั้น ของการปฏิวัติในอเมริกาและฝรั่งเศส และการจัดตั้งกลุ่มทางการเมืองเพื่อการปฏิวัติสังคม อย่างไรก็ตาม หนังสือพิมพ์ ก็ตกเป็นเหยื่อทางการค้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผลประโยชน์ทางธุรกิจ จึงอยู่เหนือความคิดทางการเมืองอีก ชั้นหนึ่ง สังคมจึงกลาย เป็นส่วนที่ถูกครอบงำชีวิตสาธารณะ แลกเปลี่ยนรูปพื้นที่สาธารณะ จากข้อมูลไปสู่ภายใต้การจัดการโดย องค์กรที่มีอำนาจ
ช่วงยุคสงครามโลกครั้งที่สอง จึงเป็นยุคของการผลิต และการบริโภคแบบมวลชน ที่ลักษณะการบริโภคความคิด ความต้องการ และพฤติกรรมเป็นแบบเดียวกัน ก่อเกิด "สังคมแบบมวลชน" หรือ ถูกอธิบายว่าเป็น "ลัทธิฟอร์ดนิยม" (Fordism) ที่สร้างระบบการผลิตแบบมวลชน และเป็นกระบวนการที่ทำให้ เกิดความปรารถนา รสนิยม และพฤติกรรมแบบเดียวกัน ทั้ง Horkheimer และ Adorno กล่าวว่านี้เป็นวิถีของการผลิตแบบอุตสาหกรรม ที่ก่อให้เกิด การวางแผนและการแบ่งงานกันทำ (division of labor) สำนักแฟรงเฟริต์ จึงอธิบายว่านี้เป็น "จุดจบของปัจเจกชน" (the end of the individual) ความคิดและการกระทำของบุคคลไม่ได้ขับเคลื่อนความก้าวหน้าของสังคมและวัฒนธรรมต่อไป สิ่งนี้ถูก แทนที่ด้วยองค์กรและสถาบันที่มีอำนาจเหนือปัจเจกชน
ชีวิตทางสังคม และการศึกษาวัมนธรรม (Social Life and Cultural Studies)
เมื่อวัฒนธรรมถูกผลิตและบริโภค ในวิถีชีวิตทางสังคม การปฏิบัติและ "สื่อ" หรือสิ่งประดิษฐ์ทางวัฒนธรรมจึงตั้งอยู่ภายใน ความสัมพันธ์ทางสังคมผ่านการผลิต แพร่กระจาย และบริโภค หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สังคมบริโภค เกิดขึ้นทั่วทุกหนทุกแห่งในโลกตะวันตก ในช่วงประมาณทศวรรษที่ 1950 นักทฤษฎีต่าง ๆ จึงพยายามสร้างทฤษฎีเกี่ยว กับบริโภค สื่อ และเงื่อนไขการเปลี่ยนของ วิถีชีวิตประจำวันเพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมสื่อและบริโภค ในประเทศฝรั่งเศส กระบวนการทำให้ ประเทศทันสมัยอย่างเร่งรีบ ก่อเกิดนักคิดที่พยายามพัฒนาการวิเคราะห์ รูปแบบสังคมและวัฒนธรรมที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Roland Barthes, Henri Lefebvre, Guy Debord, Jean Baudrillard และคนอื่น ๆ สังคมบริโภค ก่อให้เกิดภาพลักษณ์ และรูปแบบวัฒนธรรมวิถีชีวิตประจำวันแบบใหม่ นักทฤษฎีฝรั่งเศส ต่างพยายามอธิบาย ทำความเข้าใจ และวิพากษ์ปรากฎการณ์ใหม่ ๆ เหล่านี้
โรลอง บาร์ท (Roland Barthes) ประยุกต์ทฤษฎีโครงสร้างนิยมและสัญศาสตร์เพื่อทำความเข้าใจต่อ การขยายตัวของวัฒนธรรมสื่อ และความสำคัญในเชิงหน้าที่ทางสังคม ของสิ่งนี้แนวโครงสร้างนิยม (structuralism) พัฒนามาจากนักมานุษยวิทยาชาวฝรั่งเศส Claude Levi Strauss ที่กล่าวถึงโครงสร้างพื้นฐาน ทางวัฒนธรรมและสังคม ส่วนแนวสัญศาสตร์ (Semiology) พัฒนาขึ้นมาโดยนักภาษาศาสตร์ Ferdinand de Saussure ที่วิเคราะห์ถึงกฎที่เป็นรากฐาน รหัส และการปฏิบัติในการใช้ภาษา Barthes นำ "สื่อ" หรือ สิ่งประดิษฐ์ทางวัฒนธรรมมาศึกษา ในฐานะที่เป็นตัวบท (texts) เพื่อวิเคราะห์ถึงโครงสร้าง ความหมาย และผลกระทบ ในงานของ Barthes เรื่อง Mythologies วิเคราะห์ ถึงรหัส และความหมาย ที่เกิดขึ้นในวัฒนธรรมสามัญชน รวมถึงหน้าที่ทางสังคมของสิ่งนี้ โดยว่า Mythologies เป็นที่กระบวนทำให้ รูปแบบวัฒนธรรมของกระกุฎพี เป็นธรรมชาติและเป็นกระบวนการที่ไม่รู้จักจบสิ้น อย่างเช่น การอ่านภาพทหารแอฟริกาผิวดำทำความเคารพต่อธงชาติฝรั่งเศส ว่านี้เป็นภาพลักษณ์ที่ลบล้างความน่ากลัว ของจักรวรรดินิยมฝรั่งเศส แสดงถึงภาพทหารฝรั่งเศสคนหนึ่ง ที่ปรากฎอย่างเป็นธรรมชาติ และแทนที่ด้วยความหมายที่ว่า ชาวแอฟริกาควรเคารพต่อธงชาติฝรั่งเศส และแสดงถึงสัญลักษณ์ของ พฤติกกรรมทหาร และความจงรักภักดีต่อชาติฝรั่งเศส
Louis Althusser เป็นนักทฤษฎีชาวฝรั่งเศส อีกคนหนึ่งที่ประยุกต์ใช้ทฤษฎีโครงสร้างนิยม และสัญศาสตร์ เพื่อศึกษาถึง วัฒนธรรมและอุดมการณ์ ในงานเขียนของเขาช่วงทศวรรษที่ 1970 แตกต่างจากแนวคิดของ Marx ที่กล่าวว่า วิถีการผลิต เป็นตัวกำหนดลักษณะทางสังคม ภูมิปัญญา และวิถีชีวิตทางวัฒนธรรม แต่ Althusser กลับมองว่า อุดมการณ์เป็น ผลกระทบที่สำคัญต่อโครงสร้างทางสังคม เป็นพลังทางเศรษฐกิจ การเมืองกฎหมาย และการปฎิบัติต่ออุดมการณ์ ทั้งหมดมีปฏิสัมพันธ์กัน ก่อให้เกิดจิตสำนึกทางสังคม ตามมุมมองของ Althusser จึงเป็นแนว "มาร์กซิสเชิงโครงสร้าง" (structural Marxism) โดย "เครื่องมือในเชิงอุดมการณ์ของรัฐ" (ideological state apparatuses) เช่น โรงเรียน สื่อ เป็นต้น ทำให้ปัจจเจกกลาย เป็นบุคคลที่ไม่มีพื้นที่สำหรับการต่อต้าน หรือมีความคิดเห็นตรงกันข้ามกับรัฐ ในแง่นี้ ปัจเจกแต่ละบุคคลไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย สมาชิกของแต่ละชนชั้น ต่างถูก ลดรูปลงไปสู่การนิยามด้วยกฎ พฤติกรรม ค่านิยม และการปฏิบัติที่อยู่ภายใต้ สังคมแบบทุนนิยม การรวมกันของแนวมาร์กซิสและโครงสร้างนิยม Althusser จึงพยายามวิเคราะห์ถึงว่าปัจเจกชน ถูกรวมเข้าสู่ระบบสังคมโดยเฉพาะ และหน้าที่ที่ถูกผลิตซ้ำใน สังคม ทุนนิยมร่วมสมัยได้อย่างไร
แต่ในสหรัฐอเมริกาการศึกษาสื่อและวัฒนธรรม ได้พัฒนาขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1950 และ 1960 โดย มาเเชล แม็คลูฮาน (Marshall Mcluhan) งานเป็นที่ยอมรับของเขา Understanding Media แม็คลูฮาน ได้อธิบายถึงการก้าวกระโดของพาราไดม์ (paradigm) จากวัฒนธรรมการพิมพ์ ในช่วงยุคต้นไปสู่วัฒนธรรมสื่อแบบใหม่ ในวัฒนธรรมการพิมพ์ แม็คลูฮาน กล่าวว่า ก่อให้เกิดการรผลิตบุคคลที่มีเหตุมีผล อ่านออกเขียนได้ และเป็นปัจเจกชนที่สามารถติดตามตรรกะ จากสื่อสิ่งพิมพ์ทั้งในเชิง ความคิดและเหตุผล แต่สื่อวัฒนธรรมแบบใหม่ ผลิตบุคคลที่แตกแยกมากขึ้น ไม่มีความเป็นเหตุเป็นผล และมีสุนทรียะ ผ่านการมอง เสียง และภาพของ สื่อต่าง ๆ เช่น ภาพยนตร์ วิทยุ โทรทัศน์ และโฆษณา สิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิด "ชนเผ่า" (Tribal) หรือกลุ่มคนที่มีความคิดและพฤติกรรมร่มกัน เกิดวัฒนธรรมโลกาวิวัฒน์แบบใหม่
งานของแม็คลูฮาน ยังผลสืบต่อมาถึงงานของ Guy Debord เรื่อง "สังคมของการแสดง" (Society o the Spectacle) Debord อธิบายถึงการแพร่กระจายของสินค้า และ "การสะสมที่ขยายตัวของการแสดง" ( immense accumulation of spectacles) ซึ่งเป็นลักษณะของสังคมบริโภคสมัยใหม่ ร้านค้าของชำ ร้านขายยา และห้างสรรพสินค้า แสดงให้เห็นถึงสินค้าที่มากมาย และหลากหลายที่ชักจูงผู้คนด้วยการโฆษณา "สังคมของการแสดง" จึงอ้างอิงถึงสังคมสื่อและบริโภค ผ่านการบริโภค ภาพลักษณ์ สินค้า และการแสดง ในทุกวันนี้ยังรวมถึง ห้างสรรพสินค้า อินเตอร์เน็ต และความจริงเสมือน (virtual reality) ยิ่งไปกว่านั้น "สังคมของการแสดง" ยังอ้างถึงสถาบัน และเครื่องมือในสังคมร่วมสมัย ที่ผลิตสินค้าและเหตุการณ์ต่าง ๆ ผ่านสื่อ นี่เป็นแบบแผนและวิธีการที่กลุ่มอำนาจอย่างชนชั้นปกครอง ใช้จัดการทางสังคมกับปัจเจกชน ขณะที่ปกปิดธรรมชาติ และผลกระทบต่อการครอบงำ อย่างเช่น การเมืองในปัจจุบัน ที่เป็นดังเช่นการแสดงรูปแบบหนึ่ง แสดงผ่าน ภาพถ่ายที่เกิดขึ้นรายวัน เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่แสดงถึงอำนาจรัฐ เป็นต้น ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง บรรดาบรรษัทต่าง ๆ ระดับโลก เช่น โคคาโคล่า เป็ปซี่ แม็คโดนัลด์ เป็นต้น กลายเป็นปรากฏการณ์ที่สำคัญ ของการศึกษาวัฒนธรรม และสื่อระดับโลก
ในช่วงทศวรรษที่ 1960 สำนักวัฒนธรรมศึกษาในมหาวิทยาลัยเบอร์มิ่งแฮม (The University of Birmingham Center for Contemporary Cultural Studies) จึงหันมาให้ความสำคัญต่อปรากฎการณ์นี้ กลุ่มเบอร์มิ่งแฮมพัฒนามุมมองในเชิงวิพากษ์ ทั้งในการวิเคราะห์ การตีความ การวิจารณ์สิ่งประดิษฐ์ทางวัฒนธรรม รวมทั้งทฤษฎีทางด้านมานุษยวิทยา และกระบวนการศึกษาให้เป็นบริบทเพื่อวิเคราะห์ถึงตัวบททางวัฒนธรรม กลุ่มของเบอร์มิ่งแฮม ให้ความสนใจ ต่อปฎิสัมพันธ์ระหว่างภาพแสดง (representation) กับอุดมการณ์ของชนชั้น ความเป็นเพศ เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ และความเป็นชาติในตัวบททางวัฒนธรรม โดยเฉพาะในวัฒนธรรมสื่อ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ วิทยุ ดทรทัศน์ ภาพยนตร์ และรูปแบบวัฒนธรรมอื่นที่มีต่อผู้รับ นอกจากนั้นพวกเขายังสำรวจ ถึงว่าผู้รับสื่อตีความและแปรความหมายไปตาม วัฒนธรรมสื่อในแนวทางต่าง ๆ อย่างไร ในบริบทต่าง ๆ และวิเคราะห์ถึงปัจจัยที่ทำให้ผู้รับสารตอบสนองต่อสื่อแตกต่างกัน
สำนักศึกษาวัฒนธรรมสายอังกฤษ เริ่มต้นด้วยการปฏิเสธ การจัดระบบสูง/ต่ำของวัฒนธรรม และให้ความสำคัญ กับวัฒนธรรมสื่ออย่างจริงจัง โดยก้าวข้ามขอบเขตตามแนวคิดสำนักแฟรงเฟิรต์สคูล ที่มองว่า ผู้รับสื่อ (audience) เป็นผู้ถูกกระทำ และ ถูกจัดการ มาเป็น ผู้รับสื่อที่เป็นผู้กระทำ (active audience) สร้างความหมายต่าง ๆ ขึ้นมา โดยเชื่อมโยงทฤษฎีและการปฏิบัติ ไปสู่การศึกษาวัฒนธรรมที่เป็นรากฐาน ของการเปลี่ยนรูปทางสังคม และเน้นประเด็น ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและการผลิตซ้ำ ว่านำไปสู่การควบคุมทางสังคม หรือว่าทำให้ผู้คนลุกขึ้นมาต่อต้านอย่างไร โดยวิเคราะห์สังคมในฐานะที่เป็น ชุดความสัมพันธ์ทางสังคมที่เป็นลำดับชั้น และเป็นปฏิปักษ์ระหว่างกัน ทั้งในเรื่องชนชั้น ความเป็นเพศ เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ และความเป็นชาติ การศึกษาวัฒนธรรมสายอังกฤษจึงมุ่งไปสู่ประเด็น ความสัมพันธ ์เชิงอำนาจของพลังที่ครอบงำ และการต่อต้านในกระบวน การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1960 งานของ Williams/Hoggart/Hall เน้นถึงการดำรงอยู่และการพัฒนาของวัฒนธรรมชนชั้นแรงงาน ต่อมาในช่วงทศวรรษที่ 1970 ก็เริ่มให้ความสนใจกับวัฒนธรรมย่อยของกลุ่มวัยรุ่น เพื่อต่อต้านการครอบงำของระบบทุนนิยมในรูปแบบต่าง ๆ วัฒนธรรมวัยรุ่นจึงถูกมอง ในฐานะรูปแบบวัฒนธรรมใหม่ของการเปลี่ยนแปลงทางสังคม โดยศึกษาว่า วัฒนธรรมก่อรูปเป็นเอกลักษณ์ที่เด่นชัด และสมาชิกของกลุ่มสร้างความแตกต่างหลากหลายขึ้นมาได้อย่างไร รวมทั้งกลุ่มต่ง ๆ ในวัฒนธรรมย่อยต่อต้านรูปแบบวัฒนธรรมและอัตลักษณษ์ที่ครอบงำได้อย่างไร และสร้างรูปแบบและ อัตลักษณ์ของตนเองขึ้นมา ดังเช่น ปัจเจกบุคคลต่างปฏิบัติตามการแต่งกาย แฟชั่น พฤติกรรม และอุดมการณ์ทางการเมือง ตามวัฒนธรรมกระแสหลัก แต่พวกอยู่ในวัฒนธรรมย่อย เช่น พังค์ (punk) หรือ ฮิปฮอป (hip hop) ปฏิบัติแตกต่างไป จากวัฒนธรรมกระแสหลัก และสร้างอัตลักษณ์ที่แตกต่างไปจากแบบมาตราฐาน
การพัฒนาแนวทางการศึกษาวัฒนธรรมสายอังกฤษ ส่วนหนึ่งเป็นการตอบสนอง ต่อการปะทะประสาน ของกลุ่มเคลื่อนไหวต่าง ๆ ในช่วงทศวรรษที่ 1960 ที่สร้างแบบแผน และสร้างเสียงให้กับวัฒนธรรมของตน (เช่น กลุ่มแฟมินิส์ การศึกษาเกย์และเลสเบียน เป็นต้น) การศึกษาวัฒนธรรมสายอังกฤษ จึงเป็นการศึกษาชั่วขณะ การต่อสู้ในประวัติศาสตร์สังคม รวมทั้งศึกษาอุดมการณ์และการเมืองวัฒนธรรม โดยวิเคราะห์ผ่านสิ่งประดิษฐ์ทางวัฒนธรรม การปฏิบัติ สถาบันต่าง ๆ ที่ดำรงอยู่ในเครือข่ายของอำนาจ ในบริบทนี้ การศึกษาวัฒนธรรมจึงแสดงให้เห็นถึงว่า วัฒนธรรม จัดแบ่งเครื่องมือ พลังของการครอบงำ และทรัพยากรสำหรับการต่อต้านอย่างไร
การเมืองของภาพแสดง (The Politics of Representation)
ในช่วงแรก การสื่อสารมวลชน เป็นการเน้นในเรื่องของเนื้อหา จากการอธิบายวิเคราะห์เนื้อหา ไปสู่การวิเคราะห์ใน เชิงปริมาณของการอ้างอิง ตัวเลขสถิติ หรือภาพลักษณ์ในตัวบทของสื่อ ต่อมาจึงเริ่มมีวิธีศึกษาวิเคราะห์ในเชิงตัวบท ก่อเกิดการศึกษาทำความเข้าใจ เกี่ยวกับตัวบท การเล่าเรื่อง และการสร้างภาพแสดง (representation) เช่นเดียว กับแนวคิดเชิงวิพากษ์ ในเรื่องอุดมการณ์และความเป็นใหญ่
แนวคิดเรื่องภาพแสดงทางวัฒนธรรม (representation) เป็นการเมืองที่สำคัญอย่างหนึ่งในทฤษฎีทางวัฒนธรรมและสื่อ ในช่วงทศวรรษ 1960 นักเฟมินิสต์ เกย์และเลสเบี้ยน ชนชาวอเมริกัน แอฟริกัน เป็นต้น กลุ่มเหล่านี้ต่าง เคลื่อนไหวต่อต้านแบบแผน และ อคติต่อภาพลักษณ์กลุ่ม ของพวกเขา โดยวิพากษ์ถึงเพศนิยม (sexism) เชื้อชาตินิยม (racism) ความกลัวต่อคนรักในเพศเดียวกัน และอคติอื่น ๆ ที่มีต่อภาพลักษณ์ และภาพแสดงต่อพวกเขา สิ่งนี้เอง ในอีกด้านหนึ่ง ก็เป็นผลประโยชน์ของการครอบงำวัฒนธรรมของกลุ่มต่าง ๆ ที่มีอำนาจเหนือกว่า การศึกษา ภาพแสดง ของกลุ่มผุ้หญิง หรือคนผิวดำ แสดงถึงว่ามีการาผลิตเพศนิยม หรือ เชื้อชาตินิยม ที่สิ่งหนึ่งเหนือกว่าสิ่งหนึ่งได้อย่างไร
การเมืองของภาพแสดงในช่วงต้นให้ความสนใจต่อ "ภาพลักษณ์" ของกลุ่มเฉพาะทาง สังคมกลุ่มต่าง ๆ วิจารณ์ ภาพลักษณ์ใน แง่ลบ และย้ำถึงการสร้างภาพเหล่านี้ แต่หลังจากนั้น ในช่วงทศวรรษที่ 1970 จึงให้ความสนใจในการวิเคราะห์ "ตัวบท" (texts) ว่าได้กำหนดตำแหน่งผู้รับสารอย่างไร ผ่านเรื่องเล่า ฉากเหตุการณ์ และภาพลักษณ์อย่างไรในการผลิต ภาพแสดงที่เป็นอคติ ยิ่งไปกว่านั้น ยังทำความเข้าใจถึงกลไกเชิงตัวบทที่ ช่วยสร้างความหมายทางสังคม และภาพแสดง ของกลุ่มทางสังคม แต่ละกลุ่มอย่างไร การเบียดขับกลุ่มทางสังคมบางกลุ่ม และก่อภาพลักษณ์ที่เป็นอคติต่อ ภาพแสดง ทางวัฒนธรรรมของกลุ่มที่อยู่ใต้อำนาจ วัฒนธรรรมสื่อจึงถูกพิจารณาในฐานะที่เน้นย้ำ ถึงกลุ่มที่ครอบงำทางสังคมมากกว่า กลุ่มที่ถูกครอบงำได้อย่างไร และค้นหาถึงเรื่องเล่าและภาพแสดง ของรูปแบบสังคมที่ตกอยู่ใต้อำนาจ และการแสดงภาพ ลบภายใต้วัฒนธรรมกระแสหลัก (เช่น กลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ กลุ่มเกย์ และเลสเบี้ยน เป็นต้น)
ในทศวรรษที่ 1980 จึงกลับมาให้ความสนใจต่อกลุ่มผู้รับสาร (audiences) โดยสร้างแนวคิดที่ซับซ้อนขึ้นของ การสร้างความหมาย เน้นย้ำถึงว่าผู้รับสารสามารถปฏิบัติที่ ตรงข้ามกับการอ่านได้อย่างไร ปฏิกริยาในทางลบต่อ สิ่งที่พวกเขารับรู้จากภาพแสดง ที่เป็นอคติต่อกลุ่มทางสังคมของพวกเขา การแสดงผู้รับสารในฐานะผู้สร้างความหมาย (ไม่ใช่เพียงในฐานะที่เป็นเหยื่อของสื่อ) การอ่านทางวัฒนธรรมจึงถูกมอง ในฐานะที่เป็นเหตุการณ์ทางการเมือง โดยศึกษาว่าเรื่องเล่าก่อรูปร่างขึ้นมาอย่างไร ภาพลักษณ์และอุดมการณ์ ในสื่อผลิตซ้ำ การครอบงำทางสังคม และความแตกต่างอย่างไร วัฒนธรรมในที่นี้จึงถูกรับรู้ในฐานะ ที่เป็นพื้นที่ของภาพแสดง (a field of representation) เป็นผู้ผลิตความหมายทั้งใน แง่ลบและแง่บวกของความเป็นเพศ ชนชั้น เชื้อชาติ ความสัมพันธ์ทางเพศ ศาสนาและอัตลักษณ์อื่น ๆ สื่อจึงถูกมองในฐานะ ที่เป็นสิ่งทรงประสิทธิภาพ เป็นผู้สร้างรูปแบบของกฎ อัตลักษณ์ทางเพศ บรรทัดฐาน ค่านิยม พฤติกรรมที่เหมาะหรือไม่เหมาะสม และสร้างผู้รับสารที่แตกต่างกันไป รวมทั้งเป็นผู้รับสาร ในฐานะที่เป็นผู้กระทำและสร้างสรรค์ ที่สามารถนำสื่อประยุกต์สร้างความหมาย และอัตลักษณ์วัฒนธรรมชองตน การให้ความสำคัญกับผู้รับสาร จึงเป็นการปฏิเสธ อคติหรือแบบมาตรฐานทางสังคมที่มีต่อเฉพาะกลุ่ม การเมืองของภาพแสดง จึงมุ่งให้ความสนใจทั้งการใส่รหัส (encoding) และถอดรหัส ( decoding) ตัวบท และผู้รับสาร การวิพากษ์ และการตอบสนอง ที่แตกต่างต่อผลผลิตของสื่อ
วัฒนธรรมและอัตลักษณ์จึงถูกพิจารณา ในฐานะที่เป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้น เป็นสิ่งประดิษฐ์สามารถดัดแปลงได้ และสามารถปะทะโต้แย้ง ไม่ใช่เป็นสิ่งที่มีมาแต่ธรรมชาติ ภาพแสดงจึงถูกตีความไม่ใช่ เพียงในฐานะที่เป็น รูปแบบจำลองความจริงเท่านั้น แต่ยังเป็นการก่อรูปที่ซับซ้อนในเชิงเทคนิค การเล่าเรื่อง และเครื่องมือทางอุดมการณ์ การเมืองของภาพแสดง จึงมุ่งให้ความสนใจต่อเทคโนโลยีสื่อ เช่นเดียวกันกับรูปแบบ ความเชื่อ รหัสต่าง ๆ ที่ได้สร้างภาพแสดงที่เป็นลักษณะเฉพาะขึ้นมา
ภาพแสดงในทางวัฒนธรรมจึงถูกมอง ในแง่ของการวิพากษ์ทางการเมือง และรับรู้ในฐานะพื้นที่ของการปะทะสังสรรค์ ภาพยนตร์ โทรทัศน์ ดนตรี และรูปแบบวัฒนธรรมต่าง ๆ จึงถูกตีความในฐานะที่เป็นบริเวณของการต่อสู้ที่ซึ่ง ภาพแสดงส่งผ่านวาทกรรมเคลื่อนไหวและความขัดแย้งในสังคม การเคลื่อนไหวในช่วงทศวรรษที่ 1960 ทั้งในเรื่องความเป็นเพศ เชื้อชาติ ชนชั้น ฯลฯ จึงยิ่งทวีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เพื่อเรียกร้องให้เสียงกับความเป็นอื่น และสร้างวัฒนธรรมย่อย ของแต่ละกลุ่มที่เป็นกลุ่มชายขอบขึ้นมา อันเป็นการสั่นคลอนระบบการผลิตวัฒนธรรม และ การสร้างภาพแสดงของกลุ่มที่ครอบงำอำนาจในสังคม ในกระบวนการนี้จึงสร้าง ความแตกต่างหลากหลายให้เกิดขึ้นในสังคม ก่อให้เกิดกลุ่มวัฒนธรรมย่อยต่าง ๆ ที่เคยถูกทำให้เป็นกลุ่มชายขอบมาก่อน

แนวคิดหลังสมัยใหม่และสื่อแนวใหม่ (The Postmadern Turn and New Media)
แนวความคิดหลังสมัยใหม่เป็นนัยะ ที่แสดงถึงรอยแยกแตกร้าวใน ทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ เนื่องจาก การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ทั้งในทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ศิลป และชีวิตประจำวัน จึงต้องการแนวทฤษฎีใหม่ ๆ ที่เป็นแนวทางการรับรู้โลก และรูปแบบของวาทกรรมและการปฏิวัติ แนวความคิดหลังสมัยใหม ่เป็นแนวคิดที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในวงกว้าง ในที่นี้จึงพยายามแยกแยะให้เห็นเด่นชัดในความแตกต่างระหว่าง modernity และ postmodernity ในฐานะที่เป็นยุคสมัย และขั้นตอนทางประวัติศาสตร์ ส่วนmodernism และ postmodernism เป็นการพัฒนาภายในวงการศิลปะ สุดท้าย ทฤษฎี modern และ postmodern เป็นวิถีของวาทกรรม ในทางทฤษฎีและ ภูมิปัญญาที่มีต่อโลก ตามแนวนี้ ทฤษฎีหลังสมัยใหม่ (postmodern) เกิดขึ้นในสังคมวัฒนธรรมที่เชื่อมโยง กับระบบทุนนิยม ในระดับโลก อันเป็นลักษณะพหุของสื่อสมัยใหม่ เทคโนโลยี เทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารและคอมพิวเตอร์ และการขยายรูปแบบแนวใหม่ ในทางการเมืองสังคมวัฒนธรรม และวิถีชีวิตประจำวัน
นักทฤษฎีหลังสมัยใหม่ อย่างเช่น Jean Baudrillard, Jean-Francois Lyotard, Michel Foucault, Fredric Jameson, Angela McRobbie, Mak Poster และคนอื่น ๆ ต่างให้ความสนใจ กับเทคโนโลยีแนวใหม่ รูปแบบของวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ ทฤษฎีและวาทกรรมแนวความคิดใหม่ และความเฟื่องฟูของทุนนิยมระดับโลก สิ่งเหล่านี้ต่างก่อรูปของยุคร่วมสมัยในปัจจุบัน โดยแนวทฤษฎีหลังสมัยใหม่เป็นส่วนที่ เสริมเพิ่มเติมส่วนที่ยังขาด และละเลยของแนวทฤษฎีก่อนหน้าที่ผ่านมา
นักทฤษฎีชาวฝรั่งเศส Jean Buadrillard เป็นคนแรก ๆ ที่ให้ความสนใจรูปแบบใหม่ของวัฒนธรรมในเชิงทฤษฎ ีต่อวิถีการทำให้ปรากฎ (the modes of simulation) และ "อภิความจริง" (hyperreality) เมื่อเขาอธิบายถึงการเกิดขึ้นของสื่อ และไซเบอร์สเปซ (cyberspaces) ของเทคโนโลยีสมัยใหม่ เขาเห็นถึงความสำคัญของ รูปแบบวัฒนธรรม และพื้นที่ของประสบการณ์ทางวัฒนธรรม (fields of cultural experience) โดยประกาศว่า "นี้เป็นจุดจบของเศรษฐศาสตร์การเมือง" และอ้างถึงวิถึของวัฒนธรรมสื่อ และคอมพิวเตอร์ว่าเป็นสิ่งทรงพลัง ที่จัดการในโลกปัจจุบัน เขาเชื่อมโยง ความสัมพันธ์ระหว่างเทคโนโลยีสมัยใหม่ รูปแบบวัฒนธรรม และโครงสร้างใหม่ของ ระบบทุนนิยมโลกเข้าด้วยกัน
ส่วนต่างไปจาก Fredric Jameson ในบทความเรื่อง " Postmodernism, or the Cultural Logic of Late Capitalism" ตีความถึง รูปแบบใหม่ ของวัฒนธรรมหลังสมัยใหม่ภายใต้ ระบบทุนนิยมร่วมสมัย ที่เชื่อมโยงเศรษฐกิจกับวัฒนธรรมเข้าด้วยกัน ลัทธิหลังสมัยใหม่เป็นรูปแบบวัฒนธรรม ของที่เน้นผิวหน้า ภาพลักษณ์และการแสดง รูปแบบที่ปรากฎภายใต้ วัฒนธรรมสื่อและบริโภค ในแง่ทฤษฎีจึงเป็นการทำ ความเข้าใจต่อทุนนิยมโลกในรูปแบบใหม ่และวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นในลักธิหลังสมัยใหม่ (postmodernism)
ช่วงทศวรรษที่ 1990 แนวหลังสมัยใหม่ จึงเป็นการศึกษาวัฒนธรรม ที่เชื่อมโยงกันระหว่างการบริโภคแนวใหม่กับลัทธิทุนนิยมโลก หากย้อนกลับไปในอดีต สำนักแฟรงเฟริต์สคูลอธิบายว่า สังคมมวลชนและวัฒนธรรมนำปัจเจกชนไปสู่วัฒนธรรมที่ถูกทำให้เหมือนกัน โดยผ่านการควบคุม ของบรรษัทองค์กรขนาดใหญ่ รัฐ และสื่อ ซึ่งแตกต่างกับ รูปแบบผู้บริโภคในระบบทุนนิยมตามแนวคิดหลังสมัยใหม่ ผู้บริโภคนั้นเป็นสิ่งที่แตกแยก มีลักษณะเฉพาะ เน้นสุนทรียะ และกามารมณ์ ซึ่งเน้นความ แตกต่าง ทางเลือก และ เสรีภาพของปัจเจกมากกว่าแนวคิดช่วงที่ผ่านมา แนวหลังสมัยใหม่จึงก่อเกิดรูปแบบ ที่แตกต่างหลากหลาย ของการศึกษาวัฒนธรรม และวิธีการศึกษาสื่อและวัฒนธรรม โดยให้ความสนใจกับ ผลกระทบของเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่มีส่วนกำหนดสังคม วัฒนธรรม การเกิดขึ้นเศรษฐกิจและวัฒนธรรมระดับโลก การเคลื่อนไหว และการเมืองแนวใหม่ จึงตั้งคำถามต่ออำนาจทางการเมือง การครอบงำ และการต่อต้าน
แนวทฤษฎีที่แตกต่างกันจึง แสดงให้เห็นถึงวิธีการและ ทฤษฎีอันหลากหลาย การประยุกต์ใช้แนวทฤษฎีต่าง ๆ จึงก้าวข้าม ขอบเขตของระเบียบวิชาความรู้ เมื่อเราต้องเผชิญ กับเทคโนโลยีสมัยใหม่และสื่อที่หลากหลาย เช่น ไซเบอร์สเปซ (cyberspace) จึงต้องการแนววิเคราะห์ในอีกรูปแบบหนึ่ง โดยเฉพาะแนวการศึกษาแบบยุคหลังสมัยใหม่ จึงให้ความสนใจ ต่อความสัมพันธ์ ระหว่างเทคโนโลยีสมัยใหม่ กับรูปแบบวัฒนธรรมแบบใหม่ วัฒนธรรมสื่อที่เกิดขึ้นใน บริบทของ ความไม่เสมอภาคกกัน ทั้งในทางเชื้อชาติ ชนชั้น ความเป็นเพศ จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องศึกษาถึง อำนาจและ การครอบงำด้วย การสำรวจการเกิดขึ้นของไซเบอร์สเปซ จึงตั้งคำถามบนวิถีของการผลิต ปฏิสัมพันธ์ และอัตลักษณ์ในวัฒนธรรมคอมพิวเตอร์ เช่นเดียวกับการสำรวจถึงพื้นที่สาธารณะ (public culture) แบบใหม่ ที่ถกเถียง ในความสัมพันธ์เชิงอำนาจ และการปะทะสังสรรค์กัน การศึกษาสื่อและวัฒนธรรมในอนาคตจึงให้ความสนใจ กับการพัฒนา ของอุตสาหกรรมข้อมูลข่าวสาร และบันเทิงที่เกิดขึ้นในอนาคต

(แปลและเรียบเรียงจาก Adventures in Media and Culture Studies : Introducing the KeyWorks
เขียนโดย Douglas M. Kellner and Meenakshi Gigi Durham จากหนังสือmedia and cultural Keywords)




 

Create Date : 24 พฤษภาคม 2550    
Last Update : 24 พฤษภาคม 2550 3:31:00 น.
Counter : 5590 Pageviews.  

ปริบทการสื่อสารระหว่างบุคคล

ธรรมจักร พรหมพ้วย

ปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในการดำเนินชีวิต ซึ่งต้องประกอบด้วยปัจจัยและวิธีการหลายอย่างเพื่อที่จะสื่อสารทำความเข้าใจระหว่างกันและกัน เช่น วัจนภาษา
อวัจนภาษา ฯลฯ การศึกษากระบวนการสื่อสารระหว่างบุคคลมีแนวคิดและทฤษฎีมากมายที่ใช้เพื่อการทดสอบปฏิสัมพันธ์อันลึกซึ้งเหล่านี้ บ้างใช้แนวคิดสังคมศาสตร์ พฤติกรรมศาสตร์ จิตวิทยาสังคม หรือแม้กระทั่งปรัชญา แต่มีทฤษฎีหนึ่งที่ได้กล่าวถึงการสื่อสารระหว่างบุคคลในฐานะที่เป็น “มนุษย์” คือทฤษฎีการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างความหมาย (Coordinating Management of Meaning) ที่ใช้แนวคิดการกระทำของมนุษย์ (Human Action) มาเป็นสมมติฐานในการศึกษา ทฤษฎีนี้ว่าด้วยความสามารถของมนุษย์ในการที่จะเลือกสร้างความหมายตามความเข้าใจของตนและสามารถที่จะเลือกในการตีความหมายของสารที่ผู้อื่นส่งมา จากกรณีตัวอย่างในหนังสือที่กล่าวถึงความเข้าใจผิดในการสื่อความหมายทางอวัจนภาษาของชาวอเมริกันและชาวญี่ปุ่น ทำให้เกิดประเด็นที่น่าขบคิดว่า หากในประเทศที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมสูง เช่น ประเทศไทย การสื่อสารระหว่างบุคคลจะก่อให้เกิดปัญหาความเข้าใจผิดทางการสื่อสารได้บ้างหรือไม่
ดังจะขอยกตัวอย่างจากกรณีความหลากหลายทางด้านภาษาที่ใช้ในกลุ่มชาวไทยมุสลิมในเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในกลุ่มนี้ประชาชนจะพูดภาษายาวีหรือภาษามาเลย์ซึ่งได้รับอิทธิพลจากทางประเทศมาเลเซีย ทำให้เกิดความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดกับภาษาไทยกลาง ดังนั้นการประเมินความหมายของชนสองกลุ่มวัฒนธรรม เช่น ในกรณีการประท้วงการสร้างท่อส่งก๊าซไทยมาเลเซีย ที่รัฐบาลเล็งเห็นประโยชน์ในระดับประเทศ แต่ประชาชนชาวใต้เข้าใจในความหมายที่ตนเองถูกเอารัดเอาเปรียบจากรัฐบาล ทั้งนี้เนื่องจากการสื่อความหมายที่ไม่ชัดเจนและคลุมเครือ อีกทั้งอคติที่มีต่อคนไทยที่พูดภาษากลาง กอปรกับการมีความต้องการที่จะแบ่งแยกดินแดนภาคใต้ให้เป็นรัฐอิสระ อุปสรรคที่เกิดจากการสื่อความหมายคนละประเด็นนี้จึงอาจเป็นชนวนให้เกิดความแปลกแยกในระดับประเทศ ซึ่งในกรณีเดียวกันนี้ยังพบได้กับวัฒนธรรมชายขอบอื่นๆ ที่มีความคาบเกี่ยวระหว่างสองวัฒนธรรม เช่น ชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงในเขตจังหวัดกาญจนบุรีและราชบุรี ชาวเขมรที่ลักลอบเดินทางเข้ามาหากินในประเทศไทย ชาวไทยใหญ่ในจังหวัดตากและแม่ฮ่องสอน กรณีเหล่านี้ล้วนมีความสำคัญที่น่าจะได้นำเอาทฤษฎีการสื่อสารระหว่างบุคคลนี้มาปรับใช้เพื่อให้เกิดความเข้าใจอันดี ซึ่งอาจนำมาสู่สันติภาพและความสงบของ “มนุษย์” ด้วยกันได้ และต้องอย่าให้ความแตกต่างทางวัฒนธรรมมาเป็นอุปสรรคในการที่จะทำความเข้าใจเพื่อนมนุษย์ด้วยกันอีกต่อไป
22 กรกฎาคม 2546




 

Create Date : 24 พฤษภาคม 2550    
Last Update : 24 พฤษภาคม 2550 3:29:02 น.
Counter : 1059 Pageviews.  

วจนภาษากับการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรม

ธรรมจักร พรหมพ้วย

ภาษาของมนุษย์เป็นสัญชาตญาณหรือพฤติกรรมที่ใช้ระบบสัญญะเพื่อแทนค่าสิ่งต่างๆ ที่ตาเห็นให้สามารถเข้าใจซึ่งกันและกัน กลายเป็นภาษาพูด แล้วจึงพัฒนาต่อมาเป็นภาษาเขียน ซึ่งการกำหนดความหมายให้กับสัญญะ (Sign) ต่างๆ นั้น บางสิ่งก็สัญญะตามธรรมชาติ เรียกว่า สัญญาณ (Signal) ซึ่งต่อมา Cronkhite ใช้คำว่า Symtom แทนสัญญะตามธรรมชาตินี้ ส่วนสัญญะที่มนุษย์เป็นผู้กำหนดความหมายและขนานนามให้เป็นที่ยอมรับในวัฒนธรรมของตนโดยเฉพาะ เรียกว่า สัญลักษณ์ (Symbol) ดังนั้นความสามารถในการเข้าใจหมายรู้ในวจนภาษาที่เกิดขึ้นในแต่ละวัฒนธรรมจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะต้องศึกษาถึงการให้ความหมายสิ่งเดียวกันด้วยถ้อยคำที่แตกต่างกัน บางครั้งก็อาจก่อให้เกิดปัญหาในระดับการสื่อสารระหว่างบุคคล จนถึงระดับองค์กรและประเทศชาติ ซึ่งจะยังให้เกิดความเสียหายอันใหญ่หลวงหากปัญหาความไม่เข้าใจในวจนภาษาของกันและกันแล้ว
ดังจะขอยกตัวอย่างการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรม (Intercultural Communication) ที่ใกล้ตัวเรามากคือ ในกรณีของการใช้ภาษาถิ่น ซึ่งมิใช้ภาษาไทยกลาง ที่เรียกว่าได้ว่าเป็นปัญหาในการแย่งชิงพื้นที่ทางความคิด เพราะด้วยกำหนดให้ภาษาไทยกลางเป็นภาษาทางการที่ทุกคนต้องเรียนรู้ และพูดให้ได้ แม้ว่าจะอยู่ในภูมิภาคใด ชุมชนใดของประเทศ คนกรุงเทพอาจคุ้นเคยหรือรู้สึกว่าเป็นเรื่องไม่ผิดปกติ เพราะใช้ภาษาเหล่านี้เป็นกิจวัตรไปแล้ว แต่สำหรับคนในพื้นถิ่นที่มีลักษณะเป็นชุมชนวัฒนธรรมชายขอบ เช่น ในภาคเหนือก็มีการ “อู้กำเมือง” ภาคอิสานก็ “เว้าลาว” ภาคใต้ก็ “แหล่งใต้” หรือพูดภาษามลายู จากตัวอย่างเหล่านี้พอที่จะอนุมานได้ว่าการบังคับให้เลือกใช้ภาษาใดภาษาหนึ่งให้เป็นภาษาทางการที่มีบังคับเรียนรู้ตามหลักสูตรการศึกษาภาคบังคับนั้น เป็นสัญญะทางการเมือง เพื่อที่จะปลูกจิตสำนึกให้คนที่อาศัยในผืนดินแห่งนี้เรียกตนเองว่า “คนไท” แล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับชาวชายขอบที่พูดภาษาถิ่นมาแต่กำเนิด โดยที่เขาเองก็ไม่สนใจหรอกว่าทางการจะบังคับให้เขาต้องพูด หรือเขียนอ่านภาษาไทยกลางได้ เพราะภาษาถิ่นเหล่านั้นเป็นสายเลือดและจิตวิญญาณแสดงความเป็นตัวตนของพวกเขา การนำเสนอภาพคน “เว้าลาว” ในละครโทรทัศน์ ในเพลงของศิลปินระดับซุปเตอร์ จึงเป็นเพียงการสร้างจุดขายหรือเป็นการตอกย้ำความด้อยค่า น่าขบขันของวัฒนธรรมเหล่านี้ ทำให้เกิดการสร้างค่านิยมว่าคนที่พูดภาษาไทยกลางเท่านั้นจึงจะเป็นผู้เจริญ คนพูดภาษาถิ่นเป็นพวกด้อยการศึกษา เป็นประชากรชั้นสองของสังคม หนำซ้ำนักการเมืองที่จะต้องทำหน้าที่เป็นผู้บริหารประเทศ ก็ยังใช้ภาษาถิ่นเป็นเครื่องมือทำมาหากินเมื่อหาเสียงเลือกตั้ง แต่เมื่อได้เป็นผู้แทนกลับเหยียดหยามคนพูดภาษาถิ่นเดียวกันแท้ๆ นี่คือช่องว่างระหว่างภาษาที่สะท้อนปัญหาค่านิยมของคนไทย
8 กรกฎาคม 2546




 

Create Date : 24 พฤษภาคม 2550    
Last Update : 24 พฤษภาคม 2550 3:28:15 น.
Counter : 5606 Pageviews.  

กระบวนการโน้มน้าว : การสร้างกระแสในสังคมไทย

ธรรมจักร พรหมพ้วย

การศึกษากระบวนการสร้างทฤษฎีการสื่อสารที่ต่อเนื่องจากการทำความเข้าใจถึงลักษณะเฉพาะคือ การทราบถึงวิธีการ “โน้มน้าว” ซึ่งเป็นที่นิยมในช่วงหนึ่งโดยเฉพาะในกลุ่มของนักจิตวิทยาที่ทำการศึกษาการรับรู้ของจิตมนุษย์ที่อาจได้รับการจูงใจในลักษณะต่างๆ เพื่อให้เห็นคล้อยตามผู้ส่งสาร การศึกษาเกี่ยวกับการโน้มน้าวนี้มีที่มาสืบค้นได้ตั้งแต่สมัยกรีก โดยอริสโตเติลได้พยายามที่จะศึกษาการพูดของนักวาทศิลป์สมัยนั้นที่มีเจตนาจะโน้มน้าวจิตใจผู้ฟังให้คล้อยตามทัศนคติทางการเมืองและการปกครอง
แนวคิดหลักของการโน้มน้าว ก็คือ การสื่อสารด้วยวิธีการโน้มน้าวนี้ อาจทำให้ผู้รับสารเปลี่ยนแปลงความเชื่อ ทัศนคติ และอาจถึงขั้นเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของผู้ส่งสารได้ ทำให้มีการศึกษาโดยเฉพาะในกลุ่มนักจิตวิทยาเกิดเป็นแนวคิดและทฤษฎีมากมาย เพราะหากเราสามารถเรียนรู้การเปลี่ยนแปลงความคิดหรือทัศนคติของมนุษย์ได้แล้ว ย่อมมีผลประโยชน์ในด้านบวกและผลกระทบในด้านลบตามมา กล่าวคือ หากผู้พูดโน้มน้าวให้ผู้ฟังเชื่อและปฏิบัติในสิ่งที่ชอบธรรมก็จะเกิดผลในทางบวก แต่หากเป็นโน้มน้าวเพื่อสร้างกระแสความคิด ความเชื่อไปทางลบ ขัดกับศีลธรรมจรรยาแล้ว เราจะมีวิธีการป้องกันหรือเรียนรู้ที่จะปฏิเสธการโน้มน้าวได้ดีพอหรือไม่
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมไทยที่มีความอ่อนไหวสูง เพราะประชากรในประเทศโดยเฉลี่ยมีการศึกษาในระดับไม่สูงมากนัก ทำให้เกิดการเหลื่อมล้ำระหว่างประชากรที่มีการศึกษา ได้มีโอกาสเรียนรู้ที่จะโน้มน้าวชักจูงจิตใจผู้ด้อยการศึกษาให้คล้อยตาม โดยเฉพาะในวงธุรกิจ การเมือง แม้กระทั่งพระพุทธศาสนา ซึ่งเรามักจะพบเห็นการโน้มน้าวเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจได้ง่ายในสังคมไทยที่กลายเป็นสังคมทุนนิยมไปแล้วในปัจจุบัน เช่น การโน้มน้าวใจเพื่อชักชวนให้ร่วมธุรกิจขายตรง ที่ผู้พูดใช้วาทศิลป์โน้มน้าว ชักจูง หาเหตุผลสนับสนุน เพื่อให้มีผู้มาร่วมระดมทุนในวงธุรกิจขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการขายเครื่องสำอางหรือผลิตภัณฑ์ขายตรงจากบรรษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ ที่มุ่งหวังให้ประชากรหัวอ่อนเช่น คนไทย ร่วมวงศ์ไพบูลย์กับธุรกิจประเภทนี้มากมาย มีการสอนทักษะการพูดโน้มน้าวตามหลักจิตวิทยา ที่เรียกกันว่า “กลยุทธ์การตลาด” ให้ถือปฏิบัติในทางเดียวกัน เกิดเป็นขบวนการ ลัทธิ ทั้งที่ขายของแบบถูกกฏหมาย เรื่อยไปจนถึงการสร้างเป็นระบบธุรกิจแบบ “แชร์ลูกโซ่”

ไม่เว้นแม้กระทั่งใต้ร่มกาสาวพัสตร์ ที่อาศัยพระธรรมเทศนาเป็นเครื่องมือจูงใจคนไทยหันหน้ามุ่งเข้าสู่ลัทธิบูชาแบบแปลกประหลาด บ้างก็หันกลับไปถือเจ้าเข้าทรง หรือนับถือนิกายพุทธศาสนาที่แปลกแยกออกไป ฯลฯ ซึ่งเบื้องหลังกรณีเหล่านี้ก็คือ “พระนักเทศน์ฝีปากเอก” ที่สามารถเอาพระธรรมบังหน้าเทศนาหว่านล้อมสาธุชนให้เห็นคล้อยตาม ซึ่งเบื้องหลังก็คือ “การระดมบุญแบบระดมทุน” มีเรื่องเงินๆ ทองๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง ปรากฏเป็นความฉาวโฉ่ของพระศาสนาดังปรากฏตามหน้าหนังสือพิมพ์ทุกวันนี้
สิ่งเหล่านี้จึงเป็นประเด็นปัญหาของสังคมไทยที่เกิดจากการไม่สามารถพินิจตรึกตรองได้ของคนไทย ว่าสิ่งใดเป็นการโน้มน้าวหรือสิ่งใดเป็นบุญ เป็นผลประโยชน์ที่แท้จริง โดยเฉพาะ
ผู้ได้รับการศึกษาเองที่ยังไม่ตระหนักรู้ในจรรยาบรรณแห่งมนุษย์ หวังเพียงเพื่อเอาทฤษฎีการโน้มน้าวนี้ไปใช้หลอกลวงเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง ฉะนั้นแล้วจงอย่าปล่อยให้ตนเป็นผู้หลงไปตามกระแสโดยง่าย และจงอย่าเป็นผู้สร้างกระแสโน้มน้าวในทางลบ

ธรรมจักร พรหมพ้วย
1 กรกฎาคม 2545




 

Create Date : 24 พฤษภาคม 2550    
Last Update : 24 พฤษภาคม 2550 3:27:41 น.
Counter : 1511 Pageviews.  

สิ่งเก่าในระบบใหม่

ธรรมจักร พรหมพ้วย

เราคงไม่อาจย้อนนำอดีตกลับมาให้ตั้งอยู่และดำรงไว้ได้ในโลกปัจจุบันเช่นเดียวกับสายน้ำที่ไม่อาจไหลหวนทวนกลับคืนมาได้ หากแต่โลกแห่งอดีตอาจยังมีคุณค่าและสาระเพียงพอต่อการนำมาปรับใช้ในโลกปัจจุบัน ดังเช่นภาพลักษณ์ของวิถีชีวิตไทยแบบเก่าที่เราเห็นว่าสวนทางกับการดำเนินชีวิตในโลกธุรกิจที่มีการแข่งขันแทบทุกเสี้ยววินาที ผู้ที่จะชนะและเอาตัวรอดได้ต้องมีความเฉลียวฉลาดและรอบรู้ฉับไว จะเห็นได้ว่าความเรียบง่ายและพอเพียงในวัฒนธรรมเดิมดูจะยังขัดแย้งอยู่ คงมีเพียงการผสมผสานระหว่างสองโลกที่จะทำให้สามารถคงอยู่ร่วมสมัยกันได้อย่างลงตัว
เฉกเช่นเดียวกันกับงานศิลปะและวัฒนธรรม ที่อาจไม่เพียงแค่ตั้งอยู่และดับหายไป หากแต่มีการเปลี่ยนแปลงและเกิดขึ้นใหม่อย่างต่อเนื่อง ทั้งยังสามารถนำเอาสิ่งเก่าเหล่านั้นมาเป็นแม่พิมพ์หรือแนวคิดเพื่อสร้างสิ่งใหม่ให้ยังคงสภาพงดงามต่อเนื่องไปอีกได้




 

Create Date : 24 พฤษภาคม 2550    
Last Update : 24 พฤษภาคม 2550 3:14:40 น.
Counter : 440 Pageviews.  

1  2  3  4  

จินตะหราวาตี
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]




สำนักละครอนุรักษ์นัจยากร
Friends' blogs
[Add จินตะหราวาตี's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.