As far as it me lies "พรุ่งนี้..ย่อมดีกว่าวันนี้"
Group Blog
 
All Blogs
 
อ่านยาง เลือกยาง และใช้ยางให้ถูกต้อง # 01



ข้อมูลจาก 'หกขาสองหางสี่ปีก'

บางทีซื้อยางมาไม่รู้ว่าจะได้ยางเก่ายางใหม่ ขนาดยางเท่าไหร่ ใช้งานแบบไหนดี และยางที่มีจะใช้ได้ดีอีกแค่ไหน ผู้ผลิตยางเองก็มีการบอกข้อมูลต่างๆมาบนยางแล้วมากพอควร มาดูกันทีละตัวเลย

เริ่มต้นจากตัวเลขและตัวหนังสือบนแก้มยางก่อน ตัวแรกสุดที่เราจะเห็นและให้ความสำคัญกับมันมากที่สุดคือ ขนาด วิธีการบอกขนาดของยางมีหลายมาตรฐาน แต่เอาแค่ที่ใช้กันมากๆสองแบบก็พอ

แบบแรก คือบอกในมาตรานิ้ว พวกรถรุ่นเก่าหรือรถเล็กบ้านเราบางรุ่นจะใช้แบบนี้

ตัวอย่างเช่น 2.25 L 17 4PR
2.25 คือความกว้างหน้ายาง 2.25 นิ้ว
L คือเรทความเร็วสูงสุดที่ยางรับได้ ซึ่งตัว L หมายถึง 120 กม./ชม.
17 คือขนาดขอบล้อ 17 นิ้ว
4 PR คือ Ply Rating หมายถึงความแข็งแรงของวัสดุที่ใช้รองหน้ายาง เทียบเท่ากับความแข็งแรงของการรองด้วยชั้นผ้าใบ 4 ชั้น

แบบที่สอง คือบอกเป็นมาตราเมตริก ที่ให้ข้อมูลได้ละเอียดกว่า ยางรุ่นใหม่ๆจึงนิยมบอกขนาดเป็นเมตริกกันมากกว่า
ตัวอย่างเช่น 120/70-ZR17 58W
120 คือความกว้างหน้ายาง 120 มิลลิเมตร
70 คือความสูงแก้มยาง วัดเป็นเปอร์เซ็นต์ของความกว้างหน้ายาง ในตัวอย่างคือ 70% ของ 120 นั่นคือยางมีความสูง 84 มม.
Z คือตัวบอกว่าเป็นยางที่ใช้กับรถความเร็วสูง
R คือบอกชนิดของยาง ว่าเป็นยางเรเดียล ถ้าไม่มีตัวนี้แสดงว่าเป็นยาง Belt Bias
17 คือขนาดขอบล้อ 17 นิ้ว
58 คือเรทการรับน้ำหนักสูงสุดของยาง (Load Index) เทียบเท่ากับ 236 กิโลกรัม
W คือเรทความเร็วสูงสุดที่ยางรับได้ ซึ่งตัว W หมายถึงไม่เกิน 270 กม./ชม.
ถ้ามีคำว่า M/C อยู่นั่นจะเป็นตัวบอกว่ายางเส้นนี้ออกแบบมาให้ใช้กับมอเตอร์ไซค์



ดัชนีการรับน้ำหนักของยาง
อ่านค่าแล้วเอามาเทียบกับตารางนี้

เดี๋ยวจะเอาตารางมาเพิ่ม

เรทการรับความเร็วสูงสุดของยาง
B ----- 50 km/h ----- 31 mph
C ----- 60 km/h ----- 37 mph
D ----- 65 km/h ----- 40 mph
E ----- 70 km/h ----- 43 mph
F ----- 80 km/h ----- 50 mph
G ----- 90 km/h ----- 56 mph
J ----- 100 km/h ----- 62 MPH
K ----- 110 km/h ----- 68 MPH
L ----- 120 km/h ----- 75 MPH
M ----- 130 km/h ----- 81 MPH
N ----- 140 km/h ----- 87 MPH
P ----- 150 km/h ----- 93 MPH
Q ----- 160 km/h ----- 99 MPH
R ----- 170 km/h ----- 106 MPH
S ----- 180 km/h ----- 112 MPH
T ----- 190 km/h ----- 118 MPH
U ----- 200 km/h ----- 124 MPH
H ----- 210 km/h ----- 130 MPH
V ----- 240 km/h ----- 150 MPH
W----- 270 km/h ----- 168 MPH
Y ----- 300 km/h ----- 186 MPH
Z ----- over 240 km/h ----- over 150 mph


ด้านหลังของตัวเลขบอกขนาดหรือบอกชื่อรุ่นยางอาจจะมีตัวหนังสือ F หรือ R อยู่ด้วย บางทีก็บอกกันตรงๆเลยว่า Front หรือ Rear บอกให้รู้ว่ายางเส้นนี้ใช้กับล้อหน้าหรือล้อหลัง พร้อมกับลูกศรบอกทิศทางการหมุน เวลาใส่ต้องใส่ให้ถูกทิศทางด้วย แล้วก็บอกประเภทของยางเช่นยาง Radial แบบในรูปนี้




ตัวสำคัญอีกตัวหนึ่งคือ *DOT* มองหาตัวนี้แล้วก็ดูตัวเลขชุด 4 ตัวที่ตามหลัง นั่นจะเป็นตัวบอกวันที่ผลิตยางเส้นนั้น ตัวเลขสองตัวแรกบอกสัปดาห์ที่เท่าไหร่ ตัวเลขสองตัวหลังบอกว่าของปีอะไร อย่างเช่น *DOT* (*2106*) นั่นคือยางเส้นนั้นผลิตในสัปดาห์ที่ 21 ของปี 2006



ต่อมาก็เป็นตัวบอกน้ำหนักบรรทุกสูงสุดอีกแบบนึง บอกเป็นตัวเลขกันตรงๆเลย แล้วก็แรงดันลมยางสูงสุดที่ยางจะรับได้ แล้วก็ตัวบอกความแข็งแรงของยางเช่น LR5 อย่างในรูปข้างล่างนี่คือความแข็งแรงเทียบเท่าชั้นผ้าใบเรเดียล 5 ชั้น

ยางบางรุ่นจะบอกวัสดุที่ใช้ทำชั้นโครงสร้างเสริมความแข็งแรงของยางด้วย อย่างรูปข้างล่างนี่บอกว่าหน้ายางมีโครงสร้างเป็น Aramid 2 ชั้น และ Rayon 2 ชั้น ส่วนแก้มยางมีโครงสร้างเป็น Rayon 2 ชั้น
Aramid นั้นเราจะรู้จักกันในชื่อทางการค้าว่า Kevlar



อีกตัวหนึ่งคือจุดสีเหลืองบนแก้มยาง นั่นจะเป็นจุดที่เบาที่สุดของยาง เวลาใส่ให้จุดนี้ตรงกับจุกเติมลมยาง จะทำให้ยางมีสมดุลย์ดีที่สุด เวลาเอาไปถ่วงล้อก็ไม่ต้องเติมน้ำหนักถ่วงมากนัก



ถ้ามองที่แก้มยางตรงส่วนที่ชิดหน้ายาง จะมองเห็นรูปสามเหลี่ยมเป็นหัวลูกศรชี้ขึ้นไปที่หน้ายาง ถ้ามองไล่ตามแนวลูกศรขึ้นไปที่หน้ายางจะเห็นร่องดอกยางจุดหนึ่งที่ตื้นกว่าบริเวณอื่นๆ นั่นคือร่องบอกความลึกดอกยาง ถ้าเมื่อไหร่ร่องตรงส่วนที่ตื้นนี้เรียบเสมอไปกับหน้ายางแล้วล่ะก็ แสดงว่าดอกยางเหลือน้อยเกินกว่าจะใช้งานแล้ว ถึงเวลาเปลี่ยนยางได้แล้ว
อีกส่วนคือแถบสีที่เป็นเส้นพาดยางตามเส้นรอบวงยาง เป็นตัวบอกระยะรันอินของยาง เพราะยางใหม่ๆจะมีการเคลือบสารเคมีเพื่อรักษาสภาพยางเอาไว้ เมื่อเอามาใช้สารเคลือบตัวนี้จะยังอยู่แล้วมันจะลื่น ใช้ไปเรื่อยๆแถบสีนี้จะจางลงๆ พอหมดก็แสดงว่ายางพร้อมใช้งาน เกาะถนนได้เต็มประสิทธิภาพแล้ว ส่วนขนๆที่อยู่รอบยางนั่นเป็นช่องไล่อากาศเวลาฉีดน้ำยางเข้าแบบ ใช้ๆไปมันก็หลุดร่วงไปเอง


ทีนี้เราก็รู้ล่ะว่ายางเส้นหนึ่งมีอะไรที่ผู้ผลิตบอกเราไว้บ้าง แล้วเวลาเลือกยาง มันมีหลายรุ่นหลายแบบ ต่างขนาดกันนิดๆหน่อยๆก็พอใส่แทนกันได้ แต่ใส่ไปแล้วจะเกิดอะไรตามมาน่ะรึ
อย่างแรกเลยคือความโค้งหน้ายางผิดไป ยางแต่ละขนาดจะออกแบบมาให้ใช้กับขอบล้อที่ความกว้างต่างกัน เมื่อเอามาใส่กับขอบล้อผิดขนาดมันก็บีบหรือถ่างให้ฐานของส่วนโค้งมีความกว้างผิดไป ผลคือรัศมีความโค้งหน้ายางเปลี่ยนไปจากที่ออกแบบมา ผลของมันก็มีตั้งแต่เล็กๆน้อยๆไปจนถึงร้ายแรง ขนาดเส้นรอบวงยางอาจจะผิดไปเล็กน้อย นั่นไม่เท่าไหร่ แต่ความโค้งเปลี่ยนพื้นที่สัมผัสและมุมของยางที่สัมผัสพื้นเปลี่ยนไป การยึดเกาะถนนก็เปลี่ยนไปกินกำลังรถมากกว่าเดิมหรือไม่เกาะถนนเท่าเดิม ผลจากร่องรีดน้ำไล่ฝุ่นต่างๆก็เปลี่ยนไป นี่เรื่องใหญ่พอควร และสำคัญมากๆคือฟีลลิ่งการขับขี่เปลี่ยนไป ยางที่กางออกมาจะเข้าโค้งได้เฉื่อยชากว่าเดิมคือเอียงรถเท่าเดิมแต่เลี้ยวได้น้อยกว่าเดิมหรือรัศมีวงเลี้ยวจากการเอียงรถมากขึ้น แต่ถ้ายางถูกบีบจากขอบล้อแคบๆ หน้ายางจะแหลมกว่าเดิมและมีความโค้งไม่สม่ำเสมอคือเป็นรูปส่วนของวงรีแทนที่จะเป็นวงกลม เดินคันเร่งมากตอนที่รถตั้งตรงอาจจะมีอาการเลื้อยให้เห็น จังหวะเข้าโค้งจะมีช่วงหนึ่งที่ยางสัมผัสถนนน้อยลงจนออกอาการเหมือนจะหลุดโค้ง โดยเฉพาะช่วงออกจากโค้งถ้าเดินคันเร่งมากในจังหวะนี้ก้มีโอกาสจะดิ้นปั้ดๆได้มาก
สรุปแล้วยางไซส์มาตรฐานดีที่สุด เปลี่ยนขนาดยางก็ควรเปลี่ยนล้อด้วย แต่ถ้าขี่เล่นชิวๆยางผิดขนาดไปเบอร์หนึ่งก็ไม่เป็นไร อย่างที่ทำกันมากคือยางหลัง 180/55-17 ล้อ 5.5" แต่มักจะใส่ยาง 190/50-17 ที่ทำไว้ใช้กับล้อ 6" ผิดขนาดเล็กน้อยแต่ก็เห็นผลพอควร ถ้าจับอาการได้จะรู้สึกเลยว่ายาง 190/50 วิ่งทางตรงนิ่งดี และให้ความมั่นใจในโค้งได้ดีกว่า เข้าโค้งแล้วมิดหน้ายางพอดีแต่ยาง 180/55 ใส่โค้งเต็มๆแล้วมีล้นขอบให้หวาดเสียวอยู่เรื่อย
แต่ถ้าจะให้แน่ใจ ลองเช็คกับเว็บไซท์ผู้ผลิตยาง เพราะยางบางแบบออกแบบมาให้ใช้กับขอบล้อต่างความกว้างกัน อย่างเช่นยาง 190/50-17 บางรุ่นออกแบบมาให้ใช้กับล้อ 5.5" ก็มี

ในรูปนี้คือความโค้งที่ต่างกันของยาง 190/50 กับ 180/55 บนขอบ 5.5" เหมือนกัน จะเห็นว่าเส้นสีน้ำเงินที่แสดงถึงยาง 190/50 ถูกถ่างออกจนหน้ายางส่วนที่จะสัมผัสพื้นกางและโค้งน้อยกว่า 180/55 ที่เป็นเส้นสีเขียว ทำให้ 190 มีหน้าสัมผัสพื้นถนนบนทางตรงมากกว่าทำให้กินกำลังและหนืดกว่า
พอเริ่มเอียงรถ ความโค้งของเส้นเขียวมากกว่าจะทำให้เลี้ยวได้คล่องและเปลี่ยนทิศทงาเร็วกว่า 190 ที่เห็นจากเส้นน้ำเงินของ 190 ที่ความโค้งค่อยๆเปลี่ยนทำให้การเริ่มเข้าโค้งจะเฉื่อยกว่า
แต่เมื่อเอียงรถลงมาถึงระดับหนึ่งจะเห็นเส้นโค้งหน้ายางช่วงต่อมาที่ทำไว้รับการเข้าโค้งใกล้เคียงกัน ที่เห็นเส้นเขียวของ 180 กับเส้นน้ำเงิน 190 ซ้อนทับกัน จากช่วงนั้นการเข้าโค้งจะได้ฟีลเดียวกัน
แต่เมื่อเลยมาจนสุดจะเห็นเส้นเขียวของ 180 หมดก่อนแต่เส้นน้ำเงินของยาง 190 ยังมีต่อ นั่นคือ 190/50 มีส่วนของหน้ายางมากกว่า รองรับการเอียงรถได้มากกว่า






Create Date : 09 ตุลาคม 2550
Last Update : 21 สิงหาคม 2553 9:41:02 น. 0 comments
Counter : 2239 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

so long phr
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




As far as it me lies


"พรุ่งนี้..ย่อมดีกว่าวันนี้"



Emo Comments For Your Blog

More Cute Pictures Comments....

Friends' blogs
[Add so long phr's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.