Group Blog
 
All Blogs
 
Beer Chang

เปิด"เบื้องหลัง"ราชันย์น้ำเมา เจริญ สิริวัฒนภักดี ผู้เสียภาษี ปีละ 60,000 ล้านบาท

สําหรับนักธุรกิจที่รวยมากที่สุดคนหนึ่งของเมืองไทยอย่าง เจริญ สิริวัฒนภักดี ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ที. ซี. ซี. กรุ๊ป ยักษ์ใหญ่ตัวจริงและหนึ่งเดียวในธุรกิจน้ำเมาของเมืองไทย อาจกล่าวได้ว่า เขาปรากฏตัวเป็นข่าวน้อยครั้งมากที่สุด

ยกเว้นวาระสำคัญที่ต้องขึ้นเวที ออกงานเซ็นสัญญา-แถลงข่าว เพียงไม่กี่ครั้ง สื่อมวลชนทั้งไทยและต่างประเทศอาจเพิ่งได้สัมผัสกับเขาจริงๆ ก็เมื่อคราวที่เปิดตัวเข้าซื้อกิจการของบริษัท เบอร์ลี่ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท อุตสาหกรรมทำเครื่องแก้วไทย

กับงานใหญ่บนเวทีสัมมนาระดับชาติที่จัดโดยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยเมื่อปี 2546 ที่ผ่านมา

นั่นทำให้ การเปิดตัวอย่างเป็นทางการของ "ราชันย์น้ำเมา" ที่หัวหิน ในงานสัมมนา "Top Executives Networking Forum 2004 : A Road to Borderless Cooporation" จัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 12-13 มิถุนายน 2547 ที่ผ่านมา จึงถือเป็นบิ้กเซอร์ไพรส์ที่ดึงดูดความสนใจได้มากอย่างเหลือเชื่อ

นอกจากจะขึ้นเวทีอภิปรายแล้ว "เจ้าสัวเจริญ" ยังเปิดแถลงข่าวกับสื่อมวลชนอย่างละเอียดเป็นครั้งแรก

ในงานเดียวกันนี้ เจ้าสัวเจริญ ยอมเปิดเผยเคล็ดลับในการลงทุนเป็นครั้งแรกโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งในอีกด้านหนึ่ง เขาก็คือ ราชาที่ดินตัวจริงเสียงจริงของเมืองไทยนั่นเอง

"ก่อนหน้านี้ผมก็ได้เข้าไปลงทุนในเซ็กเตอร์การเงิน แต่พอเกิดวิกฤตเศรษฐกิจภาคการเงินเสียหาย แบงก์จึงถูกปิดไป เวลานั้นมีคนเอาที่ดินมาขายผม ให้ผมช่วยซื้อ ซื้อไปซื้อมามีจำนวนมากขึ้น บังเอิญที่ดินราคาปรับตัวดีขึ้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องรวบรวมเซ็กเตอร์ที่ดินเอาไปเป็นหลักทรัพย์กู้เงินแบงก์ เพื่อที่จะเอามาทำธุรกิจสุรา

...เรื่องการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ในเมืองไทย ถ้าเปรียบเทียบกับประเทศสิงคโปร์และมาเลเซีย ยังห่างไกลจากคำว่าฟองสบู่อีกมาก การลงทุนในที่ดินยังมีโอกาสที่ราคาที่ดินจะขยับขึ้นไปได้อีกมาก"

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่สร้างความฮือฮาและมีความชัดเจนมากที่สุดก็คือ ทิศทางยุคใหม่ในธุรกิจสุราและเครื่องดื่มทั้งหมดในอาณาจักรของเจริญ ที่กำลังจะก้าวผ่านยุคบุกเบิก ยุคผูกขาดสัมปทานไปสู่มิติใหม่ของการค้าเสรี การแข่งขันทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ

รวมถึงการผนึกเอาธุรกิจทั้งเครือเพื่อเตรียมตัวเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ อีกด้วย



การเปิดตัวให้สัมภาษณ์ในครั้งนั้น เจริญเล่าถึงรายละเอียดของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างกิจการทั้งหมด ซึ่งที่ผ่านมามีการถือหุ้นไขว้กันมากมาย

"เจริญ" บอกว่าเขาได้จัดรวบรวมบริษัทที่กระจัดกระจายกว่า 900 แห่งทั่วประเทศมาจัดหมวดหมู่ให้เกิดความชัดเจน ทั้งนี้ เพื่อความโปร่งใสตามหลักบรรษัทภิบาล ก่อนที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

แนวคิดและทิศทางดังกล่าวเริ่มชัดเจนมาตั้งแต่ยุคที่รัฐบาลไทยมีนโยบายเปิดเสรีการบริหารสุรา ตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมา ถือได้ว่าเป็นการสิ้นสุดยุคสัมปทานเหล้า เมื่อรัฐบาลนำโรงงานผลิตสุรา 12 โรงงานออกมาประมูลขาย และยักษ์ใหญ่อย่าง "เจริญ" เข้าใจดีว่าจะอย่างไรเสียก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลง

รวมถึงต้องเตรียมความพร้อมสำหรับกลุ่มบริษัทเหล้าและเบียร์ทั้ง 47 บริษัทที่ทำรายได้ปีละไม่ต่ำกว่า 1.1 แสนล้านบาท

นายเจริญให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางในการรวมกลุ่มบริษัทในเครือเพื่อจัดตั้งเป็น บริษัท ไทยเบเวอเรจ ว่าปัจจัยหนึ่งเป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลง และปัจจัยหนึ่งมาจากการแข่งขันทั้งในระดับประเทศและนานาชาตินั่นเอง

"จากกระแสของการเปิดเสรีทางด้านการค้าและบริการ ทั้งในรูปแบบของเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) และการทำ FTA กับอีกหลายประเทศ ต่อไปนี้จะมีต่างชาติมาแข่งกับเรา เห็นแล้วชักหนาว ซึ่งขณะนี้ได้มีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาตั้งฐานการผลิตสุราหรือมีการนำเข้าสุราจากต่างประเทศมาจำหน่ายในประเทศได้อย่างเสรี ทำให้ผู้ผลิตสุราจะต้องมีการปรับตัวเพื่อรองรับการการแข่งขัน ดังนั้น เป้าหมายของการเข้าระดมทุนในครั้งนี้ ก็เพื่อที่จะนำเงินทุนไปใช้ในการขยายกำลังการผลิตเหล้าและเบียร์

และเงินอีกส่วนหนึ่งจะนำไปลดภาระหนี้สินของบริษัทที่มีอยู่ประมาณ 50,000 ล้านบาท"

ความจริงนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เจ้าสัวเจริญ พาตัวเองเข้าไปเกี่ยวข้องกับกลุ่มบริษัทที่จดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชน ก่อนหน้านี้ เขาไล่ล่าความฝันด้วยการได้ครอบครองกิจการธนาคาร อย่างธนาคารมหานคร แต่ก็ต้องประสบปัญหาเมื่อประเทศเข้าสู่วิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 เช่นเดียวกับกลุ่มธุรกิจโรงแรมก็เผชิญปัญหา

"ที่ผ่านมาผมซื้อกิจการขนาดใหญ่ๆ มาแล้วหลาย SECTOR เริ่มจากการซื้อกิจการธนาคาร ขณะนี้เรียบร้อยไปแล้ว ต่อมาเข้ามาซื้อโรงแรมอิมพีเรียลควีนส์ปาร์ค หมายมั่นว่าจะเอาเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่หลายปีผ่านมาไม่เคยมีเงินปันผลเลย... เหลือแต่กิจการเหล้าเท่านั้นจึงได้ทำการรวบรวมมาจัดตั้งเป็นบริษัท ไทยเบเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ขึ้นมาเป็นความหวังที่จะเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ขณะนี้ทางบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินกำลังดำเนินการจัดทำ DUE DELIGENT อยู่"

แน่นอนว่านั่นจะต้องเป็นความเคลื่อนไหวที่ทุกๆ ฝ่ายจับตาเกาะติดกันอย่างใกล้ชิด และเจริญ ก็เชื่อว่านี่จะเป็นก้าวใหม่และก้าวใหญ่สำหรับอาณาจักรน้ำเมาของเขา

หลังจากที่ก่อนหน้านี้ในช่วงปลายปี 2542 ซึ่งเป็นช่วงที่ตลาดเงินและตลาดทุนมีปัญหา ทางออกในครั้งนั้นนายเจริญต้องหันไปพึ่งตลาดตราสารหนี้แทน โดยที่ปรึกษาทางการเงินแนะนำให้นำสต๊อกสุราจำนวนมาก มาเป็นสินทรัพย์ในการหนุนหลังในการออกตราสารทางการเงินรูปแบบใหม่ระดมทุนไปซื้อกิจการโรงหล้าได้สำเร็จ

วันนี้แม้จะผ่านอุปสรรคในหลายๆ ช่วงมาได้ แต่การเตรียมตัวเพื่อขยายกิจการ เพื่อรองรับการแข่งขัน และเปิดตัวออกสู่ตลาดระดับนานาชาติ จำเป็นต้องใช้เม็ดเงินจำนวนไม่น้อย และตลาดทุน จึงเป็นคำตอบที่ชัดเจน พร้อมกับการจัดระเบียบกิจการ สร้างความชัดเจน โปร่งใสในอนาคตอีกด้วย

สำหรับการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ของเบียร์ช้างในครั้งนี้มีบริษัทหลักทรัพย์เมอร์ริล ลินช์ ภัทร จำกัด, บริษัท ดอยช์แบงก์ และบริษัท เจพี มอร์แกน เป็นที่ปรึกษาทางการเงินในการทำ DUE DELIGENT รวบรวมกิจการ 47 บริษัทที่มีที่ทำการสาขากว่า 900 แห่งทั่วประเทศ

"ผมเองคิดว่าสิ่งที่จะต้องคำนึงถึงคือสัญลักษณ์ของประเทศจึงใช้คำว่า "ช้าง" ตรงตัวเป็นรหัสที่ใช้จดทะเบียนในครั้งนี้ไม่ต้องไปใช้คำว่า "ELEPHANT" แต่ธุรกิจเครื่องดื่มที่เกี่ยวข้องของเครือของเราไม่ได้มีเฉพาะเบียร์ช้าง กลุ่มของเรามีประวัติศาสตร์ยาวนานเป็นโรงงานผลิตสุราเก่าแก่ที่ไปประมูลมาจากรัฐบาลผลิตสุรายี่ห้อ แม่โขงแสงโสม โรงงานผลิตแอลกอฮอล์ และกิจการต่อเนื่องอื่นๆ ที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศประมาณ 47 บริษัท"

"บริษัทในเครือทั้งหมดเป็นแหล่งผลิตที่สำคัญของประเทศ ก่อให้เกิดการจ้างงานเสียภาษีเป็นรายได้ให้กับรัฐบาลปีละ 60,000 ล้านบาท"

กลุ่มบริษัทในเครือข่ายของบริษัท ไทยเบฟเวอร์เรจ จำกัด จำนวน 47 บริษัทจะประกอบไปด้วยกลุ่มต่างๆ ที่รองรับการผลิตและจำหน่ายสุรา-เบียร์-เครื่องดื่มประเภทต่างๆ ได้อย่างครบวงจร โดยมีบริษัท ไทยเบฟเวอร์เรจ อินเตอร์เนชั่นแนล ที่จดทะเบียนในประเทศฮ่องกง ทำหน้าที่เป็นตัวแทนจำหน่ายเหล้าและเบียร์ของกลุ่มไทยเบฟเวอร์เรจในต่างประเทศ

พร้อมกันนี้เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการแข่งขันในตลาดระดับโลก ประเด็นที่นายเจริญกำลังดำเนินการอยู่ก็คือ ขอจัดตั้งเขตปลอดอากรกับทางกรมศุลกากรนั้น

เนื่องมาจากเมื่อหลายปีที่ผ่านมาทางบริษัทได้ไปซื้อโรงเหล้าของบริษัท อินเตอร์เฮ้าส์ ดิสทิลเลอร์ส ผู้ผลิตและจำหน่ายสุราในสกอตแลนด์และยุโรป เพื่อที่จะนำเข้าหัวเชื้อมอลล์ มาผลิตสุราต่างประเทศจำหน่ายในประเทศไทย แต่กลับต้องเสียภาษีนำเข้า 60%

ในขณะที่ถ้าขนไปโรงงานผลิตที่ประเทศฟิลิปปินส์จะเสียภาษีนำเข้าเพียง 5% ตามสิทธิประโยชน์ทางภาษีตามข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน

นี่จึงเป็นประเด็นสำคัญอีกจุดหนึ่งที่นายเจริญ ให้รายละเอียดอย่างชัดเจนพร้อมกับข้อเสนอแนะไปถึงรัฐบาลว่า

"ในเมื่อกฎหมายมีช่องว่างให้ดำเนินการได้เช่นนี้ ทำไมไม่เปิดเขตปลอดอากรในประเทศไทยไปเลย ไม่ต้องเลี่ยงไปเลี่ยงมา ประเทศไทยมีพร้อมทำไมต้องไปลงทุนต่างประเทศ"

ทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นจังหวะก้าวภายใต้มิติใหม่ที่น่าจับตาของ เจริญ สิริวัฒนภักดี ราชันย์น้ำเมา หมายเลข 1 ของเมืองไทย ซึ่งวันนี้ก้าวออกมาเดินหน้าและพร้อมที่จะกระโดดขึ้นไปแข่งขันในระดับอินเตอร์แล้ว



Create Date : 17 กุมภาพันธ์ 2548
Last Update : 17 กุมภาพันธ์ 2548 22:51:54 น. 0 comments
Counter : 394 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

bb8
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add bb8's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.