ติดตาม twitter ได้ที่ @karnoi กด
ติดตามข้อมูลเว็บทาง FaceBook กด

"การบินไทย" ต้องยกเครื่อง !

ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - การประชุมคณะรักษาความสงบ (คสช.) ชุดใหญ่ เมื่อวันอังคาร (10 มิ.ย.) ที่ผ่านมา เปรียบได้กับการประชุม ครม.ครั้งแรกของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

       เรื่องสำคัญที่มีการหารือกันในวันนั้น นอกจากเรื่องการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณปี 57และการเตรียมจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 58 แล้วก็มีเรื่องสำคัญที่สื่อหยิบมาเป็นข่าวพาดหัวตัวโต คือ มติของที่ประชุมให้ยกเลิกสวัสดิการตั๋วเครื่องบินฟรีให้กับคณะกรรมการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) นำร่องเป็นหน่วยงานแรก ในการประหยัดงบประมาณแผ่นดิน และช่วยบริษัท การบินไทย ที่กำลังขาดทุนอยู่ในตอนนี้ด้วย

       นับเป็นสัญญาณถึงแนวทางการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ ในเรื่องสวัสดิการ และสิทธิประโยชน์ของรัฐวิสวิสาหกิจอื่นๆ ที่จะตามมา

       เป็นที่รับรู้กันว่า บอร์ดรัฐวิสาหกิจนั้นส่วนใหญ่ผู้ได้ที่เข้ามานั่ง จะเป็นเครือข่ายนักการเมือง นักธุรกิจใหญ่ ข้าราชการระดับสูง ทั้งที่ยังอยู่ในระบบราชการ และเกษียณไปแล้ว เข้ามาในลักษณะการปูนบำเหน็จ ต่างตอบแทน ยิ่งรัฐวิสาหกิจใหญ่ๆแล้ว คนที่ได้มานั่งต้อง "เส้นใหญ่" จริงๆ บางที่บางแห่งถึงกับเพิ่มจำนวนบอร์ดเพื่อรองรับคนเหล่านี้ 

เรื่องสวัสดิการ สิทธิประโยชน์ผลตอบแทน เข้าขั้น "เทวดา" แต่ที่น่าอนาถใจมากกว่านั้นคือ การทุจริต คอร์รัปชัน หาผลประโยชน์ ที่ไม่ใช่เล็กๆ น้อยๆ ของรัฐวิสาหกิจนั้นๆ เกิดขึ้นที่ "บอร์ด" เป็นส่วนใหญ่

       บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคมนาคม และเป็นบริษัทมหาชน จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 โดยมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เกินกว่าร้อยละ 50 ผลประกอบการลุ่มลุ่ม ดอนดอน มาตลอด

       งบดุล และงบกำไรขาดทุนของการบินไทย ประจำปี 2556 ณ วันที่ 31 ธ.ค.56 มีสินทรัพย์รวม 307,085 ล้านบาท มีหนี้สินรวม 250,166 ล้านบาท มีรายได้รวม 211,605 ล้านบาท ส่งผลให้การบินไทย มีผลการดำเนินงานขาดทุน 12,000 ล้านบาท โดยขาดทุนสุทธิ

       ตามราคาหุ้นที่ 5.52 บาทต่อหุ้น การบินไทยจึงงดจ่ายเงินปันผลปี 2556 ให้กับผู้ถือหุ้น

ผลการดำเนินงานล่าสุด ไตรมาส 1 (ม.ค.-มี.ค.57) การบินไทยและบริษัท ย่อยขาดทุนสุทธิอีก 2,619 ล้านบาท

       การบินไทย ได้แบ่งโครงสร้างการกำกับดูแลการดำเนินงานเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย 1. คณะกรรมการบริษัทฯ 2. ฝ่ายบริหารบริษัทฯ

       โดยฝ่ายคณะกรรมการบริษัทฯ (บอร์ด) มี 15 คน ปัจจุบัน พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผบ.ทอ. และรองประธาน คสช. เป็นประธาน บอร์ด มีหน้าที่พิจารณาและให้ความเห็นชอบในเรื่องสำคัญที่มีผลต่อการดำเนินธุรกิจ มีบทบาทในการกำกับดูแลฝ่ายบริหาร ให้ปฏิบัติตามนโยบายและแผนงานของบริษัทฯ โดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการย่อยชุดต่างๆ เพื่อช่วยศึกษารายละเอียดและกลั่นกรองงานเฉพาะเรื่อง และเพื่อให้เป็นไปตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี

       ประกอบด้วย 1. คณะกรรมการตรวจสอบ 2. กรรมการอิสระ 3. คณะกรรมการธรรมาภิบาล 4. คณะกรรมการสรรหา กำหนดค่าตอบแทน และพัฒนาบุคลากร 5. คณะกรรมการส่งเสริมกิจการเพื่อสังคม 6. คณะกรรมการประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ 7. คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง 8. คณะกรรมการบริหาร 9. คณะกรรมการด้านกฎหมาย

       ส่วนฝ่ายบริหารบริษัทฯ มีการแบ่งโครงสร้างการบริหารจัดการ ออกเป็น 2 ส่วน ตามลักษณะงานและบทบาทหน้าที่ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการปฏิบัติงาน โดยมีสายการรายงานตรงไปยังกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ได้แก่ 1. ธุรกิจการบิน 2.กลุ่มธุรกิจสนับสนุนการบิน

       คราวนี้ลองมาดูกันว่าบอร์ดการบินไทยมีสวัสดิการและสิทธิประโยชน์อะไรบ้าง ดังนี้

       ได้รับบัตรโดยสารที่นั่งในชั้นธุรกิจ เส้นทางต่างประเทศ 10 ใบต่อปี เส้นทางในประเทศ 10 ใบต่อปี บุคคลในครอบครัว ได้รับสิทธิประโยชน์นี้เช่นเดียวกับกรรมการบอร์ด ส่วนบุคคลที่เกี่ยวข้อง (ผู้ติดตาม)ได้รับสิทธิประโยชน์ บัตรโดยสาร เช่นเดียวกับกรรมการ

       ค่าตอบแทนกรรมการบอร์ด คนละ 20,000 บาทต่อเดือน เป็นประจำทุกเดือน เบี้ยประชุมคนละ 30,000 บาทต่อเดือน เป็นประจำทุกเดือน (ประธานกรรมการได้รับเบี้ยประชุมสูงกว่ากรรมการร้อยละ 25 และรองประธานกรรมการได้รับเบี้ยประชุมสูงกว่ากรรมการร้อยละ 12.5)

       คณะกรรมการตรวจสอบ ให้ได้รับค่าตอบแทนเป็นรายเดือน คนละ 30,000 บาท เดือนใดไม่มีการประชุมคงให้ได้รับค่าตอบแทนด้วย และคณะกรรมการบริษัทฯ ยังได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการย่อยอื่นๆได้อีก และจะได้รับเบี้ยประชุม และค่าตอบแทนอีกคนละ 10,000 บาท

       บุคคลภายนอกที่ได้รับเชิญมาเป็นที่ปรึกษาประธานกรรมการบริษัทฯได้รับค่าตอบแทนคนละ 20,000 บาทต่อเดือน เป็นประจำทุกเดือน และได้รับเบี้ยประชุมคนละ 30,000 บาทต่อครั้ง

       บุคคลภายนอกที่ได้รับเชิญมาเป็นกรรมการ อนุกรรมการ หรือคณะทำงานต่างๆ ให้ได้รับเบี้ยประชุมเป็น PER SITTING ครั้งละ 10,000 บาทแต่ไม่เกินครั้งละ 30,000 บาท

       หากคณะกรรมการ หรือคณะทำงานดังกล่าวได้แต่งตั้งบุคคลภายนอกเป็นกรรมการชุดย่อย คณะทำงานชุดย่อยต่างๆ ให้ได้รับเบี้ยประชุมเป็น PER SITTING ในอัตราร้อยละ 50 ของคณะกรรมการ คือครั้งละ 5,000 บาท แต่ไม่เกินเดือนละ 15,000 บาท

       เงินค่ารับรอง ของประธานฯ 50,000 บาท ต่อเดือน เงินค่ารับรองของรองประธานฯ 40,000 บาทต่อเดือน เงินค่ารับรอง ของกรรมการฯ 30,000 บาทต่อเดือน หากไปปฏิบัติหน้าที่ของบริษัทฯ จะได้รับเบี้ยเลี้ยงต่างหาก

อีกเรื่องที่มีการพูดถึงกันมากในเรื่องการหาผลประโยชน์ของกรรมการบอร์ด คือ ไม่ว่ายุคไหนไหน ใครมาเป็นประธานบอร์ด จะต้องมีการจัดซื้อเครื่องบินโดยสารใหม่ เพื่อหวังกินค่าคอมมิชชั่น ด้วยมุกการเปิดเส้นทางบินใหม่ ใกล้บ้าง ไกลบ้าง บางคนอยู่ในตำแหน่งนานหลายปี รวมแล้วจัดซื้อไปหลายสิบลำ แต่ละเส้นทางบินที่เปิดใหม่ ก็ขาดทุนตลอด เครื่องบินเก่าก็ขายไม่ได้ ต้องจอดทิ้งไว้ เสียค่าจอดอีกต่างหาก ทำให้บริษัทมีรายจ่ายเพิ่ม ผูกพันระยะยาว ขาดทุนซ้ำซาก

       การยกเลิกสวัสดิการ ตั๋วบินฟรีแก่กรรมการบอร์ด เมื่อคิดเป็นจำนวนเงินแม้จะดูเล็กน้อย หากเทียบกับผลการขาดทุนในภาพรวมของการบินไทย แต่ก็ถือเป็นก้าวแรกในการปรับปรุง เพื่อหาแนวทางลดต้นทุน และอาจนำไปสู่การยกเครื่องครั้งใหญ่

       ขณะเดียวกันก็เป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดี ในด้านการบริหารจัดการองค์กร เป็นการนำร่อง สำหรับการปรับปรุงรัฐวิสาหกิจอื่นๆ

       เพราะหากรัฐวิสาหกิจขาดทุน ก็เหมือนรัฐบาลขาดทุน เนื่องจากกระทรวงการคลังถือหุ้นเกินกว่าครึ่ง สุดท้ายก็หนีไม่พ้นต้องเอาภาษีจากประชาชนไปโปะ

ในทางกลับกัน รัฐวิสาหกิจบางแห่ง ที่ทำกำไรปีละเป็นแสนล้าน จากการผูกขาด ขูดรีดประชาชน แต่ผลประโยชน์ ตกไปอยู่กับคนเพียงไม่กี่กลุ่ม ที่เป็นผู้ถือหุ้นรายยักษ์ ก็ถึงเวลาต้องสังคายนาครั้งใหญ่ด้วยเช่นกัน 

ขอบคุณ ผู้จัดการออนไลน์




Create Date : 16 มิถุนายน 2557
Last Update : 16 มิถุนายน 2557 7:39:54 น. 0 comments
Counter : 1079 Pageviews.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

sitcomthai
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 53 คน [?]










ติดตามข้อมูลของเว็บทาง twitter ได้ที่ @karnoi กด
ติดตามข้อมูลเว็บทาง FaceBook กด







Online Users


New Comments
[Add sitcomthai's blog to your web]