NO TIME TO UPDATE....
Group Blog
 
All Blogs
 
A380: หรือจะเป็นก้าวที่ผิดพลาดของ Airbus.....

A380: หรือจะเป็นก้าวที่ผิดพลาดของ Airbus.....

อย่าเพิ่งตกใจนะครับ เป็นแค่ข้อสังเกตของผมแค่นั้นเอง เพราะช่วงหลัง ๆ ผมให้ความสนใจกับอุตสาหกรรมผู้ผลิตเครื่องบินมากเป็นพิเศษ เนื่องจากค้นคว้าเพื่อนำไปใช้ในการเรียนหนังสือด้วย ข้อมูลเลยยังเยอะอยู่ เลยอยากจะขอมาแชร์ให้เพื่อน ๆ ฟังกันบ้างนะครับ

_________________________________________________________________________________________

ที่ยกประเด็นนี้ขึ้นมา ก็เพราะเห็นว่า Order ของ A380 นิ่งมากจนน่าตกใจครับ จนถึงตอนนี้ยังอยู่ที่ 149 ลำ และถ้าไปติดตามเวบของ Airbus ที่มักจะออกแถลงข่าวการ Order อยู่เรื่อย ๆ จะเห็นเลยว่า Order ของ A380 ไม่ขยับเลย ในขณะที่ของ Family อื่น ๆ ยังมีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะ A320 Family ตั้งแต่ 318-321 ที่ดูเหมือนจะถูกใจ Low Cost Airline มากเป็นพิเศษ ตอนนี้รอส่งเครื่องรวมเป็นพันลำครับ เรียกว่าปั๊มกันแหลก สำหรับเครื่องตระกูลน้องเล็ก Single Aisle นี้

แต่สำหรับ A380 นั้น Airbus ตั้งใจผลิตเครื่อง Super Jumbo แบบ +550 ที่นั่งนี้ขึ้นมา เพราะเชื่อในผลสำรวจของตนเองว่า ในวันหน้า การจราจรทางอากาศจะหนาแน่นมากขึ้น เพราะจะมี Demand ที่เพิ่มมากขึ้นจากองค์ประกอบทางสังคมต่าง ๆ ที่เปลี่ยนไป แต่ Airbus เองทึกทักความน่าจะเป็นนี้บนพื้นฐานรูปแบบของการบินแบบเดิม ๆ มากเกินไป ก็คือ Airbus คิดว่า ในอนาคตเส้นทางบินหลัก ๆ จะเป็นเส้นทางบินเดิม ๆ แต่จะอ้วนขึ้นเรื่อย ๆ เลยทำเครื่องบินที่มีขนาดใหญ่ขึ้นออกมา เพื่อจะได้รักษาจำนวนไฟลท์ไม่ให้มากไปกว่านี้ และไม่ให้สนามบินแน่นไปกว่านี้ นั่นคือ Airbus เชื่อว่าสายการบินจะทำการ Maximize Revenue จากหนึ่งโควต้าของไฟลท์นั้น ๆ ให้มากที่สุด เครื่องบินใหญ่ ๆ จึงเป็นคำตอบสำหรับอนาคตอย่างแท้จริง

และถ้าดูแล้ว ก็จะตอบโจทย์อยู่พอสมควร ถ้ามองไปถึงลูกค้าของ A380 ที่หลัก ๆ คือ Singapore, Emirates, Thai, Virgin, Qantas (ไม่นับ Air France และ Lufthansa ที่น่าจะจำใจซื้อมากกว่า เพราะรัฐบาลประเทศตัวเองลงทุนไปเยอะผ่าน EADs :ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ Airbus) สายการบินเหล่านี้ที่สั่ง A380 ฉุกให้ผมคิดอย่างหนึ่งครับ คือพวกนี้เป็น Carrier หลักของเส้นทางบินที่เรียกได้ว่าขนคนมากที่สุดเส้นทางหนึ่งของโลกคือ Kangaroo Route หรือรูทจากยุโรป (ส่วนมากอังกฤษ) เข้าออสเตรเลียนั่นเอง การบินไทยเองก็เป็น Carrier หลักของเส้นทางนี้มาตลอด เพราะมีฐานการบินอยู่ที่จุดพักพอดี เช่นเดียวกับสิงคโปร์ หรือ มาเลเซีย แต่เราดูจะได้เปรียบกว่านิด ๆ เนื่องจากเหตุผลทางภูมิศาสตร์ ลองสังเกตสิครับ ว่าการบินไทยไฟลท์ดึกไปลอนดอนเนี่ย ส่วนมากขนคนเปลี่ยนเครื่องมาจากออสเตรเลียเยอะมาก ๆ ไม่รวมถึง ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย บรูไน อีก เพราะจากประเทศเหล่านี้บินตรงไปยุโรปไม่ไหวอยู่แล้ว

Emirates เองก็เห็นคุณค่าของเส้นทางนี้เช่นกันครับ จึงมีไฟลท์จาก Dubai มา Bangkok ต่อไป Sydney เกิดขึ้น นั่นหมายความว่าต่อไปนี้ Emirates จะเข้าร่วมสมรภูมิของเส้นทางนี้เต็มตัว แต่อาจจะเสียเปรียบ BA, SQ, TG, Qantas เนื่องจากต้องแวะถึงสองครั้ง ในขณะที่คู่แข่งอื่น ๆ แวะแค่ครั้งเดียว แต่ด้วยราคาที่ยั่วยวน เครื่องที่ใหม่เอี่ยม และบริการที่ยอดเยี่ยม เจ้าของเส้นทางทั้งหลายก็หนาว ๆ ล่ะครับ นั่นคือ A380 เป็นคำตอบที่เหมาะสมของเส้นทางนี้ครับ เพราะเส้นทางนี้ผู้โดยสารเยอะจริง ๆ แต่จำนวนไฟลท์เพิ่มได้ยาก ก็เพิ่มขนาดเครื่องบินเอานี่แหละ รวมไปถึง Virgin ซึ่งก็บินเข้าออสเตรเลียจากอังกฤษเหมือนกัน แต่ดิ้นรนสุดชีวิตก็ไม่สามารถแวะกรุงเทพหรือสิงคโปร์แล้วต่อไปออสเตรเลียได้ ต้องผ่านฮ่องกงแทน ซึ่งจะอ้อมกว่ามากพอสมควร แต่ก็ทดแทนไปด้วย Entertainment แบบครบครัน สมรูปแบบ Fly With Fun กันไป

เอาล่ะ มาเข้าเรื่องกันต่อ ทีนี้แล้วเส้นทางอื่น ๆ ล่ะ จะเป็นแบบที่ Airbus ทำนายไว้จริงหรือ ถ้าเปิดใจมองสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ต้องยอมรับว่า ไม่ซะทีเดียว ทุกวันนี้ไฟลท์โดยเฉพาะ Transpacific และ Transatlantic นับวันจะเล็กลงเรื่อย ๆ เราถึงเห็น B767 ER, 777, A330-340 บินกันให้ว่อนไปหมด ในขณะที่ 747 จะเริ่มน้อยลงเรื่อย ๆ แม้แต่จากญี่ปุ่นมากรุงเทพก็ตาม เดี๋ยวนี้ ANA เลิกเอา 747 มาแล้ว เอา 767 มาแทน การบินไทยก็ไม่บินด้วย 747 แล้ว บินด้วย 777 แทน แต่ไปเพิ่มไฟลท์เข้า Fukuoka , Nagoya แบบบินตรงด้วย 330 หรือ AB6 มากขึ้น ซึ่งสมัยก่อนจะต้องขนคนขึ้น 747 ไปเปลี่ยนเครื่องที่ Tokyo กันก่อน จะต่อไปไหนก็ค่อยว่ากัน แต่เดี๋ยวนี้ไม่ต้องแล้ว บินตรงกันไปเลย ใช้เครื่องเล็กลงแทน

นั่นหมายความว่าจริง ๆ แล้วเส้นทางการบินหลายเส้นในโลกไม่ได้ขยายตัวขึ้นในเชิงสถิติเลย ออกจะน้อยลงด้วยซ้ำ ในขณะที่สิ่งที่เพิ่มขึ้นคือจำนวน Destinations ต่างหาก คือเส้นทางบินตรงมีมากขึ้น และไม่ได้ถูกกำหนดว่าจะต้องไปเปลี่ยนเครื่องที่ Hub เหมือนเมื่อก่อนอีกแล้ว เราถึงเห็นเครื่องบินตรงจาก เชียงใหม่ไปไทเป โซลไปภูเก็ต สิงคโปร์มาสมุย ดูไบไปเบอร์มิงแฮม ฮอกไกโดไปบาหลี อะไรพวกนี้มากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ Boeing คาดเดามาหลายปีแล้ว Boeing ถึงออก B787 ออกมาตอบสนองเส้นทางบินแบบนี้โดยเฉพาะ B787 จะเป็นตัวแทนที่สมบูรณ์แบบยิ่งของ B767 และ A300 ในกลุ่ม 200-250 ที่นั่ง ซึ่งตลาดมีความต้องการมากขึ้นเรื่อย ๆ จากการที่ A300 และ B767 เริ่มที่จะเก่าเกินแกงกันแล้ว แถม Airbus ดันทิ้งช่องว่างตรงนี้ไว้อีกต่างหาก

และที่สำคัญ ใช่ว่า A380 จะเข้ามาแทนที่ 747-400 ได้อย่างเต็มตัว เพราะด้วยความที่หลาย ๆ สายการบินยังเห็นว่า 747-400 เป็นทางเลือกที่ดีในเส้นทาง Long Haul ต่อไปได้อีกร่วมสิบปี คือมันไม่ได้ห่วยขนาดนั้น การบินไทยเองสั่ง A380 แล้วก็จริง แต่กว่าจะได้บินแบบสร้างเนื้อ ๆ หนัง ๆ ก็คงว่ากันที่อีก 5-6 ปีขึ้น 747-400 ของการบินไทยก็ถูกปรับปรุงให้ดีขึ้นรอไว้แล้ว (แต่ก็ไม่มี PTV ในชั้น y อยู่ดี) ส่วน Emirates ที่สั่ง 40 ลำนั่นอีกเรื่อง เพราะเค้าหากินกับเส้นทางแบบขนคนไปนู่นไปนี่ผ่านดูไบภายใต้กฎ 6th Freedom เป็นหลัก (แถมรวยด้วย) แต่การบินไทยยังมีเส้นทางหลายเส้นทางที่ยังไม่มีความจำเป็นต้องใช้ A380 เยอะขนาดนั้น สายการบินอีกหลายสายเองก็คงยังไม่แน่ใจว่าตัวเองจะต้องการเครื่องบินใหญ่ขนาดนี้จริงหรือ แม้แต่ British Airways ประเทศเจ้าของ BAEs ที่เป็นผู้ถือหุ้นรองของ Airbus ยังไม่สั่ง A380 สักลำเลย ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเพราะไม่เห็นความจำเป็นจริง ๆ หรือเพราะว่ายังไงชีวิตนี้ก็จะไม่สั่ง Airbus เด็ดขาด (ทุกวันนี้ Airbus ของ BA มาจากการ Takeover สายการบินอื่นมาเท่านั้น ไม่เคยสั่งเอง) Cathay Pacific ที่ว่าแน่ ๆ ก็ไม่สั่ง A380 แถมมีแนวโน้มจะไปใช้พวก 777 กับ 330/340 แทน 747 มากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วย

น่าคิดมาก ๆ ครับ ว่าอนาคตของ A380 จะเป็นอย่างไร ยิ่งในยุคน้ำมันแพงรากเลือดแบบนี้ ถ้า Demand ของสายการบินไม่เป็นไปตามที่ Airbus คาดการณ์ไว้ล่ะก็ เหนื่อยแน่นอนครับ และ Boeing ก็จะกลับมาหัวเราะอีกครั้ง กับความสำเร็จของ 787 ซึ่งถ้าศึกษาลงไปดู จะมองเห็น Vision ที่แตกต่างกันของทั้งสองบริษัทนี้เป็นพิเศษ คือ Airbus ผลิตเครื่องบินตามความคาดเดาของตนเองเป็นหลัก คือใช้ Family Concept และมีจุดขายที่มีระบบ Commonality ระหว่างเครื่องต่างรูปแบบกัน ซึ่งทำให้สายการบินลด Cost ในการ Mix Fleet ได้ แต่ Airbus ก็ไม่ค่อยได้ทำ Consumer Insight Survey มากเท่า Boeing ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากกว่า เพราะรู้ว่าพลาดไม่ได้อีกแล้ว ตอนโบอิ้งทำ 777 นั้น โบอิ้งวิจัยและผลิตขึ้นตามความต้องการของสายการบินอย่างแท้จริง ลูกค้าหลัก ๆ ของ 777 มีส่วนร่วมตั้งแต่ขั้นตอนออกแบบ แต่ Airbus นั้น หลัง ๆ ดูจะขอขยาย Product Line อย่างเดียวมากไปหน่อย จนลืมถามลูกค้าไปว่า ต้องการเครื่องบินแบบนี้จริงหรือเปล่า

อย่างไรก็ตาม ทั้งคู่อาจะถูกเหมือนกันก็ได้นะครับ เพราะคงเป็นไปไม่ได้ที่ทั้งสองบริษัทจะผลิตเครื่องบินสองรูปแบบพร้อม ๆ กัน เปลืองทรัพยากรโลกมากเกินไป แต่ถ้าดูตามเนื้อผ้าเวลานี้แล้ว แอร์บัสจะดูเครียดกับ A380 มากกว่า Boeing กับ B787 ครับ เพราะขานั้นแค่มี ANA กับ JAL ก็น่าจะสั่งรวมเกินร้อยลำแล้ว





Create Date : 12 มกราคม 2549
Last Update : 12 มกราคม 2549 20:08:02 น. 1 comments
Counter : 708 Pageviews.

 
เคยดูสารคดีเกี่ยวกับการสร้างAir Bus A380แล้ว

มันยิ่งใหญ่มากๆ ลงทุนมหาศาล


แต่พอมาอ่านบทความนี้

ชักจะสงสารAir Bus


โดย: ฟพท. IP: 61.19.202.46 วันที่: 15 กุมภาพันธ์ 2549 เวลา:18:36:46 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

shion
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add shion's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.