[บันทึกการท่องเที่ยวเทียวไปในโลกใบสี่เหลี่ยม]

FAFNER in the azure -No Where- : บทเพลงแห่งฟากฟ้าสีคราม


เธอ…

เธอน่ะ อยู่ที่นั่นใช่หรือเปล่า?
แล้วเธอน่ะ มองเห็นท้องฟ้าสีครามนั้นไหม?

อะนิเมะเรื่อง ‘Soukyuu no Fafner’ หรือ ‘Fafner in the azure’ นั้น, โดยแก่นใหญ่ใจความแล้ว, ว่าด้วยเรื่องการต่อสู้และการตั้งคำถามถึง ‘ตัวตน’

“เธอน่ะ อยู่ที่นั่นใช่หรือเปล่า?”

‘ท้องฟ้า’ รับบทเป็นตัวละครสำคัญตัวหนึ่งของเรื่องนี้เลยทีเดียว สีครามหรือสีส้มอมแดงในบางเวลาของท้องฟ้าได้ช่วยสร้างบรรยากาศให้กับเรื่องเป็นอย่างมาก และ, ในหลายๆ ครั้ง, มันได้ทำหน้าที่เป็นสัญลักษณ์บ่งบอกถึงความรู้สึกและจิตใจของตัวละครอีกด้วย

Fafner ได้แสดงมิติด้านอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครถึงระดับจิตใต้สำนึก, ซึ่งแสดงมากกว่าอะนิเมะแนวเดียวกันหลายเท่านัก และนอกจาก ‘ท้องฟ้า’ แล้ว สกอร์ประกอบอะนิเมะเรื่องนี้ก็ได้ช่วยเสริมอารมณ์ บรรยากาศ รวมไปถึงสัญลักษณ์ต่างๆ ได้อย่างเยี่ยมยอด

เธอ…

สกอร์ของ Saito Tsuneyoshi น่ะเรียกได้ว่าเหมาะสมกับอะนิเมะเรื่องนี้ที่สุดเลยเชียวล่ะ สำเนียงดนตรีของเขาช่างให้อารมณ์ได้หลากหลาย รวมถึงประพันธ์เอาไว้หลากสไตล์อีกด้วย

'Josho -Hajimari-' ที่บรรเลงตอนเปิดตัวเรื่องฉากแรกสุดน่ะ ไซโต้สามารถดึงสีสันของออร์เคสตราออกมาใช้ได้อย่างมีชั้นเชิงมาก แล้ว ‘Itsuwari no Rakuen’ ที่บรรเลงท่อนแรกด้วยเสียงของขลุ่ยกับกีต้าร์นั้นช่างให้บรรยากาศแห่งความสุขสงบได้ดีเหลือเกิน ฟังแล้วมันรู้สึก ‘สุขสงบ’ และ ‘อบอุ่นพอประมาณ’ อารมณ์เหมือนตอนที่เธอนั่งอยู่ริมทะเลตอนแดดร่มๆ และลมทะเลโชยเบาๆ เข้าใส่นั่นล่ะ
ตอนแรกที่เพลงๆ นี้บรรเลงตอนเปิดตัวเกาะทัตสึมิยะ ภาพจากมุมกล้องฉายให้เห็นท้องฟ้าและทะเลสีคราม รวมทั้งชีวิตที่สุขสงบของผู้คนบนเกาะน่ะ ฉันรู้สึกว่ามันเป็นฉากที่ทำให้ฉัน, เพียงรับรู้แค่ภาพกับเพลง, โดยไม่ต้องมีบทพูดใดๆ, ก็สามารถเข้าใจความสงบของสถานที่แห่งนี้ได้อย่างแท้จริงเลยล่ะ

แล้วเสียงร้องฮัมคลอเพลงไม่ว่าจะของนักร้องเดี่ยวหรือว่า choir ที่ร้องสอดประสานกับเครื่องดนตรีอย่าง ฮาร์ป เปียโน หรือออร์เคสตราทั้งวงนั้น มันก็แสนจะกินใจอย่างไรบอกไม่ถูก ถ้าเธอเองได้ฟัง ‘Valkyrie’ หรือ ‘Tsubaki’ ก็คงจะมีความรู้สึกเดียวกัน

หรือบางที เพียงแค่เครื่องดนตรีเดี่ยวอย่างเปียโนก็สามารถดึงอารมณ์ผู้ชมได้อย่างอยู่หมัด
เช่นใน 'Shoko -SHOKO-' ในฉากที่โชโกะเสียสละตัวเองแล้วทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้าสีครามนั้น เสียงเปียโนมันบ่งบอกความรู้สึกเหงา เศร้า ระทมใจ และภูมิใจในเวลาเดียวกัน ราวกับเสียงเปียโนนั้นได้แสดงออกถึงความรู้สึกนึกคิดทั้งหมดของเธอในห้วงขณะนาทีสุดท้ายแห่งชีวิตออกมา
เป็นเสียงเปียโนที่สร้างความสะเทือนใจได้อย่างถึงขีดสุด…

นอกจากนั้น, อย่างที่ฉันบอก, สกอร์ของอะนิเมะเรื่องนี้ยังเป็นสัญลักษณ์แสดงการต่อสู้และการแสดงออกทางจิตใจของตัวละคร รวมทั้งยังเป็น leitmotif อีกด้วย
‘Festum -Shinsoku-’ นั้นมีสำเนียงดนตรีออร์เคสตราสมัยใหม่อย่างแท้จริง เป็นทำนองที่บ่งบอกถึงการปรากฏตัวของ ‘เฟสตูม’ ซึ่งเป็นศัตรูหรือแสดงการมาถึงของสิ่งชั่วร้าย ทำนองเพลงสร้างอารมณ์และบรรยากาศที่กดดัน สับสน วุ่นวาย ราวกับจิตใจกำลังจะถูกกลืนกินเช่นเหตุการณ์ที่ปรากฏในเรื่องบ่อยๆ

Warsaw Philharmonic Orchestra ที่บรรเลงดนตรีเหล่านี้ประกอบทั้งเรื่องยังเป็นวงออร์เคสตราระดับชั้นเยี่ยมอีกด้วย วงๆ นี้เคยบรรเลงประกอบให้อะนิเมะมาแล้วหลายเรื่อง พอมาถึง ‘Fafner’ ก็ดูเหมือนว่าจะยังบรรเลงได้ดี แล้วเสียงที่หนักแน่นและบรรเลงอย่างได้อารมณ์นั่นอีกล่ะ ไซโต้คงไม่เสียใจที่เลือกวงดนตรีวงนี้มาบรรเลงสกอร์ของเขา

เธอ…

อัลบั้ม 'Fafner in the azure -No Where-' นี้ คงจะเป็นอัลบั้มดนตรีประกอบอะนิเมะที่เยี่ยมยอดที่สุดอีกอัลบั้มหนึ่งเลยล่ะ แม้จะฟังเพลงโดยไม่เคยดูอะนิเมะเลย, ในห้วงคำนึงของเธอ, เธอก็คงจะมองเห็นภาพท้องฟ้าได้อย่างชัดเจนเลยทีเดียว

เธอน่ะ อยู่ที่นั่นใช่หรือเปล่า?
ถ้าเธอได้ฟังดนตรีนี้แล้ว เธอจะแหงนหน้าขึ้นไปมองข้างบนนั้น

แล้วมองเห็นท้องฟ้าสีครามหรือเปล่า?

ฉัน
-ผู้หลงรักท้องฟ้าสีคราม-




 

Create Date : 17 กันยายน 2550   
Last Update : 18 กันยายน 2550 10:24:51 น.   
Counter : 725 Pageviews.  

Finding Neverland : ไม่ได้เป็นเพียงดนตรีประกอบภาพยนตร์

[Winner of the 2004 Academy Award for 'Best Score.' Nominated for a Golden Globe.]



‘Finding Neverland’ เป็นภาพยนตร์ชีวิตของ James Matthew Barrie ผู้สร้างสรรค์เทพนิยายเรื่อง ‘Peter Pan’ หนังได้เล่าเรื่องราวการพบกันของ Barrie นักเขียนช่างฝันกับ Sylvia แม่หม้ายลูกสี่ที่ต้องเลี้ยงดูลูก ๆ พร้อมกับต้องต่อสู้กับโรคร้ายที่กำลังคุกคามชีวิตเธอ

หนังแสดงให้เห็นว่า Barrie เป็นนักจินตนาการและนักฝันที่ล้ำลึกเหลือเชื่อ เขาสามารถจินตนาการเหตุการณ์หลายอย่างตรงหน้าออกมาในรูปแบบเทพนิยายได้ นอกจากนั้นเขายังสามาถให้คำพูดเชิงคติสอนใจให้กับเด็ก ๆ ได้ดีอีกด้วย

หนังเล่าเรื่องเกี่ยวกับว่า Barrie นั้นได้แรงบันดาลใจในการเขียน ‘Peter Pan’ ขึ้นมาได้อย่างไรก็จริง แต่ตัว ‘Peter Pan’ กับแดนมหัศจรรย์ ‘Neverland’ นั้นแทบไม่ได้ปรากฏโฉมออกมาอย่างชัดเจนเลย (ยกเว้นเสียแต่ตอนท้าย ๆ เรื่องที่มีการแสดงบนเวทีและ Sylvia สัมผัสถึง Neverland ได้ในห้วงสุดท้ายของชีวิต) หากแต่สกอร์ของหนังเรื่องนี้ทำให้เราสัมผัสความมหัศจรรย์ของจินตนาการได้ตลอดทั้งเรื่อง

หากไม่ได้สกอร์ดี ๆ อย่างสกอร์ของ Jan A. P. Kaczmarek หนังเรื่องนี้อาจเป็นหนังชีวิตธรรมดา ๆ ที่ไม่ค่อยกระตุ้นให้เกิดอารมณ์ใด ๆ เท่าไรนัก

ด้วย Orchestration (การเรียบเรียงเครื่องดนตรี) ที่ใส โปร่ง บาง แต่รุ่มรวยด้วยสีสัน ทำให้ดนตรีมีบรรยากาศสดใสและเกิดอารมณ์ชวนฝัน ดนตรีสามารถเปลี่ยนอารมณ์ให้เข้ากับการสลับแต่ละฉากที่แทบจะต่างกันอย่างสิ้นเชิง (เช่นในความเป็นจริงของ Barrie กับภาพในจินตนาการ) ได้อย่างลงตัว ในช่วงที่ต้องการสร้าง climax ดนตรีก็สามารถสร้างและก่ออารมณ์ขึ้นได้จนถึงพิกัดและไม่ฟูมฟายเกินไป

ดนตรีทำให้คนดูรู้สึกว่า นี่คือ ‘แฟนตาซี’ แม้จะเป็นเพียงหนังชีวิต แต่ความเป็น ‘แฟนตาซี’ นั้นกลับดำเนินอยู่ตลอด ทำให้หนังผสมอารมณ์และจินตนาการทั้งหลายที่เกิดขึ้นในเรื่องได้ลงตัวและพอเหมาะพอดี

สกอร์ของ Kaczmarek จึงไม่ได้เป็นเพียงดนตรีประกอบภาพยนตร์ หากแต่เป็นเสมือนอีกหนึ่งตัวละครของเรื่อง ที่คอยบอกเล่าเรื่องราวผ่านเสียงที่ถูกซ่อนอยู่ในภาพและไม่เคยปรากฏกายให้ผู้ใดได้ยล

เมื่อ Barrie เรียกชื่อ ‘Peter’ ตอนที่พบกันหลังจบการแสดง ผู้คนรอบข้างต่างหันมามองแล้วบอกว่า
“ทุกคนดูสิ นี่ไง Peter Pan”

Peter ส่ายหน้า
“ไม่ใช่หรอกครับ”
พร้อมกับหันหน้าไปมอง Barrie

“เขาต่างหาก”

ทุกวันนี้หลายคนที่ได้ชม Finding Neverland ก็ยังคงถกเถียงกันอยู่ว่า แท้จริงแล้วใครกันแน่ที่เป็น ‘Peter Pan’

สำหรับผมเอง

ผมว่า...

สกอร์ของหนังเรื่องนี้นี่แหละ...




 

Create Date : 31 พฤษภาคม 2550   
Last Update : 31 พฤษภาคม 2550 9:17:36 น.   
Counter : 419 Pageviews.  


ommyz
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




ตอนนี้มีบล็อกอีกแห่งที่

http://seta-brahms.exteen.com

ว่างๆ เชิญแวะครับ (อาจจะอัพเดตบ่อยกว่าที่นี่นิดนึง...)
Free Counter and Web
Stats
[Add ommyz's blog to your web]