[บันทึกการท่องเที่ยวเทียวไปในโลกใบสี่เหลี่ยม]

เดอะ รีดเดอร์ : ยั่วยุอย่างแยบยล

“เมื่อเราเปิดเผยตัวเรา
คุณเผยต่อฉัน ฉันเผยต่อคุณ
เมื่อเราต่างหลอมรวมเข้าด้วยกัน
คุณเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของฉัน
และฉันกลายเป็นส่วนหนึ่งของคุณ
เมื่อนั้นเองที่ฉันเริ่มรู้จักฉัน
และคุณเริ่มรู้จักตัวเอง”





ผมไม่แน่ใจว่าจะให้นิยามว่า ‘เดอะ รีดเดอร์’ (Der Vorleser) เป็นนิยายประเภทไหนดี

เดอะ รีดเดอร์ แบ่งออกเป็นสามภาคในเล่ม
ภาคแรก ไมเคิล แบร์ก อายุ 16 ปี ได้พบกับ ฮันนา ชมิตซ์ อายุ 36 ปี จากนั้นไม่นานทั้งคู่ก็ได้มีสัมพันธ์สวาทกัน ในภาคแรกนี้นิยายมีลักษณะเป็นอีโรติกที่ละเมียดละไมและลึกซึ้ง ขั้นตอนก่อนร่วมหลับนอนกันนั้น ฮันนาค่อยๆ จัดระบบระเบียบขั้นตอนพิธีขึ้นไม่ว่าจะเป็นการอาบน้ำ การปรุงกลิ่นกาย และที่สำคัญคือ เด็กหนุ่มจะต้อง ‘อ่านหนังสือ’ จำพวกวรรณคดีคลาสสิกทั้งหลายให้เจ้าหล่อนฟังก่อนร่วมรักกัน

ภาคที่สอง เป็นตอนที่พระเอกโตเป็นหนุ่มนักศึกษาแล้ว ได้เข้าร่วมฟังการตัดสินคดีค่ายกักกันเอาชวิตซ์ อาจเป็นเพราะว่าผู้เขียนเองก็เป็นผู้พิพากษา ดังนั้นจึงสามารถบรรยายการต่อสู้กันระหว่างบุคคลฝ่ายต่างๆ ในศาลได้อย่างมีชั้นเชิง ดุเดือดด้วยถ้อยวาที และน่าตื่นเต้นติดตาม แล้วในที่สุด ไมเคิล แบร์ก ก็ได้พบความจริงอันน่าแปลกใจและได้ล่วงรู้ความลับบางอย่างของฮันนา ชมิตซ์

ภาคที่สาม ด้วยชีวิตที่ไร้ฮันนา เขาก็ใช้ชีวิตที่เหลือของเขาไปอย่างเรื่อยเปื่อย เมื่อเขาได้มีโอกาสติดต่อฮันนาอีก เขาทำเพียงส่งเทปที่อัดเสียงของเขาขณะอ่านวรรณกรรมชิ้นสำคัญของโลกทั้งหลายลงไป และส่งไปให้เธอ เพียงเท่านั้น

เดอะ รีดเดอร์ ได้เปิดประเด็นวิวาทะด้านศีลธรรม ตั้งคำถามถึงปัญหาชีวิตคู่ และเปิดโปงปมจิตวิทยาของมนุษย์ได้อย่างถึงแก่น

“ทำไม ทำไมหนอสิ่งสวยงามในชีวิตจึงต้องปิดฉากลงอย่างรวดเร็ว หรือเพียงเพราะมันมีความจริงอันลึกลับดำมืดซ่อนอยู่? ทำไมหนอ ความทรงจำดีงามในชีวิตคู่ของใครต่อใครต้องเปลี่ยนเป็นเรื่องเศร้า เพียงเพราะคู่ของเราไปมีคนอื่นอีก เราไม่อาจมีสุขได้ในสถานการณ์แบบนั้นหรือ? ทั้งที่ความจริงเราก็มีความสุขไปแล้ว น่าแปลกที่บางครั้งความสุขความทรงจำแสนดีไม่อาจคงอยู่ตลอดไป เพียงเพราะมันจบลงด้วยความทุกข์ ถ้าจะให้ความสุขนั้นคงอยู่ตลอดไป ก็ต้องให้เรื่องนั้นจบลงอย่างมีความสุขด้วยหรือ? เหตุผลคือเรื่องราวต่างๆ มักจบลงด้วยความเจ็บปวดรวดร้าว ถ้ามันมีความรวดร้าวแฝงอยู่ โดยจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ว่าแต่อะไรเล่าคือความเจ็บปวดโดยไม่รู้ตัว? เป็นอย่างเดียวกันกับความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นจริง แต่เราไม่ได้ใส่ใจจดจำใช่ไหม?”

ผู้เขียนได้แบ่งเรื่องออกเป็นบทสั้นๆ เมื่ออ่านจบบทหนึ่งก็อยากอ่านต่อไปอีกบททันที นอกจากนั้น ฉากต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นฉากอีโรติก ฉากการต่อสู้ด้วยวาจาในศาล ฉากอดีตอันเจ็บปวดรุนแรง หรือฉากการต่อสู้กับชีวิตของตัวละคร ล้วนมีพลังล้นออกมาอย่างเหลือเฟือ ชวนติดตามและยังสอดแทรกข้อชวนคิดมากมาย

อย่างน้อย นิยายเล่มน ี้ก็อาจจะทำให้เราได้สามารถมองเห็นความรุนแรงที่เรากระทำต่อคนอื่นโดยไม่รู้ตัวมากขึ้นก็เป็นได้

ลองอ่านดูเถิดครับ แล้วจะรู้ว่าความแยบยลอย่างมีชั้นเชิง เป็นยังไง




 

Create Date : 26 เมษายน 2551   
Last Update : 8 พฤษภาคม 2551 11:59:18 น.   
Counter : 1368 Pageviews.  

เพลงขลุ่ยในฝัน : การเดินทางของชีวิต

“...ถ้าอย่างนั้น ชีวิตก็ไม่ใช่สิ่งสูงสุดหรือสิ่งที่ดีที่สุด...แต่ความตายเป็นสิ่งที่วิเศษสุด เอาละ พระราชาผู้จมอยู่กับความเศร้า ผมขอร้องคุณ โปรดขับเพลงแห่งความตายให้ผมฟังทีเถิด...”

ตอนหนึ่งจากเรื่องสั้น ‘เพลงขลุ่ยในฝัน’ (Flute Dream)




ถ้าหาก ‘ชีวิต’ คือ ‘การเดินทาง’ จริงๆ แล้วล่ะก็ รวมเรื่องสั้นชุด ‘Strange News from Another Star and Other Stories’ ของ แฮร์มันน์ เฮสเส (ใช้ชื่อหนังสือในภาษาไทยว่า ‘เพลงขลุ่ยในฝัน’ แปลโดย ‘สดใส’) ก็คงจะเป็นวรรณกรรมที่บรรยายภาพชีวิตได้อย่างเยี่ยมยอดและแยบยล

จุดร่วมของเรื่องสั้นทั้ง ๘ เรื่องในหนังสือเล่มนี้คือเรื่องเกี่ยวกับ ‘การเดินทาง’
เป็นการเดินทางในทุกๆ ความหมาย ทั้งการเดินทางเพียงเปลี่ยนสถานที่หนึ่งไปยังอีกสถานที่หนึ่ง หรือการเดินทางผ่านกาลเวลาด้วยชีวิตที่มีอยู่ของตัวละคร ซึ่งไม่ว่าจะเป็นในความหมายไหน เวลาที่ตัวละครใดตัวละครหนึ่งเดินทาง เขาจะได้เรียนรู้ ‘ชีวิต’ เสมอ ได้เห็นความเปลี่ยนแปลง ได้ค้นพบสัจธรรม

ตัวละครหลายตัวเริ่มต้นชีวิตด้วยความไร้เดียงสาและอ่อนต่อโลก มองโลกในแง่ดี ไม่เข้าใจความโศกเศร้าและความโหดร้ายของโลก (ซึ่งก็สะท้อนธรรมชาติของหลายๆ ชีวิต) แล้วหลังจากผ่านการเดินทางผ่านทั้งเวลาและสถานที่ พวกเขาจึงได้รับรู้ด้านมืดของโลกและชีวิต เรียนรู้ว่าชีวิตไม่ได้มีเพียงความสุข และมักลงเอยที่การเรียนรู้ว่าปลายทางของชีวิตคือ ‘ความตาย’

การเดินทางผ่านชีวิตที่ยาวนานอย่างชีวิตของ ‘ออกุสตุส’ ผู้ซึ่งไม่รู้ว่าได้รับพรหรือต้องคำสาปให้เขากลายเป็นคนที่ทุกๆ คนรุมรัก ทำให้เขาเติบโตมาโดยไม่เคยเห็นค่าของความรักหรือเรียนรู้ที่จะมอบความให้แก่ใครเลย หรืออย่างชายหนุ่มผู้กลายเป็นขุนเขาแห่ง ‘ฟัลดุม’ ที่ตั้งตระหง่านนิ่งนานผ่านกาลเวลาจนกระทั่งเรียนรู้ความว้าเหว่ ความโหยหาอดีต และความทรมานจากอดีตที่เลือนรางห่างหาย หรืออย่างกวี ‘ฮั่น ฟุก’ ผู้ซึ่งใช้เวลาทั้งชีวิตออกเดินทางไปร่ำเรียนวิชาในป่าใหญ่เพียงเพื่อที่จะค้นพบความเดียวดาย

การเดินทางในเรื่องสั้นหลายเรื่องนั้นเป็นการเดินทางที่แสดงออกอย่างเป็นรูปธรรม อย่างใน ‘เพลงขลุ่ยในฝัน’ ที่หนุ่มน้อยนักขลุ่ยผู้เข้าใจเพียงเพลงหวานซึ้งได้มาพบปะกับบทเพลงแห่งความโศกเศร้า หรืออย่างใน ‘ข่าวประหลาดจากต่างดาว’ ที่ชายหนุ่มผู้อยู่ในแผ่นดินที่คุ้นชินกับความสงบสุขต้องเดินทางไปยังต่างดินแดนและได้เห็นความโหดร้ายของสงครามซึ่งเสมือนเป็นอีกด้านหนึ่งของโลกที่ตนไม่เข้าใจ

การเดินทางใน ‘ ทางลำบาก’ บรรยายบรรยากาศและอารมณ์ของการเดินทางได้อย่างวิเศษแท้จริง และเป็นการเดินทางที่เป็นรูปธรรมชัดเจนที่สุด ทว่าปลายทางที่คนทั้งสองกำลังมุ่งไปหานั้นอาจจะไม่ได้เป็นเรื่องง่ายๆ อย่างที่ทุกคนคาดคิด

จุดที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งที่ปรากฏอยู่บ่อยๆ และปรากฏอยู่เกือบทุกเรื่องในหนังสือเล่มนี้คือ ‘ดนตรี’ และ ‘ผู้วิเศษ’

ผู้วิเศษในที่นี้หมายถึงตัวละครที่โผล่ออกมาทั้งอย่างปรากฏอิทธิฤทธิ์ปาฏิหารย์แน่ชัดหรือทั้งแบบแอบๆ ซึ่งทั้งหมดนี้ดูจะเป็นสัญลักษณ์บางอย่างที่เฮสเสต้องการจะสื่อสารกับผู้อ่านเกี่ยวกับชีวิตที่ต้องเดินทางไปจนถึงจุดหมาย

ไม่ว่าผู้อ่านจะตีความหมายหรือวิเคราะห์เรื่องราวเหล่านี้เช่นไร ที่แน่ๆ ผู้อ่านคงจะสามารถมองเห็นความเป็นไปของชีวิตและได้ขยายโลกทัศน์เกี่ยวกับชีวิตได้มากขึ้นโดยแท้

“...ออกุสตุสรู้สึกฉงน แต่ละวันความทุกข์เกิดขึ้นในโลกมากเหลือเกิน แต่ผู้คนก็ยังยินดี มีความสุขอยู่ได้ ออกุสตุสซึ้งใจเมื่อได้รับรู้ถึงความวิเศษยิ่งใหญ่ ได้พบว่าถัดจากความโศกเศร้า เสียงหัวเราะจะตามมา ถัดจากเสียงระฆังย่ำพิธีศพ เสียงเพลงกล่อมเด็กจะแว่วกังวาน เมื่อมีความตะกละหยาบคายก็ย่อมมีการให้เกียรติ มีเรื่องขำขัน คำปลอบประโลม การให้กำลังใจและรอยยิ้ม...”

ตอนหนึ่งจากเรื่องสั้น ‘ออกุสตุส’ (Augustus)





 

Create Date : 23 เมษายน 2551   
Last Update : 8 พฤษภาคม 2551 11:54:44 น.   
Counter : 1572 Pageviews.  

ทางกลับคือการเดินทางต่อ : ความตายอันงดงาม

ในทัศนะของคนทั่วไป ‘ความตาย’ ดูจะเป็นสิ่งที่น่าขยาดและหวาดหวั่นพรั่นพรึง อาจเป็นด้วยความลี้ลับของมัน หรืออาจเป็นด้วยไม่สามารถอดทนต่อการที่ตัวเองหรือคนรอบตัวต้องถูกพรากเพราะไปข้องแวะกับมัน

‘ความตาย’ จึงดูน่ารังเกียจเสมอ

ทว่าแท้จริงแล้ว ‘ความตาย’ เป็นสิ่งชั่วร้ายกระนั้นหรือ?
ถ้ามันเป็นสิ่งชั่วร้ายก็หมายความว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่ควรอุบัติหรือไม่ควรมีอยู่ในโลกนี้ใช่ไหม?

ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด ‘ความตาย’ นั้นก็เกิดขึ้นมาพร้อมกับ ‘การเกิด’ เป็นสองสิ่งที่อยู่คู่กันมาเสมอมาตั้งแต่จุดกำเนิดของเวลา
เช่นนั้นแล้ว ความตายจะยังคงเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจรังงอนอีกหรือ?

หรือว่าความจริงแล้ว สำหรับคนที่ต้องเผชิญหน้าความตาย สิ่งที่เป็นกังวลในใจคือ ไม่รู้ว่า ‘ชีวิตหลังความตาย’ จะเป็นอย่างไร

ท่านติช นัท ฮันห์ ได้เขียน ‘ทางกลับคือการเดินทางต่อ’ ในรูปแบบของบทละคร พูดถึงเด็กหนุ่มชาวเวียดนาม ๔ คนที่ถูกยิงตายและวิญญาณของพวกเขาก็ขึ้นเรือสำปั้นเดินทางไปยังสถานที่แห่งหนึ่งไกลออกไป และบนเรือสำปั้นนี้ พวกเขาก็ได้พบกับชีสาวผู้ซึ่งเผาตัวตายเรียกร้องสันติภาพ ทั้ง ๕ จึงได้เดินทางร่วมกัน

บทสนทนาทั้งหมดที่เกิดขึ้นได้แสดงภาพชีวิตหลังความตายที่ดูสดใส เบิกบาน และมีชีวิตชีวา รวมถึงแสดงความเข้าใจชีวิต เข้าใจโลกอย่างลึกซึ้ง และเชื่อมโลกแห่งความเป็นความตายได้จนกลายเป็นหนึ่งเดียว

“…โลกของผู้ตายจะเปลี่ยนแปลงไปตามที่ผู้ตายปรารถนา และเท่าที่พี่ประสบพบเห็น โลกของผู้มีชีวิตอยู่ก็เป็นเช่นเดียวกัน…”

“…ศิลปะเป็นชีวิตในตัวของมันเอง เมื่อเรามีชีวิต ศิลปะก็อยู่กับเรา ตอนนี้เราอาจจะบอกว่าเราตายไปแล้ว แต่ในความเป็นจริงเราก็ยังมีชีวิตอยู่…”

“…แต่อย่างน้อยก็มีคุณสมบัติที่ดีอย่างหนึ่งของพวกเขา คือผู้ที่มีชีวิตอยู่นนั้นมักลืมอะไรได้อยางรวดเร็ว สองสามเดือนหลังจากนี้ ความโศกเศร้าคงจะเบาบางลง ความเศร้าโสกและความกังวลในเรื่องอื่นจะช่วยให้พวกเขาลืมเรื่องเก่า พวกเขาคงมีชีวิตอยู่ไม่ได้ ถ้าหากพวกเขาไม่รู้จักลืม…”

“…ในขณะที่การตายของเราในคืนนี้เป็นการวิวัฒนาการของช่วงเวลาทั้งหมด และของวงจรทั้งหมดโดยสิ้นเชิง…”


ทั้งยังมีการแสดงทัศนะอันชี้ให้เห็นถึงสัจธรรมของสงครามด้วย

“…สงครามที่อุบัติขึ้นท่ามกลางมาตุภูมิของเรานี้ ก็มีสาเหตุมาจากความมืดบอดหรือการหลับไหลดังกล่าว ประชาชนทั้งสองฝ่ายที่ยิงกันอยู่นี้ ไม่รู้เลยว่าพวกเขากำลังยิงใคร แต่พวกเขาต่างก็ตกเป็นเหยื่อทั้งคู่ มีคนกลุ่มหนึ่งพร้อมอยู่แล้วที่จะตักตวงผลประโยชน์จากการฆ่าฟันของพวกเขา…”

“…มนุษย์ฆ่ากันเพราะเขาไม่รู้จักศัตรูที่แท้จริงของเขา ประการหนึ่ง เขาตกอยู่ในฐานะที่ไม่สามารถเลือกเอาการไม่ฆ่าได้…”

“…ใครเป็นคนฆ่าพวกเขากันแน่ ความกลัว ความเกลียดและอคติของพวกเขาเองใช่ไหม…”


บทละครเรื่องนี้จึงเป็นดั่งการรวบรวมและการแสดงให้เห็นสาเหตุต้นตอของการฆ่าฟัน กระตุ้นให้เกิดมิติทางความคิด และเข้าใจความรักความเกลียดมากขึ้น รวมทั้งบอกอย่างเป็นนัยไว้ว่า แท้จริงแล้ว มนุษย์ควรใช้ชีวิตร่วมกันในขณะทีี่มีชีวิตอยู่อย่างไร

“ใครจะจากไป ใครจะอยู่ เรามาจากหนไหน และเราจะไปข้างไหน
ฝั่งนี้และฝั่งโน้น เป็นหนึ่งหรือสอง มีแม่น้ำเป็นตัวกลางขวางกั้นให้สองฝั่งแยกจากกันอยู่หรือ
เป็นแม่น้ำที่ไม่มีเรือลำใดข้ามได้เลยหรือ การแบ่งขาดอันเหลวไหลเช่นนี้มีอยู่หรือ
เชิญลงมาในเรือของข้าพเจ้าสิ ข้าพเจ้าจะแสดงให้ท่านแลเห็นว่า
แม่น้ำนั้นมีอยู่ แต่การแบ่งออกเป็นสองฝั่งของน้ำนั้นหามีไม่
อย่าได้ลังเล ข้าพเจ้าจะพายเรือเอง ท่านจะร่วมพายด้วยก็ได้
แต่พายช้าๆ นะ และเบาๆ แผ่ว จนไม่มีเสียง”


(ติช นัท ฮันห์)




 

Create Date : 07 เมษายน 2551   
Last Update : 7 เมษายน 2551 10:17:22 น.   
Counter : 798 Pageviews.  


ommyz
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




ตอนนี้มีบล็อกอีกแห่งที่

http://seta-brahms.exteen.com

ว่างๆ เชิญแวะครับ (อาจจะอัพเดตบ่อยกว่าที่นี่นิดนึง...)
Free Counter and Web
Stats
[Add ommyz's blog to your web]