Seantun

เตรียมตัวก่อนนำภาพไปอัดกับแล็บดิจิตอล

เตรียมตัวก่อนนำภาพไปอัดกับแล็บดิจิตอล


เดี๋ยวนี้มีร้านรับอัดภาพจากไฟล์ดิจิตอลอยู่ทั่วไป สำหรับคนที่ใช้กล้องดิจิตอลแล้วการนำภาพไปอัดลงบนกระดาษอัดภาพไม่ใช่เรื่อง ยุ่งยากเช่นเมื่อก่อนอีกต่อไป แต่เนื่องจากเทคโนโลยีของคอมพิวเตอร์ และของกล้องถ่ายภาพดิจิตอลค่อนข้างจะหลากหลาย ดังนั้น เพื่อลดอาการผิดหวัง และเพื่อให้ได้ภาพที่อัดออกมาตรงตามความต้องการ ลองมาดูวิธีเตรียมตัวกันซักนิดครับ
ในบทความจะแบ่งออกเป็นหัวข้อย่อยๆ 4 หัวข้อดังนี้ครับ
  • การนำไฟล์ดิจิตอลไปร้าน
  • สัดส่วนของภาพ
  • JPG, TIF, ฯลฯ ?? (File Format)
  • กี่ Pixel, กี่ DPI ถึงจะได้ภาพคุณภาพดีเพียงพอ?

(บทความยาวซักนิดนะครับ เพราะอยากจะให้ครอบคลุมเนื้อหาทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง)

การนำไฟล์ดิจิตอลจากบ้านไปร้าน

การนำไฟล์ไปร้านเพื่ออัดภาพ เราสามารถใส่สื่อเก็บข้อมูลได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นแผ่น Diskette, CD-R/RW, Compact Flash, Smart Media, Memory Stick แถมตอนนี้มีเพิ่มเิติมเข้ามาอีกเช่น SD/MMC Card, xD Card นี่ยังไม่รวมสื่อบางประเภทที่มีอยู่ในกล้องดิจิตอลบ้างรุ่นเช่นพวก MO

สื่อ เก็บข้อมูลที่นำไปที่ร้านแล้วรับประกันว่าทุกร้านที่รับอัดภาพจากไฟล์ ดิจิตอลสามารถอ่านได้คือ Diskette, CD-R/RW, Compact Flash ครับ สำหรับ Smart Media ก็หาได้ง่าย แต่อาจจะไม่ทุกร้าน Memory Stick, SD/MMC Card ก็พอหาได้แต่มีน้อยไล่ลำดับกันไป ส่วน xD Card กับ MO นี่ค่อนข้างลำบากครับ

ผมขออนุญาตแบ่งขั้นตอนการเตรียมนำไฟล์ไปอัดออกเป็น 3 อย่าง ตามแต่ประเภทของสื่อที่ใช้ในการเก็บข้อมูล
  • แผ่น Diskette - เป็นอะไรที่ราคาไม่แพง ทุกร้านมีเครื่องอ่าน แต่หลีกเลี่ยงได้ก็ดีครับ เพราะปัญหาของแผ่น Diskette คือบางครั้งอ่านที่เครื่องคอมพ์ หนึ่งได้แต่ไปอ่านอีกเครื่องหนึ่งไม่ได้ เวลานำไปที่ร้านอัดภาพ Floopy Disk Drive ที่ร้านอาจจะไม่สามารถอ่านภาพของเราในแผ่น Diskette แผ่นนั้นได้ จะทำให้เสียเวลาเปล่าๆ หรือบางครั้งหากเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ร้านนั้นเกิดเขียนอะไรลงในแผ่นดิสค์ เมื่อนำกลับบ้านเครื่องที่บ้านเราอาจจะไม่สามารถอ่านแผ่นดิสก์แผ่นนั้นอีก เลยก็ได้เช่นกัน ทั้งนี้เพราะกลไกในการเลื่อนไปยัง Track ต่างๆ เพื่ออ่านข้อมูลอาจจะเพี้ยนไปได้ตามกาลเวลา ถ้าจะให้ปลอดภัย ให้ก๊อปปี้แผ่นดิสค์ที่จะนำไปอัดภาพขึ้นมาอีกชุดหนึ่ง เผื่อเกิดความเสียหายขึ้นมา ภาพอันเป็นที่รักของเราจะได้ไม่เสียหายไปด้วย
  • แผ่น CD-R/RW - เป็นสื่อที่สะดวกสบาย และเหมาะสมมากที่สุด โดยเฉพาะ CD-RW ซึ่งสามารถลบแล้วเขียนใหม่ได้ แนะนำว่าควรทำสำำเนาของแผ่น CD ที่จะเอาไปอัดภาพขึ้นมาอีกชุด ไม่ควรนำแผ่นต้นฉบับไป เพราะการนำสื่อไปอัดภาพที่ร้านอัดภาพ ส่วนหนึ่งต้องทำใจว่าสื่อที่เรานำไปอาจจะเกิดความเสียหายขึ้นได้ ซึ่งทางร้านจะชดใช้ให้เราตามความเห็นชอบของเค้า ซึ่งสื่อแบบ CD-R/RW สามารถดูความเสียหายกันได้ง่าย เช่นจากรอย ขูดขีด และราคาไม่สูงนัก ถ้าเป็นความผิดที่เกิดขึ้นจากทางร้านจริงส่วนใหญ่จะชดใช้ให้ไม่ค่อยมีปัญหา นอกจากนั้นการเตรียมภาพ ให้เราทำการก๊อปปี้เฉพาะรูปที่เลือกแล้วลงในแผ่น เวลาสั่งอัดก็ไม่ต้องไปนั่งจดชื่อไฟล์ให้เมื่อยตุ้ม แค่บอกเค้าว่าอัดทุกภาพที่อยู่ในแผ่น หรืออัดทุกภาพที่อยู่ใน Directory นั้นๆ ก็เป็นอันจบ หากมีภาพไหนต้องการอัดมากกว่าหนึ่งให้ Rename ชื่อไฟล์ให้มีจำนวนภาพที่ต้องการอัดต่อท้ายไปเลย เช่นต้องการอัดไฟล์ A.JPG 3 ชุด ก็ Rename ไฟล์ไปเลย A=3.JPG เป็นอันรู้กัน เพราะเวลาที่เราไปสั่งอัดภาพจากไฟล์เดียวออกหลายชุด ร้านเค้าก็จะใช้วิธีก๊อปปี้ไฟล์จาก CD ลงฮาร์ดดิสก์เค้า แล้ว Rename แบบนี้เหมือนกันครับ เพื่อความแน่ใจให้ลองสอบถามร้านที่เราไปอัดภาพดูอีกทีว่าทางร้านใช้ "=3" เหมือนกันหรือเปล่า เพราะบ้างร้าน อาจจะใช้ "x3" หรืออื่นๆ ที่ร้านแต่ละร้านกำหนดขึ้นเองก็ได้ครับ
  • สื่อเก็บข้อมูลเช่น Compact Flash, Smart Media, Memory Stick, ฯลฯ - เป็นไปได้ควรหลีกเลี่ยงการนำสื่อเก็บข้อมูลเหล่านี้ไปอัดภาพที่ร้านโดยตรง เพราะเจอปัญหากันมาเยอะครับ ที่เจอกันเลยคือถ้าเราไม่ได้ใช้ Compact Flash ก็มีโอกาสที่ร้านนั้นเค้าจะไม่มีอุปกรณ์ที่จะใช้อ่านข้อมูลจากสื่อเก็บ ข้อมูลของเรา ยิ่งถ้าเราใช้สื่อที่เพิ่งเกิดใหม่ เช่น Memory Stick, SD/MMC/xD Card แล้ว ยิ่งเป็นไปได้มาก แต่ปัญหาที่น่ากังวลมากกว่าคือปัญหาเรื่องของหาย และของเสียครับ แม้แต่ตัวผมเองยังเคยได้ Compact Flash (ของใครไม่รู้?) แถมกลับมาในซองงานทั้งๆ ที่ตอนสั่งอัดภาพผมส่งไปให้เฉพาะแผ่น CD-RW นอกจากนั้นสื่อพวกนี้เมื่อเกิดความเสียหายจะไม่สามารถเห็นความเสียหายได้จาก ภายนอก เพราะความเสียหายส่วนใหญ่จะเกิดกับวงจรภายใน ทำให้ไม่สามารถอ่าน-เขียนข้อมูลได้เป็นต้น ราคาก็สูง โอกาสที่จะตกลงความเสียหายกับร้านค้าก็ยากครับ เพราะถึงเด็กในร้านทำให้เกิดความเสียหายจริง เค้าก็คงไม่ค่อยอยากที่จะยอมรับ เพราะไม่งั้นนั่นอาจจะหมายถึงเงินเดือนของเค้าเกือบครึ่งเดือนเลยก็ได้ แต่ถ้าไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แนะนำว่าอย่าทิ้งเอาไว้ที่ร้าน ให้รอรับกลับมาเลย เพราะขั้นตอนการทำงานของร้าน หลังจากเค้ารับสื่อเราใส่ซองไปเรียบร้อยแล้ว เค้าจะเอาเข้าเครื่อง Reader เพื่อทำการอ่านไปเก็บไว้ใน Hard Disk ของระบบ Network เพื่อเตรียมสั่งพิมพ์ หลังจากนั้นเค้าจะไม่มีความจำเป็นที่จะใช้สื่อเก็บข้อมูลของเราอีกต่อไป ดังนั้นบอกเด็กไปเลยครับ ว่าก๊อปปี้เสร็จแ้ล้วให้นำมาคืนเราทันที


สัดส่วนของภาพ

กล้องดิจิตอลที่ใช้กันอยู่ในท้องตลาดขนาดนี้ส่วนใหญ่จะมีสัดส่วนของภาพถ่าย เท่ากับจอคอมพิวเตอร์คือ 4:3 (640x480, 1024x768, 1600x1200 เมื่อทำเป็นเศษส่วนอย่างต่ำจะได้เท่ากับ 4:3 พอดีครับ) แต่ก็ยังมีกล้องดิจิตอลบางตัวอาจจะมีสัดส่วนต่างออกไปเช่น 3:2 แต่ก็เป็นส่วนน้อยเมื่อเทียกับกล้องส่วนใหญ่ในตลาด ในขณะที่กระดาษอัดภาพจะมีสัดส่วนที่แตกต่างออกไปจากสัดส่วนของภาพที่ได้จาก กล้องดิจิตอล เช่น 4"x6" (3:2), 5"x7" (5:7), 8"x10" (5:4), 20x24 (5:6) ดังนั้นเพื่อให้ภาพที่มีสัดส่วน 4:3 ของเราสามารถที่อัดลงกระดาษได้พอดีทางร้านจึงมีบริการ "ัตัดภาพ" หรือที่ภาษาประกิตเรียกว่า "Crop" ภาพของเราออกให้ฟรี ดังนั้นภาพที่เราถ่ายมาว่าพอดีแล้ว พออัดลงกระดาษอาจจะมีอาการหัวหาย เท้าหายกันเล็กน้อย

ภาพทางด้านซ้ายเป็นภาพที่ถ่ายจากกล้องดิจิตอลที่มีสัดส่วนของภาพ 4:3

เืมื่อนำไปอัดลงบนกระดาษ 4"x6" ซึ่งมีสัดส่วน 3:2 ช่างอัดภาพจะทำการตัดส่วนที่เกิดออกไปจากภาพเพื่อให้ได้ภาพที่พอดีกับสัด ส่วนของกระดาษอัด โดยปกติส่วนที่จะถูกตัดจะถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน คือส่วนทางด้านบน และทางด้านล่างของภาพ ในภาพ ส่วนที่ถูกแรเงาด้วยแถบสีขาว ทั้งข้างบนและข้างล่างแสดงให้เห็นถึงบริเวณที่จะถูกตัดออกไป

ภาพที่ปรากฏอยู่บนกระดาษอัดภาพ ขนาด 4"x6"
ซึ่งบริการนี้ก็ขึ้นอยู่กับดวงของเราผู้นำภาพไปอัดว่าช่วงนั้นเราเจอช่างอัด ภาพที่พิถีพิถันแค่ไหน โดยทั่วไปส่วนที่จะถูกตัดออกเค้าจะตัดส่วนที่เกินออกโดยแบ่งเป็นข้างบนและ ข้างล่างอย่างละครึ่ง แต่ในบางรูปการตัดแบบนี้อาจจะได้ภาพที่ไม่ลงตัว ถ้าได้ช่างดี เค้าอาจจะเปลี่ยนตำแหน่งที่จะตัดให้ไปอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมให้เอง แต่ถ้าเจอช่างแบบช่างเถอะก็ถือว่าเป็นโชคร้ายของเราเอง เช่นภาพตัวอย่างต่อไปนี้

จากภาพตัวอย่าง ในช่วงบนของภาพมีส่วนหางของนายแบบเราติดอยู่ในขณะที่ส่วนที่ว่างเป็นช่วงล่างของภาพ

ถ้าเราได้ช่างอัดภาพที่ขยัน หรือมี Sense หน่อยที่จะตัดภาพในส่วนที่ไม่กระทบกระเทือนรายละเอียดของภาพ ในที่นี้คือส่วนหางของนายแบบเรา ดังภาพทางด้านซ้าย

แต่ถ้าโชคร้ายหน่อย นายแบบของเราก็จะถูกช่างอัดภาพตัดหางขาดดังในรูป โดยมีพื้นที่เหลือๆ อยู่ทางด้านล่างของภาพ
วิธีการแก้ปัญหามีสองแบบครับ คือสั่งให้อัดภาพเต็ม โดยไม่มีการตัด ภาพที่ได้บนกระดาษอาจจะมีส่วนว่างเปล่าของกระดาษปนออกมาทางด้านซ้ายและขวา ของภาพด้วย เช่นการอัดภาพสัดส่วน "4:3" ลงบนกระดาษ 4"x6" (สัดส่วน 3:2) จะได้ภาพดังนี้ครับ

หรือไม่เช่นนั้นก็ต้อง Crop ภาพให้ได้สัดส่วนด้วยตัวเราเอง (คลิ๊กที่นี่เพื่ออ่าน "วิธี Crop ภาพให้ได้สัดส่วน") จะเลือกใช้ิวิธีไหนคงอยู่ที่ความสะดวกและรสนิยมของแต่ละท่าน แต่สำหรับผมแล้ว ผมเลือกที่จะ Crop ภาพไปให้เรียบร้อยก่อนด้วยตัวผมเองเพราะไม่ต้องการความแปลกใจตอนไปรับรูป ครับ

เรื่องของการตัดภาพยังไม่จบแต่เพียงข้างบนครับ ยังมีอีกหน่อย.. คือผมไม่ทราบว่าเป็นประเพณีปฏิบัติมาหรืออย่างไร เมื่อเรานำภาพที่เตรียมไว้ไปอัดลงกระดาษที่ร้าน ถึงภาพดังกล่าวจะมีสัดส่วนเดียวกับกระดาษเช่น 3:2 แล้วก็ตาม แต่ภาพที่ได้ออกมา "จะไม่เต็มภาพ" อย่าง ภาพที่นำมาประกอบเป็นภาพที่ผมไปถ่ายในงานคอนเสริ์ตของ Deep Purple ภาพในสัดส่วน 3:2 ได้ครบพอดีตั้งแต่ศีรษะจนถึงรองเท้า แต่ปรากฏว่าเอาไปอัดที่ร้าน ภาพบนกระดาษที่ผมได้ออกมาอยู่เฉพาะในบริเวณที่เส้นสีแดงขีดเอาไ้ว้ในภาพประ กอบ ศีรษะก็หาย เท้าก็ขาด ไม่เหลือดีเลย ตอนเห็นภาพผมนี่อึ้งไปเลย ในที่สุดต้องอัดใหม่ครับ โดยเพิ่มคำสั่งเข้าไปว่า "อัดเต็มเฟรมเลยนะ" ถึงได้มาครบทั้งภาพครับ อันนี้ผมเดาเอานะครับ ว่าติดกันมาตั้งแต่ยุคสมัยของฟิลม์ เพราะจริงๆ ภาพบนเนื้อฟิลม์นี่เมื่ออัดลงบนกระดาษอัดภาพ ก็จะต้องมีบางส่วนของภาพโดนตัดทิ้งไปเช่นเดียวกัน และตอนที่ผมไปดูหลังจอภาพ จะเห็นกรอบสี่เหลี่ยมที่จะให้ช่างอัดภาพเลือกตัดบางส่วนของภาพแสดงขึ้นมาใน บริเวณเดียวกับเส้นสีแดงในภาพประกอบ ถึงแม้ว่าภาพของผมจะได้สัดส่วนเดียวกับกระดาษแล้วก็ตาม แปลกดีครับ

JPG, TIF, ฯลฯ ??

ไฟล์ดิจิตอลที่ำเราจะนำไปอัดภาพนั้น แน่นอนครับว่าจะต้องเป็นไฟล์ที่เครื่องอัดภาพรู้จักเท่านั้น
  • JPG - เป็นไฟล์ที่ได้รับความนิยม ถ้าเป็นไฟล์ JPG จากกล้องดิจิตอลเลย รับรองนำไปอัดภาพได้แน่นอนครับ แต่ถ้าเป็นไฟล์ JPG จาก Photoshop จะแบ่งออกเป็นสองอย่างครับ ถ้าสังเกตุเวลา Save file JPG จาก Photoshop จะให้เลือกว่าจะ Save ภาพเป็นแบบ "Progressive" ถ้าจะนำภาพไปใช้บนเว็บแนะนำให้ใช้เลือก Progressive แต่ถ้าจะนำภาพไปอัดลงกระดาษถ้าจะให้ชัวร์ อย่าเลือกใช้ครับ

    และ เนื่องจากในขณะนี้ โปรแกรมบางตัวเริ่มรองรับไฟล์มาตรฐาน JPG 2000 กันไปบ้างแล้ว ถ้าใครใ้ช้โปรแกรมพวกนี้อยู่ขอแนะนำว่าอย่า Save ไฟล์เป็น JPG 2000 ไปโดยเด็ดขาดครับ เพราะนอกจากเครื่องอัดภาพจะไม่สามารถอัดภาพจากไฟล์มาตรฐาน JPG 2000 ได้แล้ว โปรแกรม Photoshop (รุ่นล่าสุดในขณะที่เขียนบทความนี้คือ 7.0.1) ก็ยังไม่สามารถเปิดไฟล์ JPG 2000 ดังกล่าวได้ด้วย ดังนั้นถึงที่ร้านอัดภาพจะมี Photoshop ก็ไม่อาจช่วยแปลงไฟล์ให้เราได้ครับ
  • TIF - เป็นไฟล์ที่ให้คุณภาพสูงกว่า JPG (ผมเคยเขียนไว้ในบทความเรื่อง "Raw Format" ถึงเรื่องการเลือกใช้ว่า เมื่อใดควรใช้ RAW, JPG หรือ TIF ถ้าสนในติดตามอ่านได้ตาม ลิงค์นี้ เลยครับ) ซึ่งใน TIF เองตอนนี้ก็แบ่งออกได้เป็นสองอย่าง คือ TIF ที่มีการ Compress และไม่มีการ Compress (Non-Compress) และนอกจากนั้น ยังมี TIF ที่เรียกว่า TIF 8bit และ TIF 16bit ด้วยครับ ปกติภาพ TIF ที่ได้จากกล้องดิจิตอลจะเป็นแบบ Non-Compress, 8bit ซึ่งเครื่องอัดภาพดิจิตอลสามารถอัดภาพจาก TIF ประเภทนี้ได้แน่นอน แต่ถ้าเรา Save ภาพจาก Photoshop เราสามารถเลือกที่จะ Save ได้ว่าเป็นแบบ Compress หรือ Non-Compress และยังสามารถเลือกได้ด้วยว่าเป็น TIF 8bit หรือ 16bit ซึ่งแน่นอนว่า TIF 16bit สามารถถ่ายทอดคุณภาพออกมาได้มากกว่า TIF 8bit แต่ ในขณะนี้เครื่องอัดภาพดิจิตอล ยังไม่มีตัวใดอัดภาพจาก TIF 16bit ได้เลย ดังนั้นถ้าภาพของเราเป็น TIF 16bit จะไม่สามารถอัดลงกระดาษได้ครับ

    อย่างไรก็ดี ถ้าร้านอัดภาพที่เราไปใช้บริการมีโปรแกรม Photoshop เราสามารถขอให้เค้าเปิดไฟล์ TIF 16bit ของเราแล้วแปลงเป็น TIF 8bit ให้เราได้ครับ แต่จะเสียเวลาเพราะต้องนั่งทำทีละภาพ จึงแนะนำว่าถ้าจะนำภาพ TIF ไปอัดที่ร้านควร Save เป็น Non-Compress และ 8bit ครับ
  • Format อื่นๆ เช่น PSD, BMP - ถึงแม้ Format ไฟล์ภาพเหล่านี้จะเป็นที่นิยมใช้กันทั่วไป แต่ไม่แนะนำให้ใช้ครับ สำหรับใครที่ตบแต่งภาพไม่ว่าจะแต่งสี หรือใส่ข้อความ ในภาพด้วย Photoshop เสร็จแล้ว ผมแนะนำให้ Save เป็น JPG หรือ TIF ให้เรียบร้อยก่อนนำภาพไปอัดที่ร้านครับ เพราะหากเรานำไฟล์เหล่านี้ไป ผลงานที่ได้อาจจะไม่ตรงกับที่ทำที่บ้าน เช่นในไฟล์ PSD อาจจะมีการอ้างอิงถึง Font ที่เราลงไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ที่บ้าน แต่ที่ร้านอัดภาพไม่มี Font ดังกล่าว ทำให้ภาพที่อัดออกมาอาจจะมีตัวอักษรแตกต่างกันไป หรือ PSD ที่บ้านเราอาจจะใช้ Version 7.0 ในขณะที่ร้านอาจจะเป็นเวอร์ชั่นที่เก่ากว่า อาจจะเกิดปัญหาไม่ compatible ได้โดยเฉพาะ PSD ที่มี Layer หลายๆ Layer ยิ่งประเภท Layer ซ้อน Layer ซึ่งเป็น Feature ใหม่ใน Photoshop 6.0 ยิ่งแล้วไปใหญ่ครับ

    สรุป สำหรับเรื่อง Format ของไฟล์ คือไฟล์ที่ได้จากกล้องดิจิตอลที่เป็น JPG, TIF ถ้าเราไม่ไปทำการแก้ไขใดๆ ไฟล์เหล่านี้สามารถอัดลงกระดาษด้วยเครื่องอัดดิจิตอลได้อย่างแน่นอนครับ แต่ถ้าหากมีการนำไปตบแต่งบน Photoshop หรือโปรแกรมแต่งรูปอื่นๆ แนะนำให้ Save เป็น JPG ธรรมดา ที่ไม่มี Progressive และถ้าเป็น TIF ก็ให้เป็น TIF 8bit แบบ Non-compress เช่นเดียวกับไฟล์ JPG และ TIF ที่ได้จากกล้องดิจิตอล


กี่ Pixel, กี่ DPI ถึงจะได้ภาพคุณภาพดีเพียงพอ?

เป็นคำถามที่ได้ยินบ่อยครับ.. (โดยเฉพาะเรื่อง DPI หรือ Dot Per Inch ซึ่งไว้วันหลังมีเวลาจะมานั่งเม้าท์เรื่อง DPI ให้ฟังกันแบบละเอียดอีกที)

เป็นคำถามที่หาคำตอบได้ยากครับ สาเหตุเพราะคำว่า "คุณภาพ" นี่แต่ละคนมีบรรทัดฐานไม่เท่ากัน เอาภาพเดียวกันให้คน 10 คนดู 5 คนบอกคุณภาพใช้ได้ อีก 5 คนบอกว่าคุณภาพใช้ไม่ได้.. เอาเป็นว่าตาม Spec ของเครื่องที่ใช้อัด ณ ขณะทีเ่ขียนบทความนี้อยู่ ทั้งของ Fuji Frontier และ Nortisu ซึ่งเป็นเครื่องอัดภาพดิจิตอลที่มีผู้ใช้กันอย่างแพร่หลาย มีความละเอียดอยู่ที่ 300 DPI ครับ ดังนั้นถ้าจะให้ภาพที่อัดออกมามีขนาดพอดีโดยไม่ต้องย่อ หรือขยายภาพให้พอดีกับขนาดของกระดาษแล้ว ให้เอา 300 ไปคูณกับขนาดของกระดาษอัดภาพที่เราต้องการ เช่นถ้าต้องการอัดภาพลงกระดาษขนาด 4"x6" ขนาดของภาพควรจะเป็น (4"x300):(6"x300) = 1,200x1,800 pixel ครับ สำหรับ DPI ที่บางท่านไปเห็นในโปรแกรมอย่าง Photoshop นั้น อยากจะบอกว่าไม่ต้องไปสนใจเลยครับ เครื่องอัดภาพไม่เคยใช้ค่าตรงนั้น ในกรณีที่ขนาดของภาพเรา เล็ก หรือใหญ่กว่าค่าที่คำนวณได้นี้ เครื่องอัดจะทำการย่อ หรือขยายภาพให้ได้ภาพที่มีขนาดเท่ากัันกับขนาดที่คำนวณไ้ว้เสมอ

สำหรับ ตัวผู้เขียน หรือตัวผมนั้น คำว่า "คุณภาพ" ที่ผมรับได้จะอยู่ที่ 200dpi ครับ ผมคำนวณได้ง่ายๆ คือถ้าภาพจากกล้องดิจิตอลของผมมีขนาด 1,200x1,800 pixel ผมจะแนะนำไปอัดรูปที่ขนาดไม่เกิน 6"x9" ครับ

แล้วควรจะย่อ หรือขยายภาพให้มีจำนวน Pixel พอดี ก่อนนำภาพไปอัดหรือไม่?

ใน กรณีที่เรานำขนาดของ Pixel มาหารกับขนาดของกระดาษแล้วได้จำนวนจุดต่อนิ้วมากกว่า 300dpi ผมแนะนำว่าปล่อยไปเถอะครับ ให้ร้านเค้าย่อให้จะดีกว่า แต่ถ้าในกรณีที่หารออกมาแล้วตัวเลขต่ำกว่า 300dpi ซึ่งนั่นหมายความว่าทางร้านจะต้องขยายภาพของเราให้ใหญ่ขึ้นด้วยซอฟต์แวร์ ก่อนที่จะสั่งอัด ผมมีข้อแนะนำดังนี้ครับ

ถ้าเครื่องไม้เครื่องมือที่ เราใช้เป็นโปรแกรมอย่าง Photoshop ก็ปล่อยไปให้ร้านเค้าเป็นคนจัดการก็ได้ครับ เพราะวิธีการย่อ-ขยาย ภาพที่ดีที่สุดที่มากับตัวโปรแกรม Photoshop เป็นวิธีที่เรียกว่า bi-cubic ซึ่งวิธีนี้เมื่อนำมาขยายภาพที่มีขนาดเล็กให้มีขนาดใหญ่ขึ้น คุณภาพของภาพจะไม่ดีเลย เมื่อเทียบกับโปรแกรมเฉพาะทางที่ทำหน้าที่ขยายภาพโดยเฉพาะ เช่น RIP (Raster Image Processor) ดังนั้นถึงเราจะขยายภาพเอง หรือให้ทางร้านขยายภาพให้ก็ไม่ให้ผลที่แตกต่างกันในเรื่องคุณภาพหรอกครับ นอกเสียจากว่าเราอาจจะมีโปรแกรมที่ทำงานได้ดีกว่า Photoshop ซึ่งนอกจากโปรแกรมประเภท RIP ที่ได้กล่าวไปแล้วก็มี Genuine Fractals, Stair Interpolation ของ Fredmiranda หรือโปรแกรมที่จัดการด้าน "Upsampling" ตัวอื่นๆ ครับ

อ้อ.. บางครั้งการทำ Sharpen หลังขยายภาพแล้ว จะช่วยให้ภาพดูดีขึ้นได้เล็กน้อยครับ

Ref://www.Thaidphoto.com


Create Date : 23 เมษายน 2549
Last Update : 23 เมษายน 2549 2:26:11 น. 5 comments
Counter : 3862 Pageviews.  

 
ขอบคุณสำหรับความรูนะค่ะ


โดย: asariss วันที่: 23 เมษายน 2549 เวลา:1:36:21 น.  

 
สมัครเป็นลูกศิษย์ด้วยคนค่ะ ทำไม่เป็นซักอย่าง


โดย: คุณย่า วันที่: 23 เมษายน 2549 เวลา:8:13:01 น.  

 
ไปอัดแล้วที่ร้านทำ memory stick เสียค่ะ จะอัดสองรูป เค้าเปิดรูปแรกได้ แต่รูปที่สองร้านเปิดไม่ได้ เค้าไม่พูดอะไรเลย เค้าเอาmem มาคืนบอกว่าพี่เปิดไม่ได้นะ จากนั้นของของเราก็เสียไปเลย ที่ไม่ได้เอะใจแต่ตอนแรกไม่คิดว่าจะเสีย คิดว่าแค่เปิดไม่ได้ เพราะว่ารูปแรกเปิดได้ไงคะ แต่หลังจากที่เรากลับบ้านแล้วเอาmem มาใส่คืนในกล้อง ปรากฎว่าerror ใช้งานไม่ได้เลย
แค้นใจในความโง่ของตัวเอง และแค้นใจร้านด้วย เค้ารู้แล้วว่าmemเราเสีย แต่เค้าไม่พูดอะไรเลย จะจำไว้เลย ทีหลังคงหาวิธีอื่นในการอัดดีกว่า เข้ามาอ่านบล๊อกของคุณก็เลยยิ่งแน่ใจว่าของเสียที่ร้านแน่นอน
ขอบคุณนะคะที่ให้ความรู้


โดย: Thunn@Maotod วันที่: 23 เมษายน 2549 เวลา:10:16:31 น.  

 
เข้ามาเอาความรู้ค่ะ


โดย: นมัสเต IP: 203.107.193.207 วันที่: 23 เมษายน 2549 เวลา:13:49:38 น.  

 
ผมอยากรู้ว่าไฟล์8bit กับไฟล์16bitถ้าเราจะดูความแตกต่างเราควรล้างรูปออกมาเป็นขนาดเท่าถึงจะเห็นความแต่กต่างครับ ช่วยตอบผมทีครับ (ขอขอบคุณล่วงหน้าเลยครับ)


โดย: golf IP: 110.164.20.2 วันที่: 8 มกราคม 2554 เวลา:14:14:57 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

seantun
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




'
[Add seantun's blog to your web]