Seantun

วิธีการทำภาพติดบัตรขนาด 1 นิ้วหรือขนาดอื่นๆ มารวมกันบนภาพขนาด 4x6 นิ้ว

วิธีการทำภาพติดบัตรขนาด 1 นิ้วหรือขนาดอื่นๆ มารวมกันบนภาพขนาด 4x6 นิ้ว

สำหรับท่านที่สนใจวิธีการนำภาพติดบัตรขนาด 1" หรือขนาดอื่นๆ มารวมกันบนภาพขนาด 4x6 นิ้ว เพื่อนำไปอัดลงกระดาษตามร้านอัดภาพ ติดตามขั้นตอนวิธีการทำแบบ Visual Guide ได้จากบทความนี้เลยครับ

วิธีนำภาพขนาดติดบัตรหลายๆ รูปมารวมลงบนภาพขนาด 4x6 เพื่อนำไปอัดลงกระดาษตามร้านอัดภาพ



เริ่มแรก เราต้องการภาพขนาด 1 นิ้ว เพื่อนำไปประกอบกันขึ้นมา ให้เปิดไฟล์ที่ต้องการขึ้นมาด้วย Photoshop จากนั้นเลือกเครื่องมือตามลูกศรหมายเลข 1 และพิมพ์ขนาดของภาพที่เราต้องการตามลูกศรหมายเลข 2 และ 3 ในที่นี้ผมตั้งไว้ตามขนาดมาตรฐานของภาพ 1 นิ้วที่ใช้ติดบัตร คือ 1x1.5 นิ้ว จากนั้นก็กำหนดความละเอียดของภาพ ซึ่งถ้าเอาภาพไปพิมพ์บนเครื่องตามร้านอัดภาพทั่วไปจะมีความละเอียดอยู่ที่ 300 จุดต่อนิ้ว ก็ให้กำหนดตัวเลขความละเอียดตามลูกศรหมายเลข 4 (ให้แน่ใจด้วยว่าหน่วยของความละเอียดเป็น pixels/inch)



เลือกบริเวณที่ต้องการตัดออกมาทำภาพขนาดหนึ่งนิ้ว ดังรูปประกอบ จากนั้นให้ Double Click ในภาพ หรือกดที่เครื่องหมายถูก ตามที่ลูกศรหมายเลข 5 ชี้ไว้ พอได้ภาพในขนาด และบริเวณที่ต้องการแล้วให้ไปที่เมนู Select -> All แล้วไปที่เมนู Edit -> Copy



สร้างไฟล์ใหม่ โดยไปที่ File -> New



ถ้าเป็น Photoshop 7.0 ให้เลือกขนาดสำเร็จรูปตามที่ตีกรอบสีน้ำเงินตามที่ลูกศรหมายเลข 6 ชี้ไว้ หรือหากใช้ Photoshop เวอร์ชั่นก่อนหน้านี้หรือต้องการกำหนดรายละเอียดเอง ให้กำหนดรายละเอียดตามที่ตีกรอบสีแดงไว้ แล้วกด OK



เราจะได้หน้าต่างไฟล์ใหม่ขึ้นมา ให้เลือก View -> Rulers เราจะได้ไม้บรรทัดบอกระยะทั้งแนวนอนและแนวตั้งตามภาพ จากนั้นให้ คลิ๊กที่บริเวณไม้บรรทัด แล้วลากเข้ามาในบริเวณพื้นที่ภาพจะได้เส้นสีฟ้าๆ ดังในภาพ ให้ลากเส้นดังกล่าวมาทิ้งไว้ในระยะ แนวตั้งที่ตำแหน่ง 1,2 และ 3 นิ้ว แนวนอนที่ 1.5, 3 และ 4.5 นิ้ว แล้วเราก็จะได้ภาพประกอบ

ให้กดเปลี่ยนเครื่องมือที่เรียกว่า "Move tool" ตามที่เห็นในวงกลมสีแดง แล้วเลือกเมนู Edit -> Paste จากนั้นให้ใช้เครื่องมือย้ายรูปที่ปรากฏขึ้นไปลงมาตำแหน่งที่กำหนด เมื่อภาพเข้าไปใกล้เส้นที่กำหนดไว้ภาพจะถูกดูดเข้าไปเอง จากนั้นก็ให้ไปที่เมนู Edit->Paste (หรือกดปุ่ม Ctrl-V) เพื่อเพิ่มรูป แล้วก็ใช้เครื่องมือจับย้ายไปยังตำแหน่งที่ต้องการอีกครั้ง และทำซ้ำจนได้ภาพครบหมดทุกภาพ




เทคนิคครับ.. เราไม่จำเป็นจะต้องกด Edit->Paste ทุกครั้ง เพียงเราเอา Move Tool ไปไว้บนภาพที่ต้องการก๊อปปี้ออกมาหลายๆ ชุด จากนั้นให้กดปุ่ม Ctrl พร้อมกับ Alt แล้วใช้เครื่องมือ Move Tool ลากเอาภาพออกมาจะพบว่ามีภาพติดออกมาเพิ่มอีกภาพหนึ่ง แล้วก็ลากออกมาแบบนี้ซ้ำๆ กันจนครบ วิธีนี้จะสะดวกกว่าครับ



เมื่อเราทำการก๊อปปี้ภาพเล็กๆ จนครบตามที่เห็นในภาพประกอบทางด้านซ้ายนี้แล้ว เราจะได้ไฟล์ Photoshop ที่มีหลาย Layers ซึ่งเมื่อเอาไปทำ Digital Print ที่ร้านอัดภาพอาจจะเจอปัญหาภาพขึ้นไม่ครบ เพราะ Layer บาง Layer อาจจะไม่ถูกพิมพ์ ดังนั้นเพื่อความชัวร์ เราจะทำการยุบ Layer ต่างๆ ลงให้เหลือ layer เีดียวครับ โดยไปที่หน้าต่างของ Layer แล้วกดตามลูกศรหมายเลข 7 และ 8



เท่านี้เราก็สั่ง Save ไฟล์ได้เลยครับ แนะนำให้ Save เป็น TIFF ครับ เพราะภาพเล็กๆ จะได้คงความคมชัด แต่หากขนาดไฟล์ TIFF ใหญ่เกินไป ก็คงต้อง Save เป็น JPG แต่ยังไงตั้งคุณภาพไว้สูงหน่อยละกันครับ ไม่งั้นภาพเล็กๆ รายละเอียดจะแตกไม่ชัดเจน

อ้อ. ถ้าจะพิมพ์ออกเครื่องพิมพ์ที่บ้านอาจจะได้จำนวนภาพน้อยกว่านี้นะครับ เพราะเครื่องพิมพ์ที่บ้านเราจะต้องเผื่อขอบขาว (Margin) ทั้งซ้ายขาว และบนล่างเอาไว้ เนื่องจากเครื่องพิมพ์ส่วนใหญ่จะไม่สามารถพิมพ์ได้ชิดถึงขอบกระดาษ

และในสุดท้ายนี้ขอแถมด้วยขนาดภาพมาตรฐานที่ใช้กันทั่วไปครับ.

ขนาดของภาพ (กว้าง x ยาว)การใช้งาน
1" x 1.5"ติดใบขับขี่, สมัครงาน, ฯลฯ
1.5" x 1.5"สมัครงาน, วีซ่าสหรัฐอเมริกา (ฉากหลังขาวหรือสีอ่อน), ฯลฯ
1.5" x 2"สมัครงาน, ขอวีซ่า, ฯลฯ (ถ้าใช้ติดใบ ร.บ. ให้ใช้เป็นภาพขาวดำ)
2" x 2.5"ใช้ติดใบขออนุญาตทำงานในประเทศไทย สำหรับคนต่างชาติ (Work Permit)

 




Ref://www.thaidphoto.com




 

Create Date : 23 เมษายน 2549   
Last Update : 23 เมษายน 2549 3:18:40 น.   
Counter : 10352 Pageviews.  

RAW Format

RAW Format
ในกล้องดิจิตอลรุ่นใหญ่ๆ ราคาแพงๆ จะนอกจากจะมีไฟล์ฟอร์แมต JPG และ TIF ให้เลือกใช้แล้วยังมี RAW Format ให้เลือกใช้อีกด้วย, RAW Format คืออะไรหาคำตอบได้จากบทความที่หาอ่านได้ยากบทนี้

ใน กล้องดิจิตอล เมื่อเราถ่ายภาพ Sensor ในการรับภาพ ซึ่งอาจจะเป็น CCD หรือ CMOS ก็ตามจะรับแสงเข้ามาส่งไปให้กับอุปกรณ์ที่เรียกว่า AD Convertor เพื่อทำการแปลงแสงออกเป็นสัญญาณไฟฟ้า หรือข้อมูล ให้กับตัว CPU ในกล้องเพื่อทำการคำนวณประมวลผลออกมาเป็นภาพ แล้วค่อยแปลงไฟล์ออกเป็น JPG, TIFF หรืออื่นๆ เพื่อเก็บลงในอุปกรณ์เก็บข้อมูลอย่างเช่น Compact Flash, Smart Media และอื่นๆ

แต่สำหรับกล้องดิจิตอลที่มีราคาค่อนข้างสูง หน่อยแล้ว นอกจาก JPG หรือ TIFF ที่จะมีให้เลือกใช้เหมือนกับกล้องทั่วไปแล้ว มักจะมีเพิ่มขึ้นมาอีก 1 format นั่นคือ RAW format ซึ่งจะมีนามสกุลแตกต่างกันออกไปเช่น NEF, CRW ช่างถ่ายภาพที่เป็นเจ้าของกล้องเหล่านี้มักจะไม่รู้จักว่า format เหล่านี้แตกต่าง หรือมีข้อดีกว่า JPG, TIFF ที่เรารู้จัก และเคยชินอย่างไรจึงมองข้าม format นี้ไปอย่างน่าเสียดาย และอันที่จริงแล้ว RAW format แต่ก่อนจะมีเฉพาะในกล้องราคาแพงมากๆ เท่านั้น คืออย่างน้อยๆ ก็ต้องเฉียดแสนบาท จนเมื่อไม่นานมานี้ Canon เป็นรายแรกที่ได้เอาความสามารถนี้ใส่ลงมาในกล้องรุ่นเล็กหน่อยอย่าง G1 (แต่ก็ยังเป็นระดับ Prosumer)

จากที่เขียนไปในย่อหน้าแรกจะเห็นว่า กล้องเมื่อรับสัญญาณที่ถูกส่งมาจาก AD Convertor แล้วจะต้องแปลงสัญญาณดังกล่าวออกมาเป็นภาพด้วย CPU ในตัวกล้อง ตามเงื่อนไขต่างๆ ที่ถูกกำหนดไว้ เช่น White balance, sharpness, ฯลฯ ออกมาเป็นภาพแล้วจึงแปลงภาพที่ได้จากการประมวลผลเป็น JPG หรือ TIFF ก่อนเก็บลงในอุปกรณ์เก็บข้อมูล จุดนี้เองเป็นจุดแตกต่างอย่างมากสำหรับ RAW format เพราะ RAW format จะข้ามขั้นตอนตรงนี้ไปเลย คือเมื่อกล้องรับสัญญาณจาก AD Convertor แล้ว กล้องจะทำการเก็บข้อมูลเหล่านั้นลงในอุปกรณ์เก็บข้อมูลทันที โดยไม่ประมวลผลใดๆ กับข้อมูลเหล่านั้นเลย หรือจะเทียบกับฟิลม์แล้ว ก็เหมือนฟิลม์ที่ัยังไม่ได้ล้างนั่นเอง

เมื่อเราถ่ายข้อมูลรูปภาพจาก กล้องเข้าสู่เครื่องคอมพิวเตอร์เราจะไม่สามารถ ดูรูปภาพเหล่านี้ได้ในทันทีเราจำเป็นจะต้องทำการ Process ภาพเหล่านี้เสียก่อน ด้วยซอฟต์แวร์บนเครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งซอฟต์แวร์ที่จะทำหน้าที่เสมือนกับการล้างฟิลม์นี้ บริษัทกล้องบางยี่ห้อเช่น Kodak, Canon จะให้มากับตัวกล้องเลยโดยไม่ต้องไปหาซื้อเพิ่มเติม แต่ก็มีบางบริษัทอย่างเช่น Nikon ที่ทำเป็น Optional ให้้ต้องจ่ายเงินกันภายหลัง หรือ กล้องอย่าง Olympus, Nikon D1x, D1h ก็ให้มาเป็น Plug-in ของ Photoshop ซึ่งก็สามารถอ่านไฟล์เข้ามาใน Photoshop ก่อนที่จะ save ไฟล์ออกเป็น format อื่น ที่เรารู้ัจัก ซึ่งการให้เป็น Plug-in มานี้ถึงจะซอฟต์แวร์จะไม่เก่งกาจเหมือนกับแบบที่ทำงานต่างหาก แต่ก็ไม่ถึงกับไม่มีประโยชน์เลย ซึ่งเราจะได้กล่าวถึงต่อไปในช่วงหลังของบทความนี้ครับ




ภาพทางด้านบนนี้เป็นภาพที่ถ่ายโดยกล้องดิจิตอล Nikon D1 เป็น RAW format แต่ให้ซอฟต์แวร์ process ในเงื่อนไขต่างๆ ที่ถูกตั้งไว้จากกล้องดิจิตอล จึงมีผลของภาพเช่นเดียวกับการถ่ายเป็น JPG ออกจากกล้องดิจิตอล โดยในกล้องตั้งระบบ White balance เป็น Auto ภาพนี้ถ่ายเวลา 5 โมงเย็น มีแสงอาทิตย์พอสมควร แต่เนื่องจากระบบ White balance ถูกพื้นหญ้าหลอก ภาพจึงออกมาในโทนสีที่ไม่ถูกต้อง

(ผมเจอ ปัญหานี้ตั้งแต่กล้องดิจิตอล ระดับราคาไม่แพง, Prosumer, Olympus E-10 จนกระทั่งกล้องมืออาชีพอย่าง Nikon D1 ก็ไม่พ้นถูกหญ้าหลอก, เนื่องจากที่บ้านผมเลี้ยงสุนัขและผมชอบถ่ายภาพสุนัข จึงทำให้ผมเจอปัญหานี้บ่อย บางครั้งถ่ายสองภาพติดกันในเวลาห่างกันไม่กี่วินาที แต่พื้นที่หญ้าในภาพไม่เท่ากัน สีออกมาคนละโทนเลย)



ภาพนี้เป็นภาพที่นำมา RAW มา process อีกครั้ง โดยกำหนด white balance จาก auto มาเป็น Daylight เพื่อให้มีซอฟต์แวร์การคำนวณโทนแสงของภาพให้ตรงกันกับภาวะแสงในขณะถ่ายภาพ

หมายเหตุ ภาพทั้งสองไม่มีการตบแต่งเพิ่มเติมใดๆ ทั้งสิ้น


ข้อดีของ RAW Format มีเยอะมากครับ ขอเอาที่สำคัญๆ มาเล่ากันก่อนละกันครับ ส่วนรายละเอียดปลีกเล็กๆ ถ้าลองมาใช้แล้วคงจะได้สัมผัสเอง
  • คุณภาพของภาพที่ได้สูงกว่า
  • แน่นอนว่า CPU ในกล้องดิจิตอลไม่มีทางที่จะเร็วไปกว่า Pentium III 800MHz หรือ G3 ที่ตั้งอยู่บนโต๊ะเป็นแน่แท้ ดังนั้นความสามารถในการประมวลผลภาพนี่แน่นอนว่า คอมพิวเตอร์ของเรามีกำลังเหลือเฟือในการทำหน้าที่นี้
  • กล้องดิจิตอลในระดับสูงจะมี Dynamic Range หรือความละเอียดของสีสูงเกินความสามารถของ JPG หรือ TIF ในกล้องที่จะเก็บได้ อย่างเช่นกล้อง Nikon D1 Serie, D100 - Canon D30/D60/1D จะมี Dynamic Range อยู่ที่ 12 bits/color, Olympus E10-20 และ Canon G2 (ขอบคุณ คุณ Radar สำหรับข้อมูล ของ G2) จะมี Dynamic Range อยู่ที่ 10 bits/color (กล้องรุ่นเล็กอย่าง G1 มี Dynamic Range อยู่ที่ 8 bits/color เหมือนกล้องอื่นๆ อาจจะไม่ได้รับประโยชน์ที่จะกล่าวถึงในข้อนี้ แต่ก็จะได้รับประโยชน์อื่นๆ ที่จะกล่าวถึงต่อไป) เมื่อรวมกันสามสี RGB แล้วจะได้ Dynamic Range ของสีที่ 36bits (65,535 ล้านสี) หรือ 30bits (1,024 ล้านสี) ในขณะที่ JPG หรือ TIF ในกล้องสามารถรองรับการเก็บข้อมุลได้เพียง 24 bits (16 ล้านสีเท่านั้น) โห! เห็นหรือยังครับความแตกต่างของรายละเอียดสีที่หายไปว่ามากมายแค่ไหน (65,353 vs 16 ล้านสี) ในขณะที่เรา process บนเครื่องคอมพิวเตอร์แล้วเราสามารถที่จะ save ภาพเป็น JPG 2000 หรือ TIF 48bit ที่รองรับรายละเอียดสีได้ครบถ้วน
  • เนื่องจาก CPU ในกล้องมีประสิทธิภาพต่ำ ภาพ JPG ที่ได้จะมีขนาดที่ใหญ่กว่าที่ควรจะเป็น เช่นภาพเดียวกันเมื่อ process จากกล้อง Nikon D1 JPG - Fine จะได้ภาพที่ขนาด 1MB แต่เมื่อใช้โปรแกรมบนเครื่องคอมพิวเตอร์ process ภาพจะได้ภาพที่คุณภาพใกล้เคียงกันมากที่ขนาด 350K
  • สามารถแก้ไข และกำหนดเงื่อนไขแสงให้ภาพได้ภายหลัง
  • เมื่อเรา process ภาพในกล้อง cpu ในกล้องจะทำการ process ภาพตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้เช่น white balance, sharpness, hue value ฯลฯ ซึ่งหากค่าใดค่าหนึ่งเกิดผิดพลาดขึ้นมาจะทำให้ภาพที่ถ่ายออกมาไม่สามารถถ่าย ทอดสีสันที่แท้จริงออกมาได้ หรือาจจะเสียหายจนนำมาใช้งานไม่ได้เลย เมื่อเรานำภาพขึ้นมา process บนเครื่องคอมพิวเตอร์แ้ล้ว เราสามารถที่จะปรับแต่งภาพเหล่านี้ได้ในเงื่อนไขต่างๆ ที่ต้องการและยังสามารถทดลองเปลี่ยนเงื่อนไขแล้วเปรียบเทียบเพื่อหาผลลัพธ์ ที่ดีที่สุดได้อีกด้วย
  • ไม่จำเป็นต้องถ่ายคร่อมอีกต่อไป เพราะภาพที่ Over / Under ไม่เกินซัก 2 stops จะสามารถ process ใหม่ด้วยการเพิ่ม หรือลด stop ของแสงได้โดยคุณภาพของภาพยังคงอยู่ และหากจำเป็นอาจจะเพิ่มหรือลด stop ของแสงได้มากหรือน้อยกว่านี้แล้วแต่ซอฟต์แวร์ที่ใช้ แต่อาจจะมี Noise เพิ่มขึ้น (ดีกว่าต้องทิ้งทั้งภาพ?)
  • สำหรับช่างภาพที่ใช้กล้องที่ให้ซอฟต์แวร์มาเป็น plug-in สำหรับ Photoshop ซึ่งอาจจะไม่สามารถปรับแต่งอะไรได้มากนัก ก็อาจจะไม่ได้ประโยชน์ตรงนี้เต็มที่ แต่แน่นอนว่าจะได้รับประโยชน์เรื่อง Dynamic Rang ของสีของภาพได้อย่างเต็มที่ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว นอกจากนี้ซอฟต์แวร์ที่สามารถทำงานต่างหากได้เราสามารถที่จะตั้งสภาพแสงต่างๆ ให้กับภาพที่ถ่ายอย่างน้อยซักหนึ่งภาพ แล้ว apply ค่าที่ตั้งไว้ดีแล้วกับภาพอื่นๆ ที่ถ่ายพร้อมกันทั้งหมดที่อยู่ภายใต้สภาวะแสงเดียวกันได้ ทำให้การปรับแต่งแสงของภาพจำนวนมากเป็นเรื่องง่ายและสะดวก

เมื่อมีข้อดีก็ต้องมีข้อเสียครับ
  • เนื่องจาก RAW format จะมีขนาดใหญ่กว่า JPG (แต่เล็กกว่า TIF) ดังนั้นจำนวนภาพที่จะถ่ายได้ต่ออุปกรณ์เก็บข้อมูลจะได้จำนวนภาพน้อยกว่า และัใช้เวลา save file นานกว่า เมื่อเทียบกับการเก็บเป็น JPG
  • * RAW file ไม่มีมาตรฐาน ดังนั้นนอกจากซอฟต์แวร์ที่ผลิตขึ้นมาเฉพาะแล้ว เราจะไม่สามารถใช้ซอฟต์แวร์อื่นๆ อ่านข้อมูลภาพใน format นี้ได้เลย และเมื่อนำภาพเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์แล้ว จะต้องมีขั้นตอนเพิ่มขึ้นมาอีกอย่างน้อยหนึ่งขั้นตอน (process ภาพ) ก่อนที่จะได้ดูภาพ

    แต่สิ่งที่จะตัดสินว่าคุ้มหรือไม่คุ้มที่ จะใช้ RAW format ก็คงเป็นคุณภาพของผลงานที่จะได้ และต่อไปนี้เป็นตัวอย่าง 2 ผลงานที่จะแสดงให้เห็นว่า RAW format คุ้มค่าหรือไม่ โดยตัวอย่างชุดแรกเป็นความประทับใจที่ผมไม่ต้องเสียภาพดีๆ จำนวนเกือบร้อยภาพที่ถ่ายในเย็นวันหนึ่งไป เพราะระบบ White balance ที่ผมตั้งไว้ auto ถูกหลอกโดยสีของสนามหญ้า ทำให้ภาพที่ออกมาผิดพลาดไป และตัวอย่างที่สองเป็นภาพที่ผมถ่ายมา over เกินไป จึงนำต้นฉบับที่ over มาปรับสีด้วย Photoshop แล้วเอามาเทียบกับการ process ภาพใหม่ ให้เห็นความแตกต่างกันแบบตัวต่อตัว

#ภาพที่ 1


ภาพนี้เป็นภาพที่ได้จากการ process ภาพด้วยเงื่อนไขที่กำหนดจากกล้อง โดยตั้ง white balance ไว้ที่ auto จะเห็นได้ว่าภาพมีลักษณะแดงมาก และมีลักษณะแสงที่ over เกินไป


#ภาพที่ 2


ภาพที่ 2 นี้เป็นการนำภาพแรกไปแต่งสีใน Phothoshop เพื่อลดความสว่าง และความแดงของภาพลง


#ภาพที่ 3


ภาพที่ 3 นี้เป็นการนำ RAW ไฟล์ไป process ใหม่ โดยมีการปรับค่า white balance ให้เป็น Daylight และ ลด contrast ลง


ภาพที่ #1
ภาพที่ #2
ภาพที่ #3

ทั้งสามภาพนี้ เป็นภาพที่ตัดมาจากส่วนที่ตัดมาจากภาพข้างบนทั้งสามภาพ เพื่อให้เห็นรายละเอียด โดยจะเน้นจุดสังเกตุอยู่สองแห่งคือ ที่รายละเอียดของคลื่นและรายละเอียดของเส้นเชือกของชุดบิกินีของนางแบบ จะเห็นได้ว่าในภาพที่สอง ซึ่งเป็นการนำเอาภาพที่ 1 คือไปแก้ไขด้วย Photoshop (กรณีเดียวกับการนำ JPG ที่ได้จากกล้องถ่ายภาพไปแก้ไขโดย Photoshop) จะเห็นว่าเราสามารถแก้ไขสีสันของภาพให้มีความสว่าง และความแรงของสีลดลงให้อยู่ในระดับที่สามารถดูได้ดีในระดับหนึ่ง แต่จะเห็นได้ว่ารายละเอียดของภาพจะไม่มีมากไปกว่าภาพต้นฉบับหมายเลข 1 ในขณะที่ภาพหมายเลข 3 เป็นการนำ RAW format ไปทำการ process ใหม่ โดยการปรับ white balance เป็นเป็น daylight และ ลด contrast ลง (หรืออาจจะใช้วิธีลด stop ลงซัก 1/2 stop ก็ได้ แต่ผมเลือกใช้วิธีที่บอกไป) จากภาพเล็กจะสังเกตุได้ว่ารายละเอียดของคลื่นจะมีมากกว่าสองภาพแรก และหากดูภาพขยายทางด้านซ้ายนี้แล้ว จะเห็นชัดขึ้นไปอีกว่ามีระลอกคลื่นเล็กๆ เพิ่มออกมาทางขวามือเป็นแนวยาว และเชือกของชุดบิกินีของนางแบบมีรายละเอียดที่ชัดเจนขึ้น
จากสิ่งที่เห็นไปข้างต้นคงจะพิสูจน์ได้แล้วว่าการใช้ RAW format จะทำให้เราสามารถรีดเอาคุณภาพทุกบิตออกมาจากกล้องดิจิตอลที่แสนแพงของเราได้ อย่างเต็มที่และคุ้มค่า แต่ก็ต้องแลกมาด้วยขั้นตอนการทำงานที่อย่างน้อยต้องเพิ่มขึ้นมาอย่างน้อยอีก หนึ่งขั้นตอน ส่วนจะคุ้มกับแรงงานหรือความยุ่งยากหรือไม่ท่านผู้อ่านคงต้องเป็นผู้พิจารณา เองครับ
สรุป การถ่ายภาพโดยทั่วไปใช้ JPG ก็ถือว่าอยุ่ในระดับใช้ได้ และคุณภาพดี แต่ถ้าในกรณีที่ต้องการคุณภาพแบบที่สุดของที่สุดเท่าที่กล้องดิจิตอลของเรา จะทำได้ หรือเป็นงานสำคัญที่ต้องการลดโอกาสที่จะเกิดความเสียหายขึ้นกับภาพให้ได้มาก ที่สุด RAW format ก็คงเป็นคำตอบเดียว สำหรับผู้ที่มีกล้องดิจิตอลที่สามารถเก็บภาพเป็น RAW format ได้ TIF เป็นสิ่งที่ควรหลีกเหลี่ยง เพราะภาพจะมีขนาดใหญ่กว่า RAW format และยังมีคุณภาพต่ำกว่าอีกด้วย แต่สำหรับผู้ที่มีกล้องดิจิตอลที่มีให้เลือกระหว่าง JPG และ TIF เท่านั้น บางครั้ง TIF ก็เป็นทางเลือกที่ดีในกรณีที่ถ่ายที่ต้องการรายละเอียดมากหน่อย อย่างเช่นการถ่ายภาพหมู่ เพราะหาก save เป็น jpg แล้วหน้าตาของนายแบบและนางแบบทั้งหลายอาจจะเบลอๆ ไปหน่อย




 

Create Date : 23 เมษายน 2549   
Last Update : 23 เมษายน 2549 1:59:08 น.   
Counter : 1233 Pageviews.  

เตรียมตัวก่อนนำภาพไปอัดกับแล็บดิจิตอล

เตรียมตัวก่อนนำภาพไปอัดกับแล็บดิจิตอล


เดี๋ยวนี้มีร้านรับอัดภาพจากไฟล์ดิจิตอลอยู่ทั่วไป สำหรับคนที่ใช้กล้องดิจิตอลแล้วการนำภาพไปอัดลงบนกระดาษอัดภาพไม่ใช่เรื่อง ยุ่งยากเช่นเมื่อก่อนอีกต่อไป แต่เนื่องจากเทคโนโลยีของคอมพิวเตอร์ และของกล้องถ่ายภาพดิจิตอลค่อนข้างจะหลากหลาย ดังนั้น เพื่อลดอาการผิดหวัง และเพื่อให้ได้ภาพที่อัดออกมาตรงตามความต้องการ ลองมาดูวิธีเตรียมตัวกันซักนิดครับ
ในบทความจะแบ่งออกเป็นหัวข้อย่อยๆ 4 หัวข้อดังนี้ครับ

  • การนำไฟล์ดิจิตอลไปร้าน
  • สัดส่วนของภาพ
  • JPG, TIF, ฯลฯ ?? (File Format)
  • กี่ Pixel, กี่ DPI ถึงจะได้ภาพคุณภาพดีเพียงพอ?

(บทความยาวซักนิดนะครับ เพราะอยากจะให้ครอบคลุมเนื้อหาทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง)

การนำไฟล์ดิจิตอลจากบ้านไปร้าน

การนำไฟล์ไปร้านเพื่ออัดภาพ เราสามารถใส่สื่อเก็บข้อมูลได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นแผ่น Diskette, CD-R/RW, Compact Flash, Smart Media, Memory Stick แถมตอนนี้มีเพิ่มเิติมเข้ามาอีกเช่น SD/MMC Card, xD Card นี่ยังไม่รวมสื่อบางประเภทที่มีอยู่ในกล้องดิจิตอลบ้างรุ่นเช่นพวก MO

สื่อ เก็บข้อมูลที่นำไปที่ร้านแล้วรับประกันว่าทุกร้านที่รับอัดภาพจากไฟล์ ดิจิตอลสามารถอ่านได้คือ Diskette, CD-R/RW, Compact Flash ครับ สำหรับ Smart Media ก็หาได้ง่าย แต่อาจจะไม่ทุกร้าน Memory Stick, SD/MMC Card ก็พอหาได้แต่มีน้อยไล่ลำดับกันไป ส่วน xD Card กับ MO นี่ค่อนข้างลำบากครับ

ผมขออนุญาตแบ่งขั้นตอนการเตรียมนำไฟล์ไปอัดออกเป็น 3 อย่าง ตามแต่ประเภทของสื่อที่ใช้ในการเก็บข้อมูล
  • แผ่น Diskette - เป็นอะไรที่ราคาไม่แพง ทุกร้านมีเครื่องอ่าน แต่หลีกเลี่ยงได้ก็ดีครับ เพราะปัญหาของแผ่น Diskette คือบางครั้งอ่านที่เครื่องคอมพ์ หนึ่งได้แต่ไปอ่านอีกเครื่องหนึ่งไม่ได้ เวลานำไปที่ร้านอัดภาพ Floopy Disk Drive ที่ร้านอาจจะไม่สามารถอ่านภาพของเราในแผ่น Diskette แผ่นนั้นได้ จะทำให้เสียเวลาเปล่าๆ หรือบางครั้งหากเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ร้านนั้นเกิดเขียนอะไรลงในแผ่นดิสค์ เมื่อนำกลับบ้านเครื่องที่บ้านเราอาจจะไม่สามารถอ่านแผ่นดิสก์แผ่นนั้นอีก เลยก็ได้เช่นกัน ทั้งนี้เพราะกลไกในการเลื่อนไปยัง Track ต่างๆ เพื่ออ่านข้อมูลอาจจะเพี้ยนไปได้ตามกาลเวลา ถ้าจะให้ปลอดภัย ให้ก๊อปปี้แผ่นดิสค์ที่จะนำไปอัดภาพขึ้นมาอีกชุดหนึ่ง เผื่อเกิดความเสียหายขึ้นมา ภาพอันเป็นที่รักของเราจะได้ไม่เสียหายไปด้วย
  • แผ่น CD-R/RW - เป็นสื่อที่สะดวกสบาย และเหมาะสมมากที่สุด โดยเฉพาะ CD-RW ซึ่งสามารถลบแล้วเขียนใหม่ได้ แนะนำว่าควรทำสำำเนาของแผ่น CD ที่จะเอาไปอัดภาพขึ้นมาอีกชุด ไม่ควรนำแผ่นต้นฉบับไป เพราะการนำสื่อไปอัดภาพที่ร้านอัดภาพ ส่วนหนึ่งต้องทำใจว่าสื่อที่เรานำไปอาจจะเกิดความเสียหายขึ้นได้ ซึ่งทางร้านจะชดใช้ให้เราตามความเห็นชอบของเค้า ซึ่งสื่อแบบ CD-R/RW สามารถดูความเสียหายกันได้ง่าย เช่นจากรอย ขูดขีด และราคาไม่สูงนัก ถ้าเป็นความผิดที่เกิดขึ้นจากทางร้านจริงส่วนใหญ่จะชดใช้ให้ไม่ค่อยมีปัญหา นอกจากนั้นการเตรียมภาพ ให้เราทำการก๊อปปี้เฉพาะรูปที่เลือกแล้วลงในแผ่น เวลาสั่งอัดก็ไม่ต้องไปนั่งจดชื่อไฟล์ให้เมื่อยตุ้ม แค่บอกเค้าว่าอัดทุกภาพที่อยู่ในแผ่น หรืออัดทุกภาพที่อยู่ใน Directory นั้นๆ ก็เป็นอันจบ หากมีภาพไหนต้องการอัดมากกว่าหนึ่งให้ Rename ชื่อไฟล์ให้มีจำนวนภาพที่ต้องการอัดต่อท้ายไปเลย เช่นต้องการอัดไฟล์ A.JPG 3 ชุด ก็ Rename ไฟล์ไปเลย A=3.JPG เป็นอันรู้กัน เพราะเวลาที่เราไปสั่งอัดภาพจากไฟล์เดียวออกหลายชุด ร้านเค้าก็จะใช้วิธีก๊อปปี้ไฟล์จาก CD ลงฮาร์ดดิสก์เค้า แล้ว Rename แบบนี้เหมือนกันครับ เพื่อความแน่ใจให้ลองสอบถามร้านที่เราไปอัดภาพดูอีกทีว่าทางร้านใช้ "=3" เหมือนกันหรือเปล่า เพราะบ้างร้าน อาจจะใช้ "x3" หรืออื่นๆ ที่ร้านแต่ละร้านกำหนดขึ้นเองก็ได้ครับ
  • สื่อเก็บข้อมูลเช่น Compact Flash, Smart Media, Memory Stick, ฯลฯ - เป็นไปได้ควรหลีกเลี่ยงการนำสื่อเก็บข้อมูลเหล่านี้ไปอัดภาพที่ร้านโดยตรง เพราะเจอปัญหากันมาเยอะครับ ที่เจอกันเลยคือถ้าเราไม่ได้ใช้ Compact Flash ก็มีโอกาสที่ร้านนั้นเค้าจะไม่มีอุปกรณ์ที่จะใช้อ่านข้อมูลจากสื่อเก็บ ข้อมูลของเรา ยิ่งถ้าเราใช้สื่อที่เพิ่งเกิดใหม่ เช่น Memory Stick, SD/MMC/xD Card แล้ว ยิ่งเป็นไปได้มาก แต่ปัญหาที่น่ากังวลมากกว่าคือปัญหาเรื่องของหาย และของเสียครับ แม้แต่ตัวผมเองยังเคยได้ Compact Flash (ของใครไม่รู้?) แถมกลับมาในซองงานทั้งๆ ที่ตอนสั่งอัดภาพผมส่งไปให้เฉพาะแผ่น CD-RW นอกจากนั้นสื่อพวกนี้เมื่อเกิดความเสียหายจะไม่สามารถเห็นความเสียหายได้จาก ภายนอก เพราะความเสียหายส่วนใหญ่จะเกิดกับวงจรภายใน ทำให้ไม่สามารถอ่าน-เขียนข้อมูลได้เป็นต้น ราคาก็สูง โอกาสที่จะตกลงความเสียหายกับร้านค้าก็ยากครับ เพราะถึงเด็กในร้านทำให้เกิดความเสียหายจริง เค้าก็คงไม่ค่อยอยากที่จะยอมรับ เพราะไม่งั้นนั่นอาจจะหมายถึงเงินเดือนของเค้าเกือบครึ่งเดือนเลยก็ได้ แต่ถ้าไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แนะนำว่าอย่าทิ้งเอาไว้ที่ร้าน ให้รอรับกลับมาเลย เพราะขั้นตอนการทำงานของร้าน หลังจากเค้ารับสื่อเราใส่ซองไปเรียบร้อยแล้ว เค้าจะเอาเข้าเครื่อง Reader เพื่อทำการอ่านไปเก็บไว้ใน Hard Disk ของระบบ Network เพื่อเตรียมสั่งพิมพ์ หลังจากนั้นเค้าจะไม่มีความจำเป็นที่จะใช้สื่อเก็บข้อมูลของเราอีกต่อไป ดังนั้นบอกเด็กไปเลยครับ ว่าก๊อปปี้เสร็จแ้ล้วให้นำมาคืนเราทันที


สัดส่วนของภาพ

กล้องดิจิตอลที่ใช้กันอยู่ในท้องตลาดขนาดนี้ส่วนใหญ่จะมีสัดส่วนของภาพถ่าย เท่ากับจอคอมพิวเตอร์คือ 4:3 (640x480, 1024x768, 1600x1200 เมื่อทำเป็นเศษส่วนอย่างต่ำจะได้เท่ากับ 4:3 พอดีครับ) แต่ก็ยังมีกล้องดิจิตอลบางตัวอาจจะมีสัดส่วนต่างออกไปเช่น 3:2 แต่ก็เป็นส่วนน้อยเมื่อเทียกับกล้องส่วนใหญ่ในตลาด ในขณะที่กระดาษอัดภาพจะมีสัดส่วนที่แตกต่างออกไปจากสัดส่วนของภาพที่ได้จาก กล้องดิจิตอล เช่น 4"x6" (3:2), 5"x7" (5:7), 8"x10" (5:4), 20x24 (5:6) ดังนั้นเพื่อให้ภาพที่มีสัดส่วน 4:3 ของเราสามารถที่อัดลงกระดาษได้พอดีทางร้านจึงมีบริการ "ัตัดภาพ" หรือที่ภาษาประกิตเรียกว่า "Crop" ภาพของเราออกให้ฟรี ดังนั้นภาพที่เราถ่ายมาว่าพอดีแล้ว พออัดลงกระดาษอาจจะมีอาการหัวหาย เท้าหายกันเล็กน้อย

ภาพทางด้านซ้ายเป็นภาพที่ถ่ายจากกล้องดิจิตอลที่มีสัดส่วนของภาพ 4:3

เืมื่อนำไปอัดลงบนกระดาษ 4"x6" ซึ่งมีสัดส่วน 3:2 ช่างอัดภาพจะทำการตัดส่วนที่เกิดออกไปจากภาพเพื่อให้ได้ภาพที่พอดีกับสัด ส่วนของกระดาษอัด โดยปกติส่วนที่จะถูกตัดจะถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน คือส่วนทางด้านบน และทางด้านล่างของภาพ ในภาพ ส่วนที่ถูกแรเงาด้วยแถบสีขาว ทั้งข้างบนและข้างล่างแสดงให้เห็นถึงบริเวณที่จะถูกตัดออกไป

ภาพที่ปรากฏอยู่บนกระดาษอัดภาพ ขนาด 4"x6"
ซึ่งบริการนี้ก็ขึ้นอยู่กับดวงของเราผู้นำภาพไปอัดว่าช่วงนั้นเราเจอช่างอัด ภาพที่พิถีพิถันแค่ไหน โดยทั่วไปส่วนที่จะถูกตัดออกเค้าจะตัดส่วนที่เกินออกโดยแบ่งเป็นข้างบนและ ข้างล่างอย่างละครึ่ง แต่ในบางรูปการตัดแบบนี้อาจจะได้ภาพที่ไม่ลงตัว ถ้าได้ช่างดี เค้าอาจจะเปลี่ยนตำแหน่งที่จะตัดให้ไปอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมให้เอง แต่ถ้าเจอช่างแบบช่างเถอะก็ถือว่าเป็นโชคร้ายของเราเอง เช่นภาพตัวอย่างต่อไปนี้

จากภาพตัวอย่าง ในช่วงบนของภาพมีส่วนหางของนายแบบเราติดอยู่ในขณะที่ส่วนที่ว่างเป็นช่วงล่างของภาพ

ถ้าเราได้ช่างอัดภาพที่ขยัน หรือมี Sense หน่อยที่จะตัดภาพในส่วนที่ไม่กระทบกระเทือนรายละเอียดของภาพ ในที่นี้คือส่วนหางของนายแบบเรา ดังภาพทางด้านซ้าย

แต่ถ้าโชคร้ายหน่อย นายแบบของเราก็จะถูกช่างอัดภาพตัดหางขาดดังในรูป โดยมีพื้นที่เหลือๆ อยู่ทางด้านล่างของภาพ
วิธีการแก้ปัญหามีสองแบบครับ คือสั่งให้อัดภาพเต็ม โดยไม่มีการตัด ภาพที่ได้บนกระดาษอาจจะมีส่วนว่างเปล่าของกระดาษปนออกมาทางด้านซ้ายและขวา ของภาพด้วย เช่นการอัดภาพสัดส่วน "4:3" ลงบนกระดาษ 4"x6" (สัดส่วน 3:2) จะได้ภาพดังนี้ครับ

หรือไม่เช่นนั้นก็ต้อง Crop ภาพให้ได้สัดส่วนด้วยตัวเราเอง (คลิ๊กที่นี่เพื่ออ่าน "วิธี Crop ภาพให้ได้สัดส่วน") จะเลือกใช้ิวิธีไหนคงอยู่ที่ความสะดวกและรสนิยมของแต่ละท่าน แต่สำหรับผมแล้ว ผมเลือกที่จะ Crop ภาพไปให้เรียบร้อยก่อนด้วยตัวผมเองเพราะไม่ต้องการความแปลกใจตอนไปรับรูป ครับ

เรื่องของการตัดภาพยังไม่จบแต่เพียงข้างบนครับ ยังมีอีกหน่อย.. คือผมไม่ทราบว่าเป็นประเพณีปฏิบัติมาหรืออย่างไร เมื่อเรานำภาพที่เตรียมไว้ไปอัดลงกระดาษที่ร้าน ถึงภาพดังกล่าวจะมีสัดส่วนเดียวกับกระดาษเช่น 3:2 แล้วก็ตาม แต่ภาพที่ได้ออกมา "จะไม่เต็มภาพ" อย่าง ภาพที่นำมาประกอบเป็นภาพที่ผมไปถ่ายในงานคอนเสริ์ตของ Deep Purple ภาพในสัดส่วน 3:2 ได้ครบพอดีตั้งแต่ศีรษะจนถึงรองเท้า แต่ปรากฏว่าเอาไปอัดที่ร้าน ภาพบนกระดาษที่ผมได้ออกมาอยู่เฉพาะในบริเวณที่เส้นสีแดงขีดเอาไ้ว้ในภาพประ กอบ ศีรษะก็หาย เท้าก็ขาด ไม่เหลือดีเลย ตอนเห็นภาพผมนี่อึ้งไปเลย ในที่สุดต้องอัดใหม่ครับ โดยเพิ่มคำสั่งเข้าไปว่า "อัดเต็มเฟรมเลยนะ" ถึงได้มาครบทั้งภาพครับ อันนี้ผมเดาเอานะครับ ว่าติดกันมาตั้งแต่ยุคสมัยของฟิลม์ เพราะจริงๆ ภาพบนเนื้อฟิลม์นี่เมื่ออัดลงบนกระดาษอัดภาพ ก็จะต้องมีบางส่วนของภาพโดนตัดทิ้งไปเช่นเดียวกัน และตอนที่ผมไปดูหลังจอภาพ จะเห็นกรอบสี่เหลี่ยมที่จะให้ช่างอัดภาพเลือกตัดบางส่วนของภาพแสดงขึ้นมาใน บริเวณเดียวกับเส้นสีแดงในภาพประกอบ ถึงแม้ว่าภาพของผมจะได้สัดส่วนเดียวกับกระดาษแล้วก็ตาม แปลกดีครับ

JPG, TIF, ฯลฯ ??

ไฟล์ดิจิตอลที่ำเราจะนำไปอัดภาพนั้น แน่นอนครับว่าจะต้องเป็นไฟล์ที่เครื่องอัดภาพรู้จักเท่านั้น
  • JPG - เป็นไฟล์ที่ได้รับความนิยม ถ้าเป็นไฟล์ JPG จากกล้องดิจิตอลเลย รับรองนำไปอัดภาพได้แน่นอนครับ แต่ถ้าเป็นไฟล์ JPG จาก Photoshop จะแบ่งออกเป็นสองอย่างครับ ถ้าสังเกตุเวลา Save file JPG จาก Photoshop จะให้เลือกว่าจะ Save ภาพเป็นแบบ "Progressive" ถ้าจะนำภาพไปใช้บนเว็บแนะนำให้ใช้เลือก Progressive แต่ถ้าจะนำภาพไปอัดลงกระดาษถ้าจะให้ชัวร์ อย่าเลือกใช้ครับ

    และ เนื่องจากในขณะนี้ โปรแกรมบางตัวเริ่มรองรับไฟล์มาตรฐาน JPG 2000 กันไปบ้างแล้ว ถ้าใครใ้ช้โปรแกรมพวกนี้อยู่ขอแนะนำว่าอย่า Save ไฟล์เป็น JPG 2000 ไปโดยเด็ดขาดครับ เพราะนอกจากเครื่องอัดภาพจะไม่สามารถอัดภาพจากไฟล์มาตรฐาน JPG 2000 ได้แล้ว โปรแกรม Photoshop (รุ่นล่าสุดในขณะที่เขียนบทความนี้คือ 7.0.1) ก็ยังไม่สามารถเปิดไฟล์ JPG 2000 ดังกล่าวได้ด้วย ดังนั้นถึงที่ร้านอัดภาพจะมี Photoshop ก็ไม่อาจช่วยแปลงไฟล์ให้เราได้ครับ
  • TIF - เป็นไฟล์ที่ให้คุณภาพสูงกว่า JPG (ผมเคยเขียนไว้ในบทความเรื่อง "Raw Format" ถึงเรื่องการเลือกใช้ว่า เมื่อใดควรใช้ RAW, JPG หรือ TIF ถ้าสนในติดตามอ่านได้ตาม ลิงค์นี้ เลยครับ) ซึ่งใน TIF เองตอนนี้ก็แบ่งออกได้เป็นสองอย่าง คือ TIF ที่มีการ Compress และไม่มีการ Compress (Non-Compress) และนอกจากนั้น ยังมี TIF ที่เรียกว่า TIF 8bit และ TIF 16bit ด้วยครับ ปกติภาพ TIF ที่ได้จากกล้องดิจิตอลจะเป็นแบบ Non-Compress, 8bit ซึ่งเครื่องอัดภาพดิจิตอลสามารถอัดภาพจาก TIF ประเภทนี้ได้แน่นอน แต่ถ้าเรา Save ภาพจาก Photoshop เราสามารถเลือกที่จะ Save ได้ว่าเป็นแบบ Compress หรือ Non-Compress และยังสามารถเลือกได้ด้วยว่าเป็น TIF 8bit หรือ 16bit ซึ่งแน่นอนว่า TIF 16bit สามารถถ่ายทอดคุณภาพออกมาได้มากกว่า TIF 8bit แต่ ในขณะนี้เครื่องอัดภาพดิจิตอล ยังไม่มีตัวใดอัดภาพจาก TIF 16bit ได้เลย ดังนั้นถ้าภาพของเราเป็น TIF 16bit จะไม่สามารถอัดลงกระดาษได้ครับ

    อย่างไรก็ดี ถ้าร้านอัดภาพที่เราไปใช้บริการมีโปรแกรม Photoshop เราสามารถขอให้เค้าเปิดไฟล์ TIF 16bit ของเราแล้วแปลงเป็น TIF 8bit ให้เราได้ครับ แต่จะเสียเวลาเพราะต้องนั่งทำทีละภาพ จึงแนะนำว่าถ้าจะนำภาพ TIF ไปอัดที่ร้านควร Save เป็น Non-Compress และ 8bit ครับ
  • Format อื่นๆ เช่น PSD, BMP - ถึงแม้ Format ไฟล์ภาพเหล่านี้จะเป็นที่นิยมใช้กันทั่วไป แต่ไม่แนะนำให้ใช้ครับ สำหรับใครที่ตบแต่งภาพไม่ว่าจะแต่งสี หรือใส่ข้อความ ในภาพด้วย Photoshop เสร็จแล้ว ผมแนะนำให้ Save เป็น JPG หรือ TIF ให้เรียบร้อยก่อนนำภาพไปอัดที่ร้านครับ เพราะหากเรานำไฟล์เหล่านี้ไป ผลงานที่ได้อาจจะไม่ตรงกับที่ทำที่บ้าน เช่นในไฟล์ PSD อาจจะมีการอ้างอิงถึง Font ที่เราลงไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ที่บ้าน แต่ที่ร้านอัดภาพไม่มี Font ดังกล่าว ทำให้ภาพที่อัดออกมาอาจจะมีตัวอักษรแตกต่างกันไป หรือ PSD ที่บ้านเราอาจจะใช้ Version 7.0 ในขณะที่ร้านอาจจะเป็นเวอร์ชั่นที่เก่ากว่า อาจจะเกิดปัญหาไม่ compatible ได้โดยเฉพาะ PSD ที่มี Layer หลายๆ Layer ยิ่งประเภท Layer ซ้อน Layer ซึ่งเป็น Feature ใหม่ใน Photoshop 6.0 ยิ่งแล้วไปใหญ่ครับ

    สรุป สำหรับเรื่อง Format ของไฟล์ คือไฟล์ที่ได้จากกล้องดิจิตอลที่เป็น JPG, TIF ถ้าเราไม่ไปทำการแก้ไขใดๆ ไฟล์เหล่านี้สามารถอัดลงกระดาษด้วยเครื่องอัดดิจิตอลได้อย่างแน่นอนครับ แต่ถ้าหากมีการนำไปตบแต่งบน Photoshop หรือโปรแกรมแต่งรูปอื่นๆ แนะนำให้ Save เป็น JPG ธรรมดา ที่ไม่มี Progressive และถ้าเป็น TIF ก็ให้เป็น TIF 8bit แบบ Non-compress เช่นเดียวกับไฟล์ JPG และ TIF ที่ได้จากกล้องดิจิตอล


กี่ Pixel, กี่ DPI ถึงจะได้ภาพคุณภาพดีเพียงพอ?

เป็นคำถามที่ได้ยินบ่อยครับ.. (โดยเฉพาะเรื่อง DPI หรือ Dot Per Inch ซึ่งไว้วันหลังมีเวลาจะมานั่งเม้าท์เรื่อง DPI ให้ฟังกันแบบละเอียดอีกที)

เป็นคำถามที่หาคำตอบได้ยากครับ สาเหตุเพราะคำว่า "คุณภาพ" นี่แต่ละคนมีบรรทัดฐานไม่เท่ากัน เอาภาพเดียวกันให้คน 10 คนดู 5 คนบอกคุณภาพใช้ได้ อีก 5 คนบอกว่าคุณภาพใช้ไม่ได้.. เอาเป็นว่าตาม Spec ของเครื่องที่ใช้อัด ณ ขณะทีเ่ขียนบทความนี้อยู่ ทั้งของ Fuji Frontier และ Nortisu ซึ่งเป็นเครื่องอัดภาพดิจิตอลที่มีผู้ใช้กันอย่างแพร่หลาย มีความละเอียดอยู่ที่ 300 DPI ครับ ดังนั้นถ้าจะให้ภาพที่อัดออกมามีขนาดพอดีโดยไม่ต้องย่อ หรือขยายภาพให้พอดีกับขนาดของกระดาษแล้ว ให้เอา 300 ไปคูณกับขนาดของกระดาษอัดภาพที่เราต้องการ เช่นถ้าต้องการอัดภาพลงกระดาษขนาด 4"x6" ขนาดของภาพควรจะเป็น (4"x300):(6"x300) = 1,200x1,800 pixel ครับ สำหรับ DPI ที่บางท่านไปเห็นในโปรแกรมอย่าง Photoshop นั้น อยากจะบอกว่าไม่ต้องไปสนใจเลยครับ เครื่องอัดภาพไม่เคยใช้ค่าตรงนั้น ในกรณีที่ขนาดของภาพเรา เล็ก หรือใหญ่กว่าค่าที่คำนวณได้นี้ เครื่องอัดจะทำการย่อ หรือขยายภาพให้ได้ภาพที่มีขนาดเท่ากัันกับขนาดที่คำนวณไ้ว้เสมอ

สำหรับ ตัวผู้เขียน หรือตัวผมนั้น คำว่า "คุณภาพ" ที่ผมรับได้จะอยู่ที่ 200dpi ครับ ผมคำนวณได้ง่ายๆ คือถ้าภาพจากกล้องดิจิตอลของผมมีขนาด 1,200x1,800 pixel ผมจะแนะนำไปอัดรูปที่ขนาดไม่เกิน 6"x9" ครับ

แล้วควรจะย่อ หรือขยายภาพให้มีจำนวน Pixel พอดี ก่อนนำภาพไปอัดหรือไม่?

ใน กรณีที่เรานำขนาดของ Pixel มาหารกับขนาดของกระดาษแล้วได้จำนวนจุดต่อนิ้วมากกว่า 300dpi ผมแนะนำว่าปล่อยไปเถอะครับ ให้ร้านเค้าย่อให้จะดีกว่า แต่ถ้าในกรณีที่หารออกมาแล้วตัวเลขต่ำกว่า 300dpi ซึ่งนั่นหมายความว่าทางร้านจะต้องขยายภาพของเราให้ใหญ่ขึ้นด้วยซอฟต์แวร์ ก่อนที่จะสั่งอัด ผมมีข้อแนะนำดังนี้ครับ

ถ้าเครื่องไม้เครื่องมือที่ เราใช้เป็นโปรแกรมอย่าง Photoshop ก็ปล่อยไปให้ร้านเค้าเป็นคนจัดการก็ได้ครับ เพราะวิธีการย่อ-ขยาย ภาพที่ดีที่สุดที่มากับตัวโปรแกรม Photoshop เป็นวิธีที่เรียกว่า bi-cubic ซึ่งวิธีนี้เมื่อนำมาขยายภาพที่มีขนาดเล็กให้มีขนาดใหญ่ขึ้น คุณภาพของภาพจะไม่ดีเลย เมื่อเทียบกับโปรแกรมเฉพาะทางที่ทำหน้าที่ขยายภาพโดยเฉพาะ เช่น RIP (Raster Image Processor) ดังนั้นถึงเราจะขยายภาพเอง หรือให้ทางร้านขยายภาพให้ก็ไม่ให้ผลที่แตกต่างกันในเรื่องคุณภาพหรอกครับ นอกเสียจากว่าเราอาจจะมีโปรแกรมที่ทำงานได้ดีกว่า Photoshop ซึ่งนอกจากโปรแกรมประเภท RIP ที่ได้กล่าวไปแล้วก็มี Genuine Fractals, Stair Interpolation ของ Fredmiranda หรือโปรแกรมที่จัดการด้าน "Upsampling" ตัวอื่นๆ ครับ

อ้อ.. บางครั้งการทำ Sharpen หลังขยายภาพแล้ว จะช่วยให้ภาพดูดีขึ้นได้เล็กน้อยครับ

Ref://www.Thaidphoto.com




 

Create Date : 23 เมษายน 2549   
Last Update : 23 เมษายน 2549 2:26:11 น.   
Counter : 3861 Pageviews.  

วิธีการใช้งาน neat image pro 4 อย่างละเอียด

วิธีการใช้งาน neat image pro 4 อย่างละเอียด



ปุ่มแรก เปิด Variant Selector ขึ้นมา โดยที่เจ้า Variant Selector เนี้ยทำหน้าที่เป็นตัวเก็บตัวอย่างภาพที่เราปรับแต่งไว้ในค่าต่างๆ เพื่อนำมาเทียบกัน แล้วชอบภาพไหนที่สุด ก็กดใช้ค่านั้น ปุ่มมี 5 ปุ่มไล่จากซ้าย -> ขวาคือ เก็บภาพ, ใช้ค่าของภาพนั้น, เลื่อนภาพขึ้น, เลื่อนภาพลง, ลบภาพ ส่วน "Auto add variants" คือเพิ่มภาพโดยอัตโนมัติ เมื่อมีการปรับเปลี่ยนค่าการลด noise


ไม่รู้จะเอามะพร้าวห้าวมาขายสวนรึปล่าวนะครับ ที่เอาบทความวิธีใช้ neat image มาลงที่นี้อีก เนื่องจากอ่านจากกระทู้ต่างๆ ดูรู้สึกว่าหลายๆ คนใช้โปรแกรมนี้กันเก่งมาก แต่ว่าผมไม่อยากให้บทความนี้มันเก็บอยู่แต่ในเครื่องผม (จริงๆ มันเคยโพสลง pantip แต่ที่นั่นไม่นานมันก็หายครับ) จึงนำมาเขียนลงที่นี้อีกครั้งหนึ่ง

โปรแกรม Neat Image 4 pro+ เป็นโปรแกรมที่ใช้ลบ noise ที่เกิดขึ้นในรูป โดยสามารถลบ noise ที่เกิดจากการใช้ ISO สูงๆ, ถ่ายในสภาวะแสงน้อย รวมถึงการแตกของรูปจากการบีบอัดเป็น jpeg มากๆ และสามารถลบจุดในภาพที่สแกนมาจากนิตยสาร (จุด offset)

กระบวนการทำ งานของโปรแกรมนี้ที่ทำให้แตกต่างจากโปรแกรมลบ noise ตัวอื่นๆ คือ โปรแกรมจะมีการทำ profile ของ noise ในรูปนั้นก่อน (วิเคราะห์คุณลักษณะของ noise ในรูป) แล้วจึงลบจุดที่โปรแกรมวิเคราะห์แล้วว่าคือ noise ออกไป นอกจากนี้โปรแกรมนี้ยังมีกระบวนการปรับภาพให้ชัดรวมอยู่ในตัวเองด้วย (แต่ไม่ทำให้ noise เด่นชัดขึ้นมา)

ตัวอย่างรูปที่ผ่านการลด noise ครับ //www.neatimage.com/examples.html

โปรแกรมนี้ออกจะใช้ยากนิดหน่อย เพราะมีค่าให้ปรับหลายค่ามาก ผมจึงแนะนำวิธีใช้งานเบื้องต้นให้ครับ (กว่าผมจะใช้เป็นก็นั่งอ่าน help แล้วก็มั่วอยู่วันครึ่ง)
อ้อ โหลดโปรแกรมนี้ได้ที่ //www.neatimage.com/download.html

1.หลังจากโหลดโปรแกรมมาแล้ว ให้ติดตั้งลงห้อง plug-in ของ photoshop
2.เรียกไฟล์ neatimage.exe ขึ้นมาก่อน 1 ครั้ง (จึงจะใช้งานในส่วนของ plug-in ได้)
--จริงๆ สามารถใช้โปรแกรมจากไฟล์ neatimage.exe ได้เลย แต่ผมชอบแบบที่เป็น plug-in ของ photoshop มากกว่าครับ--
3.เปิดรูปที่ต้องการแก้ไขขึ้นมาใน photoshop แล้วไปที่ filter -> neat image -> reduce noise เพื่อเริ่มใช้งานโปรแกรม
--ลักษณะโปรแกรมที่เห็นในรูปเป็น advanced mode ครับ ซึ่งปรับโดยไปที่ tools -> advanced mode--

4.ขั้นตอนนี้เป็นการสร้าง noise profile อย่างง่ายครับ
1) ลากพื้นที่ที่ต้องการใช้ในการวิเคราะห์ noise ควรเป็นพื้นที่ไม่มีรายละเอียด มีแต่สีรูป และ noise (ดูตัวอย่างของพื้นที่ที่ควรเลือกได้ใน help ของโปรแกรมครับ ตรง Examples -> image to build a noise profile) และพื้นที่ที่เลือกต้องมีขนาดมากกว่า 60x60 px แต่ควรมากกว่า 100x100 px (โดยดูจากลักษณะความหนาของกรอบที่ลาก และตัวเลขที่ขึ้นด้านล่าง ขณะลากกรอบ) โดยจะมีข้อความบริเวณ A บอกว่าใช้ได้รึยังครับ
2)กดที่ปุ่ม auto profile เพื่อให้สร้าง profile โดยอัตโนมัติ (จริงๆ แล้วกดที่ปุ่มนี้โดยไม่ต้องลากกรอบเลยก็ได้ โปรแกรมจะหาพื้นที่ให้เอง แต่บางครั้งโปรแกรมก็หาพื้นที่ที่ไม่ดีให้ เราจึงควรลากเองครับ) ที่บอกว่าโดยอัตโนมัติก็เพราะว่ายังมีโหมด manual อีก ซึ่งเรื่องยาวมาก ต้องทำอีกหลายขั้นตอน (+ผมไม่ค่อยแน่ใจว่าผมเข้าใจโหมด manual จริงๆ รึเปล่า) ผมจึงแนะนำแค่โหมด auto ครับ

5.ตอนนี้เราก็สร้าง profile เรียบร้อยแล้ว เริ่มกระบวนการลด noise กันเลยดีกว่า
1)เข้าสู่กระบวนการลด noise โดยเลือกที่ noise filter setting ครับ
2) กด preview เพื่อดูผลที่ได้ โดยปกติแล้วถ้าเราทำ noise profile ถูกต้อง ผลลัพท์จะออกมาใช้ได้ แต่ถ้าเราต้องการปรับแต่งอีกก็ดูที่แถบเลื่อนด้านขวา (ผลลัพท์การ preview จะเห็นในช่องสีเหลี่ยมที่เกิดขึ้นภายในรูป)
A : noise filter settings จะเป็นปรับค่าเกี่ยวกับ noise โดยแบ่งเป็น noise levels และ noise reduction amounts
A1 :noise levels เป็นการปรับระดับของ noise ในรูปว่าให้ตรวจจับมากหรือน้อย 3 ตัวเลื่อนบน (High,Mid,Low) ก็คือการตรวจจับ noise ใน 3 ลักษณะคือ noise ละเอียด (high) กลาง (mid) และหยาบ (low) โดยลักษระของ noise ทั้งสามให้ดูรูปที่อยู่หลังคำว่า high,mid,low ประกอบครับ จะเข้าใจมากขึ้น
ถัดมาคือช่องสีคือ Y,Cr,Cb โดยที่ Y คือเก็บค่าความสว่าง ส่วน Cr และ Cb เก็บค่าสีครับ

-- โดยทั่วไป noise ที่เห็นได้จะอยู่ในช่องสี Y แต่ช่องสี Y ก็เป็นช่องที่เก็บลักษณะรูปภาพไว้เช่นกัน (เหมือนการใช้งาน photoshop ในโหมด LAB color ช่องสี L) ภาพจะชัดหรือมัวก็อยู่ที่ช่องสีนี้ครับ ส่วน Cr และ Cb จะเก็บ noise แบบ color noise (คือ noise จุดสี) ตรงจุดนี้ เราสามารถปรับให้ลบได้เต็มที่ครับ เพราะช่องสี Cr,Cb จะส่งผลกระทบต่อความคมชัดของรูปน้อย--

ตัวเลข % ด้านหลังอ้างอิงมาจาก noise profile ครับ 0% คือลบ noise ตามที่ตรวจจับได้ใน profile ถ้าเพิ่มค่าก็ลด noise มากขึ้น (เพิ่มอัตราการตรวจจับ noise) ซึ่งอาจจะลบจุดที่เป็นรายละเอียดของภาพไปด้วย ถ้าปรับลดลงก็จะลบน้อย ซึ่งแยกลบตามคุณลักษณะ noise และช่องสีตามที่ได้กล่าวมาแล้ว

A2 :noise reduction amounts อัตราการลด noise โดยใช้ค่าจาก noise profile และ noise level (ที่อธิบายด้านบน) นำมาคำนวณเพื่อลด noise จริงๆ ซะที ตัวเลือนแต่ล่ะตัวความหมายเหมือน noise level ครับ แต่เลย % ด้านหลังจากบอกว่าลด noise เป็นร้อยละเท่าไรของค่าที่ตรวจจับได้

--- จะเห็นได้ว่าค่ามาตรฐานของ noise reduction amounts ของช่องสี Y จะเป็น 60% ในขณะที่อันอื่นเป็น 100% หมด ก็เพราะว่า ถ้าเราลด noise ในช่อง Y มากจนเกินไป (ตามที่อธิบายไว้แล้วว่าช่อง Y เก็บรายละเอียดภาพส่วนใหญ่ที่มองเห็นไว้) จะทำให้ภาพขาดความสมจริง ดูเป็นพลาสติกมากกว่าของธรรมชาติ---

A3 :ตัวเลือกจิปาถะ
"Very low freq" จะเป็นการลด noise ที่มีลักษณะ Very low (ลองติ้กดูครับ แล้วดูผลในหน้าต่าง preview)
"smooth edge" ทำขอบวัตถุให้เรียบขึ้น แต่อาจจะลดรายละเอียดภาพลงได้บ้าง
"High quality" โหมดคุณภาพสูง ตอนใช้ preview ปิดไว้ก่อนก็ได้ เพื่อให้แสดงภาพได้เร็วขึ้น แล้วก่อนจะกด apply ค่อยเปิด
"high resolution" เหมือนตัวบนครับ

B: Sharpening Settings ควบคุมการทำภาพให้ชัดขึ้นครับ โดยทั่วไปจะติ้กแค่ช่อง Y (เหอๆ นึกถึงเรื่องการเก็บรายละเอียดของภาพในแต่ล่ะช่องสีที่เคยอธิบายไปนะครับ) แล้วจึงปรับค่า high mid low ว่าจะให้ชัดขึ้นแค่ไหน (ลองดูกับการ preview อ่ะครับ) ส่วนตัวเลือก "Conservative" ให้เลือกไว้ครับ เพราะเป็นการใช้งานโหมดคุณภาพสูง

C: ปุ่ม 3 ปุ่มนี้เป็น tool ที่ช่วยให้ตัดสินใจง่ายขึ้นครับ



ปุ่มแรก เปิด Variant Selector ขึ้นมา โดยที่เจ้า Variant Selector เนี้ยทำหน้าที่เป็นตัวเก็บตัวอย่างภาพที่เราปรับแต่งไว้ในค่าต่างๆ เพื่อนำมาเทียบกัน แล้วชอบภาพไหนที่สุด ก็กดใช้ค่านั้น ปุ่มมี 5 ปุ่มไล่จากซ้าย -> ขวาคือ เก็บภาพ, ใช้ค่าของภาพนั้น, เลื่อนภาพขึ้น, เลื่อนภาพลง, ลบภาพ ส่วน "Auto add variants" คือเพิ่มภาพโดยอัตโนมัติ เมื่อมีการปรับเปลี่ยนค่าการลด noise


ปุ่มที่สอง เปิด component viewer ขึ้นมาดู โดยที่หน้าต่างนี้จะแสดงภาพในช่องสีต่างๆ คือ Y Cr Cb ให้ดู แล้วสามารถกดที่รูป เพื่อดูภาพที่ไม่ผ่านการปรับแต่ง
ปุ่มที่สาม แสดงภาพแบบ negative ในลักษณะที่ทำให้ดู noise ง่ายขึ้น (ผมก็ดูไม่เป็น)



อาจจะมีผิดพลาดไปบ้างก็ขออภัยครับ เพราะความอ่อนด้อยในภาษาอังกฤษของข้าน้อยเอง กว่าจะอ่าน help รู้เรื่องในแต่ล่ะเรื่อง ถ้าจุดไหนไม่เข้าใจขอให้ลองอ่าน help ดูครับ มีอธิบายไว้ละเอียดทีเดียว รวมถึงการสร้าง profile แบบ manual ด้วย
อ้อ เราสามารถใช้ noise profile จากภาพที่เก็บไว้ได้ด้วยนะครับ (หลักการคือ ภาพที่ถ่ายด้วยกล้องเดียวกัน การตั้งค่าพวก iso เหมือนกัน จะให้ noise ลักษณะเดียวกัน) โดยที่เราอาจจะสร้างภาพไว้ภาพหนึ่งเพื่อไว้ทำ profile โดยเฉพาะ เผื่อกรณีที่บางภาพหาจุดทำ profile ไม่ได้ (ในเวปของโปรแกรมมี profile ของกล้องพวก eos 300d ให้โหลดด้วยนะครับ)
เรื่อง profile นี้ยาวและยากมากครับ ยังมีการทำ profile calibration ที่ต้องใช้กล้อง ถ่ายภาพหน้า calibration ในจอ เพื่อใช้สร้าง profile ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดหาอ่านได้ใน help ครับ

อืม ยังมีเรื่องเกี่ยวกับ automation ที่ปรับภาพทั้งหมดในครั้งเดียวที่ผมยังไม่เคยลอง ก็เลยอธิบายไม่ถูกครับ

Ref://www.thaidphoto.com




 

Create Date : 23 เมษายน 2549   
Last Update : 23 เมษายน 2549 1:04:55 น.   
Counter : 1116 Pageviews.  

เรื่องการ Crop ภาพให้ได้อัตราส่วน

เรื่องการ Crop ภาพให้ได้อัตราส่วน

ในขณะที่ภาพจากกล้องดิจิตอลส่วนใหญ่จะมีสัดส่วนอยู่ที่ 4:3 แต่กระดาษอัดภาพกลับมีสัดส่วนต่างๆ มากมายหลายขนาด บทความนี้จะแนะนำวิธี Crop ภาพก่อนนำภาพไปอัดลงกระดาษเพื่อให้ภาพที่จะพิมพ์มีสัดส่วนพอดีกับขนาดของ กระดาษอัดภาพ

จากบทความที่แล้วเรื่อง "การเตรียมตัวก่อนนำภาพไปอัดกับแล็บดิจิตอล" มีพูดถึงเรื่องการ Crop ภาพให้ได้สัดส่วนที่ต้องการ ทั้งนี้เนื่องจากขนาดภาพจากกล้องดิจิตอลส่วนใหญ่จะมีอัตราส่วนอยู่ที่ 4:3 ในขณะที่สัดส่วนของกระดาษที่นำมาอัดภาพนั้นมีสัดส่วนต่างกันออกไป เช่น

สัดส่วน
ขนาดภาพ
3:2
4"x6", 8"x12", 24"x36"
5:4
8"x10", 16"x20"
5:6
20"x24"
5:7
5"x7"


เมื่อภาพต้นฉบับ มีสัดส่วนไม่ตรงกับขนาดสัดส่วนของผลลัพธ์ที่จะออกมามีสองแบบครับ แบบแรกคือเราจำเป็นจะต้องตัดบางส่วนของภาพออกไปเพื่อให้ภาพที่ออกมา Fit อยู่ในขอบเขตของผลลัพธ์



หรือไม่ก็พิมพ์ภาพทั้งภาพลงบนกระดาษโดยจะมีส่วนสีขาวเหลืออยู่บนกระดาษ เช่นเดียวกับที่เราดูหนัง Wide Screen บนทีวี แล้วมีแถบสีดำด้านบนและล่างของจอภาพ



วิธีการตัดภาพออกไปเพื่อให้ได้ภาพเต็มกระดาษเป็นวิธีที่นิยมกันมากกว่า และทำให้การดูรูปภาพไม่รู้สึกว่าขาดๆ เกินๆ ปกติหากเราไม่ทำอะไรกับภาพต้นฉบับแล้ว ช่างอัดภาพที่ร้านจะเป็นคน Crop ภาพออกไป ซึ่งเป็นแบบนี้มาตั้งแต่สมัยฟิลม์ แต่อาจจะเป็นเพราะว่าในสมัยฟิลม์นั้นเราไม่ค่อยจะได้เห็นภาพจริงๆ เต็มๆ จากฟิลม์ซักเท่าไหร่ ต่างจากภาพจากกล้องดิจิตอลที่เราเห็นตัวจริงๆ เต็มๆ บนจอคอมพิวเตอร์แล้ว เมื่อนำไปอัดลงกระดาษอัดภาพจึงรู้สึกว่าภาพที่เราได้รับขาดหายไป อย่างน้อยผมคนหนึ่งล่ะครับ ที่ไม่ต้องการวัดดวงภาพที่ออกมากับฝีมือของช่างอัดภาพ ผมขอเป็นผู้เลือกเองดีกว่าครับว่าจะเก็บรายละเอียดส่วนไหน และจะตัดรายละเอียดส่วนไหนของภาพออกไป

ใน Photoshop จะมีเครื่องมือตัวหนึ่งมีชื่อว่า "Crop Tool" มาให้อยู่แล้ว และผมเคยแนะนำการใช้เครื่องมือตัวนี้ไปแล้วในบทความเรื่อง "วิธีการนำภาพติดบัตรขนาด 1นิ้ว หรือขนาดอื่นๆ มารวมกันบนภาพขนาด 4x6 นิ้ว"
หรือขนาดอื่นๆ มารวมกันบนภาพขนาด 4x6 นิ้ว" แต่ในบทความที่เราจะอ่านต่อไปนี้ผมจะไม่ใช้ Crop tool สาเหตุที่ไม่ใช้เนื่องจากว่าเครื่องมือที่มีชื่อว่า Crop Tool ตัวนี้เมื่อตัดภาพ หรือ Crop ภาพในสัดส่วนที่ต้องการแล้ว มันจะทำการเปลี่ยน Image Size ของภาพไปด้วย ซึ่งมีผลกระทบกับคุณภาพของไฟล์ต้นฉบับ ดังนั้นในบทความนี้จะใช้เครื่องมือที่เรียกว่า "Marquee Tools" เพื่อทำการ Crop ภาพให้ได้สัดส่วนที่ต้องการ โดยการตัดส่วนที่เกินออกไปเท่านั้น ส่วนที่เหลือไว้จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ทั้งสิ้น



เม้าท์มาเยอะแล้วครับ เอาเป็นว่าเริ่มเปิดไฟล์ขึ้นมาเลยดีกว่า จากนั้นคลิ๊กที่ "Marquee Tools" ที่ลูกศรหมายเลข 1 ชี้อยู่ได้เลยครับ จะสังเกตุเห็นแถบ Options Bar ทางด้านบน มีหน้าต่างอย่างในรูป ให้ไปที่ Style แล้วเลือกให้เป็น "Fixed Aspect Ratio" ตามลูกศรหมายเลข 2 จากนั้นให้ใส่ตัวเลขสัดส่วนลงในช่อง Width และ High ที่ลูกศรชี้หมายเลข 3 และ 4 ชี้อยู่ การใส่จะใส่เ็ป็นตัวเลขสัดส่วน เช่น Width = 3, High = 2 หรือตัวเลขของขนาดที่ต้องการพิมพ์ก็ได้เช่น Width = 4, High = 6 อย่างในภาพตัวอย่างของผมเป็นภาพแนวตั้ง และผมต้องการนำไปอัดลงกระดาษ 4"x6" ดังนั้นผมจะใส่ Width = 4 และ High = 6 ครับ (ถ้าเป็นภาพแนวนอนก็จะใส่ Width=6, High=4 ครับ)



จากนั้นก็ไปที่จุดเริ่มต้นที่ต้องการจะ Crop คลิ๊กเ้ม้าส์ค้างไว้แล้วลากออกไปเรื่อยๆ ดังตัวอย่างในภาพ กรอบสี่เหลี่ยมที่จะเป็นตัวกำหนดขอบเขตของการ Crop ก็จะถูกถึงขยายออกไป โดย Photoshop จะคงสัดส่วนของขอบเขตการเลือกภาพเอาไว้ตามที่กำหนดเสมอ ดังนั้นในช่วงแรกๆ อาจจะรู้สึกว่าไม่สามารถควบคุมขนาดได้ดั่งใจ เพราะตัวกรอบที่ขยายขึ้นอาจจะไม่ตรงกับตำแหน่งของ Pointer ดังที่เห็นในภาพว่าเส้นสีแดง ซึ่งเป็นแนวลาก Pointer กับแนวทางด้านล่างของกรอบที่ปรากฏขึ้นจากการลากไม่อยู่ในตำแหน่งเดียวกัน



บางครั้งกรอบที่ลากจนได้ขนาดแล้วอาจจะไม่ลงตำแหน่งทีต้องการอย่างแม่นยำในที เดียว เราสามารถที่จะทำการเลื่อนกรอบสี่เหลี่ยมดังกล่าวไปยังบริเวณที่ต้องการได้ โดยการเลื่อน Pointer ให้เข้าไปในบริเวณกรอบสี่เหลี่ยมที่เลือก ตัว Pointer จะเปลี่ยนไปเป็นลักษณะดังที่ลูกศรหมายเลข 5 ชี้อยู่ในภาพประกอบ จากนั้นให้คลิ๊กเม้าส์ค้างไว้แล้วลากกรอบไปมาเพื่อให้ลงไปในบริเวณที่ต้อง การ หากขนาดของกรอบที่เลือกเอาไว้ ใหญ่หรือเล็กเกินไป เราสามารถที่จะลบกรอบที่เลือกไว้ได้โดยการคลิ๊กบริเวณรอบนอกกรอบที่เลือกไว้ Photoshop จะทำการยกเลิกบริเวณเก่าที่มีการเลือกเอาไว้แล้วทันที จากนั้นก็ให้กลับไปทำขั้นตอนข้างบนอีกครั้งเพื่อทำการเลือกบริเวณที่ต้องการ จะ Crop ภาพใหม่



ถ้าเราเลือกพื้นที่และตำแหน่งของบริเวณที่จะ Crop ภาพได้เรียบร้อยแล้ว ให้ไปที่คำสั่ง Image แล้วตามด้วย Crop ตามที่ชี้โดยลูกศรหมายเลข 6 และ 7 เป็นอันเสร็จสิ้นขบวนการครับ

นี่คือภาพที่ได้สัดส่วนพร้อมพิมพ์ลงบนกระดาษอัดภาพได้อย่างพอดีครับ หรือในบางครั้งเราอาจจะ Crop ภาพในอีกแนวหนึ่ง ซึ่งไม่ตรงกับภาพต้นฉบับก็ได้ อย่างเช่นภาพนี้เป็นภาพที่ Crop มาจากภาพเดียวกันแต่เปลี่ยนสัดส่วนให้เป็นแนวนอนแทนที่จะเป็นแนวตั้งเหมือน ต้นฉบับ



เทคนิคเพิ่มเติมครับ


บางครั้งเราอยากจะเราอาจจะต้องการเลือกตั้งแต่บริเวณริมขอบภาพ แต่ไม่สามารถทำได้โดยสะดวก ผมมีวิธีแนะนำครับ ให้เราเลื่อน Pointer ไปที่ขอบภาพทางด้านล่าง จนเป็นสัญลักษณ์เหมือนในภาพประกอบ จากนั้นให้คลิ๊กเม้าส์แล้วลากออกตามแนวลูกศรสีแดง เราจะได้ขอบสีเทาเพิ่มขึ้นบริเวณขอบภาพดังรูปประกอบ





ให้กลับขึ้นไปทางด้านซ้ายบนของภาพ จากนั้นให้เริ่มคลิ๊กเม้าส์ตั้งแต่บริเวณขอบสีเทาด้านนอกของภาพ ดังลูกศรสีแดงที่เห็นในภาพประกอบ เพียงเท่านี้บริเวณที่เรา้ต้องการที่จะเลือกก็จะเริ่มต้นจากจุดซ้ายบนสุดของ ภาพ

ขอให้ได้ภาพที่ถูกใจเวลาอัดลงกระดาษนะครับ


Ref://www.thaidphoto.com




 

Create Date : 23 เมษายน 2549   
Last Update : 23 เมษายน 2549 3:28:18 น.   
Counter : 4377 Pageviews.  

1  2  

seantun
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




'
[Add seantun's blog to your web]