Seantun

การลดขนาดภาพและไฟล์ให้ได้พอดีแบบรวดเร็ว (ภาค 1)

การลดขนาดภาพและไฟล์ให้ได้พอดีแบบรวดเร็ว (ภาค 1)

การอัพโหลดภาพขึ้นไปบนเว็บไซต์ที่เกี่ยวกับการถ่ายภาพส่วนใหญ่จะเจอข้อจำกัด อยู่สองอย่าง คือการจำกัดขนาดของภาพและการจำกัดขนาดของไฟล์ ในบทความนี้จะแนะนำวิธีการย่อขนาดของภาพ และขนาดของไฟล์ลงให้พอดีตามที่แต่ละเว็บไซต์กำหนดด้วยขั้นตอนที่ไม่ยุ่งยาก
เพื่อความไม่สับสน ผมขออนุญาตอธิบายคำจำกัดความของขนาดภาพและขนาดไฟล์ก่อน เพราะเดี๋ยวจะงงไปกันใหญ่
  • ขนาดของภาพ หมายถึงจำนวน Pixel ของภาพทั้งแนวตั้งและแนวนอน เช่น ภาพขนาด 1600x1200 pixel
  • ขนาดของไฟล์ หมายถึง เนื้อที่บนฮาร์ดดิสก์ที่ใช้ เมื่อนำภาพเซฟลงเป็นไฟล์ เช่น 50KB เป็นต้น

ผมขอสมมุติตัวอย่างขึ้นมาซักอันนะครับ ว่า เรามีไฟล์ที่ถ่ายมาจากกล้องดิจิตอลขนาด 1600x1200 pixel แต่เว็บไซต์ A อนุญาตให้เราสามารถอัพโหลดไฟล์ขึ้นไปโชว์ผลงาน โดยมีเงื่อนไขว่าขนาดของไฟล์จะต้องไม่เกิน 50K และขนาดของภาพสูงสุดด้านใดด้านหนึ่งจะต้องไม่มากกว่า 450pixel

นี่คือภาพตัวอย่างของเราครับ ให้เปิดไฟล์นี้ด้วยโปรแกรม Photoshop แล้วทำตามขั้นตอนต่อไปนี้เลยครับ

เมื่อเปิดไฟล์ต้นฉบับของเราใน Photoshop เรียบร้อยแล้ว ให้ไปที่เมนู Save For Web ตามขั้นตอนที่ลูกศรหมายเลข 1 และ 2 ชี้อยู่

เราจะได้ Window ใหม่ตามภาพประกอบ ซึ่งผมขอแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ดังที่มีตัวเลขสีน้ำเงินกำกับอยู่ในภาพ โดยผมขอพูดถึงในส่วนที่ 2 ก่อน โดยในบริเวณนี้จะเป็นบริเวณที่เอาไว้กำหนดค่าที่จะมีผลให้ขนาดของไฟล์ เปลี่ยนไป นั้นคือขนาดของภาพ และคุณภาพของภาพ เพราะค่าสองตัวนี้มีผลโดยตรงกับขนาดของไฟล์ครับ สำหรับส่วนที่ 1 นั้นจะแบ่งออกเป็นรูปสองรูปดังที่เห็นในภาพ โดยรูปทางด้านซ้ายมือจะเป็นต้นฉบับ ส่วนรูปทางด้านขวามือจะเป็นผลลัพธ์ที่ได้จากการเปลี่ยนค่าต่างๆ ที่อยู่ในส่วนที่ 2 ดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น

เริ่มแรกเลย เราจะมาเปลี่ยนขนาดของภาพให้ได้ตามที่ต้องการเสียก่อน ซึ่งในข้อสมมุติที่เรายกตัวอย่างไว้ข้างบนระบุว่าขนาดของภาพด้านใด ด้านหนึ่งจะต้องไม่เกิน 450 Pixels ให้คลิ๊กตามลูกศรหมายเลข 3 และใส่ขนาดของภาพลงในช่องที่ชี้โดยลูกศรหมายเลข 4 (เนื่องจากภาพที่นำมาเป็นตัวอย่างเป็นภาพแนวนอน ดังนั้นค่า 450 เราจะใส่ในช่อง Width แต่ถ้าเป็นภาพแนวตั้ง เราจะต้องป้อนลงในช่อง Height) จากนั้นตามด้วย Apply ที่ชี้โดยลูกศรหมายเลข 5

หมายเหตุ การ ใส่ค่าตัวเลขขนาดของภาพนั้นใส่เพียงข้างใดข้างหนึ่งก็เพียงพอ เพราะเมื่อเราใส่ตัวเลขลงไปในด้านใดด้านหนึ่งแล้ว Photoshop จะทำการคำนวณค่าของอีกด้านหนึ่งให้ได้สัดส่วนเองโดยอัตโนมัติ

เมื่อเรากำหนดขนาดของภาพเสร็จแล้ว เราจะไปกำหนดคุณภาพของภาพให้ได้พอดีกับขนาดไฟล์ โดยคลิ๊กตามลูกศรหมายเลข 6 และ 7

ป้อนขนาดของไฟล์ที่ต้องการในช่องที่ชี้โดยลูกศรหมายเลข 8 (ในกรณีสมมุติของเราคือ 50KB) ตามด้วย "OK" ที่ชี้โดยลูกศรหมายเลข 9

คลิ๊กตามลูกศรหมายเลข 10 เพื่อ Save


เทคนิคเพิ่มเติมเพื่อคุณภาพที่ดีที่สุด
เพียงขั้นตอนที่กล่าวไปข้างบนทั้งหมดก็เพียงพอที่จะบรรลุถึงจุดหมายของการลด ขนาดภาพและขนาดไฟล์ให้ได้ตามต้องการแล้ว แต่สำหรับท่านผู้อ่านท่านใดที่อยากจะให้ภาพออกมามีคุณภาพที่ดีที่สุด โดยใช้ขนาดไฟล์น้อยที่สุดแล้ว เนื้อหาต่อไปนี้เป็นรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ในการปรับแต่งเพิ่มเติมเพื่อให้ได้งานที่ดีที่สุดครับ

โดยเครื่องมือที่เราจะใช้ตรวจวัดคุณภาพ มีอยู่ 3 ตัวด้วยกันครับ ตามที่ลูกศรสีน้ำเงินทั้งสามชี้อยู่ในภาพประกอบ

ตัวแรก คือกลุ่มเครื่องมือที่ชี้โดยลูกศรหมายเลข 1 ซึ่งเครื่องมือที่ต้องใช้มีสองตัวดังนี้
เอาไว้ขยายภาพ หรือย่อภาพ เพื่อเปรียบเทียบคุณภาพของภาพต้นฉบับที่อยู่ทางด้านซ้าย และตัวอย่างผลลัพธ์ของภาพที่ถูกเปลี่ยนแปลงคุณภาพไปแล้วซึ่งเป็นภาพทางขวา วิธีใช้เครื่องมือตัวนี้คือการคลิ๊กไปที่ภาพเพื่อซูมภาพให้ใหญ่ขึ้น (Zoom in) หรือกดปุ่ม Alt แล้วคลิ๊กไปที่ภาพ เพื่อถอยการซูมภาพออกมา (Zoom Out) ถ้าไม่เข้าใจว่า Zoom in หรือ Zoom Out เป็นยังไง แนะนำให้ลองเล่นดูครับ
กรณีที่เราซูมเข้าไปในรายละเอียด ภาพอาจจะใหญ่จนไม่สามารถแสดงภาพได้หมด ภาพจะถูกนำมาแสดงเฉพาะบางส่วน เราจะใช้เครื่องมือตัวนี้เลื่อนไปยังส่วนต่างๆ ที่ต้องการดูรายละเอียด วิธีใช้เครื่องมือตัวนี้ให้เลื่อน Pointer ของ Mouse ไปที่ภาพ จากนั้นให้กดปุ่มของเม้าส์ค้างไว้ แล้วทำการเลื่อนเม้าส์ ภาพบนจอจะเลื่อนไปมาในทิศทางเดียวกัน เมื่อได้ตำแหน่งที่ต้องการแล้วให้ปล่อยการกดปุ่มเม้าส์
ตัวที่สองคือระดับของคุณภาพของภาพ ถ้าตัวเลขตรงนี้ยิ่งสูงคุณภาพความคมชัดของภาพก็จะมียิ่งมาก แต่ขนาดของไฟล์ก็จะใหญ่ตามขึ้นไปด้วย (ตัวเลขคุณภาพสูงเกินไปก็เปลืองโดยเปล่าครับ อย่างคุณภาพระดับที่ 85 กับ 100 นี่ดูแทบไม่เห็นความแตกต่างกันแล้วครับ) ตัวเลขตรงนี้ผมแนะนำว่าระดับปานกลางจะอยู่ที่ 60-65, ระดับค่อนข้างดีจะอยู่ที่ 70-75 ในขณะที่คุณภาพดีมากอยู่ที่ 85 และค่าตรงนี้ไม่ควรต่ำกว่า 60 ครับ ไม่งั้นภาพที่ออกมาจะเริ่มดูแย่แล้ว ดังนั้น หลังจากทำตามขั้นตอนข้างบนมาทั้งหมดแล้ว หากพบว่าค่าตรงนี้เป็นตัวเลขที่มีค่าสูงเกินไปอาจจะปรับลดลง เพื่อให้ได้ขนาดของไฟล์ที่เล็กลงไปอีก หรือในขณะเดียวกันถ้าพบว่าค่าตรงนี้ต่ำเกินไป เช่นอาจจะต่ำกว่า 60 ผมแนะนำว่าควรจะเพิ่มค่าตรงนี้ให้สูงขึ้น และหากว่าการเพิ่มค่าตรงนี้ให้สูงขึ้นทำให้ขนาดของไฟล์ใหญ่เกินไป ผมแนะนำให้ย่อขนาดของภาพให้เล็กลง (ขั้นตอนลำดับที่ D.)
ตัวที่สาม หรือตัวสุดท้ายที่จะแนะนำคือตัวบอกขนาดของไฟล์ผลลัพธ์ที่จะถูกเซฟ ทั้งนี้ควรดูค่านี้ให้ดีครับ เพราะหากเราปรับแต่งคุณภาพของภาพเอง ด้วยเครื่องมือตัวที่สองที่กล่าวไป จะมีผลโดยตรงกับขนาดของไฟล์ ซึ่งอาจจะทำให้ขนาดของไฟล์ใหญ่กว่ากำหนดได้ ยังไงเมื่อลองปรับค่าต่างๆ ดูแล้ว ไม่ว่าจะขนาดภาพ หรือคุณภาพของภาพก็อย่าลืมตรวจสอบขนาดของไฟล์ตรงนี้ด้วยนะครับ
วิธีการทั้งหมดที่เราพูดถึงกันในบทความนี้เป็นวิธีที่รวดเร็ว และง่าย เพราะสามารถที่จะย่อภาพและขนาดของไฟล์ให้ได้ตามที่ต้องการได้ในขั้นตอนเดียว แต่อย่างไรก็ดี การย่อภาพจะทำการเกิดผลข้างเคียงขึ้นมาอย่างหนึ่ง นั่นคือความคมชัดของภาพหายไป ภาพที่ได้จากการย่อจะมีลักษณะดูนุ่มลงไป ซึ่งเราสามารถแก้ไขได้ แต่จะมีขั้นตอนมากขึ้น นั่นคือการปรับขนาดภาพและปรับแต่งความคมชัดใน Photoshop ให้เรียบร้อยเสียก่อนแล้วจึงใช้คำสั่ง Save for Web ทำการเปลี่ยนเฉพาะระดับของคุณภาพ เพื่อให้ได้ขนาดของไฟล์ตามต้องการ ซึ่งรายละเอียดสามารถติดตามต่อได้ใน บทความภาค ต่อไป เลยครับ

Ref://www.thaidphoto.com


Create Date : 20 เมษายน 2549
Last Update : 23 เมษายน 2549 0:43:22 น. 0 comments
Counter : 1354 Pageviews.  

seantun
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




'
[Add seantun's blog to your web]