อาตาปี สัมปชาโน สติมา
 
 

คิริมานนทสูตร ฉบับธรรมิกราช (ต่อ) ครูที่ดี

ครูที่ดี

ตทน นฺตรํ ลำดับนั้น พระพุทธเจ้าตรัสเทศนาต่อไปอีกว่า อานนฺท ดูกรอานนท์ อันว่าบุคคลทั้งหลายผู้ปรารถนาซึ่งพระนิพพาน ควรแสวงหาซึ่งครูที่ดี ที่อยู่เป็นสุขสำราญมิได้ประมาท เพราะพระนิพพานไม่เหมือนของสิ่งอื่น อันของสิ่งอื่นนั้น เมื่อผิดไปแล้วก็มีทางแก้ตัวได้ หรือไม่สู้เป็นอะไรนัก เพราะไม่ละเอียดสุขุมมาก ส่วนพระนิพพานนี้ละเอียดสุขุมที่สุด ถ้าผิดแล้วก็เป็นเหตุให้ได้รับความทุกข์เป็นนักหนา ทำให้หลงโลกหลงทางห่างจากความสุข ทำให้เสียประโยชน์เพราะอาจารย์ ถ้าได้อาจารย์ที่ถูกที่ดี ก็จะได้รับผลที่ถูกที่ดี ถ้าได้รับอาจารย์ที่ไม่รู้ไม่ดีไม่ถูกต้อง ก็จักได้รับผลที่ผิดเป็นทุกข์พาให้หลงโลกหลงทาง พาให้เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสารสิ้นกาลนาน เปรียบเหมือนผู้จะพาเราไปในที่ตำบลใดตำบลหนึ่ง แต่ผู้นั้นไม่รู้จักตำบลนั้น แม้เราเองก็ไม่รู้ เมื่อกระนั้น ไฉนเขาจึงจะพาเราไปให้ถึงตำบลนั้นได้เล่า ข้ออุปมานี้ฉันใด อาจารย์ผู้ไม่รู้พระนิพพาน และจะพาเราไปพระนิพพานนั้น ก็จะพาเราหลงโลกหลงทางไปๆ มา ๆ ตายๆ เกิดๆ อยู่ในวัฏสงสารไม่อาจจะพาไปถึงพระนิพพานได้ เหมือนคนที่ไม่รู้จักตำบลที่ไป และเป็นผู้พาไป ก็ไม่อาจจะถึงได้ มีอุปไมยฉันนั้น






ดูกรอานนท์ เมื่ออยากรู้จักนรก สวรรค์ และพระนิพพาน ก็ควรให้รู้เสียในเวลาก่อนที่ยังมีชีวิตอยู่ เมื่ออยากพ้นทุกข์ในนรก ก็รีบออกให้พ้นเสียแต่เมื่อยังไม่ตาย เมื่ออยากได้สุขในมนุษย์ หรือสวรรค์ หรือในนิพพานก็ให้รับขวบขวายหาสุขเหล่านั้นไว้แต่เมื่อยังไม่ตาย จะถือว่าตายจึงจักพ้นทุกข์ในนรก ตายแล้วจึงจักไปสวรรค์ไปพระนิพพานดังนี้ เป็นอันใช้ไม่ได้ เสียประโยชน์เปล่า อย่าเข้าใจว่า เมื่อมีชีวิตอยู่สุขอย่างหนึ่ง เมื่อตายไปแล้วมีสุขอีกอย่างหนึ่ง เช่นนี้เป็นความที่เข้าใจผิดโดยแท้ เพราะจิตมีดวงเดียว เมื่อมีชีวิตอยู่ก็จิตดวงนี้ เมื่อตายไปแล้วก็จิตดวงนี้ เมื่อยังมีชีวิตอยู่ได้รับทุกข์ฉันใด เมื่อตายไปแล้วก็ได้รับทุกข์ฉันนั้น เมื่อยังมีชีวิตอยู่มีความสุขฉันใด แม้เมื่อตายไปแล้วก็ได้รับความสุขฉันนั้น ไม่ต้องสงสัย เมื่อยังมีชีวิตอยู่ ยังไม่รู้ไม่เห็นซึ่งความทุกข์และความสุข มีสภาวะปานดังนี้ เมื่อตายไปแล้วยิ่งจะซ้ำร้าย จะมีทางรู้ทางเห็นด้วยอาการอย่างไร พระพุทธเจ้าได้ตรัสเทศนาแก่ข้าฯ อานนท์ ด้วยประการฉะนี้ฯ

ดูกรอานนท์ ถ้าอยากได้สุขอันใด ก็ควรรู้จักสุขอันนั้นก่อนจึงจะได้เมื่ออยากได้สุขในพระนิพพาน ก็ควรรู้จักสุขในพระนิพพาน อยากได้สุขในมนุษย์และสวรรค์ ก็ให้รู้จักสุขในมนุษย์และสวรรค์นั้นเสียก่อนจึงจะได้ ถ้าไม่รู้จักสุขอันใด ก็ไม่สามารถยังความสุขอันนั้นให้เกิดขึ้นได้ ไม่เหมือนทุกข์ในนรก อันทุกข์ในนรกนั้น จะรู้ก็ตามไม่รู้ก็ตาม ถ้าทำกรรมที่เป็นบาปแล้ว ผู้ที่รู้หรือผู้ที่ไม่รู้ก็ตกนรกเหมือนกัน ถ้าไม่รู้จักนรก ก็ยิ่งไม่มีเวลาพ้นจากนรกได้ แต่มิใช่ว่าทำบุญให้ทานมิได้บุญ ความสุขที่ได้จากการทำบุญนั้นมีอยู่ แต่ว่าเป็นความสุขที่ยังไม่พ้นจากทุกข์ในนรก เมื่อยังไม่รู้ไม่เห็นนรกตราบใด ก็ยังไม่พ้นจากนรกอยู่ตราบนั้น ครั้นได้เข้าถึงนรกแล้ว เมื่อได้รู้ทางออกจากนรกแล้ว ปรารถนาจักด้นจากนรกก็พ้นได้ เมื่อไม่อยากพ้นก็ไม่อาจพ้นได้ ต้องรู้จักแจ้งชัดว่านรกอยู่ที่ในนั้นๆ มีลักษณะอาการอย่างนั้นๆ และควรรู้จักทางออกจากนรกให้แจ้งชัด ทางออกจากนรกนั้นก็คือ ศีล ๕ ศีล ๑๐ ศีลพระปาติโมกข์นั่นเอง เมื่อรู้แล้วอยากจะออกให้พ้นนรกก็ออกได้ ไม่อยากจะออกให้พ้นก็พ้นไม่ได้ ผู้ที่รู้กับผู้ที่ไม่รู้ย่อมได้รับทุกข์ในนรกเหมือนกัน ส่วนความสุขในมนุษย์ สวรรค์ และพระนิพพานนั้น ต้องรู้จักจึงจะได้ ถ้าไม่รู้ไม่เข้าใจไม่ได้เลย มีอาการต่างกันอย่างนี้ฯ
ตทนนฺตรํ ลำดับนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสเทศนาต่อไปอีกว่า อานนฺท ดูกรอานนท์ อันว่าบุคคลผู้จะสอนพระนิพพานนั้น ต้องให้รู้แจ้งประจักษ์ชัดเจนว่า พระนิพพานมีอยู่ในที่นั้นๆ มีลักษณะอาการอย่างนั้นๆ ต้องให้รู้แจ้งชัด จะกล่าวแต่เพียงวาจาว่านิพพานๆ ด้วยปาก แต่ใจไม่รู้แจ้งชัดเช่นนั้น ไม่ควรเชื่อถือเลย ต้องให้รู้แจ้งชัดในใจก่อน จึงควรเป็นครูเป็นอาจารย์สอนท่านผู้อื่นต่อไป จะเป็นเด็กก็ตาม ผู้ใหญ่ก็ตาม ถ้ารู้แจ้งซึ่งพระนิพพานแล้ว ก็ควรเป็นครูเป็นอาจารย์ และควรนับถือเป็นครูเป็นอาจารย์ได้ แม้จะเป็นผู้ใหญ่สูงศักดิ์สักปากใดก็ตาม ถ้าไม่รู้ไม่เข้าใจแล้ว ไม่ควรนับถือเป็นครูเป็นอาจารย์เลยฯ
ดูกร อานนท์ บุคคลผู้ไม่รู้พระนิพพาน ไม่ควรเป็นครูสั่งสอนท่านผู้อื่นในทางพระนิพพานเลย ต่างว่าจะสั่งสอนเขา จะสั่งสอนว่ากระไรเพราะตัวไม่รู้ เปรียบเหมือนบุคคลไม่เคยเป็นช่างวาดเขียนหรือช่างต่างๆ มาก่อน แล้วอยากจะเป็นครูสั่งสอนเขา จะบอกแก่เขาว่ากระไร เพราะตัวเองก็ไม่รู้ ไม่เข้าใจ จะเอาอะไรไปบอกไปสอนเขา จะเอาแต่คำพูดเป็นครูทำตัวอย่างให้เขาเห็นเช่นนั้นไม่ได้ จะให้เขาเล่าเรียนอย่างไร เพราะไม่มีตัวอย่างให้เขาเห็นด้วยตา ให้รู้ด้วยใจ เขาจะทำตามอย่างไรได้ ตัวผู้เป็นครูนั้นแลต้องทำก่อน ถ้าทำไม่ได้ก็ไม่ควรเป็นครูสอนเขา ถ้าขืนเป็นครู ก็จักพาเขาหลงโลกหลงทาง เป็นบาปเป็นกรรมแก่ตัวนักหนาทีเดียว พระพุทธเจ้าตรัสแก่ข้าฯ อานนท์ ดังนี้แลฯ
ผู้คบครูอาจารย์ที่ ไม่รู้ดีและได้ผลที่ไม่ดี มีในโลกมิใช่น้อย เหมือนดังพระองคุลีมาลเถระ ไปเรียนวิชาในสำนักครูผู้มีทิฏฐิอันผิด ได้รับผลที่ผิดคือเป็นมหาโจรฆ่าคนล้มตายเสียนับด้วยพัน หากเราตถาคตรู้เห็น มีความสงสารเวทนามาข้องข่ายสยัมภูญาณ จึงได้ไปโปรดทรมานให้ละเสียซึ่งพยศอันร้าย เป็นการลำบากมิใช่น้อย ถ้าไม่ได้พระตถาคตแล้ว พระองคุลิมาลก็จักได้เสวยทุกข์ในวัฏสงสารสิ้นชาติเป็นอันมากฯ




 

Create Date : 08 เมษายน 2556   
Last Update : 8 เมษายน 2556 8:59:07 น.   
Counter : 553 Pageviews.  


คิริมานนทสูตร ฉบับธรรมิกราช (ต่อ)

ดูกรอานนท์ บุคคลทั้งหลายผู้ปรารถนาพระนิพพาน ควรศึกษาให้รู้แจ้ง ครั้นรู้แจ้งแล้วจักถึงก็ตาม ไม่่ถึงก็ตาม ก็ไม่เป็นทุกข์แก่ใจ ถ้าไม่รู้แต่อยากได้ ย่อมเป็นทุกข์มากนัก

เปรียบเหมือนบุคลอยากได้วัตถุสิ่งหนึ่งแต่หากไม่รู้จักวัตถุสิ่งนั้น ถึงวัตถุสิ่งนั้นจะมีอยู่ในที่จำเพาะหน้า ก็ไม่อาจถือเอาได้เพราะไม่รู้ ถึงมีอยู่ก็มีเปล่าๆ ส่วนตัวก็ไม่หายความอยากได้ จึงเป็นทุกข์ยิ่งนัก ผู้ปรารถนาพระนิพพานแต่ไม่รู้จักพระนิพพาน ก็เป็นทุกข์เช่นนั้น จะถือเสียว่าไม่รู้ก็ช่างเถอะ เราปรารถนาเอาคงจะได้ คืออย่างนี้ก็ผิดไปใช้ไม่ได้


ดูกร อานนท์ บุคคลทั้งหลายควรจะศึกษาให้รู้แจ้งคลองแห่งพระนิพพานไว้ให้ชัดเจน แล้วไม่ควรประมาท แม้ปรารถนาจะไปก็ไป แม้ไม่ปรารถนาจะไปก็อย่าไป ครั้นเห็นดีแล้ว จิตประสงค์แล้ว ก็ให้ปฏิบัติในคลองแห่งพระนิพพานด้วยจิตอันเลื่อมใส ก็อาจจักสำเร็จ ไม่สำเร็จก็จักเป็นอุปนิสัยปัจจัยต่อไป ผู้ที่ไม่รู้ แม้ปรารถนาจะไปหรือไม่ไป อยู่ใกล้ที่นั่นบ่อยๆ ก็ไม่อาจถึง เพราะเข้าใจผิด คิดว่าอยู่ที่นั้นที่นี้ ก็เลยผิดไปตามจิตที่คิด หลงไปหลงมาอยู่ในวัฏสงสาร ไม่มีวันที่จะถึงพระนิพพานได้



ภนฺ เต อริยกสฺสป ข้าแต่พระอริยกัสสปะผู้มีอายุ พระพุทธเจ้าได้ตรัสเทศนาแก่ข้าฯ อานนท์ ด้วยประการฉะนี้ ขอให้พระสงฆ์ทั้งหลายจงทราบด้วยพลญาณแห่งตน ดังแสดงมานี้เถิดฯ

ดูกรอานนท์ บุคคลผู้ไม่รู้แจ้ง ไม่เข้าใจพระนิพพาน ไม่ควรจะสั่งสอนพระนิพพานแก่ท่านผู้อื่น ถ้าขืนสั่งสอนก็จะพาท่านหลงทาง จักเป็นบาปเป็นกรรมแก่ตน ควรจะสั่งสอนแต่เพียงคลองแห่งทางมนุษย์สุคติ สวรรค์สุคติ เป็นต้น ว่าสอนให้รู้จักทาน ให้รู้จักศีล ๕ ศีล ๘ ให้รู้คลองแห่งกุศลกรรมบถ ให้รู้จักปฏิบัติมารดาบิดา ให้รู้จักอุปัชฌาย์อาจารย์ ให้รู้จักก่อสร้างบุญกุศลต่างๆ ที่เป็นประโยชน์แก่ตนและผู้อื่น เพียงเท่านี้ก็อาจจะได้มนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติพอสมควรอยู่แล้ว ส่วนความสุขในโลกกุตตรนิพพานนั้น ผู้ใดต้องการจริง ต้องรักษาศีล ๕ ศีล ๑๐ ศีลพระปาติโมกข์เสียก่อน จึงชื่อว่าเข้าใกล้ทาง มีโอกาสที่จักได้ถึงโลกกุตตรนิพพานโดยแท้ แม้ผู้จะเจริญคลองพระนิพพานนั้น ก็ให้รู้จักท่านผู้เป็นครูว่ารู้แจ้งทางพระนิพพานจริง จึงไปอยู่เล่าเรียน ถ้าไปอยู่เล่าเรียนในสำนักของท่านผู้ไม่รู้แจ้ง เรียนได้ด้วยยากยิ่งนัก ด้วยเหตุสัตว์ยินดีอยู่ในกามคุณ อันเป็นข้าศึกแก่พระนิพพานโดยมากฯ
แม้แต่ผู้รู้แล้ว ตั้งหน้าบากบั่นขวนขวายจะให้ได้ให้ถึง ก็ยังเป็นการยากลำบากอย่างยิ่ง บุคคลผู้ไม่เห็นพระนิพพานและจะถึงพระนิพพาน จักมีมาแต่ไหน อย่าว่าแต่พระนิพพานเลย แม้จะกระทำการสิ่งใดก็ดี เป็นต้นว่าช่างเงิน ช่างทอง ช่างเหล็ก ช่างไม้ ช่างวาดเขียนต่างๆ เป็นต้น ต้องรู้ด้วยใจหรือเห็นด้วยตาเสียก่อน จึงจะทำสิ่งนั้นให้สำเร็จได้ ผู้ปรารถนาพระนิพพานก็ต้องศึกษาให้รู้จักพระนิพพานไว้ก่อนจึงจะได้ จะมาตั้งหน้าปรารถนาเอาโดยความไม่รู้นั้น จะมีทางได้มาแต่ไหนฯ




 

Create Date : 08 เมษายน 2556   
Last Update : 8 เมษายน 2556 8:51:48 น.   
Counter : 745 Pageviews.  


คิริมานนทสูตรฉบับธรรมิกราช (ต่อ)

 

เมืองพระนิพพาน

ตทน นฺตรํ ในลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสเทศนาต่อไปอีกว่า อานนฺท ดูกรอานนท์ นิพฺพานํ นครํ นาม อันชื่อว่าเมืองพระนิพพานย่อมตั้งอยู่ในที่สุดแห่งโลก โลกมีที่สุดเพียงใด พระนิพพานก็ตั้งอยู่ที่สุดเพียงนั้น พระนิพพานเป็นพระมหานครอันใหญ่ เป็นที่บรมสุขหาที่เปรียบมิได้ คำที่ว่า ที่สุดแห่งโลกนั้น จะถือเอาอากาศโลกหรือจักรวาลโลกนั้นมีที่สุดเบื้องต่ำก็เพียงใต้แผ่นดิน แผ่นดินนี้มีน้ำรอง ใต้น้ำนั้นมีลม ลมนั้นหนาได้ ๙ แสน ๔ หมื่นโยชน์สำหรับรองน้ำไว้ ใต้ลมนั้นลงไปเป็นอากาศหาที่สุดไม่ได้ ที่สุดโลกเบื้องต่ำก็เพียงลมเท่านั้น อันว่าที่สุดแห่งจักรวาลโลกเบื้องขวางนั้น มีอนันตจักรวาลเป็นเขต นอกอนันตจักรวาลออกไปก็เป็นอากาศว่างๆ อยู่ จึงว่าโดยขวางมีอนันตจักรวาลเป็นที่สุด อันว่าที่สุดแห่งจักรวาลโลกเบื้องบนนั้น มีอรูปพรหมเป็นเขต เพราะอรูปพรหม ๔ ชั้นนั้น พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นนิพพานพรหมหรือนิพพานโลก
นิพพานโลก นี้เป็นที่ไม่สิ้นสุด ส่วนว่านิพพานของพระพุทธเจ้าซึ่งมีนามว่าโลกุตตรนิพพาน เป็นนิพพานที่สุดแล้วต่ออรูปพรหม ๔ ชั้นขึ้นไป ก็เป็นแต่อากาศว่างๆ อยู่ จึงว่าที่สุดเบื้องบนเพียงอรูปพรหมเท่านั้น จะเข้าใจเอาเองว่าลมรองน้ำ อนันตจักรวาลและอรูปพรหมเป็นที่สุดของโลก เมืองพระนิพพานคงตั้งอยู่ในที่สุดของโลกเท่านั้น
ดังนี้ พระพุทธเจ้าทรงห้ามเสียว่า อย่าพึงเข้าใจอย่างนั้นเลย ที่ทั้งหลายเหล่านั้น ใครๆ ก็ไม่สามารถจักไปถึงด้วยกำลังกาย หรือด้วยกำลังพาหนะมียานช้างยานม้าได้ อย่าเข้าใจว่าเมืองนิพพานตั้งอยู่ในที่สุดโลกเหล่านั้นหรือตั้งอยู่ในที่ แห่งนั้นแห่งนี้ อย่าเข้าใจว่าตั้งอยู่ในที่ใดที่หนึ่งเลย แต่ว่าพระนิพพานนั้นหากมีอยู่ในที่สุดของโลก เป็นของจริงไม่ต้องสงสัย ให้ท่านทั้งหลายศึกษาให้เห็นโลก รู้โลกเสียให้ชัดเจน ก็จักเห็นพระนิพพาน พระนิพพานหากตั้งอยู่ในที่สุดแห่งโลกนั่นเองฯ
ดูกรอานนท์ บุคคลทั้งหลายถึงที่สุดโลก ออกจากโลกได้แล้ว จึงชื่อว่าถึงพระนิพพาน และรู้ตนว่าเป็นผู้พ้นทุกข์แล้ว และอยู่สุขสำราญบานใจทุกเมื่อ หาความเร่าร้อนโศกเศร้าเสียใจมิได้ ถ้าผู้ใดยังไม่ถึงที่สุดโลก ยังออกจากโลกไม่ได้ตราบใด ก็ชื่อว่ายังไม่ถึงพระนิพพาน จะต้องทนทุกข์น้อยใหญ่ทั้งหลาย เกิดๆ ตายๆ กลับไปกลับมาหาที่สุดมิได้อยู่ตราบนั้น
บุคคลทั้งหลายเป็นผู้ต้องการพระนิพพาน แต่หารู้ไม่ว่าพระนิพพานนั้นเป็นอย่างไร อยู่ที่ไหน ชั้นแต่ทาน ศีล
สมาธิ ปัญญา อันเป็นทางจะไปสู่พระนิพพานก็ไม่เข้าใจ เมื่อไม่รู้ไม่เห็นไม่เข้าใจ แล้วจักไปสู่พระนิพพานนั้นก็เป็นการลำบากยิ่งนักหนา เปรียบเหมือนคน ๒ คน ผู้หนึ่งตาบอด ผู้หนึ่งตาดี จะว่ายข้ามน้ำมหานทีอันกว้างใหญ่ ในคนทั้ง ๒ คน ผู้ใดจักถึงฝั่งข้างโน้นก่อน คนผู้ตาดีต้องถึงก่อน ส่วนคนตาบอดนั้น จะว่ายข้ามไปถึงฝั่งฟากโน้นได้แสนยากลำบาก บางทีจมเสียในท่ามกลางแม่น้ำ เพราะไม่รู้ไม่เห็นว่าฝั่งอยู่ที่ไหน ข้อนี้อุปมาฉันใด คนไม่รู้ไม่แจ้งว่าพระนิพพานอยู่ที่ไหน อย่างไร ชั้นแต่ทางจะไปก็ไม่เข้าใจ แต่ผู้อยากได้อยากถึง อยากไปพระนิพพาน เมื่อเป็นเช่นนี้ การได้การถึงของผู้นั้น ก็ต้องเป็นของลำบากยากแค้นอยู่เป็นธรรมดา บางทีก็ตายเสียเปล่า จักไม่ได้เห็นเงื่อนเค้าของพระนิพพานเลย ผู้ศึกษาพึงเข้าใจว่า พระนิพพานอยู่ที่สุดของโลก ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นทางไปพระนิพพาน ถ้ารู้อย่างนี้ ยังมีทางที่จะถึงพระนิพพานได้บ้าง แม้เมื่อรู้แล้วอย่างนั้น ก็ยังต้องพากเพียรพยายามเต็มที่จึงจะถึง เหมือนคนตาดีว่ายข้ามน้ำ ก็ต้องพยายามจนสุดกำลัง จึงจะข้ามพ้นได้ มีอุปไมยเหมือนกันฉันนั้นฯ




 

Create Date : 24 มีนาคม 2556   
Last Update : 24 มีนาคม 2556 10:55:05 น.   
Counter : 573 Pageviews.  


คิริมานนทสูตรฉบับธรรมิกราช (ต่อ)

การ ที่เจริญอสุภกรรมฐานนี้ ก็เพื่อจะให้เบื่อหน่ายในร่างกายของตนอันเห็นว่าเป็นของสวยของงาม ทั้งวัตถุภายในและภายนอก ให้เห็นเป็นของเปื่อยเน่าผุพัง จะได้ยกตนให้พ้นจากกิเลสตัณหา ผู้มีปัญญารู้แล้ว ไม่ควรชื่นชมยินดีในรูปตนและรูปผู้อื่น ทั้งรูปหญิงรูปชาย ทั้งวัตถุข้าวของ ดีงาม ประณีตบรรจง อย่างใดอย่างหนึ่งเลย เพราะว่าความรักทั้งปวงนั้นเป็นกองกิเลสทั้งนั้น ถ้าห้ามใจให้ห่างจากกองกิเลสได้ จึงจะได้รับความสุขทั้งในชาตินี้และชาติหน้า ถ้าหากใจยังพัวพันอยู่ในกองกิเลสแล้ว ถึงแม้จะได้รับความสุขสบาย ก็เพียงแต่ชาตินี้เท่านั้น เบื้องหน้าต่อไปไม่มีทางที่จะได้เสวยสุข มีแต่ได้เสวยทุกข์โดยฝ่ายเดียว





ถ้าประสงค์ต่อพระ นิพพานแท้ ให้โกนเกล้าเข้าบวชในพระศาสนา ไม่ว่าบุรุษหญิงหรือชาย ถ้าทำได้อย่างนี้ ชื่อว่าปฏิบัติใกล้ต่อพระนิพพาน เพราะว่าเมืองนิพพานนั้นปราศจากกิเลสตัณหา เมืองมนุษย์และเมืองสวรรค์เป็นที่ทรงไว้ซึ่งกิเลสตัณหา ไม่เหมือนเมืองพระนิพพาน ผู้มีปัญญาเมื่อปรารถนาความสุขในพระนิพพาน จงออกบวชในพระพุทธศาสนา แล้วตั้งใจเจริญสมถวิปัสสนา อย่าให้หลงโลกหลงทาง ถ้าไม่รู้ทางพระนิพพาน มีแต่ตั้งหน้าปรารถนาเอาเท่านั้น ก็จักหลงขึ้นไปในอรูปพรหม ชื่อว่าหลงโลกหลงทางไปในภพต่างๆ ให้ห่างจากพระนิพพานไป
ดูกรอานนท์ ผู้รู้แล้วและมิได้ทำตามนั้น จะนับว่าเป็นคนรู้ไม่ได้ เพราะไม่เกิดมรรคผลสิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย เราตถาคตอนุญาตตั้งศาสนธรรมคำสั่งสอนไว้นี้ก็เพื่อว่า เมื่อรู้แล้วว่าสิ่งใดเป็นโทษให้ละเสีย มิใช่ตั้งไว้เพื่ออ่านเล่น ฟังเล่น พูดเล่น เท่านั้นเลย บุคคลทั้งหลายได้เสวยทุกข์ในมนุษย์และในอบายภูมินั้น ไม่ใช่สิ่งอื่นเลย เป็นเพราะกิเลส ราคะ ตัณหานั้นอย่างเดียว ถ้าบุคคลยังไม่พ้นจากกิเลส ราคะ ตัณหาได้ตราบใด ก็ยังไม่เป็นผู้พ้นจากอบายทุกข์ได้จนตราบนั้น บุคคลผู้มิได้พ้นจากกิเลส ราคะ ตัณหานั้น จะทำบุญให้ทานสร้างกุศลอย่างแข็งแรงเท่าใดก็ดี ก็จักได้เสวยความสุขในมนุษย์โลกและเทวดาโลกเพียงเท่านั้น ที่จะได้เสวยสุขในแดนนิพพานนั้น เป็นอันไม่ได้เลย
ผู้มีปัญญา เมื่อได้เจริญอสุภานุสสติกรรมฐาน เอาทวัตติงสาการ ๓๒ เป็นอารมณ์ ก็ควรละกองกิเลสตัณหาให้ขาดสูญ เมื่อรู้แล้วปฏิบัติตาม จึงจะเป็นผลเผ็นกุศลต่อไป เมื่อรู้แล้วไม่ปฏิบัติตาม ก็หาผลอานิสสงฆ์มิได้ เพราะละกิเลสตัณหามิได้ เปรียบเหมือนบุคคลผู้ตกเข้าไปในกองเพลิง เมื่อรู้ว่าเป็นกองเพลิงก็รีบหนีออก จึงจะพ้นความร้อน ถ้ารู้ว่าตัวตกอยู่ในกองเพลิงแต่มิได้พยายามที่จะหลีกหนีออก จะพ้นจากความร้อนความไหม้อย่างไรได้ ข้ออุปมานี้ฉันใด บุคคลผู้รู้แล้วว่าสิ่งนี้เป็นโทษ แต่มิได้ละเสีย ก็มิได้พ้นจากโทษ เหมือนกับผู้ไม่พ้นจากกองเพลิงฉะนั้นฯ




 

Create Date : 24 มีนาคม 2556   
Last Update : 24 มีนาคม 2556 10:44:18 น.   
Counter : 498 Pageviews.  


คิริมานนทสูตรฉบับธรรมิกราช

คิริมานนทสูตร  ( อุบายรักษาโรค ) :  พระยาธรรมิกราช

 

 

"อาน นฺท ดูกรอานนท์ ธรรมนี้ชื่อว่าพระยาธรรมิกราช เพราะเป็นใหญ่กว่าธรรมทั้งหลาย ข้อที่เราตถาคตได้ตรัสไว้แล้วในธรรมหมวดนี้คือได้ชี้นรก สวรรค์ พระนิพพาน กิเลสตัณหา โดยจะแจ้งสิ้นเชิง เมื่อผู้ใดได้ฟังแล้วปรารถนาสุขทุกข์ประการใด ก็จงเลือกประพฤติตามความปรารถนา"

"
ข้าแต่พระมหากัสสปะ ผู้มีอายุ พระสูตรนี้จะได้ชื่อว่า พระยาธรรมิกราชสูตรตามรับสั่งนั้น จักเสียนิมิตไป เพราะอาศัยพระผู้เป็นเจ้าคิริมานนท์เป็นนิมิต พระสูตรนี้ พระพุทธเจ้าตรัสเทศนาที่วัดเชตวนาราม ปรารภพระคิริมานนท์เกิดอาพาธให้เป็นเหตุ จึงได้ชื่อว่า คิริมานนทสูตร มีเนื้อความดังแสดงมานี้แลฯ"


พิจารณารูป-นาม

วาระ นี้จักแสดงพระสูตรอันหนึ่ง อันโบราณจารย์เจ้าหากกำหนดไว้ว่า คิริมานนทสูตรอ้างเนื้อความว่า ครั้งปฐมสังคายนา พระมหาสังคาหกเถรเจ้าทั้งหลาย ๕๐๐ พระองค์ หย่อนโอกาสไว้ให้พระอานนท์องค์หนึ่ง ได้สมถวิปัสสนาอยู่ ยังไม่ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ครั้งพระอานนท์ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว ก็เข้าจตุตถฌานเอาปฐวีกสินเป็นอารมณ์ ไปปรากฏบนอาสนะท่ามกลางสงฆ์ ให้พระสงฆ์สิ้นความสงสัยในอรหัตคุณ ที่ถ้ำสัตตบรรณคูหา ปฏิญาณในอเสขภูมิด้วยประการดังนี้ พระมหาสังคาหกเถรเจ้าทั้งหลาย ปฏิญาฯตนในกัสสปะเป็นประธาน จึงได้อารธนาเชื้อเชิญให้พระอานนท์ขึ้นนั่งเหนือธรรมาสน์ แสดงพระสุตันตปิฎก ยกคิริมานนทสูตรนี้ขึ้นเป็นที่ตั้งลำดับไว้อย่างนี้ฯ พระมหากัสสปะเถรเจ้าจึงถามพระอานนท์ว่า
อานนฺท ดูกรอานนท์ พระสูตรอันชื่อว่าคิริมานนทสูตรนั้น พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่บุคคลผู้ใด และตรัสเทศนามีวิตถารพิสดาร อย่างไรขอให้พระอานนท์เถรเจ้าจงแสดงต่อไปในกาลบัดนี้ฯ
อถโข อายสฺมา อานนฺโท ลำดับนั้น พระอานนท์เถรเจ้าผู้นั่งอยู่บนธรรมาสน์ ได้โอกาสแต่พระสงฆ์ แล้วจึงวิสัชนาพระสูตรนี้ มีปฏิญาณในเบื้องต้นว่า เอวมฺเม สุตํ ดังนั้น ข้าพเจ้าผู้มีชื่อว่าอานนท์ หากได้สดับมาแต่พระผอบแก้ว กล่าวคือพระโอษฐ์แห่งพระพุทธเจ้า ดำเนินความว่า

เอ กํ สมยํ สมัยกาลคาบหนึ่ง พระผู้มีพระภาคสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จสำราญพระอิริยาบถอยู่ ณ พระเชตะวันมหาวิหาร อันเป็นอารามของอนาถปิณฑิกเศรษฐี สร้างถวายใกล้กรุงสาวัตถี ในกาลนั้น พระผู้เป็นเจ้าชื่อว่า คิริมานนท์เถระผู้มีอายุ อาพาธิโก เกิดอาพาธหนักเหลือกำลังที่จะอดกลั้น พระผู้เป็นเจ้าจึงให้เชิญข้าพเจ้าผู้ชื่อว่าอานนท์ เข้าไปยังสำนักแห่งตน แล้วจึงกล่าวว่า
อานนฺท ดูกรอานนท์ ข้าพเจ้าผู้มีชื่อว่าคิริมานนท์นี้ บังเกิดอาพาธหนักเหลือกำลังที่จะพึงอดกลั้น ไม่สามารถจะไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ ขอนิมนต์ท่านอานนท์ นำเอาอาการอาพาธอันร้ายแรงแห่งข้าพเจ้า ไปกราบทูลให้สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบ เพื่อทรงพระมหากรุณาสงเคราะห์ให้ทุกขเวทนาเจ็บปวด ซึ่งเบียดเบียนอยู่ในร่างกายแห่งข้าพเจ้าผู้มีชื่อว่าคิริมานนท์นี้ ระงับอันตรธานหายเถิด ข้าพเจ้าผู้ชื่อว่าอานนท์ รับเถรวาทีแล้ว ก็ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า กราบทูลอาการแห่งอาพาธและทุกขเวทนา ตามคำสั่งของพระคิริมานนท์ให้ทรงทราบทุกประการฯ

อถโข ในกาลนั้น สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงทราบอาการแห่งพระผู้เป็นเจ้าคิริมานนท์ จึงตรัสแก่ข้าฯ อานนท์ว่า
อาน นฺท ดูกรอานนท์ ท่านจงกลับไปสู่สำนักของท่านคิริมานนท์โดยเร็ว แล้วพระองค์ทรงตรัสต่อไปว่า วิสุทฺธจิตฺเต อานนฺท เทวฺตา สุตฺวโส อาพาโธค้านโส ปฏิปสฺสมฺเภยฺย ดังนี้ ดูกรอานนท์ เมื่อท่านไปถึงสำนักพระคิริมานนท์แล้ว ท่านจงบอกสัญญา ๒ ประการคือ รูป สัญญา ๑ นามสัญญา ๑ คือว่ารูปร่างกายตัวตนทั้งสิ้นก็ดี คือนามได้แก่จิตเจตสิกทั้งหลายก็ดี ก็ให้ปลงธุระเสีย อย่าถือว่ารูปร่างกายและจิตเจตสิกเป็นตัวตน และอย่าเข้าใจว่าเป็นของๆ ตนทุกสิ่งทุกอย่าง ความจริงหากเป็นของภายนอกสิ้นทั้งนั้นฯ

(เนื่องจากพระสูตรนี้ยาว และมีความสำคัญมาก ขอลงเป็นตอนๆ ไปค่ะ)




 

Create Date : 24 มีนาคม 2556   
Last Update : 24 มีนาคม 2556 10:28:54 น.   
Counter : 891 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  7  8  

สติมา
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




อาตาปี สัมปชาโน สติมา
เพียรเผากิเลสด้วยความรู้สึกตัวมีสติ
[Add สติมา's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com