พระพุทธศาสนา
Group Blog
 
All Blogs
 
วิธีปฏิบัติ

#วิธีภาวนา
นักปฏิบัติทั้งหลายที่ไม่ค่อยได้หลักได้เกณฑ์ โลเลไป สุดท้ายก็เสียไป​ ๆ เพราะไม่มีใครผู้แนะนำสั่งสอนที่แน่นอน
นี่ผมสั่งสอนที่เรียกว่าแน่นอน ถอดออกมาจากหัวใจ ที่ได้บำเพ็ญมาแล้วทั้งผิดทั้งถูกถือเป็นครูเป็นอาจารย์ มาแนะนำสั่งสอนเพื่อนฝูงให้ถูกต้องดีงามโดยถ่ายเดียวเท่านั้น เพราะผิดพลาดเราก็เคยผ่านมาแล้ว สอนตั้งแต่สิ่งที่ถูกที่ดี ประกอบความพากเพียรคือสติ
การตั้งสตินี้ตั้งแต่พื้น​ ๆ ขึ้นไป จนกระทั่งถึงมรรคผลนิพพาน ถึงขั้นอรหัตบุคคล ก็มีมหาสติมหาปัญญาติดแนบอยู่ในนั้น จึงเรียกว่ามหาสติมหาปัญญานี้เป็นธรรมสุดยอดที่จะสังหารกิเลสอวิชชา ให้ขาดสิ้นลงไปจากใจ มีมหาสติมหาปัญญาเป็นสำคัญ
สตินี้เป็นพื้นฐานตั้งแต่ต้น ผู้ใดตั้งสติได้ดีผู้นั้นความเพียรจะสืบต่อเป็นลำดับลำดาไป การประกอบหน้าที่การงานใดก็ตามไม่จำเป็นไม่ยุ่ง มีตั้งแต่การตั้งสติพินิจพิจารณาภาวนาอยู่ภายในจิตใจของตนโดยสม่ำเสมอ ใครอยู่ในฐานะใดแห่งการประกอบความพากเพียร เช่นผู้เริ่มฝึกหัดเบื้องต้น ต้องมีคำบริกรรมภาวนามากำกับจิตเรา เพื่อจิตได้ยึดได้เกาะคำบริกรรมนั้น และคำบริกรรมก็ต้องมีสติเข้าควบคุมตลอดเวลา นี้เรียกว่าความเพียรที่ชอบธรรม ถ้าขาดสติเสียเมื่อไรความเพียรขาดเมื่อนั้น สติเป็นพื้นฐานติดต่อสืบเนื่องของความเพียรไปโดยลำดับจากผู้ที่ไม่เผลอสติ ถ้าเผลอสติเมื่อไรความเพียรก็ขาดเมื่อนั้นๆ ให้พากันจำเอาไว้นักปฏิบัติทั้งหลาย
การแสดงธรรมให้เพื่อนฝูงฟังนี้ ผมแสดงด้วยความไม่สงสัยในแง่ธรรมต่าง​ ๆ จนกระทั่งถึงที่สุด ได้ผ่านมาหมดโดยสมบูรณ์แล้วหายสงสัย จึงได้นำธรรมที่หายสงสัยและแม่นยำนั้นมาสั่งสอนเพื่อนฝูงทั้งหลาย ขอให้ยึดหลักที่สั่งสอนนี้ไปปฏิบัติต่อตนเองด้วยความจริงจัง อย่าเหลาะแหละ ครั้งพุทธกาลที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ ท่านเน้นหนักถึงเรื่องความพากเพียรนี้ยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด พอบวชแล้วก็ไล่เข้าอยู่ในป่าในเขา เพื่อการประกอบความพากเพียร อยู่ในที่นั้นๆ ซึ่งเป็นที่สงบงบเงียบไม่มีสิ่งรบกวน การประกอบความเพียรก็สะดวกสบาย เราอยู่ในที่พลุกพล่านด้วยฝูงชนไม่ค่อยเกิดประโยชน์ ดีไม่ดีเป็นการสั่งสมกิเลสขึ้นภายในตัวโดยลำดับๆ ถ้าปลีกตัวออกไปสู่สถานที่เช่นนั้นแล้ว จะเป็นการบำรุงสติสตังให้แน่นหนามั่นคงยิ่งขึ้น ความเพียรทุกด้านก็สืบเนื่องกันไป
จิตใจมันจะผาดโผนโจนทะยานเหมือนม้าแข่งก็ไปเถอะ กิเลสนี้จะหนาแน่นขนาดไหนก็ตามเถอะ สติเป็นทำนบใหญ่กั้นกิเลสทั้งหลายได้ ไม่ล้นสติไปได้เลย สติเป็นกำแพงอันหนาแน่นกั้นกิเลสประเภทต่างๆ ไว้ได้เป็นอย่างดีขออย่าให้เผลอ เรื่องเผลอนั้นคือเรื่องของกิเลสมันเคยออกตลอดเวลา ท่านว่า อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา คืออวิชชานี้หนุนให้เกิดสังขารขึ้นมา อวิชชาก็คือตัวสมุทัยกิเลสอันใหญ่หลวง สงฺขารา คือหนุนให้เป็นสังขารขึ้นมา สังขารก็กลายเป็นสมุทัย นี้หนุนให้อยากคิดอยากปรุงอยากแต่งเรื่องนั้นเรื่องนี้ไม่หยุดไม่ถอย เพราะอวิชชาดันออกมาๆ ความคิดความปรุงจึงเป็นทางเดินอันโล่งของกิเลสอวิชชาสังขาร
ทีนี้จิตใจเราเรื่องความพากเพียรก็ไม่มีทางที่จะออกได้ เป็นทางโล่งของกิเลสทั้งวันทั้งคืน คิดปรุงอะไรมีแต่เรื่องกิเลสทั้งมวล นี่ละที่ผู้ประกอบความพากเพียรต้านทานความคิดความปรุงนี้ไว้ไม่ได้ เหตุใดเราจะต้านทานความคิดปรุงนี้ได้ ต้องตั้งอกตั้งใจตั้งสติให้ดี ขอให้สติอยู่กับตัวเถอะ ความอยากคิดอยากปรุงมันจะเป็นคลื่นเหมือนคลื่นทะเลมาก็ตาม เหนือสติไปไม่ได้ สติไม่เผลอเสียอย่างเดียว มันจะผลักดันออกมาเท่าไรๆ ก็เพียงผลักดันออกไปไม่ได้ ถ้าความคิดความปรุงนี้ออกไปเมื่อไร ก็เรียกว่าไปกว้านเอาฟืนเอาไฟกลับมาเผาไหม้ตนเอง แล้วออกเรื่อยกว้านเข้ามาเรื่อย เผาไหม้เรื่อยๆ อย่างนี้ตลอดไป เรื่องของกิเลสอวิชชาเป็นอย่างนี้
การกั้นกางเรื่องกิเลสอวิชชานี้ต้องอาศัยสติเป็นสำคัญ มันอยากคิดอยากปรุงอะไรก็ตามไม่ยอมให้คิด สติกับคำบริกรรมให้ติดแนบกันตลอด นี้เป็นเครื่องต้านทานสังขารที่มันจะออกไม่ให้ออก มีสติกับคำบริกรรมปิดกั้นช่องมันไว้อยู่ตลอดเวลา เวลามันหนักเข้ามาจริงๆ นี้เหมือนอกจะแตกนะ คือสังขารมันอยากคิดอยากปรุงดันออกมาๆ สติกับคำบริกรรมก็ดันกันไว้ๆ ไม่ให้ออก ที่พูดเหล่านี้ผมได้ผ่านมาแล้วทั้งนั้น ผมจึงไม่สงสัยในการแนะนำสั่งสอนเพื่อนฝูง เอาไม่ให้เผลอเลย ตั้งแต่ตื่นนอนไม่ให้เผลอ
นี่ละได้คิดอ่านไตร่ตรองเรื่องราวที่ได้นำมาสอนเป็นคติแก่หมู่เพื่อนนี้ ก็เนื่องจากว่าจิตเรานี้เสื่อม เจริญทีแรกก็แน่นหนามั่นคง แต่เราไม่รู้จักวิธีรักษา เพราะสิ่งไม่เคยรู้เคยเห็น ไม่เคยเป็น ก็ไม่รู้จักวิธีรักษา ก็เผลอตัวไปบ้างนอนใจไปบ้าง ทีนี้เวลาจิตได้เสื่อมเสื่อมหมดเนื้อหมดตัว ไม่มีอะไรติดเนื้อติดตัวเลย ทั้งๆ ที่เวลาเจริญจิตนี้แม้เป็นเพียงสมาธิก็เป็นเหมือนภูเขาทั้งลูก มันแน่นหนามั่นคง รู้เด่นอยู่อย่างนั้นตลอดเวลา ทีนี้เราไม่รู้จักวิธีรักษา เพราะไม่รู้จักวิธีรักษาว่างั้นเถอะ มันก็ปล่อยตัวได้ๆ จิตก็เสื่อม พอเสื่อมแล้วพลิกกลับใหม่ไม่ได้เลย
พอเริ่มรู้ว่าจิตเข้าสงบได้บ้างไม่ได้บ้างเท่านั้น ก็เร่งใหญ่เลยจะแก้ให้ตก แก้ไม่ตก ผลสุดท้ายหมดทั้งตัว เหลือแต่อีตาบัวเท่านั้น นี่เคยเป็นมาแล้วให้ท่านทั้งหลายจำไว้ จิตเสื่อมไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยนะ พระโคธิกะท่านฆ่าตัวตายเพราะจิตเสื่อม ท่านเรียกว่าฌาน ฌานคือความเพ่ง เพ่งก็คือเรื่องสมาธินั้นแหละ เสื่อมห้าหน หนที่หกทนไม่ไหวแล้ว เลยคว้าเอามีดโกนมาเฉือนคอตัวเอง คือความทุกข์นั่นแหละ ฌานเสื่อมสมาธิเสื่อมเมื่อไรมันเป็นทุกข์แสนสาหัสนะ
ถ้าผู้ไม่เคยได้สมาธิมาก่อน เหมือนตาสีตาสาเขาอยู่ตามท้องนาหาอยู่หากิน มีเงินติดตัวเก้าบาทสิบบาทเขาอยู่ได้สบาย แต่เราที่อุตส่าห์พยายามขวนขวายหาเงินมาได้เป็นล้านๆ แต่ไม่รู้จักวิธีรักษา จับจ่ายใช้สอยไปในเหตุต่างๆ ที่จำเป็นหรือไม่จำเป็น จ่ายไปเรื่อยๆ สุดท้ายเงินเป็นล้านๆ ก็ฉิบหายล่มจมลงไปไม่มีอะไรเหลือ แม้จะมีเหลืออยู่ในบ้านในเรือนหรือในธนาคารเป็นหมื่นเป็นแสนบาท จิตใจไม่ได้อยู่กับเงินหมื่นบาทแสนบาทในธนาคารเลย มันวิ่งไปอยู่กับเงินเป็นล้านๆ ที่ล่มจมไปด้วยเหตุต่างๆ นั้นเสียหมด นี่ละที่ทำให้เสียใจ เงินมีตั้งเป็นหมื่นเป็นแสน ไม่ได้มีความสุขเหมือนตาสีตาสาที่อยู่ในท้องนานั้นเลย เพราะจิตไปหมุนอยู่กับเงินที่หายไปเสียไป อยากได้กลับคืนๆ อยากได้เท่าไรมันก็ไม่ได้ ยิ่งเป็นทุกข์มากๆ ทีเดียว
นี่ละจิตที่เจริญแล้วเสื่อมเป็นความทุกข์แสนสาหัส ผมได้ผ่านมาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปีกับห้าเดือนผมไม่ลืมนะ เราพยายามเจริญไป ตั้งสติตั้งไม่หยุดไม่ถอยแต่ขาดคำบริกรรม ตั้งสติจ่ออยู่กับความรู้ๆ แล้วมันเผลอไปได้ๆ นะ จ่ออยู่สิบสี่สิบห้าวัน เจริญขึ้นถึงขั้นแน่นหนามั่นคง อยู่ได้เพียงสองคืนหรือสามคืนเป็นอย่างมาก พยายามดันกันไว้ไม่ให้ลง ทีนี้มันเหมือนกลิ้งครกลงจากจอมปลวกนั่นแหละ ทับหัวเราไปเลย กำลังของครกหนักขนาดไหน หัวเราไม่พอทับหัวเราไป โอ๋ นี่เสื่อมแล้วเต็มที่เต็มฐาน
พยายามกลิ้งครกขึ้นมาอีก นี่ละคือความเพียรตั้งสติๆ หนุนเข้าไป ได้สิบสี่สิบห้าวันเท่านั้น อยู่ได้เพียงสองสามคืน ห้ามยังไงก็ไม่อยู่ กลิ้งตูมทับหัวเราไป อย่างนี้เป็นเวลาปีหนึ่งกับห้าเดือน เพื่อให้เป็นคติตัวอย่างแก่ท่านทั้งหลาย ที่ภาวนาแล้วให้รักษาให้ดี อย่าให้เสื่อมได้ นี่เป็นตัวอย่างอันดี คิดดูพระโคธิกะ ฌานท่านเสื่อมห้าหน หนที่หกคว้าเอามีดโกนมาเฉือนคอตัวเองเลย นี่เราพูดย่อๆ เสียก่อน ก็เพราะทนทุกข์ไม่ได้ มันทุกข์มากจริงๆ เสียดายจิตที่เสื่อมไปแล้ว ครั้นบำเพ็ญไปก็ขึ้นอย่างว่าแหละ แล้วเสื่อมลงไปเสียๆ เสื่อมลงไปทีไรเอากองไฟมาเผาหัวอก หาเวลาร่มเย็นสบายไม่มีเลย ตลอดเวลา
ท่านเป็นเพียงห้าหน จิตท่านเสื่อมห้าหน สมาธิเสื่อมหรือว่าฌานเสื่อม ในตำราท่านบอกว่าฌานเสื่อม แต่ฌานกับสมาธิ ฌานก็คือความเพ่งลง เพ่งลงในจุดสมาธินั้นแหละ พูดมันก็เป็นไวพจน์ใช้แทนกันได้อยู่ พอถึงห้าหน หนที่หกนี้ก็เอามีดโกนมาเฉือนคอ แต่ท่านมีนิสัยนะ มีนิสัยวาสนา พอเอามีดเชือดคอเจ้าของ เลือดกระฉูดออกมาเท่านั้น ท่านมองดูเลือด ท่านเลยปลงธรรมสังเวชในนั้น พิจารณาเลือดตัวเอง ขณะนั้นยังไม่ตาย พิจารณาในขณะนั้นเลย บรรลุเป็นพระอรหันต์ขึ้นมากับกองเลือดของตนนั้นแล นี่พระโคธิกะ
เรานี้ปีหนึ่งกับห้าเดือนเจริญแล้วเสื่อม ไสกันขึ้นไปสิบสี่สิบห้าวัน แล้วอยู่ได้สองสามคืนเจริญแล้วเสื่อมลงไปหมดๆ ได้ปีกับห้าเดือน จึงต้องได้มาพินิจพิจารณาอีก ดีอย่างหนึ่งคือจิตใจไม่ถอย บึกบึนอยู่เช่นนั้น แล้วก็มาพิจารณาทบทวนหาเหตุหาผล เราทำความพากเพียรนี้สิบสี่สิบห้าวัน แต่ละครั้งๆ นี้แทบเป็นแทบตาย ครั้นขึ้นไปได้รับความสงบเย็นเพียงสองสามคืนเท่านั้นแล้วเอาไฟเผาลงไป ตั้งแต่จอมปลวกโน่นละ ครกกลิ้งลงจอมปลวกทะลุถึงที่ นี่เป็นเพราะเหตุไร เราทำมานี้เป็นเวลานานแล้วก็เป็นอยู่อย่างนี้ๆ ไม่มีเคลื่อนไหวไปมาอย่างไรเลย นี้อาจจะเป็นเพราะเราไม่ได้ใช้คำบริกรรมติดกับใจของเราก็ได้ เป็นแต่เพียงกำหนดสติลงที่จิต มีเวลาเผลอได้ เป็นความพินิจพิจารณาใคร่ครวญ
ทีนี้ก็ลงใจละที่นี่ เอาละคราวนี้จะเอาคำบริกรรมติดกับจิต แล้วสติติดแนบเข้าไปไม่ยอมให้เผลอ เอ้า มันจะเจริญไปยังไงให้เจริญ จะเสื่อมไปไหนให้เสื่อม เราไม่เป็นอารมณ์กับความเสื่อมและความเจริญของใจ แต่เราจะสนใจกับคำบริกรรม เราชอบคำบริกรรมพุทโธ เราจะเอาสติติดแนบกับคำบริกรรม คำบริกรรมติดแนบกับใจนี้โดยถ่ายเดียวไม่ให้เผลอ มันจะเสื่อมไปทางไหนให้รู้คราวนี้แหละ พิจารณาทบทวนลงไปเรียบร้อยลงกันละที่นี่ เป็นอันว่าเราจะต้องบริกรรม มีคำบริกรรมติดกับใจของเรา และมีสติติดแนบอยู่กับใจไม่ยอมให้เผลอ
ไม่กำหนดวันคืนปีเดือน จนกว่าว่าเหตุการณ์มันจะคลี่คลายออกแบบไหน ควรเผลอแบบไหน ไม่เผลอแบบไหน นั้นละเราจะปฏิบัติตามเหตุการณ์นี้ต่อไป แต่ในระยะนี้จะไม่ให้สติเผลอเป็นอันขาด ในระยะที่ตั้งรากตั้งฐานเบื้องต้น จนกว่าจะเห็นผลของการบริกรรมด้วยสตินี้อย่างชัดเจนๆ แล้วการเปลี่ยนแปลงอะไรค่อยพิจารณาตามเหตุการณ์ ทีนี้ลงใจ เอาละที่นี่เราจะเอาคำบริกรรมคือพุทโธๆ นี้ติดกับใจ จะไม่ยอมให้เผลอด้วยสติของเราตั้ง แต่นิสัยเราเราพูดได้ชัดเจนเลยว่านิสัยนี้จริงจังมาก พอลงตัวแล้วเช่นนี้ก็ลงละที่นี่ เหมือนกับว่านักมวยจะต่อยกัน พอระฆังดังเป๋งเท่านั้นนักมวยก็ซัดกันเลย อันนี้ลงใจเรียบร้อยแล้ว เอาละที่นี่จะเผลอไปไม่ได้ คำบริกรรมคือพุทโธติดปั๊บสติติดปั๊บเลย ไม่ยอมเผลอไปไหนเลย ตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งหลับไม่ให้เผลอเลย แม้ขณะเดียวไม่ยอมให้เผลอทุกข์มากไหม
ทุกข์มากที่สุดคือบังคับจิตด้วยสตินี่แหละ คือการประกอบความเพียรด้วยการบังคับบัญชาจริงๆ ไม่ยอมให้เผลอเลย เอาทั้งวันอยู่อย่างนั้น วันแรกนี้เหมือนอกจะแตก นี่ละที่ได้พูดให้ฟังชัดเจนว่า สังขารคือความคิดความปรุงออกจากอันนั้นที่ว่าเป็นสมุทัย ออกจากอวิชชา อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา อวิชชาหนุนใจออกมา หนุนสังขารออกมาให้คิดให้ปรุง ทางสังขารก็อยากคิดอยากปรุง ทางคำบริกรรมก็บริกรรมไม่ถอย สติก็ติดแนบไม่ยอมให้เผลอ ทางนั้นก็ดันขึ้นมาอยากคิดอยากปรุง ทางนี้ก็บังคับกันไว้เหมือนกับว่ามีช่องเดียว
ช่องนี้แต่ก่อนสังขารมันเคยเกิดมันเคยออกช่องนี้ๆ คราวนี้เอาธรรมะคือพุทโธไปอุดช่อง สติตีตราเข้าไปนั้นเลยไม่ยอมให้ออก เอาสติธรรมกับคำบริกรรมปิดช่องที่สังขารเคยเกิดขึ้นมา เคยปรุงขึ้นมาตลอดทั้งวัน วันนั้นเหมือนอกจะแตกนะ นี่ชัดเจนมากเพราะเจ้าของทำเอง คือมันดันมันอยากคิดอยากปรุง ดันเท่าไรก็ไม่ยอมให้คิด ให้มีแต่ความปรุงได้แก่งานของธรรมไปเสีย คือพุทโธๆ เรียกว่างานของธรรม ความคิดความปรุงของกิเลสสมุทัยเป็นเรื่องของมันไปล้วนๆ ความคิดปรุงทางด้านธรรมะก็ได้แก่พุทโธปิดช่อง สติติดแนบอยู่นั้น วันแรกเหมือนอกจะแตก คือไม่ยอมให้คิดไปเลย เอากันถึงขนาดนั้น ไม่ยอมให้คิดออกมาได้เลย มีแต่คำบริกรรมกับสติติดกันตลอด
วันนั้นยอมรับว่าเหมือนอกจะแตกแต่ไม่ยอมเผลอ จนกระทั่งหลับ ตื่นขึ้นมาซัดกันอีกแบบเดียวกันเลย พอวันที่สองรู้สึกว่าค่อยเบาลงหน่อย ความคิดความปรุงไม่รุนแรงเหมือนอย่างวันแรก วันที่สาม นี้ไม่เผลอทั้งนั้นนะนี่ ไม่เผลอเลย ไม่ยอมให้เผลอเลย วันที่สามลงไปค่อยเบาลงๆ ความคิดความปรุงที่ดันออกมา เพื่อจะคิดจะปรุงตามความเคยชินของมัน ได้แก่สังขารสมุทัยค่อยเบาลง ทางนี้ก็หนักเข้าเรื่อยเห็นว่าได้ผล เบาลงๆ จิตค่อยมีความสงบเย็นๆ เข้าไป เย็นเข้าไป สติแนบแน่นอยู่ตลอดเวลา พุทโธติดกับนั้น จนกระทั่งจิตมีความสงบเย็นลงไปๆ
ทีนี้พอถึงที่ของจิตที่จะปลงวางได้แล้วเป็นระยะๆ จิตก็สงบเข้าไปนั้น บริกรรม พุทโธๆ ติดตามไปเลย ไปถึงขั้นที่จิตเข้าสู่ความสงบแล้ว บริกรรมพุทโธไม่ได้เลย หมด ปรุงพุทโธปรุงอะไรก็ไม่ออกเลย นี่เรียกว่าจิตเข้าสู่ความสงบแล้ว ทีแรกเราก็ชักงงเหมือนกัน ถึงงงก็ไม่ยอมให้เผลอ เอ๊ ทำไมเราบริกรรมคำพุทโธๆ มาขนาดนี้แล้ว ทำไมวันนี้จึงบริกรรมไม่ออก นึกบริกรรมยังไงก็ไม่ปรากฏ แล้วทำยังไงที่นี่ ก็ตัดสินกันในขณะนั้นเลย เอ้า บริกรรมไม่ได้ก็ไม่ต้องบริกรรม ให้สติจับอยู่กับจิตที่ละเอียดสุดเวลานั้น จิตที่พักตัวนั่น เอาสติจับไว้ตรงนั้นแทนคำว่าพุทโธๆ จ่ออยู่นั้น
ทีนี้พอได้จังหวะแล้วจิตก็ค่อยคลี่คลายออกมา เรียกว่ามันถอนออกมาเหมือนเด็กตื่นนอน พอคลี่คลายออกมาพอระลึกคำบริกรรมได้แล้ว เอาคำบริกรรมเข้าไปปั๊บ ปรากฏปั๊บก็บริกรรมต่อเลย จิตสงบนานอยู่นะ ปรุงไม่ได้เลย นี่เรียกว่าสงบแล้วนั่น ผลแห่งการไม่เผลอสติด้วยคำบริกรรมภาวนา ในเบื้องต้นที่เราภาวนาซึ่งยังไม่ได้หลักได้ฐาน จำให้ดีนักปฏิบัติทั้งหลาย นี้ได้เป็นพยานเป็นอย่างดีแล้ว จากนั้นมาก็บริกรรมไปเรื่อยๆ ไม่ถอย ไม่ให้เผลอเลย จนกว่าเหตุผลกลไกที่จะควรเผลอได้เมื่อไรมันก็จะเป็นไปเอง แต่ระยะนี้จะเผลอไปไม่ได้ มีแต่ไม่เผลอๆ ตลอดเลย ทีนี้จิตก็ค่อยละเอียดเข้าไปๆ แล้วก็ลงสงบอย่างว่านั้นละ
พอเข้าสู่ความสงบบริกรรมพุทโธไม่ได้เลย เอ้า ไม่ได้ก็อยู่นั้น ปฏิบัติตามเดิมที่เคยปฏิบัติมาแล้วเรื่อยๆ จิตก็ค่อยก้าวขึ้นไปๆ แน่นหนามั่นคงขึ้นเรื่อยๆ ทีนี้พอถึงขั้นที่ว่าเคยเสื่อมๆ ถึงนี้แล้ว เอ้า อยากเสื่อมให้เสื่อมไป ความเสื่อมความเจริญนี้เราได้รับกองทุกข์จากมันพอแล้ว ถึงจะไม่ให้เสื่อมเท่าไรมันก็เสื่อมต่อหน้าต่อตา อยากเจริญเท่าไรมันก็ไม่เจริญ คราวนี้ปล่อยทั้งความเสื่อมความเจริญ แต่คำว่าพุทโธเป็นคำบริกรรมกับสตินี้จะไม่ยอมปล่อย เอาอย่างนั้นตลอด ครั้นต่อไปมันเข้าสู่ความละเอียดแล้วก็หยุดนิ่งเหมือนกัน บริกรรมไม่ออกเป็นลำดับลำดาไป จิตละเอียดขึ้นๆ แล้วควรที่จะเสื่อมไม่เสื่อม ไม่เสื่อมก็หนุนกันเรื่อยๆ เลย
จึงแน่ใจว่าจิตนี้ขาดคำบริกรรมและขาดสติ สติเผลอไปในระยะใดระยะหนึ่งจนได้ จิตของเราจึงเสื่อมได้ตั้งปีหนึ่งกับห้าเดือน คราวนี้ไม่เสื่อมมันแน่ใจเข้าไปแล้วนี่ แน่นหนามั่นคงขึ้นเป็นลำดับ เรื่องสติหนุนตลอด จนกระทั่งจิตก้าวเข้าสู่สมาธิแน่นหนามั่นคงปึ๋งๆ ละที่นี่ ปึ๋งก็ไม่ถอยเพราะมันเข็ดหลาบพอแล้ว นี่ถ้าหากว่าจิตของเราเสื่อมคราวนี้เราต้องตาย นั่น มันก็วิ่งใส่พระโคธิกะละซิ เพราะเข็ดหลาบเหลือประมาณ เรื่องแบกกองทุกข์เวลาจิตเสื่อมนี้ทุกข์มากที่สุดนะ
ดังที่เคยพูดให้ฟัง เขามีเงินมีทองชาวไร่ชาวนามีเก้าบาทสิบบาทเขาไม่ได้ทุกข์นะ แต่เศรษฐีที่ล่มจมด้วยเหตุการณ์อันใดอันหนึ่งนั้น เงินแม้จะเหลืออยู่ในคลังหรือในบ้านเป็นแสนๆ ก็ไม่มีความหมาย อันนี้ก็เหมือนกันจิตของเรา ไม่มีความหมายทั้งนั้น เป็นทุกข์มากที่สุด จิตเสื่อมทุกข์มากที่สุดผมไม่ลืมเลย เพราะฉะนั้นพอก้าวขึ้นคราวนี้แล้วผูกขาดกันเลยเชียว เอ้า ถ้าจิตเรายังเสื่อมคราวนี้แล้วเราต้องตายเป็นอื่นไปไม่ได้ เราทนทุกข์กับความเสื่อมเจริญของจิตนี้มาเป็นเวลานานแล้ว คราวนี้จะเสื่อมไม่ได้ ตั้งหลักได้แล้วที่นี่ ยิ่งหมุนจี๋ๆ เลย เข็ดหลาบ หมุนกันเข้าๆ นี่ละการตั้งใจเป็นอย่างนี้
จากนั้นมันก็เป็นเรื่องพิเศษไป ฟาดเสียนั่งหามรุ่งหามค่ำไปเลย ตลอดรุ่งๆ ตั้งแต่ยังไม่มืดบางคืน จนกระทั่งสว่างเป็นวันใหม่ขึ้นมา เก้าคืนสิบคืน แต่ไม่ได้ติดกันทุกคืน เว้นสองคืนบ้างสามคืนบ้างเอาเสียจิตจนสง่างามขึ้น แล้วออกอุทานในตัวเองว่าทีนี้จิตไม่เสื่อม ไม่เสื่อมแล้ว เห็นของอัศจรรย์แล้วนี่ ถึงไม่เสื่อมก็ไม่นอนใจ บังคับกันอยู่ตลอดเวลา นี่ละเรื่องการเอาจริงเอาจังเป็นอย่างนี้ขอให้ท่านทั้งหลายจำเอา นี้จริงจริงๆ นะ เช่นว่าตั้งสตินี้ก็บอกว่าเอานะที่นี่ เหมือนกับว่าระฆังดังเป๋ง นั่นละฟัดกันแล้วนั่น ไม่ยอมให้เผลอเลย เอาจริงเอาจัง ก็ได้ผลเป็นที่พอใจขึ้นมาดังที่มาเล่าให้ฟังนี้
เรื่องกิเลสเป็นสิ่งสำคัญมากนะ ถ้ามีอุบายวิธีการปฏิบัติอย่างนี้ มันจะเก่งขนาดก็สู้ธรรมไม่ได้ นี่ละให้สติเป็นสำคัญนะ การตั้งรากฐานในเบื้องต้นสติก็เป็นสำคัญ แล้วจิตมีสมาธิคือความสงบเย็นใจลงไปๆ แล้วสติก็ติดแนบๆ สตินี้เผลอไม่ได้ จิตมีความแน่นหนามั่นคงเรียกว่าใจอิ่มอารมณ์ แต่ก่อนมันหิวโหยอยากคิดนั้นคิดนี้ เรียกว่าจิตหิวโหยในอารมณ์ เราจะใช้ปัญญาพิจารณาในแง่ใดมุมใดก็ตาม มันเถลไถลไปตามอารมณ์ของมันนั้นเสีย มันไม่ได้ทำงานให้ ทีนี้เมื่อจิตอิ่มอารมณ์ด้วยสมาธิแล้ว พาทำงานอะไรมันก็ทำ ทำไปตามนั้น แล้วก็รู้แจ้งเห็นจริงเป็นลำดับลำดาไป
เมื่อจิตสงบเรียกว่าจิตอิ่มอารมณ์ นำจิตที่อิ่มอารมณ์นี้พิจารณาทางด้านปัญญา แยกธาตุแยกขันธ์สกลกายทั้งเขาทั้งเรา ทั้งหญิงทั้งชาย ทั้งสัตว์ทั้งบุคคลทั่วแดนโลกธาตุ พิจารณาแยกออก ทั้งส่วน อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ความแปรปรวนของสิ่งเหล่านี้ ทั้งฝ่ายสุภะ อสุภะ ความสวยงามไม่สวยงาม ดูร่างกายของเรา ดูร่างกายของใครๆ ก็เป็นแบบเดียวกัน ไม่มีใครยิ่งหย่อนกว่ากันเรื่องอสุภะอสุภัง ทั้งหญิงทั้งชายเป็นแบบเดียวกันหมด เอามาพิจารณานี้ นี่เรียกว่าสนามรบกิเลสตัณหา มีราคะเป็นสำคัญ อสุภะอสุภังเอาลงให้หนักๆ เรียกว่าเยี่ยมป่าช้าผีดิบอยู่ในตัวของเรา พิจารณาดูรูปใดขันธ์ใดก็ตามให้พิจารณาแบบเดียวกันนี้ ให้เน้นหนักทางเรื่องอสุภะอสุภัง
เมื่อจิตมีความสงบแล้วให้ออกทางด้านปัญญา อย่านอนอยู่เฉยๆ กับสมาธิ สมาธิไม่ใช่ธรรมแก้กิเลส สมาธิคือความตีตะล่อมกิเลสที่ความฟุ้งซ่านวุ่นวายทั้งหลายเข้ามาสู่ความสงบต่างหาก ทีนี้เมื่อจิตมีความสงบแล้วเรียกว่าอิ่มอารมณ์ เอาจิตที่อิ่มอารมณ์นี้ออกพิจารณาทางด้านปัญญา แยกธาตุแยกขันธ์ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ นี้คืองานของเราผู้ที่จะทำตัวให้หลุดพ้นจากทุกข์ เป็นงานที่สำคัญมาก เราถนัดในงานใด เกสา หรือ โลมา นขา ทันตา ตโจ ตโจคือหนังหุ้มห่อเอาไว้คนเราจึงพอดูได้ หนังหุ้มห่อก็มีผิวหนังบางๆ หุ้มห่อหลอกเอาไว้ว่าสวยว่างาม ภายในเป็นอย่างเดียวกันหมด นี่ละปัญญาดูดูอย่างนี้ ถ้าตาเนื้อดู ดูผิวๆ เผินๆ เห็นแต่ผิวหนังก็เป็นบ้ากันไปเลย ผิวหนังทั้งหญิงทั้งชายก็เป็นบ้า มันก็มีผิวหนังเหมือนกัน บางๆ เท่านั้นละ หลอกคนโง่ได้ง่ายทีเดียว
ทีนี้ปัญญาทะลุเข้าไป จากผิวหนังเข้าไปเป็นเนื้อ มันแดงโร่ เป็นหนัง หนังก็แดงโร่ เนื้อ เอ็น กระดูก ตับ ไต ไส้พุง แยกธาตุแยกขันธ์ พิจารณาแยกส่วนแบ่งส่วนออกเป็นของปฏิกูลโสโครก แล้วแต่อุบายวิธีการของผู้ปฏิบัติทางด้านปัญญา จะมีสติปัญญาพิจารณาพลิกแพลงหลายสันพันคม เพื่อรู้เหตุผลกลไกอันนี้แล้วจิตจะถอนจากอุปาทานออกมาเป็นลำดับลำดา อสุภะชำนิชำนาญเท่าไรผู้นี้ใกล้ต่อความพ้นทุกข์ละ อสุภะอสุภังให้หนักนะ เวลาจิตสงบแล้วให้พิจารณาทางด้านปัญญา เมื่อก้าวเดินปัญญาเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้ารู้สึกภายในจิตใจแล้ว ให้ย้อนจิตเข้ามาสู่สมาธิ อย่าเสียดายปัญญา
เวลาเข้าสู่สมาธิให้สนใจจะเข้าสู่สมาธิคือพักงาน จิตใจไม่ต้องคิดต้องปรุง เพราะว่าปัญญาก็ใช้สังขารคือความคิดปรุง ทีนี้ถอนตัวเข้ามาสู่สมาธิ เมื่อสมาธิแล้วสงบแน่วอันเดียวเท่านั้น เมื่อสงบลงไปแล้วจะมีกำลังวังชากระปรี้กระเปร่าจิตใจ รู้สึกอิ่มเอิบภายในจิตใจ นี่ละจิตเข้ามาสู่สมาธิพักงานทางด้านปัญญาไม่ทำ เวลานี้ให้อยู่กับสมาธิ จริงจังกับสมาธิ อย่าเอามาคละเคล้ากันในการปฏิบัติ เอาสมาธิลงให้ได้ พอจิตมีความสงบเย็นสบายแล้วมันก็รู้ในตัวเอง พอจิตถอนขึ้นมานี้ก็ออกทางด้านปัญญา เหมือนกับมีดเราได้ลับหินเรียบร้อยแล้ว ฟันอะไรๆ ขาดสะบั้นๆ ไปเลย ไม้ท่อนนั้นแหละ มีดเล่มนี้แหละ แต่ได้ลับหินเรียบร้อยแล้ว ขาดสะบั้นลงไป นี่แหละการพิจารณาทางด้านปัญญา นักปฏิบัติทั้งหลายจำให้ดีนะ ที่สอนนี้สอนอย่างแม่นยำเราไม่สงสัย
เอา จับให้ดี พิจารณาเรื่องร่างกายนี้เอาให้หนัก อย่าเบานะร่างกาย อสุภะอสุภัง ไปที่ไหนพิจารณา เวลามีความชำนิชำนาญแล้วตัวของเราทั้งหมดนี้มันเป็นป่าช้าผีดิบ เป็นกองอสุภะอสุภังเต็มไปหมดในตัวของเรา จิตผู้รู้รู้อยู่นั้น ปัญญารู้อยู่นั้น สอดส่องมองทะลุอยู่นั้น ค่อยคลี่คลายอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นในความสวยความงามมันจะถอนตัวออกมา เพราะอำนาจแห่งอสุภะอสุภัง ความสกปรกโสมมทับหัวมันลงไป ความสวยงามจะเกิดขึ้นมาได้ยังไง นี่ละพิจารณาอย่างนี้
พิจารณาพอเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าแล้วให้ย้อนเข้ามาสู่สมาธิ คือเวลาพิจารณามันเพลินจริงๆ นะปัญญา เวลาเพลินมันเห็นว่าสมาธิไม่เกิดประโยชน์อะไรนอนตายอยู่เฉยๆ นั่น เป็นอย่างนั้น ต้องพัก เวลาเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าแล้วให้ย้อนเข้ามาสู่สมาธิ เพราะสมาธิเป็นสถานที่พักงานของจิต ให้อยู่นั้นอย่าทำงาน สั่งสมกำลังไว้ให้ดีด้วยสมาธิ พอสมาธิมีกำลังเรียบร้อยแล้วจิตจะถอยออกมา ทีนี้พิจารณาทางด้านปัญญา อสุภะอสุภังเอาให้แหลกละเอียดๆ ไปที่ไหนเมื่อชำนาญแล้วทางด้านปัญญา เดินไปนี้ตัวเองก็เป็นป่าช้าผีดิบ มองไปหาผู้ใดๆ หญิงชาย เป็นป่าช้าผีดิบไปด้วยกันๆ
แล้วแต่จะเด่นทางไหนมากนะปัญญา เช่นเห็นโครงกระดูก ไปที่ไหนเห็นแต่โครงกระดูก โครงกระดูกของเราโครงกระดูกของเขา เห็นเนื้อแดงโร่ มองไปไหนก็แดงโร่เหมือนกัน นี่เป็นความชำนาญตามจริตนิสัย พิจารณาอย่างนี้ๆ เอาให้ชำนิชำนาญเรื่องอสุภะอสุภัง อย่าปล่อยวาง พิจารณาแล้วพิจารณาเล่าเหมือนเขาคราดนา ไม่ได้นับเที่ยวคราดนะ ดูมูลคราดมูลไถละเอียดลออสมควรที่จะปักดำได้แล้วก็ปักดำ อันนี้การพิจารณานี้ให้ละเอียดลออคล่องแคล่วว่องไว ไหวพริบปัญญาทันกันๆ แล้วมันจะค่อยเปลี่ยนสภาพของมันไปเอง
เรื่องความรู้ความเห็นในสกลกายนี้ จะกลายเป็นป่าช้าผีดิบทั้งเขาทั้งเราทั่วแดนโลกธาตุ ประกาศกังวานขึ้นที่ใจ ว่าป่าช้าผีดิบไม่สงสัย แล้วติดอะไรล่ะ นั่นพิจารณาซิ มองไปที่ไหนก็เป็นอย่างนั้นๆ แล้ว จิตก็ถอนอุปาทานความยึดมั่นเข้ามาๆ เรื่องอสุภะอสุภังนี้ผู้พิจารณาชำนิชำนาญแล้ว เรียกว่าทำได้อย่างใจหวัง ตั้งขึ้นเมื่อไรเอาให้กระจายลงไป ให้พังทลายเวลานั้นก็ได้ๆ ตามใจหวังแล้ว ให้เอาอสุภะนั้นเข้ามาตั้งตรงหน้าไม่ทำลาย นี่ละทดสอบราคะตัณหาจะรู้กันจุดนี้
วันนี้เปิดให้ชัดเจน เรื่องอสุภะอสุภังไม่ใช่ราคะตัณหานะนั่น เป็นเครื่องหลอกให้รักให้ชัง พิจารณามากๆ เข้าแล้วมันก็มีตั้งแต่อสุภะอสุภัง แล้วเอามาตั้งตรงหน้า เอ้าเพ่งดู นี่ละเวลาทดสอบจะหาตัวราคะแท้มันอยู่ที่ไหน ทดสอบดู ตั้งอสุภะไว้อย่างนั้นไม่ทำลาย เอ้า ตั้งไว้เฉยๆ เพ่งดู ไม่กำหนดกฎเกณฑ์ละ เอ้าเพ่งดู มันจะเคลื่อนไหวไปไหนดู ไม่บังคับให้เคลื่อนนะ อย่าไปบังคับเวลานั้น เอามาตั้งไว้ต่อหน้า ด้วยความชำนาญของอสุภะเราพิจารณาเต็มที่แล้วอยากพังเมื่อไรพังทันทีนะ เวลานั้นไม่ให้พังไม่ให้ทำลาย ให้ตั้งไว้ตรงหน้า นี่เป็นเครื่องทดสอบ เป็นเครื่องตัดสินราคะตัณหาของตนเองจะตัดสินที่ตรงนี้ วันนี้เปิดให้ฟังชัดๆ เสีย
พิจารณานี้เต็มที่แล้วนะ เมื่ออันนี้มันเต็มที่แล้ว ควรแก่กาลแล้วมันจะหมุนเข้าสู่ใจของตัวเอง นี่วันนี้บอกเสียบ้าง คือเวลามันเต็มที่แล้วกำหนดดูนั้นแล้ว มันจะหมุนเข้ามาเอง หดเข้ามาย่นเข้ามา หดเข้ามาๆ กองอสุภะทั้งหมดที่อยู่ต่อหน้าเรานั้นน่ะ จิตนี้ละค่อยกลืนเข้ามาๆ เป็นธรรมชาติของมันเอง แล้วเข้ามาเป็นจิตเสียเองเป็นกองอสุภะนั้น ไม่ใช่อสุภะนั้นเป็นอสุภะนะ จิตเสียเองเป็นอสุภะ เมื่อชัดเจนแล้วมันก็สลัดอสุภะอันนั้นทันที อสุภะภายนอก ตัวนี้เองเป็นตัวอสุภะ ทีนี้ก็ตั้งภาพอันนั้นเอาไว้ฝึกซ้อมจิตใจเรา นี่เป็นฐานเบื้องต้นในการรู้เงื่อนของสุภะและอสุภะ และราคะตัณหา จะตัดสินกันลงที่ตรงนี้
เอาอันนั้นละฝึกซ้อมให้ชำนิชำนาญ พอมันเข้านี้แล้วเราจะเข้าใจทันที อ๋อ ราคะตัณหาจริงๆ ไม่ได้อยู่อสุภะ มันอยู่ที่ใจเรา นั่น พอเข้ามาถึงที่นี้อสุภะกับจิตเองไปเป็นตัวอสุภะ ราคะตัณหาไปกำหนัดยินดีก็ตัวนี้เองไปกำหนัดยินดี เมื่อราคะตัณหามาเข้าเป็นจิต ราคะตัณหาอยู่กับจิตแล้ว กิเลสก็อยู่กับจิตมันก็เลยพุ่งกันกับนี้เลย แล้วก็เอาอันนั้นละฝึกซ้อมตัวเอง นี้เราพูดให้ฟังเพียงเป็นหลักเป็นเกณฑ์นะ ไม่พิสดารมากนัก ฝ่ายปฏิบัติจำให้ดีนะข้อนี้ เอาอสุภะอสุภังให้ชำนาญอย่างที่ว่านี้ อย่าสักแต่ว่าพิจารณาแล้วพิจารณาเล่าเฉยๆ ไม่เกิดประโยชน์ ไม่มีหลักมีเกณฑ์ เอาให้เห็นจริงจังอย่างนี้ เมื่อได้เห็นจริงจังจะเป็นอย่างที่ว่านี้ไม่เป็นอย่างอื่น ไม่มีใครบอกมันก็เป็นเอง แล้วหมุนเข้ามาๆ เข้ามาถึงใจ ใจเป็นอสุภะเสียเอง ใจเป็นราคะตัณหาไม่ได้มีอะไรเป็น ทีนี้มันก็ปัดอันนั้นเลยทันที เข้าใจแล้วนั่น ราคะตัณหาขาดแล้วได้หลักเกณฑ์แล้ว
ถ้าเป็นเนยยะอย่างพวกเรานี้ต้องฝึกซ้อมนะ เอาอสุภะนั่นละตั้งปุ๊บออกไปแล้วมันจะหมุนเข้ามาตามเดิม ตั้งปุ๊บตรงนั้นแล้วแทนที่จะอยู่นั้น มันจะหมุนเข้ามาหัวใจตามเดิมๆ แล้วชำนาญเข้าๆ เร็วเข้าๆ ต่อไปก็ค่อยหมดไปๆ พอตั้งปุ๊บนี่มันไม่ได้พิจารณาอะไรละ มันจะกลืนเข้าภายในใจๆ มากองอยู่ที่ใจๆ นี่ชำนาญเข้าไปมากแล้ว พอตั้งขึ้นมาแล้วกลืนทันทีๆ ใจกลืนทันทีๆ สุดท้ายหมด หมดจากนั้นแล้วก็เป็นเรื่องความว่างเปล่าของจิต จะพิจารณาอสุภะอสุภังได้ยังไง ตั้งปั๊บมันดับพร้อมๆ จะไปแยกธาตุแยกขันธ์ได้ยังไง นี่เป็นขั้นๆ อย่างนี้การพิจารณา
ตัวนี้ตัวสำคัญมากจึงต้องพิจารณา พอได้อันนี้แล้วจะได้รากได้ฐานต่อไป ไม่ต้องอธิบายต่อไปมันจะมีทางเดินต่อไป อันนี้เป็นทางเดินที่ถูกต้องดีงาม ผู้เข้าใจในเรื่องราคะตัณหาอสุภะอสุภังนี้แล้วเป็นทางเดินตลอดจะไม่หมุนลง ทีนี้มีแต่หมุนขึ้น เพราะฉะนั้นท่านผู้สำเร็จอนาคามี คือสิ้นราคะตัณหาเรียบร้อยแล้ว มีแต่หมุนขึ้นๆ สิ้นทีแรกยังไม่สมบูรณ์เต็มที่ ก็ตายแล้วไปเกิด อวิหา แล้วก็เลื่อนไป อตัปปา สุทัสสา สุทัสสี อกนิษฐา นี่สุทธาวาสห้าชั้นในชั้นพรหมโลก นี้เป็นที่อยู่ของพระอนาคามีผู้จะไม่กลับมาเกิดอีก แต่มีหยาบกลางละเอียดเป็นลำดับ นี่หมายถึงเราผู้ที่ถูไถไปมาธรรมดา เนยยะ แต่ท่านผู้ที่เป็นขิปปาภิญญาเป็นอีกอย่างหนึ่ง เราจะเอามาแบบเดียวกันไม่ได้ นี่อธิบายให้ฟัง
ส่วนมากจะอยู่ในเนยยะนี้ละ ถูไถไปมา เอ้า ฝึกซ้อมๆ จิตมันจะละเอียดเข้าไปแล้วหมุนขึ้นเรื่อย อวิหา อตัปปา มันอยู่ในจิตนั้นแหละ มันจะก้าวไปเองๆ จนถึง อกนิษฐา เสร็จแล้วพุ่งนิพพานเลย หมดโดยสิ้นเชิง นี่ละที่นี่เรียกว่าสิ้นแล้วสิ้นทุกข์ถึงนิพพาน วุสิตํ พฺรหมฺจริยํ กตํ กรณียํ พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว เสร็จกิจในพุทธศาสนาคือการแก้กิเลสฆ่ากิเลส ซึ่งเป็นงานที่หนักมากที่สุดได้สิ้นสุดลงไปแล้ว กตํ กรณียํ งานที่ควรจะทำได้ทำสำเร็จลงไปแล้ว งานที่ควรจะทำคืองานถอดถอนกิเลสนั้นแหละ ได้ทำเสร็จสิ้นลงไปเรียบร้อยแล้ว นั่นเรียกว่าหมดการหมดงาน
ธรรมที่กล่าวมาเหล่านี้ท่านทั้งหลายอย่าไปหามองดูนู้นมองดูนี้นะ ดูสถานที่นั่นที่นี่ เช่นพระพุทธเจ้านิพพานอยู่ทางโน้นทางนี้อะไร เท่านั้นเวลา เท่านี้เวลา สองพัน สามพันปีนั้นนะ นั้นเป็นมืดกับแจ้งเป็นกาลเป็นเวลา แต่กิเลสจริงๆ มันอยู่หัวใจของเรา ธรรมแก้กิเลสอยู่กับใจของเรา ให้มาแก้กันตรงนี้ อย่าไปยุ่งเหยิงวุ่นวายกับกาลสถานที่เวล่ำเวลา กิเลสอยู่กับหัวใจ ให้แก้กิเลส อย่างอุบายที่กล่าวมาแล้วนี้ ให้เอาตรงนี้ ธรรมวินัยคือศาสดาของเราทั้งหลายที่พระพุทธเจ้าทรงมอบไว้แล้ว ว่าธรรมและวินัยนั้นแลจะเป็นศาสดาของเธอทั้งหลายแทนเราตถาคต เมื่อเราล่วงไปแล้ว
ศาสดาของเราคืออะไร คือธรรมคือวินัย เพราะฉะนั้นจงเป็นผู้ใกล้ชิดติดพันกับธรรมกับวินัย ซึ่งเท่ากับตามเสด็จพระพุทธเจ้าทุกระยะ ทุกความเคลื่อนไหวของตัวเรา ถ้าห่างเหินจากนี้แล้วไม่มีท่านะ เราอย่าว่ากาลนั้นสถานที่นี่จะเป็นมรรคเป็นผล ไม่มีอะไรเป็นมรรคเป็นผล ไม่มีอะไรเป็นกิเลสตัณหาและเป็นธรรมแก้กิเลส เป็นอยู่ที่หัวใจของเรา เอาธรรมวินัยนี้เป็นเครื่องบุกเบิกทางเดิน พระวินัยท่านสอนว่าอย่างไรอย่าข้ามเกิน อย่าล่วงเกินเป็นอันขาด พระวินัยท่านกั้นเอาไว้อย่าออกไปสองฟากทาง พอข้ามนี้ปั๊บลงเหวลงบ่อแล้ว ถ้าข้ามเกินพระวินัยลงเหวลงบ่อแล้ว
ธรรมก็ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา เป็นต้น เอา หมุนเข้าไป ความเพียรดังที่กล่าวมาแล้วนี้ นี้เรียกว่าธรรม ก้าวธรรมให้ดีให้แน่นหนามั่นคงไปเรื่อยๆ วินัยแน่นหนามั่นคง วินัยก็ศาสดา ธรรมก็ศาสดาให้เราก้าวเดิน วินัยก็ให้ถูกต้องแม่นยำ เท่ากับตามเสด็จพระพุทธเจ้าด้วยพระวินัยที่สมบูรณ์ในหัวใจของเรา ธรรมก็ก้าวเดินด้วยความพากความเพียรของเรา แล้วก็จะเจริญรุ่งเรืองขึ้นไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงวิมุตติหลุดพ้น จะนอกเหนือไปจากธรรมจากวินัยนี้ไม่ได้เลย
ท่านทั้งหลายอย่าไปมองพระพุทธเจ้าที่นู่นที่นี่ มรรคผลนิพพานอยู่เดือนนั้นเดือนนี้ สถานที่นั่นที่นี่ มันมีแต่มืดกับแจ้ง กิเลสไม่มีมืดมีแจ้งแต่อยู่หัวใจเรา ธรรมก็ไม่มีมืดมีแจ้งอยู่ที่หัวใจเช่นเดียวกัน กิเลสครั้งพุทธกาลแต่ครั้งก่อนๆ ก็กิเลสประเภทเดียวกัน ธรรมก็เป็นธรรมประเภทเดียวกันแก้กันตก ตกมาโดยลำดับลำดา ธรรมเป็นเครื่องแก้กิเลสสังหารกิเลสเป็นลำดับลำดา ทำไมมาอยู่กับเราจะครึจะล้าสมัยไป ทันสมัยล้ำยุคตั้งแต่กิเลสนั้นเหรอ เอา พิจารณานักปฏิบัติ ต้องมีความเข้มข้นต่อการปฏิบัติของตนอย่าอ่อนแอ
อย่าหวังสิ่งใดที่จะเป็นสาระสำคัญ ยิ่งกว่าศาสดาคือธรรมวินัยนี้อยู่ในหัวใจของเรา อันนี้ฝากเป็นฝากตายกับนี้เลย มรรคผลนิพพานจะจ้าขึ้นที่หัวใจของเรา ตามหลักธรรมวินัยที่ชี้บอกๆ ไปโดยลำดับลำดา อยู่ที่นี่นะ ไม่อยู่ที่ไกลที่ไหน มรรคผลนิพพานอยู่ที่หลักธรรมหลักวินัย เอาก้าวไปตามนี้ๆ ถึง
ผู้ปฏิบัติต้องเอาจริงเอาจัง อย่าเหลาะแหละ ทำอะไรให้จริงให้จัง ให้มีสติทุกอย่าง ถ้ามีสติแล้วงามตานะ มีสติแล้วปัญญาก็จะค่อยออกยิบๆ แย็บๆ ถ้าคนมีสติมีความรู้สึกตัวอยู่ ปัญญาก็เป็นปัญญาขึ้นมา ถ้าไม่มีสติแล้วไม่เป็นท่านะ สติขาดเสียอย่างเดียวเลอะๆ เทอะๆ ไปหมด ความเพียรก็ล้มเหลว ถ้าสติยังดีอยู่ ตั้งแต่พื้นอย่างที่อธิบายให้เป็นแบบเป็นฉบับแล้วนี้เรื่อยขึ้นไปจนกระทั่งเป็นมหาสติมหาปัญญา แต่วันนี้ไม่ได้พูดถึงมหาสติมหาปัญญา การก้าวเดินของความเพียรของจิตใจนี้จะละเอียดเป็นลำดับลำดาไป ดังที่พูดว่าพอผ่านจากอสุภะอสุภังนี้แล้วขาดสะบั้นไปแล้ว จิตจะฝึกซ้อมไปละเอียดลออแล้วจะว่างเป็นอวกาศไปแล้ว เป็นสติปัญญาอัตโนมัติ พิจารณาเรื่องนามธรรมที่เกิดกับจิต เกิดแล้วดับๆ ไม่ว่าดีว่าชั่วจะเกิดขึ้นจากจิต
เรื่อง อสุภะอสุภัง ทุกฺขํ อนิจฺจํ อนตฺตา เกี่ยวกับรูปนั้นหมดปัญหาไปตั้งแต่ราคะตัณหาขาดสะบั้นลงไปแล้ว ไม่มี มีตั้งแต่นามธรรม ถ้าว่า อนิจจังก็ดี หรืออนัตตาก็ดี จะอยู่ในนามธรรม เกิดแล้วดับๆ ไม่ว่าดีว่าชั่วเกิดมาจากไหนตามเข้าไปๆ ก็ไปหาหลักใหญ่คืออวิชชานั้นแหละ ตามเข้าไปหลายครั้งหลายหนก็ไปถึงอวิชชา นี่ละการพิจารณามันว่างไปหมดนะ พอหมดรูปธรรมนี้แล้วจิตใจจะว่างไปเป็นลำดับ ว่างเป็นขั้นเป็นตอน ละเอียดเข้าไปๆ แต่ยังไม่ว่างภายใน เรียกว่าจิตว่างๆ
ทีนี้พอถึงขั้นอวิชชาถอนพรวดออกหมดเรียบร้อยแล้ว นั่นละว่างทั้งภายนอก คือทั่วๆ ไปหมด จิตนี้ว่างไปหมดสูญไปหมด ว่างทั้งภายในคือกิเลสที่อยู่ภายในจิตใจซึ่งยังไม่ว่างทีแรก กิเลสขาดสะบั้นคืออวิชชาขาดสะบั้นลงไป จิตก็ว่างภายใน ว่างทั้งภายนอก ว่างทั้งภายใน วางทั้งภายนอก วางทั้งภายใน ปล่อยหมด เรียกว่าเรียนโลกจบ เรียนธรรมจบ โลกนี้เรียนจบแล้วปล่อยวางโดยสิ้นเชิง ธรรมเรียนจบแล้วเป็นธรรมธาตุ บริสุทธิ์สุดส่วนหาที่ต้องติไม่ได้เลย นี่ละจิตเมื่อได้รับการบำเพ็ญ การอบรมรักษาอยู่ บำรุงรักษาอยู่เสมอจะเป็นอย่างนี้ ขอให้พากันตั้งอกตั้งใจ
ผมก็ไม่ค่อยมีเวลาจะแนะนำสั่งสอนพระเณรทั้งหลาย เนื่องจากงานของผมนี้ยุ่งมากๆ แล้วธาตุขันธ์ก็ไม่ค่อยเป็นไปอย่างว่านั่นละ ล้มลุกคลุกคลานไปอย่างนั้น พากันตั้งอกตั้งใจ อยู่ด้วยกันให้ดูหัวใจตัวเอง เทียบกับหัวใจคนอื่นเป็นยังไงบ้าง ถ้ามันคิดแย็บออกไปถึงเรื่องที่เป็นความไม่ดีต่อผู้อื่นผู้ใด ยกโทษยกกรณ์ผู้ใด นี่คือเราเป็นมหาโจรแล้วนะ เริ่มเกิดแล้วในหัวใจของเรา มันจะลุกลามออกไปกระทบกระเทือนผู้อื่นให้เสียหายไปตามๆ กัน โดยเจ้าตัวไม่รู้ว่าตัวเป็นผู้ก่อไฟเผาหัวอกตัวแล้วก็ไปเผาหัวอกคนอื่น ให้จำให้ดีตรงนี้ ทุกคนดูกันดูด้วยความเมตตาสงสาร ดูด้วยความเป็นธรรม อย่าดูด้วยการเพ่งโทษเพ่งกรณ์ นั้นเป็นเรื่องของกิเลส ดูกันด้วยความเป็นธรรม เมตตาสงสารให้อภัยซึ่งกันและกัน นี้คือความเป็นธรรม อยู่ด้วยกันได้ผาสุกร่มเย็นตลอด
ถ้าดูด้วยการเพ่งโทษเพ่งกรณ์ มองเห็นปั๊บนี้เพ่งโทษเพ่งกรณ์ไปแล้ว มีแต่เรื่องกิเลสออกทำงานก่อน แล้วก็ตำหนิคนนั้นตำหนิคนนี้ ตัวเองไม่ยอมตำหนิ ตัวเองไม่เห็นโทษตัวเอง คนนี้ไปที่ไหนก่อไฟไปที่นั้นแหละ ไม่ว่านักบวชไม่ว่าฆราวาส ให้ดูหัวใจตัวมันเป็นอยู่นี้ แล้วจะมีความสงบร่มเย็น การปฏิบัติธรรมอยู่ด้วยกันนี้ต้องได้เก็บความรู้สึก ต้องเป็นผู้อดทน คือกิเลสมันดันออกมา อยากพูดอยากจาอยากดุอยากด่าเขา นั่นกิเลสมันดันออกมา ให้เก็บความรู้สึกไว้ อย่าพูด สงบปากปิดปาก สิ่งไม่ควรพูดอย่าพูด สิ่งที่เป็นภัยออกจากปากเป็นภัยทันที สิ่งที่เป็นคุณออกจากปากเป็นคุณเป็นธรรมทันที รักษาตัวเองรักษาอย่างนี้ ตั้งใจประพฤติปฏิบัติ ทุกคนๆ หัวใจมีด้วยกันหวังพึ่งตัวเอง หวังพึ่งเราผู้บำเพ็ญด้วยกันนั้นแหละ ให้พากันตั้งอกตั้งใจ
นี่เข้าพรรษาแล้วตั้งแต่วันพรุ่งนี้ไป นั่นก็จะบิณฑบาตดังธุดงค์ที่เคยปฏิบัติมาทุกปี ประชาชนทั้งหลายมีศรัทธาก็เอามาใส่บาตร ตามเขตที่ปักไว้แล้ว ถือเอากำแพงเก่านี้เป็นบาทฐาน เรียกว่ารับมาถึงนั้นแล้วก็หยุด เราเอาอันนี้เป็นบาทฐานไปเลย พระให้บิณฑบาต แล้วเราก็ใส่บาตร มีเท่าไรเราก็ใส่ตามศรัทธาของเรา พระท่านรับมาแล้วก็เป็นเรื่องของท่านเอง ข้อวัตรปฏิบัติประจำพระก็คือไม่รับที่มาถึงวัดแล้ว เขาใส่บาตรเขาถวาย ธุดงค์ข้อนี้ถ้ารับขาดธุดงค์ ท่านไม่ใช่เย่อหยิ่งจองหองนะ ธุดงค์บังคับไว้ให้เป็นผู้มีความมักน้อย ได้มากได้เท่าไรก็ตามเอาเพียงเท่านี้ๆ เพื่อจะดัดกิเลสตัวมันโลภมาก กินไม่พอนั่นเอง ตีลงมาธรรมะจะได้ค่อยเจริญรุ่งเรืองขึ้นไปเป็นลำดับ นี่การปฏิบัติตน
ครั้งพุทธกาลท่านหนักแน่นในการประกอบความพากเพียรมากทีเดียวนะ ดูในตำรา ประกาศป้างๆ อยู่ในตำรา นี้ก็ได้เรียนมาพอประมาณจึงพูดได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ตามกำลังของเราที่ศึกษาเล่าเรียนมา ท่านเน้นหนักทางการแก้กิเลสทั้งนั้น ประกอบความพากเพียร ไม่มีงานอะไรในพระสำหรับครั้งพุทธกาล มีตั้งแต่เดินจงกรมนั่งสมาธิภาวนา เที่ยวอยู่ในป่านั้นเขาลูกนี้ ถ้ำนั้นเงื้อมผานี้ หาที่สงบสงัดโดยถ่ายเดียวเท่านั้น เพื่ออรรถเพื่อธรรมประกอบความพากเพียร นี่ครั้งพุทธกาลเรื่อยมาๆ ครั้นต่อมานี้กิเลสมันก็ยกทัพเข้ามาทับเอาๆ เรื่องการเรื่องงานเรื่องวัตถุต่างๆ มากองอยู่ในวัด กองอยู่ในพระในเณรไปหมดแล้วเวลานี้ ธรรมภายในใจไม่ค่อยสนใจนะ แล้วสร้างนั้นสร้างนี้ยุ่งไปหมด
สร้างวัดสร้างวาพออยู่ได้เท่านั้นเอง สถานที่อยู่พออยู่ได้ หลับนอนได้พอ กระต๊อบกระแต๊บ ท่านบอกว่ารุกขมูลในป่าในเขา รุกขมูลร่มไม้ นั่นละพระพุทธเจ้าสอนไว้ เราอยู่ก็เราเป็นคนไม่เหมือนสัตว์ มีที่มุงที่บังกระต๊อบกระแต๊บพออยู่ได้เท่านั้นพอ ขอให้ได้ประกอบความพากเพียรได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย อันนี้เป็นที่เหมาะสมและถูกต้องตามจารีตประเพณีของพระอริยะทั้งหลาย สืบเนื่องมาจากพระพุทธเจ้าพาดำเนินมาอย่างนี้ อย่าปล่อยอย่าวาง ความเพียรให้ถือเป็นหลักเป็นเกณฑ์ ขอให้มีความเพียร เรื่องชำระกิเลส กิเลสจะขาดสะบั้นไปเช่นเดียวกับครั้งพุทธกาล กิเลสตัวใดไม่เหนือธรรมไปได้เลย ธรรมนี้ปราบเรียบวุธ นี่ละจำให้ดีในข้อนี้นะ
เรื่องการปฏิบัติอย่าอ่อนข้อ ใครปฏิบัติยังไงการอดนอนผ่อนอาหาร ให้เป็นตามจริตนิสัยของแต่ละรายๆ ไป เช่นผ่อนอาหาร ผ่อนเป็นยังไง ภาวนาเป็นยังไงผ่อนอาหาร อดอาหารภาวนาเป็นยังไง เราต้องสังเกตตัวเราเอง อันนี้คนอื่นคนใดไปบังคับไม่ได้ และอันนี้ก็เป็นคำบอกเล่าสำหรับผมเองเคยปฏิบัติมาอย่างนี้ การผ่อนอาหารในธรรมมีอยู่แล้ว การอดอาหารนี้ท่านมีบอกไว้สองแง่ คือถ้าอดเพื่อโอ้เพื่ออวดแล้วปรับอาบัติทุกอิริยาบถความเคลื่อนไหว ก็คือหมายความว่าไม่ให้อด แต่ถ้าอดเพื่ออรรถเพื่อธรรมเพื่อความพากความเพียร อดเถิดเราตถาคตอนุญาต นี่มีแง่อยู่อย่างนี้
ถ้าอดเพื่อโอ้เพื่ออวดแล้วปรับอาบัติโทษตลอดเวลาทุกความเคลื่อนไหว แต่ถ้าอดเพื่อประกอบความพากเพียรแล้วอดเถิดเราตถาคตอนุญาต นั่นท่านว่าอย่างนั้น เรื่องผ่อนอาหารก็เหมือนกัน ตามจริตนิสัยของเรา เราอดอาหารก็ดีผ่อนอาหารก็ดี เราไม่ได้ตรัสรู้เพื่ออดอาหารผ่อนอาหารนะ ตรัสรู้ด้วยความเพียรของเรา อันนี้เป็นเครื่องหนุนให้ประกอบความเพียรด้วยความสะดวกสบาย เราก็ประกอบความเพียรได้สะดวกๆ แก้กิเลสไปได้คล่องตัวๆ
ถ้าไม่คำนึงถึงเรื่องการอยู่การกินนี้ เวลากินมากๆ มันทับนะ กินมากนอนมากขี้เกียจมาก นั่น ราคะตัณหาก็เริ่มพองตัวขึ้นมาอยู่ในหัวใจนั้นแหละ มันไม่ได้ออกมาแสดงทางร่างกายนะ มันยิบแย็บขึ้นภายในใจ สำหรับผู้จะฆ่ากิเลสตัวสำคัญเหล่านี้แล้ว ท่านจะถือเป็นเหตุอันร้ายแรงมาก มันยิบแย็บขึ้นมานี้จะสะดุ้งทันที แล้วรีบแก้กันทันทีๆ เพราะฉะนั้นจึงต้องระมัดระวังเรื่องอาหารการบริโภค แล้วการประกอบความเพียรของเราก็สะดวก เราผ่อนอาหารไปได้พอดิบพอดีขนาดไหน เอา ยึดเอาเป็นหลัก ผู้อดอาหารก็ตามแต่ที่จะอดได้มากน้อย ให้พินิจพิจารณาตัวเอง
อันนี้เป็นเรื่องอัธยาศัยของเรา ที่จะใช้ความเฉลียวฉลาดรอบคอบทั้งหลายปฏิบัติความเพียร ถ้าปฏิบัติไปเฉยๆ ทำไปเฉยๆ ไม่ได้นะ ไม่ได้เรื่อง ไม่ได้คิดด้วยสติปัญญาเสียก่อน เดินจงกรมก็เดินไปอย่างนั้นละไม่ได้เรื่องได้ราว ไม่เห็นเหตุเห็นผลอะไร อย่างนั้นไม่ได้เรื่องนะ ต้องมีสติ ทุกอย่างต้องมีสติปัญญารอบตัวอยู่ตลอดเวลา ทดสอบบวกลบคูณหารในตัวของเราอยู่เสมอ ผู้นี้ละผู้จะก้าวเข้าสู่มรรคผลนิพพานได้ หลักธรรมหลักวินัยสมบูรณ์แบบ มรรคผลนิพพานสมบูรณ์แบบอยู่กับหลักธรรมหลักวินัย อย่าไปหามรรคผลนิพพานที่ไหน ให้ตามเสด็จพระพุทธเจ้าด้วยธรรมด้วยวินัย อันนี้ละถึงที่สุด
พุทธศาสนาคือตลาดแห่งมรรคผลนิพพาน เอา ก้าวไปเดินไป ไม่บกพร่องพุทธศาสนาของเรา เป็นศาสนาที่เลิศเลอสุดยอดแล้ว นี้เราได้มาพบพุทธศาสนา ยิ่งมาบวชเป็นพระนี้ด้วยแล้วก็ยิ่งเลิศเลอ เอาให้จริงให้จังให้เห็นมรรคผลนิพพาน พระพุทธเจ้าสอนไว้เพื่อเราทุกคนมรรคผลนิพพาน เอา ปฏิบัติ มรรคผลนิพพานเป็นศูนย์กลาง ใครมีความสามารถมากน้อยเพียงไร จะเป็นไปตามความสามารถของตนนั้นแหละ ให้จำให้ดี
สำหรับประชาชนญาติโยมก็ให้พากันตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติ การให้ทาน การรักษาศีล การภาวนา เราจะมีกฎเกณฑ์บังคับตนข้อใดบ้างในสามเดือนนี้ อย่าให้ผ่านไปเปล่าๆ ไม่เกิดประโยชน์ เช่น ผู้ที่เคยให้ทาน มีขาดบ้างทำบ้างอย่างนี้ เอ้าตั้งใจไว้เลย ตั้งสัจจอธิษฐานไว้ไม่ให้ขาด แม้ไม่ได้ให้ทานวันหนึ่งได้ใส่บาตรองค์เดียวก็ยังดีไม่ขาด นั่น ให้ปักไว้เป็นหลักเป็นเกณฑ์ รักษาศีล ศีลยังไง เอ้า รักษาเราจะเป็นผู้รักษาตัวของเรานี้ รักษาศีลก็ศีลเป็นสมบัติของเรา คือรักษาตัวของเรานั้นแหละ เอาให้ดี ใครมีความหละหลวมอะไรๆ การประพฤติตัวโกโรโกโสให้ดัดลงด้วยธรรม ไม่มีธรรมดัดไม่ได้นะ ฉิบหาย ต้องเอาธรรมไปดัดสันดานมัน เช่นเคยกินเหล้าเมายาสุรานารีอะไร ตัดขาดลงไปๆ ด้วยธรรม อย่างอื่นตัดไม่ได้นะ ถ้าเอาธรรมตัดนี้ขาดสะบั้นไปเลย.ให้พากันจดจำ
การประกอบความพากความเพียรเอาให้ดีทุกคน ให้ดูใจตัวเอง ใจคนอื่นกับใจของเรามันเหมือนกันนั้นแหละ ดูเขาดูเรา เฉลี่ยความรู้ความเห็นเข้าหากัน มองดูกันอย่าเอาความเพ่งโทษเพ่งกรณ์ไปดู เรามันเป็นนักโทษแล้วนะอย่างนั้นน่ะ ไปมองใครมีแต่นักโทษ ไปหาขโมยจ้องโทษคนนั้นโทษคนนี้ ตัวขโมยใหญ่คนนี้หาสาระไม่ได้ อยู่ที่ไหนขวางโลก ทะเลาะเบาะแว้งกันออกมา เมื่อทนไม่ไหวพูดป้องแป้งๆ ออกมา เอาละ ทะเลาะกัน ใช้สติปัญญาดู ดูหัวใจตนเอง หัวใจเขาดู ไม่ควรว่าอย่าไปว่า ดูแล้วให้อภัยกัน อย่าดูแล้วไปดูถูกเหยียดหยาบเขาดุด่าว่ากล่าวเขาใช้ไม่ได้นะ ดูแล้วก็ให้แนะนำกันด้วยความเมตตาสงสารชื่อว่าเป็นธรรม ผู้ฟังก็ฟังโดยธรรม อย่าทะนงตัว อย่าโอ้อวดความรู้วิชา
ทุกอย่างๆ มันความรู้วิชาของกิเลส ความรู้วิชาของธรรมสอนลงไปให้ยึดให้เกาะ ความรู้ของกิเลสนั้นสอนลงไปก็เป็นกิเลสไป ไปว่าให้เขามันก็เป็นกิเลสรับกันมา เลยกัดกันเหมือนหมา ใช้ไม่ได้นะ ให้พากันตั้งอกตั้งใจ วันนี้ก็เห็นจะพูดเพียงเท่านี้แหละ และต่อไปให้พากันประกอบความพากเพียรพระเณรเรา ตั้งอกตั้งใจปฏิบัติให้จริงให้จัง การภาวนาดังที่พูดแล้วนี้ ใครอยู่ในธรรมอะไรให้ตั้งสติทำความพากเพียรนั้นให้ดี อย่าปล่อยสติ สตินี้สำคัญมากทีเดียว ตั้งแต่พื้นๆ จนเป็นมหาสติมหาปัญญา ไม่มีคำว่าจะครึจะล้าสมัย เป็นความจำเป็นอย่างมากตลอดไปเลย ท่านจึงว่าเป็นมหาสติมหาปัญญา คือว่าแก่กล้าสามารถจนกลายเป็นมหา มหาแปลว่าใหญ่ แก่กล้าสามารถขึ้นเป็นมหาสติมหาปัญญา สติก็แก่กล้าปัญญาก็สามารถฆ่ากิเลส ตัว อวิชฺชาปจฺจยา นั้นละจะขาดสะบั้นลงไปด้วยมหาสติมหาปัญญา ตั้งแต่ตั้งไปทีแรกนี่ ถึงขั้นนั้นแล้วขาดสะบั้นไปเลย
เอาละวันนี้ก็เห็นว่าสมควร การเทศนาว่าการนั้นผมไม่ค่อยมีเวลาที่จะเทศน์สั่งสอนหมู่เพื่อนนะ ดูเอาเถอะงานของผมยุ่งไปหมด ธาตุขันธ์ก็ไม่อำนวย งานก็ภายนอก อยู่ที่ไหนๆ ไม่ได้ว่างๆ ละ จนกระทั่งอิดหนาระอาใจ จะออกมาจากกุฏิจะไปดูงานดูการในวัดในวาออกไปไหนไม่ได้มันรุม เอ้าพูดให้ชัดเจน พอเห็นหน้าไม่ได้นะ มันรุมเข้ามามันรำคาญนะ เวลาเทศน์ก็เทศน์ให้ฟังทุกสิ่งทุกอย่าง เห็นแล้วอยู่ที่ไหนก็ยกมือไหว้กราบอยู่นั้นก็แล้วกัน นี่รุมเข้ามาๆ หลวงตาๆ สันพร้านี่อยากว่างั้นเรา มันรำคาญ ไปที่ไหนรุมๆ รุมหาอะไร ดูใจของตัวเอง ไหว้ท่าน นั่งไหว้อยู่นั้นก็ได้เป็นอะไรไป ไปรุมหาอะไร นี่ละที่ให้รำคาญนะ
เวลาเทศน์ก็เทศน์เต็มเม็ดเต็มหน่วย ไปแล้วยังมารุมอีกตามอีก ยุ่งกันเปล่าๆ นะ หมาเขาไม่ได้มาฟังเทศน์นะ เล่นกับเขาก็ไม่เป็นไร เขามารุมกับเราก็ไม่เป็นไรเพราะเวลาเทศน์เขาไม่ได้ฟัง เขาก็เอาว่างๆ นั้นก็ไม่เป็นไร ไอ้คนนี่ซิ ฟังเทศน์ฟังธรรมอยู่ไม่แล้ว พอมองเห็นที่ไหนแล้วรุมใส่กันๆ จึงบอกว่ารำคาญ พูดให้ฟังชัดเจนอย่ารุมนะ ไปที่ไหนเราจะไปของเราเอง เราไม่ให้ใครรุม เราไปด้วยเหตุด้วยผลของเรา เรามีธุระของเราอะไรเราไป วัดนี้อยู่ในความปกครองของเรา ต้องได้ดูแง่นั้นแง่นี้ทุกสิ่งทุกอย่าง ต้องได้ออกตรวจตราพาทีอยู่ตลอด อะไรควรจะสั่งเสียอะไรต้องได้สั่งเสีย นี้ละเป็นเหตุที่จะให้ออกไปอยู่เรื่อยๆ ไปดูนั้นดูนี้ ไม่ใช่ออกไปเฉยๆ
เอาละวันนี้เทศน์เพียงเท่านี้ก็เห็นว่าจะพอสมควรแก่เวล่ำเวลา ขอความสวัสดีจงมีแก่บรรดาท่านทั้งหลายโดยทั่วกันเทอญ
.
พระธรรมเทศนา​ของ พระธรรมวิสุทธิมงคล​ (หลวงตาพระมหาบัว​ ญาณสัมปันโน)
.
ที่มาของบทความ: คัดมาจากพระธรรมเทศนา​ เรื่อง​ วิธีภาวนาของ​พระธรรมวิสุทธิมงคล​ (หลวงตาพระมหาบัว​ ญาณสัมปันโน)​ ในวาระเทศน์อบรมพระวันเข้าพรรษา ณ. วัดป่าบ้านตาด​ อ.เมือง​ จ​ อุดรธานี​ เมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๔๘ (ตอนค่ำ)
https://www.luangta.com/thamma/thamma_talk_text.php...
.
ทานานํ​ ยทิทํ ธมฺมทานํ​ เอตทคฺคํ
ธรรมทานเลิศกว่าทานทั้งหลาย
.
~Nirasho​ Bhikkhu~
.
................................................
หลวงตาพระมหาบัว​ ญาณสัมปันโน​ วัดป่าบ้านตาด​ อ.เมือง​ จ. อุดรธานี


Create Date : 26 กันยายน 2563
Last Update : 26 กันยายน 2563 10:57:04 น. 0 comments
Counter : 134 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

สมาชิกหมายเลข 5378236
Location :
ขอนแก่น Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




ดี
Friends' blogs
[Add สมาชิกหมายเลข 5378236's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.