พระพุทธศาสนา
Group Blog
 
All Blogs
 
ขั้นตอน หรือระดับแห่งการเข้าถึงนิพพาน ฌานสมาบัติทั้งหลาย นอกจากจะเป็นพื้นฐานที่ดีในการปฏิบัติเ

ขั้นตอน หรือระดับแห่งการเข้าถึงนิพพาน

     ฌานสมาบัติทั้งหลาย นอกจากจะเป็นพื้นฐานที่ดีในการปฏิบัติเพื่อบรรลุนิพพานแล้ว บางครั้งท่านยังเรียกเป็นนิพพานโดยปริยาย คือ โดยอ้อม หรือโดยความหมายบางแง่บางด้านอีกด้วย เช่น มีพุทธพจน์ตรัสเรียก ฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ และสัญญาเวทยิตนิโรธ * แต่ละอย่างๆ ว่าเป็นตทังคนิพพาน บ้าง ทิฏฐธรรมนิพพาน บ้าง สันทิฏฐิกนิพพาน * บ้าง เช่น ข้อความในบาลีว่า

     "ภิกษุผู้สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม ฯลฯ เข้าถึงปฐมฌาน แม้เท่านี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ตรัสเรียกว่า เป็นทิฏฐธรรมนิพพาน โดยปริยาย ฯลฯ

     "ภิกษุก้าวล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนะโดยประการทั้งปวง เข้าถึงสัญญาเวทยิตนิโรธอยู่ เพราะเห็นด้วยปัญญา อาสวะทั้งหลายของเธอก็หมดสิ้นไป แม้เพียงเท่านี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ตรัสเรียกว่า เป็นทิฏฐธรรมนิพพาน โดยนิปริยาย" (องฺ.นวก.23/237/251 ฯลฯ)

     ผู้ที่กำลังเจริญวิปัสสนา มองเห็นขันธ์ ๕ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีอันจะต้องผันแปรไปเป็นธรรมดา ละความโศกเศร้าเป็นต้นเสียได้ หมดความร่านรนกระวนกระวาย อยู่เป็นสุข ท่านก็เรียกว่าเป็นผู้ตทังคนิพพาน *

     มีพุทธพจน์น่าสนใจแห่งหนึ่ง ตรัสว่า คนที่ถูกราคะ โทสะ โมหะ ครอบงำ ย่อมคิดในทางที่จะทำตนเองให้ลำบากเดือดร้อนบ้าง ทำคนอื่นให้ลำบากเดือดร้อนบ้าง ทำทั้งตนเองและผู้อื่นให้ลำบากเดือดร้อนทั้งสองฝ่ายบ้าง ย่อมเสวยทุกขโทมนัสทางใจบ้าง ครั้นเขาละราคะ โทสะ โมหะ ได้แล้ว เขาก็ไม่คิดในทางที่จะทำตนเองหรือทำผู้อื่น หรือทั้งสองฝ่ายให้ลำบากเดือดร้อน ไม่ต้องเสวยทุกขโทมนัสทางใจ อย่างนี้แหละเป็นสันทิฏฐิกนิพพาน เมื่อใดบุคคลผู้นี้เสวยภาวะปลอดราคะสิ้นเชิง ภาวะปลอดโทสะสิ้นเชิง ภาวะปลอดโมหะสิ้นเชิง อย่างนี้แล คือ นิพพานที่เป็นสันทิฏฐิกะ อกาลิกะ เอหิปัสสิกะ โอปนยิกะ ปัจจัตตัง เวทิตัพพัง วิญญูหิ (ซึ่งวิญญูชน พึงทราบจำเพาะตน)

      คัมภีร์ปฏิสัมภิทามัคค์ แบ่งนิโรธ ซึ่งเป็นไวพจน์สำคัญของนิพพาน ออกเป็น ๕ อย่าง หรือ ๕ ระดับ  คือ

     ๑. วิกขัมภนนิโรธ    ได้แก่    การที่ผู้เจริญปฐมฌาน ดับนิวรณ์ได้ด้วยการข่มไว้  (สมาบัติ ๘ คือ รูปฌาน ๔ และรูปฌาน ๔ เป็นวิกขัมภนนิโรธทั้งหมด เพราะนับแต่เข้าปฐมฌานแล้วเป็นต้นไป อกูศลธรรมทั้งหลายมีนิวรณ์เป็นต้น ย่อมถูกข่มให้ระงับไปเอง แต่ก็ดับชั่วเวลาที่อยู่ในฌานสมาบัตินั้น พูดอย่างง่ายว่า ข่มธรรมที่เป็นข้าศึกคือกิเลสต่างๆ เช่น นิวรณ์ เป็นต้นได้ ด้วยโลกิยสมาธิ เป็นการดับกิเลสแบบเอาหินทับหญ้า)

      ๒. ตทังคนิโรธ   ได้แก่   การที่ผู้เจริญสมาธิถึงขั้นชำแรกทำลายกิเลส  ดับความเห็นผิดต่างๆ ลงได้ด้วยธรรมที่เป็นคู่ปรับกัน   (หมายถึงการดับกิเลสในขั้นวิปัสสนา คือใช้ปัญญาพิจารณาสภาวะของสิ่งทั้งหลาย เช่น พิจารณาความไม่เที่ยง เป็นต้น พิจารณาเห็นแง่ใด ก็เกิดญาณขึ้นกำจัดความเห็นหรือความยึดถือในทางตรงข้ามที่ขัดต่อสัจธรรมใน แง่นั้นๆ ลงได้ เช่น กำหนดเห็นตัวตนเราเขาเป็นเพียงนามรูป ก็ดับสักกายทิฏฐิได้ พิจารณาความไม่เที่ยง ก็ดับนิจจสัญญาได้ พิจารณาเห็นทุกข์ ก็ดับสุขสัญญาได้ พิจารณาเห็นอนัตตา ก็ดับอัตตสัญญาได้ เป็นต้น เป็นการดับกิเลส แบบจุดดวงไฟ ดับความมืด แต่ก็ยังเป็นการดับชั่วคราว เหมือนว่าพอไฟดับ ก็มืดอีก)

      ๓. สมุจเฉทนิโรธ   ได้แก่   การที่ผู้เจริญโลกุตรมรรค ซึ่งให้ถึงความสิ้นกิเลส ดับกิเลสได้ด้วยการตัดขาด  (หมายถึง อริยมรรคทั้ง ๔ คือ โสดาปัตติมรรค สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค และอรหัตมรรค ซึ่งดับกิเลสเช่นสังโยชน์ทั้งหลายได้อย่างเด็ดขาด ไม่กลับงอกงามขึ้นมาได้อีก เหมือนต้นไม้ถูกสายฟ้าฟาด หรือขุดรากถอนโคนทิ้ง)

     ๔. ปฏิปัสสัทธินิโรธ   ได้แก่    การดับกิเลสในขณะแห่งผล โดยเป็นภาวะที่กิเลสราบคาบไปแล้ว (หมายถึง อริยผลทั้ง ๔ คือ โสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล และอรหัตผล ซึ่งเป็นภาวะสงบเรียบซึ้งสนิท เพราะกิเลสได้ถูกมรรคตัดขาดระงับดับสิ้นไปแล้ว)

     ๕. นิสสรณนิโรธ   ได้แก่    การดับกิเลสที่เป็นภาวะพ้นออกไปแล้วจากกิเลส ดำรงอยู่ต่างหาก ห่างไกลจากกิเลส ไม่เกี่ยวข้องกับกิเลสเลย นิโรธข้อนี้แหละ คือ นิพพาน หรือที่เรียกว่า อมตธาตุ ซึ่งเป็นภาวะที่ปลอดโปร่ง เป็นอิสระ

      ในนิโรธ ๕ ข้อนี้ ๒ ข้อแรก คือ วิกขัมภนนิโรธ และตทังคนิโรธ เป็นขั้นโลกิย์ ส่วนสามข้อท้าย เป็นโลกุตระ สี่ข้อแรกเรียกว่าเป็นนิพพานได้โดยปริยาย คือโดยอ้อมหรือในบางแง่บางด้าน ส่วนข้อสุดท้าย คือ นิสสรณนิโรธ จึงจะเป็นนิพพานโดยนิปริยาย คือนิพพานแท้ โดยตรง เต็มตามความหมาย

      นอกจากนิโรธแล้ว คัมภีร์ปฏิสัมภิทามัคค์ ยังแบ่งเป็นปหาน วิเวก วิราคะ และโวสสัคคะ (การปล่อยวาง) เป็นอย่างละ ๕ ข้อ เช่นเดียวกับนิโรธ ๕ นี้ มีข้อย่อยและความหมายตรงกันทั้งหมด

      ส่วนคัมภีร์รุ่นอรรถกถา   นิยมแบ่งวิมุตติเป็น ๕ ข้อ มีข้อย่อยและความหมายของแต่ละข้อตรงกันกับนิโรธ ๕ ที่กล่าวมาแล้วเช่นเดียวกัน

     ขั้นตอนหรือระดับแห่งการเข้าถึงนิพพาน อย่างที่รู้จักกันทั่วไป ก็คือการแบ่งแบบมรรค ผล หรือ มรรค ๔ ผล ๔ ได้แก่ โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกทาคามิมรรค สกทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตมรรค และอรหัตผล

    อย่างไรก็ดี การแบ่งแบบนี้ มักพูดถึงโดยสัมพันธ์กับบุคคลผู้บรรลุ จึงจะยกไปกล่าวในตอนต่อไป ว่าด้วยประเภทและระดับแห่งผู้เข้าถึงนิพพาน

    ส่วนในที่นี้ ขอย้ำไว้เพียงว่า มรรค ผล นั้นไม่ใช่นิพพาน แต่เป็นเพียงขั้นตอนหรือระดับแห่งการเข้าถึงนิพพาน

นอกจากนี้ มีข้อควรทราบพิเศษอีกอย่างหนึ่งว่า

     มรรคข้อแรก คือ โสดาปัตติมรรค มีชื่อเรียกอีกอยางหนึ่งว่า "ทัสสนะ" (การเห็น) เพราะเป็นการเห็นนิพพานครั้งแรก

     ส่วนมรรคเบื้องสูงอีก ๓ คือ สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค และอรหัตมรรค มีชื่อเรียกรวมกันอีกอย่างหนึ่งว่า "ภาวนา"   (การเจริญ) เพราะเป็นการเจริญในธรรมที่โสดาปัตติมรรคเห็นไว้แล้วนั่นเอง (ม.อ.1/102  ฯลฯ)

5

โยงให้ถึงนิโรธในอริยสัจ ๔  ข้อ  ๓  ด้วย  

183 

ตทังคนิพพาน    นิพพานด้วยธรรมคู่ปรับ หรือ นิพพานชั่วคราว

ทิฏฐธรรมนิพพาน    นิพพานเห็นทันตา

สันทิฏฐิกนิพพาน   นิพพานที่ผู้บรรลุจะเห็นได้เอง

ปริยาย   โดยอ้อมหรือแง่หนึ่ง

นิปริยาย   โดยตรง

สัญญาเวทยิตนิโรธ   เรียกอีกอย่างว่า นิโรธสมาบัติ

สันทิฏฐิกะ   ซึ่งผู้บรรลุเห็นได้เอง

อกาลิกะ  ไม่ขึ้นกับกาล

เอหิปัสสิกะ  เชิญให้มาพิสูจน์ดูได้

โอปนยิกะ  ควรน้อมเข้ามาไว้ในใจ

ปัจจัตตัง เวทิตัพพัง วิญญูหิ ซึ่งวิญญูชน พึงทราบจำเพาะตน

ภาวะปลอดราคะสิ้นเชิง ภาวะปลอดโทสะสิ้นเชิง ภาวะปลอดโมหะสิ้นเชิง ราคักขัย โทสักขัย โมหักขัย

 

 
 
space



Create Date : 23 พฤษภาคม 2564
Last Update : 23 พฤษภาคม 2564 15:21:45 น. 0 comments
Counter : 182 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

สมาชิกหมายเลข 5378236
Location :
ขอนแก่น Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




ดี
Friends' blogs
[Add สมาชิกหมายเลข 5378236's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.