พระพุทธศาสนา
Group Blog
 
All Blogs
 
ดี

วันนี้วันที่ ๒๓ มกราคมเป็นวันคล้ายวันมรณภาพหลวงปู่กู่ ธัมมทินโน รำลึก ๖๘ ปี อาจาริยบูชาคุณ “พระอริยเจ้าผู้มีปฏิปทาเด็ดเดี่ยวแม้วาระนิพพาน” แห่งวัดป่ากลางโนนภู่ อ.พรรณนานิคม จ.สกลนคร องค์ท่านเป็นชาวภูไทที่สืบเชื้อสายมาจากพระเวสสันดร และเป็นญาติกับหลวงปู่ฝั้น อาจาโร ส่วนผู้เป็นน้องชายก็คือ หลวงปู่กว่า สุมโน หลวงปู่กู่ ได้ออกเดินธุดงค์ติดตามศึกษาธรรมอยู่กับหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ทั้งทางภาคอีสาน และภาคเหนือ ได้อยู่ช่วยหลวงปู่มั่น อบรมธรรมะแก่ผู้ต้องการเดินทางมาหาหลวงปู่มั่น เช่น หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ , หลวงปู่หล้า เขมปัตโต , หลวงปู่บุญฤทธิ์ ปัณฑิโต เป็นต้น หลวงปู่กู่ ธัมมทินโน ท่านได้ถึงละสังขารในอิริยาบถท่านั่งสมาธิบนกฏิ ณ ถ้ำเจ้าผู้ข้า อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๖
ธรรมะที่องค์ท่านให้ไว้คือ “ถ้าหากเราทำความดีถึงที่แล้ว เรื่องของการตายเราไม่ต้องหวาดหวั่นเลย” องค์หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ได้เคยกล่าวถึงหลวงปู่กู่ ดังนี้ “..ท่านอาจารย์กู่ ท่านสอนพระเณร ท่านจวนจะตาย ท่านสอนจนกระทั่งหมดวาระ “ผมจะไปแล้วนะ ปั๊บ ๆ ไปเลย ท่านสอนว่า อย่าประมาท เอาจิตให้ดี เมื่อจิตดีแล้วอะไร ๆ จะเป็นอะไร เป็นเรื่องเครื่องมือของจิต สังขารร่างกายเป็นเครื่องมือของจิตทั้งนั้น เอาจิตให้ดี ถ้าจิตดีแล้วสิ่งเหล่านี้ไม่มีปัญหาอะไรเลย นี่ผมจวนจะไปแล้วนะ” นั่นบอก “ให้ตั้งใจภาวนา” สอนพระ “อบรมจิตให้ดี” พอเสร็จแล้วผมไปแล้วนะ ปั๊บไปเลย นั่น ท่านเผลออะไรที่ไหน นั่นละจิตดีเป็นอย่างนั้น..” (แสดงธรรม ณ สวนแสงธรรม ๑๕ ก.ค. ๔๘) จึงขอน้อมนำชีวประวัติหลวงปู่กู่ ธัมมทินโน มาเป็นสังฆานุสติ และมรณานุสติครับ
#ชีวประวัติปฏิปทาหลวงปู่กู่_ธัมมทินโน
วัดป่ากลางโนนภู่ ต.ไร่ อ.พรรณนานิคม จ.สกลนคร
ท่านพระอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโน เดิมชื่อ กู่ เกิดในตระกูล สุวรรณรงค์ ซึ่งเป็นตระกูลเดียวกับท่านพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร นับเป็นญาติที่ใกล้ชิดกัน บิดาท่านคือ หลวงพรหม (เมฆ สุวรรณรงค์) มารดาชื่อ หล้า สุวรรณรงค์ ท่านเกิดในวันเสาร์ เดือน ๕ ปีชวด พ.ศ. ๒๔๔๓ ท่านมีน้องชาย คือ พระอาจารย์กว่า สุมโน แห่งวัดกลางโนนกู่ อำเภอพรรณานิคม ซึ่งเกิดในปี พ.ศ. ๒๔๔๗ อ่อนกว่าท่าน ๓ ปี
#การอุปสมบท
ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ฝ่ายมหานิกาย ณ สำนักวัดโพธิ์ชัย บ้านม่วงไข่ อ. พรรณานิคม จ. สกลนคร โดยมีพระครูสกลสมณกิจ (ท่านอาญาครูธรรม) เป็นพระอุปัชฌาย์ ตามประวัติในที่ต่าง ๆ ไม่ปรากฏว่าท่านได้อุปสมบทในปีใด แต่สันนิษฐานว่าท่านบวชเมื่ออายุครบ ๒๐ ปี ในปี พ.ศ. ๒๔๖๓ เพราะในปีนั้นเองที่ท่านได้ไปฟังเทศน์กับพระอาจารย์ฝั้น ที่บ้านม่วงไข่ และได้ไปในเพศสมณะแล้ว
#พบพระอาจารย์มั่น_ภูริทตฺโต
ใน พ.ศ. ๒๔๖๓ เดือน ๓ ข้างขึ้น เป็นระยะเวลาที่พระอาจารย์กู่ได้พบพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต และได้ปวารณาตนขอเป็นศิษย์พระอาจารย์มั่นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา สาเหตุที่พบกันมีอยู่ว่า ระยะเวลาดังกล่าว พระอาจารย์มั่น พร้อมด้วยพระภิกษุสามเณรอีกหลายรูป ได้เที่ยวธุดงค์ไปพักที่วัดป่าภูไทสามัคคี บ้านม่วงไข่ ตำบลพรรณา อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ญาติโยมทั้งหลายในบ้านม่วงไข่ ได้พากันไปนมัสการ และขอฟังพระธรรมเทศนาของท่าน สำหรับพระภิกษุที่ไปร่วมฟังด้วย มีท่านอาญาครูดี พระอาจารย์กู่ และพระอาจารย์ฝั้น ผู้เป็นญาติของท่าน
เมื่อพระอาจารย์มั่นแสดงธรรมจบลง ญาติโยมน้อยใหญ่ต่างพากันเลื่อมใสเป็นอันมาก พากันสมาทานรับเอาพระไตรสรณคมน์เป็นที่พึ่ง ตั้งแต่นั้นมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้ ส่วนท่านอาญาครูดี พระอาจารย์กู่ และพระอาจารย์ฝั้น เมื่อได้ฟังพระธรรมเทศนาจบลง ก็บังเกิดความปีติยินดีและเลื่อมใสเป็นอย่างยิ่ง ทุกท่านเกิดกำลังใจมุมานะอยากบังเกิดความรอบรู้เหมือนพระอาจารย์มั่น จึงปรึกษาหารือกันว่า พระอาจารย์มั่น ท่านได้ศึกษาเล่าเรียนหนังสือในชั้นสูง คือเรียนสนธิ เรียนมูลกัจจายน์ ประถมกัปป์ ประถมมูล จนกระทั่งสำเร็จมาจากเมืองอุบล จึงแสดงพระธรรมเทศนาได้ลึกซึ้งและแคล่วคล่องไม่ติดขัด ประดุจสายน้ำไหล พวกเราน่าจะต้องตามรอยท่าน โดยไปร่ำเรียนจากอุบลฯ ให้สำเร็จเสียก่อน จึงจะแปลอรรถธรรมได้เหมือนท่าน
เมื่อปรึกษาหารือกันแล้ว ได้พากันปวารณาตัวขอเป็นศิษย์ต่อพระอาจารย์มั่น รับเอาข้อวัตรปฏิบัติ ถือธุดงควัตรโดยเคร่งครัด กับได้ขอติดสอยห้อยตามท่านอาจารย์มั่นไปด้วย แต่ท่านพระอาจารย์มั่นท่านคอยไม่ได้ เพราะทั้งสามท่านยังไม่พร้อมในเรื่องบริขารสำหรับธุดงค์ จึงออกเดินทางไปก่อน พระอาจารย์ทั้งสามต่างได้รีบจัดเตรียมบริขารสำหรับธุดงค์อย่างรีบด่วน เมื่อพร้อมแล้ว จึงออกติดตามท่านพระอาจารย์มั่นไปทั้งสามท่าน
ในระหว่างนั้น พระอาจารย์ดูลย์ อตุโล (พระรัตนากรวิสุทธิ์ เจ้าคณะธรรมยุต จังหวัดสุรินทร์) ซึ่งก็ได้เดินทางเที่ยวตามหาพระอาจารย์มั่นด้วยเหมือนกัน โดยเดินธุดงค์เลียบฝั่งแม่น้ำโขงมาจนถึงบ้านม่วงไข่ แล้วจึงได้ไปพักอยู่ที่วัดโพธิ์ชัย เมื่อท่านอาญาครูดี พระอาจารย์กู่ และพระอาจารย์ฝั้น ได้ไปพบพระอาจารย์ดูลย์ที่วัดนั้น จึงได้ศึกษาธรรมเบื้องต้นกับท่านอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง และเนื่องจากต่างก็มีความประสงค์จะตามหาพระอาจารย์มั่นด้วยกันอยู่แล้ว ดังนั้นพระอาจารย์ทั้ง ๔ จึงได้ร่วมกันเดินธุดงค์ติดตาม โดยพระอาจารย์ดูลย์รับหน้าที่เป็นผู้นำทาง ปีนั้นเป็นปี พ.ศ. ๒๔๖๔
เมื่อธุดงค์ติดตามไปถึงตำบลบ้านคำบก อำเภอหนองสูง (ปัจจุบัน อำเภอคำชะอี) จังหวัดนครพนม จึงทราบว่า พระอาจารย์มั่นจำพรรษาอยู่ที่บ้านห้วยทราย และท่านกำลังเดินธุดงค์ต่อไปยังอำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร พระอาจารย์ทั้งสี่จึงรีบติดตามไปอย่างเร่งรีบ จนกระทั่งไปทันพระอาจารย์มั่นที่บ้านตาลโกน ตำบลตาลเนิ้ง อำเภอสว่างแดนดิน พระอาจารย์ทั้งสี่ได้ศึกษาธรรมอยู่กับพระอาจารย์มั่นเป็นเวลา ๓ วัน จากนั้นจึงได้ไปกราบนมัสการพระอาจารย์เสาร์ ที่บ้านหนองดินดำแล้วไปหาพระอาจารย์สิงห์ ที่บ้านหนองหวาย ตำบลเดียวกัน ศึกษาธรรมอยู่กับท่านอีก ๗ วัน จากนั้นก็ได้กลับไปอยู่บ้านตาลเนิ้ง และได้ไปรับฟังธรรมจากพระอาจารย์มั่นอยู่เสมอ ๆ
เมื่อออกพรรษาแล้ว พระภิกษุที่เป็นศิษยานุศิษย์ทั้งหลายของพระอาจารย์มั่น ต่างก็แยกย้ายกันออกธุดงค์ต่อไป พระอาจารย์ฝั้นก็แยกออกไปกับสามเณรพรหม ผู้เป็นหลาน ไปทางอำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี หลวงปู่ดูลย์ คาดว่าธุดงค์ไปทางจังหวัดสุรินทร์ระยะหนึ่ง แล้วจึงขึ้นไปทางอีสานเหนือ ไปทาง อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร โดยมีสามเณรติดตามไปด้วยองค์หนึ่ง ส่วนพระอาจารย์กู่เข้าใจว่าได้อยู่ติดตามพระอาจารย์มั่นไป
#ญัตติเป็นธรรมยุต
เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๖ ได้ญัตติเป็นพระภิกษุธรรมยุติกนิกาย โดยมีพระอดิศัยคุณาธาร (คำ อรโก) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์มั่น เป็นพระกรรมวาจารย์ ณ วัดมหาชัย ต. หนองบัว อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู
พ.ศ. ๒๔๖๘ ในปีนี้พระอาจารย์กว่า สุมโน ผู้เป็นน้องชายก็ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุฝ่ายธรรมยุติ ณ วัดโพธิสมภรณ์ จังหวัดอุดรธานี โดยมีเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พันธโล) เมื่อยังเป็นพระครูสังฆวุฒิกร เป็นพระอุปัชฌาย์ พระรักและพระบุญเย็น เป็นพระกรรมวาจาจารย์ เมื่อบวชแล้วก็ได้มากับพระอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโน และร่วมจำพรรษา กับพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ที่วัดอรัญวาสี อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย พระอาจารย์ต่าง ๆ ที่จำพรรษาในปีเดียวกันนั้น ได้แก่ พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ, พระอาจารย์สาร, พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร, พระอาจารย์กว่า สุมโน และยังมีพระภิกษุสามเณรอีกรวมถึง ๑๖ รูป
เมื่อใกล้จะออกพรรษา พระอาจารย์มั่นได้ประชุมหมู่ศิษย์เพื่อเตรียมออกเที่ยวธุดงค์หาที่วิเวก และได้จัดหมู่ศิษย์ออกไปเป็นพวก ๆ โดยจัดพระอาจารย์กู่ พระอาจารย์อ่อน และพระอาจารย์ฝั้นให้ไปเป็นชุดเดียวกัน เพราะเห็นว่ามีนิสัยต้องกันมาก นอกนั้นก็จัดเป็นชุด ๆ อีกหลายชุด
ก่อนออกธุดงค์ พระอาจารย์มั่นได้สั่งไว้ด้วยว่า แต่ละชุดให้เดินธุดงค์เลียบภูเขา ภาวนาวิเวกไปตามแนวภูเขานั้น และแต่ละชุดก็ไม่จำเป็นต้องเดินธุดงค์ไปด้วยกันโดยตลอด ระหว่างทาง ท่านใดอยากไปพักวิเวก ณ ที่ใด เช่นตามถ้าซึ่งมีอยู่ตามทางก็ทำได้ เพียงแต่บอกเล่ากันให้ทราบ ในระหว่างพระภิกษุชุดเดียวกัน จะได้นัดหมายไปพบกันข้างหน้าเพื่อเดินธุดงค์ต่อไปได้อีก
ครั้นออกพรรษาแล้ว พระอาจารย์กู่กับพระอาจารย์อ่อน ได้แยกไปทางภูเขาพระพุทธบาทบัวบก อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี แล้วได้ออกเดินธุดงค์ต่อไปที่บ้านค้อ ส่วนพระอาจารย์ฝั้น ออกไปทางบ้านนาบง ตำบลสามขา (ปัจจุบันเป็นตำบลกองนาง) อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย และนัดไปเจอกันที่พระพุทธบาทบัวบก อำเภอบ้านผือ พระอาจารย์กู่กับพระอาจารย์อ่อน เมื่อธุดงค์ไปถึงพระพุทธบาทบัวบกแล้ว พระอาจารย์ฝั้นยังไม่มา ท่านจึงออกธุดงค์ต่อไปทางบ้านค้อ อำเภอบ้านผือ เพื่อติดตามท่านพระอาจารย์มั่นซึ่งขณะนั้นพระอาจารย์มั่นออกเดินธุดงค์ไปที่ตำบลหนองลาด อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร
#ท่องถิ่นธรรมตามพระอาจารย์มั่น_ไปอุบลราชธานี
หลังจากออกพรรษา ปี พ.ศ.๒๔๖๙ แล้ว คณะพระอาจารย์มั่นซึ่งประกอบด้วยพระภิกษุสามเณรประมาณ ๗๐ รูป เดินทางมาที่บ้านดอนแดงคอกช้าง อำเภอท่าอุเทน (ปัจจุบันอยู่ในกิ่งอำเภอนาหว้า) จังหวัดนครพนม และ ที่นั้นได้มีการประชุมหารือกันในเรื่องที่จะไปเผยแพร่ธรรมและไปโปรดเทศนาญาติโยมที่เมืองอุบล รวมทั้งได้วางระเบียบการปฏิบัติเกี่ยวกับการอยู่ป่า เกี่ยวกับการตั้งสำนักปฏิบัติ เกี่ยวกับแนวทางแนะนำสั่งสอนปฏิบัติจิต เพื่อให้คณะศิษย์นำไปปฏิบัติให้เป็นระเบียบเดียวกัน จากนั้น ท่านพระอาจารย์ใหญ่ก็ได้ปรารภเรื่องจะนำโยมแม่ออก (มารดาท่านซึ่งบวชเป็นชี) ไปส่งมอบให้น้องสาวท่านที่จังหวัดอุบลช่วยดูแล เพราะท่านเห็นโยมแม่ท่านชรามาก อายุ ๗๘ ปีแล้ว เกินความสามารถท่านผู้เป็นพระจะปฏิบัติได้แล้ว พระอาจารย์สิงห์ อาจารย์มหาปิ่น ต่างก็รับรองเอาโยมแม่ออกท่านไปส่งด้วย เพราะโยมแม่ออกของพระอาจารย์แก่มากหมดกำลัง ต้องไปด้วยเกวียนจึงจะไปถึงเมืองอุบล ฯ ได้
การเดินทางไปจังหวัดอุบลราชธานีอันเป็นถิ่นบ้านเกิดเมืองนอนของท่านในครั้งนี้ ถือว่าเป็นครั้งสำคัญครั้งหนึ่ง เพราะบรรดาศิษยานุศิษย์ทั้งใหญ่และเล็กก็ได้เตรียมที่จะเดินทางติดตามท่านในครั้งนี้แทบทั้งนั้น การเดินทางเป็นการเดินแบบเดินธุดงค์ แต่การธุดงค์นั้นเพื่อให้เป็นประโยชน์ด้วย ท่านจึงจัดเป็นคณะๆ ละ ๓ รูป ๔ รูปบ้าง ท่านเองเป็นหัวหน้าเดินทางไปก่อน เมื่อคณะที่ ๒ ไปก็จะพักที่เดิมที่คณะที่ ๑ พัก คณะที่ ๓-๔ เมื่อตามคณะที่ ๒ ไปก็จะพักที่เดิมนั้น ทั้งนี้เพื่อจะได้สอนญาติโยมตามรายทางด้วย การสอนนั้นก็เน้นหนักไปในทางกัมมัฏฐาน และการถึงพระไตรสรณาคมน์ ที่ให้ละการนับถือภูตผีปีศาจต่าง ๆ นานา เป็นการทดลองคณะศิษย์ไปในตัวด้วยว่า องค์ใดจะมีผีมือในการเผยแพร่ธรรม
ในการเดินทางนั้น พอถึงวันอุโบสถ ก็จะนัดทำปาฏิโมกข์ หลังจากนั้นแล้วก็จะแยกย้ายกันไปตามที่กำหนดหมาย
การเดินธุดงค์แบบนี้ท่านบอกว่าเป็นการโปรดสัตว์ เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่พุทธบริษัททั้งหลาย และก็เป็นจริงเช่นนั้น แต่ละแห่งที่ท่านกำหนดพักนั้น ตามหมู่บ้าน ประชาชนได้เกิดความเลื่อมใสยิ่งในพระคณะกัมมัฏฐานนั้นเป็นอย่างดีและต่างก็รู้ผิดชอบในพระธรรมวินัยขึ้นมาก ตามสถานที่เป็นที่พักธุดงค์ในการครั้งนั้น ได้กลับกลายมาเป็นวัดของคณะกัมมัฏฐานเป็นส่วนใหญ่ในภายหลัง โดยญาติโยมทั้งหลายที่ได้รับรสพระธรรมได้พากันร่วมอกร่วมใจกันจัดการให้เป็นวัดขึ้น โดยเฉพาะให้เป็นวัดพระภิกษุสามเณร ฉันมื้อเดียว ฉันในบาตร บำเพ็ญสมาธิกัมมัฏฐาน
สำหรับพระอาจารย์กู่ได้เดินทางออกจากบ้านดอนแดงคอกช้างกับ พระอาจารย์ฝั้น พระอาจารย์อ่อน พระอาจารย์กว่า และพระเณรอีก ๒ – ๓ รูป เดินธุดงค์ไปตามป่าเขา ผ่านบ้านตาน บ้านนาหว้า บ้านนางัว – บ้านโพธิสว่าง อย่างไรก็ตาม คณะธุดงค์ทั้งหลายก็เผอิญไปพบกันเข้าอีก ที่จังหวัดสกลนคร เพื่อร่วมงานศพมารดานางนุ่ม ชุวานนท์ และงานศพพระยาปัจจันตประเทศธานี บิดาของพระพินิจฯ เมื่อเสร็จงานฌาปนกิจทั้งสองศพนั้นแล้ว พระอาจารย์เสาร์และพระอาจารย์มั่น รวมทั้งเหล่าสานุศิษย์ต่างก็แยกย้ายกันธุดงค์ต่อไปเพื่อมุ่งไปยังจังหวัดอุบลราชธานี ส่วนท่านอาจารย์มั่นฯ ธุดงค์ไปทางบ้านเหล่าโพนค้อ ได้แวะไปเยี่ยมอุปัชฌาย์พิมพ์ ต่อจากนั้นท่านก็ธุดงค์ต่อไป และพักบ้านห้วยทราย ๑๐ วัน โดยจุดมุ่งหมาย ท่านต้องการจะเดินทางกลับไปที่จังหวัดอุบลราชธานี ก็ได้บรรลุถึงหมู่บ้านหนองขอน อยู่ในเขตอำเภออำนาจเจริญ จ.อุบลราชธานี ซึ่งชาวบ้านเมื่อได้ฟังธรรมเทศนาของท่านแล้ว เกิดความเลื่อมใสจึงได้พร้อมใจกันอาราธนาให้ท่านจำพรรษา เมื่อท่านเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ก็รับอาราธนา ชาวบ้านจึงช่วยกันจัดแจงจัดเสนาสนะถวายจนเป็นที่พอเพียงแก่พระภิกษุที่ติดตามมากับท่าน
พ.ศ. ๒๔๗๐ ในพรรษานี้พระอาจารย์มั่น มาพักจำพรรษาอยู่บ้านหนองขอน ตามที่ชาวบ้านได้อาราธนา ส่วนพระอาจารย์กู่ พระอาจารย์ฝั้น พระอาจารย์อ่อน พระอาจารย์กว่า และคณะก็จำพรรษาอยู่กับหลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม และพระมหาปิ่น ที่บ้านหัวตะพาน ซึ่งเป็นบ้านเกิดของท่านหลวงปู่สิงห์ บริเวณใกล้เคียงกัน จากนั้นท่านอาจารย์กู่ก็ไปจำพรรษาที่บ้านบ่อชะเนง อำเภอเดียวกัน บ้านบ่อชะเนงนี้ เป็นบ้านเกิดของท่านอาจารย์ขาว อนาลโย ระยะนั้นปรากกว่าฝนตกชุกมาก พระภิกษุประสบอุปสรรคไม่อาจไปร่วมทำอุโบสถได้สะดวก โดยเฉพาะที่บ้านบ่อชะเนง ไม่มีพระสวดปาฏิโมกข์ได้ พระอาจารย์มั่นจึงได้สั่งให้พระอาจารย์ฝั้นซึ่งสวดปาฏิโมกข์ได้ ไปจำพรรษาเพื่อช่วยพระอาจารย์กู่ ที่บ้านบ่อชะเนง ในระหว่างพรรษาที่บ้านบ่อชะเนง พระอุปัชฌาย์ลุย เจ้าคณะตำบลบ้านเค็งใหญ่ได้ทราบว่าพระอาจารย์กู่ และพระอาจารย์ฝั้นมาสร้างเสนาสนะป่าเป็นสำนักสงฆ์ขึ้นในเขตตำบลของท่าน จึงเดินทางไปขับไล่ เพราะไม่ชอบพระกัมมัฏฐาน พระอุปัชฌาย์ลุยปรารภขึ้นว่า ผมมาที่นี่เพื่อไล่พวกท่าน และจะไม่ให้มีพระกัมมัฏฐานอยู่ในเขตตำบลนี้ ท่านจะว่าอย่างไร พระอาจารย์ฝั้นตอบไปว่า ท่านมาขับไล่ก็ดีแล้ว กัมมัฏฐานนั้นได้แก่อะไร ได้แก่ เกศา คือ ผม โลมา คือขน นขา คือ เล็บ ทันตา คือ ฟัน และ ตโจ คือ หนัง ท่านเจ้าคณะก็เป็นพระอุปัชฌาย์ด้วย ได้สอนกัมมักฐานแก่พวกกุลบุตรที่เข้ามาบวชเรียนเป็นศิษย์ของท่าน ท่านก็คงสอนกัมมักฐานอย่างนี้ให้เขาไม่ใช่หรือขอรับ แล้วท่านจะมาขับไล่กัมมัฏฐานด้วยวิธีใดกันล่ะ เกศา – โลมา ท่านจะไล่ด้วยวิธีต้มน้ำร้อนลวก แบบฆ่าเป็ดฆ่าไก่ แล้วเอาคีมเอาแหนบมาถอนเช่นนี้หรือ ส่วน นขา – ทันตา – และตโจ ท่านจะไล่ด้วยการเอาค้อนตี ตาปูตีเอากระนั้นหรือไร ถ้าจะไล่กัมมัฏฐานแบบนี้กระผมก็ยินดีให้ไล่นะขอรับ พระอุปัชฌาย์ลุยได้ฟังก็โกรธมาก พูดอะไรไม่ออก คว้าย่ามลงจากกุฏิไปเลย
ระหว่างพรรษาปีนั้น พระอาจารย์กู่กับพระอาจารย์ฝั้น ได้เทศนาสั่งสอนพวกญาติโยมบ้านบ่อชะเนงและบ้านอื่น ๆ ใกล้เคียงมาตลอด ผู้คนต่างก็เลื่อมใสในปฏิปทาของท่านทั้งสองเป็นอย่างมาก ถึงกับให้ลูกชายลูกสาว บวชเป็นพระเป็นเณร และเป็นแม่ชีกันอย่างมากมาย พระอาจารย์มั่นฯ ปรารภเรื่องปลีกตัวออกจากหมู่เพื่อวิเวก ครั้นออกพรรษาในปี ๒๔๗๐ แล้ว ท่านอาจารย์มั่น ฯ ได้พาพระภิกษุสามเณร มาที่บ้านบ่อชะเนง แล้วปรึกษาหารือกันในอันที่จะเดินทางเข้าตัวจังหวัดอุบลฯ เพื่อเทศนาสั่งสอนประชาชนตลอดจนญาติโยมที่ศรัทธาต่อไป แล้วท่านก็ได้เดินธุดงค์ไปถึงตัวจังหวัดอุบลราชธานี ก็ได้นำโยมแม่ออกท่านไปมอบให้น้องสาวท่านในเมืองอุบล ฯ ท่านและคณะศิษย์พักที่วัดบูรพา คณะสานุศิษย์เก่า ๆ ทั้งหลาย เมื่อได้ทราบข่าวว่าท่านอาจารย์มั่น ฯ เดินทางมาพำนักอยู่ในจังหวัดอุบลราชธานี ทุกองค์เหล่านี้ก็ได้ติดตามมาในเดือน ๓ เพ็ญ บรรดาศิษย์ทั้งหมด มีหลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม เป็นต้น ก็ได้ร่วมประชุมอบรมธรรมปฏิบัติอย่างที่เคย ๆ ปฏิบัติกันมา
#อธิบายอุบายการภาวนาให้กับหลวงปู่เหรียญและหลวงปู่บุญฤทธิ์
พ.ศ. ๒๔๗๖ พระอาจารย์กู่ ธมฺมทินโน เที่ยวธุดงค์ขึ้นไปทางจังหวัดหนองคาย และได้ไปพักอยู่ที่วัดอรัญบรรพต อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย เมื่อหลวงปู่เหรียญ แสวงหาครูบาอาจารย์ผู้พอจะแนะนำได้ ก็ได้มาพบกับ พระอาจารย์กู่ ธมฺมทินโน เมื่อได้พบท่านครั้งแรกก็มีความเลื่อมใสในปฏิปทาของท่าน จึงได้เรียนถามอุบายภาวนาสมาธิกับท่าน ท่านก็ได้อธิบายให้ฟังจนเข้าใจได้ดี แต่ก็ไม่ได้ติดตามท่านไปในที่อื่นเมื่อท่านย้ายไป เพราะมีอุปสรรคบางอย่าง
ปี พ.ศ. ๒๔๗๗ พระอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโน เป็นเจ้าอาวาสอยู่ที่วัดอรัญญวาสี อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย พระอาจารย์บุญมา ฐิตเปโต เป็นรองฯ ในปีนี้ หลวงปู่เหรียญก็ได้มาจำพรรษาอยู่กับท่านด้วย นับเป็นพรรษาที่ ๒ ของหลวงปู่เหรียญ หลังจากที่ได้ญัตติเป็นธรรมยุตในปี ๒๔๗๖
ปี พ.ศ. ๒๔๘๗ จากอำเภอสันกำแพง พระอาจารย์กู่ได้ธุดงค์ออกจากภาคเหนือ ลงมาจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าบ้านโคกมะนาว อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร เมื่อออกพรรษาแล้วท่านจึงไปจำพรรษาที่วัดป่าทุ่งสว่าง จ.หนองคาย ในปี พ.ศ. ๒๔๘๘ ณ ที่นี้เอง ที่ทำให้บุคคลผู้หนึ่งได้มีโอกาสได้ฟังธรรมของพระอาจารย์กู่จนเกิดความเลื่อมใส ก็คือพระอาจารย์บุญฤทธิ์ ปัณฑิโตซึ่งขณะนั้นก็คือ นายบุญฤทธิ์ จันทรสมบูรณ์ ข้าราชการในกองการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย และได้ถูกส่งมาเป็นล่ามประจำจังหวัดหนองคาย
และที่นี่เอง ที่พระอาจารย์บุญฤทธิ์ ได้รู้จักกับ คุณนายละเมียด สัชฌุกร ได้สนทนากันเรื่องพระพุทธศาสนา ซึ่งพระอาจารย์บุญฤทธิ์กำลังสนใจในเรื่องนี้อยู่ และได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับพระสูตรที่สำคัญสุดในการภาวนา คือ สติปัฏฐานสูตร แต่พระอาจารย์บุญฤทธิ์ ไม่รู้จักการภาวนา และการปฏิบัติก็ยังไม่มี
คุณนายละเมียด ท่านนี้เป็นลูกศิษย์ของ พระอาจารย์กู่ ธัมมทินโน ได้พาพระอาจารย์บุญฤทธิ์ ไปหาพระอาจารย์กู่ ที่วัดป่าทุ่งสว่าง วัดเล็กๆ มีศาลาอเนกประสงค์หลังน้อยๆ หลังคามุงสังกะสีผุๆ ไม่มีฝา ขณะนั้นมีชาวบ้านกำลังนั่งฟังเทศน์จากพระอาจารย์กู่ ท่านก็เข้าไปนั่งฟังด้วย
พอพระอาจารย์กู่เทศน์จบ ท่านก็ได้สอบถามปัญหาธรรมะต่าง ๆ อย่างพรั่งพรูโดยพระอาจารย์บุญฤทธิ์บอกว่า...เหมือนยิงลูกศรไปในอากาศ...มีแต่ความว่าง พระอาจารย์กู่ ท่านไม่มีอารมณ์เลย ท่านไม่มีขัดข้องอะไร มีแต่ความเมตตา ใจเย็นสม่ำเสมอ สบาย นี่ถ้าเป็นพระบางรูป คงจะโกรธแล้ว นึกในใจว่า... พระรูปนี้ไม่ใช่พระธรรมดาเสียแล้ว
ตรงนี้ทำให้พระอาจารย์บุญฤทธิ์มีความประทับใจพระอาจารย์กู่มาก จึงได้ไปสนทนากับท่านบ่อยๆ จนเกิดศรัทธาอยากจะบวชขึ้นมาทันที ขณะนั้นเป็นปี ๒๔๘๙ ท่านจึงได้ลาราชการมาบวชเป็นพระภิกษุ หลังจากนั้น หลวงปู่ซึ่งเป็นพระบวชใหม่ได้ไปอยู่จำพรรษากับพระอาจารย์กู่ ที่วัดป่าอรุณรังษี อยู่หลังเรือนจำ นอกเมืองหนองคาย อันเป็นอีกวัดหนึ่งที่พระอาจารย์กู่ปกครองดูแลอยู่ในสมัยนั้นหลวงปู่เริ่มปฏิบัติธรรมภาวนาทันที โดยมีพระอาจารย์กู่คอยให้คำแนะนำ และเมื่อปฏิบัติบ่อยๆ เข้าก็เกิดความปีติ มีความรู้สึกว่า การปฏิบัติธรรมภาวนา ทำให้จิตสงบ เป็นความสุขที่หาไม่ได้ง่ายนัก
#อาพาธและมรณภาพ
ในช่วงปลายชีวิต พระอาจารย์กู่ ธมฺมทินโน วัดป่ากลางโนนภู่ ได้มาเป็นผู้ริเริ่มบูรณปฏิสังขรณ์วัดถ้ำเจ้าผู้ข้า ต่อจากพระอาจารย์บุตร ได้สร้างกุฏิจำนวน ๑ หลัง และหอฉันอีก ๑ หลัง ไว้ในถ้ำ และต่อมาท่านก็มรณะที่วัดแห่งนี้ โดยมิได้จำพรรษา
จนเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๕ ท่านได้อาพาธด้วยโรคฝีฝักบัวที่ต้นคอ ซึ่งเป็นโรคประจำตัวท่าน ซึ่งเคยเป็นแล้วก็หายไป ด้วยการที่ท่านอาศัยการปฏิบัติทางจิตเป็นเครื่องระงับ
ครั้นต่อมาในปี ๒๔๙๖ นี้ท่านได้พิจารณาเห็นอาการป่วยนี้ว่า คงต้องเป็นส่วนของวิบากกรรมอย่างแน่นอน อันที่จะพ้นจากมรณะสมัยด้วยโรคนี้ไม่ได้ ท่านเคยแสดงธรรมเทศนาให้บรรดาศิษย์ทั้งหลายฟังบ่อยๆ ว่า “ถ้าเราทำความดีถึงที่แล้ว เรื่องของการตายเราไม่ต้องหวาดหวั่นเลย” ท่านได้ตักเตือนพระเณรอย่างนี้เสมอ สอนให้รีบร้อนเด็ดเดี่ยวในการทำความเพียรศึกษาในสมาธิภาวนาให้มาก ตลอดพรรษาท่านมิได้ลดละในการปฏิบัติด้วยการเดินจงกรม นั่งสมาธิ ภาวนา
เมื่อออกพรรษารับกฐินเสร็จแล้ว ท่านก็ได้ลาญาติโยมขึ้นไปปฏิบัติสมณกิจที่ถ้ำเจ้าผู้ข้า ภูพาน ที่ท่านได้มาบูรณะต่อจากที่พระอาจารย์บุตรได้เริ่มเอาไว้ เมื่อท่านจะไปได้สั่งว่า จะไปหาที่พำนักซ่อนตายเสียก่อน และเห็นถ้ำลูกนี้พอที่จะอาศัยได้ คณะญาติโยมจึงพร้อมใจกันไปทำเสนาสนะถวาย จนกาลล่วงมาได้ ๓ เดือนเศษ อาการโรคกลับกำเริบขึ้นอีก ญาติโยมได้อาราธนาให้ท่านกลับวัดเพื่อจัดแพทย์มาทำการรักษาพยาบาลให้เต็มที่ แต่ท่านไม่ยอมกลับ
ครั้นถึงวันที่ ๒๓ มกราคม ๒๔๙๖ ตรงกับวันศุกร์ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๓ ปีมะโรง ในขณะที่จะสิ้นลมปราณนั้น คงเหลือแต่อาจารย์กว่า สุมโน ผู้น้อง พระประสาน ขันติกโร และ สามเณรหนู ผู้เฝ้าปฏิบัติอย่างใกล้ชิด ได้เห็นท่านอาจารย์กู่ นั่งสมาธิทำความสงบแน่นิ่งอยู่ เฉพาะส่วนภายใน โดยมิได้หวาดหวั่นพรั่นพรึงต่อมรณภัย และสิ้นลมหายใจในอิริยาบถที่นั่งสมาธิอย่างสงบ เมื่อเวลา ๐๙.๕๑ น. ณ ถ้ำนั้นเอง สิริอายุ ๕๒ ปี ๙ เดือน พรรษา ๓๓ นับว่าสมเกียรติแก่ท่านผู้ได้ปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนามาโดยแท้ เจดีย์บรรจุพระอัฐิธาตุของหลวงปู่กู่ ได้สร้างไว้คู่กับหลวงปู่กว่า สุมโน ผู้เป็นน้องชาย ที่วัดป่ากลางโนนภู่ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร
คัดลอกมาจากหนังสือ "วาระก่อนนิพพาน ของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ ณ ศาลาที่พักอาพาธ พ.ศ.๒๔๙๒ วัดป่ากลางโนนภู่ ต.ไร่ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ; หน้า ๒๓๕ - ๒๓๘ ; พิมพ์เมื่อ ตุลาคม ๒๕๔๓
กราบ กราบ กราบ


Create Date : 23 มกราคม 2564
Last Update : 23 มกราคม 2564 8:08:41 น. 0 comments
Counter : 150 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

สมาชิกหมายเลข 5378236
Location :
ขอนแก่น Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




ดี
Friends' blogs
[Add สมาชิกหมายเลข 5378236's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.