...Chansuwan Villa... ยินดีต้อนรับสู่หมู่บ้านจันทรสุวรรณวิลล่า บ้านกลางสวนมะพร้าว หาดขาวทะเลเขียว ฟ้าสีครามเมฆปุยขาว
Group Blog
 
All blogs
 

ขนมสารทเดือนสิบ

เมื่อเขียนถึงเทศกาลสารทเดือนสิบแล้ว ก็ต้องเขียนถึงขนมประจำงานสารทอีกซักหน่อย ส่วนใหญ่ทำจากแป้งข้าวเหนียวบ้างข้าวจ้าวบ้างผสมกะทิ หรือน้ำตามแต่ละสูตร เอาไปชุบแป้งทอดบ้าง หรือไม่ก็นึ่งใส่กะทงใบตอง ที่สมุยนิยมใช้ขนมต่างๆดังนี้
"ขนมไข่ปลา"

"ขนมไข่มด"

"ขนมเจ้า"

"ขนมพอง"

"ขนมฉ่าวหาย"

"ขนมลาทอด"

นอกจากขนมเหล่านี้ ยังมี ขนมกง , ขนมดีซัม-แทนเงินเบี้ย , ขนมลาเช็ดทะ (เช็ดกระทะในภาษาใต้)-แทนแพรพรรณ , และขนมอื่นๆอีกที่เมื่อก่อนยังพอเห็นที่บิณฑ์บ้าง แต่เดี๋ยวนี้ไปหาซื้อจากที่ตลาดกันหมดแล้ว รูปแบบขนมสมัยใหม่เช่น ขนมไข่ , ขนมเค้กชิ้น , และขนมอื่นๆก็มาแทรกอยู่ในบิณฑ์แทน อันที่จริง ขนมสารทมักจะเป็นขนมทอดที่เยิ้มด้วยน้ำมัน เรากินชิ้นสองชิ้นก็เลี่ยนแล้ว แต่ก็มีบางชนิดที่ชาวบ้านยังนิยมมาร่วมวงทำเอง เช่น ขนมไข่ปลา มีส่วนผสมทำจาก ถั่วเขียวซีกแช่น้ำแล้วมาโม่ละเอียด ขั้นตอนนี้มักว่าจ้างบ้านที่มีอุปกรณ์บดให้เสร็จ เอาแป้งถั่วเขียวที่ได้มากวนกับกะทิและน้ำตาลปึก จากนั้นก็ปั้นเป็นรูปยาวรีสองเส้น บีบให้ปลายสองข้างติดกัน แต่ระวังไม่ให้ด้านข้างขนมติดกัน แทนรูปไข่ปลา (ไม่แน่ใจความหมายโดยนัยว่าให้แทน ปลาเพื่อเป็นอาหารแก่ตา-ยาย รึเปล่า ) เมื่อปั้นได้มากพอ ก็เอามาชุบน้ำแป้งมัน/แป้งข้าวจ้าว แล้วทอดในกระทะจนพองใสเต็มที่ เป็นอันใช้ได้ สำหรับขนมไข่มดก็มีส่วนผสมเดียวกัน ต่างกันที่รูปแบบปั้นให้เป็นก้อนกลมนั่นเอง
สำหรับแม่เรา ชอบกินขนมพอง(ข้าวพอง-ภาษาใต้) มากกว่าอย่างอื่น ก็เลยเตรียมการทำขนมพองเพื่อเตรียมไปวัดเอง


วิธีทำก็ง่ายมาก ใช้ข้าวเหนียวเขี้ยวงูมานึ่งจนสุก เสร็จแล้วก็ทำพิมพ์กลมแล้วนำข้าวเหนียวที่เริ่มอุ่นลงพอปั้นได้มากดในพิมพ์อย่างที่เห็น ตากแดดจัดๆจนแห้งกรอบ เม็ดข้าวใสก็เอามาทอดไฟกลางจนพองขาว บางทีถ้าซื้อที่ตลาดอาจมีแบบที่ใช้ข้าวกล้องมาทำ ก็จะมีลายข้าวแตกต่างไป บางที่ก็ผสมสีชมพูบ้าง เขียวบ้าง แต่เรากับแม่ก็ชอบสีขาวที่สุด บ้านเราใช้กินจืดๆแบบนี้ ไม่นิยมโรยน้ำตาลเคี่ยวแบบ นางเล็ด อย่างที่ขายในกทม.สักเท่าไหร่
แถมท้ายอีกนิดด้วย อาหารเส้นขึ้นชื่อของสมุย ที่ชาวบ้านนิยมกินมากพอๆกับก๋วยเตี๋ยวและขนมจีนเลย เมื่อก่อนมีบู๊ธขายที่ศูนย์อาหารในโลตัส เฉวงด้วย (แต่เนื่องจากหากินตามร้านริมทางได้ จึงเปลี่ยนไปขายอย่างอื่นแทน) บ้านเราเรียกว่า "โล่งโต้ง" มีลักษณะคล้าย ก๋วยจั๊บน้ำข้น แต่เปลี่ยนจากเส้นก๋วยจั๊บเป็นเส้นหมี่ขาว แทน และใส่ผักอย่างถั่วงอก ด้วย แบบดั้งเดิมจะใช้นำพะโล้และใส่เครื่องในหมู มีไข่ต้มครึ่งใบ ใส่ผักแนมอย่าง ใบโหระพาด้วย รสชาติปรุงแล้วจะอร่อยระหว่าง ก๋วยจั๊บน้ำข้น กับก๋วยเตี๋ยวเรือ เชียวหล่ะ เจ้าอร่อยขึ้นชื่อที่สุด อยู่ตรงร้านข้างสี่แยกทางไปน้ำตกหินลาด ใกล้ๆสหกรณ์การเกษตรของสมุย เป็นร้านเพิงไม้ที่ต้องมากินเฉพาะ จันทร์-เสาร์ (เรามาวันอาทิตย์เห็นปิดร้าน) และก่อนบ่ายสอง เพราะของจะหมดแล้ว รสชาติดีมากกว่าร้านอื่นๆที่ตระเวณกินมา น้ำเข้มข้นและหอมเครื่องเทศมากๆ
ราคาชามละ 35 บาท (ราคาปกติของอาหารจานเดียวในสมุยยุคปัจจุบัน)

ไม่แน่ใจว่าที่จังหวัดอื่น จะหาโล่งโต้งกินได้ไหม เราลองไปหากินอีกที่ พบเป็นร้านพ่วงข้างมอเตอร์ไซต์จอดขายหน้าตลาดสดละไม (ที่มีโลตัสเปิดใหม่อยู่ด้านข้าง) แต่เนื่องจากเขาขายไก่แช่น้ำปลาเป็นหลัก จึงเปลี่ยนมาใส่และน้ำพะโล้ของขาหมูแทน รสชาติน้ำซุปอ่อนและไม่ค่อยเข้ากัน แถมไก่ก็จืดไม่เข้ากลิ่นพะโล้เลยรู้งี้กินก๋วยเตี๋ยวต้มยำร้านข้างตลาด (ด้านซ้าย) หรือ ก๋วยเตี๋ยวป้าณูที่มีเย็นตาโฟอร่อยแทนยังดีกว่า (ร้านติดกับ7-eleven และตรงข้ามวัดละไม)
เขียนไปๆก็ชักหิว คิดถึงบ้านสมุยซะจริงเชียว




 

Create Date : 13 ตุลาคม 2552    
Last Update : 7 มกราคม 2553 23:19:31 น.
Counter : 18607 Pageviews.  

เทศกาลสารทเดือนสิบ

หลังจากยุ่งวุ่นวายกับการจักบ้านเมื่อกลับมากทม.ตอนต้นเดือน ตอนนี้ก็มีเวลามาเรียบเรียงบล็อกอีกครั้ง เมื่อเดือนที่แล้ว มีงานบุญประจำปีของชาวสมุย (และชาวปักษ์ใต้) เรียกว่า ทำบุญตา-ยาย แต่คนภาคอื่นรู้จักกันในชื่อว่า งานสารทเดือนสิบ หรือ ประเพณีชิงเปรต นั่นเอง อันว่า "เปรต" ในความหมายของชาวใต้นั้น หมายถึง วิญญาณของบรรพบุรุษที่เสียชีวิตไปแล้ว เริ่มจากตอนต้นเดือน วันที่ 5 กันยายน ถือเป็นวันต้อนรับตา-ยาย มีการไปทำบุญที่วัดด้วยการเตรียมอาหารคาว-หวาน และขนมต่างๆ โดยเฉพาะขนมเฉพาะงานนี้ด้วย ปีนี้พิเศษเพราะเราไม่ได้มาร่วมงานนานแล้ว จึงตื่นเต้นเป็นพิเศษว่าจะแตกต่างจากในสมัย 10 กว่าปีก่อนอย่างไรบ้าง แม่ตัดสินใจไปค้างบ้านน้าสาว เพราะอยู่ในชุมชนหลังวัดละไม ตอนเช้ามืดจะได้เดินมาวัดสะดวก มีญาติมาจากขนอม (จ.นครศรีธรรมราช) มาร่วมงานด้วย
ตีสี่ของเช้าวันที่ 5 กันยา เราถูกปลุกให้ลุกมาอาบน้ำเตรียมไปวัด น้าและแม่ทูนกะละมังจะไปวัดแล้ว นี่ชั้นตื่นคนสุดท้ายของบ้านหรือเนี่ย?
ราวสิบห้านาทีไม่ขาดไม่เกิน เราก็เดินเรียงกันไปวัดซึ่งห่างไปแค่ไม่ถึง 200 เมตร เสียงคนจอแจกันเต็มไปหมด ทุกแห่งของศาลาวัดทั้งหลังใหม่และเก่าต่างถูกชาวบ้านจับจองนั่งเป็นกลุ่มๆ ตามตระกูลเดียวกัน มีป้าและน้าหลายคนของเรามาจองแล้ว เราจึงได้ใช้พื้นที่ศาลาเก่าที่ครั้งหนึงเคยจัดงานศพตาที่นี่เป็นที่เตรียม บิณฑ์ (กะละมัง/ตะกร้า/ถาด สำหรับวางสำรับคาว หวานและผลไม้ มักแยกอาหารคาว และอาหารหวานคนละถาด)



ระหว่างที่ตกแต่งบิณฑ์ จะมีพี่น้องบ้านอื่น (หมายถึง นามสกุลอื่น)แวะมาฝากอาหารเติมในบิณฑ์บ้านเราด้วย ตามธรรมเนียมก็จะมีขนมหรือผลไม้ตอบแทนใส่จานคืนเขาไปด้วย และพี่น้องเราบางคนก็เดินออกไปฝากอาหารในบิณฑ์บ้านอืนเหมือนกัน
ช่วงนี้แหละที่บรรดาเครือญาติจะได้นั่งคุยไถ่ถามทุกข์สุข(นินทาซะมากกว่า)กัน คนที่จากบ้านไปนานๆก็เนื้อหอมหน่อยเดี๋ยวคนโน้นเรียก คนนี้เรียกมาถามไถ่ไม่ได้นั่งเลย มองๆไป เห็นมีแต่ผู้หญิง ได้ความว่า พวกผู้ชายยังหลับอยู่และมักจะมาช่วยยกบิณฑ์เท่านั้น แล้วก็มานั่งกินอาหารเช้าที่วัดตอนพระสวดเสร็จนั่นแหละ
บ้านเราก็หยั่งงี้แหละ ผู้ชายมักไม่ค่อยช่วยงานบ้านหรอก เห็นที่ขนอม ก็เป็นแบบนี้ งานบ้านงานวัดเป็นของผู้หญิง ยกเว้นคนที่ชอบวัดสนทนาบุญกับพระและที่สวดนำตอนรับศีลหน่อย ที่มักจะเป็นตัวตั้งตัวตีและเป็นโฆษกบอกข่าวงานบุญให้ชาวบ้านมาวัดกัน แต่ก็เฉพาะกิจธุระเกี่ยวกับงาน หน้าที่เตรียมงาน หุงหาอาหารและจัดการสถานที่ มักตกเป็นของฝ่ายหญิงเสมอ...เฮ้อ!
นั่งเม้าท์กันจนเราโงกแล้วโงกอีก ก็ยังไม่ถึงเวลาซะที โน่นแน่ะ หลวงพ่อเจ้าอาวาสมาสวดตอนเกือบหกโมงเช้า คราวนี้ก็ได้เวลาแบกบิณฑ์คาว-หวาน ไปวางที่ชั้นื่วัดเตรียมไว้

พระท่านก็บ่นว่าชาวบ้านมาเช้าเหลือเกิน พระไม่เป็นอันจำวัดกัน ถึงกระนั้นพิธีสวดและการเทศนาชาวบ้าน(ก็ญาติมิตรกันนี่แหละ หากนับญาติกันจริงๆ)ก็เสร็จราวแปดโมงเช้า ก็ให้พวกผู้ชายที่เพิ่งมาสมทบไปยกบิณฑ์กลับมาที่วง

คราวนี้ถึงเวลา 'ชิงเปรต' กันแล้ว นั่นคือ แต่ละคนจะแย่งหยิบของในบิณฑ์ที่หมายตาไว้ ส่วนอาหารคาวนั้น มักใส่ภาชนะอืนแล้วไปวางตามต้นไม้หรือให้คนยากไร้ต่อ ที่นี้จะสนุกมากก็ตอนแย่งของนี่แหละ แย่งไปขำกันไป เรียกว่าบางคนเล็งของที่เพื่อนมาใส่บิณฑ์ตั้งแต่แรกจัดแล้วด้วยซ้ำ แต่ก็ไม่ได้จริงจังอะไร เพราะสุดท้ายก็มานั่งล้อมวงกินข้าวเช้ากันที่วัดนั่นเอง




 

Create Date : 13 ตุลาคม 2552    
Last Update : 7 มกราคม 2553 23:19:45 น.
Counter : 1608 Pageviews.  

บ้านเราที่สมุย

วันที่ 9 เดือน9 ปี09 เพิ่งผ่านไปหนึ่งวัน นี่เกือบเดือนครึ่งแล้วที่กลับมาอยู่สมุย เป็นช่วงหน้าฝนพอดี ลมพัดจัดทั้งวันทั้งคืน ทำเอาหลับสบายไม่ต้องกลัวยุงและโรคชิคุนกุนย่าเลยแหละ

ที่บ้านตอนนี้ เริ่มลงต้นมันเทศบ้างแล้ว แม่ตัดมะพร้าวออกสองต้นเพราะแก่แล้ว ไม่ค่อยให้ผลเท่าไหร่ เวลาลมพัดจัดๆ น่ากลัวลูกมันตกใส่หัว คิกดูสิ มะพร้าวอายุมากกว่า 50 ปี สูงกว่าตึกสามชั้นซะอีก ยิ่งเวลาลมพัดแรงๆนะ แค่เห็นต้นโอนเอน ไม่ได้ลงไปเดินอยู่ใต้ต้นมัน ยังหวาดเสียวมากเลย จริงๆแล้ว ถ้ายืนใต้ต้นคงปลอดภัยดี เพราะเจ้าต้นมะพร้าวคงเหวี่ยงลูกมันซะไกลเลยแหละ

บ้านเราช่วงนี้เป็นหน้าโลว์ ไม่ค่อยมีแขกมาพักเล้ย แต่เวลาไปไหนก็สบายดี เพราะคนไม่เยอะ แต่วันฝนตกมีมากพอๆกับวันแดดเปรี้ยงเลยหล่ะ ทำให้เดาไม่ถูกเลยว่าวันนี้ฝนจะตกรึเปล่า

เดินลงมาตามทาง ที่บ้านเป็นปลายแหลมน่ะ เขาทำถนนให้ด้านบนหลังเขา เลยต้องเดินลงเขามาชายหาด ขาลงก็เพลินๆแต่ขาขึ้นสิ เมื่อยชะมัด

ตอนบ่ายๆอย่างนี้ ฝั่งชายหาดบ้านเราซึ่งหันหน้าไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้เลยร้อนจับใจเลยเชียว แต่แดดอุ่นๆเนี่ย ฝรั่งก็ชอบนะ เห็นเดินเกี่ยวก้อยกันผ่านมาก็มี บางคู่พายเรือคายัคท้าแดดด้วยซ้ำ

ดีนะที่หน้าหาดในที่ดินเรามีต้นปัง(ต้นหูกวาง) ต้นยักษ์ใหญ่แผ่กิ่งก้านพอให้หลบร้อนได้ แม่เลยแปะป้ายบ้านมันตรงปากทางต้นปังนีเอง ไม่งั้นมีหวังพวกที่มาหาปลา จะมานั่งดวดเหล้าตรงนี้แน่ แถมยังต้องทำรั้วกั้นให้เป็นสัดส่วนด้วย หลังรั้วไป แม่ยังไม่วายปลูกกล้วยไว้กินอีก ว่ากันว่า กล้วยหอมจะอร่อยก็ต้องปลูกใกล้น้ำเค้มนี่แหละ แถมกล้วยของแม่ก้อลูกใหญ่ใช้ได้เลย ทั้งที่ไม่ได้โรยปุ๋ยด้วยซ้ำ

หน้าหาดเป็นแนวก้อนหินติดกันเป็นพืดเลย ตรงกลางที่ดิน มีต้นไม้ขึ้นคู่กันอยู่ พอมองเป็นช่องลอดผ่านลงไปที่หาดทรายได้ เราเรียกว่า"ต้นคู่รัก"

มองไปทางขวามือ ไกลออกไปโน่นเป็นช่วงน้ำลึก กลางคืนเรือไดหมึกติดไฟสว่างจ้าจะแล่นไปมาในเขตนั้น แม่มักจะพาหมาที่บ้านไปเดินเก็บหอยและหร่ายข้อตามแนวก้อนหินสุดเขตน้ำตื้นนั่น แถวนั้นเรียกว่า "พังควาย"

คำว่า "พัง" จะหมายถึงแนวโขดหินที่อุดมไปด้วยปูปลาและสัตว์น้ำที่หากินตามแนวน้ำตื้น พวกหาปลาก็มาหาเอาแถวนี้แหละ เมื่อก่อนเคยลอง
ทำเบ็ดง่ายๆเอาไม้มาผูกเอ็นตรงปลาย เกี่ยวเบ็ดที่ใช้วายหั่นติดปลาย ได้ปลาต๊กแกตัวย่อมๆ (ราว 3 ขีด) พอเอไปทอดกรอบได้กินหรอยเลยแหละ แต่เดี๋ยวนี้คนมากแล้ว ได้ปลาติดแหเล็กๆที่พ่อเรียกว่า กัด มาดัวแค่คืบเอง เอามาทอดกรอบกินได้ทั้งกระดูกเลย
วาย คือ ปลาหมึกสาย หรือ หมึกหัวโต (หมึกยักษ์) แต่ตัวแค่ฝ่ามือ ชาวสมุยนิยมตากแห้งเอามาทำอาหารพื้นบ้านที่เรียกว่า "วายคั่ว"
ปลาตุ๊กแก คือ ปลาเก๋าหิน หากินตามแนวก้อนหินน้ำตื้นต่อกับน้ำลึก
หร่ายข้อ คือ สาหร่ายข้อน่ะเอง เป็นแพสีน้ำตาลเข้ม ใสเป็นวุ้นๆ กรุบกรอบ ขึ้นเป็นกระจุกๆตามพื้นทราย บางครั้งถูกคลื่นซัดมาเกยหาดให้ได้เก็บง่ายๆ ชาวบ้านนิยมเอามาลวกน้ำร้อนยำรวมกับน้ำพริกกะปิรสจัด
แดดชักร้อนแล้ว ปีนก้อนหินหน้าบ้านนั่งหลบแดดดีกว่า เห็นทีต้องกลับขึ้นไปทำกับข้าวให้ที่บ้านกินแล้ว ได้หอยเจาะสดๆที่หลงหูหลงตาพวกหาหอยมาพอหนึ่งถ้วยยำ เย็นนี้คงได้หยำข้าวกินสักสองชามอย่างน้อยแน่ๆ
หอยเจาะ คือ หอยนางรมชนิดหนึ่ง พันธุ์ตัวเล็ก ขึ้นตามก้อนหินหน้าหาด ที่เห็นรอยขาวๆคมๆนั่นคือซากหอยที่โดนเจาะไปแล้ว นิยมเอาไปยำกินสดๆ




 

Create Date : 10 กันยายน 2552    
Last Update : 18 ตุลาคม 2552 10:43:46 น.
Counter : 1390 Pageviews.  

1  2  3  

noksamui
Location :
สุราษฏร์ธานี Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add noksamui's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.