ติดตาม twitter ได้ที่ @karnoi กด
ติดตามข้อมูลเว็บทาง FaceBook กด

คิดถึง สะพานมอญ สังขละบุรี (Shutter&Travel)

คิดถึง สะพานมอญ สังขละบุรี … ที่นี่ไม่ได้มีอะไรพิเศษ ไม่ได้สบายเหมือนรีสอร์ทราคาแพง ผมนอนที่เดิมๆ เรือนแพเก่าๆ นอนเต๊นท์หรือเกสท์เฮ้าส์ราคาถูก กินข้าวร้านเดิมๆ รสชาติเดิมๆ ถ่ายรูปมุมเดิมๆ แต่ผมมีความสุขทุกครั้งที่ได้กลับมาที่นี่

ตอนปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาผมมีโอกาสได้แวะกลับไปสะพานมอญอีกครั้ง ใครที่เคยเดินทางมาที่นี่ในหน้าฝนจะทราบดีถึงความสวยงาม ชุ่มชื่นหัวใจกับบรรยากาศที่แสนเย็นสบาย สังขละบุรีเป็นอำเภอเล็กๆ ชายแดนฝั่งตะวันตกของไทยติดกับพม่า ถึงแม้จะเป็นอำเภอเล็กๆ แต่เสน่ห์ที่นี่มันใหญ่มาก ทั้งจากความงามของสายน้ำสามสายที่ไหลมาบรรจบกัน แม่น้ำรันตี แม่น้ำบิคลี้ และแม่น้ำซองกาเลีย ผมชอบขึ้นมาที่นี่ในช่วงฤดูฝนตามเหตุผลที่เกริ่นไป ความสดชื่นของหน้าฝนมันทำให้เราหายเหนื่อยทุกครั้งที่เดินทางมาถึง แต่ก็ต้องแลกด้วยความระมัดระวังในการขับรถให้มากขึ้น เพราะช่วงสุดท้ายจากแยกทองผาภูมิ ประมาณ 50 กิโลเมตรก่อนถึงสังขละบุรี เป็นการขับรถบนไหล่เขาที่ค่อนข้างชัน และที่ชอบสุดสำหรับหน้าฝนคือจำนวนนักท่องเที่ยวที่บางตาจนแทบจะนับคนได้

สะพานมอญ

สะพานมอญ

เราออกเดินทางจากกรุงเทพฯ กันตั้งแต่เช้าด้วยระยะทางประมาณ 360 กิโลเมตร ผ่านจังหวัดนครปฐม ราชบุรี แล้วก็เข้าสู่ตัวเมืองกาญจนบุรี ก่อนจะเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนหมายเลข 323 สายกาญจนบุรี-ไทรโยค-ทองผาภูมิ ถนนค่อนข้างดีตลอดเส้นทาง แต่คนก็ไม่ใช่หุ่นยนต์ที่จะเหนื่อยไม่เป็น เราจึงตัดสินใจหาที่เที่ยวกลางทางเพื่อแวะยืดเส้นยืดสายกัน ซึ่งก็สรุปได้ว่าเป็นช่องเขาขาดครับ

ช่องเขาขาด กาญจนบุรี

ช่องเขาขาด กาญจนบุรี

“ช่องเขาขาด” หรือ “ช่องไฟนรก” ชื่อฟังแล้วดูสยองขวัญ แต่จริงๆ แล้วมีความหมายซ่อนอยู่ ตอนนี้ถูกทำเป็นพิพิธภัณฑ์สถานแห่งความทรงจำ บนถนนสาย 323 กม. 64 โดยรัฐบาลออสเตรเลียได้จัดตั้งพิพิธภัณฑ์ขึ้นได้อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยมากครับ ข้อมูลภาพถ่ายและข้าวของเครื่องใช้ระหว่างการสร้างทางรถไฟสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ถูกแสดงไว้ที่นี่ ด้านหลังพิพิธภัณฑ์มีเส้นทางให้เดินศึกษาธรรมชาติไปยังช่องเขาขาด เป็นช่วงนึงของเส้นทางรถไฟสายมรณะ ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่นี่ถูกสร้างขึ้นด้วยมือเปล่าๆ ของเชลยศึกตัดเจาะภูเขาสำหรับสร้างทางรถไฟสายมรณะ ไทย-พม่า การขุดเจาะเริ่มในปี 2486 แต่ด้วยความล่าช้ากว่ากำหนดจึงมีช่วงที่เร่งทำงานโดยเชลยศึกต้องทำงานถึง 18 ชั่วโมงต่อกะ ถือเป็นการทารุณยิ่งสำหรับการสกัดภูเขาด้วยมือ เชลยศึกและกรรมกรที่ช่องเขาขาดต้องทำงานตอนกลางคืน ด้วยแสงไฟจากกองไฟทำให้สามารถเห็นเงาของเชลยศึก ชาวบ้านจึงเรียกกันว่า “ช่องไฟนรก”

พิพิธภัณฑ์สถานแห่งความทรงจำ

พิพิธภัณฑ์สถานแห่งความทรงจำ “ช่องเขาขาด”

ด้านหลังพิพิธภัณฑ์ฯ

ด้านหลังพิพิธภัณฑ์ฯ

ทางเดินลงสู่ ช่องเขาขาด

ทางเดินลงสู่ ช่องเขาขาด

รัฐบาลออสเตรเลียดูแลที่นี่ได้อย่างดี เพราะก้าวแรกที่เข้ามาในพิพิธภัณฑ์ รู้สึกได้เลยว่าการออกแบบทำได้ดี การจัดวางพื้นที่ดูลงตัว การนำเสนอเรื่องราวถูกใช้สื่อผสมผสานอย่างดี ไม่น่าเชื่อว่าจะมีพิพิธภัณฑ์ที่ดีอย่างนี้อยู่กลางป่าเขา แถมยังไม่เก็บค่าเข้าชมมีแต่เพียงกล่องรับบริจาคเล็กๆ วางหลบมุมอยู่ที่เคาน์เตอร์ประชาสัมพันธ์ และที่ผมประทับใจคือเส้นทางเดินเท้าด้านหลังลงสู่ช่องเขาขาดทำได้ดีสวยงามร่มรื่นครับ เราอยู่เก็บภาพที่นี่กันเพลินๆ ถึงแม้ฟ้าฝนจะไม่ค่อยอำนวยตกบ้างหยุดบ้างก็ตาม

การแสดงความเคารพจากนักท่องเที่ยวที่แวะมาเยี่ยมชมที่ช่องเขาขาด

การแสดงความเคารพจากนักท่องเที่ยวที่แวะมาเยี่ยมชมที่ช่องเขาขาด

ช่องเขาขาด

ช่องเขาขาด

เราออกเดินทางจากช่องเขาขาดถึงทองผาภูมิและเลี้ยวขวาขึ้นไปอำเภอสังขละบุรี ถนนเส้นนี้เราเจอฝนปรอยตลอดทาง แต่มันทำให้สองข้างทางเป็นภาพที่น่าดูจริงๆ ไรหมอกบนยอดเขาและวิวริมเขื่อนเขาแหลมที่เราขับลัดเลาะริมเขาตลอดเส้นทาง ตามโปรแกรมคืนแรกเราจะพักแรมกันที่ “ป้อมปี่” ที่นี่เป็นจุดชมวิวที่เลยจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติเขาแหลมไปประมาณ 2 กิโลเมตร ถือเป็นอีก 1 จุดที่พระอาทิตย์ตกสวยงามมาก ป้อมปี่มีลักษณะเป็นเนินเขาเล็กๆ อยู่ริมเขื่อนวชิราลงกรณ์ หรือเขื่อนเขาแหลม มีแพพัก บ้านพัก และจุดกางเต้นท์ไว้สำหรับนักท่องเที่ยว เราเลือกนอนฟังเสียงฝนกระทบหลังคาเต้นท์ครับ และก็ไม่พลาดที่จะเก็บภาพพระอาทิตย์ตกบริเวณจุดชมวิวครับ แล้วก็เป็นไปตามคาดการณ์เสียงฝนปรอยกระทบหลังคาเต้นท์ทำให้เราหลับสบายมากๆ ในคืนนี้

ภาพพระอาทิตย์ตก จุดชมวิว

ภาพพระอาทิตย์ตก จุดชมวิว “ป้อมปี่”

พระอาทิตย์ตกที่ป้อมปี่

พระอาทิตย์ตกที่ป้อมปี่ – ผ่านไปอีก 1 วัน พรุ่งนี้ก็เช้าแล้ว

ป้อมปี่ สังขละบุรี

จุดชมวิวที่ป้อมปี่ ซ้ายแดด-ขวาฝน

พื้นที่กางเต้นท์ที่ป้อมปี่

พื้นที่กางเต้นท์ที่ป้อมปี่ วิวสวยสุดๆ

เขื่อนเขาแหลม มองจากจุดชมวิวป้อมปี่

เขื่อนเขาแหลม มองจากจุดชมวิวป้อมปี่

จุดชมวิวป้อมปี่ อยู่ห่างจากแยกทองผาภูมิเพียง 40 กิโลเมตรเท่านั้น ที่นี่เราใช้เวลานั่งๆ นอนๆ เดินเล่น ถ่ายภาพ นั่งสูดกลิ่นดินกับไอฝนปนสายหมอก ก็สามารถผลาญเวลาของพวกเราได้รวดเร็วอย่างไม่น่าเชื่อ นี่แหละครับเวลาแห่งความสุขมันจะเร็วกว่าเวลาแห่งความทุกข์เสมอ เผลอแป๊บเดียวก็ผ่านคืนแรกไปแล้วสำหรับการเดินทางครั้งนี้

บรรยากาศยามเช้าที่ป้อมปี่

บรรยากาศยามเช้าที่ป้อมปี่ สังขละบุรี

เขื่อนเขาแหลม มองจากจุดชมวิวป้อมปี่

เขื่อนเขาแหลม มองจากจุดชมวิวป้อมปี่

เช้ารุ่งขึ้นอีกวัน เราก็เดินทางสู่ตัวเมืองสังขละบุรีกันเลย …… สังขละบุรี กลายเป็นเมืองที่หลายคนอยากมาเยือนสักครั้ง ผมเองก็เป็นอีกหนึ่งคนที่คิดเช่นนี้เมื่อหลายปีก่อน และพอได้มาที่นี่ครั้งแรก ก็มีครั้งต่อมาอีกเรื่อยๆ เสน่ห์ของที่นี่มันดึงดูดให้กลับมาได้อีกครับ และไม่น่าเชื่อว่าการกลับมาครั้งนี้ จะเป็นการมาเดินเที่ยวบนสะพานมอญวันเดียวกันกับวันที่ถูกกระแสน้ำในแม่น้ำซองกาเลียพัดขาดพังลงตามข่าวที่ทราบกันเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม ที่ผ่านมา เรากลับถึงกรุงเทพฯ ได้มาฟังข่าวตอน 2 ทุ่ม รู้สึกช็อคและใจหายเป็นที่สุด สะพานที่เราเพิ่งเดินตากฝนถ่ายรูปเมื่อเช้า ขาดลงไปแล้ว และนี่คือสิ่งที่ทำให้ผมคิดถึงที่นี่ครับ “สะพานมอญ”

สะพานมอญ 2553

สะพานมอญ 2553

แพชาวบ้านบนแม่น้ำซองกาเลีย เก็บภาพจากบนสะพานมอญ

แพชาวบ้านบนแม่น้ำซองกาเลีย เก็บภาพจากบนสะพานมอญ

แม่น้ำซองกาเลีย สังขละบุรี

แม่น้ำซองกาเลีย สังขละบุรี

พอมาถึงสังขละบุรี เราเลือกเดินเที่ยวแวะหาร้านกาแฟและร้านอาหารอร่อยๆ ชิวๆ นั่งกัน เดินเล่นถ่ายรูปได้บ้างเล็กน้อย เพราะฝนปรอยลงมาตลอด ปัจจุบันที่สังขละบุรีมีร้านกาแฟร้านอาหารเล็กๆ น่ารักมาเปิดเพิ่มขึ้นจากเดิม หลายร้านเป็นคนกรุงเทพฯ ที่เบื่อรูปแบบการใช้ชีวิตในเมืองแล้วมาหลงเสน่ห์ชีวิตง่ายๆ แบบไม่รีบร้อนของที่นี่ แต่จำนวนร้านก็ไม่ได้มีเยอะแยะจนแน่นขนัดเหมือนอีกหลายที่ ผมว่าที่นี่มันมีความพอดีอยู่นะ

สังขละบุรี

สังขละบุรี

สะพานมอญ 2556

ภาพสะพานมอญวันที่น้ำซัดพังลง 28 ก.ค. 56

เรานอนที่สังขละบุรี 1 คืน ก่อนที่จะตื่นแต่เช้ามืดเพื่อเดินข้ามสะพานมอญไปตักบาตรเช้าที่ฝั่งหมู่บ้านชาวมอญ พร้อมหาของกินแบบบ้านๆ อย่างขนมจีนหยวกกล้วยกับกาแฟไข่ลวกและปาท่องโก๋ ซึ่งก็เป็นอย่างที่นึกไว้ ฝนทำให้นักท่องเที่ยวน้อยลงไปอย่างถนัดตา ทำให้เราเที่ยวแบบไม่ต้องแย่งกันกินแย่งกันใช้

ตักบาตรเช้า สะพานมอญ

ตักบาตรเช้า สะพานมอญ

ของใส่บาตร หมู่บ้านมอญ

ของใส่บาตร หมู่บ้านมอญ

เราเดินถ่ายรูปกันอยู่พักนึกก่อนจะเดินทางไปนมัสการหลวงพ่ออุตตมะ วัดวังก์วิเวการาม (ใหม่) และแวะไปถ่ายรูปที่เจดีย์พุทธคยา ที่นี่เดิมทีก่อนที่จะกั้นเป็นเขื่อนเขาแหลมนั้น วัดวังก์วิเวการาม (เก่า) จะตั้งอยู่ในพื้นที่ของเขื่อนซึ่งต่ำกว่าระดับน้ำในเขื่อนปัจจุบัน จึงได้มีการย้ายขึ้นมาอยู่ที่แห่งใหม่ในปัจจุบัน ช่วงที่น้ำในเขื่อนลดลงเราสามารถนั่งเรือหางยาวของชาวบ้านข้ามไปเดินเที่ยวถ่ายรูปเล่นที่วัดเก่าได้เลยครับ ช่วงที่เราไปก็สามารถไปได้เพราะเป็นช่วงที่ระดับน้ำเพิ่งเริ่มขึ้น แต่ด้วยฝนที่ลงเกือบตลอดทั้งวัน เราจึงตัดโปรแกรมนี้ออกไป เสียดายอยู่เหมือนกัน และก็ด้วยปริมาณน้ำฝนที่ลงหนักขึ้นตลอดนี่เอง ที่เป็นสาเหตุให้สะพานมอญแห่งนี้ได้พังลงมา

เจดีย์พุทธคยา สังขละบุรี

เจดีย์พุทธคยา สังขละบุรี

เจดีย์พุทธคยาจำลองที่หลวงพ่ออุตมะสร้างขึ้น

เจดีย์พุทธคยาจำลองที่หลวงพ่ออุตมะสร้างขึ้น

เจดีย์พุทธคยา

เจดีย์พุทธคยาสีทองอร่ามในวันที่ฟ้าหม่น

สะพานมอญ หรือ สะพานอุตมานุสรณ์ นับเป็นสะพานไม้ที่ยาวที่สุดในประเทศไทย 850 เมตร และเป็นอันดับสองของโลก สะพานมอญเปรียบได้กับเส้นเลือดใหญ่ที่ใช้เลี้ยงชีพทำมาหากินริมแม่น้ำซองกาเลียของชาวมอญมานาน ชาวมอญเป็นคนตื่นเช้ามากครับ การตักบาตรถือเป็นกิจวัตรของคนที่นี่อย่างวิถีพุทธที่ปฏิบัติกันมาช้านาน เพราะความศรัทธาต่อหลวงพ่ออุตตมะที่สร้างสะพานไม้จนเกิดเป็นสถานที่สำคัญผู้คนมาอยู่เป็นหมู่บ้านเป็นสังคม พึ่งพาอาศัยกับวัดที่ท่านสร้างขึ้น และทำให้ชาวมอญมีที่ทำกินสร้างชีวิตจนถึงทุกวันนี้

สะพานมอญ 2554

สะพานมอญถือเส้นเลือดใหญ่ของชาวมอญ

แพชาวบ้านบริเวณ สะพานมอญ

แพชาวบ้านบริเวณ สะพานมอญ อีกรูปแบบการดำเนินชีวิตที่อาศัยสายน้ำแห่งนี้ดำรงชีพ

น้ำลดแพจะมารวมตัวกัน

น้ำลดแพจะรวมตัวกันดูแออัดแต่อบอุ่น ถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2552 จากบนสะพานมอญ

แม่น้ำซองกาเลีย สะพานมอญ

คนที่นี่ใช้เรือเป็นพาหนะและใช้บริการพาเที่ยวให้กับนักท่องเที่ยว

ผมมีความสุขทุกครั้งที่ได้กลับมาที่นี่ ที่นี่ไม่ได้มีอะไรพิเศษ ไม่ได้สบายเหมือนรีสอร์ทราคาแพง ผมนอนที่เดิมๆ เรือนแพเก่าๆ นอนเต๊นท์หรือเกสท์เฮ้าส์ราคาถูก กินข้าวร้านเดิมๆ รสชาติเดิมๆ ถ่ายรูปมุมเดิมๆ ผมเห็นความเปลี่ยนแปลงข้ามผ่านกาลเวลาของที่นี่ ผมเห็นสะพานไม้เก่าผุพังถูกปรับปรุงเสริมความแข็งแรงให้สวยงาม ผมเริ่มเห็นที่พักใหม่ๆ เพิ่มขึ้นเพื่อรองรับปริมาณนักท่องเที่ยว ผมเห็นการปรับตัวของชาวบ้านที่ใช้แก๊สแทนน้ำมันกับเรือหางยาวในภาวะน้ำมันแพง ผมเห็นคนเบื่อกรุงเทพฯ ย้ายมาอยู่มากขึ้น ชาวบ้านเริ่มมีบ้านหลังใหญ่มีรถจอดในบ้าน แต่ละบ้านมีทีวีมีจานดาวเทียม ชาวบ้านใช้โทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน เด็กมีการศึกษาที่ดีขึ้น ถึงแม้สังขละบุรีจะเปลี่ยนไปเช่นไร แต่ก็ยังคงมีกลิ่นอายของสังขละบุรีที่มีเสน่ห์มิเสื่อมคลาย

ภาพชาวบ้านหาปลาในแม่น้ำซองกาเลีย

ภาพชาวบ้านหาปลาในแม่น้ำซองกาเลีย สะพานมอญ

สะพานมอญ สังขละบุรี

ชาวบ้านใช้ที่นี่เป็นทั้งบ้านและที่ทำกิน

ผมคิดถึงและเฝ้าคอยรอการกลับมาของสะพานมอญครับ เพราะมันคือตัวแทนในความทรงจำของที่นี่ ใครที่เคยมาสัมผัสวิถีชาวมอญที่นี่ ก็คงคิดถึงสะพานไม้ที่มันพังลงไปแล้ว ผมอยากให้ทุกคนมาเที่ยวที่นี่เหมือนเดิมถึงแม้สะพานยังบูรณะไม่เสร็จ ผมก็ไม่แน่ใจในสภาพเศรษฐกิจที่นี่ระหว่างรอการกลับมาของสะพานมอญจะกระทบอะไรกับชาวบ้านหรือไม่ ใครที่ได้เดินทางมาแล้วอยากร่วมแรงร่วมใจกันเข้าช่วยเหลือและสมทบทุนการซ่อมแซมสะพานมอญแห่งนี้ สามารถบริจาคเงินได้ที่วัดวังก์วิเวการาม (ฝั่งหมู่บ้านชาวมอญ) หรือบริจาคที่ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาสังขละบุรี ออมทรัพย์เลขที่ 679-216755-4 ชื่อบัญชี “วัดวังก์วิเวการาม (สะพานไม้)” ….. ผมเชื่อครับว่า ฟ้าหลังฝนยังไงก็สดสวยกว่าแน่นอน …..

สะพานมอญ 4 ปีที่แล้ว

สะพานมอญ 4 ปีที่แล้ว ระหว่างที่มีการบูรณะใหม่

============================================================================

Shutter tips – การถ่ายภาพพระอาทิตย์ขึ้นหรือตก

ภาพพระอาทิตย์ตก

ภาพพระอาทิตย์ตก

  • การถ่ายภาพพระอาทิตย์ตกควรใช้รูปรับแสงหรือ f-stop ที่แคบ (นั่นหมายถึงค่า f ที่สูง) เพื่อเก็บรายละเอียดและความคมชัดของภาพทั้งใบ
  • การกำหนดจุดโฟกัสของภาพพระอาทิตย์ตก ควรโฟกัสที่พระอาทิตย์หรือฉากหลังของภาพ
  • ระยะของเลนส์ที่เลือกใช้ ควรเป็นเลนส์ที่มีระยะซูมพอสมควร เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการเปลี่ยนมุมมองจากมุมกว้างเป็นการถ่ายพระอาทิตย์ในระยะใกล้ หลายครั้งที่เราต้องการเก็บภาพพระอาทิตย์ให้ชัดและใหญ่ แต่เลนส์ที่เตรียมมาใช้เป็นระยะที่ซูมได้ไม่ถึง เราก็จะพลาดโอกาสดีๆ ได้
  • การถ่ายภาพพระอาทิตย์ให้กลมเหมือนไข่แดง ควรปรับตั้งระบบวัดแสงให้เป็นระบบวัดแสงเฉพาะจุด (Spot Metering) จากนั้นให้วัดแสงบริเวณดวงอาทิตย์หรือใกล้เคียง ซึ่งเราอาจจะถ่ายภาพให้โอเวอร์ขึ้นจากเดิมสัก 1-2 stop เพื่อเก็บรายละเอียดของภาพโดยรอบเพิ่มเติมและควรวัดแสงบ่อยๆ เพราะสภาพแสงในช่วงเวลาที่พระอาทิตย์ขึ้นหรือตกจะเปลี่ยนแปลงเร็วมาก
ธีรชุย ธาราสุข

ธีรชัย ธาราสุข

===============================================================================


ดูแผนที่ขนาดใหญ่ขึ้น



//travel.mthai.com/member-blog/65252.html




Create Date : 24 สิงหาคม 2556
Last Update : 24 สิงหาคม 2556 23:36:25 น. 1 comments
Counter : 2775 Pageviews.  

 
thx u crab


โดย: Kavanich96 วันที่: 25 สิงหาคม 2556 เวลา:3:47:03 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

zulander
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 77 คน [?]




หวยซอง เลขเด็ด
หวยซอง เลขเด็ด หวยซองแม่นๆ หวยซองดัง รวมหวยซอง






ติดตามข้อมูลของเว็บทาง twitter ได้ที่ @karnoi กด
ติดตามข้อมูลเว็บทาง FaceBook กด







Online Users


New Comments
[Add zulander's blog to your web]