Group Blog
 
All Blogs
 

แสน ส.เพลินจิต : ชีวิตที่เหลือแสน #1



แสน เมื่อครั้งยังเป็นแช้มป์ WBA


ฟ้าสาง ดาวสูญ

"แก่นจริงๆ มันอยู่ที่ความพอดี ไม่ใช่ว่าเป็นแช้มป์โลกแล้วต้องยืนอยู่บนหลังคาบ้าน ไม่ใช่อย่างนั้น คนเราจะรวยจะจน สุดท้ายมันก็ขี้เถ้ากองเดียว สุดท้ายก็ดินกลบหน้า"

นั่นเป็นประโยคสุดท้ายในการสัมภาษณ์ "แสน ส.เพลินจิต"อดีตแช้มป์โลกรุ่นฟลายเวตของสมาคมมวยโลก
นั่นเป็นประโยคสุดท้ายที่ผมเอามาขึ้นต้น....ไม่ใช่อะไรอื่นเลย เพียงเพราะว่าทุกวันนี้ผู้คนส่วนมากมักจะลืมหรือแกล้งไม่ใส่ใจกับประโยคสุดท้ายประโยคนี้
...ความจริงแล้วแง่มุมของชีวิตมีมากมายมหาศาล แก่นหรือหลักยึดของทุกคนก็ต่างกันไป แต่ถามว่าเราลืม หรือเปล่ากับสิ่งที่ไม่มีวันเปลี่ยนแปลงสิ่งนี้ หรือเราลงไปครุ่นคิดกับมันมากน้อยเพียงไร...ก็เท่านั้นเอง



แสน ส.เพลินจิด กับชีวิต ณ วันนี้


...ย้อนกลับไปในวัยเด็กของแสน เขาเป็นเพียงเด็กผู้ชายตัวเล็กๆ ที่มักจะโดนเพื่อนๆรังแก ดังนั้นแล้วเขาจึงต้องการวิชาเพื่อเป็นการป้องกันตัว หาใช่จะยึดถือเป็นอาชีพ หรือความฝันที่ว่าจะเป็นแช้มป์โลก
"พอหัดมวยซักพักเราก็มีความมั่นใจในตัวเอง ไปท้าเพื่อนชก ท้าชกเลย ตัวต่อตัว ผลแพ้ชนะมันไม่มีหรอก แต่มันแสดงให้เห็นว่าเราก็สู้ได้ หลังจากนั้นเพื่อนก็ไม่มาแกล้งหรือรังแกแล้ว"
...แสนเล่าให้ฟังด้วยน้ำเสียงที่ราบเรียบว่า"พอคนเรามันทำอะไรซ้ำๆ ทุกวัน ทุกวัน มันก็ชอบไปเอง"
ใช่...การทำอะไรซ้ำๆ ทุกวันๆ อย่างน้อยมันก็จะซึมซับไปเอง ผมนึกแล้วก็คล้อยตาม และเห็นว่าถ้าคนที่ทำไม่ดีกับสังคม คนที่ฉ้อโกงเงินภาษีประชาชน ถ้าคนเหล่านั้นทำทุกวันๆ มันก็คงกลายเป็นความชอบ หรือกลายเป็นนิสัยที่แก้ได้ยาก และผมว่า มันเป็นท่าทีและอาการของการทำซ้ำที่น่ากลัว...
...แสนยังคงเล่าเรื่องของเขาในวัยเด็กต่อ และผมก็กลับมาสู่การสนทนา ละทิ้งความคิดตัวเองลงชั่วคราว
"ชกครั้งแรกก็ชนะเลย ดีใจมาก ได้เงินมา 110 บาทให้แม่หมดเลย ตอนนั้นประมาณ 8-9 ขวบ แต่ครั้งที่สองแพ้และก็มีการว่ากล่าว เราก็น้อยใจ เพราะว่าเราทำเต็มที่แล้ว อีกอย่างมวยที่เราแพ้ เขาชกมาก่อนเราตั้งนาน มีประสบการณ์มากกว่า เราชกมาแค่ครั้งเดียว เราก็เลยหยุดชกไป 4-5 เดือนพอทำใจได้ก็กลับมาใหม่ กลับมาซ้อมเหมือนเดิม"
...อันที่จริงคำพูดที่ออกจากปากคนค่อนข้างละเอียดอ่อน แม้ว่าตอนนั้นเขายังเด็ก แต่อาการน้อยใจก็หาใช่ว่าจะจำกัดอายุของคน เขาเล่าว่ามันคล้ายกับตอนเสียแช้มป์ ที่มีคนพูดถึงขนาดว่า"ล้มมวย"หรือเปล่า?
...พอถามเขาว่า จำวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ปี 2537 ได้ไหม แต่ยังไม่ทันสิ้นเสียง เขาก็สวนขึ้นมาทันที วันนั้นเป็นวันที่เขาได้แช้มป์โลก และเป็นวันที่เขาไม่ลืมเช่นเดียวกับวันที่ 24 พฤศจิกายน ปี 2539
"13 กุมภาพันธ์ ปี...37 ที่ฉะเชิงเทรา มัน...ยังไงดีล่ะ...วันนั้นผมรู้ว่าผมชนะ พอขึ้นไปยกแรกผมรู้ทันทีว่า...ผมสู้ได้แน่นอน แต่คำว่าแช้มป์โลกเนี่ย...ผมไม่คิด! วันนั้นใครๆก็คิดว่าผมแพ้แน่ ไม่รอดแน่ สู้ไม่ได้เพราะผมเป็นรอง คนนี้แพ้เขาทราย แต่ว่ากว่าที่เขาทรายจะชนะได้ก็เหนื่อย
"การวางแผนวันนั้นทุกคนให้ผมเดินชก ให้บุก ให้ลุย ตอนซ้อมที่ค่ายผมก็ทำตามแผน แต่พอขึ้นไปบนเวทีจริงๆแล้ว มันไม่ใช่ มันเปลี่ยนไป แต่ผมคุยกับโค้ช เขาบอกว่า คุณอยากทำอะไรคุณทำ แล้วผมก็ทำตามที่ผมคิดและก็เชื่อ คือไม่เดินหน้าลุย ใช้จังหวะแย็บหนึ่งสอง ใช้ความเร็วหลบฉาก ใช้สายตา ทุกคนงงหมด แม้กระทั่งโปรโมเตอร์ทรงชัยเข้ามาบอกว่าให้ลุย ทำไมไม่เดินหน้า?...
..."ช่วงนั้นดูมวยเยอะมาก เปิดเทปดูกับโค้ชแล้วก็มาพูดคุยกัน อย่างไหนที่เหมาะกับตัวเองผมก็เอามาประยุกต์ใช้ อย่างไหนไม่เหมาะโค้ชก็จะบอก เราจะนั่งปรึกษากันเชื่อใจและให้เกียรติกัน
"พอกรรมการประกาศว่าเป็นแช้มป์โลก ผมก็แบบ...เราเป็นแช้มป์โลกเหรอ กูเนี่ยนะแช้มป์โลก คือมันไม่ได้คิด คิดว่าชนะอย่างเดียว แต่คำว่าแช้มป์โลกไม่เคยคิดเลย ตอนอาบน้ำที่โรงแรมก็นอนแช่น้ำ ตอนนั้นน้ำร้อนมาก แต่ผมไม่รู้สึกเลยว่ามันร้อน"
เขาร่ายยาวถึงวันที่ประสบความสำเร็จ จนผมถามเขาว่าเงินรางวัลครั้งนั้นได้เท่าไหร่?
"ไม่รู้ว่าได้เท่าไหร่ หัวหน้าค่ายมวยรับมา ผมได้ 25% จากทั้งหมด"
ผมถาม"จี้"ว่าประมาณเท่าไหร่?
"ผมยังไม่รู้เลยว่าค่าตัวผมเท่าไหร่ แต่คงได้น้อย เพราะไฟต์ชิงแช้มป์โลก โปรโมเตอร์ต้องลงทุน ต้องจ้างแช้มโลก ต้องจ้างกรรมการ"
...ผมนิ่งเงียบไปครู่ใหญ่ ไม่กล้าที่จะพูดอะไรต่อ แต่ก็ถามเขาว่าจำครั้งที่อุบลฯได้ไหม?
"อ๋อ!...เสียแช้มป์ที่อุบลฯวันที่ 24 พ.ย.39 วันนั้น...เราก็รู้ตั้งแต่ทีแรกแล้วว่าเราเป็นรอง เพราะเรามีปัญหาเรื่องน้ำหนักที่ยังเกินอยู่ จนต้องกินยาถ่าย มันไม่มีแรง ซึ่งมันเป็นวิธีที่ผิด โค้ชก็ไม่ได้ว่าอะไร เขาเชื่อใจและให้เกียรติในการตัดสินใจ มันเป็นทางออกสุดท้ายแล้วในตอนนั้น แต่ก็ยังมีความมั่นใจอยู่นะ"
"วันนั้นถ้า...ถ้า...ตัดสินแบบชาตินิยม เข้าใจนะ ชาตินิยม! ผมชนะได้ แต่ผมบอกเลยว่าผมไม่เคยโกงโคร เรื่องน้ำหนักตัวเขาก็บอกว่าซิกแซ็กได้ แต่ผมบอกว่าผมทำได้ ผมไม่อยากโกง สุดท้ายเราก็เข้าใจ เราเตรียมตัวน้อยกว่าเขา มีปัญหามากกว่าเขา ทีมงานก็ปลอบใจ เราทำเต็มที่แล้ว ไม่เป็นไร เราไม่โกงเขา เราไม่โกงตัวเอง"
...เขาย้ำคำว่า"เราไม่โกงตัวเอง"อยู่ 3 ครั้ง จนทำให้ผมเกิดความรู้สึกร่วม ไปกับเขาด้วย...


เดี๋ยวมาต่อให้ครับ ตอนจบน่ะ!
เรื่องและภาพ>>ปิยะวิทย์ เทพอำนวยสกุล
นิตยสาร ฅ ฅน ฉบับที่ 3 มกราคม 2549




 

Create Date : 12 มกราคม 2549    
Last Update : 20 มกราคม 2549 6:10:30 น.
Counter : 1205 Pageviews.  

แสน ส.เพลินจิต : ชีวิตที่เหลือแสน #2



ภาพจาก นิตยสาร ฅ ฅน


ต่อครับ ต่อ...(ภาพมันมืดไปนิดนะ)

"เสียงวิจารณ์ก็มีหลายกระแส มีแม้กระทั่งว่าผมล้มมวย ผมก็ตอบกลับไปว่า ไม่จริง ผมทำเต็มที่แล้ว แต่กรรมการตัดสินให้ผมแพ้ ก็แค่นั้นเอง(หัวเราะ)"
...แสนเป็นแช้มป์ตอนอายุ 23 ปี แต่เข็มขัดอยู่กับเขาแค่ 2 ปี...ผมถามว่าในช่วง 2 ปีนั้นมีชีวิตเป็นอย่างไรบ้าง
"เปลี่ยนไปจากเดิมเยอะมาก มันก็ยังไงดีล่ะ...แท็กซี่บางคันไม่เอาเงินแต่ขอลายเซ็นผมแทน ผมเกรงใจเหมือนกันนะ ร้อยกว่าบาทแน่ะ 2 ปีถามว่าสบายไหม? ก็สบายดี แต่มันก็เหมือนเดิม ต้องซ้อมมวยอยู่ แต่ว่าการใช้จ่าย มันก็คล่องขึ้น มีชื่อเสียง มีเงินทอง และอะไรอีกหลายๆอย่าง เข้ามาในชีวิต"
...เขาบอกว่า 2 ปีนั้นเขาไม่รู้เรื่องเงินเลย ผมจึงถามเขาอย่างตรงๆว่า แล้วใครเป็นคนเก็บเงิน
"ก็เจ้านาย ผมก็เบิกมาใช้เป็นอาทิตย์ เป็นเดือน แต่เราไม่รู้ว่าทั้งหมดได้มาเท่าไหร่ แต่ตอนหลังมารู้ เพราะมีการพูดคุยกันระหว่างค่ายกับโปรโมเตอร์ ถึงการแยกเส้นทางเดิน เลยมีการชี้แจงตัวเลข คือตั้งแต่ผมอุ่นเครื่องจนถึงเป็นแช้มป์และเสียแช้มป์ ประมาณ 2-3 ปี ทั้งหมดยังไม่หักอะไรเลย ค่าตัวผม 40 กว่าล้านบาท ประมาณ 45-48 ล้าน จำไม่ได้"
เขาย้ำกับผมว่า 40 กว่าล้านบาท 3 ครั้ง
"แต่เราก็ไม่ได้มาก้อนเดียวทั้งหมด มันค่อยๆจ่าย แต่ว่าผมได้ 25%"
"ผมชกมวยด้วยความสุข แต่พอเข้าไปในระบบธุรกิจ...มันเบื่อ! ผมบอกกับโปรโมเตอร์ว่า อยากชกกับใครก็ได้ที่เก่งๆ แต่ในความเป็นจริงมันทำไม่ได้ เพราะเหตุผลทางธุรกิจ อีกอย่างถ้าเราแพ้ขึ้นมาก็จบ เขาต้องการถนอมเราไว้ ใช่...เราปฏิเสฐเงินไม่ได้ แต่..มันไม่ใช่ทั้งหมด"
...และกับปัจจุบัน เขาทำอะไรอยู่ ชีวิตจากเดิมที่เป็นที่รู้จัก แต่กลับกลายว่าเป็นใครก็ไม่รู้ เขาคิดยังไง? ผมอยากรู้..
"ทุกวันนี้ยังล่องลอยอยู่ ก็รับงานไปเรื่อยๆ รายได้มันก็ไม่แน่นอน มีช่วงนึงไปเล่นหนังวีซีดี ช่วงก่อนเป็นอาจารย์พิเศษสอนมวยที่วิทยาลัยพละกรุงเทพ และก็มีเล่นมิวสิคให้ พรศักดิ์ ส่องแสง"
"มันอยู่ที่ความพอดีของคน และอยู่ที่อีโก้ของคน ถ้าเราตัดอีโก้ออกมันก็จะสบายขึ้น เมื่อก่อนมีเงินในกระเป๋าไม่ถึง 500 จะไม่กล้าไปไหน แต่เดี๋ยวนี้มี 20 ก็ออกจากบ้านได้"
...อะไรที่ทำให้เขาเปลี่ยนความคิดไปได้ ผมถามเขา
"ผมคิดว่า...เพราะพ่อผม ตอนนั้นนั่งเครียดอยู่ที่บ้าน มันมีแต่ปัญหา พ่อเดินมาตบไหล่แล้วบอกว่า ไอ้เหน่ง เอ็งไม่ดีใจเหรอวะ จากที่ไม่มีจะแดกแล้วมีหนี้เป็นล้านได้... ตอนนี้ผมก็ทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้ ขอให้เป็นงานสุจริต และมีหนี้อยู่ประมาณหกแสน แต่เป็นหนี้ที่เราไม่สมควรจะเป็น"
...หนี้ที่ว่ามาจากการไปค้ำประกันให้กับเพื่อน โดยเอาที่ดินที่ซื้อตอนเป็นแช้มป์ไปวางไว้ แล้วไปๆ มาๆ เพื่อนคนนั้นก็หายไป สุดท้ายก็เป็นเขาเองที่ต้องแบกรับภาระ
...ทุกวันนี้ถ้ามีคนถามว่า แสน ส.เพลินจิต ประกอบอาชีพอะไร แสนจะตอบว่า
"ขอเปลี่ยนคำถามได้ไหม ถามว่าตอนนี้หาเงินมาจากไหนดีกว่า(หัวเราะ)"
...เพราะว่างานที่เขาทำมันหลายอย่างและเป็นอย่างที่เขาพูดไว้ว่า
"ความตั้งใจก็คือ เอาตัวเองและครอบครัวให้รอด งานอะไรที่สุจริตผมทำหมด ทำทุกอย่างเท่าที่จะทำได้ ทำทุกอย่างที่จะหาเงินได้โดยสุจิต..ก็มีท้อบ้าง แต่ไม่เคยถอย คนถอยคือคนที่ตายแล้ว"
"เวลาชกมวยมันก็มีช่วงของมัน เราหายใจเข้าลึกๆ แล้วก็ลุยเข้าไปต่อย ๆ ๆ พอเหนื่อยเราก็หลบออกมา พอหายใจเข้าไปใหม่ เราก็เดินหน้าสู้ต่อไป ชีวิตมันก็เหมือนการชกมวย มี 12 ยก แต่เราไม่รู้ว่าตอนนี้เราอยู่ยกที่เท่าไหร่ ระฆังยังไม่ดัง เราหยุดไม่ได้"
...เขายังเล่าต่อด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ ไม่มีความสิ้นหวังหรือความทุกข์ที่แสดงออกทางสายตาเลย
"ผมได้เข้าเฝ้าในหลวง สมเด็จพระสังฆราช และตอนที่ผมบวช หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุเป็นผู้บรรพชาให้ และที่ผมไม่เคยบอกใคร ผมได้จับมือพระสันตะปาปา แต่ไม่ใช่เป็นการส่วนตัวนะ ตอนนั้นไปที่วาติกัน ไปยืนดู ตอนแรกว่าจะถ่ายรูป แต่เปลี่ยนใจ เดินเข้าไปจับมือ ผมถือว่าโอเค ดีมากๆ สำหรับชีวิต"
"เงินมันเป็นยานพาหนะที่พาเราไปหาสิ่งอื่นๆ ถ้าไม่มีผมก็เดิน แต่ว่าเดินมากๆมันก็เมื่อย มันก็ต้องมีบ้าง(หัวเราะ) แต่มันไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิต"
..สุดท้ายแล้วแม้ว่าเส้นกราฟชีวิตของแต่ละคน จะมีขึ้นมีลงไม่เหมือนกัน แต่อย่างน้อยความสุขในชีวิต เราเท่านั้นที่เป็นคนเลือกและเป็นคนกำหนด
...ผมลาอดีตแช้มป์โลกว่า" เดี๋ยวผมกลับเลยนะครับพี่ ขอบคุณมากครับ"
แสนทำท่าจริงจังและถามว่า "กลับเลยหรือ ไกลนะ..."
ผมหัวเราะ...และมันเป็นเสียงหัวเราะจริงๆ แม้ว่าจะไม่น่าหัวเราะเท่าไหร่ แต่ความสุขในชีวิตที่ทุกคนถวิลหา คือเสียงหัวเราะ มิใช่หรือ?
...ก่อนลา วูบหนึ่งผมนึกถึงคำพูดสุดท้ายของเขา ที่เป็นประโยคขึ้นต้นบทสัมภาษณ์นี้
ขอบคุณ...แสน ส.เพลินจิต


เรื่องและภาพ>> ปิยะวิทย์ เทพอำนวยสกุล
นิตยสาร ฅ ฅน ฉบับที่ 3 มกราคม 2549




 

Create Date : 12 มกราคม 2549    
Last Update : 20 มกราคม 2549 6:10:56 น.
Counter : 2416 Pageviews.  

"ศิลปะมวยไทย" มรดกล้ำค่า..ที่ถูกมองข้าม(ตอนที่ ๓)



ภาค ๓ - มวยไทยยุคอุตสาหกรรม จากสินค้าทำมือ สู่ ระบบโรงงาน

ก่อนหน้าเวที่ราชดำเนินจะถูกก่อตั้งขึ้นภายใต้การดูแลของ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์นั้น เคยมีเวทีมวยที่เปิดแข่งขันและได้รับความนิยมมาบ้างแล้วอาทิเช่น เวทีสวนกุหลาบ, เวทีหลักเมือง, เวทีท่าช้างวังหลวง, เวทีพัฒนากร แต่บางเวทีก็ประสบภาวะขาดทุน ขณะที่บางเวทีก็เจอผลพวงของสงครามโลกครั้งที่ 2 ต้องล้มเลิกกิจการไปในที่สุด
...เมื่อเวทีราชดำเนินการก่อสร้างเสร็จและเปิดทำการแข่งขัน ก็ยังคงใช้ระบบการจัดมวยในรูปแบบเช่นเดียวกับเวทียุคก่อนหน้านั้น นั่นคือทางเวทีประกบคู่และจ่ายเงินรางวัลเอง ซึ่งไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อระบบของมวยไทยดั้งเดิมนัก
...เพราะบรรดาค่ายมวยในยุคก่อนปี 2500 ก็ยังอยู่บนรากฐานของการสืบทอดวิชามวยในชุมชนโดย"ครูมวย"จะอยู่ในฐานะหัวหน้าค่าย มีเด็กหนุ่มมาขอฝึกฝนแต่ไม่ได้กินนอนอยู่ในค่าย เป็นเพียงการมาเรียนรู้และอาศัยสถานที่ฝึกซ้อม เปรียบประหนึ่งสถาบันการศึกษาที่ให้ความรู้เฉพาะด้าน จนเมื่อฝีมือแก่กล้าพอจะสู้เขาได้ไม่อายใครแล้วนั่นแหละ ครูมวยก็จะนำไปเสนอชกตามเวทีต่างๆ เมื่อได้รับรางวัลค่าตัว ทางครูมวยก็จะแบ่งไว้จำนวนหนึ่งเป็นค่าบำรุงค่าย ซึ่งไม่มากมายอะไรนัก
...นักมวยในยุค"รอยต่อ"ระหว่างความเปลี่ยนแปลงนี้ ส่วนใหญ่ถ้าไม่ใช่เด็กหนุ่มที่กำลังอยู่ในวัยศึกษาช่วงปลายๆ ก็มักจะเป็นหนุ่มฉกรรจ์ที่มีการงานอาชีพอื่นรองรับอยู่แล้ว แต่ชกมวยด้วยความนิยมชมชอบส่วนตัว โดยมีรางวัลค่าชกเป็นรายได้เสริมเท่านั้น
...แต่เมื่อเวทีราชดำเนินเริ่มประสบภาวะขาดทุนเพราะเจ้าหน้าที่ประกบคู่มวย(แมทช์เมคเกอร์) มีการเลือกที่รักมักที่ชัง จัดเฉพาะมวยจากค่ายที่ชอบพอหรือมีผลประโยชน์ร่วมกัน อีกทั้งบ่อยครั้งก็ประกบแบบ"กลั่นแกล้ง"มวยดังจากค่ายที่ไม่อยู่ในอาณัติ ให้ต้องเจอกับคู่ต่อสู้ที่เหนือชั้นกว่าอยู่เสมอ กลายเป็น"คลื่นใต้น้ำ" ที่แทรกซ้อนอยู่ในการบริหารงานของเวที ขณะเดียวกันแฟนมวยก็เบื่อระอากับการประกบคู่ที่ไม่ชวนให้เสียสตางค์เข้าชม ปัญหาดังกล่าวสั่งสมขึ้นเรื่อยๆ จนที่สุดผู้บริหารเวทีราชดำเนินก็ตัดสินใจผ่าตัดระบบการจัดมวยทั้งหมด โดยยุติบทบาทของ"แมทช์เมคเกอร์" แล้วหันมาใช้ระบบ"โปรโมเตอร์" นั่นคือ แต่งตั้งบุคคลภายนอกกลุ่มหนึ่งขึ้นมาทำหน้าที่จัดมวย บุคคลกลุ่มนี้อยู่ในฐานะ"ผู้เช่า"สถานที่ ซึ่งต้องรับผิดชอบการประกบคู่-โฆษณา-จ่ายเงินรางวัล และผลกำไร-ขาดทุนกันเอาเอง
...ระบบโปรโมเตอร์นี่เองที่ทำให้วงการมวยไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง ทั้งในเชิงบวกและเชิงลบไปพร้อมๆกัน...
...เนื่องจากโปรโมเตอร์ โดยเนื้อแท้ก็คือ เอกชนผู้ประกอบการหรือพ่อค้า ย่อมเล็งเห็นผลกำไรเป็นที่ตั้ง การจัดมวยก็หันมาเน้นความคู่คี่สูสี เพื่อหวังดึงเซียนพนันเข้าสนามเป็นรายได้ประจำ ขณะเดียวกันโปรโมเตอร์เหล่านี้ก็เริ่ม"ล็อคมวย" เพื่อสร้างเครือข่ายของตนเอง ก่อให้เกิดการประมูลค่าตัวเพื่อแย่งกันจัดนักมวยดังๆ จนเงินรางวัลนักชกระดับแนวหน้ายุคปี 2500-2515 ทวีขึ้นจากระดับไม่กี่หมื่นบาทกลายเป็นหลักแสน
...ขณะเดียวกันในส่วนของการสร้างมวยหน้าใหม่ โปรโมเตอร์ก็ต้องลงทุน"ผูก"หัวหน้าคณะมวยภายใต้คอนโทรลขึ้นมาจำนวนหนึ่ง เพื่อเป็นแหล่งวัตถุดิบในการจัดมวย ด้วยการ"จ่ายล่วงหน้า"ให้กับหัวหน้าคณะที่มีมวยเด็ก-แววดี ให้ต้องส่งมวยชกในรายการของตนไปตลอด โดยไม่สามารถมีอิสระในการเสนอชกได้เหมือนยุคดั้งเดิมอีกต่อไป แต่อย่างไรก็ตาม เม็ดเงินซึ่งโปรโมเตอร์โปรยหว่านลงมานั้น ก็กลายเป็นสิ่งดึงดูดใจให้"เซียนมวย" จำนวนมากหันมาเปิดค่ายมวยเป็นของตนเอง ในลักษณะ"การลงทุน"เต็มรูปแบบเช่นเดียวกัน นั่นคือการนำนักมวยมาเลี้ยงดูกินนอนอยู่ในความดูแล เพื่อส่งขึ้นชกอย่างเป็นล่ำเป็นสันและเป็นธุรกิจแบบควบคุมเบ็ดเสร็จ โดยนักมวยในค่ายจะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อบังคับที่ตนกำหนดขึ้นมา ส่วนเงินรางวัลที่นักมวยได้รับจะถูกหัวหน้าคณะแบ่งให้ตามความพอใจ ด้วยถือเสมือนนักมวยคือเด็กในการปกครอง ที่ให้ทั้งที่อยู่ที่กินย่อมไม่มีสิทธิ์จะเรียกร้องอะไรได้
...ระบบ"ครูมวย"ที่ประสิทธิ์ประสาทถ่ายทอดวิชาให้เด็กหนุ่มรุ่นหลัง โดยไม่หวังค่าตอบแทนนอกเหนือไปจากความภาคภูมิใจเมื่อยามลูกศิษย์ชนะ กลับกลายเป็นสิ่งที่สูญหายไปแทบจะสิ้นเชิง เมื่อครูมวยผู้ไร้อำนาจเงินเป็นกำลังต่อรอง ต้องถูกระบบ"อุตสาหกรรมมวย"แปรสภาพให้กลายเป็นแค่ "เทรนเนอร์" ส่วนเด็กหนุ่มจากระดับชนชั้นกลางขึ้นไป ที่เคยย่างเข้าสู่อาชีพค้ากำปั้นด้วยความรักในศิลปะการต่อสู้ก็ต้องชะงักความคิด เพราะการจะให้ไปกินนอนอยู่ที่ค่ายมวย-ถูกเลี้ยงดูภายใต้ระบบ"โรงงาน" เพียงเพื่อให้ได้ชกมวยนั้น ย่อมไม่ใช่ทางเลือกที่ดีแน่...
...ผลสุดท้าย ค่ายมวยไทยก็วิวัฒนาการจากแหล่งให้การศึกษาเฉพาะทางแบบเสรี กลายเป็น"โรงงานผลิตนักมวย"ที่สมบูรณ์แบบ เจ้าของค่ายไม่จำเป็นต้องมีความรู้เรื่องการชกมวยเลยก็ได้ ขอให้มีเงินจ้างเทรนเนอร์มาเป็นผู้ฝึกสอน ส่วนตัวนักมวยแทบทั้งหมดก็ล้วนเป็นเด็กน้อยด้อยโอกาสจากชนบทห่างไกล ที่ถูกความยากจนกวาดต้อนเข้ามาสู่ระบบค่าย เพื่อครอบครัวตนเองจะได้ไม่ต้องรับผิดชอบปากท้องเป็นเรื่องแรก และสักวันหนึ่งตนเองก็อาจจะมีโอกาส ส่งเงินทองกลับไปจุนเจือครอบครัวได้บ้าง
..."การชกมวยด้วยใจรัก" จึงเหลือเพียงเรื่องเล่าขาน...แต่การชกมวย เพราะความจนบีบบังคับนี่ต่างหาก คือเรื่องจริงในสังคมไทยทุกวันนี้.....

ที่มา:นิตยสารมวยตู้รายสัปดาห์ ฉบับที่ 984-985 เขียนโดย คุณพูนเพชร เพชรใหม่(ขอได้รับความขอบคุณแทนผู้คนในสังคมไทย:ยำขาหมูฯ)




 

Create Date : 22 สิงหาคม 2548    
Last Update : 10 พฤศจิกายน 2550 17:54:03 น.
Counter : 896 Pageviews.  

"ศิลปะมวยไทย" มรดกล้ำค่า..ที่ถูกมองข้าม(ตอนที่ ๕)



ภาค ๕ - ฝรั่งแอบชอบใจ แต่คนไทยไม่เห็นค่า

...ขณะที่วงการมวยไทยในประเทศเน้นการแข่งขันเพื่อเล่นได้-เสีย แต่กับนานาประเทศทั่วโลก กลับให้ความชื่นชม-เรียนรู้และฝึกฝนมวยไทยกันเป็นที่แพร่หลาย และน่าประหลาดใจว่าพวกเขาให้ความสำคัญลึกซึ้ง ไปถึงรากเหง้าความเป็นมาของมวยไทย กระบวนการฝึกฝนก็เป็นไปในแบบดั้งเดิม พยายามที่จะใช้อาวุธที่หวือหวา เรียนรู้แม่ไม้-ลูกไม้เพื่อใช้ออกอย่างจริงจัง
...เราจึงพบเห็นชาวต่างชาติที่เดินทางมาชกมวยไทยในบ้านเรา พยายามเหลือเกินที่จะใช้ แม่ไม้-ลูกไม้ สารพัด-สารพัน อาทิ จระเข้ฟาดหาง กวางเหลียวหลัง เข่าลอย กันเป็นว่าเล่น แม้จะดูเก้งก้างและไม่ประสบผลนัก แต่อย่างน้อยก็สร้างความน่าตื่นตาตื่นใจให้ผู้ชม ขณะที่มวยไทยต้นตำรับเองแท้ๆ กลับมีเพียงอาวุธเตะ-ต่อยพื้นๆ แล้วหันไปเน้นการกอดปล้ำ-รัด-ฟัด-ตีเข่า ซึ่งหาก"ดู"โดยไม่"เล่น" รับรองว่าไร้สีสันและออกจะน่าเบื่อด้วยซ้ำ!
ดูเหมือนว่าในอนาคตไม่ไกลจากนี้ หากคนไทยเราต้องการจะชมการชก"มวยไทย"แบบต้นตำรับเดิม ที่สมบูรณ์ไปด้วยศาสตร์และศิลป์อันน่าตื่นตาตื่นใจ ก็อาจจะต้องติดตามจากการแข่งขัน K-1 เท่านั้นกระมัง?!?


ที่มา:คัดลอกจากมันสมองและเจตนารมย์ของ คุณ พูนเพชร เพชรใหม่ หน้า 20 นิตยสาร มวยตู้รายสัปดาห์(ขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูงแทนคนในสังคมไทย:ยำขาหมูฯ)




 

Create Date : 22 สิงหาคม 2548    
Last Update : 10 พฤศจิกายน 2550 17:52:37 น.
Counter : 689 Pageviews.  

"ศิลปะมวยไทย" มรดกล้ำค่า..ที่ถูกมองข้าม(ตอนที่ ๔)



ภาค ๔ - "ศาสตร์-ศิลป์"ไม่จำเป็น ขอเพียงแข็งแรงถูกใจนักเล่น

...พร้อมกันนั้น อิทธิพลการพนันก็เข้ามามีบทบาทในการแข่งขันมวยไทยอย่างเต็มที่ นับตั้งแต่ปี 2520 เป็นต้นมา เมื่อบรรดายอดมวยซูเปอร์สตาร์รุ่นใหญ่ ที่มีแฟนมวยติดตามชื่นชอบในฝีมือและบุคลิกภาพ อย่าง อภิเดช, อดุลย์, พุฒิ, ผุดผาดน้อย ต่างเลิกรากันไปตามวาระ
...นักมวยรุ่นใหม่ที่ก้าวขึ้นมาโด่งดังยุคต่อจากนั้น เป็นที่น่าสังเกตุว่าแทบทุกรายล้วนเป็นมวยที่ผลิตมาจากระบบ"โรงงาน"ซึ่งหล่อหลอมพวกเขามาภายใต้"บล็อก"ที่ไม่แตกต่างกันนัก กล่าวคือ การขึ้นชกมีจุดมุ่งหมายสำคัญที่สุดเพียงเพื่อให้เข้าตา"เซียน" ชกเพื่อให้เป็นต่อในมุมพนันและเพื่อให้ชนะ...ให้คนเล่นได้เงิน
...ไม่มีใครอีกแล้ว...ที่จะชกเพื่อความสนุกตื่นเต้นของ"ผู้ชม" เพราะ "ผู้ชม" ที่เคยหมายถึงคนที่ชื่นชอบมวยและยอมตีตั๋วแพงๆ เพื่อเข้าไปชมและเชียร์นักมวยขวัญใจของตนเองโดยไม่เล่นพนัน กลายเป็นสิ่งที่"สูญพันธุ์"ไปแล้วอย่างสิ้นเชิงจากสนามมวยในยุคปัจจุบัน จะมีก็แต่เพียงชาวต่างชาติที่ถูกบริษัททัวร์ จัดโปรแกรมให้ต้องเข้ามาสัมผัส"ศิลปะการต่อสู้มือเปล่าอันดับ 1 ของโลก"สักครั้ง เพื่อไม่ให้เสียทีที่มาเมืองไทยเท่านั้น ที่กลับกลายเป็นแหล่งรายได้หลักให้กับโปรโมเตอร์เวทีใหญ่ยุคนี้
...หากไม่นับชาวต่างชาติ ผู้ชมที่เสียค่าบัตรผ่านประตูแทบจะร้อยทั้งร้อย ก็ล้วนแล้วแต่"นักเล่นอาชีพ" ที่ถือว่าการซื้อตั๋วคือการลงทุนเพื่อเข้าไปใช้ชั้นเชิง"การเล่น" ดูดเอาเงินทุนพร้อมทั้งกำไรกลับมา.."มวย" ในความคิดคำนึงของพวกเขา อาจไม่ต่างไปจากไก่ชนไร้ชื่อ 2 ตัวที่เข้าพันตูกัน...ไม่ต่างจากลูกเต๋าในฝาครอบ
...กล่าวคือ เป็นเพียง"อุปกรณ์"ในการเล่นพนันชิ้นหนึ่งเท่านั้น!!
...แน่นอน..."การเชียร์มวย"อันเป็นกิจกรรมสำคัญของคนดูมวยก็ถูกทำให้กลายเป็น การเชียร์เพื่อสร้างกระแสให้มวยตัวที่ตนเองเล่นอยู่นั้นเป็นต่อ..เขาพร้อมจะเชียร์ใครก็ได้ ถ้าหากเชียร์แล้วทำเงินเข้ากระเป๋าให้เขาได้ ขณะเดียวกัน ถ้านักมวยตัวที่เขาเล่นเอาไว้ เกิดออกอาการไม่ดีทำท่าจะแพ้แบบชวนให้ข้องใจ เซียนอาชีพก็พร้อมจะส่งเสียงโห่ชี้นำกรรมการให้ไล่ลง เพื่อตนเองจะได้ไม่ต้องเสียเงิน และเมื่อการตัดสินของกรรมการออกมาไม่ถูกใจ เขาก็ต้องแสดงปฏิกิริยาโห่ประท้วงและขว้างปา หรือกระทั่งยกขบวนเฮละโรลงมาจากบนล็อค เพื่อหวังเปลี่ยนแปลงคำตัดสิน
นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอในวิถีของมวยไทย ยุค"เซียน คือ เส้นเลือดใหญ่"
..ในอีกทางหนึ่ง ด้วยอิทธิพลอันเข้มขลังของนักพนันมวย นอกจากจะทำให้กรรมการจำเป็นต้องตัดสินมวย ไปตามรูปรอยแห่งกระแสชี้นำดังกล่าวแล้ว หัวหน้าคณะเองก็จำเป็นต้องผลิตมวยหรือสินค้าของตน ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดด้วย..
...นั่นคือ นักมวยในรูปแบบที่เรียกกันว่า"พิมพ์นิยม"ซึ่งหมายถึง มวยแข็งแรง โดนอาวุธคู่ต่อสู้แล้ว ไม่ย่น-ไม่ยุบ-ไม่ออกอาการ จะเก่งหรือไม่เก่ง เตะต่อยเป็นหรือเปล่า?ไม่สำคัญ..ขอเพียงยกปลายๆมีเรี่ยวแรงเดินบดเดินเบียด ไล่ปล้ำฟัดเหวี่ยงกระชากคู่ต่อสู้ให้ล้มกลิ้งล้มหงาย เพื่อเรียกเสียงเฮ...เป็นใช้ได้
...และเสียงเฮนั่นแหละ จะเป็นตัวฉุดราคาให้เป็นต่อกระทั่งนำไปสู่ชัยชนะในบั้นปลาย!
เราจึงพบว่า"นักมวยไทย"ซึ่งขึ้นชกอยู่บนเวทีมาตรฐานทุกวันนี้ ไม่แตกต่างจาก"สินค้าโหล" ที่มีคุณลักษณะเหมือนๆกันไปหมด ด้วยฟอร์มการต่อสู้ในทรงที่ว่า...ยก 1-2 ดูเชิง, ยก 3 ออกอาวุธกันบ้างประปราย, ยก 4 ยกสำคัญ ต้องแสดงความเหนือกว่าในด้านพละกำลังให้คนดูและกรรมการเห็นชัด โดยใช้การกอดรัด-ตีเข่า-เหวี่ยง-กระชาก ทำลายทรงมวยของคู่ต่อสู้ให้จงได้ ยกสุดท้าย คนเป็นต่อกรรเชียงหนี คนแพ้เดินไล่ต่อยหมัด-ต่อยไม่ลงก็แพ้ไป
นี่คือรูปแบบมาตรฐานของเกมการชกมวยไทยที่เห็นและเป็นอยู่จริง ไม่ว่าจะเป็นเวทีไหนๆในประเทศนี้!
...สิ่งที่ติดตามมาพร้อมกับการผลิตนักมวยแบบอุตสาหกรรมนั่นคือ ตัวนักมวยที่ถูกหล่อหลอมมาจากค่าย ที่เน้นใช้แรงให้มาก-ใช้สมองให้น้อย ล้วนกลายเป็นประหนึ่ง"เครื่องจักรชกมวย"ที่ไร้ซึ่งบุคลิกภาพน่าสนใจ เพียงชกไปตามโปรแกรมที่กำหนด ไม่มีการใช้อาวุธที่หวือหวา-เฉียบขาด ไม่มีสีสันการแสดงลีลาเฉพาะตัวที่น่าสนใจ
...รูปเกมการต่อสู้ที่ต้องเดินไปตามกระแสการพนันทั้งหมดนี้ ทำให้คนไทยทั่วๆไป ที่แม้จะมีความชอบมวยแฝงอยู่ในจิตสำนึก ต่างจำต้องหันหลังให้มวยไทย แล้วหันไปนิยมชมชอบกับกีฬา"ต่างชาติ"อื่นๆ ตามแต่รสนิยม
ไม่ใช่พวกเขาไม่รัก-ไม่ชื่นชมมวยไทย แต่เป็นเพราะ"มวยไทย"ที่ดำเนินกิจกรรมกันอยู่ทุกวันนี้ มันไม่ใช่"มวยไทย"ในอุดมคติอีกต่อไป แม้รูปลักษณ์จะไม่แตกต่าง ทว่าเนื้อหาที่เห็นและสัมผัสได้ มวยไทยหลงเหลือคุณค่าเป็นเพียง"เครื่องมือ"ในการเล่นพนันโดยถูกกฎหมายเท่านั้น!?!

ที่มา:นิตยสารมวยตู้รายสัปดาห์ ฉบับที่ 985 เขียนโดย คุณพูนเพชร เพชรใหม่




 

Create Date : 22 สิงหาคม 2548    
Last Update : 10 พฤศจิกายน 2550 17:53:13 น.
Counter : 943 Pageviews.  

1  2  

ยำขาหมูทอดกรอบ
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




RINGSIDE ZONE
Zone Of Boxing มาร์ลโบโร่ ซิปโป้ ดาวแดง กับ คู่มวยสุดมันส์
Friends' blogs
[Add ยำขาหมูทอดกรอบ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.