กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
 
 

เจ้าจอมมารดาทับทิม ในรัชกาลที่ ๕

เจ้าจอมมารดาทับทิม ป.จ. รัตนาภรณ์ ม.ป.ร. ๕ จ.ป.ร. ๒ ว.ป.ร. ๒ พระสนมเอกในรัชกาลที่ ๕ เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๙ ธันวาคม ปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๐๐ เป็นธิดาพระยาอัพภันตริกามาตย์(ดิส โรจนดิส) ขรัวยายอิ่มเป็นมารดา สกุลของท่านเป็นข้าหลวงเดิม ทั้งในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้เป็นต้นสกุลชื่อ "บุญเรือง" เป็นตำแหน่งหลวงวัง กรมการจังหวัดสวรรคโลก เมื่อสมัยกรุงธนบุรี ได้รับราชการอยู่ในบังคับบัญชาของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เมื่อก่อนเสวยราชย์ตามเสด็จทำสงครามเช่นรบพม่าเมื่อครั้งอะแซหวุ่นกี้ตีเมืองพิษณุโลกเป็นต้น มีความชอบต่อพระองค์มา ครั้นเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติปราบดาภิเศก จึงทรงนับหลวงวังบุญเรืองอยู่ในพวกซึ่งสมควจจะได้รับบำเหน็จ ทรงพระกรุณาโปรดฯตั้งให้เป็นพระจันทราทิตย์ เจ้ากรมสนมพลเรือน ปรากฎชื่อในคำปรึกษาการพูนบำเหน็จเมื่อแรกเสวยราชย์(พิมพ์ในหนังสือพงศาวดารรัชกาลที่ ๑) ต่อมาได้เลื่อนขึ้นเป็นพระยาจันทราทิตย์ในรัชกาลที่ ๑ (มีชื่อปรากฎอยู่ในหนังสือ "พระราชวิจารณ์" ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์) พระยาจันทราทิตย์(บุญเรือง)มีบุตรชื่อเลี้ยงคน ๑ คงได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กมาแต่ในรัชกาลที่ ๑ แต่ไม่ปรากฎว่าได้ยศศักดิ์อย่างใดทั้งในรัชกาลที่ ๑ และรัชกาลที่ ๒

จนถึงรัชกาลที่ ๓ จึงได้เป็นที่จมื่นอินทรประพาสในกรมวัง วังหน้า จมื่นอินทรประพาส(เลี้ยง)มีบุตรคน ๑ ชื่อ ดิส เกิดแต่ในรัชกาลที่ ๑ (คือพระยาอัพภันตริกามาตย์บิดาเจ้าจอมมารดาทับทิม) พระยาจันทราทิตย์(บุญเรือง) ผู้เป็นปู่อยู่มาจนรัชกาลที่ ๒ เมื่อพ.ศ. ๒๓๕๕ มีการพระราชทานพิธีลงสรงเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อยังเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ พระยาจันทราทิตย์นำเด็กดิสหลานชาย เวลานั้นอายุได้ ๗ ขวบถวายสมโภช จึงได้เป็นมหาดเล็กรับใช้ในพระองค์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตั้งแต่ดำรงพระยศเป็นพระราชกุมารตลอดมาจนเสวยราชย์ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๔ สกุลจึงเป็นข้าหลวงเดิมต่อมาอีกชั้น ๑ ข้อนี้เป็นมูลซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานนามสกุลว่า "โรจนดิส" คำหน้ามาแต่นามเดิมของพระยาจันทราทิตย์ และคำหลังมาแต่นามเดิมของพระยาอัพภันตริกามาตย์ โดยสกุลมาเรื่องประวัติดังกล่าวมา

เจ้าจอมมารดาทับทิมเกิดในรัชกาลที่ ๔ พออายุได้ ๖ ขวบ บิดาก็ให้เข้าไปอยู่ในพระบรมมหาราชวังกับเจ้าจอมมารดาเที่ยงพระสนมเอกซึ่งเป็นพี่คนใหญ่ เป็นเหตุให้เจ้าจอมมารดาทับทิมได้รับการอบรม และศึกษาที่ในพระบรมมหาราชวังแห่งเดียวตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ข้อนี้เป็นโอกาสดีที่สุดที่จะพึงได้เพราะในสมัยนั้นโรงเรียนสำหรับสอนเด็กผู้หญิงอย่างตั้งขึ้นเมื่อภายหลังยังไม่มี คนทั้งหลายนับถือกันมาแต่โบราณว่า การศึกษาและอบรมสำหรับเด็กผู้หญิงไม่มีที่ไหนจะดีเสมอเหมือนในพระบรมราชวัง จนมีคำภาษิตซึ่งคนทั้งหลายชอบเปรียบเมื่อสรรเสริญกิริยามารยาทหญิงสาวมักกล่าวว่า "เหมือนผู้หญิงชาววัง" ดังนี้

วิธีฝึกสอนเด็กหญิงที่ในพระบรมมหาราชวังตามแบบโบราณเดี๋ยวนี้เลิกสูญเสียนานแล้ว ตัวข้าพเจ้าผู้แต่งเรื่องประวัตินี้เคยอยู่ในพระบรมมหาราชวังตั้งแต่เกิดมาจนอายุ ๑๓ ปี เคยรู้เห็นแบบแผนประเพณีนั้นซึ่งยังใช้กันอยู่ในรัชกาลที่ ๔ สมัยเมื่อเจ้าจอมมารดาทับทิมศึกษานั้น นับเวลาล่วงมาจนบัดนี้กว่า ๖๐ ปียังจำได้อยู่บ้าง จะลองเขียนพรรณนารักษาไว้มิให้สูญไปเสีย

อันขนบธรรมเนียมฝ่ายในพระบรมมหาราชวัง กรุงรัตนโกสินทร์นี้มิได้คิดตั้งขึ้นใหม่ เอาขนบธรรมเนียมในพระราชวังครั้งกรุงศรีอยุธยามาใช้เป็นแบบแผน ถึงขนบธรรมเนียมข้างฝ่ายหน้าก็เป็นเช่นเดียวกัน ข้อนี้มีจดหมายเหตุปรากฏอยู่หลายฉบับ ว่าทั้งในสมัยกรุงธนบุรีและในรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์ ได้โปรดฯให้ข้าราชการครั้งกรุงศรีอยุธยาซึ่งยังมีตัวอยู่ประชุมกันเป็นทำนองอย่างกรมการ บอกขนบธรรมเนียมเก่าเอามาฟื้นตั้งเป็นแบบแผน จะว่าแต่เฉพาะขนบธรรมเนียมฝ่ายในพระราชวัง เมื่อตั้งกรุงรัตนโกสินทรยังมีนารีที่สูงศักดิ์เคยเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในพระราชวังกรุงศรีอยุธยาอยู่หลายคน ที่สำคัญคือเจ้าฟ้าพินทวดี พระราชธิดาพระเจ้าบรมโกษฐ์เป็นต้น เป็นผู้บอกแบบแผนขนบธรรมเนียมฝ่ายในพระบรมมหาราชวังที่ใช้เป็นตำราสืบมา หากจะมีแก้ไขบ้างในรัชกาลภายหลังก็เป็นแต่รายการ ส่วนรูปโครงการยังคงอยู่อย่างเดิม ค่อยเลื่อนมาโดยลำดับ เพราะแก้ไขขนบธรรมเนียมในราชสำนักให้เข้ากับการที่เปลี่ยนแปลงขนบธรรมเนียมบ้านเมือง จนประเพณีฝ่ายในพระบรมมหาราชวังอย่างเดิมเลิกสูญเปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่นเมื่อรัชกาลที่ ๖

ที่เรียกว่า "ผู้หญิงชาววัง"นั้น มี่จริงมีต่างกันเป็น ๓ ชั้น จะเรียกอย่างง่ายๆว่า ชั้นสูง ชั้นกลาง และชั้นต่ำ มีฐานะและโอกาสกับทั้งการศึกษาอบรมผิดกัน

ชั้นสูง คือ เจ้านายที่เป็นพระราชธิดา ประสูติและศึกษาในพระบรมมหาราชวัง เมื่อทรงพระเจริญวัยก็ได้เป็นผู้หลักผู้ใหญ่อยู่ในวัง บางพระองค์ได้พระราชทานอนุญาตให้เสด็จออกไปอยู่วังกับเจ้านายพี่น้องก็มี เจ้านายพระองค์ชายที่เป็นพระราชบุตรประสูติในพระราชวัง ก็ทรงศึกษาวิชาชั้นปฐมที่ในวังจนพระชันษา ๑๓ ขวบ โสกันต์แล้วจึงเสด็จออกไปอยู่นอกวังต่างหาก ในชั้นสูงนั้นต่อมาถึงหม่อมเจ้าอันเกิดที่ในวังพระบิดา ถ้าพระบิดาสิ้นพระชยนม์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระกรุณาโปรดฯรับเข้าไปเลี้ยงไว้ในพระราชวัง หรือมิฉะนั้นเจ้านายบางพระองค์ส่งหม่อมเจ้าโอรสธิดาที่ยังเยาว์เข้าไปศึกษาอยู่กับเจ้าพี่น้องหญิงที่ในวังแต่ในเวลาที่ดำรงพระชนม์อยู่ก็มี ถ้าเป็นหม่อมเจ้าหญิงโตขึ้นก็มักเลยรับราชการอยู่ในวัง ถ้าเป็นชายพอชันษาได้ราว ๑๐ ขวบ ก็ต้องออกไปอยู่นอกวังในพวกเจ้านายนับว่าเป็นชาววังโดยกำเนิดพวก ๑

ต่อลงมาถึงชั้นลูกผู้ดีมีตระกูล คือพวกราชินิกูลและธิดาข้าราชการเป็นต้น หม่อมราชวงศ์ก็นับอยู่ในพวกนี้ เป็นชาววังด้วยถวายตัวนับอยู่ในชั้นสูงเหมือนกัน ลักษณะการถวายตัวเป็นชาววังนั้น ถ้าผู้ปกครองสกุลปรารถนาจะให้ลูกหลานหญิงเล่าเรียนศึกษาในพระบรมมหาราชวัง ต้องหาที่สำนักหลักแหล่งฝากกับท่านผู้ใหญ่แห่งใดแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นญาติหรือเคยนับถือกันมาแต่ก่อน แล้วส่งธิดาเข้าไปอยู่กับท่านผู้เป็นเจ้าสำนักนั้นแต่ยังเป็นเด็ก เจ้าสำนักบางแห่งฝึกสอนให้เองบ้าง บางแห่งส่งไปฝากกับท่านผู้อิ่นซึ่งชำนิชำนาญการฝึกสอนบ้าง ลักษณะการฝึกสอนเด็กผู้หญิงชั้นสูงเมื่อแรกเข้าไปอยู่ในวัง เบื้องต้นฝึกหัดมารยาททั้งกิริยาวาจาและให้รู้จักสัมมาคารวะก่อน แล้วให้เรียนหนังสือหรือการเรือนอย่างที่เด็กจะทำได้(ตรงกับชั้นประถมศึกษา) รู้แล้วจึงให้เรียนชั้นสูงกว่านั้นต่อขึ้นไป(เป็นชั้นมัธยมศึกษา)คือฝึกสอนการต่างๆอย่างเดียวกับชั้นต้นแต่เป็นขั้นสูงขึ้นไป ดังเช่นการฝึกสอนกิริยามารยาทและสัมมาคารวะ ถึงตอนนี้เวลาท่านผู้สอนไปยังที่สมาคม มักให้ลูกศิษย์ถือหีบหมากตามไปด้วย เพื่อจะให้เห็นกิริยามารยาทและลักษณะการสมาคม ของท่านผู้หลักผู้ใหญ่ในกิจการต่างๆทั้งจะได้รู้จักเพื่อนเด็กลูกผู้ดีที่อยู่ในวังด้วยกัน

การเรือนก็สอนชั้นสูงขึ้นไป เช่นให้ทำเครื่องแต่งตัวได้เอง และเริ่มสอนเย็บปักถักร้อยทำกับข้าวของกิน ทั้งสอนให้รู้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาด้วย แต่การสอนหนังสือนั้น เมื่ออ่านออกเขียนได้แล้วก็เป็นยุติเพียงนั้น การศึกษาถึงขั้นกลางที่ว่ามานี้ มีข้อสำคัญอย่างหนึ่งที่เป็นเวลาท่านผู้ใหญ่ในวังพิจารณาเลือกฝึกหัดทำราชการอย่างใดโดยเฉพาะต่อไปในภายหน้า แล้วนำถวายตัวเป็นข้าราชการฝ่ายในได้รับราชการเบี้ยหวัดแต่นั้นมา ราชการอันเป็นหน้าที่ฝ่ายหน้าสำหรับชาววังที่เป็นชั้นสูงนั้น ถ้าว่าอย่างกว้างมี ๔ ประเภท คือ

๑. เรียนวิชาประเภท ๑ เช่นหัดเขียนหนังสือและเรียนอักษรศาสตร์ถึงชั้นแต่งโคลงฉันทกาพย์กลอน กระบวนช่างก็เรียนถึงชั้นฝีมืออย่างปราณีต เช่นร้อยดอกไม้สดและปักสดึง ซึ่งไม่มีที่ไหนอื่นจะทำได้งามดีเหมือนที่ในวัง การพยาบาลไข้เจ็บก็ฝึกหัดในขั้นนี้ ถ้าเป็นผู้มีอุปนิสัยชอบเรียนเลข หรือความรู้เรื่องพงศาวดารก็เริ่มเรียนในตอนนี้ เจ้านายชั้นพระราชธิดาทรงศึกษาประเถทนี้เป็นพื้น จึงมักเป็นพระอาจาริณีฝึกสอนคนชั้นหลังต่อๆกันมา

๒. เป็นนางพนักงานประเภท ๑ คือการทำงานต่างๆในราชสำนัก เช่น เป็นพนักงานพระภูษา พนักงานพระศรีเป็นต้น และมีการอย่างอื่นอีกหลายอย่าง หม่อมเจ้าและหม่อมราชวงศ์มักรับราชการในประเภทนี้ นอกจากนั้นก็เป็นผู้ดีที่เคยรับราชการแต่รัชกาลก่อนนๆมาจนอายุเป็นกลางคน ที่ยังเป็นสาวมิใคร่จะมี

๓. เป็นนางอยู่งานประเภท ๑ คือสำหรับสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้สอย เช่น เชิญเครื่องราชูปโภคตามเสด็จและผลัดเวรกันประจำอยู่บนพระราชมณเทียรคอยรับสั่งเป็นต้น ล้วนเป็นสาวทั้งนั้น

๔. เป็นมโหรี หรือหัดฟ้อนรำเป็นระบำและละคร ซึ่งเรียกกันว่า "ละคร(ฝ่าย)ใน" ประเภท ๑ ใน ๒ พวกนี้มักเลือกที่มีแววฉลาดแต่อายุยังเยาว์ เพราะเป็นการยากต้องฝึกหัดนานมากจึงจะทำได้

ราชการฝ่ายในทั้ง ๔ ประเภทที่กล่าวมา ก็เป็นประเพณีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาบางอย่าง เช่น มโหรี ระบำ และละครใน ดูเค้ามูลอาจจะเป็นวิชาได้มาจากอินเดียแต่ดึกดำบรรพ์ ที่ว่าดังนี้ เพราะเมื่อข้าพเจ้าตามเสด็จสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงไปเมืองชวาได้เห็นเจ้านครยกยาและเจ้านครโซโลรับเสด็จ ให้มีระบำนางในและละคร ซึ่งราชบุตรเล่นเป็นตัวละครรำถวายทอกพระเนตร นึกพิศวงว่าระบำและละครหลวงของชวาช่างละม้ายคล้ายคลึงกับของเราเสียจริงๆ จะว่าใครเอาอย่างใครก็ไม่มีหลักฐานที่จะคิดเห็นได้ ครั้นภายหลังข้าพเจ้ามีภาระกิจต้องคิดค้นเรื่องการขับรำของไทยแต่โบราณ จึงพบเค้าเงื่อนของมโหรีและระบำกับละครใน ซึ่งเคยมีมาในต่างสมัยเป็นชั้นๆ ดังจะเขียนเรื่องตำนานแทรกลงไว้ที่ตรงนี้

มโหรี เดิมเป็นเครื่องสำหรับขับกล่อมผู้อื่นให้สบายใจเมื่อเวลาจะนอน ดังมีคำขับในบทละครเรื่องอิเหนาตอนอุณากรรณชมสวนว่า

"พระเอยพระยอดฟ้า.............จะสนิทนิทราอยู่บนที่
ทรงสดับขับไม้มโหรี..............ซอสีส่งเสียงจำเรียงราย
เชิญพระบรรทมสถาพร..........จะกล่าวกลอนถนอมกล่อมถวาย
ให้ไพเราะเสนาะใจสบาย........พระฤาสายจงไสยา เอย"

ที่เรียก "ขับไม้" เห็นจะเป็นเครื่องขับกล่อมอย่างเดิมมีคนเสียงว่าบทกลอนเป็นลำนำ ๑ คนสีซอสามสายคน ๑ สีเพลงประสานเสียงเมื่อเวลาคนขับ และสีบรรเลงแต่โดยลำพังเสียงซอในระหว่างบทให้คนขับมีเวลาพัก(ทำนองเดียวกับขับเสภาส่งปี่พาทย์) และมีคนไกวบัณเฑาะว์ให้จังหวะอีกคน ๑ พวกขับไม้วง ๑ แต่มี ๓ คนดังว่ามา ที่เรียกว่า "มโหรี" เห็นจะแก้มาแต่ขับไม้ เพราะมีเสียงคนขับร้องเข้ากับซอสามสายเหมือนอย่างขับไม้ ผิดกันแต่คนเสียงใช้กรับพวงให้เป็นจังหวะ ไม่ต้องมีคนไกวบัณเฑาะว์ และมีเครื่องดนตรีเพิ่มขึ้น ๒ อย่าง สำหรับทำด้วยกันกับซอสามสายเวลาบรรเลงระหว่างบทขับ คือ คนดีดกระจับปี่คน ๑ คนตีทับ(มักเรียกกันว่า "โทน")คน ๑ มโหรีชั้นแรกมีวงละ ๔ คน ยังใช้ขับกล่อมกันมาจนในกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ ๑ ด้วยมีใน "เพลงยาวว่าความ"ปรากฎว่าเจ้าพระยาพระคลัง(หน)เวลานอนยังมีมโหรีขับกล่อม แต่ภายหลังมา น่าจะเป็นในรัชกาลที่ ๒ หรือที่ ๓ เอาเครื่องปี่พาทย์เพิ่มเข้าในมโหรี มีระนาดเอก ระนาดทุ้ม ฆ้องวง และรำมนาตีเข้ากับทับ ขลุ่ย(ใช้แทนปี่) และใช้ฉิ่งให้จังหวะ เสียงมโหรีดังอึกทึกกึกก้องขึ้น ก็เลิกใช้สำหรับขับกล่อม มโหรีหลวงจึงทำแต่ในงานสมโภชและพระราชพิธีต่างๆ

ระบำและละครผู้หญิงซึ่งเรียกว่า "ละครใน" นั้น หัดแต่ลูกผู้ดีที่ถวายตัวอยู่ในพระราชวังมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา สำหรับเล่นในการพระราชพิธีเช่นบวงสรวงและสมโภชเป็นต้น มีพระราชบัญญัติห้ามมิให้ผู้อื่นนอกจากพระเจ้าแผ่นดินและพระมหาอุปราชหัดระบำและละครผู้หญิง แต่คำที่เรียกชื่อว่า "ละคร" ชวนให้คนเข้าใจผิดสำคัญว่าเป็นอย่างเดียวกับละครที่ราษฎรเล่นเป็นอาชีพในพื้นเมือง จึงเพิ่มคำเรียกให้ผิดกันว่า "ละครนอก" หมายความว่าละครนอกวัง และ "ละครใน" หมายความว่าละครในวัง ที่จริงละครนอกกับละครในกระบวนเล่นเป็นคนละอย่างต่างกันที่เดียว "ละครนอก" เล่นให้คนดูสนุกสนาน แต่ละครในสำหรับเล่นในพระราชพิธีทางไสยศาสตร์ เล่นแต่เรื่องรามเกียรติ์เฉลิมเกียรติ์พระนารายณ์เรื่อง ๑ กับเรื่องมหาภารตะ(ไทยเราเรียกว่าเรื่องอุณรุธ)เฉลิมเกียรติพระอิศวรเรื่อง ๑ ทำนองเดียวกับเล่น "แสดงตำนาน"(พวกชาวอินเดียยังเล่นทั้ง ๒ เรื่องนั้นอยู่จนบัดนี้) ต่อมาในสมัยตอนปลายกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าบรมโกษฐ์โปรดเรื่องอิเหนาซึ่งได้มาจากชวา ดำรัสสั่งให้ละครในเล่นเพิ่มขึ้นสำหรับการบำเรออีกเรื่อง ๑ มีกล่าวในคำฉันท์ "บุรโณวาท" ซึ่งมหานากวัดท่าทรายแต่งในรัชกาลพระเจ้าบรมโกษฐ พรรณนาว่าด้วยการมหรสพซึ่งพระเจ้าแผ่นดินสมโภชพระพุทธบาทว่า

"ฝ่ายฟ้อนละครใน................บริรักษจักรี
โรงริมคิรีมี..........................กลลับบ่แลชาย
ล้วนสรรสกรรจ์นาง...............อรอ่อนลอออาย
ใครยลบ่อยากวาย................จิตต์เพ้อละเมอฝัน
เล่นเรื่องระเด่นได้.................บุษบาตุนาหงัน
พาพักคูหาบรร.....................พตร่วมฤดีโฉม"

ละครในเล่นแต่ ๓ เรื่องที่ว่ามาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงบำรุงวิชาฟ้อนรำ จึงทรงพระราชนิพนธ์บทและโปรดฯให้หัดละครในเล่นเรื่องต่างๆที่ "ละครนอก" เล่นเพิ่มขึ้นอีก ๖ เรื่อง

ระบำนั้นชั้นเดิมเป็นแต่การฟ้อนรำบวงสรวง หรือแสดงความโสมนัส ไม่ได้เล่นเรื่องอย่างละคร พิเคราะห์ดูอาจจะมีมาแต่สมัยเมื่อถือกันเป็นประเพณีว่า ผู้ดีทุกคนทั้งที่เป็นผู้ชายและเป็นผู้หยิงต้องหัดฟ้อนรำเป็นหลักสูตรอย่างหนึ่งในการศึกษาและมีพิธีบางอย่างซึ่งเจ้านายชายหญิง นับแต่เจ้าผู้ครองเมืองต้องออกฟ้อนรำในที่ประชุมชนให้เป็นสิริ ข้าพเจ้าได้เคยเห็นพิธีเช่นนั้นเมื่อเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในรัชกาลที่ ๕ ขึ้นไปตรวจราชการมณฑลพายัพครั้งแรกตั้งแต่ยังไม่มีทางรถไฟ ในมณฑลพายัพเขายังถือประเพณีฟ้อนรำอย่างโบราณอยู่ เมื่อข้าพเจ้าไปถึงเมืองนครลำปาง เขาจัดรับเหมือนอย่างรับเจ้าผู้ครองนครแรกเข้าเมือง คือตั้งพลับพลาแรมรับห่างจากเมืองสัก ๑๐๐ เส้น ถึงวันจะเข้าเมืองเวลาเช้าเจ้านายผู้ชายทั้งผู้ใหญ่ผู้น้อยแต่งเต็มยศ ขี่ช้างออกมาจากเมืองกับกระบวนที่จะแห่รับเข้าเมือง พวกเราก็แต่งเต็มยศคอยรับอยู่ เมื่อกระบวนแห่มาถึงใกล้ที่ตั้งพลับพลา พวกเจ้านายลงจากคอช้างแยกกันเป็น ๒ แถว มีกลดคันยาวกั้นทุกคนพากันเดินตามคนเชิญพานดอกไม้ธูปเทียนเครื่องสักการนำหน้ามา พอเข้าบริเวณพลับพลาทั้งผู้ใหญ่และผู้น้อยก็พากันฟ้อนรำเป็นคู่ๆเข้ามาหาข้าพเจ้า ดูสง่างามน่าพิศวง ผู้ที่รู้ประเพณีเขากระซิบบอกข้าพเจ้า ว่าข้าพเจ้าควรจะฟ้อนรำออกไปรับจึงจะถูกธรรมเนียม แต่ขัดข้องด้วยข้าพเจ้าไม่เคยหัดรำ นึกขวยใจไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร

ขณะนั้นพระยาทรงสุรเดช(อั้น บุนนาค)ซึ่งเป็นข้าหลวงใหญ่มณฑลพายัพอยู่ในเวลานั้น รับอาสาฟ้อนรำออกไปแทนตัวข้าพเจ้าก็เป็นแล้วกันไป ครั้นไปถึงเมืองลำพูนเข้าว่า จะจัดรับอย่างพระเวสสันดรกลับคืนเข้าเมือง คือตั้งราชวัตร ฉัตรธง และมีมหรสพรับรายทาง ได้เห็นเขาจัดเด็กผู้หญิงพวกลูกผู้ดีมายืนเรียงฟ้อนรำรับเป็นระยะไป เห็นจะหัดกันมาแต่ยังเล็กจึงรำได้งดงาม แต่ที่เมืองเชียงใหม่เวลานั้นพระเจ้าอินทรวิชานนท์เพิ่งถึงพิราลัย จัดแต่กระบวนแห่มารับมิได้มีการฟ้อนรำ ตั้งแต่ครั้งนั้นก็ไม่ได้ยินว่ามีการฟ้อนรำอย่างใหญ่รับใครอีก โดยเฉพาะเมื่อมีทางรถไฟแล้ว รถไฟเข้าถึงเมืองก็รับกันเพียงสถานี มาจนถึงรัชกาลที่ ๗ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเลียบมณฑลพายัพ พระราชชายาเจ้าดารารัศมีชักชวนเจ้านายมณฑลพายัพ ทั้งผู้ชายและผู้หญิงให้ฟ้อนรำรับเสด็จ เพื่อจะได้ทอดพระเนตรเห็นประเพณีโบราณเมื่อวันสมโภช ณ เมืองเชียงใหม่ วันนั้นมีกระบวนต่างๆของพวกชาวเชียงใหม่ทุกชาติทุกภาษาแห่นำหน้าแล้วถึงกระบวนบายศรี มีปี่พาทย์นำหน้า พวกเจ้านายผู้ชายเดินตามบายศรีที่สำหรับสมโภชสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีเจ้านครเชียงใหม่ เจ้านครน่านและเจ้านครลำพูนเป็นหัวหน้า ต่อลงมาถึงเจ้านายชั้นรอง รวมกันกว่า ๓๐ คน แล้วแต่งตัวนุ่งผ้าสมปักลายใส่เสื้อเยียรบับ คาดสำรดประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์เดินเป็นคู่ๆ อยู่ข้างหลังบายศรี

พอเข้าในบริเวณพลับพลา ก็พร้อมกันยกมือขึ้นถวายบังคม แล้วต่างรำฟ้อนตรงเข้าไปเฝ้า พระราชชายาหัดหม่อมเจ้าหญิงเล็กๆในกรมพระกำแพงเพ็ชร ซึ่งท่านเลี้ยงสองพระองค์ให้ฟ้อนออกไปรับต่างพระองค์ ถึงกระบวนบายศรีสำหรับสมโภชสมเด็จพระบรมราชินี พวกเจ้านายผู้หญิงก็เดินตามเป็นคู่ๆและฟ้อนเข้าไปเฝ้าอย่างเดียวกัน พวกคนดูทั้งไทยและฝรั่งที่ขึ้นไปจากกรุงเทพฯ และชาวเมืองนั้นก็พากันพิศวงออกปากว่าสง่างามอย่างแปลกดูน่าชมเป็นอย่างยิ่ง การฟ้อนรำอย่างใหญ่ตามประเพณีโบราณในมณฑลพายัพเห็นจะเป็นที่สุด เมื่องานสมโภชในครั้งนั้น

ที่เอาเรื่องเจ้านายฟ้อนในมณฑลพายัพมาเล่าแทรกลงตรงนี้ เพื่อจะชี้ชวนให้เห็นว่าการฟ้อนรำเช่นนั้นเป็นประเพณีของไทยมาแต่โบราณ และคงมีลงมาถึงกรุงสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยา ข้อนี้พึงเห็นได้ในหนังสือเก่ายังปรากฎว่า ผู้ดีแม้จนเจ้านายก็ชอบฟ้อนรำ เช่นในบทละครเรื่องอิเหนาตอนท้าวดาหาใช้บน เมื่อนางบุษบาเล่นธารแล้วมีบทนางบุษบาว่า

"ชวนฝูงอนงค์นางรำฟ้อน
ทอดกรกรีดกรายซ้ายขวา"

และมีบทท้าวดาหาสั่งอิเหนากับพวกเจ้าชายว่า

"จงชวนกันขับรำให้สำราญ
ทำสักการเทวาในป่าใหญ่"

บทที่ยกมากล่าวนี้ส่อให้เห็นว่า ผู้ดีทั้งชายหญิงยังหัดฟ้อนรำมาจนสมัยกรุงศรีอยุธยา เพิ่งมาหัดฟ้อนรำในหลักสูตรสาธารณะศึกษาต่อชั้นหลัง จะเป็นเมื่อใดหาทราบไม่ ถึงสมัยรัตนโกสินทร์นี้ยังฝึกหัดฟ้อนรำอยู่แต่เฉพาะวิชาบางอย่าง ส่วนผู้ชายเมื่อศึกษายุทธศาสตร์ต้องหัดรำกระบี่กระบองและศึกษาวิชาคชศาสตร์ก็ต้องหัดรำพัดชา และรำขอช้างเป็นต้น

ข้อนี้มีเกร็ดจะเล่าแทรกลงเพื่อรักษาไว้มิให้สูญไปเสีย คือ เมื่อรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงฝึกหัดรำกระบี่กระบอง เพราะชันษายังไม่ถึงขนาดที่จะทรงศึกษาวิชาคชศาสตร์ จนเสวยราชย์แล้วจึงได้ทรงศึกษาวิชานั้นต่อสมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยาบำราบปรปักษ์ ซึ่งเป็นหมอเฒ่าอาจครอบให้กรรมสิทธิ์ได้ตามตำรา เวลานั้นข้าพเจ้ายังเป็นเด็กอยู่แต่พอจำได้ว่า ปลูกโรงพิธีที่ฝึกหัดโรงคชกรรมในสนามตรงหน้าศาลาสหทัยสมาคมบัดนี้ มีม่านบังตารอบโรงพิธี ในโรงนั้นนอกจากที่บูชาเทวรูปและเครื่องใช้ในคชศาสตร์ เช่นเชือกบาศเป็นต้น ทำรูปหุ่นเท่าตัวช้างเพียงท้อง สำหรับเสด็จขึ้นประทับบนคอหัดใช้ขอบังคับช้าง และต้องทรงหัดรำจามแบบในตำราคชศาสตร์

เจ้าพี่ที่ท่านทรงพระเจริญทันได้ฝึกหัดตามเสด็จตรัสเล่าให้ฟัง ว่าในตำราคชศาสตร์มีแบบรำหลายอย่าง เป็นต้นรำพัดชา จนกระทั่งรำขอช้างเป็นกระบวนต่างๆ เช่นรำเย้ยข้าศึกเมื่อชนช้างชนะ และรำบวงสรวงเป็นต้น เมื่อทรงฝึกหัดสำเร็จแล้ว สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จขึ้นพระบาท ดูเหมือนเมื่อปีวอก ๒๔๑๕ สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยาบำราบฯ ทรงจัดกระบวนเสด็จครั้งนั้นให้สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงคอช้าง พระยาเพทราชา(เอี่ยม)เป็นครวญ เสด็จขึ้นพระพุทธบาทอย่างราชประเพณีโบราณ เมื่อเสด็จถึงลานพระพุทธบาท ต้องทรงรำขอบูชาต่อหน้าธารกำนันตามแบบ แต่ทางฝ่ายผู้หญิงยังมีประเพณีที่หัดนางในสำหรับรำฟ้อนเป็นระบำและละครใน ระบำก็เปลี่ยนแปลงให้เล่นเป็นอย่างละคร เอาเรื่องเมขลากับรามสูรในรามเกียรติ์มาประสม ระบำก็กลายเป็นละครไป(สันนิษฐานว่าตั้งแต่ในรัชกาลที่ ๒) แต่คงเรียกว่าระบำ สำหรับเล่นเบิกโรงละครใน ระบำแบบเดิมก็เลยเลิกสูญไป

มูลที่มีละครใน พิเคราะห์ดูเหมือนว่าพวกพราหมณ์จะพาตำราเข้ามาจากเมืองเขมรด้วยกันกับระบำบวงสรวง และแบบพิธีไสยศาสตร์ต่างๆ เมื่อครั้งไทยตีได้เมืองเขมรในสมัยกรุงศรีอยุธยา ข้าพเจ้าได้ไปเมืองเขมรได้สังเกตตามเทวสถาน ที่เรียกกันว่าปราสาทหินเช่นนครวัดเป็นต้น มีชาลาทำไว้สำหรับรำบวงสรวง คือ "ระบำ"ทุกแห่ง เรื่องรามเกียรติและมหาภารตะ ก็ชอบจำหลักเป็นภาพเครื่องประดับไว้ในเทวสถาน คงชอบเล่นแสดงตำนานยอพระเกียรติพระเป็นเจ้าอย่างเช่นพวกชาวอินเดียยังเล่นนั้นเนื่องๆ เมื่อไทยได้ตำราพิธีพราหมณ์มาทำตามในประเทศนี้ จึงให้หัดระบำและโขนขึ้นสำหรับเล่นเฉลิมพระเกียรติพระเป็นเจ้าให้เกิดสวัสดิมงคล เดิมหัดแต่ผู้ชายชั้นผู้ดีที่เป็นตำรวจและมหาดเล็ก ดังปรากฎในรายการพระราชพิธีอินทราภิเศกในกฎมณเฑียรบาลเก่า(โขนหลวงก็ยังเป็นมหาดเล็กอยู่จนทุกวันนี้)

ต่อมา(จะเป็นรัชกาลไหนยังค้นไม่พบหลักฐาน)จึงโปรดฯให้ถ่ายแบบโขนและระบำเข้าไปหัดนางใน เอาพิธีฟ้อนรำอย่างโบราณของไทยมาดัดแปลงใช้เป็นแบบรำระบำและละครในสำหรับเล่นในการพิธีและบำเรอในพระราชฐานสืบมา วินิจฉัยตำนานระบำละครในเห็นว่าจะเป็นดังว่ามานี้ จึงได้มีแต่ของหลวงมาจนรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯพระราชทานอนุญาตให้ผู้อื่นมีละครผู้หญิงได้ ก็มีละครและระบำผู้หญิงเล่นกันแพร่หลายสืบมา

บรรดาผู้หญิงสาววังชั้นที่ถวายตัวทำราชการ นอกจากที่เป็นเจ้าจอมมารดา พระเจ้าลูกเธอ ถ้าใครไม่สมัครจะอยู่เป็นข้าราชการฝ่ายใน แม้เป็นเจ้าจอมก็ทูลลาออกได้ตามใจสมัครไม่ห้ามปราม แต่สังเกตดูเหมือนที่ทูลลาออกจะมีน้อยและทูลลาออกเมื่อเปลี่ยนรัชกาล และมักอยู่ในชั้นที่เป็นสาว พวกที่อยู่ในวังมานานจนถึงอายุกลางคนแล้ว มักสมัครทำราชการอยู่ในวังต่อไปจนตลอดอายุ เพราะอยู่ในวังได้รับเบี้ยหวัด และมีที่อยู่เป็นสุขสบายไม่ต้องเสี่ยงภัยในความลำบากต่างๆเหมือนออกไปอยู่นอกวัง อีกประการ ๑ ตำแหน่งหน้าที่ของข้าราชการฝ่ายในก็มีหลายชั้นและหลายอย่าง แม้อายุเข้าขนาดกลางคนที่เป็นเจ้าจอม ก็รับราชการตามตำแหน่งเจ้าจอมไปจนตลอดรัชกาล

ต่อมาในรัชกาลหลังก็มักจะได้เป็นผู้หลักผู้ใหญ่อยู่ในวัง บางคนมีความสามารถรอบรู้ขนบธรรมเนียมในพระราชวังก็ได้เป็นตำแหน่ง "ท้าวนาง" เหนือนอย่างขุนนางผู้ใหญ่ฝ่ายใน ได้ว่ากล่าวชาววังและรักษาขนบธรรมเนียมในพระราชวังสืบมา ที่ไม่ได้เป็นถึงชั้นท้าวนาง ถ้าเคยเป็นเจ้าจอมมาในรัชกาลก่อนๆก็เป็น "เจ้าจอมเถ้าแก่" สำหรับฝึกหัดนางในชั้นหลัง ที่มิได้เป็นเจ้าจอมมาในรัชกาลก่อนๆก็เป็นแต่ "เถ้าแก่" สำหรับควบคุมนางในเวลาออกไปนอกวัง และเป็นผู้สั่งกิจการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้ชายข้างฝ่ายหน้า แม้ที่เป็นพนักงานต่างๆเมื่ออายุเข้าเขตชราก็อาจจะได้รับตำแหน่งเป็น "ผู้รับสั่ง" สำหรับบอกขายนราชการที่มีพระราชดำรัสสั่ง มิฉะนั้นก็คงเป็นพนักงานต่อมาจนตลอดอายุ

ส่วนเจ้าจอมมารดานั้น ถ้ามีพระเจ้าลูกเธอเป็นพระองค์ชาย เมื่อลูกเธอเสด็จออกไปอยู่วังต่างหากแล้ว ก็พระราชทานอนุญาตให้เจ้าจอมมารดาออกไปอยู่ช่วยควบคุมดูแลการรั้ววังของพระโอรสได้เป็นครั้งคราว เมื่อล่วงรัชกาลนั้นก็เลยอยู่กับพระโอรสหรือหม่อมเจ้าที่เป็นนัดดาต่อไปจนตลอดอายุ เจ้าจอมมารดาที่มีพระเจ้าลูกดเธอแต่พระองค์หญิง หรือพระเจ้าลูกเธอที่สิ้นพระชนม์เสียแต่ยังทรงพระเยาว์ ที่อยู่ในพระราชวังต่อมาจนตลอดอายุก็มี ที่ออกไปอยู่นอกวังกับญาติในเวลาเมื่อแก่ชราก็มี ถ้าอยู่ในวังถึงรัชกาลหลังๆ ได้เป็นตำแหน่งท้าวนางผู้ใหญ่ก็มี เป็นแต้เจ้าสำนักฝึกสอนพวกชาววังชั้นหลังก็มี ที่เคยเป็นละครในเมื่อก่อนเป็นเจ้าจอมมารดาก็มักเป็นอาจารินี ฝึกหัดละครหลวงรุ่นหลังรักษาวิชาฟ้อนรำสืบกันมา บางคนถึงมีชื่อเสียงเลื่องลือ เช่นเจ้าจอมมารดาแย้มอิเหนา และเจ้าจอมมารดาลูกจันทร์ นางซึ่งเคยเป็นละครเมื่อรัชกาลที่ ๒ เป็นต้น

หญิงชาววังชั้นกลางนั้นไม่ได้ถวายตัวทำราชการ มักเป็นลูกคฤหบดี ผู้ปกครองปรารถนาจะให้ได้รับความอบรมและศึกษาอย่างชาววัง จึงส่งเข้าไปถวายตัวเป็น "ข้าหลวง" อยู่กับเจ้านายพระองค์หญิง หรืออยู่กับท่านผู้หลักผู้ใหญ่ที่ในพระราชวังแต่ยังเด็ก รับใช้สอยและศึกษาอยู่จนสำเร็จการศึกษาแล้ว พอเป็นสาวก็ลากลับออกไปมีเหย้าเรือนตามฐานะของสกุล แต่บางคนชอบอยู่ในวังเลยอยู่ต่อไปจนแก่ก็มี บางทีข้าราชการที่ถวายลูกหญิงทำราชการฝ่ายในคนหนึ่งหรือสองคน แล้วส่งลูกหญิงที่เป็นน้องเข้าไปอยู่ในวังกับพี่สาว เพื่อประโยชน์การศึกษาแล้วให้กลับออกไป ไม่ถวายตัวทำราชการก็มี

ยังมีผู้หญิงชาววังอีกพวก ๑ ซึ่งควรนับว่าอยู่ในชั้นกลาง คือพวกพนักงานที่ไม่ได้ถวายตัว เช่นพวกพนักงานกลางสำหรับเชิญเครื่องเสวยจากห้องเครื่อง ขึ้นไปส่งถึงพระราชมณเฑียรเป็นต้น พวกทนายเรือนและพวกจ่าโขลนซึ่งมักขึ้นจากชาววังชั้นต่ำ(ซึ่งจะพรรณนาต่อไปข้างหน้า) เมื่ออายุเป็นกลางคน ทำราชการดีมีความสามารถก็ได้เป็นตำแหน่งนั้นๆ ได้เบี้ยหวัด นับว่าเป็นข้าราชการฝ่ายใน หน้าที่พวกทนายเรือนสำหรับนำคำสั่งกิจการไปบอกตามตำหนัก และเรือนข้าราชการฝ่ายใน และเป็นพนักงานคุมผู้ชาย เช่น หมอเป็นต้น เข้าไปในวัง(แต่เจ้านายเถ้าแก่เป็นผู้ควบคุม พวกจ่าโขลนนั้นเป็นพนักงานดูแลบังคับบัญชาพวกโขลนรักษาพระราชวัง กับทั้งผู้หญิงชาววังที่มิได้เป็นข้าราชการด้วย)

พวกชาววังชั้นต่ำนั้น พวก ๑ เรียกว่า "โขลน"เป็นลูกหมู่คนหลวง(ผู้ชายเรียกว่า "ไพร่หลวง") ตามกฎหมายเก่าเกณฑ์ให้ต้องผลัดเปลี่ยนเวลากันเข้าไปรับราชการในพระราชวังตั้งแต่รุ่นสาว(เพิ่งเลิกการเกณฑ์เปลี่ยนเป็นจ้างคนตามใจสมัคร เมื่อรัชกาลที่ ๕) มีหน้าที่สำหรับรักษาประตูวังและรับใช้ เช่นกรรมกรในการงานต่างๆ แต่จะมีลูกผัวได้ไม่ห้ามปราม อีกพวก ๑ เป็นคนรับใช้ของชั้นผู้ดีที่อยู่ในวัง พวกชั้นที่ ๓ นี้ ถ้าจะว่าเป็นชาววังก็แต่ด้วยอยู่ในวังเท่านั้น ลักษณะชาววังตามที่ข้าพเจ้าจำได้เป็นดังพรรณนามา

จะพรรณนาว่าด้วยประวัติเจ้าจอมมารดาทับทิมต่อไป แรกท่านเข้าไปอยู่ในวังเมื่ออายุได้ ๖ ขวบนั้น เจ้าจอมมารดาเที่ยงฝากให้คุณท้าววรคณานันท์(หุ่น)ฝึกสอน ด้วยท่านเคยเป็นเจ้าจอมละครในรัชกาลที่ ๒ แล้วได้เป็นผู้หลักผู้ใหญ่อยู่ในพระราชวังในรัชกาลหลังต่อๆมา และเป็นเจ้าสำนักแห่งหนึ่งซึ่งนับถือกันในสมัยนั้นว่าฝึกหัดเด็กดี การที่เจ้าจอมมารดาทับทิมไปอยู่กับคุณท้าววรคณานันท์(หุ่น)นั้น ตรงกับอย่างเป็น "ลูกศิษย์" เพราะท่านรับไปเลี้ยงดูเหมือนกับเป็นลูกของท่าน มิใช่สักแต่ว่าฝึกสอนตามเวลาอย่างเช่นครูโรงเรียน ท่านให้อยู่กินด้วยกันกับท่าน และฝึกหัดสั่งสอนตั้งแต่ชั้นต้นตามระเบียบที่กล่าวมาแล้ว แต่เจ้าจอมมารดาทับทิมได้ถวายตัวแต่ยังเป็นเด็กอยู่ในชั้นประถมศึกษา เพราะบิดาของท่านเป็นข้าหลวงเดิม และมีเหตุอีกอย่างหนึ่ง ด้วยประสบเวลาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวดำรัสสั่งให้หัดละครรุ่นเล็กขึ้นใหม่ หนุนละครชั้นใหญ่ซึ่งบกพร่องลง ด้วยเป็นเจ้าจอมมารดาไปบ้าง หรือล้มตายหายจากไปเสียบ้าง

โดยกระแสรับสั่งนั้น ท่านผู้ใหญ่ในพระราชวังและท่านอาจารินีในการฟ้อนรำ สังเกตเห็นเจ้าจอมมารดาทับทิมมีแววฉลาด จึงแนะนำให้รับราชการเป็นละครหลวง เจ้าจอมมารดาเที่ยงก็เห็นชอบด้วย เพราะน้องของท่านที่เป็นพี่เจ้าจอมมารดาทับทิม แม้ที่เป็นเจ้าจอมมารดาก็เคยรับราชการเป็นละครหลวงมาแล้วหลายคน เจ้าจอมมารดาทับทิมจึงได้ถวายตัวเป็นละครหลวงแต่ในรัชกาลที่ ๔ ข้อนี้เป็นมูลเหตุที่เจ้าจอมมารดาได้รับพระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ ม.ป.ร. เมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงสร้างขึ้นเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะท่านได้ถวายตัวเป็นข้าราชการมาแต่ในรัชกาลที่ ๔ ท่านผู้ใหญ่เลือกให้เจ้าจอมมารดาทับทิมหัดเป็นนาง ได้ขึ้นต่อเจ้าจอมมารดาลูกจันทร์รัชกาลที่ ๒ แล้วเจ้าจอมหรุ่นบุษบาในรัชกาลที่ ๔ ซึ่งเป็นหลานคุณท้าววรคณานันท์ฝึกหัดให้ต่อมา

การที่ท่านผู้ใหญ่ในวังเลือกละครหลวง จะมีตำราอย่างไรเป็นสิ่งที่สังเกตข้าพเจ้าไม่ทราบ แต่พิเคราะห์ดูที่ท่านเลือกเจ้าจอมมารดาทับทิม เมื่อยังเป็นเด็กให้เป็นละครหลวงนั้นน่าชมว่าเลือกถูก พอยุติว่าจะเป็นละคร เจ้าจอมมารดาทับทิมก็ตั้งหน้าฝึกหัดฟ้อนรำไปด้วยกันกับศึกษาวิชาชั้นมัธยมของเด็กผู้หญิงที่จะเป็นนางใน และเกิดรักวิชานาฏศาสตร์ยิ่งขึ้นโดยลำดับเมื่อละครหลวงชั้นเล็กออกโรงในตอนปลายรัชกาลที่ ๔ เจ้าจอมมารดาทับทิมได้รับความชมเชยของคนทั้งหลาย ว่ารำงามกว่าคนอื่นที่เป็นละครชั้นเดียวกันโดยมาก พอท่านอายุได้ ๑๑ ปีก็สิ้นรัชกาลที่ ๔ จึงรับราชการเป็นละครหลวงในรัชกาลที่ ๕ ต่อมา ถึงตอนรุ่นสาวนี้ฝีมือฟ้อนรำของท่านยิ่งดีหนักขึ้นจนขึ้นชื่อลือนาม ว่าเป็นนางเอกในละครหลวงสมัยนั้น แต่มาพอเป็นสาวพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงพระกรุณาโปรดฯชุบเลี้ยงเป็นเจ้าจอม

เมื่อเจ้าจอมมารดาทับทิมเป็นเจ้าจอมนั้น เจ้าจอมมารดาเที่ยงออกไปอยู่วังกรมหมื่นราชศักดิ์สโมสรแล้ว ท่านจึงให้พระองค์หญิงโสมาวดี(คือกรมหลวงสมรรัตน์ศิริเชษฐ)พระธิดาองค์ใหญ่ ซึ่งครอบครองตำหนักต่อมารับเจ้าจอมมารดาทับทิมมาจากสำนักท้าววรคณานันท์(หุ่น) และจัดเรือนในบริเวณตำหนักหลัง ๑ กับทั้งคนสำหรับใช้สอยให้ครอบครองสมกับบรรดาศักดิ์ ถึงตอนเป็นเจ้าจอมมักตามเสด็จไปบางปะอิน และตามเสด็จประพาสหัวเมืองเนื่องๆ ข้าพเจ้ายังจำได้ครั้ง ๑ เมื่อตัวข้าพเจ้าเองยังเป็นเด็กไว้ผมจุก สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จประพาสมณฑลราชบุรี ดูเหมือนเมื่อปีระกา พ.ศ. ๒๔๑๖ ทรงพระกรุณาโปรดฯให้ข้าพเจ้าได้ไปตามเสด็จด้วย เจ้าจอมมารดาทับทิมท่านดูแลให้กินอยู่ และเกล้าจุกให้ตลอดทางโดยฐานที่ท่านเป็นน้า

ครั้งนั้นเสด็จทรงเรือกำปั่นรบต่อใหม่ชื่อ "มุรธาวิสิษฐสวัสดี" ไปจากกรุงเทพฯ ทางทะเลจนถึงลำน้ำแม่กลอง แล้วทรงเสด็จโดยกระบวนเรือแจวพ่วงเรือไฟเล็ก ขึ้นไปจนถึงเมืองราชบุรี แต่นั้นเสด็จไปทางบกด้วยกระบวนช้างม้า พระเจ้าอยู่หัวทรงม้า ข้าพเจ้าขึ้นช้างไปกับกระบวนข้างใน ได้ตามเสด็จเดินทางอย่างเรียกในหนังสือโบราณว่า "ประพาสป่า" เป็นครั้งแรก เสด็จออกจากเมืองราชบุรีว้นแรกประทับแรมที่ตำบล "หนองบัวค่าย" วันที่ ๒ ประทับแรมที่ตำบล "ทับตะโก"(ในสมัยนั้นถือกันว่าเป็นที่เปลี่ยว เสือชุม ต้องกองไฟตีเกราะเคาะไม้ ล้อมวงอย่างกวดขัน) วันที่ ๓ ถึงลำน้ำไทรโยค ประทับแรมที่ "บ้านท่าตะคร้อ" อันเป็นท่าเรือ แล้วเสด็จกลับด้วยกระบวนเรือแจวแวะประพาสที่ต่างๆ ลงมาทางเมืองกาญจนบุรีจนถึงเมืองราชบุรี ดูเหมือนได้ทรงทำพิธีเปิดคลองดำเนินสะดวกด้วย ที่พรรณนาถึงเรื่องตามเสด็จคราวนั้น ด้วยข้าพเจ้าเข้าใจว่าเป็นครั้งแรกที่เจ้าจอมมารดาทับทิมได้ไปเที่ยวป่า ถึงตัวข้าพเจ้าก็เช่นนั้นเหมือนกัน อาจจะเป็นมูลที่เกิดวิสัยชอบเที่ยว ทั้งตัวท่านและข้าพเจ้าสืบมาแต่ครั้งนั้น ดังจะปรากฎในเรื่องประวัติของเจ้จอมมารดาทับทิมตอนเมื่อท่านแก่ชราและถึงอสัญกรรม

ถึง พ.ศ. ๒๔๑๙ เจ้าจอมมารดาทับทิมทรงครรภ์พระเจ้าลูกเธอ ก็ออกจากละคร สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงพระกรุณาโปรดฯ พระราชทานตำหนักเจ้านายหมู่หนึ่งให้อยู่เป็นอิสระ อย่างเจ้าจอมมารดาประสูติพระราชกุมารเป็นหัวปี เมื่อ ณ วันอังคารที่ ๗ พฤศจิกายน ปีชวด พ.ศ. ๒๔๑๙ สมเด็จพระบรมชนกนาถพระราชทานพระนามว่า พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช(คือกรมหลวงนครชัยศรีสุรเดช)พระองค์ ๑ ถึงปีเถาะ พ.ศ. ๒๔๒๒ เจ้าจอมมารดาทับทิมมีพระราชธิดา ประสูติเมื่อ ณ วันอังคารที่ ๒ ธันวาคม อีกพระองค์ ๑ สมเด็จพระบรมชนกนาถพระราชทานพระนามว่า พระองค์เจ้าประเวศวรสมัย ต่อมาถึงปีมะแม พ.ศ. ๒๔๒๖ เจ้าจอมมารดาทับทิมมีพระราชกุมารอีกพระองค์ ๑ ประสูติเมื่อ ณ วันพุธที่ ๕ ธันวาคม สมเด็จพระบรมชนกนาถพระราชทานพระนามว่า พระองค์เจ้าวุฒิชัยเฉลิมลาภ(คือกรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร) รวมพระพระเจ้าลูกเธอของเจ้าจอมมารดาทับทิมมี ๓ พระองค์ด้วยกัน

ตั้งแต่ท่านเป็นเจ้าจอมมารดาก็เปลี่ยนหน้าที่ไปรับราชการสนองพระเดชพระคุณตามตำแหน่ง แต่มีหน้าที่ซึ่งท่านถือว่าเป็นการสำคัญอย่างยิ่งเพิ่มขึ้นอีกอย่าง ๑ คือที่จะถนอมกล่อมเลี้ยงและระวังสั่งสอนพระเจ้าลูกเธอของท่านทั้ง ๓ พระองค์ เรื่องประวัติของเจ้าจอมมารดาทับทิมเมื่อเป็นเจ้าจอมมารดาตอนที่กล่าวมานี้ไม่มีอะไรแปลกถึงควรจะยกมากล่าวในที่นี้ ตัวข้าพเจ้าเองก็ออกมาทำราชการอยู่ฝ่ายหน้าแล้ว นานๆจะได้พบกับท่านโดยฉันท์ญาติสักครั้งหนึ่ง ได้ยินคนชมอยู่เสมอ ว่าท่านเป็นผู้มีอัธยาศัยดีไม่มีใครเกลียดชัง มีแต่คนชอบทั้งวัง และว่าท่านทำราชการด้วยมีความจงรักภักดีต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทมาก ข้อนี้มีหลักฐานด้วยทรงพระกรุณาโปรดฯพระราชทานเครื่องยศ ขึ้นเป็นชั้นพระสนมเอก อันสูงศักดิ์กว่าเจ้าจอมมารดาสามัญ

เจ้าจอมมารดาทับทิม รับราชการประจำอยู่ในพระบรมมหาราชวังจนกรมหลวงนครชัยศรีฯสำเร็จการที่ไปทรงศึกษาในยุโรปแล้วกลับคืนมาพระนคร สมเด็จพระบรมชนกนาถทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้สร้างวังพระราชทานที่ริมคลองผดุงกรุงเกษมตอนต่อกับปากคลองมหานาค เมื่อกรมหลวงนครชัยศรีฯแรกขึ้นวังสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เจ้าจอมมารดาทับทิมออกไปอยู่ช่วยดูแลการในวังของพระโอรสได้เป็นครั้งคราว แต่นั้นท่านก็ออกไปอยู่ที่วังกรมหลวงนครชัยศรีฯบ้าง กลับเข้ามาอยู่ตำหนักในพระบรมมหาราชวังกับพระองค์หญิงประเวศวรสมัยพระธิดาบ้าง ส่วนกรมหลวงสิงหฯ นั้นยังเสด็จไปเรียนวิชาการทหารเรืออยู่ในยุโรป ครั้นสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงย้ายพรระราชสำนักเสด็จประทับที่พระราชวังดุสิต ท่านจึงอยู่ประจำที่วังกรมหลวงนครชัยศรีฯ เข้าไปในวังแต่เวลามีการงาน หรือไปเยี่ยมเยือนพระองค์หญิงประเวศวรสมัยเป็นครั้งเป็นคราว

ครั้นกรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกรทรงสำเร็จการศึกษากลับมา สมเด็จพระบรมชนกนาถทรงพระกรุณาโปรดฯให้สร้างวังอีกวัง ๑ ติดกับวังกรมหลวงนครชัยศรีฯ พระราชทานกรมหลวงสิงหฯ เจ้าจอมมารดาทับทิมก็อยู่ที่วังกรมหลวงนครชัยศรีฯบ้าง ไปอยู่วังกับกรมหลวงสิงหฯบ้าง ครั้นกรมหลวงนครชัยศรีฯ สิ่นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๖ พระองค์หญิงประเวศวรสมัยได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ออกมาประทับอยู่วังกรมหลวงสิงหฯ พระโอรสและพระธิดาทั้ง ๒ พระองค์นั้นกับทั้งหม่อมเจ้าหญิงวิมลปัทมราช ธิดาองค์ใหญ่ของกรมหลวงนครชัยศรีฯ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงดำรัสเรียกว่า "หญิงทับทิม" ซึ่งคุณย่าเลี้ยงติดตัวมาแต่เล็ก ช่วยกันอุปถากท่านมาด้วยกันกับหม่อมเจ้าที่เป็นสุนิสาและเป็นโอรสธิดาในกรมหลวงนครชัยศรีฯ และในกรมหลวงสิงหฯ ซึ่งเจริญวัยสำเร็จการเล่าเรียนเพิ่มขึ้นเป็นลำดับมา ให้ท่านอยู่เย็นเป็นสุขสบายจนตลอดชีวิต

ตอนนี้จะกล่าวถึงวัตรปฏิบัติของเจ้าจอมมารดาทับทิมเมื่อออกมาอยู่วังพระราชโอรสธิดา หรือถ้าว่าอีกอย่างหนึ่งคือในสมัยเมื่อท่านมีอายุย่างเข้าเขตเป็นกลางคน เมื่อตอนแรกกรมหลวงนครชัยศรีฯออกวัง ท่านเอาเป็นธุรพดูแลการรั้ววังให้ทุกอย่าง จนเมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงพระกรุณาฯดำรัสของหม่อมเจ้าหญิงประวาสสวัสดี ในกรมขุนทิพยลาภพฤฒิธาดา พระราชทานเป็นชายากรมหลวงนครชัยศรีฯแล้ว แต่นั้นท่านก็ค่อยปลดเปลื้องการรั้ววังให้หม่อมเจ้าหญิงประวาศฯเป็นผู้ว่ากล่าวมาโดยลำดับ จนเห็นว่าการรั้ววังเรียบร้อยและมีความสมัครสโมสรดีได้ดังใจหวัง ท่านก็ปล่อยการงานให้หมด เป็นแต่ไปมาเยี่ยมเยือน หรือไปช่วยรักษาพยาบาลในเวลาประชวรหรือมีหม่อมเจ้าคลอดใหม่ หาได้เกี่ยวข้องด้วยการปกครองวังไม่ ยิ่งกิจการต่างๆอันเนื่องกับหน้าที่ราชการของกรมหลวงนครชัยศรีฯด้วยแล้ว ท่านหลีกออกห่างไม่เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยทีเดียว

ภายหลังเมื่อกรมหลวงสิงฯขึ้นวัง ท่านก็ประพฤติเช่นเดียวกันกับพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ เมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงพระกรุณาดำรัสขอหม่อมเจ้าหญิงพร้อมเพราพรรณธิดาของข้าพเจ้าพระราชทานเป็นชายาของกรมหลวงสิงหฯ ท่านก็ค่อยมอบการงานรั้ววังให้หม่อมเจ้าหญิงพร้อมเพราพรรณมาโดยลำดับเช่นนั้น จนสามารถเป็นแม่เรือนได้

มีเรื่องเนื่องกับประวัติเจ้าจอมมารดาทับทิมเกี่ยวมาถึงตัวข้าพเจ้าในตอนนี้ ซึ่งทำให้เสียใจครั้ง ๑ และให้เบาใจครั้ง ๑ จะเขียนแทรกลงไว้ด้วย คือกรมหลวงนครชันศรีฯทรงศึกษาวิชาทหารบกมาจากยุโรปพอเข้ารับราชการในกระทรวงกลาโหมก็ปรากฏพระสติปัญญาสามารถ โปรดให้จัดการแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบการทหารบกหลายอย่าง พระหฤทัยของกรมหลวงนครชันศรีฯไปหมกหมุ่นอยู่แต่ในราชการ ไม่นำพาต่อการที่จะบำรุงรักษาพระองค์เองหมายแต่จะทำราชการให้สำเร็จเป็นประมาณ เช่นวันไหนมีการงานมากก็ไม่เสวยกลางวันให้เสียเวลาทำงาน หรือเสวยแต่ของแสดงเป็นเครื่องว่างพอแก้หิว เป็นเช่นนั้นมาจนเกิดอาการประชวรขึ้น

เจ้าจอมมารดาทับทิมสังเกตเห็นว่าเป็นเพราะทำงานเกินพระกำลัง ว่ากล่าวตักเตือนกรมหลวงนครชัยศรีฯก็ไม่ฟัง ท่านจึงเข้าไปกราบทูลร้องทุกข์ต่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง มีรับสั่งให้หาข้าพเจ้าไปเฝ้า ดำรัสว่า "นางทิมมาร้องทุกข์ว่าจิระเอาแต่ทำงาน ไม่เป็นอันจะกินอยู่ จนมีอาการเจ็บป่วยเกิดขึ้น ห้ามก็ไม่ฟัง เธอลองไปว่ากล่าวกับจิระดูสักทีเป็นไร" พอออกจากเฝ้า ข้าพเจ้าก็เลยไปวังกรมหลวงนครชัยศรีฯ เวลานั้นกำลังประชวรอยู่ ข้าพเจ้าบอกให้ทราบกระแสรับสั่ง เธอก็ไม่โต้แย้งอย่างไร แต่ต่อมาพอหายประชวรก็กลับไปทำงานทรมานพระองค์เช่นนั้นอีก จนเลยเกิดโรคภายในประจำพระองค์ออกไปรักษาถึงยุโรปก็ไม่หาย เพราะรักษาช้าเกินไปเสียแล้วจึงสิ้นพระชนม์ยังไม่ทันแก่ เรื่องนี้นึกขึ้นมาเมื่อไรข้าพเจ้ายังเสียใจ ถ้ากรมหลวงนครชัยศรีฯ เชื่อฟังเจ้าจอมมารดาเสียแต่แรกก็อาจจะเสด็จอยู่มาได้จนบัดนี้

เรื่องที่ท่านทำให้ข้าพเจ้าเบาใจนั้นเมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงดำรัสขอลูกหญิงพร้อมเพราพรรณให้เป็นชายากรมหลวงสิงหฯ ครั้งนั้นเป็นครั้งแรกที่ธิดาข้าพเจาจะไปออกเรือน ประจวบเวลาเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์(ช่ม อภัยวงศ์) เมื่อยังเป็นพระยาคทาธรธรณินทร์เข้ามากรุงเทพฯ ท่านก็เพิ่งแต่งงานธิดาของท่านเป็นคนแรกมาไม่ช้านัก ข้าพเจ้าจึงถามท่านว่าแต่งงานลูกชายกับแต่งงานลูกสาวรู้สึกผิดกันอย่างไรบ้าง เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์บอกว่ารู้สึกผิดกันมาก แต่งงานลูกชายไม่มีความวิตก แต่แต่งงานลูกหญิงนั้นเกิดวิตกมาก เพราะเกรงว่าถ้าหากไปมีเหตุเกิดแตกร้าวไม่เป็นสามัคคีกับสกุลของผัว เป็นผู้หญิงเสียเปรียบ ท่านวิตกอยู่กว่าปี จนเห็นว่าผัวเมียผูกสมัครรักใคร่กันดี และผู้ใหญ่ในสกุลผัวก็ไม่รังเกียจจึงสิ้นวิตก ท่านบอกให้ทราบดังนี้ เมื่อแรกพระราชทานหญิงพร้อมเพราพรรณข้าพเจ้าก็ออกวิตกอยู่บ้าง ต่อเมื่อเห็นเจ้าจอมมารดาทับทิมท่านอารีรักใคร่ ทั้งโดยที่เป็นสุนิสาและเป็นหลานย่าอย่างสนิทสนม กรมหลวงสิงหฯกับหญิงพร้อมฯก็ถูกอัชฌาศัยรักใคร่กันสนิท จึงเบาใจสิ้นวิตก ไม่ต้องรอถึงปีเหมือนเจ้าพระยาอภับภูเบศร์

เมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จสวรรคต เจ้าจอมมารดาทับทิมอายุได้ ๕๓ ปี ถึงเวลานั้นพระโอรสธิดาของท่านตั้งพระองค์เป็นหลักฐานแล้วทั้ง ๓ พระองค์ ท่านสิ้นความห่วงใยก็บำเพ็ญวัตรปฏิบัติหาความสุขตามสมควรแก่ฐานะของผู้มีบรรดาศักดิ์เมื่ออายุเข้าเขตเป็นคนแก่ชรา คือ ฟังเทศน์ ทำบุญ ให้ทาน และมีแปลกเฉพาะตัวท่านอย่าง ๑ ที่ชอบไปเที่ยวตามหัวเมือง จึงเห็นว่าการเที่ยวนั้นจะเป็นความนิยมติดใจมาตั้งแต่ตามเสด็จเมื่อยังเป็นเจ้าจอมดังกล่าวมาแล้ว การฟังเทศน์ท่านชอบปฏิภาณของพระอุบาลีคุณูปมาจารย์(จันทร์)วัดบรมนิวาส เป็นเหตุให้เกิดพรหมวิหารทั้ง ๔ คือ ความเมตตา กรุณา มุทิต อุเบกขา ถึงถือเป็นวิหารธรรมของตัวท่านต่อมาจนตลอดชีวิตและชอบสร้างหนังสือเทศนาพรหมวิหารถวายไปตามวัด สำหรับพระจะได้เทศน์สอนมหาชน หนังสือนั้นท่านสร้างคราวละหลายๆจบ ครั้งสุดท้ายท่านสร้างสำเร็จพอทันท่านได้จบมืออุทิศเมื่อก่อนถึงอสัญกรรมไม่กี่วันกันความเลื่อมใสที่กล่าวมาเป็นเหตุให้ท่านช่วยบำรุงวัดบรมนิวาสกับทั้งพระสงฆ์ในวัดนั้นยิ่งกว่าวัดอื่น ถึงสร้างกุฏิที่สำนักเจ้าอาวาสถวายวัดบรมนิวาสหลัง ๑ ขนานนามว่า "กุฏิปัทมราช" และได้สร้างกุฏิถวายวัดตามหัวเมืองมีหลายแห่ง

นอกจากนั้นท่านชอบช่วยสงเคราะห์ผู้จะบวชเรียน บางรายเจ้านาคอัตคัดขัดสน ท่านรับเป็นเจ้าภาพก็มีเนื่องๆและอุปการะต่อไปจนถึงส่งอาหารบิณฑบาตรเลี้ยงด้วย ทำบุญอย่างนี้แทบทุกปี ทางฝ่ายฆราวาสนอกจากบริจาคทานสงเคราะห์คนที่ตกทุกข์ได้ยาก ท่านชอบเกื้อกูลญาติและมิตรด้วยประการต่างๆ แม้จนผู้เป็นแขก เมื่อมีใครไปหาท่าน หรือแม้ข้าราชการที่มีกิจธุระไปเฝ้าพระราชโอรสของท่านๆพบปะก็ทักทายปราศัยแสดงไมตรีจิตโดยฐานที่เป็นผู้ใหญ่ แม้ใครไปใกล้เวลาอาหารท่านก็ชอบหาอาหารเลี้ยง เพราะฉะนั้นคนทั้งหลายที่ได้รู้จักกับท่าน โดยเฉพาะพวกข้าราชการทั้งทหารและพลเรือนจึงพากันเคารพนับถือ บางคนก็พาครอบครัวไปหาให้ท่านรู้จัก เวลามีการงานอย่างใดที่วังก็พร้อมใจกันไปช่วย ข้างฝ่ายตัวท่านถ้าเขามีการงานก็ช่วยเหลือตอบแทนตามกำลัง ไม่เอาเปรียบผู้อื่นแต่ฝ่ายเดียว ลักษณะการเลี้ยงของท่านยังมีอีกอย่างหนึ่ง สำหรับญาติมิตรและมิตรีที่เป็นเจ้านายหรือบุคคลสูงศักดิ์ เวลาเมื่อท่านคิดถึงคนไหนเมื่อใด ก็มักทำของกินที่มีโอชารสเฉพาะสิ่งส่งไปให้ ของกินที่ท่านชอบทำส่งไปนั้น ขนมปั้นสิบฝีมือของท่านถึงเลื่องลือว่าไม่มีใครทำสู้ได้ ข้าพเจ้าอาจรับรองว่าจริง ด้วยเคยได้กินเนืองๆ

เรื่องที่เจ้าจอมมารดาทับทิมชอบแปรสถานไปเที่ยวตามหัวเมืองนั้น มีเหตุอย่าง ๑ นอกจากที่ท่านชอบการเที่ยวเตร่มาแต่ยังเป็นเจ้าจอม คือเมื่อท่านแก่ตัวลงถ้าอยู่แต่กับเรือนนานๆมักมีอาการคล้ายกับจะเจ็บป่วย ถ้าได้แปรสถานไปที่อื่นชั่วคราวก็กลับฟื้นมีความสบาย เพราะเหตุนั้นเมื่อใดพระโอรสธิดาทรงสังเกตเห็นว่า เจ้าจอมมารดามีอาการไม่สบายเป็นปกติ แม้ตัวท่านยังมิได้ออกปาก ก็ชวนให้ท่านแปรสถานไปเที่ยวเตร่ และทรงขวนขวายจัดหาพาหนะให้ท่านไป บางคราวพระโอรสธิดาก็เสด็จไปด้วย บางคราวท่านก็ไปแต่กับหลานตามลำลองของท่านเพราะพวกข้าราชการตามหัวเมือง ซึ่งเคารพนับถือท่านมากเขารับอุปการะทุกหนทุกแห่งไม่มีความลำบาก ท่านได้ไปเที่ยวถึงเมืองไทรโยคถึง ๔ ครั้ง

นอกจากนั้นมักชอบเที่ยวแต่ในมณฑลอยุธยากับที่ในแขวงจังหวัดราชบุรี แต่ชอบไปพักอยู่ที่บริเวณพระราชวังบางปะอินมากกว่าแห่งอื่น เพราะไปมาง่ายและท่านชอบไปทางเรือยิ่งกว่าไปทางบก ลักษณะการไปเที่ยวของท่านนั้น ถ้ามิใช่ไปทางไกลเช่นไปไทรโยค ถึงที่ไหนที่ท่านเห็นสบาย เช่นที่บางปะอิน ก็มักจอดพักอยู่ที่นั้นนานๆลงเรือเล็กไปตามทุ่งเที่ยวเก็บผักน้ำต่างๆ หรือมิฉะนั้นไปเที่ยวซื้อหาเครื่องอาหารตามบ้านราษฎรมาทำครัวเลี้ยงพวกบริวาร เวลาพักอยู่ใกล้วัดก็ชอบไปทำบุญและฟังเทศน์ ไม่ยอมให้ใครรับรองอย่างเป็นทางราชการ ถ้าว่าโดยย่อก็คือชอบเที่ยวอย่างคนแก่ แต่คงไปเที่ยวปีละหนหนึ่งหรือมากกว่านั้นเป็นนิจ

ทางฝ่ายชายทะเล ท่านก็ชอบไปที่เมืองสมุทรปราการ และไปที่ตำบลหนองแกต่อหัวหินลงไปข้างใต้ ด้วยกรมหลวงสิงฯมีสวนและสร้างตำหนักที่พักไว้ที่นั้น ถึงฤดูร้องท่านมักแปรสถานลงไปพักอยู่ที่หนองแกด้วยกันกับพระองค์หญิงประเวศฯและกรมหลวงสิงห์ฯคราวละนานๆแทนทุกปี แม้ที่สุดพระองค์หญิงประเวศฯกับกรมหลวงสิงหฯเสด็จออกมาพักรักษาพระองค์อยู่ ณ เมืองปีนัง ท่านคิดถึงก็ยอมทนความลำบากที่ต้องทางไกลในรถไฟ อุตส่าห์มาเยี่ยมพระธิดาและพระโอรส เป็นครั้งแรกที่ท่านออกนอกอาณาเขตประเทศสยาม เมื่ออายุใกล้จะถึง ๘๐ ปีอยู่แล้ว แต่เมื่อมาถึงเมืองปีนังท่านก็ชอบ ชมว่าอากาศดีเลยพักอยู่ที่พระตำหนักพระองค์หญิงประเวศฯถึง ๑๓ เดือน ตัวท่านเองก็สำราญอนามัยเป็นสุขสบายตลอดเวลาที่มาอยู่นั้น

ครั้นถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๘ มีกิจธุระเกิดขึ้นทางกรุงเทพฯ ที่ท่านจำจะต้องไปจัดทำเอง จึงกลับไปจากเมืองปีนัง เมื่อเสร็จธุระนั้นแล้วก็ลงมือเตรียมการจะทำบุญฉลองอายุของท่านครบ ๘๐ ปี การนั้นท่านไม่พอใจจะทำที่ในกรุงเทพฯให้เอิกเกริก แต่ก่อนมาท่านได้รับไว้กับพระพรหมมุนี(อ้วน)วัดบรมนิวาส ซึ่งเป็นเจ้าคณะสงฆ์มณฑลอีสาน ว่าจะสร้างสำนักวิปัสนาธุระที่ในวัดสุปัฏน์ ณ เมืองอุบล จึงปรารถว่าจะไปทำบุญฉลองอายุที่เมืองอุบล แต่ยังไม่ทันถึงกำหนดงาน ท่านรู้สึกว่ามีอาการทุพพลภาพเกิดขึ้นในตัวของท่านยิ่งกว่าแต่ก่อน เกรงว่ากำลังจะทนลำบากไปรถไฟทางไกลไม่ไหวเสียแล้ว ก็เลิกความคิดที่จะไปทำบุญฉลองอายุ ณ เมืองอุบล เปลี่ยนเป็นบริจาคทรัพย์ตามจำนวนที่กะไว้ ขอให้พระพรหมมุนีช่วยอำนวยการให้สมดังเจตนาของท่าน

ความทุพพลภาพที่ท่านรู้สึกมีหนักขึ้นนั้น ที่จริงคือโรคชรา อันเป็นเหตุให้ท่านถึงอสัญกรรมนั้นมาถึงตัว ท่านก็มีอาการป่วยลงในไม่ช้า หมอก็รู้ดีว่ายากที่กลับฟื้นดีได้ แต่ท่านเจ้าจอมมารดาทับทิมท่านใคร่จะแปรสถานที่ไปรักษาตัวที่บางปะอิน ผู้รักษาพยาบาลเห็นว่าโรคของท่านร้ายยิ่งกว่าป่วยครั้งก่อนๆ เกรงว่าถ้าท่านแปรสถานจะเร่งให้โรคกำเริบมากขึ้น แต่ก็ทัดทานท่านไม่ฟังจะไปให้ได้ ท่านได้ลงเรือไปในวันที่ ๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๐

พระองค์เจ้าหญิงประเวศฯ และกรมหลวงสิงหฯทรงทราบก็รีบเสด็จกลับจากปีนัง เสด็จตามไปที่บางปะอินในวันที่ ๑๒ มีนาคมนั้น พอไปถึงประจวบกับอาการท่านเกิดมากเสียแล้ว ได้ทรงทาบทามถึงการที่จะกลับกรุงเทพฯ แต่ท่านไม่ยอมกลับ จึงทรงดำริว่าท่านกำลังเบิกบาน ในการที่ท่านได้มาพักอยู่ที่บางปะอิน ถ้าจะเชิญท่านกลับ ท่านก็คงจะโทมนัสขัดแค้นก็ยิ่งซ้ำร้ายกลายเป็นเพิ่มความทุกข์เวทนาให้มากขึ้น ยอมให้ท่านพักอยู่บางปะอิน ท่านชื่นบานหายกลัดกลุ้ม ถึงกับสามารถเป็ยธุระสั่งการเลี้ยงดูญาติและมิตรซึ่งขึ้นไปเยี่ยมเยือนได้ แต่อาการป่วยแม้ดูเหมือนค่อยคลายขึ้น แต่ไม่ช้าก็กลับทรุดลงเป็นลำดับมา ที่ไปรักษาตัวอยู่บางปะอินได้ ๗๙ วัน ถึงวันอังคารที่ ๒๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ เวลา ๑๗ นาฬิกา กับ ๕ นาที เจ้าจอมมารดาทับทิมก็ถึงอสัญกรรม คำนวนอายุได้ ๘๒ ปี (หรือ ๘๑ ปี ตามทางสุริยคติกาล) เชิญศพลงมายังวังกรมหลวงสิงหฯในวันนั้น รุ่งขึ้นวันที่ ๒๕ ทำพิธีรดน้ำศพได้พระราชทานโกศประกอบลองไม้สิบสองเป็นเกียรติยศพิเศษ นอกจากนั้นเครื่องศพเสมออย่างเจ้าจอมมารดาพระสนมเอก ตั้งศพประดิษฐานไว้บนตำหนักใหญ่ที่วังกรมหลวงสิงหฯ จนกว่าจะถึงงานพระราชทานเพลิงตามประเพณี

ในเรื่องประวัติเจ้าจอมมารดาทับทิมมีความบางข้อ ซึ่งสมควรจะยกเป็นทัศนอุทาหรณ์ ดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ

๑. ท่านเป็นผู้ได้รับความอบรมและการศึกษาของชาววังอย่างโบราณ ผู้หญิงที่ได้ศึกษาเช่นท่านยังเหลือน้อยตัวแล้ว ท่านผู้อ่านหนังสือนี้ที่เป็นบุคคลชั้นหลัง แต่ได้รู้จักและเคยคุ้นกับเจ้าจอมมารดาทับทิมมีมาก จะเห็นตัวอย่างได้ในอัธยาศัยและกิริยามารยาทของเจ้าจอมมารดาทับทิม ว่าการฝึกสอนที่ในพระบรมมหาราชวังตามแบบโบราณ สามารถจะอบรมให้ดีได้เพียงใด

๒. ในพระบาลีได้กล่าวไว้ว่า มารดาเป็นครูคนแรกของบุตรและธิดา ความหมายว่าเมื่อบุตรธิดาเติบใหญ่ขึ้นจะดีหรือจะชั่ว มารดาย่อมมีส่วนรับผิดชอบว่าเลี้ยงลูกดีหรือไม่ดี ความรับผิดชอบข้อนี้เป็นสามัญแก่ผู้เป็นมารดาทั่วไป เจ้าจอมมารดาทับทิมมีพระเจ้าลูกเธอ ๓ พระองค์ ท่านอุตส่าห์ถนอมกล่อมเลี้ยงและระวังสั่งสอนมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์จนทรงพระเจริญ แต่คุณวิเศษของท่านในการเลี้ยงพระโอรสธิดา เพิ่งมาปรากฎแก่ตาคนทั้งหลายในสมัยเมื่อท่านออกมาอยู่นอกวังกับพระโอรสทั้ง ๒ พระองค์ ว่าท่านประพฤติต่อพระโอรสธิดาน่าสรรเสริญ เช่นตอนแรกพระโอรสขึ้นวังใหม่ท่านดูแลว่ากล่าวการรั้ววังทุกอย่าง แต่เมื่อพระโอรสมีพระชายาแล้ว ท่านก็ตั้งต้นถอนตัวค่อยสละการรั้ววังให้พระโอรสกับชายาช่วยกันปกครอง จนเห็นว่าสามารถจะปกครองได้เองแล้วท่านก็ปล่อยให้เป็นอิสระ ดังพรรณนามาแล้วในเรื่องประวัติ ข้อนี้ควรนับว่าท่านเป็นตัวอย่างมารดาที่ดีด้วยอีกสถาน ๑

๓. การที่เจ้าจอมมารดาทับทิมเลื่อมใสในพรหมวิหารธรรมสังวรความเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เป็นวิหารธรรมของท่านนั้น พิเคราะห์ดูเหมือนจะมีในอุปนิสัยของท่านมาแต่เดิม จึงปรากฎว่าเมื่อท่านอยู่ในวังหามีผู้ใดเกลียดชังไม่ ครั้นออกมานอกวังมีโอกาสได้ฟังพระธรรมเทศนาเนืองๆก็เกิดศรัทธาเลื่อมใสในพระธรรมหมวดพรหมวิหารจนถึงถือเป็นหลักในวัตรปฏิบัติของท่านข้อนี้เองเป็นเหตุให้มีคนเคารพนับถือท่านมากมาตลอดอายุ แม้จนเมื่อถึงอสัญกรรมแล้ว ข้าพเจ้าอยู่ไกลได้ยินว่ามีคนที่ระลึกถึงคุณและที่เคารพนับถือท่านพากันไปช่วยงานหน้าศพเป็นอันมาก ทั้งเมื่อทำบุญ ๗ วัน ๕๐ วัน และ ๑๐๐ วัน อันนี้เป็นผลของพรหมวิหารที่ท่านสังวรมาแต่หนหลัง ควรนับว่าท่านเป็นตัวอย่างดีในธรรมจารินีด้วยอีกสถาน ๑

สิ้นเรื่องประวัติ เจ้าจอมมารดาทับทิม รัชกาลที่ ๕ เพียงเท่านี้




 

Create Date : 16 มีนาคม 2550   
Last Update : 16 มีนาคม 2550 11:09:07 น.   
Counter : 4340 Pageviews.  


เจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร (ม.ร.ว.คลี่ สุทัศน์)

พระมหามงกุฎเป็นเครื่องหมายของราชาธิปไตย
พระมหามงกุฎสง่างามด้วยประดับเพชรนิลจินดาอันมีค่าฉันใด
ข้าราชการที่อุตส่าห์ช่วยกันทะนุบำรุงบ้านเมืองให้มีความเจริญสุข
ก็เปรียบเหมือนเพชรนิลเครื่องประดับพระมหามงกุฎฉันนั้น


พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว




....................................................................................................................................................


เจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร (ม.ร.ว. คลี่ สุทัศน์)


เจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร นามเดิม คลี่ เป็นหม่อมราชวงศ์ บุตรหม่อมเจ้าจินดา ในกรมหมื่นไกรสรวิชิต พระเจ้าบรมวงศ์เธอรัชกาลที่ ๑ ในรัชกาลที่ ๔ เป็นมหาดเล็ก รับราชการในกรมธรรมการ ครั้นมาในรัชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๖ โปรดฯให้เป็นพระวุฒิการบดี ศรีวิสุทธิสาสนวโรประการ จางวางกรมพระธรรมการ ครั้น พ.ศ. ๒๔๓๑ โปรดฯเลื่อนเป็นพระยาในนามเดิม ครั้น พ.ศ. ๒๔๔๗ โปรดฯให้เป็นเจ้าพระยา เมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน มีสำเนาที่ประกาศตั้งดังนี้


ทรงพระราชดำริว่า พระยาวุฒิการบดีได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กมาแต่ในรัชกาลที่ ๔ ภายหลังได้รับราชการเป็นผู้ช่วยในกรมสังฆการี ครั้นรัชกาลปัตยุบันนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เป็นอธิบดีกรมสังฆการีและธรรมการสืบมา จนได้เป็นปลัดทูลฉลองเมื่อตั้งเป็นกระทรวง จนได้เป็นเสนาบดี รอบรู้ราชการในหน้าที่เก่าใหม่เป็นอันมาก อีกส่วนหนึ่งนั้นได้รับราชการเป็นอุปนายกในรัฐมนตรี จนเป็นผู้รั้งตำแหน่งสภานายก เป็นองคมนตรี ได้รับหน้าที่เป็นกรรมการศาลฎีกาอยู่ช้านาน เจริยวัยวุฒิปรีชาสามารอบรู้ในราชกิจใหญ่น้อย และมีความจงรักภักดีต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท สมควรจะได้รับสุพรรณบัฏเป็นเจ้าพระยาผู้หนึ่งได้

จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้สถาปนาพระยาวุฒิการบดี ศรีวิสุทธิสาสนวโรประการ ขึ้นเป็นเจ้าพระยา มีสมญาจารึกในสุพรรณบัฏว่า เจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร ศุภนัยนิติธารี ศรีวิสุทธิสาสนวโรประการ บรมนฤบาลสวามิภักดิ์ สุขุมศักดิสมบูรณ์ สุนทรพจน์พิจิตร ราชกิจจานุกิจโกศล พหลกัลยาณวัตร ศรีรัตนสรณาภรณ์ สถาวรเมตตาธยาศรัย อภัยพิริยบรากรมพาหุ คชนาม ถือศักดินา ๑๐,๐๐๐ จงเจริญทฤฆชนมายุ พรรณ สุข สิรริสวัสดิพิพัฒนมงคล ธนสารสมบัติ บริวารสมบูรณ์ทุกประการ เทอญฯ


บุตรของท่าน คือ พระพุฒิพงศ์พัฒนากร(เจริญ สุทัศน์) หลวงวินิจวิทยาการ(วัฒนา สุทัศน์) เป็นต้น
เจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร(ม.ร.ว. คลี่ สุทัศน์) ถึงอสัญกรรม เมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน ปีฉลู พ.ศ. ๒๔๕๖ อายุ ๖๙ ปี






ประวัติ
เจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร
(ม.ร.ว. คลี่ สุทัศน์)


เจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร เกิดเมื่อ ณ วันจันทร์ แรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๙ ปีเถาะเบญจศก จุลศักราช ๑๒๐๕ พ.ศ. ๒๓๘๖ เป็นบุตรหม่อมเจ้าจินดา ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๑ พระองค์เจ้าสุทัศน์ ซึ่งได้ทรงพระสุพรรณบัฏเป็นกรมหมื่นไกรสรวิชิต และได้ทรงบัญชาการกรมสังฆการีและธรรมการเมื่อในรัชกาลที่ ๓ เจ้าจอมมารดาของกรมหมื่นไกรสรวิชิต ชื่อ เจ้าจอมมารดากลิ่น เป็นธิดาพระยาพัทลุง(ขุน) หรืออีกนัย ๑ ว่า พระยาพัทลุงคางเหล็ก ซึ่งเป็นข้าหลวงเดิมในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ญาติวงศ์ของงเจ้าจอมมารดากลิ่นรัชกาลที่ ๑ ได้รับราชการทั้งฝ่ายหน้าฝ่ายในหลายคน ผู้ซึ่งควรจะยกนามมากล่าวในที่นี้ คือ พระยาพัทลุง(ทองขาว) บุตรพระยาพัทลุง(ขุน) และพระยาพัทลุง(ทับ) บุตรพระยาพัทลุง(ทองขาว)

พระยาพัทลุง(ทองขาว) เมื่อถวายตัวรับราชการอยู่ในกรุงเทพฯได้ภรรยาเนื่องในราชินิกูลของสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี ด้วยเหตุนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงนับว่า ตระกูลของเจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกรเป็นพระประยูรญาติข้างฝ่ายสมเด็จพระบรมราชชนนีด้วยอีกส่วน ๑ ได้เคยมีรับสั่งเล่าว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จลงไปเมืองสงขลา พระยาพัทลุง(ทับ)มาเฝ้า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีรับสั่งให้พระองค์ทรงเคารพต่อพระยาพัทลุง(ทับ) โดยฉันท์ที่เป็นญาติข้างฝ่ายสมเด็จพระชนนี

ส่วนหม่อมราชวงศ์ซึ่งเป็นนัดดากรมหมื่นไกรสรวิชิตนั้น ได้รับราชการมีตำแหน่งมาแต่ในรัชกาลที่ ๔ รัชกาลที่ ๕ จนถึงรัชกาลปัจจุบัน(๑)หลายคน ควรจะยกนามมากล่าวในส่วนบุตรหม่อมเจ้าจินดา คือ หม่อมราชวงศ์หรั่ง ได้เป็นที่พระทิพกำแหงสงคราม ปลัดเมืองพัทลุงคน ๑ หม่อมราชวงศ์เขียว ได้เป็นที่หลวงธรรมการานุวัตร์ในกระทรวงธรรมการคง ๑ หม่อมราชวงศ์ท้วมคน ๑ ทั้ง ๓ คนนี้ได้รับราชการในกรมทหารมหาดเล็กมาก่อน แต่หม่อมราชวงศ์ท้วมได้เป็นเพียงนายสิบเอก หาทันได้รับพระราชทานสัญญาบัตรไม่ หม่อมราชวงศ์ลบเป็นคนเล็ก ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในรัชกาลที่ ๕ ได้มียศตั้งแต่นายขันหุ้มแพรโดยลำดับขึ้นมาจนได้เป็นเจ้าพระยาอภัยราชามหายุติธรรมธร เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม อยู่ในทุกวันนี้ ก็เป็นน้องเจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร

หม่อมเจ้าอลงกรณ์ น้องหม่อมเจ้าจินดา มีบุตรทำราชการอยู่ในตำแหน่งสูงเวลานี้ ๒ คน คือ มหาเสวกตรี พระยาศรีวรวงศ์(ม.ร.ว. จิตร)ม.ส.ม. , ท.จ.ว. ผู้บัญชาการโรงเรียนข้าราชการพลเรือนในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู๋หัวคน ๑ นายพลโท พระยาสุรินทราชา(ม.ร.ว.สิทธิ)ม.ส.ม. , ม.จ. เป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ตอยู่ในเวลานี้คน ๑ จะเห็นได้โดยบัญชีว่า เชื้อพระวงศ์กรมหมื่นไกรสรวิชิต แม้มีบางคนที่ไม่ได้รับราชการ แต่ที่ได้รับราชการตำแหน่งสูงมีหลายคน นับเจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร เป็นหัวหน้าในตระกูลนั้น

เจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร เดิมชื่อ หม่อมราชวงศ์พรรณราย แล้วจึงเปลี่ยนเป็นชื่อ คลี่ เหตุใดจึงเปลี่ยนข้าพเจ้าไม่ทราบ ท่านจดไว้ในหัวข้อประวัติของท่านแต่เท่านั้น เมื่ออุปสมบท กรมสมเด็จพระปวเรศวริยาลงกรณ์ เป็นพระอุปัชฌาจารย์ แต่บวชอยู่วัดสระเกศ ด้วยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรับสั่งว่า ในวงศ์ของเจ้าพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นไกรสรวิชิต เคยบวชในฝ่ายมหานิกายมาแต่เดิม แม้กรมหมื่นไกรสรวิชิต เมื่อทรงผนวชก็เสด็จอยู่วัดสระเกศ เชื้อวงศ์ควรจะบวชให้ตรงตามลัทธิของเทือกเถาที่มีมา ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนมาบวชเป็นธรรมยุติ

ประวัติของเจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกรในส่วนราชการนั้น ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในรัชกาลที่ ๔ เมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๔๐๗ ตั้งแต่ถวายตัวแล้ว ก็ได้ช่วยหม่อมจินดาผู้บิดารับราชการในกรมสังฆการีธรรมการมาแต่เดิม จึงได้เป็นผู้ชำนาญราชการในกรมทั้ง ๒ นั้น เมื่อพระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๓ กรมหมื่นอุดมรัตนราษี ซึ่งได้ทรงบัญชาการกรมสังฆการีธรรมการในรัชกาลที่ ๔ สิ้นพระชนม์แล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาบำราบปรปักษ์ ทรงกำกับการสังฆการีธรรมการ

สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาบำราบปรปักษ์ ทรงพระกรุณาเจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร จึงทรงใช้สอยในราชการกรมสังฆการีธรรมการต่างพระองค์ ถึงกราบบังคมทูลข้อราชการสังฆการีและธรรมการ แด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และรับรับสั่งในราชการนั้นได้ตังแต่ยังเป็นหม่อมราชวงศ์คลี่มหาดเล็กตลอดมาจนถึงรัชกาลที่ ๕

ด้วยเหตุนี้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานสัญญาบัตรเมื่อปีระกา พ.ศ. ๒๔๑๖ ทีแรกก็ได้เป็นพระวุฒิการบดี ศรีวิสุทธิสาสนวโรประการ จางวางกรมธรรมการสังฆการี และต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯเลื่อนขึ้นเป็นพระยา ได้รับพระราชทานพานทองเป็นเกียรติยศ

เมื่อปีฉลู พ.ศ. ๒๔๓๒ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้รวมกรมธรรมการสังฆการี กรมศึกษาธิการและกรมพยาบาลเข้าเป็นกระทรวงธรรมการ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ข้าพเจ้าเป็นผู้บัญชาการกระทรวงนี้เป็นคนแรก เจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร แต่ยังเป็นพระยาวุฒิการบดี จึงมารับราชการที่ปลัดทูลฉลองรองตัวข้าพเจ้า เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ข้าพเจ้าเชิญพระราชหัตถเลขาออกไปรับเสด็จพระเจ้านิโคลาศที่ ๒ เอมเปอเรอรูเซีย แต่ยังเป็นซารวิชถึงที่เมืองสิงคโปร์ เจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกรก็ได้ออกไปด้วย การที่ไปครั้งนี้เป็นคราวแรกและคราวเดียวที่ท่านได้ออกไปถึงเมืองนอกพระราชอาณาจักร ที่ข้าพเจ้านำข้อความข้อมากล่าว ผู้อ่านโดยมากที่มิได้รู้จัดคุ้นเคยกับตัวท่านเจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกรในครั้งนั้น อาจจะเข้าใจว่าข้าพเจ้าเอาข้อความเล็กน้อยที่ไม่มีสาระมากล่าว แต่ที่จริงมีเหตุที่ควรจะกล่าวไว้ให้ปรากฏ

ด้วยเมื่อก่อนจะตั้งกระทรวงธรรมการนั้น เจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกรมีอาการเจ็บป่วย ออกจะทอดธุระว่ามีความพิการอยู่ในร่างกาย เมื่อรวมกรมธรรมการสังฆการีเข้ามาสมทบในกระทรวงธรรมการ ท่านเป็นผู้ที่ได้บัญชาการเป็นอิสระมาแต่ก่อน ที่ต้องมาเป็นที่ ๒ รองตัวข้าพเจ้าผู้เยาว์อายุและมีความรู้ในทางสังฆการีธรรมการน้อยกว่าท่านเป็นอันมาก หรือยังไม่รู้ทีเดียวก็ว่าได้ ถ้าท่านเป็นผู้มีอัธยาศัยอย่างอื่นดูก็อาจจัรู้สึกโทมนัส แต่ความจริงมิได้เป็นเช่นนั้น ท่านเห็นแก่ประโยชน์ราชการเป็นสำคัญยิ่งกว่าในส่วนตัว แต่บางทีจะเป็นด้วยความนับถือว่า ข้าพเจ้าเป็นพระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วย ท่านจึงตั้งใจอุปการะชี้แจงราชการซึ่งท่านชำนาญมาแต่ก่อน แก่ข้าพเจ้าโดยมิได้ปิดบังอย่างหนึ่งอย่างใด ข้าพเจ้าอยากให้ท่านได้เห็นการอย่างใหม่ ซึ่งเกี่ยวเนื่องด้วยต่างประเทศ จึงได้ชวนท่านไปราชการถึงเมืองสิงคโปร์ด้วยในครั้งนั้น ท่านก็เต็มใจไป แม้ต้องทนความลำบากก็มิได้ย่อท้อ มีผลจนสละความที่ท่านคิดว่าจะเป็นคนพิการมาได้แต่ครั้งนั้น

เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ข้าพเจ้าออกไปราชการประเทศยุโรปเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๔ ท่านได้บัญชาการกระทรวงแทนข้าพเจ้าจนตลอดเวลาข้าพเจ้ากลับมา แลคงเป็นปลัดทูลฉลองอยู่ตลอดเวลาเจ้าพระยาภาสกรวงศ์เป็นเสนาบดีกระทรวงธรรมการ เมื่อเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ออกจากตำแหน่งนั้นแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ท่านเป็นเสนาบดีกระทรงธรรมการ แต่ยังเป็นพระยาวุฒิการบดี ได้รับพระราชทานเกียรติยศและเครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างๆอย่างสูงในรัชกาลที่ ๕ คือ ได้เป็นองคมนตรี รัฐมนตรี เป็นกรมการศาลฎีกา และได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ช้างเผือกชั้นที่ ๑ มหาวราภรณ์มงกุฎสยามชั้นที่ ๑ มหาสุราภรณ์ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ และเหรียญรัตนาภรณ์ชั้นที่ ๒ เหรียญดุษฎีมาลา เข็มราชการแผ่นดิน และเหรียญจักรพรรดิมาลาเป็นเกียรติยศ

ครั้น ณ ปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๔๗ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯสถาปนาเกียรติยศท่านขึ้นเป็นเจ้าพระยา มีเนื้อความตามประกาศพระราชโองการว่า


ศุภมัสดุ พระพุทธสาสนกาลเป็นอดีตถาคล่วงแล้ว ๒๔๔๗ พรรษา ปัตยุบันกาลจันทคตินิยม นาคสังวัจฉร กติกมาศ สุกรปักษ์ ตติยดิถี ครุวาร สุริยคติกาล รัตนโกสินทรศก ๑๒๓ พฤศจิกายนมาศ ทศมมาสาหคุณพิเศษ ปริเฉทกาลกำหนด

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพยมหามงกุฎ บุรุษยรัตนราชรวิวงษ์ วรุตมพงษ์บริพัตร วรขัติยราชนิกโรดม จาตุรัตนบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ ฯลฯ ปรมินทรธรรมิกมหาราชาธิราช บรมนารถบพิตร พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ทรงพระราชดำริว่า พระยาวุธิการบดีได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กมาแต่ในรัชกาลที่ ๔ ภายหลังได้รับราชการเป็นผู้ช่วยในกรมสังฆการี ครั้นรัชกาลปัตยุบันนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เป็นอธิบดีกรมสังฆการีและธรรมการสืบมา จนได้เป็นปลัดทูลฉลองเมื่อตั้งเป็นกระทรวง จนได้เป็นเสนาบดี รอบรู้ราชการในหน้าที่เก่าใหม่เป็นอันมาก อีกส่วนหนึ่งนั้น ได้รับราชการเป็นอุปนายกในรัฐมนตรี จนเป็นผู้รั้งตำแหน่งสภานายก เป็นองคมนตรี ได้รับหน้าที่เป็นกรมการศาลฎีกาอยู่ช้านาน เจริญวัยวุฒิปรีชาสามารถรอบรู้ในราชกิจใหญ่น้อย และมีความจงรักภักดีต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท สมควรจะได้รับสุพรรณบัฏฎเป็นเจ้าพระยาผู้หนึ่งได้

จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้สถาปนา พระยาวุฒิการบดี ศรีวิสุทธิสาสนวโรประการ ขึ้นเป็นเจ้าพระยา มีสมญาจารึกในสุพรรณบัฏว่า "เจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร ศุภไนยนิติธารี ศรีวิสุทธิสาสนวโรประการ บรมนฤบาลสวามิภักดิ์ สุขุมศักดิสมบูรณ์ สุนทรพจนพิจิต ราชกิจจานุกิจโกศล พหลกัลยาณวัตร ศรีรัตนสรณาภรณ์ สถาวรเมตตาธยาไศรย อภัยพิริยบรากรมพาหุ คชนาม" ถือศักดินา ๑๐๐๐๐ จงเจริญทฤฆชนมายุ พรรณศุขศิริสวัสดิ พิพัฒนมงคล ธนสารสมบัติ บริวารสมบูรณ์ทุกประการ เทอญ

ดังนี้ และได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยภรณ์ปฐมจุลจอมเกล้าในเวลาต่อมาในปีนั้นด้วย

เจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร ยังได้รับพระราชทานเกียรติยศพิเศษอีกอย่าง ๑ เมื่อในรัชกาลที่ ๕ ซึ่งสมควรจะจดลงไว้ ด้วยไม่ปรากฏว่าข้าราชการคนใดได้เคยรับพระราชทานเกียรติยศอย่างนั้นมาแต่ก่อน คือ เมื่อปีระกา พ.ศ. ๒๔๕๒ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงบำเพ็ญพระราชกุสศลในเวลาพระชนมพรรษาเสมอด้วยสมเด็จพระอัยกาธิราช พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบรมวงศานุวงศ์ประชุมพร้อมกันที่พระที่นั่งราชฤดี ณ สวนดุสิต ในอภิลักขิตสมัยนี้เมื่อ ณ วันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ เพื่อถวายดอกไม่ธูปเทียนเครื่องสักการะแก่พระบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าแม้นเขียน พระเจ้าลูกเธอของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่งยังมีพระชนม์เหลืออยู่แต่พระองค์เดียวในเวลานั้น เมื่อถวายดอกไม้ธูปเทียนพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าแม้นเขียนแล้ว พระบรมวงศ์พระองค์ใดที่นับชั้นและมีพระชันษาสูงกว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็พระราชทานดอกไม้ธูปเทียนเครื่องสักการะแก่พระองค์นั้น

ส่วนพระบรมวงศ์ที่อยู่ในชั้นและพระชันษาอ่อนกว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ถวายดอกไม้ธูปเทียนแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้นเมื่อเสร็จการถวายดอกไม้ธูปเทียนแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งให้หาเจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกรเข้าไปหน้าพระที่นั่ง แล้วมีรับสั่งว่า "พี่คลี่อายุแก่กว่าฉัน ควรจะได้รับดอกไม้ธูปเทียน" ดังนี้ แล้วก็พระราชทานเครื่องสักการแก่เจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร มีขุนนางคนเดียวที่ปรากฏมาว่า ได้รับพระราชทานเกียรติยศทรงยกย่องอย่างนี้

ราชการอันนับเป็นหน้าที่พิเศษ เจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกรได้ทำในรัชกาลที่ ๕ ซึ่งควรจะยกขึ้นกล่าวโดยเฉพาะมีอยู่อย่าง ๑ คือ ที่ได้รับหน้าที่แรกนาขวัญอยู่ ๓ ปี การแรกนาขวัญนี้เป็นประเพณีโบราณต้นตำรามาแต่มัธยมประเทศ เมื่อถึงต้นฤดูทำนา เวลาได้ศุภฤกษ์ พระเจ้าแผ่นดินเสด็จลงทรงไถนาขวัญเป็นสัญญาณ ให้ราษฎรในประเทศนั้นๆลงมือทำนา ประเพณีที่พระเจ้าแผ่นดินเสด็จลงทรงแรกนาเองวนั้นเห็นจะเลิกมาเสียช้านานแล้ว แม้ในตำราที่ปรากฏในสยามประเทศนี้แต่โบราณ ก็ว่าเป็นหน้าที่ของเจ้าพระยาจันทกุมาร เป็นผู้แรกนาขวัญต่างพระองค์พระเจ้าแผ่นดิน มาในชั้นหลังเมื่อไม่มีตำแหน่งเจ้าพระยาจันทรกุมาร หน้าที่ตกแก่เจ้าพระยาพลเทพที่จะแรกนาขวัญต่างพระองค์

จนถึงรัชกาลที่ ๔ ตั้งแต่ข้าพเจ้าจำความได้ เห็นเจ้าพระยาภูธราภัยที่สมุหนายก เป็นผู้แรกนาขวัญต่างพระองค์ทุกปีมา ได้ยินผู้หลักผู้ใหญ่เล่าให้ฟังว่า เกิดฝนแล้งติดๆกันหลายปี พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงเลือกให้เจ้าพระยาภูธราภัยเป็นผู้แรกนาขวัญ ด้วยทรงพระราชดำริว่า ตระกูลของท่านเป็นตระกูลพราหมณ์มาแต่ครั้งกรุงเก่า เมื่อเจ้าพระยาภูธราภัยอสัญกรรม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระยาสีหราชฤทธิไกร(แย้ม) แต่ยังเป็นพระยาอภัยรณฤทธิ ซึ่งเป็นบุตรเจ้าพระยาภูธราภัยรับหน้าที่เป็นพระยาแรกนาต่อมา จนเจ้าพระยาภาสกรวงศ์(พร บุนนาค)เป็นเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ หน้าที่แรกนานี้กลับมาเป็นหน้าที่เสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการตลอดมา จึงถึงเมื่อเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์เป็นเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ ก็ได้แรกนาขวัญอยู่ตามตำแหน่ง

ครั้นเมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๔๘ ปีวอก พ.ศ. ๒๔๕๑ และปีระกา พ.ศ. ๒๔๕๒ เจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ป่วย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเลือกให้ เจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกรเป็นพระยาแรกนาขวัญ การซึ่งได้ตำแหน่งพระยาแรกนาขวัญเช่นนี้ ไม่เป็นหน้าที่ซึ่งนำความยินดีมาให้แต่ฝ่ายเดียว เพราะถ้าฝนแล้ง ผู้แรกนามักถูกและเคยถูกราษฎรชาวนาติโทษต่างๆ พระยาแรกนาต้องรับผิดชอบอย่างนี้ตั้งแต่รัชกาลก่อนๆมา จนเข้าใจกันดี เมื่อถึงเวลาจะแรกนา ผู้ใดเป็นพระยาแรกนาขวัญต้องขวนขวายไปบูชา และขอพรต่อววัตถุและผู้ซึ่งตนนับถือ เพื่อจะให้เกิดผลไพบูลย์แก่การไร่นาตลอดปีนั้น เจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกรนับได้ว่า เป็นผู้เคราะห์ดีในหน้าที่ที่กล่าวมานี้ผู้ ๑ ด้วยทุกๆปีที่ท่านเป็นพระยาแรกนา เป็นปีที่ไม่ขาดแคลนในการไร่นาเลยสักปีเดียว

เจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร รับราชการสนองพระเดชพระคุณในตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงธรรมการมาตลอดรัชกาลที่ ๕ ครั้นถึงรัชกาลปัจจุบันนี้ ได้รับพระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์รัชกาลที่ ๖ ชั้นที่ ๒ เป็นเกียรติยศอย่าง ๑ แต่ท่านมีความชราทุพพลภาพโรคภัยเบียดเบียนเนืองๆ ไม่สามารถรับราชการตามตำแหน่งได้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ท่านออกจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงธรรมการ รับพระราชทานเบี้ยบำนาญเต็มตามบรรดาศักดิ์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๕๔

แต่ถึงท่านชราทุพพลภาพมากแล้วเช่นนั้น เวลามีการงานในพระราชฐานที่นับว่าเป็นการสำคัญ ท่านก็ยังอุตส่าหะเข้าไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท แม้เพียงครู่หนึ่งยามหนึ่งตามกำลังที่สามารถจะทำได้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบันนี้ ทรงประจักษ์แจ้งความจงรักภักดีของเจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกรซึ่งได้มีต่อพระองค์ ตั้งแต่ยังไม่ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติอยู่แล้ว ครั้นมาทอดพระเนตรเห็นความพยายามด้วยความจงรักภักดีของท่านในเวลาเมื่อชราทุพพลภาพ ดังกล่าวมานี้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาถรณ์ช้างเผือกมหาปรมาภรณ์ แก่เจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร เมื่อ ณ วันที่ ๑๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๕ เป็นเกียรติยศอย่างสูง ซึ่งมีแต่ตัวท่านผู้เดียวในบรรดาข้าราชการ ซึ่งได้รับพระราชทาน

เจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร ป่วยเป็นโรคชรา ประกอบด้วยวักกะพิการ อาการทรุดลงโดยลำดับ ถึงอสัญกรรมเมื่อ ณ วันที่ ๑๙ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๖ เวลาเช้า ๕ โมง ๑๐ นาที คำนวนอายุได้ ๖๙ ปีกับ ๗ เดือน ๑๙ วัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปพระราชทานน้ำรกศพ และพระราชทานเกียรติยศในการศพ คือ มีแตรสังข์ จ่าปี่ จ่ากลอง และพระราชทานโกศมณฑปทรงศพ อย่างเสนาบดีชั้นสูง ด้วยทรงอนุสรณ์คำนึงถึงชาติสกุล และความชอบความดีของท่านที่ได้มีมาแต่ก่อนดังกล่าวมาแล้ว

ในที่สุดแห่งประวัติของเจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร ซึ่งข้าพเจ้าได้พรรณนามานี้ จะขอกล่าวความเพิ่มเติมลงไว้สักหน่อย ในเวลานี้ผู้ที่คุ้นเคยชอบอัธยาศัยกับเจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกรก็ยังมีมากทั้งพระและคฤหัสถ์ ข้าพเจ้าเชื่อว่าจะไม่มีผู้ใดคัดค้านคุณสมบัติของเจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร ซึ่งข้าพเจ้าจะกล่าวต่อไปนี้ เหตุด้วยได้ทราบอยู่ด้วยกันแต่คนชั้นเล็กหรือต่อไปภายหน้าผูที่ไม่รู้จักท่าน ได้เห็นหนังสือเรื่องนี้จะมิได้ทราบคุณสมบัติของท่านนอกจากที่กล่าวไว้ในทางราชการ จึงจะกล่าวความเพิ่มเติมลงไว้ คือ

เจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร นี้ เป็นผู้ที่มีอัธยาศัยโอบอ้อมกว้างขวาง ผู้คนชอบพอมาก ทั้งพระและคฤหัสถ์ นับว่าท่านเป็นผู้มีมิตรสหายมากอย่างยิ่งคน ๑ ในยุคของท่าน ข้อนี้ความจริงจะว่ายุคเดียวก็ยังคลาด ถ้าจะให้ถูกต้องว่าถึง ๓ ชั่วคน เพราะท่านทำราชการมาแต่ในรัชกาลที่ ๔ เป็นคนกว้างขวางมาตั้งแต่ยังเป็นหม่อมราชวงศ์คลี่ ท่านมีวาจาเป็นคุณสมบัติอย่างสำคัญ กล่าวคือ รู้จักที่จะพูดไม่ให้ขวางหูผู้หนึ่งผู้ใด คุณสมบัติข้อนี้บางคนเข้าใจไปว่า อัธยาศัยของท่านเป็นผู้พอใจจะยกยอผู้อื่น ข้าพเจ้าขอยืนยันว่าไม่จริงอย่างเข้าใจนั้นเลยเป็นอันขาด

ข้าพเจ้าเองตั้งแต่ได้ร่วมราชการมากับท่าน ก็ได้รักชอบกันสนิทสนมตลอดมา ได้สนทนากันหนหลังที่สุด เมื่อก่อนท่านจะถึงอสัญกรรมเพียง ๒ วัน เพราะฉะนั้นถ้าจะตั้งว่าเป็นผู้รู้อัธยาศัยเจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกรก็เห็นจะพอได้ เจ้าพระยาอภัยราชามหายุติธรรมธรผู้เป็นน้องชายของท่าน เมื่อพูดกันถึงเรื่องนี้ความเห็นเป็นอย่างเดียวกับข้าพเจ้า จริงอยู่เจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกรไม่พอใจจะใช้วาจาอันเป็นเครื่องรำคาญหูแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ซึ่งนับว่าเป็นคุณสมบัติของท่าน แต่ถ้าผู้ใดดูหมิ่นก็อาจจะโต้ตอบได้ถึงแต้ม ไม่ว่ายศศักดิ์ต่ำและสูง แต่ถ้าผู้ใดที่เป็นมิตรสหายรักใคร่กับท่าน หรือเจ้านายที่ท่านนับถือ ท่านถือเอาแต่การที่เป็นประโยชน์แก่ผู้นั้นๆเป็นประมาณ พูดจาว่ากล่าวและตักเตือนแต่ด้วยน้ำใจที่รัก คำพูดจะถูกใจหรือมิถูกใจประการใดท่านไม่ได้ถือเอาความประสงค์แต่จะพูดให้ถูกหูเป็นประมาณนั้นเลยเป็นอันขาด

ตั้งแต่ข้าพเจ้ารับราชการในกระทรวงเดียวกันมาตลอดจนสิ้นอายุของท่าน ข้าพเจ้าได้เคยรับคำตักเตือนซึ่งรู้สึกว่า ด้วยความที่ท่านรักใคร่ นับครั้งไม่ถ้วน ผู้อื่นที่ท่านรักใคร่เช่นข้าพเจ้า หรือยิ่งกว่าข้าพเจ้า เข้าใจว่าในเวลานี้คงจะยังมีมากอยู่ด้วยกัน เชื่อว่าคงจะเคยได้รับคำตักเตือนของท่านทำนองเดียวกัน และรู้สึกอย่างเดียวกันกับข้าพเจ้าว่า ได้เคยมีกัลยาณมิตรมาในเจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกรนี้คน ๑ ซึ่งจะหาให้เสมอเหมือนได้ด้วยยาก



....................................................................................................................................................

(๑) รัชกาลที่ ๖




คัดจากหนังสือ "คนดีที่ข้าพเจ้ารู้จัก"
พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร กรมพระยาดำรงราชานุภาพ



เจ้าพระยาวิชตวงศ์วุฒิไกรในคลังกระทู้




 

Create Date : 15 มีนาคม 2550   
Last Update : 16 มีนาคม 2550 16:57:41 น.   
Counter : 3439 Pageviews.  


สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงกุณฑลทิพยวดี

พระมหามงกุฎเป็นเครื่องหมายของราชาธิปไตย
พระมหามงกุฎสง่างามด้วยประดับเพชรนิลจินดาอันมีค่าฉันใด
ข้าราชการที่อุตส่าห์ช่วยกันทะนุบำรุงบ้านเมืองให้มีความเจริญสุข
ก็เปรียบเหมือนเพชรนิลเครื่องประดับพระมหามงกุฎฉันนั้น


พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว




....................................................................................................................................................


คัดจาก
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ (ภาคต้น) พระประวัติและงานสำคัญ
เรียบเรียงโดย นายณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม
องค์การค้าของคุรุสภา พิมพ์ครั้งที่หนึ่ง พ.ศ. ๒๕๑๔



บทที่ ๑
สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงกุณฑลทิพยวดี



อรุโณไทย, อภัยทัศ, ฉัตร, ไกรสร
สุริวงษ์, สุริยา, ดารากร
ศะศิธร, คันธรศ, วาสุกรี
สุทัศน์, อุบล, มณฑา
ดวงสุดา, ดวงจันทร์, มณีศรี
ธิดา, จงกล, ฉิมพลี
กษัตรีย์, กุณฑล, สุภาภรณ์ ฯ(๑)




๑. ความเบื้องต้น

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงกุณฑลทิพยวดีเป็นพระมารดา ในบทแรกนี้จึงเห็นสมควรจะได้กล่าวถึงพระประวัติของสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงกุณฑลทิพยวดี พระมารดาของพระองค์ท่านตามสมควรเป็นเบื้องต้น

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์นี้ เป็นพระมหาจินตกวีของชาติไทย ได้ทรงพระราชนิพนธ์วรรณคดีของชาติไทยไว้หลายเรื่อง เช่น พระราชนิพนธ์เรื่องอิเหนา รามเกียรติ์ เป็นต้น แต่ในเรื่องงานพระราชนิพนธ์นั้น ได้มีผู้กล่าวถึงและเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วโดยทั่วกัน ข้าพเจ้าจึงเห็นว่าควรจะกล่าวถึงพระประวัติของพระมเหสีของพระองค์ท่าน ซึ่งเป็นพระชนนีของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์ เพราะเราทราบกันไม่แพร่หลายนัก

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๒ มีพระอัครมเหสี คือ สมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ และมีพระมเหสีที่ทรงพระอิสริยยศสูงยิ่งอีกพระองค์หนึ่ง คือ สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงกุณฑลทิพยวดี ถ้าจะเปรียบว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงเป็นอิเหนาในพระราชนิพนธ์ของพระองคืเอง สมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ก็ทรงเป็นนางจินตหรา เพราะเหตุที่ทรงเป็นพระประยูรญาติเรียงพี่เรียงน้อง และทรงสนิทเสน่หาอย่างยิ่งมาก่อน ส่วนสมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีก็อาจเปรียบกับบุษบา เพราะเพิ่งได้ยลพระโฉมอันโสภาคย์ภายหลัง ดังที่อิเหนาเพิ่งได้ยลโฉมบุษบา


๒. พระนามเดิม พระองค์เจ้าจันทบุรี

สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงกุณฑลทิพยวดี เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกร่วมพระชนกเดียวกันกับพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ส่วนพระมารดาของสมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีนั้น คือ เจ้าจอมมารดาทองสุก ราชธิดาพระเจ้าอินทวงศ์แห่งนครเวียงจันทน์ แห่งราชอาณาจักรลาวทุกวันนี้

พระองค์ประสูติเมื่อ ปีมะเมีย พ.ศ. ๒๓๔๑ พระนามเดิม พระองค์เจ้าจันทบุรี เมื่อพระชนมายุได้ ๕ พรรษา เจ้าจอมมารดาทองสุกก็ถึงแก่กรรม เมื่อประมาณ ปีกุนเบญจศก พ.ศ. ๒๓๔๖


๓. ทรงสถาปนาเป็นเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี

ต่อมาสมเด็จพระบรมชนกนารถ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงสถาปนาพระองค์เจ้าจันทบุรีขึ้นเป็นเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี เมื่อ พ.ศ. ๒๓๔๗ เพราะเป็นพระนัดดาของพระเจ้านครเวียงจันทน์ ความปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ ว่า

"ครั้นถึง ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๑๑ ขึ้น ๑๔ ค่ำ เสด็จพระราชดำเนินลงไปทรงลอยพระประทีป พระเจ้าลูกเธอพระองค์หญิงพระองค์หนึ่ง ปรากฏพระนามว่า พระองค์เจ้าจันทบุรี พระชนม์ได้ ๖ พรรษา ตามเสด็จลงไปที่พระตำหนักแพ เมื่อเวลาจุดดอกไม้ รับสั่งว่าประชวรพระเนตรอยู่ ให้กลับขึ้นไปพระราชวังเสียก่อน พระองค์เจ้าหญิงนั้นก็เสด็จกลับขึ้นมาถึงเรือบัลลังก์กับตำหนักแพต่อกัน พลาดตกลงน้ำหายไป พี่เลี้ยงนางนมร้องอื้ออึงขึ้น คนทั้งปวงตกใจพากันลงน้ำเที่ยวค้นหา จึงพบพระองค์เจ้าลูกเธอพระองค์นั้นเกาะทุ่นหยวกอยู่ท้ายน้ำ หาได้เป็นอันตรายไม่ เป็นอัศจรรย์ จึงมีพระราชโองการดำรัสว่า พระเจ้าลูกเธอพระองค์นี้ เจ้าจอมมารดาก็เป็นบุตรเจ้ากรุงศรีสัตนาคนะหุต สิ้นชีพเสียแต่เมื่อปีกุนเบญจศก(๒) แต่พระชนม์พระองคืเจ้าได้ ๕ พรรษา ไม่มีมารดา ทรงพระกรุณามาก พระองค์เจ้านี้อัยกาก็เป็นเจ้าประเทศราชยังดำรงชีพอยู่ ควรจะสถาปนาให้มีอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้า ครั้น ณ วันอาทิตย์ เดือน ๑๒ ขึ้น ๒ ค่ำ จึงโปรดให้ตั้งการพระราชพิธีเฉลิมพระนาม ครั้นรุ่งขึ้น ณ วันจันทร์ เดือน ๑๒ ขึ้น ๓ ค่ำ พระราชทานพระสุพรรณบัฏ เลื่อนขึ้นเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี แล้วมีงานสมโภชอีก ๓ วัน"

ในปีนั้น(๓) เจ้านครศรีสัตนาคนะหุตล้านช้าง ชื่อเจ้าอินทวงศ์ ซึ่งเป็นอัยกาของสมเด็จพระเจ้าลุกเธอเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีป่วยถึงแก่พิราลัย ณ เดือน ๓ ขึ้น ๘ ค่ำ ครองเมืองได้ ๑๐ ปี โปรดให้ข้าหลวงเชิญศุภอักษรและพระราชทานโกศและสิ่งของพระราชทานเพลิงขึ้นไปปลงศพเสร็จแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดตั้งเจ้าอนุผู้น้อง ให้ครองนครศรีสัตนาคนะหุตล้านช้างต่อไป

ในจดหมายเหตุความทรงจำซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงสมเด็จพระปิยมหาราช ทรงสันนิษฐานว่า เป็นจดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี(พระองค์เจ้ากุ) มีข้อความกล่าวถึงสมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีว่า

" ณ วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีชวดฉศก พระองคืเจ้าพระชันษา ๗ ขวบ ตามเสด็จลงที่นั่งบัลลังก์ตกหว่างเรือไม่จมลอยพระองค์ได้ โปรดประทานพระนามใหม่ สมโภชเจ้าฟ้ากุณฑล ๓ วัน เฉลิมพระขวัญพร้อมพระญาติวงศ์ข้าราชการสมโภชถ้วนหน้า"

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอย่หัว ทรงพระรชวิจารณ์ไว้ว่า "พระองค์เจ้าองค์นี้มีนามว่า จันทบุรี ตามชื่อเมืองเวียงจันทน์ ในจดหมายเหตุเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ว่าตกหลังเรือบัลลังก์ การสมโภชแต่ก่อนมีเฉพาะเจ้าฟ้าทั้งประสูติและโสกันต์"


๔. โสกันต์เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี

ต่อมาในรัชกาลที่ ๑ นั่นเอง ถึงปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๕๑ สมเด็จพระเจ้าลุกเธอ เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี มีพระชนม์ได้ ๑๑ พรรษา ถึงกำหนดจะโสกันต์ จึงทรงพระกรุณาโปรดฯให้จัดทำพระราชพิธีโสกันต์เจ้าฟ้าให้เต็มตามตำราครั้งกรุงเก่าเป็นต้นมา เพื่อให้เป็นแบบแผนไว้ในแผ่นดินต่อไป จึงนับว่าสมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีเป็นพระองค์แรกในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ที่ได้รับพระราชทานพิธีโสกัณฑ์เจ้าฟ้าอย่างเต็มตำรา ดังความปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์(ขำ บุนนาค) มีว่าดังนี้

"ในปีมะโรงสัมฤทธิศกนั้น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีพระชนม์ได้ ๑๑ พรรษา ถึงกำหนดโสกันต์ ทรงพระราชดำริว่า ตั้งแต่ตั้งแผ่นดินมา ยังหาได้ทำการพระราชพิธีโสกันต์เจ้าฟ้าอย่างเต็มตามตำราไม่ และแบบแผนพระราชพิธีโสกันต์เจ้าฟ้าอย่างครั้งกรุงเก่านั้น เจ้าฟ้าพินทวดีพระราชธิดาพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ได้ทรงแนะสอนไว้ในพระราชวังบวรฯ ครั้งโสกันต์พระองค์เจ้า ๓ พระองค์เป็นเยี่ยงอย่างอยู่แล้ว จึงโปรดให้เจ้าพนักงานตั้งเขาไกรลาศ ณ ชาลาในพระราชวัง ตั้งการพระราชพิธี มีเตียงพระมณฑลบนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และตั้งราชวัตรฉัตรรายทางนั่งกลาบาต และมีการเล่นต่างๆตลอดสองข้างทางที่จะเดินกระบวนแห่แต่ประตูราชสำราญมา

ณ เดือน ๔ ขึ้น ๑๕ ค่ำ แรม ๑ ค่ำ ๒ ค่ำ เวลาบ่ายตั้งกระบวนแห่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี เสด็จทรงยานุมาศตั้งแต่เกยในพระราชวัง ออกประตูราชสำราญมาตามถนนริมกำแพงพระราชวัง มาเข้าประตูพิมานไชยศรี แล้วประทับเกยกำแพงแก้วด้านบุรพาทิศพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เสด็งลงจากพระยานุมาศ แล้วเสด็จทางผ้าขาวลากขึ้นบนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ทรงสดับพระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์ ๓ วัน แล้ว ณ วันศุกร์ เดือน ๔ แรม ๓ ค่ำ เวลาเช้าแห่มาโสกันต์ที่พระบรมมหาปราสาท แล้วเสด็จกลับทางประตูท้ายที่ทรงบาตรที่ชาลาพระมหาปราสาทข้างใน แล้วจึงทรงพระเสลี่ยงน้อยขับไม้พราหมณ์นำเสด็จ พระยาศรีธรรมาธิราช พระยาธรรมา พระยาบำเรอภักดิ์ พระยาอนุรักษ์มณเฑียร คู่เคียง ๒ คู่เคียงพระเสลี่ยงมาทรงสรงน้ำที่สระอโนดาตที่เชิงเขาไกรลาศ สรงแล้วเสด็จประทับพลับพลาทรงเครื่องเสด็จขึ้นบนเขาไกรลาศ จึงเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์แต่งพระองค์ทรงฉลองพระองค์ครุย ทรงชฎาเดินหน สมมติว่าเป็นพระอิศวรเสด็จลงมาแต่พระมณฑปใหญ่ยอดเขาไกรลาศ ทรงรับพระกรที่ชั้นทักษิณทิศตะวันตกกลางบันไดนาค จูงพระกรขึ้นไปบนเขาไกรลาศประทานพร แล้วนำเสด็จลงมาส่งที่เกยด้านตะวันออก เสด็จพระยานุมาศแห่เวียนประทักษิณเขาไกรลาศ ๓ รอบ แล้วแห่กลับมาตามทางออกประตูพิมานไชยศรี ไปเข้าในพระราชวังทางประตูราชสำราญ ครั้นเวลาบ่ายตั้งกระบวนแห่มาสมโภชต่อไปอีก ๒ วัน ณ เดือน ๔ แรม ๖ ค่ำ เป็นวันที่ ๗ จึงแห่พระเกศาไปลอยเป็นเสร็จการโสกันต์ พระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี"

จบข้อความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ ในส่วนที่เกี่ยวกับการโสกันต์ สมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีแต่เพียงเท่านี้ นอกจากนั้นยังปรากฏข้อความเกี่ยวกับโสกันต์สมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์นี้ในหนังสือจดหมายเหตุความทรงจำกรมหลวงนริทรเทวี พร้อมด้วยพระราชวิจารณ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ อีก มีข้อความดังต่อไปนี้

" ณ เดือนหก ปีเถาะนพศก ตั้งเขาไกรลาสแห่โสกันต์เจ้าฟ้ากุณฑล ทรงเครื่องต้นประดับพระองค์ทรงพระมหามงกุฎ สมมุติวงศ์อย่างเทพอัปสร สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงพระอัยกาจูงพระกรเสด็จขึ้นยอดเขาไกรลาส กรมขุนอิศรานุรักษ์เป็นพระอิศวร ทรงพระมหากฐินทรงประดับ (หรือทรงประพาส) เครื่องต้นเป็นพระอิศวรประสาทพร สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงพระอัยกาจูงพระกรขึ้นไปส่งถึยอดเขา พระอิศวรรดน้ำสังข์ทักษิณาวัฏแล้วประสาทพระพร เจ้าบุตรแก้วรับพระกรลงจากยานุมาศขึ้นเกยพระมหาปราสาทฯ"

สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชวิจารณ์จดหมายเหตุดังกล่าวไว้ว่า "โสกันต์เจ้าฟ้ากุณฑลนี้ คลาดปีกันอยู่กับในพงศาวดารปีหนึ่ง รายการที่กล่าวไว้ในพงศาวดารเลื่อนลอยมาก ดูเหมือนแลดูตัวอย่างใหม่ๆกล่าวประจบให้เป็นเก่า ที่จนอั้นก็อั้นทีเดียว เช่นทำเขาไกรลาศที่ไหนไม่รู้ ชี้แผนที่วังไม่ถูก ว่าไปทรงเสลี่ยงทางประตูท้ายที่ทรงบาตรที่ชาลาพระมหาปราสาทข้างในไปที่สระอโนดาต ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน ในพงศาวดารไม่ได้กล่าวว่า ใครจูงทีเดียว ในพงศาวดารว่าถึงกรมขุนอิศรานุรักษ์แต่งพระองค์ว่า ทรงชฎาเดินหน ทรงฉลองพระองค์ครุย เห็นจะเห็นกรมพระบำราบปรปักษ์ เมื่อครั้งโกนจุกลูกหญิงศรีวิไลย แต่เชื่อว่าคงจะทรงเครื่องต้นจริงตามที่กล่าวไว้ในหนังสือนี้ เพราะมีตัวอย่างเมืองเครื่องต้นทพแล้วเสร็จ พระราชทานให้เจ้าฟ้ากรมขุนเสนานุรักษ์ทรง เมื่อแห่ทรงผนวชเป็นคราวแรกเพราะพระองค์ของท่านไม่ได้ทอดพระเนตรเห็น อยากทอดพระเนตรกรมขุนเสนานุรักษ์ และกรมขุนอิศรานุรักษ์นี้ว่างามนักทั้งสองพระองค์ เห็นจะโปรดให้ทรงทอดพระเนตรยังมีตัวอย่างต่อมาอีก ในรัชกาลที่ ๓ โปรดให้พระองค์เจ้าลักขณานุคุณทรงเมื่อแห่ทรงผนวชรัชกาลที่ ๓ นี้ ถ้าไม่มีตัวอย่างท่านคงไม่ทรงริขึ้น ในชั้นต้นที่จะสอบสวนเรื่องโสกันต์เจ้าฟ้ากุณฑลนี้

ได้ดูจดหมายเหตุเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ซึ่งกรมหลวงชำระไว้อื่นๆก็ได้ความชัดเจน แต่ข้อที่เขาไกรลาสตั้งแห่งใดไม่ปรากฏ กับมีข้อความที่จะแปลว่ากระไรไม่ได้คือ "ณ วันศุกร์ เดือน ๔ แรม ๓ ค่ำ เพลาเช้า แห่มาโสกันต์ที่พระมหาปราสาท แล้วเสด็จกลับทางประตูท้ายที่ทรงบาตรที่ชาลาพระมหาปราสาทข้างใน" อีกข้อซึ่งกล่าวว่า "เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์แต่งพระองค์ ทรงฉลองพระองค์ครุย ทรงชฎาเดินหน" ข้อความที่คัดลงในจดหมายเหตุนี้ ปรากฏว่าได้คัดในร่างหมายซึ่งยังมีอยู่โดยมาก เว้นไว้แต่ความ ๒ ข้อที่กล่าวมานี้ ผู้อ่านหมายไม่เข้าใจหรือเอาปากไวเอาการใหม่ปนการเก่าก็จะเป็นได้ ในร่างหมายนี้เองมีตัวแก้ไขจากลายมือเดิมหลายแห่ง กลัวจะต้องตำรากระทรวงวัง ถ้าจะมีการอะไร เอาร่างหมายเก่าออกมาตกแทรงวงกา แล้วให้เสมียนคัดขึ้นเป็นหมายใหม่ จึงเลอะเทอะไปก็มี การที่จะอ่านต้องเข้าใจ ในที่นี้จะเก็บข้อความจากหมายเก่าเอาแต่สิ่งที่สำคัญควรสังเกต

หมายฉบับนี้ "เจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช(๔) รับสั่งให้เกล้าฯกำหนดงานสวดมนต์ ณ วันเดือน ๔ ขึ้น ๑๕ ค่ำ แรม ๑ ค่ำ ๒ ค่ำ ปีมะโรงสัมฤทธิศก เพลาบ่าย ๒ โมง ๖ บาท พระสงฆ์ ๕๐ รูปเจริญพระพุทธมนต์ ณ วันศุกร์ เดือน ๔ แรม ๓ ค่ำ พระกฤษ์จรดพระกรรบิดกรรไกร ณ วันเดือน ๔ แรม ๓ ค่ำ ๔ ค่ำ ๕ ค่ำ สมโภชเวียนเทียนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ๓ วัน"

เขาไกรลาศพิเคราะห์ดู ได้ความจากวางริ้ว เวลาถึงพระมหาปราสาทและเวลากลับจากพระมหาปราสาท ว่าตั้งที่เก๋งกรงนก คือ ใกล้ไปข้างพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย กระบวนแห่ก็ตามอัตรา คือ คู่แห่เด็ก ๘๐ - ๘๔ ทั้งต้นเชือกปลายเชือก แตรใน ๙ เครื่อง ๒๑ พระแสง ๕ บัณเฑาะว์ ๒ อินทร์พรหม ๑๖ หามพระราชยาน ๑๐ เครื่องหลัง ๘ พระแสง ๒ รวมกระบวนใน ๑๗๕ กระบวนนอกคู่แห่ผู้ใหญ่ ๘๐ แตร ๔๒ กลองชนะ ๔๐ ในหมายมีแต่กระบวนข้างหน้า กำหนดแตรตามระยะทาง เช่นโสกันต์ชั้นหลังๆการที่วางกระบวนเมื่อถึงเกยก็อย่างชั้นหลังๆ แต่นางเชิญเครื่องเชิญพระแสงหลัง ให้เลี้ยวขึ้นอัฒจันทร์ปราสาท นางสระเข้าประตูพรหม

มีกำหนดผู้ตรวจตรา ให้เจ้าพระยาศรีธรรมาธิราชเข้ามาจัดกระบวนในพระราชวัง ให้เจ้าพระยายมราชจัดกระบวนที่ประตูราชสำราญ เจ้าพระยามหาเสนาจัดที่ประตูวิเศษชัยศรีข้างใน เจ้าพระยาธรรมาจัดที่เกยพระมหาปราสาท เมื่อกระบวนเดินพ้นมาแล้ว จึงให้เจ้าพระยาทั้งสามเดินตามกระบวนมา

วันสรงที่เขาไกรลาศ ให้เจ้าพระยาศรีธรรมาธิราชจัดการที่มุมตะวันออกเฉียงใต้ เจ้าพระยามหาเสนา ตะวันออกเฉียงเหนือ เจ้าพระยาธรรมา ตะวันตกเฉียงใต้ เจ้าพระยายมราช ตะวันจกเฉียงเหนือ พอโสกันต์เสร็จแล้ว ถวายผ้าสบงแล้ว กลับเข้าไปที่ท้ายพระมหาปราสาท ทรงตักบาตรที่ชาลาพระมหาปราสาท ตักบาตรนี้ต้องเข้าใจว่า ไม่ใช่พระเข้าไปรับ ตักข้าวลงในบาตรสำหรับเลี้ยงพระ ซึ่งกำลังสวดถวายพรพระอยู่ ครั้นทรงบาตรเสร็จแล้วเสด็จกลับออกมาทางที่เสด็จเข้าไปนั้น จึงลงมาทรงพระเสลี่ยงน้อยไปสรงที่สระอโนดาต

มีแปลกอย่างหนึ่ง ดูเหมือนว่าไม่ได้แต่งพระองค์ในมณฑป จะลงมาแต่งที่นักแร้ข้างหนึ่ง ที่เรียกว่ามุมตะวันตกข้างเหนือ แต่ข้าพเจ้าไม่เชื่อข้อนี้ เห็นจะแดดร้อนนัก และตัวหนังสือที่เขียนลงไว้เป็นตัวเล็กๆ ใครจะเขียนเพิ่มเติมลงไปก็ไม่ทราบ นอกจากนั้นก็ไม่มีแปลกประหลาดอะไรจากโสกันต์ครั้งหลังๆ

เจ้าบุตรแก้วที่สำหรับรับพระกรนี้ ได้เห็นชื่อในบัญชีเป็นผู้เลี้ยงพระฉันจุรูป ๑ ในจำนวนมากด้วยกันนั้น พระที่ฉันสำรับเจ้าบุตรแก้ว เป็นพระสมุห์วัดบางลำพู ฉันไก่ต้ม ๓ ตัว ไก่จาน ๑ นมโค ๑ โถ ทีจะเป็นลูกสาวเจ้ากรุงศรีสัตนาคนะหุตเวียงจันทน์ ที่มีชื่อในพระราชสาส์นเวียงจันทน์ เมื่อแผ่นดินกรุงธน รับพระกรในที่นี้ คือ เวลาไปทรงฟังสวด ไม่ใช่รับที่เขาไกรลาศ"

จบพระราชวิจารณ์ในจดหมายเหตุความทรงจำฯ แต่เพียงนี้


สมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีโสกันต์ได้ปีเดียว สมเด็จพระชนกนารถก็เสด็จสวรรคต

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกนารถพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ เสด็จสวรรคตเมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๓๕๒ เวลาสิ้นรัชกาลที่ ๑ นั้น สมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีมีพระชนม์ได้ ๑๑ พรรษา พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดิน รัชกาลที่ ๒ เมื่อพระชนมายุได้ ๔๒ พรรษา แก่กว่าสมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี ๓๑ ปีเศษ

เราไม่มีพระฉายาลักษณ์ของสมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยาวดีที่จะดูได้ เพราะในสมัยนั้นยังไม่มีการฉายภาพในประเทศไทยและก็ไม่มีภาพเขียนอันเป็นฉายาลักษณ์ของพระองค์จะดูพระรูปโฉมโนมพรรณของพระองค์ว่า ทรงพระสิริรุปโฉมงามโสภาคย์เพียงใด แต่เมื่อเปรียบสมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีว่า เป็นนางบุษบา ความงามของนางบุษบานั้น มีปรากฏในพระราชนิพนธ์เรื่องอิเหนา ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระราชนิพนธ์ไว้เองว่า

"อันนางโฉมยงองค์นี้
เลิศล้ำนารีในแหล่งหล้า
นวลละอองผ่องพักตร์โสภา
เพียงจันทราทรงกลดหมดราคี
งามดั่งโกสุมประทุมมาลย์
บานอยู่ในท้องสระศรี"


อีกตอนหนึ่งว่า

"เจ้าเอย เจ้าดวงยิหวา
ดังหยาดฟ้ามาแต่กระยาหงัน
ได้เห็นโฉมฉายเสียดายครัน
ฉุกใจไม่ทันคิดเอย"


อีกตอนหนึ่ง ตอนนางบุษบาเล่นธาร มีว่า

"พักตร์น้องละอองนวลปลั่งเปล่ง
ดังดวงจันทร์วันเพ็งประไพศรี
อรชรอ้อนแอ้นทั้งอินทรีย์
ดังกินรีลงสรงคงคาลัย
งามจริงพริ้งพร้อมทั้งสารพางค์
ไม่ขัดขวางเสียทรงที่ตรงไหน
พิศพลางประดิพัทธ์กำหนัดใน
จะใคร่โอบอุ้มองค์มา
ดูเดินดังดำเนินเหมราช
งามประหลาดเลิศล้ำเลขา
พิศไหนให้เพลินจำเริญตา
พระราชาชมพลางทางถอนใจ"


ดังนี้


๕. เป็นพระราชชายานารีในรัชกาลที่ ๒

ต่อมาในรัชกาลที่ ๒ นี้ สมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีได้เป็นพระราชชายานารีพระอัครมเหสีฝ่ายซ้าย ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อก่อน พ.ศ. ๒๓๕๙ พระชนมายุได้ประมาณ ๑๗ หรือ ๑๘ พรรษา ที่กล่าวว่าก่อน พ.ศ. ๒๓๕๙ นั้น เพราะเหตุว่าเจ้าฟ้าอาภรณ์พระโอรสพระองค์แรกประสูติเมื่อวันศุกร์ เดือน ๕ แรม ๗ ค่ำ ตรงกับวันที่ ๑๙ เมษายน ปีชวด พ.ศ. ๒๓๕๙ จึงพอสันนิษฐานได้ว่า พระองค์ได้เป็นพระราชชายานารีพระอัครมเหสีในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อพระชนมายุได้ ๑๗ หรือ ๑๘ พรรษา ดังได้กล่าวมาแล้ว

กล่าวกันว่า เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีนั้นเปรียบเหมือนนางบุษบาวตีในพระราชนิพนธ์อิเหนา ส่วนสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ พระอัครชายาเดิม คือ เจ้าฟ้าบุญรอด นั้นเปรียบเหมือนนางจินตหรา ดังปรากฏข้อความอยู่ในหนังสือพระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พิมพ์ พ.ศ. ๒๕๐๙ ตอนหนึ่งว่า

"เจ้านายชั้นผู้ใหญ่พระองค์หนึ่งทรงเล่าว่า กรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์นั้นทรงอยู่ในฐานะแม้นละม้ายคล้ายจินตหราในเรื่องอิเหนา เพราะเหตุที่ทรงเป็นพระประยูรญาติเรียงพี่เรียงน้อง หากแต่เป็นพระมเหสีดั้งเดิมจึงได้อยู่ฝ่ายขวา ส่วนเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีเป็นพระน้องนางเธอร่วมพระชนกเดียวกัน ได้เป็นพระมเหสีพระองค์ที่ ๒ จึงต้องอยู่ฝ่ายซ้าย คล้ายบุษบาขององค์อิเหนาหรือระเด่นมนตรี ซึ่งที่แท้ก็คือ พระองค์ผู้ทรงพระนิพนธ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยนั่นเอง เมื่อองค์ระเด่นมนตรีทรงมีทั้งฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาดังนี้ ก็เป็นธรรมดาที่ฝ่ายขวาจะต้องขึ้งโกรธและทรงระทมตรมตรอม นัยเดียวกันกับพระราชนิพนธ์ที่ว่า " เมื่อนั้น จินตหราวาตีมีศักดิ์ ฟังตรัสขัดแค้นฤทัยนัก สบัดพักตร์ผินหลังไม่บังคม " เหตุการณ์เป็นเช่นนี้เรื่อยๆมา ในที่สุดกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทร์ก็เสด็จหนีไปประทับ ณ พระราชวังเดิม กรงธนบุรี มีเจ้าฟ้าพระองค์น้อย คือ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวติดต้อยตามเสด็จไปเป็น "ลูกแม่" คอยปลอบประโลมพระทับให้คลายเศร้า แต่เจ้าฟ้าพระองค์น้อยหรือฟ้าน้อยก็ยังคงวิ่งไปวิ่งมาระหว่างพระชนกกับชนนีระหว่างกรุงเทพฯกับธนบุรี จนกระทั่งพระชนม์ได้ ๑๒ ปี ๖ เดือน ได้รับพระราชพิธีเต็มตามพิธีใหม่ชั้นเจ้าฟ้า"

แต่อย่างไรก็ดี พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ก็มิได้ทรงยกย่องสมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีเท่ากับหรือเหนือกว่าสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ ทั้งนี้เข้าใจว่าเพราะพระองค์ทรงถือสัตย์ที่ได้เคยทรงปฎิญาณทานบนไว้เมื่อครั้งทรงแรกรักเริ่มต้นกับสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ก่อนโน้น ดังปรากฏในจดหมายเก่า "เรื่องขัติยราชปริพัทธ์" ว่าสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเคยทรงปฏิญาณทานบนไว้ว่า "จะมิให้บุตรและภริยาทั้งปวงเป็นใหญ่กว่าฤๅเสมิกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ เพราะฉะนั้นเมื่อได้เสด็จเถลิงถวัลยราชบรมราชาภิเษกขึ้นแล้ว ได้เจ้าฟ้ากุณฑลเป็นพระชายาก็ทรงชุบเลี้ยงเซาๆอยู่อย่างนั้น ไม่เปิดเผยผิดจากปรกติขึ้นเท่าไร

ประสูติพระโอรสสามพระองค์ พระธิดาหนึ่งพระองค์ แต่พระธิดานั้นสิ้นพระชนม์เสียแต่ยังทรงพระเยาว์อยู่ ยังเหลือแต่พระโอรสทั้งสามพระองค์ คนในสมัยนั้นก็ไม่ได้ยินใครเรียกว่าเจ้าฟ้าฤๅทูลกระหม่อมฟ้า เรียกกันอยู่ว่าองค์ใหญ่ องค์กลาง องค์ปิ๋ว ในหลวงท่านก็ทรงได้ยินแต่ไม่ทรงกริ้วกราดทักท้วงประการใด เรียกกันอยู่แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า ทูลกระหม่อมพระองค์ใหญ่ ถ้าเป็นคำทูลในหลวงก็ว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ามงกุฎ ฉะนั้นเรียกพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าอยู่หัวว่า ทูลกระหม่อมพระองค์น้อย ถ้าเป็นคำทูลในหลวงก็ว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าอสุนีบาศ ฉะนั้น

ภายหลังมาในแป่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกุณาโปรดตั้งองค์ใหญ่พระโอรสเจ้าฟ้ากุณฑลเป็นเจ้าฟ้า พระราชทานนามว่า "อาภรณ์" แต่นั้นมาคนทั้งหลายจึงรู้เรียกกันว่า "เจ้าฟ้าอาภรณ์" แต่องค์กลาง องค์ปิ๋วนั้นก็ได้ยินเรียกกันอยู่ว่า องค์กลาง องค์ปิ๋ว ดังเช่นเรียกกันมาแต่เดิม ครั้นแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานพระนามพระองค์กลางว่า "มหามาลา" แต่นั้นมาคนทั้งหลายจึงรู้เรียกกันว่า เจ้าฟ้ามหามาลา องค์ปิ๋วนั้นสิ้นพระชนม์เสียแต่ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ได้ยินคนรุ่นใหม่ๆเรียกกันว่า เจ้าฟ้าปิ๋ว บ้างก็ได้ยินรายๆไม่สู้หนาหูนัก ฤๅจะเป็นด้วยเขาเกรงพระทัยกรมสมเด็จพระบำราบปรปักษ์อย่างไรก็ไม่ทราบ แต่คนชั้นเก่าๆไม่ได้ยินใครเรียกว่า เจ้าฟ้าปิ๋วเลย จะเป็นด้วยเหตุกลัวกรมสมเด็จพระสุริเยนทรามาตย์ ฤๅประการใดก็ไม่ทราบถนัด"


ประสูติเจ้าฟ้าพระองค์แรกและพระองค์ต่อมา

๑. เจ้าฟ้าอาภรณ์

สมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีประสูติเจ้าฟ้าพระองค์แรก คือ เจ้าฟ้าอาภรณ์ เมื่อ ณ วันศุกร์ เดือน ๕ แรม ๗ ค่ำ ตรงกับวันที่ ๑๙ เมษายน ปีชวด พ.ศ. ๒๓๕๙ ในจดหมายเหตุความทรงจำฯมีข้อความตอนประสูติเจ้าฟ้าพระองค์แรกมีว่า

" ณ วันศุกร์ แรม ๗ ค่ำ เดือน ๕ เจ้าฟ้ากุณฑลประสูติเจ้าฟ้าอัมพร ได้จตุรงคโชคไชยชนะสิ้น เสร็จพระยาปลัดทวาย พระโองการปราปรามเลี่ยนสิ้นเสี้ยนหนามแผ่นดิน ยิ่งด้วยพระบารมีที่สุด ยังสมบัติมนุษย์ ยังให้เห็นแก่ตา ว่ามีพระคชาธารเผือกผู้คู่ควร ไม่ได้บาศซัดคล้องเมืองปัตบอง เมืองเชียงใหม่ เมืองแพร่(๕) ถวายเป็นเครื่องบรรณาการ ด้วยบารมีบุญฤทธิ์ พระพุทธเจ้าหลวงสมเด็จพระอัยกา พระเจ้าช้างเผือก ฯ "

ตามจดหมายเหตุความทรงจำที่ว่า "ณ วันศุกร์ เดือน ๕ แรม ๗ ค่ำ เจ้าฟ้ากุณฑลประสูติเจ้าฟ้าอัมพร ได้จัตุรงคโชคไชยชนะสิ้นเสร็จ" นั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง พระปิยมหาราช ทรงพระราชวิจารณ์ไว้ว่า "เจ้าฟ้าอาภรณ์เผอิญมาประสูติประจวบเวลานี้ จึงได้ชื่อว่าเป็นโชคดี ถึงปูมก็จดไว้เฉพาะว่า วันพฤหัสบดี เดือน ๙ แรม ๕ ค่ำ เจ้าลูกเธอประสูติใหม่ บ่าย ๔ โมง ๕ บาท

ดวงพระชาตาของเจ้าฟ้าอาภรณ์ปรากฏอยู่ในสมุดเก่าของหม่อมเจ้าประภากรเป็นดังนี้...



เจ้าฟ้าพระองค์นี้เป็นที่หวังกันว่า อยู่ในเกณฑ์ที่อาจจะได้รับราชสมบัติต่อจากสมเด็จพระบรมชนกนารถ แต่เกิดมามีเหตุสิ้นพระชนมืเสียก่อนสิ้นรัชกาล ดังจะได้กล่าวถึงในตอนต่อไป


๒. สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยาบำราบปรปักษ์

พระองค์ประสูติเจ้าฟ้าชายเป็นพระองค์ที่ ๒ คือ เจ้าฟ้าชายกลาง ประสูติเมื่อวันเสาร์ เดือน ๖ ขึ้นค่ำ ๑ ตรงกับวันที่ ๒๔ เมษายน ปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๖๒ ต่มาในที่สุดได้เป็นสมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยาบำราบปรปักษ์ พระโอรสพระองค์นี้ได้บำเพ็ญคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติไทยของเรามาก เป็นที่เชิดชูพระเกียรติยศเป็นอย่างยิ่งของสมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี ซึ่งข้าพเจ้าได้รวบรวมและเรียบเรียงไว้โดยเฉพาะ ดังปรากฏพระประวัติอยู่ในหนังสือเล่มนี้แล้ว


๓. เจ้าฟ้าหญิง

สมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีได้ประสูติเจ้าฟ้าหญิง เมื่อ วันพุธ เดือน ๔ แรม ๓ ค่ำ ตรงกับวันที่ ๒๑ มีนาคม ปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๖๓ แต่สิ้นพระชนม์เสียแต่ในรัชกาลที่ ๒ นั้น ยังไม่ปรากฏนาม ได้พระราชเพลิงพระศพพร้อมด้วยพระชนนีในรัชกาลที่ ๓ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๒


๔. เจ้าฟ้าชายปิ๋ว

สมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีได้ประสูติเจ้าฟ้าชายพระองค์สุด คือ เจ้าฟ้าปิ๋ว ประสูติเมื่อวันศุกร์ เดือน ๖ ขึ้น ๖ ค่ำ ตรงกับวันที่ ๒๖ เมษายน ปีมะเมีย พ.ศ. ๒๓๖๕

สมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีมีเจ้าฟ้าด้วยกันกับพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รวมด้วยกัน ๔ พระองค์ สิ้นพระชนม์เสียในรัชกาลสมเด็จพระชนกนารถพระองค์หนึ่ง คงพระชนม์ชีพต่อมา ๓ พระองค์ เป็นเจ้าฟ้าชาย ดังจะบรรยายพระประวัติต่อไป

เจ้าฟ้าทั้ง ๓ พระองค์นี้ ในรัชกาลที่ ๒ เรียกกันว่าพระองค์ใหญ่ พระองค์กลาง และพระองค์ปิ๋วทั้งสิ้น เพิ่งมาเรียกพระองค์ใหญ่ว่า เจ้าฟ้าอาภรณ์ กันในรัชกาลที่ ๓

สมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีได้ทรงร่วมสุขร่วมทุกข์ ด้วยกันมาด้วยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยพระราชสวามี เสด็จสวรรคตเมื่อวันพุธ เดือน ๘ แรม ๑๑ ค่ำ ตรงกับวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ปีวอก พ.ศ. ๒๓๖๗ การเสด็จสวรรคตของพระราชสวามีย่อมนำความวิปโยคโศกเศร้าสลดรันทดพระทัยมาสู่พระองค์เป็นอย่างยิ่ง

เวลาสิ้นรัชกาลที่ ๒ นั้น สมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี พระมเหสีฝ่ายซ้ายพระชนมายุได้ ๒๖ พรรษา วัยเบญจเพศพอดี เจ้าฟ้าพระราชโอรสพระองค์แรกคือเจ้าฟ้าอาภรณ์มีพระชนม์มายุได้ ๘ พรรษา พระองค์ที่สองคือ เจ้าฟ้ากลาง คือ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์ มีพระชนมายุได้ ๕ พรรษา พระองค์ที่สามคือ เจ้าฟ้าปิ๋ว พระชนมายุได้ ๒ พรรษา พระองค์ย่อมทรงได้รับความลำบากอย่างแสนสาหัส เพราะพระโอรสยังทรงพระเยาว์มากทั้งสิ้น

อนึ่ง ก่อนพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคตนั้น ทรงพระประชวรตรัสมิไกด้ จึงมิได้ตรัสมอบราชสมบัติให้แก่เจ้านายพระองค์ใด ปัญหาเจ้านายที่จะเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติจึงเกิดขึ้น ตามราชประเพณี เจ้าฟ้าพระองค์ใหญ่อันเกิดด้วยพระอัครมเหสี ซึ่งขณะนั้นควรจะได้แก่เจ้าฟ้ามงกุฏ คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่บังเอิญกำลังทรงผนวชและยังทรงพระเยาว์อยู่ พระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางผู้ใหญ่จึงได้อัญเชิญสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์ใหญ่ คือ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (พระองค์เจ้าทับ) ซึ่งเป็นหลักแผ่นดินอยู่ในรัชกาลที่ ๒ ขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ ๓ สืบมา คือ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ในรัชกาลนี้ไม่โปรดตั้งพระชายาเจ้าจอมใดขึ้นเป็นพระอัครมเหสีเลย จึงไม่มีพระราชโอรสพระองค์ใดขึ้นเป็นเจ้าฟ้าเลยตลอดรัชกาลที่ ๓ และในรัชกาลต่อมาก็ไม่ปรากฏว่า พระราชโอรสพระองค์ใดของรัชกาลที่ ๓ ได้มีการสถาปนาขึ้นเป็นเจ้าฟ้าเลยสักพระองค์เดียว

เจ้าฟ้าที่ประดับพระมหามงกุฎของรัชกาลที่ ๓ อยู่ในเวลานั้น ก็มีแต่เจ้าฟ้าในรัชกาลก่อนทั้งสิ้น รวมความว่าในรัชกาลที่ ๓ นั้น ไม่มีเจ้าฟ้าเกิดใหม่เลยตลอดรัชกาล ว่างเว้นเจ้าฟ้าเกิดใหม่อยู่ถึง ๒๘ ปีเศษ เพิ่งมีเจ้าฟ้าเกิดใหม่เอาในรัชกาลที่ ๔ พระองค์แรกมราเป็นเจ้าฟ้าชายก็คือ สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ คือ รัชกาลที่ ๕


๗. พระชนม์ชีพในรัชกาลที่ ๓

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคต พระเจ้าลูกเธอพระองค์ใหญ่ คือ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติต่อมา เป็นรัชกาลที่ ๓ มีพระปรมาภิไธยย่อว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เสวยราชสมบัติอยู่เป็นเวลา ๒๗ ปีจึงเสด็จสวรรคต

เมื่อสิ้นรัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคตนั้น สมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีมีพระชนมายุได้ ๒๖ พรรษา ได้ทรงทำนุบำรุงเลี้ยงเจ้าฟ้าพระราชโอรส ๓ พระองค์ต่อมาด้วยความลำบากอย่างยิ่ง ในเรื่องการศึกษาของเจ้าฟ้าพระโอรสนั้นปรากฏว่า ได้ทรงมอบให้สุนทรภู่เป็นพระอาจารย์ถวายพระอักษรมาแต่ปลายรัชกาลที่ ๒ กล่าวคือ ในปลายรัชกาลที่ ๒ โปรดให้ท่านสุนทรภู่เป็นครูสอนหนังสือถวายพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าอาภรณ์ เป็นผลให้ชาติไทยได้มีกลอนอมตะอยู่ ณ ทุกวันนี้ คือ "สวัดิรักษา" ซึ่งสุนทรภู่แต่งถวายเจ้าฟ้าอาภรณ์และเพลงยาวถวายโอวาทซึ่งแต่งถวายเจ้าฟ้ากลาง เรื่องสวัสดิรักษานั้นขึ้นต้นว่า

สุนทรทำคำสวัสดิรักษา
ถวายพระหน่อบพิตรอิศรา
ตามพระบาลีเฉลิมให้เพิ่มพูน


และกล่าวในกลอนเมื่อก่อนจบว่า

ขอพระองค์จงจำไว้สำเหนียก
ดังนี้เรียกสวัสดิรักษา
สำหรับพระองค์พงศ์กษัตริย์ขัตติยา
ให้ผ่องผาสุกสวัสดิ์ขจัดภัย
บทโบราณท่านทำเป็นคำฉันท์
แต่คนนั้นมิใคร่แจ้งแถลงไข
จึงกล่าวกลับซับซ่อนเป็นกลอนไว้
หวังจะให้เจนจำได้ชำนาญ
สนองคุณมุลิกาสามิภักดิ์
ให้สูงศักดิ์สืบสมบัติพัสถาน
แม้นผิดเพี้ยนเปลี่ยนเรื่องเบื้องโบราณ
ขอประทานอภัยโทษได้โปรดเอย


เรื่อง "สวัสดิรักษา" นี้สันนิษฐานกันว่า คงจะแต่งขึ้นถวายระหว่า พ.ศ. ๒๓๖๔ - ๒๓๖๗ ก่อนพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคต นอกจากนั้นสันนิษฐานกันว่า ท่านสุนทรภู่จะได้เริ่มแต่งเรื่องสิงหไตรภพตอนต้นๆ ถวายเจ้าฟ้าอาภรณ์ในตอนนี้ด้วย เพราะมีคำกล่าวไว้ในเรื่องรำพันพิลาปของสุนทรภู่เอง เมื่อพูดถึงเจ้าฟ้าอาภรณ์ สุนทรภู่เรียกพระนามแฝงว่า พระสิงหไตรภพ

แต่ต่อมาในรัชกาลที่ ๓ นี้ เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่โปรดท่านสุนทรภู่ เจ้านายและผู้มีบรรดาศักดิ์ก็ไม่มีพระองค์ใดกล้าชุบเลี้ยงเกื้อหนุนโดยเปิดเผย ด้วยเกรงจะเป็นฝ่าฝืนพระราชนิยมในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แม้เจ้าฟ้าอาภรณ์ซึ่งเป็นศิษย์ก็ต้องทำเพิกเฉยมึนตึง ท่านสุนทรภู่จึงได้กล่าวความข้อนี้ไว้ในเพลงยาวถวายโอวาทเจ้าฟ้ากลางด้วยความน้อยใจ คือ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์ และเจ้าฟ้าปิ๋วตอนหนึ่งว่า

สิ้นแผ่นดินสิ้นบุญของสุนทร
ฟ้าอาภรณ์แปลกพักตร์อาลักษณ์เดิม


เพลงยาวถวายโอวาทนี้ท่านสุนทรภู่ขึ้นต้นว่า

ควรมิควรจวนจะพรากจากสถาน
จึงเขียนความตามใจอาลัยลาน
ขอประทานโทษาอย่าราคี
ด้วยขอบคุณทูลกระหม่อมถนอมรัก
เหมือนผัดพักตร์ผิวหนาเป็นราศี
เสด็จมาปราศรัยถึงในกุฎี
ดังวารีรดซาบอาบละออง
ทั้งการุณสุนทราคารวะ
ถวายพระวรองค์จำนงสนอง
ขอพึ่งบุญมุลิกาฝ่าละออง
พระหน่อสองสุริน์วงศ์ทรงศักดา
ด้วยเดี๋ยวนี้มิได้รองละอองบาท
จะนิราศแรมไปไพรพฤกษา
ต่อถึงพระวสาอื่นจึงคืนมา
พระยอดฟ้าสององค์จงเจริญ


แล้วมีข้อความยาวยืดไพเราะยิ่งทุกบาททุกบท อ่านแล้วน้ำตาคลอ แสดงให้เห็นถึงความจงรักภักดีของสุนทรภู่ อันมีต่อสมเด็จเจ้าฟ้าทั้งสองพระองค์นั้น และแสดงว่าเจ้าฟ้ากลาง คือ สมเด็จกรมพระยาบำราบปรปักษ์ ทรงเล็งเห็นคุณค่าของคนดี และได้เสด็จไปเยี่ยมสุนทรภู่ถึงกุฏิ ในยามสุนทรภู่ตกอับ ขอท่านผู้อ่านได้โปรดหาอ่านเอาเอง

ท่านสุนทรภู่จบเพลงยาวเรื่องนี้ลงด้วยมงคลสูตรข้อหนึ่งว่า อย่าคบคนพาล แต่ให้คบบัณฑิต คือ

สกุลกาสาธารณ์ถึงพานพบ
อย่าควรคบคิดรักศักดิ์สงวน
เหมือนชายโฉดโหดไร้ที่ไม่ควร
อย่าชักชวนชิดใช้ให้ใกล้องค์
อันนักปราชญ์ราชครูเหมือนคูหา
เป็นที่อาศัยสกุลประยูรหงส์
จงสิงสู่อยู่แต่ห้องทองประจง
กว่าจะทรงปีกกล้าถาทะยาน
ขึ้นร่อนเร่เวหนให้คนเห็น
ว่าชาติเช่นหงสาศักดาหาญ
ได้ปรากฏยศยงตามวงศ์วาน
พระทรงสารศรีเศวตเกศกุญชร
ควรมิควรส่วนผลาอานิสงส์
ซึ่งรูปทรงสังวรรัตน์ประภัสสร
ให้สี่องค์ทรงมหาสถาวร
ถวายพรพันวสาขอลาเอย


ความที่ว่า "ให้สี่องค์ทรงมหาสถาวร" นั้น คือคำว่า "สี่องค์" ท่านสุนทรภู่หมายถึง สมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี ๑ เจ้าฟ้าอาภรณ์ ๑ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์ ๑ และเจ้าฟ้าปิ๋ว ๑ และคำว่า "ถวายพรพันวษา" นั้น ก็ทำให้ผู้อ่านหมายความได้หลายนัย นัยหนึ่งอาจจะหมายถึงถวายพรให้เจ้าฟ้าทั้งสี่พระองค์นั้น มีพระชนมายุยืนนานถึงพันปี หรืออาจจะหมายถึงเฉพาะเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีพระองค์เดียวโดยเฉพาะก็ได้ เพราะทรงอยู่ในตำแหน่งคล้ายพระพันวัสสาเหมือนกัน แต่ในรัชกาลที่ ๓ นั้น คนทั้งหลายออกพระนามสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ พระชนนีในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า "สมเด็จพระพันวัสสา" ซึ่งเสด็จสวรรคตก่อนสมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีประมาณ ๒ ปี

อนึ่ง ในจดหมายเหตุเก่าเรื่อง "ว่าด้วยคำพูดของคนชั้นเก่า" มีว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรับสั่งเรียกเจ้าฟ้าอาภรณ์ว่า "หนูอาภรณ์" รับสั่งเรียกสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์ว่า "เจ้าหนูกลาง" และรับสั่งเรียกองค์ปิ๋วว่า "เจ้าหนูปิ๋ว" ดังนี้

เมื่อท่านสุนทรภู่ออกบวชแล้ว ต่อมาในปีฉลู พ.ศ. ๒๓๗๒ สมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีก็ทรงฝากเจ้าฟ้ากลาง คือ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์ กับเจ้าฟ้าปิ๋ว ซึ่งเวลานั้นพระชันษาได้ ๑๑ ปีพระองค์หนึ่ง ๘ ปีพระองค์หนึ่ง ให้เป็นศิษย์ท่านสุนทรภู่ เหมือนอย่างเจ้าฟ้าอาภรณ์ได้เคยเป็นศิษย์มาในรัชกาลที่ ๒ แล้วสมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีก็ทรงส่งเสียอุปการะท่านสุนทรภู่ต่อมาในชั้นนั้น มีคำสุนทรภู่กล่าวไว้ในเพลงยาวตอนหนึ่งว่า

เคยฉันของสองพระองค์ส่งถวาย
มิได้วายเว้นหน้าท่านข้าหลวง


นอกจากนั้นสมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑทิพยวดียังได้ทรงฝากเจ้าฟ้าพระราชโอรสทั้ง ๓ พระองค์ให้เป็นศิษย์สมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎ คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะนั้นทรงผนวชอยู่วัดบวรนิเวศวรวิหารอีกด้วย

ในรัชกาลที่ ๓ นี้ พระโอรสพระองค์ใหญ่ คือ เจ้าฟ้าอาภรณ์ได้เริ่มรับราชการ คือ ได้ทรงช่วยกำกับกรมพระคชบาล เจ้าฟ้ากลาง (เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์) ได้รับราชการในกรมวัง ส่วนเจ้าฟ้าชายปิ๋วนั้นไม่ปรากฏว่าได้ทรงรับราชการแต่อย่างใด เพราะยังทรงพระเยาว์

อนึ่ง พึงทราบไว้ด้วยในรัชกาลที่ ๓ นั้น เจ้านายชั้นเจ้าฟ้าชายซึ่งเป็นพระราชโอรสรัชกาลที่ ๒ พระองค์สำคัญมีเพียง ๕ พระองค์ คือ สมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎ คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เวลานั้นทรงผนวชอยู่ตลอดรัชกาลที่ ๓ พระองค์หนึ่ง สมเด็จเจ้าฟ้าจุฑามณี คือ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งในรัชกาลที่ ๓ ทรงสถาปนาเป็นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ได้ว่ากรมทหารปืนใหญ่พระองค์หนึ่ง เจ้าฟ้าทั้งสองพระองค์นี้ เป็นเจ้าฟ้าพระโอรสในสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ และมีพระชันษาแก่กว่าเจ้าฟ้า ๓ พระองค์ในสมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี


๘. สิ้นพระชนม์และงานพระศพ

สมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีสิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๓ เมื่อวันเสาร์ เดือน ๔ ขึ้น ๓ ค่ำ ปีจอ พ.ศ. ๒๓๘๑ พระชันษาได้ ๔๒ ปี

ในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๓ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) แต่งมีข้อความว่า "ในเดือน ๔ ปีจอนั้น สมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี ทรงพระประชวรพระโรคโบราณมานานแล้ว ครั้น ณ วัน้สาร์ เดือน ๔ ขึ้น ๓ ค่ำ(๖) สิ้นพระชนม์ พระชนมายุได้ ๔๐ พรรษา ๘ เดือน ๑๘ วัน โปรดให้ทำการพระเมรุที่ท้องสนามหลวง เจ้าพนักงานได้จัดการทำพระเมรุอยู่" ในพระราชพงศาวดารฉบับดังกล่าวอีกตอนหนึ่งมีว่า "ฝ่ายที่กรุงการพระเมรุเสร็จแล้ว ครั้น ณ วัน เดือน ๕ แรม ๔ ค่ำ(๗) ได้ชักพระศพสมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีกับพระศพพระองค์เจ้า(ผู้เป็น)ธิดา(๘)ออกสู่พระเมรุ เชิญพระศพประดิษฐานบนพระเบญจา มีการมหรสพทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายไทยธรรมแก่พระสงฆ์ พระราชาคณะ ฐานานุกรมเป็นอันมาก ครั้น ณ วัน เดือน ๕ เเรม ๖ ค่ำ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓) ได้พระราชทานเพลิงแล้วสมโภชพระอัฐิอีก วัน ๑ คืน ๑ เป็นคำรบ ๔ วัน ๔ คืน

เป็นอันจบพระประวัติสมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี เป็นอันว่าสมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีพระองค์นี้ ทรงเป็นบรรพสตรีของต้นสกุล อาภรณ์กุล และ มาลากุล สืบมาจนทุกวันนี้


๙. เจ้าฟ้าอาภรณ์พระโอรสถูกหาว่าเป็นขบถ

เมื่อสมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีสิ้นพระชนม์นั้น เจ้าฟ้าอาภรณ์มีพระชันษาได้ ๒๒ ปี เจ้าฟ้ากลาง (สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์) มีพระชันษาได้ ๑๙ ปี และเจ้าฟ้าปิ๋วมีพระชันษาได้ ๑๖ ปี ต่อมาใน พ.ศ. ๒๓๘๓ เจ้าฟ้าปิ๋วก็สิ้นพระชนม์ พระชันษาได้ ๑๙ ปี

ในรัชกาลที่ ๓ นี้ ดังได้กล่าวมาแล้วว่า เจ้าฟ้าอาภรณ์ได้ทรงช่วยกำกับกรมคชบาล เมื่อสมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีพระชนนีสิ้นพระชนม์แล้วประมาณ ๑๐ ปี เกิดขบถหม่อมไกรสรเมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๑ คดีมีเรื่องพัวพันอย่างไรไม่ทราบ เจ้าฟ้าอาภรณ์เลยถูกสงสัยและถูกจับขังด้วย และได้สิ้นพระชนม์ในที่คุมขังด้วยอหิวาตกโรคในปีวอก พ.ศ. ๒๓๙๑ นั้น พระชนมายุได้ ๓๓ ปี โปรดให้นำพระศพไปฝังดินไว้ แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เลานั้นทรงผนวชอยู่วัดบวรนิเวศได้โปรดให้ขุดพระศพขึ้นมา เพื่อกราบบังคมทูลทำพิธีถวายเพลิงพระศพ ตามแบบอย่างถวายพระเพลิงพระศพเจ้านายชั้นเจ้าฟ้า ดังปรากฏความอยู่ในโคลงลิขิตมหามกุฎราชคุณานุสรณ์ พระนิพนธ์พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ว่า

สองพันสามศัตระเก้า สิบเอ็ด วอกรา
เกิดเหตุอาเภทเผด็จ อมิตรม้วย
หม่อมไกรสระสำเร็จ โทษถูก พิฆาฏท่าน
ผิตพยตเป็นกบฏด้วย เรื่องช้างหมางกัน

พัญเอิญเจ้าฟ้าอนุช ะภูธร ศิษย์ท่าน
ทรงพระนามะอาภรณ์ พวกด้วย
ทรงผีสัตรีหล่อน แถลงเลศ เสมอนา
ว่าหม่อมไกรสรย้วย ยศะต้องครองถวัลย์

สังขลิกะทัณฑ์พระน้อง พันธนา ไว้แน
พเอิญประชวรอหิวาต์ หว่างตรึ้ง
ปะรามาสเชษฐราชครา สิ้นพระ ชนม์ฮือ
ทูลหม่อมพระประทะอึ้ง อนาถเศร้าสงสาร

เสมือนประจารเจ้าฟ้าด่วน ฝังดิน เสียรา
โลหิตติดปัถพิน พ่วนร้าย
เสด็จขุดพระศพถวิล ถวายพระ เพลิงแฮ
ทรงโกษลังกาละม้าย หีบตั้งดังพราหมณ์

ถึงยามเมรุแล้วจัก ถวายเพลิง
ถวายพระพรสมเชิง ช่วยเกื้อ
ขอกลองชนะถเกิง เกียรติกษัตริย์ ประโคมรา
เชษฐราชโปรดประสาทเอื้อ เช่นเอื้ออวยสยม

ทูลบรมะจักริชถ้วน องค์โส ทรฤๅ
ถวายพระเพลิงบุพโพ เลิศหล้า
พระองค์อรุณะวงศ์โม ทนาเสด็จ เดียวเอย
นั่นก็ฟ้ากลางฟ้า พระฟ้ากรมขุน


"พระองค์อรุณะวงศ์" นั่นคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวรศักดิพิศาล สุพัฒนาการสวัสดิ พระนามเดิมพระองค์เจ้าอรุณวงศ์ ต้นสกุล อรุณวงศ์ ณ อยุธยา ทุกวันนี้ พระองค์เป็นพระโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยกับเจ้าจอมมารดาเอม มีพระชนมายุแก่กว่าเจ้าฟ้าอาภรณ์ ๔ ปี

"ฟ้ากลาง" ก็คือ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์ พระอนุชาร่วมพระชนนีเดียวกันกับเจ้าฟ้าอาภรณ์

ก่อนสิ้นพระชนม์ เจ้าฟ้าอาภรณ์มีพระโอรส พระธิดากี่พระองค์ ไม่สามารถจะค้นคว้าได้ในขณะนี้ ทราบแต่ว่าเจ้าฟ้าอาภรณ์ทรงเป็นต้นราชสกุล "อาภรณ์กุล"

ส่วนเจ้าฟ้ากลางนั้น ดำรงพระชนม์ชีพต่อมาแต่พระองค์เดียว ในรัชกาลที่ ๓ นี้ ได้ทรงรับราชการในกรมวังต่อมาในรัชกาลที่ ๔ พระราชทานพระนามใหม่ว่าเจ้าฟ้ามหามาลา และทรงสถาปนาเป็นกรมหมื่นบำราบปรปักษ์ เมื่อปีกุน พ.ศ. ๒๓๙๔ ต่อมาได้เป็นกรมขุนบำราบปรปักษ์ เมื่อวันศุกร์ เดือน ๙ ขึ้น ๙ ค่ำ ปีเถาะ พ.ศ. ๒๔๑๐ ส่วนทางราชการนั้น เมื่อถึงรัชกาลที่ ๔ ก็ได้ว่ากรมวัง กรมพระคชบาล และกรมสังฆการีธรรมการ ต่อมาในรัชกาลที่ ๕ ได้เลื่อนขึ้นเป็นกรมพระบำราบปรปักษ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๗ ต่อมาได้เลื่อนขึ้นเป็นสมเด็จกรมพระยาบำราบปรปักษ์ เมื่อปีระกา พ.ศ. ๒๔๒๘ ส่วนทางราชการนั้น ในรัชกาลที่ ๕ ที่ประชุมพระราชวงศานุวงศ์และข้าราชการผู้ใหญ่พร้อมกันสมมุติให้พระองค์ท่านเป็นผู้สำเร็จราชการในพระราชสำนักและว่าพระคลังทั้งปวง ต่อมาได้เป็นผู้สำเร็จราชการกรมมหาดไทย สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๕ เมื่อวันพุธ เดือน ๑๐ ขึ้น ๔ ค่ำ ปีจอ พ.ศ. ๒๔๒๙ พระชันษา ๖๗ ปี เป็นต้นสกุล "มาลากุล ณ อยุธยา" ดังจะได้บรรยายพระเกียรติในหนังสือเล่มนี้ต่อไป

๑๐. พระเกียรติคุณ

รวมความว่า ในรัชกาลที่ ๕ พระโอรสของสมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีพระองคหนึ่ง คือ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์ ทรงเป็นเจ้านายชั้นสูงศักดิ์ ซึ่งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง พระปิยมหารชทรงเคารพนับถือมากด้วยเหตุว่า สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์ ทรงรับราชการเป็นหลักแผ่นดินในตอนต้นรัชกาลที่ ๕ ครั้นเมื่อมีงานรัชฎาภิเษกในรัชกาลที่ ๕ ณ พระราชวังบางปะอิน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๖ โปรดให้มีการแต่งกลอนจารึก แต่งประทีป เฉลิมพระเกียรติพระเจ้าแผ่นดิน, เจ้านาย, และบุคคลสำคัญ ในงานนั้นมีคำกลอนจารึกแต่ประทัปเฉลิมพระเกียรติสมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี ของท่านเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี เมื่อยังเป็นพระมนตรีพจนกิจ มีว่าดังนี้

ทำโคมนี้มาไว้ ประจงใจจะเฉลิม
พระเกียรติท่านเพิ่มเติม ให้มากกว่าแต่ก่อนมา
จะได้คนอย่างท่าน ก็กันดารเหลือจะหา
ความดีเหลือพรรณนา จะว่าย่อพอให้คน
ได้ทราบทั่วกันว่า นามเจ้าฟ้า ธ กุณฑล
ท่านได้ร่วมสุขปน ในรัชกาลที่สองมา
อยู่นานกาลล่วงไป ท่านก็ได้โอรสา
สนองราชกิจจา นุกิจเลิศประเสริฐแสน ฯ



ข้าพเจ้าขอจบเรื่อง "สมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี" พระชนนีของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์แต่เพียงนี้ และจะได้กล่าวถึงพระประวัติของสมเด็จเจ้าฟ้าชายกลางพระโอรสของพระองค์ต่อไป




....................................................................................................................................................

(๑) พระนามเหล่านี้สมเด็จพระวันรัต วัดพระเชตุพน เป็นผู้ตั้งถวาย

(๒) พ.ศ. ๒๓๔๖

(๓) พ.ศ. ๒๓๕๑

(๔) นามเดิมชื่อ รอด ต้นสกลุ บุณยรัตพันธุ์

(๕) บางฉบับว่า เมืองน่าน

(๖) วันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๓๘๑

(๗) วันพุธที่ ๓ เมษายน พ.ศ. ๒๓๘๒

(๘) เจ้าฟ้าหญิงไม่ปรากฏพระนาม ประสูติเมื่อวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๓๖๓

....................................................................................................................................................

เพชรพระมหามงกุฏ - เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี




 

Create Date : 15 มีนาคม 2550   
Last Update : 31 มีนาคม 2550 15:47:59 น.   
Counter : 2923 Pageviews.  


เจ้าพระยามหาเสนา (บุนนาค)

พระมหามงกุฎเป็นเครื่องหมายของราชาธิปไตย
พระมหามงกุฎสง่างามด้วยประดับเพชรนิลจินดาอันมีค่าฉันใด
ข้าราชการที่อุตส่าพยายามช่วยกันทะนุบำรุงบ้านเมืองให้มีเจริญสุข
ก็เปรียบเหมือนเพชรนิลเครื่องประดับพระมหามงกุฎฉันนั้น

พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว




....................................................................................................................................................


เจ้าพระยาเสนา (บุนนาค)


เจ้าพระยามหาเสนา ที่สมุหกลาโหม นามเดิม บุนนาค ข้าหลวงเดิมในรัชกาลที่ ๑ เมื่อเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว โปรดให้เป็นพระยาอุไทยธรรม แล้วเป็นเจ้าพระยายมราช แล้วเป็นเจ้าพระยามหาเสนา มีคำปรึกษาปูนบำเหน็จว่า บุนนาค (และมีชื่อคนอื่นอีกหลายนาย) ทำราชการมาช้านาน ได้โดยเสด็จพระราชดำเนินการพระราชสงครามไปปราบอริราชข้าศึกนานานุประเทศ มีชัยชำนะหลายครั้ง มีความชอบมาก ขอพระราชทานตั้งให้นาย บุนนาค เป็นพระยาอุไทยธรรม ในพระราชพงศาวดารว่า ตรัสเอาหม่อมบุนนาค ทนายข้าหลวงเดิมเป็นพระยาอุไทยธรรม อีกตอนหนึ่งว่า ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาอุไทยธรรมเลื่อนที่เป็นพระยายมราช

ในลำดับเสนาบดีของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ว่า โปรดฯให้เจ้าพระยายมราช ชื่อ บุนนาค เป็นบุตรพระยาจ่าแสนยากรครั้งกรุงเก่า มาเป็นเจ้าพระยาอัครมหาเสนาที่สมุหกลาโหม (เจ้าพระยามหาเสนาบุนนาคได้คุณนวล น้องนางสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี เป็นภรรยา บุตรหลานจึงเป็นราชนนิกุล) บุตรธิดาทำราชการ คือ สมเด็จพระยาองค์ใหญ่ องค์น้อย บุตรหญิง คือ เจ้าคุณวังหลวง(นุ่ม) เจ้าคุณวังหน้า(คุ้ม) เจ้าคุณปราสาท(กระต่าย) และเจ้าจอมมารดาตานี(ซึ่งเรียกกันว่า เจ้าคุณวัง เป็นธิดาเกิดด้วยภรรยาเดิม ทำราชการในรัชกาลที่ ๑ เป็นเจ้าจอมมารดา พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจงกลและกรมหมื่นสุรินทรรักษ์)

เจ้าพระยามหาเสนาผู้นี้ เกิดเมื่อปีมะเมีย พ.ศ. ๒๒๘๑ ถึงอสัญกรรมในรัชกาลที่ ๑ เมื่อปีฉลู พ.ศ. ๒๓๔๘ อายุได้ ๖๘ ปี
เป็นต้นสกุล บุนนาค ในบัดนี้




ประวัติ เจ้าพระยามหาเสนา (บุนนาค)
ของ พระยาโกมารกุลมนตรี


(๑)

เมื่อกรุงศรีอยุธยายังเป็นราชธานีของไทย และในรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราช ซึ่งนิยมเรียกกันว่า พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (พระเจ้าแผ่นดินองค์ที่ ๓๑ ของกรุงศรีอยุธยา) ในวัดสามวิหารอันเป็นวัดใหญ่วัดหนึ่ง มีภิกษุสามเณรจำพรรษาอยู่เป็นจำนวนมาก และในจำนวนนั้น มีสามเณรอยู่สามองค์ ซึ่งถ้าใครสังเกตจะเห็นว่า สามเณรสามองค์นี้ไว้ตัวว่าสูงศักดิ์กว่าสามเณรอื่นๆ และถ้าถามท่านสมภารผู้เป็นอาจารย์ว่า สามเณรสามองค์ศิษย์ของท่านนั้นเป็นลูกเต้าเหล่าใคร ท่านสมภารจะเล่าประวัติของแต่ละองค์ให้ฟังว่า

สามเณรองค์ที่แก่กว่าเพื่อนนั้น เกิดปีขาล ชื่อสิน เป็นบุตรบุญธรรมของ ฯพณฯ เจ้าพระยาจักรี สมุหนายก บิดาตัวนั้นเป็นจีนพ่อค้า ชื่อไหฮอง มารดาชื่อเอี้ยง เมื่อเวลาคลอดฟ้าผ่าลงที่เรือน คลอดออกมาแล้วงูใหญ่เลื้อยขึ้นไปขดอยู่รอบกระด้ง บิดาเห็นเป็นทารกที่ชะตาแรงจะเลี้ยงเองเกรงจะไม่รอด จึงยกให้ผู้มีบุญวาสนา ท่านสมุหนายกก็ยินดีรับเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม

สามเณรที่อายุรองลงมานั้น ชื่อทองด้วง เกิดปีมะโรงเป็นบุตรหลวงพิพิธอักษร (ทองดี) เสมียนตรากรมมหาดไทย สามเณรองค์นี้ลักษณะกิริยาบ่งชัดว่า โตขึ้นจะเป็นคนมีบุญ ถ้าเทียบกันในทางสติปัญญา สามเณรทองด้วงดูเหมือนจะเหนือสามเณรสิน

สามเณรองค์ที่อ่อนกว่าเพื่อนนั้น เกิดปีมะเมีย ชื่อบุนนาค เป็นบุตรพระยาจ่าแสนยากร ข้าราชการวังหน้า สามเณรองค์นี้มีนิสัยสุภาพอ่อนโยน ปัญญาไว เรียนดี เสียงก็ดี เทศน์กัณฑ์มัทรีเพราะนัก บ้านอยู่ใกล้ๆวัดนี้เอง

สามเณรสามองค์นี้ชอบพอกันมาก อยู่ไหนอยู่ด้วยกัน เล่นด้วยกัน เรียนด้วยกัน เพราะเป็นเพื่อนสนิทกันมาตั้งแต่ก่อนอุปสมบท สามเณรสินนั้นเป็นเชื้อจีน ดังที่เล่ามาแล้ว แต่สามเณรบุนนาคนี้เป็นเชื้อแขก

ถ้าใครซักไซร้ท่านสมภารต่อไปว่า เป็นเชื้อแขกต่างศาสนาเหตุใดจึงมาบวชเณรในพุทธศาสนา ท่านสมภารจะชี้แจงให้ฟังว่า ตนสกุลเป็นแขกเจ้าเซ็น แต่สกุลนี้เปลี่ยนมานับถือพุทธศาสนามาสามชั่วคนแล้ว ถ้าผู้ฟังสงสัยไม่เข้าใจดี จะขอให้ท่านเล่าเรื่องราวของวงศ์สกุลของสามเณรบุนนาคให้ฟังอย่างละเอียด ท่านจะเล่าดังนี้

เมื่อห้าหกสิบปี่ที่แล้วมา แขกเจ้าเซ็นชาวอาหรับชื่อ เฉกอะหมัด ได้เข้ามาตั้งห้างค้าขายอยู่ในกรุงนี้ ซื้อของไทยบรรทุกเรือสลุบส่งออกไปขายเมืองแขก และนำสินค้าแขกเข้ามาขายเมืองไทย การค้าขายนี้เจริญรุ่งเรือง ทำให้ท่านเฉกอะหมัดเป็นเศรษฐีใหญ่ ท่านได้หญิงไทยเป็นภรรยาและชอบพอกันมากกับเจ้านายขุนนางไทย เข้ารับราชการได้เป็นที่พระยาเฉกอะหมัดรัตนราชเศรษฐี เจ้ากรมท่าขวา ท่านได้ช่วยพระเจ้าปราสาททองเมื่อยังเป็นพระยามหาอำมาตย์ ปราบกบฏญี่ปุ่นในรัชกาลพระเจ้าทรงธรรม ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์ขึ้นเป็นเจ้าพระยาเฉกอะหมัดรัตนาธิบดี สมุหนายก อัครมหาเสนาบดีฝ่ายเหนือ และเมื่อชราลงในรัชกาลพระเจ้าปราสาททอง ท่านเป็นเจ้าพระยาบวรราชนายก จางวางกรมมหาดไทย ท่านผู้นี้เป็นต้นวงศ์เฉกอะหมัด

บุตรของท่านผู้นี้คือ เจ้าพระยาอภัยราชา(ชื่น) เจ้าพระยาอภัยราชามีบุตรชื่อสมบุญ เป็นเจ้าพระยาชำนาญภักดี สมุหนายก อัครมหาเสนาบดีในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ และบุตรของเจ้าพระยาชำนาญภักดี ชื่อใจ เป็นเจ้าพระยาเพชรพิไชย วงศ์เฉกอะหมัดถือศาสนาอิสลามตลอดมา มีกระฎีเจ้าเซ็นอยู่ในกรุงนี้สองแห่ง คือที่บ้านท้ายคูแห่งหนึ่ง เป็นกระฎีที่ท่านเฉกอะหมัดสร้างขึ้น ที่บ้านแขกกระฎีใหญ่ใกล้ๆวัดอำแมแห่งหนึ่ง ซึ่งท่านพระยาศรีนวรัตน์(อากามหะหมัด) บุตรท่านมหะหมัดสะอิด น้องท่านเฉกอะหมัดเป็นผู้สร้าง เจ้าพระยาเพชรพิไชย(ใจ) ตั้งบ้านเรือนอยู่ริมวัดนี้ ท่านเป็นต้นเหตุที่พวกวงศ์เฉกอะหมัดเปลั่ยนมานับถือพุทธศาสนา เพราะพระเจ้าแผ่นดินมีพระราชประสงค์ให้ท่านทิ้งศาสนาแขกมาเข้ารีตไทย ท่านก็เต็มใจปฏิบัติตาม ท่านได้ปฏิญาณตนเป็นพุทธศาสนิกชนเมื่อตามเสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปนมัสการพระพุทธบาท แต่นั้นมาวงศ์เฉกอะหมัดก็นับถือศาสนาไทย ท่านผู้นี้เป็นบิดาของท่านพระยาจ่าแสนยากร ซึ่งเป็นบิดาของสามเณรบุนนาคนี้

พระยาจ่าแสนยากรเป็นจางวางกรมมหาดไทยวังหน้า ไม่ใช่วังหน้าองค์นี้เท่านั้น รับราชการมาแต่ครั้งสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้านราธิเบศร์ กรมขุนเสนาพิทักษ์ เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล เวลานั้นท่านเป็นพระยาเสน่หาภูธร ท่านเป็นคนโปรดกรมพระราชวังบวร กรมขุนเสนาพิทักษ์ ประทานท่านบุญศรีให้เป็นภรรยา และท่านบุญศรีภรรยาประทานนี้เป็นมารดาสามเณรบุนนาค



(๒)


สามเณรสิน คือ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี สามเณรทองด้วง คือ สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และสามเณรบุนนาค คือ เจ้าพระยามหาเสนา ผู้อ่านได้ทราบชีวิตตอนต้นของเจ้าพระยามหาเสนา(บุนนาค) ผู้เป็นต้นสกุล บุนนาค แล้ว จะดำเนินความในประวัติของท่านเจ้าพระยาผู้นี้ต่อไป

สามเกลอนี้สึกจากสามเณรแล้วก็ยังพบปะเที่ยวเล่นด้วยกันเสมอ กาลวันหนึ่งขณะที่นอนสนทนากันที่หน้าบ้านเจ้าพระยาจักรี นายสินเคลิ้มหลับไป นายสินเวลานั้นยังไว้ผมเปีย นายบุนนาคเห็นได้ที ก็ค่อยๆเอาผมเปียนายสินผูกเข้ากับฟากเรือนที่นอนอยู่ด้วยกัน โดยมิให้นายสินรู้ตัว ผูกแน่ดีแล้วก็ทำเสียงเอะอะดังขึ้น นายสินตื่นขึ้นด้วยความตกใจ รีบลุกขึ้นกระชากผมเปียตนเองโดยแรง คนที่ได้เห็นก็พากันฮาขึ้น การเสียทีกันในทางเชิงเล่น อันฝ่ายที่เสียทีต้องเจ็บอายนี้ เป็นเหตุให้มางมึนกันไป ไม่รักใคร่กันสนิทเหมือนแต่ก่อนมา

เมื่ออายุสมควรรับราชการได้แล้ว นายบุนนาคนั้นพระยาจ่าแสนยากรผู้บิดาได้นำขึ้นถวายเป็นมหาดเล็ก รับราชการในเจ้าฟ้าอุทุมพรราชกุมาร กรมขุนพรพินิต กรมพระราชวังบวรสถานมงคล คือวังหน้าต่อจากกรมขุนเสนาพิทักษ์ซึ่งถูกลงพระราชอาญาจนสิ้นพระชนม์ เรื่องเป็นชู้กับเจ้าฟ้าสังวาลย์ นายสินนั้น เจ้าพระยาจักรีนำขึ้นถวายตัวเป็นมหาดเล็กในพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ และหลวงพิพิธอักษรก็ถวายตัวนายทองด้วง ให้เป็นมหาดเล็กในกรมพระราชวังบวรเช่นเดียวกับนายบุนนาค

นายบุนนาคได้กระทำการมงคลสมรสกับท่านลิ้ม ธิดาพระธิเบศร์บดี เหตุที่ไดท่านลิ้มเป็นภรรยานี้ น่าจะเป็นเพราะนายบุนนาคเป็นมหาดเล็ก และพระธิเบศร์บดีเป็นจางวางมหาดเล็ก คงรับใช้ทั้งทางราชการและส่วนตัว คงไปมาที่บ้านพระธิเบศร์บดีเนืองๆ และได้พบเห็นท่านลิ้มเข้าเกิดความรักใคร่กันขึ้นเอง หรือเพราะบิดานายบุนนาคเห็นว่า ถ้านายบุตรของท่านได้ธิดาผู้บังคับบัญชาโดยตรงเป็นภรรยา จะเป็นประโยชน์แก่ชีวิตราชการของนายบุนนาค จึงจัดการสู่ขอตกแต่งให้ หรืออาจจะเป็นเหตุสองประการควบกันก็อาจเป็นได้ การสมรสกันยังให้เกิดธิดาด้วยกันคนหนึ่ง เมื่อทำขวัญตั้งชื่อ ได้ขอให้พระยาจ่าแสนยากรผู้เป็นปู่ขนานนาม ประจวบเป็นเวลาที่ท่านพึ่งกลับจากราชการทัพที่ตานี ท่านจึงให้ชื่อหลานปู่ของท่านว่า ตานี

พระยาจ่าเเสนยากกร(เสน) บิดานายบุนนาคนี้ ในรัชกาลกรมขุนพรพินิต หรือที่ภายหลังกันว่า ขุนหลวงหาวัด ได้เป็นเจ้าพระยามหาเสนา สมุหพระกลาโหมอัครมหาเสนาบดีปักษ์ใต้ และเพราะเหตุที่บ้านของท่านอยู่ริมวัดสามวิหาร ราษฎรจึงเรียกท่านว่า เจ้าคุณกลาโหมวัดสามวิหาร

อันความเจริญในราชการของหนุ่มสามคนนั้น นายสินรุ่งโรจน์กว่าเพื่อน ได้เป็นพระยาตาก เจ้าเมืองตาก นายทองด้วง เป็นหลวงยกกระบัตรไปอยู่ราชบุรี ส่วนนายบุนนาคนั้น เป็นนายฉลองไนยนารถ หมาดเล็กหุ้มแพรในกรมพระราชวังบวร และคงอยู่ในบ้านบิดา

ขณะนั้นทางกรุงอังวะ ซึ่งพระเจ้ามางลองเป็นเจ้าแผ่นดิน กำลังอยากทำศึกกับกรุงศรีอยุธยา พอดีเกิดเรื่องจับเรือกำปั่นและนายเรือกันขึ้นทางเมืองตะนาวศรี เมืองมะริดมีใบบอกเข้ามากราบทูล สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสสั่งให้ม้าใช้ออกไปสืบ ม้าใช้กลับมากราบทูลว่าพม่ายกเข้ามาทางเมืองมะริดทางหนึ่ง ทางท่ากระดานทางหนึ่ง ทางเชียงใหม่ทางหนึ่ง ซึ่งอันที่จริงนั้น พม่ายกมาทางเมืองมะริดทางเดียว

กองทัพพระเจ้ามางลองตีเมืองกุย เมืองปราณ เพชรบุรี ราชบุรี ตะลุยเข้ามาเป็นลำดับ จนเข้าตั้งประชิดกำแพงพระนคร ต้องนับว่าพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงดูลักษณะคนเป็น ในคราวที่ไม่ยอมให้กรมขุนอนุรักษ์เป็นมหาอุปราช ด้วยทรงวิตกว่าจะเกิดความวิบัติฉิบหาย กรมขุนอนุรักษ์เวลานี้ยิ่งกว่าดำรงตำแหน่งมหาอุปราช ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินทีเดียว และเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ไม่ทรงสามารถจะบัญชาการป้องกันแผ่นดินให้พ้นเงื้อมมือข้าศึกได้ สมเด็จพระราชอนุชาต้องทรงลาผนวชออกมาว่าราชการ ซึ่งยุ่งทั้งการสงครามและการฝ่ายในพระราชสำนัก แต่เคราะห์ของเมืองไทยยังไม่ถึงคราวอับปางในครั้งนั้น เผอิญพระเจ้ามางลองประชวนลงต้องยกทัพกลับ เลยสวรรคตในระหว่างทาง เสร็จการสงครามแล้วสมเด็จพระราชอนุชาเสด็จกลับออกไปทรงผนวชอีก

แต่นั้นมาก็ไม่ได้ว่างศึกพม่า มังลอกราชบุตรมางลองขึ้นครองราชสมบัติ ให้มังหม่อมราชบุตรมาตีเชียงใหม่และลำพูน มังลอกสวรรคตแล้ว มังระราชอนุชาขึ้นเป็นพระเจ้ากรุงอังวะก็ให้มังมหานรธานคราโบ มังยีเจสู สตูกามนี แยงตะยาเข้ามาตีเมืองทะวายและเมืองตะนาวศรี ครั้นได้เมืองทะวายแล้ว พม่าเดินกองทัพเรื่อยเข้ามาตีเมืองสุพรรณบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี ได้แล้ว เข้ามาบรรจบกัน ณ ทับลำลูกแก แล้วตั้งค่ายอยู่ตอกระออมและดงรักหนองขาว พม่าตีค่ายของไทยที่บางบำรุ นนทบุรี และบางระจันได้

เมื่อความปรากฏว่าพม่าใกล้กรุงเข้าทุกที ราษฎรพากันตระหนกตกใจอลหม่านไปทั่วกรุง พวกที่อยู่นอกพระนครต้องอพยพเข้าไปอยู่ในพระนคร และเมื่อก่อนหน้าอพยพใครมีทรัพย์สมบัติที่ไม่สามารถจะเอาติดตัวไปได้ จะทิ้งไว้ก็เสียดายว่าจะตกเป็นของข้าศึก จึงพากันฝังทรัพย์สมบัติของตนซ่อนไว้ด้วยความหวังว่า เสร็จศึกรอดตายและจะได้ขุดขึ้นมาเป็นกำลังในคราวตกทุกข์ได้ยากเพราะสงคราม เจ้าพระยามหาเสนา(เสน)นั้น ดังได้กล่าวมาแล้ว บ้านอยู่ริมวัดสามวิหารอันอยู่ชานพระนคร ต้องอพยพเช่นเดียวกับผู้อื่น ก็ได้ฝังซ่อนทรัพย์สมบัติเช่นเดียวกับผู้อื่น วิธีซ่อนทรัพย์สมบัติกันครั้งนั้น คงเอาทรัพย์สมบัติที่มีค่าใส่โอ่งไหปิดฝาขุดหลุมฝังในบริเวณบ้านของตน ที่ที่ขุดหลุมฝังคงเป็นที่ที่นึกว่าสังเกตยาก รักษาเป็นความลับ ให้รู้แต่เฉพาะผู้ที่จำเป็นต้องรู้จริงๆเท่านั้น

กองทัพแรกของพม่าถึงกรุงไม่ช้า กองทัพพม่าอีกกองหนึ่งซึ่งมีโปสุพลาเป็นแม่ทัพยกมาแต่เชียงใหม่ เข้าทางด่านสวรรคโลก ก็เลยลงมาช่วยกองทัพทางใต้ มาอยู่ปากน้ำประสบ พอโปแมงแม่ทัพสีกุกป่วยเป็นไข้ตาย พม่าตั้งค่ายล้อมกรุงอยู่ทุกทิศ และล้อมอยู่ปีเศษ ขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยในกรุงยกออกไปรบ ก็พ่ายแพ้แตกเข้ามา ในที่สุดพม่าเข้าเมืองได้ ไทยเสียกรุงศรีอยุธยาเมื่อวันอังคารเดือนห้าขึ้น ๙ ค่ำ ปีกุน พุทธศักราช ๒๓๑๐

ชาวกรุงศรีอยุธยาในขณะที่เสียกรุงนั้น แบ่งออกได้เป็นสี่จำพวก คือตายพวกหนึ่ง เป็นเชลยพม่าส่งไปกรุงอังวะพวกหนึ่ง เล็ดลอดหนีพวกพม่ากระจัดกระจายกันไปพวกหนึ่ง ทรยศต่อชาติเข้าสวามิภักดิ์พม่าพวกหนึ่ง ครอบครัวของนายฉลองไนยนารถอยู่ในจำพวกที่หนีพม่า นายฉลองไนยนารถซึ่งพลัดพวกไปแต่เฉพาะท่านลิ้มภรรยาและท่านตานีธิดานั้น เมื่ออกจากรุงได้แล้วนึกได้ถึงหลวงยกกระบัตรผู้เป็นเพื่อน ก็เล็ดลอดต่อไปยังสวนอัมพวา ราชบุรี และอาศัยอยู่กับหลวงยกกระบัตร



(๓)


ในระหว่างที่พม่าล้อมกรุงอยู่นั้น พระยาตาก(สิน) ซึ่งได้เลื่อนเป็นพระยาวชิรปราการเจ้าเมืองกำแพงเพชรแล้ว แต่ราษฎรยังคงเรียกว่า พระยาตาก เป็นแม่ทัพคนหนึ่งครั้งเมื่อไทยไปตีค่ายพม่าที่ปากน้ำประสบ พระยาตากก็คุมทัพไปด้วยและเป็นกองที่รบรั้งหลัง ในขณะที่จมื่นศรีสรรักษ์และจมื่นเสมอใจราชขี่ม้าลงแม่น้ำหนีพม่า และเมื่อคราวทางในกรุงแต่ทัพเรือออกไปตั้งอยู่วัดใหญ่ พระยาตากก็คุมกองทัพเรือออกไปด้วย เมื่อก่อนหน้าพม่าจะเข้ากรุงได้พระยาตากเห็นว้าจะอยู่สู้ต่อไปก็ไม่มีทางที่จะเอาชนะข้าศึกได้ เหตุการณ์ภายในกรุงก็ยุ่งเหยิง สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินเอาพระราชหฤทัยใส่แก่ผู้หญิงมากกว่าการสงคราม ทั้งๆที่ข้าศึกตั้งประชิดกำแพงพระนครอยู่ พระยาตากจึงพาบริวารเท่าที่รวมกันได้ตีแหกที่ล้อมออกไปตั้งซ่องสุมรี้พลอยู่ทางชายฝั่งทะเลตะวันออก

ครั้นกรุงเสียแก่พม่าแล้ว พระยาตากตั้งก๊กใหญ่อยู่ก๊กหนึ่ง และเมื่อรวบรวมกำลังได้พอแล้วก็ยกกองทัพเข้ามากู้กรุงศรีอยุธยา แล้วขึ้นปราบดาภิเษกเป็นพระเจ้าแผ่นดินแต่ย้ายมาตั้งราชธานีขึ้นที่กรุงธนบุรี ราษฎรจึงถวายพระนามว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี

สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเมื่อยังเป็นพระยาตาก หัวหน้าก๊กใหญ่ก๊กหนึ่งทางชายทะเลฝั่งตะวันออกนั้น มีข้าราชการไปสมัครเป็นบริวารเป็นอันมาก ในจำนวนผู้ที่ไปสมัครเข้าด้วยนี้ มีนายสุดจินดา(บุญมา)คนหนึ่ง นายสุดจินดานี้ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงตั้งให้เป็นพระมหาในตรี ท่านผู้นี้เป็นน้องหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี ที่นายฉลองไนยนารถ(บุนนาค)ไปอาศัยด้วย เสร็จการปราบดาภิเษกแล้วพระมหามนตรีได้กราบทูลพระกรุณาขอไปรับหลวงยกกระบัตรราชบุรี ผู้พี่เข้ามาร่วมรับราชการ ก็โปรดเกล้าฯให้ออกไปรับตัวมา แล้วทรงพระกรุณาตั้งให้เป็นพระราชวรินทร์

เมื่อนายสุจินดาออกไปรับนั้น เพราะเหตุที่เชิญพระบรมราชโองการออกไป พระราชวรินทร์จึงรีบเข้ามากรุงธนบุรีโดยลำพัง ไม่มีเลาที่จะจัดให้ครอบครัวเข้ามาด้วย ได้ทิ้งครอบครัวไว้ในความดูแลของนายฉลองไนยนารถ และมอบภาระให้นายฉลองไนยนารถเป็นผู้พาครอบครัวเข้ามากรุงธนบุรี นายฉลองไนยนารถได้ปฏิบัติการตามสั่ง และตนเองนั้นได้ปลูกเรือนอยู่ในจวน เป็นทนายหน้าหอ

ถึงเพื่อนฝูงทั้งหลายสมัครเข้ารับราชการในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี นายฉลองไนยนารถก็หาเข้าทำราชการไม่ และยังซ้ำขอมิให้ญาติและเพื่อนฝูงกล่าวชื่อตนให้เข้าพระกรรณสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเป็นอันขาด ทั้งนี้เพราะเกรงพระราชอาญา ว่าถ้าทรงจำความหลังเรื่องผูกผมเปียได้และมีพระราชหฤทัยพยาบาท อาจจะทรงพาลเอาผิด

พระราชวรินทร์และพระมหามนตรีสองพี่สองนั้น เป็นทหารเอกของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ช่วยทำสงครามปราบก๊กอื่น และตีเมืองใกล้เคียงตลอดมา ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์ตามความดีความชอบโดยลำดับ จนพระราชวรินทร์(ทองด้วง)ได้เป็นเจ้าพระยาจักรี และพระมหามนตรี(บุญมา)ได้เป็นเจ้าพระยาสุรสีห์

วันหนึ่งมีงานวัดแจ้ง นายฉลองไนยนารถถือพานทองล่วมหมากตามเจ้าพระยาจักรีไปในงานนั้น พอสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จพระราชดำเนินมา นายฉลองไนยนารถกลัวจะทอดพระเนตรเห็น ก็รีบเข้าไปซ่อนในท้องเรือโกลนลำหนึ่ง ต่อเมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปแล้ว จึงได้ออกจากที่ซ่อนและรีบกลับบ้าน ตั้งแต่นั้นมา นายฉลองไนยนารถมิได้ตามเจ้าพระยาจักรีเข้าไปในพระราชวังอีกเลย

นายฉลองไนยนารถไม่ยอมรับราชการในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี แต่อันที่แท้นั้น รับราชการอยู่ตลอดเวลาโดยไม่รู้สึกตัว เพราะเจ้าพระยาจักรีไปสงครามครั้งไร นายฉลองไนยนารถก็ไปช่วยรบทุกครั้ง อันเป็นรับราชการอยู่ในตัว ชั่วแต่พระเจ้ากรุงธนบุรีไม่ทรงทราบ ราชการที่นายฉลองไนยนารถกระทำจึงเป็นการ "ปิดทองหลังพระ"

กาลวันหนึ่ง นายฉลองไนยนารถนึกขึ้นมาได้ถึงทรัพย์สินซึ่งเจ้าพระยามหาเสนา(เสน)ผู้บิดาฝังไว้ที่กรุงศรีอยุธยา และตนเป็นผู้ทราบที่ฝัง จึงชวนท่านลิ้มภรรยาไปขุดทรับย์สินนั้น เมื่อตกลงกันแล้วก็ฝากท่านตานีผู้เป็นธิดาไว้กับท่านผู้หญิงนาก สามีภรรยาก็พาบ่าวขึ้นไปกรุงศรีอยุธยา ไปถึงบ้านเก่าที่ริมวัดสามวิหาร นายฉลองไนยนารถจำได้ดีว่าบิดามารดาฝังทรัพย์ไว้ตรงไหน จึงขุดทรัพย์เงินทองของต่างๆขึ้นมาได้ทั้งสิ้น แล้วก็บรรทุกเรือใหญ่ให้คนแจวล่องกลับลงมา เข้าทางแม่น้ำอ้อมเมืองนนทบุรี

มาถึงปากคลองบางใหญ่อันเป็นที่เปลี่ยวเวลาห้าทุ่มเศษ มีพวกผู้ร้ายล่องเรือพายแจวตามมาหลายลำ พอทันกันเข้าที่ตรงนั้น ก็พากันเข้ากลุ้มรุมตีเรือนายฉลองไนยนารถ สองฝ่ายได้ต่อสู้กันเป็นสามารถ แต่ฝ่ายผู้ร้ายมากกว่า พวกผู้ร้ายได้ฆ่าท่านลิ้มกับทาสชายสองคนตายในเรือ นายฉลองไนยนารถเห็นภรรยาและคนเรือตาย จะต่อสู้ต่อไปก็ไม่มีทางที่จะเอาชนะได้ จึงต้องทิ้งเรือลงน้ำกับทาสคนหนึ่ง ว่ายไปขึ้นตลิ่ง ผู้ร้ายเก็บทรัพย์สินซึ่งบรรทุกมานั้นไปได้ทั้งสิ้น นายฉลองไนยนารถอาศัยวัดคืนหนึ่ง รุ่งเช้าก็เดินไปกรุงธนบุรี และแจ้งเหตุร้ายที่เกิดขึ้นแก่ตนให้เจ้าพระยาและท่านผู้หญิงจักรีทราบทุกประการ

ท่านผู้หญิงนากของเจ้าพระยาจักรีนั้น บิดาท่านชื่อทอง มารดาชื่อสั้น เป็นเศรษฐีบ้านอัมพวา บางช้าง แขวงเมืองราบุรี เมื่อท่านได้ทราบเรื่องท่านลิ้มถูกผู้ร้ายฆ่าตาย ท่านสงสารนายฉลองไนยนารถเป็นอันมาก จึงยกท่านนวลน้องสาวของท่านให้นายฉลองไนยนารถ และประกอบการพิธีสมรสให้นายฉลองไนยนารถกับท่านนวลอยู่กินด้วยกัน

ความคิดของท่านผู้หญิงจักรีที่ให้ท่านนวลร่วมชีวิตกับนายฉลองไนยนารถนั้น เป็นความคิดฉลาดยิ่งนัก เพราะเป็นการกระทำที่ได้นกถึงสามตัวด้วยหินก้อนเดียว นกตัวที่หนึ่งคือปลูกฝังให้น้องสาวของท่านซึ่งสมควรมีเหย้าเรือนของตนเองได้แล้วเป็นฝั่งฝา นกตัวที่สองคือแสดงความเมตตาปรานีต่อนายฉลองไนยนารถผู้เคราะห์ร้าย ต้องเสียทั้งภรรยาและทรัพย์สิน แม้ตัวเองก็จวนเจียนจะต้องตายด้วยเพราะมือโจร การให้นายฉลองไนยนารถเป็นเป็นน้องเขยนี้ เป็นการผูกจิตใจนายฉลองไนยนารถตรึงแน่นไว้อย่างไม่มีวันที่จะคลายได้ นายฉลองไนยนารถจะต้องรู้สึกเองว่านอกจากความเห็นใจในคราวเคราะห์ร้าย ยังเป็นการตอบแทนความดีความชอบที่ตนได้รับใช้สอยมาและทำให้กลายเป็นญาติสนิท ย่อมจะต้องมีความซื่อสัตย์จงรักภักดีต่อเจ้าพระยาและท่านผู้หญิงจักรียิ่งขึ้น เป็นการปฏิการคุณ นกตัวที่สามนั้นคือการปล่อยให้ท่านนวลผู้เป็นสาวขึ้นแล้วเป็นโสดอยู่ต่อไปนั้น มีโอกาสที่พี่น้องอาจขัดใจกันขึ้นได้สักวันหนึ่ง เราจะต้องไม่ลืมว่า ในสมัยนั้นถือความสามัคคีในครอบครัวกันเป็นสิ่งสำคัญ ผู้ใหญ่จึงไม่นิยมให้สาวๆในปกครองเลือกคู่เอง

ส่วนทางเสียนั้นไม่มีเลย เพราะแม้นายฉลองไนยนารถขณะนั้นจะดำรงเพียงตำแหน่งทนายหน้าหอ แต่นายฉลองไนยนารถก็เป็นผู้มีเทือกเถาเหล่ากอมาแต่โบราณกาล และในชั้นเดิมก็เป็นคนเสมอบ่าเสมอไหล่ และเป็นเพื่อนกันมากับเจ้าพระยาจักรี ในแง่ชีวิตสมรสของท่านนวลเล่า ก็ไม่มีเหตุที่ควรวิตก เพราะรู้จักนายฉลองไนยนารถมาเป็นเวลานาน พอที่จะแน่ใจได้ว่านายฉลองไนยนารถเป็นผู้ซึ่งมีน้ำใจหนักแน่นแลมีความประพฤติดี

ผู้หญิงสมัยนี้(พ.ศ. ๒๔๙๓) อันเป็นสมัยที่อบรมให้ความคิดความเห็นดำเนินแนวตะวันตก คงจะนึกว่า ถ้าสรรเสริญว่าท่านผู้หญิงจักรีฉลาด ส่วนท่านนวลนั้นจะว่ากระไร เพราะเมื่อพี่สาวประสงค์ให้แต่งงานก็ยอมตาม ไม่ปรากฏว่ารักใคร่กันมาก่อน ดูประหนึ่งไม่มีจิตใจของตนเอง แต่ถ้าพิเคราะห์ให้ละเอียดจะแลเห็นว่าการสมรสของท่านนั้นไม่ใช่ว่าปราศจากความรัก เราจะต้องไม่ลืมว่า ท่านเห็นนายฉลองไนยนารถมานานพอที่จะบูชาความจงรักภักดีของนายฉลองไนยนารถ ต่อพี่เขยและพี่สาวของท่าน และบูชาความสามารถของนายฉลองไนยนารถที่ปกครองครอบครัวของเจ้าพระยาจักรี ตลอดเวลาที่เจ้าพระยาจักรีเมื่อยังเป็นหลวงยกกระบัตร จากครอบครัวเข้ามารับราชการในกรุงธนบุรี

อนึ่งเมื่อเข้ามาอยู่ในกรุงธนบุรีแล้ว ตำแหน่งทนายหน้าหอและตำแหน่งน้องสาวของนายในครอบครัวขุนนางผู้ใหญ่นั้นย่อมมีกิจที่ติดต่อเกี่ยวข้องกันเนืองๆ ความชอบพอกันในฐานร่วมบ้านกันย่อมมีเป็นธรรมดา ท่านนวลเป็นหญิงสาวมีความบูชาชอบพอนายฉลองไนยนารถเป็นทุนอยู่แล้ว แต่ไม่ได้นึกไปในทางรักใคร่ เพราะนายฉลองไนยนารถมีบุตรภรรยาอยู่ เมื่อนายฉลองไนยนารถมาเป็นพ่อหม้ายลงในปัจจุบันทันด่วน ย่อมเกิดความสงสารบวกความบูชาชอบพอเข้าด้วย และเมื่อพี่สาวแนะเรื่องสมรสขึ้น ความบูชาชอบพอและความสงสารหรือจะไม่กลายเป็นความรัก และความรักอันแท้จริง

ท่านเจ้าพระยาจักรีผู้ซึ่งเดิมเป็นเพื่อนแล้วเป็นที่พึ่งของนายฉลองไนยนารถนั้น เมื่อคราวยกกองทัพกลับไปตีหัวเมืองลาวตะวันออก สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดเกล้าฯเลื่อนบรรดาศักดิ์ให้ท่านขึ้นเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก

ในปีพุทธศักราช ๒๓๒๕ ได้เกิดการจลาจลขึ้นในกรุงธนบุรี อันเป็นเหตุให้สมเด็จพระเจ้ากรุงธนกรุงบุรีต้องเสียราชบัลลังก์และสิ้นพระชนม์ เมื่อการจลาจลได้สิ้นสุดลงแล้ว สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกขึ้นปราบดาภิเษกเป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ย้ายราชธานีมาตั้งทางฝั่งตะวันออกของแม้น้ำเจ้าพระยา และขนานนามว่า กรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร์ ได้โปรดให้ตั้งสมเด็จพระอนุชาธิราช(เจ้าพระยาสุรสีห์)เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ตั้งพระราชนัดดา(พระยาสุรอภัย)เป็นสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์เทเวศ กรมพระราชวังหลัง "ทรงตั้งพระประยูรวงศานุวงศ์ และตั้งเสนาบดีข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยครบทุกหมู่ทุกกระทรวง"

นายฉลองไนยนารถเป็นผู้หนึ่งที่ได้รับพระมหากรุณาในครั้งนั้น พระราชพงศาวดารกล่าวว่า "ตรัสเอาหม่อมบุนนาค ทนายข้าหลวงเดิมเป็นพระยาอุไทยธรรม" โปรดให้ว่าแสงในและช่างมุก พระราชทานบ้านให้อยู่ที่ท้ายวังแถวจวนเสนาบดี

นับแต่กรุงเทพฯเป็นราชธานีมาถึงบัดนี้เป็นเวลา ๑๖๗ ปี และเมื่อ ๑๖๗ ปีที่แล้วมานั้น บรรพชนของเราเห็นเป็นการสำคัญที่จะต้องรักษาเกียรติของเสนาบดี อันเป็นตำแหน่งที่บ้านเมืองควรเชิดชู ในการสร้างพระนครจึงสร้างจวนไว้สำหรับเสนาบดีอยู่ ทั้งๆที่ในสมัยนั้นการติดต่อกับชาวต่างประเทศมีน้อยกว่าในสมัยต่อๆมาหลายเท่า

จวนเสนาบดีซึ่งได้กล่าวมานั้น อยู่ที่วัดพระเชตุพน(วัดโพธิ์) และบ้านซึ่งพระราชทานให้พระยาอุไทยธรรมอยู่อันเป็นบ้านดั้งเดิมของสกุลบุนนาคนั้น อยู่ตรงที่เป็นโบสถ์พระนอนเดี๋ยวนี้ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์(ดิศ)ก็ได้อยู่บ้านนั้นต่อจากเจ้าพระยามหาเสนาผู้บิดา และสมเด็จเจ้าพระยาบรมมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง)ก็เกิดที่ตรงนั้น

พระยาอุไทยธรรมได้ถวายธิดาคนแรกของท่านที่ชื่อตานี ซึ่งเกิดด้วยท่านลิ้มภรรยาเดิมที่ผู้ร้ายฆ่าตาย ให้รับราชการฝ่ายใน ท่านเป็นเจ้าจอมมารดาของพระองค์เจ้าหญิงจงกลนีและพระองค์เจ้าชายเสวตรฉัตร กรมหมื่นสุรินทรรักษ์ ต้นสกุล ฉัตรกุล ท่านเจ้าจอมมารดาตานีนี้ภายหลังเรียกกันว่า เจ้าคุณวัง

ในคราวสงครามกับพม่า ปีพุทธศักราช ๒๓๒๘ ซึ่งพระเจ้าปะดุงยกทัพเข้ามา ฝ่ายไทยจัดทัพออกไปตั้งรับ โดยมีกรมพระราชวังบวรเป็นจอมทัพ ในคราวสงครามซึ่งเรียกกันว่าศึกหินดาดลาดหญ้านี้ เจ้าพระยายมราช(สน)แม่ทัพผู้หนึ่งซึ่งไปตั้งรับที่ราชบุรีต้องโทษ เสร็จสงครามแล้วจึงโปรดเกล้าฯให้พระยาอุไทยธรรม(บุนนาค)เป็นเจ้าพระยายมราช

ต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๓๒๐ ไทยยกทัพไปตีเมืองทะวาย สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯทรงเป็นจอมทัพเอง การสงครามครั้งนี้ตีเมืองทะวายไม่ได้ดั่งพระราชประสงค์ ต้องเลิกทัพกลับ รี้พลของไทยบอบช้ำเป็นอันมาก เจ้าพระยามหาเสนา(ปลี)แม่ทัพผู้หนึ่ง ก็ไม่มีใครทราบว่าตายหรือถูกจับไปเป็นเชลย ทราบแต่ว่าสูญหายไปในกลางศึก เสด็จกลับจากสงครามครั้งนั้นแล้วได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯเลื่อเจ้าพระยายมราชขึ้นเป็นเจ้าพระยามหาเสนา

เจ้าพระยามหาเสนา(บุนนาค) รับราชการในหน้าที่สมุหพระกลาโหม จนอายุได้ ๖๘ ปีจึงถึงอสัญกรรมเมื่อ ปีฉลู พุทธศักราช ๒๓๔๘




ในคลังกระทู้เก่า ที่นี่ มีหลายความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ครับ




 

Create Date : 14 มีนาคม 2550   
Last Update : 23 มีนาคม 2550 10:28:28 น.   
Counter : 4861 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  7  8  

กัมม์
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




วิชา ความรู้จะมีค่าเมื่อถูกถ่ายทอด
[Add กัมม์'s blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com