กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
 
 

เจ้าพระยาไทรบุรี (อับดุลฮามิต)

พระมหามงกุฎเป็นเครื่องหมายของราชาธิปไตย
พระมหามงกุฎสง่างามด้วยประดับเพชรนิลจินดาอันมีค่าฉันใด
ข้าราชการที่อุตส่าห์ช่วยกันทะนุบำรุงบ้านเมืองให้มีความเจริญสุข
ก็เปรียบเหมือนเพชรนิลเครื่องประดับพระมหามงกุฎฉันนั้น




พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว







..........................................................................................................................................................



เจ้าพระยาไทรบุรี (อับดุลฮามิด)

เจ้าพระยาฤทธิสงคราม เจ้าพระยาไทรบุรี นามเดิม ตนกูฮามิด เป็นบุตรเจ้าพระยาไทรบุรี (อาหมัด) เดิมเป็นพระเสนีณรงคฤทธิ์ รายามุดาเมืองไทรบุรี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๒ แล้วเป็นพระยาฤทธิสงคราม พระยาไทรบุรี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๔ ครั้นถึง พ.ศ. ๒๔๓๘ โปรดฯให้เป็นเจ้าพระยา มีสำเนาประกาศดังนี้

ศุภมัสดุ พระพุทธศาสนกาลเป็นอดีตภาคล่วงแล้ว ๒๔๓๘ พรรษา ปัตยุบันกาล จันคตินิยม เอฬะสังวัจฉรภัทรบทมาส ชุษณปักษ์ทศมีดิถีครุวาร สุริยกาล รัตนโกสินทรศก ๑๑๔ สิงหาคมมาส เอกูนตึสติมมาศาหะคุณประเภท บริเฉทกาลกำหนด พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ ฯลฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่า พระยาฤทธิสงครามภักดี ศรีสุลต่านมหะหมัด รัตนราชมุนินทร์ สุรินทรวิวังศา พระยาไทรบุรี เป็นผู้ซึ่งได้ทรงคุ้นเคยและทรงพระกรุณาโดยเฉพาะมาแต่ยังเยาว์ เพราะได้ทรงสังเกตเห็นอัธยาศัยความมั่นคงหลักแหลม คล้ายคลึงกับเจ้าพระยาไทรบุรีผู้เป็นบิดามาก เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้เป็นพระยาไทรบุรี ก็หวังพระราชหฤทัยอยู่ว่า พระยาไทรบุรีคงจะปกครองไพร่บ้านพลเมืองให้มีความผาสุก และทำนุบำรุงบ้านเมืองให้เจริญยิ่งขึ้นโดยความอุตสาหะอย่างเจ้าพระยาไทรบุรีได้ทำมาแต่ก่อน

ตั้งแต่พระยาไทรบุรีได้บังคับบัญชาการบ้านเมืองต่างพระเนตรพระกรรณมา จนบัดนี้ก็ได้ถึง ๑๕ ปี การที่พระยาไทรบุรีได้ปกครองและทำนุบำรุงบ้านเมืองก็มีผลเป็นความเจริญขึ้นโดยลำดับ สมดังที่ได้มีพระราชหฤทัยหวังนั้นทุกประการ อีกประการหนึ่ง พระยาไทรบุรีได้มีความจงรักภักดีต่อใต้ละอองธุลีพระบาท ประจักษ์แก่พระราชหฤทัยมาแต่ก่อนฉันใด พระยาไทรบุรีก็ได้ทรงรักษาความจงรักภักดีต่อใต้ฝ่าละอองอยู่มิได้เคลื่อนคลาด และหมั่นเข้ามาทูลละอองธุลีพระบาทเนืองๆ

อนึ่ง เมื่อเสด็จพระราชดำเนินประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายตะวันตก ได้เสด็จถึงเมืองไทรบุรี พระยาไทรบุรีก็ได้จัดการรับเสด็จโดยความเอื้อเฟื้อเต็มกำลังที่จะให้เป็นเกียรติยศ และเป็นสุขสำราญแก่บรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ และข้าทูลละอองธุลีพระบาท ซึ่งได้โดยเสด็จพระราชดำเนินในครั้งนั้นทั่วกัน มิได้คิดแก่ความลำบากเหน็ดเหนื่อยประการใด

อนึ่ง สรรพราชการที่มีเกี่ยวข้องกับเมืองไทรบุรี ทั้งการภายนอกและภายใน พระยาไทรบุรีได้ปฏิบัติราชการโดยความซื่อสัตย์สุจริต และมีอัธยาศัยโอบอ้อมอารี เป็นที่รักใคร่สรรเสริญของพลเมือง และบรรดาข้าราชการและชนทั้งปวงเป็นอันมาก ทรงพระราชดำริเห็นว่าความชอบความดีของพระยาไทรบุรีตามที่กล่าวมานี้ สมควรจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เพิ่มอิสริยยศพระราชทานพระยาไทรบุรีให้ยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน ให้เป็นแบบอย่างแก่หัวเมืองประเทศราชทั้งปวง และให้เป็นความยินดีแก่ศรีตะวันกรมการไพร่บ้านพลเมืองไทรบุรีทั่วกัน

จึงมีพระบรมราชโองการมานพระบัณฑูรสุรสีหนาท ดำรัสสั่งให้เลื่อนพระยาฤทธิสงครามรามภักดี ศรีสุลต่านมหมัดรัตนราชมุนินทร์ สุรินทรวิวังศา พระยาไทรบุรี ขึ้นเป็นเจ้าพระยา มีอิสริยยศอย่างสูง รับราชทินนามตามตำแหน่งว่า เจ้าพระยาฤทธิสงครามรามภักดี ศรีสุลต่านมหมัดรัตนราชมุนินทร์ สุรินทรวิวงศ์ผดุง ทะนุบำรุงเกดะนคร อมรรัตนาณาเขต ประเทศราชราไชสวริยาธิบดี วิกรมสีห เจ้าพระยาไทรบุรี ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับตระกูล เป็นวิสามัญสมาชิกตำแหน่งที่ ๑ ชื่อปฐมจุลจอมเกล้า เป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์อย่างสูงสุดสำหรับข้าราชการในกรุงสยาม ให้เป็นเกียรติยศของกรุงเทพมหานคร ได้บังคับบัญชาญาติพี่น้องและศรีตะวันกรมการทั้งปวงบรรดาอยู่ในเขตแดนเมืองไทรบุรีทั้งสิ้น ตามที่เจ้าพระยาไทรบุรีแต่ก่อนได้บังคับบัญชามานั้น โดยยุติธรรมและชอบด้วยราชการ จงเว้นการควรเว้น อุตส่าห์ประพฤติการควรประพฤติ และรักษาความซื่อสัตย์สุจริตต่อกรุงเทพมหานคร ตามอย่างธรรมเนียมเจ้าพระยาไทรบุรีแต่ก่อน จงทุกประการ

และให้ญาติพี่น้องศรีตะวันกรมการทั้งปวง มีความสมัครสโมสรช่วยเจ้าพระยาไทรบุรีคิดอ่านการนครและราษฎรมลายูนาครี ให้เกษมศรีสมบูรณ์ มีความเจริญขึ้นโดยความพร้อมพรักสามัคคีธรรม สุจริตทุกประการ

ขอให้สิ่งซึ่งเป็นเหตุเป็นประธานในสกลโลก จงอนุเคราะห์รักษาเจ้าพระยาไทรบุรีและญาติพี่น้องศรีตะวันกรมการทั้งปวง ให้เจริญสุขสวัสดิพิพัฒนมงคลทุกประการ เทอญฯ


บุตรของท่านคนหนึ่ง คือ ตนกู อับดุลเราะห์มาน นายกรัฐมนตรีคนแรกของมาเลเซีย ท่านถึงอนิจกรรมเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๖ อายุ ๗๙ ปี ชื่อในภาษามาเลเซียว่า สุลต่าน อับดุลฮามิด ฮาลิม ชา




 

Create Date : 21 เมษายน 2550   
Last Update : 21 เมษายน 2550 14:44:45 น.   
Counter : 6031 Pageviews.  


พระยาศรีสุริยราชวรานุวัติ (โพธิ)


พระมหามงกุฎเป็นเครื่องหมายของราชาธิปไตย
พระมหามงกุฎสง่างามด้วยประดับเพชรนิลจินดาอันมีค่าฉันใด
ข้าราชการที่อุตส่าห์ช่วยกันทะนุบำรุงบ้านเมืองให้มีความเจริญสุข
ก็เปรียบเหมือนเพชรนิลเครื่องประดับพระมหามงกุฎฉันนั้น





พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว




..........................................................................................................................................................



พระยาศรีสุริยราชวรานุวัติ (โพธิ)

เมืองอุดรธานี แต่เดิมเรียกว่า "บ้านเดื่อหมากแข้ง" เพิ่งตั้งเป็นเมือง เมื่อ ร.ศ. ๑๑๒ (พ.ศ. ๒๔๓๖) ยังไม่มีอะไรที่น่าพรรณนาในนิทานนี้ นอกจากตัวพระยาศรีสุริยราชวรานุวัติ(โพธิ) ซึ่งจะเรียกต่อไปตามสะดวกว่า "พระยาโพธิ" ผู้เป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลอุดรในเวลาเมื่อฉันไปครั้งนั้น ด้วยเป็นคนเคยทำความชอบอย่างแปลกและมีความสามารถก็เป็นอย่างแปลก แต่ตัวถึงอนิจกรรมเสียนานแล้ว ฉันรู้เรื่องอยู่บ้างจะเล่าฝากไว้ในนิทานนี้ เพื่อให้ความชอบความดีของ พระยาศรีสุริยราชวรานุวัติ(โพธิ) ปรากฏอยู่อย่าให้สูญเสีย

พระยาโพธิดูเหมือนจะเป็นชาวเมืองจันทบุรี เข้ามาถวายตัวเป็นมหาดเล็กอยู่กับกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์แต่เพิ่งรุ่นหนุ่ม จะได้ศึกษามาแต่ก่อนอย่างไรบ้างไม่ปรากฏ แต่มาได้รับการอบรมด้วยตามเสด็จติดพระองค์กรมหลวงสรรพสิทธิฯเข้าวังและไปไหนๆอยู่เนื่องนิจ จนรู้จักเจ้านายขุนนางและรู้ขนบธรรมเนียมในราชสำนัก แม้ตัวฉันก็รู้จักพระยาโพธิตั้งแต่ยังเป็นมหาดเล็กกรมหลวงสรรพสิทธิฯ แต่จะเป็นเพราะใดหาทราบไม่ เมื่อกรมหลวงสรรพสิทธิฯ เสด็จออกไปรับราชการ ณ เมืองนครราชสีมาและเมืองอุบล พระยาโพธิไม่ได้ตามเสด็จไปด้วย จึงขึ้นไปคิดค้าขายทางเมืองเหนือ เจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์ เมื่อยังเป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลพิษณุโลกพบตัว เห็นเป็นคนมีแววดีจึงชวนเข้ารับราชการ ได้เป็นตำแหน่งต่างๆตั้งแต่ชั้นผู้น้อยเลื่อนขึ้นไปโดยลำดับด้วยความสามารถ จนได้เป็น พระสีหสงคราม ผู้ว่าราชการเมืองอุตรดิตถ์

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๕ เกิดเหตุพวกผู้ร้ายเงี้ยวปล้นได้เมืองแพร่ เวลานั้นเผอิญเจ้าพระยาสุรสีห์ฯลงมารั้งตำแหน่งปลัดทูลฉลองกระทรวงมหาดไทยแทนพระยามหาอำมาตย์เมื่อไปรับราชการยุโรป และตัวฉันก็ได้เคยไปเมืองเหนือ และเดินบกแต่เมืองอุตรดิตถ์ไปถึงเมืองแพร่ รู้เบาะแสภูมิลำเนาอยู่ด้วยกันทั้ง ๒ คน พอได้รับโทรเลขบอกข่าวเกิดผู้ร้ายเงี้ยวฉบับแรก เมื่อผู้ร้ายตีเมืองแพร่ได้แล้ว ปรึกษากันในขณะนั้นเห็นว่า พวกเงี้ยวคงกำเริบเลยลงมาตีเมืองอุตรดิตถ์ เพราะเป็นเมืองที่มีทรัพย์สินมากและไม่มีใครรู้ตัว จึงรีบมีโทรเลขไปยังเมืองอุตรดิตถ์ฉบับหนึ่ง สั่งพระยาโพธิให้รวบรวมกำลังกับเครื่องศัสตราวุธ รีบยกไปกักทางที่ช่องเขาพรึง อันเป็นที่คับขันในทางเดินมายังเมืองอุตรดิตถ์ โทรเลขอีกฉบับหนึ่งมีถึงพระยาสัชนาลัยบดี(จำไม่ได้ว่าตัวชื่ออะไร และเวลานั้นยังเป็นมีนามว่าอย่างไร) ผู้ว่าราชการเมืองสวรรคโลก สั่งให้รีบรวมกำลังและเครื่องศัสตราวุธ ยกจากเมืองสวรรคโลกขึ้นไปตีเมืองแพร่ทางเมืองลองอีกกองหนึ่ง

พระยาโพธิยกไปถึงเขาพรึงก็พบเงี้ยวยกลงมาดังคาดไว้ ได้รับกับเงี้ยวที่ปางต้นผึ้ง ๒ วันกักพวกเงี้ยวไว้ได้ พอพวกเงี้ยวรู้ว่ามีกำลังเมืองสวรรคโลกยกขึ้นไปเมืองแพร่ทางข้างหลังอีกกองหนึ่ง ก็พากันถอยหนีจากเขาพรึงกลับไปเมืองแพร่ พระยาโพธิรบเงี้ยวป้องกันเมืองอุตรดิตถ์ไว้ได้ครั้งนั้น เป็นแรกที่จะปรากฏเกียรติคุณ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ และเลื่อนบรรดาศักดิ์จากที่พระสีหสงครามขึ้นเป็น พระยาศรีสุริยราชวรานุวัติ เป็นบำเหน็จความชอบ

ต่อมาเจ้าพระยาสุรสีห์ฯ ย้ายไปเป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลพายัพแล้ว พระยาโพธิได้เป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลพิษณุโลก แต่ไม่ช้าก็ย้ายไปเป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลอุดร ด้วยเป็นที่สำคัญกว่ามณฑลพิณุโลก เพราะอยู่ต่อแดนต่างประเทศ และอาณาเขตกว้างใหญ่ ผู้คนพลเมืองมากกว่ามณฑลพิษณุโลก นอกจากนั้นฉันเห็นว่าเหมาะแก่คุณวิเศษเฉพาะตัวพระยาโพธิด้วย เพราะสังเกตมาตั้งแต่ยังเป็นผู้ว่าราชการเมืองอุตรดิตถ์ อันเป็นที่ประชุมชนต่างชาติต่างภาษาไปมาค้าขายเป็นอันมากอยู่เนืองนิจ เห็นว่า พระยาโพธิมีอัธยาศัยถนัดเข้ากับคนต่างชาติต่างภาษา สามารถวางตนให้คนต่างจำพวกเคารพนับถือ เมื่อไปอยู่มณฑลอุดรก็ปรากฏคุณวิเศษเช่นว่ามา พึงเห็นเช่นพระยาเมืองชาวเวียงจันทน์มาขอพึ่งดังเล่ามาแล้ว

และยังมีเรื่องสำคัญกว่านั้น จะเล่าให้เห็นเป็นตัวอย่างอีกเรื่องหนึ่ง เมื่อภายหลังฉันไปมณฑลอุดรได้สักปีหนึ่ง วันหนึ่งราชทูตฝรั่งเศสให้มาบอกว่า กิจการทางชายแดนฝรั่งเศสกับไทยก็เรียบร้อยมานานแล้ว แต่เดี๋ยวนี้ได้ทราบว่าสมุหเทศาภิบาลมณฑลอุดร รับญวนหัวหน้ากบฏที่หนีจากเมืองญวนเลี้ยงไว้คนหนึ่ง เหตุใดจึงทำเช่นนั้น ฉันได้ฟังออกประหลาดใจ ตอบไปว่าฉันไม่ทราบเลยทีเดียว แต่เทศาฯคนนั้นฉันไว้ใจว่าคงไม่ทำอะไรให้ผิดความประสงค์ของรัฐบาล ถ้ารับญวนหัวหน้ากบฏเลี้ยงไว้ ก็เห็นจะเป็นเพราะไม่รู้ว่าเป็นคนเช่นนั้น ฉันจะถามดูก่อน เมื่อมีตราถามไป พระยาโพธิตอบมาว่า เดิมญวนคนนั้นไปหาที่เมืองอุดรธานี ว่าจะขอรับจ้างทำการงานเลี้ยงชีพแล้วแต่จะใช้ พระยาโพธิสืบได้ความว่าเคยเป็นหัวหน้าพวกกบฏหนีมาจากเมืองญวน คิดว่าที่ในมณฑลอุดรธานี มีพวกญวนเข้ามาตั้งค้าขายอยู่หลายแห่ง ถ้าปล่อยญวนคนนั้นไปเที่ยวหากินตามชอบใจ อาจจะไปชักชวนพวกญวนที่อยู่มณฑลอุดรให้ร่วมคิดกับพวกกบฏ ก็จะเกิดลำบากขึ้นในระหว่างรัฐบาลทั้งสองฝ่าย ครั้นจะจับกุมกักขังญวนคนนั้น ก็ไม่ไดทำความผิดอย่างใดในเมืองไทย เห็นว่าหางานให้ทำอยู่ใกล้ๆจะดีกว่าอย่างอื่น มันทำอย่างไรจะได้รู้ จึงได้จ้างญวนนั้นไว้เป็นคนเลี้ยงม้า ฉันอ่านคำตอบชอบใจ ส่งไปให้ทูตฝรั่งเศสดู ก็ชมมาว่าเทศาฯทำถูกแล้ว

พระยาโพธิเป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลอุดร มาจนถึงอนิจกรรม ในเวลานั้นฉันยังเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย รู้สึกเสียดายอย่างยิ่ง


....................................................................................................................................................


ประวัติ พระยาศรีสุริยราชวรานุวัติ (โพธิ)
คัดจากนิทานโบราณคดี เรื่อง เสด็จตรวจราชการมณฑลอีสาน อุดรธานี
พระนิพนธ์ใน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ




 

Create Date : 12 เมษายน 2550   
Last Update : 21 เมษายน 2550 14:43:35 น.   
Counter : 1483 Pageviews.  


เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค)

พระมหามงกุฎเป็นเครื่องหมายของราชาธิปไตย
พระมหามงกุฎสง่างามด้วยประดับเพชรนิลจินดาอันมีค่าฉันใด
ข้าราชการที่อุตส่าห์ช่วยกันทะนุบำรุงบ้านเมืองให้มีความเจริญสุข
ก็เปรียบเหมือนเพชรนิลเครื่องประดับพระมหามงกุฎฉันนั้น



พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว





เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค)




....................................................................................................................................................




เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ นามเดิม พร หรือ ชุมพร เป็นบุตรสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ เดิมในรัชกาลที่ ๔ ไปเรียนหนังสือเข้ามาจากเมืองอังกฤษ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๐ จึงโปรดฯให้เป็น นายราชาณัตยานุหาร หุ้มแพรวิเศษ ในกรมพระอาลักษณ์ มาในรัชการที่ ๕ โปรดฯให้ว่าที่เจ้าหมื่นศรีสรรักษ์ หัวหมื่นมหาดเล็ก มาจนเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๖ โปรดฯให้เป็นพระยาภาสกรวงศ์ วรราชาณัตินฤปรัตนสุปรีย์ ราชไปรเวตสิเกรตารี ว่าที่จางวางมหาดเล็ก และเป็นเลฟเตแนนต์เคอแนล ทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ถือศักดินา ๓,๐๐๐ ครั้น พ.ศ. ๒๔๓๕ โปรดฯให้หมายตั้งเป็นเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ มีสำเนาประกาศในราชกิจจานุเบกษาดังนี้


ด้วยเมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม รัตนโกสินทรศก ๑๑๑ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับ ณ เขาไกรลาส ก่อนเวลาที่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ ซึ่งโสกันต์แล้ว จะเสด็จขึ้นบนเขา

มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ดำรัสสั่งเฉพาะกรมหมื่นพิทยาลาภพฤฒิธาดา เสนาบดีกระทรวงมุรธาธร ว่าผู้ที่เชิญสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเสด็จขึ้นเขาไกรลาสแต่ก่อนนั้น เคยใช้ผู้ที่เป็นเจ้าพระยาแล้วทุกคราวมา ครั้งนี้พระยาภาสกรวงศ์ ซึ่งโปรดฯให้แต่งตัวสมมติเป็นเทวดาจิตตุบาทเป็นตำแหน่งพระยาอยู่ พระยาภาสกรวงศ์ก็ได้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีมาช้านาน สมควรจะดำรงฐานันดรยศเป็นเจ้าพระยาได้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เลื่อนพระยาภาสกรวงศ์ขึ้นเป็นเจ้าพระยาตั้งแต่นี้สืบไป ให้ประกาศในเรียกพระยาภาสกรวงศ์ เป็น เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ เหมือนเช่นหมายตั้งตำแหน่งแต่กาลก่อน แต่หิรัญบัฏนั้นจะโปรดเกล้าฯ พระราชทานเมื่อมีโอกาสสมควรภายหลัง

กระทรวงมุรธาธร วันที่ ๒๙ ธันวาคม รัตนโกสินทรศก ๑๑๑


ครั้น พ.ศ. ๒๔๓๘ เมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสุพรรณบัฏ มีสำเนาประกาศดังนี้


ทรงพระราชดำริว่า เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ วรราชาณัติรฤปรัตนสุปรีย์ ในรัชกาลที่ ๔ ได้เป็นผู้เชิญรับสั่งไปต่างประเทศ ครั้นมาในรัชกาลปัจจุบันนี้ ก็ได้รับราชการในตำแหน่งที่ราชเลขานุการ และจางวางมหาดเล็ก ทั้งได้เป็นผู้บังคับการกรมทหารมหาดเล็กด้วย ต่อมาได้เป็นราชทูตวิเศษออกไปประเทศยุโรปด้วยราชการสำคัญในครั้งนั้น ก็เป็นการสำเร็จตลอดตามพระบรมราชประสงค์ ทั้งนี้ได้เป็นเอกอัตรราชทูตไปยังราชสำนักต่างๆในประเทศยุโรป อันเป็นธรรมเนียมที่กรุงสยามได้ตั้งราชทูตประจำเป็นครั้งแรก และได้เป็นอัครราชทูตออกไปเจริญทางพระราชไมตรี ณ ประเทศญี่ปุ่น และได้เป็นอธิบดีกรมศุลกากร แล้วได้รับตำแหน่งปลัดบาญชีในกรมพระคลังมหาสมบัติ ภายหลังได้เป็นผู้แทนเสนาบดีว่าการต่างประเทศคราว ๑ แล้วได้รับตำแหน่งที่เกษตราธิการ จนถึงในบัดนี้ก็ได้ดำรงในที่เสนาบดีกระทรวงธรรมการได้รับราชการโดยสมควรแก่หน้าที่ มีฉันทวิริยอันแรงกล้า รับราชการเป็นที่ชิดชอบพระราชอัธยาศัยมาช้านาน และกอปรไปด้วยสุนทรัธยาศัยและสวามิภักดิ์ซื่อตรงจงรักภักดีต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทเป็นอันมาก สมควรที่จะดำรงในตำแหน่งยศบรรดาศักดิ์ใหญ่ รับการฉลองพระเดชพระคุณต่างพระเนตรพระกรรณผู้หนึ่งได้

ครั้นในพระราชพิธีมหามงคงโสกันต์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อรัตนโกสินทรศก ๑๑๑ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงมุรธาธรออกหมายประกาศ ให้เรียกนามเป็นเจ้าพระยามาแต่ครั้งนั้น แต่ยังไม่มีโอกาสที่จะพระราชทานสุพรรณบัฏตามประเพณี บัดนี้เป็นมงคลสมัยสมควร จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานทินนามตามจารึกในสุพรรณบัฏนั้นว่า เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ มหาประยูรพงศ์ปัจฉิมดไนย นานาไสมยสมันตโกศล สกลราชกิตโยปการ อเนกคุณสารสุนทรประวัติ นฤปรัตนราชสุปรีย์ เสนาบดีอุดมศัก อัครปรมามาตย์ ชาติอาชวาธยาศรัย ศรีรัตนตรัยสรณธาดา อภัยพิริยบรากรมพาหุ มุสิกนาม ดำรงศักดินา ๑๐,๐๐๐ จงเจริญทฤฆชนมายุ พรรณ สุข สิริสวัสดิพิพัฒนมงคลวิบุลยผล ธนสารสมบัติบริวาร สมบูรณ์ทุกประการ เทอญฯ


บุตรธิดาของเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ คือ นายราชาณัตยานุหาร(พาสน์) และเจ้าจอมพิศ เป็นต้น
เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) ถึงอสัญกรรมเมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ปีวอก พ.ศ. ๒๔๖๓


....................................................................................................................................................



ประวัติเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค)


เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ มหาประยูรพงศ์ปัจฉิมดไนย นานาไสมยสมันตโกศล สกลราชกิตโยปการ อเนกคุณสารสุนทรประวัติ นฤปรัตนราชสุปรีย์ เสนาบดีอุดมศักดิ อรรคปรมามาตย์ ชาติอาชวาธยาไศรย ศรีรัตนไตรยสรณธาดา อภัยพิริยปรากรมพาหุ เป็นบุตรที่สุดของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ฯ ซึ่งเรียกกันสามัญว่า สมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ หม่อมอินเป็นมารดา เกิดที่เมืองชุมพร ในรัชกาลที่ ๓ เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๒ แรม ๙ ค่ำ ปีระกา พ.ศ. ๒๓๙๒ ในเวลานั้นสมเด็จเจ้าพระยาฯ ผู้เป็นบิดานังเป็นเจ้าพระยาพระคลัง ว่าที่สมุกพระกลาโหม ลงไปตั้งกองสักเลขหัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายตะวันตกอยู่ที่เมืองชุมพร เจ้าพระยาภาสกรวงศ์เกิดที่นั่นจึงได้นามว่า "ชุมพร" แต่ก็เรียกกันว่า "พร"

เมื่อสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ถึงพิราลัยในรัชกาลที่ ๔ อายุเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ได้เพียง ๔ ขวบ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ซึ่งเป็นพี่ชายใหญ่ เมืองยังเป็นเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ที่สมุหพระกลาโหม เป็นผู้ปกครองสกุล จึงได้บำรุงเลี้ยงต่อมา ให้เล่าเรียนอักขรสมัยในสำนักพระอาจารย์แก้วที่วัดประยูรวงศ์ฯ ด้วยกันกับบุตรหลานสมเด็จเจ้าพระยาฯ ซึ่งอายุรุ่นราวคราวเดียวกันหลายคน แต่การฝึกสอนในสมัยนั้นเพียงให้อ่านหนังสือออกและเขียนได้ ไม่ได้สอนถ้วนถี่พิสดารเหมือนเมื่อมีโรงเรียนในชั้นหลัง เพราะผู้ปกครองสกุลอื่น นอกจากราชสกุล ยังคงถือคติเก่าว่า วิชาหนังสือเป็นวิชาสำหรับเสมียน ไม่จำเป็นที่ผู้มีบรรดาศักดิ์สูงจะต้องเล่าเรียนให้รู้ลึกซึ้ง เพราะฉะนั้นในพวกบุตรหลานสมเด็จเจ้าพระยาฯ ที่ได้เล่าเรียนสำนักเดียวกันกับเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ จึงไม่ปรากฏว่าใครเชี่ยวชาญในวิชาหนังสือถึงเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ ในชั้นนั้นก็ไม่ปรากฎว่ารู้วิเศษกว่าเพื่อน แต่ทว่าอุปนิสสัยของท่านรักเล่าเรียนปรากฏมาแต่ในชั้นนั้น

ข้าพเจ้าเคยได้ยินเพื่อนเรียนของท่าน คือ พระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชื่น บุนนาค) และพระยาประภากรวงศวรวุฒิภักดี (ชาย บุนนาค) เป็นต้น เล่าให้ฟังว่า เจ้าพระยาภาสกรวงศ์นั้น "ชอบวางตัวเป็นนักปราชญ์มาแต่เด็ก" ไม่ค่อยถูกกับเพื่อนฝูง จึงมักถูกเขารังแก ยกตัวอย่างดังเช่นเวลาตามเสด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ไปเที่ยวตามหัวเมือง เวลาจะเดินป่าแต่เช้า พวกเพื่อนมักแกล้งทิ้งเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ฯ ให้มัวหลับไปไม่ทัน ท่านก็มีปัญญาป้องกันตัว เอาเชือกผูกเท้าโยงขวางประตูไว้ ใครออกประตูห้องไปต้องสะดุดเชือก เชือกก็ชักปลุกท่านให้ตื่น ดังนี้ แสดงอุปนิสัยของเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ซึ่งมีมาแต่ยังเยาว์

บางทีจะเป็นเพราะสมเด็จเจ้าพระยาบรมหาศรีสุริยวงศ์ เห็นเจ้าพระยาภาสกรวงศ์มีอุปนิสัยชอบเล่าเรียนนี้เอง เมื่อจัดการโกนจุกแล้ว พออายุเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ได้ ๑๕ ปี สมเด็จเจ้าพระยาฯก็ส่งไปเล่าเรียนวิชาที่ประเทศอังกฤษ ไปเรียนอยู่ที่โรงเรียนตำบลแบลกฮีท ใกล้กรุงลอนดอน เรียนอยู่ ๓ ปีมีความรู้พอพูดภาษาอังกฤษได้ และอ่านหนังสืออังกฤษเข้าใจความ ก็ต้องถูกถอนตัวออกจากโรงเรียน ด้วยเมื่อปีขาล พ.ศ. ๒๔๑๙ เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) เป็นราชทูตออกไปยุโรป ไม่มีล่ามที่จะใช้ในส่วนตัว จึงไปเรียกเจ้าพระยาภาสกรวงศ์มาใช้เป็นล่าม แล้วเลยพากลับคืนมากรุงเทพฯ เมื่อเจ้าพระยาภาสกรวงศ์กลับมานั้นอายุได้ ๑๙ ปี

มาประสบโชคด้วยหม่อมราโชทัย (ม.ร.ว. กระต่าย อิศรางกูร ณ อยุธยา) ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงใช้สอยอย่างราชเลขานุการ สำหรับเชิญกระแสรับสั่งไปพูดจากับชาวต่างประเทศ ถึงอนิจกรรมในปีเถาะนั้น ตำแหน่งว่างอยู่ พอสมเด็จเจ้าพระยาฯ นำเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ถวาย ก็โปรดฯให้รับราชการแทนหม่อมราโชทัย และต่อมาไม่ช้าก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรเป็นนายราชณัตยานุหาร ตำแหน่งหุ้มแพรวิเศษ ในกรมพระอาลักษณ์ รับราชการในตำแหน่งนั้นมาจนตลอดรัชกาลที่ ๔

เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ท่านเคยเล่าเอง ว่าเมื่อแรกท่านได้เป็นตำแหน่งราชเลขานุการนั้น ความรู้ของท่านทั้งในภาษาไทยและภาษาอังวกฤษยังบกพร่องมาก เพราะได้โอกาสเรียนมาแต่ก่อนน้อยนัก แต่ท่านมีหน้าที่ทำราชการอยู่ในห้องอาลักษณ์ ได้อาศัยเรียนหนังสือไทยในสำนักพระยาศรีสุนทรโวหาร (ฟัก สาลักษณ) เจ้ากรมพระอาลักษณ์ต่อมา ส่วนภาษาอังกฤษนั้นท่านพยายามต่อความรู้โดยหาหนังสืออ่านเอาเอง เหมือนอย่างท่านพยายามเรียนภาษามคธและสันกฤตในเวลาชั้นหลัง ความที่กล่าวนี้เป็นเหตุให้คนทั้งหลายมักสังเกตและกล่าวกันว่า พระยาภาสกรวงศ์ไปไหนมีสมุดหนีบรักแร้ไปด้วยเป็นนิจ ถึงตัวข้าพเจ้าก็ได้ทันเห็น

ในตอนนี้สมเด็จเจ้าพระยาฯ ได้จัดการให้เจ้าพระยาภาสกรวงศ์อุปสมบทเป็นพระภิกษุ บวชที่วัดประยูรวงศ์ฯ อันเป็นวัดของสกุล แต่บวชเป็นธรรมยุติ สมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ ประทานนามฉายาว่า "ภาณวโร" บวชแล้วไปอยู่ที่วัดบุปผาราม เมื่อลาสิกขาแล้ว สมเด็จเจ้าพระยาฯจัดให้แต่งงานกับนางสาวเปลี่ยน ราชินิกูลวงศ์ชูโต ซึ่งได้เป็นท่านผู้หญิงอยู่ด้วยกันมาจนกาลปัจจุบันนี้ ท่านผู้หญิงเปลี่ยน เป็นธิดา นายสุจินดา (พลอย) บุตรจมื่นศรีสรรักษ์ (ถัด) จมื่นศรีสรรักษ์เป็นบุตรคุณหญิงม่วง คุณหญิงม่วงเป็นธิดาเจ้าคุณราชพันธ์ชูโต มารดาท่านผู้หญิงเปลี่ยนชื่อนิ่ม เป็นธิดาพระยาสุรเสนา (สวัสดิ ชูโต น้องจมื่นศรีสรรักษ์(ถัด)) มารดาของนิ่มชื่อคุณเปี่ยม เป็นธิดาสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ เพราะฉะนั้นท่านผู้หญิงเปลี่ยนจึงนับเป็นเหลนของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ด้วย เมื่อแต่งงานแล้วสมเด็จเจ้าพระยาฯ แบ่งที่บ้านของสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ ซึ่งได้ให้พระยาอภัยสงคราม (นกยูง) ผู้เป็นบุตรอยู่แต่ก่อน และถึงอนิจกรรมไปแล้วนั้น ให้เจ้าพระยาภาสกรวงศ์อยู่ตอนข้างริมแม่น้ำ (คือบ้านที่เจ้าพระยาภาสกรวงศ์อยู่เมื่อถึงอนิจกรรม)

การที่เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ ได้ท่านผู้หญิงเปลี่ยนเป็นภรรยา ควรนับว่าเป็นโชคสำคัญในประวัติของท่าน เพราะท่ารผู้หญิงเปลี่ยนเป็นนารีที่เฉลียวฉลาด และสามารถในกิจการ จะหาผู้ที่เสมอเหมือนได้โดยยาก ตรงกับลักษณะภริยาที่ยกย่องในพระบาลีว่า เปรียบด้วยมารดาและสหายของสามีรวมกันทั้ง ๒ สถาน ท่านผู้หญิงเปลี่ยนสามารถรับดูแลการงานบ้านเรือน ตลอดไปจนพิทักษ์รักษาโภคทรัพย์ทั้งปวง มิให้เจ้าพระยาภาสกรวงศ์อนาทรร้อนใจ และเอาเป็นธุระในการต้อนรับเลี้ยงดูผู้ที่ไปมายังบ้านเรือนสามี บางทีถึงอาจช่วยเจ้าพระยาภาสกรตลอดไปจนในกิจราชการ ไม่มีใครที่จะประมาณได้ ว่าเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ได้รับประโยชน์และความสุขเพราะได้ท่านผู้หญิงเปลี่ยนเป็นภรรยานั้น สักเท่าใด แต่ข้อนี้ก็มีทั้งฝ่ายที่น่าสงสาร โดยความที่เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ได้เคยอาศัยท่านผู้หญิงเปลี่ยน สิ้นกังวลในการอยู่กินมาเสียช้านาน เมื่อท่านผู้หญิงเปลี่ยนถึงอนิจกรรม ท่านได้ความเดือดร้อนแสนสาหัส ก็ไม่อาจจะแก้ไขให้บรรเทาได้โดยลำพังตน จนเจ้าจอมพิศว์ธิดาออกไปอยู่ปรนนิบัติแทนมารดาต่อมา ท่านจึงค่อยได้ความสุขในตอนเมื่อแก่ชรามาจนถึงอสัญกรรม

ถึงรัชกาลที่ ๕ เมื่อเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ยังเป็นนายราชาณัตยานุหารได้ประสพโชคอีกคราวหนึ่ง แต่ต้องนับว่าเนื่องด้วยความดีของท่านด้วย ด้วยเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแรกเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัตินั้น พระชันษายังเยาว์วัย ในสมัยนั้นข้าราชการที่จะเฝ้าแหนใกล้ชิด มักเกรงสมเด็จเจ้าพระยาฯ จะสงสัยว่าไปกราบบังคมทูลฯ ข้อความ อันมิควรทูล มีน้อยคนที่จะกล้าเฝ้าแหนเพ็ดทูลโดยไม่หวาดหวั่น เจ้าพระยาภาสกรวงศ์อยู่ในผู้หนึ่ง ซึ่งกล้าเข้าไปให้ทรงใช้สอยโดยความสวามิภักดิ์ มิได้ครั่นคร้าม จึงได้สนิทชิดชอบพระราชอัธยาศัย และได้ทรงใช้สอยเป็นประโยชน์มากแต่นั้นมา ด้วยเวลานั้นในบรรดาข้าราชการไทย มีเจ้าพระยาภาสกรวงศ์คนเดียวที่เป็นผู้รู้ภาษาอังกฤษ ถึงพอจะค้นหาแบบแผนต่างประเทศได้ เปรียบเหมือนกับเป็นผู้ถือลูกกุญเเจตู้ตำรับตำราต่างประเทศในสมัยนั้นแต่ผู้เดียว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ว่าที่เจ้าหมื่นศรีสรรักษ์ หัวหมื่นมหาดเล็ก แต่ยังคงมีชื่อว่านายราชาณัตยานุหาร เพรายังคงรับราชการเป็นราชเลขานุการอยู่อย่างเมื่อรัชกาลก่อน

ได้ตามเสด็จประพาสทั้งคราวเสด็จประเทศชวาและประเทศอินเดีย ราชการต่างๆที่อาศัยแบบอย่างต่างประเทศจัดขึ้นในสมัยนั้น คือ ตั้งระเบียบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ และตั้งกรมทหารมหาดเล็ก เป็นต้น ตลอดจนจัดโรงเรียนภาษาอังกฤษสำหรับเจ้านาย และโรงเรียนภาษาไทยในกรมทหารมหาดเล็ก เจ้าพระยาภาสกรวงศ์เป็นผู้ตรวจค้นต้นตำราทั้งนั้น ในกรมทหารมหาดเล้กนั้นโปรดฯ ให้พระยาสุรศักดิ์มนตรี (แสง ชูโต) จางวางมหาดเล็ก เป็นนายพันโท ฯ ผู้บังคับการ ให้เจ้าพระยาภาสกรวงศ์เมื่อยังเป็นนายราชาณัตยานุหารเป็นนายพันตรี ฯ ตำแหน่งแอดชุแตนต์ ครั้นพระยาสุรศักดิ์มนตรี (แสง ชูโต) ถึงอนิจกรรม ทรงพระกรุณาโปรดฯเลื่อนนายราชาณัตยานุหาร ขึ้นเป็นพระยาภาสกรวงศ์ วรราชาณัตินฤปรัตนสุปรีย์ มีตำแหน่งเป็นราชเลขานุการ ว่าที่จางวางมหาดเล็ก และเป็นนายพันโทบังคับการกรมทหารมหาดเล็กด้วย

ถึงสมัยเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงว่าราชการแผ่นดิน ตั้งแต่บรมราชาภิเษกครั้งปีระหา พ.ศ. ๒๔๑๖แล้ว ทรงเริ่มจัดการเปลี่ยนแปลงขนบธรรมเนียมต่างๆหลายอย่าง คือตั้งรัฐมนตรีอันเรียกในครั้งนั้นว่า เคาซิลออฟสะเตต และองคมนตรีอันเรียกว่า ปริวีเคาซิล เป็นต้น เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ก็ได้มีหน้าที่การเรียบเรียงพระราชบัญญัติและเป็นสมาชิกตัวสำคัญในมนตรีทั้ง ๒ สภานั้น เพราะเหตุที่ในสมัยนั้นก็ยังมีแต่ท่านผู้เดียวที่สามารถรับราชการในทางข้างภาษาอังกฤษดังกล่าวมาแล้ว แต่มาถึงชั้นนี้เหล่าพระเจ้าน้องยาเธอซึ่งได้ทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้ทรงเล่าเรียนวิชาการต่างๆ มาแต่แรกเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัตินั้น เริ่มมีความรู้ออกจากโรงเรียนมารับราชการได้โดยลำดับกัน สมเด็จกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการเป็นพระองค์แรกที่ทรงสันทัดทางภาษาอังกฤษ เมื่อมีพระเจ้าน้องยาเธอเข้ารับราชการในตำแหน่งหน้าที่ต่างๆได้มากขึ้น จึงค่อยทรงปลดเปลื้องหน้าที่ราชการสำคัญ ซึ่งรวมการบังคับบัญชาอยู่ในเจ้าหน้าที่ผู้เดียว แยกออกไปตามสมควรแก่ประโยชน์ของราชการ จึงโปรดฯให้พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้ากาพย์กนกรัตน ราชองครักษ์ ทรงบังคับการกรมทหารมหาดเล็ก ซึ่งเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ได้บังคับอยู่แต่ก่อน

ต่อมาถึงปีเถาะ พ.ศ. ๒๔๒๒ เกิดเหตุด้วยนายทอมมัสยอกน๊อก กงสุลเยเนอราลอังกฤษ เข้ามาทำวุ่นวายในเรื่องอันเนื่องด้วยนายสำอาง อมาตยกุล จึงโปรดฯให้เจ้าพระยาภาสกรวงศ์เป็นราชทูตพิเศษออกไปยังประเทศอังกฤษ ว่ากล่าวกับรัฐบาลในเรื่องนั้น ก็เป็นการสำเร็จได้ดังพระราชประสงค์ และเมื่อเสร็จราชการที่ประเทศอังกฤษแล้ว ได้โปรดฯให้เจ้าพระยาภาสกรวงศ์เป็นราชทูตพิเศษไปเจริญทรงพระรชไมตรี ยังราชสำนักในประเทศอื่น คือประเทศเยอรมันนีเป็นต้น ซึ่งยังมิได้เคยมีราชทูตไทยไปถึงแต่กาลก่อน

เมื่อเจ้าพระยาภาสกรวงศ์เป็นราชทูตไปครั้งนั้น ต้องละหน้าในตำแหน่งราชเลขานุการ จึงทรงพระกรุณาโปรดฯให้กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการเป็นราชเลขานุการต่อมา จนเสด็จไปเป็นตำแหน่งเสนาบดีว่าการกระทรวงต่างประเทศ เมื่อปีระกา พ.ศ. ๒๔๒๘ ส่วนเจ้าพระยาภาสกรวงศ์นั้น เมื่อกลับมาจากราชการประเทศยุโรปโปรดฯให้เป็นอธิบดีกรมพระคลังสวน และคงรับราชการในตำแหน่งจางวางมหาดเล็กด้วย ครั้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๐ ทรงพระกรุณาโปรดฯให้สมเด็จกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ เป็นผู้แทนพระองค์เสด็จไปช่วยงาน ซึ่งสมเด็จพระราชินีวิกเตอเรีย ประเทศอังกฤษ ฉลองรัชกาลครบ ๕๐ ปี ทรงพระกรุณาโปรดฯให้เจ้าพระยาภาสกรวงศ์เป็นผู้แทนเสนาบดีว่าการกระทรงต่างประเทศทางกรุงเทพฯนี้ ตลอดเวลาที่สมเด็จกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการเสด็จไปราชการ และครั้งนั้นเมื่อสมเด็จกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการเสด็จกลับ กลับมาทางประเทศญี่ปุ่น ได้โปรดฯให้ทรงทำหนังสือปฏิญาณเป็นทางไมตรีกับประเทศญี่ปุ่นด้วย แล้วจึงทรงนำหนังสือปฏิญาณมายังกรุงเทพฯ เพื่อได้รับพระราชทานพระบรมราชานุมัติตามประเพณี เมื่อพระราชทานพระบรมราชานุมัติแล้ว ถึง พ.ศ. ๒๔๓๐ จึงทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้เจ้าพระยาภาสกรวงศ์เป็นราชทูตเชิญหนังสือปฏิญาณนั้นไปยังประเทศญี่ปุ่น เพื่อจะได้แลกเปลี่ยนกันกับรัฐบาลญี่ปุ่น ตามประเพณีการทำหนังสือปฏิญาณและสัญญา

เจ้าพระยาภาสกรวงศ์กลับจากราชการคราวนี้ ทรงพระกรุณาโปรดฯให้เป็นตำแหน่งอธิบดีจัดการกรมภาษีร้อยชักสาม จึงได้สร้างสถานที่อันปรากฏอยู่บัดนี้ และขนานนามว่า กรมศุลกากร แต่นั้นมา ต่อนี้เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ได้ไปรับราชการเป็นตำแหน่งอธิบดีกรมบัญชีกลาง ในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติอยู่คราวหนึ่ง แต่ไม่ช้านัก ครั้นถึงพ.ศ. ๒๔๓๓ เมื่อโปรดให้เจ้าพระยาพลเทพ (พุ่ม) เลื่อนขึ้นเป็นที่สมุหพระกลาโหม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ เป็นที่เสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ แต่ยังคงบรรดาศักดิ์เป็นพระยา จนถึง พ.ศ. ๒๔๓๕ โปรดฯให้ย้ายจากกระทรวงเกษตราธิการไปเป็นตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงธรรมการ

ในตอนนี้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบันนี้(๑)ยังทรงพระเยาว์ มีพระอาการประชวรเรื้อรัง เเพทย์กราบบังคมทูลฯ แนะนำให้เชิญเสด็จไปประทับรักษาพระองค์ที่ชายทะเล และเวลานั้นประจวบมีราชการชุก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะเสด็จพาไปเองไม่ได้ จึงโปรดฯให้เจ้าพระยาภาสกรวงศ์เป็นพระอภิบาล ตามเสด็จไปอยู่เป็นผู้ดูแล ณ เกาะสีชัง ซึ่งเสด็จไปประทับรักษาพระองค์ที่นั้น จนหายประชวรเสด็จกลับมากรุงเทพฯ ครั้นถึงพระราชพิธีโสกันต์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๕ จึงโปรดฯให้เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ เวลานั้นบรรดาศักดิ์ยังเป็นพระยาฯ เป็นผู้เชิญเสด็จขึ้นเขาไกรลาสฝ่าย ๑

และเมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม อันเป็นวันโสกันต์นั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับอยู่ ณ เขาไกรลาส ก่อนเวลาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอฯ เสด็จขึ้นเขา มีรับสั่งให้เสนาบดีกระทรวงมุรธาธรประกาศเป็นพระบรมราชโองการพิเศษ ว่าผู้ที่เชิญสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอฯ เสด็จขึ้นเขาไกรลาสแต่ก่อนมา เคยใช้แต่ผู้มีบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยามาทุกคราว พระยาภาสกรวงศ์ก็ได้ดำรงอยู่ในตำแหน่งเสนาบดีแล้ว แต่ยังมิได้พระราชทานหิรัญบัตรเลื่อนขึ้นเป็นเจ้าพระยา จึงโปรดฯให้เลื่อนบรรดาศักดิ์ขึ้นเป็นเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ วรราชณัตินฤปรัตนสุปรีย์ ฯ แต่วันนั้นไป เมื่อมีโอกาสจึงจะไดเพระราชทานหิรัญบัตรต่อภายหลัง

ครั้นถึง พ.ศ. ๒๔๓๘ เมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสุพรรณบัตร(ด้วยทรงพระราชดำริว่าเป็นราชินิกูล และมีบำเหน็จความชอบมามาก) และเครื่องยศตามฐานันดรเจ้าพระยา ฯ เสนาบดี มีราชทินนามดังแจ้งอยู่ข้างต้นประวัตินี้

เจ้าพระยาภาสกรวงศ์รับราชการในตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงธรรมการมาจนแก่ชราทุพพลภาพ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ออกจากตำแหน่งเสนาบดีแต่ในรัชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๕ ได้รับพระราชทานเบี้ยบำนาญต่อมาจนถึงอสัญกรรม

เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์มาโดยลำดับหลายอย่าง จะกล่าวแต่เฉพาะชั้นสูงซึ่งได้เป็นที่สุดนั้น คือสังวาลย์สำหรับตำแหน่งลัญจกราภิบาลแห่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์มหาจักรีบรมราชวงศ์ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ปฐมจุลจอมเกล้า ๑ ปฐมาภรณ์ช้างเผือก ๑ ปฐมาภรณ์มงกุฎสยาม ๑ เหรียญรัตนาภรณ์รัชกาลที่ ๔ ชั้นที่ ๔ เหรียญรัตนาภรณ์รัชกาลที่ ๕ ชั้นที่ ๒ เหรียญรัตนาภรณ์รัชกาลปัจจุบันชั้นที่ ๒ เหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา และเข็มราชการในพระองค์ เหรียญบุษปมาลา เหรียญจักรพรรดิมาลา เหรียญราชินี และเหรียญที่ระลึกในการพระราชพิธีอีกหลายอย่าง

เรื่องประวัติของเจ้าพระยาภาสกรวงศ์อันเนื่องในราชการสิ้นเนื้อความเพียงที่กล่าวมาแล้ว แต่ถ้าจะจบเรื่องประวัติที่แต่งเพียงเท่านี้ ผู้ที่รู้จักคุ้นเคยทราบอัธยาศัยของเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ยังมีมากด้วยกัน คงจะมีผู้ไม่พอใจ ด้วยเห็นว่ายังขาดความซึ่งควรจะกล่าวถึงอัธยาศัย และความประพฤติของเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ และบางคนก็อาจจะสงสัยว่าเป็นเพราะข้าพเจ้าคิดเห็นเป็นความเสื่อมเสียในตัวท่านจึงไม่แต่ง เพราะฉะนั้นจะต้องกล่าวถึงประวัติอันเป็นส่วนอัธยาศัย และความประพฤติของเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ไว้ด้วย

เมื่อจะแต่งตอนนี้ ข้าพเจ้าระลึกได้ถึงคำของพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระสมมตอมรพันธ์ ซึ่งนับว่าเป็นมหามิตรของเจ้าพระยาภาสกรวงศ์พระองค์ ๑ ได้เคยทรงปรารภเรื่องอัธยาศัยและความประพฤติของเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ ดำรัสว่าในพระบาลีกล่าวว่า กิเลสกับวาสนา ๒ อย่างนี้ ตัดได้ขาดแต่พระพุทธเจ้า นอกจากพระพุทธเจ้า แม้พระอัครสาวกก็ตัดได้แต่กิเลส วาสนานั้นตัดหาได้ไม่ เป็นต้นว่าพระสารีบุตรชาติก่อนเกิดเป็นวานร เมื่อมาเป็นพระขีณาสพแล้ว เดินไปถึงห้วยน้ำยังโดดข้ามอย่างวานร เพราะตัดวาสนาที่ติดตัวไม่ได้ เจ้าพระยาภาสกรวงศ์นั้นที่จริงกิเลสก็อยู่ข้างเบาบาง เป็นแต่หนักอยู่ด้วยวาสนา ถ้าเกิดทันครั้งพระพุทธกาล บางทีเห็นจะได้มรรคผล แต่คงไปทำให้เกิดอื้อฉาวในมณฑลพุทธสาวกเพราะวาสนาติดตัวไป กรมพระสมมติฯได้ดำรัสอย่างนี้

ข้าพเจ้าจะลองอธิบายต่อไป อันวาสนาของเจ้าพระยาภาสกรวงศ์นั้น ถ้าว่าเป็นอุปมาโดยย่อ เปรียบดังเห็นใครจะคันตรงไหนแล้วเป็นอดที่จะจี้เกาเข้าที่ตรงนั้นไม่ได้ ใช่ว่าจะทำด้วยอคติอย่างใดเป็นมูลเสมอนั้นก็หาไม่ เป็นด้วยอดไม่ได้เป็นพื้น กรมพระสมมตฯท จึงทรงเห็นว่าเป็นวาสนาอย่างที่กล่าวในพระบาลี ถ้าจะรวมเรื่องที่เกิดปากเสียงเพราะวาสนาของเจ้าพระยาภาสกรวงศ์มาพรรณนาก็เห็นจะไม่หมดได้ จะยกมาแสดงแต่พอให้เห็นเป็นตัวอย่าง ดังครั้งหนึ่ง ดูเหมือนจะเป็นวันสวดมนต์ถือน้ำ เจ้านายกับข้าราชการประชุมกันอยู่ที่หน้าพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พอพระราชาคณะองค์หนึ่ง ซึ่งรู้กันโดยมากว่าท่านเล่นหนังเดินมา เจ้าพระยาภาสฯก็เอ่ยทักขึ้นว่า "อย่างไรเจ้าคุณตะโจ สบายดีหรือ" ท่านเจ้าคุณจะเข้าใจหรือไม่ก็หาทราบไม่ แต่พอท่านเดินขึ้นอุโบสถไปแล้ว เจ้านายพากันสั่นพระเศียร ว่าเจ้าพระยาภาสฯทักมนุษย์น่ากลัวจริงๆ

แต่นั้นมาถ้าใครทักถามผู้อื่นด้วยอกัปปิยวาจา ก็มักจะกล่าวกันว่า ทักคนราวกับเจ้าพระยาภาสฯ เลยเกิดเป็นคำแผลงสำหรับใช้เมื่อกล่าวแสดงว่า ผู้ใดใช้อกัปปิยวาจาต่อผู้ใด ก็ว่า "ทัก" ผู้นั้นดังนี้ เจ้าพระยาภาสฯไม่แต่ "ทัก" ด้วยปากอย่างเดียว บางทีก็แต่งหนังสือ "ทัก" เช่นเมื่อช่วยแต่งหนังสือพิมพ์ดรุโณวาท และเมื่อเป็นกรรมการแต่งหนังสือวชิรญาณต่อมา ถึงเคยเกิดถ้อยความ ตัวท่านเองได้ความเดือดร้อนรำคาญหลายคราวก็ไม่เข็ด แต่การที่ทักนั้น ถ้าจะว่าก็ไม่ปราศจากยุติธรรมทีเดียว เพราะถ้าผู้ที่ถูกท่านทัก ทักตอบท่านบ้าง จะตอบรุนแรงสักเท่าไรท่านก็ไม่ถือโกรธ เมื่อผู้อื่นเห็นยุติธรรมที่มีอยู่ในอัธยาศัยของท่าน ความขัดเคืองก็เสื่อมคลาย เพราะฉะนั้น ถึงผู้ใดจะไม่ชอบก็เป็นแต่ติเตียน หามีผู้ใดที่จะเป็นศัตรูปองร้ายต่อท่านไม่ นอกจากลุต่ออำนาจต่อวาสนาดังกล่าวมาแล้ว เจ้าพระยาภาสกรวงศ์เป็นผู้มีคุณความดีหลายอย่าง คือเป็นกัลยาณมิตรเป็นต้น ท่านโอบอ้อมเผื่อแผ่ต่อมิตรไม่เลือหน้าว่าเป็นผู้ที่สูงหรือต่ำศักดิ์ และคบด้วยมิได้คิดจะเอาเปรียบผู้ใด จึงมีผู้ที่ชอบพอกว้างขวาง แม้ผู้ที่เคยถูกท่านทัก เมื่อรู้จักอัธยาศัยของท่านแล้ว ก็กลับเป็นมิตรกับท่านโดยมาก

เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ได้ประกอบกุศลกรรมก็หลายอย่าง คือได้บำรุงวัดประยูรวงศ์ฯ อันเป็นวัดสำหรับสกุลของท่านเป็นต้น ยังมีพฤน(๒)ศาลา ท่านสร้างเมื่อทำศพมารดา ปรากฏอยู่ในวัดประยูรวงศ์อย่าง ๑ โรงธรรมศาลา เเรกสร้างสำหรับสอนธรรมแก่นักเรียน อยู่ข้างหน้าวัดประยูรวงศ์อีกหลัง ๑ วัดนวลนรดิศอันเป็นวัดของเจ้าคุณย่าและสมเด็จเจ้าพระยาฯ บิดาของท่าน ท่านก็ได้ช่วยทำนุบำรุงบ้าง ยังมีการต่างๆทั้งเป็นส่วนการกุศล และเป็นการทำนุบำรุงวิชาความรู้ตลอดจนการค้าขาย ที่ท่านได้ดำริจัดตั้งอีกหลายอย่าง แต่หาใคร่จะมีผลอยู่ถาวรยืดยาวไม่ จึงไม่กล่าวในที่นี้

เรื่องประวัติของเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ อันเป็นข้อปกิณกะยังมีอีกมาก ถ้าจะเก็บมาเรียบเรียงให้หมดหนังสือนี้จะยืดยาวนัก เวลาที่แต่งก็มีน้อย จำต้องยุติไว้เพียงเท่าที่กล่าวมา จะกล่าวซ้ำอีกข้อเดียวแต่ว่า เมื่อตอนท่านแก่ชรานี้ นับว่าเป็นผู้ได้ความสุขด้วยประการทั้งปวง เพราะสิ้นห่วงใยในกิจภาระส่วนตัว ได้ความชอบพอนับถือของญาติมิตรทั่วไป ข้อนี้เห็นได้เช่นในเวลาสงกรานต์ ท่านได้รับพระราชทานรดน้ำ และมีทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการพากันไปรดน้ำท่านเป็นอันมาก ทุกปีมา ได้ทำงานฉลองอายุเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๑ ดูเหมือนจะเป็นครั้งที่สุดบรรดาญาติมิตรได้พร้อมกันไปแสดงความยินดีอวยพรให้แก่ท่าน ครั้งนั้นท่านได้พิมพ์หนังสือเรื่องประกาศตั้งเจ้าพระยาฯ แจกตอบแทน ยังปรากฏเป็นที่ระลึกอยู่

ตั้งแต่เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ออกจากราชการประจำ นับเวลาล่าวมาได้ ๑๗ ปี ถึงวันที่ ๑๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๓ ท่านป่วยถึงอสัญกรรม คำนวณอายุได้ ๗๒ ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระอนุสรณ์คำนึงถึงความชอบความดีของท่านที่ได้มีมา ทั้งในราชการและในส่วนพระองค์ กอปรทั้งที่ท่านมีเกียรติยศเป็นเจ้าราชินิกูล จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำฌาปนกิจศพของท่านที่พระเมรุท้องสนามหลวง ต่อเนื่องในงานถวายพระเพลิงพระศพสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส กำหนดพระราชทานเพลิงเมื่อ ณ วันที่ ๒๑ เมษายน ๒๔๖๕ สิ้นเรื่องประวัติเจ้าพระยาภาสกรวงศ์เพียงเท่านี้.


....................................................................................................................................................

เชิงอรรถ

(๑) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

(๒) คำว่า พฤน ท่านผูกจากชื่อของท่านว่า พร ชื่อมารดาของท่านว่า อิน




 

Create Date : 06 เมษายน 2550   
Last Update : 6 เมษายน 2550 20:53:40 น.   
Counter : 6192 Pageviews.  


เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม)

พระมหามงกุฎเป็นเครื่องหมายของราชาธิปไตย
พระมหามงกุฎสง่างามด้วยประดับเพชรนิลจินดาอันมีค่าฉันใด
ข้าราชการที่อุตส่าห์ช่วยกันทะนุบำรุงบ้านเมืองให้มีความเจริญสุข
ก็เปรียบเหมือนเพชรนิลเครื่องประดับพระมหามงกุฎฉันนั้น



พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว







....................................................................................................................................................


ประวัติ เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ภาคที่ ๑
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ



เรื่องประวัติตอนก่อนรับราชการ



มหาอำมาตย์นายก เจ้าพระยายมราช (ปั้น ต้นสกุลสุขุม) เป็นชาวเมืองสุพรรณบุรี เกิดเมื่อวันอังคารที่ ๑๕ กรกฎาคม ปีจอ พ.ศ. ๒๔๐๕ สกุลเป็นคฤหบดีตั้งบ้านเรือนอยู่ ณ ตำบลน้ำตก ริมแม่น้ำฟากตะวันออกข้างใต้ตัวเมืองสุพรรณฯไม่ห่างนัก บิดาของท่านชื่อกลั่น มารดาชื่อผึ้ง มีพี่น้องร่วมบิดามารดา ๕ คนเรียงกันเป็นลำดับดังนี้

๑. พี่ชายชื่อ ฉาย ได้เป็นหลวงเทพสุภา กรมการเมืองสุพรรณบุรีคนหนึ่ง
๒. พี่หญิงชื่อ นิล เป็นภรรยาหลวงแก้วสัสดี(ดี สุวรรณศร) กรมการเมืองสุพรรณบุรีคนหนึ่ง
๓. พี่ชายชื่อ หมี ได้เป็นที่พระยาสมบัติภิรมย์ กรมการเมืองสงขลาคนหนึ่ง
๔. พี่ชายชื่อ คล้ำ ได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่หนึ่งในตำบลน้ำตกที่ตั้งเคหสถานของสกุลคนหนึ่ง
๕. พี่หญิงชื่อ หยา เป็นภรรยาหลวงจ่าเมือง(สังข์ พิชัย) กรมการเมืองสุพรรณบุรีคนหนึ่ง
๖. ตัวเจ้าพระยายมราชเป็นลูกสุดท้อง

เรื่องประวัติเจ้าพระยายมราชเมื่อยังเป็นเด็กปรากฏว่าเมื่ออายุได้ ๕ ขวบ บิดามารดาพาไปฝากเรียนหนังสือที่วัดประตูศาลในเมืองสุพรรณฯ แต่เรียนอยู่ไม่ถึงปี พอมีงานทำบุญในสกุล เขานิมนต์พระใบฎีกา(อ่วม) วัดหงสรัตนาราม จังหวัดธนบุรี ซึ่งเป็นที่นับถือกันมาแต่ก่อน ออกไปเทศน์แล้วบิดามารดาเลยถวายเจ้าพระยายมราชให้เป็นศิษย์ พระใบฎีกาอ่วมจึงพามาจากเมืองสุพรรณฯ เมื่อพ.ศ. ๒๔๑๑ เวลานั้นอายุได้ ๖ ขวบ

ข้าพเจ้าผู้แต่งเรื่องประวัตินี้เคยได้ยินกรมการเมืองสุพรรณฯชั้นผู้ใหญ่ในเครือญาติ ดูเหมือนจะเป็นหลวงยกกระบัตรเล่าความหลังให้ฟัง (ในสมัยเมื่อเจ้าพระยายมราชยังเป็นพระยาสุขุมนัยวินิต)ว่าท่านเป็นลูกคนสุดท้อง เกิดเมื่อบิดามารดามีลูกแล้วหลายคน จนถึงเป็นหนุ่มเป็นสาวแล้วก็มี เมื่อยังเป็นเด็กมิใคร่มีใครเอาใจใส่นำพานัก บิดามารดาก็ใส่กัณ์เทศน์ถวายพระเข้ามากรุงเทพฯที่ว่านี้ ตามโวหารของญาติแสดงความพิศวง ด้วยมิได้มีใครเคยหวังว่าเจ้าพระยายมราชจะมาเป็นคนดีมีบุญล้ำเหล่ากอถึงเพียงนี้

แต่เมื่อคิดดูก็ชอบกล ถ้าหากเจ้าพระยายมราชเกิดเป็นลูกหัวปีที่จะเป็นทายาทของสกุล บิดามารดาก็คงถนอมเลี้ยงไว้ที่เมืองสุพรรณฯจนเติบใหญ่ ถ้าเป็นเช่นนั้นเมื่อถึงเวลาเจ้าพระยายมราชครอบครองบ้านเรือน บางทีก็จะได้เลือกเป็นผู้ใหญ่บ้านเหมือนอย่างนายคล้ำเคยเป็นมาแต่ก่อน ถ้าสูงกว่านั้นก็ได้เป็นกรมการเช่นหลวงเทพสุภาพี่ชายคนใหญ่ หรืออย่างดีที่สุดก็จะได้เป็นพระยาสุนทรสงครามฯ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี น่าที่จะไม่มีช่องได้เป็นเจ้าพระยายมราชจนตลอดชีวิต ข้อที่ท่านเกิดเป็นลูกสุดท้องไม่มีใครหวงแหน "ใส่กัณฑ์เทศน์" ถวายพระพาเข้ากรุงเทพฯนั้น ควรนับว่าบุญบันดาลให้ท่านเข้าสู่ต้นทางที่จะดำเนินไปจนถึงได้เป็นรัฐบุรุษวิเศษคนหนึ่งในสมัยของท่าน

การศึกษาของเจ้าพระยายมราชเมื่อเข้ามาอยู่วัดหงส์ฯ ปรากฏว่าแรกมาเป็นลูกศิษย์วัดอยู่ ๖ ปี ตอนนี้มีเค้าที่จะสันนิษฐานว่าพระใบฎีกาอ่วมเห็นจะเอาเป็นธุระ ระวังสั่งสอนผิดกับลูกศิษย์วัดอย่างสามัญ เพราะท่านเป็นลูกคฤหบดีที่บิดามารดายกให้เป็นบุตรบุญธรรม ตรงกับศัพท์ที่เรียกว่า "ลูกศิษย์" คือเป็นลูกด้วยเป็นศิษย์ด้วย ข้อนี้มีเค้าอยู่ในกิริยามารยาทของท่านที่ข้าพเจ้าเห็นเมื่อตอนแรกรู้จักกัน ดูสุภาพเรียบร้อยผิดกับชาวบ้านนอก ส่อให้สังเกตได้ว่า ท่านได้รับความอบรมมาแต่ครูบาอาจารย์ที่ดี อีกอย่างหนึ่งความรู้ภาษาไทยท่านก็ได้เรียนที่วัดหงส์ ไม่เคยเข้าโรงเรียนอื่นนอกจากไปเรียน ก.ข. นโม ที่วัดประตูศาลเมืองสุพรรณฯหน่อยหนึ่งดังกล่าวมาแล้ว ที่ท่านมีความรู้ภาษาไทยเชี่ยวชาญถึงเป็นครูผู้อื่นได้แต่ยังหนุ่ม ก็ต้องนับว่าได้ความรู้ภาษาไทยมาแต่สำนักพระใบฎีกาอ่วมด้วย

ถึง พ.ศ. ๒๔๑๗ อายุท่านได้ ๑๓ ปี ข้าพเจ้าสันนิษฐานว่าญาติคงรับออกไปโกนจุกที่เมืองสุพรรณฯแล้วส่งกลับมาอยู่กับพระใบฎีกาอ่วมที่วัดหงส์ตามเดิม

ถึง พ.ศ. ๒๔๑๘ พระใบฎีกาอ่วมจัดการให้บวชเป็นสามเณรเล่าเรียนวิชาต่อมาอีก ๗ พรรษา ลักษณะการเล่าเรียนของสามเณรในสมัยนั้นมีระเบียบเกือบจะเหมือนกันหมดทุกวัด นอกจากเรียนเสขิยวัตรและท่องจำไหว้พระสวดมนต์ ให้เริ่มเรียนหนังสือขอมและหัดเทศน์มหาชาติสำหรับเทศน์โปรดญาติโยม เจ้าพระยายมราชเสียงดีอาจารย์จึงให้หัดเทศน์กัณฑ์มัทรี (เมื่อแรกท่านมาอยู่กับข้าพเจ้าเคยเทศน์ให้ฟังแหล่หนึ่งว่าทำนองพอใช้เสียงก็ดี ข้อนี้ผู้ที่เคยฟังท่านอ่านถวายชัยมงคลเมื่อเป็นเสนาบดีแล้ว คงจะจำได้ว่าเสียงท่านยังดีแม้เมื่อแก่ตัวแล้ว)

สามเณรองค์ไหนจะบวชอยู่นานอาจารย์ก็ให้เรียนภาษามคธ เริ่มด้วยคัมถีร์ "มูล" คือ ไวยากรณ์ภาษามคธ บางทีพระใบฎีกาอ่วมจะสอนให้เอง หรือมิฉะนั้นคงให้เรียนกับพระอาจารย์องค์อื่นในวัดหงส์ฯหรือวัดที่ใกล้เคียงกัน เพราะอาจารย์สอนชั้นมูลมีแทบทุกวัด เมื่อเรียนคัมภีร์มูลตลอดแล้วก็ตั้งต้นเรียนคัมภีร์พระธรรมบท ตอนนี้เรียกกันว่า "ขึ้นคัมภีร์" เพราะเรียนคัมภีร์สำหรับจะเข้าสอบความรู้เป็นเปรียญในสนามหลวง การเรียนถึงชั้นขึ้นคัมภีร์ต้องไปเรียนในสำนักอาจารย์ที่เชี่ยวชาญภาษามคธ เจ้าพระยายมราชเริ่มเรียนในสำนักอาจารย์เพ็ญ (ซึ่งเคยเป็นพระราชาคณะที่พระวิเชียรกระวีเมื่อบวช) แล้วไปเรียนในสำนักพระยาธรรมปรีชา(บุญ) และสำนักสมเด็จพระวันรัต(แดง)วัดสุทัศน์ต่อกันมา สมเด็จพระวันรัต(แดง) และพระยาธรรมปรีชา(บุญ) เป็นอาจารย์ที่เลื่องลือเกียรติคุณ ศิษย์ของท่านทั้ง ๒ นั้นได้เป็นถึงสมเด็จพระราชาคณะก็หลายองค์ จึงควรนับว่าเจ้าพระยายมราชได้โอกาสเรียนพระปริยัติธรรมในสำนักดีอย่างยิ่งถึง ๒ แห่ง

ลักษณะการที่พระภิกษุสามเณรเรียนพระปริยัติธรรมนั้น เบื้องต้นชีต้นอาจารย์ที่เลี้ยงดูผู้เป็นนักเรียนต้องพาไปฝากต่อท่านผู้จะเป็นอาจารย์ ต่อท่านชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติตัวดีและตั้งใจจะเรียนจริงๆจึงนับเข้าเป็นศิษย์ในสำนัก หนังสือเรียนในสมัยนั้นบังใช้คัมภีร์ใบลานก็ต้องหาเอาไปเอง ถ้าผู้เรียนไม่สามารถหยิบยืมหนังสือของผู้อื่นได้ ก็ต้องเที่ยวขอคัดลอกสำเนาจากฉบับของผู้อื่น และพยายามจารหนังสือด้วยฝีมือของตนเองไปให้ทันกับที่เรียน การจารหนังสือจึงเป็นความรู้อย่างหนึ่งซึ่งผู้จะเรียนพระปริยัติธรรมต้องฝึกหัดตั้งแต่ยังเรียนคัมภีร์มูล ข้อนี้เป็นเหตุให้เปรียญแต่ก่อนเขียนหนังสืองามโดยมาก

การเรียนนั้นถ้านักเรียนเป็นผู้อยู่ในวัดที่เป็นสำนักเรียนก็มักไปเรียนตอนเช้า ถ้าเป็นผู้อยู่ต่างวัดต้องฉันเพลเสียก่อนแล้วจึงไปเรียนในตอนบ่าย เวลาเดินไปใครเห็นก็รู้ว่าพระเณรนักเรียน เพราะแบกห่อคัมภีร์หนังสือเรียนไปบนบ่าเหมือนกันทุกองค์ ถึงเวลาเรียนท่านผู้เป็นอาจารย์ออกมานั่งอาสนะที่ปูไว้ มีกากะเยียสำหรับวางคัมภีร์ลานตั้งอยู่ข้างๆ พวกศิษย์นั่งรายกันอยู่ตรงหน้าและปันเวรกันเข้าไปแปลหนังสือให้อาจารย์ฟัง อาจารย์ถือคัมภีร์ที่แปลนั้นอีกฉบับหนึ่งคอยสอบแปลผิดศัพท์ใดหรือประโยคใด หรือแห่งใดมีกลเม็ดในกระบวนแปลอย่างไร อาจารย์ก็ทักท้วงสั่งสอนไปจนสิ้นระยะการเรียนของศิษย์องค์นั้น แล้วให้องค์อื่นเข้าไปแปลต่อไป วันหนึ่งสอนราว ๔ ชั่วโมง สำนักไหนมีนักเรียนมากเวลาไม่พอจะเข้าแปลต่ออาจารย์ได้หมด ก็ต้องกำหนดวันเป็นเวรเปลี่ยนกันเข้าแปลต่ออาจารย์ พวกศิษย์ที่ไม่ต้องเข้าแปลก็นั่งฟังได้ความรู้ประโยชน์แก่ตนไม่ไปเปล่า

เหตุใดเจ้าพระยายมราชจึงเรียนพระปริยัติธรรมต่ออาจารย์ถึง ๓ สำนัก ข้อนี้เป็นด้วยอาจารย์สอนพระปริยัติธรรมความรู้ยิ่งหย่อนผิดกัน ถึงแม้อาจารย์ที่มีความรู้เชี่ยวชาญถึงชั้นสูงด้วยกัน เล่ห์เหลี่ยมในการแปลก็มีต่างกัน แต่มีข้อสำคัญแก่นักเรียนอย่างหนึ่ง คือถ้าไปเรียนต่ออาจารย์ที่ไม่สู้มีชื่อเสียงโด่งดัง มีเวลาเรียนต่ออาจารย์มากเพราะศิษย์มีน้อย ถ้าเรียนในสำนักที่มีคนนับถือมาก เวลาที่ได้เรียนต่ออาจารย์น้องลง เพราะมีศิษย์มากถึงต้องผลัดเวรกันเรียน เจ้าพระยายมราชคงไปเรียนต่ออาจารย์เพ็ญเมื่อตอนแรกขึ้นคัมภีร์ เวลาความรู้ยังอ่อนได้มีเวลาเรียนมาก ครั้นมีความรู้พอเป็นพื้นแล้ว อยากจะมีความรู้ให้สูงขึ้นไปจึงย้ายไปเรียนในสำนักพระยาธรรมปรีชา(บุญ) เมื่อมีความรู้ยิ่งขึ้นจนถึงเกิดประสงค์จะเข้าแปลหนังสือในสนามหลวง จึงไปเรียนในสำนักสมเด็จพระวันรัต(แดง) ด้วยท่านเป็นผู้สอบความรู้องค์หนึ่งที่ในสนามหลวง เพื่อจะให้ตระหนักใจในวิธีแปลตามนิยมของพระมหาเถระผู้สอบความรู้ในสนามหลวง เห็นจะไปถวายตัวเป็นศิษย์สมเด็จพระวันรัต(แดง)ในเวลาเมื่อก่อนอุปสมบทไม่นานนัก

ถึง พ.ศ. ๒๔๒๕ เจ้าพระยายมราชอายุได้ ๒๑ ปีครบอุปสมบท บวชเป็นพระภิกษุที่วัดหงส์ สมเด็จพระวันรัต(แดง)เป็นพระอุปัชฌาย์ แต่เวลานั้นบิดามารดาจะยังมีชีวิตอยู่หรือสิ้นชีพไปเสียแล้วข้าพเจ้าหาทราบไม่ พอบวชเป็นพระภิกษุแล้วในปีนั้นเองก็เข้าแปลพระปริยัติธรรมในสนามหลวง เมื่อเจ้าพระยายมราชเข้าแปลหนังสือก็ได้รับความสรรเสริญเป็นอย่างประหลาด ควรจะเล่าไว้ด้วย

แต่ก่อนมาการตั้งสนามหลวงสอบพระปริยัติธรรมไม่มีกำหนดปี เมื่อใดเปรียญซึ่งสำหรับทรงเลือกตั้งเป็นพระราชาคณะมีน้อยตัวลงก็โปรดให้มีการสอบพระปริยัติธรรม เพื่อหาพระภิกษุซึ่งทรงพระไตรปิฎกตั้งเป็นเปรียญสำรองไว้สำหรับเลือกตั้งเป็นพระราชาคณะ เป็นประเพณีเดิมมาดังนี้ ในรัชกาลที่ ๕ ได้มีการสอบพระปริยัติธรรมครั้งแรก เมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๑๒ แล้วก็ว่างมาถึง ๑๔ ปี พระมหาเถรพากันวิตกว่าการสอบพระปริยัติธรรมเลิกร้างมาช้านาน ความรู้พระภิกษุสามเณรที่เรียนพระไตรปิฎกจะเสื่อมลง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดฯให้ตั้งสนามหลวงสอบพระปริยัติธรรมอีกครั้งหนึ่งเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๖ คราวเจ้าพระยายมราชเข้าแปลนั้น

ตั้งสนามหลวง ณ พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ พอเปิดสนามก็เห็นสมจริงดังพระมหาเถรท่านวิตก ด้วยพระภิกษุสามเณรซึ่งเข้าแปลวันละ ๔ องค์ แต่วันแรกมาแปลตกหมด ไม่มีใครได้เป็นเปรียญเลยสักองค์เดียว เป็นเช่นนั้นมาหลายวัน จึงถึงกำหนดพระปั้นวัดหงส์(คือเจ้าพระยายมราช)เข้าแปล เมื่อแปลวันแรกได้ประโยคที่ ๑ ก็ไม่มีใครเห็นแปลกประหลาด เพราะพระภิกษุสามเณรที่แปลตกมาก่อนแปลได้ประโยคที่ ๑ แล้วไปตกประโยคที่ ๒ ก็มี ต่อเมื่อเจ้าพระยายมราชแปลได้ประโยคที่ ๒ จึงเริ่มมีเสียงกล่าวกันว่าบางที "คุณปั้น" จะได้เป็นเปรียญ ถึงวันท่านเข้าแปลประโยคที่ ๓ อันเป็นวันตัดสินว่าจะได้เป็นเปรียญหรือไม่ จึงมีคนพากันไปฟังมากทั้งพระภิกษุสามเณรที่เป็นนักเรียน และคฤหัสที่เอาใจใส่ในการเรียนพระปริยัติธรรม ข้าพเจ้าก็ได้ไปฟังกับเข้าด้วยในวันนั้น พอท่านแปลได้ประโยคที่ ๓ สังเกตดูพระมหาเถรพากันยิ้มแย้มยินดี เพราะเพิ่งได้เปรียญองค์แรกในการสอบพระปริยัติธรรมครั้งนั้น ผู้อื่นที่ไปฟังนั่งคอยเอาใจช่วยอยู่ก็พากันแสดงความยินดีทั่วหน้า แต่วันนั้นก็เรียกกันว่า "มหาปั้น" สืบมา

ตรงนี้ถึงที่จะเล่าเรื่องเจ้าพระยายมราชมาอยู่กับข้าพเจ้า สมัยนั้นข้าพเจ้ายังไม่ได้รับกรม แต่เป็นนายพันตรีราชองครักษ์ ผู้บังคับการกรมทหารมหาดเล็ก รับราชการประจำอยู่ในพระบรมมหาราชวัง อยู่ที่ห้องตรงมุมตึกยาวทางข้างฝ่ายตะวันตกประตูพิมานชัยศรี และกำลังจัดตั้งโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบอยู่ด้วย เวลาเช้าพอหัดทหารแล้ว ข้าพเจ้าก็ออกจากโรงทหารเดินผ่านทางในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ไปดูงานที่โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบทุกวัน

ก็ที่ในบริเวณวัดพระศรีรัตนศาสดารามเวลานั้นมีสำนักของหลวงตั้งอยู่ สำหรับสอนพระปริยัติธรรมแก่พระภิกษุสามเณร ๔ แห่ง แห่งใหญ่กว่าเพื่อนพระยาธรรมปรีชา(บุญ)เป็นอาจารย์สอน ที่ในพระพุทธปรางค์ปราสาท (คือปราสาทเทพบิดรบัดนี้) นอกจากนั้นสอนตามเก๋งซึ่งสวร้างไว้บนกำแพงข้างหน้าวัดอีก ๓ แห่ง หน้าที่อุดหนุนสำนักเรียนทั้ง ๔ แห่ง เช่น จัดอาหารเลี้ยงเพลพระภิกษุสามเณรที่มาเรียนเป็นต้น โปรดฯให้ข้าพเจ้าเอาเป็นธุระอุดหนุน เพราะโรงครัวของทหารมหาดเล็กอยู่ใกล้

ส่วนตัวข้าพเจ้าเองเวลาเดินผ่านไปในวัดก็มักแวะฟังพระภิกษุสามเณรหัดแปลพระไตรปิฎกที่แห่งนั้นบ้างแห่งนี้บ้างเป็นเนืองนิจ เจ้าพระยายมราชเมื่อยังเป็นสามเณรมาเรียนอยู่ที่พระพุทธปรางค์จึงเริ่มรู้จักกันกับข้าพเจ้า แต่ก็เพียงสนทนาปราศัยเหมือนอย่างเพื่อนนักเรียนองค์อื่นๆ เมื่อท่านเข้าแปลพระปริยัติธรรมถึงวันแปลประโยคที่ ๓ ข้าพเจ้าไปฟังได้พูดปลอบท่านอย่าให้หวาดหวั่น และได้แสดงความยินดีต่อท่านเมื่อแปลสำเร็จ ตั้งแต่วันนั้นก็มิได้พบกับท่านมากว่าเดือน

คืนวันหนึ่งเวลา ๒๐ นาฬิกา ท่านมาหาข้าพเจ้าที่โรงทหารมหาดเล็ก มีต้นไม้ดัดปลูกในกระถางมาให้ด้วยต้นหนึ่ง เมื่อข้าพเจ้าถามถึงธุระที่ท่านมา ท่านบอกว่าจะมาลาสึกและเมื่อสึกแล้วจะขอถวายตัวอยู่กับข้าพเจ้าด้วย ข้าพเจ้าได้ฟังก็ประหลาดใจ ถามท่านว่าเมื่อได้อุตส่าห์พากเพียรเรียนพระไตรปิฎกมาจนได้เป็นเปรียญมีชื่อเสียงแล้ว เป็นไฉนจะสึกแต่ยังมิได้รับพระราชทานพัดยศ อนึ่งตัวท่านก็ยังเป็นหนุ่ม ถ้าเรียนพระไตรปิฎกต่อไปคงได้เป็นเปรียญประโยคสูง แล้วได้เป็นพระราชาคณะตั้งตนเป็นหลักแหล่งได้ตลอดชีวิต จะมาทิ้งความเจริญของตัวเองเสียด้วยเหตุใด ท่านตอบว่าท่านสิ้นอาลัยในการเป็นสมณะ ได้ปลงใจตั้งแต่ก่อนเข้าแปลพระปริยัติธรรมว่าจะสึก ที่เข้าแปลนั้นด้วยประสงค์จะบำเพ็ญกุศลอุทิศสนองคุณท่านผู้เป็นครูบาอาจารย์มาแต่หนหลัง นึกไว้ว่าพอแปลแล้วจะตกหรือได้เป็นเปรียญก็จะสึกอยู่นั่นเอง

เมื่อข้าพเจ้าห้ามไม่ไหว แล้วก็เห็นว่าสึกเสียดีกว่าจำใจบวชอยู่ต่อไป จึงตอบว่าเมื่อสึกแล้วถ้าสมัครมาอยู่กับข้าพเจ้าก็จะรับด้วยความยินดี เหตุท่านเอาต้นไม้ดัดมาให้ด้วยในวันนั้น ข้าพเจ้ามานึกได้ต่อภายหลังว่าคงเป็นเพราะท่านยังเป็นพระภิกษุ จะถวายตัวด้วยให้ดอกไม้ธูปเทียนเครื่องสักการะแก่ข้าพเจ้าผู้เป็นคฤหัสถ์ไม่ได้ จึงเปลี่ยนเป็นถวายต้นไม้ดัดแทน มาหวนรำลึกขึ้นในเวลาเมื่อเขียนเรื่องประวัตินี้ดูก็ชอบกล การที่ท่านให้ต้นไม้ดัดแทนดอกไม้ธูปเทียนนั้น ราวกับเป็นนิมิตสังหรณ์ว่าท่านถวายตัวแก่ข้าพเจ้า เพียงให้เป็นมัคคุเทศก์ชี้ทางที่ท่านจะไปได้ดี มิใช่มาเป็นข้ากับเจ้า หรือถ้าว่าอีกนัยหนึ่งก็เหมือนเจ้าพระยายมราชกับข้าพเจ้าได้เคยทำบุญอธิษฐานร่วมใจกันมาแต่ชาติก่อน ผลบุญจึงบันดาลให้มาเกิดรุ่นราวครามเดียวกัน แล้วได้มาช่วยกันทำราชการงานเมืองในชาตินี้

เมื่อเจ้าพระยายมราชจะสึกได้มีจดหมายไปลาญาติฉบับหนึ่ง ถ้านับเวลามาจนบัดนี้ได้ ๕๔ ปีแล้ว พวกลูกเขาค้นพบจดหมายฉบับนั้นที่เมืองสุพรรณฯ คัดสำเนาส่งมาให้ข้าพเจ้าเมื่อจะเขียนเรื่องประวัตินี้ จึงให้พิมพ์ไว้ด้วยต่อไปนี้


ลิขิตพระมหาปั้นลาญาติสึก


ลิขิตพระมหาปั้น ขอคำนับมายังพี่ {ฉาย,ดี(พี่เขย),นิล,หมี,คล้ำ,หยา} ได้ทราบ

ว่าฉันเห็นจะบวชไปไม่ตลอดเสียแล้ว ฉันจะลาสึกแล้ว ฉันทูลลา(ทางกรมธรรมการตามธรรมเนียม)แล้ว กำหนดวันสึก ณ วันจันทร์ เดือน ๘ ชขึ้น ๑๒ ค่ำ สึกแล้วฉันจะตามเสด็จ(พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร)ขึ้นไปอยู่บางปะอินสักสามเดือน นายท่านจะทรงผนวช ตัวฉันนั้นท่านพระองค์ดิศวรกุมารท่านทูลขอไว้ เห็นจะพอเอาตัวรอดได้ไม่เป็นไรดอก ถ้าทำการจะพระราชทานเดือนละ ๓๐ บาท ถ้าไม่ได้ทำการจะพระราชทานเดือนละ ๓ ตำลึง นี่แลพี่ทั้งปวงอย่ามีความเสียใจเลย เป็นกรรมของฉันแล้ว เคยรักน้องเพียงไหนก็ขอให้รักน้องเพียงนั้นเทอญ

ฉันเล่าตั้งแต่รู้ความมาก็ไม่ได้ประพฤติการชั่วให้พี่น้องมีความร้อนใจเลยสักอย่างเดียว ก็ครั้งนี้เห็นว่าพี่จะมีความเสียใจมาก ฉันอยากจะให้พี่นิลลงมาสักหน่อย ให้ถึงบางกอก ณ วันเดือนแปด ขึ้น ๑๐ ค่ำ ขอให้มาให้ได้ทีเดียว พวกใน(กรุงเทพฯ)นี้เล่าใครๆก็ลาไม่ได้ เข้าไม่ยอมให้สึก ฉันคิดการครั้งนี้ก็คิดคนเดียว ครั้นฉันจะขึ้นมา(สุพรรณฯ)เล่าก็มาไม่ได้ การก็จวนอยู่แล้ว ขอพี่ทั้งปวงอย่ามีความเสียใจเลยนึกเสียว่า สมเด็จเจ้ายังต้องสึก

ลิขิตมา ณ วันอาทิตย์ เดือน ๗ แรม ๔ ค่ำ ปีมะแมเบญจศก๑๖ (พ.ศ. ๒๔๒๖)


..........................................................................




เจ้าพระยายมราชเกิดปีเดียวกันกับข้าพเจ้า ข้าพเจ้าแก่กว่าท่านไม่ถึงเดือน โดยปกติข้าพเจ้าควรจะบวชเป็นพระภิกษุในพรรษาเดียวกับเจ้าพระยายมราช แต่ข้าพเจ้าต้องรอมาบวชเมื่ออายุ ๒๒ ปี เพราะสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงดำรัสชวนให้ไปจำวัสสา ณ วัดนิเวศธรรมประวัติซึ่งทรงสร้างขึ้นใหม่ใกล้กับพระราชวังบางปะอิน แต่ในปีที่อายุข้าพเจ้าครบอุปสมบท พระอมราภิรัตขิต(อ่อน)เจ้าอาวาสมีพรรษายังไม่ถึงเขตที่จะเป็นอาจารย์ให้นิสัยได้ จึงต้องรอมาปีหนึ่ง

เจ้าพระยายมราชสึกแล้ว ก็ขออาสาไปอยู่เป็นเพื่อนที่บางปะอิน จึงได้ขึ้นไปอยู่ที่วัดนิเวศฯด้วยกันกับข้าพเจ้าตลอดพรรษา ในเวลาเมื่ออยู่บางปะอินนั้นเจ้าพระยายมราชกับข้าพเจ้าได้พบปะพูดจากันทุกวัน ได้รู้นิสัยใจคอกันและกันก็เริ่มรักใคร่กันแต่นั้นมา เมื่อท่านอยู่วัดนิเวศฯไม่ได้อยู่เปล่า ใช้โอกาสที่มีเวลาว่างตลอดพรรษาขวนขวายเรียนความรู้ภาษาไทยทั้งหัดเขียนหนังสือไทยจนลายมืองาม นอกจากนั้นท่านตั้งใจศึกษาหาความรู้ประเพณีทางฝ่ายคฤหัสถ์จนสามารถเข้าสมาคมได้ ครั้นออกพรรษาข้าพเจ้าสึกก็กลับลงกรุงเทพฯด้วยกัน

เมื่อเจ้าพระยายมราชบวชเป็นสามเณรอยู่วัดหงส์ หม่อมเจ้าหญิงเปลี่ยนในกรมหลวงเสนีบริรักษ์ กับหม่อมราชวงศ์หญองเขียนหลานกรมหลวงเสนีย์บริรักษ์ และเป็นหม่อมกรมหลวงวงศาธิราชสนิทมาแต่ก่อน ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ริมวัดหงส์ เคยไปทำบุญที่วัดเนืองๆ เมื่อรู้จักสามเณรปั้น มีความเอ็นดูก็รับเป็นโยมอุปัฏฐากตลอดมาจนจักการให้อุปสมบทด้วย เมื่อเจ้าพระยายมราชแรกสึกยังไม่มีบ้านในกรุงเทพฯ หม่อมเจ้าหญิงเปลี่ยนกับหม่อมราชวงศ์เขียนจึงชวนให้พักอยู่ที่บ้าน


ประวัติตอนแรกรับราชการ


ประเพณีมีมาแต่โบราณ ผู้ได้เคยบวชเป็นพระราชาคณะหรือเป็นเปรียญ ถ้าสึกออกมาเป็นคฤหัสถ์ แม้สึกเมื่อายุเป็นกลางคนแล้ว ถ้าปรารถนาจะทำราชการก็โปรดพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กได้ เพราะเหตุที่เป็นผู้ได้เล่าเรียนมีความรู้มากมาแต่บวช มักได้เป็นขุนนางทีตำแหน่งในกรมลูกขุน ณ ศาลหลวง หรือกรมอาลักษณ์และกรมราชบัณฑิตย์ ข้าราชการทั้ง ๓ กรมที่กล่าวมาแล้วเป็นพวกเปรียญลาพรต ซึ่งผู้อื่นมักเรียกกันว่า "พวกแก่วัด" หรือว่า "พวกอาราม" ทั้งนั้นก็ว่าได้

เมื่อตั้งโรงเรียนหลวงในรัชกาลที่ ๕ โปรดให้เลือกข้าราชการกรมอาลักษณ์มาเป็นครู ครูในโรงเรียนหลวงก็เป็นตำแหน่งสำหรับพวกเปรียญลาพรตอีกแห่งหนึ่ง อาศัยประเพณีมีดังกล่าวมา เมื่อข้าพเจ้ากลับลงมารับราชการตามเดิม จึงจัดการให้นายปั้นเปรียญถวายตัวเป็นมหาดเล็ก นับเป็นกำหนดในเรื่องประวัติได้ว่า เจ้าพระยายมราชแรกเข้ารับราชการเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๖ เวลานั้นอายุได้ ๒๒ ปี ส่วนราชการที่จะทำนั้น ในสมัยนั้นข้าพเจ้าสามารถจะหาหน้าที่ให้ท่านได้แต่ ๒ ทาง คือรับราชการในกรมทหารมหาดเล็กทางหนึ่ง หรือเป็นครูโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบอีกทางหนึ่ง ถามตัวท่าน ท่านสมัครจะรับราชการพลเรือน ข้าพเจ้าจึงส่งให้ไปหัดเป็นครูในโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ ชั้นแรกได้เงินเดือนเพียงเดือนละ ๑๖ บาท แล้วจึงเลื่อนขึ้นเป็นครูผู้ช่วย

ถึง พ.ศ. ๒๔๒๗ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จไปพระราชทานรางวัลนักเรียนในงานประจำปีที่โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ แล้วเสด็จเที่ยวทอดพระเนตรในโรงเรียนทั่วไปพอพระราชทานหฤทัยในความเจริญของโรงเรียนนั้นมาก เมื่อเสด็จกลับดำรัสแก่ข้าพเจ้าว่า พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ชายที่พระชันษาถึงขนาดเข้าโรงเรียนมี ๔ พระองค์ คือ พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์(กรมพระจันทบุรีนฤนาถ)พระองค์หนึ่ง พระองค์เจ้ารพีพัฒน์ศักดิ์(กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์)พระองค์หนึ่ง พระองค์เจ้าประวิตรวัฒโนดม(กรมหลวงปราจิณกิติบดี)พระองค์หนึ่ง พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช(กรมหลวงนครชัยศรีสุรเดช)พระองค์หนึ่ง ให้ข้าพเจ้ารับเอาไปเข้าโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบด้วย

เมื่อข้าพเจ้าได้รับสั่งแล้วมาคิดถึงการที่จะฝึกสอนพระเจ้าลูกยาเธอ ๔ พระองค์นั้น เห็นว่าให้เรียนรวมกันทั้ง ๔ พระองค์จะดีกว่าให้แยกกันไปเรียนตามชั้นความรู้ในโรงเรียน แต่จะต้องมีครูคนหนึ่งต่างหากสำหรับสอนเฉพาะเจ้านาย ๔ พระองค์นั้น คิดหาตัวผู้ที่จะเป็นครู เห็นว่ามหาปั้น(คือเจ้าพระยายมราช)จะเหมาะกว่าคนอื่น เพราะมีความรู้พอจะเป็นครูได้ ทั้งอัธยาศัยใจคอก็เป็นคนดี ดังได้เห็นมาแล้วตั้งแต่ขึ้นไปอยู่บางปะอินด้วยกันเมื่อข้าพเจ้าบวช ทั้งในเวลานั้นก็ยังเป็นแต่ครูผู้ช่วย ถึงถอนตัวมาก็ไม่ลำบากแก่การในโรงเรียน ข้าพเจ้าจึงเลือกมหาปั้นให้มาเป็นครูผูสอนพระเจ้าลูกยาเธอทั้ง ๔ พระองค์ และจัดห้องเรียนขึ้นอีกแห่งหนึ่งต่างหากที่ท้องพระโรงของสมเด็จขพระพุทธเจ้าหลวง เมื่อครั้งเสด็จประทับอยู่ ณ พระตำหนักสวนกุหลาบ เจ้าพระยายมราชก็ได้เลื่อนที่และได้รับเงินเดือนเพิ่มขึ้นเป็นเดือนละ ๔๘ บาท เสมอครูประจำชั้นอื่นๆในโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ

ตั้งแต่พระเจ้าลูกยาเธอเสด็จไปเข้าโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ เวลาข้าพเจ้าไปก็แวะไปที่ห้องเรียนของพระเจ้าลูกยาเธอด้วยเสมอ ในไม่ช้าก็ตระหนักใจว่าคิดถูกทั้งที่จัดให้พระเจ้าลูกยาเธอเรียนต่างหาก และที่ได้เลือกมหาปั้นมาเป็นครูด้วย สังเกตเห็นเรียนรู้รวดเร็วเพราะเรียนด้วยกันแต่ ๔ พระองค์ ฝ่ายมหาปั้นก็ฉลาดในการสอนทั้งวางตัวต่อพระเจ้าลูกยาเธอเหมาะดี คือไม่เหลาะแหละอย่างว่า "ประจบลูกศิษย์" แต่ก็ไม่วางตัวข่มเกินไป พระเจ้าลูกเธอทรงเคารพยำเกรงและโปรดมหาปั้นสนิทสนมหมดทุกพระองค์

ต่อมาภายหลังสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงโปรดให้พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์(กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์) เสด็จไปเข้าโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบอีกพระองค์หนึ่ง ก็ได้เรียนต่อเจ้าพระยายมราชเหมือนกัน

สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงตั้งพระราชหฤทัยเป็นยุติมานานแล้วว่าบรรดาพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ชายเมื่อเจริญพระชันษาโสกันต์แล้วจะโปรดฯให้ไปเรียนวิชาความรู้ถึงยุโรปทุกพระองค์

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๙ กรมพระจันทบุรีฯกับกรมหลวงราชบุรีฯพระชันษาถึงกำหนดโสกัน ทรงพระราชดำริว่ากรมหลวงปราจีณฯกับกรมหลวงนครชัยศรีฯพระชันษาอ่อนกว่าเพียงปีหนึ่งสองปี และได้ทรงเล่าเรียนอยู่ด้วยกันแล้ว จึงโปรดฯให้ทำพระราชพิธีโสกันต์และทรงผนวชเป็นสามเณรอยู่ ๑๕ วันด้วยกันทั้ง ๔ พระองค์ แล้วโปรดให้พระยาชัยสุรินทร(ม.ร.ว.เทวหนึ่ง ศิริวงศ์)เป็นผู้พาไปส่งยังกรมพระนเรศวรฤทธิ์ (เวลานั้นยังเป็นกรมหมื่น) ซึ่งเป็นอัครราชทูตสยามอยู่ ณ กรุงลอนดอน ให้ทรงจัดการเล่าเรียนต่อไป (แต่กรมหลวงชุมพรฯเวลานั้นพระชันษาเพียง ๖ ขวบ จึงมิได้เสด็จไปด้วย)

เมื่อจะส่งพระเจ้าลูกยาเธอไปยุโรปครั้งนั้น สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงพระราชปรารภว่า พระเจ้าลูกยาเธอทั้ง ๔ พระองค์ ได้ทรงศึกษาหนังสือไทยในโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบมาเพียงปีเดียว ถ้าทิ้งหนังสือไทยก็จะลืมเสีย จึงดำรัสสั่งข้าพเจ้าให้หาครูไปยุโรปกับพระเจ้าลูกยาเธอสักคนหนึ่ง การเลือกก็ไม่มีปัญหาที่จะต้องหาใครอื่น เพราะมีเหมาะแต่เจ้าพระยายมราชคนเดียว โดยได้เป็นครูและคุ้นเคยสนิทสนมกับพระเจ้าลูกยาเธอทั้ง ๔ พระองค์อยู่แล้ว ข้าพเจ้ากราบบังคมทูลสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ก็ทรงพระราชดำริเห็นหชอบด้วย จึงทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์ให้ นายปั้นเปรียญ เป็น "ขุนวิจิตรวรสาส์น" มีตำแหน่งในกรมอาลักษณ์(แผนกครู) เจ้าพระยายมราชจึงได้ไปยุโรป

เรื่องประวัติของเจ้าพระยายมราชตอนนี้คิดดูก็ชอบกล ถ้าหากท่านสมัครรับราชการในกรมทหารมหาดเล็กก็ดี หรือเมื่อสมัครไปเป็นครูแล้ว แต่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงมิได้โปรดส่งพระเจ้าลูกยาเธอไปเข้าโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบก็ดี หรือที่สุดถ้ามิได้ทรงพระราชดำริจะให้มีครูหนังสือไทยไปยุโรปกับพระเจ้าลูกยาเธอก็ดี เจ้าพระยายมราชก็คงจะมิได้มีโอกาสออกไปหาคุณวิเศษเพิ่มขึ้นที่ในยุโรป พฤติการณ์ชวนให้เห็นว่าผลบุญส่งท่านไปยังโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ เหมือนอย่างที่เคยส่งท่านเข้ามาจากเมืองสุพรรณฯ อีกครั้งหนึ่ง น่าพิศวงอยู่

ตั้งแต่เจ้าพระยายมราชไปอยู่ยุโรปอยู่ห่างกับตัวข้าพเจ้าได้แต่มีจดหมายไปมาถึงกัน เรื่องประวัติตอนนี้ต้องเขียนตามความเห็นจดหมายเหตุและได้ยินคนอื่นเล่าโดยมาก เมื่อพระเจ้าลูกเธอ ๔ พระองค์เสด็จไปถึงกรุงลอนดอน กรมพระนเรศฯทรงหาบ้านแห่งหนึ่งให้ประทับอยู่ด้วยกัน เจ้าพระยายมราชกับนายสิบทหารมหาดเล็ก ซึ่งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงโปรดฯให้ข้าพเจ้าเลือกไปเป็นพี่เลี้ยง ก็อยู่ด้วยกันที่บ้านนั้น

ส่วนการเรียนของพระเจ้าลูกยาเธอนั้น กรมพระนเรศฯทรงหาครูฝรั่งคนหนึ่งมาสอนภาษาอังกฤษเป็นเวลาเสมอทุกวัน เวลาว่างเรียนภาษาอังกฤษ เจ้าพระยายมราชก็สอนภาษาไทยถวาย

เล่ากันว่าเจ้าพระยายมราชชักเงินเดือนของตนเองไปจ้างครูสอนภาษาอังกฤษแก่ตัวท่านด้วย ข้าพเจ้าสงสัยอยู่ด้วยเวลาเมื่อแรกไปยังได้เงินเดือนน้อยนัก น่าจะเรียนต่อตอนเมื่อได้มีตำแหน่งในสถานทูตรับเงินเดือนมากขึ้นกว่าแต่ก่อน อย่างไรก็ตาม ข้อที่เจ้าพระยายมราชเรียนภาษาอังกฤษด้วยทุนของท่านเอง และพยายามเรียนจนรู้ภาษาอังกฤษอีกภาษาหนึ่งนั้น เชื่อได้ว่าเป็นความจริง พระเจ้าลูกเธอ ๔ พระองค์เสด็จอยู่ลอนดอนได้ไม่ช้านัก เห็นจะราวสักปีหนึ่ง กรมพระนเรศฯก็เสด็จกลับมากรุงเทพฯ แต่นั้นเจ้าพระยายมราชก็เป็นทั้งครูและเป็นพระอภิบาลเจ้านายทั้ง ๔ พระองค์ต่อมา

ถึง พ.ศ. ๒๔๓๐ สมเด็จพระราชินีวิกตอเรียจะฉลองรัชกาลครบ ๕๐ ปีเป็นงานใหญ่ เชิญสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จไปช่วยงานด้วยกันกับพระเจ้าแผ่นดินประเทศอื่นๆ แต่ยังขัดข้องจะเสด็จไปเองไม่ได้ จึงโปรดฯให้สมเด็จฯกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ (เมื่อยังเป็นกรมหมื่น แต่เป็นเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศแล้ว) เสด็จไปแทนพระองค์ ข้าพเจ้าเคยได้ยิน จะเป็นสมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์ฯตรัสเล่าหรือใครบอกก็ลืมไปเสียแล้ว ว่าเมื่อสมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์ฯประทับอยู่ ณ กรุงลอนดอน ทรงทราบว่าพระเจ้าลูกยาเธอไม่สบายพระหฤทัยด้วยคิดถึงสมเด็จพระบรมชนกนาถและพระญาติวงศ์ อยากจะกลับมาเยี่ยมบ้านเมืองสักครั้งหนึ่ง สมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์ฯสงสาร และทรงพระดำริเห็นว่าการเล่าเรียนของพระเจ้าลูกยาเธอในชั้นนั้นก็เป็นแต่ให้ครูไปรเวตมาสอนที่บ้าน ถึงแม้จะกลับมากรุงเทพฯ ถ้าให้ครูมาด้วยก็จะไม่เสียประโยชน์ในการเรียน จึงมีโทรเลขเข้ามากราบทูลสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ก็ทรงพระกรุณาโปรดฯพระราชทานยพระบรมราชานุญาตให้พระเจ้าลูกยาเธอทั้ง ๔ พระองค์เสด็จกลับมาชั่วคราวตามพระประสงค์

เมื่อสมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์ฯเสร็จราชการในยุโรปแล้ว จึงพาพระเจ้าลูกยาเธอทั้ง ๔ พระองค์กลับมากรุงเทพฯ ทางทวีปอเมริกาและประเทศญี่ปุ่น เจ้าพระยายมราชก็ตามเสด็จกลับมาด้วย มาถึงกรุงเทพฯเมื่อต้น พ.ศ. ๒๔๓๑

เจ้าพระยายมราชได้รับพระราชทานเครื่องวราชอิสริยาภรณ์ช้างเผือกชั้นที่ ๕ เป็นบำเหน็จครั้งแรก ถึงเวลานั้นหม่อมเจ้าหญิงเปลี่ยนซึ่งได้เคยอุปการะมาแต่ก่อนเห็นจะสิ้นชีพตักษัยแล้ว ยังเหลือแต่หม่อมราชวงศ์หญิงเขียน ย้ายไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่คลองบางกอกน้อย เมื่อเจ้าพระยายมราชกลับมายังมีความอารีชวนท่านไปพักอยู่ที่บ้าน เจ้าพระยายมราชได้เคยพาหม่อมราชวงศ์เขียนมาหาข้าพเจ้า เป็นคนสูงอายุกว่า ๖๐ ปีแล้ว ดูเจ้าพระยายมราชเคารพนับถืออย่างเป็นผู้ใหญ่

ต่อมาภายหลังเมื่อท่านเป็นเจ้าพระยายมราชอยู่ที่จวนตำบลศาลาแดง ข้าพเจ้าไปหาได้พบหม่อมราชวงศ์เขียนอยู่ที่นั่น ไต่ถามได้ความว่าเมื่อหม่อมราชวงศ์เขียนแก่ชราลง อยู่ที่บ้านเดิมมีความอัตคัดขัดสน เจ้าพระยายมราชจึงไปรับมาเลี้ยงดูอุปัฏฐากสนองคุณให้มีความสุขสบาย และต่อมาเมื่อถึงแก่กรรมก็ปลงศพให้ด้วย

เมื่อพระเจ้าลูกยาเธอ ๔ พระองค์เสด็จกลับมากรุงเทพฯแล้ว สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงโปรดฯให้ไปเรียนที่โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ อยู่ในความรับผิดชอบของข้าพเจ้าอย่างแต่ก่อน การเรียนตอนนี้ผิดกับแต่ก่อนเพียงแบ่งเวลาให้ครูอังกฤษสอนครึ่งวัน เจ้าพระยายมราชสอนครึ่งวัน ส่วนตัวเจ้าพระยายมราชกับข้าพเจ้าก็กลับใกล้ชิดไปมาหาสู่กันเสมอเหมือนอย่างแต่ก่อน และยังไม่มีกำหนดว่าจะโปรดให้พระเจ้าลูกยาเธอทั้ง ๔ พระองค์เสด็จกลับไปยุโรปอีกเมื่อใด

การที่เจ้าพระยายมราชได้กลับมากรุงเทพฯครั้งนั้น เป็นคุณแก่ตัวท่านโดยมิได้คาดหลายอย่าง จะกล่าวแต่เฉพาะที่เป็นข้อสำคัญคือ เมื่อเดินทางมาด้วยกันกับสมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์ฯได้ทรงรู้จักคุ้นเคยตระหนักพระหฤทัยว่า เป็นผู้มีความรู้และอัธยาศัยดี ก็ทรงพระเมตตากรุณา เป็นเหตุให้ทรงเกื้อหนุนดังจะกล่าวในที่อื่นต่อไปข้างหน้า แต่ข้อที่เป็นคุณอย่างสำคัญอันหนึ่งในเรื่องประวัติของท่านนั้นคือ ที่มาได้ภรรยา เรื่องนี้ข้าพเจ้าจะเล่าได้ด้วยความรู้เห็นของตนเอง

เมื่อเจ้าพระยายมราชกลับมาถึงกรุงเทพฯได้ราวสัก ๒ เดือน วันหนึ่งท่านมาบอกข้าพเจ้าว่าใคร่จะมีภรรยาให้เป็นหลักแหล่ง ท่านทราบว่าพระยาชัยวิชิต(นาก ณ ป้อมเพ็ชร์ เวลานั้นยังเป็นพระยาเพชดา)มีลูกสาว ถ้าข้าพเจ้าไปขอให้ท่าน บิดาเห็นจะไม่ขัดเพราะเคยเมตตากรุณาแต่เมื่ออยู่ลอนดอนด้วยกัน (เมื่อพระยาชัยวิชิตยังเป็นหลวงวิเศษสาลีได้ตามเสด็จกรมพระนเรศฯไปเป็นเลขานุการในสถานทูต) ข้าพเจ้าแต่งคนไปทาบทามก็ดูเหมือนจะให้ แต่ข้าพเจ้านึกลำบากใจด้วยตัวเองยังเป็นหนุ่ม อายุรุ่นราวคราวเดียวกับเจ้าบ่าว จะวางตัวเป็นเถ้าแก่ดูกระไรอยู่ จึงแนะให้ไปไหว้วานมารดาข้าพเจ้าให้เป็นเถ้าแก่สู่ขอ เพราะท่านก็เคยคุ้นกับพระยาชัยวิชิตพอจะพูดกันได้ เจ้าพระยายมราชไปบอกมารดา ท่านก็ยินดีรับจะไปขอให้ตามประสงค์ ด้วยท่านเมตตาปราณีเจ้าพระยายมราชตั้งแต่ไปอยู่วัดนิเวศฯด้วยกันกับข้าพเจ้า ท่านจึงชวนข้าพเจ้าไปขอ นางสาวตลับ ธิดาคนใหญ่ของพระยาชัยวิชิตให้แก่ขุนวิจิตรวรศาส์น พระยาชัยวิชิตก็ยิ้มแย้มยอมยกให้ด้วยความยินดี ว่าได้เคยคุ้นกับขุนวิจิตรวรสาส์น เห็นว่าเป็นคนดีพอจะวางใจให้ลูกสาวได้ แต่เมื่อตกลงกันจนได้ลงมือปลูกเรือนหอในบ้านพระยาชัยวิชิตที่บางขุนพรหมแล้ว มีความลำบากเกิดขึ้นด้วยสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ทรงกำหนดเวลาให้พระเจ้าลูกยาเธอทั้ง ๔ พระองค์เสด็จกลับไปยุโรปใกล้ๆกับวันฤกษ์ที่จะแต่งงาน

ข้าพเจ้าทราบก็ตกใจเกรงพระยาชัยวิชิตจะไม่ยอมให้แต่งงาน เพราะแต่งแล้วขุนวิจิตรวรสาส์นจะต้องทิ้งลูกสาวของท่านไปเสีย จึงรีบไปปรึกษาพระยาชัยวิชิตว่าจะทำอย่างไรดี แต่พระยาชัยวิชัตไม่ตกใจ กลับยิ้มแย้มตอบว่า "ถ้าเช่นนั้นให้เขาไปฮันนีมูน (คือประเพณีฝรั่งพากันไปเที่ยวเมื่อแรกแต่งงาน) ก็แล้วกัน" จึงคงได้แต่งงานตามฤกษ์ที่กำหนดไว้

เมื่อเจ้าพระยายมราชแต่ประวัติท่านผู้หญิงตลับได้พรรณนาถึงการพิธีที่ทำเมื่อแต่งงานพิสดาร ว่าเริ่มด้วยพิธีสงฆ์สวดมนต์และฉันที่เรือนหอ (จะเพิ่มอธิบายสักหน่อยว่าสวดมนต์เลี้ยงพระนั้นเป็นพิธีสำหรับขึ้นอยู่เรือนใหม่ต่างหาก ส่วนการแต่งงานสมรสนั้นพรสงฆ์หาเกี่ยวข้องไม่) ส่วนการพิธีทางฝ่ายคฤหัสถ์นั้น ท่านเล่าว่าได้เชิญพระยาเจริญราชไมตรี(ชื่น ศรีเพ็ญ) กับคุณหญิงจันทเจริญราชไมตรีเป็นผู้ปูที่นอน ข้าพเจ้าจะกล่าวถึงพิธีปูที่นอนบ่าวสาวแทรกลงตรงนี้สักหน่อย เพราะเกี่ยวถึงเรื่องประวัติของเจ้าพระยายมราชและท่านผู้หญิงตลับเมื่อภายหลัง

อันคู่ผัวเมียซึ่งสมควรจะเป็นผู้ปูที่นอนให้บ่าวสาวนั้นต้องทรงคุณสมบัติประกอบกันหลายอย่าง เป็นต้น แต่ต้องได้อยู่ด้วยกันอย่างเป็นคู่ผัวตัวเมียมาแต่ยังหนุ่มสาว จนแก่ด้วยกันอย่างหนึ่ง อยู่เป็นสุขสำราญร่วมใจกันมามิได้ร้าวฉานอย่างหนึ่ง สามารถตั้งตัวไดเป็นหลักฐานและมีบุตรธิดาที่จะสืบสกุลวงศ์อย่างหนึ่ง และเป็นผู้อยู่ในศีลธรรมด้วยอย่างหนึ่ง ถ้าว่าโดยย่อคือผู้ซึ่งทรงคุณสมควรจะเป็นเยี่ยงอย่างแก่บ่าวสาว เมื่ออยู่ด้วยกันต่อไป

ผู้ปกครองทั้ง ๒ ฝ่ายจึงปรึกษาหาคู่ผัวเมียซึ่งทรงคุณเช่นว่ามาเป็นผู้ปูที่นอนและประสิทธิพรให้คุณสมบัติของตนแก่บ่าวสาว ก็แต่คู่ผัวเมียซึ่งสมบูรณ์คุณสมบัติเช่นนั้นหายาก บางคู่มีคุณอย่างอื่นบริบูรณ์แต่ผัวกลัวเมียเกินขนาด ผู้ปกครองฝ่ายเจ้าบ่าวก็มักรังเกียจ ถ้าผู้ผัวมีเมียน้อยผู้ปกครองฝ่ายเจ้าสาวก็มักรังเกียจ เมื่อเลือกจึงต้องปรึกษาหารือให้พร้อมใจกันว่าเชิญคู่ไหน ส่วนผู้ที่ได้รับเชิญก็ย่อมรับทำให้ด้วยความยินดี เพราะเหมือนกับได้รับความยกย่องของมหาชนว่าเป็นผู้ทรงความดีอันควรนับถือ แต่ก็มีเสี่ยงภัยอยู่บ้างแม้ผัวเมียคู่นั้นไปเกิดแตกร้าวกันขึ้นเมื่อภายหลัง เข้าก็ไม่มีเชิญอีกต่อไป คล้ายกับถูกถอด หรือคู่ใดถึงความตายไปคนหนึ่ง คนที่ยังอยู่ก็ไม่ได้รับเชิญอีก เปรียบเหมือนถูกปลดขาดจากหน้าที่ ด้วยเหตุเหล่านี้คู่ผัวเมียซึ่งคนชอบเชิญปูที่นอนบ่าวสาวในสมัยนั้นจึงไม่มีมากนัก

อนึ่งการปูที่นอนบ่าวสาวนั้นมีแบบพิธีมาแต่โบราณ ผู้จะปูที่นอนบ่าวสาวต้องเรียนให้รู้ตำราด้วย เมื่อแต่งงานเจ้าพระยายมราชกับท่านผู้หญิงตลับ ข้าพเจ้าไม่ได้เห็นพิธีปูที่นอนเพราะไปรดน้ำเมื่อตอนบ่าย พิธีปูที่นอนเข้าทำกันต่อเวลาค่ำราว ๒๑ นาฬิกา

มาได้เห็นพิธีนั้นเป็นครั้งแรกเมื่อแต่งงานหม่อมเจ้าจุลดิศลูกชายใหญ่ของข้าพเจ้ากับนางสาวแช่ม เปาโรหิต(น้องเจ้าพระยามุขมนตรี(อวบ)) ทั้ง ๒ ฝ่ายพร้อมใจกันเชิญพระยาพฤฒาธิบดี(ปลอด)กับคุณหญิงหนูพฤฒาธิบดี อายุกว่า ๖๐ ปีแล้ว ทั้ง ๒ คนเป็นผู้ปูที่นอนบ่าวสาว เมื่อถึงเวลาจะทำพิธี ข้าพเจ้ากับพวกญาติเข้าไปนั่งคอยดูอยู่ในห้องนอนหลายคน นั่งอยู่กับพื้นด้วยกันทั้งนั้น พอถึงเวลาเริ่มการพิธี พระยาพฤฒาฯก็ลุกขึ้นยืนร้องถามข้อความต่างๆและมีทนายคอยตอบ จะเรียงคำตามที่จำได้ดังนี้

พระยาพฤฒาฯ "ถึงฤกษ์หรือยัง"
ทนาย "ถึงแล้วขอรับ"
พระยาพฤฒาฯ "นายบุญมั่นมาแล้วหรือยัง"
ทนาย "มาแล้วขอรับ"
พระยาพฤฒาฯ "ก็นายบุญคงเล่า มาแล้วหรือยัง"
ทนาย "มาแล้วขอรับ"

แล้วถามถึงคนที่ชื่อเป็นสวัสดิมงคลอย่างอื่นต่อไปอีกสักสามสี่คน ทนายก็รับว่ามาแล้วทุกครั้ง เมื่อถามเสร็จแล้วพระยาพฤฒาฯลงนั่งหันหน้าไปพูดกับคุณหญิงหนูว่า "ถึงฤกษ์ดีแล้ว ผู้จะมาช่วยอำนวยพรก็มาพร้อมกันแล้ว เรามาช่วยกันปูที่นอนให้เถิดแม่หนู" ว่าแล้วก็ช่วยกันปูที่นอนจนเรียบร้อย แล้วพระยาพฤฒาฯกับคุณหญิงหนูก็ขึ้นไปนั่งเคียงกันบนที่นอน หันหน้าไปทางข้างหัวนอน ไหว้พระสวดมนต์ด้วยกันสักครู่หนึ่ง พอจบแล้วก็ลงนอนเคียงกันบนที่นอน ให้พรบ่าวสาวเป็นคำสนทนากันและกันเป็นทำนองดังนี้

พระยาพฤฒาฯ "ที่นอนน่านอน ใครนอนเห็นจะอยู่เย็นเป็นสุขสบาย อายุยืนนะแม่หนู"
คุณหญิงหนู "สบายนักคะ ถ้าใครนอนที่นอนนี้คงจะเกิดทรัพย์สินมากมูลพูนเขา มีลูกเต้าน่ารักน่าชม"

ให้พรโดยกระบวนสนทนาเช่นนี้อีกหลายอย่าง จนจบบทให้พรแล้ว นอนหลับตานิ่งเหมือนกับหลับอยู่สักครู่หนึ่งก็ลุกลงจากเตียงเป็นเสร็จการพิธี

ต่อมาอีกหลายปี เมื่อเจ้าพระยายมราชเป็นเสนาบดีแล้ว ข้าพเจ้าจะแต่งงานหม่อมเจ้าทรงวุฒิภาพบุตรข้าพเจ้ากับหม่อมราชวงศ์หญิงสอิ้ง สนิทวงศ์ ในพระองค์เจ้าพร้อมพงศอธิราช ข้าพเจ้าได้ยินว่าในสมัยนั้นมีผู้เชิญเจ้าพระยายมราชกับท่านผู้หญิงตลับปูที่นอนบ่าวสาวอยู่บ้างแล้ว จึงเชิญท่าน ท่านก็รับ

ครั้นถึงวันแต่งงาน เวลาจะปูที่นอนข้าพเจ้าอยากดูการพิธีเหมือนเมื่อครั้งชายใหญ่แต่งงานก็เข้าไปนั่งคอยดูอยู่ด้วยกันกับพวกญาติที่ในห้องนอน เจ้าพระยายมราชเข้าไปตรวจตราเครื่องที่นอนด้วยกันกับท่านผู้หญิงตลับ แล้วมาพูดกับข้าพเจ้า ว่าการที่ทำพิธีปูที่นอนบ่าวสาว ท่านอยากทำให้เป็นสิริมงคลด้วยน้ำใจบริสุทธิ์ ถ้ามีคนคอยดูทำให้ใจคอฟุ้งซ่านไม่มีสมาธิ เห็นว่าคล้ายกับเล่นละครหาเป็นมงคลจริงๆไม่ ข้าพเจ้าเกรงใจท่านก็ชวนกันออกมาเสียจากห้อง พอคนออกหมดแล้วท่านก็ปิดประตูลงกลอน เหลืออยู่ในห้องแต่ตัวท่านกับท่านผู้หญิงตลับ ๒ คนเท่านั้น จนเสร็จการพิธีจึงเปิดประตูออกมาข้างนอก

การพิธีปูที่นอนบ่าวสาวในชั้นหลังมาได้ยินว่า ผู้ปูที่นอนไม่ยอมให้ใครดูเหมือนอย่างครั้งนั้น จะได้แบบของเจ้าพระยายมราชไป หรือท่านจะได้แบบมาจากใครข้าพเจ้าหาทราบไม่ แต่เจ้าพระยายมราชกับท่านผู้หญิงตลับได้มีเกียรติในการรับเชิญปูที่นอนบ่าวสาวสืบมาช้านาน

พระเจ้าลูกยาเธอ ๔ พระองค์เสด็จกลับมาอยู่ในกรุงเทพฯได้ ๑๐ เดือน ถึงปลาย พ.ศ. ๒๔๓๑ ประจวบกับเวลาสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงโปรดฯให้พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ ซึ่งในเวลานันเป็นตำแหน่งผู้ช่วยบุญชาการทหารเรือเสด็จตรวจการในยุโรป จึงโปรดฯให้พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์พาพระเจ้าลูกยาเธอกลับไปส่งยังประเทศอังกฤษด้วย เสด็จไปครั้งนั้นเดินทางตามระยะที่พระองค์เจ้าสายฯได้กะไว้สำหรับพระองค์ท่านเอง ไปทางเมืองพม่าและอินเดียก่อน แล้วจึงไปลงเรือเมล์ที่เมืองบอมเบไปยุโรป เป็นประโยชน์แก่พระเจ้าลูกยาเธอได้ทอดพระเนตรเห็นบ้านเมืองของชนชาติต่างๆหลายเมือง

กระบวนส่วนพระองค์พระเจ้าลูกยาเธอเสด็จไปครั้งนี้ไม่มีพี่เลี้ยงไปเหมือนครั้งก่อน มีแต่เจ้าพระยายมราชได้รับพระกรุณาของสมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์ฯทรงอุกหนุน ด้วยกราบบังคมทูลขอให้เจ้าพระยายมราชเป็นตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการในสถานทูตที่กรุงลอนดอน ได้เงินเดือนมากขึ้น เมื่อไปถึงลอนดอนจึงสามารถหาบ้านที่อยู่ต่างหาก เพราะมีภรรยาไปด้วยจะอยู่บ้านเดียวกับพระเจ้าลูกยาเธออย่างแต่ก่อนไม่สมควร

ถึงสมัยนี้เจ้าพระยายมราชอาจทำราชการได้ทั้งที่สถานทูตและที่พระเจ้าลูกยาเธอ ๔ พระองค์เพราะทรงชำนิชำนาญหนังสือไทยมากแล้ว เป็นแต่ต้องแนะนำให้ทรงหนังสือต่างๆ แต่เมื่อเจ้านายไม่มีพี่เลี้ยงไทยอยู่ด้วยดังแต่ก่อน เจ้าพระยายมราชก็ต้องเอาเป็รธุระในการส่วนพระองค์มากขึ้น แม้เวลาพระองค์ใดประชวรก็ไปอยู่ดูแลรักษาพยาบาลจนกว่าจะหาย ฝ่ายท่านผู้หญิงตลับก็ไปด้วยช่วยทำการต่างๆถวายพระเจ้าลูกยาเธอ เช่นทำเครื่องอย่างไทยให้เสวยเป็นต้น ความรักใคร่ในระหว่างพระเจ้าลูกยาเธอกับเจ้าพระยายมราชจึงสนิทสนมอยู่ตามเคย มิได้เปลี่ยนแปลงอย่างใด เจ้าพระยายมราชเป็นตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการในสถานทูตอยู่ไม่ช้านัก ก็ได้เลื่อนที่ขึ้นเป็นเลขานุการชั้นที่ ๒ เต็มตำแหน่ง

ถึง พ.ศ. ๒๔๓๔ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ข้าพเจ้าผู้แต่งเรื่องประวัตินี้เป็นผู้แทนพระองค์ไปเยี่ยมตอบแกรนดยุ๊กซาร์เรวิช รัชทายาทประเทศรุสเซีย (ซึ่งต่อมาได้เสวยราชย์ทรงพระนามว่า พระเจ้าซาร์นิโคลาสที่ ๒) ที่ได้เสด็จมากรุงเทพฯเมื่อปีก่อน และโปรดให้ข้าพเจ้าไปยังราชสำนักประเทศอื่นๆ เพื่อถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์บ้าง เพื่อกิจการอย่างอื่นบ้างอีกหลายอย่าง เมื่อไปครั้งนั้นโปรดฯให้ข้าพเจ้าเชิญสัญญาบัตรเลื่อนบรรดาศักดิ์ขุนวิจิตรวรสาส์น (คือเจ้าพระยายมราช) ขึ้นเป็นหลวงวิจิตรวรสาส์นไปพระราชทานด้วย

นอกจากนี้ยังมีกิจที่เกี่ยวกับพระเจ้าลูกยาเธอ ๒ พระองค์ คือ กรมหลวงราชบุรีสอบความรู้ที่จะเข้ามหาวิทยาลัยได้แล้ว โปรดฯให้ข้าพเจ้าพาไปส่งยังวิทยาลัยไคลสต์เชิชในมหาวิทยาลัยออกฟอร์ดด้วย ส่วนกรมหลวงนครชัยศรีฯนั้น มีพระราชประสงค์จะให้ไปเรียนวิชาทหารบกในประเทศเดนมาร์ก ด้วยสมเด็จพระเจ้าคริสเตียนที่ ๙ (พระอัยกาของเจ้าแผ่นดินในปัจจุบันนี้) ตรัสว่าจะทรงรับอุปการะให้ได้เรียนดังพระราชประสงค์ จึงโปรดฯให้ข้าพเจ้าพากรมหลวงนครชัยศรีฯไปถวายพระเจ้าแผ่นดินเดนมาร์กด้วย

เมื่อข้าพเจ้าไปถึงลอนดอน ยินดีอย่างยิ่งด้วยไปได้พบกับพระเจ้าลูกเธอ และเจ้าพระยายมราชกับท่านผู้หญิงตลับ เวนานั้นท่านผู้หญิงตลับมีลูกแล้ว ๒ คน บุตรคนหัวปีชื่อ สวาท(คือพระยาสุขุมนัยวินิตเดี๋ยวนี้)คนหนึ่ง ธิดาชื่อ ไสว(แต่เมื่อกลับมากรุงเทพฯมาถึงแก่กรรมเสียแต่ยังเด็ก)คนหนึ่ง ข้าพเจ้าพักอยู่สถานทูต พระเจ้าลูกยาเธอเสด็จมาหาและพาไปเที่ยวเนืองๆ ทั้งเจ้าพระยายมราชกับท่านผู้หญิงตลับก็หมั่นไปมาหาสู่ ข้างฝ่ายข้าพเจ้ามักไปที่ตำหนักพระเจ้าลูกยาเธอและที่บ้านเจ้าพระยายมราชเนืองๆ เป็นเริ่มแรกที่ข้าพเจ้าจะได้คุ้นกับท่านผู้หญิงตลับมาแต่ครั้งนั้น

เมื่อข้าพเจ้าได้เฝ้าสมเด็จพระราชินีวิกตอเรียและได้ส่งกรมหลวงราชบุรีฯเข้ามหาวิทยาลัยแล้ว ก็พากรมหลวงนครชัยศรีฯออกจากประเทศอังกฤษ และให้เจ้าพระยายมราชไปในตำแหน่งเป็นเลขานุการของข้าพเจ้า เพื่อจะได้เป็นเพื่อนกรมหลวงนครชัยศรีฯด้วย ไปพักอยู่ที่เมืองฝรั่งเศสหน่อยหนึ่ง แล้วชวนพระยาสุริยานุวัติ(เกิด บุนนาค) เวลานั้นยังมียศเป็นพระและเป็นอุปทูตอยู่ประเทศฝรั่งเศสคนหนึ่ง กับมิสเตอร์ ไวก์ ที่ปรึกษาในสถานทูตที่ปารีสอีกคนหนึ่งไปด้วย ไปยังกรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์กก่อน เวลานั้นสมเด็จพระเจ้าคริสเตียนเสด็จไม่อยู่ เจ้ารัชทายาท (คือสมเด็จพระเจ้าเฟรเดอริก พระราชบิดาของพระเจ้าแผ่นดินในปัจจุบันนี้)เป็นผู้สำเร็จราชการต่างพระองค์ทรงรับรองเลี้ยงดู ตรัสแก่ข้าพเจ้าว่า เมื่อสมเด็จพระราชบิดาจะเสด็จไปประเทศรุสเซียได้ดำรัสสั่งไว้ ให้บอกข้าพเจ้าว่า ข้าพเจ้าก็จะไปสู่ราชสำนักในรุสเซียจะได้พบพระองค์ ณ ที่นั้น ถ้าพากรมหลวงนครชัยศรีฯไปถวายที่นั่นก็จะทรงยินดี เพราะฉะนั้นกรมหลวงนครชัยศรีฯกับเจ้าพระยายมราชจึงได้ไปยังประเทศต่างๆในยุโรปด้วยกันกับข้าพเจ้าอีกหลายประเทศ

ออกจากกรุงโคเปนเฮเกนไปยังกรุงเบอร์ลิน แต่ที่กรุงเบอร์ลินกรมหลวงนครชัยศรีฯเสด็จไปอย่างไปรเวต ข้าพเจ้าถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์แก่สมเด็จพระเจ้าไกเซอวิลเฮมที่ ๒ แล้วขึ้นรถไฟออกจากกรุงเบอร์ลินไปยังประเทศรุสเซีย ลงจากรถไฟที่เมืองโอเดสซาริมทะเลดำ แล้วลงเรือกำปั่นไฟของหลวงไปยังพระราชวังลิวาเดียอันเป็นที่ประทับในฤดูร้อน โปรดให้ไปอยู่ในพระราชวังด้วยกันทั้งหมด

เวลานั้นมีเจ้านายไปประชุมกันอยู่ที่วังลิวาเดียมาก ในพระราชวงศ์รุสเซียมีสมเด็จพระเจ้าซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ ๒ กับสมเด็จพระราชินีมารีเป็นประมุข ลูกก็เสด็จอยู่ที่นั่นทุกพระองค์ คือ ซาร์เรวิช แกรนดยุ๊กยอร์ช แกรนดัชเชสเซเนีย แกรนดยุ๊กไมเคล แกรนดัชเชสออลคา และแกรมดยุ๊กอเล็กซานเดอร์ซึ่งจะเป็นราชบุตรเขย เจ้านายในวงศ์เดนมาร์ก คือ สมเด็จพระเจ้าคริสเตียนและสมเด็จพระราชินีหลุยส์ เจ้านายราชวงศ์อังกฤษ คือ สมเด็จพระราชินีอเล็กซานดรา(เวลานั้นยังเป็นปรินเซสออฟเวลล์) เจ้าหญิงวิกตอเรีย เจ้าหญิงหมอด (ซึ่งภายหลังเป็นสมเด็จพระราชินีประเทศนอรเว) เวลาเสวยกลางวันเสวยด้วยกันแต่เจ้านาย

วันหนึ่งพอเวลาเสวยแล้ว สมเด็จพระเจ้าซาร์ดำรัสให้แกรนดยุ๊กไมเคลราชโอรสพระองค์น้อย ซึ่งยังรุ่นราวคราวเดียวกับกรมหลวงนครชัยศรีฯ ยังทรงเครื่องกะลาสีอยู่ ให้พวกกรมหลวงนครชัยศรีลงไปเล่นด้วยกันที่ในสวน พอลงไปถึงแกรนดยุ๊กไมเคลก็กรากเขาเล่นปล้ำตามประสาเด็ก กรมหลวงนครชันศรีฯของเราก็แววดีใจหาย แทนที่จะกระดากกระเดื่อง เขาปล้ำก็ปล้ำกับเขาบ้าง เล่นกันสนุกสนานอยู่ที่ในสวน สมเด็จพระราชินียืนทรงพระสรวลทอดพระเนตรอยู่ทั้ง ๒ พระองค์ เวลาค่ำเสวยพร้อมกันทั้งเจ้านายและข้าราชการที่ไปตามเสด็จ รวมเบ็ดเสร็จทั้งพวกเรากว่า ๕๐ คน

เมื่อกลับจากลิวาเดีย สมเด็จพระเจ้าซาร์โปรดฯให้เรือไฟพระที่นั่งลำใหญ่รับข้ามทะเลดำมาส่งที่กรุงคอนสะแตนติโนเปิล (เดี๋ยวนี้เรียกว่าเมืองอิสตันบูล) ราชธานีของประเทศตุรกี ชะรอยสมเด็จพระเจ้าอับดุลฮามิดสุลต่านตุรกีจะได้ทรงทราบถึงการรับรองพวกเราในประเทศรุสเซีย จึงโปรดฯให้รับเข้าไปอยู่ในพระราชวังยิลดิส อันเป็นที่เสด็จประทับด้วยกันทั้งนั้น และทรงแสดงพระเมตตาปรานีมาก เมื่อจะมาจากตุรกีก็ตรัสห้ามมิให้มาเรือเมล์ โปรดให้เรือกำปั่นหลวงมาส่งถึงกรุงอะเธนส์ราชธานีประเทศกีซ สมเด็จพระเจ้ายอร์ชที่ ๑ (องค์พระอัยกาของสมเด็จพระเจ้ายอร์ชที่ ๒ ซึ่งเสวยราชย์อยู่บัดนี้) ก็โปรดรับให้อยู่ในพระราชวังด้วยกันทั้งหมด เห็นจะเป็นด้วยมีพระราชประสงค์ จะตอบแทนพระคุณสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงที่ทรงรับเจ้ายอร์ชราชโอรสซึ่งเข้ามากรุงเทพฯด้วยกันกับแกรนดยุ๊กซาร์เรวิช ออกจากประเทศกรีซมายังกรุงโรมในประเทศอิตาลี ตอนนี้กรมหลวงนครชัยศรีฯเสด็จเป็นอย่างไปรเวตเหมือนอย่างไปกรุงเบอร์ลิน เมื่อข้าพเจ้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าอุมเบิตและไปเที่ยวชมเมืองฟลอเรนส์กลับมาถึงเมืองเนเปิล เป็นอันเสร็จราชการที่ข้าพเจ้าไปยุโรป แล้วก็ต้องแยกกัน กรมหลวงนครชัยศรีกับเจ้าพระยายมราชกลับไปกรุงลอนดอน พระยาสุริยานุวัติกับมิสเตอร์ ไวก์ กลับไปกรุงปารีส ฝ่ายข้าพเจ้าก็ลงเรือกลับมาจากยุโรป มาแวะดูประเทศอียอปต์และอินเดียราว ๒ เดือน ตามได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต แล้วกลับมาถึงกรุงเทพฯเมื่อปลายเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๓๔

การที่เจ้าพระยายมราชได้ไปประเทศต่างๆในยุโรปด้วยกันกับข้าพเจ้าครั้งนั้นเป็นประโยชน์แก่ตัวท่านมาก นอกจากได้เฝ้าพระเจ้าแผ่นดิน และได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ในประเทศที่ไป ท่านได้ความคุ้นเคยเข้าสมาคมชั้นสูงในยุโรป ทั้งได้เห็นขนบธรรมเนียมในราชสำนักต่างๆได้ประโยชน์เหล่านั้นเหมาะกับเวลา พอท่านกลับไปถึงกรุงลอนดอนไม่ช้า สมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์ฯก็กราบทูลขอให้เลื่อนยศขึ้นเป็น เลขานุการชั้นที่ ๑ ในสถานทูต

ต่อมาได้พระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนบรรดาศักดิ์ขึ้นเป็นที่ พระวิจิตรวรสาส์น และได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์มงกุฎสยามชั้นที่ ๔ ด้วย ถึงตอนนี้ทั้งตัวท่านและท่านผู้หญิงตลับได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระราชินีวิกตอเรียและได้รับเชิญเข้ากับหมู่ทูตต่างประเทศเวลามีงานต่างๆเนืองนิจ

ถึง พ.ศ. ๒๔๓๖ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงพระกรุณาโปรดฯให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ (คือพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว) เสด็จออกไปทรงศึกษาในประเทศอังกฤษ เจ้าพระยายมราชก็ได้เป็นพระครูสอนหนังสือไทยถวายเมื่อตอนแรกเสด็จออกไปถึง จนเจ้าพระยาพระเสด็จ(ม.ร.ว.เปีย มาลากุล) แต่ยังเป็นพระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ออกไปเปลี่ยน




 

Create Date : 24 มีนาคม 2550   
Last Update : 24 มีนาคม 2550 11:07:12 น.   
Counter : 5474 Pageviews.  


เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ (แพ)

พระมหามงกุฎเป็นเครื่องหมายของราชาธิปไตย
พระมหามงกุฎสง่างามด้วยประดับเพชรนิลจินดาอันมีค่าฉันใด
ข้าราชการที่อุตส่าห์ช่วยกันทะนุบำรุงบ้านเมืองให้มีความเจริญสุข
ก็เปรียบเหมือนเพชรนิลเครื่องประดับพระมหามงกุฎฉันนั้น



พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว





รถแก้วจักรพรรดิ
จากซ้ายไปขวา พระยาบุษรถ (ฟ้อน ศิลปี), ท้าววรจันทร์, เจ้าคุณพระประยูรวงศ์, ท่านผู้หญิงตลับ,
เจ้าจอมมารดาชุ่ม, เจ้าจอมมารดาโหมด, พระราชชายาเจ้าดารารัศมี, เจ้าจอมเลียม
ถ่ายเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2448



....................................................................................................................................................


เจ้าคุณพระประยูรวงศ์
ภาพโดยความเอื้อเฟื้อจาก Tante-Marz



(๑)

เจ้าคุณพระประยูรวงศ์(แพ) ปจ.,มวม., รัตนาภรณ์ มปร. ชั้นที่ ๕,จปร.ชั้นที่ ๒,วปร.ชั้นที่ ๑,ปปร.ชั้นที่ ๒ เป็นเจ้าคุณจอมมารดาร หัวหน้าพระสนมทั้งปวงในรัชกาลที่ ๕ ถึงรัชกาลที่ ๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาเกียรติยศขึ้นเป็นเจ้าคณะพิเศษ มีสมญาว่า "เจ้าคุณพระประยูรวงศ์" ตัวท่านเกิดในวงศ์ราชินิกุลสาย "บุนนาค" อันเจ้าคุณพระอัยยิกานวล กนิตถภคินีของสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี กับเจ้าพระยาอัครมหาเสนา(บุนนาค) ในรัชกาลที่ ๑ ซึ่งเป็นบุตรพระยาจ่าแสนยากรครั้งกรุงศรีอยุธยา เป็นต้นสกุล สืบสายลงมาทางสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์(ดิส) สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง) และเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัธน์(วอน)โดยลำดับ ล้วนเกิดด้วยภรรยาหลวงถึงเจ้าคุณพระประยูรวงศ์เป็นชั้นที่ ๕ ท่านเกิดในรัชกาลที่ ๔ เมื่อ ณ วันเสาร์ เดือน ๑๒ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ตรงกับวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ปีขาล พ.ศ.๒๓๙๗ ดวงชะตาของท่านเป็นดังนี้




เมื่อเจ้าคุณพระประยูรวงศ์เกิดนั้น เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัธน์ บิดาของท่านยังเป็นที่เจ้าหมื่นไวยวรนาถหัวหมื่นมหาดเล็ก มีภรรยาหลวง ๒ คนเป็นพี่น้องกันและต่อมาภายหลังได้มีบรรดาศักดิ์เป็นท่านผู้หญิงทั้ง ๒ คน

ท่านผู้หญิงอ่วมผู้เป็นพี่มีบุตร ๓ คน

บุตรคนที่ ๑ ชื่อ ชาย ได้เป็นพระยาประภากรวงศ์ วรวุฒิภักดี จางวางมหาดเล็กและบังคับการกรมทหารเรือเมื่อรัชกาลที่ ๕
บุตรคนที่ ๒ ชื่อ โต ในรัชกาลที่ ๕ ได้เป็นเจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ นายพลโทสมุหราชองครักษ์
บุตรคนที่ ๓ ชื่อเล็ก ได้เป็นพระยาราชานุวงศื รับราชการในกระทรวงพระคลังฯเมื่อรัชกาลที่ ๖

ท่านผู้หญิงอิ่มผู้เป็นน้องมีบุตร ๔ คน ธิดา ๕ คน รวม ๙ คน ลำดับกันคือ

ที่ ๑ ธิดา ชื่อ เล็ก เป็นภรรยาพระยาศรีสรราชภักดี(หนูเล็ก)บุตรเจ้าพระยามหาศิริธรรม(เมือง ณ นคร)และคุณเผือก ธิดาสมเด็จเจ้าพระยามหาประยูรวงศ์เป็นมารดา จึงตั้งนามสกุลว่า"โกมารกุล ณ นคร"
ที่ ๒ ธิดา ชื่อ ฉาง
ที่ ๓ ธิดา ชื่อ แพ คือ เจ้าคุณพระประยูรวงศ์
ที่ ๔ บุตร ชื่อ เหมา ได้เป็นหลวงจักรยานานุพิจารณ์
ที่ ๕ บุตร ชื่อ หมิว ได้เป็นจ่ายวดยศสถิตย์
ที่ ๖ ธิดา ชื่อ โหมด ได้เป็นจอมมารดาพระสนมเอกในรัชกาลที่ ๕
ที่ ๗ ธิดา ชื่อ แม้น ได้เป็นหม่อมสมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยาภานุพันธุวงศ์วรเดช
ที่ ๘ บุตร ชื่อ เมี้ยน
ที่ ๙ บุตร ชื่อ มิด

บุตรหญิงท่านผู้หญิงอิ่มมักตายเสียแต่อายุยังน้อย ไม่มีใครได้เกียรติยศถึงอย่างสูงศักดิ์ แต่ธิดาได้เป็นชนนีของเจ้านายในราชสกุลหลานพระองค์

ฉันเคยถามเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ ว่าฉันเคยได้ยินเขาว่าท่านชื่อ"ม่วง"อยู่ก่อน ต่อเมื่อจะเข้าไปอยู่ในวังจึงเปลี่ยนชื่อว่า"แพ"จึงหรือ ท่านตอบว่าความจริงไม่เป็นเช่นนั้น แล้วเลยเล่าถึงถิ่นฐานของท่านต่อไปว่าเดิมพวกสกุลของท่านตั้งบ้านเรือนอยู่ริมแม่น้ำทางฝั่งธนบุรีด้วยกันทั้งนั้น สร้างบ้านปลูกเรือนอยู่ต่อๆกันลงมาตั้งแต่คลองใต้บ้านฝรั่งกุฎีจีน จนคลองขนอนทางเข้าไปวัดพิชัยญาตทั้ง ๒ ฟาก ข้างหลังบ้านขึ้นไปบนบกก็เป็นสวน เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสวยราชย์ทรงสถาปนาเจ้าพระยาพระคลังปู่ทวดของท่าน เป็นสมเด็จเจ้าพระยามหาประยูรวงศฺ(เรียกกันว่าสมเด็จองค์ใหญ่) ทรงสถาปนาพระยาศรีพิพัฒน์ ปู่ทวดน้อยของท่านเป็น สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาต(เรียกกันว่าสมเด็จองค์น้อย) และทรงสถาปนาพระศรีสุริยวงศ์ จางวางมหาดเล็ก ปู่ของท่าน เป็นเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เสนาบดีที่สมุหกลาโหม ทรงพระราชดำรัสว่าบ้านปู่ของท่านที่อยู่ต่อกับจวนสมเด็จองค์ใหญ่ทางข้างเหนือคับแคบนักไม่สมกับเป็นจวนของเสนาบดี จึงทรงพระกรุณาโปรดฯพระราชทานจวนของเจ้าพระยาบดินทเดชา(สิงหเสนี)สมุหนายก อันอยู่ทางฟากพระนครที่ริมคลองสะพานหัน(ครงเวิ้งนครเขษมบัดนี้) ซึ่งตกเป็นของหลวงเมื่อเจ้าของถึงอสัญกรรมในตอนปลายรัชกาลที่ ๓ ให้เป็นที่อยู่ของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์

เวลานั้นบิดาของท่านเป็นที่เจ้าหมื่นไวยวรนาถ ก็อพยพครอบครัวไปอยู่กับบิดาที่บ้านนั้น แต่เหย้าเรือนไม่พอกันเพราะเรือนที่เจ้าพระยาบดินทเดชาสร้างไว้ชำรุดทรุดโทรมอยู่โดยมาก เมื่อแรกไปอยู่ครอบครัวของปู่และบิดาของท่านต้องเที่ยวหาที่อาศัยตามแต่จะอยู่ได้ บิดาของท่านไปอาศัยอยู่ที่ฉางข้าว พี่หญิงของท่านคลอดที่นั่นจึงได้ชื่อว่า"ฉาง" ต่อมาเมื่อซ่อมแซมเรือนแพที่ริมคลองแล้วย้ายมาอยู่ที่เรือนแพ ตัวท่นมาคลอดที่นั้นจึงได้ชื่อว่า"แพ" แต่เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์อยู่ที่จวนเจ้าพระยาบดินทเดชาอยู่ ๔ ปี ถึงปีเถาะ พ.ศ.๒๓๙๘ สมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ถึงพิราลัย ท่านต้องเป็นผู้ปกครองของวงศ์สกุลของบิดา จึงถวายคืนจวนเจ้าพระยาบดินทเดชาแล้วย้ายกลับไปอยู่ทางฟากธนบุรี แต่ไม่ได้อยู่ที่จวนสมเด็จเจ้าพระยาฯ ซึ่งท่านให้น้องผู้หญิงอยู่ด้วยกันอย่างเดิม ตัวท่านสร้างบ้านอยู่ใหม่ที่สวนกาแฟริมคลองหลังวัดประยูรวงศ์ บ้านของท่านอยู่ข้างใต้ให้สร้างบ้านเจ้าหมื่นไวยวรนาทผู้บุตรซึ่งได้เลื่อนขึ้นเป็นพระยาสุรวงศ์ไวยวัธน์จางวางมหาดเล็กต่อขึ้นไปทางข้างเหนือ ตัวท่าน(เจ้าคุณพระประยูรวงศ์)อายุได้ ๒ ปี ก็ย้ายไปอยู่กับบิดามารดาที่บ้านใหม่ทางฟากข้างโน้น

ข้อที่กล่าวกันว่าท่านชื่อ "ม่วง" นั้นมีเรื่องเมื่อท่านเติบใหญ่ขึ้นจนวิ่งได้แล้ว มียายม่วงคนหนึ่งไปขายขนมที่บ้านเสมอ ท่านชอบกินขนมของยายม่วงจนเห็นว่าแกเป็นช่างทำขนมอย่างวิเศษ อยู่มาวันหนึ่งเวลาเด็กๆนั่งเล่นอยู่ด้วยกัน เกิดถามกันขึ้นว่าใครอยากเป็นอะไร คนนั้นก็ว่าอยากเป็นนั่นคนนี้ก็ว่าอยากเป็นนี่ไปต่างๆ เมื่อถามมาถึงตัวท่านๆตอบว่าอยากเป็นยายม่วง พวกเด็กๆพี่น้องเห็นขันก็เลยเรียกท่านว่า"ม่วง" ล้อเล่นอยู่คราวหนึ่งหาใช่ชื่อจริงของท่านไม่


(๒)

เรื่องประวัติในตอนเลข ๒ นี้ เจ้าคุณพระประยูรวงศ์เคยเล่าให้พระยาสุรินทราชเสนี(สาย)น้องต่างมารดาฟังเมื่อท่านอายุได้ ๖๔ ปี ในพ.ศ.๒๔๖๑ สั่งให้จดไว้สำหรับเล่าให้ลูกหลานฟังเมื่อตัวท่านล่วงลับไปแล้ว พระยาสุรินทร์ฯก็ได้จดตามความประสงค์ของท่าน ฉันได้บันทึกของพระยาสุรินทร์ฯมาอ่านเมื่อแต่งประวัตินี้ แต่ตัวพระยาสุรินทร์ฯถึงอนิจกรรมเสียแล้ว พิจารณาข้อความก็ตรงกับท่านเล่าให้ฉันฟังเมื่ออายุท่านได้ ๖๘ ปีในพ.ศ.๒๔๖๕ ต่างกันบ้างแต่ที่เป็นพลความ แต่มีเรื่องในบัทึกของพระยาสุรินทร์ฯมากกว่าฉันจำไว้ได้ฉันจึงเอาบันทึกของพระยาสุรินทร์ฯเป็นโครงเขียนเรื่องประวัติในตอนนี้ เพิ่มเติมตัดทอนและแก้ไขบ้างแต่ตรงที่คาดวันคืน และผิดกับความที่ฉันรู้แน่ว่าเป็นอย่างอื่น

เรื่องประวัติตอนเมื่อเจ้าคุณพระประยูรวงศ์เป็นเด็กก่อนโกนจุก ท่านเล่าว่าบิดามารดาเมตตาปราณีด้วยตัวท่านมีอุปนิสัยสงบเสงี่ยม ไม่ชอบทะเลาะเบาะแว้งวิวาทกัยผู้หนึ่งผู้ใดให้บิดามารดาเดือดเนื้อร้อนใจ ในข้อนี้ท่านไม่เคยถูกบิดามารดาว่ากล่าวโดยโกรธขึงสักครั้งเดียวเห็นจะเป็นเพราะเหตุนี้เองเจ้าคุณปู่ก็เลยเมตตาท่านด้วย ชอบให้ท่านไปอยู่รับใช้สอยที่จวนเมื่อยังเป็นเด็ก ท่านจึงได้อยู่กับเจ้าคุณปู่และบิดามารดาไปมาจนคุ้นทั้ง ๒ สำนักนั้น

เรื่องที่ท่านเล่าเริ่มพิศดารตั้งแต่เข้าไปอยู่ในพระบรมมหาราชวัง ฉันถามท่านว่าด้วยเหตุอันใดท่านจึงเข้าไปอยู่ในวัง ท่านว่าเหตุที่ผู้ใหญ่ในสกุลให้ท่านเข้าไปอยู่ในวังนั้นท่านทราบต่อภายหลังมาช้านาน ว่าเมื่อปีขาล พ.ศ.๒๔๐๙แล้วนั้น ท่านโกนจุกแล้วอายุได้ ๑๒ ปียังไว้ผมทรงดอกกระทุ่ม(เห็นจะเป็นเมื่อตกลงจะแต่งงานคุณเล็กพี่สาวคนใหญ่) เจ้าคุณปู่ปรารภกับบิดาของท่านว่าท่านเป็นผู้ใหญ่ในวงศ์ตระกูลและเคยมีลูกหญิงถวายทำราชการฝ่ายในมาทุกชั้น ตั้งแต่เจ้าคุณพระอัยยิกานวลก็ถวายเจ้าคุณวังหลวง เจ้าคุณวังหน้า และเจ้าคุณปราสาทเมื่อรัชกาลที่ ๒ สมเด็จเจ้าพระยาก็ถวายเจ้าคุณตำหนักใหม่สมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อยก็ถวายเจ้าคุณตำหนักเดิมเมื่อรัชกาลที่ ๓ มาถึงตัวท่านมีคุณกลางเป็นลูกหญิงคนเดียวก็ได้ให้แต่งงานกับพระยาสีหราชฤทธิไกร(แย้ม)บุตรเจ้าพระยาภูธราภัยเสียแต่เมื่อรัชกาลที่ ๓ ท่านไม่มีลูกจะถวายตามประเพณีในวงศ์ตระกูล จะขอตัวท่าน(เจ้าคุณพระประยูรวงศ์)ถวายทำราชการฝ่ายในแทนลูกสักคนหนึ่ง บิดาท่านก็ไม่ขัดขวาง แต่เรียนเจ้าคุณปู่ว่าตัวท่านเกิดมาก็อยู่แต่ที่บ้านกิริยามารยาทของชาวนอกวังไม่เรียบร้อย จะส่งเข้าไปฝากเจ้าจอมมารดาเที่ยงพระสนมเอกซึ่งชอบพอกันให้ฝึกอบรมเสียก่อนเมื่อกิริยามารยาทเรียบร้อยแล้วจึงค่อยถวายตัว เจ้าคุณปู่ก็เห็นชอบด้วยแต่มิได้มีใครบอกให้ตัวท่านทราบ

อยู่มาวันหนึ่งบิดาของท่านปรารภกับท่านเปรยๆว่า"แม่หนูโตแล้ว อยู่แต่กับบ้านก็จะเป็นคนป่าเถื่อน ไม่รู้ขนบธรรมเนียมเข้าเฝ้าเจ้านายกับเขาบ้าง พ่อคิดจะส่งเข้าไปไว้ในวัง" แล้วถามท่านว่า"อยากไปหรือไม่" ท่านตอบว่า"ดิฉันไม่อยากไป อยู่ในวังไม่เห็นว่าจะสบายเหมือนอยู่กับบ้าน" บิดาท่านได้ฟังก็หัวเราะ แล้วพูดต่อไปว่าที่จะให้เข้าไปอยู่ในวังนั้นเพราะตัวท่านต้องเป็นราชทูตไปเมืองฝรั่งเศสพี่สาวใหญ่ก็แต่งงานมีเหย้ามีเรือนไป ไม่มีใครอยู่เป็นเพื่อนทิ้งไว้ที่บ้านเป็นห่วง เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ก็ยังตอบยืนคำอยู่ว่าไม่สมัครจะเข้าไปอยู่ในวัง จนบิดาบอกให้เข้าใจว่ามิใช่จะส่งเข้าไปถวายตัวอยู่ในวังที่เดียว เป็นแต่จะให้ไปอยู่กับเจ้าจอมมารดา(เที่ยง)ให้ฝึกสอนกิริยามารยาท เมื่อบิดากลับจากยุโรปก็จะรับกลับไปอยู่บ้านอย่างเดิม ท่านเข้าใจเช่นนั้นจึงยอมเข้าไปอยู่ในวัง บิดาก็ให้ท่านผู้หญิงอ่วมผู้เป็นป้าพาเข้าไปฝากต่อเจ้าจอมมารดาเที่ยง(เห็นจะราวเมื่อเดือนยี่ปีขาล พ.ศ.๒๔๐๙ ใกล้ๆกับเมื่อเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัธน์ออกจากกรุงเทพฯไปยุโรป) เจ้าจอมมารดาเที่ยงก็รับอุปการะด้วยความยินดี แต่ปรารภว่าถ้าให้อยู่ด้วยกันกับท่านที่ตำหนัก ท่านเป็นผู้ใหญ่เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ต้องเกรงใจท่านอยู่เสมอก็จะไม่สบาย ก็ในเวลานั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดฯใช้สอยพระองค์หญิงโสมาวดี พระธิดาองค์ใหญ่ของท่านซึ่งเรียกกันว่า"พระองค์ใหญ่โสม"เป็นอุปถาก ดำรัสสั่งให้ขึ้นไปอยู่ ณ พระที่นั่งมูลมณเฑียร ใกล้กับที่เธอเสด็จประทับในบริเวณพระอภิเนาวนิเวศ

เจ้าจอมมารดาเที่ยงจึงให้เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ไปอยู่ด้วยกันกับพระองค์ใหญ่โสมที่พระที่นั่งมูลมณเทียร เพราะเห็นว่ารุ่นราวคราวเดียวกันพระองค์ใหญ่โสมพระชันษาแก่กว่า ๒ ปี พออยู่ด้วยกันไม่ช้าก็ชอบชิดสนิทสนมกัน พระองค์ใหญ่โสมทรงฝึกสอนกิริยามารยาท และเมื่อเสด็จไปสู่ที่สมาคมฝ่ายในก็ให้ถือหีบหมากเสวยตามเสด็จไปด้วย เพื่อให้รู้เห็นคุ้นเคยกับประเพณีในพระบรมมหาราชวังมาเสมอ แต่ไม่ได้อยู่วังเสมอไปทีเดียวมีเวลามารดาคิดถึงให้มารับออกไปอยู่บ้านบ้างอยู่ในวังบ้าง จะกล่าวแทรกลงตรงนี้ตามที่ฉันรู้เห็นเองเมื่อภายหลังว่า เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ท่านมิได้ลืมพระคุณของกรมหลวงสมรรัตน์ฯซึ่งได้มีแก่ท่านเมื่อยังเป็นพระองค์ใหญ่โสม แม้ในเวลาเมื่อท่านมีบุญวาสนาแล้ว ถึงปีใหม่ท่านอุตส่าห์มาถวายรดน้ำกรมหลวงสมรรัตน์ฯด้วยตนเองเสมอทุกปีมิได้ขาดจนตลอดพระชนมายุ


(๓)

เรื่อประวัติเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ ผิดกับนักสนมนารีคนอื่นๆในรัชกาลที่ ๕ ด้วยตัวท่านกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้รักใคร่ติดพันกันเองอยู่ก่อน แล้วพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงตรัสขอมาเป็นสะใภ้หลวง พระราชทานสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตั้งแต่ยังเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ แล้วอยู่ด้วยกันมาจนเสวยราชย์ เรื่องประวัติตอนนี้ท่านจำไว้มั่นคงราวกับฝังอยู่ในใจของท่านเป็นนิจ เป็นตอนที่ท่านปรารถนาจะให้ลูกหลานรู้เมื่อตัวท่านล่วงลับไปแล้ว แต่ฉันขอยั้งไว้ไม่พรรณนาที่ตรงนี้ ไปกล่าวถึงประวัติของสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อก่อนเสวยราชย์ ให้ผู้อ่านรู้ต้นเรื่องอีกฝ่ายหนึ่งเสียก่อน

พระบาทสมเด็จพระจุลเจ้าเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสมภพเมื่อปีฉลุ พ.ศ.๒๓๙๖ แก่กว่าเจ้าคุณพระประยูรวงศ์หนึ่งปี สมเด็จพระชนนีเสด็จสวรรคตเสียก่อนแต่โสกันต์ สมเด็จพระมาตามไหยิกาเธอ กรมสมเด็จพระสุดารัตนราชประยูร เมื่อยังทรงพระนามว่าพระองค์เจ้าหญิงละม่อมทรงบำรุงเลี้ยงมาด้วยกันกับสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธออีก ๓ พระองค์ ประทับอยู่พระตำหนักเดิม(ตรงที่สร้างหมู่พระที่นั่งจักรี)จนพระชันษาได้ ๑๓ ปี โสกันต์เมื่อปีฉลู พ.ศ.๒๔๐๘ แล้วผนวชเป็นสามเณรอยู่ ๖ เดือน ลาผนวชเมื่อเดือนยี่ปีขาล พ.ศ.๒๔๐๙ เห็นจะใกล้ๆกับเวลาที่เจ้าคุณพระประยูรวงศ์เข้าไปในพระราชวัง เมื่อลาผนวชแล้วตามประเพณีมีมาแต่โบราณ ต้องเสด็จออกจากพระราชวังชั้นในไปประทับอยู่ที่ตำหนักแห่งใดแห่งหนึ่งในบริเวณพระราชวังชั้นนอก จนกว่าจะสร้างวังต่างหากเสร็จแล้วจึงเสด็จออกไปอยู่วัง

แต่เมื่ออยู่ตำหนักในบริเวณชั้นนอกนั้นถึงจะมีบริวารเป็นผู้หญิงแม้จนถึงมีหม่อมห้ามอยู่ด้วยก็ได้ เป็นแต่ถ้าจะมีพระหน่อก่อนออกวังต่างหากต้องไปคลอดที่อื่น เพราะประเพณีถือว่าสมควรจะเกิดในพระราชวังแต่พระโอรสธิดาของพระเจ้าแผ่นดินเท่านั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวลาผนวชจากสามเณร สมเด็จพระบรมชนกนาถโปรดฯให้เสด็จประทับอยู่ ณ ตำหนักสวนกุหลาบ อันเป็นบริเวณอยู่ต่อพระที่นั่งพุทไธยสวรรค์ไปทางข้างใต้(ยังรักษาพระตำหนักไว้จนบัดนี้) กรมสมเด็จพระสุดารัตน์ฯก็เสด็จออกไปอยู่ด้วย จัดตำหนักทางข้างเหนือเป็นข้างหน้าที่ผู้ชายอยู่ ทางข้างใต้เป็นฝ่ายในที่ผู้หญิงอยู่ ตัวตำหนักที่เสด็จประทับอยู่กลาง เวลาเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯเสด็จไปประทับที่ตำหนักสวนกุหลาบนั้นพระชันษาได้ ๑๕ ปีสมเด็จพระบรมชนกนาถเคยทรงใช้สอยเป็นราชูปถากในการฝ่ายผู้ชายแต่เมื่อก่อนทรงผนวชเหมือนอย่างใช้สอยพระองค์ใหญ่โสมในการฝ่ายผู้หญิง ฉันใดเมื่อลาผนวชแล้วก็ทรงใช้สอยเช่นนั้นต่อมา เพราะฉะนั้นเมื่อเสด็จไปประทับอยู่ตำหนักสวนกุหลาบเวลามีกิจการก็เสด็จเข้าออกนอกในได้เสมอ และเวลาสมเด็จพระบรมชนกนาถเสด็จไปไหน ก็ต้องตามเสด็จติดพระองค์ไปด้วยเสมอเป็นนิจ

ฉันเคยได้ยินท่านผู้ใหญ่ที่ได้เคยอยู่ในวังเมื่อรัชกาลที่ ๔ พูดว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระเมตตาพระราชบุตรธิดามาก มักตามพระหฤทัยมิใคร่ปกครองพระเจ้าลูกยาเธอที่ยังทรงพระเยาว์กวดขันเหมือนเมื่อรัชกาลก่อนๆ ตัวฉันก็เกิดไม่ทันเห็นว่าพระเจ้าลูกเธอแต่ก่อนได้รับความอบรมอย่างไรเมื่อยังทรงพระเยาว์ ได้แต่คิดดูเห็นว่าน่าจะผิดกัน ด้วยพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลแต่ก่อนๆได้เสวยราชย์เมื่อมีพระราชธิดาทรงพระเจริญวัยเป็นสาวแล้วหลายพระองค์ มีพระเจ้าลูกเธอประสูติใหม่เมื่อเสวยราชย์แล้ว เจ้าพี่ดูแลควบคุมฝึกสอนเจ้าน้องที่ยังทรงพระเยาว์ติดต่อกันมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีแต่พระราชบุตรเมื่อรัชกาลที่ ๒ สองพระองค์ แล้วเสด็จไปทรงผนวชอยู่ถึง ๒๖ ปี เมื่อเสวยราชย์ไม่มีพระราชธิดา พระราชธิดาพระเจ้าอยู่หัวองค์ก่อนๆก็เปลี่ยนฐานะเป็นพระเจ้าพี่นาง น้องนาง หรือพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ ไม่มีตำแหน่งเฝ้าเหมือนอย่างพระราชบุตรและธิดา พระเจ้าลูกเธอประสูติใหม่เมื่อเสวยราชย์มีทุกปี ไม่มีเจ้าพี่จะคอยดูแล เมื่อยังเป็นทารกก็เป็นแต่ขึ้นเฝ้ากับพระชนนีหรือเจ้าจอมมารดา เมื่อทรงเจริญวัยพอจะทำอะไรได้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯก็ทรงใช้สอยฝึกหัดด้วยพระองค์เอง เป็นเหตุให้พระเจ้าลูกเธอรับใช้อยู่ใกล้ชิดสนิทกับสมเด็จพระบรมชนกนาถนี้อย่างหนึ่ง ซึ่งผู้อื่นเข้าใจว่าเป็นเพราะทรงพระเมตตาผิดกันกับพระเจ้าอยู่หัวองค์ก่อนๆ ยังมีเหตุอีกอย่างหนึ่งซึ่งทำให้ผิดกันด้วยในรัชกาลก่อนๆพระเจ้าอยู่หัวมิใคร่เสด็จไปไหนนอกพระราชวัง เจ้านายเป็นแต่ขึ้นมาเฝ้าบนพระราชมณเทียรตามเวลาแล้วก็กลับตำหนัก

ถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเสด็จประพาสนอกราชวังทั้งที่ในกรุงเทพฯและแปรสำนักเสด็จไปประทับตามหัวเมืองต่างเนืองๆ พระเจ้าลูกเธอที่เป็นชั้นผู้ใหญ่ก็ตามเสด็จไปรับใช้สอย ที่เป็นชั้นเล็กเวลาเสด็จไปหัวเมืองก็ติดไปกับเจ้าจอมมารดา เวลาเสด็จประพาสนอกพระราชวัง เจ้าพี่ที่เป็นชั้นใหญ่ก็ต้องว่ากล่าวเจ้าน้องที่ยังทรงพระเยาว์ ฝ่ายเจ้าน้องที่ยังทรงพระเยาว์ก็ต้องยำเกรงในโอวาทของเจ้าพี่ เป็นอย่างปกครองกันตามประสาเด็กก็เลยสนิทสนมกันทุกชั้นตั้งแต่ยังไว้พระเกษาจุกด้วยกัน พระเจ้าลูกเธอรัชกาลที่ ๔ เห็นจะผิดกับพระเจ้าลูกเธอในรัชกาลก่อนๆด้วยเหตุดังกล่าวมานี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นพระราชกุมารพระองค์ใหญ่ในรัชกาลที่ ๔ พระเจ้าลูกเธอชั้นเล็กลงมาเช่นตัวฉันตั้งแต่จำความได้ก็เลยนับถือยำเกรงด้วย รู้สึกว่าพระองค์เป็นผู้ดูแลควบคุมเติบใหญ่ขึ้นก็เกิดรักใคร่เพิ่มขึ้น ด้วยเห็นทรงพระกรุณาแก่น้องด้วยประการต่างๆ พวกชั้นเล็กๆก็ยินดีด้วยประทานของแจกเป็นต้น ที่เป็นชั้นเจ้าพี่ก็ได้เล่นหัวและตามเสด็จเที่ยวเตร่ เพราะฉะนั้นเมื่อเสด็จประทับอยู่ตำหนักสวนกุหลาบๆจึงเป็นที่ประชุมสำหรับเจ้านายพี่น้องเสมอเป็นนิจ เลยเป็นปัจจัยให้ทรงชอบชิดสนิทสนมกับพระเจ้าน้องเธอ ต่อมาเมื่อเสวยราชย์ในรัชกาลที่ ๕ จึงได้พระเจ้าน้องยาเธอเป็นกำลังราชการมากกว่าที่ปรากฏมาในรัชกาลก่อนๆ


(๔)

จะกล่าวถึงเรื่องประวัติเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ ต่อความที่ได้กล่าวในตอนเลขที่ ๒ ต่อไป ฉันถามท่านว่าฉันได้ยินเขาว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯแรกทอดพระเนตรเห็นท่านเมื่อออกไปดูงานพระเมรุที่ท้องสนามหลวง โปรดติดพระหฤทัยตั้งแต่ยังไม่ทรงรู้จักว่าใคร แล้วจึงสืบรู้ชื่อและสกุลของท่านเมื่อภายหลังจริงหรืออย่างไร ท่านว่าไม่ได้เป็นเช่นนั้น เรื่องจริงนั้นครั้งหนึ่งเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นไปประทับอยู่วังหน้าดำรัสสั่งให้ลครวังหลวงขึ้นไปเล่นให้ชาววังหน้าดู(ฉันสันนิษฐานว่าเห็นจะเป็นเมื่อเดือน ๕ ปีเถาะ พ.ศ.๒๔๑๐)เวลานั้นท่านออกไปอยู่บ้าน พระองค์ใหญ่โสมมีรับสั่งให้คนไปรับท่านเข้ามาดูลคร วันนั้นเป็นครั้งแรกที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯทอดพระเนตรเห็นท่าน มือถือหีบหมากเสวยตามพระองค์ใหญ่โสมไปวังหน้า

เวลาดูลครตัวท่านนั่งอยู่ใกล้ๆกับคนบอกบทตรงหน้าพลับพลา เห็นมักทอดพระเนตรมาทางตัวท่านบ่อยๆ แต่ท่านก็ไม่รู้ว่าทรงมุ่งหมายที่ตรงตัวท่าน ดูลครแล้วก็กลับออกไปบ้านในเย็นวันนั้น แต่ประหลาดอยู่ที่ในค่ำวันนั้นจะเป็นด้วยบูรพนิมิตสังหรณ์หรืออย่างไรไม่ทราบ พอนอนหลับก็ฟันไปว่ามีงูตัวหนึ่งโตใหญ่ หัวเหมือนพญานาคที่เขาเขียนไว้ ตัวมีเกล็ดสีเหลืองทั้งตัว ตรงเข้ามาคาบที่กลางตัวท่านแล้วเลื้อยพาไปทิ้งไว้ตรงหน้าเรือนเก่าที่ท่านเคยอยู่ ความฝันนั้นยังจำได้มั่นคง แต่เวลานั้นตัวท่านยังไม่รู้เรื่องบูรพนิมิตที่เขาถือกัน พอเช้าขึ้นไปที่บ้านคุณเล็กพี่สาวซึ่งแต่งงานใหม่ ไปเล่าความฝันให้พวกผู้ใหญ่ฟังตามซื่อด้วยเห็นว่าแปลกประหลาดไม่เคยฝันเช่นนั้นมาแต่ก่อน พวกผู้ใหญ่ที่เขาได้ฟังเขาแลดูกันแล้วหัวเราะขึ้นฮาใหญ่ ท่านก็ยังไม่เข้าใจว่าเขาเห็นขันอย่างไรจึงหัวเราะฮากันเช่นนั้น

ท่านทราบภายหลังว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯทอดพระเนตรเห็นท่านก็โปรด แต่ไม่ทรงทราบว่าเป็นใครเข้าพระทัยแต่ว่าอยู่กับพระองค์ใหญ่โสม วันรุ่งขึ้นตรัสถามพระองค์ใหญ่โสม จึงทรงทราบแล้วตรัสขอให้พระองค์ใหญ่โสมทรงคิดอ่านให้ได้ทอดพระเนตรอีกครั้งหนึ่ง ครั้นวันกลางเดือนหกปีเถาะนั้นพระองค์ใหญ่โสมตรัสชวนท่านให้ไปดูงานพิธีวิสาขบูชาที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตัวท่านไม่รู้เรื่องอะไรก็ยินดีที่จะไปพระองค์ใหญ่โสมตรัสให้พระพี่เลี้ยงพาท่านไปนั่งดูเดินเทียนที่ตรงบันไดข้างพระอุโบสถ เวลาเดินเทียนค่ำวันนั้น ท่านเห็นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯทรงเดินเทียนถึงที่ท่านนั่งอยู่ทีไรก็ทรงเพ่งพิศแต่ที่ตัวท่านทุกรอบจนผิดสังเกต จึงเริ่มรู้สึกว่าชะรอยจะโปรดตัวท่านมาตั้งแต่ค่ำวันนั้น

ฝ่ายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯพอเสร็จงานวิสาขบูชาแล้ว ตรัสกระซิบขอเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ต่อพระองค์ใหญ่โสม พระองค์ใหญ่โสมก็ยอมถวายไม่ขัดขวางแล้วตรัสบอกให้ท่านรู้ตัวด้วย ว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯโปรดจะใคร่ได้เป็นหม่อมห้าม ตรงนี้คิดดูก็ชอบกล หากเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ไม่รักพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เมื่อพระองค์ใหญ่โสมตรัสบอกให้รู้ตัว ก็คงบอกแก่ผู้ใหญ่ในวงศ์สกุลให้มารับไปบ้านเสียให้พ้นภัย ที่รู้แล้วอยู่นิ่งชวนให้เห็นว่าฝ่ายท่านก็เกิดรักใคร่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯตั้งแต่วันเดินเวียนวิสาขบูชาเหมือนกัน จึงเริ่มเรื่องติดพันกันมาลักษณะการติดพันกันนั้น เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ท่านเล่าแต่เป็นเรื่องๆ ไม่ได้เล่าติดต่อจนปลายถึงกระนั้นก็น่าฟัง

เรื่องหนึ่งว่าพอตรัสขอแล้วสักสองสามวันพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯโปรดฯให้พระพี่เลี้ยงชื่อ กลาง นำหีบน้ำอบฝรั่งเข้าไปประทานหีบหนึ่ง ด้วยในสมัยนั้นน้ำอบฝรั่งเพิ่งมีเข้ามาขายในเมืองไทยคนกำลังชอบกันมาก หีบน้ำอบฝรั่งที่ประทานนั้นทำเป็นสองชั้นเปิดฝาออกถึงชั้นบนมีพระรูปถ่ายวางไว้บนนั้น เปิดชั้นล่างต่อไปมีน้ำอบสองขวดกับสบู่หอมก้อนหนึ่งวางเรียงกันอยู่ พระพี่เลี้ยงส่งให้ท่านๆไม่ยอมรับอ้อนวอนท่านก็ไม่รับ จนคนที่พระองค์ใหญ่โสมให้เป็นพี่เลี้ยงท่านชื่อ สุ่น อดรนทนไม่ได้ต้องรับแทน ฉันสันนิฐานว่าจนพระพี่เลี้ยงกลางไปแล้วท่านจึงรับ และปรากฏในเรื่องต่อมาภายหลังว่าพระพี่เลี้ยงกลางกับนางสุ่นนั้นเองเป็นตัวแม่สื่อแต่เริ่มติดพันกัน

ท่านเล่าอีกเรื่องหนึ่งว่าต่อมาไม่ช้า วันหนึ่งพระพี่เลี้ยงกลางเข้าไปชวนท่านให้ไปดูซ้อมแห่โสกันต์ของพระเจ้าลูกเธอ ตรงนี้ต้องพรรณนาถึงการแห่โสกันต์ในสมัยนั้นเสียก่อน คือตั้งกระบวนแห่พระเจ้าลูกยาเธอจากเกยต้นชมพู่ ที่ริมประตูกลมทางเข้าพระอภิเนาวนิเวศน์ข้างด้านตะวันตก แห่ออกประตูราชสำราญเดินกระบวนไปทางถนนริมกำแพงวัง จนถึงประตูวิเศษไชยศรี แล้วเลี้ยวเข้าประตูพิมานไชยศรีไปยังเกยหน้าพระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ ริมบริเวณมหาปราสาท ขากลับย้อนตามทางเดิมแต่กระบวนผู้ชายที่แห่นำหน้า อยู่เพียงข้างนอกประตูราชสำราญ เข้าไปในวังแต่กระบวนเด็กและกระบวนผู้หญิง ดูที่ในวังไม่เห็นแห่หมดกระบวนจึงต้องออกมาดูข้างนอก อีกประการหนึ่งในเวลานั้นเจ้าคุณพระประยูรวงศ์เป็นแต่ลูกผู้ดีที่เข้าไปอาศัยอยู่ในวัง ยังไม่ได้ถวายตัวเป็นนางใน จะออกนอกวังถ้ามีผู้ใหญ่ไปด้วยก็ออกไปได้ ท่านจึงรับชวนไปดูซ้อมแห่ในบ่ายวันหนึ่ง พระพี่เลี้ยงกลางพาออกประตูราชสำราญไปคอยดูแห่ที่บริเวณสวนกุหลาบ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯเสด็จมาคอยอยู่ที่นั่นก็ได้พบกับท่านเป็นครั้งแรก

ยังมีเรื่องกรมหมื่นราชศักดิ์สโมสรตรัสเล่าอีกเรื่องหนึ่ง ดูเหมือนจะต่อกับครั้งที่ไปดูซ้อมแห่โสกันต์ เวลานั้นกรมหมื่นราชศักดิ์ฯยังไว้พระเกศาจุก ทรงพระนามว่าพระองค์เจ้ากมลาศเลอสรรค์เป็นพระอนุชาร่วมเจ้าจอมมารดากับพระองค์ใหญ่โสม ไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯที่พระตำหนักสวนกุหลาบ เหมือนอย่างเจ้านายพี่น้องพระองค์อื่นอยู่เสมอ ฉันสันนิษฐานว่าสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯเห็นจะทรงนัดให้เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ไปพบอีก แต่เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ว่าเดินทางประตูราชสำราญประเจิดประเจ้อนัก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯจึงตรัสให้กรมหมื่นราชศักดิ์ฯเข้าไปรับเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ที่พระที่นั่งมูลมณเฑียร พาเดินทางประตูแถลงราชกิจไม่ต้องออกนอกพระอภิเนาวนิเวศน์ ไปพบกันบริเวณสวนกุหลาบอีกครั้งหนึ่ง กรมหมื่นราชศักดิ์ฯตรัสเล่าว่า ครั้งนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯมีน้ำอบฝรั่งไปประทานอีกขวดหนึ่ง แต่เมื่อยื่นประทานเจ้าคุณพระประยูรวงศ์อายไม่ยอมรับจากพระหัตถ์ จึงประทานให้กรมหมื่นราชศักดิ์ส่งไปให้ท่าน ท่านจะรับก็มิใช่จะไม่รับก็มิเชิง กรมหมื่นราชศักดิ์ฯสำคัญว่าท่านรับก็ปล่อย ขวดน้ำอบเลยตกแตก ทั้งสองฝ่ายเลยกริ้วโกรธโทษเอาพระองค์ท่านว่าทำให้เสียของ

เจ้าคุญพระประยูรวงศ์เล่าอีกเรื่องหนึ่งว่าเย็นวันหนึ่งท่านไปอาบน้ำที่อื่น กลับมาถึงพระที่นั่งมูลมณเฑียรพอพลบค่ำเห็นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาจักรพรรดิพงศ์ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาภานุวงศ์วรเดชกับกรมหมื่นราชศักดิ์ฯยังไว้พระเกศาจุกทั้ง ๓ พระองค์ คอยอยู่ที่นั่นตรัสว่าวันนี้จะมีการมหรสพที่พระตำหนักสวนกุหลาบน่าดูนัก ชวนให้ท่านไปดูด้วยกัน พระองค์ใหญ่โสมก็ตรัสวานให้ท่านช่วยถือขวดน้ำดอกไม้เทศของเจ้านายทั้งสามพระองค์ไปด้วย ท่านก็ไปตามรับสั่ง แต่จะเป็นเพราะเวลาค่ำประตูแถลงราชกิจปิดหรืออย่างไรอย่างหนึ่ง คราวนี้เจ้านายทั้งสามพระองค์นั้น พาท่านเดินทางบนพระราชมณเทียรเรียกให้เปิดพระทวารที่พระที่นั่งอนันตสมาคม(องค์เดิม)แล้วออกมาข้างหน้าด้วยกัน แต่พอลงไปชาลาหน้าพระที่นั่งฯ ท่านเห็นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯเสด็จคอยอยู่ที่นั่นกับพระพี่เลี้ยงกลาง ท่านก็ตกใจรู้ตัวในทันทีว่าท่านไม่ควรจะออกไปในเวลาค่ำเช่นนั้น จึงรีบส่งขวดน้ำดอกไม้เทศให้พระพี่เลี้ยงกลาง แล้ววิ่งหนีกลับขึ้นพระที่นั่งอนันตสมาคม มาเรียกเฝ้าที่ให้เปิดทวารรับแล้วเลยหนีมายังพระที่นั่งมูลมณเฑียร เจ้านายทั้งสามพระองค์กลับเข้ามาอ้อนวอนอีกสักเท่าใดท่านก็ไม่ยอมไป คงมีเรื่องอื่นอีก แต่เล่าเพียงที่กล่าวมา และข้ามไปเล่าว่าการติดพันนั้น หลายวันมามีคนรู้มากขึ้นก็เลยรู้ไปถึงเจ้าจอมมารดาผึ้ง เจ้าจอมมารดาของกรมหลวงพิชิตปรีชากรและกรมหลวงสรรพประสิทธิประสงค์ บอกออกไปให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ทราบ ก็สั่งท่านผู้หญิงอิ่มมารดาให้รับเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ กลับไปไว้บ่านเสียอย่างเดิม

เหตุใดเจ้าจอมมารดาผึ้งจึงเป็นผู้บอกเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ อธิบายข้อนี้ต้องเล่าย้อนขึ้นไปถึงเมื่อกรมหลวงพิชิตปรีชากรยังทรงพระเยาว์ ทรงพระนามว่าพระองค์เจ้าคัคนางคยุคล พระชันษาเพียงห้าหกขวบ กรมหลวงพิชิตฯกับกรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์ฯเมื่อยังทรงพระนามว่าพระองค์เจ้าทวีถวัลยลาภ ประสูติปีเดียวกัน เมื่อทรงเจริญขึ้นพอตามเสด็จได้มักตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯเสด็จออกขุนนางด้วยกันทั้งสองพระองค์ ก็เจ้าจอมมารดาตลับของกรมหมื่นภูธเรศฯเป็นธิดาของเจ้าพระยาภูธราภัยที่สมุหนายก เวลาเสด็จออกขุนนางกรมหมื่นภูธเรศฯมักเสด็จไปหาเจ้าคุณตาในที่เฝ้า พระบาทสมเด็จพระเจ้าเกล้าฯก็ไม่ทรงห้ามปราม กรมหลวงพิชิตฯรู้สึกว่าเลวไปกว่าเจ้าน้อง กราบทูลสมเด็จพระบรมชนกนาถตามประสาเด็กว่าอยากมีคุณตาบ้าง ตรัสถามว่าชอบใครที่จะให้เป็นคุณตา ท่านกราบทูลว่าอยากได้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เป็นคุณตา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯทรงเห็นขัน ตรัสเล่าให้เจ้าพระยาศรีสุรยวงศ์ฟัง ท่านก็กราบทูลว่าจะรับเป็นคุณตาตามพระประสงค์ของกรมหลวงพิชิตฯ แล้วอุปการะรักใคร่ ต่อมาถึงเคยพาไปเมืองสิงคโปร์ด้วย และรับจัดการสร้างวังถวายเมื่อภายหลัง เจ้าจอมมารดาผึ้งจึงชอบกับเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์และเป็นหูเป็นตาอยู่ในวังด้วยประการฉะนี้

คิดดูเวลาที่เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ต้องกลับออกไปอยู่บ้าน คงเป็นตอนปลายเดือน ๗ หรือต้นเดือน ๘ ปีเถาะ เมื่อก่อนจะออกไปพอพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯทรงทราบข่าว ก็ตรัสให้พระพี่เลี้ยงกลางเข้าไปทูลพระองค์ใหญ่โสม ว่าขอให้ทรงช่วยให้ได้พบกับเจ้าคุณพระประยูรวงศ์อีกสักครั้งหนึ่งก่อน พระองค์ใหญ่โสมจึงตรัสให้นางสุ่นข้าหลวง ซึ่งเป็นพี่เลี้ยงไปเป็นเพื่อนกับพระพี่เลี้ยงกลาง เป็นสามคนด้วยกัน เจ้าคุณพระประยูรวงศ์กล่าว่าเมื่อไปพบกัน เป็นแต่รันทดกำสรดโศก หาได้ปรึกษาหารือคิดอ่านกันอย่างไรไม่ แต่ตัวท่านเองเมื่อกลับไปอยู่บ้านได้ตั้งใจมั่นคงว่าจะมิให้ชายอื่นเป็นสามีเด็ดขาด ถ้าหากผู้ใหญ่ในสกุลจะเอาไปยกให้ผู้อื่นท่านจะหนีตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯมา จะเป็นอย่างไรก็ให้เป็นไป

แต่ข้างฝ่ายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯนั้น พวกชาววังที่รู้เห็นการครั้งนั้นเล่ากันมาแต่ก่อน ว่าพอเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ต้องกลับไปอยู่บ้านก็เฝ้าแต่ทรงเศร้าโศกไม่เป็นอันเสวยหรือเข้าเฝ้าแหน เสด็จเข้าไปปรึกษาเจ้าจอมมารดาเที่ยงว่าควรทำอย่างไร เจ้าจอมมารดาเที่ยงมีความรักใคร่ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯมาแต่ยังทรงพระเยาว์จึงออกไปที่พระตำหนักสวนกุหลาบ ทูลปลอบว่าอย่าให้ทรงเป็นทุกข์ไปเลย ท่านจะไปกราบทูลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ตรัสขอพระราชทานแล้วก็ไปกราบทูลตามที่รับนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯทรงสงสาร และทรงพระราชดำริใคร่ควรเห็นว่าเเป็นการดีด้วย จึงตรัสขอต่อเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ในที่ระโหฐาน เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ยอมถวายแล้วจึงมีพระราชหัตถเลขา ให้พระเจ้าลูกเธอพระองค์หญิงโสมาวดี เชิญไปยังเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ด้วยกันกับท้าววรจันทร์(มาลัย)กับท้าวสมศักดิ์(เนย) ตรัสขอเจ้าคุณพระประยูรวงศ์อย่างเปิดเผยเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ก็ทูลถวายตามพระราชประสงค์ เป็นอันตกลงด้วยความยินดีทั้งสองฝ่าย

แต่ยังต้องคอยให้พระยาสุรวงศ์ฯกลับจากยุโรป และหาฤกษ์กับเตรียมการถวายตัวอีกหลายเดือน ในระหว่างนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯกับเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ให้คนไปมาและส่งของให้กันก็ไม่มีใครห้ามปราม พระยาสุรวงศ์ไวยวัธน์กลับมาถึงกรุงเทพฯเมื่อเดือน ๑๐ ปีเถาะนั้น ถึงเดือน ๑๒ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ก็ให้ท่านผู้หญิงพันกับคุณเล็กพี่สาว พาเจ้าคุรพระประยูรวงศ์เข้าไปถวายตัวต่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แล้วพักอยู่กับเจ้าจอมมารดาเที่ยงจนถึงฤกษ์พระราชทาน

วันนั้นเวลากลางวันเจ้าจอมมารดาเที่ยงพาเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ขึ้นเฝ้ากราบถวายบังคมลา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯทรงพระกรุณาโปรดฯพระราชทานพรแลสิ่งของต่างๆมีขันทองกับพานทองรองขันสำรับหนึ่ง เงินตรา ๕ ขั่ง กับเครื่องนุ่งห่มแต่งตัวอีกหีบหนึ่ง ในค่ำวันนั้นถึงเวลาทุ่ม(๒๐ นาฬิกา) เจ้าจอมมารดาเที่ยงกับเถ้าแก่ก็พาไปส่งตัว ณ พระตำหนักสวนกุหลาบ เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ท่านพรรณนาว่าเดินออกไปทางประตูราชสำราญเหมือนกับกระบวนแห่พระนเรศวรพระนารายณ์ มีคนถือเทียนนำหน้าและถือคบรายสองข้าง มีคนตามหลังเป็นพรวน พวกชาววังก็พากันมานั่งดูแน่นสองข้างทาง ท่านอายจนแทบจะเดินไม่ได้(เรื่องที่เจ้าคุณพระประยูรวงศ์เล่าให้พระยาสุรินทร์ฯจดไว้มีเพียงเท่านี้ แต่ที่ท่านเล่าให้ฉันฟังยังมีต่อไปถึงตอนเมื่อเป็นเจ้าจอมอีกบ้าง ดังจะเล่าต่อไปข้างหน้า แต่พื้นเรื่องนี้ต้องอาศัยความรู้เห็นได้จากที่อื่นเป็นพื้น)

เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ออกไป อยู่พระตำหนักสวนกุหลาบได้สามเดือนเริ่มทรงครรภ์ ต้องคิดหาที่สำนักซึ่งจะคลอดพระหน่อเพราะจะคลอดในพระราชวังไม่ได้ ด้วยผิดพระราชประเพณีดังกล่าวมาแล้ว วังใหม่ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าก็ยังไม่ได้สร้าง แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานวัง อันทรงสร้างเป็นที่ประพาส ณ สวนนันทอุทยานที่ริมคลองมอญทางฝั่งธนบุรี แก่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯไว้แต่ก่อน จึงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตึกซึ่งสร้างเป็นพระราชมณเฑียรในสวนนั้นเป็นที่สำนัก เมื่อถึงเวลาที่เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ต้องไปอยู่ที่สวนนันทอุทยาน กรมสมเด็จพระสุดารัตน์ก็เสด็จไปอยู่ด้วย

ส่วนพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯนั้นทรงมีหน้าที่รับราชการมาก ต่อเมื่อเสร็จการปฏิบัติสมเด็จพระบรมชนกนาถแล้วจึงเสด็จลงเรือข้ามฝากไปในเวลาค่ำ เคยตรัสเล่าว่าบางคืนน้ำในคลองแห้ง ต้องเสด็จขึ้นบกทรงพระดำเนินไต่สะพานยาวไปตามริมคลองก็มีบ่อยๆ ไปถึงได้บรรทมต่อเมื่อจวนดึก พอเช้าก็ต้องเสด็จข้ามกลับมารับราชการทุกวัน เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ทรงครรภ์ครั้งแรก พอได้ ๗ เดือนก็ประสูติ(กรมขุนสุพรรณภาควดี)เมื่อวันศุกร์ เดือน ๙ ขึ้น ๕ ค่ำปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๑๑ เมื่อคลอดพระองค์ยังอยู่ในกระเพาะ หมอและพยาบาลพากันเข้าใจว่าสิ้นพระชนม์เสียแล้วแต่ในครรภ์ ให้หาหม้อขนันจะใส่เอาไปถ่วงน้ำตามประเพณี หากเจ้าคุณตาพระยาสุรวงศ์ไวยวัธน์อยากรู้ว่าจะเป็นพระองค์ชายหรือพระองค์หญิง ใหฉีกกระเพาะดู เห็นยังหายพระทัยจึงรู้ว่ามีพระชนม์ชีพอยู่ ก็ช่วยประคบประหงมเลี้ยงมาจนรอดได้

เมื่อพระหน่อประสูติแล้วได้ ๑๕ วัน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯก็ต้องตามเสด็จสมเด็จพระบรมชนกนาถ ไปทอดพระเนตรสุริยปราคาหมดดวงที่ตำบลหว้ากอ แขวงเมืองประจวบคีรีขันธ์ ทรงมอบเจ้าคุณพระประยูรวงศ์กับพระหน่อให้พระยาสุรวงศ์ฯกับท่านผู้หญิงอื่มเป็นผู้พิทักษ์รักษาอยู่ทางนี้ เสด็จไป ๑๙ วันกลับมาถึงกรุงเทพฯเมื่อวันศุกร์เดือน ๑๐ ขึ้น ๔ ค่ำ ก็พาเจ้าคุณพระประยูรวงศืกับพระหน่อย้ายเข้ามาอยู่พระตำหนักสวนกุหลาบตามเดิม


(๕)

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จไปทอดพระเนตรสุริยุปราคาที่หว้ากอครั้งนั้น เมื่อเสด็จกลับมาถึงพระนครคนที่ไปตามเสด็จเจ็บเป็นไข้ป่ากันมากทั้งข้างหน้าข้างในที่ถึงตายก็มี เพราะที่ตำบลหว้ากออันอยู่ตรงทางโคจรของดวงอาทิตย์ที่ดูสุริยุปราคาเป็นดงใหญ่อยู่ริมทะเล ไปถากถางขุดดินทำเป็นพลับพลาเชื้อไข้ที่อยู่ในดินฟุ้งขึ้นมาถูกใครติดตัว ก็มาเกิดเป็นพิษไข้จับขึ้น แม้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับมาถึงกรุงเทพฯได้ห้าวันก็ประชวรเป็นไข้ป่าเมื่อวันพุธ เดือน ๑๐ ขึ้น ๙ ค่ำ ตั้งแต่แรกประชวรทรงสังเกตเห็นพิษไข้แรง ก็ทรงระแวงพระราชหฤทัยเห็นว่าอาจจะสิ้นพระชนมายุสังขารในครั้งนั้น ตรัสแก่สมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯทรงทราบ แล้วดำรัสสั่งสมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมสมเด็จพระบำราบปรปักษ์เมื่อยังเป็นกรมขุนกับกรมขุนวรจักรธรานุภาพให้เสด็จไปประจำกำกับหมออยู่ที่ท้องพระโรง สมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯก็เสด็จเข้าไปพยาบาลอยู่ข้างที่

แต่พยาบาลอยู่ได้เพียงวันเดียว ถึงวันที่สองสมเด็จพระบรมชนกนาถยกพระหัตถ์ลูบพระพักตร์ได้สัมผัสร้อนผิดปกติ ก็ทรงทราบว่าพระราชโอรสประชวรไข้ป่าด้วยเหมือนกัน จึงดำรัสสั่งให้เสด็จกลับออกไปพักรักษาพระองค์ที่พระตำหนักสวนกุหลาบ อย่าให้เป็นกังวลถึงการที่จะเข้าไปพยาบาลอีกเลย ให้เร่งรกษาพระองค์ให้หายเถิด พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯเสด็จกลับมาก็ประชวรในวันนั้นอาการไข้กำเริบขึ้น ในวันต่อมาจนถึงประชวรหนักอยู่หลายวัน พอแก้พระอาการไข้ป่าค่อยคลายก็เกิดพระยอดมีพิษขึ้นที่พระศอ พระอาการกลับทรุดลงไปอีกจนถึงประชวรเพียบใกล้จะเป็นอันตรายอยู่หลายวัน ถึงท่านห้ามมิให้ทูลพระบาทสมเด็นพระจอมเกล้าฯทรงทราบพระอาการ เมื่อตรัสถามก็กราบทูลแต่ว่าพระอาการค่อยคลายขึ้นบ้างแล้ว ทั้งปิดมิให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯทรงทราบว่าพระอาการของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกนาถประชวรหนักลงด้วย รักษาโรคพระยอดอยู่อีกพักหนึ่งพระอาการจึงกลับค่อยคลายขึ้นเป็นแต่พระกำลังยังอ่อนเพียบมาก

พิเคราะห์เหตุการณ์ที่ปรากฏดังกล่าวมาในเวลานั้นดูเหมือนเจ้าคุณพระประยูรวงศ์จะได้ประสบความทุกข์ร้อนอย่างแสนสาหัสเป็นครั้งแรกตั้งแต่เกิดมา ด้วยพระธิดาก็ยังเป็นลูกอ่อนพระสามีก็ประชวรหนัก ไหนจะต้องรักษาพยาบาลพระสามีไหนจะเป็นห่วงพระธิดาอยู่ตลอดเวลานั้นเห็นจะมีคนสงสารกันมากได้ยินว่าพระยาสุรวงศ์ฯบิดาก็ปช่วยดูแลอยู่ที่พระตำหนักสวนกุหลาบเนืองนิจเพราะเป็นห่วงนั้นเอง

ถึงเดือน ๑๐ แรม ๑๓ ค่ำ อันเป็นวันพิธีถือน้ำประจำปี เวลาเมื่อเจ้านายกับข้าราชการไปประชุมพร้อมกันที่พระที่นั่งอนันตสมาคม เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ผู้เป็นหัวหน้าข้าราชการ แถลงความในที่ประชุมว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประชวรพระอาการมากอยู่ ทั้งสมเด็จพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ก็ประชวรอยู่ด้วยเหมือนกันไม่ควรจะประมาท แล้วสั่งให้พิทักษ์รักษาพระราชวังกวดขันขึ้นกว่าปกติ และสั่งให้ตั้งกองล้อมวงที่พระตำหนักสวนกุหลาบแต่วันนั้น เจ้านาบเสนาบดีกับข้าราชการผู้ใหญ่ก็เข้าไปประจำอยู่ในพระบรมมหาราชวัง

ที่สั่งให้ตั้งกองล้อมวงที่พระตำหนักสวนกุหลาบด้วยเมื่อครั้งนั้น เป็นการแสดงโดยเปิดเผยว่าสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาถ จะได้รับรัชทายาทเป็นพระเจ้าแผ่นดินต่อไป แต่ก็ไม่เป็นการประหลาดหลากใจผู้ใด เพราะตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตแล้ว คนไทยทั้งหลายและชาวต่างประเทศก็นิยมกันว่า สมเด็จพระราชโอรสองค์ใหญ่เป็นรัชทายาท ผู้ที่วิตกมากมีแต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ด้วยทรงปรารภว่าพระชันษาของพระองค์ก็กว่า ๖๐ ปีแล้วถ้าหากเสด็จสวรรคตแต่สมเด็จพระราชโอรสยังทรงเยาว์วัย ไม่สามารถจะว่าราชการบ้านเมืองได้เมื่อได้รับรัชทายาทอาจจะไม่ปลอดภัย เพราะตัวอย่างที่พระเจ้าแผ่นดินเสวยราชย์แต่ยังทรงพระเยาว์ยังไม่เคยมีในกรุงรัตนโกสินทร์ฯนี้ ที่เคยมีในกรุงศรีอยุธยา ๕ ครั้ง พระเจ้าแผ่นดินที่ยังทรงพระเยาว์ก็ต้องถูกปลงพระชนม์บ้าง ถูกเอาออกจากราชสมบัติบ้างไม่เคยรอดอยู่ได้แต่สักพระองค์เดียว

จึงทรงพระราชดำริให้สร้างวังสราญรมย์ขึ้น หมายว่าพอสมเด็จพระราชโอรสเจริญชันษาครบ ๒๐ ปี พอทรงผนวชแล้วจะทรงมอบเวนราชสมบัติพระราชทาน ส่วนพระองค์เองจะเป็น "พระเจ้าหลวง" เสด็จออกไปอยู่วังสราญรมย์ เป็นที่ปรึกษาทรงแนะนำสมเด็จพระราชโอรสให้ว่าราชการบ้านเมืองไปจนทรงชำนิชำนาญ แต่เผอิญมาประชวรลงในเวลาสมเด็จพระราชโอรสเจริญพระชันษาได้เพียง ๑๖ ปีถ้าหากพระองค์สวรรคตลงก็จะเป็นอย่างที่ทรงพระวิตกด้วยสมเด็จพระราชโอรสยังว่าราชการบ้านเมืองไม่ได้ต้องมีผู้อื่นว่าราชการแทนพระองค์ไปอีก ๕ ปีจะดีร้ายอย่างไรรู้ไม่ได้ ทรงพระราชดำริหาทางที่จะให้ปลอดภัยเห็นว่าสมเด็จพระราชโอรสได้ทรงครองราชสมบัติด้วยพระราชวงศ์กับข้าราชการทั้งปวงพร้อมใจกันอัญเชิญเสด็จเหมือนกับรับสัญญาว่าจะช่วยทำนุบำรุง ดีกว่าได้ราชสมบัติด้วยพระองค์ทรงมอบเวนแต่อำเภอพระราชหฤทัย

ถึงวันพฤหัสบดีเดือน ๑๑ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เวลากลางวันจึงมีรับสั่งให้หากรมหลวงวงศาฯ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ และเจ้าพระยาภูธราภัยที่สมุหนายกเข้าไปเฝ้าถึงข้าที่บรรทม ตรัสบอกว่าพระองค์เห็นจะเสด็จสวรรคตในวันนั้นแล้ว ท่านทั้งสามได้ประคับประคองกันมาแต่ก่อน จะขอลาและขอฝากพระราชโอรสธิดาด้วย ท่านทั้งสามพากันร้องไห้สะอึกสะอื้น ตรัสห้ามว่าอย่าร้องไห้ อันความตายเป็นธรรมดาของสัตว์ทั้งหลายทั่วไป ผิดกันแต่ตายก่อนกับตายที่หลังกันไม่อัศจรรย์อันใด เมื่อตรัสแล้วดำรัสว่าจะทรงสั่งราชการบ้านเมืองต่อไป จึงทรงสมาทานศีลให้ท่านทั้งสามเชื่อในความสุจริตเสียก่อน แล้วตรัสว่าผู้ซึ่งจะครองราชสมบัติสืบพระวงศ์ต่อไปนั้น จงปรึกษากันเลือกเจ้านายซึ่งทรงพระปรีชาสามารถอาจจะรักษาบ้านเมืองได้ขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน จะเป็นพระเจ้าน้องยาเธอก็ได้ หรือพระเจ้าลูกยาเธอก็ได้ หรือพระเจ้าหลานยาเธอก็ได้ อย่าหันเหียนเอาตามเห็นว่าชอบพระราชหฤทัยของพระองค์ท่านเป็นสำคัญเลย จงเอาแต่ประโยชน์และความปลอดภัยของบ้านเมืองเป็นประมาณเถิด ตรัสเท่านั้นแล้วก็มิได้ตรัสสั่งต่อไป ถึงเวลายามหนึ่ง (๑๒ นาฬิกา) พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าก็เสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งภานุมาศจำรูญ ในพระอภิเนาวนิเวศน์ เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๑๑ ขึ้น ๑๕ ค่ำ (วันที่ ๑ ตุลาคม)ปีมะโรงพ.ศ. ๒๔๑๑ พระชันษา ๖๕ ปี เสวยราชย์ได้ ๑๘ ปี

ในคืนวันนั้นถึงเวลาเที่ยงคืนพระราชวงศานุวงศ์กับข้าราชการผู้ใหญ่ประชุมพร้อมกัน ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม และให้นิมนต์พระสงฆ์ราชาคณะเข้ามานั่งเป็นสักขีพยานในที่ประชุมด้วย เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์กล่าวคำประกาศในที่ประชุมว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคตแผ่นดินว่างอยู่ และประเพณีการสืบพระราชวงศ์ ซึ่งเคยมีมาแต่ก่อนนั้น เมื่อรัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงมอบเวนพระราชสมบัติแก่สมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อรัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯประชวรตรัสไม่ได้ ไม่ได้ทรงมอบเวนพระราชสมบัติแก่เจ้านายพระองค์ใด พระราชวงศานุวงศ์กับข้าราชการทั้งปวงจึงพร้อมใจกันถวายราชสมบัติแก่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯพระราชทานเวนคืนราชสมบัติแก่พระราชวงศานุวงศ์และข้าราชการ จึงพร้อมใจกันถวายราชสมบัติแก่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ครั้งนี้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตไว้ ให้พระราชวงศานุวงศ์กับข้าราชการปรึกษาหารือกัน ว่าเจ้านายพระองค์ใดจะเป็นพระเจ้าน้องยาเธอก็ดี พระเจ้าลูกยาเธอก็ดี พระเจ้าหลานยาเธอก็ดี สมควรจะปกครองบ้านเมืองอยู่เย็นเป็นสุขได้ก็ให้ถวายราชสมบัติแก่พระองค์นั้น ท่านผู้ใดเห็นว่าเจ้านายพระองค์ไหนสมควรจะเป็นพระเจ้าแผ่นดินได้ก็ให้ว่าขึ้นในที่ประชุม ขณะนั้นกรมหลวงเทเวศวัชรินทร์ซึ่งเป็นอาวุโสในราชวงศ์ ตรัสเสนอต่อที่ประชุมว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระเดชพระคุณแก่พระราชวงศ์และข้าราชการทั้งปวงอย่างเหลือล้น ไม่มีอันใดที่จะทดแทนให้ถึงพระเดชพระคุณได้ ขอให้ยกสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาถ ซึ่งเป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินสนองพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ประชุมก็เห็นชอบพร้อมกัน

เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์กล่าวต่อไปในที่ประชุม ว่าเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวรอยู่นั้น ท่านได้กราบบังคมทูลให้ทรงทราบ ว่าปรึกษากันจะถวายราชสมบัติแก่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าฯกรมขุนพินิตประชานาถ สมเด็จพระจอมเกล้าฯตรัสว่าทรงพระวิตกอยู่ ด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระชันษายังทรงพระเยาว์จะไม่ทรงว่าราชการแผ่นดินได้ดังสมควร กระแสซึ่งพระวิตกนี้จะคิดอ่านกันอย่างไร กรมหลวงเทเวศฯตรัสเสนอต่อไป ว่าขอให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ว่าราชการแผ่นดินไปจนกว่าสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอฯจะทรงผนวชพระ (เมื่อพระชันษาครบ ๒๐ ปีในปีระกา พ.ศ. ๒๔๑๖) เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ถามความข้อนี้แก่ที่ประชุมก็เห็นสมควรพร้อมใจกัน เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์จึงว่า ส่วนตัวท่านเองนั้นจะรับสนองพระเดชพระคุณโดยเต็มสติปัญญา แต่ในเรื่องการพระราชพิธีต่างๆท่านไม่สู้เข้าใจ ขอให้สมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมขุนบำราบปรปักษ์ช่วยในการส่วนการพระราชนิเวศน์ด้วยอีกพระองค์หนึ่ง ที่ประชุมก็เห็นชอบ

เมื่อเสร็จการปรึกษาถวายราชสมบัติแก่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าฯกรมขุนพินิตประชานาถแล้ว เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์จึงกล่าวขึ้นอีกว่าแผ่นดินที่ล่วงมาแล้วแต่ก่อนๆมา มีพระมหากษัตริย์แล้วต้องมีพระมหาอุปราชฝ่ายหน้าเป็นเยี่ยงอย่างมาทุกๆแผ่นดิน ครั้งนี้ที่ประชุมจะเห็นควรมีพระมหาอุปราชฝ่ายหน้าด้วยหรือไม่ กรมหลวงเทเวศฯตรัสว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยูหัวได้มีพระเดชพระคุณมาทั้งสองพระองค์ ควรจะคิดถึงพระเดชพระคุณของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ยกกรมหมื่นบวรวิชัยชาญ พระราชโอรสองค์ใหญ่ขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล จะได้ปกครองพวกข้าไทยฝ่ายพระราชวังบวรต่อไป เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ถามในที่ประชุมเรียงตัวต่อไปดังแต่ก่อน โดยมากรับว่า"สมควร" หรือให้อนุมัติโดยนิ่งอยู่ไม่คัดค้าน มีแต่กรมขุนวรจักรฯกล้าตรัสคัดค้านพระองค์เดียว เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ขัดเคืองว่ากล่าวกรมขุนวรจักรฯต่างๆ กรมขุนวรจักรฯก็ต้องยอม การก็เป็นตกลงเป็นอันที่ประชุมเห็นสมควรที่กรมหมื่นบวรวิชัยชาญจะเป็นพระราชวังบวรสถานมงคล

เจ้าพระยาศรสุริยวงศ์กล่าวในที่ประชุมต่อไป ว่าสมเด็จเจ้าฟ้ามหามาลา กรมขุนบำราบปรปักษ์ทรงพระสติปัญญารอบรู้ราชกาชแผ่นดิน ด้วยได้ทำราชการในตำแหน่งกรมวังมาช้านานถึงสองแผ่นดินขอให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนบำราบปรปักษ์สำเร็จราชการพระคลังมหาสมบัติ และพระคลังต่างๆและสำเร็จราชการในสถานราชสำนัก เป็นผู้อุปถัมภ์ในส่วนพระองค์พระเจ้าแผ่นดินด้วย ที่ประชุมเห็นชอบพร้อมกัน ครั้นเสร็จการประชุมเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์จึงให้อาลักษ์จดรายนามผู้นั่งประชุมกับทั้งข้อความที่ได้ลงมติพร้อมกันอัญเชิญ สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาถ ขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินสนองพระองค์สม้เด็จพระบรมชนกนาถนั้น เขียนถวายกราบทูลให้พระองค์ทรงทราบ

เรื่องที่พรรณนามาในตอน ๕ นี้ ที่จริงอยู่นอกเรื่องประวัติเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ แต่เป็นมูลของกิจการต่างๆซึ่งเนื่องต่อเรื่องประวัติที่จะกล่าวต่อไปข้างหน้า จึงพรรณนาไว้ตรงนี้ให้ทราบเหตุไว้ก่อน





 

Create Date : 22 มีนาคม 2550   
Last Update : 15 กรกฎาคม 2550 8:59:14 น.   
Counter : 10725 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  7  8  

กัมม์
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




วิชา ความรู้จะมีค่าเมื่อถูกถ่ายทอด
[Add กัมม์'s blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com