Group Blog
 
All blogs
 

*** เหตุบรรลุธรรมอันเกษม ***




พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๒๒

พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๔ อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต



๖. วิมุตติสูตร


[๒๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย

เหตุแห่งวิมุตติ ๕ ประการนี้ ซึ่งเป็นเหตุให้จิตของภิกษุผู้ไม่ประมาท

มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวที่ยังไม่หลุดพ้น ย่อมหลุดพ้น

อาสวะที่ยังไม่สิ้นย่อมถึงความสิ้นไป

หรือเธอย่อมบรรลุธรรมอันเกษมจากโยคะชั้นเยี่ยม ที่ยังไม่ได้บรรลุ

เหตุแห่งวิมุตติ ๕ ประการเป็นไฉน


ดูกรภิกษุทั้งหลายพระศาสดาหรือเพื่อนสพรหมจารีผู้อยู่ในฐานะครูบางรูป

แสดงธรรมแก่ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เธอย่อมเข้าใจอรรถเข้าใจธรรมในธรรมนั้น

ตามที่พระศาสดาหรือเพื่อนสพรหมจารี ผู้อยู่ในฐานะครูแสดงแก่เธอ

เมื่อเธอเข้าใจอรรถ เข้าใจธรรมย่อมเกิดปราโมทย์

เมื่อเกิดปราโมทย์แล้ว ย่อมเกิดปีติ เมื่อใจเกิดปีติกายย่อมสงบ

ผู้มีกายสงบแล้ว ย่อมได้เสวยสุข เมื่อมีสุข จิตย่อมตั้งมั่น

ดูกรภิกษุทั้งหลาย

นี้เป็นเหตุแห่งวิมุตติข้อที่ ๑

ซึ่งเป็นเหตุให้จิตของภิกษุผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว

ที่ยังไม่หลุดพ้น ย่อมหลุดพ้น อาสวะที่ยังไม่สิ้นไป ย่อมถึงความสิ้นไป

หรือเธอย่อมได้บรรลุธรรมอันเกษม จากโยคะชั้นเยี่ยม ที่ยังไม่ได้บรรลุ



ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง พระศาสดาหรือเพื่อนสพรหมจารี

ผู้อยู่ในฐานะครูบางรูป ก็ไม่ได้แสดงธรรมแก่ภิกษุ

ก็แต่ว่าภิกษุย่อมแสดงธรรมเท่าที่ได้สดับ

ได้ศึกษาเล่าเรียนมาแก่ชนเหล่าอื่นโดยพิสดาร

เธอย่อมเข้าใจอรรถเข้าใจธรรมในธรรมนั้น ที่ภิกษุแสดงธรรมเท่าที่ได้สดับ

ได้ศึกษาเล่าเรียนมาแก่ชนเหล่าอื่นโดยพิสดาร

เมื่อเธอเข้าใจอรรถ เข้าใจธรรม ย่อมเกิดปราโมทย์ ...เมื่อมีสุข

จิตย่อมตั้งมั่น ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุแห่งวิมุตติข้อที่ ๒ ...



ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง

พระศาสดาหรือเพื่อนสพรหมจารีผู้อยู่ในฐานะครูบางรูป

ก็ไม่ได้แสดงธรรมแก่ภิกษุ แม้ภิกษุก็ไม่ได้แสดงธรรมเท่าที่ได้สดับ

ได้ศึกษาเล่าเรียนมาแก่ชนเหล่าอื่นโดยพิสดาร

ก็แต่ว่าภิกษุย่อมทำการสาธยายธรรมเท่าที่ได้สดับ

ได้ศึกษาเล่าเรียนมาโดยพิสดาร เธอย่อมเข้าใจอรรถ เข้าใจธรรม

ในธรรมนั้น ตามที่ภิกษุสาธยายธรรมเท่าที่ได้สดับ

ได้ศึกษาเล่าเรียนมาโดยพิสดาร เมื่อเธอเข้าใจอรรถ เข้าใจธรรม

ย่อมเกิดปราโมทย์ ... เมื่อมีสุข จิตย่อมตั้งมั่น

ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุแห่งวิมุตติข้อที่ ๓ ...




ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง

พระศาสดาหรือเพื่อนสพรหมจารีผู้อยู่ในฐานะครูบางรูป

ก็ไม่ได้แสดงธรรมแก่ภิกษุ ภิกษุก็ไม่ได้แสดงธรรมเท่าที่ได้สดับ

ได้ศึกษาเล่าเรียนมาแก่ชนเหล่าอื่นโดยพิสดาร

แม้ภิกษุก็ไม่ได้ทำการสาธยายธรรมเท่าที่ได้สดับ

ได้ศึกษาเล่าเรียนมาโดยพิสดาร

ก็แต่ว่าภิกษุย่อมตรึกตรองใคร่ครวญธรรมเท่าที่ได้สดับ

ได้ศึกษาเล่าเรียนมาด้วยใจเธอย่อมเข้าใจอรรถ เข้าใจธรรมในธรรมนั้น

ตามที่ภิกษุตรึกตรองใคร่ครวญธรรม

ตามที่ได้สดับได้ศึกษาเล่าเรียนมาด้วยใจ เมื่อเธอเข้าใจอรรถ เข้าใจธรรม

ย่อมเกิดปราโมทย์ ... เมื่อมีสุข จิตย่อมตั้งมั่น

ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุแห่งวิมุตติข้อที่ ๔ ...



ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง

พระศาสดาหรือเพื่อนสพรหมจารีผู้อยู่ในฐานะครูบางรูป

ก็ไม่ได้แสดงธรรมแก่ภิกษุ ภิกษุก็ไม่ได้แสดงธรรมเท่าที่ได้สดับ

ได้ศึกษาเล่าเรียนมาแก่ชนเหล่าอื่นโดยพิสดาร

ภิกษุก็ไม่ได้สาธยายธรรมเท่าที่ได้สดับได้ศึกษาเล่าเรียนมาโดยพิสดาร

แม้ภิกษุก็ไม่ได้ตรึกตรอง ใคร่ครวญธรรมเท่าที่ได้สดับ

ได้ศึกษาเล่าเรียนมาด้วยใจ ก็แต่ว่าสมาธินิมิตอย่างใดอย่างหนึ่ง

เธอเล่าเรียนมาด้วยดี ทำไว้ในใจด้วยดี ทรงไว้ด้วยดี

แทงตลอดด้วยดี ด้วยปัญญา เธอย่อมเข้าใจอรรถ

เข้าใจธรรมในธรรมนั้น ตามที่เธอเล่าเรียนสมาธินิมิต

อย่างใดอย่างหนึ่งมาด้วยดี ทำไว้ในใจด้วยดี ทรงไว้ด้วยดี

แทงตลอดด้วยดี ด้วยปัญญา เมื่อเธอเข้าใจอรรถ เข้าใจธรรม

ย่อมเกิดปราโมทย์ เมื่อเกิดปราโมทย์แล้วย่อมเกิดปีติ

เมื่อมีใจเกิดปีติ กายย่อมสงบ ผู้มีกายสงบแล้วย่อมได้เสวยสุข

เมื่อมีสุขจิตย่อมตั้งมั่น ดูกรภิกษุทั้งหลายนี้เป็นเหตุแห่งวิมุตติข้อที่ ๕

ซึ่งเป็นเหตุให้จิตของภิกษุผู้ไม่ประมาทมีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวอยู่

ที่ยังไม่หลุดพ้นย่อมหลุดพ้นอาสวะที่ยังไม่สิ้น ย่อมถึงความสิ้นไป

หรือเธอย่อมได้บรรลุธรรมอันเกษมจากโยคะชั้นเยี่ยม ที่ยังไม่ได้บรรลุ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหตุแห่งวิมุตติ ๕ ประการนี้แล

ซึ่งเป็นเหตุให้จิตของภิกษุผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวอยู่

ที่ยังไม่หลุดพ้นย่อมหลุดพ้น อาสวะที่ยังไม่สิ้น ย่อมถึงความสิ้นไป

หรือเธอย่อมได้บรรลุธรรมอันเกษมจากโยคะชั้นเยี่ยม ที่ยังไม่ได้บรรลุ ฯ



จบสูตรที่ ๖





 

Create Date : 30 เมษายน 2556    
Last Update : 30 เมษายน 2556 12:36:12 น.
Counter : 597 Pageviews.  

*** ธรรม ๕ ประการ ***





พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๒๒

พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๔ อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต


๙. นิพพิทาสูตร


[๖๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย

ธรรม ๕ ประการนี้ อันบุคคลเจริญแล้ว

ทำให้มากแล้วย่อมเป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย

เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับสนิทเพื่อเข้าไปสงบ

เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้

และเพื่อนิพพานโดยส่วนเดียว

ธรรม ๕ประการเป็นไฉน


คือ

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมพิจารณาเห็นว่าไม่งามในกาย ๑

มีความสำคัญว่าเป็นของปฏิกูลในอาหาร ๑

มีความสำคัญว่าไม่น่ายินดีในโลกทั้งปวง ๑

พิจารณาเห็นว่าไม่เที่ยงในสังขารทั้งปวง ๑

ย่อมเข้าไปตั้งมรณสัญญาไว้ในภายใน ๑



ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้แล อันบุคคลเจริญแล้ว

ทำให้มากแล้วย่อมเป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด

เพื่อดับสนิท เพื่อเข้าไปสงบ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน ฯ



จบสูตรที่ ๙


๑๐. อาสวักขยสูตร


[๗๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้ อันบุคคลเจริญแล้ว

ทำให้มากแล้วย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นอาสวะทั้งหลาย

ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน


คือ

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นว่าไม่งามในกาย ๑

มีความสำคัญว่าเป็นของปฏิกูลในอาหาร ๑

มีความสำคัญว่าไม่น่ายินดีในโลกทั้งปวง ๑

พิจารณาเห็นว่าไม่เที่ยงในสังขารทั้งปวง ๑

เข้าไปตั้งมรณสัญญาไว้ในภายใน ๑



ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้แล

อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว

ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ฯ



จบสูตรที่ ๑๐

จบสัญญาวรรคที่ ๒
__________________




 

Create Date : 27 เมษายน 2556    
Last Update : 27 เมษายน 2556 20:21:21 น.
Counter : 747 Pageviews.  

*** บุคคล ๗ จำพวก *** ( 2 )




พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑๓

พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๕ มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์



บุคคล ๗ จำพวก


[๒๓๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๗ จำพวกเหล่านี้


มีปรากฏอยู่ในโลก ๗ จำพวกเป็นไฉน


คือ อุภโตภาควิมุตบุคคล ๑

ปัญญาวิมุตบุคคล ๑

กายสักขีบุคคล ๑

ทิฏฐิปัตตบุคคล ๑

สัทธาวิมุตบุคคล ๑

ธัมมานุสารีบุคคล ๑

สัทธานุสารีบุคคล ๑.




[๒๓๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย


ก็ สัทธาวิมุตบุคคลเป็นไฉน


ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ไม่ได้ถูกต้องวิโมกข์อันละเอียด

คืออรูปสมบัติล่วงรูปสมาบัติด้วยกายอยู่

แต่อาสวะบางเหล่าของผู้นั้นสิ้นไป เพราะเห็น (อริยสัจ) ด้วยปัญญา

อนึ่ง ความเชื่อในพระตถาคตของผู้นั้นตั้งมั่นแล้ว

มีรากหยั่งลงมั่นแล้ว

บุคคลนี้เรากล่าวว่า สัทธาวิมุตบุคคล


ดูกรภิกษุทั้งหลาย

เรากล่าวว่ากิจที่ควรทำด้วยความไม่ประมาท ย่อมมีแก่ภิกษุแม้นี้

ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเราเห็นผลแห่งความไม่ประมาทของภิกษุนี้เช่นนี้ว่า

ไฉนท่านผู้นี้เสพเสนาสนะอันสมควร คบหากัลยาณมิตร ทำอินทรีย์ให้เสมออยู่

พึงทำให้แจ้งซึ่งที่สุดพรหมจรรย์ อันไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า

ที่กุลบุตรทั้งหลายผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการ

ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบัน แล้วเข้าถึงอยู่ ดังนี้จึงกล่าวว่า

กิจที่ควรทำด้วยความไม่ประมาท ย่อมมีแก่ภิกษุนี้.



[๒๓๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย

ก็ ธัมมานุสารีบุคคล เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้

ไม่ได้ถูกต้องวิโมกข์อันละเอียด คืออรูปสมาบัติล่วงรูปสมาบัติด้วยกายอยู่

แต่อาสวะบางเหล่าของผู้นั้นสิ้นไป เพราะเห็น (อริยสัจ) ด้วยปัญญา

อนึ่ง ธรรมทั้งหลายที่พระตถาคตประกาศแล้ว

ย่อมควรซึ่งความพินิจ โดยประมาณ ด้วยปัญญาของผู้นั้น

อีกประการหนึ่งธรรมเหล่านี้ คือ สัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์

สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์ ย่อมมีแก่ผู้นั้น

บุคคลนี้เรากล่าวว่า ธัมมานุสารีบุคคล.


ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่า กิจที่ควรทำด้วยความไม่ประมาท

ย่อมมีแก่ภิกษุแม้นี้ ข้อนี้เพราะเหตุไร เพราะเราเห็นผลแห่งความไม่ประมาท

ของภิกษุนี้เช่นนี้ว่า ไฉนท่านผู้นี้เสพเสนาสนะที่สมควร คบหากัลยาณมิตร

ทำอินทรีย์ให้เสมออยู่ พึงทำให้แจ้งซึ่งที่สุดพรหมจรรย์

อันไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า ที่กุลบุตรทั้งหลาย ผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต

โดยชอบต้องการ ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบันแล้วเข้าถึงอยู่

ดังนี้ เราจึงกล่าวว่า กิจที่ควรทำด้วยความไม่ประมาท ย่อมมีแก่ภิกษุนี้.



[๒๓๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย


ก็ สัทธานุสารีบุคคล เป็นไฉน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ไม่ได้ถูกต้องวิโมกข์อันละเอียด

คือ อรูปสมาบัติล่วงรูปสมาบัติด้วยกายอยู่

แต่อาสวะบางเหล่าของผู้นั้นสิ้นไป เพราะเห็น (อริยสัจ) ด้วยปัญญา

อนึ่ง ผู้นั้นมีแต่เพียงความเชื่อ ความรักในพระตถาคต

อีกประการหนึ่ง ธรรมเหล่านี้ คือ สัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์สตินทรีย์ สมาธินทรีย์

ปัญญินทรีย์ ย่อมมีแก่ผู้นั้น


บุคคลนี้เรากล่าวว่า สัทธานุสารีบุคคล.


ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่า กิจที่ควรทำด้วยความไม่ประมาท

ย่อมมีแก่ภิกษุแม้นี้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร

เพราะเราเห็นผลแห่งความไม่ประมาทของภิกษุนี้เช่นนี้ว่า

ไฉนท่านผู้นี้เสพเสนาสนะที่สมควร คบหากัลยาณมิตร

ทำอินทรีย์ให้เสมออยู่ พึงทำให้แจ้งซึ่งที่สุดพรหมจรรย์ อันไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า

ที่กุลบุตรทั้งหลายผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการ

ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบัน แล้วเข้าถึงอยู่ ดังนี้

จึงกล่าวว่า กิจที่ควรทำด้วยความไม่ประมาทย่อมมีแก่ภิกษุนี้.





การตั้งอยู่ในอรหัตตผล


[๒๓๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย

เราย่อมกล่าวการตั้งอยู่ในอรหัตตผล ด้วยการไปครั้งแรกเท่านั้น หามิได้

แต่การตั้งอยู่ในอรหัตตผลนั้น ย่อมมีได้ ด้วยการศึกษา โดยลำดับ

ด้วยการทำ โดยลำดับ ด้วยความปฏิบัติ โดยลำดับ.

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็การตั้งอยู่ ในอรหัตตผล ย่อมมีได้

ด้วยการศึกษา โดยลำดับ ด้วยการทำ โดยลำดับ

ด้วยความปฏิบัติ โดยลำดับอย่างไร?


ดูกรภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรในธรรมวินัยนี้

เกิดศรัทธาแล้วย่อมเข้าไปใกล้

เมื่อเข้าไปใกล้ย่อมนั่งใกล้

เมื่อนั่งใกล้ย่อมเงี่ยโสตลง

เมื่อเงี่ยโสตลงแล้ว ย่อมฟังธรรม

ครั้นฟังธรรม ย่อมทรงธรรมไว้

ย่อมพิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงไว้แล้ว

เมื่อพิจารณาเนื้อความอยู่ ธรรมทั้งหลายย่อมทนได้ซึ่งความพินิจ

เมื่อธรรมทนความพินิจได้อยู่ ฉันทะย่อมเกิด

เมื่อเกิดฉันทะแล้ว ย่อมอุตสาหะ

ครั้นอุตสาหะแล้ว ย่อมไตร่ตรอง

ครั้นไตร่ตรองแล้ว ย่อมตั้งความเพียร

เมื่อมีตนส่งไปแล้ว ย่อมทำให้แจ้งชัดซึ่งบรมสัจจะ ด้วยกาย

และย่อมแทงตลอดเห็นแจ้งบรมสัจจะนั้น ด้วยปัญญา.




ดูกรภิกษุทั้งหลาย

ศรัทธาก็ดี

การเข้าไปใกล้ก็ดี การนั่งใกล้ก็ดี

การเงี่ยโสตลงก็ดี การฟังธรรมก็ดี

ความพิจารณาเนื้อความก็ดี

ธรรมอันทนได้ซึ่งความพินิจก็ดี ฉันทะก็ดี

อุตสาหะก็ดี การไตร่ตรองก็ดี การตั้งความเพียรก็ดี

นั้นๆ ไม่ได้มีแล้ว

เธอทั้งหลายย่อมเป็นผู้ปฏิบัติพลาดย่อมเป็นผู้ปฏิบัติผิด

ดูกรภิกษุทั้งหลาย โมฆบุรุษเหล่านี้ ได้หลีกไปจากธรรมวินัยนี้ ไกลเพียงไร.






 

Create Date : 26 เมษายน 2556    
Last Update : 26 เมษายน 2556 12:03:19 น.
Counter : 736 Pageviews.  

*** บุคคล ๗ จำพวก *** ( 1 )




พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑๓

พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๕ มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์



บุคคล ๗ จำพวก


[๒๓๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๗ จำพวกเหล่านี้


มีปรากฏอยู่ในโลก ๗ จำพวกเป็นไฉน


คือ อุภโตภาควิมุตบุคคล ๑

ปัญญาวิมุตบุคคล ๑

กายสักขีบุคคล ๑

ทิฏฐิปัตตบุคคล ๑

สัทธาวิมุตบุคคล ๑

ธัมมานุสารีบุคคล ๑

สัทธานุสารีบุคคล ๑.



[๒๓๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ อุภโตภาควิมุตบุคคล เป็นไฉน


ดูกรภิกษุทั้งหลาย

บุคคลบางคนในโลกนี้ ถูกต้องวิโมกข์อันละเอียด

คือ อรูปสมาบัติล่วงรูปสมบัติ ด้วยกายอยู่

และอาสวะทั้งหลายของผู้นั้นสิ้นไป

เพราะเห็น (อริยสัจ) ด้วยปัญญา

บุคคลนี้เรากล่าวว่า อุภโตภาควิมุตบุคคล

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมกล่าวว่า กิจที่ควรทำ ด้วยความไม่ประมาท

ย่อมไม่มีแก่ภิกษุนี้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร

เพราะกิจที่ควรทำด้วยความไม่ประมาท ภิกษุนั้นทำเสร็จแล้ว

และภิกษุนั้นเป็นผู้ไม่ควรเพื่อจะประมาท.



[๒๓๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย


ก็ ปัญญาวิมุตบุคคล เป็นไฉน


ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้

ไม่ได้ถูกต้องวิโมกข์อันละเอียด

คืออรูปสมบัติล่วงรูปสมบัติด้วยกายอยู่

แต่อาสวะทั้งหลายของผู้นั้นสิ้นไป

เพราะเห็น (อริยสัจ) ด้วยปัญญา

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลนี้เรากล่าวว่าปัญญาวิมุตบุคคล

ดูกรภิกษุทั้งหลาย

เราย่อมกล่าวว่า กิจที่ควรทำด้วยความไม่ประมาท

ย่อมไม่มีแก่ภิกษุแม้นี้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร

เพราะกิจที่ควรทำด้วยความไม่ประมาท ภิกษุนั้นทำเสร็จแล้ว

และภิกษุนั้นเป็นผู้ไม่ควรเพื่อจะประมาท.



[๒๓๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย


ก็ กายสักขีบุคคล เป็นไฉน


ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้

ถูกต้องวิโมกข์อันละเอียด คืออรูปสมบัติล่วงรูปสมาบัติด้วยกายอยู่

และอาสวะบางเหล่าของผู้นั้นสิ้นไป

เพราะเห็น (อริยสัจ) ด้วยปัญญา

บุคคลนี้ เรากล่าวว่า กายสักขีบุคคล

ดูกรภิกษุทั้งหลาย

เรากล่าวว่า กิจที่ควรทำด้วยความไม่ประมาท

ย่อมมีแก่ภิกษุนี้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร

ดูกรภิกษุทั้งหลาย

เพราะเราเห็นผลแห่งความไม่ประมาทของภิกษุนี้เช่นนี้ว่า

ไฉนท่านผู้นี้ เมื่อเสพเสนาสนะที่สมควร คบหากัลยาณมิตร

ทำอินทรีย์ให้เสมออยู่ พึงทำซึ่งที่สุดพรหมจรรย์อันไม่มีธรรมอื่นยิ่งไปกว่า

ที่กุลบุตรทั้งหลายออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการ

ให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งเองได้ในปัจจุบัน แล้วเข้าถึงอยู่ดังนี้

เราจึงกล่าวว่า กิจที่ควรทำด้วยความไม่ประมาท ย่อมมีแก่ภิกษุนี้



[๒๓๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย


ทิฏฐิปัตตบุคคล เป็นไฉน


ดูกรภิกษุทั้งหลาย

บุคคลบางคนในโลกนี้ ไม่ได้ถูกต้องวิโมกข์อันละเอียด

คืออรูปสมาบัติล่วงรูปสมบัติด้วยกายอยู่

แต่อาสวะบางเหล่าของผู้นั้นสิ้นไป เพราะเห็น (อริยสัจ) ด้วยปัญญา

อนึ่ง ธรรมทั้งหลายที่ตถาคตประกาศแล้ว

เป็นธรรมอันผู้นั้นเห็นแจ้งด้วยปัญญาประพฤติดีแล้ว

บุคคลนี้เรากล่าวว่า ทิฏฐิปัตตบุคคล

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่า กิจที่ควรทำด้วยความไม่ประมาท

ย่อมมีแก่ภิกษุแม้นี้ข้อนั้นเพราะเหตุไร

เพราะเราเห็นผลแห่งความไม่ประมาทของภิกษุนี้เช่นนี้ว่า

ไฉนท่านผู้นี้เสพเสนาสนะที่สมควร คบหากัลยาณมิตร

ทำอินทรีย์ให้เสมออยู่ พึงทำซึ่งที่สุดพรหมจรรย์อันไม่มีธรรมอื่นยิ่งไปกว่า

ที่กุลบุตรทั้งหลายออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบ

ต้องการให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบัน

แล้วเข้าถึงอยู่ ดังนี้ เราจึงกล่าวว่า

กิจที่ควรทำด้วยความไม่ประมาท ย่อมมีแก่ภิกษุนี้






 

Create Date : 24 เมษายน 2556    
Last Update : 24 เมษายน 2556 9:29:11 น.
Counter : 672 Pageviews.  

*** ยอดสุดแห่งความพอใจ ***




พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑๕

พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๗ สังยุตตนิกาย สคาถวรรค



ปัญจราชสูตรที่ ๒

[๓๕๙] พระผู้มีพระภาคประทับ ... เขตพระนครสาวัตถี ฯ


ก็สมัยนั้น พระราชา ๕ พระองค์ มีพระเจ้าปเสนทิโกศลเป็นประมุข

ผู้เอิบอิ่มเพรียบพร้อมได้รับบำเรออยู่ด้วยเบญจพิธกามคุณ

เกิดถ้อยคำโต้เถียงกันขึ้นว่า อะไรหนอเป็นยอดแห่งกามทั้งหลาย ฯ


ในพระราชาเหล่านั้น บางองค์ได้ตรัสอย่างนี้ว่า

รูปทั้งหลายเป็นยอดแห่งกามทั้งหลาย ฯ

บางองค์ได้ตรัสอย่างนี้ว่า เสียงทั้งหลายเป็นยอดแห่งกามทั้งหลาย ฯ

บางองค์ได้ตรัสอย่างนี้ว่า กลิ่นทั้งหลายเป็นยอดแห่งกามทั้งหลาย ฯ

บางองค์ได้ตรัสอย่างนี้ว่า รสทั้งหลายเป็นยอดแห่งกามทั้งหลาย ฯ

บางองค์ได้ตรัสอย่างนี้ว่า โผฏฐัพพะทั้งหลายเป็นยอดแห่งกามทั้งหลาย ฯ

เพราะเหตุที่พระราชาเหล่านั้น ไม่อาจทรงยังกันและกันให้เข้าพระทัยได้

จึงพระเจ้าปเสนทิโกศล ได้ตรัสกะพระราชาเหล่านั้นว่า

มาเถิดท่านสหายทั้งหลาย เราจักเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ

ครั้นแล้วจักทูลถามความข้อนี้กะพระผู้มีพระภาค

พระผู้มีพระภาคจักทรงพยากรณ์แก่เราทั้งหลายอย่างใด

เราทั้งหลาย พึงจำคำพยากรณ์นั้นไว้อย่างนั้นเถิด ฯ



พระราชาเหล่านั้น ทรงรับพระดำรัสของพระเจ้าปเสนทิโกศลแล้ว ฯ


[๓๖๐] ครั้งนั้น พระราชา ๕ พระองค์เหล่านั้น มีพระเจ้าปเสนทิโกศล เป็นประมุข

เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ

ครั้นแล้วก็ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว ประทับนั่ง ณที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ

พระเจ้าปเสนทิโกศล ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

แล้ว ได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ

ข้าพระองค์ทั้งหลายในที่นี้ เป็นราชา ทั้ง ๕ คน เอิบอิ่มเพรียบพร้อม

ได้รับบำเรออยู่ด้วยเบญจกามคุณ เกิดมีถ้อยคำ โต้เถียงกันขึ้นว่า


อะไรหนอเป็นยอดแห่งกามทั้งหลาย

บางท่านกล่าวอย่างนี้ว่า รูปทั้งหลาย เป็นยอดแห่งกามทั้งหลาย

บางท่านกล่าวอย่างนี้ว่า เสียงทั้งหลาย เป็นยอดแห่งกามทั้งหลาย

บางท่านกล่าวอย่างนี้ว่า กลิ่นทั้งหลาย เป็นยอดแห่งกามทั้งหลาย

บางท่านกล่าวอย่างนี้ว่า รสทั้งหลาย เป็นยอดแห่งกามทั้งหลาย

บางท่านกล่าวอย่างนี้ ว่า โผฏฐัพพะทั้งหลาย เป็นยอดแห่งกามทั้งหลาย


ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอ เป็นยอดแห่งกามทั้งหลาย ฯ


[๓๖๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรมหาบพิตร


ยอดสุดแห่งความพอใจนั่นแหละ


อาตมภาพกล่าวว่า เป็นยอดในเบญจกามคุณ

ดูกรมหาบพิตร รูปเหล่าใด เป็นที่พอใจ ของคนบางคน

รูปเหล่านั้น ไม่เป็นที่พอใจ ของคนบางคน

เขา ดีใจ มีความดำริบริบูรณ์ ด้วยรูปเหล่าใด

รูปอื่นจากรูปเหล่านั้น จะยิ่งกว่า หรือ ประณีตกว่า

เขาก็ไม่ปรารถนา รูปเหล่านั้น เป็นอย่างยิ่งสำหรับเขา

รูปเหล่านั้น เป็นยอดเยี่ยมสำหรับเขา

ดูกรมหาบพิตร เสียงเหล่าใด ... ดูกรมหาบพิตร

กลิ่นเหล่าใด ... ดูกรมหาบพิตร รสเหล่าใด ...

ดูกรมหาบพิตร โผฏฐัพพะ เหล่าใด เป็นที่พอใจ ของคนบางคน

โผฏฐัพพะเหล่านั้น ไม่เป็นที่พอใจของคน บางคน

เขาดีใจ มีความดำริบริบูรณ์ ด้วยโผฏฐัพพะเหล่าใด

โผฏฐัพพะอื่นจาก โผฏฐัพพะเหล่านั้น จะยิ่งกว่า หรือประณีตกว่า

เขาก็ไม่ปรารถนา โผฏฐัพพะเหล่านั้น เป็นอย่างยิ่งสำหรับเขา

โผฏฐัพพะเหล่านั้น เป็นยอดเยี่ยมสำหรับเขา ฯ





 

Create Date : 22 เมษายน 2556    
Last Update : 22 เมษายน 2556 19:55:23 น.
Counter : 613 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  

รักดี
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




นามแฝง ชื่อ รักดี

ชอบดอกไม้ รักหมา

ไม่รังเกียจแมว

ไม่อาลัยในสิ่งที่ผ่านไปแล้ว

อยู่กับปัจจุบัน

และทำปัจจุบันให้ดีที่สุด

ไม่กังวลหรือเป็นทุกข์

กับสิ่งที่ยังมาไม่ถึง












Friends' blogs
[Add รักดี's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.