Group Blog
 
All blogs
 

*** เพื่อความตั้งมั่น ไม่ลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม ***





พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๒๒

พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๔ อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต


๔. สัทธรรมสัมโมสสูตรที่ ๑



[๑๕๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้

ย่อมเป็นไปเพื่อความลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม


ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ

ภิกษุในธรรมวินัยนี้

ไม่ฟังธรรมโดยเคารพ ๑

ไม่เล่าเรียนธรรมโดยเคารพ ๑

ไม่ทรงจำธรรมโดยเคารพ ๑

ไม่ใคร่ครวญอรรถแห่งธรรมที่ทรงจำไว้โดยเคารพ ๑

รู้อรรถรู้ธรรมแล้วไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมโดยเคารพ ๑


ดูกรภิกษุทั้งหลายธรรม ๕ ประการนี้แล

ย่อมเป็นไปเพื่อความลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม ฯ



ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความตั้งมั่น

ไม่ลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมฟังธรรมโดยเคารพ ๑

เล่าเรียนธรรมโดยเคารพ ๑

ทรงจำธรรมโดยเคารพ ๑

ใคร่ครวญอรรถแห่งธรรมที่ทรงจำไว้โดยเคารพ ๑

รู้อรรถรู้ธรรมแล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมโดยเคารพ ๑


ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้แล

ย่อมเป็นไปเพื่อความตั้งมั่น ไม่ลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม ฯ


จบสูตรที่ ๔

๕. สัทธรรมสัมโมสสูตรที่ ๒


[๑๕๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้

ย่อมเป็นไปเพื่อ ความลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม


ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมไม่เล่าเรียนธรรม

คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทานอิติวุตตกะ ชาดก

อัพภูตธรรม เวทัลละ นี้ธรรมเป็นข้อที่ ๑

ย่อมเป็นไปเพื่อความลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม

อีกประการหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายย่อมไม่แสดงธรรมตามที่ได้ฟังมา

ตามที่ได้เล่าเรียนมาแก่ผู้อื่นโดยพิสดาร นี้เป็นธรรมข้อที่ ๒

ย่อมเป็นไปเพื่อความลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม

อีกประการหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายย่อมไม่บอกธรรมตามที่ได้ฟังมา

ตามที่ได้เล่าเรียนมาแก่ผู้อื่นโดยพิสดาร นี้เป็นธรรมข้อที่ ๓

ย่อมเป็นไปเพื่อความลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรมอีกประการหนึ่ง

ภิกษุทั้งหลาย ย่อมไม่ทำการสาธยายธรรมตามที่ได้ฟังมา

ตามที่ได้เล่าเรียนมาแก่ผู้อื่นโดยพิสดาร นี้เป็นธรรมข้อที่ ๔

ย่อมเป็นไปเพื่อความลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม

อีกประการหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายย่อมไม่ตรึกตรองไม่เพ่งดูด้วยใจ

ซึ่งธรรมตามที่ได้ฟังมา ตามที่ได้เล่าเรียนมาโดยพิสดาร นี้เป็นธรรมข้อที่ ๕

ย่อมเป็นไปเพื่อความลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม


ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความลบเลือน

เสื่อมสูญแห่งสัทธรรม ฯ



ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้ ย่อมเป็นไป เพื่อความตั้งมั่น

ไม่ลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ

ภิกษุทั้งหลายในธรรมวินัยนี้ ย่อมเล่าเรียนธรรม คือ สุตตะ เคยยะ ...

อัพภูตธรรม เวทัลละ นี้เป็นธรรมข้อที่ ๑ ย่อมเป็นไปเพื่อความตั้งมั่น

ไม่ลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรมอีกประการหนึ่ง

ภิกษุทั้งหลายย่อมแสดงธรรมตามที่ได้ฟังมา

ตามที่ได้เล่าเรียนมาแก่ผู้อื่นโดยพิสดาร นี้เป็นธรรมข้อที่ ๒

ย่อมเป็นไปเพื่อความตั้งมั่น ไม่ลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม

อีกประการหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายย่อมบอกธรรมตามที่ได้ฟังมา

ตามที่ได้เล่าเรียนมาแก่ผู้อื่นโดยพิสดาร นี้เป็นธรรมข้อที่ ๓

ย่อมเป็นไปเพื่อความตั้งมั่น ไม่ลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม

อีกประการหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายย่อมทำการสาธยายธรรมตามที่ได้ฟังมา

ตามที่ได้เล่าเรียนมาแก่ผู้อื่นโดยพิสดารนี้เป็นธรรมข้อที่ ๔

ย่อมเป็นไปเพื่อความตั้งมั่น ไม่ลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรมอีกประการหนึ่ง

ภิกษุทั้งหลายย่อมตรึกตรอง เพ่งดูด้วยใจ ซึ่งธรรมตามที่ได้ฟังมา

ตามที่ได้เล่าเรียนมาโดยพิสดาร นี้เป็นธรรมข้อที่ ๕

ย่อมเป็นไปเพื่อความตั้งมั่น ไม่ลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม


ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมเป็นไป เพื่อความตั้งมั่น

ไม่ลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม ฯ




 

Create Date : 30 มิถุนายน 2556    
Last Update : 30 มิถุนายน 2556 12:38:35 น.
Counter : 662 Pageviews.  

*** ตกอยู่ในอำนาจมาร ---- ไม่ตกอยู่ในอำนาจมาร ***



พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑๘

พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๐ สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค



มารปาสสูตรที่ ๑


[๑๖๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปที่จะพึงรู้แจ้งด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา น่าใคร

น่าพอใจน่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด มีอยู่ หากภิกษุเพลิดเพลิน

หมกมุ่น พัวพันรูปนั้น ภิกษุนี้เรากล่าวว่า ไปสู่ที่อยู่ของมาร

ตกอยู่ในอำนาจของมาร ถูกมารคล้อง รัด มัดด้วยบ่วง

ภิกษุนั้น พึงถูกมารผู้มีบาป ใช้บ่วงทำได้ตามปรารถนา ฯลฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมารมณ์ที่จะพึงรู้แจ้งด้วยใจ อันน่าปรารถนา น่าใคร่

น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด มีอยู่ หากภิกษุเพลิดเพลิน หมกมุ่น

พัวพันธรรมารมณ์นั้น ภิกษุนี้เรากล่าวว่า ไปสู่ที่อยู่ของมาร ตกอยู่ในอำนาจ

ถูกมารคล้อง รัด มัดด้วยบ่วง

ภิกษุนั้น พึงถูกมารผู้มีบาปใช้บ่วงทำได้ตามปรารถนา ฯ



[๑๖๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง รูปที่จะพึงรู้แจ้งด้วยจักษุอันน่าปรารถนา

น่าใคร่น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด มีอยู่

หากภิกษุไม่เพลิดเพลิน ไม่หมกมุ่น ไม่พัวพันรูปนั้น

ภิกษุนี้เรากล่าวว่า ไม่ไปสู่ที่อยู่ของมาร ไม่ตกอยู่ในอำนาจของมาร

ไม่ถูกมารคล้อง เป็นผู้พ้นจากบ่วงมาร

ภิกษุนั้นอันมารผู้มีบาป พึงใช้บ่วงทำตาม ความปรารถนาไม่ได้ ฯลฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลายธรรมารมณ์ที่จะพึงรู้แจ้งด้วยใจ อันน่าปรารถนา น่าใคร่

น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ชวนให้กำหนัด มีอยู่ หากภิกษุไม่เพลิดเพลิน

ไม่หมกมุ่น ไม่พัวพันธรรมารมณ์นั้น ภิกษุนี้เรากล่าวว่า ไม่ไปสู่ที่อยู่ของมาร

ไม่ตกอยู่ในอำนาจของมาร ไม่ถูกมารคล้อง เป็นผู้พ้นจากบ่วงมาร

ภิกษุนั้นอันมารผู้มีบาปพึงใช้บ่วงทำตามความปรารถนาไม่ได้ ฯ




จบสูตรที่ ๑


มารปาสสูตรที่ ๒


[๑๖๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปที่จะพึงรู้แจ้งด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา น่าใคร่

น่าพอใจน่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด มีอยู่ หากภิกษุเพลิดเพลิน

หมกมุ่น พัวพันรูปนั้น ภิกษุนี้เรากล่าวว่า พัวพันอยู่ในรูป ไปสู่ที่อยู่ของมาร

ตกอยู่ในอำนาจของมาร ถูกมารผู้มีบาปทำได้ตามปรารถนา ฯลฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมารมณ์ที่จะพึงรู้แจ้งด้วยใจ อันน่าปรารถนา น่าใคร่

น่าพอใจน่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด มีอยู่ หากภิกษุเพลิดเพลิน

หมกมุ่น พัวพันธรรมารมณ์นั้น ภิกษุนี้เรากล่าวว่า พัวพันอยู่ในธรรมารมณ์

ไปสู่ที่อยู่ของมาร ตกอยู่ในอำนาจของมารถูกมารผู้มีบาปทำได้ตามปรารถนา ฯ



[๑๖๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง รูปที่จะพึงรู้ด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา น่าใคร่

น่าพอใจน่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด มีอยู่ หากภิกษุไม่เพลิดเพลิน

ไม่หมกมุ่น ไม่พัวพันรูปนั้นภิกษุนี้เรากล่าวว่า พ้นไปจากรูป

ไม่ไปสู่ที่อยู่ของมาร ไม่ตกอยู่ในอำนาจของมาร

อันมารผู้มีบาปพึงทำตามปรารถนาไม่ได้ฯลฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมารมณ์ที่จะพึงรู้แจ้งด้วยใจ อันน่าปรารถนา น่าใคร่

น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด มีอยู่ หากภิกษุไม่เพลิดเพลิน

ไม่หมกมุ่น ไม่พัวพันธรรมารมณ์นั้น

ภิกษุนี้เรากล่าวว่า พ้นไปจากธรรมารมณ์ ไม่ไปสู่ที่อยู่ของมาร

ไม่ตกอยู่ในอำนาจของมาร อันมารผู้มีบาปพึงทำตามปรารถนาไม่ได้ ฯ


จบสูตรที่ ๒





 

Create Date : 29 มิถุนายน 2556    
Last Update : 29 มิถุนายน 2556 11:38:11 น.
Counter : 589 Pageviews.  

*** มาร ***





พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑๘

พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๐ สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค


สมิทธิสูตรที่ ๑


[๗๑] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน

กลันทกนิวาปสถาน ใกล้พระนครราชคฤห์ ครั้งนั้นแล

ท่านพระสมิทธิเข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับฯลฯ ครั้นแล้วได้ทูลถาม

พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่ พระองค์ผู้เจริญ

ที่เรียกว่า มาร มาร ดังนี้ ด้วยเหตุเพียงเท่าไร พระเจ้าข้า

จึงเป็นมารหรือการบัญญัติว่า มาร


พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรสมิทธิ

จักษุ รูป จักษุวิญญาณ ธรรมที่จะพึงรู้แจ้งด้วยจักษุวิญญาณ มีอยู่ ณ ที่ใด

มาร หรือการบัญญัติว่า มาร ก็มีอยู่ ณ ที่นั้น

หู เสียง โสตวิญญาณ ธรรมที่พึงรู้แจ้งด้วยโสตวิญญาณมีอยู่ ณ ที่ใด

มาร หรือการบัญญัติว่า มาร ก็มีอยู่ ณ ที่นั้น

จมูก กลิ่น ฆานวิญญาณธรรมที่จะพึงรู้แจ้งด้วยฆานวิญญาณมีอยู่ ณ ที่ใด

มาร หรือการบัญญัติว่า มาร ก็มี อยู่ ณ ที่นั้น ลิ้น รส ชิวหาวิญญาณ

ธรรมที่พึงรู้แจ้งด้วยชิวหาวิญญาณมีอยู่ ณ ที่ใด

มาร หรือการบัญญัติว่า มาร ก็มีอยู่ ณ ที่นั้น กาย โผฏฐัพพะกายวิญญาณ

ธรรมที่จะพึงรู้แจ้งด้วยกายวิญญาณ มีอยู่ ณ ที่ใด

มาร หรือการบัญญัติว่า มาร ก็มีอยู่ณ ที่นั้น

ใจ ธรรมารมณ์ มโนวิญญาณ ธรรมที่จะพึงรู้แจ้งด้วยมโนวิญญาณ มีอยู่ ณ ที่ใด

มาร หรือการบัญญัติว่า มาร ก็มีอยู่ ณ ที่นั้น ฯ



[๗๒] ดูกรสมิทธิ จักษุ รูป จักษุวิญญาณ

ธรรมที่จะพึงรู้แจ้งด้วย จักษุวิญญาณ ไม่มี ณ ที่ใด

มาร หรือการบัญญัติว่า มาร ก็ไม่มี ณ ที่นั้น ฯลฯ

ใจ ธรรมารมณ์ มโนวิญญาณ ธรรมที่จะพึงรู้แจ้งด้วยมโนวิญญาณ

ไม่มี ณ ที่ใด มาร หรือการบัญญัติว่า มาร ก็ไม่มี ณ ที่นั้น ฯ


จบสูตรที่ ๓





 

Create Date : 28 มิถุนายน 2556    
Last Update : 28 มิถุนายน 2556 12:32:53 น.
Counter : 658 Pageviews.  

*** ลูกศร ๗ ประการ ***




พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๒๙

พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๑ ขุททกนิกาย มหานิทเทส



[๘๐๙] ชื่อว่า ลูกศร ในคำว่า สัตว์อันลูกศรใดปักติดแล้ว

ย่อมแล่นพล่านไปสู่ทิศทั้งปวง ได้แก่ลูกศร ๗ ประการ คือ


ลูกศรราคะ

ลูกศรโทสะ

ลูกศรโมหะ

ลูกศรมานะ

ลูกศรทิฏฐิ

ลูกศรความโศก

ลูกศรความสงสัย.



ลูกศรราคะเป็นไฉน?


ความกำหนัด ความกำหนัดนัก ความยินดี ความชอบใจความเพลิน

ความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิน ความที่จิตกำหนัดนัก ฯลฯ

อภิชฌา โลภะ อกุศลมูล นี้ชื่อว่า ลูกศรราคะ.



ลูกศรโทสะเป็นไฉน?


ความอาฆาตย่อมเกิดว่า คนโน้นได้ประพฤติความพินาศแก่เราแล้ว

ความอาฆาตย่อมเกิดว่า คนโน้นย่อมประพฤติความพินาศแก่เรา

ความอาฆาตย่อมเกิดว่าคนโน้นจักประพฤติความพินาศแก่เรา ฯลฯ

ความเป็นคนดุร้าย ความเพาะวาจาชั่ว ความไม่แช่มชื่นแห่งจิต

นี้ชื่อว่าลูกศรโทสะ.



ลูกศรโมหะเป็นไฉน?


ความไม่รู้ในทุกข์ ฯลฯ ความไม่รู้ในปฏิปทาอันให้ถึงความดับทุกข์

ความไม่รู้ส่วนเบื้องต้น ความไม่รู้ส่วนเบื้องปลาย ความไม่รู้ส่วนเบื้องต้น

และส่วนเบื้องปลาย ความไม่รู้ในธรรมทั้งหลายที่อาศัยกันเกิดขึ้น

คือความที่ปฏิจจสมุปบาทมีอวิชชานี้เป็นปัจจัย ความไม่เห็น ความไม่ตรัสรู้

ความไม่ตามตรัสรู้ ความไม่ตรัสรู้ชอบ ความไม่แทงตลอด

ความไม่ถือเหตุด้วยดี ความไม่หยั่งรู้เหตุ ความไม่เพ่งพินิจ

ความไม่พิจารณา ความไม่ทำให้ประจักษ์ความไม่ผ่องแผ้ว ความเป็นคนโง่

ความหลง ความหลงทั่ว ความหลงพร้อม อวิชชา อวิชชาโอฆะ อวิชชาโยคะ

อวิชชานุสัย อวิชชาปริยุฏฐาน อวิชชาลังคี (ลิ่มคืออวิชชา)

โมหะ อกุศลมูล นี้ชื่อว่าลูกศรโมหะ.



ลูกศรมานะเป็นไฉน?


ความถือตัวว่า เราดีกว่าเขา ความถือตัวว่า เราเสมอเขา

ความถือตัวว่า เราเลวกว่าเขา ความถือตัว กิริยาที่ถือตัว

ความเป็นผู้ถือตัว ความใฝ่สูงความฟูขึ้น ความทะนงตัว ความยกตัว

ความที่จิตใฝ่สูงดุจธง นี้ชื่อว่าลูกศรมานะ.



ลูกศรทิฏฐิเป็นไฉน?


สักกายทิฏฐิมีวัตถุ ๒๐ มิจฉาทิฏฐิมีวัตถุ ๑๐ อันตคาหิกทิฏฐิมีวัตถุ ๑๐

ทิฏฐิ ความไปคือทิฏฐิ รกเรี้ยวคือทิฏฐิ กันดารคือทิฏฐิ เสี้ยนหนามคือทิฏฐิ

ความดิ้นรนคือทิฏฐิ เครื่องประกอบคือทิฏฐิ ความถือ ความถือมั่น ความยึดมั่น

ความยึดถือทางผิดคลองผิด ความเป็นผิด ลัทธิเดียรถีย์

ความถือโดยแสวงหาผิด ความถือวิปริต ความถือวิปลาสความถือผิด

ความถือแน่นอนว่าจริงในสิ่งที่ไม่จริง อันใดเห็นปานนี้

และทิฏฐิ ๖๒ มีประมาณเท่าใด นี้ชื่อว่าลูกศรทิฏฐิ.



ลูกศรความโศกเป็นไฉน?


ความโศก กิริยาที่โศก ความเป็นผู้โศก ความโศกในภายใน

ความตรอมเตรียมในภายใน ความเร่าร้อนในภายใน ความแห้งผากในภายใน

ความตรอมเตรียมแห่งจิต ความโทมนัสแห่งบุคคลที่ถูกความเสื่อมแห่งญาติ

กระทบเข้าบ้าง ที่ถูกความเสื่อมแห่งโภคสมบัติกระทบเข้าบ้าง

ที่ถูกความเสื่อมเพราะโรคกระทบเข้าบ้าง

ที่ถูกความเสื่อมแห่งศีลกระทบเข้าบ้าง ที่ถูกความเสื่อมแห่งทิฏฐิกระทบเข้าบ้าง

ที่ประจวบกับความเสื่อมอย่างใดอย่างหนึ่งบ้าง

ที่ถูกเหตุแห่งทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งกระทบเข้าบ้าง นี้ชื่อว่าลูกศรความโศก.




ลูกศรความสงสัยเป็นไฉน?


ความสงสัยในทุกข์ ความสงสัยในทุกขสมุทัย ความสงสัยในทุกขนิโรธ

ความสงสัยในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ความสงสัยในส่วนเบื้องต้น

ความสงสัยในส่วนเบื้องปลาย ความสงสัยในส่วนเบื้องต้นและส่วนเบื้องปลาย

ความสงสัยในธรรมทั้งหลายที่อาศัยกันเกิดขึ้น คือความที่ปฏิจจสมุปบาท

มีอวิชชานี้เป็นปัจจัย ความสงสัย กิริยาที่สงสาร ความเป็นผู้สงสัย

ความเคลือบแคลง ความลังเล ความเป็นสองทาง ความไม่แน่ใจ

ความไม่แน่นอน ความไม่ตกลงใจ ความไม่อาจตัดสิน

ความไม่กำหนดถือเอาได้ ความที่จิตหวั่นไหวอยู่ ความติดขัดในใจ

นี้ชื่อว่าลูกศรความสงสัย.





 

Create Date : 22 มิถุนายน 2556    
Last Update : 22 มิถุนายน 2556 12:21:57 น.
Counter : 740 Pageviews.  

*** จิต วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา ***




พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๓๔

พระอภิธรรมปิฎก เล่มที่ ๑ ธรรมสังคณีปกรณ์



[๒๑] จิต มีในสมัยนั้น เป็นไฉน?

จิต มโน มานัส หทัย ปัณฑร มโน มนายตนะ มนินทรีย์ วิญญาณ

วิญญาณขันธ์มโนวิญญาณธาตุที่สมกัน ในสมัยนั้น อันใด

นี้ชื่อว่า จิตมีในสมัยนั้น.



[๒๒] วิตก มีในสมัยนั้น เป็นไฉน?

ความตรึก ความตรึกอย่างแรง ความดำริ ความที่จิตแนบอยู่ในอารมณ์

ความที่จิตแนบสนิทอยู่ในอารมณ์ ความยกจิตขึ้นสู่อารมณ์

สัมมาสังกัปปะ ในสมัยนั้น อันใด นี้ชื่อว่า วิตกมีในสมัยนั้น.


[๒๓] วิจาร มีในสมัยนั้น เป็นไฉน?


ความตรอง ความพิจารณา ความตามพิจารณา ความเข้าไปพิจารณา

ความที่จิตสืบต่ออารมณ์ ความที่จิตเพ่งอารมณ์

ในสมัยนั้น อันใด นี้ชื่อว่า วิจารมีในสมัยนั้น.


[๒๔] ปีติ มีในสมัยนั้น เป็นไฉน?

ความอิ่มใจ ความปราโมทย์ ความยินดียิ่ง ความบันเทิง ความร่าเริง

ความรื่นเริงความปลื้มใจ ความตื่นเต้น ความที่จิตชื่นชมยินดี

ในสมัยนั้น อันใด นี้ชื่อว่า ปีติมีในสมัยนั้น.



[๒๕] สุข มีในสมัยนั้น เป็นไฉน?

ความสบายทางใจ ความสุขทางใจ ความเสวยอารมณ์ที่สบายเป็นสุข

อันเกิดแต่เจโตสัมผัส กิริยาเสวยอารมณ์ที่สบายเป็นสุข

อันเกิดแต่เจโตสัมผัส ในสมัยนั้น อันใด นี้ชื่อว่าสุขมีในสมัยนั้น.



[๒๖] เอกัคคตา มีในสมัยนั้น เป็นไฉน?

ความตั้งอยู่แห่งจิต ความดำรงอยู่แห่งจิต ความมั่นอยู่แห่งจิต

ความไม่ส่ายไปแห่งจิตความไม่ฟุ้งซ่านแห่งจิต

ภาวะที่จิตไม่ส่ายไป ความสงบ สมาธินทรีย์ สมาธิพละ สัมมาสมาธิ

ในสมัยนั้น อันใด นี้ชื่อว่า เอกัคคตา มีในสมัยนั้น.





 

Create Date : 14 มิถุนายน 2556    
Last Update : 14 มิถุนายน 2556 11:58:49 น.
Counter : 879 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  

รักดี
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




นามแฝง ชื่อ รักดี

ชอบดอกไม้ รักหมา

ไม่รังเกียจแมว

ไม่อาลัยในสิ่งที่ผ่านไปแล้ว

อยู่กับปัจจุบัน

และทำปัจจุบันให้ดีที่สุด

ไม่กังวลหรือเป็นทุกข์

กับสิ่งที่ยังมาไม่ถึง












Friends' blogs
[Add รักดี's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.