Group Blog
 
All blogs
 

*** มารู้จัก วิญญาณ กันเถอะ ***





สัมมาทิฏฐิ ตามพระเถราธิบายของท่าน พระสารีบุตรเถระ


ความรู้จักวิญญาณ


คือ รู้จักวิญญาณ


รู้จักเหตุเกิดแห่งวิญญาณ คือรู้จักว่า เพราะ สังขารเกิด วิญญาณจึงเกิด

รู้จักความดับแห่งวิญญาณ ก็คือรู้จักว่า เพราะ สังขารดับ วิญญาณจึงดับ

รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับวิญญาณ ก็คือรู้จักว่า มรรค์มีองค์ 8 เป็นทางปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งวิญญาณ


รู้จักวิญญาณ


คือ รู้จักหมู่แห่ง วิญญาณ 6 คือ

1. หมู่แห่งจักขุวิญญาณ วิญญาณทางตา

2. หมู่แห่งโสตวิญญาณ วิญญาณทางหู

3. หมู่แห่งฆานวิญญาณ วิญญาณทางจมูก

4. หมู่แห่งชิวหาวิญาณ วิญญาณทางลิ้น

5. หมู่แห่งกายวิญญาณ วิญญาณทางกาย

6. หมู่แห่งมโนวิญญาณ วิญญาณทางมโนคือใจ

อันคำว่า วิญญาณ นั้น ได้มีใช้ในทางพุทธศาสนาหลายความหมาย

มีคำว่า จิต คำหนึ่ง

มีคำว่า วิญญาณ คำหนึ่ง

มีคำว่า มโนหรือใจ คำหนึ่ง

สำหรับคำทั้ง 3 คำนี้ เมื่อใช้ต่างก็ใช้ต่างกันดังนี้

ให้อบรมจิต ให้รักษาจิต ให้ชำระจิตของตนให้ผ่องใส

และยังได้ตรัสเอาไว้อีกว่า

จิตเป็นธรรมชาติปภัสสรคือผุดผ่อง

แต่เศร้าหมองไปเพราะอุปกิเลส

เครื่องเศร้าหมองที่จรเข้ามา

จิตเป็นธรรมชาติธรรมดา อันเรียกว่าเป็นธาตุ

คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ วิญาณธาตุ

วิญญาณธาตุในธาตุ 6 นี้ จึงมีความหมายเสมอกับคำว่า จิต

อาการของจิตออกรับอารมณ์ทั้งหลายมาสู่ทวารทั้ง 6

หรือเรียกว่า อายตนะภายใน กับอายตนะภายนอกมาประจวบกัน

จิตจึงออกน้อมรับอารมณ์

ตั้งต้นตั้งแต่ รู้อารมณ์

ดังที่เรียกว่าเห็นรูป

ที่เรียกว่าได้ยินเสียง

ที่เรียกว่าทราบกลิ่น

ที่เรียกว่าทราบรส

ที่ทราบว่ารู้เรื่องราว

ที่ทราบโผฏฐัพพะ

ตั้งแต่รู้ทีแรกดังกล่าว เรียกว่า วิญญาณ

แล้วจึงรู้ที่ยิ่งๆขึ้นไป เรียกว่า ผัสสะ หรือสัมผัส

แล้วจำได้ เป็นสัญญา

เป็นสังขาร ความคิดปรุงหรือ ปรุงคิด

ก็ล้วนแต่ จิตรู้ ทั้งนั้น

เมื่อรู้ที่เป็นการเห็นการได้ยิน เป็นต้น ก็เป็น วิญญาณ

เป็นวิญญาณในขันธ์ 5 ( วิญญาณ ผัสสะ เวทนา สัญญา สัวขาร )

วิญญาณในขันธ์ 5 เป็นสิ่งเกิดดับ

คือ อนิจจะไม่เที่ยง ทุกขะเป็นทุกข์ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลง

เป็นอนัตตามิใช่อัตตาตัวตน


อธิบายหมู่แห่งวิญญาณ 6

ก็คือ วิญญาณในขันธ์ 5 นั่นเอง

และที่เรียกว่าหมู่

ก็เพราะว่า วิญญาณในขันธ์ 5 นี้เกิดดับไปในทุกอารมณ์ที่ผ่านทวาร 6

เมื่อเห็นรูปอันใดก็เกิดขึ้นดับไปในรูปนั้น

ทุกๆคนย่อมเห็นรูปต่างๆมากมาย เป็นรูปนั่น รูปนี่

วิญญาณก็เกิดดับในรูปนั้น รูปนี้

เพราะฉะนั้น ในเวลาประเดี๋ยวเดียว

วิญญาณก็เกิดดับอยู่ในรูปนั้นรูปนี้

หลายสิบหลายร้อยหลายพัน

เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่าหมู่ หมู่แห่งวิญญาณ

เมื่อเกิดขึ้นทางตาก็เรียกว่า หมู่แห่ง วิญญาณทางตา

ใช้สติกำหนดดูให้รู้จักหมู่แห่งวิญญาณ

กำหนดดูด้วย สติ

คือมีสติกำหนด อยู่ที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

เมื่อตาเห็นอะไร หูได้ยินอะไร

เห็น หรือ ได้ ยิน นั่นแหละ คือ วิญญาณ

เมื่อมีสติกำหนดรู้ดังนี้ ก็จะรู้ได้ว่า วิญญาณเกิดที่นั่น ที่นี่

เกิดจากที่นี่ ดับที่นี่ ไปเกิดที่โน้น แล้วก็ไปดับที่โน้น

เป็นสิ่งๆไป

จะเห็นว่าเป็นหมู่จริงๆ มากมาย

จะมองเห็นความเกิดดับ ซึ่งเป็นตัวอนิจจะ คือไม่เที่ยง

จะทำให้มองเห็นทุกข์ คือสิ่งแปรเปลี่ยนไป

จะมองเห็นอนัตตา

ว่าเป็นสิ่งที่บังคับให้เป็นไปตามปรารถนาไม่ได้

ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เป็นไปอยู่อย่างนี้







 

Create Date : 07 ธันวาคม 2549    
Last Update : 8 ธันวาคม 2549 19:37:21 น.
Counter : 740 Pageviews.  

*** มารู้จัก นามรูป กันเถอะ ***





สัมมาทิฏฐิ ตามพระเถราธิบายของท่าน พระสารีบุตรเถระ


ความรู้จัก นามรูป

คือรู้จัก นาม


ได้แก่ เวทนา สัญญา เจตนา ผัสสะ มนสิการ


รู้จัก รูป

ก็คือ รู้จัก มหาภูตรูป ทั้ง 4 และ

อุปาทายรูป รูปอาศัยแห่งมหาภูตรูปทั้ง 4 นั้น

รู้จักเหตุเกิดแห่งนามรูป ก็คือรู้จักว่า เพราะ วิญญาณ เกิด นามรูป จึงเกิด

รู้จักความดับนามรูป ก็คือรู้จักว่า เพราะ วิญญาณ ดับ นามรูป จึงดับ


รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับนามรูป ก็คือรู้จักมรรคมีองค์ 8



นามคู่กับรูป อันเรียกว่า นามรูป

โดยทั่วไปก็เป็นคำย่อมาจาก ขันธ์ 5 คือ กอง หรือประชุม ทั้ง 5 อัน ได้แก่

รูปขันธ์ กองรูป

เวทนาขันธ์ กองเวทนา

สัญญาขันธ์ กองสัญญา

สังขารขันธ์ กองสังขาร

วิญญาณขันธ์ กองวิญญาณ



รูปธรรม ก็มีรูปร่างที่จะเห็นได้ด้วยตา

นามธรรม นั้นไม่มีรูปร่าง มีแต่ชื่อเรียกเท่านั้น

เป็นนามของภาวะอาการที่บังเกิดขึ้นทางร่างกาย ทางจิตใจ

ภาวะอาการที่บังเกิดขึ้นดังกล่าวไม่มีรูปร่าง

ดังเช่น เวทนา ความรู้ไม่สุขไม่ทุกข์

หรือเป็นกลางๆ ไม่สุขไม่ทุกข์

ที่บังเกิดขึ้นทางกายก็ดี ทางจิตใจก็ดี

เป็นสิ่งไม่มีรูปร่าง เมื่อมีอาการที่มีภาวะที่เป็นสุข เป็นทุกข์

หรือเป็นกลาง ไม่สุขไม่ทุกข์

เหมือนอย่างเมื่อถูกแดดก็ร้อน เป็นทุกข์

เมื่อได้รับลมก็เย็น เป็นสุข

อาการที่ที่เป็นสุขเป็นทุกข์ทางร่างกายนี้ ไม่มีรูปร่าง

แต่ว่ามีภาวะเป็นอาการ

ทางจิตใจก็เช่นเดียวกัน สัญญาความจำได้หมายรู้ต่างๆ

จำรูปจำเสียงเป็นต้น ก็เป็นอาการหรือภาวะทางจิตใจ

สัญญาความคิดปรุง หรือความปรุงคิด

ก็เป็นภาวะอาการทางจิตใจ

วิญญาณความรู้รูปทางตา ที่เรียกว่า เห็น

รู้เสียงทางหูที่เรียกว่าได้ยิน

รู้กลิ่นทางจมูก รู้รสทางลิ้น

รู้สิ่งถูกต้องทางกาย

รู้เรื่องราวทางใจที่คิดที่รู้ต่างๆ

ที่เรียกว่ารู้เรื่อง ก็เป็นภาวะอาการทางจิตใจ

เพราะฉะนั้น นาม จึงเป็นชื่อของอาการ

หรือ ภาวะทางจิตใจ และร่างกายดังกล่าว

นามเป็นอาการของจิตที่น้อมออกรู้อารมณ์

นาม มีมูลศัพท์เป็นอันเดียวกับคำว่า น้อม


แต่มีความหมายว่า เป็นอาการของจิตใจ

ที่น้อมออกไปรู้อารมณ์ คือเรื่องทั้งหลาย

คือจิตใจนี้เมื่อแสดงตามอภิธรรม เมื่อไม่มีอารมณ์

ย่อม เป็น ภวังค์จิต จิตที่อยู่ในภวังค์

ตามศัพท์แปลว่า องค์ของภพ

ซึ่งท่านเปรียบเหมือนอย่างน้ำในทะเลมหาสมุทรที่สงบอยู่

ในขณะที่ยังไม่มีคลื่น คือไม่มีลมก็ไม่มีคลื่น สงบเรียบอยู่

จิตโดยปกติ เมื่อยังไม่มีอารมณ์ ก็เป็นจิต ภวังค์จิต

แต่เมื่อมีอารมณ์มากระทบทวารคือประตูทั้ง 6

มีอารมณ์มากระทบ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

จิตจึงออกจากภวังค์ น้อมออกรับอารมณ์

อาการที่จิตออกน้อมรับอารมณ์นี้

ก็รับด้วยวิธีรู้ คือ รู้อารมณ์

ซึ่งที่แรกก็รู้ ในเมื่อ อายตนะภายในและอายตนะภายนอกมาประจวบกัน

ก็รู้รูป ที่เรียกว่า เห็นรูป

เรียกว่า วิญญาณ

และเมื่อ อายตนะภายใน และอายตนะภายนอกและวิญญาณ ทั้ง 3 อย่างนี้ มาประชุมกัน

ก็เป็น ความรู้ที่รุนแรงขึ้น เรียกว่า สัมผัส หรือ ผัสสะ

เมื่อ เป็นผัสสะ หรือสัมผัส ความรู้ก็แรงขึ้น

เป็น รู้สุข รู้ทุกข์ รู้เป็นกลางๆ ที่เรียกว่า เวทนา


แล้วก็รู้จำ ที่เรียกว่า สัญญา


แล้วก็รู้คิดปรุงหรือปรุงคิดต่างๆ ที่เรียกว่า สังขาร


แล้วจิตก็ตกภวังค์ กลับไปสู่ภาวะที่เป็นพื้น

ครั้นเมื่อมีอารมณ์มากระทบทวารทั้ง 6นี้อีก

จิตก็ออกจากภวังค์ มารับอารมณ์อีก

ด้วยวิธีที่รู้ดังกล่าวนี้ เป็นอารมณ์ๆไป

แต่ว่าเป็นเพราะเป็นสิ่งละเอียดและรวดเร็วมาก

จึงยากที่จะรู้แยกได้

อันนี้เป็นวิถีจิตซึ่งเป็นธรรมชาติธรรมดา

อาการที่จิตออกรู้อารมณ์ดังกล่าวนี้แหละ เรียกว่า นาม

นาม ในพระเถราธิบาย ท่านได้แสดงว่า

เวทนา คือ ความรู้เป็นสุขเป็นทุกข์ หรือเป็นกลางๆ ไม่สุขไม่ทุกข์


สัญญา ความรู้จำ จำได้หมายรู้

เจตนา ความจงใจ

ผัสสะ คือความกระทบ

มนสิการ การกระทำไว้ในใจ

ก็คือ ขันธ์ 5 นั่นแหละ

รูป ตามความหมาย ก็หมายถึง รูปที่เป็นขันธ์

หรือที่เป็น รูปกาย คือ

มหาภูตรูป คือ รูปที่มีภูตะใหญ่


ภูตะ แปลว่า สิ่งที่เป็น สิ่งที่มี รูปที่เป็น สิ่งที่มี

ได้แก่ ธาตุทั้ง 4 ที่ประกอบกันอยู่ในกาย

อันได้แก่ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม


ธาตุทั้ง 4 นี้แหละที่มีอยู่ในกาย ประกอบเข้าเป็นกาย

เมื่อธาตุทั้ง 4 นี้คุ้มกันอยู่ กายนี้ย่อมดำรงอยู่ คือการมีชีวิต

เมื่อธาตุทั้ง 4 แตกสลายไป ความดำรงอยู่ในกายก็แตกสลายไป

พิจารณาให้เห็นสักแต่ว่าเป็นธาตุ


ไม่ควรจะยึดถือเอาว่าเป็นของเรา หรือเป็นอัตตาของเรา


อุปทายรูป รูปอาศัย

คือ เป็นรูปที่อาศัยอยู่แห่ง มหาภูตรูป ทั้ง 4 ได้แก่

ประสาท ทั้ง 5 คือ

สิ่งที่ให้สำเร็จการเห็น เรียกว่า จักขุประสาท

สิ่งที่ให้สำเร็จการได้ยิน เรียกว่า โสตประสาท

สิ่งที่ให้สำเร็จการทราบกลิ่น เรียกว่า ฆานประสาท

สิ่งที่ให้สำเร็จการทรายรส เรียกว่า ชิวหาประสาท

สิ่งที่ให้สำเร็จการถูกต้อง เรียกว่า กายประสาท

โคจร คืออารมณ์อันเป็นที่เที่ยวไป ของประสาท ทั้ง 5

คือ

รูป ที่เป็นวิสัยของจักขุประสาท

เสียง ที่เป็นวิสัยของโสตประสาท

กลิ่น ที่เป็นวิสัยของฆานประสาท

รส ที่เป็นวิสัยของชิวหาประสาท

โผฏฐัพพพะ สิ่งที่ถูกต้องที่เป็นวิสัยของกายประสาท







 

Create Date : 05 ธันวาคม 2549    
Last Update : 5 ธันวาคม 2549 10:19:59 น.
Counter : 1322 Pageviews.  

*** มารู้จัก เวทนา ผัสสะ อายตนะ 6 กันเถอะ ***





สัมมาทิฏฐิ ตามพระเถราธิบายของท่าน พระสารีบุตรเถระ


ความรู้จักเวทนา


สัมมาทิฏฐิ คือ รู้จัก เวทนา รู้จักเหตุเกิดแห่งเวทนา คือสัมผัส หรือ ผัสสะ


รู้จักความดับแห่งเวทนา คือรู้จักว่าเวทนาดับเพราะดับสัมผัส หรือ ผัสสะ


รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับเวทนา คือรู้จักมรรคมีองค์ 8


เวทนา จำแนกไว้เป็น 3 ข้อ


1. สุขเวทนา เป็นสุขทางกายทางใจ


2. ทุกขเวทนา เป็นทุกข์ทางกายทางใจ


3. อทุกขมสุขเวทนา คือเวทนาที่มิใช่สุขและทุกข์ทาง กาย ทาง ใจ


เวทนาเป็นที่ตั้งของ ราคะ โทสะ โมหะ


สุขเวทนา เป็นที่ตั้ง ของ ราคะ คือติดใจยินดี


ทุกขเวทนา เป็นที่ตั้ง ของโทสะ คือความโกรธแค้นขัดเคือง


เวทนาที่เป็นกลางๆ เป็นที่ตั้งของโมหะ คือความหลง


เพราะเป็นเฉยๆด้วยความไม่รู้ คือไม่รู้จัก

เมื่อไม่รู้จักก็เป็น โมหะ คือความหลง




****************


ความรู้จัก ผัสสะ


คือ ความรู้จักผัสสะ คือ รู้จักสัมผัส 6 ได้แก่

1. จักขุสัมผัส คือสัมผัสทาง ตา

2. กายสัมผัส คือสัมผัสทาง กาย

3. ชิวหาสัมผัส คือสัมผัสทาง ลิ้น

4. ฆานสัมผัส คือสัมผัสทาง จมูก

5. มโนสัมผัส คือสัมผัสทาง ใจ

6. โสตสัมผัส คือสัมผัสทาง หู


รู้จักเหตุแห่งผัสสะ คือรู้จักว่า ผัสสะเกิดขึ้นเพราะอายตนะ6

รู้จักดับผัสสะ คือรู้จักว่า ผัสสะดับเพราะอายตนะ 6 ดับ

รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับผัสสะ คือรู้จักมรรคมีองค์ 8


ผัสสะ หรือ สัมผัส แปลว่า ความกระทบ


ความหมายในทางธรรมะ

หมายถึง ความประชุมกันของ อายตนะภายใน อายตนะภายนอก และวิญญาณ

แต่ละทาง ในทาง 6 ทาง คือ

อายตนะภายในได้แก่ ตา

กับอายตนะภายนอก ได้แก่ รูป มาประจวบกัน

ก็คือ จักขุวิญญาณ ความรู้ทางตา

หรือ อายตนะภายในได้แก่ หู

มาประจวบกับอายตนะภายนอก ได้แก่ เสียง

ก็คือ โสตวิญญาณ คือ ความรู้ทางหู

เมื่อพิจารณาดู ผัสสะ หรือ สัมผัสนี้ เป็นของละเอียด

กำหนดได้ยาก ดังที่เมื่อ ตา กับ รูป ประจวบกัน

ก็เกิดความรู้ รูป คือเห็นรูป เรียกว่า จักขุวิญญาณ

ทุกคนย่อมจะรู้ว่าได้ เห็นรูป


และเมื่อไม่เห็น ก็ย่อมรู้ว่าไม่เห็น แต่โดยมากนั้น

เมื่อไม่เห็นในสิ่งที่ต้องการจะไม่เห็น

แต่ว่าไปนึกถึงสิ่งที่เห็นนั้น

คือข้ามไปถึงขั้นที่เป็นสังขารปรุงคิดปรุง หรือคิดปรุง

ข้ามไปถึงที่เป็นกิเลสขึ้นมา

เป็นความยินดี ความยินร้าย

โดยมากผู้ไม่ปฏิบัติธรรม มักจะไม่คิดถึงตัวรู้ประกอบกันไป

อยู่กับความคิดปรุงหรือความปรุงคิดและไปติดอยุ่ในกิเลส

ยินดี ยินร้าย หลงงมงาย

อันบังเกิดขึ้นจากสิ่งที่คิดปรุงหรือปรุงคิด


จึงมิได้คิดถึงตัวรู้ ว่าอันที่จริงนั้น

ทุกคนคิดอะไร ก็รู้ไปด้วยว่าคิดอะไร


ฉะนั้นหาก กำหนดตัวรู้ที่ไปกับตัวคิดปรุง หรือปรุงคิด

ก็ย่อมจะจับตัวรู้ได้

ก็จะรู้ว่านั้นเป็น วิญญาณ




*************


ความรู้จัก อายตนะ 6


คือรู้จักสฬายตนะ อายตนะ 6 คือ


ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

รู้จักเหตุเกิดแห่งอายตนะ คือรู้จักว่า เพราะ นามรูป เกิด

จึงเกิด อายตนะ


รู้จักความดับแห่ง อายตนะ คือรู้จักความดับแห่ง นามรูป


รู้จักทางปฏิบัติแห่งความดับอายตนะ คือรู้จักมรรค์มีองค์ 8




อายตนะแปลว่า ที่ต่อ คือ ตาต่อกับรูป

จมูกต่อกับกลิ่น เป็นต้น

อายตนะมี 2อย่าง คู่กัน

คืออายตนะ ภายใน กับ อายตนะภายนอก

อายตนะภายใน ได้แก่

ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ


อายตนะถายนอก ได้แก่ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และเรื่องราว


อายตนะภายนอก หรือ เรียกว่า อารมณ์ 6 หรือเรียกว่า

ทวาร ทั้ง 6 หรือยังเรียกว่า อินทรีย์ ซึ่งหมายถึง อายตนะ6 นั่นเอง

พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ สำรวมอินทรียสังวร

คือสำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ

โดยที่เมื่อเห็นอะไร ได้ยินอะไร

ก็ไม่ยึดถือสิ่งเหล่านั้นทั้งหมด หรือบางส่วนยินดียินร้าย

เพราะเมื่อยึดถือ ยินดี ยินร้าย

บาป อกุศลธรรมทั้งหลาย จะไหลเข้าสู่จิต

ความสำรวม นี้ คือ สติ


เพราะฉะนั้น สติ จึงเหมือน นายทวารประตู

ที่จะรับ หรือไม่รับ บุคคล ที่เข้าประตู

ถ้าเป็นผู้ร้ายก็ไม่ให้เข้า

ถ้าเป็นมิตรดี ญาติมิตรสหายก็รับ

ใช้สติและปัญญา กำหนดรู้ กระแสของ ตัณหา

ก็เหมือนบุคคลที่ตกไปในกระแสน้ำ

และพอใจเสียด้วยในกระแสน้ำนั้นๆ

พอใจที่จะลอยคอหรือว่ายน้ำเล่น

พระพุทธเจ้าตรัสเปรียบ

คนที่ลอยคอในกระแสน้ำ

ก็คือ กระแสตัณหา

พอใจที่จะสนุกเพลิดเพลิน

โดยไม่รู้ว่า ในกระแสน้ำที่กำลังสนุกเพลิดเพลินนั้น

เป็นกระแสน้ำที่เต็มไปด้วยภัยอันตราย

โดยที่ปล่อยให้ลอยไป

ก็ย่อมจมลงไปในห้วงกระแสน้ำลึก

อันเป็นตัวสังโยชน์ทั้งหลาย

อันประกอบไปคลื่นทั้งหลาย ได้แก่

โทสะ โมหะ และอุปายะ คือความคับแค้นใจทั้งหลาย

และพระพุทธเจ้าทรงเตือนจะได้สติ

ว่ายทวนกระแสน้ำเข้าฝั่งได้








 

Create Date : 03 ธันวาคม 2549    
Last Update : 3 ธันวาคม 2549 13:06:39 น.
Counter : 6520 Pageviews.  

*** มารู้จัก ตัณหา กันเถอะ ***






สัมมาทิฏฐิ ตามพระเถราธิบายของท่าน พระสารีบุตรเถระ


ความรู้จักตัณหา


พระสารีบุตรเถระได้แสดงธรรม หลักปฏิจจสมุปบาท

คือธรรมะที่อาศัยกันเกิดขึ้น ต่อจากคราวที่แล้ว คือ

ชาติมีเพราะเกิดภพ

ภพมีเพราะเกิดอุปาทาน

อุปทานมีเพราะเกิดตัณหา



และจึงถึงตอนที่ท่านพระสารีบุตรได้แสดงอธิบายว่า

สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ ก็คือรู้จัก ตัณหา

เพราะอุปาทานมี จึงเกิด ตัณหา

ตัณหาแปลว่า ความทะยานอยาก ความดิ้นรนของจิตใจ

หรือที่เรียกสั้นๆว่า ความอยาก

ความรู้จักตัณหา คือ

รู้จัก รูปตัณหา คือ ตัณหาในรูป


สัททตัณหา คือ ตัณหาในเสียง


คันธตัณหา คือ ตัณหาในกลิ่น


รสตัณหา คือ ตัณหาในรส


โผฏฐัพตัณหา คือ ตัณหาในสิ่งที่ถูกต้องสัมผัส


ธรรมตัณหา คือ ตัณหาในธรรมารมณ์



รู้จักเหตุแห่งตัณหา

ก็คือ รู้จักว่า ความเกิดแห่ง ตัณหา มีขึ้น เพราะ

ความเกิดขึ้น แห่ง เวทนา

รู้จักความดับแห่งตัณหา คือ รู้ว่า ความดับแห่ง ตัณหา

คือ ความดับแห่ง เวทนา

รู้จักทางปฏิบัติแห่งตัณหา คือรู้ว่า มรรค มีองค์ 8

เป็นทางดับแห่ง ตัณหา

ตัณหาเป็นเหตุให้มีภพใหม่

ไปกับนันทิ ความเพลิน

ราคะ ความติดใจยินดี

มีความอภินันท์ คือเพลิดเพลินยินดียิ่งๆ ในอารมณ์นั้นๆ

ได้แก่

กามตัณหา

คือ ตัณหาในกาม

คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่น่ารักน่าใคร่ ปรารถนาพอใจทั้งหลาย

ภวตัณหา

คือ ตัณหาในภพ

คือความอยากเป็นนั่น อยากเป็นนี่

วิภวตัณหา

คือ ตัณหาในวิภพ

คือไม่อยากเป็นนั่น ไม่อยากเป็นนี่



รู้จักตัณหา ก็คือ รู้จักตัณหาในอายตนะภายนอกทั้ง 6

หรือในอารมณ์ ทั้ง 6

ศัพท์ธรรมะ เรียกอายตนะภายนอก ก็คือ อารมณ์ทั้ง 6

อันได้แก่ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ( โผฏฐัพพะ ) และเรื่องราวต่างๆ


อายตนะ แปลว่า ที่ต่อ หรือ ต่อกัน

อายตนะภายใน คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย มานะ คือ ใจ

อายตนะภายนอก คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และเรื่องราว

เมื่อ อายตนะ ภายในและภายนอกมาต่อกัน ก็จัดเป็นคู่

คือ ตากับรูป ก็ต่อกัน

หูกับเสียงก็ต่อกัน

กลิ่นกับจมูกก็ต่อกัน

ลิ้นกับรสก็ต่อกัน

กายกับโผฏฐัพพะก็ต่อกัน

มานะหรือใจก็ต่อกับเรื่องราว

ฉะนั้นเมื่อต่อกันจึงเรียกว่า อายตนะ



เมื่อมีอายตนะภายนอก ก็ต้องมี อายตนะภายใน

หรือที่เรียกว่า ประตู หรือ ทวารทั้ง 6

ที่เรียกว่า ประตูนั้น คือประตูของ อะไร อะไรที่จะเข้าไป

ก็ตอบว่า เป็นประตูสำหรับอารมณ์ทั้ง 6 เข้าไป

เข้าไปสู่อะไร

ก็ตอบว่า เข้าไปสู่ จิต หรือที่เรียกว่า วิญญาณ

ตัณหาเกิดจากกระแสอารมณ์ผ่านทวารเข้าสู่จิต

เมื่อารมณ์ คือ รูปเข้าไป ก็เกิดตัณหาในรูป

เมื่อารมณ์ คือเสียงเข้าไป ก็เกิดตัณหาในเสียง

เมื่อเป็นอามรณ์ที่รักใคร่ปรารถนา ก็เกิดเป็นกามตัณหา

ลักษณะของตัณหา

เมื่อรวมความเข้ามาแล้ว

ก็เป็นความอยากที่จะดึงเข้ามาเป็นของเราอย่างหนึ่ง

หรือเป็นความอยากที่จะผลักออกไปให้พ้นตัว

เมื่อไม่ปรารถนาหรือไม่ต้องการ อย่างหนึ่ง

หรือทำลายไปให้หมดสิ้น อีกอย่างหนึ่ง

อาการของความอยากดังกล่าวนี้

จึงมีลักษณะที่ดิ้นรน

กระสับกระส่าย

กระวนกระวาย

จิตใจเคลื่อนไหวขยับเขยื้อน ไปในอารมณ์ทั้งหลาย

ด้วยอาการต่างๆดังกล่าวอยู่เสมอ

จิตใจก็ไม่สงบไม่อยู่กับที่ เคลื่อนไหวกระสับกระส่าย

ดิ้นรน กวัดเกว่ง ไปด้วยอาการดังกล่าวไปเรื่อยไม่มีหยุด

เช่นได้ครอบครองสิ่งนี้ก็ไม่หยุดอยู่เพียงเท่านี้

ก็ยังอยากได้ในสิ่งอื่นอีกเป็นสิ่งที่ 2 3 4 5 ไปเรื่อยๆ

เมื่อได้สิ่งที่ต้องการ จิตก็สงบ

พอเกิดตัณหาอีก จิตก็กระสับกระส่ายอีก


เพราะฉนั้นเมื่อดูกระแสจิตอย่างละเอียดแล้ว

ก็จะเห็นว่า

อันกามก็ดี อันตัวเราก็ดี

ย่อมบังเกิดขึ้น และดับไป อยู่ในอามรมณ์นั้นๆ

ติดต่อกันเรื่อยๆตลอดไป

กามและตัวเราของเราบังเกิดขึ้นในสิ่งที่ 1 แล้วก็ดับไป

กามของเราบังเกิดขึ้นในสิ่งที่ 2เกิดขึ้นแล้วดับไป

เพราะฉะนั้น จึงตรัสแสดงว่า เป็นไปเพื่อ ภพใหม่อยู่เสมอ

ภพ คือ ความเป็น ความเป็นเราของเรา

คือตัวเราบังเกิดขึ้นใหม่ในสิ่งนั้นๆอยู่ตลอดเวลา

ไม่มีหยุด สงบแล้วบังเกิดสิ่งโน้น

สงบ แล้วบังเกิดสิ่งนี้ ก็เป็นอยู่ดังนี้

ทั้งมีความติดใจมีความเพลิดเพลินยินดียิ่งๆขึ้นไป

ในอารมณ์นั้นๆอยู่เรื่อยๆ

อาการดังนี้เป็นอาการ ที่เรียก ว่า ตัณหา

มีอยู่ในจิตใจของสามัญชนทั่วไป เพราะ

ความอิ่มในตัณหานั้นไม่มี

ความอยากอย่างใดอย่างหนึ่ง

ก็จัดเป็นตัณหาทั้งนั้น

ตัณหานั้นเป็นข้อที่อยู่คู่โลก

และย่อมมีอยู่ในสัตว์โลกทั้งหมด

เพราะฉะนั้นต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในโลก

ต้องเป็นไปอยู่ในโลก

สิ้นตัณหาเมื่อใด ก็เป็น โลกุตตระ

คือ พ้นโลก เหนือโลก

สิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่ตัณหาต้องการจะได้

ต้องการจะเป็น

ก็รวมอยู่ในคำเดียวว่า ทุกข์ คือ ทุกขอริยสัจ


พระพุทธเจ้าจึงทรงชี้ให้เห็น ว่า

ตัณหารวมอยู่ใน ข้อทุกข์ ไว้เป็น ข้อสำคัญ

ตัณหาเกิดขึ้นเพราะ เวทนา

ดับ เวทนาได้ ก็ดับ ตัณหาได้

การจะดับได้ก็เพราะ ปฏิบัติในมรรคมีองค์ 8








 

Create Date : 02 ธันวาคม 2549    
Last Update : 27 เมษายน 2556 21:43:48 น.
Counter : 851 Pageviews.  

*** มารู้จัก อุปาทาน กันเถอะ ***






สัมมาทิฏฐิ ตามพระเถราธิบายของท่าน พระสารีบุตรเถระ


ความรู้จักอุปาทาน

พระสารีบุตรเถระแสดงธรรม เรื่อง สัมมาทิฏฐิ

มาจนถึงหมวดแห่งธรรมะที่อาศัยกันเกิดขึ้น

อันโยงกันไปเป็นลูกโซ่

ซึ่งเรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท

ซึ่งสืบเนื่องมาจากภพ ซึ่งได้แสดงไปแล้ว

โดยที่ ภพ มีขึ้น เพราะมีอุปาทาน

ท่านได้มีเถราธิบายโดยใจความว่า

สัมมาทิฏฐิ คือความเห็นชอบ

ก็คือ รู้จัก อุปาทาน

รู้จักเหตุเกิดแห่งอุปาทาน

ก็คือรู้จักว่าอุปาทานเกิดขึ้นเพราะ ตัณหาเกิดขึ้น

รู้จักความดับแห่งอุปาทาน ก็คือรู้จักว่า ตัณหาดับ

อุปาทานก็ดับ

รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับอุปาทาน ก็คือ รู้จักว่า มรรคมีองค์ 8 เป็นทางปฏิบัติให้ถึงความดับอุปาทาน



อุปาทาน คือ ความยึดถือ

รู้จักเหตุแห่งอุปาทาน

รู้จักความดับอุปาทาน

รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับอุปาทาน

และท่านก็ได้แสดงอธิบายในข้อแรก คือ

รู้จักอุปาทาน จำแนก อุปาทาน ออกเป็น 4 คือ

1. กามุอุปาทาน ความยึดถือกาม

กาม นั้นได้แก่ วัตถุกาม กับ กิเลสกาม

อันได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่น่ารักน่าใคร่ทั้งหลาย

ยึดว่านี่เป็นของเรา เราเป็นนี่ นี่เป็นอัตตา ตัวตนของเรา

พระอรหันต์ที่ยังดำรงชีวิตอยู่นับแต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ก็ได้ทรงเห็นรูปอะไรทางตา ได้ยินอะไรทางหู

ทราบกลิ่นทราบรสทราบโผฏฐัพพะทางจมูกทางลิ้นทางกาย

รู้คิดเรื่องอะไรทางใจเช่นเดียวกับคนทั้งหลาย

แต่ว่าท่านไม่มีกิเลสกามอยู่ในใจ ที่จะออกไปรักใคร่ปรารถนาพอใจในทุกๆสิ่ง

เพราะฉะนั้น จึงไม่ใช่เป็นวัตถุกามของท่าน

เป็นวัตถุเฉยๆ

เพราะท่านละ อุปาทาน คือความยึดถือได้หมดสิ้น

แต่สามัญชนทั้งหลาย ยังมีกิเลสกามอยู่ในใจ

ยังมีความรักใคร่ ความปรารถนาพอใจ

ยังไม่ปล่อยไม่วาง ความรักใครปรารถนาพอใจในวัตถุทั้งหลาย ที่ได้เห็น ได้ยิน เป็นต้น

ทำให้วัตถุนั้นๆ เป็นวัตถุกามขึ้นมา เข้าใจง่ายๆก็คือ

ยึดวัตถุกาม แต่อันที่จริงนั้น ยึดถือกิเลสกามนั่นแหละ

คือ เป็นกามุอุปาทาน คือ ยึดถือกาม

การยึดถือ อธิบายดังนี้

คือยึดถือ ว่านี่เป็นของเรา

เราเป็นนี่ นี่เป็นอัตตา ตัวตนของเรา

ยึดถือเอาเป็นของเราด้วย

เป็นความรักของเรา

ความใคร่ของเรา

ความปรารถนาของเรา

ความพอใจของเรา

ถ้าหากว่า ปล่อยวางตัวกิเลส นี้

ตัววัตถุก็ปล่อยได้ทันที ไม่เป็นที่ยึดติด

ความสำคัญจึงอยู่ที่ความยึด อยู่ที่ตัวกิเลส

ยึดถืออยู่ที่ตัวความรักใคร่ความปรารถนาความพอใจ



2. ทิฏฐุปาทาน ความยึดถือทิฏฐิ

คือความเห็น หมายถึง ความเห็นผิด

แต่ว่ายังยึดอยู่ ก็เพราะว่ายังไม่รู้ว่าเห็นผิด

เมื่อรู้ว่าเห็นผิดเมื่อไหร่ ก็จะละ ความเห็นผิดเมื่อนั้น

พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า ทิฏฐิ

ถ้าเห็นผิด ก็เรียกว่า มิจฉาทิฏฐิ

ถ้าเห็นถูก เห็นชอบ ก็เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ

มิจฉาทิฏฐิ พระสารีบุตรได้แสดงไว้อีก 3 อย่างคือ

1. อกิริยทิฏฐิ ความเห็นว่า ไม่เป็นอันทำ

คือปฏิเสธบุญ ปฏิเสธบาป

ซึ่งความเห็นนี้ เป็นความเห็นผิดหลัก พระพุทธศาสนา

หลักพุทธศาสนา นั้นแสดงว่า การทำของบุคคล เมื่อเจตนาจงใจทำ ที่เป็นบาปก็เป็นบาป ที่เป็นบุญก็เป็นบุญ

คนอื่นจะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม

บาปก็เป็นบาป บุญก็เป็นบุญ ที่เกิดขึ้น หรือเรียกว่า

กรรมดี กรรรมชั่ว

2. อเหตุกทิฏฐิ ความเห็นว่าไม่มีเหตุ

คือเห็นว่า เมื่อได้รับผลดีผลร้ายต่างๆ เห็นว่าเป็นไปตามคราว

คือคราวที่มีโชคดี โชคร้าย หรือ เคราะห์ดีเคราะห์ร้าย

ความเห็นนี้ผิดหลักพุทธศาสนา

หลักพุทธศาสนา นั้นแสดงว่า

ผลย่อมเกิดจากเหตุ ผลดีก็ย่อมเกิดจากเหตุที่ดี

ผลไม่ดีย่อมมาจากเหตุไม่ดี

แม้ว่าตนเองจะไม่สามารถรู้ถึงเหตุของผลนั้นๆ

ผลดีก็เกิดจากกรรมดี

ผลชั่วก็เกิดจากกรรมชั่ว

3. นัตถิกทิฏฐิ ความเห็นว่า ไม่มีสิ่งที่เรียกว่า สมมุติสัจจะ

ไม่มีสิ่งที่เรียกว่า คติธรรม หรือคลองธรรมตามเหตุและผล

เช่นไม่มีมารดาบิดา สัตว์บุคคลเกิดสืบเชื้อสายกันมาตามเรื่องตามราวเท่านั้น จึงไม่มีใครต้องนับถือบิดามารดา แม้แต่นับถือสมณพารหมณ์ไม่มี ไม่มีภิกษุสามเณร ไม่มีคติธรรม เช่นทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว

ความเห็นเช่นนี้ ผิดหลักพุทธศาสนา

หลักศาสนา สอนให้นับถือสมมติสัจจะ ความจริงโดยสมมติ สอนให้เคารพบิดามารดา

กตัญญูต่อบิดามารดา สอนให้ปฏิบัติตามคลองธรรม ให้รับรู้ในคลองธรรม คือทำกรรมอันใดไว้ ดีหรือชั่ว ก็จักต้องรับกรรมนั้น

มีความเห็นผิดอีกอย่างหนึ่งคือ

อุจเฉกทิฏฐิ คือมีความเห็นว่าขาดสูญ

เห็นว่ามีตัวตนอยู่ในชาตินี้เท่านั้น เมื่อร่างกายนี้แตกสลาย อัตตาตัวตนก็แตกสลายไปพร้อมกัน

ไม่มีอัตตาตัวตนไปเกิดใหม่

อีกความเห็นผิด คือ สัสสตทิฏฐิ คือเห็นว่าตายเกิด

เกิดกันเรื่อยไปไม่มีที่สิ้นสุด

ความเห็น ทั้งสองอย่างนี้ ผิดหลัก พุทธศาสนา

หลักศาสนา ไม่สอนว่า ตายเกิดกันเรื่อยไป และไม่สอนว่าตายสูญ ซึ่งเป็นคำสอนที่แสดงตายตัวไปฝ่ายเดียว

พุทธศาสนา สอนจำแนก ตามเหตุและผล

อันเรียกว่า วิภัชวาทะ

กล่าวจำแนกตามเหตุและผล

คือเมื่อมีเหตุให้เกิดก็เกิด

เมื่อสิ้นสุดเหตุให้เกิดก็ไม่เกิด

ดังเช่นในเถราธิบายของท่านพระสารีบุตรที่ได้กล่าวมาแล้วว่า ชรามรณะ มีขึ้น ก็เพราะมีชาติ คือความเกิด ชาติคือความเกิด มีขึ้น เพราะมีภพ ดังนี้

แปลว่า เมื่อยังมีเหตุปัจจัยให้เกิดก็ต้องเกิด เมื่อสิ้นสุดเหตุปัจจัยให้เกิด ก็ไม่เกิด

คือเมื่อตัดตัณหาได้สิ้นเชิง กิเลสก็หมดไม่เกิด

แต่แม้ไม่เกิด ก็ไม่แสดงว่าสูญ

ถ้าเห็นว่า พระอรหันต์สูญ ก็เรียกว่า เห็นผิดเหมือนกัน


3. สีลัพพตุปาทาน ความยึดถือศีลและพรต หรือศีลและวัตร

ศีล คือข้อที่พึงเว้น มีศีล 5

วัตร ได้แก่การปฏิบัติ หรือข้อที่ควรปฏิบัติเช่น อุปัชฌายวตร อาจารวัตร

ศีลและวัตรมีมาตั้งแต่ก่อนพุทธกาล

ภายนอกพุทธศาสนา

เช่นศีลและวัตรของผู้บวชเป็นฤษีดาบส เมื่อถือลัทธิบูชาไฟ ก็ทำการบูชาไฟ ก่อกองไฟ

ภายในศาสนา ศีลและวัตร หากทำด้วยความยึดมั่น ทำด้วยกิเลสตัณหา ก็เป็น ลีลัพพตุปาทาน

คือด้วยความยึดมั่นว่า ต้องรักษาไว้ ไม่เช่นนั้นศีล 5 จะขาด เป็นไปตามอำนาจ ตัวเราของเราอย่างแรง เป็นการยึดศีลและวัตรไว้

จึงมีการแสดงว่า พระโสดาบันบุคคล มีศีล 5 เกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ

และพระโสดาบันนั้นไม่มีที่จะละเมิดศีล5 โดยที่พระโสดาบันไม่ต้องรักษา ไม่ต้องคอยจับ คอยยึด

แปลว่าปล่อยจับ ปล่อยยึด ได้

แต่ก็มีศีล 5 ขึ้นมาเอง

พระโสดาบันจึง ละ สังโยชน์ได้ 3 คือ

1. สักกายทิฏฐิ คือ ยึดถือว่าตัวเราของเราอย่างแรง

2. ลีลัพพตปรามาศ คือความลูบคลำศีลและวัตรเอาไว้

3. วิจิกิจฉา มีความเคลือบแคลงสงสัยในพระรัตนตรัย

พระโสดาบัน ละ สังโยชน์ทั้ง 3 ได้


สำหรับ ลีลัพพตปรามาส นั้นละได้ด้วย โสดาปัตติผล

แต่แม้เช่นนั้น ก็ยังมีลีลัพพตุปาทาน คือความยึดถือศีลและวัตรอย่างละเอียด

เหมือนอย่างพระอานนท์

พระอานนท์ท่านเป็นพระโสดาบัน ท่านละ ลีลัพพพตปรามาสได้

แต่ว่ายังมีตัณหาที่จะตรัสรู้ ก็ชื่อว่า ยังมี ลีลัพพตุปาทานอยู่

จนท่านวาง จิตของท่านก็วิมุติ หลุดพ้นจากอาสวะทั้งสิ้นทันที

ศีลและวัตร ต้องละเป็นขั้นไป เหมือนคนขึ้นบันได

ก็ต้องขึ้นไปทีละขั้น

ต้องละขั้นที่กำลังยืนอยู่แล้วก้าวไปอีกขั้น

คือ ยึดและปล่อยเป็นขั้นๆ ต้องปล่อย ขั้นที่ 1 จึงจะก้าวไปขั้นที่ 2ได้

แล้วก้าวไปขั้นที่ 3

แปลว่าต้องรับปฏิบัติ คือต้องยึด แล้วก็ปล่อย

แล้วเดินขึ้นไปเป็นขั้นๆจึงจะสูงขึ้นไปโดยลำดับ

จนถึงขั้นสุดท้าย เป็นอันว่าปล่อยได้หมด




4. อัตตวาทุปาทาน ความยึดถือวาทะว่าตน

อัตตา แปลว่าตน

ในทางพุทธศาสนา มี 2 ระดับ

1. พระพุทธเจ้าสอนให้ ตนเป็นที่พึงแห่งตน ฝึกตน

2. พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า มิใช่ตน เช่นขันธ์ 5 เป็นอนัตตา สังขารเป็นอนัตตา

สำหรับระดับที่สอนให้ฝึกตน เรียกว่าตรัสสอน สมมติสัจจะ

เช่น สิ่งที่เกิดขึ้นบนแผ่นดิน มีกิ่งก้านใบดอกผล คนก็เรียกว่า ต้นไม้

ต้นไม้ จึงเป็นสิ่งสมมุติ ทุกคนรับรู้ร่วมกัน

เป็นสัตว์ก็เรียก ชื่อกันว่า ม้า ว่า ช้าง

บุคคลรับรู้ร่วมกัน

เพราะฉะนั้น เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมะสั่งสอน

ก็ต้องใช้ภาษาที่พูดเรียกสิ่งนั้นสิ่งนี้

ก็เป็นไปตาม สมมติบัญญัติโลก

เรียกว่า สมมุตสัจจะ


ความยึดถือ วาทะว่า ตน มาจากสมมุติบัญญัติ ก็กลายเป็นอุปาทานไป


และได้สอนให้รู้จักสัจจะอีกระดับหนึ่งคือ ปรมัตถสัจจะ

คือสัจจะความจริงที่เป็นอย่างยิ่ง

คือ ตรัสสอนให้ พิจารณาว่า

สังขารทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนิจจังไม่เที่ยง

สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ทนอยู่ไม่ได้ ต้องปวนแปรไป

และสังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่ง

ทั้ง วิสังขาร คือสิ่งที่ไม่ผสมปรุงแต่ง อันได้แก่ นิพพาน

และแม้แต่ธรรมะ อันเป็นส่วนที่ไม่ผสมปรุงแต่งอื่นๆ

คือทั้ง สังขาร และ ทั้ง วิสังขาร มิใช่ อัตตา ตัวตน ให้กำหนดรู้ดังนี้







 

Create Date : 01 ธันวาคม 2549    
Last Update : 4 ธันวาคม 2552 16:05:53 น.
Counter : 623 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  

รักดี
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




นามแฝง ชื่อ รักดี

ชอบดอกไม้ รักหมา

ไม่รังเกียจแมว

ไม่อาลัยในสิ่งที่ผ่านไปแล้ว

อยู่กับปัจจุบัน

และทำปัจจุบันให้ดีที่สุด

ไม่กังวลหรือเป็นทุกข์

กับสิ่งที่ยังมาไม่ถึง












Friends' blogs
[Add รักดี's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.