..ทุกคนต่างมีความรักในแบบที่แตกต่างกัน..เพราะทุกคนต่างกัน.. แต่มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน..นั่นก็คือ.. ความรักที่มาจากใจ...อย่าพยายามรักใครสักคนเพราะเขาเป็นอย่างที่เราต้องการ... เพราะ เมื่อเขาไม่เป็นอย่างที่เราต้องการ เราก็จะไม่สามารถรักเขาได้อีก... ให้พยายามรักใครสักคนเพราะเขาเป็นอย่างที่เขาเป็น... เพื่อเราจะ สามารถรักเขาได้ในทุกสิ่งที่เขาเป็น...

คุมเบาหวานให้อยู่หมัดในผู้สูงอายุ

ผู้เป็นเบาหวาน คือ ผู้ที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ เลือดต้องมีน้ำตาลอยู่บ้างเพื่อเป็นพลังงานให้ร่างกาย และอวัยวะต่างๆ แต่น้ำตาลสูงเกินไปก็เป็นโทษกับสุขภาพได้

น้ำตาลในเลือดมาจากอาหารที่รับประทาน นอกจากนี้มาจากการผลิตจากตับ และจากกล้ามเนื้อด้วย เลือดเป็นตัวนำน้ำตาลไปที่เซลล์ต่างๆ ในร่างกาย อินซูลิน คือ สารหรือฮอร์โมนที่หลั่งจากตับอ่อนเพื่อเป็นตัวนำพาน้ำตาลจากอาหารเข้าเซลล์ ถ้าร่างกายผลิตอินซูลินไม่พอหรือถ้าอินซูลินทำงานได้ไม่เต็มที่ น้ำตาลก็จะเข้าไปในเซลล์ไม่ได้ จึงส่งผลให้เลือดมีน้ำตาลสูง

เบาหวานที่เกิดขึ้นกับผู้ใหญ่ ที่เรียกว่าเบาหวานประเภทที่ 2 อาจเกิดขึ้นช่วงอายุใดก็ได้ แม้กระทั่งวัยเด็ก เบาหวานชนิดนี้เกิดจากภาวะต้านอินซูลิน นั่นคือ เซลล์ต่างๆ ไม่สามารถใช้อินซูลินได้เต็มที่ ในช่วงแรกๆ ตับอ่อนจะหลั่งอินซูลินมากขึ้นเพื่อรองรับความต้องการที่สูงขึ้น แต่แล้วตับอ่อนก็จะไม่สามารถหลั่งอินซูลินมาเพื่อตอบสนองกับน้ำตาลสูงๆ ได้ การมีน้ำหนักตัวมากและขาดการออกกำลังกาย ทำให้มีความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานประเภทที่2 มาก เมื่อผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ไม่สามารถผลิตอินซูลินได้มากเท่าที่ต้องการจึงจำเป็นต้องฉีดอินซูลิน

ถ้าน้ำตาลอยู่ในเกณฑ์คุมได้ไม่ดีจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ทั้งโรคตา โรคไต โรคระบบประสาท แต่ที่จะเป็นปัญหามากที่สุด คือ โรคหัวใจ ผู้เป็นเบาหวานมีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ หรือเส้นเลือดสมองแตกมากเป็น 2 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ไม่เป็นเบาหวาน ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย วิธีป้องกันภาวะแทรกซ้อนนี้คือ ต้องคุมไขมันในเลือด และความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติมากที่สุด

การตรวจน้ำตาลเป็นสิ่งจำเป็นมาก เพราะจะทำให้ทราบว่าแบบแผนการรับประทาน และการออกกำลังกายเหมาะสมหรือไม่ ไม่จำเป็นต้องรอตรวจเฉพาะช่วงเช้าตอนตื่นนอน แต่จะตรวจ 1 ถึง 2 ชั่วโมงหลังอาหาร หรือจะเป็นช่วงก่อนนอนก็ได้ ถึงแม้ว่าบางครั้งอาจจะยากสักนิดที่จะคุมน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ตลอดเวลา แต่ถ้าระดับน้ำตาลใกล้เป้าหมายเท่าใด ก็จะทำให้ความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ลดลง และจะทำให้คุณรู้สึกสบายขึ้นด้วย ถึงแม้ว่าจะเป็นขั้นเล็กๆ น้อยๆ แต่ก็จะช่วยได้มาก

เป้าหมายระดับน้ำตาลในเลือดสำหรับผู้เป็นเบาหวานคือ

ช่วงเวลา ป้าหมายระดับน้ำตาล (มก./ดล.)

ก่อนอาหารเช้า 90 – 130

1-2 ชม. หลังอาหาร < 180

ผู้เป็นเบาหวาน ควรมีแบบแผนการรับประทานอาหารที่เฉพาะเจาะจงให้เข้ากับชีวิตความเป็นอยู่ประจำวันของตนเอง ควรให้แพทย์แนะนำไปปรึกษากับนักกำหนดอาหาร เพื่อให้จัดแบบแผนการรับประทานขึ้นมา

อาหารสำหรับผู้เป็นเบาหวานไม่น่าแตกต่างจากบุคคลอื่นๆ ในครอบครัว ซึ่งควรเป็นอาหารที่มีประโยชน์ มีสารอาหารครบถ้วนจากอาหารหลากหลาย มีสารอาหารที่มีส่วนช่วยป้องกันโรคแทรกซ้อน โดยคำนึงถึงสิ่งต่างๆ ต่อไปนี้

• ครึ่งหนึ่งของอาหารประเภทแป้งที่รับประทาน ควรเป็นธัญพืช ได้แก่ ถั่วเมล็ดแห้ง ข้าวโพด มันเทศ ลูกเดือย ข้าวโอ๊ต แป้งโฮลวีท อาหารเหล่านี้เป็นแหล่งสำคัญของเส้นใยอาหาร สารต้านอนุมูลอิสระ วิตามินและแร่ธาตุที่สำคัญ มีส่วนช่วยป้องกันโรค
• รับประทานผัก และผลไม้ ให้ต่างชนิดกันไป เพื่อให้ได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วย ควรรับประทานผัก ให้ได้ 2 ทัพพี ต่อมื้อ และผลไม้ 1 จานเล็กต่อมื้อ
• เลือกดื่มนมพร่องไขมัน หรือนมถั่วเหลืองรสจืด เสริมแคลเซียม 2-3 กล่องต่อวัน
• รับประทานปลา และเต้าหู้ให้มากขึ้น เป็นแหล่งโปรตีน เต้าหู้มีสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยป้องกันโรค ส่วนปลามีกรดไขมันโอเมก้า-3 ที่มีส่วนช่วยระบบไหลเวียนของโลหิต ส่วนเนื้อสัตว์อื่นๆ เลือกเนื้อล้วนที่ไม่ติดหนังติดมัน ให้บ่อยกว่าชนิดที่มีมันเยอะ อย่างเช่น หมู/เนื้อบด ซี่โครงหมู คอหมู ไส้กรอก หรือเบคอน
• เลือกใช้น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันรำข้าวสลับกันไป หรือน้ำมันมะกอกก็ได้ น้ำมันเหล่านี้มีกรดไขมันที่ดีต่อสุขภาพ นอกจากไขมันแล้ว ถั่วเปลือกแข็ง อะโวคาโด ก็เป็นแหล่งของไขมันที่ดี ควรรับประทานในปริมาณเล็กน้อยทุกวัน ผู้ที่จำกัดไขมันมากๆ อาจมีความเสี่ยงของการขาดวิตามินอี ซึ่งเป็นวิตามินที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระ จึงไม่แนะนำให้งดไขมันโดยสิ้นเชิง
• และที่สำคัญสำหรับผู้เป็นเบาหวาน โดยเฉพาะผู้ที่ฉีดอินซูลินด้วยนั้น คือต้องรับประทานอาหารให้เป็นเวลา ครบทุกมื้อ และมีปริมาณอาหารใกล้เคียงกันทุกๆ วัน

สิ่งหนึ่งที่ผู้ฉีดอินซูลินมักประสบเมื่อมีน้ำหนักลง หรือเมื่อรับประทานอาหารไม่ได้ คือ จะมีภาวะน้ำตาลต่ำบ่อย จึงควรสังเกตอาการของภาวะน้ำตาลต่ำ ได้แก่ รู้สึกอ่อนเพลีย มึน ใจสั่นมือสั่น หงุดหงิด ปวดศีรษะ รู้สึกหิว ถ้าปล่อยไว้อาจทำให้ช็อกเป็นลมได้

วิธีแก้ภาวะน้ำตาลต่ำควรปฏิบัติดังนี้

• ถ้ามีเครื่องเจาะน้ำตาล ควรเจาะน้ำตาลในเลือด ถ้าน้ำตาลต่ำกว่า 70 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ควรรีบหาน้ำหวาน น้ำผลไม้ดื่มครึ่งแก้ว (120 ซีซี) หรือกินน้ำตาลทราย หรือน้ำผึ้ง 1 ช้อนชา หรือดื่มนมหวาน 1 แก้ว (120 ซีซี) ทันที
• ควรรอประมาณ 15 นาที หลังได้รับน้ำตาลแล้วจึงควรตรวจน้ำตาลอีกครั้ง ถ้ายังไม่ถึง 70 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ควรปฏิบัติข้อ 1 อีกครั้ง
• เมื่อระดับน้ำตาลอยู่ในเกณฑ์มากกว่า 70 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรแล้ว อาจรอจนมื้ออาหารถัดไป ถ้ามื้ออาหารอยู่ในช่วงภายใน 1 ชั่วโมง แต่ถ้านานไปกว่านั้น ควรรับประทานมื้อว่างที่มีประโยชน์ไปก่อน

ข้อควรระวังสำหรับการแก้ไขภาวะน้ำตาลต่ำ

• อย่ารับประทานของหวาน/น้ำหวาน มากเกินกว่าที่แนะนำ เพราะจะทำให้ระดับน้ำตาลแกว่งและทำให้คุมได้ยาก น้ำหนักตัวลงยากด้วย
• อย่ารับประทานของหวานที่มีไขมันสูง โปรตีนสูง และ/หรือแป้งเชิงซ้อน (ข้าว ขนมปัง เส้นต่างๆ) สูง เพราะจะย่อยช้าไม่ช่วยให้น้ำตาลสูงขึ้นทันที แต่จะไปสูงเอาอีกหลายชั่วโมงถัดมา ทำให้ควบคุมระดับน้ำตาลได้ยากขึ้น
• ควรรีบบอกแพทย์ทันที เมื่อมีภาวะน้ำตาลต่ำ เพื่อให้แพทย์ปรับลดอินซูลิน

วิธีป้องกันไม่ให้เกิดภาวะน้ำตาลต่ำทำได้โดย

• รับประทานอาหารให้เป็นเวลา ถ้าต้องเดินทางควรดูว่าจะรับประทานอาหารได้ตอนไหน ถ้าคิดว่าจะนานเกินไปหรือจะหาซื้ออาหารได้ลำบาก ควรพกอาหารติดตัวไปด้วย
• รับประทานอาหารในปริมาณอาหารที่ใกล้เคียงกันทุกวัน
• ห้ามอดมื้ออาหาร
• ฉีดอินซูลินตามที่แพทย์แนะนำ และให้เป็นเวลา
• ตรวจน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอ




 

Create Date : 13 มกราคม 2551    
Last Update : 13 มกราคม 2551 6:02:43 น.
Counter : 517 Pageviews.  

การออกกำลังกายในผู้ป่วยเบาหวาน

เป็นที่ทราบกันดีว่า การออกกำลังกาย มีประโยชน์สำหรับบุคคลทั่วไป และผู้ป่วยในหลายกลุ่มโรค แต่ท่านทราบหรือไม่ว่า สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน การออกกำลังกายมีประโยชน์ ในแง่ของการรักษาโรคได้ด้วย และยังสามารถป้องกันการเกิดโรคเบาหวาน ในกรณีของผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง ต่อการเป็นโรคนี้อย่างชัดเจน

ก่อนอื่น ผู้ป่วยเบาหวานต้องยอมรับความจริงข้อหนึ่งว่า สภาพร่างกาย และความพร้อมด้านสุขภาพโดยทั่วไป ย่อมด้อยกว่าบุคคลทั่วไป ผลจากการวิจัยมากมาย ยืนยันความจริงข้อนี้ โดยพบว่า ทั้งชีพจร ความดันโลหิต อัตราการเผาผลาญออกซิเจน ความพร้อมของระบบหายใจ และระบบไหลเวียนล้วนต่ำกว่ามาตรฐาน ดังนั้น เราจึงควรตระหนักถึงความสำคัญ ของการออกกำลังกาย ในการใช้เป็นส่วนเสริม ของการบำบัดรักษาผู้ป่วยเบาหวาน

ประโยชน์ของการออกกำลังกายในผู้ป่วยเบาหวาน

ผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่ได้รับการรักษา อาจเกิดการสูญเสียทางสายตา มีโรคแทรกซ้อนทางหัวใจ ไต ระบบไหลเวียนโลหิต หรือ กระทั่งถึงแก่ความตาย และสาเหตุสำคัญก็คือ การที่ร่างกายไม่สามารถใช้อินซูลิน ในการดึงเอาน้ำตาลในเลือด ไปใช้ในเนื้อเยื่อต่างๆ ทั่วร่างกายได้

การออกกำลังกายมีส่วนช่วยเสริม ในการบำบัดรักษาโรคเบาหวาน คือเป็นหนึ่งในสามส่วนของการรักษา ได้แก่ การควบคุมอาหาร การรักษาด้วยยา และการออกกำลังกาย การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ในผู้ป่วยเบาหวาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ป่วยที่ไม่จำเป็นต้องฉีดอินซูลิน ได้รับการวิจัยจนเป็นที่ยอมรับแล้วว่า สามารถช่วยเพิ่มการทำงาน ของอินซูลินที่มีอยู่ในร่างกายได้ ทำให้สามารถนำน้ำตาลในกระแสเลือด เข้าไปใช้งานในเซลเนื้อเยื่อต่างๆ ได้

ตามปกติ ผู้ป่วยเบาหวาน มักมีระดับไขมันในเลือดสูงด้วย ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของโรคหัวใจ แต่การออกกำลังกาย จะส่งผลโดยตรง ต่อการลดระดับโคเลสเตอรอล และต่อการลดน้ำหนักตัวด้วย ดังนั้น การออกกำลังกายในผู้ป่วยเบาหวาน จึงเกิดประโยชน์หลายทาง รวมทั้งการลดปัญหาแทรกซ้อนจากโรคหัวใจนี้ด้วย

การออกกำลังกายป้องกันโรคเบาหวานได้หรือไม่

ผลการศึกษาวารสารทางการแพทย์ ของต่างประเทศพบว่า ผู้ที่มีแนวโน้มว่าจะเป็นโรคเบาหวาน จากการตรวจเลือด เมื่อออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยลดอุบัติการของโรคเบาหวาน ลงได้เกือบครึ่งหนึ่ง เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้ออกกำลังกาย

จึงกล่าวได้ว่า การออกกำลังกายที่ถูกต้องเหมาะสม ช่วยป้องกันโรคเบาหวานได้ เหตุผลสนับสนุนง่ายๆ ก็คือ การออกกำลังกาย ช่วยลดปัจจัยเสี่ยงในเรื่องความอ้วน ท่านทราบหรือไม่ว่า ผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่จำเป็นต้องฉีดอินซูลินนั้น ร้อยละ 80 มีน้ำหนักตัวมากเกินไป ดังนั้นการออกกำลังกาย เพื่อลดหรือป้องกันน้ำหนักตัวมากเกิน จึงช่วยป้องกันโรคเบาหวานได้

ผู้ป่วยเบาหวานกลุ่มใด ควรออกกำลังกาย

ผู้ป่วยเบาหวานแบ่งตามการรักษาได้ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่จำเป็นต้องฉีดอินซูลิน กับกลุ่มที่ไม่จำเป็นต้องฉีดอินซูลิน การออกกำลังกายสามารถทำได้ ในผู้ป่วยเบาหวานทั้งสองกลุ่ม

ผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่จำเป็นต้องฉีดอินซูลิน ได้รับการสนับสนุนให้ออกกำลังกายมากที่สุด ทั้งนี้เพราะมีผลแทรกซ้อน จากการออกกำลังกายน้อยกว่า และได้ผลดีจากการออกกำลังกายมากกว่า เพราะสามารถกระตุ้นการทำงาน ของอินซูลินที่ยังมีอยู่พอสมควรในร่างกาย

ส่วนผู้ป่วยเบาหวาน กลุ่มที่จำเป็นต้องฉีดอินซูลิน การออกกำลังกายให้ประโยชน์ ในการเพิ่มความพร้อมของระบบหายใจ และการไหลเวียนโลหิต ช่วยลดน้ำหนักตัว และช่วยป้องกันโรคแทรกซ้อนทางหัวใจได้ แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะต้องปรึกษาแพทย์ ก่อนเริ่มแผนการออกกำลังกายอย่างจริงจัง เพราะอาจต้องปรับลดขนาดยาอินซูลิน ที่จะฉีดก่อนการออกกำลังกาย และควรได้รับคำแนะนำ เกี่ยวกับหลักเกณฑ์ในการออกกำลังกาย และข้อควรระวังอย่างถูกต้อง โดยเฉพาะผู้ป่วยเบาหวาน ที่มีโรคแทรกซ้อนทางหัวใจและหลอดเลือดแล้ว

ควรออกกำลังกายแบบไหนจึงเหมาะสม

เป็นที่ทราบกันดีว่า ผู้ป่วยเบาหวานจะต้องระมัดระวัง ไม่ให้เกิดบาดแผลที่บริเวณเท้า ดังนั้น การออกกำลังกาย จึงควรเลือกประเภทที่ไม่มีผลต่อการบาดเจ็บที่เท้า เช่น การว่ายน้ำ และการปั่นจักรยาน

จากการวิจัยพบว่า เมื่อคนเราออกกำลังกายเป็นจังหวะ อย่างต่อเนื่องนานเกินกว่า 30 นาที ร่างกายจึงจะกระตุ้น ให้มีการนำเอาน้ำตาลในเลือด ไปใช้งานในเซลเนื้อเยื่อต่างๆ ดังนั้น การออกกำลังกายในผู้ป่วยเบาหวาน จึงควรออกกำลังนานเกินกว่า 30 นาที โดยควรมีช่วงของการอุ่นเครื่อง 10 นาที และช่วงของการเบาเครื่อง 10 นาที ด้วย

ช่วงของการออกกำลังที่เกินกว่า 30 นาที จะช่วยให้ร่างกายนำน้ำตาลในเลือด เข้าสู่เซลเนื้อเยื่อ

ช่วงของการอุ่นเครื่อง คือ ออกกำลังเป็นจังหวะช้าๆ ช่วยป้องกันการบาดเจ็บของเอ็นและไขข้อได้

ช่วงของการเบาเครื่อง คือ การผ่อนกำลังในการออกกำลังกายลง ช่วยป้องกันโรคแทรกซ้อนทางหัวใจ ทั้งนี้ เพราะหากหยุดออกกำลังกายในทันที เลือดที่กระจายอยู่ตามแขนขา เนื่องจากการขยายตัวของหลอดเลือด จากการออกกำลังกาย จะไหลเทกลับมาสู่หัวใจอย่างรวดเร็ว ทำให้หัวใจรับภาระ การทำงานสูบฉีดเลือดมากเกินไป ซึ่งอาจเกิดอันตรายได้ สังเกตได้จากการที่หัวใจเต้นแรงมาก เมื่อหยุดออกกำลังกายในทันทีทันใด

การออกกำลังกาย อย่างมีจังหวะและสม่ำเสมอนั้น ถือเอาการใช้กำลังน้อย แต่ใช้ระยะเวลานานเป็นหลัก คือให้ออกแรงเพียงครึ่งหนึ่ง ของความสามารถสูงสุด เช่น หากออกกำลังกายด้วยการปั่นจักรยานอยู่กับที่ ให้ออกกำลังกายด้วยความเร็วเพียงร้อยละ 50 ของความเร็วสูงสุดที่ปั่นได้

ข้อควรปฏิบัติ และข้อควรระวังในการออกกำลังกาย สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน
1. ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เกิดผลร่วมกับ การปรับขนาดยาอินซูลิน และอาหารด้วย อย่างน้อย 3 ครั้งต่ออาทิตย์ ครั้งละ 45 นาทีขึ้นไป
2. ควรออกกำลังกายในเวลาเดียวกันของแต่ละวัน
3. ระมัดระวังเป็นพิเศษกับเท้าของตนเอง โดยพยายามหลีกเลี่ยงกีฬา หรือการออกกำลัง ที่ก่อให้เกิดความเครียดของเท้า หรือทำให้เกิดการบาดเจ็บที่เท้าได้ง่ายๆ เช่น การวิ่ง และการกระโดด เป็นต้น
4. ตรวจสอบแผลขูดขีด ตุ่มพอง และการอักเสบติดเชื้อ ตามแขนขาอย่างสม่ำเสมอ
5. รองเท้าสำหรับนักกีฬาเป็นสิ่งสำคัญ ควรมีไว้
6. ตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอ
7. ควรพกคาร์โบไฮเดรทที่ออกฤทธิ์เร็ว เช่น น้ำตาลก้อน เพื่อเตรียมไว้แก้ไข ปัญหาน้ำตาลในเลือดต่ำ
8. สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน ที่จำเป็นต้องฉีดอินซูลิน จะต้องคำนึงถึงระยะเวลา ในการออกกำลังกาย ปริมาณอินซูลินที่ฉีด และตำแหน่งของการฉีดด้วย อย่าฉีดอินซูลินลงในกล้ามเนื้อหลักที่ใช้ออกกำลัง ทั้งนี้ เพราะจะทำให้เกิดดูดซึมอินซูลินอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้น้ำตาลในเลือดต่ำซึ่งอาจช็อคได้

สรุป
การออกกำลังกาย มีผลในการรักษาโรคเบาหวาน และเป็นหนึ่งในสามส่วน ของการบำบัดรักษาโรคเบาหวาน (การควบคุมอาหาร การใช้ยา และการออกกำลังกาย) โดยช่วยกระตุ้นให้การทำงานของอินซูลินดีขึ้น และได้ผลดีกับผู้ป่วยเบาหวาน ที่ไม่จำเป็นต้องฉีดอินซูลิน ช่วยลดปัญหาแทรกซ้อนโรคหัวใจ

นอกจากนี้ การออกกำลังกาย ยังได้ผลชัดเจนในการป้องกัน การเกิดโรคเบาหวาน ในกลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้

การออกกำลังกายในผู้ป่วยเบาหวาน เน้นที่การออกกำลังอย่างเป็นจังหวะและสม่ำเสมอนานเกินกว่า 30 นาทีด้วยแรงหรือความเร็วน้อยๆ คือเพียงครึ่งหนึ่งของที่ทำได้สูงสุด ควรมีช่วงอุ่นเครื่อง และช่วงเบาเครื่อง ที่ยาวนานกว่าปกติด้วย

ข้อควรระวังที่สำคัญ คือ การบาดเจ็บที่เท้า และภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะในระยะที่จำเป็นต้องฉีดอินซูลิน




 

Create Date : 13 มกราคม 2551    
Last Update : 13 มกราคม 2551 6:00:12 น.
Counter : 568 Pageviews.  

เลือกรับประทานอาหารอย่างไรเมื่อเป็นเบาหวาน

ปัจจุบัน ผู้ป่วยเบาหวานสามารถเลือกรับประทานอาหารต่างๆ ได้เช่นเดียวกับคนปกติ แต่จำเป็นต้องเรียนรู้ว่าจะรับประทานอาหารได้มากน้อยเพียงใด จึงจะไม่ทำให้น้ำตาลในเลือดสูง การรับประทานข้าวแต่น้อยหรือไม่รับประทานเลยแล้วไปเพิ่มอาหารอย่างอื่น เช่น ผลไม้ เนื้อสัตว์ ในปริมาณมากๆ มิใช่วิธีการปฎิบัติที่ถูกต้อง ทั้งยังอาจทำให้ระดับน้ำตาลและไขมันในเลือดสูงอีกด้วย
วิธีปฎิบัติที่ถูกต้อง ผู้ป่วยควรเลือกรับประทานอาหารหลากหลายชนิด เพื่อให้ได้สารอาหารครบถ้วนที่ร่างกายต้องการ โดยเลือกรับประทานอาหารตามกลุ่มต่างๆ ดังนี้

กลุ่มที่ 1 อาหารจำพวก ข้าว ก๋วยเตี๋ยว ขนมปัง เผือกมัน ถั่วเมล็ดแห้ง 1 ส่วนประกอบด้วย คาร์โบไฮเดรต 15 กรัม โปรตีน 3 กรัม ให้พลังงาน 80 กิโลแคลอรี่

ข้าวสุก 1/2 ถ้วยตวง (ประมาณ 1 ทัพพีเล็กในหม้อหุงข้าวไฟฟ้า)
ก๋วยเตี๋ยวเส้นใหญ่ , เส้นเล็ก 1/2 ถ้วยตวง (ประมาณ 1 ทัพพีเล็ก)
ถั่วเขียว , ถั่วดำ , ถั่วแดงสุก 1/2 ถ้วยตวง
ข้าวต้ม 1/2 ถ้วยตวง ( 2 ทัพพีเล็ก) , วุ้นเส้นสุก 1/2 ถ้วยตวง
ขนมจีน 1 จับ , บะหมี่ 1/2 ก้อน
ขนมปังปอนด์ 1 แผ่น , มันฝรั่ง 1 หัวกลาง
ข้าวโพด 1 ฝัก ( 5 นิ้ว ) , แครกเกอร์สี่เหลี่ยม 3 แผ่น
ผู้ป่วยเบาหวานรับประทานอาหารในกลุ่มนี้ได้เช่นเดียวกับคนปกติ ไม่จำเป็นต้องงดหรือจำกัดมากเกินไป เพราะข้าวเป็นแหล่งของพลังงานที่ร่างกายต้องการใช้เพื่อการทำกิจกรรมต่างๆ ส่วนจะรับประทานได้เท่าไรนั้น ขึ้นกับอายุ น้ำหนักตัว และกิจกรรมหรือแรงงานที่ผู้ป่วยทำใน

แต่ละวัน เช่น ผู้ป่วยที่อ้วน รับประทานข้าวได้มื้อละ 2 ทัพพีเล็ก ถ้า ไม่อ้วนก็รับประทานข้าวได้มื้อละ 3 ทัพพี เมื่อเลือกรับประทานก๋วยเตี๋ยวหรือขนมปังแล้ว ต้องงดหรือ ลดข้าวในมื้อนั้นลงตามสัดส่วนที่กำหนด อาหารในกลุ่มนี้รับประทานได้มื้อละ 2-4 ส่วน

ผู้ป่วยเบาหวานควรเลือกรับประทานข้าวซ้อมมือ หรือขนมปังที่ทำจากแป้งที่ไม่ขัดสี เพื่อจะได้ใยอาหารเพิ่มขึ้น

กลุ่มที่ 2 ผักชนิดต่างๆ 1 ส่วน มีคาร์โบไฮเดรต 5 กรัม โปรตีน 2 กรัม ให้พลังงาน 25 กิโลแคลอรี่

แครอท , ฟักทอง , ข้าวโพดอ่อน 1/2 ถ้วยตวง
ผักคะน้า , บรอคโคลี 1/2 ถ้วยตวง
ถั่วแขก , ถั่วลันเตา , ถั่วฝักยาว 1/2 ถ้วยตวง
น้ำมะเขือเทศ , น้ำแครอท 1/2 ถ้วยตวง
อาหารกลุ่มนี้ มีวิตามิน เกลือแร่ และใยอาหารมาก ผู้ป่วยเบาหวานควรรับประทานให้มากขึ้นในทุกมื้ออาหาร โดยเฉพาะผักใบสีเขียวสดหรือสุก รับประทานได้ตามต้องการ ถ้านำผักมาคั้นเป็นน้ำ ควรรับประทาน กากด้วย เพื่อจะได้ใยอาหาร ใยอาหารจะช่วยลดการดูดซึมน้ำตาลและ ไขมันในอาหารทำให้ระดับน้ำตาลและไขมันในเลือดลดลง ผู้ป่วยเบาหวานควรรับประทานผักวันละ 2-3 ถ้วยตวงทั้งผักสดและผักสุก


กลุ่มที่ 3 ผลไม้ 1 ส่วน มีคาร์โบไฮเดรต 15 กรัม ให้พลังงาน 60 กิโลแคลอรี่

กล้วยน้ำว้า 1 ผล , ฝรั่ง 1/2 ผลใหญ่ , ส้ม 1 ผล ( 2 1/2 นิ้ว)
กล้วยหอม 1/2 ผล , แอปเปิ้ล 1 ผลเล็ก , ชมพู่ 2 ผล
มะม่วงอกร่อง 1/2 ผล , เงาะ 4-5 ผล , ลองกอง 10 ผล
มะละกอสุก 8 ชิ้นขนาดคำ , แตงโม 10 ชิ้นขนาดคำ
น้ำผลไม้ 1/3 ถ้วยตวง
ผลไม้ทุกชนิดมีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบ ถึงแม้จะมีใยอาหาร แต่หากรับประทานมากกว่าปริมาณที่กำหนด จะทำให้น้ำตาลในเลือดสูงได้ ผู้ป่วยเบาหวานควรเลือกรับประทานผลไม้ 1 ชนิดต่อมื้อ วันละ 2-3 ครั้งหลังอาหาร ควรหลีกเลี่ยงผลไม้หวานจัด เช่น ทุเรียน ขนุน ละมุด หรือ ผลไม้ตากแห้ง ผลไม้กวน ผลไม้เชื่อม ผลไม้แช่อิ่ม ผลไม้กระป๋อง

การรับประทานผลไม้ครั้งละมากๆ แม้จะเป็นผลไม้ที่ไม่หวาน ก็ทำให้น้ำตาลในเลือดสูงได้

กลุ่มที่ 4 เนื้อสัตว์ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน 1 ส่วน มีโปรตีน 7 กรัม ไขมัน 3 กรัม ให้พลังงาน 55 กิโลแคลอรี่

เนื้อหมู , เนื้อวัว ไม่ติดมันและหนัง หั่น 8 ชิ้น (ประมาณ 2 ช้อนโต๊ะ)
เนื้อไก่ , เป็ด ไม่ติดมันและหนัง หั่น 8 ชิ้น
ปลาทู (ขนาด 1 1/2 นิ้ว) 1 ตัว , ลูกชิ้น 6 ลูก
เต้าหู้ขาว 1/2 หลอด , ไข่ขาว 3 ฟอง
อาหารกลุ่มนี้ให้โปรตีนเป็นหลัก ผู้ป่วยควรได้รับทุกมื้อ มื้อละ 2-4 ช้อนกินข้าวพูนน้อยๆ และควรเลือกเนื้อสัตว์ชนิดไม่ติดมันและหนัง รับประทานปลาและเต้าหู้ให้บ่อยขึ้น

กลุ่มที่ 5 ไขมัน 1 ส่วนมีไขมัน 5 กรัม ให้พลังงาน 45 กิโลแคลอรี่

น้ำมันพืช/น้ำมันหมู 1 ช้อนชา , เนย 1 ช้อนชา , กะทิ 1 ช้อนโต๊ะ
มายองเนส 1 ช้อนชา , เบคอนทอด 1 ชิ้น , ครีมเทียม 4 ช้อนชา
เมล็ดมะม่วงหิมพานต์ 6 เมล็ด , ถั่วลิสง 20 เมล็ด
น้ำมันทั้งพืชและสัตว์ให้พลังงานเท่ากัน แต่น้ำมันพืชไม่มีโคเลสเตอรอล สำหรับน้ำมันมะพร้าวและกะทิ มีกรดไขมันอิ่มตัวจำนวนมาก ทำให้มีการสร้างโคเลสเตอรอลในร่างกายเพิ่มขึ้น

ผู้ป่วยเบาหวานควรเลือกใช้น้ำมันพืช เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันรำ น้ำมันถั่วลิสง และน้ำมันปาล์มโอเลอีน แทนน้ำมันหมูในการประกอบอาหาร นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารทอด แป้งอบที่มีเนยมาก ( Bakery products) และอาหารที่มีกะทิเป็นประจำ

กลุ่มที่ 6 น้ำนม 1 ส่วนมีโปรตีน 8 กรัม คาร์โบไฮเดรต 12 กรัม จำนวนพลังงานแตกต่างกันตามปริมาณไขมันในน้ำนมชนิดนั้นๆ

น้ำนมไขมันเต็ม 240 มล. มีไขมัน 8 กรัม ให้พลังงาน 150 กิโลแคลอรี่
น้ำนมพร่องมันเนย 240 มล. มีไขมัน 5 กรัม ให้พลังงาน 120 กิโลแคลอรี่
น้ำนมไม่มีไขมัน 240 มล. มีไขมันน้อยมาก ให้พลังงาน 90 กิโลแคลอรี่
โยเกิร์ตชนิดครีมไม่ปรุงแต่งรส 240 มล. ปริมาณพลังงานขึ้นกับชนิดของนมที่นำมาทำโยเกิร์ต ถ้าใช้ไขมันเต็ม จะให้พลังงาน 150 กิโลแคลอรี่ เท่ากับน้ำนม
ผู้ป่วยเบาหวานควรหลีกเลี่ยงนมปรุงแต่งรส โยเกิร์ตชนิดครีมปรุงแต่งรส นมเปรี้ยวพร้อมดื่ม เพราะนมเหล่านี้มีการเติมน้ำตาลหรือ น้ำหวาน ควรเลือกดื่มน้ำนมพร่องมันเนย น้ำนมไม่มีไขมัน

ผู้ป่วยเบาหวานรับประทานน้ำหวานหรือขนมหวานได้หรือไม่

น้ำหวานทั้งชนิดอัดลมและไม่อัดลม น้ำหวานเข้มข้นผสมน้ำ ลูกอมชนิดต่างๆเหล่านี้ มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบหลัก ไม่มีสารอาหารที่เป็นประโยชน์อื่นๆนอกจากน้ำตาล ซึ่งไม่เหมาะกับผู้ป่วยเบาหวาน เพราะจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นรวดเร็ว ยกเว้นเมื่อผู้ป่วยมีอาการ น้ำตาลในเลือดต่ำ เริ่มรู้สึกหิวจัด เวียนหัว ตาลาย ควรดื่มน้ำหวานประมาณ 1/2-1 แก้ว

สำหรับขนมหวานจัดอื่นๆ เช่น ทองหยิบ ทองหยอด สังขยา ขนมหม้อแกง ขนมเชื่อม ขนมกวน ขนมหน้านวล ขนมอะลัว เหล่านี้ควรงดเช่นเดียวกัน

ขนมบางชนิดที่ไม่หวานจัด ผู้ป่วยเบาหวานอาจรับประทานได้บ้างเป็นครั้งคราวแต่ต้องแลกเปลี่ยนกับข้าว ไขมัน และผลไม้ในมื้อนั้น เช่น

ไอศกรีม 1 ก้อน ให้งดผลไม้และอาหารทอดในมื้อนั้น
ตะโก้ 4 กระทง ( 1x1 นิ้ว) ให้งดผลไม้และอาหารทอดในมื้อนั้น
เค้กไม่มีหน้า 1 อันกลมให้งดข้าว 1 ทัพพีในมื้อนั้น
ซ่าหริ่ม 1 ถ้วย ให้งดข้าว 1 ทัพพีงดผลไม้และอาหารทอดในมื้อนั้น
ผู้ป่วยไม่ควรรับประทานขนมบ่อย นอกจากในโอกาสพิเศษ เช่นวันเกิด ปีใหม่ และควรทำในระยะที่ควบคุมน้ำตาลในเลือดได้ ผู้ป่วย ไม่ควร งดข้าวทั้งหมดและรับประทานขนมแทนเพราะผู้ป่วยจะรู้สึกไม่อิ่ม ต้องหาอาหารอื่นรับประทานเพิ่ม ซึ่งจะทำให้อาหารมากกว่าปริมาณที่กำหนด เป็นเหตุให้ไม่สามารถควบคุมน้ำตาลในเลือดได้

ผู้ป่วยเบาหวานใช้น้ำตาลเทียมได้เท่าไร

น้ำตาลเทียมที่ขายในประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นแอสปาร์แทม ซึ่งมีรสหวานเป็น 200 เท่าของน้ำตาลทราย แอสปาร์แทม 1 ซอง (38 มิลลิกรัม) ให้ความหวานเท่ากับน้ำตาล 2 ช้อนชา FDA ของสหรัฐอเมริกาได้ทดสอบความปลอดภัยและอนุญาตให้ใช้ได้วันละ 50 มิลลิกรัมต่อ น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ในปริมาณน้อยกว่านี้มาก แต่ แอสปาร์แทมทนความร้อนสูงไม่ได้ จึงต้องให้ใส่หลังประกอบอาหารแล้ว ผู้ป่วยที่ยังคงติดรสหวาน สามารถใช้ใส่ในอาหาร หรือเครื่องดื่มได้ ผู้ป่วยต้องการดื่มน้ำอัดลม ควรดื่มประเภทที่มีคำว่า ไดเอท ซึ่งใช้สารนี้แทนน้ำตาล

ฟรุคโตส เป็นน้ำตาลผลไม้ มีรสหวานกว่าน้ำตาลทรายเกือบ 2 เท่า จึงใช้ปริมาณน้อยกว่าน้ำตาลทราย ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงช้ากว่าน้ำตาลทราย แต่ถ้ารับประทานในปริมาณมาก จะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงได้เช่นเดียวกัน และยังอาจทำให้ไขมันในเลือดสูง น้ำตาลฟรุคโตสให้พลังงานเท่ากับน้ำตาล จึงไม่เหมาะกับผู้ป่วยที่อ้วน

สรุปการเลือกรับประทานอาหารเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด

• รับประทานข้าว ก๋วยเตี๋ยว ขนมปัง ได้ตามปกติ ไม่ต้องลดลงมาก นอกจากผู้ที่อ้วนให้ลดลงครึ่งหนึ่ง
• รับประทานผลไม้ตามจำนวนที่กำหนด วันละ 2-3 ครั้งแทนขนม
• รับประทานผักให้มากขึ้นทุกมื้อ
• รับประทานเนื้อสัตว์ไม่ติดมันและหนัง
• รับประทานไข่สัปดาห์ละ 2-3 ฟอง ถ้าไขมันในเลือดสูงให้งดไข่แดง
• รับประทานอาหารปลา และเต้าหู้ให้บ่อยขึ้น
• ใช้น้ำมันพืชจำพวกน้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันรำในการทอด ผัดอาหารแต่พอควร
• เลือกดื่มน้ำนมไม่มีไขมัน น้ำนมพร่องมันเนยแทนน้ำนมปรุงแต่งรส
• หลีกเลี่ยงน้ำหวาน น้ำอัดลม ลูกอม ช็อกโกแลตและขนมหวานจัดต่างๆ
• หลีกเลี่ยงอาหารใส่กะทิ ไขมันสัตว์ อาหารทอดเป็นประจำรวมทั้ง ขนมอบ เช่น พัฟ เพสตรี้ ฯลฯ
• รับประทานผัก ผลไม้ทั้งกากแทนการคั้นดื่มแต่น้ำ
• เลือกรับประทานอาหารที่มีไขมันน้อย เช่น ต้ม นึ่ง ย่าง ผัด ที่ใช้ น้ำมันน้อยแทนการทอด
• ใช้น้ำตาลเทียมใส่เครื่องดื่มและอาหารแทนการใช้น้ำตาลทราย
• รับประทานอาหารสอ่อนเค็ม

จะเห็นว่าผู้ป่วยโรคเบาหวานในปัจจุบัน มีอิสระในการเลือกอาหารมากขึ้น และอาหารที่แนะนำให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานก็มิได้แตกต่างจากอาหารคนปกติ แต่จะเป็นลักษณะของอาหารที่มีน้ำตาลน้อย ไขมันต่ำ รสอ่อนเค็ม ซึ่งเป็นอาหารที่เหมาะสมสำหรับทุกคน มิใช่เฉพาะผู้ป่วยเบาหวานเท่านั้น ผู้ป่วยเบาหวานจำเป็นต้องเรียนรู้วิธีการเลือกชนิดอาหาร ปริมาณที่รับประทาน การแลกเปลี่ยนและการทดแทนอาหาร เพื่อจะสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้อย่างสม่ำเสมอ




 

Create Date : 13 มกราคม 2551    
Last Update : 13 มกราคม 2551 5:56:58 น.
Counter : 1294 Pageviews.  

อาหาร กับ โรคเบาหวาน

อาหารเบาหวานกลุ่มที่ห้ามรับประทาน

• น้ำตาลทุกชนิด รวมทั้งน้ำผึ้งด้วย
• ขนมหวาน และขนมเชื่อมต่างๆ เช่น ทองหยิบ ฝอยทอง ขนมชั้น สังขยา ฯลฯ
• ผลไม้กวน เช่น มะม่วงกวน ทุเรียนกวน สับปะรดกวน ฯลฯ
• น้ำหวานต่างๆ นมรสหวาน รวมทั้งน้ำอัดลม และเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล เช่น ชา กาแฟ รวมทั้งเหล้า เบียร์ด้วย
• ผลไม้ที่มีรสหวานจัด เช่น ทุเรียน องุ่น ลำใย มะม่วงสุก ขนุน ละมุด น้อยหน่า ลิ้นจี่ อ้อย ผลไม้แช่อิ่ม หรือเชื่อมน้ำตาลทั้งหลาย
• ของขบเคี้ยวทอดกรอบ และอาหารชุบแป้งทอดต่างๆ เช่น ปาท่องโก๋ กล้วยแขกทอด ข้าวเม่าทอด

ประโยชน์ของการควบคุมอาหาร

• ช่วยรักษาระดับน้ำตาล และไขมันในเลือด ให้ใกล้เคียงระดับปกติ
• ทำให้น้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์ที่ควรเป็น
• ช่วยป้องกันโรคแทรกซ้อนต่างๆ
• ทำให้สุขภาพแข็งแรงและอายุยืน

อาหารเบาหวานกลุ่มที่รับประทานได้ไม่จำกัดปริมาณ

• ผักทุกชนิด (ยกเว้นผักประเภทที่มีแป้งมาก ได้แก่ ฟักทอง ถั่วลันเตา แครอท สะเดา)

อาหารเบาหวานกลุ่มที่รับประทานได้ แต่ต้องจำกัดปริมาณ

• อาหารพวกแป้ง ข้าว เผือก มัน ถั่วเมล็ดแห้งต่างๆ ก๋วยเตี๋ยว ขนมจีน บะหมี่ ขนมปัง มักกะโรนี เป็นต้น
• ลดอาหารไขมัน เช่น ขาหมู ข้าวมันไก่ หมูสามชั้น หรืออาหารทอดน้ำมันมากๆ ตลอดจนไขมันจากพืชบางอย่าง เช่น กะทิ น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม ควรใช้น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด น้ำมันเมล็ดฝ้ายแทน
• อาหารสำเร็จรูป หรืออาหารพิเศษ สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน เช่น น้ำตาลจากผลไม้
• ผักประเภทหัวที่มีน้ำตาลหรือแป้งมาก เช่น หัวผักกาด ฟักทอง หัวหอม กระเจี๊ยบ ผักตระกูลถั่ว หัวปลี เป็นต้น
• ผลไม้บางอย่าง เช่น ส้ม เงาะ สับปะรด มะละกอ ฝรั่ง กล้วย เป็นต้น

ข้อควรปฏิบัติในการควบคุมอาหาร

1. เลือกรับประทานอาหาร โดยคำนึงถึงพลังงานที่ได้ ตามประเภทของอาหารคือ
• พลังงานจากคาร์โบไฮเดรท (แป้ง) ประมาณ 55-60%
• พลังงานจากโปรตีน (เนื้อสัตว์) ประมาณ 15-20%
• พลังงานจากไขมัน ประมาณ 25%
2. ผู้ที่มีน้ำหนักเกิน ต้องลดปริมาณลง อาจจะเหลือเพียง ครึ่งหนึ่งของที่เคยรับประทาน ห้ามรับประทานน้ำตาล และของหวานทุกชนิด รวมทั้งอาหารมันๆ และของทอดด้วย
3. เลือกรับประทานอาหารที่มีใยมาก เช่น ข้าวซ้อมมือ อาหารประเภทผักต่างๆ หรือเม็ดแมงลัก ซึ่งจะช่วยระบายอ่อนๆ ด้วย
4. อย่ารับประทานจุกจิกและไม่ตรงเวลา ถ้าพลาดมื้ออาหารไป อาจเกิดน้ำตาลในเลือดต่ำเกินไปได้
5. รับประทานในปริมาณ ที่สม่ำเสมอและคงที่ ไม่ควรรับประทานมากเกินไป หรือน้อยเกินไปในบางมื้อ จะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือด ควบคุมได้ยาก
6. ผู้ที่เป็นความดันเลือดสูง หรือโรคไตร่วมด้วย ไม่ควรรับประทานรสเค็มจัด ควรจะลดอาหารเค็ม
7. ผู้ป่วยที่ฉีดอินซูลิน ที่ออกฤทธิ์ยาวในตอนเช้า เช่น Protaphane หรือ Monotard ฤทธิ์ยาอยู่ได้นาน 24 ชั่วโมง และออกฤทธิ์สูงสุด ในตอนเย็นหรือกลางคืน อาจต้องจัดแบ่งอาหารออกเป็น 4-6 มื้อ โดยเพิ่มอาหารว่างตอนบ่าย และมื้อกลางคืน ควรจัดแบ่งปริมาณให้เหมาะสม ไม่ให้บางมื้อมากเกินไป
8. ถึงแม้ระดับน้ำตาลในเลือดปกติดีแล้ว ผู้ป่วยก็ต้องควบคุมอาหารตลอดไป
9. ขอให้ฝึกปฏิบัติจนเป็นนิสัย แล้วท่านจะรู้สึกว่าไม่ใช่เป็นเรื่องยาก ในการควบคุมอาหาร "อาหารเบาหวาน" ไม่ใช่อาหารที่พิเศษพิสดารอะไร ผู้ป่วยเบาหวานก็รับประทานอาหาร เหมือนคนธรรมดาทั่วไป เพียงแต่เพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น ในชนิดและปริมาณอาหารเท่านั้น




 

Create Date : 13 มกราคม 2551    
Last Update : 13 มกราคม 2551 5:53:57 น.
Counter : 741 Pageviews.  

เบาหวาน VS ดัชนีน้ำตาลในอาหาร

ผู้ที่เป็นเบาหวานจะมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ โดยมักจะได้รับคำแนะนำให้ควบคุมอาหารร่วมกับการใช้ยา เพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่คนที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ ก็จะมีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนตามมา เช่น เกิดความพิการของจอรับภาพทำให้ตามัว เกิดต้อกระจกหรือต้อหิน ไตวาย หรืออาจพบความพิการของประสาทส่วนปลาย ทำให้มีอาการชา ปลายมือปลายเท้า ทำให้เมื่อเกิดแผลอักเสบอาจไม่รู้สึกเจ็บ โดยเฉพาะที่เท้า ดังนั้นการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด จึงเป็นสิ่งที่จำเป็น การควบคุมชนิดและปริมาณ ของอาหารคาร์โบไฮเดรต หรืออาหารประเภทแป้ง ก็จะช่วยให้ผู้ที่เป็นเบาหวาน สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้

อาหารคาร์โบไฮเดรตมีผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดอย่างไร

เมื่อคนเรารับประทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรต เช่น แป้ง เผือก มัน น้ำตาล ขนมหวาน หรือผลไม้ คาร์โบไฮเดรตในอาหารเหล่านี้ จะถูกย่อยโดยน้ำย่อยในทางเดินอาหาร จนได้เป็นกลูโคส ซึ่งเป็นคาร์โบไฮเดรตที่มีขนาดเล็ก สามารถถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด เพื่อนำไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกายเพื่อใช้เป็นพลังงาน เมื่อนำอาหารแต่ละชนิดมาเปรียบเทียบกัน โดยให้มีปริมาณคาร์โบไฮเดรตเท่ากัน ปรากฎว่าอาหารแต่ละชนิดจะถูกย่อย และถูกดูดซึมเข้าร่างกายในอัตราที่แตกต่างกัน ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้นต่างกัน ได้มีการศึกษาหาปริมาณน้ำตาลกลูโคสในเลือดที่เพิ่มขึ้น หลังจากได้รับอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรต 50 กรัม เปรียบเทียบกับปริมาณน้ำตาลกลูโคสในเลือดที่เพิ่มขึ้น หลังจากได้รับอาหารมาตรฐาน (คือกลูโคสหรือขนมปัง) ค่าที่ได้นี้เรียกว่าดัชนีน้ำตาล (glycemic index) ค่าดัชนีน้ำตาลของกลูโคสจะมีค่าเท่ากับ 100 ดังนั้น ถ้าอาหารใดมีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำกว่า 100 แสดงว่าคาร์โบไฮเดรตในอาหารนั้น ถูกดูดซึมได้น้อยกว่าอาหารมาตรฐาน

ค่าดัชนีน้ำตาลของอาหารจะแบ่งเป็น 3 ระดับ

อาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ ( ค่าดัชนีน้ำตาลต่ำกว่า 55)
อาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลปานกลาง ( ค่าดัชนีน้ำตาล 55 - 70)
อาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลสูง ( ค่าดัชนีน้ำตาลมากกว่า 70)


ค่าดัชนีน้ำตาลของอาหารแต่ละชนิดจะแตกต่างกัน ขึ้นกับ...

• ชนิดของคาร์โบไฮเดรต ที่เป็นส่วนประกอบของอาหาร
• กระบวนการแปรรูปอาหาร เช่น การหุงต้ม ทำให้อาหารพวกแป้งถูกย่อยและดูดซึมได้ดีขึ้น การแปรรูปอาหารมีผลต่อค่าดัชนีน้ำตาลของอาหาร เนื่องจากการให้ความร้อนกับแป้งที่มีน้ำอยู่ด้วย แป้งจะดูดซับน้ำและพองตัว ทำให้น้ำย่อยสามารถย่อยแป้งให้เป็นกลูโคสได้เร็วขึ้น ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงกว่าการรับประทานแป้งที่ไม่ผ่านความร้อน การบดอาหาร เช่น ข้าวที่ผ่านการบดจะถูกย่อยและถูกดูดซึมได้เร็วกว่าข้าวที่ไม่ผ่านการบด
• ส่วนประกอบในอาหาร เช่น การรับประทานอาหารคาร์โบไฮเดรตพร้อมกับอาหารที่มีไขมันและโปรตีนจะทำให้ การดูดซึมกลูโคสเข้ากระแสโลหิตช้าลง ระดับน้ำตาลในเลือดจะเพิ่มขึ้นช้าลง หรือการรับประทานอาหารที่มีใยอาหารสูงๆ เช่น การรับประทานข้าวซ้อมมือ หรือการรับประทานผักผลไม้เพิ่มขึ้น จะชะลอการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำตาลในเลือด

ปัจจุบันพบว่าการรับประทานอาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลสูงในปริมาณมาก จะเพิ่มโอกาสเสี่ยงของการเป็นโรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคมะเร็งบางชนิดได้ การรับประทานอาหารคาร์โบไฮเดรตที่ค่าดัชนีน้ำตาลสูงในปริมาณมาก จะทำให้ระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดสูงขึ้น ทำให้ความต้องการอินซูลิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ช่วยในการนำกลูโคสเข้าไปเผาผลาญในเซลล์เพิ่มขึ้น การรับประทานอาหารที่มีดัชนีน้ำตาลสูง จึงเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน และใน ผู้ที่เป็นเบาหวาน การรับประทานคาร์โบไฮเดรตที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ แทนคาร์โบไฮเดรตที่มีค่าดัชนีน้ำตาลสูง จะช่วยให้สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ดีขึ้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้ทำได้ง่ายๆ โดยการรับประทานธัญพืชหรือข้าวซ้อมมือแทนแป้งหรือข้าวที่ขัดสี

ดังนั้น ผลจากการที่รับประทานอาหาร ที่มีค่าดัชนีน้ำตาลสูงในปริมาณมาก คาร์โบไฮเดรตในอาหาร จะถูกย่อยเป็นกลูโคส และถูกดูดซึมอย่างรวดเร็ว มีผลไปกระตุ้นให้มีการหลั่งฮอร์โมนอินซูลิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ทำให้กลูโคสถูกนำเข้าสู่เซลล์ต่างๆ ในร่างกายเพื่อเผาผลาญให้เป็นพลังงาน แต่หลังจากการรับประทานอาหารไปแล้ว 2-4 ชั่วโมง ปริมาณอาหารที่ถูกดูดซึมในทางเดินอาหารลดลง แต่ฤทธิ์ของอินซูลินยังคงอยู่ ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงมาก จนอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ และทำให้รู้สึกอยากอาหาร ส่วนคนที่รับประทานอาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ ระดับน้ำตาลในเลือดยังคงอยู่ในระดับปกติ หลังจากการรับประทานอาหาร 4-6 ชั่วโมง ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนบางชนิดออกมา เพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่ โดยกระตุ้นการสลายกลัยโคเจนซึ่งเป็นคาร์โบไฮเดรตที่สะสมอยู่ในร่างกาย และเพิ่มการสร้างกลูโคสจากแหล่งอาหารอื่น เช่น ไขมัน การรับประทานอาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลสูง จึงมีผลให้ระดับกรดไขมันในเลือดเพิ่มขึ้นมากกว่า การรับประทานอาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ

การรับประทานอาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ จะช่วยลดโอกาสเสี่ยงของการเป็นโรคเบาหวาน และสำหรับคนที่เป็นเบาหวานอยู่แล้ว ก็จะสามารถควบคุม ระดับน้ำตาลในเลือดได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้อาหารที่มีดัชนีน้ำตาลต่ำจะทำให้รู้สึกอิ่มนานขึ้น ในขณะที่อาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลสูงจะทำให้อยากอาหารมากขึ้น อาหารที่มีดัชนีน้ำตาลต่ำจึงเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก และยังช่วยลดระดับไขมันในเลือด

เพื่อสุขภาพที่ดี เราจึงควรหันมาเลือกรับประทาน อาหารคาร์โบไฮเดรตที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ ถ้าจะเลือกอาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลสูง ก็ควรรับประทานร่วมกับอาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ เลือกรับประทานอาหารที่ผ่านกระบวนการแปรรูปน้อยที่สุด เช่น รับประทานข้าวซ้อมมือแทนข้าวที่ขัดสี หรือขนมปังโฮลวีทแทนขนมปังขาว รับประทานผลไม้ทั้งผล เช่น ส้ม แทนที่จะรับประทานน้ำส้มคั้น ซึ่งพฤติกรรมนี้จะช่วยลดโอกาสเสี่ยง ของการเกิดโรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด รวมทั้งโรคอ้วนได้ด้วย

อย่างไรก็ตามค่าดัชนีน้ำตาลเป็นเพียงส่วนหนึ่งของทางเลือกในการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพที่ดี แต่หลักสำคัญที่ต้องไม่ลืมก็คือการรับประทานอาหารตรงเวลา รับประทานอาหารให้ครบห้าหมู่ แต่ละหมู่ให้หลากหลาย จำกัดน้ำตาลและของหวาน ลดอาหารที่มีไขมันสูง รับประทานผักให้มากรับประทานผลไม้เป็นประจำ และหมั่นดูแลน้ำหนักตัว




 

Create Date : 13 มกราคม 2551    
Last Update : 13 มกราคม 2551 5:51:16 น.
Counter : 443 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  

rajathanee
Location :
เชียงใหม่ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Be HaPPY All THe TiMe!!!



" ความรักคือ การให้ "


ถ้าคุณต้องการที่จะได้ความรัก สิ่งที่คุณต้องทำคือ รู้จักให้ด้วย ยิ่งให้ คุณก็ยิ่งได้รับสูตรลับของความสุข และทำให้มิตรภาพยืนยาว อย่าถามว่าคนอื่นให้อะไรคุณบ้าง แต่ให้ถามว่าคุณทำอะไรให้คนอื่นบ้างจะดีกว่า...




: Users Online
Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add rajathanee's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.