..ทุกคนต่างมีความรักในแบบที่แตกต่างกัน..เพราะทุกคนต่างกัน.. แต่มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน..นั่นก็คือ.. ความรักที่มาจากใจ...อย่าพยายามรักใครสักคนเพราะเขาเป็นอย่างที่เราต้องการ... เพราะ เมื่อเขาไม่เป็นอย่างที่เราต้องการ เราก็จะไม่สามารถรักเขาได้อีก... ให้พยายามรักใครสักคนเพราะเขาเป็นอย่างที่เขาเป็น... เพื่อเราจะ สามารถรักเขาได้ในทุกสิ่งที่เขาเป็น...

แบ่งปัน ความรู้

สวัสดีทุกท่านค่ะที่แวะมาเยี่ยม

เนื่องจากที่ตัวเองอยู่กับโรคเบาหวานมาตั้งแต่เด็ก ถึงตอนนี้ก็เริ่มเข้าปีที่13แล้ว จึงอยากจะเอาประสบการณ์ที่เคยเป็น มาเล่าสู่กันฟังค่ะ พอโตมาก็เริ่มศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับเรื่องของโรคเบาหวาน เพื่อที่จะได้รู้ว่าเราควรจะดูแลตัวเองอย่างไร ให้สามารถใช้ชีวิติอยู่ได้อย่างมีความสุข ดังนั้นจึงขออนุญาติรวบรวมบทความจากเว็บต่างๆมาไว้ในบล็อกนะคะ เพื่อที่จะได้เป็นประโยชน์สำหรับท่านที่สนใจ

ก็ขอเอ่ยถึงเฉพาะโรคเบาหวานชนิดที่ 1 นะคะ หรือเบาหวานชนิดพึ่งอินซูลิน นั่นก็หมายความว่าผู้ป่วยต้องฉีดอินซูลินเข้าไปในร่างกายทุกวัน เบาหวานชนิดนี้มักจะจะพบในเด็กและวัยรุ่น ซึ่งเกิดจากตับอ่อนไม่สามารถสร้างอินซูลินได้เลย เบาหวานชนิดนี้จะมีความรุนแรงกว่า โรคเบาหวานชนิดที่ 2 หรือเบาหวานชนิดไม่พึ่งอินซูลิน เพราะคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติได้ยาก ระดับน้ำตาลเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างรวดเร็ว

ชีวิติช่วงวัยเด็กกับตอนนี้ต่างกันมากค่ะ เพราะความคิดที่ต่างกัน เมื่อก่อนเรามักจะกินโน่นกินนี่ตามใจตัวเองโดยที่ไม่ได้คิดเลยว่าผลกระทบที่ตามมาจะเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นเหตุให้ไม่สามารถคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่ได้ และมีอาการอื่นๆตามมารบกวน เช่น วันๆชอบเอากินโน่นกินนี่แต่ทางตรงกันข้ามน้ำหนักตัวกลับลดลงมาก เหมือนกับคนไม่มีแรงอีกทั้งนอนได้ทั้งวัน เหนื่อยและเพลีย จากที่เป็นคนสายตาปกติ แต่กลับมาต้องใส่แว่นและทำให้ตายิ่งมัว สั้นลงกว่าเดิมอีก ถึงแม้ใส่แว่นตาแต่ก็กลับมองอะไรไม่ชัด มือละเท้ามีอาการปวดและชา สุขภาพไม่ค่อยดี ไม่สบายบ่อยๆ จนถึงตอนนี้ ตั้งแต่เริ่มศึกษาข้อมูลมาเรื่อยๆ จึงทำให้เกิดอาการกลัวว่าสักวันหนึ่งโรคแทรกซ้อนที่ไม่ได้รับเชิญจะแวะเวียนมาหาโดยไม่รู้ตัว ดังนั้นจึงต้องปรับความคิดใหม่ว่าเราจะต้องดูแลตัวเองให้ดีที่สุด ซึ่งแพทย์ก็เป็นเพียงผู้ที่คอยดูแลและแนะนำเราให้ปฎิบัติตัวอย่างถูกต้อง ยาที่ใช้รักษาก็เป็นเพียงสิ่งที่ช่วยบรรเทาอาการ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือตัวเราเอง ว่าจะเอาชนะใจตัวเองได้อย่างไรต่างหากค่ะ ทุกวันนี้จึงทานอาหารเท่าทีจำเป็นสำหรับร่างกาย ส่วนใหญ่ชอบทานผัก ปลา และ เต้าหู้ ผลไม้บ้างเล็กน้อย ดื่มนมเป็นประจำ ออกกำลังกายตามโอกาส และที่สำคัญคอยเจาะเลือดดูผลระดับน้ำตาลในเลือดเองอยู่เป็นประจำค่ะ

ตอนนี้จึงทำให้อาการที่เป็นอยู่ดีขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากเราสามารถคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติได้ แต่ก็ใช่ว่าสุขภาพของเราจะไม่อ่อนแอนะคะ เพราะร่างกายของผู้ป่วยเบาหวานก็เหมือนกับว่าแช่น้ำตาลอยู่ทุกวันๆ ยิ่งนานวันก็ยิ่งมีผลทำให้ความสามรถในการทำงานของอวัยวะต่างๆของร่างกายจะลดถอยลงไปด้วย



ข้อแนะนำเมื่อท่านมีอาการน้ำตาลในเลือดต่ำ

ถ้าท่านรู้สึกว่ามีการการน้ำตาลในเลือดต่ำ ก็ให้หาของหวานๆกินทันที โดยเฉพาะน้ำหวาน ซึ่งร่างกายสามรถดูซึมได้ง่าย คอยจิบกินทีละน้อย

เคยสังเกตุกันบ้างไหมคะเมื่อมีอาการระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ เรามักจะหิวข้าว นั่นเป็นการทำงานของสมองที่คอยเตือนให้เรารู้ว่าจะต้องหาอะไรกินเพื่อให้ร่างกายรู้สึกดีขึ้น หรือ มีอาการนอนไม่หลับ รู้สึกใจสั่นนิดๆ นี่เป็นอาการที่เกิดขึ้นเป็นประจำเลยค่ะ ส่วนใหญ่ก็จะหาข้าวกินสักเล็กน้อยเพิ่อเพิ่มระดับน้ำตาล หลังจากกินข้าวเสร็จก็นอนหลับสบายค่ะ

เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดต่ำไม่ควรจะกินข้าวหรือของหวานเยอะไปจนอิ่มนะคะ เพราะหลังจากที่เรารู้สึกว่าอาการดีขึ้นแล้ว จะมีผลทำให้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงในตอนเช้า นี่แหละค่ะ ปัญหาใหญ่


ถ้าท่านกำลังนอนหลับอยู่ ถ้ามีอาการระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ รู้สึกใจสั่น แล้วตื่นกลางดึก ขอเตือนว่า อย่าเผลอหลับต่อนะคะ ให้รีบตื่นขึ้นมาหาของหวานกินทันที เพราะถ้าช้าไปเพียง 5 - 10 นาที มีผลทำให้ช็อคหมดสติได้ค่ะ เพราะอินซูลินที่เราใช้อยู่ค่อนข้างจะมีความรุนแรง


ข้อแนะนำเมื่อท่านมีอาการน้ำตาลในเลือดสูง

ถ้ารู้สึกมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง มีอาการ หิวน้ำ ปัสวะบ่อย ชาตามแขนขา ตามัว รู้สึกตัวร้อนจะเป็นไข้ อยากอาเจียน ห้ามดื่มน้ำหวานเด็ดขาดค่ะ ให้ดื่มเฉพาะน้ำเปล่า ต้องส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลทันที ในผู้ป่วยบางรายอาจจะไม่มีการช็อคหมดสติ อาการนี้ก็เคยเป็นมาแล้วค่ะ ระดับน้ำตาลในเลือดมี 478 mg/dl ยังสามารถเดินได้เป็นปรกติ


ข้อแนะนำทั่วไป

ระวังไม่ให้ร่างกายมีบาดแผล แค่เพียงเล็กน้อยก็เกิดอันตรายได้ ถ้ามีแผลเล็กน้อยก็ควรหาสำลีชุบแอล์กอฮอล เช็ดแผลเป็นประจำ หลีกเลี่ยงไม่ให้แผลโดนน้ำ ถ้าแผลมีอาการบวม หรือ แดงให้รีบไปให้แพทย์ดูแล สำหรับแผลใหญ่ ไม่ควรทิ้งไว้ หรือล้างแผลเอง

ไม่ควรเพิ่มหรือลดขนาดยาเอง นอกเหนือจากที่แพทย์สั่ง หลังจากฉีดยาแล้วควร รับประทานอาหารให้ครบทุกมื้อ ถ้าท่านปรับ เพิ่มหรือลดยาเอง ถ้าหากว่าวันหนึ่งต้องเข้าโรงพยาบาลแบบกระทันหัน ไม่ว่าจะเป็น อาการระดับน้ำตาลในเลือดสูง หรือ ต่ำก็ตาม ทางแพทย์ก็จะทำการรักษาให้ท่านตามที่ได้บันทึกผลไว้ล่าสุด โดยที่แพทย์อาจจะไม่ได้ทราบเลยว่าท่านทำการปรับยาอยู่ในระดับใด นั่นก็หมายถึงว่าเป็การซ้ำเติมกับอาการของท่านที่เป็นอยู่

ให้สังเกตุปัสวะของตัวเอง ว่ามีสิ่งแปลก ผิดปกติหรือไม่ เพราะผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานระยะนาน10 ขึ้นไป ถ้าไม่มีการคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดี จะมีผลทำให้ไตมีการทำงานเสื่อมสภาพลง อาจทำให้เป็นโรคไตได้ วิธีสังเกตุง่ายๆ คือ ให้ดูว่าปัสวะ มีลักษณะไข่ขาวเจือปนออกมาด้วยหรือไม่ ถ้ามีท่านควรไปให้แพทย์ตรวจดูการทำงานของไตโดยด่วน

ถ้าเป็นไปได้ควรหาซื้ออุปกรณ์ตรวจน้ำตาล มาไว้สำหรับตรวจเองที่บ้านค่ะ เพื่อที่เราจะได้ทราบผลระดับน้ำตาลเป็นระยะๆ เพราะระดับน้ำตาลของผู้ป่วยเบาหวานชนิดพึ่งอินซูลินมักจะแกว่งขึ้นลงอย่างรวดเร็ว ท่านสามารถหาซื้อตามร้านตัวแทนจัดจำหน่ายอุปกรณ์ทางการแพทย์ได้โดยทั่วไปค่ะ

ควรใช้สารวัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาลค่ะ ซึ่งรสชาติก็สามารถแทนกันได้ ไม่ว่าจะใช้ทำอาหาร หรือใส่เครื่องดื่มตามที่ต้องการ

ต้องคอยสังเกตุ อาการต่างๆที่ผิดปกติ ที่เกิดขึ้นกับตัวเราแล้วรีบปรึกษาแพทย์นะคะ เพื่อที่แพทย์จะได้ให้ความรู้ และวิธีการรักษา และไขปัญหาข้อข้องใจให้ได้ค่ะ

ควรไปตรวจร่างกายอย่างน้อยปีละครั้งค่ะ เพื่อให้ได้ทราบผลการทำงานของอวัยวะต่างๆของร่างกาย

ที่ได้กล่าวมาข้างต้นนี้ ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีประโยชน์สำหรับทุกท่าน ก็ขอเป็นกำลังใจนะคะ โรคเบาหวานรักษาให้หายไม่ได้ แต่เราก็อยู่กับมันได้อย่างมีความสุขค่ะ ท่านสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้จากในบล็อกนะคะ





 

Create Date : 23 มีนาคม 2551    
Last Update : 8 พฤศจิกายน 2557 1:18:11 น.
Counter : 1856 Pageviews.  

เรื่องเล่าจาก..เจ้าของ.." ชูใจ "




หมาสีดำตัวนี้ชื่อ ชูใจ แต่ถ้าจะเรียกให้ถูกต้องตามลำดับอาวุโสคงต้องเติม “ป้า” เข้าไปด้วยเพราะเธอกำลังจะครบ ๑๓ ขวบในอีกไม่กี่วันข้างหน้า

ป้าชูใจเป็นลูกที่เกิดจากการหนีเที่ยวนอกบ้านของแม่ดัลเมเชี่ยนเผอิญว่า หล่อนไปหลงใหลหนุ่มลาบราดอร์สีดำลูกของหล่อนเกือบ ๑๐ ตัวก็เลยมีทั้งลายจุดและสีดำล้วนคละกันไป

สำหรับชูใจ เธอเหมือนพ่อ ขนดำขลับสวยทีเดียวแอบเหมือนแม่บ้างตรงช่วงอก ปลายเท้าหน้า และบริเวณรอบๆ ปากแต่ก็เป็นขนสีขาวแซมดำ ไม่ใช่ลายจุด

มองเผินๆ ก็ดูไม่ต่างจากหมาทั่วไปทั้งที่จริงๆ แล้ว ร่างกายของเธอเริ่มเสื่อมถอยตามอายุที่มากขึ้นตอนนี้เธอไม่มีมดลูก เมื่อประมาณ ๒ ปีที่แล้ว มดลูกของเธออักเสบจึงต้องเข้ารับการผ่าตัด และมดลูกเจ้าปัญหาก็จากเธอไปอย่างถาวร

หลังจากแผลผ่าตัดหายดี เธอก็กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งเดินเหินสะดวก ไม่มี
คอลลาร์มาสร้างความเกะกะรำคาญใจแต่แล้วสุขภาพของชูใจก็ต้องเจอปัญหาใหญ่ระลอกที่สอง


ตอนแรกยังไม่มีใครเอะใจว่าเธอกำลังป่วยเพียงแต่สงสัยว่าทำไมชูใจหิวบ่อย กินอาหารเยอะขึ้น กินน้ำบ่อยขึ้นทว่าร่างกายกลับซูบผอมลงเรื่อยๆ จนเห็นซี่โครงขึ้นเป็นริ้วและเริ่มหน้าทิ่มหัวคะมำ เพราะก้าวพลาดตรงที่เป็นพื้นต่างระดับหรือไม่ก็เดินสะดุด เดินชนข้าวของที่วางไว้

และเมื่อพาไปหาหมอ หมอแจ้งข่าวร้ายว่า..ชูใจเป็นเบาหวาน..ส่วนที่เดินสะดุดหกล้มนั่นก็เป็นผลข้างเคียงจากเบาหวาน คือเบาหวานขึ้นตา ตาเลยเป็นต้อ และพลอยทำให้การมองเห็นไม่ชัดเจน โลกของชูใจมืดหรี่กว่าครั้งใดๆ ในชีวิต

เราไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่า หมาก็เป็นเบาหวานได้เหมือนกันหมอให้ข้อมูลเกี่ยวกับเบาหวานในสุนัขอย่างละเอียด ก่อนจะปิดท้ายบทสนทนาว่า “ถ้าไม่รักษา เขาจะตายอย่างทรมาน”

โอย โอย พอได้ยินว่าตายอย่างทรมาน พ่อ แม่ และเราก็ตัดสินใจพร้อมกันในทันที ยกให้เป็นหน้าที่ของหมอในการรักษาวิธีไหนก็ได้ที่ดีและเหมาะสมกับชูใจ

สุดท้ายก็มาลงเอยด้วยการฉีดอินซูลินควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งอินซูลินที่ใช้ก็ต้องเป็นอินซูลินสำหรับหมาโดยเฉพาะฉีดตอนเช้าหลังทานอาหาร ในเวลาเดิมทุกวันอาหารก็ต้องเป็นสูตรสำหรับหมาที่ป่วยเป็นเบาหวานด้วย

ช่วงแรกๆ ที่โดนฉีดอินซูลิน ชูใจมักจะดิ้นรนขัดขืนสักพักเธอเริ่มคุ้นเคย จึงนั่งเฉยยอมให้ฉีดอินซูลินแต่โดยดี

ส่วนเรื่องตาที่มองเห็นไม่ดีเท่าเดิม ตอนแรกเราก็กังวลอยู่หน่อยๆ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ชูใจก็พิสูจน์ให้ทุกคนในบ้านเห็นว่า…เธอปรับตัวเข้ากับชีวิตในโลกหม่นมัวได้ดีกว่าที่คิดขอเพียงไม่เปลี่ยนตำแหน่งการวางข้าวของเท่านั้น เธอสามารถใช้ทักษะส่วนตัวในการกะระยะได้อย่างดีเยี่ยม

ชูใจจะรู้ว่า…เดินมาประมาณนี้แล้วจะเจอถังพลาสติกใส่น้ำดื่ม เดินมาถึงตรงนี้แล้วจะต้องลงบันได ๒ ขั้นเดินมาจนสุดพื้นปูนแล้วจะเจอกับพื้นดิน ซึ่งเป็นห้องน้ำของเธอ และ อื่นๆ อีกมากมาย

ขอสารภาพว่า…จริงๆ แล้วเราเป็นคนลำเอียงรักหมาไม่เท่ากัน เอ่อ คือ เรารักหมูแฮมมากที่สุด

แต่เหตุการณ์ความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นกับชูใจทำให้เราต้องพยายามเปลี่ยนแปลงตัวเอง คือ หันมาใส่ใจดูแลป้าชูใจให้มากขึ้น เหมือนเป็นการชดเชยความผิดของตัวเองที่มัวแต่หัวปักหัวปำรักหมูแฮมมากกว่า มาเป็นเวลานาน

ที่สำคัญ ชีวิตของป้าชูใจเป็นบทเรียนที่สอนเราว่า..อย่ากลัวการเปลี่ยนแปลง..

เห็นไหม ขนาดชูใจมองไม่เห็นแล้ว เธอยังใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขมานานเป็นปี
และดูเหมือนจะมีความสุขมากขึ้นเรื่อยๆ เธอไม่เคยแสดงอาการย่อท้อต่อร่างกายที่ร่วงโรย ตรงกันข้าม เธอพยายามทำกิจวัตรทุกอย่างเหมือนเดิม แม้ช่วงแรกๆ จะชนเสา ชนรั้ว ชนประตูกรงบ้าง แต่สุดท้ายเธอก็เอาชนะอุปสรรคนั้นไปได้

ลองคิดสิ ถ้าเป็นคนที่ต้องสูญเสียการมองเห็น เราจะยังใช้ชีวิตเป็นปกติเหมือนเดิมอย่างที่ชูใจทำได้หรือเปล่า

ต่อให้การเปลี่ยนแปลงนั้นทำให้ชีวิตเราย่ำแย่ลงกว่าเดิม แต่ถ้านาฬิกาชีวิตยังไม่หยุดเดิน เราก็ต้องพยายามใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ต่อไปตามวิถีของตนเอง

…ดังเช่นที่ป้าชูใจกำลังเป็นอยู่ในขณะนี้..




 

Create Date : 13 มกราคม 2551    
Last Update : 8 พฤศจิกายน 2557 1:00:39 น.
Counter : 1456 Pageviews.  

เมื่อต้องตั้งครรภ์พร้อมเบาหวาน

คุณสุนิสา เนียมเปรม ปัจจุบันเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เคยเช็กระดับน้ำตาล ในเลือดพบว่า มีภาวะน้ำตาลสูงกว่าคนปกติ ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์และกินยาอย่างสม่ำเสมอ ปัจจุบันตั้งครรภ์ลูกคนที่สี่ได้ 5 เดือน (ณ วันที่สัมภาษณ์) และด้วยเพราะเป็นเบาหวานอยู่ก่อนแล้ว จึงได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด

นอกจากภาวะเบาหวานแล้ว คุณสุนิสายังมีภาวะปกมดลูกหลวมด้วย จึงต้องทำการ เย็บปากมดลูกทุกครั้งที่มีการตั้งครรภ์ ทำให้การตั้งครรภ์ในแต่ละครั้งผ่านไปด้วยความยากลำบาก ต้องเข้าออกโรงพยาบาลแทบจะทุกอาทิตย์ ต้องพบทั้งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคเบาหวาน โดยเฉพาะเพื่อเจาะเลือดทุกสัปดาห์ และต้องพบสูติแพทย์เพื่อตรวจเช็กความแข็งแรงสมบูรณ์ ของลูกในท้องอย่างสม่ำเสมอ

ที่บ้านคุณสุนิสาก็ต้องควบคุมอาหารอย่างเคร่งครัด ต้องกินอาหารที่ไม่มีไขมันมาก หลีกเลี่ยงอาหารรสหวาน โดยเฉพาะของหวานต้องงดโดยเด็ดขาด

และเนื่องจากคุณสุนิสาเป็นเบาหวานมาก่อนหน้าที่จะตั้งครรภ์ และอยู่ในขั้นที่แพทย์จะต้องฉีดอินซูลินตลอดระยะเวลาที่ตั้งครรภ์ ทำให้ต้องฉีดอินซูลินทุกวัน

ภาวะเบาหวานและตั้งครรภ์เมื่ออายุมาก ทำให้คุณสุนิสาต้องได้รับ การผ่าตัดคลอดทุกครั้ง ขบวนการคลอดค่อนข้างยุ่งยากและซับซ้อนรวมทั้ง มีอัตราเสี่ยงสูงกว่าการคลอดปกติ เนื่องจากเด็กที่คลอดออกมาต้องได้รับอินซูลินทันที สูติแพทย์และกุมารแพทย์ต้องทำงานประสานกันอย่างต่อเนื่อง เพราะลูกๆ ของคุณสุนิสาที่ผ่านมาจะเกิดภาวะขาดกลูโคส น้ำตาลในเลือดตกทันทีหลังคลอด

แต่ในที่สุด เหตุการณ์ทุกอย่างก็ผ่านไปด้วยดี อย่างลูกคนที่สามน้ำหนักตัว แรกคลอดอยู่ที่ 3,300 กรัม น้ำหนักตัวแม่ระหว่างตั้งครรภ์ขึ้นเพียง 6 กก. ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ สำหรับแพทย์ที่ดูแล ตอนนี้ลูกๆ แข็งแรงดี ไม่ได้มีภาวะเบาหวานใดๆ ตามมา

ส่วนตัวคุณสุนิสาเองยังคงเข้าออกโรงพยาบาลเพื่อตรวจเช็กร่างกายอย่างสม่ำเสมอ ต้องปฏิบัติตัวอย่างเคร่งครัด ทั้งในเรื่องของอาหารเพื่อควบคุมน้ำตาล การควบคุม ภาวะอารมณ์ไม่ให้เครียดหรือเจ็บป่วยง่าย เพื่อให้ลูกคนนี้ปลอดภัย

…แต่กว่าจะถึงวันนี้ แม่คนนี้ต้องผ่านความอดทนและเคร่งครัด ต่อวินัยในตนเองอย่างยิ่งยวด เธอมีกำลังใจและความรู้สึกส่วนตัวมาบอกเล่ากันฟังค่ะ

" ตัวเองเป็นคนที่มีลูกยากมาก พอมีแต่ละครั้งก็มีปัญหาตลอด แค่เบาหวานอย่างเดียวก็ต้องปรับชีวิตประจำวันเยอะมากแล้ว ยังมีภาวะปากมดลูกหลวมอีก ต้องบล็อกหลัง เย็บปากมดลูกทุกครั้งที่ท้อง

อย่างเบาหวานนี่ ตอนที่ยังไม่ท้องก็ต้องกินยา หมอให้คุมอาหาร เราก็ทำไม่ได้ เพราะปกติจะเป็นคนทานเก่งอยู่แล้ว แต่พอมีลูกนี่กลัวผลกระทบถึงลูก เราก็ต้องทำ แล้วเผอิญโชคดีได้พบคุณหมอที่ดูแลเอาใจใส่ดี (น.พ.มฆวัน ธนะนันท์กุล) พอคุณหมอรู้ว่าเราเป็นเบาหวานก็ส่งตัวไปรักษาเบาหวานกับคุณหมอผู้เชี่ยวชาญ โดยเฉพาะ (น.พ. ชัยชาญ ดีโรจนวงศ์)

ตอนท้องแรกเครียดมาก จะกินอะไรก็กังวลไปหมด กลัวลูกจะเป็นนู่นเป็นนี่ แถม 3 เดือนแรกเราขยับตัวไปไหนไม่ได้เลย ไม่กล้ายินไม่กล้าเดิน เพราะเรามีภาวะปากมดลูกหลวม ต้องรอเย็บปากมดลูกตอนท้อง 5 เดือน หลังจากหมอตรวจโครโมโซมแล้วว่าเด็กปกติ แต่ก่อนหน้านั้นเราต้องดูแลตัวเอง ก็จะอยู่แต่บนบ้าน จะอาบน้ำจะทำอะไรสามีก็ต้องทำให้ตลอด ต้องฉีดอินซูลิน เช้าเย็นทุกวัน อันนี้คุณหมอก็จะสอนให้สามีทำให้ แล้วที่แม่เบาหวาน จะเจอเป็นประจำเลยก็คือ "เจาะเลือด" ทุกอาทิตย์ แล้วไม่ใช่วันละครั้งนะคะ ก่อนอาหารครั้งหนึ่ง หลังอาหารเช้า 1 ชั่วโมงอีกครั้ง ก่อนอาหารเย็น หลังอาหารเย็น แบบนี้ทุกอาทิตย์ ตลอด 9 เดือน ไปโรงพยาบาลแต่ละครั้งก็ใช้เวลาเป็นวันๆ แต่ตรงนี้เราก็ไม่เคยขาดเลยเพราะรู้ตัวว่าต้องอยู่ในความดูแลของหมอ อย่างใกล้ชิดถึงจะปลอดภัย

พอท้องนี้เราเริ่มปรับตัวได้ เริ่มไม่เครียด รู้แล้วว่าเวลากินต้องกินยังไง อยู่ยังไง ส่วนมากก็กินอาหารปกติ แต่กินครั้งละน้อยๆ อย่างข้าวก็ทัพพีเดียว กับข้าวก็เลี่ยงมัน เลี่ยงหวาน ส่วนขนมหวานต่างๆ น้ำอัดลมนี่ต้องห้ามเด็ดขาด แม่ที่เป็นเบาหวาน ต้องดูแลตัวเองดีๆ ค่ะ ต้องปรึกษาคุณหมอตลอด แล้วชีวิตประจำวันจะยุ่งยากกว่าคนอื่น แต่ไม่ถึงกับลำบากอะไรมาก อย่างตัวเองคิดถึงลูก กลัวลูกจะไม่ปลอดภัย ตรงนี้ทำให้เราทนได้ อีกอย่างสามีก็ดี เข้าใจเรา ดูแลทุกอย่าง ไปโรงพยาบาลก็ไปเป็นเพื่อนทุกครั้ง ถ้าไม่ติดธุระอะไรจริงๆ คอยระแวดระวัง ประคับประคองเราตลอด ซึ่งตรงนี้ มีส่วนสำคัญมากนะคะ ทำให้เรามีกำลังใจ และอดทนให้ผ่านช่วง 9 เดือนไปได้ด้วยดี "




 

Create Date : 13 มกราคม 2551    
Last Update : 13 มกราคม 2551 6:24:50 น.
Counter : 2997 Pageviews.  

ถ้าแม่ตั้งครรภ์เป็น…เบาหวาน

ในแม่ตั้งครรภ์ 100 คน มักตรวจพบว่าเป็นเบาหวาน 5 คนเสมอ
หนึ่งในนั้นอาจเป็นคุณด้วยรึเปล่า ?????


...ตั้งท้องแรกๆ ก็ไม่มีอะไร ร่างกายแข็งแรงดี น้ำหนักขึ้นดีเสียด้วย กินได้ทุกอย่าง จนประมาณ 6 เดือน น้ำหนักที่ขึ้นมากเกินไปทำให้คุณหมอรู้สึกผิดปกติและขอตรวจเลือด ปรากฏว่าเกิดภาวะ " เบาหวานแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ " คุณหมอเริ่มดูแลใกล้ชิดมากขึ้น นัดตรวจเลือดตลอด

หมอบอกว่าผลกระทบที่เกิดขึ้น (ถ้าไม่ได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากแพทย์)
…อาจทำให้ต้องเสียลูกไปตั้งแต่อยู่ในท้อง (ถ้าได้รับการตรวจช้าไป)
…อาจต้องเสี่ยงต่อการผ่าคลอดแทนที่จะคลอดธรรมชาติ เพราะลูกตัวโตเกินกว่า ที่แม่จะคลอดเองได้
…ลูกอาจช็อกได้ หากทันทีที่คลอดไม่ได้รับอินซูลินอย่างเร่งด่วน ฯลฯ

การเพิ่มของน้ำหนักตัวโดยเฉลี่ยตลอดการตั้งครรภ์ไม่ควรเกิน 10 กิโลกรัม แต่ก็ต้องพิจารณาตามรูปร่างและขนาดตัวของคุณแม่แต่ละคน เช่น คุณแม่ที่รูปร่างเล็ก เวลาตั้งครรภ์น้ำหนักอาจน้อยกว่า 10 กิโลกรัมได้ (น้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจาก น้ำหนักเด็ก 3 กก. รก น้ำคร่ำ มดลูก และอื่นๆ 5-6 กก.)

คงมีคุณแม่คนใหม่จำนวนไม่น้อยที่ต้องผ่านประสบการณ์การมีภาวะเบาหวานแทรกซ้อน โดยไม่ทันได้ตั้งตัวจากความไม่รู้ ซึ่งความไม่รู้นี้อาจมีผลต่อชีวิตของลูกได้… และนับจากบรรทัดนี้ เราจะไปตามหาสิ่งที่ทำให้ " รู้ " เรื่องภาวะเบาหวานในขณะตั้งครรภ์กันค่ะ

เบาหวาน…โรคที่ขาดอินซูลิน

น.พ.มฆวัน ธนะนันท์กูล สูติแพทย์จากโรงพยาบาลปิยะเวท ให้คำอธิบายถึง ภาวะเบาหวานในแม่ตั้งครรภ์ไว้ว่า

" จริงๆ แล้วคนเราเวลาจะเอาอาหารไปใช้พลังงาน เราจะใช้แป้ง ใช้กลูโคสเป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าเราจะกินอะไรๆ เข้าไปมันก็จะไปย่อยเป็นกลูโคส ค่อยๆ ดูดซึมจากลำไส้เข้าไปอยู่ในกระแสเลือด ส่วนอินซูลินเป็นฮอร์โมนที่จะไปจับตัว กับโมเลกุลของกลูโคสที่เล็กที่สุด แล้วดึงกลูโคสออกจากเส้นเลือดส่งไปให้เซลล์ต่างๆ นำไปใช้ พอเซลล์ได้กลูโคสก็สามารถเอาไปใช้เผาผลาญอาหารต่างๆ อวัยวะต่างๆ ก็ทำงานได้เต็มที่ ส่วนน้ำตาลที่อยู่ในกระแสเลือดพอถูกเอาไปใช้ก็จะค่อยๆ ลดลง ประมาณ 4 ชั่วโมง เราก็จะหิวอีก พอหิวเราก็กินเข้าไป แป้งก็เปลี่ยนเป็นกลูโคสเข้าไปในกระแสเลือด ร่างกายก็ดึงออกมาใช้ วนเวียนอยู่อย่างนี้

แต่คนไข้ที่เป็นเบาหวานเป็นภาวะที่ร่างกายไม่สามารถนำสารคาร์โบไฮเดรต (แป้งและน้ำตาล) มาใช้ได้ตามปกติ ส่วนใหญ่เป็นความผิดปกติที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ สาเหตุอาจเกิดจากตับอ่อน ซึ่งมีหน้าที่สร้างอินซูลิน สร้างได้ไม่เพียงพอ หรือสร้างได้เพียงพอ แต่มีสารตัวอื่นมาต่อต้านการทำงานของอินซูลิน หรือมาทำลายอินซูลินมากขึ้น ทำให้ไม่สามารถ ทำหน้าที่ดึงกลูโคสไปใช้ได้ น้ำตาลในกระแสเลือดก็ไม่ลดลงตามกลไกที่ควรจะเป็น "

อินซูลิน คือฮอร์โมนที่ร่างกายสร้างขึ้น เพื่อใช้ในการเปลี่ยนสารอาหารประเภทแป้ง และน้ำตาลให้เป็นกลูโคส ซึ่งก็จะกลายเป็นพลังงานเพื่อร่างกายนำไปใช้ น้ำตาลในกระแสเลือด ก็จะค่อยๆ ลดลง แต่ถ้าอินซูลินมีน้อยจะทำให้น้ำตาลไม่สามารถถูกเปลี่ยนเป็นกลูโคสได้ น้ำตาลในกระแสเลือดก็มีมากกว่าปกติ


อัตราเสี่ยง " เบาหวาน " ดูแลและลดอัตราเสี่ยงได้โดย

อย่าให้น้ำหนักเพิ่มมากเกินไป
สังเกตดูว่าตัวเองมีอาการแทรกซ้อนอะไรบ้าง เช่น ขาบวม ความดันโลหิตสูง หรืออาการผิดปกติอื่นๆ ถ้ามีต้องปรึกษาแพทย์ทันที
อย่าให้ทารกในครรภ์มีขนาดใหญ่จนเกินไป เพราะเป็นส่วนหนึ่ง ของสัญญาณอันตรายว่า แม่อาจเป็นเบาหวานได้
ถ้ามีโอกาสตรวจเช็กน้ำตาลในเลือด ควรตรวจเช็กตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ แต่ถ้าผ่านช่วงนั้นไปแล้ว แม่อาจเป็นเบาหวานได้
ถ้ามีโอกาสตรวจเช็กน้ำตาลในเลือด ควรตรวจเช็กตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ แต่ถ้าผ่านช่วงนั้นไปแล้ว ควรตรวจในช่วงอายุครรภ์ 6-7 เดือน เพราะถ้าตรวจพบ แพทย์ยังสามารถที่จะดูแลให้ปลอดภัยทั้งแม่และลูกได้


ถ้าแม่ตั้งครรภ์เป็น…เบาหวาน

ภาวะเบาหวานที่เกิดขึ้นในขณะตั้งครรภ์มี 2 ประเภทคือ แม่เป็นมาอยู่ก่อนที่จะตั้งครรภ์แล้ว อีกประเภทคือ เป็นภาวะที่การตั้งครรภ์ชักนำให้เกิดเบาหวาน

สำหรับแม่ประเภทแรก มักจะอยู่ในความดูแลอย่างใกล้ชิดจากแพทย์ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ แต่สำหรับประเภทหลังแม่มักจะไม่รู้ตัวว่าตนมีภาวะเบาหวาน จนกว่าแพทย์จะขอเช็ก น้ำตาลในเลือดอย่างละเอียด ซึ่งส่วนใหญ่จะทราบเมื่ออายุครรภ์ล่วงเข้าเดือนที่ 6-7 แล้ว หรือไม่ก็พบอาการแทรกซ้อน เช่น ความดันสูง มือเท้าบวม น้ำหนักขึ้นเยอะ

คุณหมอมฆวัน ให้ข้อมูลว่าแม่ในกลุ่มที่สองมีจำนวนมากที่สุดในแม่ที่เป็นเบาหวาน ระหว่างตั้งครรภ์ นั่นคือเป็นกลุ่มที่การตั้งครรภ์นำไปสู่ภาวะเบาหวาน แม่กลุ่มนี้จะเป็น กลุ่มที่มารู้เมื่อตั้งครรภ์ไปได้ระยะหนึ่งแล้ว

" โดยทั่วไปแม่ที่เป็นเบาหวานประเภทที่สองมักจะตรวจพบเมื่อตั้งครรภ์ เพราะในระหว่างตั้งครรภ์มีการเปลี่ยนแปลงของระบบการทำงานในร่างกายมาก รวมทั้งระดับน้ำตาลในเลือดของแม่ตั้งครรภ์ก็จะสูงกว่าคนปกติอยู่แล้ว แต่โดยทั่วไป ระดับน้ำตาลในเลือดจะสูงไม่นาน เมื่อถูกนำไปใช้จะค่อยๆ ลดลง ขณะที่ถ้าแม่มีภาวะเบาหวาน ระดับน้ำตาลในเลือดจะยังสูงขึ้นอยู่อย่างนั้น ยิ่งกินอาหารเข้าไป น้ำตาลก็อยู่ในกระแสเลือดเพิ่มมากขึ้น ไม่ได้ถูกเอาไปใช้ สุดท้ายก็ถูกส่งไปให้ลูก ลูกก็รับมาเก็บไว้ ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มมาก

โดยปกติดถ้าไม่มีการตรวจอย่างละเอียดในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ ก็มักจะทราบว่า มีภาวะเบาหวานเมื่อตั้งครรภ์ได้ 6-7 เดือน เพราะช่วงนี้รกจะสร้างสารต่อต้านอินซูลินขึ้นมา เพื่อควบคุมไม่ให้ระดับน้ำตาลในเลือดของแม่ผ่านเข้าสู่ทารกในครรภ์มากเกินความต้องการ

แม่ที่มีภาวะเบาหวานปกติอินซูลินทำงานได้ไม่เต็มที่อยู่แล้ว เมื่อรกสร้างสารต่อต้านอินซูลิน ขึ้นมาอีกก็ยิ่งทำให้เกิดอาการพร่องอินซูลิน เท่ากับว่าแทนที่แม่จะเอาน้ำตาลไปใช้ก็ใช้เกือบไม่ได้ แต่ก็ยังรู้สึกหิว พอกินอาหารเข้าไปก็ไปสะสมอยู่ในกระแสเลือด น้ำตาลพวกนี้ก็จะส่งไปให้ลูก ตามระบบไหลเวียน ลูกก็รับไว้

เพราะฉะนั้น อวัยวะทุกส่วนจะใหญ่มากยกเว้นสมองซึ่งเป็นอวัยวะเดียวของเด็ก ที่แม่เป็นเบาหวานแล้วไม่โตตามตัว เด็กจะแก้มป่องๆ ตัวเป็นปล้องๆ น้ำหนักมาก อวัยวะต่างๆ ของร่างกายใหญ่โตแต่ไม่แข็งแรง หัวใจ ปอด ตับ ไต ไม่แข็งแรง

เด็กพวกนี้กลุ่มหนึ่งจะตายตั้งแต่อยู่ในท้องเพราะตัวใหญ่ อยู่ดีๆ ก็มีโอกาสช็อกได้ อีกพวกที่จะมีปัญหาระหว่างคลอด เนื่องจากตัวใหญ่แต่หัวเล็ก หัวออกมาจากช่องคลอดได้แต่ติดที่ตัว ทำให้ต้องผ่าคลอดแทน

ยิ่งเด็กที่แม่เป็นเบาหวานระดับสูง เมื่อคลอดออกมาเด็กพวกนี้น้ำตาลในเลือดจะตกต่ำมาก เพราะเขาขาดอินซูลินซึ่งปกติจะได้รับเยอะจากแม่ เขาก็จะใช้กลูโคสมาก พอตัดปุ๊บ น้ำตาลในเลือดเขาตกทันที ทำให้เกิดภาวะช็อกได้ ถ้าให้อินซูลินไม่ทันก็มีโอกาสชัก หรือเกิดภาวะแคลเซียมตกต่ำ ตัวเหลืองได้ง่าย อาการแทรกซ้อนต่างๆ ก็มีตามมามากมาย

เพราะฉะนั้นต้องกินน้ำตาลทันที ต้องมีการเช็กทุก 1 ชั่วโมง ถ้าต่ำเมื่อไหร่ก็ต้องให้น้ำตาล บางรายต้องฉีดกลูโคสแทนเพื่อให้สามารถเข้าไปเลี้ยงอวัยวะส่วนต่างๆ เพียงพอ

โดยปกติถ้าแพทย์สามารถประคับประคองการคลอดให้ผ่านไปได้ด้วยดี มักไม่ค่อยมีปัญหาตามมา เพราะเด็กพวกนี้ถึงแม้จะมีน้ำหนักตัวมาก อย่างเช่น 4,000 กว่ากรัม หลังคลอดแล้วไม่กี่เดือน น้ำหนักตัวจะลดลงพอๆ กับเด็กปกติ อาการขาดน้ำตาล ก็จะเป็นแค่ช่วงแรกคลอดเท่านั้น

ส่วนแม่ที่มีภาวะเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์หลังคลอดแล้ว ภาวะน้ำตาลมักจะกลับมาปกติ ยกเว้นแม่ที่มีน้ำหนักตัวมากๆ โอกาสที่จะพัฒนาไปเป็นโรคเบาหวานเมื่อมีอายุมากขึ้นก็เป็นไปได้สูง "

รู้ก่อน ปลอดภัยก่อน

ปกติแล้วสูติแพทย์ส่วนใหญ่จะไม่ได้ตรวจหาเบาหวานในคุณแม่ตั้งครรภ์ทุกคน เนื่องจากมีความยุ่งยากมาก เพราะไม่สามารถเจาะเลือดตรวจครั้งเดียวแล้วบอกได้ว่า เป็นเบาหวานเหมือนกับขั้นตอนตรวจคนไข้ปกติ สูติแพทย์จึงมักตรวจให้ในรายที่มีประวัติ เป็นเบาหวานอยู่แล้วหรือสงสัยว่าจะเป็น โดยพิจารณาจากอาการข้างเคียงต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่ จะมีอาการแสดงเมื่อเข้าสู่ไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์ไปแล้ว

แต่ในความเห็นของคุณหมอมฆวัน ซึ่งเห็นว่าไม่จำเป็นต้องรอให้มีอาการแสดง หรือตรวจเฉพาะในแม่กลุ่มเสี่ยงเท่านั้น

" ผมว่า ถ้าเราสามารถรู้ก่อนว่า แม่คนไหนเป็นเบาหวานประเภทที่ 2 (ภาวะเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์) โดยการตรวจแม่ทุกคนที่มาฝากครรภ์ กรองมาก่อนแล้ว คนไหนอยู่ในข่ายน่าสงสัยว่าจะเป็นก็ทดสอบอย่างละเอียดไปเลย ทำให้รู้ได้ทันทีว่า เป็นหรือไม่เป็น ซึ่งน่าจะเป็นสิ่งที่ปลอดภัยทั้งแม่และลูกด้วย เพราะเราสามารถรู้ล่วงหน้า ได้ตั้งแต่ครรภ์อ่อนๆ ไม่ต้องมารอจนครรภ์ 6-7 เดือนแล้ว การดูแลรักษา การควบคุมก็ย่อมได้ผลดีกว่า

ซึ่งถ้าตรวจพบภาวะเบาหวาน ต้องดูว่าถ้าแม่คนนี้กินอาหารธรรมดา แต่น้ำตาลยังสูงกว่าคนอื่น ก็ต้องควบคุมให้กินน้อยกว่าปกติ โดยจะมีการคำนวณว่า ควรกินเท่าไหร่ที่เหมาะสม ซึ่งจำนวนกลูโคสก็จะลดลงตามมาด้วย

การตรวจเช็กเบาหวานวงการแพทย์บ้านเราตอนนี้ก็เริ่มศึกษาและพยายาม ที่จะทำอย่างต่อเนื่อง แต่ยังค่อนข้างเป็นไปได้ยากที่หมอจะมาตรวจแม่ทุกคน ตรงนี้แม่ตั้งครรภ์ก็ต้องดูแลตัวเองด้วยอย่าให้อยู่ในกลุ่มเสี่ยง อย่างพวกน้ำหนักตัว ขึ้นเยอะนี้ต้องระวัง หรือเมื่อเห็นความผิดปกติแล้วก็ต้องรีบปรึกษาแพทย์โดยด่วน

แต่ภาวะเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์นี้ ไม่สามารถตรวจรู้ก่อนได้เลย เช่นก่อนตั้งครรภ์ แม่มาขอเช็กเบาหวาน ไม่รู้หรอกเพราะฮอร์โมนของรกยังไม่ออกมาตอนนั้น แต่ถ้าเป็นมาก่อนแล้วถึงจะเช็กได้ "

ถ้าตรวจพบ เบาหวาน (ระหว่างตั้งครรภ์)

แพทย์จะต้องดูแลคุณแม่อย่างใกล้ชิด โดยต้องมาพบสูติแพทย์บ่อยกว่าคุณแม่ตั้งครรภ์ทั่วไป ทั้งยังต้องรับการรักษาจากแพทย์หลายสาขา เช่น แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเบาหวาน จักษุแพทย์ ฯลฯ และต้องปฏิบัติในเรื่องต่อไปนี้อย่างเคร่งครัดด้วยค่ะ

แพทย์จะนัดเจาะเลือดดูระดับน้ำตาลในเลือดทุกวัน (ปัจจุบันมีเครื่องมือตรวจ ระดับน้ำตาลที่คนไข้สามารถตรวจด้วยตนเองที่บ้านได้)

กินอาหารให้เหมาะสม โดยแพทย์มักจะแนะนำให้กินอาหารทีละน้อย แต่กินบ่อยๆ งดอาหารรสหวานและอาหารที่มีไขมันมาก

ต้องควบคุมน้ำหนักตัวให้คงที่อย่าให้เพิ่มมากเกินไป ถ้ามีการเพิ่ม ควรเป็นลักษณะค่อยเป็นค่อยไป ออกกำลังกายพอสมควร จะช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่และช่วยทำให้ น้ำหนักตัวไม่เพิ่มมากเกินไปด้วย (แต่ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์ก่อน เพราะการออกกำลังกายบางอย่างก็ไม่เหมาะกับผู้ที่มีภาวะเบาหวานแทรกซ้อน)

พักผ่อนให้เพียงพอ ได้รับยาอย่างสม่ำเสมอ ในรายที่ใช้วิธีการควบคุมต่างๆ แล้วยังควบคุมน้ำตาลในเลือด ได้ไม่ดีพอ แพทย์จะให้อินซูลินช่วย (ขนาดอินซูลินจะเพิ่มขึ้นตามอายุครรภ์)

ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่ โดยการตรวจสอบระดับน้ำตาลในเลือด ตามกำหนดอย่างเคร่งครัดและสม่ำเสมอ

ตรวจสอบสุขภาพของทารกในครรภ์ แพทย์จะมักจะส่งคุณแม่ไปตรวจพิเศษในบางเรื่อง เช่น ตรวจวัดสุขภาพประสาทตา ตรวจเลือดดูสมรรถภาพของไต การทำงานของปอดของทารก ตรวจความพร้อมของลูกว่าเหมาะจะคลอดด้วยวิธีใด

มีการวางแผนการคลอดล่วงหน้า เพราะปกติโรคเบาหวานจะทำให้ทารกในครรภ์ ตัวใหญ่กว่าปกติ แพทย์จึงต้องประเมินสุขภาพของแม่และลูก เพื่อวางแผนว่า จะเลือกคลอดวิธีใด ซึ่งแม่ควรมีส่วนรับรู้ด้วย

ถึงตอนนี้คงต้องช่วยกันรณรงค์เปลี่ยนความคิดคุณแม่ตั้งครรภ์กันใหม่ว่า การที่น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นมากๆ ลูกตัวโตตั้งแต่ในครรภ์นั้นก็มีโอกาสเสี่ยง กับภาวะแทรกซ้อนได้เหมือนกัน แต่ทั้งหมดนี้สิ่งที่สำคัญคือการได้รับคำปรึกษา อย่างใกล้ชิดจากสูติแพทย์ผู้ดูแลค่ะ และถ้าให้ดีไปกว่านั้น การวางแผนครอบครัว ตั้งแต่ก่อนแต่งงานหรือเริ่มคิดจะตั้งครรภ์ ปลอดภัยไว้วางใจได้มากกว่าเป็นแน่




 

Create Date : 13 มกราคม 2551    
Last Update : 13 มกราคม 2551 6:23:50 น.
Counter : 12579 Pageviews.  

เบาหวาน ระวัง "ช็อคน้ำตาล" กับ "หลับไม่ตื่น"

โรคเบาหวานเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตก่อนเวลาอันควร เรามักกังวลว่าคนเป็นเบาหวานหากคุมน้ำตาลได้ไม่ดีสัก 10-15 ปี มีโอกาสที่จะตายจากโรคแทรกซ้อน เช่น กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เส้นเลือดสมองแตก หรือจากไตวายและหัวใจล้มเหลว

ประเทศไทยประเมินว่าใช้เงินปีละเกือบแสนล้านบาทเพื่อรักษาโรคเบาหวาน แต่การโหมใช้ยารักษาก็ดูช่วยแก้ปัญหาไม่ได้มากนัก เพราะร้อยละ 70 ที่ไปหาหมอกินยาไม่สามารถคุมน้ำตาลเลือดให้ได้ระดับปลอดโรคแทรกซ้อนได้

การโหมใช้ยารักษาเบาหวานยังทำให้เกิดอาการช็อคน้ำตาล และเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากอาการหลับไม่ตื่น

คำว่า ช็อคน้ำตาล เป็นคำเพี้ยนจาก insulin shock ซึ่งเดิมหมายถึงคนไข้ได้อินซูลินมาก เกิดภาวะน้ำตาลเลือดต่ำจนหมดสติ แต่อาการช็อคน้ำตาล ที่พูดกันทั่วไปคงหมายถึงอาการที่เกิดเมื่อร่างกายมีระดับน้ำตาลเลือดต่ำ (hypoglycemia) มักเกิดจากได้ยากินหรือยาฉีดคุมน้ำตาลเกินขนาด มีอาการทางสมอง เช่นรู้สึกโหวงเหวง หงุดหงิดง่าย มือไม้สั่น หรืออาการทางระบบประสาทอัตโนมัติ sympathetic เช่น เหงื่อแตก และใจสั่น

หากอาการไม่มาก คนไข้ก็มักรีบหาลูกอมหรือของหวานเข้าปาก สักพักอาการก็จะดีขึ้นเป็นปกติ

แต่หากเป็นมากก็อาจชักหรือหมดสติ และต้องนำส่งแพทย์ให้ฉีดกลูโคสเข้าเส้น

อาการช็อคน้ำตาล หรือ insulin shock เดิมมักเกิดกับเด็กที่เป็นเบาหวานประเภท 1 ซึ่งเซลล์ผลิตอินซูลินที่ตับอ่อนถูกทำลาย จึงต้องรักษาโดยฉีดอินซูลินทดแทน

เบาหวานกลุ่มนี้มักมีระดับน้ำตาลเลือดขึ้นๆ ลงๆ อย่างปู๊ดป๊าด สมัยก่อนไม่มีเครื่องเจาะตรวจน้ำตาลปลายนิ้วที่บ้าน จึงยากที่จะคุมได้ดี วันใดกินมากขยับน้อย ระดับน้ำตาลก็จะพุ่งสูง วันใดกินน้อยออกแรงมาก หากไม่ได้ลดยาฉีดก็จะเกิดอาการน้ำตาลต่ำจนช็อคหมดสติ

นอกจากนี้ จิตแพทย์สมัยก่อนอาจรักษาโรคซึมเศร้าหรือ schizophrenia โดยการฉีดอินซูลินจนคนไข้ชักหมดสติ แล้วค่อยให้น้ำตาลกลูโคสเข้าเส้นช่วยให้ฟื้น หลังทำ insulin shock ความจำเรื่องเก่าๆ ก็เลือนหายหมดช่วยให้คนไข้หมดทุกข์หมดโศก อาการทางจิตก็ดีขึ้นด้วย

แต่สมัยนี้นิยมการรักษาด้วยยาระงับประสาทมากกว่า

คนเป็นเบาหวานอาจเกิดเสียชีวิตด้วยอาการหลับไม่ตื่น (Dead in bed syndromc) หรือจากหัวใจหยุดเต้นกะทันหัน ซึ่งแต่ก่อนมักเกิดกับเด็กและคนหนุ่มที่ไม่มีอาการโรคหัวใจมาก่อน

ได้มีการศึกษาหาสาเหตุโดยทดลองฉีดอินซูลินให้ระดับน้ำตาลเลือดลดเหลือราว 45 มก./ดล. (2.5 mM) พร้อมกับการตรวจติดตามคลื่นหัวใจ ปกติจะเห็นกระแสไฟฟ้าจากกล้ามเนื้อหัวใจบีบตัว (depolarization) และคืนตัว (repolarization) อย่างเป็นระเบียบ

แต่ในภาวะน้ำตาลเลือดต่ำ จะพบว่า QTc interval กว้างกว่าปกติ ซึ่งสะท้อนว่าเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจคืนตัวช้า อีกทั้งค่า QT dispersion ซึ่งวัดจาก QTc interval จากแต่ละ precordial lead มีค่าต่างมากกว่าปกติ แสดงว่าหัวใจแต่ละจุดมีการคืนตัวเร็วช้าต่างกันมาก

การเปลี่ยนแปลงทางคลื่นหัวใจนี้ เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่ากล้ามเนื้อหัวใจอาจเกิดกระแสไฟฟ้าลัดวงจรได้ง่าย และอาจนำไปสู่ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (cardiac arrhythmia) เช่นเต้นเร็ว (ventricular lachycardia) หรือเต้นรัวไม่เป็นจังหวะ (ventricular fibrillation) ซึ่งเป็นเหตุของการเสียชีวิตกะทันหันหรือหลับไม่ตื่นได้ (Int J Clin Pract Suppl. 2002; 129:27)

เบาหวานในผู้ใหญ่ ร่างกายไม่ได้ขาดอินซูลิน แต่มักจะรักษาโดยให้ยากินระงับการสร้างน้ำตาลที่ตับ สมัยก่อนไม่ค่อยได้ยินว่าคนไข้เกิดอาการช็อคน้ำตาล หรือหลับไม่ตื่น มากเหมือนสมัยนี้ เพราะมีการเตือนระวังการใช้ยาแรงตอนหัวค่ำ ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลเลือดต่ำตอนนอนหลับ การให้ยาลดน้ำตาลก็ให้อย่างบันยะบันยัง การรักษาโดยการฉีดอินซูลินก็ไม่เป็นที่นิยมแพร่หลาย

แต่มาระยะหลัง มีการอ้างผลวิจัย Diabetes Control and Complications Trial ซึ่งศึกษาเบาหวานในเด็ก ว่าคนที่คุมระดับน้ำตาลได้ดีกว่า จะเกิดโรคแทรกซ้อนจากเบาหวานน้อยกว่า (N Engl J Med 1993;329:977) และมีความพยายามชี้นำให้คุมระดับน้ำตาลเข้มงวดขึ้นในเบาหวานทุกประเภท

ซึ่งก็เป็นสิ่งถูกต้องหากการรักษาเน้นการคุมอาหารมากกว่า

ปัจจุบัน แพทย์จำนวนมากให้การรักษาเบาหวานแบบ "จ่ายยาตามตัวเลข" หรือ Prescription by Number (N Eng J Med 2007;357:516) กล่าวคือ แพทย์ไม่ค่อยคำนึงถึงสาเหตุการเกิดโรคเบาหวานหรือเหตุใดจึงคุมน้ำตาลไม่ได้ สนใจแต่ผลตรวจน้ำตาลเลือด หากระดับไม่สูงนักก็ให้ยาขนาดเดิม แต่ถ้าน้ำตาลเลือดสูง ก็พยายามกดระดับน้ำตาลโดยการเพิ่มยาให้แรงขึ้น หรือบ่อยมื้อขึ้น และหากยังคุมไม่ได้อีก ก็มักจะเพิ่มให้ฉีดอินซูลิน และหากยาทั้งกินทั้งฉีดยังคุมไม่ได้ ก็เพิ่มขนาดอินซูลินที่ฉีด

การตรวจเบาหวาน เรามักเจาะเลือดตรวจเฉพาะเวลาใดเวลาหนึ่ง เช่นก่อนอาหารเช้า ความจริงระดับน้ำตาลในเลือด แกว่งขึ้นลงตลอดเวลา หากโหมยามากและเกิดอาการน้ำตาลต่ำตอนช่วงสายหรือตอนนอนหลับแต่เราไม่ได้เจาะเลือดตรวจขณะมีอาการก็จะไม่รู้

เมื่อเกิดภาวะน้ำตาลเลือดต่ำ ร่างกายจำต้องมีปฏิกิริยาปรับสมดุล (homeostasis) เพื่อไม่ให้น้ำตาลเลือดต่ำเกินไป โดยศูนย์สมอง VMH (Ventromedial hypothalamus) กระตุ้นให้เกิดอาการหิว และหลั่งฮอร์โมนเพื่อเพิ่มระดับน้ำตาลเลือด (Am J Physiol Regul Integr Comp Physiol 2005;289: R936) แต่การปรับสมดุลมีผลทำให้น้ำตาลเลือดกลับมีระดับสูงกว่าปกติตามมา

เมื่อเกิดอาการน้ำตาลต่ำจากการได้ยาเกิน คนไข้จะมีอาการโหย บางครั้งรู้สึกหิวแทบจะขาดใจสัญชาตญาณบอกให้รีบหาของหวานกินเพื่อประทังชีวิตเป็นสำคัญ ทำให้บางคนชอบแอบกินของหวาน เวลาแพทย์ถามก็มักจะตอบปฏิเสธว่าไม่ได้กินอะไร แต่ญาติและคนใกล้ชิดจะบอกได้ บางคนถึงเวลากินแต่อาหารมาช้า ถ้าสังเกตจะพบอาการน้ำตาลต่ำ เช่นนิ่งเงียบ หน้าบึ้งตึง อารมณ์บูดง่าย ดังที่เราได้ยินนิทานเรื่อง "ก่องข้าวน้อยฆ่าแม่" และเมื่ออาหารมาถึง จะตักอาหารเข้าปากอย่างเร่งรีบ

หรือบางคนกินยาเบาหวานตอนมื้อเย็น ก็มักต้องแอบหาของหวานกินช่วงก่อนนอน การตรวจเลือดในวันรุ่งขึ้นหรือครั้งต่อไปย่อมมีระดับน้ำตาลเลือดสูงขึ้น ระดับน้ำตาลสะสมก็สูงด้วย แพทย์ก็มักจะเพิ่มยากินหรือยาฉีดให้มากขึ้น เพราะเข้าใจว่าโรครุนแรงขึ้นหรือดื้อยา

อีกสาเหตุที่ทำให้น้ำตาลเลือดสูง เกิดจากปรากฏการณ์ที่เรียกว่า Somogyi effect ตามชื่อ Dr.Michael Somogyi ซึ่งรายงานในปี ค.ศ.1938 ว่าเด็กเบาหวานที่รักษาด้วยการฉีดอินซูลินขนาดสูงๆ กลับจะคุมเบาหวานไม่ได้ดี คือบ่อยครั้งเมื่อเกิดภาวะน้ำตาลต่ำ ร่างกายหลั่งฮอร์โมน glucagon, cortisol และ adrenalin เพื่อปรับระดับน้ำตาลเลือดไม่ให้ต่ำเกินไป การปรับไม่ได้หยุดเมื่อน้ำตาลสู่ระดับปกติ แต่กลับทะยานจนสูงกว่าปกติมาก เช่น ถ้าเกิดน้ำตาลต่ำตอนหลังเที่ยงคืน เจาะตรวจน้ำตาลเลือดตอนเช้าอาจพบระดับสูงกว่าปกติ และหากไม่ซักไซ้ว่าเมื่อคืนมีอาการช็อคน้ำตาล เช่นเหงื่อแตกกับใจสั่นหรือไม่ ก็อาจคิดว่ายาไม่พอ จำเป็นต้องเพิ่มยา คนไข้ก็อาจเกิดช็อคน้ำตาลอย่างรุนแรงหรือหลับไม่ตื่นจากยาที่กินหรือฉีดเพิ่มขึ้น

เวลาเกิดช็อคน้ำตาล เรามักไม่ทันตรวจเลือดช่วงกำลังมีอาการ แต่การตรวจเลือดภายหลังพบมีระดับน้ำตาลเลือดสูงจาก Somogyi effect ที่กล่าวนี้ ทำให้หลายคนเข้าใจผิดว่าอาการช็อคน้ำตาล เกิดจากระดับน้ำตาลเลือดสูงเกิน จึงไม่กล้าลดยาทั้งๆ ที่เกิดอาการบ่อยๆ

ผู้ใหญ่ที่เป็นเบาหวาน มักมีภาวะหลอดเลือดตีบตัน เกิดกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้ง่ายหากเกิดน้ำตาลต่ำ (Diabetes Care 2003;26:1485) อีกทั้งพบว่าคลื่นหัวใจในภาวะน้ำตาลเลือดต่ำมีช่วง QTc กว้างและ QT dispersion มากกว่าปกติ (J Intern Med. 1999;246:299) นอกจากนี้ คนเป็นเบาหวานหัวใจมักมีอาการ A-V block ร่วมด้วย (Chest 2005;128:2611) ปัจจัยเหล่านี้ล้วนทำให้กล้ามเนื้อหัวใจเกิดกระแสไฟฟ้าลัดวงจรได้ง่าย

ผู้ใหญ่ที่เป็นเบาหวาน หากเกิดภาวะน้ำตาลเลือดต่ำ มีโอกาสสูงมากทั้งการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดและหัวใจเต้นผิดจังหวะ และหากแก้ไขไม่ทัน ก็จะเป็นเหตุให้คนไข้หลับไม่ตื่น หรือเสียชีวิตกะทันหันได้

การเปลี่ยนแปลงทางคลื่นหัวใจที่มีช่วง QTc กว้างและ QT dispersion มากกว่าปกติที่พบในภาวะน้ำตาลต่ำสันนิษฐานว่ามีสาเหตุจากระดับ adrcnalin ในเลือดสูง (Diabetes 2003;52:1469) การออกกำลังกายหรือช่วงมีอารมณ์เครียด ก็มี adrenalin ในเลือดสูงและเกิด adrenalin induced arrhythmia ได้เช่นกัน ดังนั้น คนเป็นเบาหวานควรพยายามหลีกเลี่ยงอารมณ์เครียด และการแนะนำคนเป็นเบาหวานให้ออกกำลังกายมากๆ เพื่อลดน้ำตาลนั้นก็ต้องพึงระวังด้วยเช่นกัน

เบาหวานที่เกิดในผู้ใหญ่ ส่วนใหญ่เป็นอาการของโรคกินเกิน (mctabolic syndrome) ซึ่งร่างกายได้รับสารอาหารมากเกินพิกัดจนไม่สามารถหาที่กักเก็บเพิ่มขึ้นอีก จึงเกิดภาวะสารอาหารไหลล้นในกระแสเลือด คือมีระดับน้ำตาลและไขมันในเลือดสูง

การฉีดอินซูลินก็ไม่ช่วยอะไรมาก เพราะตับอ่อนสามารถสร้างได้มากอยู่แล้ว อีกทั้งเซลล์ในร่างกายก็ไม่ค่อยตอบสนองต่ออินซูลิน การใช้ยากินระงับการสร้างน้ำตาลที่ตับก็เป็นการรักษาตัวเลขเท่านั้น แต่ก็ไม่ได้แก้ที่ต้นเหตุ




 

Create Date : 13 มกราคม 2551    
Last Update : 13 มกราคม 2551 6:11:23 น.
Counter : 13025 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  

rajathanee
Location :
เชียงใหม่ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Be HaPPY All THe TiMe!!!



" ความรักคือ การให้ "


ถ้าคุณต้องการที่จะได้ความรัก สิ่งที่คุณต้องทำคือ รู้จักให้ด้วย ยิ่งให้ คุณก็ยิ่งได้รับสูตรลับของความสุข และทำให้มิตรภาพยืนยาว อย่าถามว่าคนอื่นให้อะไรคุณบ้าง แต่ให้ถามว่าคุณทำอะไรให้คนอื่นบ้างจะดีกว่า...




: Users Online
Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add rajathanee's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.