Group Blog
 
All Blogs
 

เลี้ยงกล้วยไม้ไม่ใช้สารเคมี.................ทำได้จริงหรือไม่

เลี้ยงกล้วยไม้ไม่ใช้สารเคมี.................ทำได้จริงหรือไม่

ในระยะที่ผ่านมากระแสเรื่องชีวภาพมาแรงมาก แรงไปทั่ว ทำให้หลายๆคนที่เลี้ยงกล้วยไม้แล้วกลัวหรือรังเกียจสารเคมี หันมาใช้พวกนี้แทน แต่เนื่องจากกล้วยไม้เป็นพืชที่ต่างจากพืชทั่วๆไปที่ปลูกอยู่ในดิน ดังนั้นการนำสารชีวภาพมาใช้กับกล้วยไม้ จึงมีคำถามว่า “ทำได้จริงหรือไม่”

ทีนี้มาดูกันครับ ว่าสารเคมีที่เราใช้หลักๆในการเลี้ยงกล้วยไม้มีอะไรบ้าง

1 ปุ๋ยเคมี อยู่ในรูปแบบปุ๋ยเกร็ดละลายน้ำ เป็นปุ๋ยที่มีธาตุหลักที่พืชต้องการ คือ N P K มีสูตรต่างๆมากมาย ให้ได้เลือกใช้ตามความเหมาะสม และยังจะมีพวกคีเลด หรือพวกธาตุอาหารรอง ธาตุอาหารเสริมต่างๆอีก

2 สารป้องกันกำจัดเชื้อรา กลุ่มนี้จะมีมากมายหลายชนิด อย่างน้อยๆที่ต้องมีไว้ใช้ก็ 3 ตัวแล้ว เอาไว้ป้องกันเชื้อราต่างๆ เช่น เน่าดำ แอนแทรกโนส ราเม็ดผักกาด ซึ่งการใช้สารพวกนี้ต้องให้เป็นประจำอย่างน้อยๆเดือนละครั้งก็ยังดี

3 สารป้องกันกำจัดแมลง กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่อันตรายมากที่สุด สารบางตัวแรงมาก คนได้รับเข้าไปเพียงเล็กน้อยก็สามารถตายได้ เรามีไว้เพื่อป้องกัน กำจัดพวกแมลงต่างๆ มด เพลี้ยไฟ เพลี้ยแป้ง ไรแดง สารพวกนี้เราต้องให้อย่างน้อยๆเดือนละครั้ง

ทั้งหมดที่กล่าวมาคือเรื่องจำเป็นที่จะต้องทำ การให้ปุ๋ย การป้องกันกำจัด แมลง การป้องกันกำจัดเชื้อราศัตรูกล้วยไม้
แล้วถ้าเราไม่ต้องการใช้สารเคมีล่ะ เราจะต้องทำอย่างไรบ้าง จะหาอะไรมาทดแทนได้บ้าง


ในท้องตลาด ลองไปเดินดูได้ครับ จะมีสารชีวภาพมากมาย ไม่ว่าเป็นพวกน้ำหมัก สาร EM สารชีวภาพกำจัดแมลง สมุนไพรกำจัดแมลง สารชีวภาพป้องกันเชื้อรา มีขายกันอยู่มากมาย แล้วทราบไหมครับว่าที่ขายๆกันอยู่นั้นคืออะไร มีที่มาอย่างไร มันสามารถให้ธาตุอาหารจริงหรือไม่ สามารถป้อนกันเชื้อรา หรือแมลงได้จริงหรือ ซึ่งถ้าไปดูกันให้ดีๆแล้ว สรรพคุณต่างๆนั้น เป็นเหมือนคำบอกเล่า เป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน บอกเล่าต่อๆกันมา
ผมเชื่อว่าของพวกนั้นสามารถใช้ได้จริง แต่อย่าลืมนะครับว่า กล้วยไม้ของเรานั้นมันต่างจากพืชอื่นๆทั่วไป


แล้วทีนี้จะทำอย่างไรดีล่ะ จะเอาอะไรมาใช้ดี
เรามาหาสิ่งที่จะมาทดแทนสารเคมีกันครับ ผมจะแยกให้ดูตามสิ่งที่เราต้องการคือ
1 ปุ๋ย
2 ป้องกันกำจัดเชื้อรา
3 ป้องกันกำจัดแมลง


1 ปุ๋ย หรือธาตุอาหาร สิ่งที่จะมาทดแทนสารเคมีหรือปุ๋ยเคมีได้ก็คือปุ๋ยที่หมักออกมาเป็นน้ำ และจะต้องมีธาตุอาหารเพียงพอต่อความต้องการของพืช ปุ๋ยน้ำหมักที่น่านำมาใช้คือปุ๋ยที่หมักจากปลาหรือหอย ซึ่ง ประกอบด้วยธาตุอาหารหลัก ได้แก่ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม นอกจากนี้ปุ๋ยปลายังประกอบด้วยธาตุอาหารรองได้แก่ แคลเซียม แมกนีเซียม และกำมะถัน และธาตุอาหารเสริมได้แก่ เหล็ก ทองแดง และแมงกานีส
นอกจากนี้ปุ๋ยปลายังประกอบด้วยโปรตีนและกรดอะมิโน ซึ่งเกิดจากกระบวนการย่อยสลายของโปรตีนในตัวปลา ซึ่งจากข้อมูลทางวิชาการบ่งชี้ชัดว่ากรดอะมิโนสามารถจับตัวกับธาตุอาหารปุ๋ยทำให้ ปุ๋ยสามารถดูดซึมเข้าสู่ต้นพืชได้เร็วขึ้น

วิธีทำปุ๋ยปลานั้น เราสามารถทำเองได้ง่ายๆ โดยการนำปลาหรือเศษปลา ผลไม้สุก กากน้ำตาล สารเร่งหรือหัวเชื้อ EM เอามาหมักรวมกันไว้ เมื่อได้ที่ก็เอามากรอง นำน้ำหมักที่ได้ไปผสมน้ำฉีดกล้วยไม้

ข้อดีของปุ๋ยปลาคือ มีธาตุอาหารครบถ้วน ไม่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้และสัตว์เลี้ยง
ข้อเสียการใช้ปุ๋ยปลานั้นมีเล็กน้อย
- มีกลิ่น หอมหรือเหม็นนั้นขึ้นอยู่กับผู้ใช้และการหมัก ถ้าใส่ผลไม้สุกลงไปด้วย กลิ่นก็จะไม่เหม็น แต่ถ้าใช้ปลาอย่างเดียวกลิ่นจะแรงมาก
- เครื่องปลูกพังเร็วกว่าปกติ เนื่องจากในปุ๋ยปลาจะมีจุลินทรีย์ที่มีชีวิตอยู่ มันจะไปย่อยสลายกาบมะพร้าวให้ผุพังเร็ว เมื่อกาบมะพร้าวผุ ระบบรากก็จะเสียหาย ทางแก้ก็คือคอยเปลี่ยนเครื่องปลูกก่อนที่มันจะผุพัง กับเปลี่ยนเครื่องปลูกเป็นของแข็ง แต่ถ้าเลี้ยงไม้รากอากาศก็จะหมดปัญหาเรื่องนี้ไป


2 การป้องกันกำจัดเชื้อรา โดยใช้เชื้อราไตรโคเดอร์ม่า (Trichoderma spp.) เป็นเชื้อราชั้นสูงที่เจริญได้ดีในดิน เศษซากพืช ซากของสิ่งมีชีวิตต่างๆ และวัสดุอินทรีย์ตามธรรมชาติ จัดเป็นเชื้อราปฏิปักษ์ที่สามารถใช้ควบคุมโรคพืช ซึ่งเกิดจากเชื้อราสาเหตุโรคพืชในดินได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น โรคโคนเน่า โรคเน่าระดับดิน โรคเน่าดำ โรคราเม็ดผักกาด โรคแอนแทรคโนส
การใช้เชื้อราตัวนี้ ต้องมีการเลี้ยงเชื้อเสียก่อน แล้วจึงนำมาละลายน้ำให้สปอร์หลุดมาปนกับน้ำ แล้วกรองเอาแต่น้ำไปฉีดกล้วยไม้ โดยในสภาพโรงเรือนปกตินั้นจะมีความชื้นพอเพียงที่เชื้อราตัวนี้จะดำรงชีวิตอยู่ได้ตลอดไป (ถ้าไม่ถูกสารเคมี)
เชื้อราตัวนี้จะเป็นเชื้อราที่ไปกินหรือทำลายเชื้อราต้นเหตุของโรคต่างๆ และตัวของมันก็ไม่เป็นอันตรายกับกล้วยไม้ด้วย

การเลี้ยงขยายเชื้อเราสามารถทำได้เองโดยง่ายๆ โดยนำหัวเชื้อบริสุทธิ์ มาเลี้ยงในข้าวสวยหรือปลายข้าวที่หุงเป็นตากบ หรือสุกๆดิบๆ เลี้ยงไว้ประมาณ 7 วัน ข้าวนั้นจะมีเชื้อราสีเขียวๆเกิดขึ้น เราก็สามารถนำไปละลายน้ำใช้ได้เลย และสามารถทำเก็บไว้ได้นาน 1 เดือน โดยเก็บไว้ในตู้เย็น

ข้อดีของเชื้อราไตรโคเดอร์ม่าคือ สามารถขยายเชื้อได้ง่าย ปลอดภัยต่อผู้ใช้ เมื่อเชื้อไปอยู่ในสภาพที่เหมาะเชื้อไม่หมดฤทธิ์ สามารถอาศัยอยู่ในเครื่องปลูกลึกๆได้ ป้องกันกำจัดโรคได้หลากหลายกว่าสารเคมี
ข้อเสียของเชื้อราตัวนี้ก็คือ แพ้สารเคมี และยังจะทำให้เครื่องปลูกผุพังเร็วกว่าปกติเช่นกัน เนื่องจากเชื้อตัวนี้จะชอบอยู่กับอินทรีย์วัตถุ

3 การป้องกันกำจัดแมลงต่างๆโดยใช้เชื้อรา ในส่วนของแมลงนี้จะต้องใช้เชื้อราหลายตัว

เชื้อราบิวเวอเรีย เป็นเชื้อจุลินทรีย์ที่จัดเป็นพวก "เชื้อราทำลายแมลง" สามารถทำลายแมลงได้หลายชนิด เช่น เพลี้ยไฟ ไรแดง เพลี้ยแป้ง หนอนศัตรูพืช เชื้อรามีคุณสมบัติเป็นเชื้อราปฏิปักษ์ คือ สามารถทำลายแมลงได้หลายชนิด ทำลายแมลงโดยผลิตเอสไซม์ที่เป็นพิษต่อศัตรูพืช และเป็นเชื้อราที่อาศัยและกินเศษซากที่ผุพัง

เชื้อราเขียวเมตาไรเซี่ยม เชื้อราเขียว เป็นเชื้อราที่ทำลายด้วง ปลวก โดยเชื้อราจะแทงเข้าทางผนังลำตัวโดยผ่านเข้าผนังบาง ๆ เยื่อรอยต่อระหว่างปล้องหนอน เส้นใยเชื้อราเขียวจะแทงผ่านขั้นต่าง ๆ ของตัวแมลงเข้าขยายปริมาณในเลือด แมลงที่ถูกทำลายโดยเชื้อราเขียว จะเคลื่อนไหวช้า เบื่ออาหาร ซากของแมลงจะถูกปกคลุมด้วยสปอร์สีเขียว ตัวเข็งเหมือนมัมมี่

การเลี้ยงขยายเชื้อก็ทำได้โดยการนำเชื้อไปเลี้ยงในเมล็ดธัญพืช เช่นข้าวฟ้าง ข้าวโพด เมื่อเชื้อราเจริญเต็มที่ก็นำมาละลายในน้ำให้สปอร์ผสมกับน้ำแล้วนำน้ำนั้นไปฉีดพ่นโดยจะต้องพ่นให้ถูกตัวแมลงหรืออยู่ในช่วงที่แมลงเข้าทำลายจะดีที่สุด

ข้อดีคือปลอดภัยต่อผู้ใช้ ป้องกันกำจัดแมลงได้หลายชนิด
ข้อเสีย ต้องใช้ที่ๆมีความชื้นพอเพียง ไม่ถูกความร้อน และแพ้เชื้อราไตรโคเดอร์ม่า

ที่กล่าวมาทั้งหมด เป็นทางเลือกของผู้ที่ไม่ต้องการใช้สารเคมีในการเลี้ยงกล้วยไม้ และเป็นวิธีที่ได้ผลจริง ผู้ที่ต้องการใช้จะต้องเรียนรู้ คิด ศึกษาให้จริงและต้องทำความเข้าใจ ทำใจไว้ด้วยว่า สารชีวภาพที่บอกมานั้น จะต้องใช้เวลาและอดทน มีความยุ่งยากในการใช้ มีข้อจำกัดบางอย่าง และที่สำคัญ ไม่สามารถให้ผลได้เท่ากับสารเคมีครับ


ที่มาของข้อมูลต่างๆในการสรุปหาวิธีการเลี้ยงกล้วยไม้โดยไม่ใช้สารเคมี
- จากการเรียนในวิทยาลัยเกษตร
- จากการคุย สอบถาม เกษตรอำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี
- จากนักวิชาการของสำนักงานพัฒนาที่ดินจังหวัดชลบุรีและจังหวัดปราจีนบุรี
- จากนักวิชาการของศูนย์บริหารศัตรูพืชจังหวัดชลบุรี
- จากสมาชิกเรือนกล้วยไม้หลายๆท่าน
- และจากที่อื่นๆอีกหลายๆที่ครับ




 

Create Date : 15 พฤษภาคม 2552    
Last Update : 15 พฤษภาคม 2552 19:20:59 น.
Counter : 1301 Pageviews.  

ไคโตซานกับกล้วยไม้

Chitosan ไคโตซาน คือ สารโพลิเมอร์ชีวภาพที่สกัดจากไคติน ซึ่งเป็นโครงสร้างของเปลือกกุ้ง กระดองปู แกนปลาหมึก และผนังเซลของเห็ด ราบางชนิด ไคติน-ไคโตซาน จัดเป็นโคโพลิเมอร์ที่อยู่ร่วมกันในธรรมชาติ มีปริมาณของไคตินมากเป็นอันดับสองรองจากเซลลูโลส ไคติน-ไคโตซาน มีสมบัติพื้นฐานที่เข้ากับธรรมชาติได้ดี ย่อยสลายง่าย ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งไคติน-ไคโตซาน มีหมู่อะมิโนที่แสดงสมบัติพิเศษหลายประการที่ต่างจากเซลลูโลส เช่น การละลายได้ในกรดอินทรีย์เจือจาง การจับกับอิออนของโลหะได้ดี และการมีฤทธิ์ทางชีวภาพ ปัจจุบันมีการนำสารไคติน-ไคโตซาน มาประยุกต์ใช้จริงทั้งในภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรม ทางการแพทย์และเภสัชกรรม เช่น สารตกตะกอนในการบำบัดน้ำทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมเส้นใยสิ่งทอ เพื่อป้องกันแบคทีเรียและเชื้อรา ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อคุณภาพในการลดไขมันและคอเลสเตอรอล เรื่องความสวยความงามที่เป็นที่สนใจของคุณสุภาพสตรีทั้งหลาย สารเร่งการเจริญเติบโตในพืชและสัตว์แลกเนื้อต่าง ๆ เช่น สุกร กุ้ง เป็ด ไก่ สารเคลือบผลไม้เพื่อยืดอายุการเก็บรักษา สารถนอมอาหาร และแผ่นฟิล์มปิดแผล ช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น

การใช้ไคโตซานดีกับกล้วยไม้อย่างไร ไคโตซานเป็นสารที่มีความสามารถที่จะแทรกตัวเข้าไปในเซลพืชได้ด้วยตัวเอง โดยที่ไม่ต้องรอให้ปากใบเปิด
คุณสมบัติตรงนี้เมื่อเรานำมาใช้กับกล้วยไม้จะส่งผลดีกับกล้วยไม้หลายอย่าง
เมื่อเรานำมาผสมร่วมกับปุ๋ยฉีดพ่นให้กับกล้วยไม้ โดยปกติแล้ว เวลาที่ให้ปุ๋ย กล้วยไม้จะสามารถนำไปใช้ได้ไม่มากนัก ปุ๋ยจะสูญเสียไปได้หลายทาง แต่ไคโตซานจะแทรกตัวเข้าไปในพืชโดยที่นำพาปุ๋ยเข้าไปด้วย ดังนั้นพืชก็จะได้รับปุ๋ยเพิ่มมากขึ้นและสูญเสียปุ๋ยน้อยลง ประหยัดปุ๋ยมากขึ้น ลดอัตราการผสมปุ๋ยได้ด้วย

ไคโตซานสามารถแทรกตัวเข้าไปในพืชได้เอง คุณสมบัตินี้ไปเหมือนกับการเข้าทำลายของเชื้อราและเชื้อแบคทีเรีย แต่การแทรกตัวของไคโตซานนั้นไม่มีผลเสียกับพืช แต่พืชจะเข้าใจว่าไคโตซานเป็นเชื้อโรค พืชก็จะสร้างภูมิต้านทานขึ้นมา เปรียบเสมือนไคโตซานเป็นวัคซีนสำหรับพืช เมื่อมีการเข้าทำลายของเชื้อโรคจริงๆ พืชก็มีภูมิต้านทานไว้แล้ว การเสียหายก็จะลดน้อยลงมาก

ไคโตซานยังไปกระตุ้นให้พืชสร้างแว็กซ์ขึ้นมาเคลือบใบด้วย จะเห็นได้ว่าเมื่อใช้ไคโตซานไปได้ระยะหนึ่ง ใบกล้วยไม้จะหนาแข็งแรงมากขึ้น เมื่อมีแมลงมากัดก็จะเสียหายน้อยลง




อัตราการใช้ไคโตซาน จะต้องใช้ให้เหมาะสม ไม่มากไป ไม่น้อยไป
ใช้ในอัตราส่วน ไคโตซาน 1 CC ต่อน้ำ 1 ลิตร ผสมกับปุ๋ยฉีดพ่นให้ทั่วทุกส่วน







 

Create Date : 19 มกราคม 2552    
Last Update : 19 มกราคม 2552 4:43:02 น.
Counter : 3518 Pageviews.  

รวมมิตรเครื่องปลูกกล้วยไม้

เครื่องปลูกกล้วยไม้มีหลากหลายครับ เครื่องปลูกแต่ละตัวจะมีคุณสมบัติต่างๆกัน บางตัวก็มีคุณสมบัติหลายๆอย่างรวมกันอยู่ด้วย การจะเลือกใช้ตัวไหน ก็ต้องดูความเหมาะสม ดูให้เหมาะกับชนิดกล้วยไม้ สภาพแวดล้อม แหล่งที่ปลูก และนิสัยคนปลูก
เท่าที่รวบรวมมา เป็นเพียงบางส่วนเท่านั้นครับ



พีทมอส แบล็คพีท(พีทมอสสีดำ)
คุณสมบัติช่วยเก็บความชื้น และเป็นแหล่งธาตุอาหาร





พีท-นักเก็ต Peat-Nugget
พีท-นักเก็ตเป็นพีทมอสแบบก้อน ขนาดของก้อนประมาณตั้งแต่1เซ็นจนถึง1นิ้ว
รูปร่างไม่แน่นอนเนื่องจากการสะสมของชั้นพีทมอสในธรรมชาติ
ตัวนี้ช่วยเก็บความชื้นและเป็นแหล่งธาตุอาหารเช่นเดียวกับพีทมอสแบบผง
แต่เมื่อมาใบแบบเป็นก้อน ก็จะช่วยเรื่องการระบายน้ำในเครื่องปลูก เป็นวัสดุยึดเกาะ และยังเพิ่มช่องว่างของอากาศในเครื่องปลูกได้ด้วย





เปลือกสนนิวซีแลนด์
ตัวนี้โดยเป็นที่รู้กันว่าเป็นวัสดุปลูกที่นิยมใช้กันทั่วโลกเพราะจากคุณสมบัติที่ค่อนข้างทนทานในการใช้งาน
และด้วยคุณสมบัติทางกายภาพที่เป็นประโยชน์ต่อกล้วยไม้
คุณสมบัติตัวนี้ จะเหมือนกับ พีท-นักเก็ต





ไฮโดรตรอน
เป็นเม็ดดินเผาของเยอรมัน จะมีรูพรุนมาก น้ำหนักเบา
จะช่วยเรื่องเก็บความชื้น ระบายน้ำ ระบายอากาศ





โฮโดรตรอน เม็ดใหญ่
ขนาดเม็ดที่ใหญ่ขึ้นจะช่วยเพิ่มพื้นที่สำหรับระบายน้ำระบายอากาศได้มากขึ้น และยังเพิ่มเนื้อที่การยึดเกาะของรากเพิ่มมากขึ้นด้วย





หินภูเขาไฟ ขนาดเล็ก
สามารถอุ้มน้ำได้ เก็บความชื้นไว้ได้ ระบายน้ำและอากาศได้ดี มีความคงทน และมีแร่ธาตุตามธรรมชาติ





หินภูเขาไฟ ขนาดใหญ่
ขนาดเม็ดที่ใหญ่ขึ้นจะช่วยเพิ่มพื้นที่สำหรับระบายน้ำระบายอากาศได้มากขึ้น และยังเพิ่มเนื้อที่การยึดเกาะของรากเพิ่มมากขึ้นด้วย





หินฟองน้ำ
เป็นหินเปื่อยยุ่ย เกิดจากตะกอนของ ดิน หินปูนและเม็ดทราย ที่ทับถมอยู่ก้นลำธารในธรรมชาติ
มีลักษณะอมน้ำได้มาก มีความโปร่งพรุนสูง ช่วยระบายน้ำ เป็นที่ยึดเกาะของรากกล้วยไม้ได้ดี





อิฐมอญทุบ
อิฐมอญทำมาจากดินเหนียวที่นำมาอัดเป็นแท่งและเผา จนออกมาเป็นก้อนแข็งสีแดงส้ม
ด้วยคุณสมบัติในการดูดซับน้ำเอาไว้ได้ดี เหมือนเป็นฟองน้ำ จึงเหมาะที่จะนำใช้ ้เป็นวัสดุช่วยเก็บความชื้น





ขี้ตากระถาง
คือเม็ดดินเผาที่เกิดจากการทำกระถางกล้วยไม้ เมื่อเจาะตัวกระถางให้เป็นรู ก็จะได้เศษดินออกมาเป็นเม็ด
เมื่อนำไปเผาก็จะได้คุณสมบัติเหมือนอิฐมอญ





ถ่านทุบ
วัสดุยอดนิยมอีกชนิดหนึ่ง หาได้ง่าย
มีรูพรุน เก็บความชื้นได้ ระบายน้ำได้ เป็นที่ยึดเกาะของรากได้ดี





สแฟกนั่มมอส
เป็นเครื่องปลูกที่นิยมกันมาก
ช่วยเก็บความชื้นไว้ได้นาน แต่ต้องระวังในการให้น้ำ ถ้าใช้ตัวนี้แล้วต้องอัดลงกระถางให้แน่น และให้น้ำไม่มาก





กาบมะพร้าวสับ
ไม่มีใครไม่รู้จักเครื่องปลูกตัวนี้ หาได้ง่าย ราคาถูก
ช่วยเก็บความชื้นไว้ได้นาน ไม้จะออกรากได้ดี





กาบมะพร้าวชิ้น
ใช้กล้วยไม้ที่แบ่งหน่อ จะทำให้รากเดินได้ดี อัดลงกระถางได้แน่น
แบบนี้จะยึดไม้ได้ดีกว่าแบบสับ
ก่อนนำมาใช้ควรแช่น้ำและเปลี่ยนน้ำทิ้งให้หมดฝาดก่อน





มะพร้าวตุ้ม
เป็นกาบมะพร้าวที่ทำเป็นตุ้มสำเร็จรูป มีทั้งขนาด 3.5 นิ้ว และขนาด 1 นิ้ว
ทำให้สะดวกในการใช้งาน





รากชายผ้าสีดา
เป็นส่วนหัวของเฟรินชายผ้าสีดา มีลักษณะเป็นแผ่นๆซ้อนกันแน่น เนื้อจะคล้ายฟองน้ำ
เก็บความชื้นได้ดีมาก และใช้งานได้นานกว่ากาบมะพร้าว





ใยมะพร้าว
เส้นใยมะพร้าว สามารถนำมาเป็นเครื่องปลูกสำหรับกล้วยไม้ได้
ตัวนี้จะไม่เก็บความชื้นมากเกินไป มีช่องว่างมาก ทำให้ระบายน้ำและอากาศได้ดี





เฟรินหัสดำ
เป็นส่วนของรากต้นเฟรินหัสดำ ที่สานกันจนเป็นลำต้น
ช่วยเก็บความชื้น รากกล้วยไม้ยึดเกาะชอนไชได้ดี
มีความทนทาน ใช้งานได้นาน
เอามาใช้แบบเป็นแผ่นๆหรือจะเอาเศษๆมาใส่กระถางปลูกก็ได้ครับ




 

Create Date : 21 ตุลาคม 2551    
Last Update : 21 ตุลาคม 2551 18:25:05 น.
Counter : 7251 Pageviews.  

ภาพการผสมเกสร รองเท้านารี

แบบ เป็นรองเท้านารีเหลืองปราจีน





ตำแหน่ง เกสรตัวผู้





เริ่มจาก เด็ดกระเป๋าทิ้ง





เอาไม้จิ้มฟัน สะกิดเอาเกสรตัวผู้ออกมา
สังเกตุดู จะมีโล่ซ้อนกันอยู่ 2 ชั้น






เกสรตัวผู้จะเป็นก้อนเจลเหนียวๆ





เกสรตัวเมีย จะอยู่หลังโล่ด้านใน เป็นแอ่งรูปตัว Y





เอาเกสรตัวผู้แต้มไปตรงแอ่งเกสรตัวเมีย ตรงตัว Y



เสร็จสิ้นวิธีการผสมครับ




 

Create Date : 24 เมษายน 2551    
Last Update : 24 เมษายน 2551 18:00:25 น.
Counter : 1251 Pageviews.  

เอาไม้นิ้ว ลงกระถางแขวน

กระถางแขวน ใส่ลวดไว้ให้เรียบร้อย



เครื่องปลูกแบบต่างๆ กาบมะพร้าว แช่น้ำทิ้งไว้นานๆ







เอาต้นออกจากกระถางนิ้ว ถ้ารากเกาะแน่น ให้เอาไปแช่น้ำไว้กันสักพัก





เอาเครื่องปลูกลงก้นกระถางก่อน













อีกแบบครับ












 

Create Date : 29 กุมภาพันธ์ 2551    
Last Update : 29 กุมภาพันธ์ 2551 19:46:06 น.
Counter : 1635 Pageviews.  

1  2  3  4  

ปุ้ม ครับ
Location :
ชลบุรี Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




Friends' blogs
[Add ปุ้ม ครับ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.