เรารักพระเจ้าอยู่หัว : Built to Extream

แนวทางการพัฒนาและเลือกซื้อ Cymbidium ลูกผสมทนร้อน


Cymbidium Chen's Ruby


  คำว่า "ซิมบิเดียมทนร้อน" ถูกใช้ค่อนข้างสับสนและสะเปะสะปะกันมาก บางครั้งค่อนข้างไปไกลกันเหลือเกิน จริงๆแล้ว ตามคำนิยามของ คุณกอบสุข หรือ สำเภางาม นิยาม คำว่า "ซิมบิเดียมทนร้อน" คือ
 
  ซิมบิเดียมทนร้อน (Heat Tolerant Cymbidium,HTC) คือ ซิมบิเดียมที่สามารถให้ดอกได้ในสภาพอากาศร้อน เช่น ในเขตร้อน (Tropical Zone) ที่อยู่ระหว่างละติจูด 17 องศาเหนือถึง 17 องศาใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่แทบไม่มีฤดูหนาวหรือแทบจะไม่มีช่วงเวลาที่อุณภูมิในตอนกลางคืนต่ำกว่า 18 องศาเซลเซียสติดต่อกันนานเป็นสัปดาห์หรือหลายสัปดาห์
  ซิมบิเดียมทนร้อนมักมีช่วงฤดูออกดอกที่กว้างกว่าหรือสามารถออกดอกได้ประปรายตลอดทั้งปีเมื่อปลูกเลี้ยงในเขตร้อนอีกทั้งยังสามารถออกดอกได้ทั้งในเขตกึ่งร้อน (Sub-Tropical Zone) และเขตอบอุ่น(Temperate Zone) แต่ฤดูกาลจะไม่ตรงกัน คือมักจะให้ดอกในช่วงกลางฤดูร้อนไปจนถึงกลางฤดูใบไม้ร่วง เมื่อปลูกในเขตกึ่งร้อนและเขตอบอุ่น
  ความสามารถทนหนาวของซิมบิเดียมทนร้อนลดลงและหากต้องอยู่ในสภาวะหนาวเย็นใกล้จุดเยือกแข็งติดต่อกันเป็นเวลานาน จะเกิดความเสียหายชัดเจนกว่าในกลุ่มซิมบิเดียมมาตรฐานดอกใหญ่(Stardard Type) และสายพันธุ์เมืองหนาว (Cold-Growing Type)



Cymbidium Tavoy


  ถ้าหากตีความตามคำนิยามข้างต้นก็ชัดเจนอยู่แล้วว่า คือกลุ่มซิมบิเดียมที่ให้ดอกได้ในเขตร้อน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าซิมบิเดียมทนร้อนทุกตัวจะให้ดอกได้ทุกภาคส่วนของเขตร้อนเช่นกัน เนื่องจากซิมบิเดียมบางตัวยังต้องใช้อากาศหนาวเพื่อกระตุ้นตาดอก(ให้ดอกในกทม.ได้) แต่จะไม่ให้ดอกในเขตเส้นศูนย์สูตร และถ้าหากตีความกันจริงๆแล้วก็จะสามารถแบ่งแยกประสิทธิภาพการให้ดอกของแต่ละพื้นที่ของเขตร้อนได้อีกหลายระดับ ดังนั้นผมจึงเอาประสิทธิภาพการให้ดอกในกทม.เป็นเกณฑ์ในการตัดสินสำหรับ "ซิมบิเดียมทนร้อนแนวไทยๆ"



Cymbidium Miss Taipei Unveiled


 เหตุใดซิมบิเดียมทนร้อนจึง "ทนร้อน" ?
 การกระจายพันธุ์ของซิมบิเดียมเริ่มตั้งแต่แถบเทือกเขาหิมาลัย ปากีสถาน อินเดีย เนปาล ภูฏาน ลามไปทางตะวันออกผ่านจีน เกาหลีและญี่ปุ่น ทางทิศใต้ลงมาทางคาบสมุทรอินโดจีน มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และไปสุดที่ทวีปออสเตรเลียเนื่องจากกระจายพันธุ์กว้างจึงมีความหลากหลายทางสายพันธุ์มาก แต่สายพันธุ์แท้เขตหนาวจะมีคุณสมบัติดอกใหญ่ สีสรรสวยงาม บานทน แข็งแรงบึกบืน จึงถูกนำไปพัฒนาซิมบิเดียมลูกผสมแนว Standard Type จนไกลสุดกู่ แต่ซิมบิเดียมพันธุ์เขตร้อนมีดอกและช่อเล็ก บานไม่ทน สีสรรไม่สวยงาม จึงกลายเป็นไม้ที่โลกลืมไปโดยปริยายและถูกจำกัดเฉพาะผู้เลี้ยงไม้พันธุ์แท้เท่านั้น



Cymbidium Faridah Hashim 


  เมื่อความต้องการปลูกเลี้ยงซิมบิเดียมลูกผสมในเขตร้อนเพิ่มสูงขึ้น จึงจำเป็นต้องนำสายพันธุ์แท้เขตร้อนมาผสมกับซิมบิเดียมเมืองหนาวเพื่อให้ได้ลูกผสมที่มีคุณสมบัติทนร้อน และแตกต่างจากแนว Standard Type เช่น ช่อห้อยย้อย กลิ่นหอม นั่นคือการหลอมรวมคุณสมบัติของซิมเดียมเมืองหนาวกับความทนร้อนของซิมบิเดียมเขตร้อนเข้าด้วยกันนั่นเอง
 ในการเลือกซื้อซิมบิเดียมลูกผสมที่ดีให้พิจารณาที่สัดส่วนทางสายเลือดพันธุ์แท้อันประกอบกันเป็นซิมบิเดียมต้นนั้นๆ โดยต้องมีสายเลือดพันธุ์แท้อันเป็นแก่นดังต่อไปนี้
  1. Cymbidium ensifolium var. haematodes หรือจุหลันอิสาน
  2. Cymbidium aloifolium หรือกระเรกระร่อนธรรมดา
  3. Cymbidium canaliculatum
  4. Cymbidium finlaysonianum หรือกระเรกระร่อนปากเป็ด
  5. Cymbidium dayanum หรือกระเรกระร่อนแดง

  ถ้าหากลูกผสมมีสัดส่วนพันธ์แท้ดังกล่าวตั้งแต่ 50% ขึ้นไป รับรองได้ว่าลูกผสมทุกต้นทนร้อน 100% แต่ก็ต้องแลกกับลักษณะของพันธ์แท้ที่แสดงออกในลูกผสมด้วยเช่นกัน เช่น ทรงต้นหยาบ บานไม่ทน ดอกเล็ก เป็นต้นแต่ในทางกลับกันถ้าหากมีเลือดทนหนาวมากกว่าเลือดทนร้อนจะส่งผลให้ลูกผสมบางต้นเท่านั้นที่จะทนร้อน เช่น กรณีของ Golden Vanguard ซึ่งมีเลือดทนร้อนจากจุหลัน 25% ทำให้ลูกไม้เพียง 1 ใน 4 เท่านั้นที่ทนร้อน พูดง่ายๆ คือ ไม้เมล็ด 4 ต้น จะได้ต้นที่ทนร้อน 1 ต้น ซึ่งความทนร้อนของไม้เมล็ดจะแปรปรวนไปตามธรรมชาติ ดังนั้นจึงต้องคัดต้นที่ทนร้อนสูงและสวยที่สุดไว้เพื่อประโยชน์ทางการค้าต่อไป



สัดส่วนทางสายเลือดที่ประกอบเป็น Cymbidium Golden Vanguard 


  อีกสิ่งหนึ่งที่ส่งผลต่อคุณสมบัติทนร้อนคือ สถานที่ปรับปรุงและคัดสายพันธุ์ เป็นสิ่งที่สำคัญมาก แม้ว่าจะมีเลือดทนร้อนอยู่มาก แต่ถ้าหากถูกปรับปรุงและคัดพันธุ์ในเขตหนาวก็จะเป็นไม้หนาวไปปริยาย โอกาสที่จะนำต้นที่คัดพันธุ์ในเขตหนาวมาปลูกเขตร้อนแล้วให้ดอกก็อาจเป็นไปน้อยมาก



Cymbidium Liliput


  จากข้างต้น อาจจะลำบากสำหรับหลายคนที่ไม่รู้ว่าเริ่มพิจารณาจากจุดไหน เอาเป็นว่า หากเจอะเจอซิมบิเดียมที่ฟอร์มดอกกลมมน สีสรรฉูดฉาด และผู้ขายไม่รู้จักชื่อ ให้คาดไว้เลยว่าไม่ใช่ซิมบิเดียมทนร้อนแน่นอน เนื่องจากซิมบิเดียมเมืองหนาวเหล่านั้นถูกปรับปรุงพันธุ์กันมานับร้อยๆปี แต่ซิมบิเดียมทนร้อนเพิ่งเกิดขึ้นไม่กี่ปีมานี้เอง ดังนั้นจึงยังไม่มีซิมบิเดียมทนร้อนที่มีลักษณะเช่นนั้นแน่นอน แต่ใช่ว่าซิมบิเดียมทนร้อนจะไม่มีทางถึงจุดนั้น แต่คงอีกนานนนนนนน
  ถ้าหากเข้าใจถึงสิ่งเหล่านี้แล้วจะช่วยให้เลือกซิมบิเดียมได้อย่างถูกต้องและมีจุดหมายปลายทางด้วย มากกว่าซื้ออย่างสะเปสะปะ หวังลมๆแล้งเผื่อฟลุคได้ต้นทนร้อนนั่นคงเป็นไปไม่ได้เลย แม้ว่าแนวทางที่กล่าวมานี้อาจจะไม่ได้ผล 100% แต่ก็ยังเป็นแนวทางในการเลือกซื้อได้



Cymbidium Valerie Absolonova


 





 

Create Date : 04 ธันวาคม 2552   
Last Update : 24 พฤษภาคม 2554 0:12:03 น.   
Counter : 2636 Pageviews.  

ประวัติการปรับปรุงพันธุ์กล้วยไม้สกุล Cymbidium ทนร้อน


Cymbidium Peter Pan 'Greensleeves' 4N from cmausteller
//www.flickr.com/photos/29637823@N08/


  แต่เดิมซิมบิเดียมที่นิยมปลูกจะเป็นซิมบิเดียมเมืองหนาวซึ่งมีคุณสมบัติดอกใหญ่ ช่อตั้ง บานทน หรือเรียกว่า Standard Type Cymbidium ที่มีช่วงการให้ดอกแคบคือตั้งแต่ปลายฤดูใบไม้ร่วงถึงกลางฤดูใบไม้ผลิ แต่จะไม่มีซิมบิเดียมให้ดอกในช่วงกลางฤดูร้อนจึงเป็นจุดเริ่มต้นในการพยายามสร้างซิมบิเดียมที่ให้ดอกได้ในฤดูร้อนในเขตอบอุ่น ซึ่งเรียกว่าซิมบิเดียมกึ่งทนร้อน (Warmth Tolerant Cymbidium - WTC) ในระยะแรกได้ใช้ Cym. ensifolium หรือจุหลันซึ่งมีคุณสมบัติคล้ายคลึงกับกลุ่ม Standard Type มาผสม แต่ลูกผสมกลับมีสีสรรไม่สดใส กลีบดอกแคบ บานไม่ทน จำนวนดอกต่อช่อน้อยและที่สำคัญคือให้ดอกยากเนื่องจากอุณหภูมิหนาวเกินไปอย่างในแคลิฟอร์เนียซึ่งเป็นศูนย์กลางการปรับปรุงพันธุ์ซิมบิเดียมที่สำคัญที่สุด



Cymbidium Gladys Whitesell จากคุณสำเภางาม


  ลูกผสมกึ่งทนร้อนสายจุหลันที่โดดเด่นที่สุดคือ Cym. Peter Pan (Cym. ensifolium x Cym. Miretta) จดทะเบียนโดยสวนกล้วยไม้ Dos Pueblos ในปี พ.ศ. 2500 ลูกผสมชุดนี้ส่วนใหญ่สีสรรไม่สดใส แต่มีต้นหนึ่งชื่อ "Greensleeves" ที่มีความสวยงามโดดเด่น แต่ต้นนี้กลับเป็นหมัน ต่อมาได้ถูกเพิ่มโครโมโซมเป็น 4n เพื่อทำต้นที่ไม่เป็นหมัน จากนั้น Cym. Peter Pan "Greensleeves" 4n จึงถูกใช้ปรับปรุงพันธุ์ซิมบิเดียมกึ่งทนร้อนอย่างกว้างขวาง อย่างไรก็ตามลูกผสมสายนี้ส่วนใหญ่ให้ดอกได้เฉพาะเขตอบอุ่นเท่านั้น ยกเว้นลูกผสมที่นำไปผสมกับ Cym. Golden Elf หรือสายที่มีความทนร้อนมากกว่า  ลูกผสมสาย Cym. Peter Pan มีสีสรรที่หลากหลายมาก เช่น เหลือง แดง เขียวและชมพู เช่น Cym. Valerie Absolonova (Cym. Golden Elf x Cym. Peter Pan) เป็นต้น



Cymbidium Valerie Absolonova


  ลูกผสมสายจุหลันที่โดดเด่นอีกตัวหนึ่งก็คือ Cym. Golen Elf "Sundust" ผสมโดยบริษัทกล้วยไม้ Rod McLellan จุดทะเบียนโดยสวนกล้วยไม้ Santa Barbara Orchid Estate ในปี 2521 ผสมจาก Cym. ensifolium alba กับ Cym. Enid Haupt ซึ่งเป็น Standard Type และมียีนเผือกแฝงอยู่ จึงทำให้ Cym. Golden Elf "Sundust" มีสีเหลืองใสและมีความทนร้อนสูงมาก สามารถให้ดอกได้ในเขตร้อนอย่างกรุงกัวลาลัมเปอร์และสิงคโปร์ได้ จึงถูกจัดซิมบิเดียมทนร้อน (Heat Tolerant Cymbidium - HTC)  ลูกผสมสาย Cym. Golden Elf ส่วนใหญ่มีสีเหลืองทั้งหมด เช่น Cym. Golden Vanguard, Cym. Pixie Dust, Cym. Chain-Tzy Mascot, Cym. Valerie Absolonova (Cym. Golden Elf x Cym. Peter Pan)



Cymbidium Golden Vanguard


  นอกจากซิมบิเดียมแนว Standard Type แล้วยังมีความต้องการซิมบิเดียมที่มีลักษณะโดดเด่นฉีกออกไปจากแนวเดิมๆ เช่น มีกลิ่นหอม ช่อห้อย ซึ่งคุณสมบัติเช่นนี้จำเป็นต้องพึ่งพาซิมบิเดียมพันธุ์แท้อื่นๆ ที่ไม่เคยถูกใช้มาก่อนและอีกสายหนึ่งที่น่าสนใจก็คือลูกผสมข้ามสกุลระหว่าง Cymbidium และ Grammatophyllum ซึ่งให้ลูกผสมที่ให้ดอกที่บานทน เชื่อว่าในอนาคตจะมีลูกผสมที่ให้ช่อตั้ง สีสรรสดใส มีกลิ่นหอมและบานทน แต่อุปสรรคที่สำคัญคือลูกผสมกลุ่มนี้เป็นหมันแทบทั้งหมด จึงเป็นอุปสรรคที่สำคัญในการสร้างลูกผสมข้ามสกุลที่ซับซ้อนทางพันธุกรรมได้



Cymbidium Uthong(อู่ทอง)



Grammatocymbidium Indrajit จากคุณสำเภางาม



ข้อมูลอ้างอิงการหนังสือ Heat Tolerant Cymbidiums for tropical climates







 

Create Date : 20 กันยายน 2552   
Last Update : 20 กันยายน 2552 21:37:08 น.   
Counter : 715 Pageviews.  

ประวัติการปรับปรุงพันธุ์กล้วยไม้สกุล Cymbidium


 การปรับปรุงพันธุ์ซิมบิเดียมเริ่มขึ้นครั้งแรกเมื่อ 2,500 ปีที่แล้วในประเทศจีน โดยใช้ชนิดหลักๆ 4 ชนิดคือ จุหลัน (Cym. ensifolium) , Cym. kanran , กระเรกระร่อนนิล (Cym. sinense) และ Cym. goeringii ซึ่งนับว่ากล้วยไม้สกุลซิมบิเดียมเป็นกล้วยไม้กลุ่มแรกที่มนุษย์นำมาพัฒนาสายพันธุ์ และในระยะนั้นไม้กลุ่มนี้ถือว่าเป็นไม้ของชนชั้นสูง ในลัทธิขงจื้อถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของความรู้ จริยธรรมและความดีของบัณฑิต แม้ว่าจะไม่ร่ำรวยหรูหราแต่มีคุณค่าอยู่ในตัวเปรียบเหมือนกับ ซิมบิเดียมที่คล้ายกอหญ้าแต่มีดอกและกลิ่นหอมซึ่งมีคุณค่าที่ลึกซึ้งกว่า 




 การปรับปรุงพันธุ์ซิมบิเดียมยุคใหม่เริ่มขึ้นในยุคล่าอาณานิคมซึ่งชาวยุโรปได้นำซิมบิเดียมพันธุ์แท้แถบเทือกเขาหิมาลัย ยูนาน พม่าตอนบน และเวียดนามไปปลูกเลี้ยงและลูกผสมชนิดแรกเกิดขึ้นที่ประเทศอังกฤษ ชื่อว่า Cymbidium Eburneo-Lowianum เป็นลูกผสมของ Cymbidium eburneum และ Cymbidium lowianum(กระเรกระร่อนปากนกแก้ว) ในปี 1889 และเมื่อต้นคริสศตวรรษที่ 20 เมื่อมีการค้นพบและนำ Cymbidium insigne (สำเภางาม) จากที่ราบสูงอันนัมประเทศเวียดนามซึ่งสมัยนั้นยังเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสไปยุโรปซึ่งเป็นการจุดเริ่มต้นในการพัฒนาสายพันธุ์ซิมบิเดียมมาตรฐาน (Standard Type) เนื่องจาก Cym. insigne มีช่อตั้ง ดอกขนาดใหญ่ สีสรรสวยงาม บานทน ประกอบกับมีการค้นพบซิมบิเดียมอื่นๆ เช่น Cym. tracyanum (กระเรกระร่อนอินทนนท์หรือกำเบ้อหรือหงษ์ทอง), Cym. hookerianum , Cym. sanderae อันเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนากล้วยไม้สกุลซิมบิเดียมยุคใหม่




 ลูกผสมซิมบิเดียมที่สำคัญที่สุดและเป็นพื้นฐานการพัฒนาซิมบิเดียมเมืองหนาวคือ Cym. Alexanderi ซึ่งเป็นลูกผสมของ Cym. insigne กับ Cym. Eburneo-Lowianum อันมีส่วนผสมทางสายเลือดดังนี้
  1. Cym. insigne(สำเภางาม) 50%
  2. Cym. lowianum (กระเรกระร่อนปากนกแก้ว) 25%
  3. Cym. eburneum 25%
ซึ่งลูกผสมสามสายตัวนี้ได้ถูกนำมาปรับปรุงพันธุ์อย่างกว้างขวางจนพูดได้ว่าซิมบิเดียมเมืองหนาวทุกชนิดต้องมีเลือดของซิมบิเดียมพันธุ์แท้ 3 ชนิดนี้อยู่ด้วย


** รูปภาพและข้อมูลจากหนังสือ Heat Tolerant Cymbidiums โดยคุณกอบสุข แก่นรัตนะ (สำเภางาม) **


 




Cymbidium insigne หรือ สำเภางาม อ่านละเอียดไม้ชนิดนี้จากคุณสำเภางาม




Cymbidium lowianum หรือกระเรกระร่อนปากนกแก้ว อ่านละอเอียดจากคุณสำเภางาม




Cymbidium eburneum อ่านละเอียดจากคุณสำเภางาม







 

Create Date : 08 สิงหาคม 2552   
Last Update : 28 กันยายน 2552 10:30:32 น.   
Counter : 1965 Pageviews.  

ความทนร้อนของกล้วยไม้สกุล Cymbidium


  ซิมบิเดียมส่วนใหญ่ให้ดอกในช่วงที่อุณหภูมิกลางคืนต่ำคือในช่วงฤดูใบไม้ร่วงถึงต้นฤดูใบไม้ผลิ และจะไม่ให้ดอกในช่วงฤดูร้อน ดังนั้นจึงมีความพยายามพัฒนาสายพันธุ์ซิมบิเดียมที่ให้ดอกได้ในฤดูร้อนในแถบประเทศตะวันตก ซึ่งต้องเป็นสายพันธุ์ที่มีคุณสมบัติพิเศษคือ ไม่ต้องการความเย็นหรือต้องการแต่ไม่มากนักมาช่วยกระตุ้นตาดอกและพยุงช่อดอกซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของซิมบิเดียมกึ่งทนร้อน บวกกับความต้องการเลี้ยงซิมบิเดียมในเขตร้อนเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้การพัฒนาซิมบิเดียมที่ไม่ต้องการความเย็นในการกระตุ้นตาดอกและเป็นจุดเริ่มต้นของซิมบิเดียมทนร้อน



 


ปัจจุบันความทนร้อนของซิมบิเดียมถูกแบ่งเป็น 2 ปรเภทหลักดังนี้ (นิยามโดยกอบสุข แก่นรัตนะ)


 1. ซิมบิเดียมทนร้อน หรือทนร้อนสูง (Heat Tolerant Cymbidium - HTC)
  เป็นซิมบิเดียมที่ให้ดอกได้ในเขตร้อน ระหว่างละติจูด 17 องศาเหนือและ 17 อาศาใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ไม่มีฤดูหนาวหรือแทบไม่มีฤดูหนาวชัดเจนเลย อุณหภูมิตอนกลางคืนไม่เคยต่ำกว่า 18 องศาเป็นระยะเวลานาน ซิมบิเดียมประเภทนี้มีช่วงให้ดอกยาวนานหรือให้ดอกประปรายตลอดทั้งปีและก็สามารถให้ดอกได้ในเขตอบอุ่นแต่จะให้ช่วงฤดูร้อน



  ***ในทัศนะของผมเอง ซิมบิเดียมทนร้อนยังแบ่งระดับความทนร้อนได้เป็น 3 กลุ่ม ดังนี้



   1.1 ความทนร้อนระดับที่ 1 เป็นกลุ่มซิมบิเดียมที่สามารถให้ดอกได้ในช่วงฤดูร้อนหรือให้ดอกได้ตลอดทั้งปี ไม่ต้องการความความเย็นมากระตุ้นตาดอก ซิมบิเดียมกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นพันธุ์แท้ซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนาซิมบิเดียมลูกผสมทนร้อนเพื่อให้ได้เลือดทนร้อนในชั้นลูกผสม เช่น Cym. ensifolium var. harmatodes กระเรกระร่อนธรรมดา กระเรกระร่อนปากเป็ด , Cym. canaliculatum เป็นต้น
  ซิมบิเดียมลูกผสมทนร้อนในกลุ่มนี้ เช่น Cym. Golden Elf , Cym. Golden Vanguard , Cym. Faridah Hasim , Cym. Ensichlor
   1.2 ความทนร้อนระดับที่ 2 เป็นกลุ่มซิมบิเดียมที่ให้ดอกในช่วงฤดูฝนซึ่งความร้อนลดลงมากแล้ว นิยมนำมาพัฒนาซิมบิเดียมทนร้อนเพื่อให้ได้ลูกผสมที่มีลักษณะเด่นในด้านสีสรร ดอกบานทน จำนวนดอกมาก  เป็นต้น ซิมบิเดียมในกลุ่มนี้ เช่น Cym. madidum , Cym. dayanum , Cym. muronnianum
   1.3 ความทนร้อนระดับที่ 3 เป็นกลุ่มซิมบิเดียมต้องใช้ความเย็นกระตุ้นตาดอกดังนั้นจึงให้ดอกในช่วงฤดูหนาว ซิมบิเดียมทนร้อนในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นลูกผสมที่มีเลือดซิมบิเดียมเมืองหนาวค่อนข้างมาก แต่ถูกเจือให้จางด้วยเลือดทนร้อนดังนั้นจึงให้ดอกได้ในเขตร้อนแต่ก็ต้องได้ความเย็นบ้างมากระตุ้นตาดอก ซิมบิเดียมกลุ่มนี้มักมีสีที่สวยงามซึ่งมาจากซิมบิเดียมเมืองหนาวนั่นเอง เช่น Cym. Pakkret Horizon , Cym. Tapioca Tundra , Cym. Super Baby เป็นต้น



 2. ซิมบิเดียมกึ่งทนร้อน (Warmth Tolerant Cymbidium - WTC)
  เป็นซิมบิเดียมที่สามารถให้ดอกในเขตอบอุ่นตั้งแต่ละติจูด 17 องศาเหนือถึง 30 องศาเหนือ และ 17 องศาใต้ถึง 30 องศาใต้ เป็นพื้นที่ที่อากาศหนาวชัดเจน อุณหภูมิในตอนกลางคืนต่ำกว่า 18 องศาเป็นเวลานาน ช่วงออกดอกจะแคบกว่าซิมบิเดียมทนร้อน คือให้ดอกในช่วงปลายฤดูร้อนจนถึงต้นฤดูหนาว(ในเขตอบอุ่น) ซิมบิเดียมประเภทนี้มักจะไม่ให้ดอกหรือให้ดอกได้ไม่ดีเมื่อปลูกในเขตร้อนแต่สามารถเจริญเติบโตงอกงามได้ดี ส่วนใหญ่เป็นลูกผสมที่มีเลือดซิมบิเดียมเมืองหนาวอยู่มากกว่า 50% เช่น Cym. Chen's Ruby , Cym. Giselle หรือพันธุ์แท้ เช่น Cym. sinense รวมทั้งจุหลันที่มาจากภาคเหนือด้วย







 

Create Date : 01 สิงหาคม 2552   
Last Update : 1 สิงหาคม 2552 0:46:00 น.   
Counter : 1240 Pageviews.  

แนะนำกล้วยไม้สกุล Cymbidium


  Cymbidium : หลายๆคนทั้งนักเลี้ยงกล้วยไม้รุ่นเก่าหรือรุ่นครึ่งเก่าครึ่งใหม่ก็ต้องส่ายหน้ากันแทบถ้วนหน้า เพราะล้วนคิดว่าไม้กลุ่มนี้เลี้ยงไม่ได้ในพื้นราบที่อากาศร้อน เช่นภาคกลางและกทม.
ทั้งที่จริงไม้กลุ่มนี้มีมากกว่าที่คิด แม้แต่กระเรกระร่อนก็เป็นซิมบิเดียมกลุ่มหนึ่ง แต่ส่วนใหญ่ที่เห็นตามท้องตลาดมักเป็นสายพันธุ์ที่พัฒนาให้มีสีสันสดใส สะดุดตาอันเชิญชวนให้เข้าไปซักถามแล้วหิ้วติดมือกลับบ้านและท้ายสุดไม้เหล่านั้นก็แทนคุณผืนแผ่นดินในที่สุด และนี่คือจุดกำเนิดทัศนะคติแง่ลบต่อซิมบิเดียม




  เนื่องจากซิมบิเดียมที่ขายในท้องตลาดเป็นไม้ที่ถูกเพาะเลี้ยงบนที่สูงที่มีอากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปีซึ่งสายพันธุ์เหล่านี้ถูกนำเข้ามาจากต่างประเทศ บางส่วนถูกเพาะเลี้ยงในประเทศจีนแล้วนำเข้ามา
จำหน่ายในประเทศไทย ซึ่งสายพันธุ์ซิมบิเดียมดั้งเดิมถูกเก็บไปจากแถบเทือกเขาหิมาลัย พม่าตอนบนซึ่งมีอากาศเย็นและถูกนำไปพัฒนาอย่างยาวนานในประเทศแถบตะวันตกจนได้สายพันธุ์ที่สลับซับซ้อนทางพันธุกรรม
ดอกใหญ่ ช่อตั้งตรง แข็งแรง บึกบืน ใบโค้งสวยงามและสีสันสดใส จึงทำให้เป็นกล้วยไม้ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในธุรกิจไม้ดอกไม้ประดับ อย่างไรก็ตามความนิยมดังกล่าวยังจำกัดอยู่เฉพาะประเทศในยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น จีน เกาหลี ออสเตรเลียและนิวซิแลนด์




 *** จากคุณสมบัติดังกล่าวจึงทำให้ซิมบิเดียมเป็นไม้ตัดดอกในตลาดประมูลในประเทศเนเธอร์แลนด์มีมูลค่าสูงสุดในกลุ่มกล้วยไม้ตัดดอกด้วยกัน จากข้อมูลที่เก็บรวบรวมโดย The United Flower Autions of The Netherlands
ในปี 2007(2550) กล้วยไม้ตัดดอกทั้งหมดมีมูลค่า 77,500,000 ยูโร โดยมีซิมบิเดียมตัดดอกมีมูลค่าอันดับหนึ่งถึง 71,000,000 ยูโร หรือคิดเป็น 91.61% สกุลฟาแลนน็อปซิสเป็นอันดับสอง 2,000,000 ยูโร
และอันดับสามเป็นแวนด้าตัดดอก 1,000,000 ยูโร


ติดตามตอนต่อไป : ความทนร้อนของกล้วยไม้สกุลซิมบิเดียม


 



+++ ขอบคุณ คุณกอบสุข(สำเภางาม) เอื้อเฟื้อรูป +++



*** อ้างอิงจากหนังสือ Heat-Tolerant Cymbidiums for tropical climates







 

Create Date : 08 มิถุนายน 2552   
Last Update : 9 มิถุนายน 2552 9:08:40 น.   
Counter : 1165 Pageviews.  


DZym
Location :
ราชบุรี Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




[Add DZym's blog to your web]