Group Blog
 
All blogs
 

มหารานี ... อำนาจ อาจเสื่อมทราม แต่ความรัก .. จีรัง

 

พิมพ์ครั้งที่ ๘ กันยายน ๒๕๕๐ สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม

มหารานี .. ความหมายที่แท้จริงคือ ศิราภรณ์ ..มงกุฎแห่งรานี

แต่ถ้าพระราชอำนาจแผ่เหนือสามแคว้น นั่นคือ มงกุฎแห่งมหารานี!

มหารานี 'ต้อง' ครองหัวใจประชาราษฎร์ มิใช่ครองอำนาจ

อำนาจ .. อาจเสื่อมทราม หากความรัก จีรัง!

Smiley  Smiley  Smiley  Smiley  Smiley  Smiley

จึงเป็นเรื่องเล่าขานอีกครั้งของเจ้าหญิงพระองค์หนึ่ง กับเจ้าชายพระองค์หนึ่ง

เจ้าหญิงศาศวัตรา 'อัคราชกุมารี' ศิขิน กับเจ้าชายรามิล 'พญาอินทรี' แห่งหิมวันต์

..........................

'เจ้าหญิงศาสวัตรา' มีพระอนุชานาม 'เจ้าชายศิขรินทร์'

ทั้งสองพระองค์ประทับ ณ คันธามาส มิใช่ในศิขิน!

ทำไมต้องมาประทับ ณ หมู่บ้านเล็กๆ ที่ราบสูง ริมภูเขา

ทำไมพระราชาธิบดีแห่งศิขิน ไม่ให้พระโอรสพระธิดา ประทับในเขตพระนคร

และทำไมบัดนี้ ต้องทรงเฉลิมพระยศพระธิดาองค์โต

จากราชกุมารี เป็น  'อัคราชกุมารี' แล้วส่งเข้าสู่เขตหิมวันต์

ฤาว่าพระราชาธิบดีทอดพระเนตรเห็น 'ช่องทาง'

'หิมวันต์' จะช่วยพระโอรสองค์น้อยได้ นั่นคือหน้าที่แห่งเชษฐภคินีพึงกระทำ

การเสด็จ 'แผ่นดินหิมวันต์' คือการไปทอดพระเนตร 'ฐานอำนาจ'

มงกุฎและบัลลังก์ ต้องมี 'อำนาจ' รองรับเสมอ

ฐานราชบัลลังก์ศิขรินทร์ต้องการ 'หัตถ์' ค้ำจุน

'หัตถ์' ที่มั่นคงและทรงอำนาจขณะนี้  เจ้าชายรามิล!

Smiley  Smiley  Smiley  Smiley  Smiley  Smiley

หาก 'รามิล' คือ พญาอินทรีแห่งห้าขุนเขา 'ปัญจคีรี'

มี 'มรตาบดี' เป็นพระสมัญญา  พระสมัญญาอันเนื่องมาจากคำโจษจันว่า

ทรงเป็นผู้ทรงอำนาจสูงสุดในเผ่าที่โหดเหี้ยมที่สุด

มรตาบดี ที่มีความหมายน่าสะพรึงกลัว 'เทพเจ้าแห่งความตาย'

เมื่อ รามิล พระนามอันหมายถึง 'เทพเจ้าแห่งความรัก'

ไฉน พระสมัญญาจึงก้าวล่วงถึง เทพเจ้าแห่งความตาย

พระสมัญญา...มีอะไรน่ากลัวขนาดนั้นเชียวหรือ

.........................

หาก 'ยมทูต' ไยรู้คุณค่าของบุญฑริกา

จะเช่นไร .. เราย่อมรู้ หงส์กับห่าน ต้องแผกแตกต่างกัน

'มรตาบดี' เทพแห่งความตายเคยรับสั่ง

"ในความตายคือความงาม และในความงามคือความตาย"

'เธอ' ผ่านความตายมาแล้ว กำลังย่างสู่ความงาม

งามเงื่อน ดุจเดือน เพ็ญกระจ่าง     เป็นหนึ่ง ประดับกลาง นภาใส

เป็นหนึ่ง  ในดวง-  หฤทัย            จันทราพิมพ์ พักตร์เจ้าไว้ ให้คนยล

อ้าโฉม ลอยล่อง ฟ่องฟ้า             สามดิลก ฤาหา เทียบได้

แจ่มจรัส ประโลมหล้า  ยาใจ        เพ่งพิศไว้ กลัวหาย กับสายลม

ความงามงามแห่งชีวิตที่ซ่อนไว้ในเมล็ดพืชพันธุ์

รอไออุ่นแห่งคิมหันต์ก็จะผลิใบอ่อน และดอกบุษปธนุระ ..ศรดอกไม้

ความหนาว เย็น ในชีวิตผันผ่าน ไออุ่นที่ซ่อนไว้ยังอบอวล

ดึกดื่น คืนหนาว ดาวพร่าง   น้ำค้าง หยดค้าง บนพฤกษา

ลมผิว หวิวสั่ง วาจา            หลับเถิด แก้วตา อย่าอาวรณ์

ท่อนสุดท้ายแห่งบทขับขาน 'ลำนำขุนเขา' ถูกเอื้อนซ้ำอ้อยส้อยราวกระซิบทูล..

จำจารในหัวใจเสมอ .. หลับเถิด แก้วตา อย่าอาวรณ์

คือถ้อยอ่อนหวานระหว่างใจของผู้จะก้าวเป็น 'มหาราช' และ 'มหารานี'

(เรียบเรียงจากคำโปรย ปกหน้าใน และ ปกหลัง ของ มหารานี เล่ม ๑-๒)

Smiley  Smiley  Smiley  Smiley  Smiley  Smiley

ในบรรดาหนังสือนวนิยายของ คุณหญิงวิมล เจียมเจริญ (หรือที่รู้จักในนาม ทมยันตี, โรสลาเรน, กนกเรขา, ลักษณวดี และ มายาวดี) เรื่องที่เขียนโดยใช้นามปากกา "ลักษณวดี" เท่าที่เคยอ่านมาทั้งหมด  มหารานี, ดั่งดวงหฤทัย, รัศมีจันทร์,  เลือดขัตติยา, เจ้าแห่งรัตติกาล, สายใจ, หนี้รัก, จักรพรรดินี, ธุวตารา, มงกุฎที่ไร้บัลลังก์  (ยังเหลือที่ไม่ได้อ่านมี ราชินีชีบา , สรวงฟ้า, บาดาล-เทวปักษี, มนตราแห่งดารา)  สนุกดีทุกเรื่อง แต่ถ้าถามตัวเองว่าเรื่องไหนสนุกที่สุด รักมากที่สุด ก็ต้อง มหารานี  เรื่องความรักอาจไม่หวานเท่าเรื่องโด่งดังที่ถูกสร้างเป็นละครโทรทัศน์อย่าง ดั่งดวงหฤทัย  แต่เมื่อเอาเรื่องราว การเมือง รัฐศาสโนบายประกอบกับลักษณะของตัวละครแต่ละคนในเรื่องนี้มารวมกันเป็นข้อพิจารณาด้วยล่ะก็  นี่คือรสชาดความกลมกล่อมของนวนิยายในนาม ลักษณวดี ที่ให้คะแนนเป็นอันดับหนึ่ง  เพราะถูกจริต ด้วยประการทั้งปวง

เจ้าหญิงศาศวัตรา แม้จะห่างพระชนกไร้พระชนนี  ตั้งแต่ครั้งเยาว์วัยที่ต้องระเห็จออกไปประทับอยู่นอกเขตพระนคร พร้อมกับการทำหน้าที่พระเชษฐภคินีให้การอบรมดูแลพระอนุชา ที่ไม่อาจคาดการณ์อนาคตว่าจะทรงฝ่าอำนาจขององค์รานีขึ้นดำรงตำแหน่งเจ้าชายรัชทายาทแห่งศิขินได้หรือไม่  แต่ด้วยทรงเป็น หน่อนาฏชาติเชื้อกษัตริย์ แม้จะทรงประทับอยู่ห่างไกลจากราชสำนัก ก็ทรงเจริญพระชันษาขึ้นมางามพร้อมทั้งพระสิริโฉม พระจริยวัตร .. พระหฤทัย และพระสติปัญญา  เรียกว่า'งามละม่อมพร้อมสิ้นทั้งอินทรีย์'  

สนุกที่สุดในเรื่องคือการช่วงชิงอำนาจความมั่นคงของสามแคว้น  ศิขิน  วิเทหะ และ อุตตรปุระ     ข้อตกลง 'พันธไมตรี' การอภิเษกระหว่างสองแคว้น เจ้าชายวิเทหะ กับเจ้าหญิงศิขิน จึงถูกแทรกแซงด้วยเงื้อมเงาของอำนาจอุตตรปุระ เกิดเป็นความผิดพลาดคลาดเคลื่อนบางประการที่ทำให้ข้อตกลงถูกบิดพลิ้ว เมื่ออัคราชกุมารีเป็นเพียงเจ้าหญิงนอกบัลลังก์ที่ประทับอยู่ชายแดนบ้านนอก ไร้อำนาจ ไร้ประโยชน์ เจ้าชายภานุเทพ  มกุฎราชกุมาร แห่งเวิเทหะะ จึงทรงปฏิเสธและโยนพันธไมตรีที่จะกลายเป็นข้อผูกมัดนี้ไปยัง  เจ้าชายรามิล  ทูลหม่อมอาที่ทรงมีพระชันษาแก่กว่าเจ้าชายภานุเทพเพียงห้าปี การปฏิเสธของเจ้าชายภานุเทพเป็นความยุ่งยากภายในวิเทหะ เพราะตามข้อตกลงตามที่ระบุไว้คือ 'เจ้าชายรัชทายาท' กับ 'อัคราชกุมารี'  ปัญหาคือ เจ้าชายรามิล ไม่ใช่คนที่ใครจะบังคับได้ และการจะเกลี้ยกล่อมให้ยอมรับการอภิเษก น่าจะเป็นเรื่อง 'ยุ่งยาก'  มากกว่ามาก

พระราชาธิบดีแห่งวิเทหะ ไม่ได้ทรงมีแค่ความรักต่อพระอนุชาดุจดังโอรสขององค์เองเท่านั้น แต่ยังมีความเกรงพระทัย และลึกๆ ลงไปคือความเกรงกลัวในอำนาจที่เป็นรากฐานแห่งบัลลังก์  อำนาจเงียบแห่งหิมวันต์ ที่คนนอกวิเทหะไม่รู้ชัด คนในวิเทหะไม่รู้แจ้ง หรืออาจจะรู้แต่ไม่อยากยอมรับว่ามันได้แผ่ขยายอิทธิพลจากขุนเขาปัญจคีรีมาเป็นเงื้อมเงาสูงตระหง่านอยู่เบื้องหลังบัลลังก์วิเทหะ   ปัญจคีรีของเผ่าหิมวันต์ ที่รวมตัวกันด้วยสัญญาเบญจภาคีแห่งห้าขุนเขา พระมารดาของเจ้าชายรามิล คือพันธไมตรีที่หิมวันต์ได้มอบต่อพระราชาธิบดีองค์ก่อนของวิเทหะ เกิดเป็นความสัมพันธ์ฉันทามิตรอันยาวนานที่ทำให้คนวิเทหะเคยชินว่าหิมวันต์เป็นส่วนหนึ่งของแคว้น  แต่สำหรับพระราชาธิบดี ทรงตระหนักถึงข้อสัญญาบางอย่างในครั้งนั้น ที่คนวิเทหะน้อยนักจะจำได้ แต่คนหิมวันต์ย่อมไม่ลืม  ทรงมีความประหวั่นพรั่นพรึงอยู่ลึกๆ หิมวันต์ที่นิ่งเงียบตลอดมา และยอมสนองให้กับข้อเรียกร้องของราชสำนักเสมอ   นั่นจะหมายถึงหิมวันต์ยอมอยู่ใต้อำนาจของวิเทหะจริงหรือ ในเมื่อ ....

วิเทหะ .. ทั้งหมด มิเคยกล้าหมิ่นแคลนเจ้าชายรามิลตรงๆ

วิเทหะ .. ต้องอาศัยความมั่งคั่งของหิมวันต์

วิเทหะ .. ทั้งหมด หยัดยืนมั่นคงได้โดยอาศัยหิมวันต์หนุนหลัง

คนหิมวันต์เป็นนักสู้ สภาพแวดล้อมที่โหดร้ายเพราะเป็นเทือกเขาสูงและอากาศที่หนาวจัดของปัญจคีรี ได้หล่อหลอมให้คนหิมวันต์มีความแข็งแกร่งและทรหดเพียงใด คนวิเทหะที่ไม่เคยไปเยือนและสัมผัสความหนาวเย็นของที่นั่นย่อมไม่มีทางจะหยั่งความเข้าใจไปถึง  หัวใจนักสู้ของคนหิมวันต์ที่มีคำตอบในการเจรจาทางการทูตด้วยคำง่ายๆ เพียงสามคำ คือ  ได้  ไม่  และ  รบ!

....อำนาจ' ทั้งหมดที่วิเทหะมี เจ้าชายแห่งหิมวันต์ย่อมทรงทราบถี่ถ้วน แต่อำนาจแห่งหิมวันต์เล่า มีเท่าใด เป็นอย่างไร วิเทหะไม่เคยรู้กระจ่าง  นอกจาก เท่าที่เก็บจากราชองครักษ์ชาวหิมวันต์ ทีท่าโหดเหี้ยม กระหายเลือด ก็ด้วยท่าทีเฉกนั้นกระทำให้ผู้พบเห็นพรั่นออกปาก.. คนเถื่อน ..ไม่มีใครรู้วิธีรบแบบ 'คนเถื่อนบนภูเขา' นอกจากที่เล่าลือกัน...

ที่วิเทหะรู้จักหิมวันต์ จึงแค่ความผิวเผินของคนไม่รู้จริง .. คนเถื่อน คนภูเขา อาศัยอยู่ในโพรง !

คนวิเทหะรู้ว่าเจ้าชายรามิลเป็นอย่างไรเมื่อประทับอยู่ที่วิเทหะ ตามที่พอพระทัยจะให้เห็น แต่ไม่เคยมีใครรู้ว่าทรงเป็นอย่างไรเมื่อเสด็จสู่ 'บ้าน' ที่หิมวันต์  รังของเหล่าอินทรีที่คนวิเทหะประเมินว่าเป็นพวกคนเถื่อนที่ด้อยค่าเกินกว่าจะให้ความสนใจ  ที่ควรจะรู้ถึงที่มาแห่งอำนาจอันแท้จริง..ที่ไม่ใช่มรกตเพชรพลอย ที่ควรจะรู้ถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคน .. ครองอำนาจ  คนวิเทหะจึงไม่รู้  

'ของขวัญที่เราให้แก่เด็กอ่อนเป็นชิ้นแรกคือกริช ต่อมาคือม้า และถ้าเราจะต้องตายกันทั้งหมด พ่อแม่จะต้องฆ่าลูกของตัวก่อน เราไม่เคยรอศัตรูมาฆ่าให้ '  คำที่รับสั่งสงบ หากความหมายทำให้คนวิเทหะเยือกในอก 'ฆ่าฤาถูกฆ่า' เป็นปกติเสมอกันของเผ่าหิมวันต์ ความแข็งแกร่งแห่งจิตเฉกนั้นทำให้ครองยอดขุนเขาปัญจคีรีได้

.........

 'ผู้ชายหิมวันต์ถ้าไม่เป็นนักรบ ควรตาย!' นั่นคือสิ่งที่ชาวหิมวันต์ต้องรับรู้

'คนที่จะเป็นหัวหน้าเผ่าถ้าเก่งแค่คนในเผ่าก็ไม่สมควรเป็น'

อินทรีแม้จะทรงอำนาจเหนือปักษาทั้งปวง แต่ 'พญาอินทรี' ต้องยิ่งกว่า

เจ้าชายรามิลเท่านั้นที่ทรงทราบว่าถูกบ่ม กรำ มาเท่าใด กว่าจะทรงได้รับคำรับรองจากทุกเผ่า

'เราพอใจ' 

.........

คนหิมวันต์พูดสั้นมั่นคง คนหิมวันต์ทั้งหมดพร้อมที่จะพูดคำเดียวกัน

ถ้า 'ให้' ให้โดยไม่มีข้อแม้  ถ้า 'รบ' รบโดยไม่ต้องคิดหาเหตุผล 

'ไม่' เพียงคำเดียวจากเจ้าชายรามิล คือ.. ไม่ตลอดกาลและจะดังไปถึงหิมวันต์

การตามเสด็จพระราชาธิบดีศิขินสู่วิเทหะ  เจ้าหญิงศาศวัตตราทรงได้พบกับเจ้าชายสองพระองค์ เจ้าชายวิเทหะ และเจ้าชายหิมวันต์  แม้ในระยะแรกจะทรง 'เขม่น' เจ้าชายพระองค์หลัง แต่เจ้าหญิงผู้ทรงพระปรีชาย่อมเรียนรู้และซึมซาบเช่นเดียวกับคนวิเทหะ

...พระโฉมแห่งเจ้าชายภานุเทพ 'เจริญตา' ทีท่า พระอัธยาศัยนุ่มนวลเป็นที่ปลาบปลื้มต่อผู้พบเห็น ทว่า .. เจ้าชายรามิลกลับทรง 'ให้ความรู้สึก' เฉกเช่นยามมองขุนเขา .. ยำเกรง หนักแน่น มั่นคง.. เสนาบดีส่วนใหญ่ โดยเฉพาะฝ่ายทหาร 'เชื่อมั่น' ในเจ้าชายรามิล   พระราชาธิบดี ต้องมีคุณสมบัติให้ศรัทธา ความเชื่อมั่นต่อผู้คน พระราชาธิบดีจะให้แค่พระโฉมและความรักเท่านั้นมิได้...

พระราชาธิบดีแห่งศิขิน ทูลหม่อมพ่อของเจ้าหญิงศาศวัตราย่อมทรงมีสายพระเนตอันแหลมคมจะแลเห็นมากยิ่งกว่า จึงทรงมีพระกระแสรับสั่งให้พระธิดาโดยเสด็จเจ้าชายรามิลขึ้นสู่เขตหิมวันต์  เป็นหน้าที่ของอัคราชกุมารีที่จะเสด็จไปผูกมิตรเชื่อมไมตรีและถือโอกาสสำรวจรังของพญาอินทรีบนยอดเขาให้ประจักษ์  โดยมิทรงทราบความนัยแอบแฝงว่าคนหิมวันต์ -เจ้าชายรามิลที่นำเสด็จเจ้าหญิงต่างแคว้นขึ้นไปเยือนถึงรัง ทรงมีพระประสงค์ 

 'คำเดียวกัน' ของเบญจภาคี   "หิมวันตรานิ"   ....   " เราพอใจ " 

แต่การเสด็จสู่เแคว้นวิเทหะของเจ้าหญิงศาศวัตรา ก็กลับกลายเป็นความยุ่งยากขึ้นอีกครั้งเมื่อเจ้าชายภานุเทพหลังจากได้พบประสบพระพักตร์เจ้าหญิงโฉมงามแห่งศิขิน ก็ปรารถนาจะเปลี่ยนพระทัยทวงคืนในพันธไมตรีที่เคยโยนให้ทูลหม่อมอา    

รัฐศาสโนบาย เพื่อความมั่นคงของพระอนุชา เจ้าชายศิขรินทร์ ในตำแหน่งเจ้าชายรัชทายาทแห่งศิขิน หัตถ์แห่งอำนาจที่จะช่วยค้ำจุน เจ้าหญิงศาศวัตรา จะต้องทรงเลือก ด้วยหน้าที่ด้วยสติปัญญาและหรือพระหฤทัยขององค์เอง

ความรัก หรือ อำนาจ ทุกคนล้วนต้องเลือก 

Smiley Smiley  Smiley Smiley Smiley

รักมากค่ะนวนิยายเรื่องนี้ เคยอ่านครั้งแรกเมื่อตอนยังเด็ก ซึ่งนอกจากจะเป็นต้นแบบให้ชื่นชอบนวนิยายแนวเจ้าหญิงเจ้าชายแล้ว ยังช่วยส่งเสริมให้รักการอ่านหนังสือนวนิยายด้วย ในบรรดาเจ้าชายของ ลักษณวดี เจ้าชายรามิลองค์นี้ล่ะ เท่ห์สุดๆ  เพราะถึงจะไม่ใช่พระราชาธิบดีแต่ก็ครองอำนาจสำคัญไว้ในอุ้งหัตถ์  สายตาของพญาอินทรีบนยอดเขาสูง มีหรือจะมองไม่รู้ดูไม่เห็นอะไรในแผ่นดินเบื้องล่าง แม้พระราชาธิบดีจะทรงรักมาก แต่ถึงอย่างไรพระโอรส ก็ต้องมาก่อนพระอนุชา หนทางการลิดลอนอำนาจด้วยการปิดล้อมปัญจคีรีมีหรือจะไม่รู้เท่าทัน  แต่คนอย่างเจ้าชายรามิลน่ะรึ จะทรงหวั่น 

'หิมวันต์ไม่อดตายง่ายๆ เพราะเราชินต่อการที่จะอด'  

'วิเทหะซิ อดไม่ได้นาน เพราะชินต่อการที่จะฟุ่มเฟือย'

โดยคุณสมบัติก็อย่างเท่ห์น่ะนะ โดยคุณลักษณะของคนภูเขา และกิริยาการกระทำ  'สีพระพักตร์ไม่สบพระทัย' 'พระโอษฐ์จ้าน' 'ไม่เคยไว้พระพักตร์ผู้ใด' (โดยเฉพาะกับเจ้าชายภานุเทพ) ยิ่งชอบเข้าไปใหญ่

ชอบทั้ง เจ้าชายรามิล เจ้าหญิงศาศวัตรา ชอบตัวละครคมในฝักอย่างพระราชาธิบดีศิขิน  ชอบพระราชาธิบดีวิเทหะที่มีเหตุมีผล และไม่โง่ ชอบเจ้าหญิงอุตรอุษาภาคินี  เจ้าชายศิขรินทร์  โดยเฉพาะรายหลังนี้ ความรักความผูกพันที่มีกันสองพี่น้อง 'ชายศิกับพี่หญิง' ตอนเสด็จจากคันธามาสเข้าวังทำเสียน้ำตาไปเยอะ อีกรายที่ขาดไม่ได้เพราะอ่านแล้วเรียกรอยยิ้มได้เสมอและบางครั้งก็อดน้ำตาซึมในความจงรักภักดีอย่างสูงสุดของนางไม่ได้ นั่นคือ คุณพระพี่เลี้ยงเกสร  ยังมีคุณข้าหลวงโกสุมตี  ที่มักต่อปากต่อคำกับเจ้าชายรามิล (แต่ไม่เคยชนะ)   เจ้าคุณมหาดไทย เจ้าคุณกลาโหม แต่ละคนเราชอบมาก  องค์รานีแห่งศิขินที่เป็นเจ้าหญิงจากอุตตรปุระไม่ค่อยชอบเท่าไหร่แต่พอเข้าใจเหตุผลของพระนาง สรุป เรื่องนี้เกลียดอยู่คนเดียวคือเจ้าชายรูปงามนามภานุเทพ  โดนเจ้าชายรามิลจิกกัดทีไร แม้จะแสบทรวงแทน แต่ก็สะใจดี  

ทั้งเรื่องความมั่นคงของแคว้น และความมั่นคงในอำนาจส่วนตนที่มีความเข้มข้นเป็นพิเศษในช่วงท้ายของเรื่อง ทำให้เรื่องนี้สนุกมากและยังส่งผลให้รู้สึกดีมากๆ กับคำว่า 'เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน'  มีคำพูดมากมายหลายสิ่งกับการเป็นเจ้าหญิง เจ้าชาย  เจ้าผู้ครองแผ่นดิน ที่ค่อนข้างกินใจ พลอยทำให้นึกเทิดทูนไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยเราด้วย (ตอนอ่าน มงกุฎที่ไร้บัลลังก์ ก็รู้สึกเช่นเดียวกัน)

ความรัก.. แม้ไม่มีคำเอื้อนเอ่ยออกมาตรงๆ  แต่โดยความนัยของถ้อยคำที่พูดมา โดยการกระทำที่มีให้ก็เป็นการ 'บอกรัก' ที่ชัดเจน  ขุนเขาปัญจคีรีขาวโพลนไปด้วยหิมะและภูมิอากาศหนาวจัด แต่ที่ใดมีรักที่นั่นมีความสดใสและอบอุ่นเสมอ   (โรแมนติกมาก)

เมื่อดอกไม้สยายกลีบ ตาราจะชื่นชม เมื่อดอกไม้ร่วงหล่น ฟ้าจะเหงา

เมื่อเราเดียวดาย ตาราจะเป็นเพื่อนเรา เมื่อเราเป็นเถ้าจะกลับไปรวมเป็นตารา

 




 

Create Date : 18 สิงหาคม 2556    
Last Update : 6 มีนาคม 2557 1:02:29 น.
Counter : 5142 Pageviews.  

แสงดาวฝั่งทะเล เมื่อความรักความชังเริ่มต้น และจะต้องปิดฉากลงบนเส้นทางสายเดียวกัน

 

 

พิมพ์ครั้งที่ ๑๑ สำนักพิมพ์อรุณ พ.ศ.๒๕๕๔

แสงดาวฝั่งทะเล ...

การเดินทางที่แสนจะมหัศจรรย์ในชีวิต

ความแค้น ความชิงชัง ความเจ็บปวด และความไม่เข้าใจกัน

ที่ถูกกักเก็บมานานปีจากอดีต

เปิดฉากเริ่มต้นบนรถไฟสายนี้

หากเวลากว่าครึ่งเดือนที่ต้องอยู่ด้วยกัน

ทำให้ความเกลียดชังคลี่คลาย  ความเจ็บช้ำ ..ตื้นเขิน

และความไม่เข้าใจกัน แปรเปลี่ยนเป็นความผูกพันลึกซึ้ง

ทว่าน่าเสียดาย ...

ทุกสิ่งทุกอย่างที่เคยเกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงไปในทางตรงข้าม

จะต้องปิดฉากลงที่ ..แสงดาวฝั่งทะเล ..เช่นกัน

Smiley   Smiley   Smiley   Smiley   Smiley   Smiley   Smiley

จากสำนักพิมพ์

เพราะความรักเป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยากว่าจะดำเนินไปอย่างไร และจะลงเอยในรูปแบบใด การไปตั้งกฏกติกามารยาทให้กับ 'ความรัก' จึงไม่ใช่เรื่องจะปฏิบัติตามได้ง่ายๆ

ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เนื่องเพราะใจคนเราไม่มีสูตรตายตัว จะไปกะไปเกณฑ์อย่างไรก็ไม่ได้ทั้งนั้น ความรักใน 'แสงดาวฝั่งทะเล' ก็เป็นเช่นนั้น

ความทุกข์ความสุขของตัวละครจึงขึ้นๆ ลงๆ อยู่กับอารมณ์ภายในที่ขัดแย้งกันเองอันเนื่องมาจาก 'ความรัก'

แต่จะอย่างไร ความรักในทุกรูปแบบก็เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยจรรโลงโลก จรรโลงใจให้มีความสุข

และทางสำนักพิมพ์ก็ขอมอบความสุขนี้ผ่านทาง 'แสงดาวฝั่งทะเล' แด่คุณผู้อ่านทุกคน

สำนักพิมพ์อรุณ  เมษายน ๒๕๔๒

Smiley   Smiley   Smiley   Smiley   Smiley   Smiley   

อ่านจบแล้วถามตัวเองว่า พระเอกเรื่องนี้สมควรถูกรักที่ตรงไหน ?

ใช่ว่าจะเกิดขึ้นบ่อยครั้งหรอกนะคะ กับหนังสือหรือละครที่หาเหตุผลให้รักพระเอกไม่ได้น่ะ ไม่ชอบเลยพระเอกที่ตัดสินคนง่ายนัก  แสดงออกความดูถูกเหยียดหยามที่มีต่อนางเอกอย่างก้าวร้าวอย่างนั้น พูดออกมาแต่ละคำ อ่านแล้วสุดแสนจะปวดใจ  เพราะโดยปกติส่วนตัว..ก็ไม่ค่อยจะกินเส้นกับพระเอกแนวเคียดแค้นชิงชิงอยู่แล้วด้วย

แต่  ถึงพระเอกจะไม่ใช่แนวที่ชอบ ก็ยังอุตส่าห์รักนิยายเรื่องนี้มากมาย  Smiley ( อ้าว .. เป็นงั้นไป )

อ่านแล้วซึ้งเหลือหลาย อินจัด  และร้องไห้ไปซะเยอะ โดยเฉพาะตอนที่ ภวัต พระเอกของเรื่องได้เห็นภาพวาดโดยฝีมือของนางเอก วริษา 

รู้สึกราวกับว่า ความขัดแย้ง ความสองจิตสองใจว่าจะเกลียดสุดตัวหรือจะรักสุดใจของพระเอก มันมาหมดสิ้นความลังเลสงสัย เมื่อได้เห็นภาพนั้น ภาพเด็กผู้หญิงที่กำลังเล่นเงาใต้แสงเทียนที่จวนเจียนจะดับด้วยกิริยาเบามือ 

... ภาพเด็กหญิงตัวน้อยที่อยู่ตรงหน้าเขา สะท้อนชีวิตในวัยเยาว์ที่แสนจะอ้างว้างของหญิงสาวออกมาได้อย่างชัดเจนที่สุด ...

เรื่องนี้เริ่มต้นจากที่เคยดูละครของช่องเจ็ด แสดงโดย  ทัช ณ ตะกั่วทุ่ง กับ นิ้ง-กุลสตรี ศิริพงษ์ปรีดา  แม้จะไม่ได้มีจิตใจชอบนักแสดงทั้งสองคนนี้มาก่อน อีกทั้ง พี่ทัช นั้นเป็นคนที่หน้าตาไม่เหมาะกับการเป็นพระเอกละครเอาซะเลย (แต่ตอนไปดูคอนเสิร์ต RS Meeting Return เมื่อต้นปี ก็กรี๊ดพี่ทัชคอหอยแทบแตกน่ะนะ)  ดูแล้วก็คิดว่าพี่ทัชเขาตรงกับคาแรคเตอร์ของภวัต ในนิยายมาก  ส่วนที่คุณนิ้งรับบท ฝน หรือ วริษา คิดว่าค่อนข้างจะแตกต่างไปพอสมควร คือเธอออกจะห้าวๆ ไม่ยอมคนอยู่มากเหมือนกัน (ถ้าสงสัยว่าละครนานแล้วทำไมยังจำได้  เพราะเพิ่งดูซ้ำในยูทูปไปไม่นานน่ะค่ะ) แต่พระ-นาง ทัช-นิ้ง ถือเป็นคู่ขวัญกันอยู่แล้ว ในละครจึงดูเหมาะสมกันมาก พาอินกับเรื่องราวจนต้องหาหนังสือนิยายมาอ่าน  และนิยายก็ทั้งเศร้าทั้งโรแมนติก..เมื่อลงเอยอย่างแฮปปี้เอนดิ้งได้ยิ่งซาบซึ้งใจมาก  เปรียบได้กับฟ้าหลังฝนที่นำความสุขสดชื่นมาให้หลังหยดน้ำตา

หลังจากดูละครจบครั้งแรก ไปหายืมนิยายจากร้านเช่ามาอ่าน ต่อมาก็ซื้อหนังสือมาเก็บ  แล้วที่เก็บก็เอามาอ่านเป็นรอบที่สามแล้ว (นี่ขนาดไม่นึกรักพระเอกนะเนี่ย)

ตอนเป็นละคร เราชอบ ตุ๊กตา อุบลวรรณ ผู้รับบท รสนา  นางอิจฉาที่ตามประสาครอบครัวไฮโซ ต้องมีการจับคู่ตามวัตถุประสงค์ เรือล่มในหนองทองจะไปไหนเสีย เธอจึงถูกหมายตาไว้เป็นคู่สร้างคู่สมกันกับภวัต

แต่ที่ชอบสุดๆ ทั้งในหนังสือและในละครต้องเป็น  คุณเมฆ (หาญ หิมะทองคำ) กับ อิชยา  (สุรางคณา สุนทรพนาเวส) สองสามีภรรยาหนุ่มสาวที่แต่งงานกัน และลงหลักปักฐานครอบครัวอยู่ที่ซีแอทเทิล   คุณสามีเป็นเพื่อนสนิทกับภวัต   ส่วนคุณภรรยาเป็นเพื่อนสนิทกับวริษา  ต่างคนต่างจึงชวนเพื่อนสนิทของตนมาเยี่ยมเยียนเพื่อท่องเที่ยวและพักผ่อนที่ซีแอทเทิล โดยฝั่งคุณภรรยามีความหวังอยู่ลึกๆ  เผื่อบางที เพื่อนสาวผู้อาภัพของเธอจะมีโอกาสปิ๊งรักกับผู้ชายดีๆ อย่างคุณภวัตที่เป็นเพื่อนสนิทกับสามีของเธอเอง

ใครจะไปรู้ล่ะว่า บนรถไฟแอมแทรคสายแสงดาวฝั่งทะเล (The Coast Starlight) จะเกิดเหตุตามที่ปกหลังโปรยไว้ข้างต้น  ความแค้น ความชิงชัง ความเจ็บปวด และความไม่เข้าใจกัน ที่ถูกกักเก็บมานานปีจากอดีต เปิดฉากเริ่มต้นบนรถไฟสายนี้   สองสามีภรรยาไม่รู้ตื้นลึกหนาบาง ไม่รู้ว่าเพื่อนทั้งสองเคยรู้จักกันมาก่อนในอดีตอันเลวร้าย  เมฆกับอิชยาจึงต้องเผชิญกับบรรกาศอันมึนตึง และอึมครึมแบบแปลกๆ ในการอยู่ร่วมกันของเพื่อนผู้มาเยือน เดี๋ยวก็เหมือนจะดีกันชื่นมื่น อีกเดี๋ยวก็เหมือนจะมึนตึงใส่กันอย่างเย็นชา  

น่าประหลาดใจแท้ .. แต่หาเหตุไม่ได้   ซ้ำร้ายยังมีนางมารผจญ ที่ภวัตได้ดึงเอา รสนา เข้ามาเกี่ยวข้อง หวังใช้นางเป็นตัวช่วย คอยเป็นเกราะป้องกันความรู้สึกบางอย่างที่กำลังก่อตัวหยั่งรากฝังลึกลงในจิตใจ  แต่เพราะความเป็นนางร้ายของรสนา ทำให้ภวัตยิ่งได้เห็นน้ำเนื้อจิตใจอันดีงามของวริษา และความรู้สึกที่พยายามซ่อนเร้นก็ยิ่งจะพลุ่งพล่านชัดเจนขึ้น 

วริษา ที่เขาได้ชิดใกล้ ช่างแตกต่างกันไกลลิบ กับวริษา ในเรื่องรับรู้ ในความรู้สึกความทรงจำครั้งอดีตที่เคยมีมา คนที่ทำให้ครอบครัวของคุณอาดุจเดือนที่เขาเคารพรักประดุจมารดาต้องแตกสลาย น้าเขยของเขาตายจากไป และหลานสาวของเขาต้องกลายเป็นเด็กพิการ  เธอที่เขาได้รู้จักนิสัยใจคอที่ซีแอทเทิล ช่างขัดแย้งกับความเชื่อความฝังใจที่เขาเคยมี  เกิดเป็นความสงสัยที่เขาไม่อาจหาคำตอบได้ เธอทำลายครอบครัวของอาดุจจริงหรือ  เขาหาคำตอบไม่ได้ หรือบางทีอาจเป็นเพราะเขาเองไม่ต้องการจะค้นหา เพราะกลัวที่จะรู้ความจริงว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่เขาเคยพูด เคยทำไว้กับเธอต่างๆ นานา จะกลายเป็นความผิดที่ไม่อาจชดใช้ ไม่อาจให้อภัยตัวเองได้ หากคำตอบคือความจริงที่ว่า  เธอไม่ได้ทำ

นางเอกแบบวริษา เป็นนางเอกนิยายในคาแรคเตอร์ที่ชอบมาก ชอบแนวนิ่งๆ เรียบร้อย รักศักดิ์ศรี มีน้ำอดน้ำทนและเยือกเย็นนิดๆ  อย่างช่วงแรกๆ เธอก็ปฏิเสธข้อกล่าวหา โต้ตอบคำด่าทอของพระเอกแข็งขันอย่างคนที่พยายามสู้เพื่อปกป้องตัวเอง แต่เมื่อนานๆ เข้า  พูดอย่างไร พูดให้ตาย เขาก็ไม่เชื่อ เธอก็เหนื่อย เธอก็เบื่อ และเธอก็เลิกปฏิเสธ  เขาจะเชื่อจะคิดอย่างไร..ช่างเขาเถอะ  ชอบมากเลยค่ะที่นางเอกทำแบบนั้น เพราะเหนื่อยแทนมากแล้วเหมือนกัน แล้วทำแบบนั้นมันก็สะใจดี

เรื่องนี้ชอบทั้งชื่อพระเอกและนางเอก   ภวัต กับ วริษา  แต่ชอบมากกว่าเวลาพระเอกรวมถึงตัวละครอื่นๆ เรียกนางเอกด้วยชื่อเล่นว่า คุณฝน  บางครั้งพระเอกก็เผลอเรียก ฝน คำเดียว  นั่นทำให้ยิ่งชอบมากเลยค่ะ เพราะให้ความรู้สึกเหมือนพระเอกเผลอใจสนิทและเอื้ออาทรต่อนางเอก

นอกเหนือจากเรื่องราวความรัก   อ่านเรื่องนี้ชอบมากอีกอย่างตรงที่เหมือนได้อ่านหนังสือนำเที่ยวไปด้วย

แสงดาวฝั่งทะเล จึงเป็นนิยายรักโรแมนติกของกิ่งฉัตร ที่รักมากพอๆ กับเรื่อง ตามรักคืนใจ

พฤติกรรมก็เหมือนกันเด๊ะ คือ ติดใจละครก่อน แล้วหาหนังสือมาอ่าน

พออ่านหนังสือ ชักอยากดูละคร  ตามดูละครย้อนหลังซ้ำรอบเสร็จ อยากอ่านหนังสืออีก!

คิดว่าอีกสี่ห้าปีข้างหน้า ... คงได้อ่านหนังสือ และดูละคร รอบสี่ และต่อไปอีกสิบปีข้างหน้าอาจมี รอบห้า

นั่นเอง จึงโดนเพื่อนค่อนขอดว่า 

..ละครน่ะ  ช่วยดูไปข้างหน้าได้มั้ย  อย่าเอาแต่ดูย้อนไปข้างหลัง เพราะว่าฉันคุยกะแกไม่รู้เรื่อง !   

ก็นะ ..คุณเพื่อน เคยได้ยินสำนวนไทยบ้างไหม ลางเนื้อชอบลางยา นานาจิตตังไงหล่อนเอ๋ย




 

Create Date : 16 สิงหาคม 2556    
Last Update : 17 สิงหาคม 2556 8:00:02 น.
Counter : 1932 Pageviews.  

ลีลาวดีเพลิง ... ลั่นทมสีขาวสะอาดตา แต่ฉันคือลีลาวดีสีแดง

 

Smiley  พิมพ์ครั้งที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๕๕ สำนักพิมพ์อรุณ

เขาว่ากันว่า  ลีลาวดีเพลิง คือ ผลงานที่ กิ่งฉัตร คืนฟอร์ม 

เรารึ..ก็ไม่ได้อ่านหนังสือมากนักในช่วง ๔-๕ ปีมานี้ (เพราะมัวไปติดซีรีย์เกาหลี-ญี่ปุ่นอยู่น่ะสิ) จึงไม่รู้ว่า กิ่งฉัตร ไปฟอร์มตกฟอร์มแผ่วลงเมื่อใด หรือจะเป็นผลงานใหม่ๆ ในช่วงหลังๆ ที่เราไม่ได้ซื้ออ่านเลย  เพราะโดยปกติ จะเลือกนิยายที่พลอตเรื่องก่อน แล้วจึงเลือกนักเขียน ดังนั้น แม้นักเขียนบางท่านจะเป็นนักเขียนในดวงใจ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องอ่านทุกเรื่องที่มี และการเลือกพลอตเรื่องยังจะช่วยเปิดโอกาสให้ได้รู้จักกับนักเขียนท่านอื่นๆ บ้าง นิยายของกิ่งฉัตรที่ออกมาก็เคยเห็นอยู่เรื่อยๆ แต่ที่ไม่ค่อยได้อ่าน เป็นเพราะพลอตเรื่องไม่อยู่ในความสนใจมากกว่า (แต่ถ้าได้อ่านอาจจะชอบก็ได้)

ลีลาวดีเพลิง  ตอนแรกก็ไม่ค่อยสนใจเช่นกัน เพราะไม่คุ้นเคยกับนิยายแนวสืบสวนของนักเขียนไทยสักเท่าไหร่  แต่ชื่อเรื่องน่าสนใจกับปกสีแดงดึงดูด ก็ทำให้ต้องเก็บเอาไปถามเพื่อนว่า เคยอ่านเรื่องลีลาวดีเพลิงของกิ่งฉัตรไหม  ที่ปกมันสีแดงๆ แต้มดอกลีลาวดีน่ะ  เพื่อนมันบอกว่า 'อ๋อ เรื่องนั้นเอง สนุกดีนะ ลองหามาอ่านสิ' .. นั่นคือที่มาที่ตัดสินใจ.. ซื้อ 

ต้องเข้าใจนะคะว่าหนังสือเล่มหนึ่งๆ นั้น มีราคาค่อนข้างแพง อย่างเรื่องนี้ก็ ๓๗๕.- บาท จะซื้อนิยายราคาเกือบ ๔๐๐ สักเล่ม มันต้องคิดการกันอย่างรอบคอบ เกิดซื้อมาแล้วไม่สนุก ก็เสียของ  ดีที่เพื่อนคอนิยายคนนี้ เชื่อใจกันได้  เรื่องสนุกของเขาคือเรื่องสนุกของเรา แต่ไม่รู้ทำไม เรื่องสนุกของเรา เขากลับไม่ค่อยสนุก  (แน่ล่ะ เพราะแต่ละเรื่องที่แนะนำให้เขาอ่าน .. ล้วนบรรยายจัดหนัก แถมออกแนวเจ็บปวดอีกต่างหาก)

“รู้จักข้าวแช่ไหม...หนู...หนูลี”

เด็กหญิงส่ายหน้า

“ข้าวสวยในน้ำลอยดอกมะลิกลีบกุหลาบ ใส่น้ำแข็งกินกับกับข้าวหลายๆอย่าง อร่อย หอม ชื่นใจ หายร้อน อยากกินไหม”

เด็กหญิงตาโต พยักหน้า ข้าวสวยใส่น้ำลอยดอกมะลิกลีบกุหลาบ แค่คิดก็น่าจะหอมจัด ๆ แล้ว...

“งั้นบ่ายสองเข้าไปในบ้านนะ” เขาสั่ง

“เดี๋ยว ไม่มีนาฬิกา”

“ดูพ่อเราไว้แล้วกัน ถ้าเขาเข้าไปในบ้านก็ตามเข้าไป อย่าลืมเสียล่ะ” ทิวัตถ์กำชับก่อนผละกลับเข้าบ้าน ปล่อยให้ลูกสาวคนจัดสวนอ้าปากจะบอกว่า พ่ออยู่ในบ้านอยู่แล้ว...แต่ไม่ทันได้เอ่ยอะไรเพราะเด็กหนุ่มเดินหายลับไปแล้ว

เด็กหญิงวิ่งไปทางนั้นทีทางนี้ที ชมนกชมไม้ไปเรื่อย ๆ วกไปทางด้านหลังของบ้าน เห็นพี่ผู้ชายอีกคนที่ ‘ชม’ ว่าหล่อนเหมือนกาคาบพริกย้อนกลับเข้ามาในบ้านทางประตูอีกด้านหนึ่ง ท่าทางโมโหอะไรมาไม่รู้หัวฟัดหัวเหวี่ยง หนูลีเลยไม่อยากเข้าไปยุ่งเข้าไปทัก

หล่อนเจอรังนกเล็ก ๆ รังหนึ่งในพุ่มไม้หนา มุดเข้ามุดออก รู้สึกเหมือนมีคนเดินเข้าไปในบ้าน เงยหน้าเห็นหลังผู้ชายไว ๆ แต่ไม่ใช่พ่อจึงหมดความสนใจ

ร้อนจัง อยากกินข้าวแช่ ข้าวสวยใส่น้ำแข็ง แปลกจริง ๆ หน้าตาจะเป็นยังไงหนอ...

เด็กหญิงกำลังเดินเข้าไปในตัวบ้านทางด้านข้างเมื่อมีเสียงผู้หญิงกรีดร้องขึ้นจากในบ้าน เสียงกรีดร้องบาดใจ...ก่อนจะมีเสียงกระแทกพื้นดังโพละ แล้วเสียงร้องก็หายวับไปทันที มีแต่เพียงความเงียบที่น่าวังเวงใจ

จากนั้นก็เหมือน...นรกแตก!

วันรุ่งขึ้นหนังสือพิมพ์ในประเทศหลายฉบับและหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นฉบับเดียวของจังหวัดลงข่าวพาดหัวตัวใหญ่... 

‘ฆ่าโหดเมียนักธุรกิจชื่อดัง ลูกชายโดนตีหัวโคม่า!’

สิบปีต่อมา เด็กหญิงกาคราบพริก ก็เติบโตขึ้นมาเป็นสาวสวยมีคุณภาพชีวิตดีพอใช้ด้วยได้รับการอุปถัมภ์จาก 'แม่ดา' ที่เธอได้รับการส่งเสียเลี้ยงดูและเล่าเรียน แต่ไม่เคยได้มีโอกาสพบหน้า เธอเป็นเด็กกำพร้าที่มีพ่อถูกพิพากษาว่าเป็นฆาตกร พ่อของเธอถูกตัดสินจำคุกยี่สิบปี และเขาไม่ได้ออกจากคุกขณะที่มีลมหายใจอยู่ ...

ลิลิน .. กลับมา ที่จังหวัดนั้น โดยไม่ฟังคำทัดทานของแม่ดาว่าที่นั่น 'อันตราย' 

เธอกลับมาในฐานะนักร้องสาวสวยสุดเซ็กส์ซี่ ที่ร้องประจำให้กับไนท์คลับของโรงแรมดังประจำจังหวัด ที่เจ้าของโรงแรมสู้อุตส่าห์ลงทุนซื้อตัวเธอมาจากกรุงเทพ เพราะเสียงสวรรค์และรูปโฉมที่จะช่วยเรียกลูกค้ามาเป็นแขกประจำไนท์คลับได้อย่างเนืองแน่น  เพราะเธอชอบใส่ชุดสีแดงแซมผมด้วยดอกลีลาวดี หนุ่มๆ ที่ได้รู้จักและพากันหมายปองนักร้องสาวผู้นี้ จึงพากันเรียกเธอว่าแม่สาวลีลาวดีเพลิง

ลิลิน หรือ หนูลีของพ่อ ผ่านมาสิบกว่าปี เธอไม่เคยเลิกล้มความตั้งใจ ยังคงมุ่งมั่นจะค้นหาความจริงและล้างมลทินให้กับพ่อของเธอให้ได้  และหนทางเดียวที่เธอมี ที่จะสืบสาวเรื่องราวไปสู่ความจริงก็คือเขา  ทิวัตถ์ หรือ คุณวิน ลูกชายของเหยื่อผู้เสียชีวิต ภรรยาของนักธุรกิจผู้ทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งในจังหวัด  คุณวินคือคนที่เมื่อครั้งยังเด็ก..วันนั้น เธอได้มอบดอกลีลาวดีสีแดงให้ และหลังจากนั้นเขาก็ได้เข้าไปอยู่ในเหตุการณ์และลีลาวดีดอกนั้นมันได้กลายเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่มัดตัวพ่อของเธอว่าเป็นฆาตกร 

อดีตที่ถูกซ่อนไว้ในความทรงจำของใครๆ กำลังจะถูกขุดคุ้ย ..

และเพื่อปกป้องให้มันยังคงเป็นความลับต่อไป

หนทางไขความลับของลิลิน  จึงไม่ง่ายอย่างที่หวัง

และความจริงที่ได้มา อาจต้องแลกกับความเจ็บปวดของใครๆ อีกหลายคน รวมทั้งตัวของเธอเอง

ลั่นทมสีขาวสะอาดตา

แต่ฉันคือลีลาวดีสีแดง

ร้อนแรงเหมือนเปลวเพลิง

หากกลิ่นหอมละไมชื่นใจ...

ชวนให้หลงใหลถวิลหา ...

สนุกดีค่ะเรื่องนี้ แม้ว่าพระเอกจะเรียบๆ ไม่มีอะไรให้ชื่นชอบนักสำหรับเรา ก็พอดีว่าชอบนางเอกอยู่มาก เพราะทั้งสวย ฉลาด มั่นใจ แถมนิสัยก็น่ารัก ไม่แข็งกระด้าง และก็ไม่อ่อนแอ บอบบาง ตรงกันข้ามคือนางถึกอย่างมีไหวพริบ  เป็นธรรมดาที่มีผู้หญิงอย่างนี้มาวนเวียนชิดใกล้  พระเอกของเราก็ต้องหลงรักนางเอกเข้าอย่างจัง  การได้รับบาดเจ็บสาหัสทางร่างกาย และความสะเทือนหนักทางจิตใจในเหตุการณ์ครั้งนั้น ทำให้เขามีอาการออดๆ แอดๆ เดี๋ยวหน้ามืด เดี๋ยวเป็นลม ให้นางเอกถึกของเราได้ปกป้องดูแลบ้างเป็นบางเวลา .. ความรักของคู่พระนางจึงผลิบานลงตัวพอดีแบบว่า.. ได้บาลานซ์  แต่ก็เสียดายอยู่นิดนึงนะว่า ถ้าพระเอกมีคาแรคเตอร์ที่ทำให้รู้สึกชอบด้วย แทนที่จะแค่เฉยๆ แบบนี้ เรื่องนี้สำหรับเราคงจะสนุกขึ้นอีกมาก

ถึงจะไม่ได้ชอบมากมายเหมือนนิยายรักของกิ่งฉัตรเรื่องอื่นๆ  แต่เรื่องนี้ก็จัดความสนุกอยู่ในขั้น เพลิดเพลินดี   และถ้าใครชอบแนว อดีต ลับ ลวง หรือการสืบสวนหาความจริงอยู่แล้ว  คาดว่าน่าจะถูกใจอย่างมากกับลีลาวดีเพลิง ซื้อหามาอ่านเป็นกำลังใจให้ กิ่งฉัตร กันนะคะ




 

Create Date : 15 สิงหาคม 2556    
Last Update : 15 สิงหาคม 2556 21:32:49 น.
Counter : 1853 Pageviews.  

สะพานแสงคำ : ปิยะพร ศักดิ์เกษม

 

สำนักพิมพ์อรุณ  พิมพ์ครั้งที่ ๕  ปี ๒๕๕๖

 

สะพาน ...

ไม่ใช่เพียงข้ามผ่านจากฝั่งหนึ่งไปสู่ฝั่งหนึ่งเท่านั้น

แต่มันจะเป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างความรักกับความชัง

ความจริงกับความลวง

อดีตกับปัจจุบัน

Smiley Smiley Smiley Smiley Smiley

จากสำนักพิมพ์

ใครที่ชอบเรื่องราวประเภทข้ามภพข้ามชาติ แล้วแอบฝันแอบหวังอยู่ลึกๆ ว่าจะมีโอกาสได้ย้อนอดีตไปในยุคนั้นยุคนี้ ไม่ควรพลาด 'สะพานแสงคำ' อย่างยิ่ง เพราะการย้อนอดีตของ 'เมษาริน' นั้นเป็นเหมือนแค่หลับแล้วฝันไปเท่านั้น ถ้าจะมองจากสังขารของเธอในโลกปัจจุบันที่ยังคงอยู่ครบถ้วน

ส่วนโลกในอดีตที่เธอข้ามไปก็ไม่มีใครมองเห็นเธอ ยกเว้น เจ้าเอื้อย  เธอจึงเป็นผู้สังเกตการณ์ที่ได้เปรียบอย่างที่สุด

ความลับ ความลวงของอดีตกว่าร้อยปีจึงค่อยๆ เผยทีละเล็กละน้อย ให้เธอได้นำมาปะติดปะต่อ และค้นพบความจริงที่แท้ในที่สุด

สำนักพิมพ์อรุณ

เมษายน ๒๕๕๖

Smiley Smiley Smiley Smiley Smiley

การย้อนอดีต หรือข้ามภพข้ามชาติ เป็นพลอตเรื่องของนิยายหรือละครที่ไม่ถูกจริตกันเลย ดังนั้นจึงไม่เคยอ่าน ทวิภพ ไม่เคยอ่าน บุพเพสันนิวาส หรือนิยายอะไรก็ตามที่เป็นแนวการเขียนของนามปากกา "แก้วเก้า" (แต่เคยอ่าน นิรมิต อยู่เรื่องนึง)  ก่อนหน้านั้น สะพานแสงคำ จึงมีความน่าสนใจอยู่อย่างเดียวคือ เขียนโดย 'ปิยพร ศักดิ์เกษม'  แต่เมื่อได้รู้ว่าเป็นเรื่องราวต่อจาก 'รากนครา' ก็นะ ..ต้องหามาอ่านจนได้  เพราะพลังรักของเจ้าแม้นเมืองน่ะแหละ เรื่องของลูกหลานของเจ้าแม้นจึงได้อานิสงฆ์

เรื่องนี้ชอบชื่อนางเอกจังคะ  'เมษาริน' จะจดไว้นะคะ ถ้าหาผู้ชายแต่งงานด้วยได้ แล้วมีลูกสาว จะตั้งชื่อนี้ ถึงไม่เกิดเดือนเมษาที่มีฝนรินก็เถอะ คนพบเจอรู้จักชื่อเสียงเรียงนามกันใหม่ๆ จะได้สนใจถามไถ่ทุกครั้งว่า เกิดเดือนเมษาหรือ ?

... คนบางคนเกิดมาเพื่อถูกเรียกร้องให้กลับไปช่วยตัวเราเองในชาติภพที่แล้ว

และคนบางคนก็อาจเกิดมาด้วยความมุ่งมั่นสัญญาจากชาติภพเดิม ...

เนื้อเรื่องน่าสนใจชวนติดตามดีค่ะ แต่หมายถึงเฉพาะเรื่องของ  เจ้าคำประพาฬ หรือ เจ้าเอื้อย  ธิดาของเจ้าหลวงแห่งอณาจักรเชียงพระคำ กับ ไศลรัตน์ หรือ เจ้าภูแก้ว พระญาติเชื้อพระวงศ์ที่ถือกำเนิดจาก เจ้าศุขวงศ์ กับ เจ้าแม้นเมือง (จากเรื่อง รากนครา) เท่านั้นนะคะ  เพราะเรื่องราวของพระเอกนางเอกในยุคปัจจุบันคือ เมษาริน กับ ภาสุ  คิดว่าราบเรียบไปสักนิด ทั้งบทบาทและคาแรคเตอร์ นั่นทำให้ต้องปันใจไปแอบชอบ พิมลพัทธ์ อยู่เยอะเลย  เธอเป็นตัวละครสำคัญในเรื่องนี้อยู่ไม่น้อย เพิ่งทราบว่าเธอเป็นนางเอกเรื่อง เรือนศิรา เรื่องนี้ยังไม่เคยอ่านจึงไม่เคยรู้จักพิมลพัทธ์มาก่อน (ชื่อพิมลพัทธ์ก็เพราะ) แค่บรรยายฉากเปิดตัว คุณพิมลเธอก็ให้ความรู้สึกถึงความสวย ความมั่นใจที่น่าเกรงขามแล้วล่ะค่ะ ทำให้สนใจอยากอ่านเรื่องเรือนศิราขึ้นมาเลยเชียว

พอคู่พระนางในยุคปัจจุบันค่อนข้างราบเรียบ (เพราะเป็นเนื้อคู่ตุนาหงันกันอยู่แล้ว จึงรักกันได้อย่างราบรื่น ) ตอนแรกคิดว่าเรื่องคงจะเน้นไปที่ เจ้าเอื้อย กับ เจ้าภูแก้ว ตามประสาคนชอบแนวเจ็บปวด อารมณ์รักร้าว หัวใจสลาย ของคู่อดีตคู่นี้ก็เกือบจะได้ละ แต่มันไม่สุด  อย่างรากนครามันเป็นเรื่องของทิฐิมานะใช่ไหมคะ มันเป็นที่สุดของเรื่องราวสุดวิสัยความเป็นไป   แต่เรื่องนี้เรามองว่าเหตุความเข้าใจผิดของเจ้าเอื้อยมันเบาไปนิด  ในความเห็นของเรา คือ แค่เพราะลมปากและความศรัทธาที่ไม่หนักแน่นเท่านั้นเอง  แต่ไม่ได้นึกตินิยายหรอกนะคะ  เพียงแต่ว่าการกระทำของตัวละครมันขัดแย้งกับแนวคิดและการกระทำของเราเอง  เพราะส่วนตัวเป็นคนที่เกิดเรื่องคาใจอะไรก็ต้องถาม แม้รู้ทั้งรู้ว่าคำตอบอาจเชื่อไม่ได้ แต่ก็ยังอยากฟัง เพราะบางครั้งในคำโกหกหลอกลวง มันก็อาจมีมูลเหตุของความจริงซุกซ่อนอยู่ให้เห็นเงื่อนงำไปค้นหาต่อได้  บางครั้ง ต่อให้รู้ทั้งรู้ว่าคำตอบจะเป็นอย่างไร ต่อให้รู้อยู่แล้วว่าเชื่อไม่ได้ .. แต่อย่างน้อย การจะตัดสินใครสักคน คนๆ นั้นก็ควรได้รับโอกาสชี้แจงตัวเองบ้างไม่ใช่หรือ การคิดเอาเองตามความคิด ความเชื่อ ตามเหตุผลของตนเอง บ่อยครั้งมันก็ทำให้เราคิดมากไปเอง บางทีแค่ถามกับคู่กรณีสักคำ เรื่องมันอาจพลิกผันต่างไปจากที่เราคิดเองเออเองอยู่คนเดียวก็ได้ บางที การถามไถ่ เปิดใจรับฟัง อาจทำให้เรื่องใหญ่หลวงที่เราจะเป็นจะตาย กลายเป็นเรื่องขี้ปะติ๋ว แค่พลิกฝ่ามือก็แก้ไขได้ง่ายดาย.. ใครจะรู้ 

พอตัวละครกระทำในสิ่งที่ขัดแย้งกับความคิดเราเอง  ก็เลยพลอยไม่อินเนอร์ไปด้วยเท่าที่ควร นี่คือเหตุผลหนึ่งที่แต่ละคน ก็มีแนวนิยายที่ตัวเองชอบ คาแรคเตอร์   บทบาทของตัวละครที่ชอบ แตกต่างกันไป ตามพื้นฐานความรู้สึกนึกคิด ตามความคิดความชอบของตนเอง ผู้อ่านแต่ละคนจึงมีนิยายเรื่องโปรดไม่เหมือนกัน

แต่ สะพานแสงคำ ก็ยังเป็นนิยายที่อ่านได้เรื่อยๆ อย่างรื่นไหล ไม่ได้รู้สึกว่าต้องฝืน  เพราะก็ยังชวนติดตามอยู่ตลอดกับเรื่องราวความสัมพันธ์ของ เจ้าเอื้อย กับ เจ้าภูแก้วนี่แหละค่ะ  จะพบกัน จะรักกัน จะเข้าใจผิด จะขัดแย้ง จะคืนดี 

แล้วก็ปวดใจแทนเจ้าภูแก้ว อารมณ์มันแบบว่า

นี่หรือคนรักกัน ความเชื่อใจอยู่ไหนเล่า  เหตุไฉนจึงบางเบา ใจของเจ้าจึงไหวคลอน 

และเช่นเคย ความกลมกล่อมในสาระตามหลักการเขียนนวนิยายขอ ปิยะพร ศักดิ์เกษม

ต้องให้คุณธรรมความรู้ และให้แง่คิดกับชีวิต สอดแทรกอยู่ในความบันเทิงด้วย

มันยากนะ ที่จะสื่อแก่นสาระของนวนิยายเรื่องนี้มาเล่าสู่กันฟังด้วยตนเอง ก็พอดีคุณป้าเอียด เธอเขียนเกริ่นไว้แล้วเป็นอย่างดี  ตามนี้ ...

Smiley Smiley Smiley Smiley Smiley

จากใจผู้เขียน

คนเรามักตัดสินผู้คนและเรื่องราวที่เกิดขึ้นด้วยข้อมูลของตนเอง โดยไม่ทันได้ฉุกคิดว่าข้อมูลที่ตนมีนั้นก็แค่ความเชื่อและประสบการณ์ของมนุษย์เพียงหนึ่งคน ... มนุษย์หนึ่งคน ซึ่งแท้จริงแล้วก็เป็นเพียงผงธุลีเล็กๆ ในจักรวาล เป็นเพียงหนึ่งหน่วยของหลายๆ พันล้านหน่วยในสังคม

เพราะการคิดค้น การศึกษา หรือแม้แต่การสร้างทฤษฎีใดๆ มักจะเป็นการสร้างและคิดค้นออกจากมุมมองของตัวเอง เมื่อนานไป 'ตัวตน' ของตนเองจึงคล้ายใหญ่ขึ้น สำคัญขึ้น จนในที่สุดตัวตนนั้นก็ปิดทับความกว้างขวางของพื้นดิน บดบังความไพศาลของท้องฟ้า ทำให้ละเลยหลงลืมความเป็นผงธุลี ความเป็นเพียงหนึ่งหน่วยของตนเองไปเสียสิ้น

หากลดขนาดตัวตนของตนเองลง ก้าวออกจากทฤษฎีและความเชื่อที่สร้างขึ้นเป็นกรอบกีดคั่น เติมความเข้าใจและความเมตตาให้เต็มเปี่ยมก่อนจะตัดสินการกระทำของผู้อื่น ... แล้วเปิดใจให้กว้างก่อนจะสรุปทุกเรื่องราว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวในอดีตหรือปัจจุบัน ..

สรุป โดยไม่ลืมเผื่อแผ่ไปถึงความเป็น 'มนุษย์' ของผู้เกี่ยวข้องทุกคน เงื่อนไขของเวลา สภาพแวดล้อมโดยรอบ และแรงผลักดันที่เรียกกันว่ากระแสด้วยทุกครั้ง

ถ้าทำได้เช่นนี้ สักวันหนึ่งข้างหน้า ความรู้ และความคิดในเชิงลบต่อโลกต่อผู้คนน่าจะลดน้อยลง เท่าๆ กับที่ความปรองดองก็น่าจะเพิ่มมากขึ้น ... เพิ่มมากขึ้นเพื่อให้ความแตกต่างสามารถยืนอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน

... ยืนอยู่อย่างเป็นหน่วยเดียวกันได้  คล้ายดอกไม้หลายพันธุ์ในอุทยานเดียว

ปิยะพร ศักดิ์เกษม

เมษายน ๒๕๕๖

Smiley Smiley Smiley Smiley Smiley

แง่คิดดีๆ ที่ควรจำใส่ใจข้างต้นนั้น ไม่ได้หมายถึงเฉพาะเรื่องราวของพระเอกนางเอก ที่เราเอ่ยถึงเท่านั้นนะคะ แต่มันสอดแทรกอยู่กับตัวละครหลายตัว ก่อเกิดเป็นสาระโดยรวมของเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น เจ้าศุขวงศ์ที่ถูกตราหน้าว่าเป็น คนทรยศ มายาวนานร้อยกว่าปี   หรือหญิงชราอย่าง เจ้าจันทร์แจ่มฟ้า เจ้ายุคเก่าที่ต้องเปิดใจยอมรับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป  หรือ พิมลพัทธ์ ผู้รักการอนุรักษ์สิ่งเก่าแต่ก็ต้องปรับเปลี่ยนผสมผสานให้อยู่ร่วมกันได้กับกระแสของโลกยุคใหม่ด้วย

สำนวนและคมความคิดของคุณปิยะพร เป็นสิ่งที่ ถึงจะเคยอวยกันแล้วมากมาย

ก็ยังคงอดไม่ได้ ต้องอวยกันอีก และอวยกันต่อๆ ไป  

มีตอนหนึ่งถึงขั้นประทับใจมากกับคำพูดของภาสุ พระเอกของเรื่อง อ่านแล้วมันจี๊ด มันเสียดแทงใจ คือ มัน .. ใช่สุดๆ

" ถ้าจะเปรียบเทียบให้ชัด  ผมว่าคนยุคเราก็เหมือนกับคนที่ยืนอยู่บนยอดเขาแล้วมองลงไปข้างล่าง เห็นชัดว่าตรงไหนป่าทึบ ตรงไหนเหว แต่คนในยุคนั้นก็เหมือนกับคนที่กำลังเดินอยู่ในความทึบของป่าข้างล่างน่ะ คุณเม เขามองอะไรม่เห็นหรอก นอกจากพื้นที่รอบๆ ตัว"

"ทำให้เขาต้องตัดสินใจไปตามสถานการณ์น่ะหรือคะ"

"ก็ทำนองนั้นแหละครับ ... ผมว่าเขาก็ต้องตัดสินใจว่าจะเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวาตามวินาทีที่เขาเดินไปพบอุปสรรค เจอเหว เขาก็ต้องอ้อมเหว เขาไม่มีทางรู้หรอกว่าถ้าอ้อมไปทางซ้ายจะใกล้กว่าอ้อมไปทางขวา เราเอาความรู้ของคนที่ยืนมองย้อนหลังไปตัดสินการกระทำของคนที่อยู่ในเหตุการณ์ไม่ได้หรอก และถ้ามองย้อนกลับไป เราก็ได้รู้แค่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เราไม่มีทางได้รู้ซึ้งถึงความรู้สึก เท่าๆ กับไม่มีทางได้รู้สึกถึงแรงผลักดันของสิ่งที่คนสมัยนี้เรียกว่ากระแส"

ใช่แล้ว  'กระแส' ในยุคสมัยนั้น คือการแผ่ขยายอำนาจของอาณาจักรสยาม และตามติดด้วยยุคการล่าอาณานิคมจากประเทศตะวันตก   จะมีใครสักกี่คนที่เข้าใจแรงผลักดัน เข้าใจในเหตุผล ความรู้สึกในจิตใจของเจ้าศุขวงศ์ที่ก็ห่วงใยและรักชาติบ้านเมืองในแบบของตน

บทพูดที่ยกมาเป็นเพียงการเริ่มต้นสนทนาเท่านั้น ประเด็นการปฏิรูปการปกครองในยุคเก่าที่ ภาสุ กับเมษาริน ถกกันต่อมาจากนั้น ถือเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ทำให้นวนิยาย นอกจากจะพาฝันแล้วยังมีความดีด้วย 'คุณค่าทางวรรณกรรม' เราว่านิยายสมัยนี้  มันมีแต่อย่างแรกซะมาก คนที่จะเขียนนิยายลักษณะนี้หาได้น้อย (หรือเราเข้าไม่ถูกร้านก็ไม่รู้นะ) และเพราะหนังสือในร้านมันหุ้มพลาสติกเราเปิดอ่านเช็คสำนวนการเขียนก่อนไม่ได้ ก็พลอยไม่กล้าลอง หลังๆ จึงรู้จักนักเขียนหน้าใหม่ๆ น้อยมาก อย่างนักเขียนดังที่ผลงานสร้างละครฮอทฮิตกัน เราก็ว่าสำนวนเขากระด้าง และบทสำนวนชวนเคลิ้มเลิฟซีนทั้งหลายก็..แร้งส์ ทั้งที่ก็เป็นคนอ่านนิยายแปลโรมานซ์ด้วย แต่พอมันเป็นบทรักบทเลิฟในนิยายไทย ..หญิง(แก่) รับไม่ค่อยได้ ซะงั้น ขอไม่เอ่ยชื่อนะคะ กลัวแฟนคลับรุมสะกัม

พระเอก ภาสุ  บทบาทการกระทำของเขาในเรื่องนี้ไม่ค่อยมีอะไรมาก แต่บทบาททางความคิดที่ออกมาเป็นคำพูดแต่ละเรื่องจากมุมมองของเขา ทำให้เราก็แอบชอบพระเอกเรียบๆ คนนี้เอาเรื่องอยู่

"คุณก็เชื่อตามเหตุผลของคุณ เขาก็เชื่อตามเหตุผลของเขา ... ผมคิดว่าคนเราก็เลือกคิด เลือกเขียน นอกจากจะตามสติและปัญญาแล้ว ก็ต้องตามจุดยืนของตัวเองด้วย จุดยืนนี่แหละที่จะทำให้เราเลือกฟังด้านใด เลือกเชื่อใคร เลือกหยิบข้อมูลตรงจุดไหน ..."

"และคนเราทุกคนต่างก็มีจุดยืนที่ต่างกัน เราควรเคารพในจุดที่เขาเลือกยืน ไม่ใช่ค่อนขอดเขาในจุดยืนที่แตกต่างจากเรา"

อ่านไปอ่านมา หลายๆ คำพูดของตัวละครบางทีก็แทงใจดำเข้าเหมือนกัน 

เคยนึกอยากย้อนอดีตกันบ้างไหมคะ  นึกๆ ไป ตัวเราก็อยากย้อนอดีตได้บ้างเหมือนกันนะ

แต่ไม่ได้อยากกลับไปแก้ไขอะไรมากนักหรอก เพราะชีวิตก็ย่อมมีประสบการณ์ถูกผิด สุข เศร้า เสียใจ ให้ได้เรียนรู้เพื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ไปตามวัยอยู่แล้ว (จะได้มีภูมิคุ้มกัน) แต่แค่เรื่องเดียวจริงๆ ที่หากย้อนเวลากลับไปได้ จะขอแก้ไข จะไม่ทำผิด และจะไม่เสียใจ 

เราน่าจะขอพรย้อนเวลาได้สักครั้งในชีวิตนะคะ จะได้กลับไปช่วยเหลือตัวเองในอดีตได้เหมือนที่เมษาริน ทำให้กับ เจ้าเอื้อยน่ะค่ะ   .. นี่แหละคือคำว่า นิยาย..พาฝัน แต่สะพานแสงคำ ยังมีดีอีกอย่างเป็นสำคัญ คือ สาระ..จรรโลงใจ

 




 

Create Date : 14 สิงหาคม 2556    
Last Update : 15 สิงหาคม 2556 18:55:58 น.
Counter : 7357 Pageviews.  

ราตรีประดับดาว : ว.วินิจฉัยกุล

  

เรื่องย่อ จากปกหลัง

ราตรีประดับดาว...เพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗

มีความหมายอย่างยิ่งต่อเกด สาวน้อยชาวเมืองเพชรบุรี

เมื่อเปลี่ยนชีวิตจากหญิงสาวชาวบ้านท่าหิน

มาสู่ตำแหน่งภรรยาเอกของคุณนาถ ...พันเอกพระยาวิเศษสิงหนาท

ทั้งเกดและคุณนาถต้องเผชิญปัญหาชีวิต และอุปสรรคนานัปการในช่วงความผันผวนทางการเมือง

ยุคการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ และกบฏบวรเดช ในพ.ศ.๒๔๗๖

กว่าจะลุล่วงถึงเป้าหมายได้อย่างหมดจดงดงามในบั้นปลาย

คำนำสำนักพิมพ์ทรีบีส์ (พิมพ์ครั้งที่ ๔ พ.ศ. ๒๕๔๗)

สิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตเป็นสัจธรรมที่ดำเนินมาเป็นเวลาหลายชั่วอายุ ชีวิตที่เกิดมาแต่ละชีวิต มีทั้งรัก โลภ โกรธ หลง ทำให้แต่ละคนมีความเป็นไปอย่างไม่อาจหลีกหนีปัญหาที่เกิดขึ้นมาได้...เช่นเดียวกับตัวละคนใน "ราตรีประดับดาว" 

วิถีแห่งชีวิตของ เกด สาวน้อยจากจังหวัดเพชรบุรี ที่ถูกลิขิตให้ต้องเข้ามาเวียนวนกับเหตุการณ์ความเปลี่ยนแปลงผกผันต่างๆ ของครอบครัวตนเองกับนายทหารหนุ่มที่มีอนาคตก้าวไกล แต่ก็มีชีวิตที่ต้องประสบกับความเป็นจริงเรื่องปัญหาต่างๆ รอบด้าน ... ความรัก ความอดทน ที่สามารถนำพาเธอไปสู่ความสำเร็จในชีวิตบั้นปลาย

นับเป็นตัวอย่างของครอบครัวไทยในยุคที่ผู้หญิงยังต้องยึดมั่นอยู่กับวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีอยู่ ... ว.วินิจฉัยกุล นำเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ในช่วงสมัยรัชการที่ ๗ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์นี้ บรรจงเรียงร้อย 'ราตรีประดับดาว' อย่างสวยงามและชวนติดตาม...

 ...............

การที่เราเติบโตขึ้นมาในยุคนี้ ทำให้การอ่านเรื่องราวของแม่เกดเป็นเรื่องน่าเวทนา สำหรับผู้หญิงไทยสมัยเก่าก่อน ที่ต้องเป็นช้างเท้าหลัง ต้องพึ่งพาฝากชีวิตไว้กับผู้ชาย และเพราะเหตุนั้นผู้หญิงจึงต้องเจ็บปวดและอดทนอดกลั้น เพราะผู้หญิงไทยสมัยก่อนนั้น ยากนักที่จะอยู่ได้ลำพังโดยปราศจากผู้ชายไม่ว่าจะในเยาว์ที่มีพ่อแม่ครอบครัว หรือในวัยออกเรือนที่ต้องมีสามี  ผิดกับสมัยนี้ที่ผู้หญิงเก่ง ผู้หญิงดี ผู้หญิงพึ่งพาตัวเองได้ จึงขึ้นคานกันบานตะไท

นวนิยายเรื่องนี้ที่ซื้อมาก็เพราะความดึงดูดใจของชื่อเรื่องที่ชวนให้เข้าใจว่าคงจะโรแมนติกมากแน่ๆ  "ราตรีประดับดาว" และเมื่อผู้ประพันธ์เป็น ว.วินิจฉัยกุล ก็ชวนให้นึกถึงความละเมียดละไมของ "รัตนโกสินทร์" อ่านปกหลังก็เรียกร้องความสนใจมากโข แต่ก่อนจะได้มีเวลาอ่านนิยาย ก็ไปอ่านพบวิจารณ์จากที่ไหนสักแห่งว่าพระเอกของเรานั้นมี "เมียสองต้องห้าม" อารมณ์อยากอ่านก็หดหายเป็นปลิดทิ้ง จึงทิ้งนิยายเรื่องนี้ไว้เสียนาน ถึงเราจะคุ้นเคยกับละครพีเรียดที่เห็นๆ อยู่ว่า เจ้าขุนมูลนายสมัยก่อนนั้นจะต้องมีทั้งภรรยาเอก ภรรยารอง และไหนจะนางเล็กๆ อีก แต่ในบรรดาที่เราเห็นอยู่นั้นมักจะเป็นบรรดา ท่านเจ้าคุณรุ่นแก่ ในขณะที่พระเอกนั้นยังเป็นหนุ่มหล่ออนาคตไกลที่รักเดียวใจเดียว พอได้พบรัก ฟันฝ่าอุปสรรค ครองรักคู่กันกับนางเอกเรื่องก็ถึงตอนอวสาน  แม้ตามสภาพสังคมยุคนั้น ถ้าคิดเอาตามเหตุผลความเป็นจริง พระเอกเหล่านั้นก็คงต้องเจริญก้าวหน้า มีเมียรองเมียเล็กตามมาไม่ต่างจากผู้ชายที่เป็นชนชั้นขุนนางส่วนใหญ่ แต่นั่นมันก็ไม่ได้อยู่ในเรื่องให้เรากระทบกระเทือนใจได้แล้วล่ะ

ดังนั้นการที่ได้ทราบว่าพระเอกเรื่องนี้ มีเมียสอง  เอ่อม.. ไม่อยากจะอ่านขึ้นมาเลย

แต่ .. เมื่อเชื่อฝีปากกากันแล้วกับ ว.วินิจฉัยกุล นี่ก็เป็นความท้าทายหนึ่ง ว่าจะเขียนอย่างไรไม่ให้คนอ่านนึกชังน้ำหน้าพระเอกได้ล่ะ  ผู้อ่านท่านอื่นคิดอย่างไรไม่รู้  แต่ผู้อ่านคนนี้ อ่านแล้วก็หนีไม่พ้นชังน้ำหน้าพระเอกตามคาด  สามวันจากนารีเป็นอื่น  ผู้ชายที่ตระบัดสัตย์ผิดคำสาบานที่ให้ไว้กับภรรยา ถึงจะเป็นถึง คุณหลวง คุณพระ และเจริญก้าวหน้าถึงขั้นเป็น พันเอกพระยา ก็ไม่อาจจะรู้สึกนับถือในน้ำใจเนื้อแท้ขึ้นมาได้ เพราะส่วนตัวคิดว่า สิ่งที่พระเอกกระทำคือความเห็นแก่ตัวของมนุษย์เพศชายที่ในยุคนั้นถือเป็นเพศสูงกว่า เหนือกว่า ผู้หญิงคือฝ่ายที่ต้องยอมรับและเดินตามหลัง ซ้ำร้ายยิ่งกว่านั้น  นังเมียน้อยก็ใช่จะน่ารักน่าสงสารประมาณว่าน่าเห็นใจไร้ที่พึ่ง  เพราะอินาง น่าตบมากในทุกจังหวะของชีวิต เกลียดนังเมียน้อยเท่าไหร่ ยิ่งช่วยส่งเสริมความน่าชังให้กับพระเอกมากขึ้นเท่านั้น  

แต่ที่น่าเจ็บใจกว่าคือ เราก็ยอมรับพระเอกได้อยู่นั่นเอง ยอมรับว่านี่คือธรรมดาของผู้ชาย ยอมรับว่านี่คือผู้ชายสมัยเก่าก่อน การมีเมียมากกว่าหนึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดา มิหนำซ้ำ ยังคอยเอาใจช่วยพระเอกให้แม่เกดใจอ่อนยอมรับสามี ลุ้นแล้วลุ้นอีกให้กลับมาคืนดีครองคู่ลงเอยแบบแฮปปี้เอนดิ้ง เหล่านี้จะอะไรซะอีก ถ้าไม่ใช่ฝีมือการเขียนของ ว.วินิจฉัยกุล ที่สามารถจะหว่านล้อมเราให้ยอมรับในความผิดพลาดไม่ว่าจะด้วยความโง่เขลา ความลุ่มหลง หรือจะด้วยชะตากรรม อะไรก็แล้วแต่ เรายอมรับและเอาใจช่วยให้คุณนาถ หรือพันเอกพระยาวิเศษสิงหนาท ได้รับโอกาสจากแม่เกด ให้ได้กลับเข้ามาในเส้นทางสายชีวิตสายเดิม และเริ่มต้นชีวิตใหม่ด้วยกัน อย่างที่มันควรจะเป็นมาแล้วตั้งแต่แรก 

ที่นอกเหนือจากความขมขื่นในหัวอกผู้หญิงสมัยก่อนที่ต้องจำยอมแบ่งปันสามีให้กับหญิงอื่นเพราะว่ามันเป็นเรื่องปกติธรรมดาของสภาพสังคมความเป็นอยู่ในยุคนั้นแล้ว สิ่งหนึ่งทีหนังสือเล่มนี้สร้างความรู้สึกดีๆ ให้มากกว่าที่คาดคือเรื่องราวในยุคของการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย (ที่ยังไม่เต็มใบ)

อืม จะว่าไปก็มีอยู่มากเหมือนกันแหละ เรื่องที่จะนับถือพระเอก  พันเอกพระยาวิเศษสิงหนาท นั่นก็คือเรื่องหน้าที่การงาน มุมมองความคิด และการพยายามวางตัวอยู่ในจุดยืนของตัวเองท่ามกลางเกลียวคลื่นอันรุนแรงในช่วงของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ความซื่อสัตย์จงรักภักดี ความหนักแหน่น ยืดหยัดมั่นคงในความคิด การตัดสินใจที่เลือกกระทำ นี่เป็นคุณสมบัติดีๆ ที่น่านับถือของพระเอก (ซึ่งถ้าจะเป็นอย่างนี้ในเรื่องส่วนตัวด้วย จะเลิศเลอมาก)  

"เดช เรื่องที่แกจะชวนกันไปลงชื่อทำงานกับแก แกบอกว่าแกทำสำเร็จแล้ว แต่ความสำเร็จตามความหมายของแกกับกัน เป็นคนละเรื่องกัน กันไม่เชื่อว่าเรื่องที่เริ่มต้นด้วยเลือด จะจบลงด้วยสันติ กันไม่มีฝีมือพอจะไปล้างมันให้หมดจดลงได้"

............

" งั้นก็ฟังนะ เดช กันขอพูดกับแกหนเดียวพอ เราจะได้ไม่ต้องมีปากเสียงกันยืดเยื้อ กันเชื่อว่าทางฝ่ายแกทำได้สำเร็จ แกได้คนสำคัญๆ ของสยามไว้ในมือ ทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ ทัังทหารฝ่ายคุมกำลัง กันไม่คิดว่าพระเจ้าอยู่หัวท่านจะทรงยอมให้เลือดท่วมท้องช้าง ด้วยการทรงนำกำลังทหารที่ยังจงรักภักดีต่อท่าน มาหักโค่นพวกแกลงไปให้ถึงที่สุด แต่กันไม่เชื่อว่าทางฝ่ายแกจะร้างดีม็อกคระซีขึ้นมาได้สำเร็จด้วยวิธีนี้ต่างหาก กันถึงพูดว่า 'ไม่สำเร็จ'

............

"กันมีเหตุผลสามข้อ ความสำคัญของดีม็อกคระซี คืออำนาจการปกครองอยู่ที่ราษฏร ไม่ใช่ทหาร แต่เรื่องที่พวกแกทำ ราษฏรรู้อิโหน่อิเหน่อะไรด้วย นี่ข้อหนึ่งละ ข้อสอง ทหารเป็นผู้ป้องกันรักษาชาติ ได้ถือน้ำพิพัฒน์สัตยากันมาตั้งแต่รัชกาลที่ห้า กลับมากบฏเสียเอง ข้อสาม อำนาจที่ได้มารวดเร็วเกินไป จะทำให้แบ่งสันปันส่วนกันไม่ลงตัว"

.............

ในคำพูดของพระเอกพระยา และรวมถึงอีกหลายๆ ถ้อยคำ การบรรยาย หรือ คำพูดของตัวละครอื่น ที่กลั่นกรองมาเป็นนวนิยายเรื่องนี้ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอบ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๗ ก็ทำให้รู้สึกสะท้อนถึงหัวอกพระเจ้าแผ่นดิน และนั่นก็ทำให้น้ำตาซึม แม้การพาดพิงถึงพระองค์ท่านจะเป็นเพียงส่วนน้อยนิดแต่ก็ทำให้ซาบซึ้งอย่างมากในพระมหากรุณาธิคุณอันล้นเกล้าล้นกระหม่อมชาวไทย ชวนให้ระลึกถึงคิดคำนึงไปไกลอีกว่า ในความเป็นจริงพระองค์จะทรงรู้สึกเช่นไร

"ฉันจะนั่งอยู่บนราชบัลลังก์อันเปื้อนไปด้วยโลหิตไม่ได้"

เป็นพระราชาธิบาย ที่พระราชทานแก่พระภาติยะ พระวงรงศ์เธอพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์

"เข้าไปตายก็ไม่เป็นไร ต้องมีศักดิ์ศรี มีสัจจะ"

นั่นคือความกล้าหาญของสตรีสูงศักดิ์ พระบรมราชินี พระนางเจ้ารำไพพรรณี และพระมารดา พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาภาพรรณี ดังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชหัตถเลขาถึงพระเจ้าวงรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ พระราชนัดดา กล่าวถึงเหตุการณ์ในการตัดสินพระราชหฤทัยเสด็จกลับกรุงเทพฯ หลังเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ความตอนหนึ่งว่า

"ฉันต้องยอมรับว่าทั้งสมเด็จและหญิงอาภา ควรจะได้รับเกียรติศักดิ์อย่างสูงที่แสดงความกล้าหาญอย่างยิ่งเช่นนั้น เพราะเราทุกๆ คนทราบดีว่า ถึงเรายอมกลับกรุงเทพ ต่อไปเขาจะฆ่าเราเสียก็ได้ ผู้หญิงสองคนนั้นเขากล้ายอมตายเสียดีกว่าที่จะเสียเกียรติศักดิ์ เมื่อเขาตกลงเช่นนั้น ฉันก็เห็นด้วยทันที"

ทำให้นึกถึงคำว่า "เลือดขัตติยา" น่ะค่ะ ทั้งพระราชหัตเลขาจากสวนไกลกังวล หัวหิน ถึงผู้รักษาการฝ่ายพระนคร  การบรรยายฉากเสด็จกลับพระนครโดยรถไฟ ที่มีราษฏรมาเข้าเฝ้า และ "น้ำตา" ของราษฏรคนหนึ่ง ที่ถูกเขียนไว้ให้เป็นความสะเทือนจิตใจ แม้แต่ในหัวใจของคนรุ่นใหม่อย่าง "ณัฐ" ตัวละครที่เป็นนักหนังสือพิมพ์และปรารถนาจะเห็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองในบ้านเมือง

....เขาไม่ได้คาดคิดด้วยว่า บรรยากาศของความเศร้าสร้อยในคืนนั้น จะติดตามมาหลอกหลอนในความฝันของเขา เป็นเวลานานนับปีหลังพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละราชสมบัติ ไปจนกระทั่งถึงวันเสด็จสวรรคต....

 ตลอดมาจนถึงพระราชบันทึกของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงขอให้รัฐบาลแก้ไขรัฐธรรมนูญบางมาตรา เพื่อให้ประชาชนมีสิทธเสรีภาพในการปกครองอย่างแท้จริง และท้ายที่สุด พระราชหัตเลขาที่พระองค์มีมายังรัฐบาลเพื่อให้เผยแพร่แก่ราษฎรสยาม กับแค่ตัวหนังสือแต่ก็ทำเอาน้ำตาเอ่อเพราะรู้สึกซาบซึ้งถึงน้ำพระทัยอันยิ่งใหญ่ของพระเจ้าแผ่นดินที่ทรงมีความห่วงใยต่ออาณาประชาราษฏ์ 

" และเมื่อข้าพเจ้ารู้สึกว่า บัดนี้เป็นอันหมดหนทางที่ข้าพเจ้าจะช่วยเหลือหรือให้ความคุ้มครองแก่ประชาชนได้ต่อไปแล้ว ข้าพเจ้าจึงขอสละราชสมบัติและออกจากตำแหน่งพระมหากษัตริย์แต่บัดนี้เป็นต้นไป...."

มันสะเทือนใจนะคะ ในยามนั้น พระองค์จะรู้สึกอย่างไร คงยากที่ราษฏรเดินดินอย่างเราๆ จะเข้าถึงหัวอกของเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินได้

นี่เป็นการอ่านนิยายนะคะ แต่อินซะเหลือเกิน อินจนอยากจะหาหนังสือเกี่ยวกับเหตุการณ์ทางการเมืองสมัย พ.ศ. ๒๔๗๕-๒๔๘๒ ทุกเล่มที่เป็นหนังสือประกอบการค้นคว้าของ ว.วินิจฉัยกุล ในการเขียนนิยายเรื่องนี้มาอ่าน  การที่บุคคลสำคัญทางการเมืองต่างๆ ที่เราคุ้นเคยชื่ออยู่ในวิชาประวัติศาสตร์สมัยเด็กๆ มามีบทบาทกันให้ควั่กในนิยายเรื่องนี้ โดยที่ผู้ประพันธ์สามารถสร้างภาพกลางๆ ไม่ลงลึกไปไม่ว่าจะในคำพูดในรายละเอียดบุคลิก ทำให้พวกท่านเหล่านั้นยังเป็นเพียงบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ที่อยู่นอกเหนือการโน้มนำความคิดว่าท่านดีหรือเลว ทำถูกหรือทำผิด แต่สนุกดีที่่มีท่านปะปนอยู่ในนิยาย ซึ่งส่วนนี้ขอยกนิ้วให้กับความประณีตของผู้ประพันธ์

ดังนั้น "ราตรีประดับดาว" จึงเป็นอีกหนึ่งในนิยายของ ว.วินิจฉัยกุล ที่ ...ไม่เคยทำให้ผิดหวัง

 

 

 




 

Create Date : 11 สิงหาคม 2556    
Last Update : 11 สิงหาคม 2556 14:23:10 น.
Counter : 15566 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  

prysang
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 98 คน [?]




จำนวนผู้ชม คน : Users Online
New Comments
Friends' blogs
[Add prysang's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.