Group Blog
 
All blogs
 
ก็ไพร่นี่คะ อ่านความคิดไพร่ เมื่อ "หญิงคนชั่ว" ริสร้างชาติ



อ่านหนังสือเล่มนี้แล้วรู้สึกเหมือนหายใจไม่ค่อยรื่นท้อง  เครียด!
แต่ก็จำเป็นต้องอ่าน เพื่อเปลี่ยนสถานะหนังสือจาก "ดอง" ให้เป็น "เคลียร์" 

 "ไพร่-ฟ้า" "ไพร่-ผู้ดี"  "ไพร่สถุล-เจ้าขุนมูลนาย" หยั่งรากลึกอยู่ในสังคมไทยมานานแล้ว แม้เราจะผ่านยุคศักดินา แต่ว่าเราไม่เคยผ่านการแบ่งแยก แค่หาคำใหม่ๆ มาใช้เท่านั้นแหละ 

ดูแต่ในยามสังคมของเราขัดแย้งแบ่งสีแบ่งฝ่าย เราก็มีเหล่าผู้ยกตนว่าเป็น "ปัญญาชน" คนรู้เรื่องประชาธิปไตยดี และประเทศนี้ที่ถูกต้องคิดอย่างกูผู้มีความรู้มีการศึกษา ไม่ใช่คิดอย่างแดง เหล่ารากหญ้า "ไพร่" ไร้การศึกษาที่โง่เป็นควาย

เนื่องจากมีกำพืดมาจากไพร่ และทุกวันนี้ก็ยังเป็นไพร่อยู่ จึงค่อนข้างมีความเป็นเดือดเป็นแค้นในความคิดแบ่งแยกและดูถูกเหยียดหยามเช่นนั้น มันเหมือนเป็นการเอาค้อนมาทุบลงไปในความแตกร้าว ให้แตกลึก และสุดจะกังขาว่านี่หรือคือความคิดของผู้ที่เรียกตัวเองว่า "ปัญญาชน" คิดได้แค่เนี๊ยะ?

เพราะอยู่ในสังคมกทม. ที่คนส่วนใหญ่เกลียดแดง   ถ้าใครเป็นแดงจะต้องกระมิดกระเมี้ยน "แอบเป็น" ปิดบังซ่อนเร้นรสนิยมทางการเมือง  อันรวมถึงความคิดเห็นที่ไม่สามารถเปิดเผยได้อย่างตรงไปตรงมา (ลองดูสิท่าน .. ความบาดหมางจะเข้ากลุ้มรุมชีวิตทันที)  เราจึงไม่ค่อยมีโอกาสที่จะได้รับรู้ รับฟังมุมมอง ความคิดเห็น หรืออุดมการณ์ทางการเมืองจากฟากฝั่งสีแดงเท่าไรนัก .. และถึงมีโอกาสได้รับฟังก็เครียดวุ้ย เลิกๆ 

"ก็ไพร่นี่คะ" (เล่ม 3)  จึงเตะตาเข้าอย่างจัง  พร้อมกับปกสีฟ้า ลายพราง แดงเลือกตั้ง รถถัง อาวุธ และศูนย์ยิง  

"รวมเล่มคัดสรรบทความไพร่ๆ จากคอลัมภ์ในมติชนสุดสัปดาห์  
ตั้งแต่เลือกตั้ง 3 กรกฏา 2554 และหนึ่งปีวิบากรัฐบาลเลือกตั้ง"  

 มามะ...จัดมาอย่าให้เสีย 

อ่านแล้ว  บ้างก็ส่ายหัวไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง  ด้วยเหตุผลที่ว่า มองข้ามเจตนาดีในความคิดต่าง และมองโลกในแง่ร้ายเกินไปรึเปล่า (โลกมันก็มีแง่มุมสวยๆ อยู่บ้างล่ะนะ) บ้างก็พยักหน้าหงึกหงักเห็นด้วยอย่างแรง อ่านแล้วโดนใจ "ไทย" อย่างเราซะไม่มี.. แต่รู้อะไรไหม ..มันเป็นการโดนแบบทิ่มแทงใจให้เจ็บปวด เพราะก็เห็นด้วยว่าเหล่านั้นคือ "ความเป็นไทย" ที่น่าเป็นห่วง  

บางส่วนจากคำนำเสนอ โดย เวียงรัฐ เนติโพธิ์ ว่าด้วยปรากฏการณ์คำ ผกา เมื่อ "หญิงคนชั่ว" ริสร้างชาติ ( ยาว 20 หน้า) 

ข้อสงสัยในหญิงคนชั่ว คำถามที่ข้าพเจ้าติดหนี้ค้างอยู่หลายปี คือคำถามจากอาจารย์ที่ปรึกษาของ “คำ ผกา” ที่ชื่อว่าอาจารย์โยชิฟุมิ ทามาดะ แห่งมหาวิทยาลัยเกียวโต สมัยที่คำ ผกา ยังมีหนังสือตีพิมพ์เพียง 7-8 เล่ม อาจารย์ถามข้าพเจ้าว่า “อาจารย์เวียงรัฐครับ ทำไมลักขณาจึงได้รับความนิยมในสังคมไทย” ข้าพเจ้าได้ตอบไป ง่ายๆ ว่า “คงเพราะลักขณาเธอชอบด่าและสบประมาทพวกคอนเซอร์เวทีฟมั้ง จึงสร้างความสะใจให้คนที่ไม่ใช่คอนเซอร์เวทีฟซึ่งมีอยู่ไม่น้อยในสังคมไทย” แม้จะตอบไปเช่นนั้น แต่ก็ติดค้างมาตลอดว่าไม่น่าจะใช่คำตอบที่รอบด้านนัก หลายปีที่ผ่านมาข้าพเจ้าจึงอ่านและฟังคำ ผกา ชนิดที่มีคำถามนี้ตามมาด้วยตลอด ช่างน่าสงสัยนักว่าหล่อนมีอะไรดี (พูดให้ถูกคือหล่อนมีอะไรเลว) จึงเป็นที่ถูกอกถูกใจคนในสังคมไทยส่วนหนึ่งนักหนา และยิ่งนับวันก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ฉะนั้นเมื่อถึงวาระที่สำนักพิมพ์อ่านได้รวมบทความของคำ ผกา ที่เคยตีพิมพ์ใน มติชนสุดสัปดาห์ ตั้งแต่หลังการเลือกตั้งวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 เป็นต้นมา เป็น ก็ไพร่นี่คะ เล่ม 3 นี้ ข้าพเจ้าประสงค์จะตอบคำถามที่ค้างไว้หลายปีนั้นให้ได้มากขึ้น แม้จะไม่แน่ใจนักว่าจะตอบได้ดีขึ้นหรือไม่ก็ตาม

ว่าด้วยนักชาตินิยม...

จากความเป็นอื่น ในชาตินิยมทางวัฒนธรรมแบบไทยๆ ...

นับแต่นี้ไปไม่เหมือนเดิม...

ดวงตาเห็นสลิ่ม ศรัตรูของชาติหมายเลขหนึ่ง...

You Know me a Little Go (มึงรู้จักกูน้อยไป) นักชาตินิยม โมเดิร์นนิสต์ ไม่สุดโต่ง..

และ .. มันเป็นเช่นนี้ จึงเป็นที่นิยม กลับมาสู่คำถามที่ว่า ทำไมคำ ผกาจึงได้รับความนิยม อันเนื่องเพราะเธอเป็นหญิงคนชั่ว เธอจึงไม่เหมือนใคร "ความเป็นอื่น" ที่ทำให้เธอยืนอยู่นอกชาตินิยมทางวัฒนธรรมแบบไทยๆ นี้เอง มุมมองของเธอจึงเสมือนคนนอก ที่ไม่ปล่อยให้อะไรๆ ผ่านไปแบบเคยชิน (Take it for granted) แต่ทำความเข้าใจ วิพากษ์วิจารณ์ และชี้ให้เห็นแก่นแท้ของปมปัญหาได้อย่างแหลมคม  ไม่เพียงเท่านั้นเธอยังมีความเป็น "คนใน" มากพอที่สามารถประชดประชัด เสียดสี เย้ยหยัน ราวกับคนในครอบครัวด่ากัน มันจึงเจ็บปวดชนิดบาดร้าว และกัดเซาะจิตใจแบบส่งผลสะเทือนเป็นคลืนระลอกแล้วระลอกเล่า แม้ว่าชาตินิยมแบบไทยๆ จะมีกะลาหนาหลายชั้นครอบอยู่ให้แข็งแรงมั่นคงเพียงใด แต่ "คลื่นคำ ผกา" อาจกัดเซาะให้กะลาบางชั้นผุกร่อนไปบ้าง และคนแบบคำ ผกา ก็คือหนึ่งในบรรดาผู้ที่ทำให้แหวกกะลาออกมายืนภายนอกได้จำนวนไม่น้อย นี่เป็นเพียงบทบาทของเธอก่อนที่จะได้พบ .....

เมื่อสวมอุดมการณ์นักชาตินิยมทางการเมืองเช่นนี้ คำ ผกา จึงยึดประชาธิปไตยเป็นสรณะ และมีข้อเสนอข้อเรียกร้องต่างๆ ที่สอดคล้องกันกับสังคมประชาธิปไตย คือเคารพปัจเจกบุคคล เน้นความเท่าเทียมกันของมนุษย์ ให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน ยึดกฏหมายเป็นหลักในการปกครองและในระหว่างการสร้างชาติที่เป็นประชาธิปไตยนั้น เธอก็มีข้อเสนอหลายประการซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นข้อเสนอให้พัฒนาแบบสมัยใหม่ (modernization) ทั้งสิ้น เช่น การศึกษา การปฎิรูปภาษา การสร้างโครงสร้างเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพยุคสมัยใหม่ ความนิยมของเธอจึงขยายวงไปสู่มวลชนจำนวนมากที่มีความต้องการเรื่องพื้นๆ อันเป็นมาตรฐานสากลเช่นกัน โดยมีเธอสู้ด้วยปากและปากการแทนพวกเขาเช่นนี้นี่เอง หาได้มาจากความแปลกประหลาดหลุดโลกแต่อย่างใดไม่ แม้ว่าตัวตนของเธอจะเจือปนด้วยความประหลาดหลุดโลก และความล้นเกินอะไรๆ อยู่บ้างก็ตามที

...........

จากบางส่วนของคำนำข้างต้น คงพอจะช่วยให้คุณเห็นเค้าลางว่าหนังสือเล่มนี้มีเนื้อหาอย่างไร  อ่านแล้วทำให้ความคิดดีดดิ้นไปมา   อืม เห็นด้วย (สะใจดีนะ)  ใช่ๆ   ..เอ่อม โคตรใช่เลย   หรือ  ไม่นะ มันก็ไม่ได้แย่ขนาดนั้นสักหน่อย   ไม่อ่ะ   ไม่ใช่ละ...เรื่องนี้ก็ว่าซะเกินไป๊ อคติรึเปล่า ฉันไม่คิดอย่างนั้นหรอกนะ ...

ลองอ่านอย่างเปิดใจ แล้วก็อย่าให้เกิดความชังในความคิดต่าง (หักห้ามใจไว้ Smiley)

เริ่มแรก เราคิดว่าหนังสือเล่มนี้ คือหนังสือของแดงคนหนึ่ง ที่จะทำช่วยให้เข้าใจว่าแดงคิดอะไรของแดงอยู่กันนะ    แต่หลังจากอ่านไปสักพักเราก็พบว่า นี่ไม่ใช่เรื่องของสี แต่เป็นเรื่องของประชาธิปไตยที่ถูกถามหา  นี่คือหนังสือที่เขียนโดยนักประชาธิปไตยคนหนึ่ง  ซึ่งทุกสีอ่านได้หรือแม้แต่คนที่ไม่รู้จะสีอะไร เช่น อยากเลือกตั้ง แต่ไม่อยากได้คนโกง อยากปฏิรูปแต่ไม่อยากม็อบกดดัน ไม่รักทักษิน ไม่เลิฟลุงกำนัน สุดท้ายไม่รู้จะเอาอะไรเลยต้องทนถูกตราหน้าว่าเป็น "ไทยเฉย" ..ก็..อ่านได้เหมือนกัน  อ่านเพื่อเปิดมุมมองของเรา .. บางอย่างอาจทำให้เราเปลี่ยนแปลงทัศนคติ และบางอย่างก็ช่วยทำให้เราเข้าใจอะไรๆ ได้มากขึ้น  (และสำหรับบางคน มีแนวโน้มที่อาจจะทำให้เกลียดแดงยิ่งกว่าเดิม 555)

แม้ว่าอ่านแล้วจะทำให้เครียด .. เพราะเหล่านี้คือ "ความจริง" เกี่ยวกับไทย ที่เราก็อาจรู้ดี แต่คนส่วนใหญ่ไม่มีใครพูดออกมาตรงๆ และเราคงเป็นอีกหนึ่งคนที่หลบๆ ซ่อนๆ อยู่ในกลุ่ม "คนส่วนใหญ่" เพราะไม่ต้องการจะยอมรับว่านี่คือปัญหาที่บ่มเพาะมาจาก "ความเป็นไทย" 

แต่คำ ผกา เธอกล้าตีแผ่อย่างถึงพริกถึงขิง ด้วยปลายปากกาที่ทิ่มแทงใจดีแท้ (ก็หญิงชั่วนี่นะ) เธอมีความรู้ พินิจพิเคราะห์ในประวัติศาสตร์รากเหง้าทางการเมืองของไทยในแบบที่ "คนในกรอบ"  อย่างเราๆ อาจไม่ได้ฉุกคิดหรือคำนึงถึง  หลายคนอาจจะเคยคิด แต่ก็ลืมเลือนมันไปตามอุดมการณ์-สร้างสรรค์ประชาธิปไตยที่จืดจางได้เมื่อคนเราเติบโตขึ้น หรือแก่ตัวลง และมีอะไรหลายสิ่งที่ทำให้เราไม่ค่อยได้สนใจการเมืองสักเท่าไรแล้ว เพราะข้ออ้างที่การเมืองมันน่าเบื่อหน่าย

อ่านแล้วได้อะไรเยอะเลย  แม้จะเครียด แม้จะไม่ชอบเอามากๆ กับหลายๆ บทความ ก็ถือซะว่าเป็นอย่างที่ผู้เขียนกล่าวไว้

การฝึกฝนความอดทนอดกลั้นต่อความคิดต่าง เคารพคนที่คิดไม่เหมือนเรา เปิดใจฟังในสิ่งที่ไม่เคยฟัง ก็น่าจะช่วยให้สังคมไทยพ้นจากความเป็นเด็กอมมือ ไปสู่ความมีวุฒิภาวะแบบผู้ใหญ่ได้บ้าง

แต่ ....

แนะนำสำหรับคนที่คุ้นเคย หรือถ้าไม่คุ้นเคยก็มีความอดทนเพียงพอต่อภาษาไพร่ได้เท่านั้น  ... เพราะถ้าคุณเป็นคนนิยมภาษาดอกไม้ ที่ไม่นิยม การประชดประชัด เสียดสี เย้ยหยัน (และด่าทอ)  ขอ..ไม่แนะนำอย่างแรง!

โปรยปกหลังจากบางส่วนของบทความ

เสียงข้างมาก ไม่ว่าจะไร้รสนิยม ไร้การศึกษา เสี่ยว ควาย ลาว กะหรี่ ไม่ว่าจะน่ารังเกียจสักเพียงไหน มันคือเสียงข้างมาก และมันคือเสียงสวรรค์ที่ปิดปากพวกเสียงข้างน้อยที่กู่ก้องร้องตะโกนว่า "พวกกูต่างหากที่เป็นเจ้าของอู่อารยธรรมไทย"

หน้าที่ของฝ่ายค้าน ไม่ใช่การแข่งวิ่งเปี้ยวกับรัฐบาล มีระเบิดที่ไหน ถ้าฝ่ายค้านถึงก่อนฝ่ายค้านชนะ มีน้ำท่วม แผ่นดินไหวที่ไหน ถ้าฝ่ายค้านไปถึงก่อน เอาของไปแจกก่อนแล้วฝ่ายค้านชนะ นายกฯ จะไปเยือนประเทศไหน ฝ่ายค้านต้องรีบตัดหน้าไปเยือนก่อนหน้าที่ของฝ่ายค้านสำคัญกว่านั้น นั่นคือการมอบ "ภาพสังคมในอุดมคติ" ชุดอื่นๆ ที่แตกต่างไปจากสิ่งที่พรรครัฐบาลมอบให้ 60 ปีมานี้เรายังไม่เคยมีฝ่ายค้าน

แน่นอนว่าการเมืองเป็นเรื่องของการประนีประนอมและการประสานผลประโยชน์ แต่ธงที่ใหญ่กว่านั้นคือ คุณจะประนีประนอมด้วย "ปรัชญา" ชุดไหน เช่นการดำเนินนโยบายประนีประนอมด้วยการยึดเอาปรัชญาของประชาธิปไตยและประชาชนนำหน้า ย่อมต่างจากนโยบายประนีประนอมที่ยึดเอาปรัชญาของการเอาผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้องให้รอด หรือประนีประนอมด้วยการไม่มีปรัชญาอะไรเลย แต่เพียงแค่เอาตัวให้รอดไปวันๆ

ยิ่งวัฒนธรรมประชาธิปไตยหยั่งรากในสังคมไทยเท่าไหร่ รัฐบาลในครรลองประชาธิปไตยก็จะมั่นคงมากขึ้นเท่านั้น วัคซีนป้องกันรัฐประหารและอำนาจที่มองไม่เห็น คือวัฒนธรรมประชาธิปไตย หากรัฐบาลมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจโดยลืมฉีดวัคซีนนี้ให้กับสังคม ก็จะเสี่ยงอย่างยิ่งที่ไวรัสอันมองไม่เห็นด้วยตาเปล่าจะกลับมาในรูปแบบของการรัฐประหารถึงวันนั้นคงไม่มีใครอยากกลับไปเริ่มนับหนึ่งกันใหม่บนกองเลือด....





Create Date : 14 พฤษภาคม 2557
Last Update : 15 พฤษภาคม 2557 19:15:56 น. 6 comments
Counter : 1538 Pageviews.

 
ท่าทางจะเครียดค่ะ
สงสัยต้องขอบาย
ทุกวันนี้ได้ยินทุกวันเหนื่อยแย่แล้วนะคะ

คุณคำผกา เคยฟังเธอขึ้นเวที สปป ค่ะ
แต่นอกนั้นยังไม่เคยติดตามเลยเหมือนกัน

ขอบคุณคุณปรายแสงมากๆค่ะ ^^




โดย: lovereason วันที่: 15 พฤษภาคม 2557 เวลา:1:16:52 น.  

 
ไม่ค่อยอ่านงานเขียนแบบนี้ค่ะ ....
หดหู่ใจ

อ่านรีวิวก็พอค่ะ


โดย: Pdจิงกุเบล วันที่: 15 พฤษภาคม 2557 เวลา:9:18:52 น.  

 
เคยอย่างอ่านเล่มแรกนะคะ แต่... เก็บเงินซื้อไม่ทัน หนังสือหายไปจากร้านหมดเสียก่อน ก็เลย... ยังไม่ได้อ่านสักเล่มอะค่ะ


โดย: หวานเย็นผสมโซดา วันที่: 15 พฤษภาคม 2557 เวลา:13:52:41 น.  

 
เป็นคอลัมภ์ที่อ่านประจำในมติชนสุด
แม้จะไม่เห็นด้วยในทุกการนำเสนอ
แต่ก็ถือว่าชีกล้าในประเด็นมือถือสากแบบไทยๆ
ที่ใครไปแตะไปเล่น ก็ยังจะกระตุ้นต่อมอนุรักษ์พาฝันแบบไทยๆเสียทุกคร่า
ด้วยภาษาและสำนวนที่ใครรักก็ตบเข่าดังปัป
ใครไม่ชอบก็เห็นแย้ง แต่บางคนสบถ
ไปแตะด้านไม่ดีมาเจ้าของคอลัมภ์มาซ้ำซะัเนี่ย

อันนี้ไม่งาม...สำหรับคนคิดต่าง


โดย: Mr.Chanpanakrit วันที่: 15 พฤษภาคม 2557 เวลา:20:34:00 น.  

 
ไม่เคยอ่านค่ะ
แต่เป็นคนชอบอ่านภาษาดอกไม้ คาดว่าเล่มนี้คงไม่สามารถอ่านจบได้แน่ค่ะ


โดย: polyj วันที่: 15 พฤษภาคม 2557 เวลา:21:21:30 น.  

 
ถ้าเป็นหนังสือคงไม่ไหวค่ะ นับถือๆๆทนอ่านจนจบได้นะคะ


โดย: Sab Zab' วันที่: 18 พฤษภาคม 2557 เวลา:19:34:18 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

prysang
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 98 คน [?]




จำนวนผู้ชม คน : Users Online
New Comments
Friends' blogs
[Add prysang's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.