:: PRY Orchids ::
 

เทคนิคการแบ่งลำแคทลียา

ทำไมถึงต้องมีการแบ่งลำกล้วยไม้สกุลแคทลียา

1. การแบ่งลำ เป็นการขยายพันธ์ หรือเพิ่มจำนวนกล้วยไม้ประเภทแตกกอวิธีหนึ่ง ซึ่งวิธีนี้จะทำให้ไม่เกิดความผิดเพี้ยนของต้น และดอก กล่าวคือ ต้นแม่มีลักษณะต้น และออกดอกเป็นอย่างไร หน่อที่แบ่งลำออกมาก็จะมีลักษณะเช่นนั้น

2. เป็นการกระตุ้นให้กล้วยไม้ให้ออกดอกได้ง่ายขึ้น กล้วยไม้ที่มีลักษณะเป็นกอใหญ่ แสดงให้เห็นว่ากล้วยไม้ต้นนั้น มีความสมบูรณ์ และโอกาสที่จะตายเป็นไปได้น้อย แสดงว่ากล้วยไม้ต้นยังสามารถดำรงเผ่าพันธุ์อยู่ได้ แต่เมื่อใดก็ตาม ที่ตัวเองขาดความสมบูรณ์ และมีโอกาสที่จะตาย กล้วยไม้จะทำการสืบพันธ์ (คือ การออกดอก และให้แมลงมาช่วยผสมเกสร) เพื่อรักษาเผ่าพันธุ์ไว้ จะเห็นว่าไม้ที่เลี้ยงไว้จนกอใหญ่ ๆ ซึ่งมีความสมบูรณ์มักจะไม่ค่อยออกดอก แต่เมื่อผ่าลำหรือแบ่งแยกกอออกมาแล้ว (เป็นการเลียนแบบธรรมชาติ ทำให้ขาดความสมบูรณ์ และอาจจะไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้) กล้วยไม้จะมีการแตกตาหน่อ เพื่อให้มีหน่อใหม่เจริญเติบโตออกมา และมีการแตกตาดอก เพื่อออกดอกให้ได้ชม ดังคำกล่าวนักกล้วยไม้หลายท่านที่กล่าวกันว่า ถ้าไม้ออกดอกยาก ให้ขยันผ่าลำ จะทำให้ไม้ออกดอกได้ตรงตามฤดูกาล


วิธีการแบ่งลำแคทลียา

พื้นฐานของการแบ่งลำแคทลียา ต้องเข้าใจในเรื่องของลำหน้า และลำหลังของแคทลียาก่อน
ลำหลัง คือ ไม้ลำที่เกิดก่อน จะมีอายุมากกว่าลำหน้า จะอยู่ด้านใน ๆ ของไม้กอนั้น ๆ เราจึงเรียกว่าไม้ลำหลัง
ลำหน้า คือ ไม้ลำที่เกิดทีหลัง และมีอายุน้อยที่สุด จะอยู่ด้านหน้า ของไม้กอนั้น ๆ เราจึงเรียกว่าไม้ลำหน้า



จากแผนภูมิที่เห็น ไม้ลำหลัง คือ หมายเลข 1 และได้เจริญเติบโตแตกกอออกไปเรื่อย ๆ จนมีลำหน้าถึง 3 ลำ คือ หมายเลข 8 , 10 และ 11 เราจะเรียกว่าไม้กอนี้มี 3 หน้า

ในการแบ่งลำแคทลียา จะมีด้วยกัน 2 ลักษณะ คือ การแบ่งลำหน้า และลำหลัง

1. การแบ่งลำหน้า จะต้องดูว่าลำหน้าสุดได้เจริญเติบโตจนสุด และมีรากออกมาประมาณ 1.0 ซม. จึงจะแบ่งลำหน้า โดยนำกรรไกร หรือ มีดที่คม ๆ มาตัด และแยกออกไปปลูกใหม่ สำหรับเทคนิคในการตัดลำหน้า จะตัดออกไปลำเดี่ยวโดดไม่ได้ เพราะไม่มีพี่เลี้ยง ทำให้เค้าตายอย่างแน่นอน สำหรับการตัดลำหน้ายกออกไปปลูกอย่างน้อยต้องมี 2-3 ลำ ติดกัน

2 การแยกลำหลัง ไม้กอที่ตัดลำหน้าออกไป ไม้ลำที่เหลือ คือ ลำหลัง ทั้งนี้ ก่อนตัดลำหน้าไปปลูกให้ดูลำหลังก่อนว่ามีตาที่สมบูรณ์อยู่หรือไม่ เพราะเมื่อได้ตัดลำหน้าไปแล้ว ตาของลำหลังก็จะเจริญเติบโตเป็นลำหน้าลำใหม่ ในกรณีที่เครื่องปลูกยังไม่ผุ หรือเป็นพิษ ก็ปล่อยให้ลำหลังมีการเจริญเติบโตต่อไป แต่ถ้าเครื่องปลูกผุให้เปลี่ยนเครื่องปลูกหลังจากที่ ลำใหม่ได้เจริญเติบโตจนสุด และมีรากออกมาประมาณ 1.0 ซม.

วิธีการปลูก และดูแลไม้แบ่งลำ

1) สำหรับการปลูกไม้ลำหน้าที่ได้แบ่งลำไว้ ส่วนใหญ่จะใช้กาบมะพร้าว เป็นวัสดุปลูก เพราะกาบมะพร้าวมีความชุ่มชื่น ทำให้ไม้ตั้งตัวได้เร็วกว่า วัสดุปลูกอื่น ๆ สิ่งสำคัญในการปลูกไม้แบ่งลำจะต้องยึดลำลูกกล้วยให้แน่น และไม่ให้บริเวณโคนต้นขยับในขณะที่รดน้ำ หรือมีลมพัด หากยึดไม่แน่นจะส่งผลให้รากไม่สามารถหยั่งเครื่องปลูกได้อย่างเต็มที่ หรือหยุดการเจริญ เนื่องจากหมวกราก (ส่วนปลายสุดที่เป็นสีเขียว) เกิดการขยับไปมา และได้รับการกระทบกระเทือน ซึ่งในบางกรณีอาจจะใช้ไม้เสียบปลาดุกย่างเป็นหลักแล้วนำฟิวส์มาผูกกับลูกกล้วยเพื่อไม่ให้เกิดการขยับ หรืออาจจะใช้ลวดงอเป็นตัวยูแล้วล็อคกับโคนลูกกล้วยไว้ หรือยึดลำลูกกล้วยกับลวดที่แขวนกระถาง

2) การดูแล หลังจากที่ปลูกแล้วให้นำไม้มาไว้ในที่ร่มพรางแสงประมาณ 70 – 80 % เช่นเดียวกับไม้นิ้ว หลังจากรากเดินลงในเครื่องปลูกแล้วจึงจะนำมาออกปลูกเลี้ยงตามปกติ
และในช่วงรากยังไม่หยั่งลงเครื่องปลูกจะยังไม่ให้ปุ๋ย แต่จะรดน้ำทุกวัน เมื่อรากหยั่งลงเครื่องปลูกแล้ว จึงให้ปุ๋ยสูตรตัวกลางสูง สัปดาห์ละครั้งติดต่อกัน 3 ครั้ง หลังจากนั้น ก็เป็นสูตรเสมอ สลับกับ สูตรหน้าสูง เมื่อไม้เจริญดีแล้วจึงเลิกใช้สูตรหน้าสูง และหันมาใช้สูตรเสมอ สลับกับ สูตรกลางสูงแทน

สิ่งสำคัญของการแบ่งลำ
1. มีด หรือ กรรไกรที่ตัดต้องคม (แผลจะไม่ช้ำ) และสะอาด
2. ทาแผลที่ตัดด้วยปูนแดง หรือยาฆ่าเชื้อรา ทุกแผล
3. อุปกรณ์สำหรับปลูก เช่น กระถาง วัสดุปลูก ลวดแขวน , ฟิวส์ ฯลฯ




 

Create Date : 14 สิงหาคม 2550    
Last Update : 14 สิงหาคม 2550 16:22:36 น.
Counter : 1377 Pageviews.  

หลักการอ่าน และเขียนชื่อกล้วยไม้

Rsc. Haadyai Delight “Bangpromgold” AM / CST

สำหรับในการอ่านและเขียนกล้วยไม้ในสกุลต่าง ๆ จะแบ่งออกเป็น 5 ตำแหน่ง ดังนี้

ตำแหน่งที่ 1 คือ ชื่อสกุลของกล้วยไม้ชนิดนั้น ๆ จะเขียนเป็นอักษรย่อของชื่อสกุล หรือเขียนเป็นชื่อสกุลเต็มก็ได้ แต่ส่วนใหญ่ใช้เป็นอักษรย่อ ในการเขียนชื่อสกุลจะเขียนเป็นตัวเอียง เช่น
V. = Vanda (แวนดา)
Ascda. = Ascocenda ( แอสโคเซ็นดา ลูกผสมระหว่าง Vanda กับ Ascocentum)
C. = Cattleya (แคทลียา)
S. = Sophronitis (โซโฟรไนติส)
Rl. = Rhyncholaelia (รินโคเลเลีย) ฯลฯ

ตำแหน่งที่ 2 คือ ชื่อจดทะเบียนของกล้วยไม้ชนิดนั้น จะเขียนเป็นตัวพิมพ์ โดยถ้าเป็นกล้วยไม้ป่า (พันธ์แท้) ตัวอักษรขึ้นต้นตัวแรกจะเป็นตัวพิมพ์เล็ก และถ้าเป็นลูกผสมที่จดทะเบียนจะเป็นเขียนตัวอักษรขึ้นต้นเป็นตัวพิมพ์ใหญ่ เช่น
- V. coerulea (ฟ้ามุ่ย) เป็นไม้ป่าพันธ์แท้ จะเขียนตัวอักษรขึ้นต้นด้วยตัวพิมพ์เล็ก
- C.intermedia (อินเตอร์มีเดีย) เป็นไม้ป่าพันธ์แท้ จะเขียนตัวอักษรขึ้นต้นด้วยตัวพิมพ์เล็ก
- Rsc. Haadyai Delight เป็นลูกผสม จะเขียนตัวอักษรขึ้นต้นด้วยตัวพิมพ์ใหญ่
- Ascda. Princess Mikasa เป็นลูกผสม จะเขียนตัวอักษรขึ้นต้นด้วยตัวพิมพ์ใหญ่

ตำแหน่งที่ 3 คือ ชื่อต้น หรือวาไรตี้ (Variety) หมายถึง ชื่อของต้นใดต้นหนึ่งของลูกผสม หรือไม้พันธ์แท้ที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว ในกรณีนี้ คือ ต้นที่เกิดจากเมล็ดเดียวกัน เช่น แคทลียาลูกผสมที่ปลูกเลี้ยงจากไม้นิ้วเล็ก ๆ (ไม้เมล็ด) จนโต และได้แบ่งแยกกอออกไปปลูกใหม่ ซึ่งต้นที่แยกออกมาจากกอนั้น ถือว่าเป็นต้นเดียวกัน ต้องใช้ชื่อวาไรตี้เหมือนกัน ทั้งนี้รวมถึงไม้ที่ได้จากการนำเนื้อไปปั่นตาอีกด้วย
ตัวอย่าง เรามีแคทลียาชื่อหาดใหญ่ดีไลท์ต้นบางพรมโกลด์ 1 กอใหญ่ แล้วนำมาแยกออกมาเป็น 3 กอย่อย เราจะเรียกต้นที่แยกออกมาว่า หาดใหญ่ดีไลท์ต้นบางพรมโกลด์ เหมือนเดิม และเมื่อเรานำเนื้อเยื่อไปปั่นตา ต้นปั่นตาที่ได้ ก็ยังเป็นหาดใหญ่ดีไลท์ต้นบางพรมโกลด์ เช่นเดียวกัน
สำหรับในตำแหน่งที่ 3 นี้ สามารถเขียนได้หลายแบบ เช่น “Bangpromgold” หรือ (Bangpromgold) หรือ var.Bangpromgold ถือว่าเป็นความหมายของวาไรตี้เหมือนกัน

ตำแหน่งที่ 4 คือ รางวัลที่ได้รับจากการประกวดเพื่อรับรองลักษณะทางพันธุศาสตร์ของกล้วยไม้ต้นที่ดีโดยมีประกาศณียบัตรรับรอง ดังนี้
1) First Class Certificate (F.C.C) หมายถึง ประกาศนียบัตรเกียรตินิยมอันดับ 1 ทางพันธุศาสตร์
ให้แก่กล้วยไม้ต้นที่ได้คะแนน 90 คะแนนขึ้นไป
2) Award Of Merrit (A.M.) ประกาศนียบัตรเกียรตินิยมอันดับ 2 ทางพันธุศาสตร์
ให้แก่กล้วยไม้ต้นที่ได้คะแนน 80 คะแนนขึ้นไป แต่ไม่เกิน 90 คะแนน
3) High Commendation Certificate (H.C.C) ประกาศนียบัตรเกียรตินิยมชมเชย ทางพันธุศาสตร์
ให้แก่กล้วยไม้ต้นที่ได้คะแนน 75 คะแนนขึ้นไป แต่ไม่เกิน 80 คะแนน
ในตำแหน่งที่ 4 นี้ จะมีหรือไม่มีก็ได้

ตำแหน่งที่ 5 คือ สมาคมผู้ที่ให้การรับรองรางวัลที่กล้วยไม้ต้นนั้นได้รับในตำแหน่งที่ 4 สำหรับในประเทศไทยมี 2 สมาคม คือ
1) R.H.T. เป็นชื่อย่อของสมาคมพฤกษชาติแห่งประเทศไทย
2) C.S.T เป็นชื่อย่อของสมาคมกล้วยไม้แคทลียาแห่งประเทศไทย
ในตำแหน่งที่ 5 นี้ จะมีหรือไม่มีก็ได้

ตัวอย่างการเขียน และอ่านชื่อกล้วยไม้
Rsc. Haadyai Delight “Bangpromgold” AM / CST

ความหมาย
รินโคโซโฟรแคทลียา หาดใหญ่ดีไลท์ ต้นบางพรมโกล์ด ได้รับรางวัล AM (ประกาศนียบัตรเกียรตินิยมอันดับ 2 ทางพันธุศาสตร์) จาก สมาคมกล้วยไม้แคทลียาแห่งประเทศไทย




 

Create Date : 14 สิงหาคม 2550    
Last Update : 14 สิงหาคม 2550 15:40:50 น.
Counter : 563 Pageviews.  

ปุ๋ยสำหรับกล้วยไม้

กล้วยไม้ที่นำมาปลูกเลี้ยงเพื่อความสวยงามนั้น ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มรากอากาศ เช่น แวนด้า (Vanda), เข็ม (Ascocentum), กุหลาบ (Aerides), ช้าง(Rhynchostylis) และกลุ่มรากกึ่งอากาศ เช่น หวาย (Dendrobium) , แคทลียา (Cattleya) ซึ่งในกลุ่มของรากอากาศสามารถปลูกเลี้ยงได้งอกงามดี โดยมิต้องอาศัยเครื่องปลูกเลย ในขณะที่กลุ่มรากกึ่งอากาศต้องการเครื่องปลูกไว้สำหรับให้รากยึดเกาะ เพื่อพยุงลำต้นไว้ เมื่อพิจารณาจากเครื่องปลูกต่าง ๆ เช่น ถ่าน , กาบมะพร้าว หรืออิฐ ฯลฯ จะเห็นว่าเครื่องปลูกเหล่านั้น กลับไม่มีแร่ธาตุใด ๆ ที่เป็นอาหารให้แก่กล้วยไม้ได้เลย เพื่อให้กล้วยไม้เหล่านี้มีความเจริญเติบโต จนผลิดอกให้เราได้ชมนั้น จำเป็นที่จะต้องดูแล บำรุง และให้อาหารแก่กล้วยไม้ นอกจากน้ำ และอากาศที่เป็นอาหารของกล้วยไม้แล้ว ปุ๋ยเป็นปัจจัยอีกปัจจัยหนึ่ง ที่ทำให้กล้วยไม้เติบโตอย่างสมบูรณ์มากขึ้น

ปุ๋ย คือ อะไร
*************
กล้วยไม้มีความต้องการธาตุอาหารในธาตุของ คาร์บอน , ไฮโดรเจน , ออกซิเจน , ไนโตรเจน , ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียมสูงกว่าแร่ธาตุอื่น ๆ โดย

@ ธาตุคาร์บอน กล้วยไม้หาได้จากอากาศ
@ ธาตุไฮโดรเจน กล้วยไม้หาได้จากน้ำ และอากาศ
@ ธาตุออกซิเจน กล้วยไม้หาได้จากน้ำ และอากาศ

ในส่วนของ ไนโตรเจน , ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม เป็นธาตุที่กล้วยไม้ไม่สามารถดูดซึมได้จากน้ำ และอากาศ เราจึงต้องให้ธาตุอาหารทั้ง 3 ธาตุนี้ แก่กล้วยไม้ ซึ่งเราเรียกธาตุอาหารนี้ว่า ‘ ปุ๋ย ‘

ประโยชน์ของปุ๋ย
************
ปุ๋ยประกอบไปด้วยธาตุ 3 ธาตุหลัก คือ ไนโตรเจน (N) , ฟอสฟอรัส (P) และ โพแทสเซียม (K)

@ ธาตุไนโตรเจน (N) เป็นแร่ธาตุที่ช่วยให้กล้วยไม้เจริญเติบโตทางใบ แต่หากกล้วยไม้ได้รับธาตุไนโตรเจนมากเกินไป จะทำให้มีแต่การเจริญเติบโตทางด้านใบอย่างเดียว ยอดอ่อนจะมีสีเขียวจัด ลำต้นเปราะ ไม่แข็งแรง อ่อนแอ และไม่มีความทนทานต่อโรค ในกรณีที่กล้วยไม้ขาดธาตุไนโตรเจน ใบของกล้วยไม้จะลีบเล็ก ใบแก่จะมีสีเหลือง โดยจะแสดงอาการเหลืองสม่ำเสมอทั้งใบ และเส้นใบ กล้วยไม้จะเจริญเติบโตช้า ลำต้นเล็กแกรน

@ ธาตุฟอสฟอรัส (P) เป็นแร่ธาตุที่ช่วยให้ลำต้นของกล้วยไม้แข็งแรง เร่งให้กล้วยไม้แตกหน่อ ช่วยให้ระบบรากแข็งแรง และมีรากมาก นอกจากนี้ ฟอสฟอรัส ยังช่วยให้กล้วยไม้ออกดอกได้ดี และมีความสมบูรณ์ หากกล้วยไม้ได้รับธาตุฟอสฟอรัสมากเกินไป และทำให้กล้วยไม้ออกดอกเร็วกว่าปกติ ใบของกล้วยไม้จะเล็ก และสั้นกว่าปกติ ในกรณีที่กล้วยไม้ขาดธาตุฟอสฟอรัส จะทำให้การเจริญเติบโตหยุดชะงัก ลำต้นลีบไม่แข็งแรง ระบบรากไม่สมบูรณ์ ทำให้มีรากน้อย ใบมีสีเขียวเข้ม หรือ ม่วง

@ ธาตุโพแทสเซียม (K) เป็นแร่ธาตุที่ช่วยในการเจริญเติบโตของหน่อ และยอดอ่อน ช่วยกล้วยไม้ในการสะสมแป้ง และน้ำตาล นอกจากนี้ ยังมีส่วนช่วยให้กล้วยไม้มีความทนทานต่อโรค หากกล้วยไม้ได้รับธาตุโพแทสเซียมมากเกินไป จะทำให้ลำต้น หรือข้อปล้องสั้น และใบแกรนแข็งผิดปกติ ในกรณีที่กล้วยไม้ขาดโพแทสเซียม จะทำให้มีการเจริญเติบโตลดลง ใบแก่จะแสดงอาการขอบใบเหลืองและไหม้ มีความเต่งน้อย ไม่อวบน้ำ และไม่ทนทานต่อโรค

ปุ๋ยสำหรับกล้วยไม้
*************
ปุ๋ยสำหรับกล้วยไม้เป็นปุ๋ยผสม เป็นการนำเอาแม่ปุ๋ย หรือปุ๋ยเดี่ยวตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไปนำมาผสมกัน ส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปของเกล็ด หรือผง นำมาละลายในน้ำ แล้วนำไปรด หรือฉีดพ่น สำหรับการเลือกซื้อปุ๋ยให้พิจารณาจาก

@ สูตรของปุ๋ย ปุ๋ยที่นำมาใช้กับกล้วยไม้จะต้องเป็นปุ๋ยสูตรสูง หมายถึง เมื่อรวมปริมาณของธาตุ 3 ชนิด (N-P-K) เข้าด้วยกันแล้ว จะต้องมีไม่น้อยกว่า 50 ส่วน ใน 100 ส่วน เช่น
*** สูตร 20-20-20 แสดงว่ามีธาตุไนโตรเจน (N) อยู่ 20 ส่วน , ธาตุฟอสฟอรัส (P) อยู่ 20 ส่วน และธาตุโพแทสเซียม (K) อยู่ 20 ส่วน รวมแล้วจะมีเนื้อปุ๋ย 60 ส่วน ใน 100 ส่วน
*** สูตร 10-52-17 แสดงว่ามีธาตุไนโตรเจน (N) อยู่ 10 ส่วน , ธาตุฟอสฟอรัส (P) อยู่ 52 ส่วน และธาตุโพแทสเซียม (K) อยู่ 17 ส่วน รวมแล้วจะมีเนื้อปุ๋ย 79 ส่วน ใน 100 ส่วน

@ การละลายน้ำ ปุ๋ยกล้วยไม้ส่วนใหญ่อยู่ในรูปของเกล็ด หรือผง นำมาละลายน้ำ แล้วใช้ฉีดพ่นทางใบ ดังนั้นควรเลือกซื้อปุ๋ยที่ละลายน้ำได้ดี เพราะจะทำให้หัวฉีดไม่อุดตัน และกล้วยไม้สามารถนำไปใช้ได้อย่างเต็มที่

วิธีการใช้ปุ๋ย
********
โดยส่วนใหญ่จะเป็นการละลายในน้ำ แล้วนำมารดหรือฉีดพ่น โดยให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของผู้ผลิตอย่างเคร่งครัด เช่น ข้างกล่อง หรือข้างกระป๋อง ระบุว่าให้ใช้ 1 ช้อนชา ต่อน้ำ 1 ลิตร ก็ควรใช้ตามที่ระบุ ทั้งนี้ไม่ควรผสมปุ๋ยเกินกว่าที่ระบุ เนื่องจากจะส่งผลเสียมากกว่าผลดี เพราะการผสมปุ๋ยมากเกินกว่าที่ระบุ จะไม่เป็นการเร่งให้กล้วยไม้เจริญเติบโตเร็วขึ้น แต่จะเป็นการเร่งให้กล้วยไม้ตายเร็วขึ้น เนื่องจากได้รับปุ๋ยที่มีความเข้มข้นมากเกินไป หากไม่แน่ใจให้ใช้ในอัตราที่เจือจางก่อน แล้วค่อยเพิ่มความเข้มข้นจนถึงระดับที่ฉลากระบุไว้จะเป็นการดีกว่ามาก เช่น ข้างกล่องระบุว่าให้ใช้ 1 ช้อนชา ต่อน้ำ 1 ลิตร เราอาจจะผสมเพียง ½ ช้อนชา ต่อ น้ำ 1 ลิตร ก่อน เมื่อใช้แล้วกล้วยไม้ไม่ได้รับความเสียหายใด ๆ ในครั้งต่อ ๆ ไป ค่อย ๆ เพิ่มความเข้มข้นขึ้นไปเรื่อย ๆ แต่ไม่ควรเกินกว่าที่ฉลากระบุ

ช่วงเวลา ระยะเวลาในการให้ปุ๋ยกล้วยไม้
**************************
@ การให้ปุ๋ยกล้วยไม้ควรให้ในเวลาเช้าช่วงแดดอ่อน ๆ (8.00 – 10.00 น.) เพื่อให้กล้วยไม้สามารถนำปุ๋ยไปใช้ได้อย่างเต็มที่

@ ระยะเวลาในการให้ปุ๋ย บางท่านอาจจะบอกว่าสัปดาห์ละ 1 ครั้ง , บางท่านบอกว่าสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ท่าน รศ. ไพบูลย์ ไพรีพ่ายฤทธิ์ ได้เขียนเรื่องการปุ๋ยสำหรับกล้วยไม้ไว้ว่า การให้ปุ๋ยควรให้น้อยแต่บ่อย ในความหมายของบ่อย ไม่ต้องขนาดวันเว้นวัน แค่สัปดาห์ละ 2 ครั้งก็เพียงพอแล้วครับ เนื่องจากในวันรุ่งขึ้นหลังจากที่ท่านรดปุ๋ย ท่านต้องรดน้ำ น้ำที่รดจะชะล้างปุ๋ยที่ท่านรดไว้เมื่อวานออกไปหมด สำหรับคำว่าให้ปุ๋ยน้อย คือ การผสมปุ๋ยลดลงจากอัตราส่วนที่ระบุไว้ที่ฉลากสักครึ่งหนึ่งครับ

ใช้ปุ๋ยสูตรไหนดี
***********
ปัจจุบันมีปุ๋ยกล้วยไม้จำหน่ายอยู่มากมายหลากหลายยี่ห้อ และในแต่ละยี่ห้อจะมีหลากหลายสูตร ในเรื่องนี้คงต้องศึกษากันต่อไปว่ากล้วยไม้ที่ท่านเลี้ยงอยู่ในระยะใด เช่น ในช่วงที่ท่านย้ายกระถางไม่ว่าจากกระถางนิ้ว เป็นกระถาง 4 นิ้ว หรือ จากกระถาง 4 นิ้ว เป็นกระถางใหญ่ขึ้น ท่านต้องให้ความสำคัญกับระบบรากก่อน เมื่อรากเกาะเครื่องปลูกแล้ว จึงจะเน้นการเจริญเติบโตในส่วนอื่น ๆ เช่น ไม้นิ้วที่พึ่งขึ้นกระถาง 4 นิ้ว ต้องการให้รากเกาะเครื่องปลูก ท่านอาจจะใช้ปุ๋ยสูตรที่มีฟอสฟอรัสมากธาตุอื่น หลังจากนั้นเป็นช่วงที่เร่งการเจริญเติบโต ท่านอาจจะใช้ปุ๋ยสูตรที่มีธาตุไนโตรเจน มากกว่าธาตุอื่น สำหรับไม้พร้อมให้ดอกที่เปลี่ยนกระถางให้ใหญ่ขึ้น ท่านอาจจะใช้ปุ๋ยสูตรที่มีฟอสฟอรัสมากธาตุอื่น เพื่อเร่งระบบราก หลังนั้นอาจจะใช้สูตรเสมอ เพื่อช่วยการเจริญเติบโตทุกส่วน ฯลฯ การเลือกใช้ปุ๋ยไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว แต่ละสวนก้อแต่ละสูตร ถ้าพิจารณาดี ๆ จะพบปุ๋ยสำหรับกล้วยไม้จะเป็นปุ๋ยที่มีแร่ธาตุครบทั้ง 3 ตัว เพียงแต่จะเร่งไปในส่วนไหน ส่วนผสมของธาตุที่กล้วยไม้ต้องการใช้จะสูงกว่าธาตุอื่น ๆ เช่น สูตรเร่งดอก 10-52-17 กล้วยไม้ต้องการใช้ธาตุฟอสฟอรัส และ โพแทสเซียม มากกว่าไนโตรเจน ในช่วงออกดอก

ที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่ง ปุ๋ยเป็นปัจจัย ๆ หนึ่ง ที่ทำให้กล้วยไม้มีความสมบูรณ์ ถ้าท่านบอกว่ารดปุ๋ยสัปดาห์ ละครั้ง แต่ไม่รดทุกวันน้ำ กล้วยไม้ของท่านก็คงไม่สามารถสมบูรณ์ได้ บางท่านเลี้ยงกล้วยไม้ให้ร่มแล้วไม่ออกดอก ให้ปุ๋ยเร่งดอกอย่างไรก็ไม่เคยออกดอก เพราะกล้วยไม้ต้องการแสงแดด จึงจะออกดอกให้ได้ชมกัน

สำหรับปัจจัยในการปลูกเลี้ยงกล้วยไม้มีมากมายหลายปัจจัย เช่น
@ น้ำ (คุณภาพของน้ำ)
@ ความชื้น
@ แสงแดด (ระยะเวลาในการรับแสง)
@ อุณหภูมิ
@ ผู้ปลูกเลี้ยง (มีเวลาเอาใจใส่ดูแลมากน้อยอย่างไร)
@ ปุ๋ย
@ สภาพดินฟ้าอากาศ
@ สถานที่
@ สายพันธ์ของกล้วยไม้
@ โรคของกล้วยไม้
@ ศัตรูของกล้วยไม้
@ อื่น ๆ อีกมากมาย

ท่าน รศ. ไพบูลย์ ไพรีพ่ายฤทธิ์ ท่านเขียนไว้ว่า การเลี้ยงกล้วยไม้ให้งามสมบูรณ์ จะต้องคำนึงถึงปัจจัยบางข้อ แต่จะละเลยปัจจัยบางข้อนั้นไม่ได้ ในการปลูกเลี้ยงกล้วยไม้นั้น แต่ละท่านปลูกเลี้ยงอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ต่างกัน มากบ้าง น้อยบ้าง ท่านต้องพยายามปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม จะเอาอย่างกัน หรือลอกเลียนแบบกันไม่ได้ ต้องอาศัยความสังเกต และปรับปรุงให้เหมาะสมด้วยตัวเอง




 

Create Date : 14 สิงหาคม 2550    
Last Update : 14 สิงหาคม 2550 15:03:22 น.
Counter : 1566 Pageviews.  

ศิลปะในการเล่นกล้วยไม้

ศิลปะในการเล่นกล้วยไม้ โดย ศาสตราจารย์ ระพี สาคริก

เมื่อเราเข้ามาสู่วงการกล้วยไม้เรามักจะได้ยินเสมอๆ ในการที่มีผู้กล่าวถึงการเล่นกล้วยไม้ หรือการเลี้ยงกล้วยไม้ หรือการปลูกกล้วยไม้ทั้งสามประโยคนี้ เข้าใจว่าผู้ที่อยู่ในวงการกล้วยไม้ จะมีความรู้สึกและความเข้าใจ ในความหมายอย่างเดียวกัน แต่ก็มีสิ่งที่น่าคิดต่อไปสำหรับ ผู้ที่ชอบคิดไม่ใช่ชอบตามเสมอไปคือ การปลูกพืชอย่างอื่นๆ เช่น การปลูกข้าว หรือการปลูกข้าวโพด ทำไมจึงไม่มีใครพูดว่าการเล่นข้าว หรือการเล่นข้าวโพดบ้าง ทั้งๆที่เป็นการปลูกพืชด้วยกัน จึงทำให้ต้องคิดต่อไปอีก ทำให้เข้าใจว่า ข้าวก็ดี ข้าวโพดก็ดี เป็นพืชอาหารทางกาย การปลูกอาหาร ดังกล่าวก็เพื่อวัตถุประสงค์ให้ได้ผลผลิตสำหรับนำไปใช้เป็นอาหาร แต่ประโยชน์ของกล้วยไม้ที่แท้จริงนั้น คือ อาหารทางจิตใจ จิตใจของผู้ที่เลี้ยงกล้วยไม้นั้น จะรับประทานอาหารนับตั้งแต่เริ่มทำการปลูกกล้วยไม้ นั่นคือ ในระหว่างที่ปลูกกล้วยไม้ เราเลี้ยงและเล่นกับกล้วยไม้ไปด้วยเพลิดเพลินอยู่กับการปลูก ปฏิบัติ บำรุงรักษา ผสมเกสร เพาะเมล็ด ฯลฯ เรามิได้ปลูกเพื่อหวังบริโภคผลผลิตในตอนปลายเท่านั้น ดังนั้น การเล่นกล้วยไม้จึงมีความหมายกว้างขวางกว่า

การปลูกกล้วยไม้มาก หากปราศจากการเล่นกล้วยไม้เสียแล้ว การปลูกกล้วยไม้จะอยู่ได้ยาก ดังนั้น ผู้ที่คิดเสียสละเพื่อส่วนรวมในการหาทางให้วงการกล้วยไม้ได้มีความพัฒนาถาวรสืบไป จึงควรจะพยายามหาทางสร้าง การเล่นกล้วยไม้ที่มีเหตุผล เมื่อกล่าวถึง การเล่น ก็เป็นเรื่องของการพักผ่อนหย่อนใจ ผ่อนคลายความตึงเครียดของประสาทอยู่แล้ว เราจึงควรจะคิดว่าในรายละเอียด เกี่ยวกับการเล่นกล้วยไม้นี้ มีแนวทางปฎิบัติอย่างไร จึงจะให้ผู้เล่นกล้วยไม้ได้บรรลุผลสมตามเป้าหมายอันแท้จริง

การเล่นกล้วยไม้นับได้ว่าเป็นศิลปะร่วมกับเทคนิค ในเรื่องของเทคนิคนั้น ได้แก่ เทคนิคในการปลูกปฎิบัติ บำรุงรักษา ขยายพันธุ์ ป้องกันกำจัดศัตรู ฯลฯ สำหรับศิลปะนั้น ในสมัยก่อนๆ ก็หมายความถึงศิลปะของการเล่นกล้วยไม้ยิ่ง ๆ ขึ้น มีการร่วมกันสร้างสรรค์ ร่วมกันอยู่ในสังคม จึงเกิดเป็นศิลปะ ในการอยู่ร่วมกันขึ้น สังคมกล้วยไม้ก็เช่นกัน เราจะต้องหาทางอยู่ร่วมกันให้เกิดความสุข และเกิดความเพลิดเพลินทางจิตใจ ในวงการกล้วยไม้ด้วย กล้วยไม้ที่เราเลี้ยงไว้ในเรือนกล้วยไม้ของเรานั้น ก็มีหลายแบบหลายอย่าง สีสันต่างๆ ขนาดต้นต่างๆ กัน เจ้าของแต่ละคนต่างก็มีศิลปะในการหาทางให้กล้วยไม้ต่าง ๆ เหล่านั้น สนองความต้องการทางจิตใจแก่ตนตลอดเวลา สังคมกล้วยไม้ก็เช่นเดียวกัน ประกอบขึ้นด้วยบุคคลต่างอาชีพ ต่างวัย ต่างเพศ ต่างรสนิยม และต่างทัศนะกันอย่างกว้างขวาง แต่เราก็หนีไม่พ้นในการที่จะอยู่ร่วมในสังคมเดียวกัน สำหรับศิลปะในการเล่นกล้วยไม้ภายในเรือนกล้วยไม้ของแต่ละคนนั้น สิ่งหนึ่งในหลาย ๆ สิ่ง ก็คือ เจ้าของพยายามหาพันธ์กล้วยไม่ที่มีคุณภาพดีเด่นมาสนองความต้องการของตนอยู่เสมอ ส่วนสังคมกล้วยไม้นั้นเหล่า เราอยู่ในสังคมกล้วยไม้ร่วมกัน เราจะสร้างสรรค์อะไรที่ดีเด่นให้แก่สังคมกล้วยไม้ได้บ้าง ก่อนอื่น เราจะต้องเข้าใจต่อไปด้วยว่า ประโยคที่กล่าวว่า “สร้างสรรค์ให้แก่สังคม” นั้น ก็คือ การเสียสละเพื่อส่วนรวมนั่นเอง สังคมกล้วยไม้จะมีพลังในการสร้างสรรค์ได้ ย่อมมีพลังแห่งความสามัคคีเป็นพื้นฐานสำคัญ ดังนั้น การสร้างความสามัคคี ก็คือการมีส่วนสร้างสรรค์ให้แก่ส่วนรวมอย่างหนึ่ง ด้วยเหตุผลนี้ ก่อนที่เราจะกระทำการใด ๆ ลงไป ไม่ว่าจะเป็นการพูด การเขียน หรือการปฏิบัติตามก็ตาม

สำหรับผู้ที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมอย่างแท้จริงแล้ว ควรจะได้พิจารณาให้รอบครอบเสียก่อนว่า สิ่งที่ตนกระทำลงไปนั้น จะเป็นการสร้างความสามัคคีให้แก่ส่วนรวม หรือจะเป็นหนทางที่ทำให้เกิด การแตกแยกแก่ส่วนรวม วงการกล้วยไม้ของเราประกอบขึ้นด้วยบุคคลผู้สนใจเลี้ยงกล้วยไม้ทุกคน หากมีแต่กล้วยไม้ ไม่มีบุคคลผู้สร้างสรรค์ วงการกล้วยไม่ของเราจะมั่นคงอยู่ได้อย่างไร ดังนั้น ทุกคนจึงเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ เพียงแต่ทุนคนทำตนให้เป็นองค์ประกอบที่ดี ก็ถือว่าได้ทำหน้าที่ในการสร้างสรรค์ที่ดีร่วมกันแล้ว ปัจจุบันนี้ มีหลายคนเลี้ยงกล้วยไม้เล่นเพลิน ๆ เล็ก ๆ น้อย ๆ และ มีหลายคนที่ได้เติบโตขึ้น มีกล้วยไม้มากขึ้น ถึงขนาดแบ่งปันซื้อขายเพื่อนกล้วยไม้ด้วยกัน มีหลายคนที่เติบโตเป็นอาชีพไปได้แล้ว ขณะนี้ จึงมีทั้งผู้เลี้ยงที่เลี้ยงกล้วยไม้เป็นงานอดิเรกเล็ก ๆ น้อย ๆ ผู้ที่เลี้ยงกล้วยไม้เป็นลำไพ่ และผู้ที่เลี้ยงกล้วยไม้เป็นอาชีพปะปนกันอยู่ และตามข้อเท็จจริง ก็เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของวงการกล้วยไม้ด้วยกัน จำเป็นต้องมีความสัมพันธ์ และพึ่งพาอาศัยกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น จึงมีข้อคิดต่อไปอีกว่า การที่จะอยู่ร่วมกันพึ่งพาอาศัยกันได้ด้วยดีนั้น เราจะมีวิธีการอย่างไรที่เหมาะสม เราไม่ควรมีการแบ่งแยก แต่ควรสร้างความเคารพนับถือซึ่งกันและกัน ด้วยการสร้างคุณงามความดีให้แก่กัน ภาพอันแท้จริงของผู้ที่ควรได้รับการเคารพนับถือในสังคม จึงมิใช่ผู้ที่มีความรู้ หรือมีประสบการณ์ในการเทคนิค แต่เป็นผู้ซึ่งมีน้ำใจสูงส่งในการเสียสละให้แก่ส่วนรวม และรู้จักความเหมาะสมในการที่จะให้สังคมได้อยู่ร่วมกันด้วยความสงบสุขเป็นสำคัญ ดังนั้น เพื่อให้สังคมได้อยู่ร่วมกันด้วยการเคารพนับถือซึ่งกันและกันอย่างแท้จริง ท่านควรจะเป็นผู้ที่ให้สิ่งที่ดีงามแก่สังคมด้วยความบริสุทธิ์ใจด้วย เทคนิคในการปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ในปัจจุบันนี้ เราก็มีอยู่พอสมควรแก่อัตภาพของสังคมกล้วยไม้ในปัจจุบันนี้อยู่แล้ว แต่ศิลปะในการเล่นกล้วยไม้นั้น หากเราได้ร่วมกันเลียสละสร้างให้บังเกิดผลในทางสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามแก่สังคมแล้ว วงการกล้วยไม้ของเราก็จะเจริญรุ่งเรืองยิ่ง ๆ ขึ้นไปได้อีกไกลในอนาคต




 

Create Date : 14 สิงหาคม 2550    
Last Update : 14 สิงหาคม 2550 15:03:48 น.
Counter : 627 Pageviews.  

จุดเด่นสำคัญของกล้วยไม้แคทลียา

จุดเด่นสำคัญของกล้วยไม้แคทลียา โดย พันเอก คำรณ ภิญโญพันธุ์

1) กลิ่น แคทลียาทุกชนิดมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ และถ้าเป็นพันธุ์แท้จะมีกลิ่นหอมมาก

2) ขนาดของดอกแคทลียา มีหลายขนาดขึ้นกับสายพันธุ์
- ขนาดจิ๋ว ตั้งแต่ 4.0 ซม. ลงมา
- ขนาดเล็ก ตั้งแต่ 4.0 – 7.49 ซม.
- ขนาดกลาง ตั้งแต่ 7.50 – 11.99 ซม.
- ขนาดใหญ่ ตั้งแต 12.00 ซม. ขึ้นไป

3) สี กล้วยไม้แคทลียาเป็นกล้วยไม้ที่มีสีหลากหลาย เช่น ขาว เขียว ชมพู แดง แสด เหลือง ส้ม น้ำเงินอ่อน นอกจากนี้ยังมีสีป้ายตามกลีบ หรือลายจุดตามกลีบต่าง ๆ อีกด้วย

4) ปาก แคทลียาเป็นกล้วยไม้ที่มีปากขนาดใหญ่สีเดียวกับกลีบดอกอื่น ๆ หรือมีสีตัดกัน เช่น เหลืองปากแดง ขาวปากแดง เขียวปากแดง ขาวทั้งดอก และจะมีตาสีเหลืองที่ปากสองข้าง มีขนาดกลมเล็ก ๆ หรือ ขยายใหญ่เกือบเต็มปาก

5) จำนวนดอก สำหรับแคทลียาที่มีดอกขนาดใหญ่จะมีดอกประมาณ 1-5 ดอก สำหรับขนาดอื่น ๆ ที่เล็กลงไป จะมีดอกตั้งแต่ 2-10 ดอก

6) ลักษณะลำต้น กล้วยไม้สกุลแคทลียาจะมีลำต้นที่สูงสม่ำเสมอดูเป็นระเบียบ ออกดอกที่ยอดของลำต้น ออกดอกในซองดอก และไม่มีซองดอก




 

Create Date : 14 สิงหาคม 2550    
Last Update : 14 สิงหาคม 2550 15:04:31 น.
Counter : 1066 Pageviews.  

1  2  
 
 

PRY Orchids
Location :
นนทบุรี Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




กล้วยไม้เจ้าเอย ทรามเชยหลากสี
หลายพันธ์มากมี กลิ่นนี้หอมไกล
[Add PRY Orchids's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com
pantip.com pantipmarket.com pantown.com