ความรู้ ควบคู่ ความฮา
space
space
space
space

แนวทางการสร้าง SQ ให้เจ้าตัวน้อย
โลกมอบมรดกให้กับเราคือ ทรัพยากรธรรมชาติ แต่สำหรับเรามรดกที่จะทิ้งไว้กับโลก นอกจากคุณงามความดีแล้ว อีกอย่างก็คือ ทรัพยากรบุคคล ซึ่งจะว่าไปทุกบ้านก็ล้วนอยากเลี้ยงลูกหลานให้มีคุณภาพเต็มเปี่ยม



ก่อนหน้านี้เรารู้จัก ความฉลาดที่เกิดจากพัฒนาด้านสมอง (IQ) และ ความของการอารมณ์ (EQ) แต่ยุคนี้มีการศึกษาที่เชื่อถือได้ล่าสุดว่าทั้งสองอย่าง อาจไม่เพียงพอกับคนรุ่นใหม่ซะแล้ว!!! เพราะหากลูกหลานของเรา ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมรอบตัวได้ดี จะมีประโยชน์อะไรถ้าเขาประสบความสำเร็จ
เข้าทำนอง “นกไม่มีขน คนไม่มีเพื่อน” “มีทุกอย่าง แต่ไม่มีใคร” (อันนี้เราคิดเอง แรงบันดาลใจจากคนรอบข้างที่ไม่น่าคบ อิอิ)



ข้อมูลของสถาบันเทคโนโลยีคาร์เนกี้ ในการติดตามสถิติของคนที่มี IQ ดี มีการฝึกอบรมทางด้านสมอง รวมทั้งมีทักษะความสามารถในการทำงานดีพบว่า คุณสมบัติดังกล่าวทำให้คนประสบความสำเร็จเพียง 15% เท่านั้น แต่อีก 85% มาจากปัจจัยด้านบุคลิกภาพ และการปฏิบัติต่อผู้อื่น หรือที่เรียกว่า การพัฒนาทักษะความฉลาดทางสังคมที่ดี (Social Quotient: SQ) ฉะนั้นเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องใหม่ที่เหล่าคนรักลูก รักหลาน ทุกคน ต้องศึกษาให้จงหนัก



อย่าเพิ่งเหนื่อย เพิ่งล้า ว่าการจะปั้นเด็กสักคนหนึ่ง ทำไมต้องใส่อะไรไปเยอะแยะมากมาย คิดง่ายๆว่า เพื่อให้ร่างกายเราแข็งแรง อาหารยังต้องทานให้ครบ 5 หมู่เลย เลี้ยงตัวยุ่งยาก เยอะอย่าง ฉันใด เลี้ยงหัวใจ ก็ฉันนั้น!!!



นายแพทย์พงษ์ศักดิ์ น้อยพยัคฆ์ กุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการและพฤติกรรม คณะแพทยศาสตร์
วชิรพยาบาล เผยว่า “ปัจจุบันแนวคิดในการให้ความสำคัญกับความฉลาดทางสติปัญญา (IQ) อารมณ์ (EQ) ถูกลดทอนลงจากความคาดหวังของพ่อแม่ยุคใหม่ไปแล้ว เมื่อมีผลวิจัยล่าสุดที่ระบุว่า กว่า 96% ของพ่อแม่ในยุคนี้หันมาให้ความสำคัญกับการอยู่รอดในสังคมอย่างมีความสุขของลูกมากกว่าการสร้างอัจฉริยภาพทางสติปัญญาและอารมณ์ให้กับลูก นั่นหมายความว่า พ่อแม่อยากให้ลูกมีสุขภาพจิตดี มีน้ำใจ ไม่ก้าวร้าว สามารถปรับตัวอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างมีความสุข ซึ่งทั้งหมดนี้ คือ ความฉลาดทางสังคม (Social Quotient: SQ) ซึ่งจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่สนับสนุนให้ลูกน้อยประสบความสำเร็จและมีชีวิตที่มีความสุข โดยพ่อแม่สามารถพัฒนาทักษะนี้ได้ตั้งแต่ลูกเกิด”



การเปิดโอกาสให้ลูกได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัว ได้คิดและทำกิจกรรมต่าง ๆ ก็เป็นแนวทางสำคัญในการพัฒนาทักษะทางสังคม โดยเฉพาะการเรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาเฉพาะหน้า การใช้เวลาทำกิจกรรมร่วมกันและแสดงความรักเพื่อทำให้ลูกรู้สึกอบอุ่น เป็นพื้นฐานของพัฒนาการทางด้านอารมณ์ที่มั่นคง ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาด้านสังคม โดยการทำกิจกรรมและเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น ภายใต้สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งการเสริมสร้าง SQ นี้ เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ลูกสามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข”



“นอกจากการเสริมสร้างพื้นฐานร่างกายให้แข็งแรง ด้วยการเลือกโภชนาการที่เหมาะสมในแต่ละช่วงวัยแล้ว การดื่มนมที่มีจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์อย่าง แอล แรมโนซัส (L-RHAMNOSUS) ที่มีผลวิจัยมากที่สุดสายพันธุ์หนึ่งและได้รับการยอมรับ ทางการแพทย์ว่า โดดเด่นด้วย 3 พลังการปกป้องในการช่วยลดการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ระบบทางเดินอาหาร และเสริมสร้าง ภูมิคุ้มกันให้กับลูกน้อย จะทำให้คุณพ่อคุณแม่มั่นใจที่จะให้เขาออกไปสัมผัสประสบการณ์ในโลกกว้าง เพื่อเรียนรู้การปรับตัวเข้ากับคนรอบข้าง พัฒนาความฉลาดทางสังคม พร้อมสู่การเป็นผู้นำตัวน้อย หัวใจยิ่งใหญ่ได้ในที่สุด”


การฝึกฝนให้ลูกมี SQ (หรือบางที อาจเรียกว่า SI (Social Intelligence) ซึ่งความหมายเหมือนกัน) ต้องสอนอย่างรู้เขา รู้เรา และ 3 สิ่งต้องสร้าง คือ ต้องมีคุณธรรม, ต้องคิดได้, ต้องสื่อสารเป็น สิ่งที่พ่อแม่ต้องรู้ในการสร้างให้ลูกมี SQ คือ เข้าใจ, รับฟัง, ยืดหยุ่น, เท่าทัน, หนักแน่น, สม่ำเสมอ, อดทน ด้านกระบวนการเรียนรู้ของเด็ก คือ พวกเขาเรียนรู้จากการเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ รอบตัว, เรียนรู้จาการตอบสนองของผู้คนรอบข้าง, จากสิ่งที่ประพฤติปฏิบัติ และสุดท้าย ผู้ปกครองและญาติทุกคนคือต้นแบบ เพราะเขาเรียนรู้จากแบบอย่างรอบตัวเป็นหลัก



การสร้าง SQ ให้กับลูก แบ่งเป็น ตั้งแต่แรกเกิด-1 ปี ว่ากันว่าพ่อแม่ที่มี SQ ดีย่อมส่งเสริมให้ลูกมี SQ ดีตามมาได้ไม่ยาก เด็กๆ จะมีพ่อแม่และคนรอบข้างเป็นต้นแบบ!! ฉะนั้นต้องทบทวนตัวเองว่าอยากให้ลูกเติบโตไปในทิศทางไหน แล้วทำแบบนั้น!! สำหรับเด็กช่วงนี้ มีความสามารถในการแยกแยะตนเองออกจากพ่อแม่และผู้เลี้ยงดูใกล้ชิด สังเกตได้ปลายขวบปีแรก เขาจะไม่ฟัง อะไรบอกให้ ทำ จะไม่ทำ และอะไรบอกไม่ให้ทำ ค่อยๆ ฝึกเขาอย่างช้าๆ และปลูกฝังวินัย เวลากินและนอนให้เป็นเวลา ช่วงนี้เด็กจะจำชื่อตัวเองและสื่อสารทางภาษากายง่ายๆ เอา ไม่เอา ชอบ ไม่ชอบ ผู้ปกครองจะเสริมพื้นฐานให้เขาโดยให้รู้จักการแบ่งปันหยิบยื่นขนมหรือของเล่นให้กับผู้อื่นก่อน


สร้าง SQ วัยเตาะแตะ 1-3 ปี หมั่นพูดคุย ต่อยอด สร้างพัฒนาการความรู้และความจำ อาจมีตัวช่วยคือนิทาน เรียนรู้จากสิ่งแวดล้อม ให้เด็กมี Self-Esteem อย่าง กินข้าว กินน้ำ หยิบโน่นนี่ด้วยตัวเอง เปิดโอกาสให้เขาเล่นกับคนที่ไม่คุ้น เด็กวัยเดียวกัน ถ้าทะเลาะกัน ไม่ต้องไปเร่งสอน ค่อยๆ บอก ค่อยๆ ให้เขาคุ้นเคย เราแค่ใกล้ชิด ชี้ชวน ชี้แนะ สร้างปฏิสัมพันธ์ ให้เป็นแบบอย่าง



สร้าง SQ ลูกวัยก่อนเรียน 3-5 ปี วัยเผชิญโลกและสังคมที่โรงเรียน วัยนี้พร้อมมากขึ้นต่อการส่งเสริมด้านคุณธรรมผ่านการควบคุมตนเอง ตามกฎระเบียบและวิธีปฏิบัติ หากมีการ์ตูน ดูด้วยกัน และพยายามสอดแทรกวิธีปฏิบัติที่เหมาะสมตามบรรทัดฐานของครอบครัวและสังคม ช่วงนี้ความฉลาดในทุกๆ ด้านจะเติบโตไปในทิศทางเดียวกัน จึงหมั่นดูแลอบรมเขาให้หนัก และอยากให้เขาเห็นมุมมองอย่างรูปธรรม แนะให้ลูกได้ฝึกคิดผ่านการเล่น อาจเป็นการจำลองสถานการณ์ง่ายๆ แล้วสอบถามความเห็น ข้อนี้อย่ากลัวว่าจะชวนลูก “มโน” ไปหรือเปล่า เพราะคุณหมอบอกว่ามีประโยชน์มากๆ ฝึกให้เขาคิดจากหลายมุม ได้มุมมอง นำมาสู่การเข้าอกเข้าใจผู้อื่น ที่อยู่คนละฝั่งกับเรา และสุดท้ายถ้าลูกทำถูก อย่าลืมสนับสนุน เป็นแรงเสริม ให้กำลังใจ



หลักการสื่อสารเพื่อสร้าง SQ สำคัญว่าควรพูดความจริง ต้องให้โอกาสเด็กได้เรียนรู้ รับมือกับความคับข้องใจที่เกิดขึ้น เข้าใจถึงความจำเป็น (อันนี้เป็นเหตุการณ์จริง ตอนที่ผู้ปกครองหลายท่าน จำต้องโกหกเด็ก ที่เห็นกันตามคลินิก หลอกว่าไม่ฉีดยา สุดท้ายเด็กร้องจ้าทุกทีเวลาเห็นเข็ม ที่สุดก็จะกลัว ไม่เชื่อถือผู้ปกครอง และงอแง)



ฉะนั้นเราควรสื่อสารกับลูกอย่างตรงไปตรงมา และมีประสิทธิภาพ ทีนี้คำถามถือทำอย่างไร จะขอสรุปง่ายๆ ดังนี้ 1.ฟังเขาอย่างตั้งใจ อย่าด่วนตัดสิน จริงๆ เด็กอาจไม่มีเหตุผล แต่ฟังเพื่อให้รู้มุมมองของเขา จะได้รับมือกับปัญหาของเขาได้ถูก 2. ช่วยลูกเข้าใจความรู้สึกและอารมณ์ของตัวเอง เพื่อการจัดการกับอารมณ์ และแก้กับข้อกังขา ที่เป็นอุปสรรค และปัญหาของตัวเองได้ในอนาคต 3.ใช้จินตนาการช่วยลูก ข้อนี้ไม่น่าแปลกใจ ทำไมเด็กๆ ถึงหลงใหลโลกการ์ตูน เพราะเด็กมีจินตนาการ และโลกของเขาสวยงาม ใช่ว่าโลกแห่งความจริงโหดร้าย และโลกของความสวยงามไร้เหตุผล ผู้ปกครองต้องรู้จักอนุมาน เล่าทั้งสองอย่างออกมาเป็นข้อคิดให้เด็กเข้าใจ 4.สะท้อนพฤติกรรมเท่าที่เห็น ข้อนี้สำคัญ มีตัวอย่างอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีเหตุการณ์จริงด้วย เป็นความสมดุลที่จะไม่ทำร้ายเขา ให้เข้าข้างตัวเองในอนาคต จากการคิดเอาเอง เด็กต้องรู้จักแยกความจริงกับความฝัน ตัวเหตุการณ์ต่างๆ ทำให้เขาอยู่กับความเป็นจริงได้



ที่เหลือเป็นรายละเอียด ขออนุญาตสรุปเป็นคำๆ คือ เมื่อต้องการสอนอะไร บอกลูกให้ชัดเจน เอาสั้นๆ แต่มีความหมาย, บอกความรู้สึกของตัวเองให้ลูกรู้ (ฝึกให้เขามีเหตุผล เพราะเวลาสอน เรามักมีข้อคิดประกอบ), ฝึกให้เขาเขียนบันทึก (ฝึกให้รู้จักเรียบเรียงความคิด), บอกพฤติกรรมที่ต้องการ และเหตุผลของพฤติกรรมที่ไม่ต้องการ (เพื่อความเข้าใจของลูก), ชื่นชมในความพยายามของลูก,ฝึกให้ลูกค้นหาคำตอบด้วยตัวเอง (ทุกบริบทของการค้นคว้า เขาจะได้ข้อมูลจากการอ่าน และทักษะในการถามจากแหล่งข่าว ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่มีอาวุโสกว่า), ให้เขาได้รับผลการกระทำของเขาเอง (เด็กจะได้เรียนรู้ ** ปล่อยซะตั้งแต่เด็ก ขณะที่ความผิดยังเล็ก ดีกว่าหลายบ้านที่ปล่อยจนรู้ตัว ทำความผิดใหญ่ ขั้นอาญา อันนี้สังคมไม่ให้อภัย เป็นเรื่องใหญ่มากๆ) , ระดมสมอง ช่วยกันคิด และหมั่นพูดสร้างกำลังใจ (จุดนี้นำไปสู่ ทัศนคติที่ดี)



เป็นอย่างไรบ้าง การเสริม SQ จริงๆ แล้ว ไม่ยากเลย สุดท้ายกับคำถามหากต้องชั่งน้ำหนัก SQ IQ และ EQ อะไรสำคัญกว่ากัน??? สัดส่วนเท่าไหร่ ลูกเราถึงจะประสบความสำเร็จ และมีความสุข เป็นที่ยอมรับจากคนรอบข้างและเป็นที่รักด้วย แม้จะเป็นคำถามที่ดี แต่ตรงนี้ไม่มีใครกล้าชี้ชัด เอาเป็นว่า
ให้อาหารกายแล้ว
ให้อาหารสมองแล้ว
ให้อาหารอารมณ์ เพื่อลูกน้อยจะได้แข็งแรง พร้อมทุกด้าน เป็นทรัพยากรที่มีคุณภาพของสังคม ไปอีกสักอย่างก็ไม่น่าจะหนักหนาอะไร ขนาด วิตามิน ยังต้องกินหลากหลายประเภทเลย
ว่ากันว่า การลงทุนที่ดีที่สุด คือ การลงทุนกับลูก เราจะได้กำไรมหาศาลของชีวิต



ขอบคุณข้อมูลและผู้จัดงาน “แคมป์ผู้นำตัวน้อย หัวใจยิ่งใหญ่” โดยผลิตภัณฑ์ นมผงตราหมี แอดวานซ์ โพรเท็กซ์ชัน สูตร 3 บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด
หนังสือ Social Intelligence ปฏิบัติการสร้างทักษะสังคมให้เด็กเก่ง



Create Date : 21 มีนาคม 2559
Last Update : 21 มีนาคม 2559 11:08:45 น. 0 comments
Counter : 2978 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
space

คนอวดฉลาดที่พลาดตลอด
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]






space
space
[Add คนอวดฉลาดที่พลาดตลอด's blog to your web]
space
space
space
space
space