Group Blog
 
All Blogs
 

65 ปีกับหนึ่งเมนู



ความขี้เบื่อ เป็นเหตุผลหนึ่ง ที่ทำให้ดิฉันพิจารณาตัวเองว่า ไม่เหมาะกับการประกอบอาชีพร้านอาหาร เพราะร้านอาหารที่หวังผลกำไร ควรจะมีเมนูประจำ ที่ยึดเป็นหลักของร้าน แล้วมีจานพิเศษ คอยเสริมคอยแทรกตามฤดูกาล หรือตามโอกาสพิเศษต่าง ๆ ก็เจ้าเมนูประจำที่ต้องยึดเป็นหลักนี่แหละ ที่เพียงแต่คิดว่าจะต้องทำอาหารซ้ำ ๆ ซาก ๆ ทุกเมื่อเชื่อวัน ก็ทำให้ดิฉันหาวยืดยาวเสียแล้ว

เพราะเหตุนี้ เมื่อได้อ่านเรื่องของร้านอาหารชื่อ จีโน่ ในนิวยอร์ค จากบทความของ Gay Talese ในนิตยสาร The New Yorker จึงอดไม่ได้ที่จะนำมาเล่าสู่กันฟัง

จีโน่ ชื่อก็บอกแล้วว่าเป็นอิตาเลียน เริ่มกิจการเมื่อปี 1945 โดยตั้งนิวาสถานอยู่ที่เล็กซิงตันอเวนยู แถวใกล้ ๆ กับถนน 61 จุดเด่นของจีโน่มีสามอย่าง หนึ่งคือราคาอันจัดว่าค่อนข้างถูก สองคือการตกแต่งภายในที่ประกอบด้วยวอลเปเปอร์สีแดงมะเขือเทศ พิมพ์ภาพม้าลายกระโดดเหย็ง ๆ รวมทั้งหมด 314 ตัวทั่วร้าน และสามคือพ่อครัวที่จงใจไม่ใช้ความสร้างสรรค์เลย ลูกค้าประจำของจีโน่ เป็นประเภทที่ไม่ชอบเลือกมาก ยอมรับความจำกัดของอาหารน้อยอย่าง ที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง ลูกค้าประจำของจีโน่ ไม่เคยต้องขอดูเมนูเลย เพราะจำได้ขึ้นใจว่ามีอะไรบ้าง รายการอาหารทั้งหมดของจีโน่ เขียนด้วยปากกาหมึกซึมอยู่บนกระดาษหุ้มพลาสติกแผ่นเดียว เป็น ลายมือของผู้ก่อตั้งร้าน เขียนไว้ตั้งแต่เปิดร้านเมื่อ 65 ปีมาแล้ว

ร้านจีโน่ ภาคภูมิใจว่า “โลกหมุนไปเปลี่ยนไป แต่ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงที่จีโน่” เวลาผ่านไปเป็นสิบ ๆ ปี ม้าลายสามร้อยกว่าตัวเดิมก็ยังอยู่ติดกำแพง โต๊ะไม้ยี่สิบเจ็ดตัว กับเก้าอี้เจ็ดสิบสี่ตัว ยังอยู่ครบไม่ขาดไม่เกิน ครัวยังคงเล็กนิดเดียว และรายการอาหารพิเศษประจำวัน ก็ไม่เคยมีอะไรใหม่ สัปดาห์แล้วสัปดาห์เล่า ทุกวันจันทร์ ออสโซ บุคโค (สตูแข้งลูกวัวติดไขกระดูก) ทุกวันอังคาร ไม่มีอะไรพิเศษ ทุกวันพุธขาแกะ ทุกวันพฤหัส เนื้อลูกวัวซอสเยโนวีส ทุกวันศุกร์ ซุปปลา ทุกวันเสาร์เหมือนทุกวันพุธคือขาแกะ และทุกวันอาทิตย์ ลาซานญา จีโน่รักษาระดับราคาค่อนข้างถูกไว้ได้ ด้วยการตัดค่าใช้จ่ายสิ่งที่ไม่จำเป็นออกหมด เช่นไม่เคยจ้างเด็กเก็บโต๊ะเลย บริกรประจำโต๊ะ ซึ่งมีเก้าคน ดูแลคนละสามโต๊ะ ทำทุกอย่าง ตั้งแต่จัดโต๊ะ รับคำสั่ง เสิร์ฟ และเก็บ ร้านอาหารโก้ ๆ ของนิวยอร์คอย่าง “ลา เกรอนุยล์” จ่ายค่าดอกไม้สดประดับร้านสัปดาห์ละสามพันดอลล่าร์ มิสเตอร์จีโน่จ่ายค่าดอกไม้พลาสติกปีละหกร้อยดอลล่าร์ จะหาว่าไม่มีอารมณ์ศิลป์เสียทีเดียวก็ไม่ได้นะ เพราะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาลเหมือนกัน ฤดูใบไม้ผลิ ก็จะเป็นดอกเดซี่ แดฟโฟดิล ทิวลิป กับลิลี่ พอเข้าหน้าหนาว ก็เปลี่ยนเป็นดอกเบญจมาศ เป็นต้น

แต่คริสต์มัสปีนี้ จะไม่มีดอกเบญจมาศที่จีโน่แล้ว เพราะค่าเช่าที่กำลังจะขึ้นอีกเดือนละแปดพันดอลล่าร์ กับค่าสวัสดิการการแพทย์ที่พนักงานเรียกร้อง ทำให้เจ้าของปัจจุบันเข้าตาจน ต้องประกาศถอยทัพ และได้เสิร์ฟอาหารเย็นมื้อสุดท้ายไปแล้วเมื่อวันเสาร์ที่ 29 พฤษภาคม

นายมิเชล เมียลล์ พ่อครัว และหุ้นส่วนคนหนึ่งเล่าว่า ระหว่างสองสามอาทิตย์สุดท้าย เขาละทิ้งหน้าที่ในครัว มานั่งทักทายพูดคุยกับลูกค้าประจำทั้งเก่าใหม่ ที่พอได้ข่าวจะปิด ก็ต่างหลั่งไหลมาแสดงความเห็นอกเห็นใจ และตั้งหน้าตั้งตากินกัน โดยบางคนมาแทบจะทุกวัน เพราะอีกไม่นาน ก็จะไม่มีเมนูในความทรงจำนี้อีกแล้ว

เราลองมาทายกันซิว่า ธุรกิจไหนที่จะมาเปิดใหม่ในที่ที่ร้านจีโน่จะทิ้งว่าง คุณทายไม่ถูกหรอก ขอเฉลยดีกว่า ร้านขายเค็กถ้วยจ้ะ ตั้งแต่กลางปีเป็นต้นไป เลขที่ 780 เล็กซิงตันอเวนยู จะเป็นที่ตั้งของ “สปริงเคิล คัพเค็ก” สาขานิวยอร์ค เป็นร้านเค็กถ้วยชื่อดัง ของ ชาร์ลส์ เนลสัน กับแคนเดซ ภรรยา ซึ่งเปิดเป็นร้านแรกในแคลิฟอร์เนีย และขยายไปยังเท็กซัส กับอริโซนาแล้ว ก่อนที่จะมาถึงกรุงนิวยอร์ค

(ขอผู้อ่านบล็อกของดิฉัน อย่าขุ่นใจที่ดิฉันสะกดตัวทับศัพท์อย่าง “เค็ก” [cake] หรือ “อเวนยู” [avenue] ไม่ตรงกับราชบัณฑิตสถาน หรือตรงกับการทับศัพท์แบบที่ชินตากัน ดิฉันถือว่าการทับศัพท์ เป็นเรื่องที่ผู้เขียนควรจะมีเสรี ตราบเท่าที่ทับแล้วอ่านได้ถูกต้อง)




 

Create Date : 27 มิถุนายน 2553    
Last Update : 27 มิถุนายน 2553 10:34:55 น.
Counter : 504 Pageviews.  

ถ้ำร้าง ค้างคาวร่วง

ในยุคคอมพิวเตอร์ คงไม่ต้องมีชาติไหนทำการสำรวจจำนวนประชากร ด้วยวิธีออกไปนับอย่างแต่ก่อนอีกแล้ว แต่ถ้าเป็นสัตว์ ยิ่งชนิดใกล้จะสูญพันธุ์ การไปนับถึงที่ เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง

Elizabeth Kolbert เขียนบทความสั้น ๆ ลงในนิตยสาร The New Yorker เมื่อเร็ว ๆ นี้ เกี่ยวกับการนับจำนวนค้างคาวในถ้ำเอโอลัส ที่มลรัฐเวอร์มอนท์ โดยคนกลุ่มน้อย ๆ ที่ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่จากกรมสัตว์น้ำและสัตว์ป่าของเวอร์มอนท์ ผู้แทนจากองค์กรพิทักษ์ธรรมชาติ ที่เป็นเจ้าของถ้ำ และตากล้องอิสระ ที่ติดตามมาถ่ายทำเหตุการณ์ เพื่อจะทำเป็นสารคดีไปออกโทรทัศน์ช่องท้องถิ่น

บทความนี้เริ่มด้วยการบรรยายว่า คนทั้งกลุ่มนี้ ต้องเดินย่ำไปบนกระดูกค้างคาว ที่ปูพื้นถ้ำเอโอลัสแห่งนี้ กระดูกค้างค้าวเล็กมาก พันธุ์ Myotis lucifugus ที่อาศัยอยู่ในถ้ำนี้ มีกระดูกแขนยาวเพียงหนึ่งนิ้วครึ่ง และหนาเพียงเท่าเข็มบาง ๆ เมื่อเดินเหยียบย่ำไปบนกระดูก มันก็หักเป็นเสียงกรอบแกรบ ฟังดูน่าสยดสยอง แต่ไม่มีทางที่จะเลี่ยงไม่เหยียบเลย เพราะค้างคาวนับพันนับหมื่นตัว ที่ร่วงตายกลาดเกลื่อนทั่วถ้ำนี้ ทิ้งโครงกระดูกไว้ให้ดูเป็นหลักฐาน

ถ้ำเอโอลัส ที่เมืองดอร์เซท เคยเป็นแหล่งพำนักค้างคาวที่ใหญ่ที่สุดในแถบนิวอิงค์แลนด์ เมื่อปี 2007 มีค้างคาวถึงสามแสนตัวมาผ่านฤดูหนาวในถ้ำนี้ แต่อนิจจา โรคจมูกขาวระบาดไปทั่วแถบตะวันออกเฉียงเหนือ คร่าชีวิตค้างคาวอย่างฉับพลัน และอย่างสาหัส ถึงปี 2009 ค้างคาวในถ้ำเอโอลัสเหลือน้อยเสียจนเจ้าหน้าที่ของรัฐเวอร์มอนท์ กริ่งเกรงว่า กว่าจะพ้นหน้าหนาว อาจจะไม่มีชีวิตค้างคาวหลงเหลืออยู่เลย เขาหวาดหวั่นการสูญพันธุ์ ขนาดมาเก็บเอาศพค้างค้าวจากถ้ำ ส่งไปยังพิพิธภัณฑ์ The American Museum of Natural History เพื่ออย่างน้อยมีซากหลงเหลือของค้างค้าวพันธุ์นี้ไว้ให้ศึกษา

แต่ฤดูหนาวของปี 2009 ผ่านไปแล้ว และยังมีค้างคาวเป็น ๆ หลงเหลืออยู่ในถ้ำบ้าง คนที่มานับ เป็นคนที่มีความรู้เรื่องค้าวคาวดี ดูออกว่าเป็นพันธุ์ไหน ๆ เขาใช้ไฟฉายส่องหา แล้วก็บอกให้เพื่อนจด เช่น "ลูซิสสองตัว" "เซ็พเท็น" หนึ่งตัว เป็นต้น การนับจำนวนค้างคาวในถ้ำ ซึ่งเคยใช้เวลาเป็นชั่วโมงนั้น ครั้งนี้เสร็จสิ้นภายในยี่สิบนาทีเท่านั้น และนับค้างคาวพันธุ์ต่าง ๆ รวมกันได้เพียงหนึ่งร้อยสิบสองตัว

โรคจมูกขาว เป็นโรคเชื้อราชนิดหนึ่ง ไม่มีใครรู้ว่ามันมาจากไหน มันฆ่าค้างคาวอย่างไร และยังไม่มีใครคิดหาวิธีต่อต้านป้องกันได้เลย มันเป็นโรคที่เกิดขึ้นเฉพาะในฤดูหนาว และเชื่อว่า ได้สังหารชีพค้างคาวไปแล้วกว่าหนึ่งล้านตัว พวกที่มานับจำนวนค้างคาวครั้งนี้ ก็ได้แต่เดินคอตก ย่ำกระดูกกรอบ
แกรบกลับออกไปอีก




 

Create Date : 27 เมษายน 2553    
Last Update : 28 เมษายน 2553 16:45:13 น.
Counter : 463 Pageviews.  

ความสุข วัดจากอะไร?

เรียนรู้จากข้อเขียนของ Elezabeth Kolbert ในนิตยสาร The New Yorker เมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า เมื่อปี 1978 นักวิชาการสาขาจิตวิทยากลุ่มหนึ่ง ทำการศึกษาและวัดระดับความสุข จากกลุ่มคนที่แตกต่างกันสามกลุ่ม กลุ่มที่หนึ่ง เป็นผู้ที่เคยถูกล็อตเตอรี รางวัลตั้งแต่ห้าหมื่นเหรียญดอลลาร์ (ประมาณสองล้านบาท) ถึง หนึ่งล้านเหรียญดอลลาร์ (ประมาณสี่สิบล้านบาท) มาแล้ว กลุ่มที่สอง ประกอบด้วยผู้ที่ผ่านอุบัติเหตุร้ายแรง ขนาดง่อยเปลี้ยเสียขา เป็นอัมพาตตลอดช่วงตัว ส่วนกลุ่มที่สาม เป็น "กลุ่มควบคุม" ที่สุ่มดึงชื่อออกมาจากสมุดโทรศัพท์

นอกจากคำถามว่าเมื่อตอนถูกล็อตเตอรีเป็นสุขแค่ไหน และเมื่อตอนกลายเป็นคนพิการเป็นทุกข์แค่ไหนแล้ว คำถามอื่น ๆ จะเป็นเรื่องของระดับความสุขที่เคยเป็นมา ระดับความสุขในปัจจุบัน รวมทั้งระดับความสุขที่คาดหมายสำหรับอนาคต ผลการศึกษาครั้งนี้ ได้ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Personality and Social Psychology และจนทุกวันนี้ ก็ยังถือเป็นแม่บทของการศึกษาเกี่ยวกับความสุขอีกมากมายหลายกระทงที่ติดตามมา

อันที่จริง ทุกศาสนา ทุกปรัชญา แต่ดึกดำบรรพ์ก็บอกเราอยู่แล้ว ความสุขไม่ได้ขึ้นอยู่กับความยากดีมีจน หรือแม้แต่การมีอวัยวะครบสามสิบสอง แต่ในโลกที่ดูจะมีแต่ความโลภรุนแรงทุกวันนี้ มีนักวิชาการไม่น้อย ที่คิดว่า ภาครัฐควรใส่ใจกับผลการศึกษาที่ชี้บอกว่า อะไรทำให้ประชาชนมีความสุข เพื่อจะได้ใช้เป็นข้อมูลประกอบ ในยามสร้างนโยบาย ที่กระทบต่อชีวิตมนุษย์

ข้อมูลที่รวบรวมจากการศึกษาเมื่อปี 1978 ทำให้คนที่ได้อ่านส่วนมากต้องเลิกคิ้วอย่างประหลาดใจ เพราะกลุ่มผู้ถูกล็อตเตอรี เมื่อหายตื่นเต้นกับโชคของตัวเองแล้ว ก็ไม่ได้มีความสุขมากไปกว่าคนในกลุ่มควบคุมเท่าไรนัก และถึงแม้กลุ่มนี้จะหวังว่า ในอีกหนึ่งหรือสองปีข้างหน้าจะมีความสุขมากขึ้น แต่ระดับความสุขที่คาดหวัง ยังน้อยกว่ากลุ่มคนพิการเสียอีก ยิ่งความสุขกับกิจกรรมในชีวิตประจำวัน วัดได้ว่ากลุ่มผู้ถูกล็อตเตอรีไม่สนุกกับกิจกรรมเช่นช็อปปิ้ง เท่ากับคนอีกสองกลุ่มด้วยซ้ำไป

มีหลายทฤษฎี ที่พยายามจะอธิบายว่า ทำไมอเมริกาจึงเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยผู้ถูกล็อตเตอรีที่ไม่มีความสุข และอรรถาธิบายหนึ่ง ซึ่งดิฉันคิดว่า เหมาะเหม็ง เข้ากับธรรมชาติมนุษย์ทั้งโลกเป๊ะก็คือว่า คนเรานั้นปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ฟุ้งเฟ้อได้เร็วมาก ฉะนั้น ทันทีที่มีเงินพอซื้อรถคันที่สอง หรือบ้านหลังที่สอง ก็ไม่มีความสุขอีกแล้ว เพราะกิเลสเรียกร้องจะเอารถคันที่สาม และบ้านหลังที่สาม ฯลฯ เพิ่มพูนพอกหนาขึ้นอยู่เรื่อย ๆ อีกทฤษฎีหนึ่งที่ฟังดูเป็นสัจจธรรมเช่นกันก็คือเรื่องของหน้าเป็นใหญ่ เห็นใครมีอะไรดีไปกว่าตัวไม่ได้ ต้องดิ้นรนหาทางซื้อที่ดีกว่า ใหญ่กว่า แพงกว่า ใหม่กว่า ฯลฯ ไม่มีวันจบสิ้น

เดริก บ็อค ซึ่งเป็นประธานของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดถึงสองสมัย เพิ่งเขียนหนังสือเกี่ยวกับความสุขเล่มใหม่ ชื่อ The Politics of Happiness: What Government Can Learn from the New Research on Well-Being [สำนักพิมพ์ Princeton ราคาประมาณ 1,000 บาท] ได้สรุปอย่างน่าคิดว่า คนอเมริกันโดยเฉลี่ยร่ำรวยขึ้นเกือบเท่าตัวในช่วงสามสิบห้าปีหลัง แต่จำนวนคนอเมริกันที่บอกว่าตัวเอง "มีความสุขมาก" หรือแม้แต่ "ค่อนข้างจะมีความสุข" ไม่ได้เพิ่มขึ้นจากระดับเดิมที่วัดไว้เมื่อสามสิบห้าปีก่อน หรือเมื่อย้อนหลังไปถึงช่วงปี 1950 เลย ทำให้บ็อคตั้งคำถามว่า "จะมีประโยชน์อะไร ที่จะทำงานดิ้นรนกันสายตัวแทบขาด ทั้งยังทำลายสภาพแวดล้อมของโลกไปด้วย ในเมื่อมันไม่ได้ทำให้มีความสุขมากขึ้น?"

แน่นอน ไม่มีรัฐบาลชาติไหนหรอกที่จะรับฟังข้อคิดเห็นชนิดที่จะทำให้การเติบใหญ่ทางเศรษฐกิจของชาติต้องถดถอย แต่สิ่งที่ทุกรัฐบาลน่าจะทำได้คือ ปรับปรุงสวัสดิการสำหรับคนตกงาน การศึกษาของบ็อคพบว่า การตกงานเป็นสิ่งที่สร้างความทุกข์รุนแรงที่สุด รุนแรงกว่าการหย่าร้างมากทีเดียว

การศึกษาระดับความสุข เปรียบเทียบกับระดับความร่ำรวย ไม่ได้จำกัดอยู่ที่ประเทศอเมริกา แครอล แกรมห์ แห่งมหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ ได้ขยายขอบข่ายการศึกษาของเธอไปครอบคลุมทั่วโลก และได้พบว่าถึงแม้คนรวยทุกชาติทุกภาษา จะมีความสุขมากกว่าคนจน แต่อัตราส่วนความรวยกว่า และเป็นสุขกว่า ไม่ได้สมดุลกันเสมอไป เธอยกตัวอย่างว่า ประเทศจน ๆ อย่างไนจีเรีย มีคนที่ให้คะแนนความสุขตัวเองเป็นอย่างสูง มากกว่าคนในประเทศญี่ปุ่นที่คิดว่าตัวเองมีความสุข คนอดมื้อกินมื้อในบังคลาเทศ มีระดับความพึงพอใจในชีวิต มากกว่าเศรษฐีใหม่ ๆ ในรัสเซีย เป็นต้น ชื่อหนังสือของเธอ ก็บ่งบอกว่า เป็นการรายงานความคัดง้าง ระหว่างชาวบ้านจน ๆ ที่มีความสุข กับเศรษฐีเงินล้านที่ก่นแต่กลัดกลุ้มรุ่มร้อน

ดิฉันชอบสมมุติฐานของเธอที่ว่า บางที คนจน มีดีเอ็นเอของความสุขเยอะ หรือในทางตรงข้าม คนที่มีดีเอ็นเอหม่นหมอง จะเป็นคนที่ดิ้นรนมากกว่า จึงประสบความสำเร็จมากกว่า และร่ำรวยกว่า แต่ก็ไม่เป็นสุขอยู่นั่นแหละ ส่วนคนที่มีความสุขตามธรรมชาติ ก็เลยกลายเป็นคนที่หาเงินติดกระเป๋ายากหน่อย




 

Create Date : 25 เมษายน 2553    
Last Update : 25 เมษายน 2553 10:44:44 น.
Counter : 579 Pageviews.  

เสียดฟ้า ท้าทาย

เมื่อสาว ๆ ดิฉันอ่านหนังสือเรื่องหนึ่ง ซึ่งประทับใจ และมีอิทธิพลต่อทัศนวิสัยของตัวเองอย่างล้ำลึก ในเรื่อง The Fountainhead ของ Ayn Rand นั้น พระเอกเป็นสถาปนิกที่มีอุดมคติสูง มีความสร้างสรรค์รุนแรง และไม่ยอมออกแบบสิ่งก่อสร้างโดยอิงวัฒนธรรมกรีก และโรมัน ตามสมัยนิยมของยุคตามท้องเรื่อง ยังผลให้กลายเป็นคนที่ดูเหมือนขวางโลก หาลูกค้ายาก จุดประทุของนวนิยายคือเมื่อเขาวางระเบิดทำลายโครงการก่อสร้างแห่งหนึ่งจนเป็นจุล เพราะเอาร่างแบบของเขาไปดัดแปลงจนผิดรูปผิดแบบ เขาเป็นทนายให้แก่ตนเอง เมื่อขึ้นศาล และสามารถใส่ความรู้สึก ที่เป็นสัตย์ซื่อต่อแกนความคิดความเชื่อของตนเองได้อย่างมีเหตุมีผล โน้มน้าวใจจนลูกขุนตัดสินให้เขาหลุดพ้นข้อกล่าวหา ฉากปิดท้ายเรื่องคือ นางเอก ก้าวขึ้นลิฟท์คนงาน เพื่อขึ้นไปหาเขาถึงยอดโครงตึกระฟ้า ที่เขาออกแบบ และกำลังดูแลการก่อสร้างอยู่บนชั้นเสียดฟ้าสูงสุด

หนังสือเล่มนี้ ทำให้ดิฉันหลงรักตึกระฟ้าอย่างหลงไหล และเมื่อไปถึงกรุงนิวยอร์คเป็นครั้งแรกนั้น เวลาส่วนใหญ่ของดิฉัน ไม่ใช่เวลาที่ใช้เดินอยู่ในห้างร้านอย่างแซคส์ อย่างเมซีส์ หรืออย่างบลูมมิงเดลเลย แต่อยู่บนถนนในแมนฮัตตัน แหงนคอมองถึงยอดของตึกระฟ้าทั้งหลาย ตึกแล้วตึกเล่า อย่างไม่เบื่อหน่าย สมัยนั้น ถ้าจำไม่ผิด ตึกเอ็มไพร์ สเตท ยังครองตำแหน่งตึกที่สูงที่สุดในโลกอยู่

เมื่อเร็ว ๆ นี้ Paul Goldberger เขียนเรื่องลงในนิตยสาร The New Yorkerเกี่ยวกับตึกระฟ้า ที่เพิ่งได้ตำแหน่งตึกสูงที่สุดในโลกล่าสุด คือตึก Burj Khalifa ในดูไบ เป็นบทความที่ให้ความรู้เกี่ยวกับความเป็นมาของตึกสูงที่สุดในโลกทั้งหลาย และให้ความเห็นเจาะลึกลงไปถึงสิ่งที่ผลักดันดลใจ ให้มีคนสร้าง "ตึกสูงที่สุดในโลก" มาแข่งขันกันแทบทุกชั่วคนอย่างน่าคิด

ที่ผ่าน ๆ มา การช่วงชิงตำแหน่ง "ตึกที่สูงที่สุดในโลก" นั้น มักจะเฉียดฉิวกันไม่มากนัก เช่น ตึกเพโทรนัส ในกัวลาร์ ลัมเปอร์ ซึ่งสูงถึง 1,482 ฟิต ก็สูงกว่าตึก เซียร์ (หรือชื่อใหม่ว่า ตึกวิลลิส) ในชิคาโก เพียง 32 ฟิต ตึก World Financial Center ในเซี่ยงไฮ้ สูงกว่าตึกเพโทรนัสเพียง 130 ฟิต และตึก Taipei 101 ในไต้หวัน สูงกว่าตึก WFC เพียง 50 ฟิต เป็นต้น แต่ตึกใหม่ในดูไบนี้ ทำให้ผู้ครองตำแหน่งที่ผ่าน ๆ มาทั้งหลาย กลายเป็นตึกแคระไปเลย เพราะสูงถึง 2,717 ฟิต (160 ชั้น) ขนาดว่าเอาตึกคไรสเลอร์ กับตึกเอ็มไพร์ สเตท มาต่อกัน ก็ยังสูงไม่เท่า

นาย พอล โกลด์เบอร์เกอร์ วิเคราะห์ไว้ว่า การสร้างตึกสูงที่สุดในโลกนั้น เป็นการดิ้นรนของแต่ละสถานที่ ที่จะประกาศศักดา เรียกให้ชาวโลกหันมามองความสำคัญ โดยเป็นโรคที่ไม่เป็นกันนัก ในอารยธรรมเก่าแก่อย่างทวีปยุโรป แต่เป็นกันหนัก ในแหล่งที่ถือกำเนิดใหม่ อย่างเช่นประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีหลายต่อหลายตึกที่ครองตำแหน่งนี้มาแล้ว และบัดนี้โรคนี้ระบาดมาสู่ทวีปเอเชีย และตะวันออกกลาง ว่ากันว่า การสร้างตึกแบบนี้ คนสร้างมักจะหวังผลกำไรไม่ได้มากนัก แต่ต้องให้บรรลุจุดประสงค์ในการให้คนทั่วโลกรู้ว่า ข้าคือใคร ข้ายิ่งใหญ่แค่ไหน

ตึก Burj Khalifa ในดูไบนั้น เมื่อแรกลงเสาเข็ม ตั้งชื่อไว้ว่า Burj Dubai ซึ่งแปลว่า ตึกดูไบ แต่สร้างยังไม่ทันเสร็จ เศรษฐกิจดูไบ ก็เบรคหยุด ไม่เติบโตพุ่งพรวดเหมือนที่เคย ดูไบเงินหมด เป็นหนี้กว่าหกหมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ จนเมื่อพฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้เงินช่วยมาหนี่งหมื่นล้านเหรียญพอรอดตัวจากประเทศอาบู ดาบี เพื่อนบ้าน สามารถสร้างตึกต่อจนเสร็จ เมื่อวันเปิดตึก จึงมีการประกาศเปลี่ยนชื่อ ตามชื่อผู้ปกครองประเทศอาบู ดาบี คือ เชค คาลีฟา บิน ซาเย็ท แอล นาห์ยัน

คนเราจะจ่ายกันแค่ไหน เพื่อให้ได้หน้านะ?




 

Create Date : 16 เมษายน 2553    
Last Update : 16 เมษายน 2553 17:15:18 น.
Counter : 1102 Pageviews.  

เรื่องของม้า ลา และล่อ

ทุกอย่างในโลกที่เป็นเรื่องบ้า ๆ ไม่ว่าจะบ้าดี หรือบ้าไม่ดี มักจะมาโผล่ในกรุงนิวยอร์คไม่ช้าก็เร็ว และไม่ช้าก็เร็ว ก็จะมีผู้เขียนมาเล่าสู่กันฟัง ในนิตยสารรายสัปดาห์ The New Yorker ซึ่งดิฉันรับเป็นสมาชิกมาตั้งแต่สาวจนแก่ และถือเป็นหน้าต่างสู่โลกกว้างบานใหญ่ของตัวเอง

เร็ว ๆ นี้ Susan Orlean เขียนเรื่องเกี่ยวกับ "ล่อในราชการทหาร"

ทื่อ่านเรื่องนี้ เพราะเคยเห็นหนังหลายเรื่อง ที่แสดงถึงวิธีที่กองทัพอเมริกันทำลายชีวิตม้าโดยยิงทิ้งอย่างเลือดเย็น ทันทีที่มีรถถังมาแทนที่กองทหารม้า เพียงเพื่อประหยัดค่าเลี้ยงดูที่จะต้องทุ่มเทให้แก่ม้า ซึ่งเคยรับใช้ชาติมาอย่างซื่อสัตย์ แต่หมดประโยชน์แล้ว ทำให้สงสัยว่า กองทัพอเมริกันมีล่อไว้ใช้ทุกวันนี้ด้วยหรือ .. มีสิ แต่ไม่ได้มีไว้ใช้ในอเมริกาหรอก สำหรับสงครามในถิ่นกันดารและขรุขระอย่างอัฟกานิสถานโน่น

ในท้องที่ที่ไม่มีถนนเรียบ มีแต่ภูเขาสูง และเหวลึก ล่อเป็นพาหนะที่เหมาะสมที่สุด สำหรับการลำเลียงยุทโธปกรณ์ และสิ่งอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อชีวิตทหาร ล่อแต่ละตัว สามารถแบกของหนักถึงประมาณ 130 กก. ได้วันละเจ็ดชั่วโมง ต่อเนื่องกันยี่สิบวันโดยไม่ปริปากบ่น ส่วนชื่อเสียงในด้านความดื้อแพ่งของล่อนั้น เชื่อว่ามาจากสาเหตุที่ลึกซึ้งทีเดียว

ล่อ [mule] เป็นผลจากการผสมพันธุ์ระหว่างลา [donkey] ตัวผู้ กับม้า [horse] ตัวเมีย (ถ้าม้าตัวผู้ผสมพันธุ์กับลาตัวเมีย ผลจะออกมาเป็น hinny ซึ่งพจนานุกรม อังกฤษ-ไทย นิยามว่า "ม้าล่อ") ล่อเป็นสัตว์ที่ไม่สามารถเจริญพันธุ์ แต่ละตัวจึงเกิดมา และตายไป โดยไม่ทิ้งร่องรอยหลงเหลือ ไม่มีการสืบทอด คงจะเป็นเพราะเหตุที่มันรู้ตัวว่า เกิดครั้งเดียว ตายครั้งเดียวนี่กระมัง ที่ทำให้ล่อมีสัญชาติญาณทางรักษาชีวิตตัวเองที่เหนียวแน่นมาก เมื่อปี 1942 กองทัพอเมริกันทดลองวิธีจัดส่งล่อตรงไปถึงสมรภูมิ ด้วยการสอนให้มันกระโดดล่ม ล่อ 12 ตัวที่ขึ้นเครื่องบินไปด้วยกัน หกตัวแรกถูกผลักออกจากเครื่องบินโดยยังไม่ทันตั้งตัว ตายทั้งหก อีกหกตัวหลัง รอดทั้งหก เพราะไม่มีใครสามารถทำให้มันขยับเขยื้อนเฉียดไปใกล้ประตูเครื่องบินเลย

โดยธรรมชาติแล้ว ลาตัวผู้กับม้าตัวเมีย ไม่จับคู่ตุนาหงันกันบ่อยนัก ล่อ จึงเป็นสัตว์ที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ ที่ต้องหาวิธีจับสัตว์สองชนิดนี้ มาสร้างสัมพันธ์กัน ซึ่งคุณจะแปลกใจว่า มีคนทำงานนี้อย่างเอาจริงเอาจังเป็นอุตสาหกรรมทีเดียว โดยยอร์ช วอชิงตัน ประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐอเมริกา เป็นหนึ่งในผู้ริเริ่มผสมพันธุ์ล่อ จากลาพ่อพันธุ์เชื้อสายแอนดา
ลูเชียน ที่ได้รับเป็นของขวัญจากกษัตริย์แห่งสเปน ประธานาธิบดี วอชิงตัน เชื่อว่า ล่อเป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จผลทางเกษตรกรรม เพราะลาเจ้าอารมณ์ ใช้งานยาก ส่วนม้าก็ไม่แข็งแรงพอสำหรับการเพาะปลูก

ก็ลองคนชั้นประธานาธิบดีชี้ทางอย่างนี้แล้ว ล่อจะไม่เฟื่องได้อย่างไร การผสมพันธุ์สร้างล่อกลายเป็นอาชีพสำคัญที่เติบใหญ่ ถึงปี 1930 ประชากรล่อในอเมริกานับได้ถึงกว่าห้าล้านตัว ถึงทศวรรษ 1950 เครื่องจักรเครื่องยนต์ก้าวเข้ามาแทนที่ ทำงานตั้งแต่ทำไร่ไถนา ไปถึงขนส่งทุกอย่าง ความนิยมล่อก็ตกต่ำจนเกือบจะสูญหาย แต่สงครามยืดเยื้อในซีกโลกเอเชียแถบเหนือ ๆ ทำให้ล่อกลับมามีความสำคัญขึ้นอีกครั้ง และทำให้การผสมพันธุ์ล่อกลับฟื้นขึ้นมาอีก โดยเฉพาะในรัฐเทนเนสซี ซึ่งรับ "ออเดอร์" ซื้อล่อจากประเทศต่าง ๆ ที่ต้องใช้การทหารแบบกองโจร ตั้งฐานทัพซุกซ่อนอยู่ตามภูเขาสูง ต่อต้านพลังสังหารของรัสเซีย

สงครามไม่ได้สร้างความหายนะให้ทุกคนหรอก แต่ไหนแต่ไรมาแล้ว สงครามสร้างความร่ำรวยให้คนหลายกลุ่มเสมอ ฉะนั้น อย่าหวังเลยว่าสงครามจะมีวันสิ้นสุดไปจากโลก




 

Create Date : 11 เมษายน 2553    
Last Update : 11 เมษายน 2553 19:39:23 น.
Counter : 3529 Pageviews.  


pris_bb
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




Friends' blogs
[Add pris_bb's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.