เรื่องราวในอดีตทุกๆ เรื่องนั้นเป็นครูสอนเราได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าเรื่องนั้นๆ จะเป็นอย่างไรก็ตาม ฉะนั้นก่อนที่จะพูดหรือกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง จงไตร่ตรองให้ถ้วนถี่ ก่อนที่จะพูดหรือลงมือกระทำ . คลิกที่รูป เพื่อเอาโค้ดรูปนี้ไปแปะ

Group Blog
 
All blogs
 
แผ่นเสียงในรัชกาลที่ 5


แผ่นเสียงอาจจะเป็นของเล่นที่แปลกไปเสียแล้วสำหรับคนหนุ่มคนสาวยุคปัจจุบัน เพราะคนยุคนี้ไม่ได้ใช้แผ่นเสียงแต่ใช้เทปตลับกัน และในปัจจุบันนิยมกันในรูปแบบของ CD ซึ่งมีหลายรูปแบบ อาทิเช่น ; CD ธรรมดา มีเพลงไม่เกิน 25 เพลง รูปแบบ mp3 ซึ่งใส่เพลงไว้ฟังกันเป็นร้อยกว่า 200 เพลง หรือ mp4 สามารถฟังเพลงกันได้จุใจกันในชีวิตประจำวันจนไม่ได้สนใจว่า แผ่นเสียงนั้นดีมีคุณค่าอย่างไร
แผ่นเสียงจะเกิดขึ้นมาไม่ได้ หากไม่มีเครื่องเล่นจานเสียงเกิดขึ้นมาก่อน และในขณะเดียวกันเรื่องจานเสียงนั้น ก็เกิดขึ้นไม่ได้เหมือนกันถ้าไม่มีใครคิดเครื่องบันทึกเสียงขึ้นมาก่อน
โธมัส เอลวา เอดิสัน คนอเมริกันคิดเครื่องบันทึกเสียงขึ้นได้เป็นคนแรกในบ้านของเขาเอง ที่เมืองเล็กๆชื่อ เมลโลพาร์ค ในรัฐนิวเจอร์ซี่ สหรัฐอเมริกา เมื่อพ.ศ.2427 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 ของไทยเรา แรกทีเดียวไม่ได้เป็นแผ่นแต่เป็นกระบอกกลมยาวๆเหมือนกระบอกข้าวหลาม เขาบันทึกเสียงโดยให้เสียงนั้นผ่านลำโพงแล้วรีดเข้าไปในช่องแคบๆ พลังเสียงจะสั่นสะเทือนไปสู่เข็มแหลมๆ ซึ่งจะขูดลงบนขี้ผึ้งแข็งที่เคลือบไว้บนกระบอกเสียง ซึ่งกำลังหมุน ก็เกิดเป็นร่องเสียงที่ขรุขระไปตามแรงความกระเทือนของเสียงนั้น เป็นร่องหมุนไปโดยรอบกระบอกเสียงตั้งแต่จุดต้นของกระบอกไปจุดสุดที่ปลายกระบอก
เมื่อเอากระบอกกเสียงที่มีรอยขรุขระนั้น มาหมุนอย่างเดิม แล้วใช้เข็มเดิมจ่อลงไปให้กระเทือนตามร่องเดิมที่ขรุขระนั้น เสียงก็จะกลับออกมาอย่างเดิมทั้งนี้โดยมิได้อาศัยการขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าแต่อย่างใดทั้งสิ้นเพลงหนึ่งกว่าจะจบต้องใช้หลายกระบอก เครื่องนี้เราเรียกว่ากระบอกเสียงของเอดิสัน ( Edison’s Cylinder )//blogger.sanook.com/prisanasweetsong/
อีมิล เบอร์ไลเนอร์ เป็นคนเยอรมันในยุคเดียวกันกับเอดิสัน ที่คิดเปลี่ยนกระบอกเสียงขึ้นมาเป็นแผ่นกลมคนแรก ซึ่งสะดวกกว่าและบันทึกเสียงได้ยาวกว่า เขาจึงได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งจานเสียง ( Father of the disc )
แรกทีเดียวเขาใช้บึนทึกเสียงจากกลางแผ่นให้เข็มขูดเป็นร่องออกมาสู่แผ่นช้าๆ เพลงจึงมาจบที่ขอบของแผ่นเสียง เรียกแผ่นรุ่นแรกนั้นว่า ” แผ่นเสียงร่องกลับทางของเบอร์ไลน์เนอร์ ” ปัจจุบันหายากเต็มที แต่ก็พอหาดู หาซื้อได้จากนักสะสมแผ่นเสียงเก่า เช่นที่บ้านพันโทสมชาย หอมจิตร ตรอกวัดไก่เตี้ย ราคาแผ่นละหลายร้อยบาท เป็นเพลงไทยทั้งสิ้น ไม่มีเพลงฝรั่ง ทั้งนี้เพราะเราอัดเสียงกันเองในเมืองไทยนี้ โดยมีช่างฝรั่งเข้ามาควบคุมบันทึกเสียงตั้งแต่ประมาณ พ.ศ.2437-2440 สถานที่อัดเสียงลงจานแบบเบอร์ไลน์เน่อร์นี้ คือที่วังบ้านหม้อ ของเจ้าพระยาเทเวศวร์วงศ์วิวัฒน์ ( ม.ร.ว.หลาน กุญชร ) นักร้องก็เป็นหม่อม (ภรรยา ) ของท่านนั่นเอง
( เบอร์ไลเน่อร์ )
ต่อมาจึงพัฒนาเป็นแผ่นที่เล่นจากขอบเข้าไปสู่กลางแผ่น เริ่มจากแผ่นหนาๆ ทำด้วยครั่ง ตกแล้วแตก จนกระทั่งกลายเป็นแผ่นลองเพลย์ ร่องละเอียดแล้วในที่สุดก็มากลายเป็นแผ่นโลหะ ใช้แสงเลเซอร์แทนเข็ม นั่นก็คือ Compact Disc ที่ใช้กันทุกวันนี้ ฝรั่งใช้เวลาร่วมร้อยกว่าปี กว่าจะเปลี่ยนจากกระบอกเสียงของเอดิสันมาเป็น Compact Disc ได้สำเร็จ เป็นแผ่นคงทนถาวรเสียงดีไม่มีที่ติ
หลายคนอาจจะเห็นว่า ของเก่าไม่เห็นจะดี สมัยนี้แผ่นเสียงเก่าน่าจะไม่มีประโยชน์แล้ว ถ้าคิดอย่างนั้นก็เท่ากับมองข้ามประโยชน์ของเก่าอันเป็นวัฒนธรรมเก่าแก่ไปอย่างน่าเสียดาย เหมือนคนหนุ่มสาวที่ไม่เห็นคุณค่าของคนชราและวัฒนธรรมเก่าแก่ของชาติ ดังนั้นเพื่อให้เห็นคุณประโยชน์ของแผ่นเสียงเก่า จึงเห็นว่าน่าจะเขียนเรื่องเล่านี้ไว้ เพราะไม่เคยเห็นใครเขียนมาก่อนเลย
เราลองมาดูรูปที่ลงในเวปนี้ดูไปช้าๆอย่างพินิจพิเคราะห์จะเห็นบรรดารูปแผ่นเสียงเก่าและเครื่องเล่นจานเสียงเก่าที่ผู้เขียนมีอยู่กว่า 1,000 รูป ถ่ายมาจากแผ่นเสียงจริงของตัวเองบ้างของเพื่อนบ้าง แล้วลองมาดูซิว่า เราได้อะไรจากแผ่นเสียงเก่าเหล่านี้บ้าง
เราจะเห็นรูปเอดิสัน คนต้นคิดแผ่นเสียง เห็นรูปบิดาแห่งจานเสียงคือ Emile Berliner ถ้าไม่มีคนๆนี้ คิดแผ่นเสียงให้เราใช้ ก็จะไม่เกิดความสะดวกในการฟังเพลงเพราะๆ อย่างที่เรามีกันทุกวันนี้ สิ่งที่ได้จากรูปนี้คือ ได้รู้จัก ได้เห็นหน้าบุคคลสำคัญของโลกที่เคยทำคุณประโยชน์ให้แก่โลกนี้
อย่างที่ 2 แสดงให้เห็นเครื่องเล่นจานเสียงโบราณ ซึ่งคนไทยเรียกชื่อเครื่องชนิดนี้ว่า “ หีบเสียง “ เพราะมันมีลักษณะเป็นหีบไม้จริงๆ บนหีบนั้นเป็นที่วางจานเสียง ทำให้แผ่นหมุนได้โดยวิธีการไขลานด้วยมือ ( โปรดดูที่ไขลานด้านซ้ายของหีบ ) มีลำโพงขยายเสียงต่อจากตัวหีบโดยมีท่อออกมาจากด้านหลัง นำเสียงออกมาขยายให้เราได้ฟัง ทั้งหมดนี้ เป็นความอัศจรรย์ของความคิดของมนุษย์ เมื่ออดีตลำโพงนั้น อาจทำให้โตเท่าสุ่มไก่ก็ได้ โดยต้องใช้โซ่แขวนห้อยลงมาจากเพดานบ้านยิ่งลำโพงใหญ่เท่าใด เสียงก็จะยิ่งดังขึ้นเท่านั้น ลำโพงขนาดที่เห็นนี้เส้นผ่าศูนย์กลางราวฟุตครึ่ง ของโบราณบางอันปากลำโพงใหญ่เท่ากระด้งก็ยังมี
ท่านจะเห็นรูปของแผ่นเสียงทำด้วยกระดาษ เจาะรูเป็นวงกลมใหญ่ที่ตรงกลาง มีคำภาษาอังกฤษว่า Odeon อ่านว่าโอเดียน เป็นชื่อบริษัทแผ่นเสียงที่เข้ามาอัดเสียงเพลงไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ราว พ.ศ.2450 ชื่อนี้ ได้นำมาใช้เป็นชื่อโรงภาพยนตร์โอเดียนยังเปิดบริการฉายหนังอยู่ในกรุงเทพฯ เพิ่งทุบทิ้งไปในปี 2539 นี้เอง
ดูไปเรื่อยๆ จะเห็นรูปแผ่นเสียงเก่าของบริษัทต่างๆ มีตราแปลก ๆ เป็นเครื่องหมายการค้า เช่นตราสุนัขเอียงคอ ตรานก ตราหงส์ ตราลิง ตรา Beka Grand Record มีรูปนกกระยางเหลียวหลัง นกนั้นหันมาฟังเสียงที่เกิดจากจานเสียง เป็นแผ่นที่อัดสมัยรัชกาลที่ 5 เช่นเดียวกัน แต่ใหม่กว่าของ Berliner เล็กน้อย วางเข็มที่ขอบไปจบที่กลางแผ่น
สิ่งที่สำคัญคือข้อความจากแผ่นกระดาษวงกลมที่ปะกลางแผ่น บอกชื่อเพลง ชื่อคนร้อง ชื่อวงดนตรี ที่แปลกนั้นบางแผ่นไม่บันทึกเพลงแต่อย่างใด แต่เป็นการบันทึกเสียงอ่านหนังสือเรื่องพระอภัยมณี ของท่านกวีเอกสุนทรภู่ ประโยชน์ที่ได้ก็คือ ทำให้เรารู้ว่าคนไทยสมัยรัชกาลที่ 5 นั้น ยังมีที่อ่านหนังสือไม่ออกเป็นจำนวนมากทีเดียว เมื่ออยากจะฟังเรื่องพระอภัยมณีที่สุนทราภรณ์เขียนไว้ หาคนอ่านไม่ได้ก็เปิดแผ่นเสียงแทนโดยนายขวาน และนายดำ เป็นผู้อ่านทำนองเสนะ ฟังบ่อยๆเข้าก็จำได้ สามารถเล่าตามได้ ท่องปากเปล่าได้เป็นกลอนยาวๆ ยังกับว่าเป็นคนรู้หนังสือที่ชอบอ่านประจำอ่านเสียจนจำได้นั่นแหละ แท้จริงฟังเสียงจนจำได้ต่างหาก
แผ่นตราสุนัขนั่งเอียงคอฟังเพลงของบริษัทฝรั่งชื่อ Gramophone Concert Record จะเห็นรูปเครื่องเล่นจานเสียงที่นิยมใช้กันมากในสมัยรัชกาลที่ 6 บริษัทนี้มีชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า His Master’s Voice แปลว่า หมานั่งฟังเอียงคอฟังเสียงนายของมันที่บันทึกไว้ในแผ่นโดยที่เสียงที่ออกมานั้น ชัดเจนเหมือนกับเสียงที่นายนายในขณะที่พูดจริง ๆกับมัน และมันจำได้ดี แผ่นเสียงตราหมานั้น มีมากมายหลายสี มีหมาขาว หมาดำ รูปหมานั้นพิมพ์บนกระดาษสีต่างๆ สวยงามราวกับแสตมป์ จึงเก็บไว้ชมเล่นเพลินเพลินได้ นับเป็นการประชาสัมพันธ์แผ่นเสียงโบราณอย่างหนึ่ง

ความสำคัญอยู่ที่ข้อมูลบนกระดาษวงกลมปะบนแผ่นเสียงอีกเช่นเคยตัวอย่างเช่นเขียนไว้ว่า เป็นการบันทึกเสียงละครร้องเรื่องพระอภัยมณี ตอนนางสุวรรณมาลีขึ้นเฝ้าพระอภัย เกิดศึกเก้าทัพ แต่ละทัพมาจากประเทศต่างๆ คือ จีน ไทย มอญ เขมร พม่า ญวน ลาว แขก ฝรั่ง ฯลฯ ยกมาช่วยนางละเวงวัลลาเพื่อรบกับพระอภัยมณี หากใครชนะก็จะได้แต่งงานกับนางละเวงซึ่งเป็นสาวที่ทั้งสวยทั้งรวยและฉลาดแถมยังได้ครองเมืองของนางละเวงได้เป็นเจ้าแผ่นดินอีกด้วย ไพเราะ และสนุก ทั้งชุดนั้น มีแผ่นเสียงหลายแผ่น มีเพลงไทยสำเนียงภาษาต่างๆ ครบทั้งเก้าภาษา เรียกว่าเพลงออกภาษา

ยิ่งไปกว่านั้น ยังบันทึกไว้อีกว่า คนร้องมีสามคน ชื่อแม่แป้น แม่ตลับ แม่หงิม บรรเลงด้วยวงปี่พาทย์หลวงเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน ) เจ้ากรมพิณพาทย์หลวงสมัยรัชกาลที่ 5 เราจึงรู้ว่าแผ่นนี้อัดสมัยรัชกาลที่ 5 แล้วมาขายดีในรัชกาลที่ 6 ระหว่างปี พ.ศ. 2452 ถึง 2460 นักร้องสามคนนั้นเป็นสาวจากวังบ้านหม้อของเจ้าพระยาเทเวศน์วงศืวิวัฒน์ เจ้ากรมมหรสพสมัยรัชกาลที่ 5เรียกว่าได้คุณค่าในทางประวัติศาสตร์ยิ่งนัก

จากการประกวดเครื่องเสียงและหีบเสียงโบราณซึ่งบริษัทสยามกลกาลจัดขึ้นหลายปีมาแล้วที่โรงแรมดุสิตธานี แสดงให้เห็นว่าของเก่ามีประโยชน์ จึงมีการนำมาประกวดกัน มีผู้ได้รับรางวัลมากมายหลายคน คนที่ได้ไปชมนิทรรศการก็ได้ความรู้ได้ประโยนช์มหาศาลจากการประกวดครั้งนั้น

ยังจำได้ว่า ท่านเจ้าของเสียงในแผ่นบางท่านที่เคยร้องไว้เมื่อยังสาวได้ไปร่วมงานคราวนี้ด้วยอย่างน้อย 2 ท่าน มีคุณครูท้วม ประสิทธิกุล ครูเจริญใจ สุนทรวาทิน ซึ่งเป็นศิลปินแห่งชาติทั้งคู่ ทำให้เรารู้จักบุคคลสำคัญมากขึ้น ได้เรียนรู้มากขึ้น

ยังจำได้ว่า ดร.ถาวร พรประภา ประธานในพิธี พูดว่า เราจะต้องจัดอีก มีกำไรดีควรจัดงานนี้ตอบแทนประชาชนเขาบ้าง นี่เวลาก็ล่วงไปกว่า 10 ปีแล้วคงมีกำไรมากแล้วก็น่าจะได้จัดอีกครั้งหนึ่ง ท่านก็มาป่วยเสียก่อน จึงขอบันทึกไว้ว่าเรายังคอยท่านเมตตาอีกครั้ง

พอเห็นแผ่นได้อ่านข้อมูลข้างต้นคนที่อยากรู้ ก็เข้าห้องสมุดค้นเอ็นไซโคลปิเดียก็พบว่า ในประวัติการบันทึกเสียงนั้น ที่ว่าเริ่มต้นที่เมืองเล็กๆ แห่งหนึ่งชื่อเม็นโลปาร์ค รัฐนิวเจอร์ซี่ สหรัฐอเมริกา โดยฝีมือของโทมัส อัลวา เอดิสันนั้นฝรั่งเขาจดไว้ว่าเอดิสันทำสำเร็จ เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2420 ตรงกับสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวของเรา ครองราชย์ได้ 9 ปี เพลงแรกที่บันทึกลงกระบอกเสียงได้นั้น เอดิสันเป็นคนร้องเอง เป็นเพลงสำหรับเด็กชื่อ Merry had a little lamb อีกสิบปีต่อมา ในพ.ศ. 2430 เอดิสันจดทะเบียนลิขสิทธิ์แล้วผลิตออกจำหน่าย ปีที่เขาจดทะเบียนนั้น โรงพยาบาลศิริราชเพิ่งจะเกิด กระทรวงกลาโหมยังสร้างไม่เสร็จเรียบร้อยดี

กระบอกเสียงของเอดิสันนี้ ส่งเข้ามาขายในเมืองไทยประมาณพ.ศ. 2436 ยังหาไม่พบว่าใครเป็นผู้นำเข้ามาเป็นคนแรก มีข้อดีอยู่ที่ว่าเมื่ออัดเสียงเสร็จแล้วก็เปิดฟังได้ทันที จึงทันใจคนฟังมาก แต่มีข้อเสียอยู่ที่ว่าไม่ทนทานเพราะขี้ผึ้งที่ฉาบไว้บนผิวรูปทรงกระบอกนั้นอ่อนตัวชำรุดได้ง่ายถ้าถูกความร้อนหรือถูกกระแทกแรงๆ ร่องเสียงจะเสีย ใช้การไม่ได้อีกต่อไป

การบันทึกเสียงเพลงไทยครั้งแรกๆ บันทึกลงบนกระบอกเสียงแบบที่กล่าวมานี้ นายต.เง็กชวนได้บันทึกไว้ว่า ท่านได้เห็นการบันทึกเพลงเป๋ (เพลงฉ่อย )ครั้งแรกที่ตลาดบ้านใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา ในปีพ.ศ.2437 โดยมี ” แม่อินทร์ “ดาราเพลงฉ่อยสมัยนั้นเป็นผู้ร้องบันทึกเสียงไว้ พอร้องเสร็จก็เปิดฟังได้ทันที ปรากฏว่ามีผู้นิยมกระบอกเสียงมาก ต่อมาจึงได้มีการบันทึกเพลงไทยประเภทต่างๆไว้เปิดให้คนฟังเวลามีงานต่างๆ เช่นงานวัด งานบวช และงานศพ เป็นต้น เพลงที่บันทึกไว้มีตั้งแต่มโหรี ปี่พาทย์ แตรวง เพลงฉ่อย เทศน์มหาชาติ ลิเก ตลอดไปจนถึงเพลงพื้นเมืองแบบต่างๆ กระบอกเสียงไปแสดงในงานใดคนก็ไปมุ่งดูกันแนนเสมอ

เวลาผ่านไปนานอีกหลายปี นับแต่กระบอกเสียงเข้ามาเล่นในเมืองไทยแผ่นเสียงแบบ Berliner เข้ามา แล้วมาอัดเพลงเป๋ เพลงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ อัดเป็นแม่แบบขี้ผึ้งแล้ว ก็ส่งไปทำเป็นแผ่นครั่งที่ประเทศเบลเยี่ยม ไม่มีตราประทับว่าเป็นของบริษัทใด จนถึงรัชกาลที่ 5 ท่านเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 มีพระราชหัตถเลขาปรากฏในพระราชนิพนธ์ไกลบ้าน ขณะประทับแรมที่เมือง Hamburg เยอรมนี ลงวันที่ 2 กันยายน พ.ศ.2451ว่า

“ มาฮอมเบิกดูแห้งเต็มที จะเอาอะไรมาเล่น วนไปวนมาสักสองสามเที่ยว ตกลงซื้อกรามโมโฟน (Gramophone คือ เครื่องเล่นจานเสียงแบบไขลาน-ผู้เขียน ) กล่าวคือไอ้อ้อแอ้ แต่เป็นอ้อแอ้เพลงฝรั่ง อยู่มาหน่อยหนึ่งพวกนักปราชญ์ราชบัณฑิตในเรื่องเพลง ส่งเพลงไทยมาให้สามสี่แผ่น เพลงแสนเสนาะ นั้น เพลงหนึ่ง ยายส้มจีนเป็นผู้ร้อง ละครเรื่องสุวรรณหงศ์ ต้นอย่างยิ่งเรื่องหนึ่ง แกะบายศรีมหาราช เสภาเรื่องพระไวยตีเมีย ไม่ครบท่อน มีสามอย่างเท่านั้น ฟังทุกวันจนจดจำได้ แล้วหัวเราะได้ทุกวัน ตั้งแต่มาถึงนี่จนวันนี้ ครั้นวันนี้ได้เพลงไทยมาเสียใหญ่ มียี่เกและเทศน์ชูชกอะไรต่างๆ ตกลงเลยฟังเพลงนั้นเอง เพลงฝรั่งไม่ยักได้ฟัง “

พิจารณาตามพระราชหัตถเลขาฉบับนี้แล้ว จะทราบได้ทันทีว่าสมัยรัชกาลที่ 5 ของเราได้มีการอัดแผ่นเสียงไทยกันไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นละครแหล่เทศน์ เสภาตลก มีทั้งนั้น สมัยเรานี้เสียอีก ผลงานบันทึกเสียงการละเล่นแบบไทยแท้หาเกือบไม่ได้เลย มีแต่เพลงลูกทุ่งลูกกรุงและดิสโกเพลงที่ร้องอย่างเอ็ดตะโรเต็มไปหมด

ผู้เขียนได้นำภาพแผ่นเสียงเพลงไทยที่มีรุ่นที่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงมีรับสั่งถึงนี้ มาตีพิมพ์ไว้แล้ว พอให้ท่านผู้อ่านได้เห็นหลักฐานว่าเป็นแผ่นเสียงตราเทวดา ( Anger Record ) บันทึกโดยบริษัท Gramophone Concert Record ทำที่เมือง Hanover เยอรมนี รูปเทวดามีปีกตรา(Cupid หรือพระกามเทพ) ตราการค้าของแผ่นนั้น คนไทยตั้งชื่อว่า ” ตราอรหันต์“

กลับไปดูรูปใหม่อีกครั้งหนึ่ง โปรดสังเกตสะกดการันต์บนป้ายวงกลมจะเห็นชื่อเพลง เช่น ” บุหลัน ” เขียนเป็น ” บูหลัน “ ” ใบ้คลั่ง “เขียนเป็น ” บั้ยคลั่ง “ ” ส้มจีน ” เขียนเป็น ” ซ่มจีน ” แผ่นเสียงชุดนี้อัดหน้าเดียวทั้งสิ้น ส่วนด้านหลังพิมพ์ตราโฆษณาบริษัทไว้ แผ่นชุดนี้ควรจะบันทึกเสียงประมาณ พ.ศ.2449-2450 หรืออาจจก่อนเล็กน้อย จะต้องอัดในกรุงเทพฯก่อน แล้วจึงส่งมาเป็นแผ่นถาวรที่เมืองแฮนโนเวอร์ แผ่นออกมาถวายรัชกาลที่ 5 ทรงฟังได้ในเดือนกันยายน

นอกจากนี้ ยังมีเพลงของนักร้องชายอีกหนึ่งท่านคือ ” นายขวาน ” เป็นนักเทศน์ แต่ผู้เขียนไม่ทราบว่า นายขวานผู้นี้นามสกุลว่าอะไร

เมื่อต้นปี พ.ศ.2523 อาจารย์มนตรี ตราโมท ผู้ที่เชียวชาญดนตรีไทยของกรมศิลปากร ได้กรุณาให้แผ่นเสียงเก่ามายังผู้เขียนแผ่นหนึ่ง เป็นแผ่นเสียงแบบเบอร์-ไลเนอร์ชนิดร่องกลับทาง เป็นแผ่นหน้า 19 และ 20 ของละครดึกดำบรรพ์เรื่อง ” คาวี ” พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้า กรมพระยาริศรานุวัตติวงศ์ ผู้ขับร้องคือ “ หม่อมเจริญ ” ภรรยาคนหนึ่งของเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ ( ม.ร.ว.หลาน กุญชร เจ้าของวังบ้านหม้อ) และแม่เทด ( ต่อมาคือคุณหญิงเทศ นัฏกานุรักษ์ อยู่ในสายสกุลสุวรรณภารต ) เสียงยังพอฟังรู้เรื่องแต่ไม่ชัดนัก

เมื่อได้แผ่นเสียงเพลงตับคาวีมาแล้วก็เกิดคำถามขึ้นว่า บางทีแผ่นนี้ดูจะเก่ากว่าของหม่อมส้มจีนกระมัง เพราะดูลักษณะการทำเป็นแผ่นไม่เรียบร้อยเลยตัวหนังสือเขียนด้วยลายมือโบราณมิได้ใช้พิมพ์ดีด แต่เมื่อนับอายุคนร้องแล้วหม่อมเจริญอายุน้อยกว่าหม่อมส้มจีนมาก สมัยนั้นหม่อมส้มจีนก็นับว่าเป็นนักร้องชั้นครูอยู่แล้ว แต่คงจะ“ หรู“ สู้หม่อมเจริญไม่ได้ เพราะหม่อมเจริญเป็นภรรยาคนโปรดเสียงดีของท่านเจ้าพระยาวังบ้านหม้อ แต่หม่อมส้มจีนเป็นเพียงภรรยาของพระยาราชานุประพันธ์ ( สุดใจ บุนนาค ) ย่อมจะสู้ภรรยาของเจ้าพระยามิได้

อนึ่ง ละครดึกดำบรรพ์เรื่องคาวีพระนิพนธ์สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์นี้ เคยเล่นที่โรงเรียนดึกดำบรรพ์ของเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ที่บ้านหม้อมาแล้วระหว่างปี พ.ศ. 2442-2447 แผ่นนี้จะอัดในครั้งนั้นหรือทีหลังไม่สามารถบอกได้ แต่ที่รู้แน่ก็คือ ทำเป็นแผ่นในประเทศเบลเยียมไม่ใช่บริษัทชั้นดีของเยรมนี คุณภาพอาจสู้ไม่ได้ สรุปแล้วในขณะนั้น ผู้เขียนยังสองจิตสองใจว่าระหว่างหม่อมเจริญ กับหม่อมส้มจีนสองคนนี้ ใครจะได้อัดแผ่นเสียงก่อนกันแน่ ต่อมาจึงรู้ชัดว่าหม่อมเจริญ แม่เทศ แม่อินทร์ ( นักร้องเพลงเป๋ ) ได้อัดเพลงก่อน ส่วนหม่อมส้มจีนนั้นได้ร้องเพลงสามชั้นลงแผ่นเป็นคนแรกประมาณปี 2450-2451 คือเพลงชุดแสนเสนาะ บุหลัน และใบ้คลั่งที่กล่าวมาแล้วนั่นเอง

ยุคของการอัดเสียงโดยไม่ใช้ไฟฟ้านี้มาจบลงในปลายรัชกาลที่ 5 ( พ.ศ.2453 ) เพราะในสมัยนั้นรัชกาลที่ 6 ตอนปลายรัชกาลแล้ว จึงได้เริ่มอัดด้วยไฟฟ้า บทความฉบับนี้จึงขอจบลงในยุคการอัดแผ่นเสียงแบบ Non Electric Recording ก่อน ในฉบับหน้าจะเล่าต่อถึงแผ่นเสียงเพลงไทยสมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งอัดด้วยไฟฟ้าทั้งจะได้วิจารณ์ถึงคุณภาพของเสียงที่บันท฿กได้นั้น ให้ท่านผู้อ่านได้ติดตามตอนต่อไปด้วย



นายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล




ข้อมูลอ้างอิงจาก ; //www.geocities.com/tonchababshop/new_page_2.htm


นอกจากนี้ยังสามารถฟังเพลงเพราะๆ ได้ที่ ; //www.theoldsweetsong.com




เบอร์ไลเน่อร์




Create Date : 12 สิงหาคม 2552
Last Update : 12 กันยายน 2556 6:28:15 น. 0 comments
Counter : 2488 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

sweetsong
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




http://i442.photobucket.com/albums/qq143/yamiejung11/mie009/pup51.jpg iLength = document.images.length; for(i=0;i
Friends' blogs
[Add sweetsong's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.