"กูจี กูจี" : วีรกรรมของ "จระเป็ด" ตัวหนึ่ง



เรื่อง กูจี กูจี
เขียนและภาพประกอบ เฉินจื้อหยวน
แปล ปรีดา อัครจันทโชติ
จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์แพรวเพื่อนเด็ก
จำนวนหน้า 36 หน้า
ราคาปก 215 บาท


หนังสือภาพสำหรับเด็กจากไต้หวันเล่มนี้เป็นเรื่องของ "กูจี กูจี" เจ้าจระเข้น้อย (แต่ดูจากรูปภาพแล้วคุณปรีดาว่าหน้าตามันเหมือนฮิปโปมากกว่าแฮะ) ที่ถูกเลี้ยงดูและโตมาในสังคมเป็ด จนมันเชื่อว่าตัวเองไม่ต่างจากเป็ดตัวอื่น

จนกระทั่งวันหนึ่งเมื่อมีฝูงจระเข้ร้ายโผล่มา กูจี กูจี จึงถูกเรียกร้องให้หันมาเข้าพวกจระเข้ เพราะไม่ว่ามองทางใดมันก็ไม่เหมือนพวกเป็ดเลย

กูจี กูจี ต้องเผชิญกับความขัดแย้งในจิตใจครั้งใหญ่ เพราะว่าสิ่งที่พวกจระเข้ร้ายต้องการก็คือเนื้อเป็ดอันโอชะ!

ในฉบับภาษาจีนมีกล่าวถึงเบื้องหลังของหนังสือเล่มนี้ (ซึ่งไม่ปรากฏในฉบับแปลภาษาไทย) โดยผู้เขียนเล่าว่า

"นิทานเรื่องนี้แท้จริงแล้วเกิดขึ้นขณะที่ผมไปท่องเที่ยวกับบรรดาเพื่อนชาวต่างประเทศ ระหว่างทาง พวกเราผลัดกันเล่าเรื่องราวต่างๆ

เพื่อนคนหนึ่งในนั้นเป็นลูกครึ่งอเมริกัน-เกาหลี เขาถูกเลี้ยงดูโดยคนขาวมาตั้งแต่เล็ก เติบโตมาในครอบครัวและสังคมคนขาว ระหว่างนั้นเขาต้องประสบกับเรื่องราวมากมายที่ผมเข้าใจได้ รวมทั้งปัญหาการถูกผู้อื่นบีบคั้น ผมคิดว่าบนเกาะไต้หวันของเราเองก็มีปัญหาเดียวกันนี้

ผมหวังว่าเด็กๆ ชาวไต้หวันจะสามารถยอมรับผู้คนและเรื่องราวที่แตกต่างไปจากตนได้ รวมทั้งเปิดใจกว้างในการปฏิบัติต่อโลก เพราะว่าการเกิดของชีวิตทุกชีวิตต่างล้วนเป็นเรื่องมหัศจรรย์ ต่างล้วนควรค่าต่อการให้ความเคารพ"


ก่อนที่จะได้รับการแปลเป็นภาษาไทย หนังสือเล่มนี้ได้รับการแปลเป็นภาษาเกาหลี ญี่ปุ่น อังกฤษ และฝรั่งเศส มาก่อนแล้ว

นอกจากนี้ยังขายได้ ๕๕,๐๐๐ เล่มทั่วประเทศสหรัฐอเมริกาในเวลา ๓ เดือน และติดอันดับหนังสือขายดีที่เกาหลีใต้และสหรัฐอเมริกา

ตามความเห็นของคุณปรีดา นี่เป็นหนังสือนิทานภาพสำหรับเด็กที่จัดอยู่ในขั้น "น่ารักมาก" เล่มหนึ่ง ผู้เขียนมีสไตล์ที่โดดเด่นในการเล่าเรื่องด้วยภาพ คุณปรีดาชอบภาพเจ้ากูจี กูจีที่หน้าตาออกละม้ายไปทางฮิปโปมากกว่าจระเข้ นอกจากนี้ผู้เขียนยังเล่าเรื่องด้วยภาพ นอกเหนือไปจากตัวหนังสือ เช่นตอนหนึ่งที่บอกว่า

"แม่เป็ดสอนลูกเป็ดว่ายน้ำ ดำน้ำ และเดินเตาะแตะไปกับพวกมัน"

รูปภาพก็จะเป็นแม่เป็ดว่ายน้ำนำหน้า ตามมาด้วยลูกเป็ดสามตัว ทุกตัวว่ายน้ำอย่างสงบนิ่ง ขณะที่กูจี กูจี ซึ่งตัวโตกว่าเพื่อนรั้งท้ายมา พยายามใช้เท้าหลังพุ้ยน้ำจนน้ำกระจายไปทั่ว

หรือตอนที่บอกว่า "กูจี กูจีนั้นเรียนรู้ได้เร็วที่สุด เก่งที่สุด มิหนำซ้ำยังตัวใหญ่กว่า แข็งแรงกว่าลูกเป็ดตัวอื่น" ผู้เขียนก็วาดภาพกูจี กูจีขี่รถจักรยานสามล้อ (ในตะแกรงหน้ารถมีตุ๊กตาเป็ดด้วย) โดยมีสายลากไปยังกล่องติดล้อทำเป็นรถพ่วง ซึ่งในกล่องนั้นมีฝูงเป็ดนั่งเอกเขนกอยู่

สำหรับคอหนังสือภาพสำหรับเด็ก คุณปรีดาแนะนำให้อ่านหนังสือเล่มนี้ หรือใครจะซื้อไปฝากเด็กๆ ในครอบครัวก็ดีเช่นกัน

อ้อ! คนแปลเขาฝากบอกมาว่ารายได้จากค่าลิขสิทธิ์การแปลมอบให้ สมาคมไทสร้างสรรค์ เพื่อสนับสนุนห้องสมุดเด็กในชนบท เพราะฉะนั้นก็มาทำบุญร่วมกันเถอะ เผื่อว่าชาติหน้าจะได้เกิดมาร่วมโลกกับอีตาคนแปลอีกชาตินึง




 

Create Date : 14 กุมภาพันธ์ 2549    
Last Update : 14 กุมภาพันธ์ 2549 22:22:33 น.
Counter : 1947 Pageviews.  

"หวนหัวเราะ" ให้กับหยาดน้ำตา



เรื่อง หวนหัวเราะ
เขียน/แปล เอเลนอร์ สมิธ โบเว่น / ยศ สันตสมบัติ
จัดพิมพ์โดย โครงการจัดพิมพ์คบไฟ
จำนวนหน้า 352 หน้า
ราคาปก 185 บาท


ผมมีความเชื่อโดยส่วนตัวอยู่อย่างหนึ่งว่า ปัญหาที่เป็นสากลและกำลังคุกคามมนุษยชาติทั้งมวล มีอยู่สองอย่าง

อย่างแรกคือปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมถึงภัยพิบัติต่างๆ อันเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ

ส่วนอย่างที่สองคือปัญหาความขัดแย้งทางวัฒนธรรมและชาติพันธุ์ นี่เป็นปัญหาระหว่างมนุษย์กับมนุษย์

คงไม่ต้องไล่เรียงวิกฤตและหายนภัยของประวัติศาสตร์โลกมาเป็นตัวอย่าง

หนังสือ "หวนหัวเราะ" หรือ Return to Laughter ที่นำมาแนะนำคราวนี้เป็นบันทึกในรูปนวนิยาย เขียนโดยนักมานุษยวิทยาซึ่งเล่าถึงประสบการณ์ของตัวเองขณะทำวิจัยภาคสนามในชุมชนชาวทิฟ ประเทศไนจีเรีย

ผู้เล่าเรื่อง (ซึ่งถูกชาวบ้านเรียกว่า "หญิงแดง") เริ่มใช้ชีวิตกับชาวบ้านตั้งแต่ตัวเองยังพูดภาษาของพวกเขาไม่ได้ นอกจากต้องเรียนรู้ภาษาแล้ว ยังต้องปรับตัวทางวัฒนธรรม และเผชิญกับความขัดแย้งต่างๆ รวมถึงปัญหาสำคัญสำหรับนักมานุษยวิทยาคือ การวางตัวอยู่ห่างและหลีกเลี่ยงที่จะสร้างความปั่นป่วนวุ่นวายแก่ชุมชน

ในที่นี้ขอไม่เล่าโครงเรื่องว่าเป็นอย่างไร แต่อยากเล่ารายละเอียดบางอย่างเกี่ยวกับวัฒนธรรมของชนเผ่าที่ผู้เล่าเรื่องได้ใช้ชีวิตอยู่ด้วย (ขออนุญาตไม่เรียกว่า "ผู้เขียน" เพราะแม้จะอนุมานได้ว่าได้เล่าเรื่องผ่านมุมมองของผู้เขียน แต่เนื่องจากหากจะพิจารณาว่านี่เป็นนวนิยาย จึงต้องแยก "ผู้เล่าเรื่อง" ออกจาก "ผู้เขียน")

ชาวทิฟมีวัฒนธรรมทางภาษาที่เกี่ยวกับระยะทางอันต่างไปจากความเข้าใจของเราๆ (ซึ่งแสดงนัยถึงระยะทางที่เป็นจริง) ผู้เล่าเรื่องเล่าว่าหลายครั้งที่เธอขอไปเยี่ยมบ้านชาวบ้าน แต่ชาวบ้านกลับบอกว่าบ้านของตัวเองอยู่ไกล เมื่อเธอยืนยันว่าไม่เป็นไร ชาวบ้านคนนั้นก็สำทับว่ามีแม่น้ำขวางทางนะ ฯลฯ แต่เมื่อเธอได้ไปเยือนจริง กลับพบว่าบ้านของชาวบ้านผู้นั้นกลับไม่ได้ไกลอย่างที่คิด มิหนำซ้ำ "แม่น้ำขวาง" ที่ว่ากลับเป็นเพียงแอ่งน้ำเล็กๆ

ขณะที่ชาวบ้านบางคนชวนเธอให้ไปเที่ยวบ้าน โดยบอกว่าบ้านของตนเองอยู่ใกล้ แต่เมื่อหญิงแดง (ผู้เล่าเรื่อง) ไปจริงๆ กลับต้องใช้เวลาเกือบทั้งวันในการเดินทาง

ในที่สุดเธอจึงสรุปได้ว่า คำว่า "ใกล้" หรือ "ไกล" ที่ชาวบ้านใช้ ยังบอกถึงระดับความสัมพันธ์ระหว่างตัวชาวบ้านเองกับเธอ คนที่บอกว่าบ้านอยู่ไกลที่แท้แล้วสิ่งที่ "ไกล" กลับมิใช่ระยะทาง หากเป็นระยะห่างทางความสัมพันธ์ระหว่างตัวเองกับเธอต่างหาก

นอกจากนี้วัฒนธรรมชาวทิฟยังอนุญาตให้ผู้ชายมีเมียได้หลายคน ข้อนี้เราอาจไม่แปลกใจเท่าไหร่ (แต่อาจทำให้นักเฟมินิสต์ไม่พอใจนัก) แต่วัฒนธรรมชาวทิฟมีความซับซ้อนกว่าเพียงเรื่องตัณหาและความมักมากในกาม

อย่าลืมว่าในสังคมที่ไม่มีความทันสมัยทางการแพทย์ การล้มตายก่อนวัยอันควรถือเป็นเรื่องปกติ ในขณะที่คนในครอบครัวนั้นถือเป็นแรงงานที่สำคัญ การมีเมียหลายคนก็คือการผลิตแรงงานครัวเรือนนั่นเอง

นอกจากนี้แล้วหลายครั้งที่เมียหลวงเป็นผู้หาเมียน้อยให้สามีด้วยตนเอง การมีสามีร่วมกันถือเป็นเรื่องพึงปฏิบัติ เพราะช่วยผ่อนภาระในยามที่ผู้เป็นเมียคลอดลูก ในระหว่างนั้นเมียอื่นๆ จะช่วยเลี้ยงทารก ช่วยหุงหาอาหารให้สามีและเด็กๆ ช่วยดูแลผู้เป็นเมียนั้นตั้งแต่ยามตั้งครรภ์ นอกจากนี้หากหญิงคนหนึ่งเสียชีวิต เธอก็อุ่นใจได้ว่าลูกๆ ของเธอยังมีแม่ดูแล

"ด้วยเหตุนี้เอง การเป็นแม่มิใช่เพียงแค่ผู้ให้กำเนิดเท่านั้น แต่ยังเชื่อมโยงกับความสัมพันธ์ทางสังคมอีกด้วย"

ในทางตรงกันข้าม หากฝ่ายหญิงเกิดมีชู้แล้วถูกจับได้ ก็ไม่แน่เสมอไปว่าผู้ชายจะหย่าขาดจากภรรยาตน ดังเช่นทัศนะของอีฮิว ตัวละครชายหนุ่มในครอบครัวที่หญิงแดงไปอาศัยด้วย เขากล่าวอุปมาว่า

"คุณยกเก้าอี้ของคุณให้เขาไป เพราะมีคนอื่นมานั่งอย่างนั้นหรือ?...สามีจะเต็มใจให้เมียหนีไปก็แต่เฉพาะเมียที่ขี้เกียจเท่านั้น"

"หวนหัวเราะ" เป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่อ่านได้สนุก และทำให้เราได้เรียนรู้วัฒนธรรมของกลุ่มชนที่แตกต่างไปจากเรา

และผมเชื่อว่าการเรียนรู้วัฒนธรรมของผู้ที่แตกต่างไปจากเรา ยอมรับว่าวัฒนธรรมของแต่ละกลุ่มชนมีคุณค่าและสูงส่งในตัวเอง โดยไม่ต้องนำไปเปรียบเทียบว่าวัฒนธรรมใดล้ำเลิศ วัฒนธรรมใดล้าหลังป่าเถื่อน

นี่น่าจะเป็นทางหนึ่งที่ช่วยลดปัญหาความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ ดูถูกเหยียดหยามวัฒนธรรมอื่น และทำให้โลกมีความสมานฉันท์ท่ามกลางความหลากหลายทางวัฒนธรรมได้




 

Create Date : 05 กุมภาพันธ์ 2549    
Last Update : 5 กุมภาพันธ์ 2549 15:18:17 น.
Counter : 1299 Pageviews.  

ผ่านพบไม่ผูกพัน : อย่างไรจึงจะ "ผ่านพบ" ได้โดยไม่ "ผูกพัน"



เรื่อง ผ่านพบไม่ผูกพัน (Unattached Encounters)
เขียนและภาพประกอบโดย เสกสรรค์ ประเสริฐกุล
จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์สามัญชน
จำนวน 168 หน้า
ราคาปก 140 บาท


ได้หนังสือเล่มนี้มาจากงานมหกรรมหนังสือเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา แม้จะมีชื่อเรื่องภาษาอังกฤษ แต่โปรดอย่าเข้าใจผิดว่าเป็นหนังสือแปล ที่แท้นั้นเป็นการรวมข้อเขียนของอาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ต่างหาก

ใครเป็นแฟน "คนล่าจันทร์" ไม่น่าพลาดด้วยประการทั้งปวง

ข้อเขียนแต่ละเรื่องในหนังสือเล่มนี้ เดิมทีผู้เขียนเขียนลงนิตยสารท่องเที่ยวฉบับหนึ่ง แต่โปรดอย่าเข้าใจผิดว่านี่เป็นสารคดีท่องเที่ยวหรืออะไรทำนองนั้น

หากจะเรียกว่า "ผ่านพบไม่ผูกพัน" เป็นหนังสืออันเกี่ยวเนื่องด้วยการเดินทาง ก็ต้องบอกว่าข้อเขียนในหนังสือเล่มนี้ว่าด้วยการเดินทางเข้าไปใน จิตวิญญาณ ด้านในของตัวผู้เขียนเอง เพื่อทำความเข้าใจตนเอง เข้าใจผู้อื่น และเข้าใจโลกธรรมชาติ

อาจพอสันนิษฐานได้ว่าอาจารย์เสกสรรค์เขียนข้อเขียนต่างๆ เหล่านี้จากการเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ หากผู้เขียนมิได้เอ่ยอ้างชื่อสถานที่เหล่านั้นออกมา แต่ที่ผู้เขียนทำคงเป็นเพียงทำความเข้าใจสถานที่ที่ตนไปเยือน เรียนรู้จากวัตถุตามรายทางที่ตนพบเห็น

แล้วจึงกลั่นออกมาเป็นทัศนะด้านต่างๆ

อาจารย์เสกสรรค์กล่าวว่า "เราจำเป็นต้องฝึกตัวเองให้สัมผัสโลกด้วยมุมมองที่ต่างไปจากความเคยชินดั้งเดิม จนกระทั่งกลายเป็นส่วนหนึ่งของทุกสิ่งทุกอย่างที่พบเห็น เป็นทั้งผู้ชมและผู้แสดงในทุกฉากชีวิต โดยไม่สนใจที่จะเป็นเจ้าของสิ่งใด ความสัมพันธ์แบบเจ้าของเป็นความสัมพันธ์แบบแยกส่วน มันทำให้เราไม่สามารถเป็นหนึ่งเดียวกับสิ่งใดได้

แล้วเราจะพบว่า ณ จุดนั้น ความจริง ความงาม และความสงบสุข พลันผนึกผสานเป็นเรื่องเดียวกัน"

ทัศนะที่ยกมาข้างต้นรวมถึงเนื้อหาส่วนอื่นๆ ในเล่ม จะว่าไปแล้วก็ไม่ใช่สิ่งใหม่ที่ผู้เขียนคิดค้นได้เอง (และตัวอาจารย์เสกเองก็ยอมรับว่านี่ไม่ใช่แนวคิดใหม่) ใครที่สนใจปรัชญาตะวันออกอาจรู้สึกว่าวิธีคิดแบบนี้คล้ายกับปรัชญาเต๋าและเซนของจีน (อาจพ้องกับปรัชญาอินเดียบางสำนักด้วยแต่ขออภัยที่คุณปรีดาไม่มีความรู้ทางปรัชญาอินเดีย) แต่ที่สำคัญเองก็คือผู้เขียนพยายามที่จะปฏิบัติใน "วิถี" ดังกล่าวด้วยตัวเอง และถ่ายทอดทัศนคติของตนเองต่อวิถีเหล่านั้นออกมาเป็นภาษาที่งดงาม พร้อมภาพประกอบที่เปี่ยมชีวิตชีวา (แม้เราจะเห็นเป็นเพียงภาพขาว-ดำ)

จะลองยกตัวอย่างท่อนที่ชอบมากๆ ให้ดู

"ผ่านพบโดยไม่ผูกพัน

บางทีอาจลึกซึ้งยั่งยืนกว่า

ร้อยหัวใจเข้ากับทุกอย่าง

ด้วยโซ่ตรวนที่มักตั้งชื่อผิดๆ ว่า

ความรัก"



หรืออีกท่อน

"บางครั้งเราเต็มใจเป็นสะพานให้ใครบางคนก้าวข้าม...

แต่ห้วงยามแห่งการเสียสละ กับห้วงยามแห่งการพลัดพราก

ก็มักจะเกิดขึ้นพร้อมกัน...

ทั้งนี้เพราะสะพาน

ย่อมมิใช่ที่อยู่ถาวรของผู้ใด"


ยังมีวรรคทองอีกมากในหนังสือเล่มนี้ เรียกได้ว่าแทบทุกย่อหน้าล้วนเต็มไปด้วยปรัชญาความคิด การเรียนรู้จักตนเองและโลกมนุษย์ที่ถ่ายทอดด้วยภาษากวีของผู้เขียนที่ผ่านพบประสบการณ์ชีวิตอันเข้มข้นมายาวนาน

เป็นหนังสือเล่มที่คุณปรีดา highly recommend ให้อ่านต้อนรับปีใหม่ หรือไม่ก็ใช้เป็นของขวัญให้คนใกล้ชิด






 

Create Date : 27 มกราคม 2549    
Last Update : 27 มกราคม 2549 13:39:01 น.
Counter : 948 Pageviews.  

ทำไมเรื่องแฮร์รี่ พอตเตอร์ ถึงโด่งดังเป็นพลุแตก


พออ่านแฮร์รี่ฯ ตอนใหม่จบ คุณปรีดาก็ลองสำรวจความคิดตัวเองว่าทำไมเรื่องของพ่อมดหนุ่มที่มีแผลเป็นตรงหน้าผากถึงได้เป็นที่ชื่นชอบของผู้คน แล้วก็โด่งดังไปทั่วโลกแบบนี้

สาเหตุสำคัญอย่างแรกคือเรื่องแฮร์รี่เป็นตัวอย่างที่โดดเด่นมากของการเขียนเรื่องที่มีการผสมผสานของ Genre (ในที่นี้ขอเรียกว่าแนวเนื้อหาก็แล้วกัน) อันหลากหลาย
โดยทั่วไปวรรณกรรมเด็กและเยาวชนที่ผ่านๆ มาเมื่อเป็นแนวไหนก็จะเป็นแนวนั้นโดยตลอดเล่ม เช่น เรื่องสัตว์ เรื่องแฟนตาซี เรื่องแนวเทพนิยาย เรื่องแนวสืบสวนสอบสวน เรื่องกีฬา เรื่องแนวระทึกขวัญ เรื่องแนวความรักหนุ่มสาว เรื่องแนวแสวงหา (พล็อตเรื่องมักเน้นที่การผจญภัยเพื่อค้นหาสิ่งใดสิ่งหนึ่ง) เรื่องแนว coming-of-age (พล็อตเรื่องเน้นที่การเรียนรู้ชีวิตช่วงหนึ่งของตัวเอก และทำให้เขาหรือเธอเติบโตขึ้นหรือมีมุมมองที่เปลี่ยนไปในตอนท้ายเรื่อง)

จริงอยู่ว่าที่ผ่านมามีนิยายจำนวนไม่น้อยใช้วิธีการผสม genre (โดยเฉพาะนิยายสมัยใหม่) แต่คุณปรีดาไม่เคยเห็นวรรณกรรมเยาวชนเรื่องไหนที่มีแนวของเรื่องหลากหลายผสมอยู่ในเรื่องเดียว นอกเหนือจากแนวเรื่องเกี่ยวกับสัตว์แล้ว (ถึงแม้ว่าจะมีเนื้อหาเกี่ยวกับนกฮูกหรือสัตว์ต่างๆ แต่นั่นก็ไม่ใช่โครงเรื่องสำคัญ) แนวเรื่องแบบอื่นๆ ล้วนถูกนำมาบรรจุไว้ในแฮร์รี่ พอตเตอร์จนหมดสิ้น

ที่สำคัญคือ เจเค โรว์ลิ่ง เอาส่วนผสมของแนวต่างๆ มาปั่นรวมกันอยู่ในอัตราส่วนที่กลมกล่อมนะสิ

สาเหตุประการที่สอง เฉพาะในส่วนของจินตนาการ เรื่องแฮร์รี่ พอตเตอร์ น่าจะเรียกได้ว่าปฏิวัติวงการนวนิยายแนวจินตนาการที่ผ่านๆ มา ตรงที่ว่า ในอดีตนั้นเรื่องแนวนี้จะสร้างฉากของโลกสมมติ (คือดินแดนในจินตนาการต่างๆ) ไว้เพียงหลวมๆ โดยเหลือเนื้อที่แห่งจินตนาการให้ผู้อ่านได้คิดฝันเพิ่มเติม ในขณะที่เรื่องแฮร์รี่นั้นผู้เขียนกลับเลือกที่จะ “สร้างโลก” พ่อมดอย่างรอบด้าน กำหนดรายละเอียดทุกแง่มุม เช่น พวกเขามีกีฬายอดนิยมอะไรบ้าง (ก็ควิดดิชไง), ขนมที่พวกเขากิน (ลูกอมรสกรด รสอ้วก และอื่นๆ), กิจกรรมหรือว่าของสะสมของพวกเด็กๆ ล่ะ (ก็การ์ดพ่อมดไง), การเดินทางล่ะ (ก็ใช้ไม้กวาดหรือไม่ก็ผงฟลูหายตัว) แม้แต่เรื่องปลีกย่อยอย่างเช่นเฟอร์นิเจอร์ในบ้าน เช่นกรอบรูปตั้งโชว์ก็ยังต้องพิเศษกว่ากรอบรูปทั่วไป (คนในภาพสามารถเดินทางไปสู่รูปภาพอื่นๆ ได้) ฯลฯ เรียกว่าผู้เขียนสร้างรายละเอียดเกี่ยวกับโลกเวทมนตร์ไว้มากจนเหมือนเป็นโลกจริง ที่มีคนใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นกันจริงๆ เลยทีเดียว

สาเหตุประการที่สาม เนื่องจากเรื่องแฮร์รี่ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับเด็กชายคนหนึ่ง (และเพื่อนๆ ของเขาอีกจำนวนหนึ่ง) ตอนต่อแต่ละเล่มก็เป็นเรื่องราวของตัวละครที่อายุเพิ่มขึ้นทีละปี ด้วยเหตุนี้ผู้อ่านจึงได้เห็นความเติบโตและพัฒนาการของตัวละคร จากตัวละครวัยเด็กย่างเข้าสู่วัยรุ่น เราได้เห็นพฤติกรรมของตัวละครอย่างต่อเนื่อง เห็นความเปลี่ยนแปลงของพวกเขา ในลักษณะเดียวกับที่ผู้ชมได้ดูเรื่องราวของพระเอกตั้งแต่เกิดจนโตในเรื่อง Truman Show ผู้อ่านจึงอดลุ้นและเอาใจช่วยพระเอกไม่ได้

สาเหตุประการที่สี่ ถึงแม้ว่าเจ เค โรว์ลิ่ง จะใช้พื้นฐานของพล็อตจากเทพนิยายโบราณ แต่เรื่องที่เขียนออกมาก็มีความร่วมสมัยอย่างมาก ถึงแม้ว่าเวทมนตร์ต่างๆ ในเรื่องจะมีสถานภาพคล้ายของวิเศษของโดเรมอน แต่โดเรมอนดูมีความเป็นสากล (คือไม่ขึ้นกับยุคสมัย) มากกว่า ขณะที่โลกเวทมนตร์ของแฮร์รี่กลับสะท้อนภาพโลกมนุษย์ยุคต้นศตวรรษที่ 21 นี้เป็นอย่างดี (แม้แต่ไม้กวาดวิเศษก็ยังมีรุ่นใหม่ๆ , กีฬาควิดดิชเป็นที่สนใจของพ่อมดแม่มดทั่วโลกเหมือนฟุตบอลโลกยังไงยังงั้น) ถึงแม้โลกพ่อมดจะเป็น “โลกสมมติ” แต่มันก็มีมิติของ “โลกจริง” ทั้งการใช้ชีวิตแบบบริโภคนิยม, การแย่งชิงอำนาจทางการเมือง, พ่อมดเองก็ต้องทำงานในหน่วยงานต่างๆ, มีโรงเรียนและรัฐบาลเหมือนโลกจริง ฯลฯ ทำให้ผู้อ่านนอกจากมีอารมณ์ร่วมแล้ว ยังทำให้ผู้อ่านคิดฝันเอาว่าถึงแม้ตัวเองต้องเรียน/ทำงาน แต่ถ้าได้เรียน (หรือทำงาน) ในแบบของโลกพ่อมดก็จะดี

คุณแม่บ้านอาจจะยินดีที่ต้องทำงานบ้านในโลกที่สามารถใช้เวทมนตร์เป็นเครื่องทุ่นแรงได้

เด็กๆ อาจจะเบื่อกับการเรียนหนังสือหรืออ่านหนังสือสอบ แต่ถ้าเปลี่ยนเป็นโรงเรียนฮอกวอตส์ นั่นก็คงเป็นอีกเรื่องนึง

...
ความจริงแล้วยังมีอีกหลายเหตุผลที่ทำให้แฮร์รี่ พอตเตอร์ได้รับความนิยมอย่างสูงจากทั่วโลก แต่คุณปรีดาคิดว่าเหตุผลหลักๆ น่าจะอยู่ในสามสี่ข้อที่กล่าวมาแล้วนี้





 

Create Date : 19 ธันวาคม 2548    
Last Update : 19 ธันวาคม 2548 13:15:27 น.
Counter : 5208 Pageviews.  

แฮร์รี่ พอตเตอร์ ตอน เจ้าชายเลือดผสม ก็สนุกนะ แต่...


คุณปรีดาได้อ่านเรื่องราวตอนใหม่ของพ่อหนุ่มแฮร์รี่เมื่อวันก่อน อ่านรวดเดียวจบภายในหนึ่งวัน ระหว่างที่อ่านก็ตั้งคำถามกับตัวเองหลายข้อ และเมื่ออ่านจบก็บอกตัวเองว่า “อืม ก็สนุกนะ แต่...” คุณปรีดาลองตอบตัวเองว่าควรเติมข้อความอะไรไว้ข้างหลัง “แต่...” เพื่อให้ประโยคนี้สมบูรณ์และตรงตามความรู้สึกของตัวเอง

โดยรวมแล้วคุณปรีดารู้สึกว่าแฮร์รี่ภาคนี้ก็ยังคงสนุก และเจ เค โรว์ลิ่ง ก็ยังคงทำให้เราติดตามและอยากรู้อยากเห็นได้อย่างต่อเนื่อง

แต่มีอะไรบางอย่างทำให้มัน “สนุก” ไม่ “สุด”

“อะไรบางอย่าง” ที่ว่านี้ คุณปรีดาพบว่ามีอยู่ด้วยกันหลายข้อดังนี้

(หมายเหตุ คุณปรีดาไม่ถนัดการเขียนแยกสปอยล์ ดังนั้นเพื่อหลีกเลี่ยงการเดินชนสปอยล์โดยไม่รู้ตัว ดังนั้นจึงขอเตือนให้ผู้ที่ยังไม่ได้อ่านแฮร์รี่เล่มใหม่ อ่านบล็อกนี้ด้วยความระมัดระวัง และคุณปรีดาจะไม่รับผิดชอบใดๆ ทั้งสิ้นไม่ว่ากรณีใดก็ตาม)


กลับมาที่ “อะไรบางอย่าง” ที่ทำให้รู้สึกว่ามันไม่สนุกอย่างที่ควรจะเป็น

อย่างแรก พล็อตหลักของเรื่อง (คือในส่วนที่เป็นชื่อตอน) ในเล่มนี้จัดว่าหน่อมแน้มที่สุดในบรรดาหลายๆ ตอนที่ผ่านมา คุณลองนึกเปรียบเทียบกับเล่มก่อนๆ หน้านี้ดูสิ ไม่ว่าจะนักโทษแหกคุกจากอัซคาบันเพื่อมาหมายปองชีวิตแฮร์รี่, การประลองไตรภาคีเวทที่ทำให้มีคนต้องสังเวยชีวิต หรือแม้แต่การก่อตั้งภาคีนกฟีนิกส์ รวมถึงการตั้งกองทัพดัมเบิลดอร์

แล้วลองดูภาคนี้สิ โครงหลักของเรื่องเป็นแค่เรื่องหนังสือเรียนของเจ้าชายเลือดผสมผู้ทำให้แฮร์รี่หลงใหล (ตอนแรกคุณปรีดาอดตื่นเต้นไม่ได้ เพราะนึกว่า “เจ้าชายเลือดผสม” ที่ว่านี้คือคนที่คุณก็รู้ว่าใครเสียอีก)

อย่างที่สอง เนื้อเรื่องมัวแต่เน้นที่การสืบรอยติดตามสเนปและเดรโก มัลฟอย กว่าที่ดัมเบิลดอร์จะมีบทบาทสำคัญก็ปาเข้าไปท้ายเรื่องเสียแล้ว (ไม่นับตอนที่เรียกแฮร์รี่ไปพบที่ห้องหลายครั้งเพื่อเล่าประวัติจอมมารให้ฟัง โดยใช้ข้ออ้างว่า “สอนพิเศษ”) และทำให้ความเข้มข้นของเรื่องอยู่ที่เนื้อหาประมาณร้อยหน้าสุดท้าย (ภารกิจของแฮร์รี่กับดัมเบิลดอร์) เท่านั้น ขณะที่ตัวละครสำคัญอื่น (โดยเฉพาะพวกที่เป็นภาคีนกฟีนิกส์) อย่างลูปิน แฮกริด มักกอนนากัล กลายเป็นตัวประกอบที่ปรากฏตัวบางครั้งพอไม่ให้คนลืมเท่านั้น จนคุณปรีดาไม่ค่อยแน่ใจว่า เฮ้ย นี่มันใกล้จะจบเรื่องแล้วหรือเนี่ย ทำไมไม่เห็นมีความเคลื่อนไหวของฝ่ายธรรมะเลย

อย่างที่สาม ในส่วนที่เป็นการคลี่คลายปมและบอกแบ็คกราวด์ในอดีตของจอมมารนั้น เรา (คนอ่าน) รู้ได้โดยผ่านทางคำบอกเล่าของศาสตราจารย์ดัมเบิลดอร์ผู้หยั่งรู้เท่านั้น ทำให้เรื่องขาดความหลากหลายเมื่อเทียบกับหลายๆ เล่มที่การคลี่คลายปมต่างๆ ทำได้ประณีตกว่านี้ และมันทำให้ดัมเบิลดอร์กลายเป็นเหมือนยอดนักสืบผู้ยิ่งใหญ่ ถึงแม้หลายๆ เรื่องเขาจะบอกว่าเป็นเพียงการสันนิษฐานของเขา แต่เราก็พร้อมจะเชื่อว่ามันต้องเป็นจริงตามนั้น (และผลที่ตามมาก็คือ คุณปรีดาไม่เข้าใจว่าในเมื่อท่านศาสตราจารย์เชื่อมั่นในการคาดคะเนของตนเองขนาดนั้นแล้ว ทำไมถึงได้จริงจังกับการให้แฮร์รี่ไปสืบเรื่องราวบางอย่าง โดยที่ถึงกับบอกว่าถ้าไม่รู้ปริศนาข้อนั้นแล้วเราจะไปต่อไม่ได้...ก็ในเมื่อดัมเบิลดอร์คาดเดาไว้แล้วไม่ใช่หรือว่ามันน่าจะเป็นอย่างนั้น)

อย่างที่สี่ มุกพ่อแง่แม่งอนระหว่างรอนกับเฮอร์ไมโอนี่ชักจะเฝือเสียแล้ว โชคดีที่คลี่คลายได้ตอนจบ (แต่ไม่รู้ว่าภาคต่อไปทั้งคู่จะกลับมางอนกันอีกหรือเปล่า)

ความรู้สึกของคุณปรีดาเมื่ออ่านจบเล่มนี้แตกต่างจากตอนจบของเล่มสี่และห้า โดยที่เรารู้สึกว่าเมื่ออ่านจบตอนถ้วยอัคนี เราก็ได้เห็นความเคลื่อนไหวของฝ่ายดัมเบิลดอร์ที่เตรียมงัดข้อกับกระทรวงเวทมนตร์ เมื่อจบตอนภาคีนกฟีนิกส์ เราก็รู้สึกว่าการต่อสู้กับจอมมารจะต้องเข้มข้นขึ้น และฝ่ายธรรมะได้วางแผนรับมืออย่างเป็นขบวนการ

ในขณะที่พออ่านจบเล่มนี้กลับไม่มีความรู้สึกที่ว่า เพราะว่าแม้เรื่องจะมีความคืบหน้า (รู้วิธีการกำจัดจอมมาร) แต่คนที่รู้ก็มีแค่แฮร์รี่คนเดียว และ “การจัดทัพ” ที่เคยปูไว้ตั้งแต่สองเล่มที่แล้ว ก็กลับหยุดชะงักและหมดบทบาทไปในเล่มนี้

นี่ทำให้คุณปรีดารู้สึกว่าถ้าเป็นกราฟก็เหมือนกับมันพุ่งขึ้นมาตั้งแต่เล่ม 4 เล่ม 5 และควรจะพุ่งอย่างต่อเนื่องในเล่มนี้ ก่อนที่จะถึงจุดพีคในเล่มจบ แต่นี่กลับกลายเป็นว่ากราฟกลับตกลงในเล่มนี้ (ก็ได้แต่หวังว่ากราฟจะเชิดหัวพุ่งขึ้นได้อย่างสง่างามในเล่มหน้า)

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเล่มนี้ คุณปรีดารู้สึกว่ามีคำถามอยู่หลายข้อซึ่งผู้เขียนต้องหาทางเฉลย บางเรื่องก็เป็นเรื่องเล็กและโรว์ลิ่งคงเฉลยได้ไม่ยาก แต่บางเรื่องก็เป็นเรื่องใหญ่ และคุณปรีดาอยากรู้ว่าผู้เขียนจะหาทางออกยังไง

คำถามเหล่านี้ได้แก่

-บทบาทของภาคีนกฟีนิกส์จะเป็นยังไง? มีบทบาทมากขึ้นหรือว่าเป็นแค่ตัวประกอบให้แฮร์รี่ฉายเดี่ยว?

-ใครจะเป็นครูใหญ่คนต่อไป? มักกอนนากัล? ถ้างั้นใครจะมาดูแลพวกกริฟฟินดอร์แทนล่ะ? แฮกริดหรือ?

-จะมีใครตายอีกบ้าง?

-ได้ข่าวว่าแฮร์รี่จะไม่เรียนที่ฮอกวอตส์แล้ว จริงรึเปล่า?

-บทบาทของรอนและเฮอร์ไมโอนี่ (เอ้อ อาจรวมถึงแม่หนูจินนี่ด้วย) ในการสนับสนุนแฮร์รี่ พวกเขาจะมีโอกาสได้ทำงานเป็นทีมเหมือนตอนที่ร่วมมือกันในภาคแรกหรือเปล่า?

-ความซับซ้อนของแผนการล่ะ? การตามหาที่เก็บวิญญาณอีกตั้งหลายอันจะทำได้ง่ายๆ ภายในเล่มเดียวล่ะหรือ? แล้วโวลเดอมอร์จะปล่อยให้แฮร์รี่(กับพรรคพวก?)ตามหาได้จนครบหรือ?

-ดัมเบิลดอร์จะมีบทบาทอะไรในการช่วยเหลือบ้างไหม? อย่างน้อยก็การปรากฏตัวทางกรอบรูปของอดีตครูใหญ่?

-คุณปรีดาไม่ติดใจเรื่องที่ว่าตกลงแล้วสเนปดีหรือเลวกันแน่ เพราะคุณปรีดาเชื่อมั่นในความคิดของดัมเบิลดอร์ (ก็บอกแล้วว่าเขาเป็นยอดนักสืบผู้หยั่งรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง) แต่ที่อยากรู้ก็คือมีอะไรที่อยู่เบื้องหลังในความสัมพันธ์ของสองคนนี้ที่คนอ่านอย่างเราๆ ยังไม่รู้?

-และที่สำคัญ ร.อ.บ. คือใคร?

เหล่านี้คือตัวอย่างคำถามที่คุณปรีดาอยากรู้ และหวังว่าเจ เค โรว์ลิ่งจะหาคำอธิบายได้อย่างดี และทำให้เรื่องชุดพ่อมดนี้จบได้อย่างงดงาม




 

Create Date : 13 ธันวาคม 2548    
Last Update : 13 ธันวาคม 2548 22:57:30 น.
Counter : 715 Pageviews.  

1  2  3  

Aka Prita
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]






Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add Aka Prita's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.