พ่อกับลูกชาย


ข้อมูลจาก หนังสือรู้จักรู้ใจวัย 13 ถึง 15 ปี ฮอร์โมนร้ายของวัยรุ่น
คุณหมอขา ปรึกษาหน่อยค่ะ
" ลูกชายอายุ 5 ปี บอกกับแม่เสียงหนักแน่นและหลายครั้งว่าโตขึ้นจะกินเหล้า จะสูบบุหรี่เหมือนพ่อ โตขึ้นลูกจะเป็นอย่างพ่อจริงๆ ไหม พฤติกรรมของพ่อตอนนี้จะฝังใจลูกไปจนโตไหมคะ "
คำถามนี้เกิดขึ้นเมื่อ 10 ปีก่อน จำได้แม่นว่า คุณหมอวัณเพ็ญ บุญประกอบ กรุณาคลายความ 'เว่อร์' ของคำถามให้ท่านว่าไม่ต้องห่วงหรอกหนู วัยนี้เขากำลังมีการเลียนแบบสูง พ่อกำลังเป็นฮีโร่สำหรับลูกชาย บอกกับเขาว่าอะไรถูกอะไรควร เขาจะแยกแยะออกเองว่าอะไรที่ควรหรือไม่ควรเลียนแบบ
เวลานี้เจ้าตัวต้นตอของคำถาม อายุครบ 15 ไปหยกๆ กำลังแยกไม่ออกจากฟอร์มของพ่อ ซึ่งก็คงจะเลียนแบบกันมานาน ลงพุง เข้าห้องน้ำนาน 45 นาทีเป๊ะ หล่อไม่เสร็จ มีโลกของตนเองที่จะอยู่ด้วยตัวคนเดียวโดยไม่พูดไม่จาได้เป็นครึ่งค่อนวันทำหูทวนลมได้เก่งนักเมื่อถูกบ่น และที่สำคัญกินเหล้าก็เป็น สูบบุหรี่ก็ได้แล้ว
นั่นคือฟอร์มของพ่อ ซึ่งออกจะขัดใจแม่อยู่บ้าง แต่ก็มีหลายอย่างละที่ยอมรับว่าเป็นเพราะพ่อนั่นแหละที่หล่อหลอม
ลูกผู้ชายต้องช่วยตัวเอง
เริ่มจากซักกางเกงใน เพราะบ้านเราเป็นครอบครัวใหญ่ มีตา ยาย ปู่ย่า พี่เลี้ยงคอยปรนนิบัติ คุณหนูจึงไม่ต้องหยิบจับทำอะไร แต่สิ่งหนึ่งที่พ่อประกาศิตไว้ก็คือ ลูกชายของบ้านต้องซักกางเกงในเอง แล้วก็เริ่มให้ซักจริงเมื่อกล้ามเนื้อมือเริ่มแข็งแรงตอน 5 ปีนั่นแหละ สูตรของพ่อก็คือให้ซักด้วยสบู่ลักซ์สีขาว เพราะจะได้ล้างออกง่ายแม้ไม่หมด ก็ไม่ระคายเคืองผิวก้น ในระยะแรก พ่อทำการตรวจสอบตะกร้าผ้าเองว่าลูกชายแอบเอามาหมกไว้หรือไม่ ส่วนแม่มีหน้าที่ดูความเรียบร้อยให้ทั้งพ่อและลูก เก็บเอากางเกงในที่ลูกซักขึ้นราว มีเศษสบู่ติดเป็นปื้นตามตะเข็บไปซักให้สะอาดเอี่ยมอีกครั้ง
ขึ้นรถเมล์ไปโรงเรียน พ่อมีความคิดว่า ลูกผู้ชายที่แท้จะต้องไม่ให้แม่ขับรถไปส่งหรือนั่งรถโรงเรียนเบียดกับเด็กเล็กๆ เพราะฉะนั้นขึ้น ป.4 ปุ๊บ พ่อก็ให้หัดขึ้นรถเมล์ โดยไม่ฟังเสียงทัดทานของแม่ว่าขึ้นรถ 3 ต่อนะพ่อ มีความอยากเป็นอันมาก เพราะนับว่าเป็นความเท่อย่างหนึ่ง ด้วยเหตุฉะนี้ที่แม่ทำได้ก็คือ นั่งรถเมล์ไปกับลูกด้วยในวันแรกๆ และวันต่อมาให้พี่เลี้ยงช่วยสะกดรอยตามว่าขึ้นถูกสายลงถูกป้าย ข้ามถนนด้วยสะพานลอยหรือเปล่า
อยากได้ต้องไขว่คว้า ข้อนี้ไม่รู้ว่าเป็นความขี้เกียจของพ่อเองหรือเปล่า จำได้ว่าตั้งแต่ลูกอยู่ชั้น ป.5 นั่นแหละที่หากลูกคิดอยากจะไปสมัครเรียนเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นวาดรูป ดนตรีหรือกวดวิชา จนกระทั่งหาที่เรียนใหม่เมื่อลูกไม่สามารถต่อมัธยม 4 ที่โรงเรียนได้ พ่อก็จะบอกให้ลูกไปเองด้วยเหตุผลว่า ต้องไขว่คว้าหาเอาเอง สมัยพ่อ พ่อก็ทำทุกอย่างเองมาแล้ว ดังนั้นพ่อจึงบอกสายรถเมล์ให้ แล้วให้ลูกเป็นผู้ไปสอบถามระเบียบการขอสมัครเรียน แล้วพกเงินค่าเรียนเข้าไปจ่ายเอง แรกๆ เงินของลูกก็หยิบยากหน่อย เพราะแม่มัดหนังยางกลัดเข็มกลัดไว้ให้แน่นหนา แต่เดี๋ยวนี้ลูกจะหยิบกระเป๋าเงินออกมาอย่างรวดเร็วและภาคภูมิ "พ่อให้ผมมาสมัครเองครับ" ดีนะที่เงินไม่เคยหาย
ลูกผู้ชายต้องเข้าให้ถึงความเป็นชาย
ต้องเป็นสุภาพบุรุษ ข้อนี้ทุกคนในบ้านล้วนสรรเสริญโดยเฉพาะแม่ แต่พ่อน่าจะยิ่งกว่าเพราะภาระของการแบกหามใช้แรงซ่อมแซมล้วนตกอยู่กับลูกชายเพียงผู้เดียวนับตั้งแต่เสียงเริ่มแตก ขนหน้าแข้งเริ่มขึ้นเป็นต้นมา นั่นเพราะต้องยุดคติประจำใจของพ่อที่ว่าธรรมชาติให้ความแข็งแรงแก่เพศชาย เพื่อช่วยเหลือเพศหญิง และธรรมชาติให้ความอ่อนแอแก่เพศหญิงเพื่อฝ่ายชายจะได้มีความรู้สึกเหนือกว่าในบางครั้ง (ท่อนหลังนี่คือคติของแม่เอง)
ต้องลอง ที่มาแห่งความคิดพ่อดูจะแปลกๆ เพราะเหตุผลของการให้ลองทำ หรือเรียนรู้สิ่งต่างๆ ของพ่อคือ จะได้ไม่อายเขา จะได้เอาไปคุยได้ แต่ทั้งหมดอยู่ภายใต้การควบคุมของพ่อ (ลับหลังแม่) เช่น ลองกินเหล้ากับพ่อ ไปผับด้วยกัน ไปกินบุฟเฟ่หรูในโรงแรม ไปเที่ยวต่างประเทศ ส่วนเรื่องที่อันตรายเกินกว่าจะลองนั้นจะได้ยินพ่อสืบความอยู่เป็นระยะๆ เช่น "เคยมีเพื่อนเอายาบ้ามาขายไหม" "เคยมีใครให้ลองสูบเฮโรอีนหรือยัง" คำตอบก็คือ "ที่โรงเรียนมีเยอะแยะพ่อ แต่ก็หลบๆ เอา ไม่เดินไปแถวนั้น ไม่รู้จะลองไปทำไมน่ะพ่อ"
ต้องลุย พ่อเขาภูมิใจนักหนาเมื่อมาแอบเล่าให้แม่ฟังว่า "สังเกตไหมวันนี้เจ้าลูกชายขรึมๆ ไป มันไปชกกับเพื่อนมา นัดกันหลังโรงเรียนตัวต่อตัว มันกำถ่านไฟฉายไปด้วย ผมเคยเล่าให้ฟังเองแหละว่าตอนผมไปชกกับเพื่อน ผมกำถ่านไฟฉายไปชก มันเลยทำตาม ต้องให้ได้อย่างนี้สิ" แม่ยังไม่ทันจะอ้าปากเสียงก็ดังต่ออย่างรู้ทัน "อย่าไปว่าอะไรนะคุณ มันเป็นกติกาของลูกผู้ชาย มันต้องลุยอย่างนี้แหละ"
ความ 'ต้องลุย' ที่พ่อสนับสนุนลูกชายใช่พียงการประหมัดกับเพื่อน แต่หมายถึงการหัดให้ทำงาน งานใช้แรงงานด้วย งานที่ว่านี้คือ งานใช้แรงงานโดยแท้ เพราะต้องยก ต้องแบกหนังสือในโกดัง พ่อให้ไปรับจ้างทำเป็นรายวันตอนปิดเทอม และทำติดต่อกันมาตั้งแต่อายุ 10 ปีจนถึง 15 ปี มีพ่อคอยทำหน้าที่ผู้ตรวจสอบการปฏิบัติของลูกอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง โดยการโทรศัพท์ไปถามหัวหน้างานของลูกอย่างสม่ำเสมอ "ลุยไหมครับ ทำงานเอาจริงเอาจังหรือเปล่า"
ผลพวงของงานนี้ก็คือ มีเงินเก็บเป็นหลักหมื่นให้พ่อยืม (แต่ต้องรีบใช้คืนโดยเร็ว) รู้ค่าของเงิน ชนิดไม่ยอมออกไปหาซื้อข้าวของเครื่องใช้ด้วยตัวเองหรือกับเพื่อนอีกต่อไป แต่ว่าจะไปกับพ่อแม่เท่านั้น และเมื่อเจอของถูกใจจะใช้คำพูดว่า "ไม่เป็นไร ไว้เทอมหน้าทำงานอีกทีค่อยมาซื้อ" มีหรือที่พ่อจะทนได้ ต้องรีบโอบไหล่ลูกชาย แล้วรีบพาไปซื้อให้โดยพลัน
รับผิดชอบในเรื่องเพศ เรื่องนี้ต้องยกให้พ่อและแม่ก็ขอคารวะพ่อที่รับภารกิจนี้ไปคุยกับลูกแต่เพียงผู้เดียว เพราะความเป็นผู้หญิงของแม่ทำให้รู้สึกกระดากถ้าจะไปคุยกับลูกชาย
พ่อลูกเขาคุยกันเรื่องนี้อยู่บ่อยๆ ทั้งต่อหน้าและลับหลังแม่ แต่บทสรุปที่เจ้าลูกชายมาคุยให้ฟังก็คือ พ่อบอกว่า
" ทำอะไรต้องรับผิดชอบ ถ้ายังรับผิดชอบไม่ได้ยังไม่ให้ทำ เช่น ถ้ามีแฟน จะรับผิดชอบ จะดูแลจะปกป้องเขาได้ไหม จะรับผิดชอบตัวเองได้ไหมในเรื่องเรียน ข้อนี้ไม่ได้หรอกแม่ เพราะเรียนหนังสือไม่ดี มีแฟนจะยิ่งหนักเขาไปใหญ่ และถ้ามีแฟนจะไปทำเขาท้องไม่ได้ ถือว่าเป็นความไม่รับผิดชอบเป็นอย่างยิ่ง แต่พ่อก็คุยเรื่องถุงยางไว้ด้วยนะแม่ "
พ่อกับลูกชายเขาอยู่กันได้ คุยกันได้ดี และลูกก็ไม่ได้ทำอะไรให้แม่หนักใจ ทั้งๆ ที่อยู่ในระยะวัยรุ่น นึกขอบคุณสวรรค์ที่มีพ่อเอาไว้ให้ลูกชายยึดถือเลียนแบบพูดคุย และนึกไม่ออกเหมือนกันว่าถ้าไม่มีพ่อ หรือมีพ่อแต่พ่อไม่ได้ถ่ายทอดความคิดการกระทำที่ดีแก่ลูกชาย ป่านนี้เขาจะเป็นอย่างไร เพราะเขาเคยมาพูดให้ฟังบ่อยๆ ว่า
" แม่ ดวงลูกนี้ไม่รู้เป็นไง ตุ๊ดชอบมาป้วนเปี้ยน ไม่รู้จะชวนเข้าพวกหรือจะมาจีบ ทำไงดีล่ะ วิ่งหนีเหมือนพ่อ แบบที่พ่อเลยเล่าให้ฟังดีไหมแม่ "
ทอฝัน



Create Date : 27 มิถุนายน 2554
Last Update : 27 มิถุนายน 2554 22:05:18 น.
Counter : 628 Pageviews.

0 comment
ในความเป็น "พ่อ" ของบุรุษเพศ

โดย Health4thai.com
"ผู้ชาย" ที่มีบุคลิกเข้มแข็ง อดทน หนักแน่นมั่นคงในอารมณ์สูง อย่างที่เราเห็นว่าควรจะเป็นเสาหลักรับผิดชอบหาเลี้ยงครอบครัวและตัดสินใจทำในเรื่องใหญ่ ๆ เท่านั้น วันนี้เขาเปิดใจและยอมรับในสิทธิความเป็นมนุษย์มากขึ้น (ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ หมวดที่ 2 มาตราที่ 30 ว่าด้วยบุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน ฯลฯ)

การเลี้ยงดูบุตนของผู้หญิงนั้นดูเหมือนจะเป็นเรื่องสามัญที่เรารู้กันตลอดเวลาว่านั่นคือ "สัญชาตญาณความเป็นแม่" ซึ่งส่งผ่านให้เห็นกันอย่างตรงไปตรงมาด้วยการให้ที่พักพิงอันแสนอบอุ่นปลอดภัย, ให้กำเนิด, ให้อาหารอันโอชะ, ให้ความรักและการดูแลเอาใจใส่ และให้ฯลฯ เพื่อการเจริญเติบโตของชีวิตน้อย ๆ นี้

สำหรับผู้เป็นพ่อแล้วดูเหมือนว่ามีโอกาสน้อยกว่าผู้เป็นแม่อยู่นิด ด้วยข้อจำกัดทางสรีระ อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะทำไม่ได้เท่า "แม่" แต่ "พ่อ" ก็มีวิธีการดูแลบุตรในแบบเฉพาะของความเป็นบุรุษเพศด้วยการส่งผ่านความรักของเขาให้แก่ภรรยา เพื่อส่งผ่านสิ่งดี ๆ เหล่านี้สู่ลูกอีกทอดหนึ่ง
"ความรัก" ปฐมบทแรกแห่งการเป็น "พ่อ"

ช่วงเวลาครั้งสำคัญในชีวิตของผู้ชายสมัยก่อน เท่าที่ทราบกันก็คือการพลีชีพเพื่อชาติหรือไปรบ ส่วนผู้หญิงก็คือการตั้งครรภ์ เหตุการณ์สองอย่างนี้มีสิ่งหนึ่งซึ่งเหมือนกันก็คือ "ความเสี่ยง" ปัจจุบันผู้ชายสามารถเลี่ยงการไปรบได้หลายทางเช่น เรียนหลักสูตรรักษาดินแดนหรือจับใบดำใบแดง แต่สำหรับผู้หญิงแล้วไม่ว่าเวลาจะล่วงเลยมากี่ยุคสมัย ผู้หญิงก็ยังคงเป็นเพศที่เหมาะสมแก่การให้กำเนิดอยู่ดี เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วควรหรือไม่เล่าที่ผู้ชายจะยื่นมือเข้ามาช่วยแบ่งเบาความรู้สึกเสี่ยงจากการตั้งครรภ์ให้แก่เธอด้วย "ความรัก" ของเขา

"ความรัก" ปฐมบทแรกแห่งการเป็นสามี เป็นภรรยาเป็นพ่อเป็นแม่ และเป็นหลายสิ่งหลาย อย่างในชีวิตเมื่อภรรยาตั้งครรภ์คุณผู้ชายทั้งหลายสามารถช่วยแบ่งเบาภาระที่แสนยิ่งใหญ่นี้ได้ไม่ยาก หากความรักที่เคยมีให้กันยังคงอยู่ที่กล่าวเช่นนี้ก็เพราะว่าภาวะอารมณ์ของผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์นั้นไม่สู้จะคงที่นัก ผู้ชายต้องเข้าใจธรรมชาติข้อนี้ และใช้ความอดทนควบคู่กัน ซึ่งผู้ชายต้องเข้าใจธรรมชาติข้อนี้และใช้ความอดทนควบคู่กัน ซึ่งผู้ชายจะทำทั้งสองสิ่งนี้ได้ด้วยดีก็ต่อเมื่อเขายังมีความรักที่เต็มเปี่ยมดังที่กล่าวมาแล้ว
วิธีสร้างความสบายกายใจให้ภรรยายามตั้งครรภ์
* เติมเวลาของคุณให้เต็มในส่วนที่เคยขาดหายไปแก่ภรรยา
ความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ นานาภายในร่างกายของผู้หญิงยามตั้งครรภ์ ไม่ว่าจะเป็นความไม่สบาย กาย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย หรือความไม่สบายใจจากความกังวลเกี่ยวกับรูปร่างที่เปลี่ยนไปความกลัวสามีเบื่อหน่าย กลังลูกในท้องไม่สมบูรณ์ สิ่งเหล่านี้คอยบั่นทอนความเป็นตัวของเธอลง ขณะเดียวกันมันกลับเพิ่มความรู้สึกโหยหาไออุ่นจากตัวคุณมากขึ้นด้วย

สิ่งที่สามีพึงกระทำ ณ เวลานี้คือดูแลเอาใจใส่ แสดงความห่วงใยด้วยการไถ่ถามความรู้สึกทั้งกายและใจ เช่น หาของขัวญชิ้นพิเศษให้แก่เธอในวาระพิเศษเช่นนี้และบอกให้เธอรู้ว่าคุณจะอยู่เคียงข้างเธอเสมอ หมั่นหากิจกรรมที่เธอชอบทำ เช่น ฟังเพลง อ่านหนังสือ ไปเที่ยวตามแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ ช่วยผ่อนคลายและลดอาการไม่สบายตัวให้ภรรยาด้วยการนวด และฝึกบริหารร่างกายเพื่อเตรียมคลอดให้แก่ภรรยาก็ได้ เมื่อภรรยาเจ็บป่วยก็ควรรีบพาไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษา
*สรรหาอาหารที่มีประโยชน์

แน่นอนว่าเมื่อมีสองคนในร่างเดียวความต้องการอาหารย่อมต้องมีมากขึ้นเป็นสองเท่าแต่อุปสรรค ก็ อาการแพ้ท้องทำให้ภรรยารับประทานอาหารได้ไม่มากเมื่อเป็นเช่นนี้สามีจะต้องศึกษาหาความรู้ว่าจะช่วยให้ภรรยาทานอาหารได้อย่างไรบ้าง เช่น เตรียมอาหารว่างอย่าง ขนมปังไว้รองท้อง หรือ นมอุ่น ๆ ก่อนเข้านอนเป็นต้น เมื่อผ่านพ้นช่วงแพ้ท้องแล้ว คราวนี้ก็เป็นโอกาสอันดีที่จะบำรุงทั้งแม่และลูก อาหารที่เตรียมให้รับประทานก็ควรจะให้ครบทั้ง 5 หมู่ แต่ควรลดปริมาณไขมันลงเพราะจะทำให้ภรรยาท้องอืดได้ง่าย ๆ
* ช่วยดูแลงานบ้านตามสมควร

การจะให้ภรรยาซึ่งท้องโตขนาดนั้น ก้ม ๆ เงย ๆ กวาดบ้าน ถูบ้าน ซักผ้า คงเป็นภาพที่ไม่น่ามองเท่าไรนัก คุณควรแบ่งเบาภาระต่าง ๆ นี้ตลอดช่วงเวลาที่ภรรยาตั้งครรภ์ (หากมีแม่บ้านคอยดูแลอยู่อยู่แล้วก็ไม่เป็นไร) เพราะภรรยาของคุณต้องการพักผ่อนมาก ๆ อย่างน้อย ๆ 9-10 ชั่วโมงต่อวัน

นอกจากนี้ เมื่อถึงเวลาใกล้คลอดคุณควรจัดเตรียมสิ่งของจำเป็นที่ภรรยาและลูกต้องใช้ เช่น เสื้อผ้ารองเท้า ผ้าอ้อม และเครื่องใช้เด็กอ่อน ให้พร้อม

เมื่อผ่านพ้นช่วงเวลาแห่งการรอคอยมาแล้วบทบาทใหม่ของคุณผู้ชายซึ่งขณะนี้ได้ชื่อว่าเป็น "พ่อ" อย่างเต็มภาคภูมิแล้ว ก็คือ การช่วยคุณแม่เลี้ยงดูเชื้อเพราะหน่อของคุณด้วยการ
* เตรียมความพร้อมทางด้านปัจจัย 4

อาหาร โดยการส่งเสริมให้ภรรยาเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมจากอก และเตรียมอาหารเสริมให้แก่ลูกเมื่อถึงวัย ที่เหมาะสม (4 เดือนขึ้นไป)

ที่อยู่อาศัย โดยการจัดสภาพแวดล้อมในบ้าน และในห้องนอนให้เป็นสัดส่วน และถูกสุขลักษณะ อากาศถ่ายเทสะดวก

เสื้อผ้า เลือกดูให้เหมาะสมกับวัย และสภาพอากาศสำหรับเมืองไทยอากาศค่อนข้างร้อน ควรเลือกเสื้อผ้าที่ทำจาก ผ้าฝ้าย ผ้าสำลี และไม่ควรมีกระดุม ส่วนผ้าอ้อมควรเป็นผ้าบางเบา ซับน้ำไม่ดี ขนาดพอเหมาะ ทำความสะอาดง่าย

ยารักษาโรค ในที่นี้หมายถึง ยาทางกายและยาทางใจ

ยาทางกาย คือคุณพ่อต้องหมั่นศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับการป้องกันโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ และพาลูกไปฉีดวัคซีนให้ครบตามที่แพทย์สั่ง หรือหากลูกมีอาการเจ็บป่วยเล็ก ๆ น้อย ๆ พ่อแม่ก็ต้องรู้วิธีที่จะช่วยบรรเทาความเจ็บป่วยนั้นด้วย แต่ถ้าเป็นความเจ็บป่วยที่เกินความสามารถก็ควรรีบพาลูกไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาอย่างถูกวิธี

ยาทางใจ การให้ความรักความอบอุ่นแก่ลูกด้วยการสัมผัส พูดคุย โอบกอด และอยู่ใกล้ชิด ช่วยเหลือเลี้ยงดู?

สำหรับคุณพ่อที่ต้องออกไปทำงานทุกวัน ควรหาเวลาสักเล็กน้อยช่วงก่อนไปทำงานและหลังเลิกงานเพื่อสัมผัสเขา ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุย หยอกล้อ อุ้ม โอบกอดซึ่งเป็นการตอบสนองทางร่างกายและจิตใจของเจ้าตัวเล็กเช่นกัน ในช่วงกลางคืนที่ลูกต้องตื่นมาทานนม หรือร้องกวนบ่อย ๆ คุณก็ต้องอยู่ให้กำลังใจภรรยาด้วย แม้จะไม่สามารถให้นมเองได้ ก็ช่วยหยิบจับเตรียมโน่นนี่ให้ภรรยาบ้าง (อย่าปล่อยให้เธอต้องรู้สึกโดดเดี่ยวกับการเลี้ยงลูกเลย) สำหรับช่วงเสาร์อาทิตย์ที่คุณพอจะมีเวลาอยู่กับบ้าน ก็ช่วยอาบน้ำ ทำความสะอาดร่างกายเปลี่ยนผ้าอ้อม เพื่อที่ภรรยาจะได้มีเวลาพักผ่อนเพิ่มขึ้น

* การให้การศึกษาที่เหมาะสมแก่ลูก

การศึกษาในที่นี้หมายถึง การส่งเสริมทางด้านพัฒนาการต่าง ๆ เพื่อให้ลูกได้เกิดการเรียนรู้อย่างที่ถูกที่ควรให้โอกาสในการพัฒนาศักยภาพของลูก และพึงเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ลูกเช่นกัน คุณพ่อต้องช่วยคุณแม่หมั่นสังเกตพัฒนาการเจ้าตัวเล็กว่า เป็นไปตามลำดับขั้นหรือไม่ทั้งทางร่างกาย สังคม อารมณ์ และสติปัญญา หากมีสัญญาณเตือนว่าลูกอาจมีความผิดปกติทางด้านพัฒนาการก็ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อหาทางแก้ไขได้ทันท่วงที

* ปกป้องคุ้มครองภัย

ปกป้องทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยคุณพ่อควรจะมีความรู้ในเรื่องอุบัติเหตุ เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นกับเจ้าตัวเล็กได้ และควรรู้วิธีป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุขึ้น เช่นการจัดสภาพแวดล้อมภายในบ้านให้ปลอดภัย เก็บข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ให้เรียบร้อยและถ้าหากเกิดอุบัติเหตุขึ้นมาก็ควรจะรู้วิธีการรักษาหรือปฐมพยาบาลได้
--------------------------------------------------------------------------------






Create Date : 27 มิถุนายน 2554
Last Update : 27 มิถุนายน 2554 22:04:42 น.
Counter : 405 Pageviews.

0 comment
เทคนิคการเป็นพ่อที่ดีของลูกสาว

ข้อมูลจากนิตยสารแม่และเด็ก
โดย รศ.สุพัตรา สุภาพ
--------------------------------------------------------------------------------
การเป็นพ่อไม่ใช่ของง่าย เพราะต้องมีหลักสังคมวิทยาและจิตวิทยาในการเข้าใจลูก ถ้าไม่อยากให้ลูกรักมีอันเป็นไปโดยเฉพาะลูกสาว เนื่องจากจะมีพฤติกรรมที่ผิดปกติได้
ดร.จูดิธ ล็อก (Dr. Judith Logue) นักจิตวิทยาจากพรินส์ตันให้ข้อคิดว่า
ถ้าพ่อว่าลูกสาวหรือตำหนิติเตียนหรือควบคุมลูกสาวมากเกินไป ลูกสาวอาจจะหาทางออกด้วยการกินเป็นหลัก เข้าทำนองกินทุกอย่างที่ขวางหน้า หรืออาจจะอาเจียนอยู่เรื่อย หรือกินอาหารไม่ได้อยู่ตลอดเวลา
หรือพ่อบางคนทำให้ลูกกลัวตั้งแต่เด็ก เช่นตีและเตะแม่ แกเห็นก็จะกลัวและอาจร้องโหยหวน ผลคือ พ่อหันมาดุหรือใส่อารมณ์ หรือตีแกอีกคน ทำให้แกหวาดกลัวมากขึ้น ด้วยเหตุนี้มีเด็กไม่น้อยที่กลัวพ่อและไม่กล้าเข้าใกล้พอเห็นพ่อทำร้ายแม่ด้วยคำพูดหรือการกระทำมากๆ เข้าก็จะเกิดความรู้สึกว่าพ่อน่ากลัว แม่น่าสงสาร
ลูกสาวที่สงสารแม่มาก ๆ เข้าจะเข้าข้างเพศเดียวกันทำให้เกลียดเพศตรงข้ามโดยไม่รู้ตัว เข้าทำนองชอบแต่ผู้หญิง บางคนอาจกลายเป็นพวกชอบไม้ป่าเดียวกัน การเป็นพ่อที่ดีจึงมีส่วนสำคัญต่อการสร้างพัฒนาการของลูกสาวไม่ว่าในด้านจิตใจหรือร่างกาย ถ้าลูกไม่พอใจพ่อแล้วแสดงออกมาในรูปแค่อาเจียน เบื่ออาหาร กินไม่ได้ นอนไม่หลับ ก็ยังพอจะแก้ไขได้ หากลูกสาวได้พ่อไม่ถูกใจ จนลูกเปลี่ยนแปลงเพศไปในทางที่ไม่ถูกไม่ควร พ่อแม่จะหนักใจ
การเป็นพ่อที่ดีควรเป็นตั้งแต่ลูกยังเล็ก โดยเฉพาะช่วง 1-3 ขวบ ช่วงนี้มีความสำคัญมากในด้านความรัก ความอบอุ่น
ช่วงถัดมาคือ 3-5 ขวบ เพราะกำลังเรียนรู้
ช่วง 5-8 ขวบ กำลังปรับเพศ ยิ่งวัยรุ่นยิ่งต้องการพ่อมาก วัยรุ่นเริ่มตั้งแต่ 10 ขวบ
10-15 ปี วัยรุ่นตอนต้น
15-20 วัยรุ่นตอนกลาง
20-25 ปี วัยรุ่นตอนปลาย
ซึ่งในแต่ละช่วงนับว่ามีความหมายต่อลูกสาวเป็นอย่างยิ่ง
อย่างไรก็ตาม พ่อที่ดีต้องปฏิบัติหรือเลี้ยงดูลูกให้ดีแต่เกิด ยิ่งลูกสาวเริ่มรู้เรื่องมากขึ้นเท่าไรพ่อยิ่งต้องทำตัวให้ลูกไว้วางใจ เชื่อมั่น และรักใคร่มากขึ้นเท่านั้น ยิ่งเล็กเท่าไรยิ่งต้องใส่ใจ เพราะเป็นช่วงสำคัญของการพัฒนาอารมณ์และทางกายที่จะอยู่กับตัวแกทั้งในและนอกบ้าน
ดร.ล็อก ให้ข้อคิดสำหรับการเป็นพ่อที่ดีกับลูกสาวตัวน้อยๆ หรือตัวใหญ่ว่า
ให้ลูกเชื่อมั่นตัวเอง
เป็นการเชื่อมั่นในด้านสติปัญญา เช่น ชมว่าแกเก่งถ้าแกทำอะไรได้ดี แม้แกทำผิดก็ไม่ว่ากล่าว เพียงแต่ให้แกรู้จักคิดว่าผิดพลาดไปเพราะอะไร แล้วพยายามจำไว้และทำให้ถูกต้องในโอกาสต่อไป
ด้านบุคลิกภาพ ก็อย่าไปตำหนิว่าแกเตี้ย ดำ หรือไม่สวย พยายามหาจุดดีของลูกสาวมาให้กำลังใจ เช่น ลูกยิ้มสวย พูดจาดี มีน้ำใจ เป็นต้น
ด้านความสามารถเราส่งเสริมได้ถ้าแกทำอะไรได้ดีไม่ว่าจะเป็นเพียงเรื่องเล็กน้อย เพื่อลูกสาวจะได้เชื่อมั่นว่าแกมีความสามารถ ไม่ว่าลูกสาวตัวน้อยๆ จะถือแก้วน้ำหกไปบ้าง ก็ให้บอกว่าแกเก่งแล้วที่ถือแก้วน้ำได้ ดื่มนมเองได้
อย่าลืมว่า น้ำหกหรือนมหกเราเช็ดได้ แต่ถ้าทำร้ายจิตใจเด็ก เด็กจะลบจากใจยาก
ให้ช่วยตัวเอง
เด็กที่ทำอะไรด้วยตัวเองได้มักจะอยากได้กำลังใจ โดยเฉพาะลูกสาวของเราเอง ถ้าเราไม่ให้กำลังใจลูกสาวก็คงทำได้แต่จะทำแบบว้าเหว่ใจ ฉะนั้นไม่ว่าลูกจะใส่เสื้อผิดก็ต้องชมว่าแกใส่เสื้อเองได้เพียงแต่บอกว่าลูกอาจไม่ทันดู แล้วช่วยแกกลับเสื้อหรือกลัดกระดุมให้ถูกต้อง
รับฟัง
เป็นศิลปะการฟังที่ต้องใช้ทักษะพอควร ไม่ใช่ฟังแบบเข้าหูซ้ายย้ายไปหูขวา แต่เป็นการฟังอย่างตั้งอกตั้งใจ ไม่ว่าลูกสาวจะพูดอะไร ได้เรื่องหรือไม่ได้เรื่องบ้างก็อย่าแสดงอาการเบื่อหน่าย เพราะลูกจะเซ็งเอาง่ายๆ เป็นการฟังแบบพยักหน้ายิ้มให้บ้าง ไม่ใช่ฟังแบบรูดซิบเฉยเมย จนลูกอาจจะถามได้ว่า "พ่อยังมีชีวิตอยู่ไหม"
ให้ของขวัญบ้าง
ไม่จำเป็นต้องหรูหราราคาแพง แต่เป็นอะไรก็ได้ที่แสดงว่า พ่อมีน้ำใจต่อลูกสาวตัวน้อยของพ่อ เช่น ให้ตุ๊กตา ให้ขนม คุกกี้ กิ๊บติดผม ให้เสื้อผ้า ฯลฯ แต่ไม่ควรให้พร่ำเพรื่อจนลูกติดเป็นนิสัย ถึงเวลาก็อยากได้ ถ้าไม่ให้ก็อาละวาดให้พ่อได้ตกใจเป็นของชำร่วย
พาไปเที่ยวบ้าง
เช่น ไปสวนสาธารณะ สวนสัตว์ (ต้องเกินกว่า 2 ขวบ) ปิกนิก ศูนย์การค้า หรือต่างจังหวัด เป็นต้น ลูกสาวจะได้มีโอกาสไปเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ นอกบ้าน
ปลอบจิตลูกยามมีปัญหา
ไม่ว่าปัญหานั้นจะเล็กน้อยสำหรับพ่อ เช่น แขนเสื้อตุ๊กตาขาด แต่ในความรู้สึกของลูกสาวเป็นเรื่องใหญ่ ก็อาจจะปลอบว่าไม่เป็นไร ให้แม่เย็บให้ได้ หรือถ้าพ่อเย็บเสื้อได้ก็ทำไป หรือลูกถูกรังแกมา อย่าซ้ำเติมหาว่าลูกสู้ใครไม่ได้ พ่ออาจจะปลอบและสอนลูกให้รู้จักป้องกันตัวเอง เช่น ไม่เข้าใกล้คนที่ชอบรังแก ถ้าเขารังแกก็ให้บอกคุณครู แต่ลูกต้องไม่ไปพูดอะไรหรือทำอะไรให้เขาโกรธจนเขารังแกเอาได้
ถ้าลูกทำการบ้านไม่ได้ จนนั่งร้องไห้ ก็ต้องถามว่า ติดขัดตรงไหน แล้วพยายามอธิบายให้เข้าใจ ถ้าทำได้ หากสอนการบ้านลูกไม่ได้ คงต้องปรึกษาคุณครูหรือโทรศัพท์ไปถามเพื่อนหรือผู้ปกครองคนอื่นๆ ที่รู้จัก เพื่อจะได้ช่วยลูกสาวสุดที่รักให้พอมีทางออกได้บ้าง ดีกว่าปล่อยให้ลูกนั่งกลัวว่าการบ้านไม่เสร็จแล้วพรุ่งนี้คุณครูจะตีเอา
ให้ความรัก ความอบอุ่น
สปิทซ์ (Spitz) นักสังคมวิทยากล่าวว่า
"ความรักความอบอุ่นเป็นพื้นฐานสำคัญของการเจริญเติบโตของเด็ก"
ลูกสาวต้องการอ้อมกอดของพ่อเพื่อให้แกมั่นใจได้ว่าแกจะสามารถยืนหยัดต่อไปได้ แต่ความรักอย่างเดียวคงไม่ทำให้ลูกสาวเจริญเติบโตได้ดี ต้องมีความเอาใจใส่ในทางที่ถูกที่ควร โดยพ่อต้องเป็นแบบอย่างที่ดีของลูกในด้านความคิดและการกระทำ
พ่อที่ดีจึงต้องมีคุณธรรม มีระเบียบวินัย ไม่ทำตัวเหลวไหล ไม่ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ เล่นการพนัน แต่เป็นพ่อที่แสนดีของลูกสาวตัวน้อยๆ ที่เกิดมาก็เห็นพ่อที่หนูน้อยรักใคร่ เป็นพ่อที่ให้ลูกสาวเสมอตั้งแต่จำความได้
ให้ความรักแบบหมดใจ ให้ความเอาใจใส่ด้วยหัวใจให้เหตุและผลในการเป็นลูกสาวที่ดี ให้ชีวิตไม่ว่าลูกรักจะอยู่ตรงไหน ให้ลูกได้รู้ว่าพ่อจะเป็นพ่อที่ดีของลูกสาวตลอดไป ไม่ว่าลูกรักจะเล็กหรือเติบใหญ่แค่ไหน เพราะพ่อคือพ่อของลูก ไม่ว่าพ่อจะมีชีวิตอยู่หรือตายจากลูกไปลูกจะอยู่ในดวงใจของพ่อตราบชั่วฟ้าดินสลาย







Create Date : 27 มิถุนายน 2554
Last Update : 27 มิถุนายน 2554 22:04:17 น.
Counter : 480 Pageviews.

0 comment
คุณเป็น "พ่อ" ที่ดีหรือไม่


ข้อมูลจาก หนังสือบันทึกคุณแม่
โดย : อธิษฐาน พูลศิลป์ศักดิ์กุล
แบบทดสอบความเข้าใจที่ได้เสนอมาส่วนใหญ่มักจะเน้นไปทางคุณแม่ ฉบับนี้ถือเป็นโอกาสอันดี ที่เราจะนำเสนอคอลัมน์ให้กับคุณพ่อได้ร่วมสนุกบ้างแบบทดสอบนี้ถ้าคุณพ่อได้อ่านและทดสอบดู คิดว่าต้องได้คะแนนดีเป็นส่วนใหญ่แน่นอน ทั้งนี้เพราะคุณพ่อที่อ่านนิตยสารบันทึกคุณแม่ ล้วนเป็นที่ใส่ใจดูแลอย่างใกล้ชิดแน่ๆ เลย ใช่ไหมค่ะ ฉะนั้นอย่ารีรอ ลองทบทวนความเข้าใจของคุณกันค่ะ
คำถาม
1. ความหมายคำว่าพ่อของคุณคือ ผู้ดูแลหาเลี้ยงครอบครัว
2. บทบาทของพ่อที่มีต่อลูกเริ่มขึ้นตั้งแต่ลูกเกิด
3. การที่พ่อแสดงความรักต่อลูกและใช้เวลาอยู่กับลูกมากเท่าไร จะทำให้ลูกรู้สึกมั่นคงปลอดภัยมากขึ้นเท่านั้น
4. ถ้าแม่เลี้ยงลูกคนเดียว เด็กจะมีการรับรู้ที่จำกัดกว่าที่มีพร้อมทั้งพ่อและแม่
5. เด็กที่มีพ่อช่วยเลี้ยงยามแบเบาะจะมีผลต่อพัฒนาการที่ดีของลูกด้วย
6. เด็กที่มีทักษะในการเข้าสังคมดี เพราะได้เล่นกับพ่อ
7. เด็กจะพูดจาฉะฉานเพราะว่าพ่อชอบชวนคุย และเล่นหัวกับลูกบ่อยๆ
8. พ่อที่ช่วยเหลือในการเรียนรู้ของลูก จะทำให้ลูกรู้สึกสนุกในการเรียนรู้เพิ่มเติมขึ้น
9. พ่อที่ให้กำลังใจลูกเสมอ ลูกมักไม่มีพฤติกรรมกดดันเมื่อต้องแข่งขันกับใคร
คำตอบ
ข้อ 1. ตอบ ไม่ใช่
การดูแลหาเลี้ยงครอบครัวเป็นส่วนหนึ่งในหน้าที่ของพ่อเท่านั้น แต่หน้าที่ของพ่อที่มีต่อลูกต้องมีบทบาทสำคัญในการเลี้ยงดูด้วย หนังสือเติบใหญ่ใกล้ธรรม กระทรวงศึกษาธิการกล่าวว่า การเลี้ยงดูบุตรเป็นหน้าที่ร่วมกันระหว่างพ่อและแม่ ที่จะโอบอุ้มชีวิตน้อยๆ ให้ก้าวไปสู่โลกอย่างมั่นคงได้ พ่อควรมีบทบาทในด้านการช่วยจัดเตรียมความพร้อมเพื่อความสุขสบายในการดำเนินชีวิตของลูก ช่วยเหลือเลี้ยงลูก ซึ่งเป็นการตอบสนองทางร่างกายและจิตใจของลูก ซึ่งเป็นการตอบสนองทางร่างกายและจิตใจของลูก ส่งเสริมพัฒนาการของลูกให้เป็นไปตามวัย ดูแลขณะเจ็บป่วย และปกป้องคุ้มครองภัยทั้งด้านร่างกายและจิตใจที่จะเกิดขึ้นกับลูกด้วย
ข้อ 2 ตอบ ไม่ใช่
คุณพ่อควรมีส่วนช่วยเหลือคุณแม่เรื่องการเตรียมพร้อมในการคลอด สูติแพทย์ และแพทย์ที่ทำคลอดให้คุณแม่ในยุคนี้ นิยมส่งเสริมให้คุณพ่อเข้าไปมีบทบาทสำคัญในการตั้งครรภ์ของคุณแม่ ซึ่งจะช่วยให้คุณพ่อและคุณแม่มีส่วนร่วมไปกับประสบการณ์ที่ได้รับ เป็นการทำความรู้จักซึ่งกันและกัน และทำให้คุณเชื่อมั่นว่า คุณจะมีส่วนช่วยในการคลอดเด็กที่มีสุขภาพที่ดี และมีความสุข
ข้อ 3 ตอบ ใช่
คุณพ่อที่แสดงความรักต่อลูก และใเวลาอยุ่กับลูกมากเท่าไร ก็จะยิ่งทำให้เด็กรู้สึกมีความปลอดภัยมากขึ้นเท่านั้น
ข้อ 4 ตอบ ใช่
หนังสือเติบใหญ่ใกล้ธรรม โดยกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ถ้าแม่เลี้ยงลูกอยู่แต่ฝ่ายเดียวลูกจะมีการรับรู้ที่จำกัดแต่ในฝ่ายแม่ซึ่งทำให้ความมั่นคงทางอารมณ์และจิตใจจำกัดกว่าเด็กที่มีคุณพ่อคุณแม่เลี้ยงทั้งคู่
ข้อ 5 ตอบ ใช่
เด็กที่มีคุณพ่อช่วยเลี้ยงดูยามแบเบาะจะมีพัฒนาการในการแก้ปัญหา และมีสุขภาพแข็งแรงนอกจากนั้นยังส่งเสริมพัฒนาการด้านอื่นๆ อีก ซึ่งจะเฉลยในข้อต่อไป
ข้อ 6 ตอบ ใช่
นอกจากคุณพ่อจะมีส่วนด้านพัฒนาการในการแก้ปัญหาแล้ว การที่พ่อและลูกมีการพูดจาโต้ตอบกัน เล่นด้วยกัน ทำให้เด็กมีการตอบสนองที่ดี ส่งผลต่อทักษะในการเข้าสังคมที่ดี โดยพบว่าเด็กผู้หญิงที่ได้ใกล้ชิดพ่อ มักเป็นเด็กที่ร่าเริง ขี้เล่น และค่อนข้างเป็นที่รักของ เพื่อนฝูง ส่วนเด็กผู้ชายจะไปในลักษณะเรื่องของ IQ มากกว่า
ข้อ 7 ตอบ ใช่
การทีคุณพ่อชวนลูกพูดคุย หยอกล้อเล่นหัวกันจะช่วยให้เด็กมีพัฒนาการทางภาษาดี มีทักษะทางการพูดที่สูงกว่ามาตรฐาน เป็นเพราะเด็กมีความเชื่อมั่น ภาคภูมิใจในตนเอง มีทักษะในการดำเนินชีวิตและควบคุมตนเองได้ดีด้วย
ข้อ 8 ตอบ ใช่
คุณพ่อที่สนใจและช่วยเหลือวางแผนการเรียนรู้ให้ลูก จะช่วยส่งเสริมให้ลูกเกิดความคิดริเริ่มและเชาว์ปัญญา เด็กจะเรียนรู้ได้ดีขึ้น และมักสนุกสนานในการเรียนเรื่องนั้นๆ
ข้อ 9 ตอบ ใช่
เด็กที่มีคุณพ่อคอยให้กำลังใจ พ่อมักถ่ายทอดความเข้มแข็ง การตัดสินใจที่รวดเร็ว และลักษณะที่ผึ่งผายให้กับลูก เด็กที่ได้ใกล้ชิดพ่อจึงมักเชื่อมั่นในการสังคมกับเพื่อนฝูง สังคมที่มีแต่การแข่งขันไม่ทำให้เด็กรู้สึกกดดัน และไม่ค่อยมีปัญหาในเรื่องความประพฤติด้วย
จากแบบทดสอบทั้งหมดนี้ จะเห็นได้ว่า "พ่อ" มีส่วนสำคัญในชีวิตของลูกมากมายกว่าที่คิด และขอบอกว่านี่เป็นเพียงข้อมูลส่วนหนึ่งในความสำคัญของคุณพ่อที่มีต่อลูกเท่านั้น ประโยชน์ข้ออื่นๆ ที่ไม่ได้นำเสนอ คิดว่าไม่ใช่เรื่องยากที่คุณจะหาคำตอบด้วยตัวเองจากการช่วยคุณแม่เลี้ยงลูกจริงไหมค่ะ




Create Date : 27 มิถุนายน 2554
Last Update : 27 มิถุนายน 2554 22:03:49 น.
Counter : 379 Pageviews.

0 comment
สายใยชีวิต จากพ่อสู่ลูก


ข้อมูลจาก เนชั่นสุดสัปดาห์ โดย กระวานกะกานพลู

สมัยเด็กๆ ย่าเคยเล่าให้ฟังว่า คลอดลูกกี่คนๆ ย่าไม่เคยไปโรงพยาบาลเลย อาศัยหมอตำแยนี่แหละ แล้วลูกๆ ก็โตมาได้ทุกคน ไม่เห็นต้องเสียเงินคลอดลูกแพงๆ เหมือนคนสมัยนี้
กระวานก็ได้แต่พยักหน้าหงึกๆ (ห้ามเถียง) แต่ก็ไม่ต้องใช้เวลาจินตนาการภาพนานนักหรอก เพราะเวลาดูละครทีวีหรือหนังใหญ่ ก็ยังมีหลายเรื่องที่เขาเน้นภาพช่วงนี้ให้ดู ประเภทที่ว่าเป็นความเจ็บปวดของคนเป็นแม่ หรืออีกทีก็เน้นฉากนี้ให้เห็นก่อนจะบอกว่า เนี่ยเป็นเพราะออกลูกตายทั้งกลม เวลาเป็น (หนัง) ผีถึงได้เฮี้ยนนัก
ไม่ต้องไปอื่นไกล อย่างเช่นเรื่อง 'นางนาก' ตอนที่น้องทรายจะออกลูก แล้วพ่อมากไปเป็นทหารเกณฑ์อยู่ต่างถิ่นนั่นเป็นไร
แต่เท่าที่ดูและฟังมาส่วนใหญ่จะเป็น 'แม่หมอตำแย' โดยคนเป็นพ่อก็คอยดูแลในเรื่องการเตรียมอุปกรณ์ในการทำคลอด หรืออยู่ไฟ ไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าจะมีพ่อหมอตำแยด้วย
กระทั่งวันก่อนกระวานมีโอกาสได้พูดคุยกับ คุณลุงทองสุข อ่วมงามอาจ ผู้เป็นหมอตำแยทำคลอดให้กับภรรยาของตนเอง ซึ่งมีลูกทั้งหมด 9 คน โดยคนสุดท้องอายุ 25 ปี
ลุงทองสุขย้อนอดีตให้ฟังว่า เดิมอยู่ฝั่งธนฯ พอแต่งงานแล้วก็มาอยู่อ่อนนุช สมัยก่อนการเดินทางลำบาก เป็นช่วงที่เกิดสงครามญี่ปุ่น ครั้นจะพาภรรยาไปคลอดที่โรงพยาบาลศิริราชก็ไม่ไหว ต้องนั่งเรือไปไกลมาก ฐานะก็ไม่ค่อยดี ลุงก็เลยทำคลอดเองทุกคน อาศัยว่าสมัยเด็กๆ ได้ติดตามแม่ซึ่งเป็นหมอไปทำคลอดให้คนในหมู่บ้านอยู่บ่อยๆ คอยเป็นลูกมือให้ และสังเกตดูว่าแม่ทำอย่างไร บวกกับช่วงเป็นทหารเกณฑ์ก็ทำหน้าที่เป็นหมอทหารด้วย จึงเอามาประยุกต์เข้าด้วยกัน
ลุงทองสุขที่สุขภาพยังแข็งแรง และมีความทรงจำดีมากสำหรับคนวัย 75 ปี เล่าถึงวิธีการทำคลอดสมัยก่อนให้ฟังว่า
"เราทำคลอดต้องดูว่าถึงเวลาใกล้คลอดหรือยัง ถ้าเขาบอกว่ามีลมเบ่ง ก็ให้เขานอนแล้วเอามือโหน เราก็ค่อยๆ ตะล่อมที่ท้องไล่กดข้างๆ แล้วเราก็นั่งลงระหว่างขา...พอเด็กออกมาก็ตัดสะดือด้วยไม้ไผ่ ที่เหลาให้บางและแช่แอลกอฮอล์เพื่อฆ่าเชื้อแล้ว.. พอรกออกตามมาเราก็วัดจากสะดือมาแค่หัวเข่าเด็ก รีดลมออกให้หมด ผูก 3 ปมและตัดปมที่ 3 เหตุที่ต้องผูก 3 ปมเพราะกันลมเข้า เดี๋ยวสะดือจุ่น ถ้าจะให้หายเร็วต้องใช้ขมิ้นผงโรย ไปๆ สายสะดือจะหลุดเอง"
ส่วน 'รก' ของเด็กนั้น ลุงจะล้างจนสะอาด นำไปใส่หม้อตาลใส่เกลือแล้วฝังดินไว้ ด้วยวิธีแบบนี้คนสมัยโบราณเชื่อว่าจะทำให้หัวเด็กไม่เป็นแผล (เพราะรกไม่ได้อยู่รวมกันเหมือนเวลาคลอดที่โรงพยาบาลเขาเอาไปรวมกันหมด ปล่อยทิ้งให้เน่า) เอาหม้อตาลไปฝังไว้ข้างรั้วบ้านนั้นแหละ แล้วลูกจะไม่ไปไหนไกล คืออย่างไรเสียก็ต้องกลับมาบ้าน อันนี้เป็นความเชื่อ ลุงบอกมาอย่างนั้น
ส่วนแม่ของลูก ลุงก็จะเตรียมน้ำให้ดื่มหลังคลอด โดยเอามะขามมาขยำกับน้ำในชามและผสมเกลือลงไปด้วย สำหรับไว้ดื่ม โดยน้ำมะขามนี้จะไปช่วยไล่น้ำคาวปลาให้หมดเร็ว
ถัดจากนั้นก็มีการอยู่ไฟ กรรมวิธีคือให้แม่ของลูกนอนบนแคร่ไม้ไผ่ แล้วก่อไฟอังไว้ใต้เตียง การทำเช่นนี้จะทำให้มดลูกแห้งเร็วขึ้น อีกแบบหนึ่งคือให้ผู้หญิงนั่งหม้อเกลือ วิธีการคือเอาอิฐมอญมาตั้งไฟ พอร้อนก็เอาเกลือหยอดไปก้อนอิฐ แล้วเอาน้ำราดให้ฟู่ขึ้นมา ให้ผู้หญิงนั่งคร่อม ซึ่งไอความร้อนจะช่วยรักษาแผลได้
ยังๆ ไม่หมด ลุงบอกว่าก่อนหน้านี้ต้องไปหาสมุนไพรๆ (เน้นว่าหานะ ไม่ใช่ซื้อ) เช่น ตะไคร้ ใบมะขาม ไพล ขมิ้นอ่อน นำมาตำเข้ากัน แล้วเอาไปต้ม ส่วนหนึ่งนำไปทำลูกประคบ เอาไปคลึงๆ ที่หน้าอก เพื่อให้แม่มีน้ำนม (ถึงตอนนี้กระวานถามว่า ต้องประคบตอนไม่ใส่เสื้อหรือเปล่า ลุงบอกว่าก็ต้องยังงั้นสิ ก็เขาเป็นแฟนเรา เราก็ทำให้) รวมทั้งค่อยๆ แง้มฝาหมอ ให้สูดกลิ่นสมุนไพรเข้าไปในร่างกายเพื่อช่วยรักษาระบบภายใน ขั้นตอนนี้ต้องทำ 3 วัน
ส่วนการดูแลร่างกายหลังคลอด ลุงจะไปเก็บผักบุ้งล้วมที่ขึ้นกลางนา นำไปล้างน้ำให้สะอาดแล้วใส่ปี๊บต้มรวมกับใบมะกรูด ข่า ตะไคร้ การบูร พอต้มให้เดือด ได้น้ำยาสีเหลืองๆ ก็เอามาอาบให้ การอาบน้ำสมุนไพรชุดนี้จะทำให้แม่หน้าตาผ่องใส ผิวพรรณดี รวมทั้งต้มแกงเลียงให้กิน เพื่อให้มีน้ำนม
"เดี๋ยวนี้ทำไม่ได้เพราะไม่มีใบประกอบโรคศิลป์ และออกลูกที่บ้านเวลาไปแจ้งเกิดมีปัญหา เขาจะถามว่าคลอดที่ไหน หมอตำแยอยู่หรือเปล่า ถ้าตายไปแล้วก็ลำบาก ไม่มีประวัติ สมัยก่อนออกลูกและไปแจ้งผู้ใหญ่บ้าน กำนันก็ได้แล้ว"
กระวานไม่ได้คิดจะชวนให้คุณผู้อ่านย้อนยุคไปคลอดลูกกับหมอตำแยหรอกค่ะ เพียงแต่เห็นว่าในประเพณีไทยดั้งเดิมจะมีพิธีกรรมและกิจกรรมต่างๆ สำหรับคนท้องที่น่าสนใจ และเป็นความเชื่อที่นำไปสู่การปฏิบัติตามขั้นตอนต่างๆ ดังที่เวบไซต์ rayongwit.net อธิบายว่า ผู้ใกล้คลอดจะอยู่ท่ามกลางการดูแลปรนนิบัติอย่างใกล้ชิดจากสามี ญาติ หมอตำแย และหมอพื้นบ้าน เช่น สามีคอยดูแลต้มน้ำ คอยหนุนหลัง หมอตำแยคอยบีบนวดขณะเบ่งคลอด
การคลอดลูกจึงเป็นบรรยากาศที่อบอุ่น เพราะสังคมไทยในอดีตเป็นสังคมที่อบอุ่น ผู้คลอดย่อมเกิดกำลังใจ เมื่อทารกคลอดแล้วยังมีการเตรียมอู่สำหรับเด็กที่เกิดใหม่ การบูชาแม่ซื้อ การตัดสายสะดือ การฝังรก มีการนำเด็กแรกเกิดไปนอนในกระด้งพร้อมกับสมุดดินสอ ซึ่งวางไว้ข้างตัว โดยเชื่อว่าจะทำให้เด็กเจริญเติบโตด้วยดี มีสติปัญญา เฉลียวฉลาด มีการผูกสายสิญจน์ที่ข้อมือเด็ก เชื่อว่าจะช่วยให้เด็กมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง ปลอดภัยจากโรคร้ายใดๆ







Create Date : 27 มิถุนายน 2554
Last Update : 27 มิถุนายน 2554 22:03:26 น.
Counter : 470 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  

มนแพรวา
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]