All Blog
เครื่องวัดคุณภาพครอบครัว

บทความจากหนังสือหนังสือก่อนจะถึงวันนั้น
โดย รศ.ดร.นวลศิริ เปาโรหิตย์


เราทุกคนต่างก็เกิดมาในครอบครัวเหมือนๆ กัน แต่ทำไมบางครอบครัวดูจะมี คุณภาพ มากกว่าครอบครัวอื่น
บางครอบครัว พ่อแม่ลูก มีลักษณะคล้ายบุคคลแปลกหน้าที่ถูกจับมารวมอยู่ในบ้านหลังเดียวกัน

บางครอบครัวมีแต่ความไม่เข้าใจกัน อยู่ใกล้กันเฉพาะกายแต่ใจห่างกันสุดขั้ว
แต่บางครอบครัว แม้จะทะเลาะกันอยู่บ้าง ก็ยังดูรักใคร่กันดี
ครอบครัวที่กำลังนั่งอยู่ตรงหน้าผู้เขียนนี้ประกอบด้วย พ่อ แม่ ลูกสาววัยรุ่น และลูกชายวัย 10 ขวบ ทั้งสี่กำลังเผชิญกับการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของครอบครัว นั่นคือ ลูกสาวคนเล็กที่เพิ่งจะอายุได้ 5 ขวบ กำลังน่ารัก เพิ่งจะจากไปด้วยอุบัติเหตุที่ไม่มีใครคาดคิด ทั้งครอบครัวยังทำใจไม่ได้กับการสูญเสียน้องนุชสุดท้องไปในครั้งนี้ แต่ทั้งสี่คนพ่อแม่ลูกพยายามที่จะช่วยกันปลอบโยนประคับประคองและให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ความเข้มแข็งที่ฉายอยู่ในแววตาของพวกเขา ดูเหมือนจะเป็นเครื่องยืนยันกับผู้เขียนว่า ทั้งสี่ชีวิตจะสามารถฝ่าฟันความทุกข์ในครั้งนี้ไปด้วยกันได้ในที่สุด

นี่แหละคือครอบครัวที่มี "คุณภาพ" ครอบครัวหนึ่ง
อะไรคือเครื่องแสดงถึงการเป็นครอบครัวที่มีคุณภาพ
ผู้เขียนได้รวบรวมความคิดเห็นของนักจิตวิทยาและจิตแพทย์ที่ได้กล่าวถึงตัวบ่งชี้ ของคุณภาพครอบครัวไว้ได้ 10 ประการคือ

1. พ่อแม่คือ แม่แบบ ของลูก
พ่อแม่ของครอบครัวคุณภาพ จะมีลักษณะคล้าย ตัวแบบ ให้ลูกๆ ของพวกเขา เป็นตัวแบบในการสร้างวินัยให้ลูกๆ คือ เขาจะไม่ ตึง หรือ หย่อน เกินไป เขาจะปกครองลูกด้วยความเข้าใจ และใช้เหตุผล เด็กๆ ที่เติบโตจากบ้านเหล่านี้จะรู้จักบทบาทหน้าที่ของตัวเอง พ่อแม่ไม่ตามใจลูกจนเหลิงหรือบีบบังคับให้เด็กกลายเป็นบอนไซ ของพ่อแม่ แต่จะคอยกำกับดูแลลูกๆ คอยเป็นหางเสือให้ลูก เพราะเขาเข้าใจดีว่า เด็กๆ แม้จะต้องการอิสระบ้าง แต่เขาก็ต้องการให้พ่อแม่เป็นทิศทางให้เขา พ่อแม่เหล่านี้จะรู้สึกว่า การมีลูกคือความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่ของชีวิต

2. พ่อแม่คือ ผู้พร้อมรับฟังลูก
พ่อแม่จะรับฟัง ให้โอกาสลูกได้พูดแสดงความคิดความรู้สึก
พ่อแม่เหล่านี้จะไม่มีการวางตัวเป็นพระพุทธรูปที่แตะต้องไม่ได้ เขาจะพยายามเป็นเพื่อนกับลูก รับฟังและให้โอกาสลูกได้พูดได้แสดงออก เพราะเขาเชื่อว่า เด็กทุกคนมีความรู้สึกนึกคิดของตัวเอง การให้เด็กได้มีโอกาสแสดงออกทางความรู้สึกและความคิดจะทำให้เด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่คิดเป็น กล้าแสดงออก และมีความเชื่อมั่นในตนเอง คนที่ขี้กลัวขาดความเชื่อมั่น มักจะเป็นบุคคลที่ถูกปิดกั้นในความคิดจากพ่อและแม่ของเขาในวัยเด็กเสมอ

3. พ่อแม่จะสื่อภาษาเดียวกับลูก
ผู้ใหญ่และเด็กจะมองโลกในแง่มุมที่ต่างกัน รวมทั้งภาษาที่เด็กใช้ก็จะแตกต่างกับของผู้ใหญ่ การพูดภาษาเดียวกันกับลูกหมายความถึงการใช้สำนวนภาษาที่เด็กวัยนั้นจะเข้าใจได้ นอกจากนี้ พ่อแม่เหล่านี้จะรู้ว่า เด็กก็คือเด็ก เด็กไม่ใช่ผู้ใหญ่ตัวเล็กๆ ดังนั้นการอบรมสั่งสอนของพ่อแม่อาจต้องทำหลายๆ ครั้ง บางทีต้องพูดเป็นร้อยเป็นพันครั้งก็มีก่อนที่เด็กจะรับรู้และเข้าใจ เพราะพ่อแม่คุณภาพเข้าใจดีว่า การทำซ้ำๆ บ่อยๆ เป็นหัวใจของการเรียนรู้

4. พ่อแม่มีเวลาให้ลูกเสมอ
ความต้องการของเด็ก ไม่สามารถจำกัดอยู่เฉพาะช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง และจะทำเป็นตารางไว้ไม่ได้ ดังนั้น พ่อแม่จะพยายามหาเวลาอยู่กับลูกให้มากที่สุด จะไม่มีข้ออ้างว่า งานยุ่ง ธุรกิจรัดตัว เพราะเขารู้ว่าเวลาที่จะอยู่กับลูกเป็นสิ่งที่มีคุณค่า และเมื่อผ่านช่วงนี้ของชีวิตไปแล้ว เขาจะไม่สามารถหาช่วงอื่นของชีวิตมาทดแทนความขาดในช่วงวัยเด็กของลูกได้เลย

5. พ่อแม่ทำความผิดพลาดได้
พ่อแม่จะให้ลูกรู้ว่า พ่อแม่คือมนุษย์ธรรมดาที่ทำผิดพลาดได้ และเมื่อพ่อแม่ทำผิด เขาจะยอมรับในความผิดพลาดนั้น ทำให้ลูกรู้ว่าชีวิตที่แท้จริงมีสิ่งผิดพลาดเกิดขึ้นได้เสมอ เด็กๆ จะกล้าคิดกล้าทำเมื่อทำผิดพลาดขึ้นก็จะกล้ายอมรับ และเรียนรู้ที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไข เด็กๆ จะไม่ถูกตอกย้ำความผิดพลาดในอดีตของพวกเขา

6. พ่อแม่จะไม่ใช้เด็กมาเติมความ ฉลาด ทางใจของพ่อแม่
พ่อแม่จะไม่ใช้ลูกมาเติมความ ฝัน หรือเติมความ ขาด ในชีวิตของตัวพ่อแม่เอง แต่จะช่วยประคับประคองลูก ให้งอกงามและเติบโตในทิศทางที่ลูกเลือก เด็กมีอิสระที่จะมีชีวิตที่สมบูรณ์ของตัวเขาเอง เพราะไม่ต้องคอยมาเป็นแพะรับบาปในสิ่งที่เขาไม่ได้ทำ ชีวิตของพวกเขาจึงพัฒนาได้เต็มศักยภาพ

7. มีการทะเลาะกันในครอบครัว
ครอบครัวคุณภาพ ก็เหมือนกับครอบครัวอื่นๆ คือมีความไม่ลงรอยเกิดขึ้นได้ในความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูก แต่เมื่อมีการทะเลาะกันขึ้น ทั้งครอบครัวจะจับเข่าคุยกัน เพราะเขาเข้าใจว่าเหตุที่เกิดกับคนหนึ่งในครอบครัว จะมีผลกระทบถึงทุกคนด้วยเสมอ แต่การคุยกันเป็นการแก้ไขปัญหา ไม่ใช่การจิกตีด่าทอ หรือกล่าหาคนหนึ่งให้อีกคนหนึ่งฟัง ปัญหาจึงมีการแก้ไขให้ลุล่วงไปด้วยความร่วมมือกันของสมาชิกทุกๆ คน

8. มีทั้งสุขและทุกข์เกิดขึ้นกับครอบครัว
ครอบครัวคุณภาพไม่ใช่ครอบครัวที่แม่แต่ความสุข สมาชิกเจอทั้งสุขและทุกข์เหมือนกับครอบครัวอื่นๆ แต่เมื่อเผชิญกับเหตุการณ์วิกฤติ ทุกชีวิตจะร่วมมือกันแก้ไขผนึกกำลังกันและปรับตัวได้ในที่สุด

9. สมาชิกทุกคนมีส่วนร่วมในการ ให้ กับครอบครัว
สมาชิกในครอบครัวทุกคน ตั้งแต่พ่อลงมาถึงลูกๆ รู้จักในบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบของตนเอง ทุกคนมี งาน หรือ ภาระหน้าที่ ที่จะทำให้แก่ครอบครัว และมีส่วนร่วมกันในความสำเร็จหรือผิดพลาดที่เกิดขึ้นในครอบครัว

10. มีอารมณ์ขัน ทุกคนหัวเราะให้กันและกันได้
สมาชิกมีจิตใจเมตตา โดยเฉพาะในความผิดพลาดของผู้อื่นและตนเอง สามารถหัวเราะให้แก่กันและกันได้เสมอ ให้อภัยและไม่ติดใจจดจำ ที่บ้านมีบรรยากาศแห่งความสบายๆ ไม่เครียด เด็กๆ ไม่ต้องมีชีวิตอยู่กับความกลัวและความหวาดระแวงว่า เมื่อไรพ่อแม่จะมาระเบิดอารมณ์เอากับพวกเขาอีก คล้ายชีวิตเดินอยู่บนเส้นด้าย ไม่รู้ว่าเมื่อไรจะขาดลงมา

รอบครัวคุณภาพไม่ใช่ครอบครัว เพอร์เฟค ไม่มีใครมีครอบครัว เพอร์เฟค ทุกครอบครัวล้วนมีจุดเด่นจุดอ่อนในตนเอง แต่ครอบครัวคุณภาพจะมีการปฏิบัติตัวของพ่อแม่ลูกที่ต่างออกไปจากครอบครัวที่ไม่มีคุณภาพ เห็นง่ายๆ ก็คือความยืดหยุ่น และความสามารถที่จะปรับตัวเข้ากับสิ่งกระทบของชีวิตในครอบครัว ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อสมาชิกทุกคนมีพื้นฐานของความรักและความพยายามที่จะเข้าใจกันและกันเท่านั้น




Create Date : 27 มิถุนายน 2554
Last Update : 27 มิถุนายน 2554 21:39:54 น.
Counter : 539 Pageviews.

0 comments
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

มนแพรวา
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]