พ่อ..ต้นแบบสำคัญของลูก


บทความจากนิตยสาร life & family
________________________________________________________
พ่อนั้น…สำคัญฉะนี้
การเจริญเติบโตของเด็กสักคน ต้องการการดูแลเอาใจใส่จากพ่อไม่น้อยไปกว่าแม่เลยคะ เพราะพ่อจะเป็นต้นแบบให้ลูกในลักษณะของมาสคูลินิตี้ (Masculinity) คือความเข้มแข็ง อดทน หนักแน่น และมีอำนาจ ในขณะที่แม่จะให้ความเป็นเฟมินินนิตี้ (Femininity) คือความนุ่มนวล อ่อนหวาน ประนีประนอม มากกว่า
เด็กๆ ต้องการทั้งความเป็นพ่อ และความเป็นแม่ เพื่อเรียนรู้การสร้างและรักษาความสัมพันธ์ระหว่างเพศชายและเพศหญิง และควรได้ต้นแบบทั้งสองอย่างในอัตราที่สมดุลกันพัฒนาจึงจะสมบูรณ์ ในกรณีที่เด็กขาดพ่อ จะเป็นเพราะพ่อไปสวรรค์แล้วหรืออะไรก็ตามแต่ ถ้าได้ต้นแบบดีๆ จากผู้ชายคนอื่นๆ มาชดเชย เช่น ญาติพี่น้อง เพื่อนของแม่ หรือแม้แต่ครู รุ่นพี่ หรือโค้ชกีฬา ก็พอทดแทนกันได้ (แม้จะไม่ดีเท่ามีพ่อเป็นของตัวเองก็ตาม) แต่ถ้าเด็กมีพ่อที่ไม่ค่อยมีเวลา ไม่ค่อยทำหน้าที่พ่อเท่าที่ควร หรือมีบุคลิก 'อ่อน' อาจมีปัญหาเรื่องขาดต้นแบบจากพ่อมากกว่า เพราะลูกไม่ต้องการแม่สองคนในบ้านที่ไม่มีพ่อเลย

เข้าใจลูกวัยนี้
น่าชื่นใจค่ะว่า ผู้ชายทุกวันนี้เริ่มแสดงบทบาทของแฟมิลี่แมนมากขึ้น แม้บางทีจะมีเรื่องขลุกขลักอยู่บ้างก็ตาม

เคยไหมคะ ที่บางทีพ่ออุตส่าห์ตั้งใจรีบกลับบ้าน แต่เจอลูกทำท่าเฉยๆ ชาๆ ใส่ หรือแม้แต่ซื้อของเล่นมาให้ ก็ไม่ได้แสดงอาการดีอกดีใจนักหนา เจอเข้าไม้นี้ บางทีก็เล่นเอาผู้ชายตัวใหญ่ๆ แอบน้อยใจไปเหมือนกัน พานคิดว่าตัวเองไม่มีความหมาย ลูกไม่รัก และใช้โอกาสนั้นออกนอกบ้าน (ต่อไป) ซะเลย

อ๊ะ…อ๊ะ…อย่าเพิ่งคิดไปอย่างนั้น
พ่อต้องเข้าใจว่า (อันนี้แม่อาจไปบอกพ่อนะคะ) ลูกมีพัฒนาการที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ
ในบางช่วงวัย ลูกก็ไม่ต้องการพ่อเลย พ่อไม่ควรจะคาดหวังกับเขาสูงมาก และต้องไม่หวั่นไหวกับท่าทีไม่ใส่ใจของลูก สิ่งเหล่านี้เป็นธรรมชาติของเด็กที่เกิดขึ้นชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น

เด็กๆ เปลี่ยนแปลงเร็วค่ะ พอวัยเปลี่ยน อะไรๆ ก็เปลี่ยนได้ อีกเดี๋ยวเขาอาจจะแสดงความชื่นชมพ่อออกนอกหน้าอะไรๆ ก็ต้องพ่อ พ่อดี พ่อเก่งทุกอย่าง

7-9 ขวบ ต้องการอะไร
7 ขวบ เป็นช่วงที่ค่อนข้างผันแปร เด็กจะกังวลกับตนเองและไม่ค่อยเป็นสุข มักรู้สึกยุ่งเหยิงอยู่ภายในเป็นวัยที่ทำ คิด ค่อนข้างสุดโด่ง อาจคิดว่าพ่อแม่ไม่รัก ไม่สนใจ ความที่ชอบคิดเกินจริง ทำให้มีพฤติกรรมลุ่มๆ ดอนๆ
เด็กบางคนก็เทิดทูนพ่ออย่างมาก แต่บางคนก็ไม่ได้เป็นอย่างนั้น อาจเป็นเพราะได้เรียนรู้มากขึ้น อ่านหนังสือได้มากและโลกก็กว้างขึ้น จนรู้สึกหวั่นไหวกับโลก พ่ออาจจะเข้ามาปลอบประโลมให้ความมั่นใจ และในช่วงวัยที่ชอบค้นคว้า หรืออยากรู้อยากทดลองเรื่องราวต่างๆ มีพ่อเข้าไปช่วยเหลือก็น่าจะดีค่ะ

8 ขวบ พ่อกลับสำคัญน้อยลง กลายเป็นคนเล็กๆ อยู่นอกสายตา พ่อจะทำอะไร ก็ไม่ค่อยสนใจ ไม่เรียกร้อง หรือต้องการอะไรจากพ่อ แต่ลูก (โดยเฉพาะผู้ชาย) จะมีท่าทีต่อแม่อย่างมีอารมณ์ ถ้ารักก็รักมาก แต่ถ้าโกรธก็เต็มที่ แม่มักถูกก่อกวน แต่ลูกก็ยังเกรงใจพ่อ ถ้าพ่ออยู่ แม่จะถูกรบกวนน้อยลง
กับวัยนี้ พ่อวางตัวหรือแสดงบทบาทพ่อได้สบายๆ แต่พ่อกับแม่ควรระมัดระวังการแสดงอารมณ์ต่อกัน ทั้งอารมณ์รักใคร่ หรือการขัดแย้งหรือทะเลาะกัน เพราะลูกอยู่ในช่วงวัยที่อารมณ์เปราะบาง รู้สึกได้เร็วกับภาพความสัมพันธ์ของพ่อกับแม่

9 ขวบ เป็นวัยที่วุ่นวายหรือ 'ติด' พ่อแม่น้อยลง แต่กลับไปให้ความสำคัญกับเพื่อนมากขึ้น บางทีพ่อแม่ของเพื่อนยังสำคัญกว่าพ่อแม่ของตัวเองด้วยซ้ำ ซึ่งเป็นธรรมชาติของเด็กที่ให้ความสำคัญกับโลกภายนอก (เพื่อน) มากกว่าโลกของตัวเอง (บ้าน, พ่อแม่)
ขณะเดียวกัน ลูก 9 ขวบจะรู้สึกว่า พ่อเป็นคนรอบรู้ มีความสามารถ จึงหันมาแลกเปลี่ยนความสนใจกับพ่อ โดยเฉพาะเด็กชายมักป้วนเปี้ยนอยู่กับพ่อ เข้ากลุ่มพ่อ เพราะเป็นเพศเดียวกัน บางคนอ่อนไหวมากกับคำติเตียนของพ่อ เพราะกลัวพ่อไม่รัก หรือตัดตนออกจากกลุ่ม ส่วนเด็กหญิงจะจับกลุ่มกับแม่มากกว่า

เลี้ยงลูกแบบไหน…สไตล์พ่อ
แน่นอนค่ะว่า ผู้ชายและผู้หญิงต่างก็มีทักษะและทัศนคติที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้น ถ้าจะเรียกร้องให้พ่อมาช่วยกันเลี้ยงลูกบ้าง ก็หมายความว่าให้เลี้ยงแบบพ่อๆ นั่นแหละค่ะ

สิ่งสำคัญในความเป็นพ่อ คือการช่วยสร้างบรรยากาศในบ้านและครอบครัวที่เต็มไปด้วยอารมณ์ขัน ความสุข ความสนุกสนาน ความกระตือรือร้น

ที่เห็นได้ชัดเลยคือ พ่อเล่นกับลูกได้สนุกกว่าแม่ คงเป็นเพราะความขี้เล่น ทำให้ทั้งลูกชาย ลูกสาว ชอบให้พ่อเป็นเพื่อนเล่น โดยเฉพาะเด็กชาย ดูจะติดใจเล่นกับพ่ออยู่เรื่อยไปจนถึงวัย 11-12 ขวบโน่นเลย ต่อมาคือเรื่องเวลา ถึงทุกวันนี้ ผู้หญิงจะออกทำงานนอกบ้านกันมากขึ้น แต่โดยส่วนใหญ่ คนที่หารายได้หลักมาจุนเจือครอบครัว ก็ยังเป็นพ่ออยู่ดี ทำให้พ่อไม่ค่อยมีเวลามากนัก แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาเพราะสิ่งสำคัญอยู่ที่วิธีการใช้เวลามากกว่า พ่อกับลูกอาจจะหาโอกาสใช้เวลาอยู่ด้วยกันตามลำพังบ้าง เช่น ไปวิ่งออกกำลังกายด้วยกัน นั่งคุยกันเงียบๆ ก่อนนอน หรือ ช่วยกันตัดหญ้าในสนาม ล้างรถ หรือซ่อมแซมบ้านโดยที่ลูกคอยเป็นลูกมืออยู่ใกล้ๆ วิธีนี้จะแบ่งเบาได้ทั้งงานบ้าน และสานสัมพันธ์ทางใจแถมไปด้วย

ถ้าพ่อจะต้องออกจากบ้านบ่อยๆ หรือไม่ค่อยได้อยู่บ้าน แค่การยิ้มให้ หรือทักทายกัน ก็พอจะช่วยประคับประคองความรักไว้ได้ เด็กจะรู้สึกอบอุ่นและไม่โดดเดี่ยวจนเกินไป เพราะสิ่งดีๆ ที่พ่อทำ ก็ยังคงอยู่ไม่ได้หายไปไหน

เช่นเดียวกัน สามีที่ต้องเดินทางไปทำงานต่างจังหวัด หรือต่างประเทศ ท่าทีที่ห่วงใยอาทร ซื่อสัตย์ และจริงใจ ย่อมเป็นกำลังใจให้ภรรยาด้วยเหมือนกัน (ย่อหน้านี้ เอาไปกระซิบบอกสามีก็ได้นะคะ)

พ่อกับลูกชาย และลูกสาว
คนส่วนใหญ่มักเชื่อว่า การหล่อหลอมลูกสาวให้เป็นผู้หญิงเป็นเรื่องของแม่ ส่วนพ่อมีหน้าที่หล่อหลอมลูกชายให้เป็นผู้ชาย เรื่องพ่อกับลูกสาว และแม่กับลูกชายเป็นภาระรองลงไป

แต่ความเป็นจริง พ่อจะเป็นแบบอย่างของความเป็นชายให้กับทั้งลูกชายและลูกสาว ลูกจะเรียนรู้ว่าผู้ชายเป็นอย่างไรจากความสัมพันธ์กับพ่อ เด็กผู้ชายจะเลียนแบบความเป็นชายจากพ่อ และจะปฏิบัติต่อผู้หญิง แบบเดียวกับที่พ่อปฏิบัติต่อแม่ ในขณะที่ พ่ออาจมีเวลาให้ลูกสาวน้อยกว่า แต่ก็มีผลในการพัฒนาความเป็นผู้หญิงให้เกิดขึ้น เด็กหญิงจะเรียนรู้ว่าผู้ชายเป็นอย่างไร และจะเป็นผู้หญิงแบบไหนก็จากพ่ออีกเหมือนกัน พ่อจะเป็นต้นแบบของผู้ชายที่ลูกสาวจะเกี่ยวข้องด้วยในอนาคต ถ้าพ่อเป็นนักดื่ม หรือเจ้าชู้ ลูกสาวก็อาจจะมีแนวโน้มรับผู้ชายแบบนี้ได้มากกว่าลูกสาวที่ไม่มีพ่อในลักษณะนี้

นอกจากนี้ ในเรื่องแบบอย่างทางอารมณ์ เด็กหญิงอาจถ่ายแบบความอ่อนไหวมากจากแม่ หากผสมกับอารมณ์ที่หนักแน่นแบบพ่อ ก็น่าจะสมดุลขึ้น

บทบาทพ่อจะช่วยเติมเต็มความต้องการของลูกในเรื่องความรัก ความเอาใจใส่ เป็นอีกคนในครอบครัวที่ลูกเกี่ยวข้องสัมพันธ์ และแบ่งปันประสบการณ์ชีวิตด้วย พ่อที่มีความอบอุ่นเป็นหลักได้ สามารถผสมผสานอำนาจในฐานะผู้นำครอบครัวกับความเป็นประชาธิปไตยเข้าด้วยกัน ในการตัดสินปัญหาต่างๆ และมีความรัก ความผูกพันให้กับลูกๆ จะทำให้พวกเขาเจริญเติบโตขึ้นได้อย่างเต็มศักยภาพ
เพราะเด็กๆ จะเติบโตได้ดี มีความมั่นใจ ในบรรยากาศของความรัก ยิ่งมีคนรักมากเท่าไร เขาก็มีความสุขมากยิ่งขึ้นเท่านั้น…และพ่อก็เป็นหนึ่งคนในบรรยากาศของความรักนั้นด้วยค่ะ






Create Date : 27 มิถุนายน 2554
Last Update : 27 มิถุนายน 2554 22:09:50 น.
Counter : 582 Pageviews.

0 comments
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

มนแพรวา
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]