All Blog
ตับอักเสบจากเชื้อไวรัส

ข้อมูลจาก โรงพยาบาล พญาไท 2 โดย พญ. วัชรี วนชยางค์กูล
ตับอักเสบจากเชื้อไวรัส ( VIRAL HEPATITIS ) กล่าวถึงไวรัสตับอักเสบ ชนิด เอ บี และ ซี
การติดต่อ
" ไวรัส เอ ติดต่อทางการรับประทานอาหาร
" ไวรัส บี ติดต่อทางเลือดและเพศสัมพันธุ์
" ไวรัส ซี ติดต่อทางเลือดและเพศสัมพันธุ์
ลักษณะโรค
1. โรคตับอักเสบจากเชื้อไวรัส แบบเฉียบพลัน ( Acute Hepatitis )
2. โรคตับอักเสบจากเชื้อไวรัส แบบเรื้อรัง ( Chronic Hepatitis )
3. โรคตับอักเสบจากเชื้อไวรัส แบบไม่มีอาการ ( พาหะ หรือ Carrier )
โรคตับอักเสบจากเชื้อไวรัส แบบเฉียบพลัน ( Acute Viral Hepatitis)
อาการแบบเฉียบพลันจะคล้ายคลึงกันทั้งในไวรัสชนิด เอ และ บี จึงจำเป็นต้องตรวจเลือดเพื่อแยกโรค เพราะพยากรณ์โรคของไวรัส เอ และ บี ต่างกัน ( สำหรับไวรัส ซี นั้น มักไม่มีอาการตอนเฉียบพลัน มักพบในระยะเรื้อรัง )
ลักษณะโรคแบบเฉียบพลันมี 3 ระยะ คือ
ระยะที่ 1 อาการนำ : ผู้ป่วยมักมีไข้ต่ำๆ คลื่นไส้ เพลีย ตาเหลือง ปัสสาวะสีเข้ม ระยะนี้อาจกินเวลานาน 1 - 2 สัปดาห์
ระยะที่ 2 อาการเหลือง : ช่วงนี้อาการต่างๆ ในระยะที่ 1 จะหายไปหรือดีขึ้น จะปรากฏอาการเหลืองให้เห็น ผู้ป่วยจะรู้สึกสบายขึ้น ระยะนี้กินเวลานาน 2 - 4 สัปดาห์
ระยะที่ 3 ระยะฟื้นตัว : อาการตัวเหลือง ตาเหลือง จะลดลงจนหายไป
ผู้ป่วยโรคตับอักเสบจากเชื้อไวรัสแบบเฉียบพลันจากไวรัส บี ประมาณ 95% จะหายเองภายในเวลา 2 - 3 เดือนหลังอาการนำ จะพบว่ามีเพียง 5% ที่เมื่อติดตามไปนานเกิน 6 เดือนก็ยังไม่หาย ยังปรากฏเชื้อไวรัส บี ในเลือด กลายเป็นโรคแบบเรื้อรังหรือพาหะของโรคไป ซึ่งต่อไปประมาณ 1 - 5% จะกลายเป็นตับแข็งหรือมะเร็งตับได้
สำหรับตับอักเสบจากเชื้อไวรัสแบเฉียบพลันจากไวรัส เอ ประมาณ 99% จะหายเองและไม่ปรากฏโรคเรื้อรังใดๆ
การวินิจฉัยโรคตับอักเสบจากไวรัสแบบเฉียบพลัน จากไวรัส เอ หรือ บี
1. มีอาการนำ หรืออาการเหลืองดังกล่าวข้างต้น ทำให้วินิจฉัยคร่าวๆ ว่าตับอักเสบ
2. เจาะเลือดดูเอ็นซัยม์ตับ คือ SGOT, SGPT และ Bilirubin ในโรคตับอักเสบจากไวรัสแบบเฉียบพลันจะพบว่า มี SGOT และ SGPT สูงมากกว่า 5 เท่าของปกติ ส่วนค่า Bilirubin นั้นจะขึ้นมากน้อยได้ซึ่งแสดงถึงความเหลือง
3. เจาะเลือดเพื่อแยกว่าเกิดจากไวรัสชนิดใด ดังนี้
HBsAg และ Anti HBc IgM ถ้าให้ผลบวกแสดงว่า เป็นตับอักเสบจากไวรัส บี แบบเฉียบพลัน
Anti HAV IgM ถ้าให้ผลบวกแสดงว่า เป็นตับอักเสบจากไวรัส เอ แบบเฉียบพลัน
การรักษา
" ไม่มีการรักษาจำเพาะในโรคตับอักเสบจากไวรัส แบบเฉียบพลัน ทั้ง เอ และ บี นอกจากประคับประคอง ถ้าอาเจียนมากรับประทานไม่ได้ ให้หยุดพัก ให้น้ำเกลือ
" ติดตามอาการ ดูเอ็นซัยม์ตับ และเชื้อไวรัส ว่าหมดไปหรือไม่ ตลอดจนเช็คว่ามีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้นหรือไม่ ในกรณีที่ร่างกายไม่สามารถกำจัดเชื้อไวรัส บี ได้ ถ้าปรากฏว่ามีไวรัส บี ในเลือดนานเกิน 6 เดือน แสดงว่าผู้ป่วยรายนั้นเป็นพาหะหรือเรื้อรังไปแล้ว
พาหะ ( Carrier )
พาหะ หมายถึง ผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัส บี หรือ ซี ในเลือดนานเกิน 6 เดือน แต่ไม่มีอาการ มักตรวจพบจากการตรวจเช็คร่างกาย บริจาคโลหิต หรือตรวจพบจากการติดตามรักษาผู้ป่วยตับอักเสบจากไวรัสแบบเฉียบพลันที่ไม่หาย
การวินิจฉัย
เจาะเลือด ถ้าพบว่า HBsAg ให้ผลบวกปรากฏในเลือดนานเกิน 6 เดือน แสดงว่าเป็นพาหะไวรัสตับอักเสบชนิด บี และถ้า Anti HCV ให้ผลบวกในเลือดก็แสดงว่าเป็นพาหะไวรัสตับอักเสบชนิด ซี
เจาะเลือดดูเอ็นซัยม์ตับ SGOT และ SGPT จะพบว่าปกติ
การรักษา
" ไม่มีการรักษาจำเพาะในรายที่เป็นพาหะ ในผู้ป่วยที่เป็นพาหะแล้วนั้น ส่วนใหญ่ก็จะมีเชื้ออยู่ในเลือดตลอดไปจะไม่หายขาด จะเป็นตัวสำคัญที่จะแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้
" มีผู้ป่วยบางรายที่ในช่วงแรกๆ จะพบว่ามีเอ็นซัยม์ตับปกติ ต่อมาเมื่อเช็คเป็นระยะๆ จะพบว่าผิดปกติ ดังนั้นในพาหะจะต้องตรวจเช็คเอ็นซัยม์ตับเป็นระยะๆ ปีละ 1 - 2 ครั้ง เพื่อติดตามความผิดปกติที่จะเกิดขึ้น
" นอกจากนี้การทำอัลตราซาวด์ตับ เพื่อดูความผิดปกติปีละ 1 ครั้ง ก็มีความจำเป็น
" งดแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงยาที่จะเป็นอันตรายต่อตับ
" ออกกำลังกายได้พอไม่ให้เหนื่อย
" ถ้ามีตาเหลือง ปัสสาวะสีเข้ม เพลีย บวม ให้รีบมาพบแพทย์
โรคตับอักเสบจากเชื้อไวรัส แบบเรื้อรัง ( Chronic Viral Hepatitis )
โรคนี้มักจะพบจากการตรวจเลือดเมื่อมาตรวจร่างกายประจำปี หรือพบจากการบริจาคโลหิต ( ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะไวรัสตับอักเสบชนิด บี และ ซี ) ในตับอักเสบเรื้อรังจากไวรัส บี นั้น อาจพบจากการติดตามผู้ป่วยที่เป็นแบบเฉียบพลันมาก่อน แล้วพบว่าเชื้อไวรัส บี ยังปรากฏอยู่ในเลือดนานเกิน 6 เดือน ( HBsAg ) มีความผิดปกติของเอ็นซัยม์ตับขึ้นๆลงๆตลอด มีอาการอ่อนเพลียและเหลืองได้
สำหรับเชื้อไวรัสตับอักเสบ ซี นั้น มักไม่ปรากฏอาการ หรืออาการน้อย ในระยะเฉียบพลันและตรวจค่อนข้างยากในระยะนั้น มักปรากฏอาการและตรวจพบตอนระยะเรื้อรังไปแล้ว คือพบ Anti HCV ให้ผลบวกในเลือด มีเอ็นซัยม์ตับสูง และอ่อนเพลีย
อาการ
มักพบว่าผู้ป่วยมีอาการ ตาเหลือง ตัวเหลือง เพลีย
การวินิจฉัย
1. จากการตรวจเลือด จะพบ HBsAg ให้ผลบวก ในรายตับอักเสบเรื้อรังจากไวรัส บี Anti HCV ให้ผลบวกในรายตับอักเสบเรื้อรังจากไวรัส ซี
2. ตรวจเช็คเอ็นซัยม์ตับ ผลจะปรากฏขึ้นๆลงๆ ตลอดเวลา อาจมีอาการเหลืองหรือไม่ก็ได้
การรักษา
" ไม่มีการรักษาที่จำเพาะให้หายขาด
" ในตับอักเสบจากไวรัสแบบเรื้อรังนั้น มีโอกาสที่จะกลายเป็นตับแข็งหรือมะเร็งตับได้ จึงจำเป็นต้องตรวจเช็คเอ็นซัยม์ตับเป็นระยะๆ และตรวจอัลตราซาวด์ของตับด้วย ทุก 1/2 - 1 ปี เพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลง
" จากการติดตามโรคตับอักเสบเรื้อรังจากไวรัส บี พบว่าตับอักเสบเรื้อรังแบบรุนแรง ( Chronic active hepatitis ) ซึ่งจะทราบจากการใช้เข็มตัดชิ้นเนื้อตับมาพิสูจน์ จะมีโอกาสกลายเป็นตับแข็งและมะเร็งมากกว่าชนิดอื่น
" ในปัจจุบันจึงมีการนำยา INTERFERON ซึ่งเป็นยาฉีด ซึ่งสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อไวรัส บี และ ซี ได้ แต่มีข้อเสียคือราคาแพงและฉีดยานาน 4 - 6 เดือน
วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบจากเชื้อไวรัส
ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันการเกิดโรคตับอักเสบจากเชื้อไวรัส ชนิด เอ และ บี วัคซีนจะมีประโยชน์ในผู้ที่ไม่เคยได้รับเชื้อไวรัส เอ และ บี มาก่อนเท่านั้น จึงจำเป็นต้องตรวจเช็คเลือดก่อนการฉีดวัคซีนเสมอในผู้ใหญ่
สำหรับเชื้อไวรัสตับอักเสบ เอ ให้ตรวจเลือดหา Anti HAV IgG หรือ Anti HAV total ถ้าให้ผลลบ จึงจะสมควรฉีดวัคซีน
สำหรับเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี ให้ตรวจเลือดหา HBsAg, Anti HBc และ Anti HBs ถ้าให้ผลลบทั้ง 3 ตัว จึงจะสมควรฉีดวัคซีน
วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบชนิด เอ และ บี ต้องฉีดรวม 3 เข็ม โดยฉีดเข้ากล้ามเนื้อที่ต้นแขน ( ระยะการฉีด เข็มที่ 1,2 และ 3 คือ 0,1 และ 6 เดือน ตามลำดับ )
ภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัส บี นั้น กว่า 90% จะอยู่นานถึง 5 ปี การฉีดกระตุ้นเมื่อเลย 5 ปี ไปแล้วนั้น ไม่จำเป็นในคนทั่วๆไป
ภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัส เอ นั้น เมื่อฉีดครบ 3 เข็ม ก็จะได้ภูมิคุ้มกันตลอดไป
ชนิดของวัคซีน มี 2 ชนิด คือ
1. วัคซีนที่มีภูมิคุ้มกันจะเกิดขึ้นภายหลังการฉีดกระตุ้นร่างกายระยะหนึ่ง ( Active ) คือวัคซีนที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ซึ่งภูมิคุ้มกันนี้จะอยู่ได้นาน
ข้อบ่งใช้
" ผู้ที่ไม่เคยได้รับเชื้อมาก่อน
" ผู้ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ
2. วัคซีนที่ภูมิคุ้มกันเกิดขึ้นทันทีหลังการฉีด( Passive ) แต่จะอยู่ไม่นาน ดังนั้นจึงต้องฉีดร่วมกับวัคซีนชนิด Active ( เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันระยะยาว )
ข้อบ่งใช้
ผู้ที่สัมผัสกับเชื้อไวรัสตับอักเสบไปแล้ว




Create Date : 27 มิถุนายน 2554
Last Update : 27 มิถุนายน 2554 14:05:02 น.
Counter : 1662 Pageviews.

0 comments
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

มนแพรวา
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]