All Blog
โรคสมาธิสั้น (Attention Deficit Hyperactivity Disorder-ADHD)

ข้อมูลจาก อาจารย์ นายแพทย์ ชาญวิทย์ พรนภดล
ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช
แพทย์ประจำศูนย์กุมารเวช โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์

1. โรคสมาธิสั้น คือ อะไร ?
โรคสมาธิสั้น คือ กลุ่มอาการที่เกิดขึ้น ตั้งแต่วัยเด็ก (ก่อนอายุ 7 ขวบ) ซึ่งจะมี
ผลกระทบต่อพฤติกรรม, อารมณ์, การเรียน และการเข้าสังคมกับผู้อื่นของเด็ก กลุ่มอาการนี้ได้แก่
ก. การขาดสมาธิ (attention deficit)
ข. การขาดความสามารถในการควบคุมตนเอง ( impulsivity)
ค. และอาการซน ( hyperactivity)
เด็กบางคนอาจจะมีอาการซน และการขาดความสามารถในการควบคุมตนเองเป็นอาการหลัก ซึ่งพบได้บ่อยในเด็กผู้ชาย หรือบางคนอาจจะมีอาการขาดสมาธิเป็นปัญหาหลัก ซึ่งพบได้บ่อย พอๆ กันในเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชาย โรคสมาธิสั้นนี้พบได้บ่อยในทุกประเทศทั่วโลก ในต่างประเทศพบว่า ประมาณ 3 - 5 % ของเด็กในวัยเรียนเป็นโรคสมาธิสั้น
2. จะสังเกตุได้อย่างไรว่าเด็กเป็นโรคสมาธิสั้นหรือไม่
อาการที่บ่งชี้ว่าเด็กอาจมีโรคสมาธิสั้น ได้แก่
ก. การขาดสมาธิ (attention deficit) : โดยสังเกตุพบว่าเด็กจะ
1. ไม่สามารถทำงานที่ครูหรือพ่อแม่สั่งจนสำเร็จ
2. ไม่มีสมาธิในขณะทำงานหรือเล่น
3. ดูเหมือนไม่ค่อยฟังเวลาพูดด้วย
4. ไม่สามารถตั้งใจฟัง และเก็บรายละเอียดได้ ทำให้ทำงานผิดพลาดบ่อย ๆ
5. ไม่ค่อยเป็นระเบียบ
6. มีปัญหาหรือพยายามหลีกเลี่ยงงานที่ต้องใช้ความคิดหรือสมาธิ
7. วอกแวกง่าย
8. ทำของใช้ส่วนตัวหรือของใช้ที่จำเป็นสำหรับงานหรือการเรียน หายอยู่บ่อย ๆ
9. ขี้ลืมบ่อย ๆ

ข. การซน (hyperactivity) และการขาดความสามารถในการควบคุมตนเอง (Impulsivity) เด็กจะมีลักษณะ ดังนี้
1. ยุกยิก อยู่ไม่สุข
2. นั่งไม่ติดที่ ลุกเดินบ่อย ๆ ขณะอยู่ที่บ้านหรือในห้องเรียน
3. ชอบวิ่ง หรือปีนป่ายสิ่งต่าง ๆ
4. พูดมาก พูดไม่หยุด
5. เล่นเสียงดัง
6. ตื่นตัวตลอดเวลา หรือดูตื่นเต้นง่าย
7. ชอบโพล่งคำตอบเวลาครูหรือพ่อแม่ถามโดยที่ยังฟังคำถามไม่จบ
8. รอคอยไม่เป็น
9. ชอบขัดจังหวะหรือสอดแทรกเวลาผู้อื่นกำลังพูดอยู่
หากเด็กมีลักษณะใน ข้อ ก หรือ ข้อ ข รวมกันมากกว่า 6 อาการ เด็กของท่านมีความ
เป็นไปได้สูงที่จะเป็นโรคสมาธิสั้น.
3. โรคสมาธิสั้นมีสาเหตุจากอะไร?
การวิจัย ในปัจจุบันพบว่า โรคสมาธิสั้นเกิดจากความบกพร่องของสารเคมี ที่สำคัญบางตัวในสมอง โดยมีกรรมพันธุ์เป็นปัจจัยที่สำคัญ ประมาณ 30 - 40 % ของเด็กสมาธิสั้น จะมีคนในครอบครัว คนใดคนหนึ่งมีปัญหาอย่างเดียวกัน ปัจจัยจากการเลี้ยงดูหรือสิ่งแวดล้อมเป็นเพียงปัจจัยเสริมที่ทำให้ อาการหรือความผิดปกติดีขึ้นหรือแย่ลง
มารดาที่ขาดสารอาหาร, ดื่มสุรา, สูบบุหรี่ หรือถูกสารพิษบางชนิด (เช่น ตะกั่ว) ในระหว่างตั้ง
ครรภ์ จะมีโอกาสมีลูกเป็นโรคสมาธิสั้นสูงขึ้น การวิจัยในปัจจุบันไม่พบว่า การบริโภคน้ำตาลหรือ
ชอกโกแลตมากเกินไป, การขาดวิตามิน, สีผสมอาหาร, โรคภูมิแพ้, การดูทีวีหรือเล่นวีดีโอเกมส์มากเกินไป เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคสมาธิสั้น

4. เด็กสามารถนั่งดูทีวี หรือเล่นวีดีโอเกมส์ได้เป็นชั่วโมง ทำไมหมอถึงบอกว่า เด็กเป็น โรคสมาธิสั้น?
ในขณะที่เด็กดูทีวีหรือเล่นวิดีโอเกมส์ เด็กจะถูกกระตุ้นอย่างต่อเนื่อง โดยภาพบนจอทีวีหรือวีดีโอเกมส์ที่เปลี่ยนทุก 2 - 3 วินาที จึงสามารถดึงดูดความสนใจของเด็กได้ สมาธิของเด็กมีขึ้นได้จากสิ่งเร้าภายนอก ซึ่งตรงกันข้ามกับสมาธิที่เด็กต้องสร้างขึ้นมาเอง ระหว่างการอ่านหนังสือหรือทำงานต่าง ๆ เด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นจะขาดสมาธิอันนี้
5. แพทย์สมารถวินิจฉัยโรคสมาธิสั้นได้อย่างไร?
แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคสมาธิสั้นโดยอาศัยประวัติที่ละเอียด, การตรวจร่างกาย, การ ตรวจระบบประสาท และการสังเกตุพฤติกรรมของเด็กเป็นหลัก ในปัจจุบันยังไม่มีการตรวจเลือด หรือ เอ็กซเรย์สมอง ที่สามารถนำมาใช้ในการวินิจฉัยโรคสมาธิสั้น
ในบางกรณี แพทย์จำเป็นต้องอาศัยการตรวจอื่น ๆ เช่น การตรวจสายตา (vision test) การตรวจการได้ยิน(Hearing test), การตรวจคลื่นสมอง (EEG), การตรวจเชาวน์ปัญญาและความสามารถทางการเรียน เพื่อช่วยวินิจฉัยแยกโรคลมชัก, ความบกพร่องทางสายตา, การได้ยิน หรือภาวะการเรียนบกพร่อง (Learning Disorder) ออกจากโรคสมาธิสั้น นอกจากนี้ โรคออทิสติก, โรคจิตเภท, ภาวะพัฒนาการล่าช้า, และโรคทางจิตเวชอื่น ๆ ในเด็ก เช่น โรควิตกกังวล, โรคซึมเศร้า สามารถทำให้เด็กแสดงอาการหรือพฤติกรรมเหมือนกับเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้น.
6. การรักษาโรคสมาธิสั้นมีอะไรบ้าง?
การรักษาเด็กสมาธิสั้นที่มีประสิทธิภาพสูงสุด คือ การผสมผสานการรักษาหลาย ๆ ด้าน ดังต่อไปนี้ : -
ก. การรักษาทางยา
ข. การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และการช่วยเหลือทางด้านจิตใจสำหรับเด็กและ ครอบครัว
ค. การช่วยเหลือทางด้านการเรียน
ก. การรักษาทางยา
ยาที่ได้ผลดีที่สุดสำหรับโรคสมาธิสั้น คือ ยาในกลุ่ม Psychostimulantal ซึ่งได้แก่ Methylphenidate (Ritalin R ), Dextroamphetamine (Dexedrine R ), Adderall และ Pemoline (Cylert R) ยาเหล่านี้เป็นยาที่ปลอดภัย มีผลข้างเคียงน้อยและมีประสิทธิภาพในการรักษาสูง ยาจะช่วยให้เด็กมี สมาธิดีขึ้น, ซนน้อยลง ดูสงบขึ้น, มีความสามารถในการควบคุมตัวเองดีขึ้น และอาจช่วยให้ผลการ เรียนดีขึ้น ผลที่ตามมาเมื่อเด็กได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี คือ เด็กจะมีความรู้สึกมีคุณค่าในตัวเอง (self-esteem) ดีขึ้น และมีความสัมพันธ์กับเพื่อนหรือคนรอบข้างดีขึ้น
ผลข้างเคียงทางยาในกลุ่มนี้ที่พบบ่อย ได้แก่ อาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลด นอนไม่หลับ, ปวดศรีษะ, ปวดท้อง และอารมณ์ขึ้นลง หงุดหงิดง่าย อาการข้างเคียง เหล่านี้ มักจะไม่รุนแรง และดีขึ้นได้ เมื่อ มีการปรับขนาดยาหรือเปลี่ยนไปใช้ยาในกลุ่มอื่นต่อไป
ข. การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการช่วยเหลือทางด้านจิตใจสำหรับเด็กและครอบครัว
ผู้ปกครองและครูของเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้น จำเป็นต้องเรียนรู้เทคนิคที่ถูกต้อง เพื่อช่วยในการจัดการกับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมบางอย่างของเด็ก การตีหรือการลงโทษทางร่างกายเป็น วิธีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ไม่ได้ผล และจะมีส่วนทำให้เด็กมีอารมณ์โกรธหรือแสดงพฤติกรรมคือ ต่อต้านและก้าวร้าวมากขึ้น วิธีการที่ได้ผลดีกว่า คือ การให้คำชมหรือรางวัล (positive reinforcement) เมื่อเด็กแสดงพฤติกรรมที่ถูกต้องและเหมาะสม รวมถึงการควบคุมพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม โดยการ งดกิจกรรมที่เด็กชอบ หรือตัดสิทธิอื่น ๆ ( negative reinforcement)

เด็กสมาธิสั้น ควรมีโอกาสได้คุยกับแพทย์ เพื่อแพทย์จะได้ช่วยให้ความรู้เกี่ยวกับข้อ จำกัดที่ตัวเด็กมีและช่วยแนะนำแนวทางปฏิบัติตัวเพื่อให้เด็กได้ใช้ความสามารถด้านอื่นทดแทนในส่วนที่บกพร่อง
ในบางราย ครอบครัวบำบัด (Family Therapy) ก็มีความจำเป็นสำหรับครอบครัวที่มี ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในครอบครัว เพื่อลดความวิตกกังวลและความเครียดของเด็ก.
ค. การช่วยเหลือทางด้านการเรียน
เด็กสมาธิสั้นส่วนใหญ่จะมีปัญหาการเรียนหรือเรียนได้ไม่เต็มศักยภาพร่วมด้วย ดังนั้น ครูจึงมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ที่จะช่วยเหลือเด็กสมาธิสั้นให้เรียนได้ดีขึ้น
ข้อแนะนำสำหรับครูในการช่วยเหลือเด็กสมาธิสั้น
1. จัดให้เด็กนั่งหน้าชั้นหรือใกล้ครูให้มากที่สุดในขณะสอน
2. จัดให้เด็กนั่งอยู่กลางห้อง หรือให้ไกลจากประตู, หน้าต่าง เพื่อลดโอกาสที่เด็กจะถูกทำให้วอกแวกโดยสิ่งต่าง ๆ นอกห้องเรียน
3. เขียนการบ้านหรืองานที่เด็กต้องทำในชั้นเรียนให้ชัดเจนบนกระดานดำ
4. ตรวจสมุดจดงานของเด็กเพื่อให้แน่ใจว่าเด็กจดงานได้ครบ
5. อย่าสั่งงานให้เด็กทำ (ด้วยวาจา) พร้อมกันทีเดียวหลาย ๆ คำสั่ง ควรให้เวลาให้เด็กทำเสร็จทีละอย่าง ก่อนให้คำสั่งต่อไป
6. คิดรูปแบบวิธีเตือนหรือเรียกให้เด็กกลับมาสนใจบทเรียน โดยไม่ให้เด็กเสียหน้า
7. จัดให้เด็กที่อยู่ไม่สุข มีโอกาสใช้พลังงานในทางสร้างสรรค์ เช่น มอบหมายหน้าที่ ให้ช่วยครู เดินแจกสมุดให้เพื่อน ๆ ในห้อง เป็นต้น
8. ให้คำชมเชยหรือรางวัลเมื่อเด็กปฏิบัติตัวดีหรือทำสิ่งที่เป็นประโยชน์
9. หลีกเลี่ยงการใช้วาจาตำหนิ, ว่ากล่าวรุนแรง, หรือทำให้เด็กอับอายขายหน้า
10. หลีกเลี่ยงการตี หรือการลงโทษทางร่างกายเมื่อเด็กกระทำผิด
11. ใช้การตัดคะแนน, งดเวลาพัก, ทำเวร หรืออยู่ต่อหลังเลิกเรียน (เพื่อทำงานที่ค้างอยู่ให้เสร็จ) เมื่อเด็กทำความผิด
12. ให้เวลากับเด็กนานขึ้นกว่าเด็กปกติระหว่างการสอบ
7. เมื่อโตขึ้นเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นมีโอกาสหายมั้ย?
เมื่อผ่านวัยรุ่น ประมาณ 30% ของเด็กสมาธิสั้นมีโอกาสหายจากโรคนี้ และสามารถเรียนหนังสือหรือทำงานได้ตามปกติ โดยไม่ต้องรับประทานยา ส่วนใหญ่ของเด็กสมาธิสั้น จะยังคงมีความบกพร่องของสมาธิอยู่ในระดับหนึ่งถึงแม้ว่าเด็กดูเหมือนจะซนน้อยลง และมีความสามารถในการควบคุมตนเองดีขึ้น เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว บางคนหากสามารถปรับตัวและเลือกงานที่ไม่จำเป็นต้องใช้สมาธิมากนัก ก็จะมีโอกาสประสบความสำเร็จและดำเนินชีวิตได้ตามปกติ บางคนอาจจะยังคงมีอาการของโรคสมาธิสั้นอยู่มาก ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อการศึกษาต่อ, การงาน และการเข้าสังคมกับผู้อื่น ผู้ป่วยในกลุ่มนี้จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง.
8. ผู้ใหญ่ที่มีสมาธิสั้นจะมีลักษณะหรืออาการอะไรบ้าง?
โรคสมาธิสั้น ไม่ใช่โรคที่เกิดกับเด็กหรือพบได้เฉพาะในวัยเด็กเท่านั้น ปัจจุบันพบว่ามีผู้ใหญ่ หลาย ๆ คน ที่มีปัญหานี้ และทำให้ชีวิตไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร.
ลักษณะต่อไปนี้จะช่วยบ่งชี้ว่าท่านอาจเป็นโรคสมาธิสั้นและต้องการการรักษา
1. มีประวัติบ่งชี้ถึงโรคสมาธิสั้น ตั้งแต่อยู่ในวัยเด็ก
2. ใจร้อน โมโหง่าย
3. อารมณ์ขึ้นลงเร็ว
4. หุนหัน พลันแล่น ขาดความยับยั่งชั่งใจ
5. สามารถทนกับความเครียดหรือสิ่งที่ทำให้คับข้องใจได้น้อย
6. วอกแวกง่าย ไม่ค่อยมีสมาธิระหว่างการทำงาน
7. รอคอย อะไรนาน ๆ ไม่ค่อยได้
8. มักจะทำงานหลาย ๆ ชิ้น ในเวลาเดียวกัน แต่มักจะทำไม่สำเร็จสักชิ้น
9. นั่งอยู่นิ่ง ๆ ไม่ได้นาน ชอบเขย่าขาหรือลุกเดินบ่อย ๆ
10. เบื่อง่าย หรือต้องการสิ่งเร้าอยู่เสมอ
11. ไม่มีระเบียบ
12. เปลี่ยนงานบ่อย เนื่องจากความผิดพลาดในการทำงาน
13. ผิดนัด หรือลืมทำเรื่องสำคัญ ๆ อยู่เสมอ
14. มีปัญหากับบุคคลรอบข้าง เช่น สามี, ภรรยา, ญาติพี่น้อง, หัวหน้าหรือผู้ร่วมงานอยู่บ่อย ๆ.





Create Date : 27 มิถุนายน 2554
Last Update : 27 มิถุนายน 2554 14:04:28 น.
Counter : 1133 Pageviews.

0 comments
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

มนแพรวา
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]