All Blog
ภูมิแพ้ผิวหนัง คืออะไร ( Atopic Dermatitis )

ข้อมูลจาก บริษัท สตีเฟล ลาบอราทอรี่(ไทยแลนด์)จำกัด
เป็นโรคทางกรรมพันธุ์แบบหนึ่งที่ปรากฏอาการออกมาทางผิวหนัง และเกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันภายในร่างกายของเราเอง ซึ่งตอบสนองต่อสิ่งเร้าต่างๆ ได้มากกว่าปกติ ทำให้เกิดอาการแพ้ขึ้นทางผิวหนัง และมักจะมีประวัติครอบครัวที่เป็นภูมิแพ้แบบต่างๆ เช่น หวัดเรื้อรัง, แพ้ฝุ่น, ไข้ละอองฟางหรือหอบหืด อย่างใดอย่างหนึ่งหรืออาจมีอาการพร้อมกันหลายๆอย่างก็ได้
รู้ได้อย่างไรว่าเป็นหรือไม่ อาการเป็นอย่างไร
โรคนี้ค่อนข้างจะมีรูปแบบเฉพาะสังเกตได้ง่าย โดยที่มักจะมีผิวแห้งและคันได้ง่าย มีผื่นผิวหนังอักเสบในแต่ละบริเวณของร่างกายในแต่ละช่วงอายุดังนี้
1. ช่วง 2 เดือน - 2 ปี มักจะมีผื่นผิวหนังอักเสบแดงบริเวณแก้ม, หน้าผาก, ก้นหรือน่อง, ซึ่งเป็นบริเวณที่มีการเสียดสีในช่วงที่เด็กยังคว่ำหรือคลาน แต่บางคนอาจมีเพียงแค่รอยด่างขาวๆ ที่แก้มที่เรียกว่า เกลื้อนน้ำนม อาการผิวแห้งคันจะกระตุ้นให้เด็กเกา แต่ยิ่งเกาอาการอักเสบยิ่งมากขึ้น จนบางรายอาจมีการติดเชื้อที่ผิวหนังซ้ำเข้าไปอีก
2. ช่วงอายุ 4 - 10 ปี รอยผิวหนังอักเสบจะเลื่อนไปสู่ตำแหน่งของข้อพับด้านในบริเวณแขนและขา, รักแร้, ข้อพับเข่า, ข้อพับศออก, ข้อมือ หรือข้อเท้าเป็นต้น ผื่นจะเป็นทั้งสองข้างซ้ายขวา แต่ความรุนแรงของการอักเสบอาจไม่เท่ากัน บางรายเป็นตุ่มคันเล็กๆ และเกาจนเยิ้มแฉะ บางรายอาจจะมีผิวหนังที่หนาตัวขึ้นเป็นปื้นและคันมาก พอพ้นช่วงนี้แล้ว ส่วนใหญ่จะค่อยๆดีขึ้นและหายไป เหลือแต่อาการผิวแห้ง
3. ช่วงอายุ 12 ปีขึ้นไป ส่วนใหญ่จะมีแค่อาการ ผิวแห้ง, คันและแพ้ง่าย ถ้าดูแลตนเองดีพอก็จะบรรเทาอาการต่างๆได้มาก มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ผื่นอักเสบจะยังคงอยู่ และมักจะเลื่อนลงสู่บริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า บางรายมือแตกระแหงจนมีเลือดออกซิบๆ และจะแพ้สารต่างๆได้ง่าย เพราะเป็นอวัยวะที่ต้องสัมผัสกับสิ่งต่างๆรอบตัว โดยเฉพาะสารเคมีที่ใช้อยู่ในชีวิตประจำวัน
รักษาได้หายขาดไหม ติดต่อหรือไม่
โรคทางกรรมพันธุ์แบบนี้ ยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาดได้ แต่ก็ไม่ติดต่อมีแต่ถ่ายทอดอาการต่อไปยังลูกหลานรุ่นต่อๆไปได้ ถึงอย่างไรก็ตามเราก็มีวิธีที่จะชะลออาการและความรุนแรงของโรคได้ ถ้ารู้จักดูแลและปฏิบัติตนให้ถูกวิธีเสียแต่แรก ซึ่งดีกว่าที่จะต้องมารักษาอาการอักเสบของผิวหนังที่เกิดขึ้นมา
มีข้อแนะนำในการปฏิบัติตนอย่างไร ?
ควรดูแลตนเองดังนี้คือ
1. สังเกตว่าแพ้อะไรก็ให้หลีกเลี่ยงสิ่งนั้น เช่น นม, สบู่, อาหารทะเล ( ถ้าเป็นเด็กเล็กควรปรึกษานักโภชนาการด้วยโดยเฉพาะกรณีที่แพ้นม, ไข่ )
2. พยายามรักษาความชุ่มชื่นให้กับผิว โดยเลือกสารทำความสะอาดที่เหมาะกับผิว, ให้ความชุ่มชื่น, ไม่ระคายเคืองกับผิว ไม่กระตุ้นภูมิแพ้ แม้กระทั่งสบู่เด็กบางชนิดก็ทำให้อาการกำเริบได้ การอาบน้ำไม่ได้ทำให้อาการแย่ลง แต่สารทำความสะอาดที่เลือกใช้ไม่ถูกต้อง จะพาไขมันของผิวหนังออกไปทำให้ผิวแห้งมากและคัน อาการจึงกำเริบหรืออาจเลือกใช้สารให้ความชุ่มชื่น ทาหลังอาบน้ำอีกต่อหนึ่งก็ได้ ( เลือกตัวที่ไม่แพ้และเหมาะกับผิว ระวังพวกที่ใส่น้ำหอมฉุนเพราะอาจแพ้ได้ง่าย )
3. เสื้อผ้า เครื่องใช้ และสิ่งที่กระตุ้นอาการต่างๆ ควรหลีกเลี่ยง เช่น ผ้าขนสัตว์, สัตว์เลี้ยงรวมทั้งผงซักฟอกแรงๆ ควรใช้ผ้าฝ้าย และตัดเล็บให้สั้นเสมอ ควรมีการดูดฝุ่นทำความสะอาดที่นอน และเครื่องนอนอยู่เสมอเพื่อขจัดและป้องกันไรฝุ่น
4. หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิแบบฉับพลัน เช่น การอาบน้ำอุ่น หรือเปิดแอร์ไว้เย็นจัด
5. ระวังรักษาสุขภาพโดยทั่วไปให้แข็งแรง การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะช่วยได้มาก การติดเชื้อต่างๆของร่างกาย เช่น หวัด จะกระตุ้นอาการผื่นที่ผิวหนังได้
6. อาการเครียด การพักผ่อนไม่เพียงพอ ก็จะทำให้ผื่นเกิดขึ้นได้ง่าย
7. การว่ายน้ำในสระว่ายน้ำอาจเกิดการระคายเคืองจากคลอรีนได้ ควรจะป้องกันโดยทา moisturizer หนาๆ และควรขึ้นมาอาบน้ำโดยใช้สารทำความสะอาดที่มี emollient ช่วย
8. การรักษาผื่นผิวหนังที่กำลังอักเสบอยู่ ควรปรึกษาแพทย์ผิวหนังหรือแพทย์ภูมิแพ้ หรือแพทย์ประจำตัวของท่าน





Create Date : 27 มิถุนายน 2554
Last Update : 27 มิถุนายน 2554 13:54:07 น.
Counter : 672 Pageviews.

0 comments
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

มนแพรวา
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]