สาระน่ารู้เกี่ยวกับการให้ยากันชักในเด็ก
สาระน่ารู้เกี่ยวกับการให้ยากันชักในเด็ก
บทความ จากโรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้าฯ
ในปัจจุบันเด็กโรคลมชักสามารถควบคุมการชักด้วยการรับประทานยากันชัก โดยต้องรับประทานยาติดต่อกันเป็นเวลานาน ในขนาดที่เหมาะสม และ เพียงพอที่จะป้องกันการชักได้ ซึ่งยากันชักแต่ละชนิดจะให้ประสิทธิภาพในการป้องกันการชักแตกต่างกัน เมื่อเริ่มให้ยากันชักแพทย์จะให้ยาชนิดเดียวก่อน หลังจากนั้นจะเพิ่มขนาดขึ้น และหลังจากเพิ่มจนเต็มขนาดแล้วยังไม่สามารถควบคุมอาการชักได้ แพทย์อาจเพิ่มยาชนิดอื่น หรือ เปลี่ยนยาชนิดอื่นให้เหมาะสมต่อไป ยากันชักที่นิยมใช้ในการรักษามีดังนี้
1. ฟีโนบาร์บิทาล ( Phenobarbital )

นิยมใช้ในโรคชักจากไข้สูง อาการชักที่มีลักษณะเกร็ง กระตุก หรือชักเฉพาะอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย เช่น แขนขา และทั้งซีกของร่างกาย

อาการข้างเคียง ง่วงซึม เดินเซ ความตั้งใจ และ สนใจในการเรียนลดลง ก้าวร้าว และซุกซนมากขึ้น ซึ่งพบได้ถึงร้อยละ 10 - 30 และ มีผื่นขึ้น ซึ่งพบได้ไม่บ่อยนัก
คำแนะนำในการใช้ยา

1.1 อาการง่วงนอนจะเกิดในระยะ 1 - 2 สัปดาห์แรกที่เริ่มให้ยา เมื่อเคยชินแล้วอาการง่วงนอนจะหายไป หรือมีน้อยมาก

1.2 มีอาการเดินเซ มีผื่น ควรปรึกษาแพทย์
2. ฟีไนโตอิน ( Phenytoin ) หรือชื่อการค้า ไดแลนติน ( Dilantin )

ใช้รักษาอาการชักที่มีการกระตุกเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย หรือชักทั้งตัว และมีอาการเกร็ง อาการข้างเคียง มีเหงือกหนามากกว่าปกติ เซล้ม อาจเห็นภาพซ้อน อาเจียน และ ง่วงซึม ถ้าให้ยาในระดับสูงนานเกินไปเด็กจะชักบ่อยขึ้น มีผื่น โลหิตจาง
คำแนะนำในการใช้ยา

2.1 รับประทานยาหลังอาหารทันที ไม่ควรรับประทานยาในขณะท้องว่าง

2.2 เพื่อป้องกันการเกิดเหงือกหนาตัวขึ้น ควรทำความสะอาดปาก ฟัน อย่างน้อย 2 ครั้ง คือ ตอนเช้า และ ก่อนนอน และ นวดเหงือกพร้อมกับสังเกตความผิดปกติในช่องปากอย่างสม่ำเสมอ และ พบทันตแพทย์อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง

2.3 ถ้ามีอาการซีด อ่อนเพลีย มีผื่น เดินเซ หรืออาการตากระตุก ควรปรึกษาแพทย์
3. วาลโปรอิค แอซิค ( Valproic acid ) ชื่อทางการค้า เดพากิน ( Depakine )

ใช้รักษาอาการชักทั้งตัว ใช้ป้องกันการชักจากไข้สูง

อาการข้างเคียง ง่วงซึม คลื่นไส้อาเจียน มือสั่น อาจมีผมร่วง บางคนกินจุ น้ำหนักเพิ่มขึ้นมาก มือเท้าบวม มีผื่น มีพิษต่อตับ
คำแนะนำในการใช้ยา

3.1 ไม่ควรรับประทานยาขณะท้องว่าง

3.2 อาจจะต้องเจาะเลือดเพื่อติดตามหน้าที่ของตับเป็นระยะ ๆ
4. คาร์บามาซีปีน ( Carbamazepine )

ใช้รักษาอาการชักเฉพาะที่ เกร็งกระตุก และ ชักทั้งตัว

อาการข้างเคียง ง่วงซึม เห็นภาพซ้อน เวียนศีรษะ ปากแห้ง อาจทำให้ปวดศีรษะ ท้องผูกหัวใจเต้นผิดปกติ ผื่นขึ้น เม็ดเลือดขาวต่ำ และ อาจทำให้พฤติกรรมเปลี่ยนแปลงได้บ้าง

คำแนะนำในการใช้ยา

4.1 ให้เด็กรับประทานผัก และ ผลไม้เพื่อป้องกันอาการท้องผูก

4.2 ถ้าเกิดอาการเวียนศีรษะ เห็นภาพซ้อน หัวใจเต้นผิดปกติ มีผื่นขึ้น ควรปรึกษาแพทย์
5. ไดอะซีแปม ( Didzepam ) ไนตราซีแปม ( Nitrazepam ) และ โครนาสซีแปม ( Clonazepam )

ใช้ป้องกันอาการชัก ออกฤทธิ์เร็วภายใน 1 ชั่วโมง มักใช้ได้ผลในช่วงระยะสั้น ๆ

อาการข้างเคียง ง่วงนอน พฤติกรรมเปลี่ยนแปลง เดินเซ มีเสมหะออกจากหลอดลมมากกว่าปกติ

คำแนะนำในการใช้ยากันชักในเด็ก

1. รับประทานยาสม่ำเสมออย่างต่อเนื่องตลอดการรักษา

2. ถ้าลืมรับประทานยาไม่เกิน 24 ชั่วโมง ให้รับประทานทันทีที่นึกได้ ถ้าลืมรับประทานยาเกิน 24 ชั่วโมง แล้วให้รับประทานยามื้อต่อไปตามปกติ โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า

3. เด็กจะได้รับการเจาะเลือดเพื่อหาระดับของยาในกระแสเลือด เพื่อแพทย์จะได้ปรับระดับยาให้เหมาะสมกับเด็ก และ ป้องกันการเกิดพิษจากยา

4. ถ้าเด็กมีอาการไม่สบาย เช่น มีไข้ น้ำมูกไหล ท้องเดิน ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง เพราะยาบางชนิดทำให้ยากันชักออกฤทธิ์น้อยลง ได้แก่ ยาแอนตี้ฮีสตามีน ( Antihistamine ) บาร์บิตู - เรท ( Barbiturates ) หรือยาบางชนิดทำให้ยากันชักออกฤทธิ์มากขึ้น ทำให้เกิดอาการพิษจากยาได้ เช่น แอสไพริน ( Aspirin ) คลอแรมเฟนนิคอล ( Chloramphenical ) ซัลโฟนามายด์ ( Sulfonemide ) เป็นต้น

5. ถ้าเด็กรับประทานยากันชักแล้วยังคงมีอาการชักอยู่ต้องรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อแพทย์จะได้ปรับขนาดยา หรือ เปลี่ยนยาชนิดใหม่ให้เหมาะสมกับเด็ก

6. สังเกตอาการข้างเคียงของยา หากพบเดินเซ มองภาพซ้อน ผื่นขึ้น ลูกตาสั่น ควรปรึกษาแพทย์

7. ผู้ปกครอง หรือ เด็กควรเรียนรู้ชื่อ และ ขนาดของยากันชักที่รับประทาน เพื่อจะได้แจ้งให้แพทย์ทราบถ้ามีอาการผิดปกติเกิดขึ้นในขณะรับประทานยากันชัก

8. การหยุดยากันชักขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ ถ้าไม่มีอาการชักเกิดขึ้นเลยแพทย์จะค่อย ๆ ลดขนาดยาลง จนสามารถหยุดยาได้ในที่สุด
ยาที่ใช้รักษาอาการชักในเด็กมีหลายชนิดดังนั้นการที่ผู้ปกครอง และ เด็กมีความรู้เกี่ยวกับยากันชักจะช่วยให้ผู้ปกครองสามารถให้การดูแลเด็กได้อย่างถูกต้องเหมาะสม




Create Date : 21 กุมภาพันธ์ 2554
Last Update : 21 กุมภาพันธ์ 2554 13:48:38 น.
Counter : 7053 Pageviews.

0 comments
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

มนแพรวา
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]