Group Blog
All Blog
<<< "ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ล้วนเป็นทุกข์" >>>










“ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ล้วนเป็นทุกข์”

ร่างกายเป็นเหมือนรถยนต์คันหนึ่ง

ใจผู้รู้ผู้คิดผู้สั่งร่างกาย เป็นเหมือนคนขับ

เป็น ๒ ส่วนมารวมกัน เหมือนน้ำกับขวดน้ำ

 มาอยู่ในที่เดียวกัน แต่ขวดน้ำกับน้ำเป็นคนละส่วนกัน

 ร่างกายกับใจก็เป็นคนละส่วนกัน

 ใจเป็นเหมือนน้ำที่มีร่างกายเป็นภาชนะรองรับ

 มีหน้าที่สั่งให้กายไปทำอะไรต่างๆ

ด้วยความฉลาดหรือความโง่

ถ้าฉลาดก็ใช้ให้ทำในสิ่งที่ดี

 เช่นวันนี้พวกเรามีความฉลาดสั่งให้มา มีปัญญา

มีธรรมะสั่งให้มาทำบุญ ฟังเทศน์ฟังธรรม

 อย่างนี้เรียกว่าความฉลาดพามา

 ไม่ใช่อวิชชา ปัจจยา สังขารา

แต่เป็นวิชชา ปัจจยา สังขารา

หรือธัมมา ปัจจยา สังขารา

 อวิชชาเป็นความหลง วิชชาเป็นความรู้จริงเห็นจริง

 พวกเราถึงแม้จะยังไม่รู้จริงเห็นจริง

 เราก็อาศัยความรู้จริงเห็นจริงของพระพุทธเจ้า

 ของครูบาอาจารย์ ที่ทรงสั่งสอนให้เราคิดมาในทางนี้

 คิดดี คิดทำบุญ คิดแสวงหาธรรมะ

เมื่อคิดดีแล้ว เราก็พูดดีทำดี ชวนเพื่อนฝูงมากัน

 แล้วก็เดินทางมาทำความดีกัน พอได้ทำความดีแล้ว

 ก็ได้ประโยชน์สุขทางด้านจิตใจ จิตใจมีความสุข

 เย็นสบาย มีความรู้ความฉลาดเพิ่มขึ้น

มีความเห็นที่ถูกต้องมากขึ้น

นี่คือใจที่มีความฉลาดพาไป ถ้าใจมีความโง่พาไป

 ตอนนี้คงไปเที่ยวอยู่ที่ไหนแล้ว ไปตกปลา

 ไปเล่นการพนัน ไปดูภาพยนตร์ ไปเลี้ยงฉลองกัน

 นั่นเป็นความโง่พาไป

เป็นความสุขแบบสุกเอาเผากิน

 เหมือนกับควันไฟที่ปรากฏขึ้นมาแล้วก็จางหายไป

 ความสุขที่ได้จากความโง่ เป็นความสุขที่ไม่จีรังถาวร

 ไม่ติดอยู่กับใจ สิ่งที่ติดอยู่กับใจคือความหิว

ความอยาก ความอ้างว้างเปล่าเปลี่ยวใจ

 เวลาที่ได้อยู่กับเพื่อนฝูง ได้ไปเที่ยวกัน

 ก็มีความสุข พอต่างคนต่างแยกทางกันกลับบ้าน

 ตอนนั้นใจก็รู้สึกว้าเหว่

แต่การทำบุญจะทำให้มีความอิ่มเอิบใจ

 ตอนแยกจากกันไป ก็ไม่รู้สึกว้าเหว่

เพราะมีธรรมะมีบุญติดอยู่กับใจ

ที่ทำให้อยู่ตามลำพัง โดยไม่ต้องมีสิ่งอื่น

หรือคนอื่นมาคอยให้ความสุขได้

เวลาคิดอะไรควรคิดด้วยปัญญาความฉลาด

เช่นคิดว่าร่างกายเป็นเหมือนรถยนต์คันหนึ่ง

ไม่ได้เป็นใจ ใจไม่ได้เป็นกาย

 ใจเป็นผู้รู้ผู้คิด ร่างกายไม่รู้ไม่คิด

 ถ้าไม่มีใจก็เป็นซากศพไป ไปคุยกับคนตาย

คุยอย่างไรก็ไม่รู้เรื่อง

 เพราะผู้รู้ไม่ได้อยู่กับร่างกายแล้ว

 เวลาเอาเข็มไปทิ่มไปแทงร่างกายก็ไม่สะดุ้งผวา

 แต่ถ้ายังมีใจรับรู้อยู่

 เพียงแต่ยกเข็มขึ้นมายังไม่ทันจิ้มก็ผวาแล้ว

ใจนี้แลที่มาเกิดมาสิงในร่างกาย

 ในขณะที่เริ่มก่อตัวในท้องแม่

 เมื่อมีเชื้อของพ่อกับของแม่มาผสมกัน

ถ้าไม่มีใจมาร่วมด้วย ก็จะไม่ตั้งครรภ์ ไม่ปฏิสนธิ

 เช่นสามีภรรยาบางคู่ที่ไม่มีลูก

 อาจจะเป็นเพราะไม่มีดวงวิญญาณมาร่วมด้วย

 หรือเป็นความบกพร่องในส่วนของพ่อหรือของแม่

 ต้องเป็นส่วนใดส่วนหนึ่งใน ๓ ส่วนนี้ที่บกพร่อง

 คงไม่บกพร่องทางด้านวิญญาณ

 เพราะมีดวงวิญญาณที่รอเกิดอยู่เป็นจำนวนมาก

 เหมือนนักเรียนที่สอบเอ็นทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัย

ในแต่ละปีมีสมัครสอบเข้าเป็นจำนวนมาก

 มากกว่าที่ทางมหาวิทยาลัยจะรับได้

 ฉันใดการมาเกิดเป็นมนุษย์

ก็เป็นเหมือนกับการสอบเข้ามหาวิทยาลัย

 ต้องแข่งขันกัน วิชาที่เน้นมากที่สุดก็คือศีลธรรม

 ถ้ามีศีลธรรมมากก็มีคะแนนมาก

 มีศีลธรรมน้อยก็มีคะแนนน้อย

 เพราะเหตุปัจจัยที่ทำให้ดวงวิญญาณ

เกิดเป็นมนุษย์ได้อยู่ที่ศีลธรรมเป็นหลัก

 ไม่ใช่อยู่ที่การทำบุญให้ทาน

 ต่อให้ทำบุญให้ทานมากกว่าเป็นหลายล้านเท่า

ก็สู้คนที่ไม่ได้ทำบุญให้ทาน

หรือทำบุญให้ทานน้อยกว่า แต่รักษาศีลได้มากกว่า

 เพราะคนที่รักษาศีลได้มากกว่า

มีโอกาสเกิดเป็นมนุษย์ได้มากกว่า

 เพราะเหตุปัจจัยที่จะทำให้เกิดเป็นมนุษย์

 เป็นเทพ เป็นพรหม เป็นอริยบุคคล

 ต้องมีศีล ๕ เป็นเหตุเป็นปัจจัย

ไม่ใช่อยู่ที่การทำบุญ ๑๐๐ ล้าน ๑๐๐๐ ล้าน

 แต่ยังคดโกง ยังโกหกหลอกลวง

 จะไม่ได้เกิดเป็นมนุษย์ แต่จะเกิดเป็นเดรัจฉาน

 เช่นเศรษฐีที่กลับมาเกิดเป็นสุนัขในบ้านของตนเอง

ถ้าทำบุญมากแต่ไม่รักษาศีล

ก็จะได้เกิดเป็นสุนัขที่น่ารัก

 ใครเห็นก็อยากเอาไปเลี้ยงเป็นลูก

บางคนไม่มีลูกก็เลี้ยงสุนัขแทน เลี้ยงเหมือนลูกเลย

 เอาติดตัวใส่ตะกร้าไป

 ไปหาพระก็ให้ถวายสังฆทานด้วย

 เวลาตายไปก็ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ด้วย

 เพราะหมาตัวนั้นเคยทำบุญมามาก

 เกิดมาก็อยู่อย่างสุขสบาย แต่ไม่ได้รักษาศีล

 จึงไม่ได้เกิดเป็นมนุษย์ เป็นเทพ เป็นพรหม

 เป็นพระอริยเจ้า เวลาพระให้ศีลท่านจะกล่าวว่า

สีเลนะ สุคติง ยันติ ศีลเป็นเหตุพาให้ไปสู่สุคติ

คือภพของมนุษย์ เทพ พรหม พระอริยบุคล

จึงอย่าไปหลงคิดว่า ถ้าทำบุญให้ทานมากแล้ว

จะได้ไปสวรรค์ ได้ไปเกิดเป็นมนุษย์ ต้องรักษาศีล

 ถ้ารักษาศีลแต่ไม่ได้ทำบุญให้ทานมาก

 ก็จะเกิดเป็นมนุษย์ที่ไม่ค่อยมีเงินมีทอง

 ต้องหาใหม่เอง แต่ถ้าทำบุญให้ทานก็มาก

 รักษาศีลก็มาก เกิดเป็นมนุษย์

ก็จะมีรูปร่างหน้าตาสวยงาม

 มีสมบัติข้าวของเงินทองมาก ได้เกิดเป็นลูกเศรษฐี

 ไม่ต้องเหนื่อยหาเงินหาทอง

ใช้เงินของพ่อแม่ได้อย่างสบาย

 นี่คืออานิสงส์ของการทำบุญให้ทานรักษาศีล

 อานิสงส์ของการมีธรรมะพาไป

 ถ้ารักษาศีลได้มากเพียงไร

ใจจะมีความร่มเย็นเป็นสุขมากเพียงนั้น

 จะเห็นคุณค่าความสงบสุขของจิตใจ

 ก็จะอยากให้มีมากยิ่งขึ้น ก็จะอยากภาวนา

 เพราะศีลให้ความสงบสุขได้ในเพียงระดับหนึ่ง

 ถ้าอยากจะให้มีความสุขมากกว่านั้น

 ก็ต้องภาวนา ถึงแม้จะรักษาศีลได้

 ก็ยังโกรธยังเกลียดได้ ยังอิจฉาริษยาได้

 ยังมีอารมณ์ว้าวุ่นขุ่นมัวได้

ถ้าต้องการกำจัดสิ่งเหล่านี้ที่ทำให้จิตใจไม่สงบ

 ก็ต้องบำเพ็ญธรรมที่สูงขึ้นไป ต้องเจริญจิตภาวนา

ในเบื้องต้นต้องเจริญสมถภาวนาก่อน

ต่อด้วยวิปัสสนาภาวนา

เจริญสมาธิและปัญญาตามลำดับ

 เวลาจิตสงบตัวลงความโลภความโกรธความหลง

ก็จะสงบตามไปด้วย

 เพราะความโลภความโกรธความหลง

ต้องอาศัยการทำงานของจิต คือความคิดของจิต

 เป็นสื่อเป็นเครื่องมือ

เหมือนพวกเราอาศัยรถยนต์เดินทางมาที่นี่

 ถ้าใจไม่คิดอะไรสงบนิ่งอยู่เฉยๆ ก็จะโกรธไม่ได้

 โลภไม่ได้ หลงไม่ได้ ถ้าใจเห็นอะไรแล้วเอามาคิด

 ว่าดีนะ ได้มาแล้วจะมีความสุข

 ก็จะเป็นความหลงพาให้คิด คิดผิด

คิดว่าสิ่งในโลกนี้มีความสุข ถ้ามีธรรมะพาให้คิด

 ก็จะคิดว่าไม่มีอะไรในโลกนี้ที่เป็นความสุขเลย

 สัพเพ สังขารา ทุกขา สัพเพ สังขารา อนิจจา

 สัพเพ ธัมมา อนัตตา ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้

ล้วนเป็นทุกข์ทั้งนั้น แต่พวกเราไม่เห็นกัน

 เพราะเป็นความทุกข์ที่เคลือบด้วยความสุข

 เหมือนยาขมเคลือบน้ำตาล ใหม่ๆ ก็มีความสุข

 เวลาไปเที่ยวก็มีความสุขสนุกสนานเฮฮา

พอกลับบ้านก็เศร้าสร้อยหงอยเหงา

 ถ้าไม่ออกจากบ้านได้ อยู่บ้านทนทุกข์ไป

จนเกิดความเคยชิน ต่อไปจะอยู่บ้านเฉยๆได้

จะไม่รู้สึกอ้างว้างเปล่าเปลี่ยว ไม่ต้องออกไป

หาความสุขนอกบ้าน หาความสุขภายในบ้านได้

 เพราะในบ้านเป็นเหมือนสวรรค์อยู่แล้ว

 มีทุกสิ่งทุกอย่างพร้อมเพรียงไปหมด

ที่นอน ที่นั่ง ห้องน้ำห้องท่า อาหารการกิน

 แสนจะสุขแสนจะสบาย

 ไม่ต้องไปทนนั่งรถเป็นชั่วโมงๆ

กว่าจะไปถึงที่ๆ อยากจะไป

 พอได้ดูได้เห็นแล้วก็ต้องนั่งรถกลับ

ทรมานอยู่ในรถ แต่ความหลงจะไม่ทำให้คิดอย่างนี้

 จะคิดว่า ไปเถิด ไปแล้วจะสุข ไปแล้วจะสนุก

 เหนื่อยยากลำบากอย่างไรก็สู้ นี่คือความหลงพาไป

 อวิชชาพาไป อวิชชา ปัจจยา สังขารา

พาไปหารูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

ถ้าธรรมะพาไป จะสั่งให้สลัดให้ละ

รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ให้สำรวมอินทรีย์

ตาหูจมูกลิ้นกาย

ไม่ให้ไปหารูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

ให้หันเข้ามาดูใจ ให้เข้าข้างใน

หลวงปู่ดุลย์สอนว่า ใจออกข้างนอกเป็นสมุทัย

พอออกข้างนอกก็จะเกิดความอยากขึ้นมา

อยากจะทำ อยากจะดู อยากจะฟัง อยากจะได้

 ถ้าดึงใจเข้าข้างในทำใจให้สงบ

 ความอยากก็จะไม่เกิดขึ้นมา มีแต่ความว่าง

 ความสงบ ความเย็น ความสบาย ความอิ่มความพอ

 มีอยู่ในตัวของเราแล้ว ทุกอย่างพร้อมบริบูรณ์

 เราหลงไปหาความทุกข์เข้ามาเอง

 ถ้าอยู่บ้านได้ เก็บเนื้อเก็บตัว เก็บใจ

ไม่ส่งออกข้างนอก ก็แสนจะสุขแสนจะสบาย

 ไม่ต้องเหน็ดเหนื่อยกับการแสวงหาเงิน หาทอง

 ทำงานทำการแทบเป็นแทบตาย

 แล้วต้องเหน็ดเหนื่อยกับการใช้เงินใช้ทอง

 เหน็ดเหนื่อยกับการดูแลรักษาสมบัติข้าวของต่างๆ

 ที่หามาได้ ต้องร้องห่มร้องไห้เศร้าโศกเสียใจ

 เวลาที่สูญเสียสิ่งต่างๆ ไป

นี่คือผลของการทำตามอวิชชา ปัจจยา สังขารา

 ทำตามความคิดของอวิชชา ที่สั่งให้ออกไปข้างนอก

 ไปหาสิ่งต่างๆ มาเป็นสมบัติ แล้วก็มาเป็นกองทุกข์

 เป็นภาระให้ว้าวุ่นกังวลห่วงใย

 เสียอกเสียใจเวลาที่สูญเสียไป

แล้วก็ต้องสูญเสียไปด้วยกันทุกคน

 เพราะสังขารร่างกายนี้ไม่จีรังถาวร ไม่อยู่ไปตลอด

 สมบัติต่างๆ ก็ไม่อยู่ไปตลอดเหมือนกัน

 บางทีก็จากเราไปก่อน บางทีเราก็จากไปก่อน

 ที่แน่ๆ คือต้องมีการพลัดพรากจากกันเป็นธรรมดา.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

...............................

กำลังใจ ๓๖, กัณฑ์ที่ ๓๗๔

วันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๕๐






ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 18 พฤศจิกายน 2561
Last Update : 18 พฤศจิกายน 2561 12:09:34 น.
Counter : 416 Pageviews.

0 comment
<<< "รากฐานของจิตใจ" >>>









“รากฐานของจิตใจ”

การทำบุญทำทานเป็นรากฐาน

ของความเจริญรุ่งเรืองของจิตใจ

 เป็นเหมือนกับรากฐานของตัวอาคาร

 อาคารจะสร้างได้ใหญ่ได้สูงมากน้อยเพียงไร

ขึ้นอยู่ที่รากฐานของตัวอาคาร

 อาคารยิ่งสูงยิ่งใหญ่ รากฐานก็ต้องมีกำลังมาก

เพื่อที่จะรองรับน้ำหนักของตัวอาคาร

ถ้ารากฐานไม่แข็งแรงพอ

สร้างตัวอาคารสูงขึ้นไปเกินน้ำหนัก

 เกินกำลังของรากฐาน

ที่จะรับน้ำหนักของตัวอาคารได้

ตัวอาคารก็ต้องทรุดลงมา เอียงหรือล้มลงไป

 จิตใจจะเจริญขึ้นไปถึงระดับของพระอริยบุคคล

 ถึงระดับของพระอรหันต์ พระพุทธเจ้าได้

 จำเป็นต้องอาศัยรากฐานที่แข็งแรง

 คือ การทำบุญทำทาน การเสียสละ การแบ่งปัน

การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อเพื่อนร่วมโลก

 ถ้ามีความตระหนี่ มีความหวงในทรัพย์สมบัติ

ข้าวของเงินทองที่มีอยู่เกินความจำเป็น

จะทำให้จิตใจไม่สามารถ

พัฒนาก้าวหน้าให้สูงขึ้นไปได้

เหมือนกับรากฐานของตัวอาคาร

ถ้าไม่มีรากฐาน ไม่สามารถที่จะสร้างตัวอาคารได้

 เวลาสร้างบ้านสร้างเรือน ไม่ว่าจะขนาดไหน

 ต้องมีการขุดดินออกก่อน

เพื่อจะได้วางรากฐานรองรับต้นเสา

นี่คือการทำบุญทำทาน ต้องวางรากฐาน

ให้แก่จิตใจก่อน ให้จิตใจมีความเมตตากรุณา

 เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อเพื่อนร่วมโลก

 ถ้าจิตใจมีการให้ มีการเสียสละ มีการแบ่งปัน

จิตใจก็จะเป็นจิตใจที่พร้อม

ที่จะพัฒนาขึ้นสู่ระดับที่ ๒ ได้

ระดับที่ ๒ ก็คือระดับของการไม่เบียดเบียนผู้อื่น

 คือการรักษาศีล ๕ นี่เป็นการพัฒนาจิตใจ

สร้างจิตใจให้ใหญ่ขึ้น ให้สูงขึ้น ให้เจริญขึ้น

 ให้มีความสุขมากขึ้น เหมือนกับการสร้างอาคาร

การสร้างอาคารก็ต้องสร้างเป็นขั้นเป็นตอนไป

 สร้างรากฐานแล้วถึงจะขึ้นเสา

ขึ้นโครงของตัวอาคาร

เสร็จแล้วถึงจะมีการทำพื้นทำอะไรต่างๆ

 ของตัวอาคาร เพิ่มน้ำหนักเพิ่มความสูง

ของตัวอาคารขึ้นไปตามลำดับ

จนถึงชั้นสูงสุดของตัวอาคาร

จิตใจจะพัฒนาจากปุถุชนให้ไปสู่พระอริยบุคคล

 ก็จำเป็นที่จะต้องมีการพัฒนาเป็นขั้นเป็นตอนไปก่อน

 ถ้าข้ามขั้นตอนก็อาจจะล้มเหลวได้

 เช่น ถ้าไม่มีรากฐานที่แน่นหนามั่นคง

 เดี๋ยวสร้างตัวอาคารให้สูงขึ้นไป

 พอน้ำหนักมากขึ้น รากฐานที่ไม่แข็งแรง

ก็อาจจะไม่สามารถรองรับน้ำหนัก

ของตัวอาคารได้ ตัวอาคารก็ต้องพังลงมา

การพัฒนาจิตใจก็เหมือนกัน

 ถ้ายังไม่มีรากฐานที่แข็งแรง

 คือ มีความเมตตากรุณา มีการทำบุญให้ทาน

 มีการแบ่งปันช่วยเหลือกันและกัน

 ก็จะไม่สามารถรักษาศีลให้บริสุทธิ์ได้

 เพราะผู้ที่ไม่มีความเสียสละแบ่งปัน

 มักจะเป็นคนที่เห็นแก่ตัว เห็นแก่ได้

เมื่อเวลาอยากได้อะไรขึ้นมา

ก็อาจจะไม่คำนึงถึงความเสียหาย

 ความเดือดร้อนของผู้อื่น พออยากได้สิ่งนั้นสิ่งนี้

 หรืออยากทำอย่างนั้นหรืออย่างนี้

ก็จะไม่คิดถึงผลกระทบต่อผู้อื่น

มุ่งไปสู่ความต้องการเพียงอย่างเดียว

 ก็มักจะทำอะไรที่ผิดศีลผิดธรรม

เพื่อให้ได้สิ่งที่อยากได้

แต่ผู้ที่ได้ทำบุญทำทานเป็นนิสัย

 มีอุปนิสัยชอบทำบุญทำทาน ชอบช่วยเหลือผู้อื่น

 ชอบให้ความสุขแก่ผู้อื่น เวลาทำอะไร

เวลาอยากได้อะไร อยากทำอะไร

 ก่อนที่จะทำนี้ต้องวิเคราะห์ดูก่อนว่า

ถ้าทำไปแล้วจะสร้างความเสียหาย

สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่นหรือไม่

 เพราะถ้าทำแล้วเกิดความเสียหาย

 ก็จะไม่อยากทำ เพราะมีอุปนิสัยไม่ชอบ

สร้างความเดือดร้อนให้กับใคร

ชอบสร้างความสุข สร้างความสะดวก

ความสบายให้แก่ผู้อื่น

นี่คือความสำคัญของทานที่พระพุทธเจ้า

ทรงสอนให้พุทธศาสนิกชน

หมั่นทำกันอย่างสม่ำเสมอ

 ถ้ามีกำลังที่จะทำได้ การกระทำบุญทำทานนี้

ก็ไม่ใช่อยู่ที่เพียงแต่การให้ทรัพย์สมบัติ

ข้าวของเงินทองเท่านั้น

 การทำบุญด้วยวิธีอื่นก็ยังทำได้

 ถ้าไม่มีทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทอง

 จะทำด้วยกายคือกำลังกายก็ได้

หรือทำด้วยความคิดก็ได้ คือความรู้

 เช่น ถ้าเรามีความรู้วิชาต่างๆ

 แล้วมีผู้ที่อยากเรียนรู้จากเรา

 ถ้าเราสอนเขาโดยเราไม่คิดเงินทอง

 ไม่ต้องการรับผลตอบแทน

 อันนี้ก็เป็นเหมือนกับการให้ข้าวของเงินทอง

เพียงแต่ว่าเปลี่ยนจากข้าวของเงินทอง

 มาเป็นวิชาความรู้ เช่น การเปิดการสอนพิเศษ

ให้แก่นักเรียน เรียนวิชา กวดวิชาบางวิชา

 เช่น คณิตศาสตร์ เคมี อะไรเป็นต้นเหล่านี้

 ทำโดยไม่คิดเงินคิดทองของผู้มาร่ำเรียน

 อันนี้ก็เป็นการทำบุญทำทานอย่างหนึ่ง

 ท่านเรียกว่า “วิทยาทาน”

หรือการใช้กำลังถ้าไม่มีความรู้

 แต่มีเวลาว่าง มีกำลังกาย ร่างกายแข็งแรง

ก็อาจจะไปเป็นอาสาสมัครทำงาน

ให้แก่องค์กรสาธารณกุศล

 ที่ต้องการอาสาสมัครมาช่วยกิจกรรม

ของทางองค์กร อย่างวันนี้ที่วัด

มีผู้หลักผู้ใหญ่มาทำบุญ มีบรรดาจิตอาสา

 เป็นพวกข้าราชการที่ทำงาน

 แล้วก็รับเป็นจิตอาสาเวลามีงานอะไร

ที่ต้องการคนมาช่วยเหลือกันเยอะๆ

 ก็เสียสละเวลามาทำประโยชน์ให้แก่ส่วนรวม

นี่ก็เป็นวิธีการทำบุญเหมือนกัน

ไม่จำเป็นที่จะต้องใช้เงินใช้ทองเพียงอย่างเดียว

ใช้เวลาว่างที่เรามีอยู่มาทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นก็ได้

 อย่างทีมงานที่มาช่วยถ่ายทอดสดนี่

ก็เป็นการทำบุญทำทาน เป็นการเสียสละ

บางท่านก็ช่วยซื้ออุปกรณ์ กล้องถ่ายทอดเสียง

 บางท่านก็จ่ายค่าโทรศัพท์ ค่าอินเตอร์เน็ต

 บางท่านก็ต้องมานั่งติดตั้งระบบทุกวัน

 มาโดยที่ไม่ได้เก็บเงินเก็บทอง

 ไม่ได้เอาเงินเอาทอง มาทำทุกวัน

 นี่ก็เป็นการทำบุญทำทานเหมือนกัน

 จะเรียกว่า “ธรรมะทาน” ก็ได้

เพราะว่าเป็นการช่วยเผยแพร่

ธรรมะให้แก่ผู้ที่อยู่ไกล

 การเผยแผ่ ธรรมะสมัยนี้

เราสามารถแผ่ไปได้อย่างกว้างขวาง

มีผู้รับชมติดตามนี้ก็ ๔๐ กว่าประเทศ

แต่ไม่ได้หมายความว่าติดตามกันทุกวันนะ

 ทุกประเทศ แต่เท่าที่ได้ทำสถิติว่า

ใครที่ประเทศไหนบ้างที่ติดตามฟังและชม

 ก็ได้ประมาณ ๔๐ กว่า

ในประเทศไทยก็มีเกือบ ๖๐ กว่าจังหวัด

ทุกวันนี้มีคนส่งข้อความเข้ามา

ประมาณ ๔๐๐-๕๐๐ คน

 ตามสถิติของ Facebook เขาเขียนไว้

มีผู้แสดงความคิดเห็น ๔๐๐-๕๐๐ คน

มีผู้รับชม ๗,๐๐๐-๘,๐๐๐ คน

 มีผู้เข้าถึง ๔๐,๐๐๐-๕๐,๐๐๐

 คำว่ารับชม กับการเข้าถึง นี้

ไม่ทราบเขาแบ่งแยกอย่างไร ถ้าเท่าที่ได้ฟัง

 ถ้าเพียงแต่รับชมไม่ถึงนาทีหรือนาทีหนึ่ง

 ก็ถือว่าเพียงแต่เข้าถึง แต่ถ้าเกินก็เรียกว่ารับชม

 แต่ที่แน่ๆ พวกที่ส่งข้อความเข้ามา ๔๐๐-๕๐๐ คน

 นี้คิดว่ารับชมตลอดรายการ

 เพราะบางคนก็มีการเขียนความคิดเห็นเข้ามาด้วย

 บางคนก็ส่งคำถามเข้ามา

อันนี้ก็เป็นการทำบุญทำทานเหมือนกัน

 ดีกว่าเอาเวลาไปนั่งกินเหล้า หรือนั่งเล่นการพนัน

 ไปเที่ยวตามแหล่งบันเทิงต่างๆ

 เอาเวลามาทำประโยชน์ แล้วก็ได้มีโอกาส

ด้ฟังเทศน์ฟังธรรมไปในตัวด้วย

 แล้วได้ฟังบ่อย การฟังบ่อยๆ นี้ไม่เสียหาย

 เพราะธรรมะเป็นวิชาความรู้ที่ยากต่อการเข้าใจ

ฟังครั้งสองครั้งนี้อาจจะไม่เข้าใจ

 เพราะเป็นศัพท์อะไรต่างๆ

 ที่เราไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน

กว่าจะเข้าใจว่าศัพท์มีความหมายคืออะไร

 ก็ต้องใช้เวลาฟังหลายๆ รอบ

หรืออาจจะต้องไปเปิดค้นหาตามดิกชั่นนารีว่า

 คำนี้มีความหมายว่าอย่างไร

“ทาน” มีความหมายว่าอย่างไร

“คีล” มีความหมายว่าอย่างไร

“ภาวนา” มีความหมายว่าอย่างไร

 อันนี้ก็ต้องฟังหลายๆ ครั้ง ฟังเรื่อยๆ ฟังบ่อยๆ

 สมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้า

ก็ให้ฟังอาทิตย์ละหนึ่งครั้ง

 เพราะว่ามันทำได้เพียงเท่านั้น

 เนื่องจากเงื่อนไขในสมัยพุทธกาล

ไม่เนื่องต่อการฟังธรรม

อย่างต่อเนื่องเหมือนกับสมัยนี้

 สมัยพุทธกาลจะไปฟังธรรม

ก็ต้องรอให้หยุดทำงาน

 ชาวนาชาวไร่ก็ต้องหยุดงาน

เพื่อที่จะไปวัด ต้องไปฟังที่วัด

 เพราะพระจะแสดงธรรมที่วัด ไม่มีสื่ออย่างอื่น

 เช่น หนังสือ หรือสื่อบันเทิงบันทึกเสียง

 บันทึกภาพ เหมือนสมัยนี้ ดังนั้น ก็ต้องรอวันหยุด

 จะหยุดทุกวันก็ไม่ได้เพราะต้องทำมาหากิน

 ต้องไปไร่ไปนา ก็อาจจะหยุดได้วันหรือสองวัน

 ส่วนใหญ่ก็จะหยุดกันวันหนึ่ง แล้วก็ไปวัดกัน

ถึงจะมีโอกาสฟังธรรมสักครั้ง

แต่ปัจจุบันนี้เรามีสื่อมีการบันทึกธรรมะ

คำสอนต่างๆ ของครูบาอาจารย์ต่างๆ

ไว้ในสื่อต่างๆ มีทั้งแบบถ่ายทอดสด

และมีบันทึกเก็บเอาไว้ดูย้อนหลัง

เราสามารถฟังธรรมได้หลายครั้งต่อหนึ่งวัน

 ยิ่งฟังธรรมแล้วก็จะยิ่งเกิด

ความเข้าอกเข้าใจดีขึ้นไปตามลำดับ

 จะทำให้ความสงสัยความไม่เข้าใจ

ในธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้า

 ค่อยหมดไปตามลำดับ

 แล้วจะทำให้เกิดปัญญาขึ้นมา

 คือ ความเห็นที่ถูกต้อง เห็นตามความเป็นจริง

 ที่ตอนนี้พวกเราเห็นไม่ชัดเจน.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

......................................

สนทนาธรรมบนเขา

วันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๖๑








ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 16 พฤศจิกายน 2561
Last Update : 16 พฤศจิกายน 2561 6:08:14 น.
Counter : 407 Pageviews.

0 comment
<<< "ต้องเลือกเอาธรรมะ" >>>










“ต้องเลือกเอาธรรมะ”

ถ้าเราเห็นธรรมะดีกว่าสิ่งอื่นๆในโลกนี้

 เมื่อถึงเวลาที่ต้องเลือกก็ต้องเลือกเอาธรรมะก่อน

 ระหว่างการเป็นพระมหาจักรพรรดิกับเป็นพระศาสดา

 พระพุทธเจ้าก็ทรงเลือกเป็นพระศาสดา

 ท่านถึงได้เป็นพระพุทธเจ้า

 ถ้าเลือกเป็นพระมหาจักรพรรดิ ก็ต้องอยู่ในวัง

 ก็จะได้เป็นพระมหาจักรพรรดิ

 แต่จะไม่ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า

การตัดสินใจของเราจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก

 เหมือนกับเดินไปถึงทางแยก

จะตรงไปเลี้ยวซ้ายหรือเลี้ยวขวาดี

ถ้าเลือกถูกทางก็จะไปถึงจุดหมายปลายทาง

 ถ้าเลือกไม่ถูกทางก็จะวนไปวนมา

วนอยู่ในวัฏฏะสงสาร วนอยู่ใน ๓ ภพ

วนอยู่ในกามภพ รูปภพ อรูปภพ

 อย่างที่พวกเรากำลังวนกันอยู่

จึงควรให้น้ำหนักกับธรรมะมากกว่าสิ่งอื่น

 ดังที่ทรงตรัสสอนไว้ว่า ให้สละชีวิตเพื่อรักษาธรรมะ

 แม้แต่ชีวิตก็ทรงตรัสว่าไม่สำคัญเท่ากับธรรมะ

 ชีวิตนี่เหมือนหัวโขน

หมดอันนี้ก็ได้อันใหม่ได้อยู่เรื่อยๆ

 แต่ธรรมะได้มายากมาก ไม่ง่ายเหมือนกับได้ชีวิต

 เพราะชีวิตเกิดได้อยู่เรื่อยๆ

 ตายปั๊บก็ได้เกิดอีกแล้ว จึงไม่ต้องเสียดายชีวิต

 เพราะธรรมะได้มายากมาก

ไม่มีธรรมะชีวิตก็ไม่มีความสุข

มีแต่ความทุกข์ความวุ่นวายใจ

ถ้ามีธรรมะแล้วชีวิตก็มีความสุข

เหตุของความสุขก็คือธรรมะนี่เอง

 เหตุของความทุกข์ก็คือการขาดธรรมะ

 จึงควรให้ความสำคัญกับธรรมะมากกว่าอย่างอื่น

 เมื่อถึงเวลาที่ต้องเลือก

ระหว่างธรรมะกับอะไรก็ตาม

 ก็ต้องเลือกธรรมะก่อน

พระพุทธเจ้าได้ทรงจัดลำดับความสำคัญ

ของสิ่งต่างๆไว้ดังนี้ สิ่งแรกที่ทรงให้สละ

คือสมบัติข้าวของเงินทอง รองลงมาก็อวัยวะ

 รองลงมาก็ชีวิต เพื่อรักษาธรรมะ

ที่เราต้องรักษาไว้ให้ได้

 ให้สละทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะ

 สละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต

สละชีวิตเพื่อรักษาธรรมะ

 ธรรมะก็อย่างที่พวกเราทำกันอยู่นี้แหละ

 ทาน ศีล ภาวนา เวลาทำบุญให้ทาน

เราก็สละทรัพย์เพื่อให้ได้ธรรมะมา

เวลารักษาศีลเราจะไม่พูดปด

ไม่หวังร่ำรวยจากการทำมาหากินที่ทุจริต

เราก็เสียทรัพย์ไปส่วนหนึ่ง

เสียประโยชน์ไปส่วนหนึ่ง แต่เราได้ศีลธรรมมา

 เราไม่ไปเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ

แต่ไปหาที่วิเวกสงบสงัด ทำจิตใจให้สงบ

 เราก็ได้ธรรมะ คือสมาธิความสงบใจ

เราเจริญปัญญาเราก็จะได้หลุดพ้น

จากความทุกข์ต่างๆ มีคุณค่าทั้งนั้น

ถ้าเราพิจารณาดูแล้ว

มีคุณค่ามากกว่าสิ่งที่เราเสียไป

 การเสียสละก็คือให้สละประโยชน์สุขส่วนย่อย

 เพื่อประโยชน์สุขที่ยิ่งใหญ่กว่า

ในสายตาของคนที่มีความหลงอย่างพวกเรานี้

 จะรู้สึกว่าทรัพย์มีคุณค่ามาก

 แต่ในสายตาของนักปราชญ์เช่นพระพุทธเจ้า

ทรงเห็นว่าไม่มีคุณค่าเลยกับจิตใจ

 ท่านถึงสละราชสมบัติออกบวชได้

ทรัพย์ไม่ได้ทำให้จิตใจหลุดพ้นได้

แต่เป็นเหมือนบ่วง เป็นเหมือนกับตะขอ

ที่เกี่ยวให้จิตใจต้องเวียนว่ายอยู่ในภพในชาติต่างๆ

 มีความต่างกันมากคุณกับโทษ

 ถ้าไม่พิจารณาจะมองไม่เห็น เพราะความหลง

จะหลอกให้เห็นคุณค่าของทรัพย์มากกว่าอย่างอื่น

แต่ธรรมะนี่เห็นคุณค่ายาก

 ถ้าไม่ได้สัมผัสกับผลที่เกิดจากการปฏิบัติ

 เช่นให้ทานนี่เราก็ได้ผล แต่เราไม่รู้

 เพราะไปเล็งผลผิดที่ ไม่ได้เล็งที่ใจเรา

 ไปเล็งที่คนรับคนที่เราทำบุญด้วย

ถ้าเล็งผลที่ใจแล้ว ไม่ว่าคนรับจะเป็นใคร

 ไม่สำคัญ สำคัญที่ความบริสุทธิ์ใจของเรา

 ความเมตตากรุณาของเรา

 ความเสียสละของเรา

ที่จะช่วยคนนั้นให้ได้รับประโยชน์

โดยไม่สำคัญว่าจะต้องเป็นสัตว์

หรือเป็นมนุษย์เสียด้วยซ้ำไป

ถ้าอยู่ในสภาพที่เดือดร้อน

ต้องการความช่วยเหลือ เราช่วยเหลือเขาได้

ก็ช่วยไปโดยไม่หวังผลตอบแทน

จากการช่วยเหลือนี้เลย อย่างนี้แหละ

จะปรากฏเป็นผลขึ้นมาในใจเรา

 ใจจะมีความภูมิใจ มีความสุขใจ

มีความอิ่มเอิบใจ มีความพอใจ

แต่เรามักจะไปมองผลที่ชาติหน้าโน้น

หรือผลตอบแทนในรูปแบบต่างๆ

มันก็เลยไม่ได้เป็นการให้ทาน

แต่เป็นการแลกเปลี่ยน เป็นการซื้อขาย

 ให้เงินเขาแล้ว เขาก็ให้สิ่งที่เราต้องการมา

ไม่ได้เป็นการให้ทาน จึงไม่มีความรู้สึก

วิเศษวิโสปรากฏขึ้นมาในใจ

แต่ถ้าให้โดยไม่รับผลตอบแทน

 เห็นความทุกข์ของผู้อื่นแล้ว

 ก็ช่วยบรรเทาทุกข์ให้เบาบางลงไป

หรือทำคุณประโยชน์เพื่อส่วนรวม

เพื่อประเทศชาติ

 ทำไปแล้วเราก็มีความสุขแล้ว

 แต่เรามักจะไม่เข้าใจถึงผลของการกระทำ

 ว่าได้ปรากฏขึ้นมาแล้วในใจของเรา

 เพราะใจมีกิเลสมาปิดบัง

ยังอยากจะได้ผลตอบแทน

 อย่างน้อยก็อยากจะให้เขารู้ว่าเราได้ทำ

 ต้องประกาศชื่อจึงจะมีความสุข เป็นกิเลสไป

 ไม่ได้เป็นธรรมแล้ว

 เป็นความสุขแบบกิเลสที่ไม่มีน้ำหนัก

ไม่เหมือนกับความสุขแบบธรรมะ

ที่มีความหนักแน่น

เหมือนกับรับประทานอาหารหนัก

 ส่วนความสุขของกิเลส

เหมือนกับรับประทานขนม

 รับประทานของเบา

 อิ่มได้เดี๋ยวเดียวก็จะหิวอีกแล้ว

 อยากจะกินอีก แต่ความสุขความอิ่มของธรรมะนี้

 พออิ่มแล้วจะไม่อยากจะได้อะไรเลย

 มันมีความสบายใจ มีความสุขใจ

ทุกครั้งที่คิดถึงการเสียสละแล้ว

จะมีความสบายใจ มีความภูมิใจเสมอ

 เพราะฉะนั้นการทำอะไรขอให้ดูใจเป็นหลัก

 ผลมันเกิดขึ้นทันทีในใจ

 แล้วก็ส่งผลต่อไปในอนาคต ในภพชาติต่างๆ

ปฏิบัติไปแล้วจิตมีความสุข กิเลสเบาบางลงไป

 ทุกข์เบาบางลงไป ภพชาติก็เบาบางลงไป

 ภพชาติที่เหลืออยู่ก็เป็นภพชาติที่ดี

เป็นสุคติเป็นส่วนใหญ่ เพราะทำแต่เหตุที่ดีไว้

เป็นผลพลอยได้มากกว่า

 ที่ต่อจากผลในปัจจุบัน คือใจที่มีความสงบ

 มีความเย็นสบาย มีความเบา มีความพอใจ

ไม่หิวไม่อยากไม่กระหาย

กับเรื่องลาภยศสรรเสริญสุข

 ใครจะสรรเสริญยกย่องหรือไม่ก็ไม่สำคัญ

 ใครจะตำหนิติเตียนดุด่าว่ากล่าวอย่างไร

ก็ไม่สนใจ ไม่สำคัญ แต่รับฟังเสมอ

ไม่ว่าจะสรรเสริญหรือนินทาตำหนิติเตียน

ฟังเพื่อก่อ ไม่ได้ฟังด้วยอารมณ์ดีใจหรือไม่พอใจ

 ฟังหาเหตุหาผล เพื่อเป็นประโยชน์กับเรา

 เพราะบางทีเรามองไม่เห็นโทษของเรา

บางทีต้องอาศัยคนอื่น

ที่มีธรรมะสูงกว่าช่วยชี้บอก

เช่นเวลาเข้าหาครูบาอาจารย์

 ท่านก็จะชี้บอกโทษของเราเป็นส่วนใหญ่

ท่านไม่ค่อยพูดเรื่องคุณของเราเท่าไหร่

 เพราะมันมีน้อย แล้วก็ไม่มีประโยชน์

 พูดถึงเรื่องโทษของเรา เราจะได้แก้ไข

 เป็นคุณกับเรา เวลาไปหานักปราชญ์

จึงอย่าไปหวังให้ท่านยกย่องสรรเสริญ

เตรียมรับคำดุด่าไว้ ถ้าวันไหนท่านไม่ด่า

 แสดงว่าท่านไม่โปรดเรา ท่านไม่เมตตา

ถ้าวันไหนท่านด่า แสดงว่าท่านเป็นห่วงเป็นใยเรา

 เหมือนกับพ่อแม่ที่คอยสอนลูก

 อยากจะให้ลูกได้ดิบได้ดี

เห็นลูกประพฤติตนเองไม่เหมาะสมต่างๆ

 ก็คอยดุด่าว่ากล่าวตักเตือน แต่ลูกก็มีกิเลส

พอโดนว่ากล่าวตักเตือนหน่อย

แทนที่จะฟังด้วยเหตุด้วยผล

ฟังเพื่อก่อก็กลับฟังเพื่อทำลาย เกิดอารมณ์

โกรธเกลียดชังคุณพ่อคุณแม่ขึ้นมา

 บางทีก็โต้เถียงกันอย่างรุนแรง

 จนอยู่ด้วยกันไม่ได้ การฟังธรรมะนั้น

 ฟังเพื่อจะได้มีหลัก

ต่อไปเวลาใครพูดอะไรว่าอะไร

จะฟังด้วยเหตุด้วยผลจริงๆ ไม่ได้ฟังด้วยอารมณ์

 ไม่ต้องการคำสรรเสริญที่เป็นเหมือนขนมหวาน

 ไม่เหมือนของขมๆที่เป็นเหมือนยา

กินแล้วทำให้ร่างกายแข็งแรง

ฟังการว่ากล่าวตักเตือนแล้วได้ประโยชน์

 เหมือนกับเอากระจกมาส่องหน้าให้เห็นว่า

หน้าของเราเป็นอย่างไร มีตำหนิตรงไหน

 เปื้อนตรงไหน ผมหวีเรียบร้อยหรือยัง

 ล้างหน้าล้างตาสะอาดหรือยัง

ถ้าไม่มีกระจกให้ดูบางทีก็ไม่รู้

คนที่บอกความผิด

ก็เป็นเหมือนกับกระจกส่องหน้าเรา

จึงควรดีใจ เพราะเป็นการชี้ขุมทรัพย์ให้กับเรา

 เขาชี้ความผิดของเรานี้

 ก็เท่ากับชี้ขุมทรัพย์ให้เราแล้ว

 ขุดลงไปตรงนี้จะได้ทรัพย์อันวิเศษขึ้นมา

ยึดติดกับสิ่งต่างๆไม่ดี รีบชำระเสีย

 โลภโมโทสันไม่ดี รีบชำระเสีย

อย่าเป็นคนเจ้าอารมณ์ ให้มีเหตุมีผล

 มีสติคอยควบคุมใจไว้

อย่าปล่อยให้ดีใจ ถ้าดีใจแล้วเดี๋ยวจะต้องเสียใจ

 ความดีใจก็เป็นความหลงอย่างหนึ่ง

 เช่นเวลาคนสรรเสริญแล้วดีใจอย่างนี้

 พอคนไม่สรรเสริญก็จะเสียใจ

ถ้าเขาดุด่าว่ากล่าวเรา ก็จะเดือดร้อนใจขึ้นมา

 ถ้ามีเหตุมีผลมีสติแล้ว ใจจะตั้งอยู่ในอุเบกขา

จะไม่มีอารมณ์กับอะไร เพียงแต่รับรู้

สักแต่ว่ารู้ แล้วก็พิจารณาด้วยปัญญา

 ถ้าสิ่งที่พูดนั้นถูกต้อง

 ก็แสดงว่าเขาเป็นคนตาดี

 ถึงแม้จะเป็นการตำหนิ ก็ตำหนิด้วยเหตุด้วยผล

 ด้วยความจริง เวลาสรรเสริญเขา

 ก็สรรเสริญด้วยความจริงเหมือนกัน

 แต่คนที่พูดไม่ตรงกับความจริง

ถึงแม้จะสรรเสริญเยินยอ ก็รู้ว่าเป็นการโกหก

 เป็นการหลอกให้เราดีใจ

ถ้าตำหนิเราในสิ่งที่ไม่จริง ก็แสดงว่าเขาตาไม่ดี

หรือมีอารมณ์ไม่ดี ชอบแต่จะตำหนิผู้อื่น

 ชอบที่จะทำให้ผู้อื่นเสียอกเสียใจ

เดือดเนื้อร้อนใจ แต่ทำได้กับคนที่ยังติดอยู่กับ

การสรรเสริญนินทาอยู่เท่านั้น

 คนที่ไม่ติดอยู่กับการสรรเสริญนินทานี้

 จะไม่ถูกกระทบทั้ง ๒ อย่าง

ไม่ว่าจะสรรเสริญหรือนินทา ก็เท่าเดิม

 มีอยู่ ๑๐๐ ก็มีอยู่ ๑๐๐ เท่าเดิม

 เขาไม่สามารถหัก ๑๐๐ ให้เหลือ ๙๕ ได้

 หรือเพิ่มให้เป็น ๑๐๕ ขึ้นมาได้จากคำพูดของเขา

 เราจะมีเพิ่มมากขึ้นหรือมีน้อยลง

ไม่ได้อยู่ที่การกระทำของผู้อื่น

 แต่อยู่ที่การกระทำของเรา

ทำดีมากขึ้นก็ได้เกิน ๑๐๐ ทำดีน้อยลงก็ลดลงมา

 มันอยู่ตรงนี้ อยู่ที่การกระทำของเรา

เพียงแต่ว่าเราต้องอาศัยผู้ที่ฉลาดกว่าเรา

 คอยช่วยบอกทางให้กับเรา

การไปอยู่กับครูบาอาจารย์

ก็จะได้ประโยชน์อย่างนี้

เราทำเองตามลำพังก็ไปได้ในระดับหนึ่ง

 แต่ก็จะหยุดอยู่ตรงนั้น เพราะคิดว่าเราดีพอแล้ว

 แต่ครูบาอาจารย์ท่านดีกว่า ท่านรู้ว่ายังดีไม่พอ

ดังสุภาษิตที่ว่า คนที่เห็นว่าตนยังโง่อยู่

 คนนั้นแหละจะเป็นคนที่ฉลาดได้

แต่คนที่คิดว่าตนฉลาดแล้ว

 คนนั้นแหละคือคนโง่ที่แท้จริง

 เพราะเมื่อคิดว่าตนฉลาดแล้ว

ก็ไม่คิดที่จะแสวงหาความรู้ความฉลาดเพิ่มเติม

 ก็จะโง่ไปเรื่อยๆ แต่คนที่คิดว่าตนเองยังโง่อยู่

 ยังต้องเข้าหาผู้รู้อยู่

ต้องอาศัยผู้อื่นคอยชี้บอกอยู่

 ก็จะมีโอกาสที่จะฉลาดได้ แต่จะมีอยู่จุดหนึ่ง

ที่จะรู้แก่ใจว่าพอตัวแล้ว

พอดับกิเลสได้หมดแล้ว ก็รู้ว่าพอแล้ว

ถึงแม้จะไม่รู้วิชาการต่างๆ

วิชาวิศวะฯวิทยาศาสตร์ชีวะฯการบัญชี

หรือวิชาอะไรก็ตาม บวกลบคูณหารไม่เป็น

อ่านหนังสือ ก.ไก่ ข.ไข่ไม่ออก ก็ไม่สำคัญ

ขอให้รู้ทันกิเลส ปราบกิเลสได้ก็พอแล้ว

 ความรู้นี้เป็นสันทิฏฐิโก รู้อยู่ในใจ

 ไม่หลงกับอะไรแล้ว ไม่ยินดียินร้ายกับอะไรแล้ว

คนสรรเสริญก็ไม่ได้ดีใจ คนนินทาก็ไม่ได้เสียใจ

ได้อะไรมาก็ไม่ได้ดีใจ เสียอะไรไปก็ไม่ได้เสียใจ

เจ็บไข้ได้ป่วยก็ไม่ได้ตกใจ แก่ก็ไม่เดือดร้อน

 ตายก็ไม่เดือดร้อน นี่แหละคือการรู้ทันกิเลส

รู้แบบนี้ ถ้ารู้แบบนี้แล้ว มันรู้อยู่แก่ใจ

 ความรู้แบบนี้ไม่ต้องให้คนมาบอก

 ว่าถึงที่หรือยัง อิ่มตัวหรือยัง เหมือนกับกินข้าว

 ไม่ต้องไปถามคนอื่นว่าอิ่มหรือยัง

มันรู้อยู่แก่ใจ กายอิ่มเมื่อไหร่ก็รู้เอง

 ใจไม่วุ่นวายเดือดร้อนกับอะไร

ก็รู้ของมันเอง ไม่ต้องไปถามใคร.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

................................

กำลังใจ ๓๘, กัณฑ์ที่ ๓๗๙

วันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑






ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 15 พฤศจิกายน 2561
Last Update : 15 พฤศจิกายน 2561 7:19:17 น.
Counter : 384 Pageviews.

1 comment
<<< " อานิสงค์ของการทำความดี" >>>











“อานิสงส์ของการทำความดี”

พระพุทธเจ้าทรงบอกอานิสงส์ของการทำความดีนี้

มีอยู่หลายข้อด้วยกัน

ข้อที่ ๑. จะเป็นที่รักของมนุษย์และเทวดาทั้งหลาย

จะไม่มีใครเกลียดชังคนที่ทำความดี

 ใครเห็นใครรู้ก็จะทักทาย เข้ามาหา

ข้อที่ ๒. เทวดาจะคุ้มครองรักษา

ข้อที่ ๓. จะมีความสุขทั้งในขณะที่ตื่นและในขณะที่หลับ

ข้อที่ ๔. เวลานอนหลับก็จะไม่ฝันร้าย จะฝันดี

ข้อที่ ๕. จะไม่ตายด้วยอาวุธหรือยาพิษ

จะไม่มีใครคิดฆ่าเราด้วยอาวุธและยาพิษ

 เพราะเราไม่ได้ไปทำให้ใครเขาเสียหายเดือดร้อน

 มีแต่ทำคุณทำประโยชน์

มีแต่คนจะคอยปกป้องคุ้มครองรักษาเรา

ข้อที่ ๖. จะมีผิวพรรณหน้าตาผ่องใส

ข้อที่ ๗. เวลานั่งสมาธิก็จะสงบได้ง่าย

 นี่เวลาฝึกจิตฝึกใจเพื่อให้มีพลัง

 นั่งสมาธินี้จะสงบได้ง่ายกว่าคนที่ไม่ทำความดี

และข้อที่ ๘. เวลาตายไปก็จะไปสู่สุคติ

ถ้ายังไปไม่ถึงนิพพาน ก็จะไปสู่สวรรค์ชั้นต่างๆ

 หรือไปสู่พระอริยบุคคลชั้นต่างๆ

จนในที่สุด ก็จะไปถึงพระนิพพานได้

นี่แหละคือบุญกุศล

การทำบุญทำทานจึงเป็นรากฐาน

ของความเจริญก้าวหน้าของจิตใจ

ของการพัฒนาจิตใจเพื่อให้กำจัดความทุกข์ต่างๆ

 ที่จิตใจจะต้องเผชิญต่อไป

 เช่น ต้องเจอกับความแก่ ความเจ็บ ความตาย

 เจอกับการสูญเสีย เจอกับการพลัดพรากจากกัน

อย่างนี้จิตใจจะไม่เศร้าโศกเสียใจ จะไม่หวั่นไหว

 จะรู้เฉยๆ รู้ว่ามันเป็นอย่างนี้แล

อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

 อันนี้ต้องเริ่มต้นด้วยการทำบุญทำทาน

 อย่าเอาเงินที่มีเหลือกินเหลือใช้นี้

ไปทำให้จิตใจอ่อนไหวง่าย

วิธีจะทำให้จิตใจอ่อนไหวก็คือ

 เอาเงินใช้ตามความอยาก ใช้ตามกิเลส

 เพราะถ้าใช้ตามกิเลสนี้ใจจะอ่อนไหว

จะไม่มีแรงต้านกิเลสนั่นเอง

 ทำตามกิเลสก็แสดงว่ารับใช้กิเลส

 พอถึงเวลาที่จะต่อสู้กับกิเลส จะสู้ไม่ไหว

 จะไม่มีกำลัง ดังนั้น อย่าเอาเงินไปรับใช้กิเลส

 อย่าเอาไปซื้อของตามความอยากต่างๆ

อยากเอาไปใช้เวลาอยากไปเที่ยว ก็อย่าไปเที่ยว

อยากเอาเงินไปซื้อของฟุ่มเฟือย ก็อย่าไปซื้อ

 อยากจะซื้อของหรูหรา ก็อย่าไปซื้อ

ซื้อของจำเป็นซื้อได้ แต่ของไม่จำเป็น

ของฟุ่มเฟือยของหรูหรา อย่าไปซื้อ

 อย่าไปซื้อความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย

 เช่น ไปดูไปฟังไปดื่มไปรับประทานอะไรต่างๆ

 เพราะมันจะทำให้จิตใจนี้อ่อนแอ

เพราะต่อไปจะทุกข์มาก

เวลาเกิดความอยากแล้ว

ไม่สามารถทำตามความอยากได้

เช่น เวลาแก่จะทำตามความอยากไม่ได้

 เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยเวลาจะตายนี้

 จะทำตามความอยากไม่ได้

 เวลานั้นจะทุกข์ทรมานมาก

แต่ถ้าเราเอาเงินที่จะไปใช้

ตามความอยากนี้ไปทำบุญ

 มันจะตัดการที่เราจะไปรับใช้ความอยาก

 ไปรับใช้กิเลส ทำให้ใจเรามีความแข็ง

มีกำลังที่จะต่อต้านกิเลสตัณหาได้

 กิเลสตัณหาสั่งให้ไปซื้อของฟุ่มเฟือยก็ไม่ไป

 สั่งให้ไปเที่ยวก็ไม่ไป ไปทำบุญดีกว่า

 ไปทำบุญแล้วก็ได้ทำอย่างอื่นด้วย

 ไปวัดไม่ใช่เพียงแต่ทำบุญอย่างเดียว

 ทำบุญแล้วยังได้ฟังเทศน์ฟังธรรม

 ได้วิชาความรู้ที่ไม่สามารถที่จะเรียนรู้ได้จากที่อื่น

 ได้มีโอกาสนั่งทำใจให้สงบ

นี่แหละเป็นวิธีสร้างพลังใจให้รับกับเหตุการณ์ต่างๆ

ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ได้อย่างไม่สะทกสะท้าน

 นี่คือเรื่องของการทำบุญทำทาน การทำความดี.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

....................................

สนทนาธรรมบนเขา

วันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๖๑






ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 13 พฤศจิกายน 2561
Last Update : 13 พฤศจิกายน 2561 4:37:45 น.
Counter : 347 Pageviews.

0 comment
<<< "โลกสมมุติกับโลกวิมุตติ" >>>









“โลกสมมุติกับโลกวิมุตติ”


คำว่าสมมุติก็คือสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่ในโลกนี้

เราเรียกว่า “โลกสมมุติ”

ลาภยศสรรเสริญสุขที่เราหากันอยู่นี้

 มันเป็นของสมมุติกันขึ้นมา

 สมมุติจากดินน้ำลมไฟนี้เอง

 เราเอาดินน้ำลมไฟมาผสมกัน แล้วเราก็สมมุติว่า

 เป็นคน เป็นสัตว์ เป็นหมา เป็นแมว

เป็นข้าวเป็นของ แล้วก็สมมุติว่าเป็นของฉัน

เป็นของเธอ อันนี้คือโลกของสมมุติ

โลกของสมมุตินี้มันจะต้องมีแต่เรื่องวุ่นวายใจ

เพราะว่ามันเป็นของชั่วคราว

 แต่ใจเราอยากจะให้มันเป็นของเราไปตลอด

เราเลยต้องดิ้นรนคอยรักษา คอยดูแล

 แล้วคอยปกป้อง คนที่เขาอยากได้ของที่เขาไม่มี

 บางทีเขาก็จะมาแย่งจากเราไป

 มันก็โลกสมมุติก็เลยเป็นโลกของความวุ่นวายใจ

 ไม่มีวันจบสิ้น แย่งกันไปแย่งกันมา

 ได้มาแล้วเดี๋ยวเสียไปก็ร้องห่มร้องไห้

 แล้วก็ไปหาใหม่ หาใหม่ได้มาเท่าไหร่

 เดี๋ยวก็เสียไปอีก นี่คือโลกของสมมุติ

โลกที่ทำมาจากดินน้ำลมไฟ

เช่น แม้แต่ร่างกายของเรา

ก็ทำมาจากดินน้ำลมไฟ

จิตของเรานี่เป็นจิตที่วิมุตติ

 แต่มันไม่วิมุตติ มันหลง ถูกความหลงหลอก

ให้มาติดอยู่กับโลกของสมมุติ

 มาติดกับร่างกาย มาติดกับลาภยศสรรเสริญ

 มาติดกับรูปเสียงกลิ่นรสต่างๆ

จึงทำให้จิตเรานี้ วุ่นวายใจ

เวียนว่ายตายเกิดอยู่กับเรื่องราวเหล่านี้

สำหรับจิตที่ไม่มายุ่งเกี่ยวกับเรื่องราวเหล่านี้

 เราก็เรียกว่า “จิตวิมุตติ”

จิตวิมุตตินี่ต้องเป็นจิตที่มีความสงบ

 ถ้าทำจิตให้สงบได้ จิตมีความสุขในตัวมันเอง

 จิตมันฉลาด มันรู้ว่า ของที่มีอยู่

ในโลกของสมมุตินี้เป็นทุกข์ทั้งนั้น

มันก็เลิกไปเกี่ยวข้องกับโลกของสมมุติ

 มันก็ไปอยู่โลกของวิมุตติ

คือ อยู่กับความสงบเพียงอย่างเดียว

โลกของวิมุตติก็คือโลกของพระพุทธเจ้า

โลกของพระอรหันต์ทั้งหลาย ท่านมีความรู้ว่า

 โลกของสมมุตินี้เป็นโลกของความวุ่นวายใจ

โลกของความทุกข์ โลกของการเกิดแก่เจ็บตาย

 โลกของการเวียนว่ายตายเกิด

ส่วนวิมุตตินี้เป็นโลกของความสงบ

ที่ไม่มีการเกิดแก่เจ็บตาย

ไม่มีการเวียนว่ายตายเกิด

 ไม่มีความวุ่นวายใจต่างๆ

 นี่คือโลกสองโลกด้วยกัน

 โลกสมมุติกับโลกวิมุตติ

พวกเรานี้อยู่ในโลกของสมมุติกัน

 แต่เราสามารถออกจากโลกสมมุติได้

ถ้าเรามาพบกับพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

 แล้วเราปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า

 เอาเงินที่มีอยู่นี้ทิ้งไปให้หมด ของสมมุติทั้งนั้น

 แล้วก็ไปรักษาศีล ไปนั่งสมาธิ ไปบวชกัน

ทำใจให้สงบ พอใจสงบแล้ว

ทีนี้ก็เข้าไปอยู่ในโลกของวิมุตติ

ไม่ต้องมายุ่งกับข้าวของเงินทอง

ไม่ต้องมายุ่งกับคนนั้นคนนี้ สิ่งนั้นสิ่งนี้.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

..................................

ธรรมะบนเขา

วันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๖๑








ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 12 พฤศจิกายน 2561
Last Update : 12 พฤศจิกายน 2561 7:27:34 น.
Counter : 471 Pageviews.

2 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  

tangkay
Location :
ชลบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 55 คน [?]



(•‿•✿) พออายุเลยเลขหกฉันยกเครื่อง
มอบทุกเรื่องที่เคยรู้คู่ความเห็น
มอบประสบการณ์ผ่านพบจบประเด็น
ไม่ยากเย็นเรื่องความรู้ตามดูกัน
ฉันคนเก่าเล่าความหลังยังจำได้
แต่ด้วยวัยที่เหลือน้อยค่อยสร้างสรร
ยอมรับเรื่องเนตโซเชียลเรียนไม่ทัน
อย่าโกรธฉันแค่สูงวัยแต่ใจจริง
ด้วยอายุมากมายอยากได้เพื่อน
หลากหลายเกลื่อนทุกวัยทั้งชายหญิง
คุยทุกเรื่องแลกเปลี่ยนรู้คู่ความจริง
หลากหลายสิ่งฉันไม่รู้ดูจากเธอ ....
สิบปีผ่านไป.......
อายุเข้าเลขเจ็ดไม่เผ็ดจี๊ด
เคยเปรี้ยวปรี๊ดก็ต้องถอยคอยเติมหวาน
ด้วยเคยเกริ่นบอกเล่ามาเนิ่นนาน
ก็ยังพาลหมดแรงล้าพากายตรม
ด้วยชีวิตผ่านมาพาเป็นสุข
ยังสนุกกับการให้ใจสุขสม
อยากบอกเล่ากล่าวอ้างบางอารมณ์
แม้คนชมจะร้องว้า....ไม่ว่ากัน
ปัจจุบันเขียนน้อยค่อยเหินห่าง
ระบบร่างเปลี่ยนแปลงเหมือนแกล้งฉัน
เราคนแก่ตามแก้ไม่ค่อยทัน
ยักแย่ยันค่อยศึกษาหาข้อมูล
แต่ด้วยคิดถึงแฟนคลับกระชับมิตร
จึงต้องคิดตามต่อไปไม่ให้สูญ
ส่งความรู้คู่ธรรมะทวีคูณ
เพื่อเพิ่มพูนให้รู้กันฉันสุขใจ