Group Blog
All Blog
<<< "จิตใจคือผู้ที่ไปรับผลบุญหรือผลบาป" >>>









"จิตใจคือผู้ที่ไปรับผลบุญ

หรือผลบาป"

สัตว์ต่างๆ ที่เราเห็นกันนี้

เป็นผลที่เกิดจากการทำบาป

ด้วยความหลงด้วยความไม่รู้

จึงทำให้เขามาเป็นสัตว์เดรัจฉานต่างๆ

 แทนที่จะมาเป็นมนุษย์ พวกที่มาเป็นมนุษย์นี้

ก็เป็นพวกที่ไม่ได้ทำไม่ได้ทำบาป

หรือถ้าทำบาปแล้วไปใช้บาปหมดแล้ว

เช่นไปเป็นเดรัจฉาน

ใช้บาปจากการทำบาปแล้ว พอตายไป

กลับมาก็จะมาเกิดเป็นมนุษย์ได้ไหม่

นี่ก็คือเรื่องของจิตใจ

เรื่องของการเวียนว่ายตายเกิด

 ที่พวกเราอาจจะไม่แน่ใจว่าเป็นไปได้หรือไม่

 ถ้าเราไม่ได้คิดถึงเรื่องของจิตใจ

ถ้าเราไม่รู้ก็เรื่องของจิตใจ

 เราก็จะคิดว่า ตายไปแล้วก็จบ

ตายไปแล้วก็สูญ

 เพราะผู้ที่ตายก็คือร่างกาย

 เมื่อร่างกายตายแล้วใครจะไปรับต่อไป

 แต่ใจนี้ไม่ได้ตายไปกับร่างกาย

ใจนี้เป็นสิ่งที่ไม่มีวันตาย

ไม่มีวันแก่ไม่มีวันเจ็บ

 มีแต่ความรู้สึกนึกคิด

แล้วก็สั่งให้มีการกระทำอะไรต่างๆ

ผ่านทางร่างกาย จึงทำให้เกิดมีอบายขึ้นมา

 ถ้าทำบาปด้วยวิธีการด้วยสาเหตุต่างๆ

 สาเหตุที่ทำบาปแล้วให้ไปนรก

นรกก็คืออะไร

นรกก็คือความรู้สึกในใจนี่แหละ

 ที่เป็นความทุกข์ที่เป็นความร้อนในหัวใจ

 เราเรียกว่านรก นรกนี้เกิดจากการทำบาป

 ด้วยความอาฆาตพยาบาท

เครียดแค้นโกรธเกลียด

 เวลาใครเขาพูดหรือทำไม่ดีกับเรา

 ทำให้เราโกรธเราเกลียด

เราก็จะอาฆาตพยาบาทจองเวรจองกรรม

 แล้วถ้าเรามีโอกาสเราก็จะทำร้ายเขา

ฆ่าเขา พอเราทำร้ายเขา ฆ่าเขา

 ทำบาปด้วยความอาฆาตพยาบาทนี้

ใจก็จะร้อนเป็นไฟขึ้นมา ใจที่ร้อนเป็นไฟ

นี่แหละเราเรียกว่านรก

 แล้วถ้าเราทำบาปด้วยความโลภ

ด้วยความหิวโหย

 อยากได้มากๆ อยากมีมากๆ

ใจก็จะเป็นใจที่หิวโหย

ใจที่ไม่มีความสุขไม่มีความอิ่ม

 มีแต่ความทุกข์ที่เกิดจาก

ความหิวโหยตลอดเวลา

เพราะว่าต่อให้ได้มามากน้อยเพียงไร

ความหิวโหยมันไม่ได้หมดไป

จากการที่ได้สิ่งต่างๆ ที่อยากได้มา

 เพราะว่าความอยากได้สิ่งต่างๆ

 มันไม่ได้หมดไปกับการได้สิ่งต่างๆ มา

 แต่มันกลับทำให้เกิดความอยากได้

มากเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ

ความอยากเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ

ก็จะทำให้ใจหิวมากขึ้นไปเรื่อยๆ

 โหยมากขึ้นไปเรื่อยๆ ทุกข์มากขึ้นไปเรื่อยๆ

ใจแบบนี้ก็เป็นเปรต อันนี้คือเรื่องของใจ

ที่จะแปลงสภาพจากมนุษย์

ไปสู่ความเป็นสัตว์ชนิดอื่นต่อไป

 ด้วยการกระทำบาปต่างๆ

นี่คือเรื่องของการเวียนว่ายตายเกิด

 หลังจากที่ทำบาปแล้ว

ก็จะไปรับผลของการกระทำบาปต่างๆ

 ถ้าทำบาปด้วยความหลงความไม่รู้

ต้องไปเป็นเดรัจฉาน

ถ้าทำบาปด้วยความโลภความอยาก

ก็จะเป็นเปรต ถ้าทำบาปด้วยความกลัว

ก็จะไปเป็นอสุรกาย

ถ้าทำบาปด้วยความอาฆาตพยาบาท

จองเวรจองกรรมก็จะไปนรก

ใจจะเป็นนรกขึ้นมา

 นี่แหละเรียกว่าบาปกับนรก

บาปกับอบาย บาปเป็นเหตุ อบายเป็นผล

อบายมี ๔ การจะทำบาปมี ๔ ลักษณะ

ทำด้วยความหลง ทำด้วยความโลภ

ทำด้วยความโกรธ ทำด้วยความกลัว

 จึงทำให้จิตนี้เป็นสัตว์ชนิดต่างๆ

ไปจากการเป็นมนุษย์

มนุษย์เป็นสัตว์ที่ไม่ได้ทำบาป

 หรือบาปที่ได้ทำไว้ ได้ใช้หมดแล้ว

 ก็เลยได้กลับมาเป็นมนุษย์กัน

แต่พอมาเป็นมนุษย์แล้ว

พอเจริญเติบโตขึ้นมา

พอเกิดทุกขเวทนาทางร่างกาย

ก็มักจะไปทำบาป

 เพื่อแก้ความทุกขเวทนาทางร่างกายกัน

 ยกเว้นถ้าไปอยู่กับคนผู้รู้ อยู่กับบิดามารดา

หรือผู้รู้เช่นอยู่กับศาสนา ได้ไปอยู่วัด

ก็จะมีการห้ามไม่ให้ทำบาปกัน

ก็จะปลอดภัยจากการที่จะไปเป็นสัตว์

ชนิดต่างๆ ในอบาย แล้วถ้ามีคนสอนว่า

การทำบุญนี้จะทำให้เกิดความสุขใจขึ้นมา

ทำบุญแล้วจะทำให้ใจไปสวรรค์

การทำบุญนี้ก็คือ

การทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น

 การทำบาปนี้เป็นการทำโทษ

ทำความเสียหายให้แก่ผู้อื่น

 ในทางตรงกันข้ามจากการทำบาป

 ก็คือการทำบุญ ทำให้เกิดประโยชน์

เกิดความสุขให้แก่ผู้อื่น

 ใจก็จะเกิดความสุขขึ้นมา

 ความสุขใจนี่แหละเรียกว่าสวรรค์

 เวลาไม่มีร่างกายใจก็จะอยู่ในสวรรค์

ใจก็จะเป็นสวรรค์ไป ตามความดีที่ได้ทำเอาไว้

 ถ้าทำประโยชน์ทำความสุขให้แก่ผู้อื่นมาก

ก็จะได้ความสุขมาก ได้สวรรค์ชั้นสูงขึ้นไป

 ที่มีความสุขมากขึ้นไปตามลำดับ

จนถึงสวรรค์ชั้นสูงสุด

อันนี้ก็เรียกว่าเป็นการทำบุญ

ทำบุญแล้วก็จะเกิดสวรรค์ขึ้นมาภายในใจ

 สวรรค์ก็คือความสุขใจ

 นรกก็คือความทุกข์ใจ

สวรรค์นรกนี้ไม่ได้เป็นสถานที่

แต่เป็นสภาพของจิตใจ

ที่ได้รับจากการกระทำบุญหรือทำบาปกัน

 นี่คือเรื่องของจิตใจ

ผู้ที่ไปเป็นผู้ที่ทำบุญหรือทำบาป

เป็นผู้ที่ไปรับผลบุญหรือผลบาป

หลังจากที่ร่างกายนี้ตายไปแล้ว

 ถ้าเราไม่ได้มาฟังเทศน์ฟังธรรมนี้

เราจะไม่เข้าใจเรื่องบุญเรื่องบาปว่ามีจริงหรือไม่

 เรื่องผลของบุญของบาปว่ามีจริงหรือไม่

 เพราะผู้ที่ทำกับผู้ที่รับผลนี้ไม่ได้เป็นร่างกาย

 ร่างกายนี้ไม่ได้เป็นผู้รับผลบุญผลบาป

 เวลาร่างกายตายไป

 บุญบาปที่ทำผ่านทางร่างกายนี้

ร่างกายไม่ได้เป็นผู้ไปนรกหรือไปสวรรค์

ผู้ที่สั่งให้ร่างกายทำนี่แหละ

เป็นผู้ไปรับผลบุญผลบาป

 ที่เป็นสุขหรือเป็นทุกข์

 สุขก็เรียกว่าสวรรค์ ทุกข์ก็เรียกว่านรก

แล้วหลังจากที่ไปสวรรค์หรือไปนรกเสร็จแล้ว

 พอบุญหรือบาปที่ส่งให้ไป หมดกำลัง

ก็จะกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ใหม่

 แล้วก็จะกลับมาทำบุญทำบาปใหม่ต่อไป.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

..........................

ธรรมะบนเขา

วันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๖๐

"จิตใจคืออะไร"






ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 23 กรกฎาคม 2560
Last Update : 23 กรกฎาคม 2560 5:23:58 น.
Counter : 660 Pageviews.

0 comment
<<< "คำสอนของพระพุทธเจ้า" >>>










"คำสอนของพระพุทธเจ้า"

ธรรม ก็เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า

เป็นความรู้ของพระพุทธเจ้าที่ไม่มีใครรู้มาก่อน

 บางส่วนก็เป็นความรู้ที่รู้กันอยู่แล้ว

แต่ส่วนที่พระพุทธเจ้ารู้นี้ไม่มีใครรู้

เป็นส่วนที่สำคัญที่สุด ของความรู้ทั้งหลาย

 เพราะความรู้ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะมาทรงตรัสรู้นี้

 เป็นความรู้ที่ยังเป็นความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด

 คือไม่รอดพ้นจากความทุกข์

 ไม่รอดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด ทุกศาสนา

ทุกศาสดาก่อนที่พระพุทธเจ้าจะมาตรัสรู้นี้

สอนให้พ้นจากความทุกข์ได้ชั่วคราว

แต่ไม่สามารถสอนให้พ้นจากความทุกข์

ได้อย่างถาวร ยังไม่มีใครสอนให้ไม่กลับมา

เกิด แก่ เจ็บ ตายได้

 สมัยก่อนที่จะมีพระพุทธเจ้ามาสอนนี้

สัตว์โลกทั้งหมดนี้ยังต้อง

เวียนว่ายตายเกิดกันไปอยู่เรื่อยๆ

พวกเรานี้ตายแล้วก็กลับมาเกิดใหม่

ก่อนจะกลับมาเกิดใหม่ก็ไปรับผลบุญผลบาปก่อน

พอใช้ผลบุญผลบาปแล้วก็กลับมาเกิดใหม่

กลับมาแก่ มาเจ็บ มาตายใหม่

พอตายไปก็ไปรับผลบุญผลบาปใหม่

แล้วก็กลับมาเกิด มาแก่ มาเจ็บ มาตายกันใหม่

 ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าเราจะได้มาพบกับ

ธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่ทรงค้นพบ

วิธีที่ไม่ต้องกลับมาเกิด มาแก่ เจ็บ ตายกันอีกต่อไป

มีทางที่จะทำให้เราตายแล้วไม่ต้องกลับมาเกิด

มาแก่ มาเจ็บ มาตาย

ตอนนี้พวกเราเป็นเหมือนพวกที่ขับรถ

เวียนอยู่ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

 เคยขับรถวนแถวนั้นไหมถ้าวนอยู่แถวนั้น

มันก็ไปไม่ถึงไหนมันก็วนอยู่ในวงเวียนนั่นแหละ

จนกว่าจะมีคนมาบอกว่า เฮ้ยมีพหลโยธิน

 ถนนพหลโยธิน วิ่งไปแล้วเดี๋ยวไปถึงเชียงใหม่เลย

ไม่มีใครเห็นทาง ไม่มีใครเห็นถนนพหลโยธิน

เห็นแต่ถนนรอบวงเวียน

เพราะถนนอาจจะถูกป่าถูกอะไรปิดกั้นไว้

ทำให้คนที่ขับรถมองไม่เห็นถนนพหลโยธิน

ที่จะพาไปสู่เชียงใหม่ได้ 

พวกเราก็เหมือนกัน พวกเราก็ขับรถ

หรือขับใจของเรา เดินรอบวงเวียนแห่งสังสารวัฏ

สังสารวัฏก็คือ สงสาร วัฏสงสาร คือภพ

ไตรภพนี้เรียกว่าวัฏสงสาร ไตรภพก็คือ

 ภพที่ดวงจิตดวงใจของสัตว์โลกอย่างพวกเรานี้

ไปเกิดกัน ตามอำนาจของบุญของบาปที่ทำกัน

ไตรภพมีสามภพ ภพที่อยู่กันมากที่สุดก็คือกามภพ

คือพวกที่ชอบเสพกาม

ภพที่ชอบเสพรูปเสียงกลิ่นรส

นี่ชอบกาแฟสตาร์บัค

 ชอบฟัง cd ชอบฟังเพลง ชอบดูหนัง

นี่พวกนี้ต้องมาเกิดในกามภพกัน

มนุษย์นี้เป็นหนึ่งในกามภพ

กามภพนี้ก็มีแบ่งไว้สองส่วน

คือส่วนที่มีความสุขมากกว่าความทุกข์

และอีกส่วนหนึ่งก็ส่วนที่

มีความทุกข์มากกว่าความสุข

ส่วนที่มีความทุกข์มากกว่าความสุขนี้

ไปเกิดได้อย่างไรเพราะว่า ทำบาปมากกว่าทำบุญ

ถ้าทำบาปมากกว่าทำบุญก็จะไปเกิดในกามภพ

ส่วนที่มีความทุกข์มากกว่าความสุข

ภพเหล่านี้เรียกว่าอบาย .


พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

...................................

สนทนาธรรมะบนเขา

วันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๖๐







ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 22 กรกฎาคม 2560
Last Update : 22 กรกฎาคม 2560 6:19:23 น.
Counter : 633 Pageviews.

0 comment
<<< "เราควรที่จะฝึกสติกัน" >>>









"เราควรที่จะฝึกสติกัน"

พวกเราโชคดีที่ได้มาเกิดในเมืองพุทธศาสนา

 ที่มีคำสอนของพระพุทธเจ้า

ที่จะสอนให้เรามาหาความสุขที่แท้จริงกัน

ให้เราเลิกหาความสุขปลอมกัน

ความสุขปลอมก็คือ

ความสุขที่จะกลายเป็นความทุกข์

 เพราะมันไม่เที่ยงมันไม่ถาวร

 เป็นความสุขชั่วคราว เวลาเสียความสุขนี้ไป

ไม่สามารถหาความสุขนี้ได้

มันก็จะทำให้เราทุกข์กัน

 ฉะนั้นเราควรที่จะมาฝึกสติกัน

 เพื่อที่จะทำให้ใจเราสงบ

ใจเราถ้าไม่มีสตินี้มันไม่สงบหรอก

สงบเองไม่ได้ มันเหมือนกับรถที่วิ่ง

 ถ้าไม่มีเบรค มันหยุดเองไม่ได้

ถ้าจะให้รถหยุดนี้ต้องมีเบรค

ต้องเหยียบเบรค รถถึงจะหยุด

ใจของเราก็วิ่ง วิ่งด้วยความคิด

 คิดตั้งแต่ตื่นขึ้นมา คิดตั้งแต่ก่อนตื่น

เวลานอนก็คิด เวลาเราฝันนี้มันก็เป็นความคิด

 ความฝันมันมาจากความคิด

ใจเราคิดไปในเวลาที่เราหลับ

มันก็เลยเป็นความฝันขึ้นมา

 เวลาเราตื่นเราก็ฝันต่อ ฝันแบบลืมตา

 เพราะใจเราก็ยังคิดต่อ คิดอยากไปที่นั่น

คิดอยากทำโน่นอยากทำนี่

คิดอยากเห็นคนนั้นเห็นคนนี้

อยากเจอสิ่งนั้นอยากเจอสิ่งนี้

จะเรียกว่าเพ้อฝันไง

ความเพ้อฝันก็เกิดจากความคิดของเรา

 คิดแล้วก็ทำให้อารมณ์เสียอารมณ์ไม่ดี

คิดแล้วก็อยากได้

พออยากได้ใจก็ไม่เป็นปกติ

 ใจก็เริ่มกระวนกระวาย กระสับกระส่าย

 หวุดหงิดรำคาญใจ

ก็เลยต้องไปหาสิ่งที่อยากได้มา

 เพื่อที่จะให้ความหงุดหงิดรำคาญใจหายไป

ก็เลยคิดว่าเป็นความสุข

พออยากได้อะไรก็ต้องไปหาสิ่งที่อยากได้

พอได้มา ความหงุดหงิดรำคาญใจก็หายไป

ก็เลยรู้สึกว่าสุขขึ้นมา

ความจริงมันไม่ได้สุขหรอก

มันดับความกระวนกะวายกระสับกระส่าย

ความหงุดหงิดรำคาญใจ

ที่เกิดจากความอยากนี่เอง

ถ้าไม่มีความอยากตอนนี้ก็ไม่มี

ความหงุดหงิดรำคาญใจ สบาย

ตอนนี้ไม่มีความอยากแล้วกระวนกระวาย

กระสับกระส่าย เฉยๆ

แต่พอเกิดความอยากใหม่นี้ เริ่มแล้ว

เริ่มกระวนกระวายกระสับกระส่าย

หงุดหงิดรำคาญใจ

ก็เลยต้องไปทำตามความอยาก

พอได้ทำเสร็จแล้ว ความหงุดหงิดก็หายไป

 แต่หายไปชั่วคราว เดี๋ยวความอยากก็มาอีก

 ก็ยังคิดต่อ เดี๋ยวคิดถึงคนนั้นคิดถึงคนนี้

 คิดถึงสิ่งนั้นคิดถึงสิ่งนี้

คิดถึงรูปเสียงกลิ่นรสก็อยากได้แล้ว

ฉะนั้นเราต้องใช้สติ

มาหยุดความอยากเหล่านี้

 หยุดความคิด ถ้าเรามีสติ

เราสั่งให้หยุดความคิดได้

 ถ้าเราสั่งให้มันหยุดคิดไม่ได้

แสดงว่าเรายังไม่มีสติ

ถ้าเรายังไม่มีสติเราก็ต้องสร้างสติขึ้นมา

 วิธีสร้างสติก็คือบริกรรม พุทโธ พุทโธ ไป

 ถ้าเราบริกรรมพุทโธ อยู่กับพุทโธ

 เราก็จะไปคิดถึงสิ่งนั้นสิ่งนี้ไม่ได้

คนนั้นคนนี้ไม่ได้

พอเราไม่คิดเราก็จะไม่อยาก

พอไม่อยากใจเราก็จะไม่กระวนกระวาย

ไม่กระสับกระส่าย ใจเราก็มีความสุข

นี่แหละไม่ต้องไปมีอะไร

ที่มีกันก็เพราะอยาก ถ้าไม่อยากก็ไม่ต้องมี.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

............................................

สนทนาธรรมะบนเขา

วันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๖๐









ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 21 กรกฎาคม 2560
Last Update : 21 กรกฎาคม 2560 5:14:24 น.
Counter : 787 Pageviews.

0 comment
<<< "ใจเป็นนายกายเป็นบ่าว" >>>









"ใจเป็นนายกายเป็นบ่าว"

ความทุกข์ไม่ได้เกิดจากความสูญเสีย

ความทุกข์เกิดจากความไม่อยากสูญเสีย

 การสูญเสียนี้มันเป็นธรรมดา

 การพลัดพรากจากกันนี้เป็นธรรมดา

เราต้องพลัดพรากจากกัน

 เวลาตายไปนี้เราเอาอะไรไปได้ไหม

 เราเสียหมด มีทรัพย์สมบัติ

ข้าวของเงินทองเท่าไหร่ก็เสียหมด

มีสามีมีภรรยามีลูกก็เสียหมด

ร่างกายนี้ก็เสีย

แต่ถ้าเรายอมรับความจริงนี้ได้

 เราจะไม่ทุกข์กับมัน

 เพราะเราจะไม่มีความอยากให้มันไม่เสีย

 ไม่มีความอยากให้มันไม่จากเราไป

 นี่ตัวปัญหา ก็คือ ความอยากไม่เสีย

ความอยากไม่ให้สิ่งต่างๆ ที่เรามีอยู่จากเราไป

 เราต้องหยุดตัวนี้ให้ได้ พอเราหยุดได้

เวลาเราเสียอะไรเราจะรู้สึกเฉยๆ

 เราจะไม่ทุกข์ นี่ตอนนี้ที่เราทุกข์กัน

เพราะเราไม่อยากแก่ ไม่อยากเจ็บกัน

ไม่อยากตายกัน เพราะเวลาแก่ เวลาเจ็บ

 เวลาตายนี้เราทุกข์กันมาก

เพราะเรามีความอยากไม่แก่

อยากไม่เจ็บ อยากไม่ตาย

 เพราะเราไปคิดว่าเราจะตาย

เหมือนกับร่างกายนั่นเอง

 เราคิดว่าเราเป็นร่างกาย

เราคิดว่าพอร่างกายตาย

เราจะตายไปกับมันด้วย

แต่ความจริงเราไม่ได้เป็นร่างกาย

 เราเป็นผู้ใช้ร่างกาย

เราเป็นเจ้านายของร่างกาย

 ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว

 ใจเป็นผู้สั่งให้ร่างกายทำอะไรต่างๆ

สั่งให้พูด สั่งให้ทำอะไรต่างๆ

 ไม่ได้เป็นร่างกาย ร่างกายทำอะไรเองไม่ได้

 ร่างกายต้องรอรับคำสั่ง

 นี่วันนี้จะมาที่นี่ได้ ใจต้องสั่งใช่ไหม

คิดดูก่อนว่าวันนี้มาวัดไหม

 วันนี้มาวัดดีไหม ถ้าดีก็ เอ้า ชวนกันมา

 แล้วสั่งให้พูดชวนเพื่อน ชวนสามีชวนภรรยา

 วันนี้มาวัดกันนะ นี่แหละผู้สั่งกับผู้รับคำสั่งนี้

เป็นคนละคนกันแล้ว แต่ไม่มีใครรู้ในโลกนี้

แม้แต่นักวิทยาศาสตร์ ระดับปริญญาเอก

 ไอสไตล์ ก็ยังไม่รู้ว่าร่างกายกับใจนี้

เป็นคนละคนกัน เขาก็ยังคิดว่าเป็นคนเดียวกัน

เป็นส่วนเดียวกัน ถ้าร่างกายตาย

ใจก็ต้องตายไปด้วย แต่ความจริง

ไม่ได้เป็นอย่างนั้น ใจไม่มีวันตาย

 มีแต่ร่างกายที่มีวันตาย แต่ใจนี้ไม่มีวันตาย.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

................................

สนทนาธรรมะบนเขา

วันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๖๐







ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 20 กรกฎาคม 2560
Last Update : 20 กรกฎาคม 2560 5:04:12 น.
Counter : 831 Pageviews.

0 comment
<<< "สติ" >>>










"สติ"

สตินี้จะเป็นเหมือนเชือกที่จะดึงจิต

ไม่ให้คิดเรื่องนั้นคิดเรื่องนี้

เพราะถ้าจิตยังคิดเรื่องนั้นคิดเรื่องนี้อยู่

จิตจะไม่สงบ เมื่อไม่สงบก็จะไม่มีความสุข

 เมื่อไม่มีความสุขก็จะมี ความอยาก

อยากได้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

อยากมีอยากเป็น อยากไม่มีอยากไม่เป็น

 พอเกิดความอยาก

ก็ยิ่งจะมีความทุกข์เพิ่มมากขึ้น

 ก็จะต้องไปทำตามความอยาก

 เมื่อไปทำตามความอยาก

ก็จะต้องไปทำบาปทำกรรม

ทำผิดศีลผิดธรรมได้ถ้าไม่ระมัดระวัง

 ถ้าไม่มีกำลังที่จะรักษาศีลได้

ก็จะไปทำบาปกัน

 พอไปทำบาปแล้วจิตก็จะยิ่งมีความทุกข์

มีความวุ่นวายใจเพิ่มมากขึ้นไปอีกเรื่อยๆ

ดังนั้นหลังจากที่ได้รักษาศีลแล้ว

สิ่งที่จะต้องทำตลอดเวลาต่อไปก็คือ

การควบคุมความคิด ด้วยการเจริญสติ

การเจริญสตินี้ก็มีหลายวิธีด้วยกัน

ที่เรารู้จักโดยทั่วไป ก็คือ

ใช้คำบริกรรมพุทโธๆ

นี่เรียกว่า พุทธานุสติ คือใช้การระลึกถึง

พระนามของพระพุทธเจ้า เป็นเครื่องมือ

หยุดความคิดปรุงแต่งของเรา

 ถ้าเราระลึกถึงคำว่าพุทโธๆ ไปเรื่อยๆ

เราก็จะไม่สามารถไปคิดถึงเรื่องนั้น

คิดถึงเรื่องนี้ได้

ถ้าเราสามารถควบคุมใจให้อยู่กับ พุทโธ

ไปได้อย่างต่อเนื่อง

ใจก็จะเข้าสู่ความสงบได้

 พอเข้าสู่ความสงบแล้ว

ก็จะพบกับความสุขอันมหัศจรรย์

ที่ไม่เคยพบมาก่อน

เป็นความสุขที่เลิศ ที่ประเสริฐ

 เป็นความสุขที่แท้จริง

เป็นความสุขที่จะอยู่ไปกับใจไปตลอด

 ไม่มีใครจะสามารถ

พรากความสุขที่ได้นี้ไปได้

 นอกจากความอยากเท่านั้น

 หลังจากที่ได้ความสุขอันนี้แล้ว

พอออกจากสมาธิมา

ก็ต้องใช้วิปัสสนาภาวนา

 หรือปัญญา มาคอยสอนใจ

ไม่ให้ไปอยากได้สิ่งนั้นสิ่งนี้

ไม่ให้ไปอยากมีอยากเป็น

หรืออยากไม่มีอยากไม่เป็น

ถ้ามีปัญญาคอยสอนใจอยู่เรื่อยๆ

 ใจก็จะหยุดความอยากต่างๆได้

พอไม่มีความอยากอยู่ภายในใจแล้ว

ใจก็จะไม่มีความทุกข์

จะมีแต่ความสุขอยู่ตลอดเวลา

ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับร่างกายก็ดี

 หรือเกิดขึ้นกับสิ่งต่างๆ หรือบุคคลต่างๆ ก็ดี

จะไม่ทำให้ใจวุ่นวาย

จะไม่ทำให้ใจทุกข์หรือเศร้าโศกเสียใจได้เลย

เพราะใจไม่ได้ไปอยากกับสิ่งต่างๆ นั่นเอง

 เพราะรู้ว่าถ้าอยากแล้ว

จะเกิดความทุกข์ใจขึ้นมา

 จึงปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่าง

ให้เป็นไปตามความจริงของเขา

 ใครจะอยู่ก็ปล่อยเขาอยู่ไป

ใครจะตายก็ปล่อยเขาตายไป

ใครจะเจริญหรือใครจะเสื่อม

ก็ปล่อยเขาเจริญปล่อยเขาเสื่อมไป

เป็นภาวะปกติ เป็นภาวะธรรมดาของโลก

ที่มีการเจริญมีการเสื่อมเป็นธรรมดา

 เป็นสิ่งที่เราไม่สามารถที่จะไปยับยั้ง

หรือสั่งให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ได้

 เช่นร่างกายของพวกเรานี้

เราก็ไม่สามารถที่จะสั่งให้มันไม่แก่

ไม่เจ็บ ไม่ตายได้ เมื่อถึงวาระของเขา

ที่จะต้องแก่ ที่จะต้องเจ็บที่จะต้องตาย

 เขาก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย

ไปตามวาระของเขา แต่ใจนี้ไม่ได้เป็นร่างกาย

ใจไม่ได้แก่ ไม่ได้เจ็บ ไม่ได้ตายไปกับร่างกาย

 ถ้าใจมีปัญญาคอยสอนใจ

ให้ถอนตัวออกจากร่างกาย

ไม่ให้ยึดติดกับร่างกาย

 ให้ปล่อยวางร่างกายได้

 ใจก็จะไม่ทุกข์กับความแก่

ความเจ็บ ความตายของร่างกาย.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

...................................

ธรรมะบนเขา

ธรรมะบนเขา เล่ม ๕







ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 19 กรกฎาคม 2560
Last Update : 19 กรกฎาคม 2560 5:44:00 น.
Counter : 664 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  

tangkay
Location :
ชลบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 55 คน [?]



(•‿•✿) พออายุเลยเลขหกฉันยกเครื่อง
มอบทุกเรื่องที่เคยรู้คู่ความเห็น
มอบประสบการณ์ผ่านพบจบประเด็น
ไม่ยากเย็นเรื่องความรู้ตามดูกัน
ฉันคนเก่าเล่าความหลังยังจำได้
แต่ด้วยวัยที่เหลือน้อยค่อยสร้างสรร
ยอมรับเรื่องเนตโซเชียลเรียนไม่ทัน
อย่าโกรธฉันแค่สูงวัยแต่ใจจริง
ด้วยอายุมากมายอยากได้เพื่อน
หลากหลายเกลื่อนทุกวัยทั้งชายหญิง
คุยทุกเรื่องแลกเปลี่ยนรู้คู่ความจริง
หลากหลายสิ่งฉันไม่รู้ดูจากเธอ ....
สิบปีผ่านไป.......
อายุเข้าเลขเจ็ดไม่เผ็ดจี๊ด
เคยเปรี้ยวปรี๊ดก็ต้องถอยคอยเติมหวาน
ด้วยเคยเกริ่นบอกเล่ามาเนิ่นนาน
ก็ยังพาลหมดแรงล้าพากายตรม
ด้วยชีวิตผ่านมาพาเป็นสุข
ยังสนุกกับการให้ใจสุขสม
อยากบอกเล่ากล่าวอ้างบางอารมณ์
แม้คนชมจะร้องว้า....ไม่ว่ากัน
ปัจจุบันเขียนน้อยค่อยเหินห่าง
ระบบร่างเปลี่ยนแปลงเหมือนแกล้งฉัน
เราคนแก่ตามแก้ไม่ค่อยทัน
ยักแย่ยันค่อยศึกษาหาข้อมูล
แต่ด้วยคิดถึงแฟนคลับกระชับมิตร
จึงต้องคิดตามต่อไปไม่ให้สูญ
ส่งความรู้คู่ธรรมะทวีคูณ
เพื่อเพิ่มพูนให้รู้กันฉันสุขใจ