Group Blog
All Blog
### นั่งสมาธิ ###









“นั่งสมาธิ”

ตอนนี้ฝนยังตกอยู่เสียงยังดังอยู่

อาจจะฟังไม่ค่อยได้ยินกันก็ขอให้ใช้เวลานี้

ไปกับการปฏิบัติก็แล้วกัน

เรามานั่งสมาธิกันสักครู่หนึ่ง รอให้ฝนหยุด

 แล้วเราค่อยมาฟังเทศน์ฟังธรรม

 มาสนทนาธรรมกัน

การนั่งสมาธิก็นั่งเพื่อให้ใจสงบไม่ให้คิดอะไร

 ใจจะไม่คิดอะไรก็ต้องมีเครื่องกำกับใจ

 เช่นคำบริกรรมพุทโธๆ

 หรือการดูลมหายใจเข้าออก

เอาอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้

บริกรรมพุทโธไปโดยที่ไม่ต้อง

ดูลมหายใจเข้าออกก็ได้

 ให้อยู่กับคำบริกรรมพุทโธๆไป

หรือจะดูลมหายใจอย่างเดียวก็ได้

ดูลมหายใจเข้า หายใจออก

ที่ปลายจมูกหรือจะเอา ๒ อย่างปนกันก็ได้

หายใจเข้าก็ว่าพุท หายใจออกก็ว่าโธก็ได้

แล้วแต่ความพอใจ แล้วแต่ความถนัด

 หรือถ้ายังดูลมไม่ได้หรือพุทโธไม่ได้

จะสวดมนต์ไปภายในใจก่อนก็ได้

สวดอิติปิโส สวดอะระหังสัมมา

 สวากขาโต สุปฏิปันโน

 สวดไปเพื่อป้องกัน

ไม่ให้ใจไปคิดถึงเรื่องราวต่างๆ

 แล้วพอใจรู้สึกเบาเย็นสบาย

 ถ้าดูลมได้ก็ดูลมต่อไป

 ถ้าพุทโธได้ก็พุทโธต่อไป

แล้วใจก็จะเข้าสู่ความสงบ

เข้าสู่ความสุขความสบายใจ

 โดยที่เราไม่ต้องไปทำอะไร ไม่ต้องมีเงินทอง

 ไม่ต้องมีสิ่งของต่างๆ มาให้ความสุขกับเรา

 เราสามารถหาความสุขภายในตัวของเราได้

 แล้วต่อไปเราจะได้ไม่ต้องพึ่งใคร

ไม่ต้องพึ่งเงินทอง ไม่ต้องพึ่งสิ่งของ

 ไม่ต้องพึ่งบุคคลต่างๆ

 และไม่ต้องพึ่งร่างกายของเรา

 เราจะได้ไม่ต้องทุกข์กับเขา

 เพราะเขาไม่ช้าก็เร็ว

ก็จะต้องมีวันจากเราไปนั่นเอง

ดังนั้นเราตอนนี้มาหัดทำใจให้สงบกัน

เราได้ยินได้ฟังมามากมายพอสมควรแล้ว

ตอนนี้ถูกบังคับให้นั่ง ถ้ามันไม่ถูกบังคับ

มันก็จะไม่นั่งกัน กิเลสมันไม่ยอมให้นั่งง่ายๆ

 แต่พอวันนี้เป็นบุญของพวกเราที่ฟ้ามาช่วยเรา

 ฝนตกทำให้เราไม่สามารถ

ที่จะฟังเทศน์ฟังธรรมกันได้อย่างสะดวก

 เราก็เลยมานั่งสมาธิกันสักครู่หนึ่ง

 ไว้รอให้เสียงฝนหยุดไปแล้ว

เราค่อยมาฟังเทศน์ฟังธรรมกันต่อ

เวลานั่งแล้วก็ไม่ต้องกังวลกับร่างกาย

ร่างกายจะเอนไปทางไหนก็ไม่ต้องไปสนใจ

คันตรงไหนก็ไม่ต้องไปสนใจ

มีอะไรมาให้รู้ก็อย่าไปสนใจ

ให้รู้อยู่กับลมหรืออยู่กับพุทโธ

 หรืออยู่กับการสวดมนต์ของเราไป

 ใจจะได้เป็นสมาธิเป็นหนึ่ง

 ถ้าไปสนใจเรื่องนั้นเรื่องนี้

 มันก็จะทำให้ใจแตก ใจไม่รวมเป็นหนึ่ง

 เราต้องการให้ใจรวมเป็นหนึ่ง

 เราต้องอยู่กับเรื่องเดียว

 อยู่กับพุทโธหรืออยู่กับลม

หรืออยู่กับการสวดมนต์

 ขอให้เราพยายามทำกันแล้ว

 เราจะได้พบกับสิ่งที่ดีที่วิเศษ

ที่มีอยู่ในตัวของเราเอง

ที่จะอยู่กับเราไปตลอดไม่มีวันสิ้นสุด

 แม้ร่างกายนี้จะตายไป

 เราก็ไม่ได้ตายไปกับร่างกาย

 และความสงบที่เราได้ก็จะไม่จากเราไป

เพราะมันอยู่กับเราอยู่ที่ใจ

ตอนนี้ฝนก็หยุดแล้ว

การนั่งสมาธิก็พอสมควรแก่เวลา

 หวังว่าคงจะได้ความสงบบ้างไม่มากก็น้อย

 หรือไม่สงบก็จะได้รู้ว่าเรายังขาดอะไรอยู่

 สิ่งที่ทำให้เราไม่สงบกันก็คือไม่มีสติ

 ถ้าเราไม่มีสติใจเราจะไม่สามารถ

 จดจ่ออยู่กับลมหายใจ

 หรืออยู่กับพุทโธได้อย่างต่อเนื่อง

ใจก็จะไปคิดเรื่องต่างๆ

 แล้วก็จะทำให้ฟุ้งขึ้นมาได้

 ใจก็เลยไม่สงบ

เราจึงต้องหัดเจริญสติกันอยู่เรื่อยๆ

ก่อนที่เราจะมานั่ง วันๆหนึ่งนี้

พยายามมีอะไรผูกใจไว้ ดึงใจไว้

 เช่นคำบริกรรมพุทโธๆ

 หรือการดูการเคลื่อนไหวต่างๆของร่างกาย

โดยที่ไม่ให้เราไปคิดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้

 คนนั้นคนนี้ ให้พยายามดึงใจให้อยู่กับเรื่องเดียว

 อยู่กับพุทโธ หรืออยู่กับ

การกระทำต่างๆ ของร่างกาย

 แล้วพอเวลาเรามีเวลาว่าง

 เวลามานั่ง ถ้าใจไม่คิดเรื่องนั้นเรื่องนี้

 เวลานั่งใจก็จะสงบได้ง่าย

และสงบได้เร็ว สงบได้นาน

 มีความสุขมีความสบายใจ ลืมเรื่องราวต่างๆ

 ที่ทำให้เกิดความวุ่นวายใจต่างๆ ได้

 อันนี้ก็เป็นวิธีสร้างความสงบ

สร้างความสุขในเบื้องต้นด้วยสติ

พอเรามีความสงบจากสติแล้ว

เราก็ใช้ปัญญารักษามันต่อไป

เพราะเวลาใจเกิดความอยากขึ้นมา

ความสงบก็จะหายไป

เราก็ต้องใช้ปัญญามาหยุดความอยาก

 โดยชี้ให้เห็นว่าการทำตามความอยาก

เป็นการไปหาความทุกข์

เพราะสิ่งที่เราอยากได้

 มันจะไม่ได้อยู่กับเราไปตลอด

 ได้มาแล้วเดี๋ยวก็ต้องมีวันจากกัน

 หรือของบางอย่างได้ปุ๊บก็หายไปปั๊บ

 เช่นรูปเสียงกลิ่นรสที่เราไปเสพกัน

 เวลาเราไปเที่ยว ไปดื่ม ไปรับประทาน

พอได้เสพสัมผัสแล้วมันก็หายไป

ความสุขที่ได้จากมันก็หายไป

 แล้วความอยากใหม่ก็จะโผล่ขึ้นมา

 ก็ทำให้เราต้องวิ่งหารูปเสียงกลิ่นรส

มาเสพอยู่เรื่อยๆ เวลาที่ไม่สามารถหาได้

ก็กลายเป็นความทุกข์ไป

 สอนใจแบบนี้ด้วยปัญญา

ว่าการทำตามความอยาก

 อยากในรูปเสียงกลิ่นรส อยากได้สิ่งนั้นสิ่งนี้

 อยากมีสิ่งนั้นสิ่งนี้

เป็นการสร้างความทุกข์ให้กับใจ

ไม่ได้เป็นการสร้างความสุขให้กับใจ

ถ้าไม่ทำตามความอยากได้ ใจก็จะสงบ

 แล้วความสุขก็จะเกิดขึ้นอีก

อันนี้คือการปฏิบัติธรรม มี ๒ ขั้น

ขั้นสมาธิและขั้นปัญญา

 เราต้องได้ขั้นสมาธิก่อน

 ได้ความสงบก่อน เพื่อที่จะได้เห็นคุณค่า

ของความสงบว่ามีคุณค่าอย่างไร

พอเราเห็นแล้วเราจะได้ปกป้องรักษา

 เวลาที่กิเลสตัณหาความโลภ ความอยากต่างๆ

จะมาทำลาย เราก็ใช้ปัญญา

ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงค้นพบว่า

 ของต่างๆ ที่เราอยากได้ มันเป็นทุกข์

 เป็นอนิจจัง เป็นอนัตตา

 ทุกข์เพราะว่ามันไม่เที่ยง

ทุกข์เพราะว่ามันไม่ได้ เป็นของเรา

 ได้มาแล้วเดี๋ยวก็ต้องจากกันไป

ให้คิดอย่างนี้แล้ว

เราจะระงับความอยากต่างๆ ได้

 พอระงับความอยากได้

ความสงบที่ได้จากสมาธิก็จะกลับคืนมา

แล้วเราก็จะไม่ต้องทำอะไรให้เหนื่อนยาก

 แล้วจะได้ความสุขที่ดีกว่าจากการทำอะไรต่างๆ

 แล้วเราก็จะได้สบายไม่ต้องพึ่งอะไร

 แม้แต่ร่างกายของเรา เราก็ไม่ต้องพึ่ง

 เพราะมันก็พึ่งไม่ได้ สักวันหนึ่งมันก็ต้องแก่

 ต้องเจ็บ ต้องตายไป ถ้าเราไม่พึ่งมัน

 เราก็จะไม่เดือดร้อนจะไม่กลัวความเจ็บ

ไม่กลัวความแก่ ไม่กลัวความตาย

 ไม่ทุกข์กับความแก่ ไม่ทุกข์กับความเจ็บ

 ไม่ทุกข์กับความตาย

 แล้วเราก็จะไม่ต้องกลับมามีร่างกายอันใหม่อีก

 ไม่ต้องกลับมาเกิดใหม่ มาวุ่นวาย

กับการเลี้ยงปากเลี้ยงท้องทำมาหากิน

 แล้วก็ใช้ร่างกายหาความทุกข์มาใส่ใจกัน

นี่คือวิถีทางของพระพุทธเจ้า

ที่จะพาให้จิตใจของเรา

ได้หลุดออกจากการเวียนว่ายตายเกิด

 หลุดออกจากกองทุกข์ ทั้งหลาย

มีทางนี้ทางเดียวเท่านั้น

ที่จะทำให้เราได้พ้นทุกข์กัน

 ได้พบกับความสุขที่แท้จริงที่ถาวรกัน

ทางอื่นเป็นทางสู่ความทุกข์สู่ความสุขปลอม

 สู่ความสุขชั่วคราว

 สู่ความเวียนว่ายตายเกิด

ที่จะไม่มีวันสิ้นสุด

 ดังนั้นขอให้พวกเรา

พยายามเจริญสติกันให้มากๆ ฝึกสติให้บ่อยๆ

แล้วพยายามนั่งสมาธิให้มากๆ

 ยิ่งทำมากก็จะยิ่งเกิดความชำนาญ

 เกิดความสามารถ

แล้วก็จะได้ผลมากขึ้นไปตามลำดับ

 ขอให้เราเชื่อในคำสอนของพระพุทธเจ้า

เชื่อว่าพระพุทธเจ้าได้ทรงปฏิบัติมาแล้ว

ได้พบสิ่งที่ดี สิ่งที่วิเศษ

แล้วนำเอามาเผยแผ่ให้กับพวกเรา

ขอให้เราให้จงมีความตั้งใจที่จะปฏิบัติ

โดยเฉพาะการเจริญสติ

พยายามเจริญสติตลอดเวลา

เราสามารถเจริญได้ทุกแห่งทุกหนทุกเวลา

 ยกเว้นเวลาที่หลับเท่านั้น

ถ้าเราเจริญสติได้ สมาธิก็อยู่แค่เอื้อมมือ

 นั่งหลับตาพุทโธ ๕ นาที ใจก็จะสงบ

 แล้วก็จะนั่งได้นาน แล้วพอออกจากสมาธิมา

ก็ใช้ปัญญาคอยกำจัดความโลภ

ความอยากต่างๆ แล้วต่อไปเราก็จะไม่มีความโลภ

 ความอยากมีรบกวนใจ

 เราก็จะมีแต่ความสุขความสงบไปตลอด.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

........................

ธรรมะบนเขา วันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๙

“นั่งสมาธิ”






ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 26 พฤศจิกายน 2559
Last Update : 26 พฤศจิกายน 2559 10:50:10 น.
Counter : 1004 Pageviews.

0 comment
### อดอาหาร ###









“อดอาหาร”

การอดหมายถึงไม่ฉันอาหาร ไม่ออกบิณฑบาต

ถ้าสหธรรมมิกสงสารเอาของมาฝาก

 เช่นนมกล่อง จะฉันก็ได้

 ตอนบ่ายถ้ามีน้ำผึ้งน้ำผลไม้ดื่ม จะดื่มก็ได้

 ไม่ดื่มก็ได้ ขึ้นอยู่ว่าจะอดหนักขนาดไหน

 การอดอาหารช่วยทำให้ การภาวนาง่ายขึ้น

 เดินจงกรมง่ายขึ้น นั่งสมาธิไม่ง่วงเหงาหาวนอน

 ความเพียรมีมากขึ้น ความเกียจคร้าน มีน้อยลง

 ความเห็นภัยมีมากขึ้น สติดีขึ้น

 เพราะต้องคอยควบคุมใจ

เวลาอดอาหารใจจะปรุงแต่ง เรื่องอาหารอยู่เรื่อย

ต้องคอยดึงให้อยู่กับพุทโธ

 ถ้ายังพิจารณาไม่เป็น

ถ้าพิจารณาเป็น

ก็จะพิจารณาอาหาเรปฏิกูลสัญญา

 พิจารณาอาหารที่อยู่ในปากอยู่ในท้อง

ก็จะหายอยาก ถ้าไม่มีปัญญาไม่มีสติ

ไม่มีสมาธิก็จะอดไม่ได้

เพราะจะเห็นอาหารลอยอยู่ในใจตลอดเวลา

 ถ้ามีสติควบคุมใจได้ ก็จะบังคับให้ภาวนา

ถ้าไม่พุทโธก็ต้องพิจารณาอาหาเรปฏิกูลสัญญา

ถ้าพิจารณาได้แล้วจะไม่มีปัญหา

เรื่องอยากอาหารอีกต่อไป

จะกินตามความจำเป็นของร่างกาย

จะใช้การอดอาหารเป็นแนวทางของการปฏิบัติ

จะไม่ฉันตามปกติ เพราะเวลาฉันจะขี้เกียจ

 จะเห็นความแตกต่างกัน

 ถ้าอยู่ในวัดการอดอาหารก็จะได้ปลีกวิเวก

ไม่ต้องทำกิจร่วมกับหมู่คณะ

 ที่ต้องออกไปบิณฑบาตทำกิจที่ศาลา

 กว่าจะเสร็จก็หมดไป ๓ - ๔ ชั่วโมง

ตอนนั้นก็สามารถเดินจงกรมนั่งสมาธิ

 อยู่ตามลำพังในที่พัก

การอดอาหารนี้ถ้าถูกจริต ก็จะเป็นเครื่องมือที่ดี

เป็นอาวุธคู่ใจ ใช้ไปจนกว่าไม่มีความจำเป็น

ที่จะต้องใช้อีกต่อไป ถ้าไม่ถูกจริตก็จะอดไม่ได้

 อดแล้วเครียดฟุ้งซ่าน คิดปรุงแต่ง

แต่เรื่องอาหารตลอดเวลา

 ไม่ภาวนา เวลาอดอาหารแล้วไม่ภาวนา

พอจิตเผลอก็จะคิดแต่เรื่องอาหาร

ก็จะหิวจะทุกข์ ต้องขยันภาวนา

พอออกจากสมาธิก็จะเดินจงกรมต่อ

 คอยควบคุมจิตไม่ให้คิดถึงเรื่องอาหาร

จะใช้บริกรรมพุทโธก็ได้

จะใช้สติให้อยู่กับการเดินก็ได้

หรือจะพิจารณาธรรมก็ได้

พิจารณาธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ

 เกิดแก่เจ็บตาย อนิจจังทุกขังอนัตตา

 พิจารณาอาหาเรปฏิกูลสัญญา

เปลี่ยนไปตามอัธยาศัย ถ้าใจอยู่กับธรรม

 ก็จะเจริญขึ้นไปเรื่อยๆ

 พอพิจารณาจนจิตเริ่มไม่สงบแล้ว ก็หยุด

 กลับไปนั่งสมาธิใหม่ พุทโธๆไป

หรือ ดูลมหายใจไป พักจิต พอจิตสงบ

ความหิวความเหนื่อยทางร่างกายก็หายไป

พอจิตออกมาจากสมาธิ ก็จะกระปรี้กระเปร่า

 มีกำลังวังชา ออกเดินจงกรมต่อ

ก็จะได้ปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง

 ไม่ต้องไปทำกิจอย่างอื่น

กิจอย่างที่ต้องทำคือปัดกวาด

 ปัดกวาดไปก็ภาวนาไป เหมือนเดินจงกรมไป

 พุทโธๆไปหรือพิจารณาธรรมไป

 ถ้าไปคลุกคลีกับหมู่คณะจะคุยกัน

พูดเรื่องนั้นพูดเรื่องนี้ จิตจะฟุ้ง

พอกลับมาอยู่คนเดียว จิตยังฟุ้งอยู่ ภาวนาไม่ลง

ถ้าเผลอสติทนไม่ไหว ก็จะไปหาของกินอีก

 ถ้ามีสติคุมจิตอยู่ตลอดเวลา

 ก็จะภาวนาตลอดเวลา จะลืมเรื่องกินไป

พอใจได้อาหารแล้วใจจะอิ่ม

ความหิวของร่างกาย

จะไม่กระทบกับความอิ่มของใจ

 ถ้าใจหิวถึงแม้ร่างกายจะอิ่ม ก็ยังอยากจะกินอีก

 ทั้งๆที่ร่างกายพึ่งกินเสร็จไปใหม่ๆ

ก็ยังอยากจะดื่มนั้นดื่มนี่ต่อ เพราะใจไม่อิ่ม

ไม่ได้รับอาหารคือธรรมะ จึงไม่เป็นเรื่องแปลก

สำหรับผู้ปฏิบัติ ที่จะอดอาหารครั้งละหลายๆวัน

 ถ้าไม่เคยอดจะคิดว่าอยู่ได้อย่างไร

 ถ้าอดไปหลายวันก็อาจจะมีของบางอย่างดื่มบ้าง

 เช่นน้ำปานะน้ำตาล เพื่อให้มีกำลังบ้าง

ครูบาอาจารย์ที่ไปอยู่ในป่า ไปธุดงค์ปลีกวิเวก

ไปอยู่องค์เดียว เวลาท่านอดอาหารหลายวัน

ชาวบ้านคิดว่าท่านตาย ไม่ได้ไปบิณฑบาต

ต้องมาที่พักดูว่าเป็นอย่างไร

 ท่านก็ไม่มีอะไรติดตัวไป

 ท่านก็ดื่มแต่น้ำอย่างเดียว

 ตอนนั้นจิตของท่านไม่ได้สนใจกับเรื่องอาหาร

 จิตของท่านอยู่กับธรรมตลอดเวลา

 เดินจงกรมนั่งสมาธิ ถ้าไม่พิจารณา

ก็เข้าสู่ความสงบ

 จิตก็จะเจริญก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง

การปลีกวิเวกจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก

 สำหรับผู้ปฏิบัติเพื่อการหลุดพ้น

 ถ้าไปคลุกคลีจะเสียเวลา

เพราะจิตจะคิด ทางด้านอื่น

 จะคุยเรื่องโลกเรื่องรูปเสียงกลิ่นรสกัน

จิตก็จะฟุ้ง จะสงบยาก

ถ้าอยู่คนเดียวจะไม่มีเรื่องอื่นมาดึงไป

 จะอยู่กับธรรมอย่างต่อเนื่อง

จะเห็นธรรมชัดขึ้นไปเรื่อยๆ

ดินน้ำลมไฟก็จะเห็นชัดขึ้น อสุภะก็จะเห็นชัดขึ้น

 คือเห็นอย่างต่อเนื่อง เห็นอยู่เรื่อยๆ

 เวลามองร่างกายก็จะเห็นอสุภะ

 จนติดตาติดใจ พอจิตจะเห็นว่าสวยว่างาม

ก็จะถูกธรรมที่เห็นชัดอยู่นี้ลบออกไปทันที

กามราคะจึงอยู่ในใจไม่ได้

ที่อยู่ได้เพราะเราเลี้ยงมัน

ชอบคิดแต่ความสวยความงาม

ถ้าคิดว่าร่างกายเป็นตัวเราของเรา

 ก็เท่ากับเรากำลังเลี้ยงโมหะอวิชชา

เลี้ยงความมืดบอด เลี้ยงความหลง

ถ้าคิดว่าเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวเราของเรา

 เป็นธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ เป็นความจริง

ที่จะทำลายความหลง ความมืดบอด

ที่อยู่ในใจให้หมดไป ไม่มีทางอื่น

มีทางนี้ทางเดียวเท่านั้น คือวิปัสสนาหรือปัญญา

 แต่ต้องมีสมาธิด้วย

ถึงจะสามารถทำได้อย่างต่อเนื่อง

 ต้องมีสติก่อน ถ้าไม่มีสติก็จะไม่สงบ

 ถ้าไม่สงบกิเลสจะมีกำลังมากกว่า

จะฉุดให้ไปคิดเรื่องโลก คิดถึงลูก คิดถึงสามี

 คิดถึงภรรยา คิดถึงสมบัติข้าวของเงินทอง

ก็จะติดอยู่กับเรื่องเหล่านี้

 เป็นการเลี้ยงกิเลสโมหะความหลง

 ให้มีอายุยืนยาวนานขึ้น

 เพื่อครอบครองจิตใจของเราต่อไป

ถ้าคิดในทางปัญญา ก็จะตัดอายุของกิเลส

โมหะความหลง ให้สั้นลงไปเรื่อยๆ

จนหมดไปในที่สุด

 สติปัญญาสมาธิเป็นธรรมที่เกี่ยวเนื่องกัน

 มีศรัทธากับวิริยะสนับสนุน

ต้องมีศรัทธาในคำสอนของพระพุทธเจ้า

ศึกษาแล้วก็ปฏิบัติตาม ด้วยวิริยะอุตสาหะ

ความพากเพียร ปฏิบัติอะไร

 ก็ปฏิบัติสติสมาธิและปัญญา

 ถ้ามีธรรมทั้ง ๓ นี้

ก็จะมีวิมุตติการหลุดพ้นตามมา

 เป็นสูตรตายตัวตั้งแต่สมัยพุทธกาล

ใครปฏิบัติตามสูตรนี้ได้

ก็จะได้ผลอย่างนี้อย่างแน่นอน

ไม่อย่างนั้นจะไม่ปรากฏมีพระอริยสงฆ์สาวก

มาอย่างต่อเนื่อง ทุกยุคทุกสมัย จนถึงยุคปัจจุบันนี้

 เพราะธรรมะเป็นอกาลิโก

 ไม่เสื่อมไปตามกาลตามเวลา

 สมัยพุทธกาลปฏิบัติกันอย่างไร

สมัยนี้ถ้าปฏิบัติอย่างนั้น ก็จะได้ผลเหมือนกัน

ไม่แตกต่างกัน อยู่ที่ไม่ปฏิบัติกัน

 หรือปฏิบัติเพียงเดือนละครั้ง

แล้วก็มาบ่นว่าปฏิบัติไม่ก้าวหน้าเลย

ปฏิบัติมาตั้งนานแล้ว

 ปฏิบัติเดือนละครั้งมาตั้ง ๕ ปีแล้ว

ต่อให้ปฏิบัติอย่างนี้อีก ๑๐๐ ปีก็จะไม่ก้าวหน้า

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

.......................

กัณฑ์ที่ ๔๑๑ วันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๕๓

“ธาตุ ๖”






ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 25 พฤศจิกายน 2559
Last Update : 25 พฤศจิกายน 2559 14:46:07 น.
Counter : 817 Pageviews.

0 comment
### ต้องทำการบ้านก่อน ###









“ต้องทำการบ้านก่อน”

นักปฏิบัติตั้งแต่สมัยพุทธกาล

จนถึงปัจจุบันนี้

 ต้องทดสอบกันทั้งนั้น

ต้องอยู่ป่าอยู่เขากันทั้งนั้น

ต้องอยู่ตามลำพัง

ถึงจะเกิดความกลัวสุดขีด

 พอเกิดความกลัวสุดขีด

ถ้ามีปัญญาก็จะดับความกลัวได้

ดับด้วยการเห็นว่า

ร่างกายไม่ใช่ตัวเราของเรา เป็นธาตุ ๔

 เชื่ออย่างเต็มที่ว่าเป็นอย่างนั้นจริงๆ

 ถึงเวลาก็ยอมให้ไปเลย

เวลากลัวสุดขีดก็ยอมปล่อยให้ไป

 ตายเป็นตาย

พอปล่อยได้ปั๊บจิตจะหยุดกลัว

จะแยกออกจากร่างกายให้เห็นเลย

 จะรวมเข้าสู่สมาธิ เป็นเอกัคตารมณ์

ร่างกายอยู่ส่วนหนึ่ง จิตอยู่ส่วนหนึ่ง

หลังจากนั้นจะไม่มีความกลัวอีกต่อไป

 เพราะรู้ว่าใจไม่เป็นอะไร

 ร่างกายเป็น แต่ใจกลับสบาย

จะไปกลัวตายทำไม

พอสลัดร่างกายทิ้งไปได้แล้ว

จะสบายใจมาก แลกกันระหว่าง

ร่างกายกับจิตที่รวมลงเป็นหนึ่ง

เป็นเอกัคตารมณ์ เราจะเอาอะไร

ท่านถึงสอนว่านิพพานอยู่ฟากตาย

 ถ้าไม่ยอมตายจิตจะไม่ดิ่งลงสู่พระนิพพาน

 ไม่ดิ่งลงสู่ความสงบ

แต่ก่อนที่จะไปถึงขั้นนั้นได้

ต้องทำการบ้านก่อน

ต้องเตรียมต้องซ้อมไว้ก่อน

ถ้าไม่ทำจะไม่มีกำลัง

พอไปแล้วจะทำไม่ได้ จะสติแตก

แทนที่จะดิ่งลงสู่ความสงบ

จะดิ่งสู่ความเป็นบ้า

 เพราะควบคุมกิเลสไม่ได้

 กิเลสจะทำให้สติแตก

 จะทำให้เป็นบ้าไปเลย

ผู้ที่ปฏิบัติแล้วเป็นบ้ากัน

 เพราะไม่รู้กำลังของตนเอง

ท่านถึงบังคับให้ผู้ที่บวชใหม่

อยู่กับพระอาจารย์

อย่างน้อย ๕ พรรษาก่อน

 ให้ศึกษาวิทยายุทธ์

ให้มีอาวุธคุ้มครองจิตใจก่อน

แล้วค่อยออกไปต่อสู้กับกิเลสในสนามรบ

ตอนต้นก็ซ้อมกับอาจารย์ไปก่อน

 ให้อาจารย์ยุแหย่ให้เกิดกิเลสขึ้นมา

 ทำให้เรากลัว แล้วดูซิว่าจะปลงได้หรือไม่

ถ้าปลงได้ไม่กลัวท่าน ก็ออกวิเวกได้

ถ้ายังกลัวท่านอยู่ท่านก็จะไม่ให้ไป

ถ้าบวชใหม่ไปอยู่วิเวกส่วนใหญ่

มักจะเสียหาย ไม่ค่อยได้ประโยชน์

นอกจากเก่งจริงๆ

เช่นพระพุทธเจ้าเป็นต้น

จะว่าไม่มีอาจารย์ก็ไม่เชิง

ท่านก็ทรงศึกษากับพระอาจารย์

 ไม่ได้ไปอยู่ตามลำพัง

ทรงศึกษาตามสำนักต่างๆ

การอยู่ศึกษากับอาจารย์

 จึงเป็นเรื่องสำคัญ

 ไม่เช่นนั้นพระพุทธเจ้าคงไม่ทรงบังคับ

ให้อยู่กับอาจารย์ถึง ๕ พรรษา

พระที่บวชใหม่จะต้อง

ไม่อยู่ปราศจากอาจารย์

 ต้องถือนิสัยในอาจารย์

หรือพระอุปัชฌาย์

ถ้าพระอุปัชฌาย์ไม่สามารถที่จะสอนได้

ท่านก็จะฝากให้ไปศึกษา

กับพระอาจารย์รูปที่สอนได้

ก็ต้องไปถือนิสัยกับพระอาจารย์รูปนั้น

 จะไปไหนมาไหน ต้องขออนุญาตท่านก่อน

 ถ้าท่านให้ไปถึงจะไปได้

ถ้าท่านไม่ให้ไปก็ไปไม่ได้

 ถ้าดื้อท่านก็จะไม่รับกลับมา

ไปแล้วก็ไปเลย ไม่ต้องกลับมา

 ถือว่าขาดจากการ

เป็นอาจารย์เป็นลูกศิษย์แล้ว

 ถ้าอาจารย์สอนแล้ว ลูกศิษย์ไม่เชื่อฟัง

 ก็จะไม่มีประโยชน์ สอนไปก็เสียเวลา

การศึกษาเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก

สำหรับผู้บวชใหม่ ผู้เริ่มปฏิบัติ

พระพุทธเจ้าทรงกำหนดไว้เลยว่า

 ต้องศึกษาก่อน

ปริยัติคือการศึกษาคำสอนของผู้รู้

 ถ้ายังไม่รู้ก็ต้องหาผู้รู้ให้สั่งสอน

 ท่านสอนให้ทำอะไร ก็ปฏิบัติตาม

จนกว่าจะบรรลุผลขึ้นมา

 เป็นปฏิเวธ ปริยัตินำไปสู่การปฏิบัติ

 ปฏิบัตินำไปสู่ปฏิเวธ พอบรรลุธรรมแล้ว

ค่อยเผยแผ่สั่งสอนผู้อื่นต่อไป

จะสอนก็ได้ ไม่สอนก็ได้

ไม่มีกฎบังคับตายตัว

ขึ้นอยู่กับปัจจัยของแต่ละท่าน

 บางท่านไม่มีความสามารถที่จะสั่งสอนได้

อย่างกว้างขวาง ก็อาจจะไม่สอน

หรืออาจจะไม่มีผู้ศรัทธามาศึกษากับท่าน

 บางท่านมีความสามารถ

และมีผู้สนใจศึกษากับท่านมาก

ท่านก็สอนไป

สิ่งที่สำคัญที่สุดของผู้ปฏิบัติ ก็คือปฏิเวธ

การบรรลุผลที่เกิดจากการปฏิบัติ

 จะเกิดได้ก็ต้องมีการปฏิบัติ ที่ถูกต้อง

คือ สุปฏิปันโน อุชุ ญาย สามีจิ ปฏิปันโน

จะปฏิบัติดีปฏิบัติชอบได้

ก็ต้องมีปริยัติที่ถูกต้อง

มีคำสั่งสอนที่ถูกต้องคือ

สวากขาโต ภควตาธัมโม

จะศึกษากับใครถึงจะได้

สวากขาโต ภควตาธัมโม

 ก็ต้องศึกษาจากพระไตรปิฎก

 เชื่อกันว่าเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า

ที่ได้รับการถ่ายทอดมา

ทุกยุคทุกสมัยจนถึงปัจจุบัน

หรือไม่เช่นนั้นก็ต้องศึกษาจากพระอริยสงฆ์

 ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ

ครูบาอาจารย์ผู้บรรลุมรรคผลนิพพานแล้ว

 ถึงจะได้ สวากขาโต ภควตาธัมโม

 ธรรมที่ตถาคตตรัสไว้ชอบแล้ว

นี่คือขั้นตอนของการบำเพ็ญ

ของพุทธศาสนิกชน

ไม่ว่าจะเป็นคฤหัสถ์หรือบรรพชิต

 เหมือนกัน ไม่ต่างกัน

 ต่างกันตรงที่เวลาที่จะมีให้

ต่อการบำเพ็ญกิจของพระศาสนา

ถ้าเป็นบรรพชิตก็จะมีเวลาเต็มที่

 ตั้งแต่ตื่นจนหลับเลย

 ไม่มีภารกิจอย่างอื่นมาดึงไป

แต่ถ้าเป็นฆราวาสผู้ครองเรือน

จะมีเวลาน้อยมาก ต่อการปฏิบัติกิจ

ของพระศาสนา

วันหนึ่งแทบจะไม่มีเวลาเลย

 ถ้าไม่ตั้งใจจริงๆ

 ถ้าไม่กำหนดตารางไว้จริงๆ

 แทบจะไม่มีเวลาบำเพ็ญกันเลย

 ตื่นเช้าขึ้นมาก็ตาลีตาลานรีบไปทำงาน

ทำมาหากินกัน

พอเย็นก็รีบตาลีตาลาน กลับบ้าน

 เพื่อจะได้กินข้าวพักผ่อนหลับนอน

หาความสุขเล็กๆน้อยๆ

จากการดูหนังฟังเพลง

พักผ่อนหย่อนใจ

 เพื่อจะได้มีกำลังออกไปทำงานในวันรุ่งขึ้น

 ฆราวาสจึงไม่ค่อยมีเวลา

ที่จะปฏิบัติกิจของพระศาสนา

ถามว่าฆราวาสกับบรรพชิตนี้ต่างกันไหม

 ไม่ต่างกัน มีขันธ์ ๕ เหมือนกัน

 มีกายมีใจเหมือนกัน

ต่างกันตรงที่มีความใฝ่ธรรม

มากน้อยต่างกัน

 ถ้าใฝ่ธรรมมากก็จะมีกำลังมากพอ

ที่จะสละเพศของฆราวาสได้

ออกไปปฏิบัติได้

 ออกไปบวชเป็นบรรพชิต

 เป็นนักบวช เพื่อปฏิบัติอย่างเต็มที่

แต่ถ้าบวชแล้วไม่ได้ปฏิบัติ

กลับมาทำกิจของฆราวาสก็ไม่ต่างกัน

 เช่นบวชแล้วไม่เคยนั่งสมาธิ

ไม่เคยเดินจงกรมเลย

ทำแต่บุญบังสังสวด บุญก็คืองานบุญ

 เช่นญาติโยมนิมนต์ไปทำบุญที่บ้าน

 ถือตาลปัตรไปนั่งสวดให้ญาติโยมฟัง

 เสร็จแล้วก็ฉัน ฉันเสร็จแล้ว

ก็รับจตุปัจจัยไทยทาน

 แล้วก็กลับวัดมาพักผ่อน

บ่ายๆก็ดื่มน้ำชากาแฟ

ตอนกลางคืนก็เข้านอน

เช้าก็ไปรับกิจนิมนต์ใหม่

รับสังฆทานบ้าง งานบุญบ้าง บังสุกุลบ้าง

 เวลาคนตายก็ไปบังสุกุล

 ถ้ามีพิธีสวดก็สวดกัน

ถ้าทำกิจอย่างนี้ก็ไม่ต่างกับฆราวาส

เพราะนี่ไม่ใช่กิจของพระศาสนา

ไม่ใช่กิจที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ปฏิบัติ

 ในอดีตนั้นท่านไม่ได้ถือกิจเหล่านี้เป็นกิจสำคัญ

 การสวดการท่องนี้ทำเพื่อสืบทอด

พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า

 เป็นอุบาย ๓ ประการด้วยกัน

คือ ๑. เป็นการสอนผู้สวดเอง

ให้รู้พระธรรมคำสั่งสอน ให้เกิดปัญญา

๒. ให้มีสมาธิ เวลาสวดพระธรรมคำสั่งสอน

ของพระพุทธเจ้า หรือท่องไปในใจ

เป็นการทำสมาธิภาวนา

 ๓. เป็นการอนุรักษ์คำสอนของพระพุทธเจ้าไว้

ธรรมที่ออกมาจากใจ

กับธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนนี้

 จะตรงกัน จะไม่มีปัญหาไม่สงสัย

 ถ้าศึกษาอย่างเดียว ไม่ได้ปฏิบัติ

ไม่มีปฏิเวธ จะสงสัย ไม่แน่ใจว่า

ธรรมที่ได้ยินนี้ถูกต้องหรือไม่

เป็นอย่างนั้นจริงหรือไม่

ถ้าจะอนุรักษ์พระศาสนา

ด้วยการท่องสวดอย่างเดียวจะไม่พอ

 พระศาสนาจะต้องหมดไปอย่างแน่นอน

 ถ้าไม่มีการปฏิบัติพระศาสนาก็จะหมดไป

 ต่อให้มีการจารึกพระไตรปิฎกไว้

ในระบบข้อมูลสื่อสารต่างๆ

ก็จะเป็นเพียงตัวหนังสือเท่านั้นเอง

อ่านแล้วจะไม่เข้าใจจะลังเลสงสัย

เช่นเรื่องธาตุ ๖ นี้ ถ้าไม่เคยได้ยิน

ไม่เคยศึกษามาก่อน ฟังครั้งแรก

ก็จะต้องงงทันทีเลย ถ้าไม่ปฏิบัติจะไม่รู้

 ถ้าปฏิบัติแล้วจะเข้าใจทันที

 พออ่านปั๊บจะรู้ทันทีเลยว่าพูดถึงเรื่องอะไร

 เพราะมีอยู่ในตัวเรา ไม่ได้อยู่ที่ไหน

 ธาตุ ๖ นี้อยู่ในตัวเรา

ทุกสิ่งทุกอย่างที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนนี้

 มุ่งมาที่กายและใจของเราเท่านั้น

 อริยสัจ ๔ ก็อยู่ที่ใจของเรา

อยู่ที่ร่างกายของเรา

ทุกขสัจคือการเกิดแก่เจ็บตาย

 อะไรล่ะที่เกิดแก่เจ็บตาย ก็ร่างกายนี้

อะไรที่ทุกข์ ก็ใจนี้ที่ทุกข์

เพราะไปยึดไปติดกับร่างกาย

ว่าเป็นตัวเราของเรา

นี่คือการอนุรักษ์พระศาสนา

ให้มีอายุยืนยาวนาน

 ต้องอนุรักษ์ด้วยปริยัติปฏิบัติปฏิเวธ

 ในสมัยโบราณท่านสวดกันเพื่อเหตุนี้

 แต่ในสมัยปัจจุบัน ไม่ได้สวดเพื่อเหตุนี้

 สวดเพื่อกระดาษที่พิมพ์ตัวเลข

 เป็นพิธีกรรม ได้อย่างมากก็ทาน

ถ้าเอาเงินที่ได้มาไปทำทาน

แต่การทำทานไม่ใช่หน้าที่ของนักบวช

ที่ได้สละหมดแล้ว

ทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทอง

 ถ้าบวชเพื่อมาหาเงิน

 ก็แสดงว่าไม่ได้มาบวชจริง

ผู้ที่บวชจริงๆได้สละหมดแล้ว

 ไม่ได้มาบวชเพื่อสะสมทรัพย์สมบัติ

ข้าวของเงินทอง บวชเพื่อปฏิบัติธรรม

ไม่ยุ่งกับเรื่องเงินทอง

 นอกจากว่ามันมายุ่งกับท่านเอง

อย่างนี้ก็ช่วยไม่ได้

 เช่นครูบาอาจารย์ที่มีศรัทธา

ถวาย เงินทองให้กับท่าน

 แต่จิตใจท่านไม่ได้มุ่งหาเงินหาทอง มันมาเอง

 ท่านก็ใช้ให้เกิดประโยชน์แก่โลก

 ถ้าท่านยังไม่บรรลุก็จะเป็นปัญหาได้

เพราะจะมีกิเลสที่ทำให้เกิดความโลภ

เกิดความอยาก เกิดความหวงขึ้นมาได้

ถ้าไปเกี่ยวข้องกับเงินทองก็จะเสียได้

 แต่ถ้าบรรลุธรรมแล้วเสร็จกิจของท่านแล้ว

 วุสิตังพรหมจริยังแล้ว

 กิจในพรหมจรรย์ได้สิ้นสุดลงแล้ว

ต่อให้เกี่ยวข้องกับเงินทองกองเท่าภูเขา

ก็จะไม่เป็นปัญหาอย่างไร

เพราะท่านรู้ว่ามันเป็นเพียงธาตุ

เป็นกระดาษเท่านั้นเอง

 แต่เป็นประโยชน์กับผู้ที่เดือดร้อน

 ไม่มีข้าวกิน ไม่มีบ้านอยู่ ไม่มีเสื้อผ้าใส่

ก็จะเป็นประโยชน์

แต่กับตัวท่านมันไม่มีประโยชน์อะไร

ทั้งกายและใจ กายท่านก็ปล่อย

ใจท่านก็ไม่ทุกข์กับอะไร ไม่มีความอยาก

 ต่อให้ได้เงินทองกองเท่าภูเขา

 ก็จะไม่มีประโยชน์อะไรกับท่าน

กลับเป็นภาระ ที่จะต้องจัดการดูแล

แจกจ่าย ให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด

ถ้าผู้บวชใหม่เห็นครูบาอาจารย์

มีเงินมีทองมาก

ก็อยากจะมีเหมือนกับท่าน

 ก็แสดงว่าหลงทางแล้ว

เพราะไม่ได้บวชเพื่อมาหาเงินหาทอง

 บวชเพื่อหาธรรม

หาการหลุดพ้นจากความทุกข์

เป็นงานของนักบวช

งานของพุทธศาสนิกชน

เป้าหมายของพวกเราทุกคน

 อยู่ที่การดับทุกข์ภายในใจ

 ถ้าปฏิบัติมากละได้มากก็จะดับได้มาก

เพราะทุกสิ่งทุกอย่างที่เรามีอยู่นี้

เป็นเหมือนไฟ เงินทองนี้เป็นเหมือนไฟ

จะคอยเผาใจเราอยู่เรื่อยๆ

ความสุขที่มันให้กับเรานี้มีเพียงเล็กน้อย

 แต่ความทุกข์ที่เผาใจเรานี้

มีมากกว่าหลายเท่า แต่เราไม่รู้กัน

 พอเห็นเงินเห็นทองก็ตาลุกวาว

คิดว่าจะให้ความสุขกับเรา

 แต่หารู้ไม่ว่า

ถ้าไปยึดติดกับเงินไปพึ่งเงินแล้ว

 เวลาไม่มีเงินจะทำอย่างไร

จะอยู่เฉยๆได้ไหม

 ถ้าไม่ยึดไม่ติดกับเงินทอง

 จะอยู่ตามมีตามเกิดได้

 คนรวยถึงทุกข์มากกว่าคนจน

ทุกข์เพราะกลัวจะจน

 แต่คนจนไม่กลัวความจน

 เพราะอยู่กับความจนตลอดเวลา

 คนจนทุกข์ตรงที่อยากจะรวย

 แต่คนรวยกลับทุกข์เพราะไม่อยากจะจน

 แล้วก็ทุกข์เพราะอยากจะรวยกว่าเก่าอีก

ทุกข์ทั้ง ๒ ด้านเลย

ทุกข์ทั้งขึ้นทุกข์ทั้งลง

รวยแล้วยังอยากจะรวยกว่านี้อีก

 แล้วก็กลัวจะจนอีก จึงอย่าไปอยากรวย

อย่าไปกลัวจน

 พอมีพอกินไปวันๆหนึ่งก็พอแล้ว

 อย่าไปเสียเวลากับการหาเงินหาทอง

หรือรักษาเงินทองมากจนเกินเหตุ

ให้มารักษาใจจะดีกว่า ด้วยการศึกษา

ด้วยการปฏิบัติ ด้วยปฏิเวธ

พอได้ปฏิเวธแล้วใจจะปลอดภัย

จากทุกข์ทั้งปวง ทุกข์ภัยต่างๆ

ที่เกิดจากกิเลสตัณหาจะไม่มี

 เพราะไม่มีกิเลสตัณหาหลงเหลืออยู่ในใจ

 ความสำคัญอยู่ตรงนี้

อยู่ที่ใจที่สะอาดบริสุทธิ์

ที่ได้ชำระความโลภความโกรธความหลง

จนหมดสิ้นไป ภารกิจอื่นไม่สำคัญ

เพราะไม่สามารถชำระจิตใจ

ให้สะอาดบริสุทธิ์ได้

 ต้องปฏิบัติกิจของพระศาสนา

 คือปริยัติปฏิบัติปฏิเวธเท่านั้น ที่จะทำได้

ถ้าพอมีพอกินแล้ว

 ก็ควรหันมาปฏิบัติกิจ

ของพระศาสนาให้มากขึ้นจะดีกว่า

จะได้ไม่เสียชาติเกิด

เพราะมนุษย์นี้เป็นชาติเดียวเท่านั้น

ที่จะปฏิบัติกิจของพระศาสนาได้

แล้วก็ต้องเป็นในขณะที่มีคำสอน

ของพระพุทธเจ้าอยู่ด้วย

 ต้องมีสวากขาโต ภควตาธัมโม

เป็นปริยัติธรรมนำทาง

ถ้าไม่มีก็จะปฏิบัติแบบผิดๆถูกๆ

จะไม่สามารถบรรลุผลที่ถูกต้องได้

พวกเราถือว่าโชคดีมีบุญวาสนา

ที่ได้เกิดเป็นมนุษย์ในขณะที่ยังมี

สวากขาโต ภควตาธัมโมอยู่

ถ้าไม่รีบตักตวงก็จะเสียโอกาสที่ดีนี้ไป

 ต้องพิจารณาและตัดสินใจเอง

 โอกาสอย่างนี้มีไม่บ่อย

การจะได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก

 แล้วมาเจอพระพุทธศาสนาพร้อมๆกันนี้

 เป็นสิ่งที่ยากมาก ดังที่ทรงแสดงไว้ว่า

 มีสิ่งที่ยากอยู่ ๔ ประการด้วยกันคือ

 ๑. การปรากฏของพระพุทธเจ้า

๒. การได้เกิดเป็นมนุษย์

๓. การได้ศึกษาปฏิบัติธรรม

๔. การดำรงชีวิต

ตอนนี้พวกเรามีครบทั้ง ๔ ส่วนแล้ว

เป็นมนุษย์ ได้พบพระธรรมคำสอน

ได้ศึกษาได้ปฏิบัติ ยังมีชีวิตอยู่

สิ่งที่ขาดตอนนี้ก็คือการปฏิบัติ

 ต้องปฏิบัติให้มากขึ้นศึกษาให้มากขึ้น

 ตอนนี้ศึกษาปฏิบัติเดือนละครั้ง

 รู้สึกว่าน้อยมาก

 ถ้ากินข้าวเดือนละครั้งจะเป็นอย่างไร

 ทำไมไม่ศึกษาปฏิบัติเหมือนกับกินข้าว

 กินข้าววันละ ๓ มื้อ

น่าจะศึกษาปฏิบัติวันละ ๓ รอบ

รอบเช้า รอบกลางวัน รอบเย็น

รอบละชั่วโมง ๒ ชั่วโมง

ร่างกายอยู่ได้เพราะเราเลี้ยงดูอย่างดี

 แต่ใจเราไม่สะอาดเพราะเราไม่ชำระ

เหมือนกับเลี้ยงดูร่างกาย

ถ้าชำระใจเหมือนเลี้ยงดูร่างกาย

 จะสะอาดมากกว่านี้

จะมีความสุขมากกว่านี้

 ขอให้เอาสิ่งที่ได้ยินได้ฟังนี้

ไปพินิจพิจารณาและปฏิบัติ

ตามแต่จะเห็นสมควร


พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

........................

กัณฑ์ที่ ๔๑๑ วันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๕๓

“ธาตุ ๖”






ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 24 พฤศจิกายน 2559
Last Update : 24 พฤศจิกายน 2559 6:05:31 น.
Counter : 733 Pageviews.

0 comment
### สติและปัญญา ###











“สติและปัญญา”

พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า

 ไม่มีธรรมอันใดที่จะสำคัญเท่ากับ “สติ”

 “สติ” นี้เป็นธรรมที่สำคัญที่สุดในการปฏิบัติ

 เพราะถ้าเราไม่มีสติเราจะไม่สามารถดึงใจ

ให้เข้ามาข้างในได้ เมื่อใจไม่เข้าข้างใน

 ใจก็จะไม่เห็นอริยสัจ ๔ จะไม่เห็นทุกข์

สมุทัย นิโรธ มรรค

 ก็จะไม่สามารถดับความทุกข์ใจได้

แต่ถ้าใจกลับเข้ามาข้างในได้

เวลาเกิดความทุกข์ใจนี้ ใจจะเห็นชัดเลยว่า

เกิดจากความอยากของใจ

ไม่ว่าจะเป็นการอยากใน

รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

หรืออยากในภวะต่างๆ อยากมีอยากเป็น

หรืออยากไม่มีอยากไม่เป็น

 สติธรรมจึงเป็นธรรมที่ยิ่งใหญ่สำคัญที่สุด

ถึงแม้ว่าสติธรรมนี้ไม่สามารถ

ที่จะทำลายความอยากได้

 แต่ถ้าไม่มีสติธรรม ปัญญาก็จะไม่สามารถ

ที่จะเกิดได้ ปัญญาจะไม่สามารถเห็นว่า

ต้นเหตุของความทุกข์ใจนั้น อยู่ที่ความอยาก

 และปัญญานี้จะไม่สามารถเห็นว่า

สิ่งที่ใจอยากนั้นเป็นทุกข์ เพราะว่าไม่เที่ยง

เพราะว่ามันไม่ใช่ เป็นของเรา

มันจะต้องพลัดพรากจากเราไป

ต้องให้ใจสงบ ใจเข้าไปข้างในแล้ว

 ใจก็จะสามารถใช้ปัญญา พิจารณาสอนใจ

 ให้เห็นว่าความทุกข์ของใจ

เกิดจากความอยากของใจ

และสิ่งที่ใจอยากได้

ก็เป็นสิ่งที่ ไม่เที่ยงแท้แน่นอน

 เป็นสิ่งชั่วคราวได้มาแล้วเดี๋ยวก็ต้องเสียไป

 ไม่ได้เป็นของเราอย่างแท้จริง

เดี๋ยวก็ต้องพลัดพรากจากเราไป

ถ้าเราไม่อยากจะทุกข์

เราก็ต้องไม่ไปหาสิ่งต่างๆ

 เช่นรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

ไม่ไปหาร่างกาย ไม่ไปมีร่างกาย

 เพราะถ้ามีร่างกายแล้วก็ต้องมีความแก่

ความเจ็บ ความตายตามมา

 อันนี้เกิดจากการที่เรามีสติดึงใจ

เข้าข้างในก่อน ถ้าเราไม่มีสติ

 อวิชชา โมหะ กิเลสตัณหา ก็จะคอยดันใจ

ให้ออกไปหารูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

 ให้ไปหาบุคคลนั้นบุคคลนี้

ให้ไปหาเหตุการณ์นั้นเหตุการณ์นี้

 แล้วก็จะยึดจะติดกับบุคคลต่างๆ

 เหตุการณ์ต่างๆ รูปเสียงกลิ่นรสต่างๆ

 แล้วก็ไปทุกข์กับสิ่งเหล่านี้

แล้วพอถึงเวลาพลัดพรากจากสิ่งเหล่านี้

 ก็อยากจะกลับมาหา สิ่งเหล่านี้อีก

ก็จะกลับมาเกิดใหม่ พอกลับมาเกิดใหม่

 ก็จะมาแก่ มาเจ็บ มาตายใหม่

แต่ถ้าเราดึงใจ ให้เข้าข้างในได้ด้วยสติ

 เช่นบริกรรมพุทโธๆไปนี้เรียกว่า

เป็นการสร้างสติเพื่อที่จะดึงใจให้เข้าข้างใน

 ถ้าเราพุทโธๆอยู่เรื่อยๆ ใจก็จะสามารถ

คิดไปหารูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

 คิดไปหาเหตุการณ์ต่างๆ บุคคลต่างๆ

เช่นลาภยศ สรรเสริญได้

ใจจะนิ่งจะเย็นจะสบาย ถ้านั่งเฉยๆ

 ใจก็จะดิ่งเข้าสู่ข้างในเต็มที่เข้าไปสู่ตัวรู้ผู้รู้

 แล้วจะได้เห็นว่า

สิ่งที่เกิดขึ้นภายในใจนั้นมีอะไรบ้าง

 เวลาทุกข์เกิดขึ้นก็จะเห็นเลยว่า

เกิดจากความอยากอย่างใดอย่างหนึ่ง

ใน ๓ ความอยากนี้ ไม่ว่าจะเป็นกามตัณหา

หรือภวตัณหา หรือวิภวตัณหา

 แล้วพอรู้แล้วว่ากามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา

เป็นต้นเหตุของความทุกข์ใจ

ถ้าอยากดับความทุกข์ใจ

ก็ต้องหาเครื่องไม้เครื่องมือมาดับ

เครื่องไม้เครื่องมือที่จะดับได้ก็คือปัญญานี้เอง

ปัญญาที่จะสอนใจให้เห็นว่า

การทำตามความอยากนี้

เป็นการไปหาความทุกข์

 ไม่ได้เป็นการดับความทุกข์

 เพราะสิ่งที่ได้มานั้นจะต้องมีวันสิ้นสุดลง

มีวันหมด มีวันจบ เช่นร่างกาย

เกิดแล้วเดี๋ยวก็ต้องตาย

แล้วเวลาตายก็ต้องทุกข์กัน

 เวลาแก่ก็ต้องทุกข์กันเวลาเจ็บก็ต้องทุกข์กัน

หรือข้าวของเงินทอง

สิ่งของต่างๆ บุคคลต่างๆ

เดี๋ยวเวลาได้มาก็ดีใจ

 พอเดี๋ยวเขาจากไปก็ทุกข์ใจเศร้าโศกเสียใจกัน

 ถ้าเห็นว่าการทำตาม ความอยากนี้

นำไปสู่ความทุกข์ใจ เราก็ไม่ทำหยุดทำ

พอหยุดความอยาก ความทุกข์ใจ

ที่เกิดจากความอยาก ก็จะหายไป

 ใจก็จะสงบนิ่งเย็นสบายมีความสุข

นี่คือวิธีการที่ทำให้จิตใจนั้นหลุดพ้น

จากความทุกข์ต่างๆได้อย่างสิ้นเชิง

ต้องดับด้วยการภาวนา คือการเจริญสติ

ดึงใจให้เข้าสู่ข้างในเพื่อให้ใจสงบนิ่งเย็นสบาย

เป็นอุเบกขาเป็นกลางสักแต่ว่ารู้

ซึ่งเป็นสภาพของจิตที่มีความสุขอย่างยิ่ง

 เมื่อได้พบกับความสุขที่แท้จริงแล้ว

ก็จะทำให้เลิกหาความสุขปลอมได้

 เลิกหาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกายได้

เลิกหาความสุขจากลาภยศ สรรเสริญ

 จากบุคคลนั้นจากบุคลลนี้

จากเหตุการณ์นั้นเหตุการณ์นี้ได้

เลิกหาความสุขจากการรักษา

สิ่งที่เรารักษากันไม่ได้

 รักษาลาภยศ สรรเสริญ สุขกันไม่ได้

รักษาร่างกายกันไม่ได้

ของพวกนี้ต้องมีวัน

ที่จะต้องมีการพลัดพรากจากกัน

คือเวลาที่เราตายนี่เอง

หรือก่อนหน้านั้นก็อาจจะจากเราไปก็ได้

ข้าวของเงินทองก็อาจจะหายไปหมดก็ได้

 หมดเนื้อหมดตัวขึ้นมาก็ได้

แต่ถ้าเราไม่มีความอยากทั้ง ๓ ประการนี้

เราจะไม่ทุกข์กับการสูญเสียของสิ่งต่างๆ ไปเลย

 เพราะเราไม่ต้องอาศัยสิ่งต่างๆ เหล่านี้

มาให้ความสุขกับเรา

เรามีความสุขจากการดึงใจเข้าข้างในได้

 เลิกหาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกายได้

เลิกหาความสุขจากลาภยศ สรรเสริญ

 จากบุคคลนั้นบุคคลนี้

จากเหตุการณ์นั้นเหตุการณ์นี้ได้

เลิกหาความสุขจากการรักษา

สิ่งที่เรารักษากันไม่ได้

รักษาลาภยศสรรเสริญสุขกันไม่ได้

 รักษาร่างกายกันไม่ได้

ของพวกนี้ต้องมีวัน

ที่จะต้องมีการพลัดพรากจากกัน

 คือเวลาที่เราตายนี่เอง หรือก่อนหน้านั้น

ก็อาจจะจากเราไปก็ได้

ข้าวของเงินทองก็อาจจะหายไปหมดก็ได้

หมดเนื้อหมดตัวขึ้นมาก็ได้

แต่ถ้าเราไม่มีความอยากทั้ง ๓ ประการนี้

เราจะไม่ทุกข์กับการสูญเสียของสิ่งต่างๆ ไปเลย

เพราะเราไม่ต้องอาศัยสิ่งต่างๆ เหล่านี้

มาให้ความสุขกับเรา

 เรามีความสุขจากการดึงใจเข้าข้างใจ

ดึงใจให้สงบ ดึงใจให้เย็นให้สบายให้เป็นกลาง

 ด้วยการกำลังของสติ

สตินี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ถ้าเราไม่มีสติ

เราจะไม่สามารถดึงใจให้เข้าข้างในได้

 เราก็จะหาความสุขที่แท้จริงไม่เจอ

 เราก็เลยต้องไปหาความสุขปลอมกัน

 ไปหาความสุขจากรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

 ไปหาความสุขจากลาภยศ สรรเสริญ

 หาความสุขจากร่างกายของเรา

และร่างกายของคนอื่น

 แล้วพอเราต้องสูญเสียสิ่งเหล่านี้

 ไปเราก็จะทุกข์ใจกัน

ดังนั้นถ้าเราอยากจะหลุดพ้นจากความทุกข์

เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าได้ทรงหลุดพ้น

 เราต้องปฏิบัติสติกัน เราต้องเจริญสติกัน

 ต้องสร้างสติกัน ต้องนั่งสมาธิกัน

เพื่อทำจิตให้รวมเป็นหนึ่ง

เป็นอัปปนาสมาธิ สักแต่ว่ารู้

แล้วก็จะทำให้เราเห็นพระอริยสัจ ๔

ที่แสดงอยู่ในใจเราตลอดเวลา

ส่วนใหญ่พระอริยสัจ ๔ ของปุถุชน

ของผู้ที่ยังไม่หลุดพ้นนี้

จะแสดงเพียงแต่อริยสัจ ๒ ข้อแรก

คือทุกข์กับสมุทัย

เพราะในใจของผู้ที่ยังไม่ปฏิบัติธรรมนี้

จะไม่มีนิโรธกับไม่มีมรรคนั่นเอง

 จึงเป็นหน้าที่ของผู้ที่ปฏิบัติ เมื่อได้ตั้งใจปฏิบัติแล้ว

 ก็จะต้องมาเจริญมรรค

 มรรคก็คือสติ สมาธิ ปัญญา นี่เอง

 การเจริญสตินี้เป็นการ สร้างมรรค

 และเป็นการดึงใจให้เข้าข้างใน

เพื่อที่จะได้เห็นว่าความทุกข์ของใจนั้น

เกิดจากตัณหา ความอยากของใจเอง

ไม่ได้เกิดจากการสูญเสียสิ่งนั้นสิ่งนี้ไป

 หรือไม่ได้เกิดจากการที่ไปสัมผัส

กับ สิ่งที่ไม่ปรารถนากัน

 แต่เกิดจากความอยากที่ไม่อยากจะเจอ

สิ่งที่ไม่น่าปรารถนาหรือความอยากที่จะให้

 สิ่งที่รักที่ชอบไม่พลัดพรากจากเราไป

 เราจะได้มาแก้ปัญหาได้ที่ถูกจุด

 ก็คือมาหยุดความอยาก ถ้าเราจิตสงบแล้ว

 เวลาเกิดความอยากเราจะรู้ทันที

เพราะเวลาที่ไม่อยากนี้มันจะเป็นอย่างหนึ่ง

 พอเวลามันอยากมันก็จะ เป็นอีกอย่างหนึ่ง

 เหมือนน้ำที่นิ่งกับน้ำที่ไม่นิ่ง

 เวลาน้ำนิ่งนี้เราจะรู้ว่ามันนิ่ง

 แต่พอน้ำกระเพื่อมเราก็จะรู้ทันที

 แต่ตอนนี้ใจของเราไม่เคยนิ่งเลย

ใจของเรามีกระเพื่อมตลอดเวลา

 กระเพื่อมไปตามความอยากต่างๆ

 จนเราไม่รู้ว่ามันเป็นผลที่เกิดจาก

ความอยากของเรา เราก็เลยไม่ไปโทษ

ความกระเพื่อมความไม่สบายใจของเรา

ไปที่ความอยาก เราไปโทษสิ่งต่างๆ

ว่ามันเปลี่ยนไป

 คนที่ดีกับเราแล้วเขาเปลี่ยนมาไม่ดีกับเรา

 เราก็ทุกข์ใจกับเขา เราไม่ไปโทษใจของเรา

ที่อยากให้เขาดีไปตลอด ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้

ไม่มีใครจะดีไปตลอด

นอกจากผู้ที่สิ้นกิเลสเท่านั้นแหละ

ถึงจะดีได้ตลอด

 แต่ผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่นี้

เขาจะไม่สามารถดีไปได้ตลอด

 เขาจะต้องเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ดีบ้างไม่ดีบ้าง

 เพราะอารมณ์เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา

อารมณ์ดีเขาก็ดี อารมณ์ไม่ดี เขาก็ไม่ดี

ไม่ใช่แต่เขา เราก็เหมือนกัน

เราเองก็ไม่ได้ดีได้ตลอด

 เวลาเราอารมณ์ดี เราก็ทำดี คิดดี พูดดีได้

 แต่เวลาที่เราอารมณ์ไม่ดี

เราก็คิดดี ทำดี พูดดีไม่ได้ เราก็จะคิดไม่ดี

พูดไม่ดี ทำไม่ดี

 ดังนั้นเราต้องมองความจริงด้วยปัญญาว่า

ของทุกอย่างในโลกนี้ มันไม่เที่ยงแท้แน่นอน

 เราจะไปยึดไปติดกับสิ่งต่างๆ

 เราก็จะต้องทุกข์เวลาที่เขาเปลี่ยนแปลงไป

 เวลาที่เขาไม่ดี เปลี่ยนจากเวลาที่เขาดี

ก็จะทำให้เราทุกข์ใจ ไม่สบายใจ

 แต่ถ้าเรามีปัญญาเห็นว่าเป็นเรื่องปกติ

เรื่องธรรมดาของคนที่จะต้องเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา

 เราอย่าไปอยากให้เขาดีไปตลอด

เราก็จะไม่ทุกข์ เวลาที่เขาไม่ดี

เราจะมาแก้ปัญหาที่ความอยากของเรา

ถ้าเราเข้าข้างในแล้วทุกครั้งที่ใจเรากระเพื่อม

 ใจเราไม่สบายนี้ เราจะเห็นทันทีว่า

เกิดจากความอยาก แล้วถ้าเรามีปัญญา

เห็นว่าทุกอย่างไม่เที่ยง มีการที่จะต้องเปลี่ยนไป

 เปลี่ยนมาแล้วเราก็จะต้องยอมรับความจริงอันนี้

 พอเรารับความจริงไม่ฝืนความจริง

ไม่อยากให้เป็นอย่างอื่น ใจก็จะสงบ

ใจก็จะกลับมานิ่งสงบ ความทุกข์ก็จะหายไป

นี่คือการทำงานของพระอริยสัจ ๔

 ภายในใจของพวกเราทุกคน

 ตอนนี้พระอริยสัจ ๔ ของพวกเรามีแค่ ๒

 คือมีแต่ทุกข์กับสมุทัยเป็นส่วนใหญ่ นานๆ

จะมีมรรคสักครั้งหนึ่ง

นานๆ เราจะทำบุญกันสักครั้ง

 รักษาศีลกันสักครั้ง ฟังเทศน์ฟังธรรมกันสักครั้ง

เวลาฟังธรรมเราได้ปัญญา

 ความทุกข์ความวุ่นวายที่เกิดขึ้น

ก็อาจจะดับหายไป ถ้าเราฟังธรรมแล้วเข้าใจ

 แล้วเราสามารถปล่อยวางความอยากของเราได้

 ความทุกข์ใจของเราก็จะหายไปได้

 แต่มันจะเป็นการหายเพียงชั่วคราว

 เพราะเรายังไม่ได้ปฏิบัติอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา

ถ้าอยากจะให้ความทุกข์ใจหายอย่างตลอดเวลา

 เราต้องปฏิบัติตลอดเวลา เราต้องมีสติปัญญา

 คอยแก้ความอยากตลอดเวลา

 พอเกิดความอยากขึ้นมา

ก็จะได้ใช้สติปัญญาเข้าไปเคลียร์

ว่าเราทุกข์เพราะเราอยาก ให้สิ่งนั้นเป็นอย่างนั้น

 สิ่งนั้นเป็นอย่างนี้ แล้วความทุกข์นั้นก็จะหายไป

ตอนนี้สิ่งที่เราขาดก็คือสติและปัญญากัน

จึงทำให้เราไม่เห็นต้นเหตุของความทุกข์

คือความอยากทั้ง ๓ และไม่เห็นธรรม

 เห็นมรรคที่จะนำเอามาใช้หยุดความอยาก

 ไม่เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

 เราจึงมาสร้างธรรม ๒ อันนี้คือสร้างสติ

เพื่อทำให้เกิดสมาธิ เกิดความสงบ

เมื่อเรามีความสงบแล้ว

เราก็จะสามารถสร้างปัญญาสอนใจ

ให้เห็นสภาวะความเป็นจริงของทุกสิ่งทุกอย่าง

ว่าไม่เที่ยงเป็นทุกข์ไม่ใช่ของเรา

 พอเราเห็นว่าทุกอย่างไม่เที่ยง

 เป็นทุกข์ไม่ใช่ของเรา

 เราก็จะได้ไม่มีความอยากจะได้

อะไรมาเป็นของเรา

 เพราะมันไม่สามารถเป็นของเรา ได้ตลอด

สักวันหนึ่งเขาก็จะต้องไปจากเรา

พอเวลาเขาไป เราก็จะทุกข์กับเขา

 นี่คือเรื่องของการมี ดวงตาเห็นธรรม

เห็นอริยสัจ ๔ ถ้าเราเห็นอริยสัจ ๔ ได้ตลอดเวลา

 ทุกครั้งที่เกิดความทุกข์ขึ้นมา เรารู้ทันทีว่า

 เกิดจากกามตัณหา ภวตัณหา หรือวิภวตัณหา

 แล้วเราก็ใช้ปัญญามาสอนใจว่า

ของที่เราอยากได้นั้น มันเป็นสิ่งที่

เราไปควบคุมบังคับไม่ได้

เป็นอนัตตา เป็นธรรมชาติ

 เช่นเมื่อกี้ฝนตก ฝนตกนี้เราก็ห้ามฝนตกไม่ได้

 แต่เราห้ามใจของเราไม่ให้ทุกข์กับฝนได้

ถ้าเรามีปัญญา เราจะนั่งเฉยๆ

ฟังเทศน์ฟังธรรมต่อไปได้

เพราะเราจะปล่อยให้ร่างกายเปียกไป

มันจะเปียกก็เปียกไป

เราไม่ได้มีความอยากไม่ได้ให้มันไม่เปียก

 มันก็จะไม่มีความทุกข์ใจเราก็จะนั่งอยู่เฉยๆ

 นั่งอย่างสบายไม่ทุกข์กับฝนตกได้

แต่ถ้าเราไม่มีปัญญา พอฝนตกปั๊บ

 ความอยากไม่เปียกมันก็เลยทำให้

เราต้องขยับขยายกัน เปลี่ยนที่กันไป

 ไปหาที่หลบแดดหลบฝนกัน เพราะเราไม่มีปัญญา

เพราะเราไม่ได้ดูใจของเรา เราไปดูที่ร่างกาย

 พอร่างกายเปียก ใจของเราก็อยากไม่ให้มันเปียก

 เราก็เลยต้องขยับที่ หาที่

ที่จะทำให้ร่างกายมันไม่เปียก

 แต่ถ้าเรามีปัญญา เราดูที่ใจเรา

 ว่าตอนนี้ใจเรา เกิดความไม่สบาย

เพราะอยากไม่เปียก

 ถ้าเราอยากจะให้ใจเราสบายก็ปล่อยมันเปียกไป

เปียกก็ไม่เป็นไร เดี๋ยวก็เปลี่ยนเสื้อผ้าได้

เปียกแล้วเดี๋ยวมันก็แห้งได้

 เราเวลาอาบน้ำอาบท่าเราเปียก

มากกว่าตอนที่ฝนตกเสียอีก ทำไมเราเปียกได้

 ขณะที่เรามีเสื้อผ้าใส่แล้วฝนตกนิดๆหน่อยๆ

 มันเปียกเราทำไมจะต้องไปทุกข์กับมันทำไม

 เราก็นั่งฟังเทศน์ฟังธรรมต่อไปได้อย่างสบาย

นี่คือเปรียบเทียบให้เห็นว่า

เวลาที่เราเห็นอริยสัจ ๔ กับไม่เห็นเป็นอย่างไร

 ถ้าเห็นอริยสัจ ๔ เราไม่มาแก้ที่ร่างกาย

 เราไม่มาแก้ที่คนนั้นคนนี้ เรามาแก้ที่ใจของเรา

เวลาถูกใครเขาด่า เราไม่ไปหยุดเขาไม่ไปด่าตอบ

 เราจะเฉยๆ ปล่อยเขาด่าไป

เรามาหยุดความอยากของเรา

 หยุดความอยากที่ไม่อยากให้เขาด่าเรา

อยากให้เขาหยุดด่าเรา เราอย่าไปอยาก

 อยากแล้วมันจะทรมานใจ

 เพราะเราไม่สามารถไปสั่งให้เขาหยุดได้

 ยิ่งไปด่าเขาเดี๋ยวเขายิ่งกลับมา

ด่าเราเพิ่มมากขึ้นอีก

 แต่ถ้าเราอยู่เฉยๆ ฟังไป

เขาอยากจะด่าก็ปล่อยเขาด่าไป

 เราทำใจให้เฉยๆ ไม่มีความอยากให้เขาไม่ด่า

รับรองได้ว่าเราจะไม่ทุกข์กับเขา

ไม่ทุกข์กับการด่าของเขา

 แต่ตอนนี้ใจเราไม่ได้ หันเข้าข้างใน

 ไม่ได้หันมาดูที่ความอยากของเรา

กลับหันไปดูคนที่มาด่าเรา เราเลยไปแก้ที่เขา

 แต่การจะไปแก้ที่เขาแทนที่จะแก้

กลับไปสร้างเรื่องราวให้มันใหญ่โตขึ้นมา

 อย่างที่เขาเรียกว่า น้ำผึ้งหยดเดียว

เขาด่าเรา เราก็ด่ากลับ

 พอด่ากลับเขาก็ด่าแรงกว่าเก่า

พอเขาด่าเเรงกว่าเก่า

 เราก็ด่ากลับไปแรงกว่าเก่าอีก

 เดี๋ยวก็ลงไม้ลงมือกัน ตีกันไปตีกันมา

 เดี๋ยวก็ใช้มีดใช้ปืนทิ่มเเทงกันฆ่าฟันกัน

 คนหนึ่งตายไปอีกคนก็ต้องไปติดคุกติดตะราง

 แล้วพอภพหน้าชาติหน้า

ถ้ากลับมาเจอกันอีกเมื่อไร

 ก็มาด่ากันใหม่ มาตีกันใหม่

เพราะเราไม่ได้มาแก้ปัญหา

ที่ความอยากของเรา

 ความอยากไม่ให้เขาด่าเรา

 ความอยากที่ไม่ให้เขาร้ายกับเรา

 ไม่ดีกับเรา เราต้องใช้ปัญญา

พิจารณาว่าคนต่างๆ

 นี้มีทั้งคนที่ชอบเราและคนที่ไม่ชอบเรา

 เพราะอดีต เราอาจจะมีอะไรกันมาก็ได้

 คนที่ชอบเรา

 อดีตเราอาจจะเคยร่วมทำความดี

 เคยช่วยเหลือกันมาก็ได้

 ส่วนคนที่ไม่ชอบเราก็อดีตก็อาจจะเป็นเพราะ

เราเคยมีเรื่องมีราวกันมีโกรธเกลียดกันมา มาก่อน

 เราไปเปลี่ยนเขาไม่ได้ แต่เราเปลี่ยนเราได้

 เพราะตอนนี้เรามีธรรม เรามีสติ มีปัญญาธรรม

ถ้าเรามีสติ มีปัญญาเราจะไม่ไปแก้ข้างนอก

 เพราะเรารู้ว่าแก้ไม่ได้ แล้วแก้ไม่ถูกจุด

 เพราะคนที่เขาด่าเรานี้ไม่ใช่ เป็นต้นเหตุ

ของความทุกข์ใจของเรา

 ต้นเหตุของความทุกข์ใจของเราอยู่ที่ความอยาก

ไม่ให้เขาด่าเราต่างหาก

เราก็มาหยุดความอยากนี้ เปลี่ยนใจ

ไม่อยากให้เขาด่าก็เปลี่ยนไปอยากให้เขาด่าเสีย

มันก็หมดเรื่อง พออยากให้เขาด่าแล้ว

เวลาเขาด่าเราก็สมใจอยาก เราก็สุขใจ

อยากได้อะไร พอได้ดังใจก็เกิดความสุขใจขึ้นมา

 ดังนั้นหัดอยากในสิ่งที่เราได้รับ

 อย่าไปอยากในสิ่งที่เราไม่ได้รับ

หรือไม่อยากได้ในสิ่งที่เรารับ

 เรารับอะไรหัดยินดีกับสิ่งที่เราได้รับ

แล้วเราจะไม่ทุกข์ใจ ถ้าเราไม่ยินดี

กับสิ่งที่เราได้รับเราจะเสียใจ เราจะทุกข์ใจ

เราเปลี่ยนใจของเราได้ ถ้าเรามีสติ มีปัญญา

 เราจะมีกำลังพลิกใจของเราได้

จากไม่อยากให้มันเฉยๆได้

จากอยากให้มันเฉยๆได้

นี่คือวิธีการที่จะดับความทุกข์ต่างๆ

ที่มีอยู่ภายในใจของพวกเราให้หมดไป

 พระพุทธเจ้า พระอรหันตสาวกท่านใช้วิธีนี้ทั้งนั้น

 ท่านใช้วิธีดึงใจเข้าข้างในด้วยการเจริญสติ

 พุทโธๆไป แล้วก็นั่งสมาธิไป จนจิตสงบ

พอจิตสงบก็แสดงว่าจิตได้เข้าข้างในแล้ว

 ได้ปล่อยวางร่างกาย

ปล่อยวางรูปเสียงกลิ่นรส โผฏฐัพพะแล้ว

พอจิตเข้าข้างในแล้วพอจิตเริ่มกระเพื่อม

 พอออกจากความสงบ พอเกิดความอยากปั๊บ

มันจะเห็นทันทีว่าตอนนี้ความอยากเริ่มทำงานแล้ว

 อยากได้รูปเสียงกลิ่นรสแล้ว

 อยากให้สิ่งนั้นสิ่งนี้ บุคคลนั้นบุคคลนี้

เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้แล้ว

พอเกิดความอยากปั๊บ

เราก็หยุดความอยากเสียทำใจให้เฉยๆ

 เขาจะทำอะไรก็ปล่อยเขาทำไป

เขาจะไม่ทำอะไรก็ปล่อยเขาไม่ทำไป

รูปเสียงกลิ่นรสก็ปล่อยเขาเฉยๆ

อย่าไปยุ่งกับเขา เสพเท่าไรก็ไม่อิ่มไม่พอ

 มันสู้ความสงบสู้ความอยู่เฉยๆไม่ได้

ปัญญาก็จะสอนใจ ใจก็จะหยุดอยาก

ในรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

หยุดอยากกับบุคคลนั้นบุคคลนี้ สิ่งนั้นสิ่งนี้

ให้เขาเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้

 เมื่อไม่มีความอยากอยู่ภายในใจแล้ว

 ใจก็จะไม่มีวันทุกข์อีกต่อไป

ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับคนนั้นคนนี้ สิ่งนั้นสิ่งนี้

หรือเกิดขึ้นกับร่างกายของเราเอง

มันก็จะไม่ทำให้ใจ เดือดร้อนเลย ใจก็นิ่งเฉยๆ

 เพราะไม่มีความอยากกับอะไรทั้งหมด

ไม่มีความอยากให้ร่างกายไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย

 เวลามันจะแก่ มันจะเจ็บ มันจะตาย

ใจก็ไม่เดือดร้อน แล้วก็ไม่มีความอยาก

จะมีร่างกายอันใหม่อีกต่อไป

 เวลาร่างกายนี้ตายไปแล้วก็จบ

ไม่มีวันที่จะกลับมามีร่างกายอันใหม่อีกต่อไป

 เมื่อไม่มีร่างกายอันใหม่

ก็ไม่มีการแก่ เจ็บ ตายตามมา

 ไม่มีความทุกข์ตามมา

ท่านจึงทรงตรัสแสดงไว้ว่า

 ทุกข์ย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่เกิดเท่านั้น

ตราบใดที่ยังมีการเกิดอยู่

ตราบนั้นก็ยังจะมีความทุกข์

ทุกข์จากความแก่ ความเจ็บ ความตาย

 ทุกข์จากการพลัดพรากจากสิ่งที่เรารัก เราชอบ

 ทุกข์จากการที่เราเผชิญ

กับสิ่งที่เราไม่รักเราไม่ชอบ

 แต่ถ้าไม่มีการเกิด

ก็จะไม่มีเหตุการณ์เหล่านี้ตามมา

 การที่จะไม่มีเหตุการณ์เหล่านี้ตามมาได้

ก็ต้องหยุดความอยากต่างๆ ที่มีอยู่ในใจได้

การจะหยุดความอยากได้ก็ต้องมีสติ

 มีปัญญามีสมาธินี่เอง

 เราจึงต้องมาฝึกสติกันมานั่งสมาธิกัน

มาเจริญปัญญากันมาสอนใจว่า

ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์

 ไม่ใช่ของเรา ร่างกายของคนทุกคนนี้

ไม่น่ารักไม่น่าใคร่ เพราะร่างกายของทุกคนนี้

มันจะต้องแก่จะต้องเจ็บจะต้องตาย

มันมีอวัยวะ ๓๒ อาการ ๓๒ อวันยวะต่างๆ

ที่ไม่น่าดูน่าชม ปกปิดหุ้มห่อ

ด้วยผิวและเนื้อนี้เท่านั้นเอง

 ถ้าเราแกะมันออกมาดูข้างใน

เราก็จะไม่มีความรักใคร่ในร่างกายของใครเลย

 แต่ตอนนี้เรามองไม่เห็นกัน

เรียกว่าเราไม่มีมรรคกัน

เราจึงต้องมาสร้างมรรคกัน

 มาสอนใจให้เห็นอสุภะกัน

สอนใจให้เห็นอนิจจังกัน

สอนใจให้เห็นอนัตตากัน

สอนใจให้เห็นทุกข์กัน ถ้าสอนอยู่เรื่อยๆ

สอนอยู่บ่อยๆ ต่อไปใจก็จะเห็นตลอดเวลา

ใจก็จะมีมรรคตลอดเวลา

 เวลาเกิดความอยากขึ้นมา

 ใจก็จะหยุดความอยากได้ทันที

หยุดด้วยอนิจจังบ้าง หยุดด้วยอนัตตาบ้าง

 หยุดด้วยอสุภะบ้าง แล้วแต่เหตุการณ์

ว่าจำเป็นจะต้องใช้อันไหนหยุด

 เวลาที่เราสูญเสียคนที่เรารักไป

เราก็หยุดด้วยอนิจจาว่าเป็นธรรมดา

มีการพลัดพรากจากกันเป็นธรรมดา

เวลาไปเจอสิ่งที่เราไม่ชอบ

แต่กำจัดเขาไม่ได้

เราก็ใช้อนัตตาเป็นธรรมชาติ

 เป็นสิ่งที่เราไปห้ามไม่ได้

เช่น ฝนตกเราไปสั่งให้มันหยุดไม่ได้

 ก็ปล่อยมันตกไป ถ้าใจเรายอมเปียก

แล้วมันก็จะไม่เดือดร้อน

ถ้าเรายอมให้เขาด่าเรา เราก็จะไม่เดือดร้อน

 ถ้าเรายอมให้เขาทุบตี เรายอมให้เขาฆ่าเรา

 เราจะไม่เดือดร้อน

นี่คือการสร้างมรรคที่เรายังไม่มีกัน

 เราต้องสร้างสติดึงใจเข้าข้างใน

 เสร็จแล้วก็สร้างปัญญา

ให้ใจเตรียมรับกับ เหตุการณ์ต่างๆ

ที่จะเกิดขึ้นด้วยควาไม่อยาก

ด้วยการไม่มีความอยาก เผชิญด้วยอุเบกขา

สักแต่ว่ารู้เฉยๆ เพราะว่าถ้ามีความอยากขึ้นมาปุ๊บ

ใจจะทุกข์ขึ้นมาทันที แล้วความทุกข์ของใจนี้

ร้ายแรงกว่าที่เราสูญเสีย สิ่งที่เราอยากได้ไป

เราก็จะตัดความอยากเพราะเราจะไม่เสียดาย

กับสิ่งที่เราต้องเสียไป

 หรือสิ่งที่เราอยากได้แล้ว เราไม่ได้ไป

 เพราะเราไม่อยากจะทุกข์

ได้มาแล้วทำให้เราทุกข์ ได้มาทำไม

 เสียไปแล้วทำให้เราทุกข์ ดึงไว้ทำไม

ปล่อยมันเสียไป อย่าไปอยากได้อะไร

 อย่าไปอยากเสียอะไร ให้มันไป

ถ้ามันอยากจะเสียก็ให้มันเสียไป

ถ้ามันจะมาก็ปล่อยมันมาไป

ใจเราสักแต่ว่ารู้เฉยๆ ไป แล้วเราจะไม่ทุกข์

กับเหตุการณ์ต่างๆ เราก็จะหลุดพ้น

 จากความทุกข์ปวง

 หลุดพ้นจากการเกิด แก่ เจ็บ ตาย

 เหมือนกับที่พระพุทธเจ้า

และพระอรหันตสาวกทั้งหลาย

ได้หลุดพ้นกัน

 ท่านหลุดพ้นด้วยการดึงใจเข้าข้างใน

เพื่อให้เห็นอริยสัจ ๔

 ให้เห็นทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

 แล้วก็ให้ทำหน้าที่ในพระอริยสัจ ๔

คือให้ละสมุทัย แล้วให้เจริญมรรคให้มากๆ

 เพื่อที่จะทำให้ความทุกข์นั้นดับไป

ก็มีเท่านี้เรื่องของการปฏิบัติในพุทธศาสนา

 ก็คือเรื่องดึงใจเข้าข้างในนี่เอง

 ตอนนี้ใจเราชอบออกไป เพ่นพ่านข้างนอก

เหมือนหมาที่เราเลี้ยงอยู่ชอบหนีออกไปนอกบ้าน

 ไปเที่ยวที่นั่นที่นี่แล้วก็ไปกัดกับตัวนั้นตัวนี้

กลับมาก็ร้องห่มร้องไห้

 พวกเราก็เหมือนกัน

ชอบออกไปหาลาภยศ สรรเสริญ

หารูปเสียงกลิ่นรสกัน

แล้วเดี๋ยวสูญเสียลาภยศ สรรเสริญ

เสียรูปเสียงกลิ่นรสกันไปก็ร้องห่มร้องไห้กัน

เราต้องดึงใจของเรา อย่าให้ออกไปเที่ยวนอกบ้าน

 นอกใจ ดึงใจไว้ข้างใน อยู่ในใจนี้เป็นที่ปลอดภัย

 เป็นที่ให้ความสุขกับเรา อย่างแท้จริง

ไม่ต้องไปหาความสุขนอกบ้าน

 สอนใจที่เป็นเหมือนสุนัขที่ยังโง่อยู่

ชอบหนีออกไปเที่ยวเรื่อย ดึงกลับเข้ามา

ดึงด้วยสติ ดึงด้วยศีล

ดึงด้วยสติด้วยสมาธิด้วยปัญญา

 พอเราสามารถดึงใจให้อยู่ข้างใน

 จนมันไม่มีความอยากจะออกข้างนอกแล้ว

ใจก็จะเย็นสบายไปตลอด ไม่มีความทุกข์

ไม่มีเรื่องวุ่นวายใจต่างๆ

เข้ามารบกวนใจอีกต่อไป

ใจก็จะหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง

 ใจก็จะถึงพระนิพพาน

ที่มีแต่ความสุข เพียงอย่างเดียว

นี่คือผลที่เกิดจากการที่เราเห็นอริยสัจ ๔ กัน

เห็นด้วยการเจริญสติ เห็นด้วยการนั่งสมาธิ

 เห็นด้วยการเจริญปัญญา 

นี่คือทางเดียวเท่านั้นที่จะพาให้เราได้หลุดพ้น

จากความทุกข์ทั้งหลายได้

ยุติการเวียนว่ายตายเกิดไม่มีทางอื่น

 มีทางนี้ทางเดียวเท่านั้น


พระอาจารย์ สุชาติ อภิชาโต




ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 23 พฤศจิกายน 2559
Last Update : 24 พฤศจิกายน 2559 5:25:02 น.
Counter : 563 Pageviews.

0 comment
### ความจริงในใจ ๔ ประการ ###









“ความจริงในใจ ๔ ประการ”

ธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสรู้

ธรรมที่ทำให้พระพุทธเจ้าได้เป็น

พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

ได้หลุดพ้นจากกองทุกข์

แห่งการเวียนว่ายตายเกิด

ได้บรรลุถึงพระนิพพานก็คือพระอริยสัจ ๔

สัจธรรมความจริง ๔ ประการ

ที่มีอยู่ในพระทัยของพระองค์ คือ

๑.ทุกข์ ๒. สมุทัย ๓. นิโรธ ๔. มรรค

เรียกว่าพระอริยสัจ ๔ หรือสัจธรรม ๔ ประการ

 ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ผู้ใดถ้าได้เห็นอริยสัจ ๔

 ได้เห็นสัจธรรมในใจของตน

ก็จะสามารถบรรลุหลุดพ้นจากความทุกข์

หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดได้

 แต่การที่เราจะเห็นอริยสัจ ๔

 ที่มีอยู่ในใจของพวกเราทุกคนได้

เราต้องดึงใจเข้าข้างใน หันใจเข้าข้างใน

ตอนนี้เราหันใจของเราออกไป ข้างนอกใจ

 หันใจของเราไปในทางของรูปเสียง

กลิ่นรสโผฏฐัพพะ เราจึงมองไม่เห็นอริยสัจ ๔

ที่มีอยู่ในใจของพวกเรา

 เพราะพวกเราหันหลังให้กับอริยสัจ ๔

 หันหน้าให้กับรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะกัน

เวลาที่ใจเราทุกข์เราจึงไม่รู้

ว่าอะไรเป็นต้นเหตุของความทุกข์

 เราก็ไม่รู้วิธีว่าจะดับทุกข์นี้ได้อย่างไร

 เพราะเราไปมองข้างนอก

แทนที่เราจะมองข้างใน

เวลาที่เราไม่สบายใจเราก็ไปโทษว่า

รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะนั้น

ทำให้เราไม่สบายใจกันทำให้เราทุกข์กัน

เช่นเราเห็นรูปที่เราไม่ชอบ

เห็นรูปที่ทำให้เราเสียใจ เราก็ไปโทษรูป

ว่าเป็นเหตุที่ทำให้เราเสียใจ

เราได้ยินเสียงเรา ก็ไปโทษเสียงว่าทำให้เราทุกข์

 เช่นเสียงดุด่าว่ากล่าว ครหานินทา ดูถูกดูแคลน

 พอเราได้ยินเสียงเหล่านี้ เราก็ไม่สบายใจ ทุกข์ใจ

เพราะเราไม่รู้ว่าความทุกข์ใจของพวกเรานี้

เกิดจากความอยากของเรา

แต่เราไปคิดว่า ความทุกข์ใจของเรา

เกิดจากการพูดไม่ดีของผู้อื่น

พูดตำหนิติเตียนดูถูกดูแคลน ครหานินทา

 เป็นเพราะว่า ใจของเราไม่ได้หันเข้าข้างใน

 หันออกข้างนอก หันไปทางอายตนะภายนอก

 คือรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

 เราจึงไม่เห็นเหตุของความทุกข์ของเรา

และเราก็ไม่รู้ว่าจะดับความทุกข์ของเราได้อย่างไร

 เราจึงไปดับความทุกข์

ในที่ที่ไม่ใช่เป็นต้นเหตุของความทุกข์

เราไปดับที่รูปเสียงกลิ่นรส

 เวลาเห็นรูปที่เราไม่ชอบเราก็เปลี่ยนมัน

 ได้ยินเสียงที่ไม่ชอบก็เปลี่ยนมัน

ได้สัมผัสกับอะไรที่ทำให้เราไม่สบายใจ

 ทำให้เราทุกข์ใจ เราก็ไปเปลี่ยนสิ่งนั้น

 ไปบอกให้คนนั้นให้เขาทำอย่างนั้น

ให้เขาทำอย่างนี้

 เพื่อที่จะได้ทำให้เราหายจากความไม่สบายใจ

 หายจากความทุกข์ใจ

แต่บางเวลาเราไม่สามารถที่ไปเปลี่ยนเขาได้

 ไปบอกให้เขาทำอย่างนั้นทำอย่างนี้ได้

 เวลานั้นเราก็ต้องทุกข์ไปเรื่อยๆ

เพราะเราไม่สามารถที่จะไปเปลี่ยนในสิ่ง

ที่เราคิดว่าเป็นเหตุที่ทำให้เราทุกข์ใจกัน

 เช่นร่างกายของเรา

เราก็ไปสั่งไปเปลี่ยนเขาไม่ได้

เวลาเขาแก่ เวลาเขาแก่เราก็ทุกข์ใจกัน

เวลาเขาเจ็บไข้ได้ป่วย เราก็ทุกข์ใจกัน

 เวลาเขาจะตายเราก็ทุกข์ใจกัน

 แล้วเราก็พยายามที่จะไปเปลี่ยนเขา

 ถ้าเราเปลี่ยนได้ เราก็สบายใจขึ้นมา

 เช่นเวลาเราเจ็บไข้ได้ป่วย

เราต้องการเปลี่ยนความเจ็บไข้ได้ป่วยให้หายไป

 เราก็หาหมอหายาหาอะไรรักษากันไป

 ถ้าได้ยาที่ถูกกับโรคภัยไข้เจ็บ

 โรคภัยไข้เจ็บก็หายไป ความไม่สบายใจ

 ความทุกข์ใจของเราก็หายไป

 แต่มันเป็นการหายเพียงชั่วคราว

 เพราะเดี๋ยวก็มีการเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมาใหม่

 และเราก็จะต้องเจอโรคภัยไข้เจ็บ

ที่หมอหรือยาไม่สามารถที่จะรักษาได้

ก็จะต้องอยู่กับโรคภัยไข้เจ็บนั้นไป

 หรือไม่เช่นนั้นก็ถึงกลับเสียชีวิตไป

 ตอนนั้นเราก็จะมีแต่ความทุกข์ใจ

 เพราะเราไม่สามารถที่จะ ดับความทุกข์ใจได้

 เพราะเราไม่รู้ว่าต้นเหตุของความทุกข์ใจ

ที่แท้จริงนั้นอยู่ภายในใจของเราเอง

อยู่ที่ความอยาก

พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ว่า

ทุกข์ก็คือ การเกิด การแก่ การเจ็บ การตาย

 การพลัดพรากจากของที่เรารัก

 การเผชิญกับสิ่งที่เราไม่ชอบ

 จึงทำให้เรามีความทุกข์ใจกัน

แต่พระองค์ไม่ได้ทรงตรัสว่า

ต้นเหตุของความทุกข์ใจ ของพวกเรานั้น

อยู่ที่การเกิด อยู่ที่การแก่

 อยู่ที่การเจ็บ อยู่ที่การตาย

 อยู่ที่การสัมผัสกับสิ่งที่เราไม่ชอบ

 หรือสูญเสียพลัดพรากจากสิ่งที่เราชอบไป

แต่พระองค์ทรงตรัสว่า

 ต้นหตุของความทุกข์นั้น

เกิดจากความอยาก เกิดจากความอยาก

ที่จะเสพรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

การที่เราเสพรูปเสียงกลิ่นรสโผกฐัพพะได้

 เราต้องมีร่างกายที่แข็งแรง

ไม่ใช่ร่างกายที่แก่ ที่เจ็บ ที่ตาย

 เพราะร่างกายที่แก่ ที่เจ็บ ที่ตายนี้

ไม่สามารถเสพรูป เสียง

กลิ่น รส โผฏฐัพพะได้นั่นเอง

เราจึงทุกข์เวลาที่ร่างกายของเราแก่

 ของเราเจ็บ ของเราตาย

 เพราะเราไม่สามารถทำตามความอยากของเราได้

 แต่ถ้าเรารู้ว่าต้นเหตุของความทุกข์ใจของเรา

เกิดจากความอยากในรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

 เราก็มาหยุดความอยากนี้

ถ้าเราหยุดความอยาก ที่จะเสพ

รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะได้

เราไม่ต้องออกไปเที่ยวข้างนอกได้

เราไม่ต้องดูไม่ต้องฟังอะไรได้

เราอยู่เฉยๆได้โดยที่ไม่ต้องใช้ร่างกาย

พาเราไปไหนมาไหน ไม่ต้องพาร่างกายเรา

ไปดื่มไปรับประทานอะไร ไปดูไปฟังอะไร

 ถ้าเราสามารถอยู่เฉยๆได้

อยู่โดยไม่มีความอยาก

ในรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะได้

 ความทุกข์ใจของเราจะไม่มี

 เราจะไม่ทุกข์กับความแก่ ความเจ็บ

ความตายของร่างกาย เราจะไม่ทุกข์

กับการพลัดพรากจากของที่เราชอบ

 เราจะไม่ทุกข์กับการเผชิญกับสิ่งที่เราไม่ชอบ

 เพราะเราละตัณหาข้อที่ ๒ และข้อที่ ๓ ได้

ข้อที่ ๑ ความอยากในรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

 ข้อที่ ๒ ความอยากไม่พลัดพรากจากของที่เรารัก

 ข้อที่ ๓. ความอยากไม่เจอสิ่งที่เราไม่ชอบ

 ถ้าเราไม่มีความอยากเหล่านี้

คือเราพร้อมที่จะพลัดพรากจากทุกสิ่งทุกอย่าง

 เรายินดีที่จะให้สิ่งที่เรารักสิ่งที่เราชอบ

พลัดพรากจากเราไป

 เรายินดีที่จะเผชิญกับสิ่งที่เราไม่ชอบ

 เช่นคำครหานินทา ดุด่าว่ากล่าว

หรือเผชิญกับบุคคลที่ไม่เป็นมิตรกับเรา

บุคคลที่จะคอยปองร้ายเรา

คอยทำร้ายเราคอยกลั่นแกล้งร้ายเรา

ถ้าเราไม่มีความอยากที่จะไม่เจอเขา

 เราก็จะไม่ทุกข์เวลาที่เราเจอเขา

 เราจะรู้สึกเฉยๆ เขาจะด่าเราก็จะรู้สึกเฉยๆ

 เขาจะทุบจะตีเรา เราก็จะรู้สึกเฉยๆ

 เขาฆ่าเรา เราก็จะรู้สึกเฉยๆ

เราจะไม่มีความทุกข์ไม่มีความกลัวเขาเลย

 ถ้าเราไม่มีความอยากไม่เจอเขา

 ความทุกข์ของเราเกิดจากความอยาก

 ไม่เจอสิ่งที่เราไม่ชอบ ไม่เจอคนที่เราไม่ชอบ

คนที่เกลียดเรา โกรธเรา คนที่กลั่นแกล้งเรา

 คนที่เอารัดเอาเปรียบเรา

 คนที่จะคอยทำร้ายเรา เราไม่ชอบ

แต่บางครั้งเราก็หลีกเลี่ยงไม่ได้หนีไม่พ้น

 ถ้าหลบได้ก็หลบ หลีกได้ก็หลีก

 แต่มันถึงบางทีมันหลบไม่ได้หลีกไม่ได้

 ถ้าเราไม่อยากจะทุกข์

 ถ้าเราไม่ทุกข์เราก็ต้องไม่มีความอยาก

ที่จะไม่เผชิญกับเขา เราต้องหยุดความอยาก

ไม่อยากจะเผชิญกับเขาให้ได้

แล้วเราจะไม่ทุกข์กับเขา

 เช่นเดียวกับการที่เราทุกข์เพราะเรา

ต้องสูญเสียสิ่งที่เรารักไป บุคคลที่เรารักไป

เช่นตอนนี้พวกเราสูญเสียพระเจ้าอยู่หัวไป

 พวกเราก็มีความทุกข์ใจกัน เพราะอะไร

 ไม่ใช่เพราะการสูญเสีย ของพระเจ้าอยู่หัว

แต่ทุกข์เพราะอยากไม่ให้ท่านจากเราไป

ความอยากที่จะให้ท่านอยู่กับเรา

จึงทำให้เราทุกข์ใจ เวลาที่ท่านไม่อยู่กับเรา

 เรียกว่า “ภวตัณหา”

ความอยากให้คนนั้นคนนี้อยู่กับเรา

 ความอยากไม่ให้เขาพลัดพราก จากเรา

 มันก็เลยทำให้เราต้องทุกข์ใจกัน

 เศร้าโศกเสียใจกัน

ตอนนี้มีฝนมาเยี่ยมเยียนก็แล้วแต่ญาติโยม

 ถ้าจะคิดว่าเป็นน้ำมนต์ก็นั่งต่อไป

 เทวดามาปะพรหมน้ำมนต์ให้

ถ้าอยากจะขยับหลบน้ำมนต์ก็ขึ้นไปที่ศาลา

มีศาลา ๒ ศาลา ศาลาไม้นี้ก็มีที่ขึ้นมาได้

 ศาลาที่เป็น ๒ ชั้นก็มีที่ขึ้นไปหลบได้

อันนี้ก็เลยขอเวลาพักสักหน่อย

ให้ญาติโยมได้ขยับขยายย้ายที่กันก่อน

ถ้าพวกเราไม่มีความอยาก

เราก็ไม่ต้องขยับขยายกัน

 แต่เพราะเราไม่อยากเปียกกัน

 เราก็เลยทุกข์กัน

เราเลยต้องขยับขยายกัน

ถ้าเราเห็นอริยสัจ ๔ เราก็อยู่เฉยๆกัน

 ปล่อยมันเปียกไป เราก็ไม่ทุกข์กับความเปียก

 เห็นไหมนี่หยุดแล้ว เทวดามาแสดงธรรมให้เราดู

ให้เราดูอริยสัจ ๔ กัน แต่เรามองไม่เห็นกัน

 เรากลับไปเห็นว่าความทุกข์ของเราอยู่ที่ฝนตก

เราก็เลยต้องหนีฝน

เพื่อที่จะทำให้เราไม่ทุกข์กับมัน

 แต่ความจริงมันเป็นเพราะ

เราไม่อยากให้ฝนตกนั่นเอง

ไม่อยากเปียกฝนก็เลยทำให้เราทุกข์

 ทำให้เราอยู่เฉยๆ ไม่ได้

ทำให้เราต้องหนีฝนกัน

หนียังไงเดี๋ยวก็ต้องเจออยู่ดี

 เพราะเราอยู่ใต้ฟ้า ใต้ฟ้าจะหนีฝนได้อย่างไร

 เหมือนกับที่พวกเราพยายามหนีความแก่

 หนีความเจ็บ หนีความตายกัน

 เราจะหนีกันได้อย่างไร

เราเกิดมาแล้วเราต้องแก่ ต้องเจ็บ

 ต้องตาย หนียังไงก็หนีไม่พ้น

หนีความแก่ด้วยการไปเสริมความงาม

ความหนุ่มความสาวด้วยศัลยกรรมตกแต่ง

 มันก็เดี๋ยวเดียวเท่านั้น มันก็ตามมาทัน

 หนีไปได้แป๊บหนึ่งเดี๋ยวมันก็มาตามทัน

 หนีความเจ็บไข้ก็รักษากันไปรักษากันมา

 เดี๋ยวมันก็ตามมาใหม่

มีโรคภัยไข้เจ็บรักษากัน

กี่ครั้งกี่คราวมันก็ไม่หมดไป

 เดี๋ยวมันก็เกิดขึ้นใหม่

หนีความตายก็หนีไป บางทีก็หนีได้

 บางทีก็หนีไม่ได้ ในที่สุดก็หนีไม่ได้

 เหมือนกับฝนนี้เราอยู่ใต้ฟ้านี้

มันหนีอย่างไรก็หนีไม่พ้น

ต้องเจอเข้าสักวันหนึ่ง

 เผลอออกไปข้างนอกแล้วไม่ได้ถือร่มไป

ไม่มีที่หลบฝน มันก็ต้องเปียกจนได้

แต่ถ้าเรายอมรับความจริงว่าเราจะต้องเปียก

เราก็ไม่ต้องไปกลัวฝน

เวลาเราอาบน้ำเราเปียกยิ่งกว่าตอนฝนตก

ทำไมเราไม่กลัวมัน อาบได้อย่างสบาย

 อาบได้อย่างเต็มที่

 เพราะเราตอนนั้นอยากจะเปียก

เราก็เลยไม่ทุกข์กับการเปียก

 แต่ตอนนี้เราทุกข์เพราะเราไม่อยากจะเปียก

 เห็นชัดๆ เลยว่า ความทุกข์ของเรา

ไม่ได้อยู่ที่การเปียกหรือการไม่เปียก

 เพราะเวลาเปียกก็มีความสุขได้

มีความทุกข์ได้อยู่ที่ใจของเราตอนนั้นว่า

อยากเปียกหรือไม่อยากเปียก

ถ้าอยากเปียกเวลาเปียกก็สุข

ถ้าอยากไม่เปียกแล้วเปียกก็ทุกข์

นี่คือพวกเราไม่เห็นความอยาก

ที่เป็นต้นเหตุของความทุกข์ใจของพวกเรา

 เวลาที่เราทุกข์ใจกับเหตุการณ์ต่างๆ

เราก็ไปแก้ที่เหตุการณ์ต่างๆ เ

วลาเราเสียของที่เรารักไป

ถ้าเราหาของใหม่มาทดแทนได้เราก็หามาแทน

ถ้าหาไม่ได้เราก็ร้องห่มร้องไห้ไป

จนกว่ามันจะหมดกำลัง เมื่อหมดกำลัง

ความทุกข์ใจก็ค่อยๆ หายไป

 เวลาย่อมรักษาแผลใจได้เสมอ

 เพียงแต่ต้องใช้เวลาหน่อย

และเวลาที่ยังไม่หายก็เหมือนกับ

เป็นคนที่เจ็บไข้ได้ป่วย

 ใจที่ไม่มีธรรมะมารักษาใจ

 ใจที่ไม่มีปัญญาที่จะสอนใจให้มองว่า

ความทุกข์ของใจเกิดจากความอยากแล้ว

 ไม่สามารถหยุดความอยากได้

ก็ต้องปล่อยให้ความอยากมันหยุดของมันเอง

คือเมื่อเวลาผ่านไป เวลาที่เราสูญเสียอะไรไป

 ใหม่ๆ เราก็จะเสียใจมาก ทุกข์มาก

แต่พอเวลาผ่านไปๆ

ความเสียใจของเราก็จะ น้อยลงไปๆ

 เพราะความอยากของเราก็จะเบาลงไปๆ

 แล้วในที่สุดความอยากเราก็หายไป

 ความเสียใจที่เราสูญเสีย

 สิ่งนั้นหรือบุคคลนั้นก็หายไป

 แต่คราวหน้าถ้าเราเสียอะไรอีก

มันก็จะเป็นอย่างนี้อีก

 ถ้าเราไม่อยากจะต้องมาเสียอกเสียใจมาทุกข์ใจ

 เราต้องมาแก้ต้นเหตุของความทุกข์ใจ

 ก็คือความอยากทั้ง ๓ ประการนี้

ความอยากในรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

ความอยากมีอยากเป็น อยากให้สิ่งต่างๆ

ที่เรารักเราชอบอยู่กับเราไปตลอด

และความอยากที่ไม่มีอยากไม่เป็น

คือความอยากที่ไม่ให้เจอกับสิ่งที่เราไม่ชอบ

ไม่เจอกับคนที่เราไม่ชอบ

ไม่เจอกับเหตุการณ์ที่เราไม่ชอบ

 เช่นความแก่ ความเจ็บ ความตายนี้

เป็นเหตุการณ์ ที่เราไม่ชอบที่จะเจอกัน

แต่ถ้าเรามาเกิดแล้วเราก็ไม่มีทางเลือก

 เพราะสิ่งที่จะตามมาจากการเกิดก็คือ

การแก่ การเจ็บ การตายนี่เอง

มีทางเดียวเท่านั้นถ้าไม่อยากจะเจอ

ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ก็คือ

การไม่กลับมาเกิด เท่านั้น

 เมื่อไม่เกิดก็จะไม่มี

ความแก่ ความเจ็บ ความตายตามมา

 แล้วก็การที่จะไม่มาเกิดได้ก็ต้อง

 มาหยุดความอยากทั้ง ๓ นี้เอง

 หยุดความอยากในรปูปเสียงกลิ่นรส

 หยุดในความอยากให้สิ่งที่เรารัก

 เราชอบอยู่กับเราเป็นของเราไปเรื่อยๆ

 หยุดความอยากที่ไม่อยากจะเจอ

กับสิ่งที่เราไม่ชอบ

 บุคคลที่เราไม่ชอบ เหตุการณ์ที่เราไม่ชอบ

 ถ้าเราหยุดความอยากทั้ง ๓ ประการนี้ได้

 เราก็จะไม่ต้องกลับมาเกิดอีกต่อไป

ไม่ต้องมาแก่ มาเจ็บ มาตายกัน

อย่างที่เราเป็นกันอยู่ทุกวันนี้

ทุกวันนี้เรายังต้องมาแก่ มาเจ็บ มาตาย

 แล้วก็ต้องมาทุกข์ กับความแก่

 ความเจ็บ ความตาย

 เพราะเรามองไม่เห็นต้นเหตุ

ของความทุกข์ใจของเรา

 เพราะมันอยู่ข้างในใจ เราหันหน้าไปข้างนอก

เราไม่ได้หันหน้าให้ใจ เราหันหลังให้ใจ

เราจึงมองไม่เห็นต้นเหตุของความทุกข์ใจ

 ที่มีอยู่ในใจของพวกเรา

 เพราะเราหันไปมองที่รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

 เราหันไปมองที่ร่างกายของเรา

เวลาที่ร่างกายแก่ เราทุกข์

 เราก็ไปโทษความแก่ว่าทำให้เราทุกข์

 เราจึงไม่มีวันที่จะแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง

 เราก็จะไปแก้ที่ร่างกาย

 ร่างกายแก่ทำให้เราทุกข์

 เราก็ไปทำให้มันไม่แก่ ไปเสริมความงาม

ด้วยวิธีการต่างๆ ก็ทำให้รู้สึกหนุ่มขึ้นสาวขึ้น

 แก่น้อยลงไป ก็ทำให้ความทุกข์

กับความแก่นั้นน้อยลงไป

 แต่เดี๋ยวไม่กี่ปีไม่กี่เดือน มันก็กลับมาใหม่

 ความแก่มันก็ตามมาใหม่

ถ้าวิธีที่ถูกต้องเราต้องมาแก้ที่ความอยาก

 แต่เราไม่รู้เพราะเราไม่เห็น

 เราจึงต้องหันใจเรากลับมาข้างใน

ตอนนี้เราหันใจของเราออกไปทาง

รูปเสียงกลิ่นรสไปทางร่างกาย

ไปทางตาหูจมูกลิ้นกาย

เราจึงไม่มีวันที่จะเห็นต้นเหตุของความทุกข์ใจ

 และเราก็จะไม่เห็น วิธีที่จะดับความทุกข์ใจ

 แก้ความทุกข์ใจได้

จนกว่าเราจะดึงใจกลับเข้าข้างใน

การดึงใจก็คือการนั่งสมาธินี้เอง

 การนั่งสมาธินี้เราดึงใจให้ออกจาก

รูปเสียงกลิ่นรส ออกจากร่างกาย

 ให้กลับเข้าไปสู่ภายในใจ

 เราต้องมีสิ่งที่จะดึงใจให้เข้าไป

เพราะตามปกติใจจะไม่เข้าไปเอง

 เพราะใจจะถูกกิเลสตัณหาโมหะอวิชชา

 คอยผลักให้ออกไปข้างนอกนั่นเอง

อวิชชา ปัจจยา สังขารานี้

ในปฏิจจสมุปบาท อวิชชา โมหะ ความหลง

จะผลักให้ใจปรุงเเต่งไปหารูปเสียงกลิ่นรส

ไปหาตาหูจมูกลิ้นกาย

เพื่อจะได้เสพรูปเสียงกลิ่นรส

 เวลาเสพได้สัมผัสก็จะเกิด

เวทนาสุขทุกขเวทนาขึ้นมา

แล้วก็เกิดตัณหาความอยากขึ้นมา

 ถ้าเจอสุขเวทนาก็อยากจะให้อยู่ไปนานๆ

 ถ้าเจอทุกขเวทนา ก็อยากจะให้หายไปเร็วๆ

ก็เลยทำให้เกิดอุปาทานเกิดความยึดมั่นถือมั่น

เกิดภวะ เกิดภพ เกิดชาติต่อไป

เราจึงต้องมาดึงใจให้เข้าข้างในเพื่อจะได้หยุด

ความคิดปรุงเเต่งคือสังขารที่จะคอยปรุง

ไปหารูปเสียงกลิ่นรส

เราจึงต้องมีสิ่งที่จะดึงใจเข้ามา

 สิ่งที่จะดึงใจเข้าข้างในได้นี้เรียกว่า “สติ”

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

.......................

ธรรมะบนเขา วันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๙

“ความจริงในใจ ๔ ประการ”







ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 22 พฤศจิกายน 2559
Last Update : 22 พฤศจิกายน 2559 11:34:20 น.
Counter : 709 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  

tangkay
Location :
ชลบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 55 คน [?]



(•‿•✿) พออายุเลยเลขหกฉันยกเครื่อง
มอบทุกเรื่องที่เคยรู้คู่ความเห็น
มอบประสบการณ์ผ่านพบจบประเด็น
ไม่ยากเย็นเรื่องความรู้ตามดูกัน
ฉันคนเก่าเล่าความหลังยังจำได้
แต่ด้วยวัยที่เหลือน้อยค่อยสร้างสรร
ยอมรับเรื่องเนตโซเชียลเรียนไม่ทัน
อย่าโกรธฉันแค่สูงวัยแต่ใจจริง
ด้วยอายุมากมายอยากได้เพื่อน
หลากหลายเกลื่อนทุกวัยทั้งชายหญิง
คุยทุกเรื่องแลกเปลี่ยนรู้คู่ความจริง
หลากหลายสิ่งฉันไม่รู้ดูจากเธอ ....
สิบปีผ่านไป.......
อายุเข้าเลขเจ็ดไม่เผ็ดจี๊ด
เคยเปรี้ยวปรี๊ดก็ต้องถอยคอยเติมหวาน
ด้วยเคยเกริ่นบอกเล่ามาเนิ่นนาน
ก็ยังพาลหมดแรงล้าพากายตรม
ด้วยชีวิตผ่านมาพาเป็นสุข
ยังสนุกกับการให้ใจสุขสม
อยากบอกเล่ากล่าวอ้างบางอารมณ์
แม้คนชมจะร้องว้า....ไม่ว่ากัน
ปัจจุบันเขียนน้อยค่อยเหินห่าง
ระบบร่างเปลี่ยนแปลงเหมือนแกล้งฉัน
เราคนแก่ตามแก้ไม่ค่อยทัน
ยักแย่ยันค่อยศึกษาหาข้อมูล
แต่ด้วยคิดถึงแฟนคลับกระชับมิตร
จึงต้องคิดตามต่อไปไม่ให้สูญ
ส่งความรู้คู่ธรรมะทวีคูณ
เพื่อเพิ่มพูนให้รู้กันฉันสุขใจ