Group Blog
All Blog
### โรคมะเร็งรังไข่น่ากลัวกว่าที่คิด ...สาวๆควรรู้ไว้ ###


โรคมะเร็งรังไข่ภัยร้ายสำหรับสตรีที่ต้องระวัง








โรคมะเร็งทางนรีเวชในประเทศไทยที่พบบ่อยเป็นอันดับหนึ่ง

ที่ทุกคนรู้จักกันเป็นอย่างดีคงหนีไม่พ้นมะเร็งปากมดลูก

 ส่วนอันดับสองตกเป็นของมะเร็งรังไข่ ที่น่ากลัวไม่แพ้กัน

และหลายคนคงอยากรู้จักมันมากยิ่งขึ้น เพื่อจะหาทางรักษาได้ทันท่วงที

รศ.พญ.สฤกพรรณ วิไลลักษณ์ ภาควิชาสูตินรีเวชฯ

คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี บอกว่า

มะเร็งรังไข่มีอุบัติการณ์เกิดประมาณ 5 คน

ต่อประชากรสตรี 1 แสนคนต่อปี

คิดแล้วในแต่ละปีจะมีผู้ป่วยมะเร็งรังไข่รายใหม่ประมาณ 1,500 คน

ยิ่งสตรีที่มีอายุมากขึ้นโอกาสที่จะเป็นมะเร็งรังไข่ก็สูงขึ้นตามไปด้วย

ปัญหาของมะเร็งรังไข่ คือ ไม่ค่อยจะมีอาการ

หรือถ้ามีอาการก็มักจะเป็นอาการท้องอืดท้องเฟ้อ

คนทั่วไปคิดว่าไม่สลักสำคัญอะไร คิดว่าเป็นโรคกระเพาะลำไส้

หรืออาหารไม่ย่อย ทำให้คนไข้ไปพบแพทย์และวินิจฉัยโรคได้ช้า

 โรคมะเร็งรังไข่ถ้าวินิจฉัยได้ตั้งแต่ยังเป็นน้อย ๆ ก็สามารถรักษาให้หายได้

แต่ถ้าเป็นมากโอกาสหายขาดจะยาก

ปัจจัยที่พบว่าเกี่ยวข้องกับการเป็นมะเร็ง รังไข่ ได้แก่

ญาติใกล้ชิด เช่น มารดา หรือพี่น้องเป็นมะเร็งรังไข่

 ตัวเองเป็นมะเร็งเต้านม หรือลำไส้ หรือมะเร็งอื่น ๆ

อายุมากขึ้น โดยเฉพาะมากกว่า 40 ปี ขึ้นไป

การรับประทานอาหารที่มีไขมัน นมเนยสูง

อาการของมะเร็งรังไข่ ได้แก่ ท้องโตขึ้น เนื่องจากมีก้อน

 หรือน้ำในท้อง โดยที่ผู้ป่วยอาจคลำก้อนได้

หรือแพทย์เป็นผู้คลำได้ ส่วนน้ำในท้อง มีตั้งแต่น้ำน้อย ๆ จนถึงมีน้ำมาก

เหมือนมีลูกแตงโมอยู่ในท้อง ที่ชาวบ้านเรียกว่า “ท้องมาร”

ผู้ป่วยอาจมีอาการของระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องอืด ท้องเฟ้อ

 รู้สึกว่าอาหารไม่ย่อย ท้องผูก อาการของระบบทางเดินปัสสาวะ

เช่น ปัสสาวะบ่อย ขัด เนื่องจากก้อนของรังไข่ไปกดเบียด

 ผู้ป่วยจะผอมลง เป็นอาการของมะเร็งทั่วไป

บางรายอาจมีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด

จะเห็นได้ว่าอาการของมะเร็งรังไข่ไม่จำเพาะเจาะจงชัดเจน

 ดังนั้นเพื่อให้ทราบว่าเป็นโรคโดยเร็วที่สุด

ควรหมั่นสังเกตอาการผิดปกติของตัวเอง

ถ้ามีอาการตามที่กล่าวมาในข้างต้นให้ไปพบแพทย์ทันที

เพื่อความไม่ประมาท

ถ้าตรวจไม่พบความผิดปกติก็ไม่เป็นไร

แต่ถ้ามีความผิดปกติก็จะได้ตรวจค้นต่อและรักษาแต่เนิ่น ๆ

สตรีที่อายุ 35 ปีขึ้นไป หรืออายุไม่ถึง 35 ปีแต่มีเพศสัมพันธ์แล้ว

ควรตรวจภายในทุกปี แม้ไม่มีอาการผิดปกติ

ในกรณีที่มีประวัติญาติใกล้ชิด เช่น มารดา หรือพี่น้อง เป็นโรคมะเร็งรังไข่

หรือเป็นมะเร็งชนิดอื่น หรือตัวเองเป็นมะเร็ง เช่น มะเร็งลำไส้

มะเร็งเต้านม จะต้องเฝ้าระวังเรื่องมะเร็งรังไข่ให้มากขึ้น

เนื่องจากพบว่าสาเหตุของมะเร็งรังไข่ส่วนหนึ่งมาจากพันธุกรรม

แพทย์จะตรวจพบโรคนี้ได้จากการซักประวัติ ตรวจหน้าท้อง

และตรวจภายใน อาจมีการตรวจเพิ่มเติม เช่น อัลตราซาวด์

คนที่มีก้อนที่รังไข่อาจไม่เป็นมะเร็งรังไข่ก็ได้

เนื่องจากก้อนที่รังไข่อาจเป็นถุงน้ำธรรมดา ถุงช็อกโกแลต

หรือเนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรง

เมื่อแพทย์ตรวจพบว่าเป็นก้อนที่ไม่ใช่ถุงน้ำธรรมดาของรังไข่

จะแนะนำให้ผ่าตัด

การวินิจฉัยที่แน่นอนว่าเป็นมะเร็งรังไข่จะต้องได้จากการ

ส่งชิ้นเนื้อจากการผ่าตัดไปตรวจเท่านั้น

 ในการผ่าตัดรักษาโรคนี้ส่วนใหญ่จะตัดทิ้งมดลูกและรังไข่ทั้งสองข้าง

นำน้ำในช่องท้องส่งตรวจเซลล์มะเร็ง และเลาะต่อมน้ำเหลืองส่งตรวจด้วย

ในกรณีเป็นมะเร็งรังไข่น้อย การผ่าตัดรักษาอย่างเดียวก็เพียงพอ

 แต่ถ้าเป็นมากขึ้นจะ ต้องได้รับการรักษาต่อด้วยยาเคมีบำบัด

ซึ่งยาเคมีบำบัดนี้ก็มีผลข้างเคียงหลายอย่างที่พบบ่อยได้แก่

กดไขกระดูก ทำให้เม็ดเลือดต่ำ คลื่นไส้อาเจียน

ซึ่งแพทย์จะมีวิธีดูแลรักษาที่สำคัญคือ จะต้องมารับยาตามที่แพทย์นัด

 เพื่อให้ผลการรักษาดีที่สุด

หลังการรักษาผู้ป่วยจำนวนหนึ่งหายจากโรค

แต่อีกส่วนหนึ่งมีการกลับคืนมาเป็นมะเร็งรังไข่

ดังนั้น...จึงมีความจำเป็นที่ยังต้องตรวจติดตามหลังการรักษา

ในกรณีที่มีการกลับคืนมาของโรคมะเร็ง แพทย์ก็จะมีวิธีรักษา

เช่น การผ่าตัดหรือให้ยาเคมีบำบัดชนิดอื่น

ซึ่งอาจทำให้โรคหายไปได้ หรือถ้าไม่หายก็ทำให้ยุบ

หรือคงขนาดไปชั่วขณะ จนเมื่อไหร่ที่แพทย์พิจารณาแล้วว่า

ควรหยุดการรักษาที่จำเพาะต่อโรค เช่น ผ่าตัด เคมีบำบัด

ก็จะบอกให้ผู้ป่วยทราบ หลังจากนั้นก็จะดูแลรักษา

แบบประคับประคองตามอาการ

ญาติและผู้ใกล้ชิดผู้ป่วยจะมีส่วนช่วยเหลืออย่างมาก

ทั้งร่างกายและจิตใจในช่วงนี้

ขอบคุณข้อมูลจาก รศ.พญ.สฤกพรรณ วิไลลักษณ์

ภาควิชาสูตินรีเวชฯ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

#RamaChannel










Create Date : 07 เมษายน 2557
Last Update : 8 เมษายน 2557 9:16:14 น.
Counter : 1986 Pageviews.

0 comment
### มารู้จักโรคสะเก็ดเงินกัน....ไม่ใช่โรคติดต่อ ###




โรคสะเก็ดเงิน ไม่ใช่โรคติดต่อ









โรคสะเก็ดเงินหรือโรคเรื้อนกวาง

เป็นโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังชนิดหนึ่ง

พบได้ประมาณร้อยละ 1-3 ของประชากร

มีลักษณะเป็นผื่นปื้นแดง มีสะเก็ดขุยหนา

 มักเป็นสีเงินวาว จึงเป็นที่มาทำให้เรียกว่า “สะเก็ดเงิน”

 โดยผื่นมักอยู่บริเวณข้อศอก เข่า หลัง

 หรือกระจายบริเวณตามลำตัวของร่างกาย

 แขนขา นอกจากนี้ยังพบผื่นขุยหนาบริเวณหนังศีรษะ

และอาจพบความผิดปกติของเล็บร่วมด้วยได้

โรคสะเก็ดเงินเกิดขึ้นได้อย่างไรนั้น

 ในปัจจุบันเองก็ยังไม่ทราบสาเหตุ

การเกิดโรคที่แน่ชัด แต่เชื่อว่าเกิดจากหลายปัจจัย

 ทั้งปัจจัยทางพันธุกรรม

 หรือการติดเชื้อบางอย่างที่ไปกระตุ้นให้เซลล์ผิวหนัง

แบ่งตัวเร็วกว่าปกติ ทำให้มีผื่นผิวหนังหนา

ลอกเป็นสะเก็ด และมีขุยเกิดขึ้นได้

โดยทั่วไปผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินจะมีผื่นตามส่วนต่างๆ

ของร่างกายเพียงอย่างเดียว

 จะมีเพียงร้อยละ 10-30 ของผู้ป่วย

มีอาการทางข้อสะเก็ดเงินร่วมด้วยได้

 กล่าวคือมีการปวดตามข้อนิ้วมือ

ปวดตามแนวกระดูกสันหลัง

 หรือปวดข้อสะโพกได้ นอกจากนี้ยังพบว่า

ผู้ป่วยสะเก็ดเงินมักมีโรคอ้วนลงพุงร่วมด้วย

โดยโรคนี้สามารถวินิจฉัยจากการพบความผิดปกติ

 มากกว่า 3 ใน 5 ข้อดังต่อไปนี้

1) มีเส้นรอบเอวมากกว่า 90 เซนติเมตรในผู้ชาย

และมากกว่า 80 เซนติเมตรในผู้หญิง

2) มีความดันโลหิตมากกว่า 130/85 มิลลิเมตรปรอท

 หรือได้รับยารักษาความดันโลหิต

3) มีระดับไตรกลีเซอไรด์มากกว่า 150 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร

หรือเป็นผู้ที่มีไขมันในเลือดสูงและได้รับยาลดไขมัน

4) มีระดับไขมันชนิดดีน้อยกว่า 40 มิลลิกรัม

ต่อเดซิลิตรในผู้ชายและน้อยกว่า 50 มิลลิกรัม

ต่อเดซิลิตรในผู้หญิง 

หรือเป็นผู้ที่มีไขมันในเลือดสูงและได้รับยาลดไขมัน

5) มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่า 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร

หรือเป็นผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวานชนิดที่ 2

ส่วนคำถามที่ว่า เมื่อเป็นโรคสะเก็ดเงินแล้ว

มีโอกาสเสียชีวิตหรือไม่นั้น

 อธิบายได้ว่าโดยทั่วไปผื่นสะเก็ดเงินไม่ทำให้เสียชีวิต

ยกเว้นในกรณีที่เป็นรุนแรง มีผื่นกระจายมากกว่า

ร้อยละ 90 ของพื้นที่ผิวของร่างกาย

 ก็อาจทำให้มีโอกาสเสียชีวิตได้

โรคสะเก็ดเงินไม่ใช่โรคติดต่อ

ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นได้ตามปกติ 

แต่ในกรณีที่มีผื่นมาก อาจมีขุยร่วงตามเก้าอี้ ที่นอน

และรบกวนการดำเนินชีวิตของผู้ป่วยได้

และจากการศึกษาพบว่า

มียีนหลายตัวที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรค

สามารถถ่ายทอดไปยังลูกได้

และการศึกษาทางระบาดวิทยาพบว่า

ถ้าพ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่งเป็นโรคสะเก็ดเงิน

 เมื่อมีลูก โอกาสที่ลูกจะเกิดโรคได้มีประมาณร้อยละ 14

แต่ถ้าทั้งพ่อและแม่เป็นโรคสะเก็ดเงิน

ลูกมีโอกาสเกิดโรคได้ถึงร้อยละ 40

เนื่องจากโรคสะเก็ดเงินเป็นโรคผื่นผิวหนังอักเสบเรื้อรัง

ที่ไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดจึงยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้

แต่การรักษาจะช่วยควบคุมโรค

 และช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้

ฉะนั้นเพื่อเป็นการป้องกัน จึงมีคำแนะนำ

เรื่องการรับประทานอาหารของผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินว่า

 ควรงดเหล้า ไวน์ และอาหารหมักดอง

จะสามารถกระตุ้นให้ผื่นกำเริบได้ และยาบางชนิด

เช่น ยาลิเทียม ยาต้านมาลาเรีย

ยาลดความดันกลุ่มเบต้าบล๊อกเกอร์

รวมทั้งยาลดต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์

ก็สามารถกระตุ้นให้โรคกำเริบได้

แนวทางการรักษาขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคเป็นหลัก

กรณีที่ผู้ป่วยมีอาการไม่รุนแรง

การใช้ยาทาก็เพียงพอสำหรับการควบคุมโรคได้

 แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการของโรคปานกลางถึงรุนแรง

อาจมีความจำเป็นต้องใช้การรักษาอื่นร่วมด้วย

 เช่น การรับประทานยา

การฉายแสงอัลตร้าไวโอเลตเทียม

การฉีดยากลุ่มชีวภาพ เป็นต้น

 ทั้งนี้แพทย์จะเป็นผู้ประเมินความเหมาะสม

ในการรักษาแต่ละประเภทสำหรับผู้ป่วยแต่ละคน

ผู้ป่วยสะเก็ดเงินควรดูแลตัวเองมากเป็นพิเศษ

เนื่องจากความเครียด

 การอดนอน การติดเชื้อ การเจ็บป่วย การเกา

จะกระตุ้นให้โรคกำเริบได้

ดังนั้นการพักผ่อนให้เพียงพอ

การออกกำลังกายอย่างเหมาะสม

และเมื่อมีการเจ็บป่วย ติดเชื้อ ควรรีบดูแลรักษาโดยเร็ว

นอกจากนี้ควรดูแลผิวหนังให้ชุ่มชื้นอยู่เสมอ

ด้วยการหลีกเลี่ยงการอาบน้ำอุ่น

 เลือกใช้สบู่ที่มีค่า pH 5-7 หลีกเลี่ยงสบู่ที่มีน้ำหอม

 และทาครีม โลชั่นหรือน้ำมันให้ความชุ่มชื้นแก่ผิว

หลังอาบน้ำทันที 

ซึ่งโดยทั่วไปแนะนำให้ทาครีมหลังอาบน้ำภายใน 3 นาที

โรคสะเก็ดเงินเป็นโรคผิวหนังเรื้อรังชนิดหนึ่ง

ไม่ใช่โรคติดต่อ  การมีความรู้ความเข้าใจ

รวมถึงการดูแลสุขภาพที่ถูกต้องของผู้ป่วย

และบุคคลข้างเคียง จะสามารถควบคุมโรคได้

และทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ขอบคุณข้อมูลจาก พญ.เปรมจิต ไวยาวัจมัย

หน่วยโรคผิวหนัง ภาควิชาอายุรศาสตร์

คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

 มหาวิทยาลัยมหิดล

#‎RamaChannel








Create Date : 03 เมษายน 2557
Last Update : 8 มิถุนายน 2558 12:17:47 น.
Counter : 2421 Pageviews.

0 comment
### รู้ทันโรคนิ่วกันหน่อยเป็นไร ###



ผลกระทบจากโรคนิ่ว ในชีวิตประจำวัน










โรค “นิ่ว” เป็นโรคที่มีผลกระทบอย่างยิ่งต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

โรค “นิ่ว” เป็นโรคที่มีมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ เพราะมีรายงานออกมาว่า

พบนิ่วในกระเพาะปัสสาวะภายในโครงกระดูกของมัมมี่ ที่ประเทศอียิปต์

มัมมี่ตัวนั้นเข้าใจกันว่าเป็นเด็กชายอายุประมาณ 16 ปี ซึ่งเสียชีวิต

มาแล้วราว 7,000 ปี จนถึงปัจจุบัน โรคนิ่วเป็นปัญหาสาธารณสุขที่พบมากทั่วโลก

และอุบัติการณ์ก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ

สำหรับในประเทศไทยเอง ก็มีอุบัติการณ์โรคนิ่วในไตสูงมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

การมีนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะจะส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้

เช่น การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ การทำงานของไตเสื่อมลง

และอาจร้ายแรงจนเกิดภาวะไตวายเรื้อรัง และโรคไตระยะสุดท้าย

ซึ่งทำให้ถึงแก่ความตายได้ นอกจากนี้โรคนิ่วในไต ยังมีอุบัติการณ์

การเป็นนิ่วซ้ำสูงมาก ทำให้ทั้งผู้ป่วยและภาครัฐต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายในการรักษา

และป้องกันการเกิดนิ่วซ้ำสูงมาก ดังนั้นโรคนิ่วในไตจึงจัดเป็นปัญหาสุขภาพ

ที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชากรไทยเป็นอย่างยิ่ง

โดยทั่วไปแล้ว โรคนิ่วนั้นมักเริ่มเกิดขึ้นที่ไตก่อน ต่อมาก็เลื่อนตำแหน่งไปยังกรวยไต

ท่อไต กระเพาะปัสสาวะ และท่อปัสสาวะ ซึ่งถ้านิ่วมีขนาดเล็กก็จะหลุดออกมาเองได้

ตอนผู้ป่วยปัสสาวะ แต่ถ้านิ่วมีขนาดใหญ่ก็จะไปอุดตันตามตำแหน่งต่าง ๆ

โรคนิ่วนั้นมีอยู่สองชนิดด้วยกัน คือ

นิ่วในถุงน้ำดี และนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ

นิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ ได้แก่ นิ่วในไต นิ่วในท่อไต นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ

 และนิ่วในท่อปัสสาวะ ซึ่งนิ่วทั้งสองประเภทนี้มีความแตกต่างกันในเรื่องส่วนประกอบ

สาเหตุ และการดูแลรักษา แต่ที่เรียกว่านิ่วเหมือนกัน อันนี้คงเป็นเพราะว่า

 ลักษณะที่เห็นนั้น คล้ายก้อนหินเหมือนกัน

เพราะฉะนั้น คนเป็นโรคนิ่ว จึงต้องรู้ว่าเป็นนิ่วที่ใด

สำหรับสาเหตุการเกิดโรคนิ่วนั้น มีอยู่หลายประการด้วยกัน

ทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อม เมตาบอลิซึม พันธุกรรม วิถีการดำเนินชีวิต

และอุปนิสัยการกินอาหารของแต่คน แต่ในที่นี้จะกล่าวถึง นิ่วอันเกิดจาก “สารก่อนิ่ว”

 ที่มีอยู่ในปัสสาวะตามปกติ ได้แก่ แคลเซียม ฟอสเฟต ออกซาเลต ยูเรต

ในภาวะที่มีปริมาณผิดปกติและสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย

สารเหล่านี้สามารถรวมตัวกันจนกลายเป็นก้อนผลึกแข็งและมีขนาดใหญ่ขึ้น

จนกลายเป็นนิ่วอุดตันที่บริเวณต่าง ๆ ของทางเดินปัสสาวะ

องค์ประกอบส่วนใหญ่ในก้อนนิ่วเป็นผลึกแร่ธาตุ เช่น แคลเซียมออกซาเลต

 แคลเซียมฟอสเฟต ยูเรต แมกนีเซียมแอมโมเนียมฟอสเฟต เป็นต้น

นิ่วที่พบมากที่สุดในประเทศไทย คือ นิ่วแคลเซียมฟอสเฟต

รองลงมาคือ นิ่วกรดยูริก

สำหรับสารที่ป้องกันการก่อผลึกในปัสสาวะเรียกว่า “สารยับยั้งนิ่ว”

ที่สำคัญได้แก่ ซิเทรต โพแทสเซียม และแมกนีเซียม

ปัจจัยเสี่ยงด้านความผิดปกติทางเมแทบอลิซึมที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคนิ่วในไต

ของคนไทย คือ การมีสารยับยั้งนิ่วในปัสสาวะต่ำ ได้แก่

ภาวะซิเทรตในปัสสาวะต่ำพบประมาณร้อยละ 70-90

และภาวะโพแทสเซียมในปัสสาวะต่ำพบประมาณร้อยละ 40-60

ปัจจัยเสี่ยงต่อโรคนิ่วอาจแบ่งได้เป็นปัจจัยภายใน เช่น กายวิภาคของไต

พันธุกรรม เชื้อชาติ และปัจจัยภายนอก เช่น ปัจจัยทางภูมิศาสตร์ อากาศ

 และฤดูกาล ปริมาณน้ำที่ดื่ม พฤติกรรมการกิน อาชีพ และยาบางชนิด

กลไกการเกิดโรค สามารถตรวจวัดได้จากสาเหตุการเกิดนิ่วในไต คือ

การมีสารก่อนิ่วในปัสสาวะสูงกว่าระดับสารยับยั้งนิ่ว ร่วมกับปัจจัยเสริมคือ

ปริมาตรของปัสสาวะน้อย ส่งผลให้เกิดภาวะอิ่มตัวยวดยิ่งของสารก่อนิ่วในปัสสาวะ

จึงเกิดผลึกที่ไม่ละลายน้ำขึ้น เช่น แคลเซียมออกซาเลต แคลเซียมฟอสเฟต

และ ยูเรต ผลึกนิ่วที่เกิดขึ้นจะกระตุ้นให้เกิดการอักเสบ

ส่งผลให้เซลล์บุภายในไตถูกทำลาย ตำแหน่งถูกทำลายนี้จะเป็นพื้นที่

ให้ผลึกนิ่วเกาะยึดและรวมกลุ่มกัน จนเกิดการทับถมของผลึกนิ่วเป็นเวลานาน

จนกลายเป็นก้อนนิ่วในที่สุด

ในคนปกติที่มีสารยับยั้งนิ่วในปัสสาวะสูงเพียงพอจะสามารถยับยั้ง

การก่อตัวของผลึกนิ่วได้ โดยสารเหล่านี้จะไปแย่งจับกับสารก่อนิ่ว

 เช่น ซิเทรตจับกับแคลเซียม หรือแมกนีเซียมจับกับออกซาเลต

ทำให้เกิดเป็นสารที่ละลายน้ำได้ดี และขับออกไปพร้อมกับน้ำปัสสาวะ

ทำให้ปริมาณสารก่อนิ่วในปัสสาวะลดลงและไม่สามารถรวมตัวกันเป็นผลึกนิ่วได้

นอกจากสารยับยั้งนิ่วในกลุ่มนี้แล้ว โปรตีนในปัสสาวะหลายชนิด

ยังทำหน้าที่ป้องกันการก่อผลึกในปัสสาวะ และเมื่อเคลือบที่ผิวผลึก

จะช่วยขับผลึกออกไปพร้อมกับปัสสาวะได้ง่ายขึ้น

ปัจจุบันมีหลายงานวิจัยระบุว่าความผิดปกติของการสังเคราะห์

และการทำงานของโปรตีนที่ยับยั้งนิ่วเหล่านี้เป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรคนิ่วไต

ส่วนนิ่วที่พบได้บ่อยในประเทศไทยอธิบายได้ว่า

ก้อนนิ่วสามารถจำแนกชนิดคร่าว ๆ ออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ

นิ่วชนิดเนื้อเดียวที่มีองค์ประกอบเพียงอย่างเดียว

และนิ่วชนิดเนื้อผสมที่มีหลากหลายองค์ประกอบรวมกัน

นิ่วส่วนใหญ่ที่พบในประเทศไทยจะเป็นนิ่วเนื้อผสม

ซึ่งเราสามารถแบ่งชนิดนิ่วได้จากองค์ประกอบหลักที่สำคัญในก้อนนิ่ว ได้แก่

นิ่วแคลเซียมออกซาเลต นิ่วแคลเซียมฟอสเฟต นิ่วยูเรตหรือนิ่วกรดยูริก

นิ่วสตูไวท์หรือนิ่วติดเชื้อ นิ่วซีสทีน และนิ่วชนิดอื่น ๆ

ขอบคุณข้อมูลจาก ผศ.นพ.วิทย์ วิเศษสินธุ์

หน่วยศัลยศาสตร์ระบบปัสสาวะ ภาควิชาศัลยศาสตร์

คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

#RamaChannel








Create Date : 21 มีนาคม 2557
Last Update : 21 มีนาคม 2557 21:22:39 น.
Counter : 4819 Pageviews.

0 comment
### มารู้จักโรคช็อกโกแลตซีสต์กันนะสาวๆ ###




โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่

หรือ โรคช็อกโกแลตซีสต์










หลายคนคงเคยได้ยินชื่อของโรค

ช็อกโกแลตซีสต์

หรือโรคที่ทางการแพทย์เรียกว่า

โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่

ซึ่งหมายถึงโรคที่มีภาวการณ์เจริญเติบโต

ของเซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกขึ้นผิดที่

ลักษณะอาการ โดยปกติแล้ว

เซลล์เยื่อบุโพรงมดลูก

จะเจริญเติบโตภายในโพรงมดลูก

แต่ถ้ามีการเจริญของเยื่อบุโพรงมดลูกผิดที่

จะทำให้เกิดอาการ ซึ่งอาการแสดงของโรคนี้

แบ่งได้เป็น 2 ชนิดคือ ชนิดที่พบภายนอกมดลูก

 เป็นชนิดที่พบได้บ่อย

ส่วนใหญ่มักพบบริเวณอุ้งเชิงกราน

ได้แก่ รังไข่ ท่อนำไข่ เยื่อบุช่องท้อง

รวมถึงอวัยวะใกล้เคียง

 เช่น กระเพาะปัสสาวะ และลำไส้ใหญ่

นอกจากนี้ยังพบได้ที่ท่อไต ลำไส้เล็ก

ปอด สมอง และบริเวณผิวหนัง

หรือแผลผ่าตัด เป็นต้น

อีกชนิดพบได้ในกล้ามเนื้อมดลูก

อันเกิดจากเซลล์เยื่อบุโพรงมดลูก

ไปเจริญแทรกอยู่ในกล้ามเนื้อมดลูก

ทำให้มีอาการปวดประจำเดือน

และตรวจพบว่ามดลูกมีขนาดโตขึ้น

โดยทั่วไปโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่

จะหมายถึง ชนิดที่พบภายนอกมดลูก

ช็อกโกแลตซีสต์ และคำว่า ซีสต์ หมายถึง ถุงน้ำ

ช็อกโกแลตซีสต์ จึงเป็นอาการแสดงหนึ่ง

ของโรคเยื่อบุโพรงมดเจริญผิดที่

โดยตัวโรคไปเกิดขึ้นที่รังไข่ในลักษณะของถุงน้ำ

 ที่เราเรียกว่า ช็อกโกแลตซีสต์

 เพราะลักษณะของถุงน้ำในโรคนี้

ภายในมีของเหลวที่มีลักษณะคล้ายกับช็อกโกแลต

สำหรับสาเหตุของการเกิดถุงน้ำช็อกโกแลต

เชื่อว่าเกิดจากการที่เลือดระดู

หรือประจำเดือนมีการไหลย้อนกลับ

เข้าไปในอุ้งเชิงกราน ผ่านทางท่อนำไข่

ซึ่งโดยปกติแล้วเวลาผู้หญิงมีประจำเดือน

นอกจากเลือดประจำเดือน

จะไหลออกมาทางช่องคลอดแล้ว

จะมีเลือดบางส่วนไหลผ่านท่อนำไข่

เข้าไปในอุ้งเชิงกราน

โดยเลือดประจำเดือนนี้จะมีเซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกอยู่

ซึ่งโดยปกติแล้วร่างกายคนเราจะมีกลไก

ในการกำจัดเซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกเหล่านี้

แต่ในผู้หญิงบางคนมีความผิดปกติข

องกลไกในการกำจัดเซลล์เหล่านี้

ทำให้เซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกที่หลุดออกมานั้น

 ไปฝังตัวตามจุดต่าง ๆ ในอุ้งเชิงกราน

รวมถึงรังไข่ และเจริญเติบโตจนทำให้เกิดถุงน้ำขึ้น

 เวลาที่เรามีประจำเดือน

เซลล์ของเยื่อบุโพรงมดลูกที่อยู่ในถุงน้ำ

ก็จะมีเลือดออกเข้าไปในถุงน้ำนั้นด้วย เมื่อเวลาผ่านไป

น้ำซึ่งเป็นส่วนประกอบในถุงเลือดนั้นจะถูกดูดซึมกลับ 

ทำให้เลือดในถุงมีลักษณะเข้มขึ้น

และเมื่อค้างอยู่นาน ๆ ก็จะกลายเป็นสีน้ำตาล

มีลักษณะเหมือนช็อกโกแลต เราจึงเรียกว่า

 ถุงน้ำช็อกโกแลต หรือ ช็อกโกแลตซีสต์

ดังนั้นกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสเป็นโรคนี้สูง

จะสัมพันธ์กับการมีประจำเดือน

พบว่าสตรีที่เริ่มมีประจำเดือนครั้งแรกก่อนเพื่อน ๆ

สตรีที่เข้าสู่ภาวะวัยหมดประจำเดือน (วัยทอง) ช้ากว่าปกติ

สตรีที่มีประจำเดือนออกมากและออกนานหลายวัน

สตรีที่รอบเดือนมาถี่หรือระยะห่าง

ระหว่างที่เป็นประจำเดือนแต่ละรอบสั้น

สตรีที่มีแม่ พี่สาว หรือน้องสาวเป็นโรคนี้

สตรีที่มีลูกคนแรกตอนอายุมาก

ก็จะมีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้สูงขึ้น

นอกจากนี้ยังพบว่าสตรีที่ดื่มแอลกอฮอล์

 และกาแฟมาก ๆ ก็จะมีความเสี่ยง

ที่จะเป็นโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่สูงขึ้น

สำหรับอาการที่น่าสงสัย

ว่าจะเป็นถุงน้ำช็อกโกแลต ได้แก่

อาการปวดประจำเดือน

ซึ่งเป็นอาการส่วนใหญ่ที่มาพบแพทย์

นอกจากนี้อาจมีอาการปวดท้องน้อยขณะมีเพศสัมพันธ์

ปวดท้องน้อยเรื้อรัง

 (มีอาการปวดท้องน้อยนานกว่า 6 เดือน)

มีบุตรยาก  ในบางคนคลำได้ก้อนที่ท้องน้อย

 หรือบางคนอาจมีอาการเลือดออกผิดปกติจากช่องคลอด 

ส่วนน้อยอาจมีอาการอื่น ๆ ที่สัมพันธ์กับตำแหน่งของโรค

เช่น มีก้อนโตขึ้นและปวดในช่วงที่เป็นประจำเดือน

หรือมีอาการไอเป็นเลือดในช่วงเป็นประจำเดือน

 เนื่องจากมีเยื่อบุโพรงมดลูกไปเจริญที่ปอด เป็นต้น

แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าอาการปวดประจำเดือนนั้น

เป็นอาการปวดประจำเดือนตามปกติที่ผู้หญิงเป็นกัน

หรือเป็นจากภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่

ในเรื่องนี้แนะนำให้ดูที่อายุ

 และลักษณะอาการปวดประจำเดือนที่เป็น

 ถ้าอายุยังไม่มากแล้วมีอาการปวดท้องน้อย

เวลามีประจำเดือน

โดยเริ่มมีอาการปวดประจำเดือน

ตั้งแต่เริ่มเป็นประจำเดือนครั้งแรก

อาการปวดเป็นเท่า ๆ เดิมไม่ได้ปวดรุนแรงขึ้น

ส่วนใหญ่จะเป็นอาการปวดประจำเดือนธรรมดา

แต่ถ้าอายุมากขึ้น แล้ว

อยู่ ๆ มาเริ่มมีอาการปวดประจำเดือน

หรืออาการปวดประจำเดือนเป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ

 เช่น เดิมมีอาการปวดประจำเดือนไม่มาก

พอทนได้ หรือทานเพียงยาพาราเซตามอลก็หาย

 แต่ต่อมาอาการปวดประจำเดือนเป็นมากขึ้น

 ต้องทานยาแก้ปวดปริมาณมากขึ้น

หรือต้องทานยาแก้ปวดที่มีฤทธิ์แรงขึ้น

มีอาการปวดจนต้องหยุดเรียน หยุดงาน

หรือปวดจนรบกวนชีวิตประจำวัน

หรือบางคนถึงขั้นต้องไปฉีดยาแก้ปวด

ที่คลินิกหรือโรงพยาบาล

อาการดังกล่าวค่อนข้างบ่งชี้ว่า

น่าจะเป็นโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่

หลาย ๆ คนคงสงสัยว่าโรคช็อกโกแลตซีสต์นี้

เป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างไร

ภาวะนี้เป็นสาเหตุหนึ่งของอาการปวดประจำเดือน

ทำให้เราต้องทนทุกข์ทรมานจากอาการปวด

ส่งผลทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลง

บางครั้งส่งผลทางด้านการงานและสังคม

ทำให้เราต้องหยุดเรียน

หรือหยุดงานเนื่องจากอาการปวด

ในบางคนเกิดการแตกของถุงน้ำ

จะทำให้เกิดอาการปวดท้องแบบเฉียบพลัน

ซึ่งอาจต้องได้รับการผ่าตัดแบบฉุกเฉิน

 นอกจากนั้นโรคนี้อาจทำให้เกิดปัญหาภาวะมีบุตรยาก

เนื่องจากโรคนี้มักจะทำให้เกิดพังผืดในอุ้งเชิงกราน

บางราย เป็นมากจนทำให้เกิดการอุดตันของท่อนำไข่

ซึ่งอาจมีความจำเป็นต้องรักษา

โดยการผ่าตัด หรือต้องใช้เทคโนโลยีช่วย

ในการเจริญพันธุ์ เช่น การทำเด็กหลอดแก้ว

สำหรับบางท่านกังวลว่าช็อกโกแลตซีสต์นี้

สามารถกลายเป็นมะเร็งได้ไหม

ซึ่งจากข้อมูลทางการแพทย์พบว่า

 โอกาสที่โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่นั้น

จะกลายเป็นมะเร็ง มีโอกาสเกิดน้อยกว่า 1%

ในกรณีที่สงสัยว่าเป็นโรคนี้

แนะนำให้พบสูตินรีแพทย์

 ซึ่งแพทย์จะทำการซักประวัติ

ตรวจร่างกาย และตรวจภายใน

ในกรณีที่สงสัยว่าจะเป็นช็อกโกแลตซีสต์

 แพทย์จะทำการตรวจอัลตราซาวด์

 หรือตรวจพิเศษอื่น ๆ ตามความเหมาะสม

ซึ่งการตรวจอัลตราซาวด์นั้น

อาจทำการตรวจทางหน้าท้อง

 หรือตรวจทางช่องคลอด

ซึ่งแพทย์จะเลือกตรวจตามความเหมาะสม

แต่สำหรับการวินิจฉัยที่แน่นอนที่สุดคือ

 การส่องกล้องเข้าไปในช่องท้อง

ร่วมกับการตัดชิ้นเนื้อเล็ก ๆ

 เอามาตรวจทางพยาธิวิทยา

ซึ่งการตรวจโดยวิธีส่องกล้องนี้

ไม่จำเป็นต้องทำในผู้ป่วยทุกคน

แพทย์จะทำเมื่อเห็นว่ามีความเหมาะสม

การรักษาโรคนี้ หลัก ๆ มี 3 วิธี คือ

การใช้ยา การผ่าตัด หรือใช้ทั้งสองวิธีร่วมกัน

โดยวิธีการรักษาจะคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ ของผู้ป่วย

ได้แก่ อาการของผู้ป่วย อายุ

ความต้องการมีบุตร และความรุนแรงของโรค

 โดยการรักษาแบบใช้ยา

มีทั้งการใช้ยาในกลุ่มที่มีฮอร์โมน และไม่มีฮอร์โมน

ส่วนการผ่าตัดก็มีทั้งวิธีการผ่าตัดเปิดหน้าท้อง

หรือวิธีการผ่าตัดแบบส่องกล้อง

ซึ่งวิธีการผ่าตัดส่องกล้องจะมีข้อดีคือ

แผลเล็ก ปวดแผลน้อย

ใช้เวลานอนรักษาในโรงพยาบาล

หรือการพักฟื้นหลังผ่าตัด

สั้นกว่าการผ่าตัดเปิดหน้าท้อง

 แต่ว่าวิธีการผ่าตัดแบบส่องกล้องนั้น

มีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่า

และต้องอาศัยแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะ

ซึ่งวิธีการรักษานั้น แพทย์จะเลือกตามความเหมาะสม

สำหรับผู้ป่วยในแต่ละราย

สุดท้ายนี้ ขอแนะนำว่า

 ในกรณีที่เรามีอาการปวดประจำเดือน 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาการปวดนั้นรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ

หรือมีอาการอื่น ๆ ดังกล่าวข้างต้น

ขอให้ท่านรีบไปปรึกษาสูตินรีแพทย์

ที่คลินิกหรือโรงพยาบาลใกล้บ้าน

................................ 

ขอบคุณข้อมูลจาก อาจารย์นายแพทย์ศรีเธียร เลิศวิกูล

ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา

คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

#RamaChannel










Create Date : 12 มีนาคม 2557
Last Update : 1 ตุลาคม 2561 18:20:47 น.
Counter : 1912 Pageviews.

0 comment
### ระยะเวลาหนึ่งเดือนหลังผ่าตัดต้อกระจกพบอะไรบ้าง ###





ครั้งที่แล้วได้เล่าถึงเรื่องการผ่าตัดตาต้อกระจก
ด้วยเลเซอร์  จนเสร็จเรียบร้อยแล้ว
  และได้เดินทางกลับบ้าน
นอนหงายไร้หมอนหนึ่งคืน 
 รุ่งขึ้นก็เดินทางไปโรงพยาบาลอีกครั้งตามหมอสั่ง
   เพื่อให้หมอเปิดตาดูผลของการผ่าตัด
ว่าเป็นเช่นไรบ้าง
เมื่อไปถึงหมอได้ทำการเปิดตาให้
  และได้ตรวจตาที่ได้ผ่าตัดไว้
เมื่อหมอแกะผ้ากรอสที่ปิดตาออก 
 แสงสว่างจ้าก็กระทบตาทันที
หมอได้ทำการหยอดตาข้างที่ผ่าตัดให้ 
 ด้วยยาหยอดตาที่หมอสั่งจ่ายไว้ให้
มีด้วยกันสามขวด
พอ ทราบได้ว่าขวดหนึ่งเป็นยาฆ่าเชื้อ 
  ขวดสองเป็นยาแก้อักเสบ 
            ขวดที่สามเป็นยาลดความดันของตา
ยาหยอดตานี้สองขวดแรกหยอดวันละสี่ครั้ง
  ส่วนขวดที่สามยาลดความดันตา
หยอดแค่เช้าและเย็นเท่านั้น
ก่อนหยอดตาทุกครั้ง 
 ต้องใช้สำลีชุบน้ำเกลือฆ่าเชื้อ
ที่หมอให้มาก่อนชุบแล้วบีบให้แห้ง 
 แล้วจึงเช็ดตาตั้งแต่หัวตาไปยังหางตา
และเปลี่ยนสำลีใหม่
เช็ดตาข้างล่างอีกครั้งทำเช่นเดียวกัน
เรื่องนี้คุณพยาบาลได้อธิบายให้ทราบไว้แล้ว
ก่อนที่จะเข้าผ่าตัด
เมื่อหยอดตาเสร็จแล้วให้ใช้ที่ครอบตา
  ครอบตาข้างที่ผ่าตัดเอาไว้ก่อนสักสองสัปดาห์ 
 หลังจากนั้นค่อยใช้แว่นกันแดดช่วยอำพรางแสง
และครอบตาเฉพาะเวลาที่นอนทุกครั้ง
เป็นเวลาหนึ่งเดือน 
 การนอนให้นอนหงายเท่านั้น 
 อย่าเพิ่งนอนตะแคง
ฉันได้สอบถามคุณหมอว่า 
 เพื่อป้องกันเราใช้ผ้ากรอสสะอาด
ปิดตาไว้ก่อนครอบตาได้ไหม 
 คุณหมอบอกว่าไม่ต้องปิดตา
เพราะตาต้องการอ๊อกซิเย่น 
 แค่เช็ดตาก่อนหยอดตาทุกครั้ง
  และครอบตาไว้เท่านั้น











ฉันปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด 
 เพราะต้องการหายเร็วๆ
เนื่องจากมีอะไรต้องทำอีกมากมาย
ไม่อยากเสียเวลากับการรอคอย
ฉันนอนหงายไร้หมอนได้ประมาณสามวัน
ไม่มีอะไรเกิดขึ้น
  พอเริ่มวันที่สี่ เมื่อลุกขึ้นมารู้สึกเซจะล้ม
 ร่างกายขาดการทรงตัว
แต่ฉันไม่ได้ปวดหัวตัวร้อนนะ บ้านก็ไม่หมุนด้วย 
 เพียงแต่ลุกแล้วเซเท่านั้น 
 ทีนี้เวลาลุกฉันจะต้องลุกช้าๆ
แล้วก็นั่งสักพักค่อยลุกเดิน
ถึงจะทำอย่างไรก็ยังเซอยู่ดี
  เพียงแต่เซน้อยลงเท่านั้น 
  ฉันก็พยายามอดทนกับอาการนี้
จนถึงกำหนดหมอนัดก็แค่สัปดาห์เดียวเอง











เมื่อถึงกำหนดไปให้หมอตรวจตาอีกครั้ง
หลังจากผ่าตัดมาได้สัปดาห์ ทุกสิ่งทุกอย่างก็ดี 
 ฉันได้ถามหมอเกี่ยวกับอาการซวนเซเวลาลุกขึ้น
คุณหมอบอกว่า น่าจะเกิดจากความดันโลหิต 
 ไม่น่าเกี่ยวกับการผ่าตัดตาแต่อย่างไร
ฉันก็รับทราบอย่างงงๆ
เพราะฉันไม่ได้เป็นโรคความดันโลหิตแต่อย่างไร 
 ไม่ว่าดันต่ำ ดันสูงก็ไม่เป็นทั้งนั้น
ฉันก็ได้แต่มาปรับการปฏิบัติตนของฉันใหม่เอง
  โดยก่อนลุกขึ้นจากการนอน
  ฉันจะพยายามค่อยๆลุกช้าๆ 
 แล้วนั่งพักสักครู่ค่อยลุกยืน
แต่ขอบอกว่าหนึ่งเดือนเต็มๆ 
 ฉันก็ยังเซอยู่เหมือนเดิม 
 เพียงแต่เริ่มค่อยๆเซน้อยลงไปเรื่อยๆเท่านั้น
หลังจากหนึ่งเดือนไปแล้ว 
 อาการซวนเซของฉันก็เริ่มหายเป็นปรกติ 
  แต่ตานั้นซิแย่ เดิมฉันสายตาสั้น
แว่นตาก็ใช้ไม่ได้ต้องตัดเลนส์ใหม่
เพราะตาข้างที่ผ่าตัดนั้น 
  หมอใส่เลนส์สายตายาวให้ จึงมองไกลได้ใสปิ๊ง
แต่มองใกล้ไม่เห็น เขียนหนังสือก็ไม่ได้ 
 นี่แหละอาการที่ฉันประสบ  แต่เฉพาะฉันนะ
คนอื่นอาจจะไม่เป็นอย่างฉันก็ได้ ฉันไม่รู้








Create Date : 24 ตุลาคม 2556
Last Update : 30 ตุลาคม 2557 11:24:44 น.
Counter : 826 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  5  6  

tangkay
Location :
ชลบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 55 คน [?]



(•‿•✿) พออายุเลยเลขหกฉันยกเครื่อง
มอบทุกเรื่องที่เคยรู้คู่ความเห็น
มอบประสบการณ์ผ่านพบจบประเด็น
ไม่ยากเย็นเรื่องความรู้ตามดูกัน
ฉันคนเก่าเล่าความหลังยังจำได้
แต่ด้วยวัยที่เหลือน้อยค่อยสร้างสรร
ยอมรับเรื่องเนตโซเชียลเรียนไม่ทัน
อย่าโกรธฉันแค่สูงวัยแต่ใจจริง
ด้วยอายุมากมายอยากได้เพื่อน
หลากหลายเกลื่อนทุกวัยทั้งชายหญิง
คุยทุกเรื่องแลกเปลี่ยนรู้คู่ความจริง
หลากหลายสิ่งฉันไม่รู้ดูจากเธอ ....
สิบปีผ่านไป.......
อายุเข้าเลขเจ็ดไม่เผ็ดจี๊ด
เคยเปรี้ยวปรี๊ดก็ต้องถอยคอยเติมหวาน
ด้วยเคยเกริ่นบอกเล่ามาเนิ่นนาน
ก็ยังพาลหมดแรงล้าพากายตรม
ด้วยชีวิตผ่านมาพาเป็นสุข
ยังสนุกกับการให้ใจสุขสม
อยากบอกเล่ากล่าวอ้างบางอารมณ์
แม้คนชมจะร้องว้า....ไม่ว่ากัน
ปัจจุบันเขียนน้อยค่อยเหินห่าง
ระบบร่างเปลี่ยนแปลงเหมือนแกล้งฉัน
เราคนแก่ตามแก้ไม่ค่อยทัน
ยักแย่ยันค่อยศึกษาหาข้อมูล
แต่ด้วยคิดถึงแฟนคลับกระชับมิตร
จึงต้องคิดตามต่อไปไม่ให้สูญ
ส่งความรู้คู่ธรรมะทวีคูณ
เพื่อเพิ่มพูนให้รู้กันฉันสุขใจ