Group Blog
♣♣♣ เจ้าพ่อกระทิงแดง ♣♣♣








ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-ภาพของชายสูงวัย
ในเสื้อตัวเก่ากับกางเกงแพร ใส่หมวกงอบ
ขี่จักรยานไปรอบๆโรงงานกระทิงแดง ในทุกเช้า
ทั้งเนื้อทั้งตัวไม่มีของมีค่าใดๆ
นอกจากนาฬิการาโด้เก่าๆ เพียงเรือนเดียว
เมื่อเห็นขวดกระทิงแดงที่พนักงานกินทิ้งไว้
เขาก็จะก้มลงเก็บแล้วนำไปทิ้งขยะ .....
 หากไม่บอกคงไม่มีใครรู้ว่าเขาคนนี้คือ
 'เฉลียว อยู่วิทยา' มหาเศรษฐีแสนล้าน
 หนึ่งในสามนักธุรกิจที่รวยที่สุดในประเทศไทย
และถูกจัดให้เป็นเศรษฐีอันดับที่ 205 ของโลก
ที่สำคัญเขายังเป็นเจ้าของธุรกิจกระทิงแดง
และเรดบูลที่ส่งขายไปกว่า 70 ประเทศ
และเจ้าของตำนานการสร้างธุรกิจซึ่งกลายเป็นกรณีศึกษา
ที่ถูกนำไปสอนในมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลก !!

และนับแต่นี้เรื่องราวของเขาคงกลายเป็นตำนานที่เล่าขาน
ถึงความยิ่งใหญ่ของนักธุรกิจเจ้าของฉายา 'มังกรซ่อนเล็บ'
อดีตเด็กหนุ่มยากจนในสังคมชนบท
ที่มุ่งสู่เมืองกรุงพร้อมความฝันว่า
สักวันจะมีชีวิตที่ดีขึ้น

ช่วงเช้าของวันที่ 17มีนาคม2555 ได้ปรากฏข่าว 'ช็อกวงการ'
กับการจากไปของ เจ้าพ่อกระทิงแดง 'เฉลียว อยู่วิทยา'
รายงานแจ้งว่าเขาจากไปอย่างสงบด้วยโรคชรา ในวัย 89 ปี
ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งการจากไปของเขานั้น
นอกจากจะสร้างความเศร้าโศกให้แก่ลูกหลาน
และพนักงานในเครือกระทิงแดงทุกคนแล้ว
ยังนับเป็นการสูญเสียครั้งสำคัญของแวดวงธุรกิจไทยอีกด้วย

**จากเด็กเลี้ยงเป็ด สู่ธุรกิจขายยา

เจ้าสัวเฉลียว หรือที่เรียกกันในครอบครัว
และคนสนิทว่า 'โกเหลียว'
เกิดในครอบครัวคนจีน ที่จังหวัดราชบุรี
 ก่อนอพยพไปอยู่ที่ตำบลหัวดง อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร
บิดาเป็นชาวจีนไหหลำ ชื่อนายเซ่ง แซ่สี่
อพยพมาจากเมืองจีน
ส่วนมารดาชื่อ นางทองอยู่ แซ่สี่ เป็นคนไทย
เขามีพี่น้องทั้งหมด 5 คน

แม้จะเกิดในครอบครัวยากจน
แต่ด้วยความที่ถูกปลูกฝังเรื่องของความซื่อสัตย์
ขยัน อดทนจึงเป็นคนมุมานะหนักเอาเบาสู้มาตั้งแต่เด็กๆ
เป็นเด็กเรียนดีทั้งที่ไม่ค่อยมีเวลาอ่านหนังสือมากนัก
เนื่องจากหลังเลิกเรียนเฉลียวต้องไปเลี้ยงเป็ด
และช่วยที่บ้านค้าขาย ด้วยความยากจน
ในช่วงที่ไปเรียนชั้นมัธยมในตัวจังหวัด
จึงต้องไปอาศัยอยู่กับคุณหมอท่านหนึ่ง
โดยช่วยทำงานบ้านเป็นการตอบแทน
 แต่เรียนได้แค่มัธยม 5 (เทียบเท่ากับ ม.2 ในปัจจุบัน)
 ก็ต้องลาออกกลางคัน
เพราะพ่อแม่ไม่มีเงินส่งเสีย

เฉลียวเริ่มทำการค้าเล็กๆน้อยๆตั้งแต่อายุแค่ 10 กว่าปี
และเนื่องจากขณะนั้นอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
เฉลียวจึงไปรับจ้างทำงานให้กับญี่ปุ่นด้วย แม้จะล้มลุกคลุกคลาน
การค้าเจ๊งไม่เป็นท่าหลายครั้งหลายหน แต่เฉลียวก็ไม่เคยย่อท้อ
ตรงกันข้ามความล้มเหลวที่ผ่านมากลับทำให้เขาได้ข้อคิด
และปรัชญาในการทำธุรกิจว่า
 “ ไม่ควรทำอะไรที่ตนเองไม่เชี่ยวชาญ”

“ ผมทำมาหลายอาชีพ ขายขนุน ขายทุเรียน
ขายเนื้อเค็ม ไม่รู้เรื่องก็เจ๊งหมด
เห็นขนุนในกรุงเทพฯ ราคาแพง ลูกละหลายบาท
 ที่พิจิตรบ้านเราลูกละสลึงเดียว
ก็อยากซื้อมาขายเอากำไร ไปถึงสวนเลย
 ถ้าคิดลูกละสลึงเขาไม่ขึ้นให้ ต้องขึ้นไปตัดเอง
 ผมไม่รู้ว่าลูกไหนอ่อนลูกไหนแก่
ขนุนละมุด หรือขนุนหนังก็ไม่รู้
เห็นลูกโตๆตัดหมด ขนมาเต็มตู้รถไฟ
 กว่าจะถึงกรุงเทพฯ ขนุนละมุดเละหมด
ขนุนหนังที่ตัดมาส่วนใหญ่ก็ยังไม่แก่
จะเอาเม็ดมาต้มขายก็ไม่อร่อย เลยขาดทุนหมด
สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ไปรับจ้างโยงเรือให้ญี่ปุ่น
 ไม่มีความรู้ก็เจ๊งอีก ”
เฉลียวให้สัมภาษณ์ในนิตยสาร 'THE EXECUTIVE'
เมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่
ถึงประสบการณ์ในการทำการค้าในช่วงวัยรุ่น

ใครจะรู้ว่าวันที่เฉลียวตัดสินใจทิ้งการค้าผลไม้
ตามพี่ชายเข้ากรุงเทพฯ
จะเป็นจุดเริ่มต้นของเจ้าสัวแสนล้านในวันนี้
โดยช่วงแรกที่มาถึงกรุงเทพฯ
เฉลียวเริ่มจากช่วยพี่ชายทำงานที่ร้านขายยา
เมื่อมีความรู้ความชำนาญเรื่องการขายยาจึงเปิดโอกาสให้ตัวเอง
ด้วยการไปสมัครเป็นเซลขายยา ที่บริษัท แลดเดอร์เลย์ จำกัด
ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายยาออริโอมัยซินที่นำเข้าจากต่างประเทศ
จากนั้นก็ย้ายไปเป็นเซลขายยาของบริษัท เอฟ อี ซี ริค จำกัด
ซึ่งเป็นผู้ผลิตยาออริโอมัยซินโดยตรง เฉลียวเป็นเซลอยู่ 7 ปี
จึงออกมาตั้งบริษัทนำเข้ายาของตัวเอง ภายใต้ชื่อ
 'ห้างหุ้นส่วนจำกัด ทีซี ฟาร์มาซูติคอล'
ซึ่งปรากฏว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี
 เขาจึงขยายกิจการด้วยการเปิดร้านขายยา
และตั้งโรงงานผลิตยาเอง
ที่บริเวณถนนสิบสามห้าง ย่านบางลำพู
ก่อนที่จะขยายโรงงานผลิตยา
ไปที่ตรอกเสถียร แถวถนนราชดำเนิน

**นักการตลาดชั้นเซียน

ในปี 2504 เมื่อเฉลียวมองเห็นช่องทางในการขยายธุรกิจ
จากการวิเคราะห์ตลาดที่ทำให้เขามั่นใจว่า
ยาปฏิชีวนะยี่ห้อ 'ทีซีมัยซิน'
น่าจะเป็นยาที่ชื่อติดหูและขายดีที่สุด
 เนื่องจากเป็นยาครอบจักรวาลที่ทุกบ้านขาดไม่ได้
 เพราะมีสรรพคุณทั้งแก้ไข้ แก้ปวด แก้อักเสบ
เฉลียวจึงไม่รอช้าตัดสินใจตั้ง 'บริษัท ทีซีมัยซิน จำกัด'
เพื่อผลิตยาดังกล่าวทันที และไม่เกินไปที่จะกล่าวว่า
เจ้าสัวเฉลียวเป็น 'นักการตลาดชั้นครู'
 โดยไม่เคยกางตำราหรือร่ำเรียนจากสถาบันใดๆ
 เพราะเขาคือนักธุรกิจคนแรกๆของไทย
ที่ใช้วิธี 'แจกสินค้าให้ทดลองใช้'
 ก่อนที่จะมีบริษัทเอเจนซีที่คิดค้นกลยุทธ์การตลาด
ขึ้นในประเทศไทยหลายสิบปีนัก
 และนับเป็นกลยุทธ์ที่แม้แต่บริษัทโอสถสภา
ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ในธุรกิจยาในขณะนั้น
ยังไม่กล้าใช้และไม่เคยทำมาก่อน !!
เนื่องจากเฉลียววิเคราะห์ตลาดได้อย่างทะลุปรุโปร่ง
ว่าการจะทำให้ผู้บริโภคมั่นใจ
ในผลิตภัณฑ์ยาตัวใหม่นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย
เขาจึงทุ่มทุนด้วยการ 'แจก' ยาดังกล่าวให้ใช้ฟรี
ทั้งที่ตลาดนัดสนามหลวง
และตามชุมชน ซึ่งถือเป็นการทำตลาดที่มีประสิทธิภาพ
เพราะเมื่อคนเห็นถึงสรรพคุณของตัวยาจึงเกิดการบอกต่อ
ทำให้ 'ยาทีซีมัยซิน' เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย
ภายในเวลาอันรวดเร็ว

งานนี้ทำเอายักษ์ใหญ่อย่างอย่างโอสถสภา
ผู้ผลิต'ยาทัมใจ' ถึงกับอึ้ง !!
เพราะนึกไม่ถึงว่าจะมาเจอคู่แข่งรายใหม่
ที่ใช้กลยุทธ์ 'ป่าล้อมเมือง'
ที่สำคัญยังเป็นเพียงบริษัทยาเล็กๆ
ที่หาญกล้ามาชนกับเจ้าตลาดอีกด้วย

และกลยุทธ์นี้ถือเป็นกลยุทธ์การตลาดสุดคลาสสิก
ที่กลายเป็นเรื่องเล่าขานกันมาจนถึงทุกวันนี้ …

ความสำเร็จครั้งนี้ทำให้ผลิตภัณฑ์ยาตัวอื่นๆ
 ที่ออกมาใหม่ของทีซีมัยซิน
พลอยได้รับความเชื่อถือไปด้วย
จากนั้นในปี 2508เจ้าสัวเฉลียว
ก็ขยายไลน์ไปยังธุรกิจเครื่องสำอาง
โดยตั้ง 'บริษัท ทีซี-มัยซิน อุตสาหกรรม จำกัด'
ซึ่งสินค้าที่รู้จักกันได้แก่
 แป้งเบบี้ดอล แป้งแท็ดทู และยาสีฟันเบลเด็กซ์
แต่แล้วในปี 2513
 โรงงานที่ตั้งอยู่บริเวณตรอกเสถียรก็ถูกเวนคืน
จึงต้องย้ายโรงงานไปอยู่ย่านบางบอน
ซึ่งก็คือโรงงานกระทิงแดงในปัจจุบันนั่นเอง
 แต่ในสมัยนั้นถือว่าป็นจุดที่ 'ไกลปืนเที่ยง'
ไม่เหมาะกับการทำธุรกิจแต่อย่างใด
 แต่ด้วยฝีมือของ 'โกเหลียว' แล้วไซร้
คงไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้

**'กระทิงแดง' ชื่อนั้นสำคัญไฉน

จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ 'โกเหลียว'
ขึ้นสู่ตำแหน่งมหาเศรษฐีแสนล้านจนถึงทุกวันนี้
 ก็คือวันที่โกเหลียวตัดสินใจลงทุน
ทำธุรกิจผลิตเครื่องดื่มชูกำลัง
ภายใต้ยี่ห้อ 'กระทิงแดง' โดยตั้ง
'บริษัท ทีซีฟาร์มา ซูติคอล อุตสาหกรรม จำกัด'
ขึ้นเมื่อปี 2521 ด้วยทุนจดทะเบียน 2 ล้านบาท
ซึ่งผู้ที่ชักนำให้เขาเข้าสู่ธุรกิจดังกล่าว
ก็คือเพื่อนเก่าชาวออสเตรีย
ที่ชื่อ 'ดีทริช เมเทลชิทซ์'
ตัวแทนฝ่ายการตลาดของยาสีฟันเบลนเด็กซ์
 ยาสีฟันสัญชาติเยอรมันที่เฉลียวซื้อลิขสิทธิ์มาผลิตนั่นเอง

หลายคนอาจไม่รู้ว่าแบรนด์ 'กระทิงแดง' นั้น
เป็นชื่อที่เจ้าสัวเฉลียวคิดขึ้นเอง
 และเดิมทีนั้นเขาตั้งใจจะให้เป็นผลิตภัณฑ์ยา
แต่รัฐบาลขณะนั้นกำหนดให้กระทิงแดง
เป็นเครื่องดื่มชูกำลัง
เพื่อที่จะได้สามารถเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้น

“ กระทิงแดง หมายถึง มีกำลัง กระทิงมีกำลังมาก
ชื่อนี้เป็นชื่อที่ผมคิดขึ้นเอง ออกแบบโลโก้เอง
ส่วนสินค้าอื่นๆที่ออกตามมาที่ใช้ชื่อกระทิงแดงนั้น
ก็ไม่ได้ถือเคล็ดอะไร
เพียงแต่เห็นว่าเป็นชื่อทางการค้า
ที่คนส่วนใหญ่รู้จักและจำกันได้อยู่แล้ว
ก็ไม่ควรไปสร้างชื่อใหม่ให้เปลืองค่าโฆษณา
ไม่ต้องเสียเวลาไปสร้าง 'Brand Loyalty'อีก

“เดิมทีเดียวกระทิงแดงก็เป็นยารักษาโรค
 กระทั่งรัฐบาลสมัยหนึ่งอยากได้ภาษีมากๆ
ก็เลยปรับกระทิงแดงเป็นเครื่องดื่ม
ที่ต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นเยอะ โดยเสีย 22 เปอร์เซ็นต์
คิดจากราคาขายปลีกขวดละ 10 บาท
ก็เสียภาษี 2.20 บาท ต่อขวด
ถ้าเป็นยาคิดภาษีจากราคาขายปลีกแค่ขวดละ 11 กว่าสตางค์ ”
 เฉลียวเคยให้ให้สัมภาษณ์ไว้ในนิตยสาร 'THE EXECUTIVE'

แต่เรื่องที่เป็นตำนาน
ซึ่งทั้งตื่นเต้นและคลาสสิกก็คือชื่อ 'กระทิงแดง'
ซึ่งเป็นแบรนด์ของเครื่องดื่มชูกำลังขวดนี้
ดันไปเหมือนกับชื่อ
กลุ่มการเมืองฮาร์ดคอร์ที่ชื่อ 'กลุ่มกระทิงแดง'
ซึ่งตั้งขึ้นมาเพื่อต่อกรกับนักศึกษาในยุค
14 ตุ.ค.16 และ 6 ตุ.ค.19
ซึ่งถูกมองว่าเป็นคอมมิวนิตส์
ทำให้ 'พล.ต.สุดสาย หัสดิน
' ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้ง 'กลุ่มกระทิงแดง' ไม่พอใจ
จึงต้องนัดเคลียร์กันครั้งใหญ่
กระทั่งสุดท้ายเมื่อเจ้าสัวเฉลียวมีหลักฐานมายืนยันว่า
เขาได้จดทะเบียนชื่อนี้ไว้
ก่อนที่จะมีการก่อตั้งกลุ่มกระทิงแดงถึง 5 ปี
เขาจึงสามารถใช้ชื่อ 'กระทิงแดง'
 เป็นชื่อแบรนด์มาได้จนได้ถึงทุกวันนี้

**กลยุทธ์โดนใจ

การเข้ามาตีตลาดของกระทิงแดงก็ไม่ใช่เรื่องธรรมดา
เพราะว่าขณะนั้นมี 'ลิโพวิตัน-ดี'
 ของบริษทโอสถสภา เต็กเฮงหยู จำกัด
ที่มีตระกูลดังอย่างโอสถานุเคราะห์นั่งบริหาร
เป็นเจ้าตลาดอยู่แล้ว
และมีส่วนแบ่งการตลาดสูงถึง 90%
เรียกว่าแทบไม่เหลือที่ว่างให้แทรกเลยทีเดียว
แต่นักการตลาดชั้นเซียนอย่างเจ้าสัวเฉลียว
ก็หาได้กลัวเกรงแต่กลับมองว่า
นี่คือโอกาสดีเพราะการที่มีรายใหญ่เพียงรายเดียว
แสดงว่ายังมีที่ว่างทางการตลาดเหลืออยู่
และการสู้กับเจ้าใหญ่เพียงรายเดียวนั้นย่อมง่ายกว่า
การต้องต่อสู้กับคู่แข่งหลายๆราย
ที่แห่ลงมาเล่นในตลาดเดียวกัน
ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจะเกิดสภาพการแข่งขันที่ดุเดือด
ชนิดต่างฝ่ายต่างบาดเจ็บ
สะบักสะบอมจนไม่มีใครยืนอยู่ในตลาดได้
ขณะที่การสู้กับเจ้าตลาดรายเดียวนั้น
เราสามารถหาจุดแข็งที่ยักษใหญ่ไม่มีมา
เป็นกลยุทธ์ช่วงชิงส่วนแบ่งการตลาดได้

โดยกระทิงแดงเลือกที่จะใช้ 3 กลยุทธ์ในการบุกตลาด
ประการแรกคือ 'กลยุทธ์ด้านราคา'
ที่เจ้าสัวเฉลียวใช้เป็นหัวหอกในการตีตลาด
ขณะเดียวกันก็ควบคุมคุณภาพ
ให้อยู่ในระดับเดียวกับลิโพวิตัน-ดี
กลยุทธ์ที่ 2 คือ 'การโปรโมชั่น'
หรือการส่งเสริมการขายที่มีประสิทธิภาพ
โดยปูพรมทั้งสื่อวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ และนิตยสาร
เพื่อสร้างความรู้จักและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย
ในทุกพื้นที่ของประเทศ
และ 3 คือ 'การแจกฟรี' ให้ทดลองดื่ม
ซึ่งถือเป็นสุดยอดกลยุทธ์การตลาด
ที่เจ้าสัวเฉลียวเคยใช้ได้ผลมาแล้ว ในช่วงนั้นจึงได้เห็นภาพ
การแจกเครื่องดื่มกระทิงแดงให้บรรดาสิงห์รถบรรทุก
และสายตรวจทางหลวงทุกจุดทั่วประเทศ
ไม่นับรวมการแจกจ่ายให้ผู้ใช้แรงงาน
ที่กระจายอยู่ในทุกพื้นที่
ถึงขั้นที่บางครั้งเจ้าสัวเฉลียว
ลงไปเดินสายแจกด้วยตัวเองเลยทีเดียว
ว่ากันว่าในการบุกตลาดในช่วงแรกนั้นมีการแจกกระทิงแดง
ให้ลูกค้าไปทดลองดื่มกันฟรีๆ เป็นจำนวนหลายล้านขวด
 คิดเป็นมูลค่าหลายสิบล้าน

แต่การทุ่มทุนครั้งนั้นก็นับว่าได้ผลเกินคาด
เนื่องจากการประชาสัมพันธ์ปูพรมในทุกรูปแบบทำให้
ไม่ว่าบ้านเล็กซอยน้อยต่างก็รู้จักกระทิงแดง ชนิดที่เรียกว่า
 ถ้าใครไม่รู้จักกระทิงแดง ต้องถือว่า 'เชยแหลก'
ซึ่งส่งผลให้ยอดขายของกระทิงแดงพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว
และเข้าไปแชร์ส่วนแบ่งการตลาดจากเจ้าใหญ่อย่างลิโพวิตัน-ดี
ได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าว
ส่งผลให้ยักษ์ใหญ่ค่ายโอสถสภา
ต้องขยับปรับกลยุทธ์ในเวลาต่อมา
โดยส่งเอ็ม 150 เครื่องดื่มชูกำลังอีกยี่ห้อหนึ่ง
มาเป็นคู่แข่งในตลาดล่างเพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งการตลาดคืน

ต่อมาในปี 2527 กระทิงแดงได้สยายปีกบุกตลาดไปสู่ต่างประเทศ
โดยลงทุนร่วมกับนายดีทริช เมเทสซิทซ์ (Dietrich Mateschitz)
นักธุรกิจชาวออสเตรีย
ก่อตั้งบริษัท Red Bull GmbH. ในประเทศออสเตรีย
โดยนายเฉลียวถือหุ้น 49% และนายเฉลิม ลูกชายถือหุ้นอีก 2%
ผลิตและวางจำหน่ายกระทิงแดงในยุโรป
 ภายใต้ยี่ห้อเรดบูล (Red Bull)
และส่งไปขายในกว่า 70 ประเทศทั่วโลก
ซึ่งถือเป็นการประกาศศักดาของสินค้าไทย
ชนิดที่ฝรั่งตาน้ำข้าวยังต้องทึ่ง
และกลายเป็นกรณีศึกษาที่มหาวิทยาลัยต่างๆทั่วโลก
ต้องนำไปบรรจุไว้ในหลักสูตรการตลาด

จากความมุมานะ และมันสมองอันชาญฉลาด
ของเจ้าสัวเฉลียวนี่เอง
ที่ทำให้เขาสามารถปั้นบริษัทเล็กๆ ที่มีพนักงานไม่ถึง 10 คน
จนกลายเป็นองค์กรขนาดใหญ่ที่มีพนักงานนับพันคน
แตกไลน์ผลิตสินค้าออกไปหลากหลายชนิด
และทำให้ชื่อของ 'เฉลียว อยู่วิทยา'
 ติดอยู่ในมหาเศรษฐีอันดับต้นๆของโลก
โดยเขารวยติดอันดับโลกมาตั้งแต่ปี 2546
โดยขณะนั้นเขาอยู่ในอันดับ 386
 และไต่อันดับขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุด นิตยสารฟอร์บส์
เพิ่งจัดอันดับเศรษฐีระดับโลกประจำปี 2554
ไปเมื่อไม่นานที่ผ่านมา และชื่อ นายเฉลียว อยู่วิทยา
เจ้าของแบรนด์ดังกระทิงแดงหรือเรดบูล ก็อยู่ในอันดับ 205
และรวยเป็นอันดับ 3 ของประเทศไทย
 มีมูลค่าทรัพย์สิน 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ
หรือ 1.5 แสนล้านบาท

**มรสุมครั้งใหญ่

อย่างไรก็ดี เส้นทางธุรกิจของมหาเศรษฐีผู้นี้
ก็หาได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ
เขาต้องผ่านมามรสุมชีวิตมาหลายครั้งหลายหน
ตั้งแต่ค้าขายเจ๊งไม่เป็นท่า
เมื่อครั้งที่เริ่มทำการค้าในช่วงแตกเนื้อหนุ่ม
ต้องย้ายโรงงานผลิตสินค้า
และผลิตภัณฑ์ยาเพราะถูกเวนคืนที่
แต่ครั้งที่ถือว่าหนักหนาสาหัสที่สุด
และนับเป็นช่วงวิกฤตของชีวิตก็คือ
ในช่วงที่ถูกมรสุมการเมืองเล่นงาน
 โดยมีกรรมาธิการสาธารณสุข
และกลุ่มนักวิชาการจับมือกันรุมกระหน่ำ
โดยการลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบ
ขององค์การอาหารและยา (อย.) ที่ใช้อยู่
และตั้งเงื่อนไขเข้ามาควบคุมเครื่องดื่มชูกำลังทุกยี่ห้อ
ด้วยการจำกัดปริมาณกาเฟอีนให้เหลือไม่เกิน 0.050 กรัม
จากเดิมซึ่งอยู่ที่ 0.080 กรัม
 ซึ่งครั้งนั้นเครื่องดื่มชูกำลังที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด
ก็คือกระทิงแดง เพราะมีกาเฟอีนมากกว่ายี่ห้ออื่น
เนื่องจากชูจุดขายว่า “กระทิงแดงแน่นอนกว่า”
จึงต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่ดื่มแล้วรู้สึกสดชื่นทันที
หากกระทิงแดงต้องปรับสูตรตามเงื่อนไขของ อย.
ผู้บริโภคที่เคยเป็นขาประจำอยู่อาจตัดสินใจเลิกซื้อ
เพราะสรรพคุณไม่เหมือนเดิม

ขณะที่คู่แข่งเครือโอสถสภานั้นไม่ได้รับผลกระทบมากนัก
โดยเฉพาะลิโพวิตัน-ดีที่วางตัวเองไว้
เป็นเครื่องดื่มชูกำลังในตลาดบน
ส่วนผสมจึงมีกาเฟอีนน้อย ส่วน เอ็ม 100 และ เอ็ม 150
ที่ค่ายโอสถสภาส่งมาตีตลาดเดียวกับกระทิงแดงนั้น
ก็ยังมีกาเฟอีนในระดับกลางๆ
เพราะขณะออกผลิตภัณฑ์ดังกล่าวโอสถสภายังไม่แน่ใจว่า
ทิศทางตลาดจะไปในทางไหนจึงเลือกสูตรกลางๆไว้ก่อน
นอกจากนั้นก็มีการเปิดช่องให้สินค้าค่ายอื่นๆเข้ามา
บุกตลาดเครื่องดื่มชูกำลังได้มากขึ้น
โดยเฉพาะสินค้าระดับท้องถิ่นที่มีราคาต่ำกว่า

ในครั้งนั้นจะเห็นปรากฏการณ์การเคลื่อนไหว
ของฝ่ายการเมืองที่ไม่ธรรมดา
 โดยขณะที่ นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม
 และนายปิยะณัฐ วัชราภรณ์
เลขาธิการพรรคกิจสังคม ออกรายการ 'มองต่างมุม'
ได้มีการกล่าวพาดพิงถึงพ่อค้าในธุรกิจเครื่องดื่มชูกำลังในทำนองว่า
มีอภิสิทธิ์ในกระทรวงสาธารณสุขและในองค์การอาหารและยา
พร้อมทั้งโจมตีว่าเครื่องดื่มประเภทนี้เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค
แม้จะมีการลดปริมาณคาเฟอีนลงแล้วก็ตาม
ขณะเดียวกันก็ตั้งข้อสังเกตว่าทำไมรัฐบาลหลายยุคที่ผ่านมา
ไม่สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ได้

ในแวดวงต่างฟันธงตรงกันว่า
นักธุรกิจที่ถูกกล่าวถึงนั้นจะเป็นใครไปไม่ได้
นอกจาก “เจ้าสัวเฉลียว อยู่วิทยา” !!

ข้อกล่าวหาดังกล่าวถึงกับทำให้เจ้าสัวเฉลียว
ซึ่งปกติไม่ชอบสุงสิงกับใคร ถึงกับนั่งไม่ติด
 ถึงกับลงทุนซื้อหน้าหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ
เพื่อลงข่าวชี้แจงข้อเท็จจริงว่าเครื่องดื่มกระทิงแดง
ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
 ไม่ได้โฆษณาเกินจริง พร้อมทั้งเสนอผลวิจัยที่ชี้ว่า
กระทิงแดงมีปริมาณคาเฟอีนเท่ากับกาแฟ 1 ถ้วยเท่านั้น
 และมีการระบุในโฆษณาทุกชิ้นด้วยว่า
 “ห้ามดื่มเกินวันละ 2 ขวด”
ดังนั้นจึงไม่น่าจะมีปัญหาอะไร

ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าที่ผ่านมานั้นธุรกิจของเจ้าสัวเฉลียว
มักถูกถล่มจากกลุ่มแพทย์และนักวิชาการอยู่เป็นระยะ
นอกจากนั้นทุกครั้งมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง
มักจะมีการหยิบยกประเด็นเรื่องเครื่องดื่มชูกำลังขึ้นมาโจมตี
 ดังนั้นจึงไม่แปลกที่เฉลียว
จะต้องหาเครือข่ายการเมืองไว้เป็นพันธมิตร
เพื่อเป็นเกราะคุ้มกัน ว่ากันว่าเจ้าสัวเฉลียวนั้น
มีความสนิมสนมกับนักการเมืองใหญ่
ในหลายพรรค โดยเฉพาะกับพรรคประชาธิปัตย์
ไม่ว่าจะเป็น นายชวน หลีกภัย ,
 พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ , ดร.พิจิตต รัตตกุล
มารุต บุนนาค สุทัศน์ เงินหมื่น
นอกจากนั้นเขายังมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ
อดีตหัวหน้าพรรคความหวังใหม่ เนื่องจากเจ้าสัวเฉลียว
เป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนรายใหญ่ของโครงการอีสานเขียว
ที่ พล.อ.ชวลิต ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่ง
ผู้บัญชาการทหารบก เป็นประธาน

การสร้างสัมพันธ์กับกลุ่มการเมือง
ของเจ้าสัวเฉลียวแห่งค่ายกระทิงแดงนั้น
คงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร
 เพราะบรรดาผู้บริหารของค่ายโอสถสภา
เจ้าของลิโพวิตัน-ดี ก็มีความสนิทสนมกับพรรคชาติพัฒนา
ของ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เช่นกัน !!

ณ วันนี้หลายคนอดตั้งข้อสงสัยไม่ได้ว่า
หากเครื่องดื่มชูกำลัง
ภายใต้แบรนด์กระทิงแดงมีปัญหาต่อสุขภาพจริง
เหตุใด 'เรดบูล' ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทเดียวกัน
 จากผู้ผลิตรายเดียวกัน
สามารถส่งออกไปจำหน่ายได้ทั่วโลก
 และได้รับความนิยมอย่างสูงในแถบยุโรป
และอเมริกา ซึ่งน่าจะเป็นกลุ่มประเทศ
ที่ให้ความสำคัญต่อสุขภาพ

**แทนคุณแผ่นดิน

แม้เจ้าสัวเฉลียวจะเป็นคนเก็บตัว ไม่ชอบออกงานสังคม
ไม่ชอบให้สัมภาษณ์หรือเป็นประธานในงานปาฐกถาใดๆ
แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้คนในสังคมเห็นตรงกันก็คือ
เจ้าสัวเฉลียวเป็นคนที่อ่อนน้อมถ่อมตน
 มุ่งเน้นคุณธรรมในการทำธุรกิจ ใช้ชีวิตอย่างสมถะ พอเพียง
ต่างจากมหาเศรษฐีทั่วไป ที่สำคัญเขายังมีแนวคิดว่า
“เงินทุกบาททุกสตางค์นั้นได้มาจากกำลังซื้อของพี่น้องคนไทย
ดังนั้นจึงควรนำเงินกำไรที่ได้รับกลับไปตอบแทนคุณแผ่นดิน”

ดังนั้นเครือกระทิงแดงจึงมีโครงการ
เพื่อช่วยเหลือสังคมนับร้อยโครงการ
ตลอดช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา
คิดเป็นเงินกว่ากว่าพันล้านบาท
โดยแทบจะไม่มีการประชาสัมพันธ์ใดๆให้สังคมรับรู้
ที่สำคัญยังเป็นการช่วยเหลือ
ที่ไม่ได้ทำเพียงเพื่อต้องการสร้างภาพลักษณ์ให้องค์กร
แต่เป็นการช่วยเหลืออย่างจริงจัง
ถึงขั้นที่มีการจัดตั้งเป็นแผนกขึ้นมาโดยเฉพาะ
 โดยมี 'ตุ๊กตา' สุทธิรัตน์ อยู่วิทยา ลูกสาว
ที่ถอดแบบการดำเนินชีวิตมาจากป๋าเฉลียว
 เป็นผู้ดูแลแผนกนี้โดยตรง
 ซึ่งในหลายโครงการคุณตุ๊กตามีคำสั่งสายตรง
ให้ทีมงานลงไปฝังตัวทำโครงการในพื้นที่
จนกว่าโครงจะแล้วเสร็จ
ไม่ว่าเป็นการพัฒนาแหล่งน้ำ โครงการสร้างอาชีพ

อีกทั้งขณะนี้ยังมีการสร้างเครือข่าย
เพื่อหาแนวร่วมในการพัฒนาสังคม
 โดยมีการดึงกลุ่มวัยรุ่น วัยทำงาน และประชาชนทั่วไป
ร่วมทำกิจกรรมพัฒนาสังคมต่างๆ
ซึ่งถือเป็นการขยายเครืข่ายในการทำความดี
ให้กว้างออกไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
ซึ่งโครงการหนึ่งที่นับว่าประสบความสำเร็จอย่างมากก็คือ
'โครงการกระดานดำ' ซึ่งกระทิงแดงสนับสนุน
ครงการค่ายอาสาสมัครเพื่อสร้างโรงเรียน
ให้แก่เด็กๆในพื้นที่ธุรกันดาร

นอกจากนั้นน้อยคนนักที่จะทราบว่า
ยาที่ใช้ใน 'โครงการแพทย์อาสา' นั้น
 เจ้าสัวเฉลียวได้ผลิตถวายในนาม
บริษัท ทีซีมัยซิน จำกัด มาตลอด
และในวงการแพทย์จะทราบกันดีว่า
โรงพยาบาลใดขาดแคลนเครื่องมือทางการแพทย์
ก็สามารถขอความอนุเคราะห์จากเจ้าสัวเฉลียวได้
แม้เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย
หรือรักษาจะมีราคาหลายสิบล้าน
จนถึงขั้นเป็นร้อยล้านก็มี
แต่ทุกโรงพยาบาลที่ไปขอความช่วยเหลือ
จากเจ้าสัวเฉลียวก็ไม่เคยผิดหวังกลับไป
อย่างเช่น โรงพยาบาลราชวิถี
ซึ่งมีผู้สร้างตึกรักษาโรคหัวใจให้
แต่ไม่มีเงินซื้อเครื่องมือทางการแพทย์
ที่ใช้ในการรักษาซึ่งมีราคาสูงถึง 40 ล้านบาท
 ตระกูลอยู่วิทยาก็บริจาคให้ด้วยความเต็มใจ

“สมัยเด็กดิฉันค่อนข้างใกล้ชิดกับคุณพ่อ
 เห็นท่านทำงานตามเสด็จ
โครงการพัฒนาชนบท สร้างฝายชลประทาน อีสานเขียว
คุณพ่อจะให้ทุนกับทหารที่ทำงาน
ช่วงหน้าหนาวก็แจกผ้าห่มและเสื้อผ้าให้เด็กๆ
ในต่างจังหวัด มันเป็นภาพที่เราเห็นมาตลอด
ตอนเด็กๆ จะถามคุณพ่อมาตลอดว่า
คราวนี้ไปจังหวัดไหนมา เอาอะไรไปให้ชาวบ้าน
และเราก็ตั้งใจตั้งแต่นั้นเลยว่า
ถ้าเรียบจบจะทำแบบที่คุณพ่อทำ”
สุทธิรัตน์ เล่าถึงแรงบันดาลใจที่ทำให้เธอมุ่งมั่น
ทำโครงการต่างๆ เพื่อสังคม
จนเป็นที่มาของฉายา 'ไฮโซเอ็นจีโอ'
ที่บรรดาสื่อมวลชนตั้งให้กับเธอ
 แม้วันนี้ เจ้าสัวเฉลียวจะจากไป ...
แต่แนวคิดเหล่านี้ยังคงมีลูกๆที่ช่วยกันสานต่อ
ด้วยเชื่อมั่นในคำสอนของ 'ป๋าเฉลียว' ที่บอกลูกๆ
ให้ “ยึดคุณธรรม และแทนคุณแผ่นดิน”

ชีวิตสมถะของเศรษฐีแสนล้าน

ภาพที่เด่นชัดและคำจำกัดความของ
 'เจ้าสัวเฉลียว อยู่วิทยา' ก็คือ
มหาเศรษฐีที่ใช้ชีวิตอย่างสมถะ เรียบง่าย ไม่สนใจรถโก้
 ไม่เห็นความสำคัญของแบรนด์เนม และมีเสียงเล่าลือว่า
บ้านที่เจ้าสัวเฉลียวพำนักอยู่จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิตนั้น
เป็นเพียงบ้านสองชั้นครึ่งตึกครึ่งไม้
 หาใช่คฤหาสน์หรูดังเช่นเศรษฐีทั่วไป
ในสายตาของบรรดาลูกน้องในบริษัทกระทิงแดงนั้น
แม้เจ้าสัวเฉลียวจะเป็นคนที่ทำงานจริงจัง
 และลงมาดูรายละเอียดในทุกขั้นตอน
แต่ก็เป็นเจ้านายที่ไม่ถือตัว ไม่มีมาด ไม่แบ่งชนชั้นวรรณะ
ป๋าเหลียวจึงเป็นที่รักและเคารพของบรรดาพนักงานทุกคน

ในด้านของชีวิตครอบครัวนั้น เจ้าสัวเฉลียวมีภรรยา 2 คน
และลูกด้วยกันรวมทั้งหมด 11 คน
ภรรยาคนแรกคือ 'คุณนกเล็ก สดศรี'
มีบุตรด้วยกัน 5 คน
ได้แก่ สายพิณ เฉลิม พิณทิพย์ พึงใจ และศักดิ์ชาย
ส่วนภรรยาคนที่ 2 คือ 'ภาวนา หลั่งธารา'
มีบุตรด้วยกัน 6 คน ได้แก่
 สุทธิรัตน์ จิรวัฒน์ ปนัดดา สุปรียา สราวุฒิ และนุชรี
ซึ่งปัจจุบันนี้ลูกๆเกือบทุกคน
ก็ยังคงช่วยกันบริหารธุรกิจของครอบครัวอยู่
และต่างก็รับแนวคิดแบบสมถะเช่นนี้จากบิดามาเช่นกัน

ทั้งนี้ สุทธิรัตน์อยู่วิทยา หรือคุณตุ๊กตา พูดถึงคุณพ่อ
ในขณะให้สัมภาษณ์ครั้งหนึ่งว่า
 “ ทั้งเนื้อทั้งตัวของป๋าไม่มีเครื่องประดับอื่น
 นอกจากนาฬิกาเรือนเดียว ยี่ห้อราโด้
 เสื้อผ้าก็ไม่ยอมซื้อไม่พกเงิน
โดยชีวิตประจำวันจะเริ่มจากการขี่จักรยานตอนเช้า
ใส่เสื้อตัวเดียวนุ่งกางเกงแพร วาไรตี้ ใส่หมวกงอบ
แล้วขี่จักรยานวนไปรอบโรงงาน
เจออะไรไม่เรียบร้อยก็จะแวะเข้าไป ตรวจดู”

จนมีเรื่องตลกครั้งหนึ่งว่า
 มียามหน้าใหม่ที่ไม่รู้จัก เฉลียว อยู่วิทยา
เมื่อ เห็นลุงแก่ๆ ขี่จักรยานเข้ามาในโรงงาน
ซึ่งเป็นเขตคนนอกห้ามเข้า
เขาจึงตะโกนห้ามแต่มียามเก่าแก่สะกิดบอก
 เฉลียว อยู่วิทยา เจ้าของกระทิงแดง
จึงทำให้ยามใหม่ถึงกับหน้าถอดสี

นอกจากนี้ยังเคยมีมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง
 เสนอมอบปริญญากิตติมศักดิ์ให้แก่เขา
 แต่เจ้าสัวเฉลียวปฏิเสธ
โดยกล่าวว่าเป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรม
 เพราะเขาไม่ได้ร่ำเรียนมา
 การรับปริญญาจึงเป็นการเอาเปรียบคนที่ร่ำเรียนมา
ซึ่งปรัชญาในการทำงานที่เรียบง่าย แต่จริงจังเหล่านี้
เป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ของแบรนด์
ที่ถ่ายทอดมาจนถึงทายาทในรุ่นปัจจุบัน


ขอขอบคุณภาพและข่าวจาก ASTV ผู้จัดการ สุดสัปดาห์









Create Date : 25 มีนาคม 2555
Last Update : 1 ตุลาคม 2561 19:07:09 น.
Counter : 992 Pageviews.

1 comments
  
ขอบคุณที่นำมาให้อ่าน

และรู้สึกมีกำลังใจที่จะร่วมทำความดีตามกำลัง
โดย: เพรางาย วันที่: 25 มีนาคม 2555 เวลา:15:10:32 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

tangkay
Location :
ชลบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 55 คน [?]



(•‿•✿) พออายุเลยเลขหกฉันยกเครื่อง
มอบทุกเรื่องที่เคยรู้คู่ความเห็น
มอบประสบการณ์ผ่านพบจบประเด็น
ไม่ยากเย็นเรื่องความรู้ตามดูกัน
ฉันคนเก่าเล่าความหลังยังจำได้
แต่ด้วยวัยที่เหลือน้อยค่อยสร้างสรร
ยอมรับเรื่องเนตโซเชียลเรียนไม่ทัน
อย่าโกรธฉันแค่สูงวัยแต่ใจจริง
ด้วยอายุมากมายอยากได้เพื่อน
หลากหลายเกลื่อนทุกวัยทั้งชายหญิง
คุยทุกเรื่องแลกเปลี่ยนรู้คู่ความจริง
หลากหลายสิ่งฉันไม่รู้ดูจากเธอ ....
สิบปีผ่านไป.......
อายุเข้าเลขเจ็ดไม่เผ็ดจี๊ด
เคยเปรี้ยวปรี๊ดก็ต้องถอยคอยเติมหวาน
ด้วยเคยเกริ่นบอกเล่ามาเนิ่นนาน
ก็ยังพาลหมดแรงล้าพากายตรม
ด้วยชีวิตผ่านมาพาเป็นสุข
ยังสนุกกับการให้ใจสุขสม
อยากบอกเล่ากล่าวอ้างบางอารมณ์
แม้คนชมจะร้องว้า....ไม่ว่ากัน
ปัจจุบันเขียนน้อยค่อยเหินห่าง
ระบบร่างเปลี่ยนแปลงเหมือนแกล้งฉัน
เราคนแก่ตามแก้ไม่ค่อยทัน
ยักแย่ยันค่อยศึกษาหาข้อมูล
แต่ด้วยคิดถึงแฟนคลับกระชับมิตร
จึงต้องคิดตามต่อไปไม่ให้สูญ
ส่งความรู้คู่ธรรมะทวีคูณ
เพื่อเพิ่มพูนให้รู้กันฉันสุขใจ