Group Blog
All Blog
### สติ ###









“สติ”

ธรรมที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการปฏิบัติ

เพื่อการดับทุกข์ เพื่อความหลุดพ้น

จากกองทุกข์ทั้งหลาย

 เพื่อการอยู่ด้วยความสงบสุข

 เพื่อการทำลายกิเลสตัณหาทั้งหลาย

 ไม่มีธรรมอันใดที่สำคัญเท่ากับ “สติ”

พระพุทธเจ้าทรงเปรียบเทียบสติ

เป็นเหมือนกับรอยเท้าช้าง

รอยเท้าช้างจะใหญ่กว่า

รอยเท้าของสัตว์อื่นๆ ทั้งหมด

 สามารถครอบรอยเท้าของสัตว์ทั้งหลายได้ฉันใด

 “สติ”ก็เป็นธรรมที่ยิ่งใหญ่กว่าธรรมทั้งหลาย

 เพราะว่าเป็นธรรมที่จะทำให้

ธรรมอย่างอื่นเกิดขึ้นมาได้

 ถ้าไม่มีสติแล้วธรรมอย่างอื่น

 เช่น ทานก็ดี ศีลก็ดี สมาธิก็ดี ปัญญาก็ดี

วิมุตติการหลุดพ้น หรือนิโรธความดับทุกข์

ก็จะไม่ปรากฏขึ้นมาเพราะไม่มีสติ

ซึ่งเป็นผู้นำให้ธรรมเหล่านี้เกิดขึ้นมา

 พระพุทธเจ้าจึงได้ทรงแสดงไว้ว่า

สติเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง จำเป็นทุกกรณี

ต้องมีสติทุกกรณีที่มีการเคลื่อนไหว

ทาง กาย วาจา ใจ ต้องมีสติเป็นผู้คอยดูแล

การเคลื่อนไหวของกาย วาจา ใจ

ถ้าไม่มีสติแล้วการเคลื่อนไหวทางกาย วาจา ใจ

 จะทำให้เกิดโทษกับกาย วาจา ใจได้

 แต่ถ้ามีสติคอยดูแลการเคลื่อนไหวแล้ว

การเคลื่อนไหวย่อมเป็นไปได้ด้วยดี

จะสังเกตได้เวลาที่ไม่มีสติ

เช่นขณะที่เสพสุรายาเมาเข้าไป

จะไม่มีสติควบคุมกาย วาจา ใจ

การเคลื่อนไหวหรือการแสดงออก

 ทางกาย ทางวาจา จะไม่น่าดู ไม่น่าฟัง

 คนที่เมาสุรามักจะสร้างโทษ

 ให้กับผู้อื่นและตนเอง

 ถ้าไปขับรถยนต์ก็ไม่สามารถควบคุมรถยนต์

ที่ตนเองขับได้ ก็จะประสบกับอุบัติเหตุ

ทำให้เกิดความเสียหาย

ทั้งกับผู้อื่นและกับตนเอง

 ต่างกับคนที่ไม่เมาสุรา จะมีสติ

การขับรถย่อมเป็นไปได้ด้วย ความปลอดภัย

เพราะสามารถควบคุมการกระทำ

 ทางกาย ทางวาจา และทางใจได้

ต่างกับคนที่เสพสุรายาเมา เข้าไปแล้ว

จะไม่สามารถควบคุมได้

 เพราะว่าสติไม่มีเสียแล้ว

 หรือมีก็น้อยมาก ไม่พอกับการที่จะควบคุม

การเคลื่อนไหวของกาย วาจา ใจได้

นี่เป็นตัวอย่างของการมีสติและการไม่มีสติ

 เป็นสภาพทั่วๆไป ในชีวิตของคนเรา

แต่สติที่จะพูดถึงนี้

หมายถึงสติในการปฏิบัติธรรม

 จะต้องมีมากกว่าสติที่มีอยู่ตามปกติ

สติที่มีอยู่ตามปกติ ยังไม่เพียงพอ

กับการปฏิบัติธรรม

 เพราะต้องมีสติอย่างต่อเนื่อง มีอยู่ตลอดเวลา

 ตั้งแต่ตื่นขึ้นมาจนกระทั่ง หลับไป

 คำว่ามีสติเป็นอย่างไร ก็ให้มีการระลึกรู้

อยู่กับการเคลื่อนไหวของกาย วาจา ใจนั่นเอง

 เช่นขณะนี้ร่างกายของเรา

กำลังเคลื่อนไหวอยู่อย่างไร

ให้มีสติรู้อยู่กับการเคลื่อนไหวนั้นๆ

 เวลายืนก็ให้รู้ว่ากำลังยืนอยู่

เวลานั่งก็ให้รู้ว่ากำลังนั่งอยู่

เวลาเดินก็ให้รู้ว่ากำลังเดินอยู่

เวลานอนก็ให้รู้ว่า กำลังนอนอยู่

ไม่ใช่เดินไปแล้วใจก็ลอยไป

คิดไปถึงเรื่องโน้นเรื่องนี้

ไม่ได้อยู่กับการเดินเหินของร่างกาย

 เวลาร่างกายเดินไปสะดุดอะไร

หรือเดินไปเหยียบอะไรเข้าก็ไม่รู้

 หลบหลีกไม่ได้เพราะไม่มีสติ

การระลึกรู้คอยดูแลอยู่ เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว

 ก็จะทำให้เกิดโทษขึ้นมาได้

แต่ถ้ามีสติอยู่กับการเคลื่อนไหวของกาย

อยู่เรื่อยๆ อยู่ตลอดเวลา จะเป็นวิธีฝึกหัด

ให้มีสติอยู่อย่างต่อเนื่อง ตลอดเวลาที่ตื่น

 การมีสติมีคุณอย่างยิ่ง เพราะถ้ามีสติแล้ว

จะรู้ถึงการเคลื่อนไหวของกาย วาจา ใจ

 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเคลื่อนไหวของใจ

 เพราะใจเป็นต้นเหตุของการเคลื่อนไหว

ของกายและวาจา ถ้ามีสติจะรู้ว่า

ขณะนี้กำลังคิดอะไรอยู่

คิดดีหรือคิดไม่ดีอย่างไร ก็จะรู้

ถ้ารู้ว่าเป็นการคิดที่ไม่ดี ก็จะสามารถระงับได้

 เช่นสมมุติว่า คิดจะไปดื่มสุรา

ถ้ามีสติอยู่ ก็จะรู้ว่ากำลังจะไปทำสิ่งไม่ดี

 เมื่อทำไปแล้วจะเกิดโทษทั้งกับตัวเราและผู้อื่น

 ก็ระงับความคิดนั้นเสีย

เมื่อระงับความคิดนั้นได้

 การกระทำที่จะตามมาย่อมไม่ปรากฏขึ้นมา

 เป็นเพราะว่ามีสติคอยควบคุมดูแลใจอยู่

ใจคิดไปทางไหนต้องรู้ทัน ถ้ารู้ทันก็ระงับได้

 นี่เป็นการทำงานของสติ

นอกจากจะดูแลใจแล้ว

สติยังเป็นตัวที่จะควบคุม

ให้ใจมีความสงบสุขได้ด้วย

 คือถ้ากำหนดให้ใจระลึกรู้อยู่

กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง

ที่เป็นอารมณ์แห่งความสงบ เช่นอานาปานสติ

 การระลึกรู้ลมหายใจเข้าออก

จะทำในกรณีที่ไม่มีงานการอย่างอื่นทำ

 เวลาไม่มีความจำเป็นจะต้องไปทำอะไร

 มีเวลาว่าง ก็หาที่สงบ สักแห่งหนึ่ง

 ถ้าไปตามป่าตามเขา หรือตามวัดไม่ได้

 อยู่ที่บ้านก็หาห้องที่สงบ ไม่มีใครมารบกวน

 นั่งขัดสมาธิ ตั้งตัวให้ตรงแต่ไม่ต้องเกร็ง

 แล้วก็หลับตา กำหนดดูลมหายใจเข้าออก

 หายใจเข้าก็รู้ หายใจออกก็รู้

อย่างนี้เรียกว่าอานาปานสติ

รู้การเข้าออกของลมหายใจ

 และต้องรู้อย่างต่อเนื่อง ไม่ให้ใจไปคิดอย่างอื่น

 ขณะที่หายใจเข้าก็รู้ว่าหายใจเข้า

ใจก็อย่าไปคิดถึงเรื่องอื่น เรื่องที่อยู่ใกล้หรือไกล

 เรื่องที่เกิดขึ้นแล้วในอดีตก็ดี

หรือเรื่องที่ยังไม่เกิดขึ้นมาในอนาคตก็ดี

 อย่าให้ใจลอยไปหาสิ่งเหล่านั้น

ถ้าลอยไปแล้วก็แสดงว่าเผลอสติ

ถ้าเผลอสติก็จะไม่สามารถทำใจให้สงบได้

ใจจะสงบได้ ใจจะต้องเป็นหนึ่ง

ใจจะต้องเป็นปัจจุบัน ใจจะต้องอยู่ที่นี่เดี๋ยวนี้

 ไม่ได้อยู่กับเรื่องราวอะไรต่างๆ

ให้อยู่กับลมเท่านั้น

ถ้าสามารถมีสติรู้อยู่กับลมหายใจ

 ได้อย่างต่อเนื่อง

 ไม่ช้าก็เร็วจิตก็จะรวมลงเข้าสู่ความสงบ

 เรียกว่าเป็นสมาธิ

ความสงบของใจเป็นได้ ๓ ลักษณะด้วยกัน

 คือ ๑. รวมลงเข้าสู่ความสงบชั่วขณะหนึ่ง

แล้วก็ถอนออกมา ในขณะที่รวมลงนั้น

ถึงแม้ว่าเป็นเพียงชั่วขณะเดียว

 แต่เป็นความสงบที่มีความสุข

 เป็นความแปลกประหลาดมหัศจรรย์ใจ

ที่ไม่เคยพบมาก่อน เพราะเป็นความรู้สึกที่เบา

 สบาย โล่งอกโล่งใจ เรื่องราวต่างๆนานา

จะไม่มีอยู่ในใจในขณะนั้น

 ในขณะนั้นใจเป็นหนึ่ง เรียกว่าเอกัคคตา

 สักแต่ว่ารู้อยู่อย่างเดียว รู้อยู่กับรู้เท่านั้นเอง

จะอยู่ได้นานหรือไม่นานแค่ไหน

ก็สุดแท้แต่เหตุที่จะทำให้ใจอยู่ในสภาพนั้น

ถ้าอยู่ได้ชั่วขณะหนึ่งแล้วถอนออกมา

 เรียกว่า ขณิกสมาธิ

 ๒. ถ้าอยู่ได้นานเป็นเวลาหลายชั่วโมง

 เรียกว่า อัปปนาสมาธิ ตั้งอยู่ได้แนบแน่น

และอยู่ได้นาน สมาธิทั้ง ๒ แบบนี้

เป็นสมาธิที่จะให้ความสดชื่นเบิกบาน

อิ่มหนำสำราญใจ จะให้พลังกับใจ

เมื่อถอนออกมาจากสมาธินั้นแล้ว

ใจยังจะมีความรู้สึกเย็นสบาย

จะเป็นใจที่ไม่ลอยไปตามอารมณ์ต่างๆได้ง่าย

 เวลามีอารมณ์อะไรมากระทบ

ก็จะไม่ไหลไปตามอารมณ์นั้นๆ

จะเป็นเหมือนกับหิน มีความหนักแน่น

 อารมณ์อะไรเข้ามา อคติอะไรเข้ามา

เช่น รัก ชัง หลง กลัว

ก็จะไม่สามารถมาเขย่าใจได้

 ต่างกับใจที่ไม่มีสมาธิ ไม่มีความตั้งมั่น

 เวลามีอารมณ์อะไรมากระทบ

 ก็จะหวั่นไหวตามไปได้ง่าย

๓. ถ้ารวมลงเข้าสู่ความสงบแล้ว

 ไม่ตั้งอยู่ในความสงบนั้น แต่กลับถอยออกมา

 เล็กน้อยแล้วออกไปรับรู้เรื่องราวต่างๆ

ที่เกี่ยวกับตนเองก็ดี หรือเกี่ยวกับบุคคลอื่นๆก็ดี

 ในกาลสถานที่ต่างๆ สมาธิแบบนี้

ทางสายพระป่า พระปฏิบัติ เรียกว่า อุปจารสมาธิ

เป็นสมาธิที่ไม่สนับสนุน

การเจริญ วิปัสสนาปัญญา

 เพราะจะไม่ให้ความสดชื่นเบิกบาน

 อิ่มหนำสำราญใจ ให้พลังกับใจ

เมื่อถอนออกมา จากสมาธินั้นแล้ว

 แม้จะอยู่ในสมาธินั้นนานเป็นชั่วโมงก็ตาม

 ใจจะลอยไปตามอารมณ์ต่างๆได้ง่ายเหมือนเดิม

 เหมือนกับไม่เคยนั่งสมาธิมาก่อน

ผู้ปฎิบัติเพื่อปัญญา เพื่อวิมุตติ

การหลุดพ้นจากทุกข์ จึงต้องระมัดระวัง

กับสมาธิประเภทนี้ ถ้าจิตจะออกไปเที่ยว

ก็ควรดึงกลับเข้ามาสู่อารมณ์ของความสงบ

 เช่น อานาปานสติเป็นต้น

เพื่อให้จิตเข้าสู่ความสงบของ ขณิกสมาธิ

 หรือ อัปปนาสมาธิ เพื่อเป็นบาทฐาน

ของการเจริญวิปัสสนาปัญญาต่อไป

ความจำเป็นของผู้ปฏิบัติ

เพื่อหลุดพ้นจากอารมณ์ทั้งหลาย

 จำต้องมีสมาธิเป็นเบื้องต้นก่อน

โดยมีสติเป็นผู้นำใจ ให้เข้าสู่สมาธิ

 ใจที่เป็นสมาธิเปรียบเหมือนกับเรือที่ได้ทอดสมอไว้

 ถึงแม้จะมีกระแสน้ำไหลมา

 ก็ไม่สามารถพัดเรือให้ลอยไปตามกระแสน้ำได้

 สมอกับเชือกที่ผูกติดกับเรือ

ก็เปรียบเหมือนอานาปานสติ

เชือกที่ผูกสมอไว้กับเรือเปรียบเหมือนสติ

ที่ผูกใจไว้กับอารมณ์แห่งความสงบ

คือลมหายใจเข้าออก

ถ้าทั้ง ๓ สิ่งนี้มีการประสานกันอย่างนี้แล้ว

 ก็จะเกิดประโยชน์

 ถ้าใจมีสติอยู่กับลมหายใจเข้าออก

และไม่ลอยไปสู่อารมณ์อื่นๆ

 ไม่ช้าก็เร็วใจก็จะสงบตัวลง

 ในขณะที่ใจสงบตัวลง ไม่มีความจำเป็น

ที่จะต้อง ไปกำหนดดูลมหายใจเข้าออกอีกต่อไป

 เพราะลมหายใจเข้าออก

มีหน้าที่นำใจให้เข้าสู่ความสงบ

 เมื่อใจเข้าสู่ความสงบแล้ว

การกำหนดดูลมหายใจเข้าออกในขณะนั้น

ก็หมดความจำเป็นไป เพราะใจจะไม่ลอยไปไหน

 ในขณะนั้นใจก็จะปล่อยลมไปโดยปริยาย

จะสงบนิ่งอยู่กับความสุข

 ความสงัดจากอารมณ์ทั้งหลาย

 สักแต่ว่ารู้ เป็นอุเบกขา เป็นกลาง ไม่หิว

ไม่อยากกับอะไรทั้งสิ้น จะอยู่ได้นานหรือไม่นาน

 ก็ขึ้นอยู่กับความสามารถในการปฏิบัติ

 ในเบื้องต้นก็คงจะอยู่ได้ไม่นาน

 แต่เมื่อได้ปฏิบัติมากขึ้น

คือได้เจริญสติอยู่อย่างต่อเนื่อง อยู่ตลอดเวลา

 ทั้งวัน ทั้งคืน เดิน ยืน นั่ง นอน

ไม่ให้ใจลอยไปสู่เรื่องราวต่างๆ

ไหลไปตามอารมณ์ต่างๆ

โอกาสที่ใจจะรวมลงและอยู่ได้นาน

ก็เป็นไปได้มาก

ถ้าใจไม่มีสติคอยควบคุม คอยรั้ง คอยดึงไว้

ปล่อยให้ใจลอยไปกับอารมณ์ต่างๆ

 โอกาสที่จะทำให้จิตรวมลงเป็นสมาธิ

 รวมลงเป็นหนึ่งเป็นเอกัคคตา

ก็คงจะเป็นไปได้ยาก ถ้าเป็นไปได้

ก็อาจจะอยู่ได้ไม่นาน

 แต่ถ้ามีการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง

 ประคับประคองรักษาใจด้วยสติ

 ไม่ให้ไปคิดเรื่องราวต่างๆเรื่อยเปื่อย

จิตจะรวมลงเป็นสมาธิได้ไม่ยากเลย

 แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า จะไม่ให้คิดอะไรเลย

 ถ้ามีความจำเป็น มีธุระ

มีเรื่องราวที่จะต้องคิด ก็คิดได้

แต่ให้มีสติกำกับอยู่กับความคิดนั้นๆ

คิดให้เป็นเหตุเป็นผล

เมื่อคิดเสร็จเรียบร้อยแล้ว

 ก็ปล่อยวางความคิดนั้นๆเสีย

 อย่าคิดต่อไปอย่างเรื่อยเปื่อย

 ไม่มีจุดหมายปลายทาง

สุดแท้แต่อารมณ์อะไรจะมากระทบ

ก็คิดไปตาม อย่างนี้เป็นการปล่อยใจแบบเรือ

 ที่ไม่มีสมอคอยรั้งไว้ คอยดึงไว้

ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว

เรือก็จะต้องไหลตามกระแสน้ำไปเรื่อย

ฉันใดใจก็เช่นกัน ถ้าไม่มีสติคอยรั้ง

คอยดึงไว้ คอยผูกไว้

 ให้อยู่กับลมหายใจเข้าออก

 หรือให้อยู่กับการเคลื่อนไหวของร่างกาย

 ใจก็จะลอยไปเรื่อยๆ ไปกับอารมณ์นั้น

อารมณ์นี้ แล้วก็เกิดเวทนา อารมณ์

 ความรู้สึกต่างๆตามขึ้นมา

 หาความสงบไม่ได้ หาความสุขไม่ได้

นอกจากหาความสงบ ความสุขไม่ได้แล้ว

 ยังทำให้เกิดมีความหิว มีความกระหาย

 ฉุดลากให้ใจต้องออกไป

แสวงหาความสุขจากภายนอก

ไปหา รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ชนิดต่างๆ

 หามาได้เท่าไร สัมผัสมาเท่าไร

 ก็ไม่เกิดความอิ่ม ความพอ

 เพราะความอิ่ม ความพอไม่ได้เกิดจาก

การได้สัมผัสกามคุณทั้งหลายเหล่านี้

มากน้อยแค่ไหน ได้สัมผัสมากก็ไม่พอ

ได้สัมผัสน้อยก็ไม่พอ

 เพราะธรรมชาติของกามคุณ ๕

ไม่สามารถให้ความอิ่มความพอกับใจได้

สิ่งที่จะให้ความอิ่มความพอกับใจได้ก็คือ

ความนิ่ง ความสงบของใจเท่านั้น

จึงต้องมีการเหนี่ยวรั้งใจไว้ ผูกใจไว้

 ให้อยู่กับอารมณ์แห่งความสงบ

 เช่นลมหายใจเข้าออก หรืออย่างอื่นก็ได้

เช่นบางท่าน บางสำนัก

ก็ใช้คำบริกรรมพุทโธๆๆ

อย่างนี้ก็เป็นอารมณ์ของความสงบเหมือนกัน

 หรือธัมโมๆๆ หรือสังโฆๆๆๆ ก็ได้

สุดแท้แต่ความถนัด แต่ข้อสำคัญในขณะที่ปฏิบัติ

 จะต้องมีสติระลึกรู้อยู่กับอารมณ์เหล่านั้น

 อย่างต่อเนื่อง ไม่ให้ขาด ไม่ให้แวบไปที่อื่น

ถ้าแวบไปที่อื่นก็เป็นการเผลอสติแล้ว

 ก็ต้องกลับมาตั้งต้นใหม่

บางทีแวบไปไม่ใช่เดี๋ยวเดียว

แต่แวบไปเป็นเวลายาวนานเลย

 บางท่านขณะที่นั่งทำสมาธิ

กำหนดดูลมหายใจเข้าออก

 หรือบริกรรมคำว่าพุทโธๆๆ

 แต่ใจกลับไปคิดเรื่องโน้นเรื่องนี้

 แบบไม่รู้สึกตัวเลย ลืมลมหายใจเข้าออก

ลืมคำบริกรรมพุทโธๆๆไป นั่งไปนานสักเท่าไร

ก็ไม่มีอาการของความสงบ

ปรากฏขึ้นมาให้เห็นเลย

นั่นก็เป็นเพราะว่าใจไม่ได้อยู่เป็นหนึ่ง

ใจไม่นิ่งนั่นเอง ใจยังลอยไปลอยมา

 เหมือนกับเรือที่ไหลไปตามกระแสน้ำ

 ถ้าอยากให้ใจนิ่งใจสงบ จำต้องมีสติระลึกรู้

อยู่กับอารมณ์ของความสงบ

ที่ใช้เป็นเครื่องผูกใจไว้

จะเป็นลมหายใจเข้าออกก็ดี หรืออย่างอื่นก็ดี

 ก็ขอให้รู้อยู่กับอารมณ์นั้นๆ

และพยายามทำอย่างต่อเนื่อง

 ด้วยความอุตสาหวิริยะ ด้วยความพากเพียร

 ด้วยความไม่ย่อท้อ ถึงแม้ว่าในเบื้องต้น

 ทำไปแล้วจะไม่ค่อยได้ผลสักเท่าไรก็ตาม

ก็ต้องยอมรับว่ายังทำไม่ถูก คือยังเผลอสติอยู่

ยังทำน้อยไปหน่อย ยังทำไม่มากพอ

ก็ขอให้มีความตั้งใจ มีความพยายาม

 พยายามทำไปเรื่อยๆ

แล้วความสงบก็จะค่อยปรากฎ

 ขึ้นมาตามาลำดับแห่งความเพียรของเรา

การเจริญสติสามารถทำได้ตลอดเวลา

 ในทุกสถานที่ ไม่จำเป็นจะต้องมาวัด

 อยู่ที่วัด ๓ วัน ๗ วัน หรือไปสถานที่มีการอบรม

 แล้วจึงจะสามารถเจริญสติได้

เพราะสติเป็นของที่มีอยู่กับตัวเร

สิ่งที่จะกำหนดให้สติระลึกรู้อยู่ก็อยู่กับตัวเรา

 คือกาย วาจา ใจ ของเรานั่นเอง

 สติเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ตลอดเวลา

ทุกสถานที่ ไม่ว่าแห่งหนตำบลใด

 ไปที่ไหนก็ให้ใจอยู่กับตัวเท่านั้นแหละ

ให้อยู่ ที่นี่ เดี๋ยวนี้ คือ ปัจจุบันธรรม นั่นเอง

เป็นหลักของการปฏิบัติที่สำคัญ

ถ้าใจไม่อยู่ในปัจจุบัน ลอยไป ลอยมา

 จะทำให้การอบรมใจให้เกิดปัญญาเป็นไปได้ยาก

จะอบรมใจให้สงบก็ยาก

เพราะใจยังดิ้นไปดิ้นมา

ยังแกว่งไปแกว่งมานั่นเอง

จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง

ที่จะต้องเจริญสติอยู่เสมอ

ในขณะที่ปฏิบัติภารกิจต่างๆ

ทำการงาน หากินเลี้ยงชีพ

จะต้องมีการเคลื่อนไหว

 เราก็สามารถเจริญสติควบคู่ไปได้

 กำลังทำอะไรอยู่ก็ให้มีสติรู้อยู่กับการกระทำนั้นๆ

เช่นกำลังเดินทางไปทำงาน

 ก็ให้รู้อยู่ว่ากำลังเดินทางไปทำงาน

 นั่งอยู่ในรถก็ให้มีสติอยู่กับการนั่งอยู่ในรถ

 อย่าปล่อยใจไปคิดเรื่องราว

ให้วุ่นวายไปเปล่าประโยชน์

เหตุการณ์ต่างๆที่ยังไม่เกิดขึ้นมา

 คิดไปก็เท่านั้น ยกเว้นว่าจำเป็นจะต้องคิด

เพื่อวางแผน เช่นว่าวันนี้จะต้องไปทำอะไรบ้าง

 จะต้องไปเจอใครบ้าง คิดไว้เพื่อจะได้รู้

ว่าจะต้องทำอะไร เมื่อรู้แล้วก็หยุดคิดเสีย

 แล้วก็หันกลับมาอยู่ที่กาย วาจา ใจ

ถ้ากายนั่งอยู่เฉยๆในรถ ไม่รู้ว่าจะทำอะไรกับใจ

 ก็ให้กำหนดดูลมหายใจเข้าออกก็ได้

หรือบริกรรมคำว่าพุทโธๆๆไปก็ได้

 ทำอย่างนี้จะช่วยทำให้ใจเป็นหนึ่ง

ใจสงบ ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ตลอดวัน

 เราจึงมีเวลาที่จะปฏิบัติได้ตลอดเวลา

ไม่ต้องรอให้มีวันหยุด แล้วถึงจะเข้าวัด

 แล้วถึงค่อยมาปฏิบัติกัน ถ้ารออย่างนั้นแล้ว

 เวลาก็จะไม่พอเพียง เวลาที่มีอยู่มากๆ

ที่ถูกปล่อยทิ้งไปแบบเปล่าประโยชน์ก็น่าเสียดาย

 สามารถใช้เวลาในขณะที่ปฏิบัติกิจ

ในชีวิตประจำวัน มาใช้ควบคู่

กับการปฏิบัติธรรมได้

 คือการเจริญสติอย่างต่อเนื่องนั่นเอง

เวลาเดินไปไหน ก็คิดว่ากำลังเดินจงกรมอยู่

 กำหนดดูการเคลื่อนไหวของกาย

เช่นกำหนดดูที่เท้าก็ได้ ว่าก้าวเท้าซ้าย

ก้าวเท้าขวา ซ้ายขวาๆๆไป แทนที่จะเดินไป

 แล้วก็คิดถึงเรื่องโน้นเรื่องนี้

ซึ่งไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย

 เวลาสะดุดอะไร ก็ไม่รู้สึกตัว แสดงว่าไม่มีสติ

 ใจไม่ได้อยู่กับการเคลื่อนไหวของกายนั่นเอง

 แต่ลอยไปกับเรื่องราวต่างๆ

แต่ถ้าใจอยู่กับกายไปเรื่อยๆ ใจจะตั้งมั่น

 ใจจะไม่เบาเหมือนนุ่น

ใจจะเริ่มมีความหนักแน่น

เวลามีอารมณ์อะไร มากระทบ

 ก็ไม่สามารถที่จะผลักไส

ให้ใจเอนอ่อนตามไปได้ง่าย

 นี่คือความสำคัญของการมีสติ

 เพราะถ้ามีสติแล้วสมาธิก็จะปรากฏขึ้นมาได้

ปัญญาก็ต้องอาศัยการมีสติเช่นกัน

เพราะการที่จะอบรมใจ ให้เข้าถึงความเป็นจริง

ของสภาวธรรมทั้งหลาย ก็ต้องมีการพร่ำสอน

 อบรมอยู่อย่างต่อเนื่อง ถ้าใจไม่อยู่กับที่แล้ว

 เวลาจะพร่ำสอนก็จะพร่ำสอนไม่ค่อยได้

 เพราะอาจจะพร่ำสอนได้เดี๋ยวเดียว

ใจก็ไปคิดเรื่องโน้นคิดเรื่องนี้แล้ว

 เมื่อคิดเรื่องโน้นเรื่องนี้

ก็เหมือนกับเวลาสอนเด็ก

หรือสอนใครสักคนหนึ่ง เราพูดให้เขาฟังได้

คำสองคำเขาก็เดินหนีไปทำเรื่องโน้น

ทำเรื่องนี้ หรือหันไปคุยกับคนนั้น คุยกับคนนี้

 เราพูดไปเท่าไร เขาก็จะไม่ได้ยิน

เช่นเดียวกับใจของเรา

 เวลาจะพร่ำสอนใจให้เกิดปัญญาขึ้นมา

ให้เห็นถึงสภาพของความเป็น

 อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ของสภาวธรรมทั้งหลาย

 ถ้าใจไม่ได้อยู่กับการฟัง การอบรม

 กลับไปคิดถึงเรื่องโน้นเรื่องนี้

 ความรู้ก็จะไม่เข้าไปสู่ใจ

 ใจก็จะไม่ได้รับประโยชน์ ใจก็ยังจะไม่รู้

แต่ถ้าใจเป็นสมาธิ ตั้งมั่นดีแล้ว

 จะสามารถอบรมใจ

 สอนใจให้พิจารณาเรื่องราวต่างๆ

 ที่มาเกี่ยวข้องกับใจ ไม่ว่าจะเป็น

รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็ดี

รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็ดี

 ลาภ ยศ สรรเสริญ กามสุข ทั้งหลายก็ดี

ให้เห็นถึงสภาพของความ

 เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์

ปราศจากตัวตน ให้ดูอยู่เรื่อยๆ

ถ้ามีสติอยู่ ถ้าใจตั้งมั่น ไม่ลอยไปลอยมา

 การจะสอนใจเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ ก็จะเป็นไปได้

 ใจก็จะซึมซับรับเรื่องราวเหล่านี้ไปได้มาก

 เปรียบเหมือนกับเวลาที่เทน้ำใส่แก้ว

 ให้กับใครสักคนหนึ่ง ถ้ามือของเขาถือแก้วไม่นิ่ง

 ส่ายไปส่ายมา เวลาเทน้ำใส่แก้วก็จะเข้าบ้าง

 ไม่เข้าบ้าง เพราะว่ามือของเขาไม่นิ่งนั่นเอง

ฉันใดใจก็เช่นกัน ถ้าใจไม่นิ่งเป็นสมาธิแล้ว

 เวลาจะรับการอบรมทางด้านธรรมะ

เกี่ยวกับเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

ของสภาวธรรมทั้งหลาย

 ไม่ว่าจะเป็น รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

ไม่ว่าจะเป็น ลาภ ยศ สรรเสริญ กามสุข

ไม่ว่าจะเป็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

 ก็จะเป็นไปได้ยาก

 เพราะใจจะไม่ค่อยมีพิจารณา

 สิ่งเหล่านี้นั่นเอง

ส่วนใหญ่จะหมดไปกับเรื่องราวต่างๆที่ไม่มีสาระ

 เรื่องราวที่ไม่เกิดประโยชน์กับใจ

ในทางดับทุกข์ มักจะถูกกิเลสตัณหาลากไป

ให้ไปแสวงหาสิ่งต่างๆ ภายนอก

หาความสุขกับกามคุณ ๕

 หาลาภ หายศ หาสรรเสริญ

ใจจะถูกสิ่งเหล่านี้ดึงไป ถ้าไม่มีสมาธิ ไม่มีสติ

ถ้ามีสติก็จะคอยรั้งใจให้อยู่กับกาย วาจา ใจ

ไม่ให้ลอยไปหาเรื่องราวต่างๆภายนอก

ถ้ามีสติใจก็จะนิ่ง จะหยุด จะไม่ลอยไปลอยมา

เมื่อใจนิ่งเป็นสมาธิแล้ว ก็เป็นใจที่พร้อม

ที่จะรับการอบรมทางด้านปัญญา

 คือศึกษาให้เห็นถึงสภาวะ

ของความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์

ปราศจากตัวตน ของสภาวธรรมทั้งหลายนั่นเอง

ถ้าใจได้รับการพร่ำสอนอย่างนี้ไปเรื่อยๆแล้ว

 ใจจะเริ่มเห็น จะเริ่มเข้าใจ

จะเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่าง

 ที่กิเลสตัณหาหลอกให้ใจไปแสวงหานั้น

เป็นแต่กองทุกข์ทั้งนั้น

เป็นสิ่งตรงกันข้ามกับความปรารถนาของใจ

 ใจทุกดวงปรารถนาความสุขกัน

แต่หาความสุขกันไม่ค่อยเจอ

 ก็เพราะว่าไม่เห็นทุกข์ในสภาวธรรมนี่เอง

ถ้ามีธรรมะคอยอบรม

คอยพร่ำสอนอยู่อย่างต่อเนื่องแล้ว

ใจจะค่อยๆเห็นถึงความเป็นของไม่เที่ยง

 เป็นทุกข์ ปราศจากตัวตนของสิ่งทั้งหลาย

ที่ใจเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย

เมื่อเห็นเป็นอย่างนั้นแล้วใจก็จะเริ่มปล่อยวาง

 แล้วก็ปล่อยวางไปเรื่อยๆ

จนกระทั่งในที่สุดก็ปล่อยวางหมด

ปล่อยวางได้หมด ใจก็หลุดพ้นเต็มที่

จากความทุกข์ ที่เกิดจากกิเลส

 ตัณหา ผู้สร้างขึ้นมา

 เข้าสู่ความสงบ เข้าสู่ความอิ่ม เข้าสู่ความพอ

ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องอาศัยสติเป็นผู้นำ

 เมื่อมีสติแล้ว สติก็จะนำใจ

เข้าสู่สมาธิ เข้าสู่ปัญญา

 เมื่อมีสมาธิ มีปัญญา

 ใจก็จะมีเครื่องมือที่จะไปทำลายกิเลสตัณหา

 ที่เป็นต้นเหตุที่สร้างความทุกข์ให้กับใจ

เมื่อสมาธิและปัญญา

ได้ทำลายกิเลสหมดไปแล้ว

 ไม่ต้องไปถามหาว่าความสุขอยู่ที่ไหน

ความสุขมีพร้อมบริบูรณ์อยู่ในใจแล้ว

 ความสุขที่เกิดจากความสงบนั่นแหละ

 คือสุขที่ประเสริฐ

ไม่มีความสุขใดในโลกนี้จะประเสริฐเท่า

 จะเลอเลิศเท่ากับความสุข

ที่เกิดจากความสงบของใจ

 และจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ

ใจได้สร้างธรรมะขึ้นมา

ก็คือสติ สมาธิ และปัญญา

 ที่จะเอามาใช้เป็นเครื่องมือทำลาย

กิเลส โลภ โกรธ หลง ตัณหา

 คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา

ให้หมดสิ้นไปจากใจ

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

........................

กัณฑ์ที่ ๑๐๑ วันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕

 (กำลังใจ ๖)

“สติ”






ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 07 ธันวาคม 2559
Last Update : 7 ธันวาคม 2559 11:46:22 น.
Counter : 701 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

tangkay
Location :
ชลบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 55 คน [?]



(•‿•✿) พออายุเลยเลขหกฉันยกเครื่อง
มอบทุกเรื่องที่เคยรู้คู่ความเห็น
มอบประสบการณ์ผ่านพบจบประเด็น
ไม่ยากเย็นเรื่องความรู้ตามดูกัน
ฉันคนเก่าเล่าความหลังยังจำได้
แต่ด้วยวัยที่เหลือน้อยค่อยสร้างสรร
ยอมรับเรื่องเนตโซเชียลเรียนไม่ทัน
อย่าโกรธฉันแค่สูงวัยแต่ใจจริง
ด้วยอายุมากมายอยากได้เพื่อน
หลากหลายเกลื่อนทุกวัยทั้งชายหญิง
คุยทุกเรื่องแลกเปลี่ยนรู้คู่ความจริง
หลากหลายสิ่งฉันไม่รู้ดูจากเธอ ....
สิบปีผ่านไป.......
อายุเข้าเลขเจ็ดไม่เผ็ดจี๊ด
เคยเปรี้ยวปรี๊ดก็ต้องถอยคอยเติมหวาน
ด้วยเคยเกริ่นบอกเล่ามาเนิ่นนาน
ก็ยังพาลหมดแรงล้าพากายตรม
ด้วยชีวิตผ่านมาพาเป็นสุข
ยังสนุกกับการให้ใจสุขสม
อยากบอกเล่ากล่าวอ้างบางอารมณ์
แม้คนชมจะร้องว้า....ไม่ว่ากัน
ปัจจุบันเขียนน้อยค่อยเหินห่าง
ระบบร่างเปลี่ยนแปลงเหมือนแกล้งฉัน
เราคนแก่ตามแก้ไม่ค่อยทัน
ยักแย่ยันค่อยศึกษาหาข้อมูล
แต่ด้วยคิดถึงแฟนคลับกระชับมิตร
จึงต้องคิดตามต่อไปไม่ให้สูญ
ส่งความรู้คู่ธรรมะทวีคูณ
เพื่อเพิ่มพูนให้รู้กันฉันสุขใจ