Group Blog
All Blog
<<< " การละสังโยชน์ ๓ สำหรับโสดาบัน" >>>









“การละสังโยชน์ ๓ สำหรับโสดาบัน”

ถาม : หลวงพ่อช่วยอธิบายสังโยชน์ ๓

ที่เป็นคุณสมบัติของพระอริยะขั้นโสดาบัน

สำหรับฆราวาสด้วยครับ

พระอาจารย์ : คือ สังโยชน์ข้อที่ ๑ ก็คือ

สักกายทิฏฐิ คือความเห็นผิด

 เห็นว่าร่างกายเป็นตัวเราของเรา

 ทุกคนเห็นอย่างนั้น ใช่ไหม

 แต่ความจริงมันไม่ได้เป็นอย่างนั้น

 เหมือนสมัยก่อนทุกคนเห็นว่าโลกนี้แบนใช่ไหม

 แล้วโลกมันแบนหรือเปล่า ไม่แบน

แล้วเราจะทำยังไงถึงจะเห็นว่า

ร่างกายนี้ไม่ใช่ตัวเราของเรา

 เราก็ต้องดูที่มาที่ไปของมันสิ

 มันมาจากที่ไหนล่ะ มันมาจากพ่อจากแม่

 มาจากดิน น้ำ ลม ไฟ ของพ่อแม่ มาผสมกัน

 ก่อร่างสร้างตัวขึ้นมา พอออกจากร่างกายมา

 เราก็เติมดินน้ำลมไฟเข้าไป ข้าวนี่ก็เป็นดิน

น้ำที่ดื่มก็เป็นน้ำ ลมหายใจก็เป็นลม

ไฟก็คือความร้อนที่เราได้รับจากแสงพระอาทิตย์นี่

มันก็มาทำให้เกิดร่างกาย เกิดอาการ ๓๒

 แล้วเวลามันตายไป มันก็กลับคืนสู่ดิน น้ำ ลม ไฟ

 เราอยู่ตรงไหนในร่างกายนี้ ไม่มี

 เราเป็นเพียงผู้ที่มารับรู้

 มาใช้ร่างกายนี้เท่านั้นเอง

เป็นเหมือนเราได้รับของขวัญจากพ่อแม่

พ่อแม่สร้างตุ๊กตา คือร่างกายนี้

 แล้วให้เรามาเล่น เท่านั้นเอง

เราก็เอาร่างกายนี้มาเล่น เอามาวิ่ง

 เอามาเที่ยวมาเตร่ มาอะไรต่างๆ

 เราเป็นผู้รู้ผู้คิด ผู้สั่งให้ร่างกายทำอะไรต่างๆ

 เราไม่ได้อยู่ในร่างกายอันนี้

 ให้พิจารณาแบบนี้ แล้วต่อไปเราก็จะเห็นชัดว่า

 มันไม่ใช่ตัวเราของเรา เราก็จะได้ไม่ไปยึดไปถือ

 ไม่ไปรักไปหวงไปห่วง

 เพราะความรักความหวงร่างกายนี้

จะทำให้เราทุกข์ เพราะว่าร่างกายจะต้องมีวันจบ

 มีวันดับ แต่ถ้าเรารักเราหวง

 เราจะอยากไม่ให้มันดับ

 ความอยากที่ทำให้เราไม่อยากให้มันดับนี้

มันจะสร้างความทุกข์ให้กับใจ

 แต่พอถ้าเราอยากจะดับความทุกข์นี้

เราก็ต้องมองให้เห็นว่าร่างกายนี้ไม่ใช่ตัวเรา ของเรา

ถ้าเราเห็นแล้ว เราก็จะปล่อยให้มันดับไป

พอเราปล่อยมันได้ เราก็หายทุกข์

การหายทุกข์ก็จะทำให้เราเห็นอริยสัจ ๔

 เห็นว่าความทุกข์ของเราเกิดจากความอยาก

ให้ร่างกายไม่ดับ แต่ความจริง

ร่างกายมันเป็นของที่จะต้องดับ

 ถ้าเรายอมรับ ยอมให้มันเป็นไป

ตามความเป็นจริง เราก็จะไม่ทุกข์

 คือ ปล่อยให้มันดับไป เราก็จะเห็นอริยสัจ ๔

 เห็นทุกข์ สมุทัย ที่เกิดจากความอยาก

ให้ร่างกายไม่ดับ เห็นมรรค

คือเห็นความจริงว่าร่างกายมันไม่เที่ยง

 มันไม่ใช่ตัวเรา ของเรา

 มันตายก็ไม่ทำให้เราตายไปด้วย

แล้วเราไปทุกข์กับมันทำไม

นี่ มันจะเห็นอย่างนี้ อันนี้ก็จะละสังโยชน์

ข้อที่ ๒ ได้ มีดวงตาเห็นธรรม

 ถ้าเห็นธรรมก็จะรู้ว่า ธรรมนี้เป็นของพระพุทธเจ้า

 เพราะพระพุทธเจ้าเป็นผู้สอนนั่นเอง

 ก็จะไม่สงสัยในพระพุทธเจ้า

ไม่สงสัยในพระธรรมคำสอน

ไม่สงสัยในพระอริยะ

เพราะผู้ที่เป็นอริยะก็คือเรานี่แหละ

 เราผู้เห็นธรรม ผู้ดับความทุกข์ได้

ด้วยการเห็นอริยสัจ ๔ เราก็จะไม่สงสัย

ในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

ละสังโยชน์ข้อที่ ๒ ได้พร้อมๆกับ

การละสังโยชน์ข้อที่ ๑ แล้วก็จะละสังโยชน์

ข้อที่ ๓ คือ สีลัพพตปรามาส

คือการที่หลงงมงายกับการใช้พิธีกรรมต่างๆ

มาดับความทุกข์ใจ เพราะเราจะรู้ว่า

ความทุกข์ใจเกิดจากความอยากของเรา

เกิดจากการทำบาปของเราเท่านั้นเอง

 ถ้าเราไม่ทำบาป เราไม่มีความอยากกับสิ่งต่างๆ

 เราก็จะไม่ทุกข์ใจ ที่เราทุกข์ใจเพราะ

บางทีเรามีเงิน แล้วเงินมันหมด เราก็ทุกข์ใจ

เราก็อยากจะให้มันมา เราก็ไปหาหมอดู

 หมอบอกถ้าอยากจะให้เงินมา

ก็ต้องทำพิธีนั่นทำพิธีนี่ บูชาราหูบ้าง ทำอะไรบ้าง

 แล้วเดี๋ยวเงินก็จะมา อันนี้ยังแสดงว่า

ยังไม่เห็นธรรม ยังไม่รู้ว่าความทุกข์นี้

เกิดจากความอยาก ถ้าอยากให้ความทุกข์นี่หาย

 ก็อย่าไปอยากให้มันมีเงินมาก็แล้วกัน

 มันจะมาก็มา มันไม่มาก็ช่วยไม่ได้ ใจก็จะไม่ทุกข์

 แต่เราอยากจะหายทุกข์ ก็เลยต้องไปหา ทำพิธี

ประกอบพิธีต่างๆ ที่หมอดูเขาแนะนำให้ทำ

 แล้วทำแล้ว เราก็รู้สึก อุ้ย สบายใจขึ้น

 เดี๋ยวเราจะรวยแล้ว เดี๋ยวเงินทองจะมาแล้ว

 แต่มันจะมาหรือไม่มาก็ไม่รู้อีกล่ะ

พอไม่มาก็ทุกข์ขึ้นมาใหม่

แต่ถ้าเราหยุดความอยากรวยได้

หยุดความอยากให้เงินทองมาได้

 เราก็จะไม่ทุกข์กับมัน

 มันจะมาหรือไม่มา มันก็จะไม่ทุกข์

ดังนั้น เราจะมาแก้ปัญหาของเรา

 แก้ความทุกข์ของเราด้วยการมาหยุดความอยาก

 ด้วยการไม่ไปทำบาป นี่คือสีลัพพตปรามาส

เราจะไม่ไปทำพิธีกรรมต่างๆ

เพื่อมาระงับความทุกข์ใจของเรา

 เราจะระงับความทุกข์ใจด้วยการระงับการทำบาป

ระงับการอยากต่างๆ ที่มีอยู่ในใจของเรา

 นี่พระโสดาบันก็จะไม่เป็นคนที่จะไปทำพิธีอะไรต่างๆ

 สะเดาะเคราะห์ต่างๆ เปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนนามสกุล

 หรือไปย้ายบ้านย้ายช่องอะไรต่างๆ

ทำพิธีอะไรต่างๆ เพื่อจะมาบำบัดความทุกข์

ความซวยต่างๆ นี้ ท่านจะบำบัดด้วย

การกำจัดความอยาก บำบัดด้วยการไม่กระทำบาป

นี่คือพระโสดาบัน ท่านไม่สงสัย

ในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

 ท่านไม่ยึดติดกับร่างกาย

 เพราะรู้ว่าร้างกายไม่ใช่ตัวท่าน

ไปยึดติดกับมันแล้วจะทำให้ใจท่านทุกข์

 ท่านก็ไม่ยึดติด ท่านก็ตายอย่างสบาย

 เจ็บอย่างสบาย แก่อย่างสบาย

ไม่เดือดร้อนกับความแก่ ความเจ็บ

 ความตายของร่างกาย

นี่คือสังโยชน์ ๓ ข้อ ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม

 จะเป็นฆราวาสหรือพระ ก็ต้องละมันให้ได้

 ด้วยการเจริญสติ สมาธิ และปัญญา

ถึงจะทำได้ การฟังเฉยๆ

อย่างนี้ยังไม่เข้าไปถึงใจ เดี๋ยวก็ลืม

 เดี๋ยวพอแมลงมาเกาะหน่อยก็ตบมันผัวะเลย ใช่ไหม

พอเจอยุง เจองูขึ้นมาก็ตกใจแล้ว

นี่เพราะว่ายังไปคิดว่าร่างกายเป็นตัวเรา

 เดี๋ยวร่างกายจะถูกงูกัดเราจะตายขึ้นมา

 แต่ถ้าเป็นโสดาบันนี่จะรู้ว่า ไม่กลัวเฉยๆ

แต่ก็ไม่ประมาท ก็ไม่เข้าใกล้

 ถ้าไม่จำเป็นเข้าใกล้ก็ไม่เข้าใกล้

 แต่ไม่มีความหวาดกลัวต่อสิ่งที่เห็น

 ไม่หวาดกลัวกับผลที่จะเกิด ถ้าถูกมันกัด

กัดก็กัด ตายก็ตาย เป็นเรื่องธรรมดา.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

.............................................

ธรรมะบนเขา

วันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๑






ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 03 พฤศจิกายน 2561
Last Update : 3 พฤศจิกายน 2561 8:07:14 น.
Counter : 400 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

tangkay
Location :
ชลบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 55 คน [?]



(•‿•✿) พออายุเลยเลขหกฉันยกเครื่อง
มอบทุกเรื่องที่เคยรู้คู่ความเห็น
มอบประสบการณ์ผ่านพบจบประเด็น
ไม่ยากเย็นเรื่องความรู้ตามดูกัน
ฉันคนเก่าเล่าความหลังยังจำได้
แต่ด้วยวัยที่เหลือน้อยค่อยสร้างสรร
ยอมรับเรื่องเนตโซเชียลเรียนไม่ทัน
อย่าโกรธฉันแค่สูงวัยแต่ใจจริง
ด้วยอายุมากมายอยากได้เพื่อน
หลากหลายเกลื่อนทุกวัยทั้งชายหญิง
คุยทุกเรื่องแลกเปลี่ยนรู้คู่ความจริง
หลากหลายสิ่งฉันไม่รู้ดูจากเธอ ....
สิบปีผ่านไป.......
อายุเข้าเลขเจ็ดไม่เผ็ดจี๊ด
เคยเปรี้ยวปรี๊ดก็ต้องถอยคอยเติมหวาน
ด้วยเคยเกริ่นบอกเล่ามาเนิ่นนาน
ก็ยังพาลหมดแรงล้าพากายตรม
ด้วยชีวิตผ่านมาพาเป็นสุข
ยังสนุกกับการให้ใจสุขสม
อยากบอกเล่ากล่าวอ้างบางอารมณ์
แม้คนชมจะร้องว้า....ไม่ว่ากัน
ปัจจุบันเขียนน้อยค่อยเหินห่าง
ระบบร่างเปลี่ยนแปลงเหมือนแกล้งฉัน
เราคนแก่ตามแก้ไม่ค่อยทัน
ยักแย่ยันค่อยศึกษาหาข้อมูล
แต่ด้วยคิดถึงแฟนคลับกระชับมิตร
จึงต้องคิดตามต่อไปไม่ให้สูญ
ส่งความรู้คู่ธรรมะทวีคูณ
เพื่อเพิ่มพูนให้รู้กันฉันสุขใจ